วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551

สถาบันกษัตริย์เนปาลจะถูกล้มเลิก เข้าสู่ยุคใหม่ของสาธารณรัฐเนปาลในปี ๒๕๕๑


รัฐบาลเนปาลจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ตามข้อตกลงเพื่อยุติความขัดแย้งกับพรรคนิยมลัทธิเหมาเพื่อนำพรรคดังกล่าวเข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาล โดยในปี 2551 รัฐบาลจะประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป และเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ขณะที่กลุ่มพันธมิตรรัฐบาลเนปาล 6 พรรค และพรรคนิยมลัทธิเหมาได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนเรื่องดังกล่าว

การเลือกตั้งทั่วไปของเนปาลจะจัดขึ้นประมาณเดือนเมษายน ๒๕๕๑

ราชวงศ์เนปาล เป็นสถาบันกษัตริย์สุดท้ายของชาวฮินดู ที่กำลังจะถูกล้มเลิก กษัตริย์คเยนทรา จะเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเนปาล ความนิยมในตัวกษัตริย์คเยนทรา และต่อสถาบันกษัตริย์ของประชาชนชาวเนปาล ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่พระองค์ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2005 ซึ่งนำไปสู่วิกฤติการณ์ความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่ จนนำไปสู่การเสียชีวิตของพลเรือนชาวเนปาลจำนวนมาก

ที่มา-สำนักข่าวบีบีซี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2550 และ บากกอกโพสต์

ดูข่าวเก่าและความเห็นที่เกี่ยวข้อง


ความเห็น

ความจริง ตามประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษยชาติ มนุษย์เคยอยู่ร่วมกันแบบชนเผ่า เคยผ่านสังคมทาส สถาบันกษัตริย์ ไม่ได้กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่แรกพร้อมกับสังคมมนุษย์ เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาเข้าสู่ระบอบทุนนิยม

สถาบันกษัตริย์ที่กำเนิดมาจากสังคมศักดินา ก็ทะยอยถูกล้มเลิกไปเป็นส่วนใหญ่ ที่ดำรงอยู่ได้ ก็มักต้องปรับตัวเป็นอยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่นอกเหนือแวดวงการเมืองการปกครอง ทั้งยังต้องประพฤติดี ประพฤติชอบ ตามกระแสความนิยมของสังคมด้วย

ดังที่เห็นได้จากบทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังที่เหลาจื๊อได้กล่าวไว้ว่า

"ผู้ที่ดำรงตนอยู่อย่างเหมาะสมกับ
สถานะของตน ย่อมอยู่ได้ยาวนาน"

สำหรับสถาบันกษัตริย์ของไทย เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ คณะราษฎรโดยการเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้ใช้ ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายและอยู่นอกเหนือแวดวงการเมืองการปกครอง มาระยะหลัง ได้มีกลุ่มผู้นิยมกษัตริย์ ที่หลงรักกษัตริย์ยิ่งกว่าตัวกษัตริย์เอง ที่เรียกว่า

"ผู้เกินกว่าราชา"

ได้เคลื่อนไหวผลักดันให้เพิ่มบทบาทหน้าที่ของกษัตริย์ในแวดวงการเมืองการปกครองมากขึ้นตามลำดับ
แล้วเรียกระบอบนี้ว่า

ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
หรือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เรื่องนี้ ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งและการถกเถียงความหมายของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างขนานใหญ่

สถาบันกษัตริย์ของไทย ควรมีบทบาทหน้าที่
เพียงใด ในแวดวงการเมืองการปกครอง ?

จึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของการเมืองไทย
ซึ่งจะต้องได้รับการสะสางให้ชัดเจนต่อไป


โดย : admin อารยชน

ที่มา : อารยชน : สถาบันกษัตริย์เนปาลจะถูกล้มเลิก เข้าสู่ยุคใหม่ของสาธารณรัฐเนปาลในปี ๒๕๕๑

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: