วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วย สถานะของสถาบันกษัตริย์ไทยในปัจจุบัน : สนทนากับเพื่อนร่วมอุดมการณ์


ผมได้อ่านบทความของสหายท่านหนึ่งของพรรคที่พยายามผลิตผลงานอย่างเร่งด่วนออกมาให้เราได้ร่วมคิดและถกเถียงกันในสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถามกับสถานะและบทบาทของ ?สถาบันกษัตริย์? ด้วยความชื่นชมและตื่นเต้นอย่างมาก นั่นก็คือ บทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ เรื่อง ?สถาบันกษัตริย์ไทยมีอำนาจแค่ไหน?: การถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย? (23 มกราคม 2551) ผมมีทั้งข้อที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับบทความของใจ โดยจะแลกเปลี่ยนเฉพาะประเด็นหลักๆตามพื้นที่ที่จำกัดของคอลัมน์นี้ดังต่อไปนี้


1.
สถาบันฯของไทยมีลักษณะเฉพาะหรือไม่?

ใจอธิบายสถานะของสถาบันฯด้วยวิธีการเปรียบเทียบในเชิงประวัติศาสตร์กับสถาบันฯในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น[1] ซึ่งการเปรียบเทียบสถาบันฯในที่ต่างๆเพื่อนำมาทำความเข้าใจสถาบันฯของไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมาถูกมองข้ามไปโดยนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้โดยทั่วไป อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบตามหลักวิชาการโดยทั่วไปนั้น นอกจากจะชี้ความเหมือนแล้ว ยังต้องชี้ความต่างด้วย อะไรบ้างที่แตกต่างในกรณีของไทยกับกรณีอังกฤษและญี่ปุ่น ? อังกฤษและญี่ปุ่นไม่มี กฎหมายหมิ่นฯ ไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือแสดงพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการจนเป็นประเพณีทุกปี ฯลฯ ต่างจากของไทยอย่างสิ้นเชิงในแง่นี้ ? การที่สถาบันฯของไทยในปัจจุบันมีอำนาจและความสำคัญในระดับที่รัฐต้องให้การรับรอง ?อย่างเป็นทางการ? นี่คือ ความแตกต่างอย่างแน่นอน!!! และเป็นความแตกต่างที่เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทำไม???


2.
สถาบันฯเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?

ใจให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราต้องพูดให้ชัดว่า สถาบันฯซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันมีโอกาสขึ้นหรือลงก็ได้ แต่ถ้าเราดูสถาบันฯในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนกับสถาบันในช่วงหลัง 2475 อย่างแน่นอน ใจให้ความสำคัญกับสฤษดิ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานะของสถาบันถูกกู้คืนมาในลักษณะที่เป็นการสร้างประเพณีใหม่ให้ดูเก่า ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในเวลานั้นมีประโยชน์กับการสถาปนาอำนาจความมั่นคงของระบอบเผด็จการ อันนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่.. ถ้าเรามองว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดแบบวิภาษวิธี สถานะของสถาบันในปัจจุบัน อย่างน้อยหลัง 2535 นั้นก็ต่างจากในช่วงสฤษดิ์อย่างแน่นอน ? อย่างน้อยที่เราเห็นได้ชัดก็คือ ประเพณีต่างๆถูกสร้างให้สถาบันฯกลายเป็นส่วนหนึ่งและเป็นหัวใจประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น สถาบันกลายเป็นศูนย์กลางของแนวคิดชุมชนของเอ็นจีโอหลายส่วนในสังคมไทย การตายของราชวงศ์ถูกทำให้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ สำนักทรัพย์สินฯซึ่งเป็นแหล่งทุนของสถาบันมีผลกำไรและเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน[2] องคมนตรีมีบทบาทในทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์อย่างเดียว แต่มีพรรคพวกและผลประโยชน์ในกองทัพและระบบราชการอย่างชัดเจน ฯลฯ --- สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า สถาบันฯของไทย ไม่ได้มี ?ปริมาณ? และ ?คุณภาพ" เฉกเช่น สมัยสฤษดิ์ ? นี่ไม่ใช่หรือคือการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ในฐานะหัวใจของนักสังคมนิยม


3.
สถาบันฯคืออะไร?

ปัญหาอันหนึ่งเวลาเราพูดถึง กษัตริย์ ในสังคมไทยก็คือ หลายคนจะบอกว่า เวลาที่สำนักทรัพย์สินฯ หรือ องคมนตรี ไปทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย กษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลไม่ได้ยินดีหรือรู้เห็นด้วย หรือ การบอกว่า กษัตริย์ถูกบังคับให้ยอมรับการรัฐประหาร การมองแบบนี้มีจุดอ่อน ซึ่งใจตระหนักดีและได้วิจารณ์มุมมองแบบนี้ในบทความของเขา แต่... ประเด็นหนึ่งที่ใจละเลยและสับสนตลอดเวลา ก็คือ เวลาใจพูดคำว่า ?สถาบันกษัตริย์? ใจมักจะหมายถึง ตัวของกษัตริย์ มากกว่าที่ใจจะให้ความสำคัญหรือพูดรวมไปถึง กลไกของสถาบันที่มีมากมาย เช่น องคมนตรีที่มีสายสัมพันธ์และคุมบางส่วนของกองทัพ สำนักทรัพย์สินฯซึ่งเป็นแหล่งสะสมทุนของสถาบันฯ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ?สถาบัน? ไม่ใช่หรือ สถาบันไม่ใช่ตัวบุคคล ดังนั้นถ้าสถาบันเป็นกลไก การที่กลไกของสถาบันมีบทบาททางการเมือง (กองทัพและระบบราชการ) และเศรษฐกิจ ไม่ได้แปลว่า สถาบันไม่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจหรอกหรือ??? -- ในงานเขียนของพอพันธ์ก็ชี้ไว้ชัดเจนว่า ความเข้มแข็งของสถาบันในเชิงการเมืองกับเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกัน การเติบโตของทุนสำนักทรัพย์สินฯที่มากมายในปัจจุบันนั้นอิงกับอิทธิพลที่สถาบันมีต่อรัฐและกลไกรัฐ -- ข้อเสนออันนี้จะกลับไปสูประเด็นที่สำคัญที่สุดของบทความของใจก็คือ การที่ใจมองว่า ?สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ? ? หรือข้อเสนอของใจจะผิด???


4.
สถาบันอ่อนแอจริงหรือ?

การที่มีหลายคนบอกว่า ?สถาบันฯมีอิทธิพลทางการเมืองและไม่อ่อนแอ? หรือแม้แต่ ?สนับสนุนรัฐประหารอย่างเต็มที่? ซึ่งแน่นอนว่าใจไม่เห็นด้วยและโต้แย้งมากมายในงานของเขา การพูดเช่นนี้ ?ไม่จำเป็น? ต้องหมายความว่า ?สถาบันกษัตริย์เข้มแข็งและมั่นคงตลอดกาล? หรือ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ?ภาคประชาชนไม่มีความหมาย ชนชั้นล่างไม่มีพลัง? ? มาร์กซ์ พูดชัดในงานศึกษาเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของนโปเลียนโบนาปาร์ตในฝรั่งเศสถึง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆภายในชนชั้นนำด้วยกันทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ด้วย ? ผมเคยเขียนแล้วว่า รัฐประหาร 19 กันยา 49 นั้น ?ส่วนหนึ่ง? สะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่มใหญ่ในประเด็น ?การเมือง? ซึ่งหมายถึง การแย่งชิงพื้นที่กันเพื่อสร้างอิทธิพลเพื่อควบคุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในระบบราชการและกองทัพ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลและเป็นฐานทำมาหากินทางเศรษฐกิจเดิมของกลุ่มองคมนตรีและพรรคพวกมาตลอด (ข้อเสนอนี้อิงอยู่บนฐานเศรษฐกิจด้วย ซึ่งใจเองก็ยอมรับว่า กองทัพมีฐานทางเศรษฐกิจจริง) และ ?อีกส่วนหนึ่ง? รัฐประหารสะท้อนสิ่งที่ใจพูดอย่างถูกต้องโดยที่หลายคนละเลย ก็คือ การทำรัฐประหารครั้งนี้คือ ปฏิกิริยาที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีต่อนโยบายประชานิยม ที่ไทยรักไทยใช้เงินให้กับประชาชนมากไป ? และนี่คือสิ่งที่พวกเราเรียกว่า การต่อสู้ ?ระหว่าง? หรือ ?ทาง? ชนชั้น ? การรัฐประหารจึงสะท้อนความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดในหลายระดับและซับซ้อนกว่าการพูดว่า มีแค่ชนชั้นปกครองสองกลุ่มทะเลาะกัน หรือ เป็นเรื่องระหว่างชนชั้นแต่เพียงด้านเดียวตลอดไป


5.
สังคมไทยเป็นอะไรในปัจจุบัน?

ใจถูกต้องที่มองว่า รัฐประหารไม่ใช่เรื่องของ ศักดินา กับ นายทุนสมัยใหม่ แบบที่นักวิชาการหลายคนเสนอกันว่า เราล้มศักดินาไม่สำเร็จ ดังนั้นเรากำลังอยู่ในยุคกึ่งศักดินา หรือว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่าง เศรษฐกิจพอเพียง กับ เสรีนิยมโลกาภิวัตน์ ฯลฯ -- แต่... เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองโดยทั่วไป ทั้งไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ และสถาบันฯต่างก็ชื่นชมและสะสมความร่ำรวยผ่านนโยบายเสรีนิยมใหม่ ที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และ FTA ซึ่งเป็นผลเสียกับคนจนอย่างที่เราเห็นกันว่า รัฐบาลเผด็จการพอเพียงผ่านกฎหมายเสรีนิยมมากกว่ารัฐบาลไทยรักไทย ? ผมเห็นด้วยกับใจว่า ในปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนไทยได้ประโยชน์จากการมีสถาบัน เพื่อเอาไว้ แก้วิกฤต และเป็นขั้วอนุรักษ์นิยม ? ดังนั้นข้อเสนอว่า ไทยรักไทยจะยกเลิกสถาบันฯโดยยกเอาเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ของภาคประชาชนบางคนจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผลและสุดขั้ว ? แต่... การไปไกลขนาดว่า ไม่มีใครขัดแย้งกับสถาบันฯเลย หรือ สถาบันอ่อนแอจนทำอะไรไม่ได้ อย่างที่ใจเสนอ ก็เป็นเรื่องสุดขั้วเช่นเดียวกัน ซึ่งผมได้เสนอเหตุและผลไปแล้วข้างต้น ? ข้อสรุปที่ถูกต้องน่าจะเป็น ?เราอยู่ในระบบทุนนิยมที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นกลุ่มย่อยของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจและอิทธิพลมาก ?ในแง่เศรษฐกิจและการเมือง? และสถาบันฯเป็นเครื่องมือและสถาบัน ?ในเชิงอุดมการณ์? ที่จำเป็นต่อผลประโยชน์ระยะยาวของการปกครองของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นโดยเฉพาะในยามวิกฤต?


โดยสรุปแล้ว ในเชิงทฤษฎี ผมเสนอว่า วิภาษวิธีหรือการศึกษาแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของนักสังคมนิยมนั้น ต้องมองความขัดแย้งทางชนชั้นในลักษณะที่ไม่แข็งทื่อ การพูดว่า ชนชั้นปกครองขัดแย้งกันเองในสถานการณ์หนึ่งๆ ไม่ได้แปลว่า เราละเลยความขัดแย้งหรือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ? แต่ในงานของมาร์กซ์ และของนักสังคมนิยมหลายคนก็ชี้ให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่าการมองอะไรทางเดียว ไม่ใช่มาร์กซ์หรอกหรือที่เสนอว่าวิภาษวิธีก็คือ เครื่องมือให้เราสามารถมองเห็นหลายๆด้านของความจริงที่ขัดแย้งกันเองได้พร้อมๆกัน -- ส่วนข้อสรุปในเชิงการเมืองของผมก็ยังเป็นข้อสรุปเดิมของพรรคฯว่า ?เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นนำหลายๆกลุ่ม แต่เราต้องมีจุดยืนอิสระของภาคประชาชนเอง? ซึ่งนี่ก็เป็นหัวใจที่สำคัญเหนืออื่นใดของการเชิดชูและให้ความสำคัญกับการต่อสู้ทางชนชั้นจากล่างสู่บนในโลกของความเป็นจริง!!!


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ


[1] ดูบทความแรกๆของใจในเรื่องนี้ในหนังสือ ?รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย? (2547)
[2] ดูบทความของ พอพันธ์ อุยยานนท์, ?สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ? ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร, การต่อสู้ของทุนไทย (มติชน, 2549)


ที่มา : พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น: