วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551

กษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ


นิยาม

1) สถาบัน น. สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการ และจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง (เพิ่งบัญญัติขึ้นใช้เมื่อไม่ช้าไม่นาน)

2) กษัตริย์ น. พระเจ้าแผ่นดิน คนในวรรณะที่ 2 แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมีอยู่ 4 วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร

3) รัฐธรรมนูญ น. กฏหมายสูงที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ (เกิดขึ้นเมื่อเกิดการปกครองในแนวทางของประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 )


ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2422 เพื่อแสดงความทันสมัยอย่างไม่แพ้ฝรั่ง ในรัชสมัยเมจิ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญของระบอบกษัตริย์ โดยยกพระจักรพรรดิ (ซึ่งเคยอยู่ในอำนาจของโชกุน) ให้ศักดิ์สิทธิ์ เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆและตั้งข้อสงสัยไม่ได้ โดยประชาชนทุกคนต้องยอมตายถวายชีวิตในการพระราชการใดๆก็ตามที่เป็นคำสั่งของพระจักรพรรดิ์ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงถูกใช้ไปในทางกดขี่ข่มเหงประชาชน ทั้งในญี่ปุ่นเอง และในประเทศอื่นๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกรุกเข้าไป ไม่ว่าจะจีน เกาหลี ฯลฯ รวมถึงเมืองไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกแล้วเมื่อ 60 ปีมานี้ ที่สหรัฐเขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นใหม่ ในฐานะผู้ชนะสงคราม กำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ให้หมดความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ อย่างให้องค์พระประมุขเป็นสามัญมนุษย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดุจดังชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย

รัชสมัยเมจิเกิดขึ้นไล่ๆ กับการขึ้นครองบัลลังก์กษัตริย์ของรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2411) ซึ่งพระองค์ก็ต้องการจะใช้สถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลางในการปกครองบ้านเมืองอย่างระบอบกษัตริย์เช่นกัน ดังที่เป็นสมัยนิยมเช่นนั้นกันแทบทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะก็อภิมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ปรัสเซีย และรัสเซีย รวมถึงจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ออสเตรียอีกด้วย ทั้งๆ ที่ระบอบกษัตริย์นั้นๆ กำลังสูญสิ้นอำนาจลงไปเป็นลำดับๆ แต่ก็ยากที่ชนชั้นปกครองจะแลเห็นได้ชัด

รัชกาลที่ 5 ต้องการจะทรงเป็นระบอบกษัตริย์อย่างยุโรป ให้ชาวยุโรปยกย่องนับถือ คือไม่ต้องการเป็นอย่างขัตติยราชในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ซึ่งถ้าไม่เสียเอกราชไปอย่างพม่าและเวียดนาม ก็ล้าสมัยอย่างปรับตัวได้ไม่ทันกับความทันสมัย เช่นพระจักรพรรดิ์จีน ทรงหารือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระองค์ และทรงเห็นว่ามีความทันสมัยยิ่งกว่าพระองค์ หรืออย่างน้อยก็มีการศึกษาในต่างประเทศ ในขณะที่พระองค์ท่านขาดมิติทางด้านนี้ พร้อมๆ กันนั้นก็ทรงเชื่อว่าพระเจ้าปฤษฎางค์จะถวายความเห็นให้ได้อย่างน่ารับฟัง ในเรื่องการปรับสถานะพระมหากษัตริย์ของไทยให้อารยประเทศรับรองอย่างไม่น้อยหน้าไปกว่าพระราชาธิราชนั้นๆ ในยุโรป โดยมีความชอบธรรมทางด้านการปกครองบ้านเมืองให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อไปพ้นการเป็นอาณานิคมของฝรั่ง

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทำความผิดเป็นข้อฉกรรจ์ ตรงที่ไม่ได้กราบทูลตอบพระราชปุจฉาอย่างเป็นการส่วนพระองค์ หากนำเอาเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองอันละเอียดอ่อน ที่เนื่องด้วยสถาบันอันสูงสุด ไปเปิดเผยกันอย่างเป็นวงกว้าง แม้จนขุนนางข้าราชการก็พลอยมีโอกาสได้ออกความเห็นด้วย ทั้งบุคคลต่างๆ เหล่านี้ยังมีข้อเสนอให้มีรัฐธรรมนูญชนิดที่ลดทอนพระราชอำนาจลงอีกด้วย ความเห็นดังกล่าวนี้ มีขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญของเมจิถึง 3 ปี

พระราชหัตถเลขาที่ทรงตอบคำกราบบังคมทูลของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และท่านอื่นๆ ยืนยันอย่างชัดเจนว่าทรงปฏิเสธรัฐธรรมนูญ หรือการจำกัดพระราชอำนาจ ทั้งๆ ที่ทางอังกฤษเองเริ่มปฏิรูปการเมืองอย่างสำคัญมาแต่ พ.ศ. 2375 นั้นแล้ว แม้อังกฤษจะไม่มีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลายลักอักษร แต่ปีที่ว่านี้นับเป็นการบั่นทอนพระราชอำนาจและอำนาจของอภิชนลงเป็นอย่างมาก โดยที่สภาสามัญเริ่มมีความสำคัญเหนือสภาขุนนางยิ่งๆ ขึ้นทุกที เสียดายที่ชนชั้นปกครองของไทยแทบมองไม่เห็นประเด็นนี้ (เว้นบุคคลที่ทำหนังสือกราบบังคมทูลในปี ร.ศ. 103 กระมัง) ที่ในเมืองไทย อาจมีเพียงกรมหลวงพิชิตปรีชากรพระองค์เดียวก็ได้ ที่ทรงมีพระมติค่อนข้างชัดเจนถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ควรตีกรอบพระราชอำนาจไว้ในแนวทางของประชาธิปไตย (ทั้งนี้โดยไม่รวมสามัญชนเช่นเทียนวรรณ) ในขณะที่กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงแสดงพระมติทางด้านความเป็นระบอบกษัตริย์อย่างเต็มที่เลยทีเดียว

ดังได้กล่าวถึงไว้แต่แรกว่า เวลาเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญนั้น อดเสียมิได้ ที่ต้องโยงไปถึงความคิดของฝรั่ง ดังรัฐธรรมนูญของเมจิที่ญี่ปุ่นนั้น ก็คือการเอาอย่างฝรั่งในทางเผด็จการอย่างระบอบกษัตริย์ ผนวกกับอำนาจทหารในทางการเมืองการปกครอง ตามแบบเยอรมันในสมัยนั้น ด้วยการริดรอนเสรีภาพต่างๆ จนแทบหมดสิ้น อีกนัยหนึ่งก็คือชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นในสมัยนั้น อ้างว่าการปกครองดังกล่าวเป็นการคืนพระราชอำนาจ (Restoration) จากโชกุน มาไว้ที่พระราชา โดยนำเอาราชประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มาสร้างความโอฬาริกให้กับสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบของพระราชาธิราชอย่างฝรั่ง ทั้งๆ ที่พระจักรพรรดิเองทรงอ่อนแอ แม้จะทรงทีท่าว่าโอ่อ่าน่าเกรงขาม ยิ่งรัชกาลถัดไปด้วยแล้ว (ไต้โฉ) ถึงกับทรงเสียสติไปเลย และพระราชนัดดานั้นเล่า (โชว่า) ก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเลวร้ายต่างๆ ทางการเมืองการทหาร ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนญี่ปุ่นต้องแพ้สงคราม ถ้าอเมริกันไม่ช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ ย่อมต้องถูกถอดถอน และเป็นอาชญากรสงครามด้วยซ้ำ ทั้งนี้สืบมาแต่รัฐธรรมนูญเมจิมีความรุนแรงเป็นที่ตั้ง สถาบันกษัตริย์รับใช้ความรุนแรงนั้นติดต่อกันมาถึง 3 รัชกาล ทั้งทางการเมือง การทหาร ซึ่งโยงไปยังทุนนิยม อำนาจนิยม และความรุดหน้าทางวิทยาการต่างๆ ซึ่งรวมเรียกว่า ความทันสมัย โดยที่ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในฝ่ายอธรรมแทบทั้งสิ้น

เปรียบกับสถาบันกษัตริย์ไทย ตั้งแต่รับกาลที่ 4 เป็นต้นมา กษัตริย์ไทยไม่ลุแก่อำนาจมากเหมือนจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น เพราะสมัยเมจิ พระองค์ได้ทรงทำลายศาสนาพุทธ และชนชั้นนำรุ่นใหม่ต้องการใช้ความรุนแรงอย่างฝรั่ง บวกกับความรุนแรงเดิมของระบบโชกุน ในขณะที่อภิชนไทยใช้ศาสนาพุทธและความรอมชอม ดังที่ปรากฎชัดอยู่ในทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร โดย


ทศพิธราชธรรม

อันหมายถึงคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง,
ธรรมของนักปกครอง ได้แก่

01. ทาน คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาชน และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

02. ศีล คือ การสำรวมการแสดงออกทางกายและคำพูด ให้เป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน

03. ปริจจาคะ คือ การเสียสละทรัพย์ กำลังกาย สติปัญญา ตลอดจนชีวิต เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

04. อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน

05. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน มีอัธยาศัยดี ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือตัว มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้เคารพนับถือ แต่ไม่ขาดยำเกรง

06. ตปะ คือ ความทรงเดช รู้จักระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ

07.อโกธะ คือ ความไม่โกรธ

08. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาชนคนใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง

09. ขันติ คือ ความอดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม

10. อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดเคลื่อนในธรรม หนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ มีสติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คื ความเที่ยงธรรม ก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป

และ

จักรวรรดิวัตร 5

คือ หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ได้แก่

01. ธรรมาธิปไตย คือ ปกครองโดยถือความถูกต้องหรือความจริงเป็นใหญ่

02. ธรรมิการักขา คือ จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองสิ่งต่อไปนี้อย่างถูกต้องและชอบธรรม ได้แก่


ก. อันโตชน คือ บุคคลภายในปกครอง ถ้าเป็นพระราชา หมายถึง พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ปะธานาธิบดี หมายถึง คู่ครอง บุตร ธิดา ตลอดคนในปกครองส่วนตัว โดยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน

ข. พลกาย คือ ข้าราชการฝ่ายทหาร

ค. ขัตติยะ คือ ข้าราชการฝ่ายปกครอง หรือ คณะรัฐมนตรี

ง. อนุยนต์ คือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน และบริวาร

จ. พราหมณคหบดี คือ นักปราชญ์ นักวิชาการ ครูอาจารย์ หมอ พ่อค้า คนชั้นทำงาน

ฉ. เนคมชานบท คือ ชนชั้นรากหญ้า และกรรมาชีพ

ช. สมณพราหมณ์ คือ นักบวชศาสนาต่างๆ

ซ. มิคปักษี คือ สัตว์ต่างๆที่ควรแก่การสงวนและอนุรักษ์


03. อธรรมการนิเสนา คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง

04. ธนานุปทาน คือ จัดสวัสดิการให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้เกิดความขัดสนยากไร้ขึ้นในประเทศ

05. ปริปุจฉา คือ ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา ตลอดนักปราชญ์ผู้มีธรรม อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง


เป็นหลักการปกครองที่ควบคู่ไปกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายพุทธศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร จะได้หรือไม่ แม้สถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยโบราณย่อมประกอบไปด้วยหลักการปกครองของพราหมณ์เข้ามาควบเกี่ยวด้วยมิใช่น้อยก็ตามที

เนื้อหาสาระของหลักการปกครองตามแนวทางของพราหมณ์ก็คือ กษัตริย์ทรงรักษาธรรมะไว้ได้ด้วยอำนาจ (พระราชาทรงลงราชทัณฑ์ได้ แต่ถ้าลงทัณฑ์เกินเลยไป หรือใช้ราชอคติในการลงทัณฑ์ หรือไม่ใช้การลงทัณฑ์เอาเลย ก็ถือว่าพระราชาไม่ได้ทรงปฏิบัติตามราชธรรม) กล่าวคือ การใช้พระราชอำนาจ พระราชาต้องเที่ยงธรรม ไม่โอนเอนไปตามอคติต่างๆ หากยึดมั่นใน ธรรมศาสตร์ และธรรมสูตร หากไม่ทรงปฏิบัติตามราชธรรม ย่อมทรงถูกถอดทอนออกจากราชบัลลังก์ได้

ชาดกทางฝ่ายพุทธแสดงเรื่องในอดีตไว้ชัดเจนว่า ถ้าพระราชาไม่ทรงธรรม ย่อมต้องทรงถูกท้าทายจากอำนาจที่อยู่นอกเหนือสถาบันกษัตริย์ อย่างกรณีของท้าวสามล (ซึ่งมาจากสุวรรณสังข์ชาดก) ที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่เจ้าเงาะ เพราะเห็นว่าเป็นคนป่าเถื่อนนั้น พระอินทร์ก็ต้องเสด็จลงมาท้าทายให้ตีคลี และอย่างกรณีของเวสสันดรชาดกนั้น แม้องค์รัชทายาทจะทรงธรรม แต่ราษฎรเห็นว่าทรงใจดีเกินไป ก็รวมพลังมวลชนมาขับไล่พระองค์ให้ออกจากเมืองหลวงไป

ตามทางของฝ่ายพุทธศาสนานั้น กษัตริย์เป็นตัวแทนของอาณาจักร (คือกลไกในการปกครองที่ใช้อำนาจ) ในขณะที่คณะสงฆ์เป็นตัวแทนของธรรมจักร ที่คอยเตือนสติฝ่ายอาณาจักร ให้ใช้อำนาจไปในขอบเขตของความชอบธรรม

ถ้าคณะสงฆ์ทรงศีล และรู้เท่าทันสังคมและการเมือง ย่อมเป็นห้ามล้อให้วงล้อของอำนาจไม่หมุนออกนอกลู่นอกทาง เช่น กรณีของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว ในสมัยพระนเรศวร ที่เตือนสติพระเจ้าแผ่นดินไม่ให้ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองผู้จงรักภักดี หรือกรณีที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง จุดตะเกียงทั้งๆ ที่เป็นกลางวันแสกๆ เข้าไปในจวนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 เพื่อเตือนสติผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้พิจารณาตนเอง เพื่อไม่ให้กำเริบเสิบสานเกินเลยพระราชอำนาจของยุวกษัตริย์ เป็นต้น

ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา เกิดคำว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขึ้นมา ด้วยนึกอยากจะเอาอย่างอังกฤษในเรื่อง God King and Country โดยที่อังกฤษเอาคำทั้งสามนี้มาใช้มอมเมาคนให้ยอมตายเพื่อพระเจ้า เพื่อกษัตริย์ และเพื่อแผ่นดินเกิด โดยที่ฝรั่งได้ทำสงครามทางศาสนากันมานักต่อนัก ทั้งๆ ที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน พระราชาในยุโรปที่ประกาศสงครามกันและกัน เช่น เยอรมันกับอังกฤษนั้น ล้วนแต่เป็นพระญาติกัน แม้ประเทศชาติที่เป็นคู่สงครามกันนั้น นายทุนค้าขายกับสงครามก็จะร่ำรวยมหาศาล แม้จะอยู่ต่างฝ่ายกัน ก็อุดหนุนจุนเจือกันในทางทุนทรัพย์เพื่อแสวงหากำไร โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสรับรู้ด้วย

การที่นายคริสมัส ฮัมเฟรส์ มาถือพุทธจนเป็นนายกพุทธสมาคมคนแรกของอังกฤษนั้น ก็เพราะเขาเห็นว่าพี่ชายเขาต้องไปตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะถูกรัฐบาลหลอกลวง ให้หลงเชื่อและบังคับขับไสให้ไปตายเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าทหารไทยที่ถูกส่งไปตายในสนามรบ ก็ล้วนแต่ถูกหลอกให้ตายด้วยคำว่า
จงยอมตายเพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เช่นกัน


ถ้าเราแปลเสียใหม่ว่า

ชาติ ไม่ใช่เพียง คนที่พูดภาษาเดียวกัน อาศัยแผ่นดินเกิดอยู่ด้วยกัน โดยสัญชาติหรือเชื้อชาติ ซึ่งต่างก็เป็นของปลอมทั้งนั้น หากแต่เราให้หมายถึง ทุกคนที่เกิดมาอย่างร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเป็นมนุษยชาติทั้งหมด เราก็ย่อมจะเกื้อกูลกันและกัน และอุทิศตนเพื่อรับใช้ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและด้อยโอกาส แม้เขาจะต่างสัญชาติต่างเชื้อชาติจากเรา

ศาสนา ก็ไม่ได้หมายความเพียงศาสนาพุทธ จนนำเราไปสู่ความเป็นอัตตนิยม หากแต่ให้หมายรวมถึงทุกศาสนา ให้เคารพศาสนาของเพื่อนเรา แม้แต่คนไร้ศาสนา ก็ควรเคารพนับถือเขา แล้วร่วมมือกัน หาทางขจัดอคติออกไปจากจิตใจ

กษัตริย์ ก็ควรเป็นสมมติเทพที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ในทางเทวราช โดยที่มนุษย์ก็เป็นเทพได้ ถ้าทรงไว้ซึ่งเทวธรรม คือหิริ ความละอายใจ และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ยิ่งถ้ากษัตริย์ทรงประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรด้วยแล้ว ท่านย่อมมีค่าแห่งความเป็นมนุษย์ชั้นนำ ที่ทุกคนควรเอาเยี่ยงอย่าง

ไม่ควรที่ใครจะเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการโจมตีใคร เพื่อสร้างลัทธิอัตตนิยมให้ตนเอง หรือเพื่อสร้างความทนงให้ตนเองในนามของคำว่ารัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างมืดบอดอีกต่อไป

น่าเสียดายที่ ผู้ซึ่งทำตนเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา ยังหาเรื่องร้องเรียนให้มีการจับกุมในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ตลอดมา จนเป็นเหตุให้หน่วยงานทางด้านสิทธิมนุษยชนสากลต้องเข้ามาประท้วงคำสั่งที่ให้เก็บนิตยสารฟ้าเดียวกัน และดำเนินคดีกับบรรณาธิการนิตยสารนั้นในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้หนังสือที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในต่างประเทศ เพียงเอ่ยถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ ก็มีคำสั่งห้ามนำหนังสือนั้นๆ เข้ามาสู่ราชอาณาจักรเอาเลย โดยเฉพาะก็เรื่อง

(1) The Devil's Discus by Rayne Kruger (1964)

(2) The Revolutionary King by William Stevenson (1999)

(3) The King Never Smiles by Paul M. Handley (2006)

แล้วนี่ไม่เป็นการกระทำอันแสดงความอัปยศออกไปในนานาชาติหรือ ในระบบโลกาภิวัตน์ การห้ามปรามดังกล่าวเป็นไปได้ละหรือ

ธรรมนูญ โดยอ้างว่าเพื่อสถาบันกษัตริย์ ดังหนึ่งว่าสถาบันดังกล่าวอยู่ตรงข้ามกับธรรมะ จนเผด็จการบางคนเสแสร้งและสรรสร้างให้สถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่นั่นคือไสยศาสตร์ ศาสตร์แห่งความหลับไหล ในขณะที่พุทธศาสตร์ คือศาสตร์แห่งการตื่น ซึ่งย่อมเป็นไปตามทางของอหิงสธรรม ที่ปราศจากความรุนแรง อันเป็นเนื้อหาของศีล คือความเป็นปกติทั้งของแต่ละคนและสังคม

สถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ควรเกื้อกูลกันเพื่อความปกติของสังคม โดยยึดเอาสถาบันกษัตริย์ที่เป็นสมมติเทพ ซึ่งมีทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรเป็นแกน และสถาบันนี้ต้องควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญที่มีธรรมาธิปไตยเป็นหัวใจของการเมืองการปกครอง ที่มีความชอบธรรมอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ วิพากษ์ วิจารณ์ได้ และเราจักต้องปรับให้สถาบันกษัตริย์มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่สยบสมยอมกับทุนและอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรม


สุดท้ายมีคำกล่าวของยอดคนชาวไทยที่กล่าวไว้ในเรื่องนี้ 2 ท่าน ดังนี้

สุรักษ์ สิวลักษณ์ ได้แสดงไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า

สถาบันกษัตริย์แห่งใดเป็นประชาธิปไตยมาก มีพระราชอำนาจน้อย คล้อยตามไปกระแสโลก ยอมยกให้ประชาชนเป็นใหญ่ แม้ประชาชนจะผิดพลาดไปบ้าง สถาบันกษัตริย์ก็ดำรงอยู่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพระราชาธิราชประกาศความแข็งกร้าว ใกล้ชิดกับกองทัพ ยืนหยัดอยู่เหนือประชาชน ดูถูกประชาชน รังเกียจปัญญาชนที่มีความคิดในทางสร้างสรรค์อย่างก้าวหน้า แม้พวกนี้จะผิดไปบ้างอย่างไร อำนาจราชาธิปไตยไปกระทบหรือขัดขืนกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไร ก็รังแต่เป็นภัยกับสถาบันกษัตริย์ จนปลาสนาการไปได้ แม้จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่อย่างออสเตรีย เยอรมัน รัสเซีย และออตโตมาน ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร พระองค์แรกที่ว่า

การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับข่มเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดใครแล้ว จะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้ว มี 2 ทางคือ บวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดิน สำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎร ซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้


โดย : อนุทิน


อ้างอิง : คำกล่าวปิดการอภิปรายทางวิชาการว่าด้วยพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ, สุรักษ์ สิวลักษณ์, 28 เมษายน 2549

ที่มา : Midnightuniv Community : พฤษภาคม 25, 2007

ไม่มีความคิดเห็น: