วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551

อนาคตแห่งความทรงจำของ 24 มิถุนา 2475


ปัจจุบันคนไทยทั่วไป แทบลืมความสำคัญ ของวันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด ไปจนเกือบสิ้น

24 มิถุนายน 2475 เมื่อ 72 ปีที่แล้วคือ วันอภิวัฒน์ วันที่กลุ่มคณะราษฎรซึ่งมีผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นทหาร ข้าราชการ (รวมถึงพ่อค้า ชาวนามีฐานะบางคน) 100 กว่านาย ได้ยึดอำนาจจากสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้อย่างมิต้องหลั่งเลือดเหมือนในรัสเซีย หรือที่อื่นๆ

นักประวัติศาสตร์จำนวนมากเห็นตรงกันว่า 24 มิถุนา คือ วันเกิดของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ (modern nation state) ซึ่งต่างจากรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจรวมศูนย์ ไม่มีระบบคานอำนาจตรวจสอบ พระราชาตรัสอะไรก็กลายเป็นกฎหมายไปเสียหมด มิหนำซ้ำการแบ่งชนชั้นยังเป็นไปอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าคนผู้นั้นมีบุญหรือกรรมเกิดมาเป็นลูกของเจ้า หรือชาวนา

เป็นที่น่าเศร้าว่าในปีนี้ 72 ปีผ่านไป ซึ่งเป็นวาระครบหกรอบ ผู้ที่มาชุมนุมตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ที่ 24 ที่ผ่านมาเวลา 6 โมงเช้าที่หมุดอภิวัฒน์ 2475 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้ามีเพียงประมาณ 20 คน ในขณะที่ช่างภาพและนักข่าวมีมาถึง 30 คน ซึ่งมากกว่าผู้มารำลึกเสียอีก

ดูเหมือนว่ามนุษย์มักจำในสิ่งที่จำแล้วได้ประโยชน์หรือสบายใจ ในภาวะปัจจุบันที่กระแสเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ฟูเฟื่องเช่นนี้ การจดจำอดีตแห่งการเผชิญหน้าระหว่าง "ไพร่" กับ "เจ้า" จึงเป็นเรื่องที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกพะอืดพะอม ลำบากใจพิลึก

หลายคนมักพูดว่า คนไทยนั้นความจำสั้น ขี้ลืม ไม่สนใจต่ออดีต อันนี้คำตอบคงเป็นทั้งใช่และไม่ใช่

ใช่หากจะดูว่าผู้มาร่วมรำลึกน้อย แถมสื่อส่วนใหญ่มิได้สนใจเขียนหรือรายงานเสนอเรื่องนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวี ก็ตามแต่

แต่ไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์นั้นมักถูกเลือกสรรโดยผู้มีอำนาจอิทธิพลในปัจจุบันว่าอะไรสมควรจำไม่จำ ยกตัวอย่างการผลิตซ้ำ ความเกลียดชังต่อพม่า ซึ่งตีอยุธยาแตกถึง 2 ครั้ง มีการตอกย้ำออกมาในรูปแบบละครทีวี ไม่รู้กี่เวอร์ชั่น (ปัจจุบันชมเรื่อง "ฟ้าใหม่" ได้) จนประชาชนสับสนไม่รู้อะไรจริงเท็จหากรู้แน่ๆ ว่าพม่า "โหดร้าย" เพราะฉะนั้นการลืมเรื่องเหตุการณ์มิถุนา 2475 ซึ่งผ่านไปยังไม่ถึง 80 ปี ในขณะที่สงครามกับพม่าผ่านมาสองสามร้อยปีก็ยังจำได้ จึงมิใช่เหตุบังเอิญ

(ในกรณีสงครามระหว่างไทย-พม่านั้น นักมานุษยวิทยาบางคนเห็นว่าการสร้างศัตรูร่วมเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชาติไปในตัว)

สิ่งที่น่าจะถามจึงเป็นว่า เราควรจำวันที่ 24 มิถุนาอย่างไร และจําไปเพื่ออะไร อดีตมีไว้เพียงเพื่อรับใช้ปัจจุบันกระนั้นหรือ?

แท้จริงแล้วการจำหรือไม่จำอะไรบอกเราเกี่ยวกับปัจจุบันมากกว่าอดีตเสียอีก...หรือท่านผู้อ่านว่าไม่จริง?

นักประวัติศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้ามักจะรำพึงรำพันว่า พื้นที่สำหรับความทรงจำเรื่องการอภิวัฒน์ 2475 นั้น มีน้อยเพียง 2-3 บรรทัดในตำราประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปัจจุบัน แถมมีการตีความกันแบบยัดเยียดความทรงจำอันน้อยนิดนี้ ให้เพียงชุดเดียว อันได้แก่ ชุดที่ว่ารัชกาลที่ 7 ท่านทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว แต่พวกคณะราษฎร ชิงสุกก่อนห่ามไปเองเสียก่อน (ทุกวันนี้หน้ารัฐสภา จึงมีแต่รูปปั้นพระปกเกล้า หามีรูปปั้นผู้นำคณะราษฎรด้วยไม่) แทนที่จะมีหลายชุดหลายเวอร์ชั่นของประวัติศาสตร์ มาแข่งกันให้เยาวชนไทยได้คิดตั้งคำถามและเรียนรู้จากอดีต

ยกตัวอย่างเรื่องชิงสุกก่อนห่ามนั้น คงขึ้นอยู่กับว่ามองจากมุมมองของใคร มุมมองของเจ้าผู้มีอภิสิทธิ์ หรือมุมมองของผู้ถูกกดขี่ด้อยอำนาจ หรือแม้กระทั่งมุมมองของผู้ด้อยอำนาจถูกกดขี่แต่พอใจในระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าสุกของใคร ห่ามในสายตาของผู้ใดเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความหมายของวันที่ 24 มิถุนา 2475 ไม่น่าจะอยู่คงที่ ความจำ (หรือลืมเลือน) ต่อเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 ในอีก 50 ปีข้างหน้าอาจจะต่างจากปัจจุบันที่ไร้ผู้คนสนใจ หากปัจจัยและสภาพสังคมในอีก 50 ปีข้างหน้าเปลี่ยนไป (ซึ่งมันก็คงจะเปลี่ยน)

มนุษย์ดูเหมือนจะถูกจำกัดโดยกาล (time) และเทศะ (space) กาล หรือยุคสมัย ที่เราดํารงอยู่พยายามจำกัดให้เราคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ ในยุคเรา เช่นอาทิตย์นี้น่าจะสนใจติดตามฟุตบอลยูโร ซึ่งกำลังแข่งอยู่ หรือเหตุการณ์ฆ่า คุณเจริญ วัดอักษร นักอนุรักษ์คนสำคัญแห่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ในขณะที่เทศะนั้นพยายามหล่อหลอมเราให้มีสำนึกเหมือนคนอื่นๆ ในท้องที่สังคมชาติที่เราถือกำเนิดและเติบโต เพราะฉะนั้นเราคนไทยมักจะไม่ไว้ใจพม่า และตีแขกก่อนงู เป็นต้น

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงมักจำ (หรือไร้ความทรงจำ) ต่อเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 อย่างที่เป็นปัจจุบันสภาพของสังคมไทยกําหนด ต่างจากกาลและเทศะของเมืองไทยปี 2481 ถึง 2502 ซึ่งในช่วงนั้น ทุกวันที่ 24 มิถุนา ถือเป็นวันชาติไทยอันสำคัญ ก่อนมาถูกกระทำให้ลืมโดยเผด็จการชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2503


ประวิตร โรจนพฤกษ์

กรุงเทพธุรกิจ :
วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2547

ที่มา : nidambe11.net : อนาคตแห่งความทรงจำของ 24 มิถุนา 2475

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: