วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

หลักฐานประวัติศาสตร์ ที่เหลืออยู่ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘


กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ แม้ว่าจะจบสิ้นไปแล้วตามกระบวนการยุติธรรม แต่คดีลี้ลับนี้ไม่เคยปิดสำนวนลงตามคำพิพากษาแต่อย่างใด โดยเฉพาะบทสรุปของเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ ตามความในคำพิพากษาศาลฎีกา

"พยานสองชุดนี้ยังไม่เป็นหลักฐานพอจะชี้ได้ว่า
ใครเป็นผู้ลงมือกระทำการลอบปลงพระชนม์"

นี่คือที่มาสำคัญที่ทำให้คดีนี้เป็นที่สนใจมาตลอดทุกครั้งที่พูดถึง

จากวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๕๗ ปี นอกจากเอกสารสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงอดีต ย้ำเตือนความมืดดำมาสู่ปัจจุบัน คือวัตถุหลักฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ ราวกับรอคอยให้ปริศนาแห่งคดีเปิดเผยสัจจะมาในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ตามคำของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เคยกล่าวไว้

"...เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ
ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยมาหลายร้อยปีก็ตาม"

วัตถุหลักฐานส่วนหนึ่งในคดีนี้ที่ยังปรากฏมาถึงปัจจุบัน และเปิดเผยต่อสาธารณชน ถูกจัดแสดงอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ อาคารอดุลยเดชวิกรม หรือที่รู้จักกันอย่างลำลองว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย" เหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะพระเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ "ซีอุย แซ่อึ้ง" ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังที่สุดของเมืองไทย สร้างคดีสยองขวัญในช่วงปี ๒๕๐๑ ในการฆ่าเด็กแล้วกินตับ และหัวใจ ถูกเก็บรักษาศพไว้ที่นี่ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก

พิพิธภัณฑ์ซีอุยเคยจัดแสดงอยู่ชั้นล่างของตึกนิติเวชเก่าภายในโรงพยาบาล บรรยากาศทึมๆ ชวนขนลุก แต่เดี๋ยวนี้มีการปรับปรุงใหม่บนชั้นสองของอาคารอดุลยเดชวิกรม สว่างไสวลดบรรยากาศสยองขวัญไปได้หมดสิ้น นอกจาก "ซีอุย" แล้วยังมีการจัดแสดงทางด้านนิติเวชอื่นๆ คือการรวบรวมตัวอย่างชิ้นส่วนมนุษย์ วัตถุพยาน อันเนื่องมาจากการฆาตกรรม และอุบัติเหตุ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาต่างๆ ประเภท "สืบจากศพ" นั่นเอง รวมทั้งวัตถุหลักฐานในชั้นสอบสวนของคดีสวรรคตด้วย

วัตถุหลักฐานในคดีสวรรคตส่วนแรกแสดงอยู่ในตู้ขนาดไม่ใหญ่นัก มีคำบรรยายเล็กน้อยพอให้รู้ว่าคืออะไร "บางส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล"

ภายในตู้จัดแสดงเครื่องมือแพทย์ชนิดต่างๆ ๑๑ ชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบคือ ผ้า ไม้บรรทัด ดินสอ ไม่มีคำบรรยายอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ แต่รายละเอียดของเครื่องมือทั้งหลาย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต" ไว้พอสมควร


"วันที่ ๒๑ มิถุนายน มาถึงที่ทำงานก่อน ๘.๐๐ น. เล็กน้อย สำรวจเครื่องมือที่จะนำไป และได้เครื่องมือเพิ่มเติมจากหมอสงกรานต์ด้วย เนื่องจากเครื่องมือที่แผนกมีไม่ครบเพราะทำกับศพธรรมดา ไม่เหมาะกับการชันสูตรเกี่ยวกับหาหลักฐานทางคดี เครื่องมือจากแผนกกายวิภาคศาสตร์ มีมีดชำแหละ ๒ เล่ม เทปวัดทำด้วยเหล็ก ๑ อัน ถุงมือยางอย่างหนา ๒ คู่ เลื่อย ๑ ปื้น ทางพยาธิวิทยาให้ยืมเครื่องมือจับกะโหลกมา ๑ อัน และถุงมือยางอย่างบาง ๒ คู่ และก่อนจะลงมือชันสูตรพระบรมศพทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นำมีดยาวมา ๑ เล่ม เข็มเย็บผิวหนัง ๑ เล่ม เครื่องมือจับเข็ม ๑ อัน ผ้าคลุมปากจมูก ๒ ผืนมาเพิ่มเติมให้ (เครื่องมือบางชิ้นขณะนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) นอกจากนั้นก็มีโหลใส่ฟอร์มาลิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์-๕๐๐ ซีซี แอลกอฮอล์ และน้ำยาแอมโมเนีย (กลัวจะเป็นลม) ทางแผนกกายวิภาคศาสตร์เอาไฟถ่ายรูปไป ๒ ดวง คุณหมออวยเตรียมกล้องและฟิล์ม" (สุด แสงวิเชียร, เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต, ๒๕๒๙)


คงต้องยกความดีนี้ให้กับนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ที่คิดเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้ไว้ ไม่ปล่อยให้สูญหาย หรือถูกทำลายเหมือนกับหลักฐานชิ้นอื่นๆ ในคดีนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ต้องผ่านขั้นตอนการชันสูตรพระบรมศพ เครื่องมือแพทย์เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่ประโยชน์ทางนิติเวชศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง

น่าเสียดายตรงที่ว่าการจัดแสดงลำดับความสำคัญกับส่วนนี้น้อยเกินไป ทั้งทางเนื้อหา และทางจิตใจ

การชันสูตรพระบรมศพด้วยเครื่องมือบางส่วนที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงไว้ เกิดขึ้นที่พระที่นั่งพิมานรัถยา ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๔๕ ถึง ๑๕.๓๐ น. มีนายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เป็นผู้ทำการชันสูตร

รายงานการชันสูตรอย่างเป็นทางการมีอยู่ใน บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๙.๓๐ น. ที่ศาลานอกพระที่นั่งพิมานรัถยา แต่ขั้นตอนโดยละเอียดนั้นนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้เขียนบันทึกไว้ภายหลังในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต" ดังนี้


"เวลาสำคัญได้มาถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนมซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อคอปิดสีขาวได้เชิญพระโกศลองในปิดทองเกลี้ยงมา ทุกคนถวายคำนับแล้วยืนสงบนิ่ง พนักงานสนมเปิดฝาพระโกศออก (เข้าใจว่าได้กะเทาะที่บัดกรีออกไว้ก่อนแล้ว) พนักงานเขย่งตัวขึ้นไปหยิบพระมหามงกุฎ (ยอดหัก) ออกมาก่อน เห็นประดับเพชรแวววาวไปหมด เอาห่อผ้าขาวแล้วตีตรา ต่อไปจึงช่วยกันช้อนเอาพระบรมศพออกจากพระโกศ เอาขึ้นมาวางบนเตียงใหญ่..."

"...ขณะนั้นพนักงานสนมแก้เอาด้ายดิบออกซึ่งพันไว้เป็นเปลาะๆ แล้วจึงแกะเอาผ้าขาวออก พอเปิดถึงพระพักตร์ก็มีคนดีใจว่า ยาฉีดเขาดีพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสดอยู่ แต่ที่จริงเป็นขี้ผึ้งปิดพระพักตร์ มีทองปิดด้วยหรือเปล่าไม่ได้สังเกต แล้วก็เปิดถึงผ้าเยียระบับ แต่ลืมไม่ได้สังเกตว่าได้ทำเป็นฉลองพระองค์เสื้อหรือเปล่า ตามผ้าขาวและผ้าเยียระบับมีพระบุพโพเปื้อนอยู่ทั่วไป แต่มีกลิ่นน้อยอย่างประหลาดถึงกับคิดว่าไม่ต้องใส่ผ้ากันปากจมูกก็ได้ ในพระที่นั่งมีถาดจุดกำยานอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่มีพัดลม..."


เรื่องเกี่ยวกับ ยาฉีดเขาดี ทำให้ไม่มีกลิ่นก็เพราะมีการฉีดยาพระบรมศพน้อยกว่ากำหนด ทำให้คณะกรรมการฝ่ายแพทย์เกรงว่าพระบรมศพอาจจะไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นัก

"พระยาดำรงแพทยาคุณสงสัยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจถูกยาพิษจึงสั่งไม่ให้ใช้น้ำยาที่ผสมสารหนู แพทย์ทั้งสองจึงใช้น้ำเปล่าผสมฟอเมอรีน และคลีโอสถฉีดเข้าทางเส้นโลหิตที่โคนขาขวา โดยตั้งใจว่าจะฉีด ๓,๐๐๐ ซีซี แต่เมื่อฉีดไป ๑,๐๐๐ ซีซี ก็มีน้ำยาไหลออกทางรอยแผลที่พระนลาตประมาณ ๑๐ ซีซี จึงเลิกฉีด..." (สรรใจ แสงวิเชียร, วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคตฯ, ๒๕๑๗)

ขั้นตอนการชันสูตรนั้นเป็นไปอย่างละเอียดหลายหน้าตามกระบวนการ คำให้การในชั้นศาลของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพ การเอกซเรย์ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการนำอวัยวะต่างๆ กลับคืนที่ และเย็บแผลจนเรียบร้อย ขั้นตอนโดยย่อพอให้เห็นการใช้เครื่องมือชันสูตรเป็นดังนี้


"พระบรมศพซีดเซียวลงไปเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับมีกลิ่นรบกวนการชันสูตรแม้ว่ายาฉีดรักษาพระบรมศพจะน้อยกว่าที่ควร หลังจากตรวจภายนอกแล้ว ได้ทำการถ่ายรูปเอ็กซเรย์โดยใช้เครื่องชนิดเคลื่อนที่ได้ ทำการถ่ายเอ็กซเรย์ ๙ รูป เอ็กซเรย์เฉพาะพระเศียรไว้ ๔ ท่า ท่าคว่ำพระพักตร์ หงายพระพักตร์ทั้งสองด้าน ต่อจากนั้นนายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน ทำการตรวจต่อโดยใช้มีดกรีดผิวหนังจากพระกรรณข้างหนึ่งขึ้นบนพระเศียรจนถึงพระกรรณอีกข้างหนึ่ง แล้วตลบผิวหนังไปจนพ้นรอยบาดแผลด้านหลัง พบรอยแตกที่กลางพระกะโหลกทางด้านซ้ายตั้งแต่กลางพระเศียรจนถึงพระกรรณซ้าย ผิวหนังเหนือรอยแตกนี้มีรอยแดงช้ำ ตลบหนังพระเศียรไปจนถึงพระนลาต รูแผลที่พระนลาตขนาด ๑๑ x ๑๐ มม. มีรอยร้าวออกไปจากรูแผล จากนั้นแพทย์ทั้งสองเลื่อยพระกะโหลกส่วนบนแล้วดึงส่วนนั้นออก ตัดเยื่อหุ้มสมองภายใน พบพระโลหิตตกเป็นแผ่นแข็งอยู่ทางด้านซ้าย พระสมองด้านซ้ายคงดีอยู่ ทางด้านขวาเน่า พบรูที่พระสมองซีกซ้ายตรงกับรูที่พระนลาต ทะลุออกไปตรงกับรูที่ท้ายทอย ได้ตัดเอาพระสมองออก ที่ฐานพระกะโหลกมีรอยแตกร้าวอีก..." (กรณีสวรรคตฯ, น. ๔๐, ๒๕๑๗)


เมื่อการชันสูตรเสร็จสิ้นลง นายแพทย์สุด แสงวิเชียร จึงได้เก็บเครื่องมือชันสูตรนั้นไว้ ทำให้เราได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญกันในวันนี้

"ก่อนไปล้างมือได้คุกเข่าลงถวายบังคมกับพื้นขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วไปล้างมือ พอล้างมือเสร็จ ห่อเครื่องมือตั้งใจจะเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ (เดิมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาค คองดอน ขณะนี้มอบให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ พร้อมกับกะโหลก และผิวหนังของศพที่ได้ทดลองยิงในวันต่อมา)..."

ที่มาที่ไปของเครื่องมือชันสูตรพระบรมศพมีโดยสังเขปเท่านี้

ถัดจากตู้เครื่องมือไป จะเป็นตู้แสดงกะโหลกศพที่ใช้ในการทดลองยิงตามกระบวนการสืบสวนในคดี เหนือขึ้นไปจะแสดงภาพถ่ายให้เห็นถึงวิถีกระสุน เกี่ยวเนื่องกันทางตู้ติดผนังจะเป็นชิ้นส่วนหนังศีรษะของกะโหลกที่แสดงอยู่ เป็นการแสดงรอยแผลจากกระสุนปืน ที่มีลักษณะคล้าย หรือแตกต่างจากรอยแผลของพระบรมศพ

เหตุผลที่ต้องทดลองยิงศพคนเพิ่มขึ้น หลังจากที่ยิงหัวหมูแล้วได้ข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ บันทึกไว้ว่า "...ทำการทดลองยิงศพคนที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทราบระยะยิง ที่จะทำให้เกิดบาดแผล เช่นบาดแผลที่พระบรมศพ"

ที่ต้องหาระยะยิง และลักษณะของบาดแผล ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสับสนในเรื่องของบาดแผลที่พระบรมศพ เนื่องจากแผลที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ใหญ่กว่าแผลตรงท้ายทอย หลายคนสงสัยว่าอาจถูกยิงจากข้างหลัง และเป็นการหาว่าจากบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากเหตุใดได้บ้าง ระหว่างปลงพระชนม์เอง ถูกลอบปลงพระชนม์ และอุบัติเหตุ

ต่อมาจึงได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า วิถีกระสุนเข้าทางพระนลาฏ ทะลุออกทางด้านหลัง แต่ระยะยิงนั้นเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน ในการสันนิษฐานหาสาเหตุที่แท้จริงในกระบวนการสอบสวน เช่น หากเป็นการยิงไกลเกินระยะแขน ก็เป็นไปได้ว่าไม่ได้เกิดจากพระองค์เอง หรือหากเป็นการยิงในระยะประชิด เหตุใดจึงไม่รู้สึกพระองค์ก่อน และคนร้ายเข้าไปในพระวิสูตรโดยไม่มีใครรู้ได้อย่างไร เป็นต้น

การทดลองยิงศพนั้นเกิดขึ้นหลังจากการชันสูตรพระบรมศพ ๑ วัน มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการใน บันทึกรายงานการประชุมคณะแพทย์ ครั้งที่ ๓ วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๑๐.๑๐ น. ที่ห้องตรวจชันสูตรศพ ของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้


"การทดลองได้กระทำในห้องตรวจศพของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ของกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พื้นห้องเป็นพื้นกระเบื้องซีเมนต์ ศพที่ใช้ทดลองวางอยู่บนที่นอน ๒ ชั้น และได้เปลี่ยนเพิ่มเป็น ๓ ชั้น และเพิ่มหมอนรองใต้ที่นอนอันล่างสุดอีก ๑ ใบ เมื่อถึงการทดลองศพที่ ๓ ศพนอนหงาย ศีรษะศพวางอยู่บนหมอนใบเดียว ที่นอนวางบนเตียงไม้เตี้ยๆ มีแผ่นเหล็ก ๓ แผ่นวางกันกระสุนอยู่ใต้ที่นอนอันล่าง มีหีบใส่ทรายอยู่ใต้เตียง ความสูงของเตียงและที่นอนใกล้เคียงกับพระที่บรรทม ที่นอนที่ใช้ทดลองเป็นที่นอนทั่วๆ ไปที่ใช้ตามโรงพยาบาล ยัดนุ่นหลวมกว่าพระที่มาก ปืนที่ใช้เป็นปืนสั้นออตอเมติกขนาด ๑๑ มม. ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนนำมา เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นผู้ยิง"


ตามบันทึกการทดลองยิงศพในเวลานั้น มีการทดลองทั้งหมด ๗ ครั้ง ลักษณะทางกายภาพของศพ และระยะยิงแตกต่างกันออกไป คือ


ศพที่ ๑, ศพดอง เพศชาย อายุ ๑๖ ปี ยิงโดยวิธีให้ปากกระบอกปืนติดกับผิวหนัง ยิงทางด้านหน้าตรงตำแหน่งที่พบแผลในพระบรมศพ ตรงตามแนวไม้บรรทัดที่จัดให้แนวตรงกับแผลหน้า และแผลหลัง ในพระบรมศพ ผู้ยิงปืนยิงอยู่ทางด้านหัวของศพ

ศพที่ ๒, ศพดอง เพศหญิง อายุ ๑๘ ปี ยิงเหมือนการทดลองกับศพแรก แต่ระยะยิงห่างจากศพ ๑๐ เซนติเมตร

ศพที่ ๓, ศพดอง เพศชาย อายุ ๑๗ ปี ยิงห่างจากศพ ๕ เซนติเมตร

ศพที่ ๔, ศพดอง เพศหญิง อายุ ๒๒ ปี ยิงทางด้านหน้า ปากกระบอกปืนเกือบชิดผิวหนัง

ศพที่ ๕, ศพสด เพศหญิง อายุ ๑๙ ปี ยิงชิดกับผิวหนัง

ศพที่ ๖, ศพสด เพศชาย อายุ ๔๗ ปี ยิงทางด้านหน้า ปากกระบอกปืนติดชิดกับผิวหนัง

ศพที่ ๗, ศพดอง เพศชาย อายุ ๒๗ ปี คว่ำหน้าศพวางอยู่บนหมอน ยิงจากท้ายทอยไปทางหน้า ผู้ยิงยืนยิงที่ตรงลำตัวของศพ ปากกระบอกปืนห่างจากเป้า ๕๐ เซนติเมตร


ผลการทดลองสรุปเป็นความเห็นออกมาว่า บาดแผลที่พระบรมศพ มีลักษณะคล้ายคลึงกับศพที่ทดลองยิงในระยะติดหรือเกือบชิดผิวหนัง และยิงจากหน้าไปทะลุท้ายทอย ภายหลังจึงมีข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นมาอีกว่า "คณะกรรมการยืนยันเป็นเอกฉันท์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้สวรรคตโดยลูกกระสุนปืน ซึ่งเข้าไปในพระนลาฏของพระองค์ และผ่านทะลุออกไปข้างหลังของพระเศียร และทั้งชี้แจงเป็นเอกฉันท์ว่า ตามที่ได้ทดลองกับศพ ปากกระบอกปืนจ่ออยู่ภายในระยะ ๕ เซนติเมตร ของพระนลาฏโดยเกือบแน่นอน" (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ คดีหมายเลขดำที่ ๓๐๕๖/๒๔๙๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๖๓๖/๒๔๙๖)

สุดท้ายคณะกรรมการแพทย์แต่ละท่านก็มีความคิดเห็นออกมาตามแถลงการณ์ของกรมตำรวจ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙


นายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และแพทย์ประจำพระองค์

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง ซึ่งอาจเป็นได้เท่ากันทั้งสองประการ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นอุบัติเหตุเลย"


พ.อ.เย อี. ไดรเบอร์ก (Colonel Driberg) นายแพทย์กองทัพบกอังกฤษ ไม่มีความเห็นในแถลงการณ์ฉบับนี้ แต่จากคำให้การของนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ ต่อศาลอาญา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ อ้างว่า พันเอกไดรเบอร์กมีความเห็นว่า ถูกลอบปลงพระชนม์ รองลงมาคือปลงพระชนม์เอง แล้วจึงถึงอุบัติเหตุ


พ.ต.ท.เอ็จ ณ ป้อมเพชร กรรมการผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์ ผู้แทนตำรวจ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าบาดแผลนั้นเนื่องมาจากการกระทำด้วยพระองค์เอง หรือเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น"


นายแพทย์คอร์ท (E. C. Cort)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิค เชียงใหม่

"...แห่งที่ของบาดแผล และทางของบาดแผลคล้ายถูกปลงพระชนม์กว่าปลงพระชนม์เอง และอุบัติเหตุนั้น ดูไม่น่าจะเป็นไปได้"


นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ อดีตอาจารย์อายุรศาสตร์ ศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ

"...ตามความเห็นของข้าพเจ้าเรื่องนี้เป็นกรณีถูกปลงพระชนม์ และข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเป็นการปลงพระชนม์เองหรืออุบัติเหตุโดยสิ้นเชิง"


นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน พยาธิแพทย์
และผู้ชำนาญวิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์เต่อ สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการอุบัติเหตุ หรือถูกปลงพระชนม์ หรือปลงพระชนม์เอง ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว จิตแพทย์ โรงพยาบาลโรคจิต

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการอุบัติเหตุ ถูกปลงพระชนม์ หรือปลงพระชนม์เอง ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์สุด แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์
โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้ามีทางอธิบายที่เป็นไปได้ ๒ ประการเท่านั้น คือ ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่าๆ กัน"


นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ สูติแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์หรือปลงพระชนม์เองตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป และข้าพเจ้าไม่ถือว่าเป็นการอุบัติเหตุเลย"


พ.ต.ต่วน จีรเศรษฐ พยาธิแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ การปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์ชูช่วง เศวตรุนทร์ แพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์สงัด เปล่งวานิช เลขานุการกรมการแพทย์

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


พ.ต.ประจักษ์ ทองประเสริฐ หัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการปลงพระชนม์ หรือถูกปลงพระชนม์ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นอุบัติเหตุ"


นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะอนุมานได้โดยสิ้นเชิงว่าจะเป็นประการใดประการหนึ่งเช่นว่านั้น แต่ข้าพเจ้าเลือกจะถือว่าเป็นการถูกปลงพระชนม์เป็นประการแรก เป็นอุบัติเหตุเป็นประการที่สอง และเป็นการปลงพระชนม์เองเป็นประการที่สาม"


นายแพทย์หลวงพิณพาทย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

"ตามความเห็นของข้าพเจ้า การสวรรคตเนื่องมาจากถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ หรือปลงพระชนม์เอง ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป ข้าพเจ้าไม่ถือเป็นอุบัติเหตุเลย"


ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นของแพทย์ ตามผลการชันสูตร และการทดลอง โดยสรุปก็คือแพทย์ส่วนใหญ่เห็นเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ มากกว่าปลงพระชนม์เอง และอุบัติเหตุ

แต่นั่นไม่ใช่ข้อสรุปของคดี เพื่อให้เห็นภาพรอบด้านมากขึ้นอีก คงต้องฟัง "ฝ่ายค้าน" ในคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลย ณ ศาลอาญา วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๙๔ คดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙๘/๒๔๙๑ คดีหมายเลขแดงที่ /๒๔ ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับคณะแพทย์ชุดนี้ว่า


"การตรวจเพื่อรู้ว่า สมองส่วนใดจะต้องถูกทำลายไปพร้อมกันนี้ย่อมต้องมีความชำนาญในการตรวจ และมีความชำนาญพอที่จะวินิจฉัยได้ และได้เคยประจักษ์ผลแห่งความแรงของปืน การกระเทือนของปืนที่ผ่านสมองไป มีผลทำให้รอบข้างทำลายไปพร้อมกันเพียงใด ซึ่งในเรื่องความชำนาญดังนี้ เป็นที่น่าเสียดายที่บรรดานายแพทย์ทุกท่านที่เข้ามาเป็นพะยานในเรื่องนี้ ไม่เคยได้กระทำการตรวจสมองใดๆ ที่เคยมีกระสุนปืนผ่านมาก่อนเลย และในรายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ ได้ทำการตรวจเมื่อระยะเวลาล่วงไปนานเสียแล้ว จึงไม่อาจตรวจพิเคราะห์โดยละเอียดได้..."


ทนายจำเลย นายฟัก ณ สงขลา ยังได้ค้านเกี่ยวกับความเห็นเรื่องการถูกปลงพระชนม์ โดยตัดอุบัติเหตุออกไป ตามความเห็นของแพทย์ ดังนี้


"เกี่ยวกับเรื่องฐานที่ตั้งจากบาดแผลตามตำรานิติเวชวิทยา มิได้ยืนยันว่าบาดแผลที่กระทำขึ้นอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นบาดแผลที่ถูกปลงพระชนม์เท่านั้น การเฉียงลงของกระสุนปืน เป็นเพียงการเฉียงลงเล็กน้อย มิใช่ว่าจะให้บ่งตรงว่าเป็นเรื่องลอบปลงพระชนม์อย่างเดียวเช่นเดียวกัน ถ้าลองเอาปืนขนาด ๑๑ มม. จรดดูที่หน้าผาก วางปืนตั้งได้ฉากหรือเอนด้ามขึ้นทางศีรษะ เอนด้ามปืนลงมาทางเท้า ไม่มีลักษณะที่ขัดข้องที่จะกระทำด้วยตนเองอย่างใดเลย อนึ่ง เป็นที่รับกันว่ากรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้น บางรายเกิดขึ้นได้อย่างพิสดารที่สุด..."

แต่ผลสรุปคดีทางกฎหมายของศาลยุติธรรมทั้งสามศาล เห็นได้ชัดว่าคณะผู้พิพากษาได้ให้น้ำหนักกับกระบวนการชันสูตร และความเห็นของแพทย์ไว้ค่อนข้างมาก ยกเว้นความเห็นแย้งคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ที่มองต่างมุมในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ว่ากระบวนการทางแพทย์ (กรณีอาการแข็งเกร็ง คาดาเวอริสปันซั่ม) และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (กรณีสนิมในปากกระบอกปืน) ยังไม่สมบูรณ์เด็ดขาดพอที่จะพิสูจน์ให้มีข้อสรุปเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ชัดเจน แต่คำพิพากษาก็ชี้สาเหตุการสวรรคตออกมาสอดคล้องกันทั้ง ๓ ศาล

ศาลอาญา เชื่อว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ จึงมีการตัดสินประหารชีวิตจำเลยที่ ๒ นายชิต สิงหเสนี อยู่ในข่ายรู้เห็นร่วมมือกับผู้กระทำการปลงพระชนม์ แต่ให้ปล่อยนายเฉลียว ปทุมรศ และนายบุศย์ ปัทมศริน

ศาลอุทธรณ์ เชื่อว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์เช่นกัน จึงได้ตัดสินประหารชีวิต นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ให้ปล่อยนายเฉลียว ปทุมรศ

ในชั้นอุทธรณ์นี้มีความเห็นแย้งคำพิพากษา โดยผู้พิพากษา ๑ ใน ๕ ของคณะผู้พิพากษา คือความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์จนพิสุทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ "หลักฐานยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสาม"


ศาลฎีกา พิพากษาประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน!


แม้กระบวนการทางกฎหมายจะได้สิ้นสุดลงแล้ว และไม่อาจแก้ไขสิ่งใดๆ ได้อีก แต่ "สิ่งที่ยังเหลืออยู่" ในกรณีสวรรคต ไม่ใช่แค่เครื่องมือแพทย์ และกะโหลกศีรษะ ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ไม่ใช่แค่สำนวนคดีหลายพันหน้าที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย แต่ยังมี "ความแคลงใจ" ในปริศนาของคดีนี้ ซึ่งจะเหลืออยู่ตลอดกาล

"...ประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่สิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่าน และชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย..."
(ปรีดี พนมยงค์, ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๖)


ปรามินทร์ เครือทอง

ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2546

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 7

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: