วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551

จักรพรรดิราช


ถ้ามองว่าการกระทำของราชวงศ์จักรีเป็นการรื้อแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยาอย่างเดียวนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ในรอบสองร้อยปีนี้ดีพอ แต่ถ้าเข้าใจว่าเป็นการประกดอบสร้างขึ้นใหม่ ก็จะเข้าใจมากขึ้น

แม้ว่าฝรั่งจะเข้ามาบนผืนแผ่นดินไทยแล้ว แต่ไทยไม่เคยเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมโหฬารก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้เพราะ มีการปรับตัวของชนชั้นนำก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเข้ามา และปรับตัวโดยรักษาอำนาจให้สืบเนื่องเอาไว้ได้นั่นเอง

หากพิจารณาจากเพลงยาวของวังหน้า ทำให้รู้สึกได้ว่า คนที่หนีพม่ามาสร้างประเทศใหม่นั้นช็อกเพราะแกนหลักของโลกที่เชื่อกันมาเสียไป จึงมีผลกระทบกับนโยบายการเมืองใหม่ที่ไม่อยากสืบทอดจากกรุงศรีอยุธยา

จักรพรรดิราชจึงต้องรักษาอำนาจให้มั่นคงในประเทศราชซึ่งในสมัยอยุธยาไม่ค่อยมีนัก เช่นการไม่สนในการรักษาเชียงใหม่ในสมัยหลังจากพระนเรศวร เป็นต้น. แต่ในกรุงเทพกลับตรงกันข้าม คือเข้าไปมีอิทธิพลที่ไหนต้องพยายามรักษาและพยายามแทรกแซงทางการเมืองเท่าที่จะทำได้ เช่นกษัตริย์กัมพูชาสวรรคต กรุงเทพก็คิดแต่งตั้งให้ (ในสมัยรัชกาลที่ 4) มีทายาทเป็นพี่น้องกัน โดยระบุให้กัมพูชาเลือกกษัตริย์ที่โง่กว่าอย่างชัดเจน

ส่วนเชียงใหม่ กรุงเทพก็ไม่ยอมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของล้านนาอีกต่อไป ให้ทุกแคว้นขึ้นกับกรุงเทพแห่งเดียว เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง เหตุผลส่วนที่ทำแบบนี้ก็เพื่อกันพม่าให้อยู่ไกลขึ้นนั่นเอง
จากเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ล้วนระบุว่า มีความพยายามคุมประเทศราชมากกว่าสมัยอยุธยา อีกอย่างคือขอบเขตการเก็บภาษีที่ขยายขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ในขณะที่อยุธยามีขอบเขตไปถึงแค่ลพบุรี อันนี้สะท้อนถึงความพยายามขยายอำนาจคุมหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น และขยายไปสู่หัวเมืองที่ไม่เคยมีอำนาจเช่น ทวาย มะริด และตะนาวศรี

ส่วนการเมืองภายในมีความพยายามคานอำนาจ"เจ้า"กับ"ขุนนาง"พอสมควร, ผลคือทำให้ขุนนางสะสมอำนาจมากจนถึงรัชกาลที่ 4 ขุนนางก็คุม และได้อำนาจพอสมควร

ด้านทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ การเข้ามาของคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งในสมัยอยุธยามีบทบาทน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกฮกเกี้ยน. จีนแต้จิ๋วเข้ามาในลักษณะเสื่อผืนหมอนใบ พวกนี้ตอนอยู่ในประเทศจีนมีพื้นที่ทำนาไม่พอจึงต้องออกไปหากินในทะเล ไปเป็นโจรสลัดก็มาก พวกแต้จิ๋วเมื่อล่องเรือมาไทยก็ต้องส่งเงินกลับไปบ้านเกิด ดังนั้นพวกนี้จึงเป็นแค่ชาวนาหรือใช้แค่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ จึงก่อให้เกิดการผลิตภายในนอกเหนือจากข้าวและของป่า

การที่จีนแต้จิ๋วพวกนี้เข้ามา จึงมีการส่งออกน้ำตาลที่คุณภาพดีที่สุดในโลก มีการนำเหล็กมาหล่อเป็นกระทะและโซ่ส่งออก เป็นผู้ผลิตพริกไทย กาแฟ ซึ่งการผลิตเหล่านี้ในสมัยอยุธยามีน้อยมาก. การค้าภายในเจริญขึ้น เมืองและชุมชนการค้าก็เกิดมากขึ้น เช่น นครชัยศรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, จึงกลายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม เกิดการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่นสวนฝั่งธนบุรีที่มีการยกร่องสวนเรียงแถวและขุดร่องน้ำ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของจีน หรือแม้แต่การผสมพันธุ์ผักผลไม้ก็อาจจะใช่

อีกประเด็นคืออุดมการณ์พุทธถูกเน้นสำหรับชนชั้นนำ
เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแห่งความเป็นเจ้า มีการประดิษฐ์ประเพณีใหม่มากกว่าการรื้อฟื้นตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยเลือกสรรประเพณีบางอย่างมาให้ความหมายเพื่อสื่อหรือยืนยันให้ผู้ร่วมพิธียอมรับในโครงสร้างสังคมว่า ใครใหญ่ ใครเล็ก หรือใครมีบทบาทหน้าที่อย่างไร เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงเชิงอำนาจที่ต้องประดิษฐ์ประเพณีใหม่จนเป็นทุกวันนี้


นิธิ เอียวศรีวงศ์


เนื้อหาจาก : วงเสวนา 'กรุงเทพฯ พื้นที่ทางวัฒนธรรมของ มหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยาราชธานีวงศ์ - พระราม' ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ, มหาวิทยาลัยศิลปากร. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549

ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บทความลำดับที่ 1211

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: