วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒


-๑-

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๒๑ น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการฯ อันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ กำลังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้กองหน้าเข้าไปปลดอาวุธกองทหาร ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง เพื่อที่เราจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น พระบรมมหาราชวังนี้ มิได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว

ผู้บัญชาการกองทหารรักษาพระบรมมหาราชวังมิได้ต่อต้านการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองหน้าขบวนการฯ ดังนั้นภายใน ๑๕ นาที เราก็ควบคุมบริเวณพระบรมมหาราชวังได้ทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กัน โดยฝ่ายขบวนการได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล กองพันทหารราบที่ ๑ ของฝ่ายตรงข้ามพยายามที่จะออกจากที่ตั้ง แต่ถูกกระสุนปืนและระเบิดของเราสกัดไว้ได้ เรายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ และมอบให้อยู่ในความควบคุมของนายทหารยศพันเอกผู้หนึ่ง(อดีตเสรีไทย)ในคืนวันที่ ๒๖ และ ๒๗ กุมภาพันธ์ มีการต่อสู้ประปรายระหว่างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล


-๒-

น่าเสียดายที่กำลังสนับสนุนจากฝ่ายทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังซึ่งจงรักภักดีต่อฝ่ายรัฐบาล

เวลา ๖ โมงเช้าของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ กองทหารของจอมพลพิบูลฯ ซึ่งบัญชาการโดยพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการฯ

เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลาและเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้เพื่อนร่วมขบวนการข้ามแม่น้ำไปด้วยเรือ ซึ่งนายพลเรือเอกผู้หนึ่งเป็นผู้จัดหาให้

ส่วนข้าพเจ้าจะอยู่ที่กองบัญชาการทหารเรือ เพื่อรอคอยกำลังสนับสนุน

ระหว่างนั้น กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของข้าพเจ้าจึงประสบความพ่ายแพ้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”

นายทหารของฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมต่อสู้ปราบปรามขบวนการฯ ของเรา ต่างได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้นว่าพลตรีสฤษดิ์ฯ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพลเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ฯ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลพิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ฝ่ายหลังต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกาและต่อมาก็ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น

แรกทีเดียวจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้ครองอำนาจอย่างเปิดเผย เขาได้มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับพลเอกถนอม กิตติขจร(ยศในขณะนั้น) ๑ ปีต่อมาจอมพลสฤษดิ์ฯ ก็ทำรัฐประหารครั้งใหม่ และโค่นล้มรัฐบาลถนอมฯ ลง จอมพลสฤษดิ์ฯ เองได้เป็นนายกรัฐมนตรีและปกครองประเทศจนกระทั่งตายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ตั้งแต่นั้นมาจอมพลถนอม กิตติขจรได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง พลเอกถนอมฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพล และดำเนินการปกครองประเทศต่อมาตามรัฐธรรมนูญเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์ ฯ ร่างขึ้น หลังจากนั้นจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕ รัฐธรรมนูญที่จอมพลถนอมฯ เป็นผู้ประกาศใช้ก็ถูกทำลายโดยตัวเขาเอง เพื่อนำเอาระบอบเผด็จการเข้ามาแทนที่


-๓-

เที่ยงคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ นาวาโทมนัส จารุภา ได้นำข้าพเจ้าไปยังที่หลบซ่อนแห่งหนึ่ง ที่นั่นภรรยาและบุตรชายของข้าพเจ้าได้ช่วยพาข้าพเจ้าไปยังบ้านผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง ซึ่งได้กรุณาให้ที่พักแก่ข้าพเจ้าตลอดระยะเวลา ๕ เดือน แม้ว่ารัฐบาลตั้งสินบนนำจับด้วยราคาสูงแก่ผู้ที่บอกที่ซ่อนของข้าพเจ้า แต่ผู้รักความเป็นธรรมผู้นี้ ก็ไม่ได้มีความอยากได้ผลประโยชน์นี้เลย

สองปีต่อมา คือใน พ.ศ.๒๔๙๔ นาวาโทมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ ปุณฑริกาภา ได้ก่อการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ
“กบฏแมนฮัตตัน” เนื่องจากในการปฏิบัติการครั้งนั้น หน่วยทหารเรือซึ่งนำโดยนาวาโทมนัสฯ ได้เข้าจี้ตัวจอมพลพิบูลฯ ระหว่างพิธีรับมอบเรือ “แมนฮัตตัน” ต่อหน้าเอกอัครราชทูตอเมริกัน และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของทั้งสองประเทศ

นาวาโทมนัสฯและหน่วยทหารของเขา ได้จับตัวจอมพลพิบูลฯ และพาลงเรือรบหลวง “ศรีอยุธยา” การรบจึงเริ่มขึ้นระหว่างกำลังของกองทัพเรือฝ่ายหนึ่ง ครั้งแรกดูเหมือนว่ากองทัพเรือจะควบคุมกรุงเทพฯไว้ได้ แต่กองทัพอากาศได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นกองบัญชาการของฝ่ายก่อการฯ โดยไม่เห็นแก่ชีวิตจอมพลพิบูลฯ ซึ่งอยู่ในเรือลำนั้นเลย จอมพลพิบูลฯได้เรียกร้องผู้ที่จงรักภักดีต่อตนมิให้ใช้กำลังอาวุธ แต่ให้เจรจาอย่างสันติกับฝ่ายก่อการฯ เครื่องบินได้บินถล่มเรือรบหลวงที่ทอดสมออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งจมลงในไม่ช้า จอมพลพิบูลฯ ได้หลบหนีออกจากเรือลำนั้นได้อย่างหวุดหวิด ด้วยการกระโดดน้ำและว่ายมาถึงฝั่ง ซึ่งบรรดาผู้ที่จงรักภักดีได้ให้การต้อนรับ จึงสามารถกลับเข้ามายังกองบัญชาการกองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้

หน่วยทหารบกอื่นๆในจังหวัดใกล้เคียง ได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล และรบชนะฝ่ายทหารเรือ ในที่สุดกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถควบคุมกรุงเทพฯ ได้อีกครั้ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายทหารเรือหลายคน รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือและเจ้าหน้าที่พลเรือนบางคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯ

ขณะที่นาวาโทมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ฯ พร้อมด้วยนายทหารกองทัพบกอีกคนหนึ่ง ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯสามารถหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในพม่า ผู้ก่อการฯจำนวนหนึ่งก็สามารถหนีเข้าไปลี้ภัยอยู่ในลาว กัมพูชา และสิงคโปร์

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน นาวาโทมนัสฯ ก็กลับเข้ากรุงเทพฯอย่างลับๆ อีกหนหนึ่ง

ครั้งนี้นาวาโทมนัสฯได้ถูกจับกุมพร้อมกับปาลบุตรชาย และภรรยาของข้าพเจ้า ในข้อหา “กบฏสันติภาพ” พ.ศ.๒๔๙๕ ส่วนนาวาเอกอานนท์ฯ ได้พำนักอยู่ในพม่าและเพิ่งเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯไม่นานนักหลังเหตุการณ์ โดยคิดว่าตนอาจได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งปล่อยตัวนาวาโทมนัสฯกับบุตรชายข้าพเจ้าและผู้ต้องหากบฏอื่นๆ แต่น่าเสียดายเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลับจับกุมตัวเขาไว้ และศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมาเขาได้รับการลดโทษลง และในที่สุด ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕


-๔-

หลังจากความพ่ายแพ้ของกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในการเข้าร่วมก่อการฯ ในบรรดาผู้ที่จับกุมเหล่านี้ ปรากฏว่าบางคนไม่มีส่วนรู้เห็นกับการก่อการดังกล่าวเลย ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกผู้ก่อการฯ ประมาณ ๑๕ คนเป็นเวลาเกือบ ๙ ปีและได้ปล่อยตัวคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หลายคนหนีการจับกุมไปได้และหลบซ่อนอยู่ในต่างจังหวัดบ้าง ในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง หรือที่แน่กว่านั้น ก็อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเปิดเผย ด้วยความใจเย็นคิดว่า ไม่มีพยานคนใดสามารถยืนยันได้ว่าได้เห็นตนเข้าร่วมก่อการฯ ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ ๒๖ จนถึงเช้าวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์

ถึงอย่างไรก็ดี อดีตรัฐมนตรี ๔ คน ได้แก่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรืองและนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมลงมือก่อการฯ ในวันนั้นกับเรา กลับถูกจับกุมทั้ง ๔ คน

ก่อนวันก่อการฯ ๑ วัน นายทองอินทร์ฯ นายถวิลฯ และนายจำลองฯ ได้รับคำเตือนให้อยู่ในบ้านของตน และมิให้ปรากฏตัวจนกว่าฝ่ายก่อการฯ จะประสบชัยชนะ ด้วยเหตุนี้ทั้ง ๓ คนนี้ จึงอยู่ในบ้านของตนเฉยๆ แต่จอมพลพิบูลฯและฝ่ายปฏิกิริยาได้จับกุมพวกเขาด้วยเหตุผลว่า มักทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ส่วนนายทองเปลวฯ นั้น อยู่ที่ปีนังเป็นเวลาหลายเดือนก่อนการก่อการฯด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจของจอมพลพิบูลฯ ก็ประกาศว่า ได้เห็นนายทองเปลวฯ และตำรวจก็ได้ส่งโทรเลขถึงเขาโดยใช้ชื่อภรรยาของอดีตรัฐมนตรีท่านนี้เป็นผู้ส่ง นายทองเปลวฯ จึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไม่ทันนึกว่าเป็นกลลวงของตำรวจ ทันทีที่ถึงกรุงเทพฯก็ถูกจับกุม

อดีตรัฐมนตรีทั้ง ๔ คนได้รับการทารุณกรรมจากฝ่ายตำรวจปฏิกิริยาจนปางตาย เพราะบาดแผลจากการถูกซ้อมอย่างป่าเถื่อน ดังนั้นเพื่อจะอำพรางบาดแผลเหล่านั้น ค่ำวันหนึ่ง ตำรวจก็ได้จับคนทั้ง ๔ ซึ่งมีอาการปางตายใส่รถบรรทุก คุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธปืนกลเบา และติดตามด้วยรถยนต์ตำรวจ ซึ่งกำกับโดยนายพันตำรวจผู้หนึ่ง เมื่อรถบรรทุกมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๐ กม. รถยนต์สองคันก็จอดนิ่ง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงจากรถ และสาดกระสุนใส่ผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๔ คน

วันรุ่งขึ้น ตำรวจก็ประกาศว่า ระหว่างการย้ายผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งนั้น ได้มีโจรจีนมลายูยิงปืนใส่ตำรวจ เพื่อชิงตัวผู้ต้องหา ตำรวจจึงจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยปืนกลเบา และกระสุนก็ถูกผู้ต้องหาทั้ง ๔ ถึงแก่ความตาย ไม่มีใครในเมืองไทยเชื่อแถลงการณ์ของตำรวจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าโจรจีนมลายู(ในขณะนั้น)อยู่ห่างจากกรุงเทพฯราว ๑,๐๐๐ กม.


-๕-

ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้สอดคล้องกับบันทึกคำให้การของตำรวจ และบันทึกคำให้การของพยานในการพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฏที่ศาลอาญา

๑๘ ปีหลังจากความล้มเหลวของกบฏแมนฮัตตัน หรือ ๒๐ ปีเต็มการกบฏวังหลวง คือ ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อวิลเลี่ยม วอร์เรน (William WARREN) เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติจิม ทอมป์สัน (Jim THOMPSON) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามราชาไหมไทย ในตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการตายของ ๔ อดีตรัฐมนตรีดังกล่าว นายวอร์เรนได้กล่าวหาข้าพเจ้าว่าได้กระโดดลงน้ำ เพื่อหนีเอาตัวรอด โดยทอดทิ้งเพื่อนขณะที่กองกำลังทหารของจอมพลพิบูลฯ กำลังโจมตีกองบัญชาการของข้าพเจ้า

อาจารย์ผู้นี้เอ่ยถึงข้าพเจ้า เพราะคิดว่าจิม ทอมป์สันซึ่งรู้จักข้าพเจ้านั้น รู้ประวัติสยามดี อย่างไรก็ตามจิม ทอมป์สันได้เดินทางมาถึงสยามหลายเดือนหลังจากญี่ปุ่นยอมจำนน ไม่ใช่เข้ามาช่วงสงครามตามที่นายวอร์เรนกล่าวอ้าง อีกประการหนึ่งเขาสับสนระหว่างตัวข้าพเจ้ากับจอมพลพิบูลฯ ที่กระโดดลงน้ำหนีในระหว่างเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เป็นที่น่าเสียดายสำหรับนักศึกษาไทย ที่อาจารย์ผู้นี้ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ เพราะว่าเขาเป็นผู้ให้คำแนะนำนักศึกษาในการเตรียมทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งต้องใช้การค้นคว้าข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งเอกสารทางกฎหมายที่เปิดเผยต่อสาธารณชน แต่อาจารย์ผู้นี้กลับพอใจแต่เพียงข่าวลือตามที่ได้ยินมาจากฝ่ายที่มีทัศนคติเดียวกัน จึงน่าสงสัยในความรู้ที่เขาเล่าเรียนมา


ปรีดี พนมยงค์


ที่มา : dedicate for the Revolution 2475 : บทความที่๓๓๙,๓๔๐,๓๔๑,๓๔๒

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: