เมื่อประมาณ 6000 ปีก่อน "เจอริโค" เป็นเมืองที่ถูกสร้างเป็นเมืองแห่งแรกในโลก และต่อมาเมืองอื่นก็ผุดตามขึ้นมาแล้วต่อมาก็ล่มสลายลง เพราะถูกทำลายโดยสงครามและการปล้นสะดม บางครั้งเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือมีหายนะเนื่องจากโรคระบาดร้ายแรง บางเมืองที่เคยรุ่งโรจน์ต้องเสื่อมทรุดลง แล้วมีเมืองเกิดขึ้นใหม่กระจายไปทั่วทั้งทวีปยุโรป เอเซีย อเมริกา และแอฟริกา ซึ่งนับจากอดีต จนถึงปัจจุบัน การพัฒนาของเมืองแต่ละเมืองดำเนินแตกต่างกันไป เพราะนอกจากเงื่อนไขทางภูมิสาสตร์แล้ว เงื่อนไขทางการทหาร ทางเศรษฐกิจ วัมนธรรม และการแผ่อำนาจของมหาอำนาจในอดีต ก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อรูปโฉมและชีวิตของเมืองหลายแห่งในโลกด้วย
ดังนั้นการมองกรุงเทพฯ ในอดีตนั้นจำเป็นต้องเหลียวไปมองเมืองในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม อิทธิพลของตะวันตกที่มีต่อประเทศในอาณัติย่อมมีมากเป็นพิเศษ ฝรั่งผู้ปกครองประเทศอาณานิคมจะออกแบบ และสร้างเมืองตามแนวสถาปัตยกรรมของเมืองแม่เป็นหลัก ประเทศสยามแม้จะไม่ตกเป็นอาณานิคมของใคร แต่ก็รับเอากระแสอิทธิพลของสังคมอุตสาหกรรมตะวันตกมาไม่น้อย ซึ่งดูได้จากสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆ และความพยายามในการเปลี่ยนสภาพกรุงเทพฯ ที่มีรากฐานมาจากเมืองน้ำในอดีต ให้มีความเป็นเมืองบกมากขึ้น การสร้างกรุงเทพฯ ในระยะแรกมิได้แตกต่างไปจากสังคมศักดินาในยุโรปกลางที่ ผู้มีอำนาจต้องการรวมศูนย์กลางทุกอย่างให้อยู่ในมือ และได้เป็นผู้กำหนดทิศทางแบบแผนของเมืองตามจินตนาการ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 1 การสร้างเมืองกรุงเทพฯ ก็คือการสร้างเมืองที่ตั้งใจทำให้เป็นเหมือนดั่งเมืองฟ้า เป็นเมืองเจ้าเมืองนายของเทวดา เมืองแห่งความรุ่งเรื่องในบวรพระพุทธศาสนา บริเวณพระนครจะดูงดงามอร่ามไปด้วยปราสาทราชมณเฑียรและวัดวาอารามน้อยใหญ่ เมื่อสร้างเมืองเสร็จใหม่ๆ พื้นที่ของเมืองยังเล็กอยู่มาก มีเพียง 2,589 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองยาวประมาณ 7.2 กิโลเมตร การใช้ที่ดินในเขตชั้นในที่สำคัญได้แก่ พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามบนพื้นที่ 132 ไร่ นอกจากนั้นประกอบด้วย สถานที่ราชการ วัง และวัดต่างๆ เรียงรายโดยรอบพระบรมมหาราชวังเป็นลำดับชั้น ตามความสำคัญของสถานที่นั้นๆ หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของสถานที่นั้น อันเป็นผู้มีความสำคัญในการปกครอง
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เมืองกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพน้อยมาก มีแต่การขยายเขตพระบรมมหาราชวังออกไปทางทิศใต้อีก 20ไร่ครึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจอันใด เพราะเศรษฐกิจของประเทศสยามเวลานั้นเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ การค้าขายและการใช้เงินยังไม่แพร่หลาย ชาวสยามเกือบทั้งหมดทำการเกษตรการค้าขายกับต่างประเทศ กรุงเทพฯจึงเป็นเมืองที่แทบไม่ได้เติบโตขึ้นเลย แต่ในห้วงระยะเวลาเดียวกัน เมืองในทวีปยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดเทคนิคทางการผลิตที่ก้าวหน้า มีจำนวนประชากรเติบโตอย่างรวดเร็ว และสถาบันเก่ายุคศักดินาที่ล้าสมัยอยู่ในระหว่างการเสื่อมถอย
สมัยรัชกาลที่ 4 ประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูเมืองชั้นนอกขนานไปกับแนวกำแพงเมืองเดิม เป็นผลให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว คือประมาณ 4,000 ไร่ การเพิ่มของประชากรเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของกรุงเทพฯสู่ความสมัยใหม่ได้ดี ดังจะเห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2365 กรุงเทพฯ มีประชากรราว 50,000 คน ครั้งถึงพ.ศ.2394 กรุงเทพฯ มีประชากรราว 600,000 คน
การทำสนธิสัญญาเบาริงเมื่อ พ.ศ.2398 ได้จุดประกายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศสยามทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและการพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์สัญญาเบาริงได้เปิดประตูการค้าเสรีให้ชาวตะวันตกมาลงทุน ในกิจการด้านการค้าและอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯอย่างกว้างขวาง กิจการในโรงสีที่เป็นโรงสีมือ ได้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องจักรในปี พ.ศ.2401 โดยชาวอเมริกัน อีกไม่นานโรงสีของชาวจีนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ความต้องการทางการบริโภคที่ขยายออกไปทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆ ผุดขึ้นมา เช่น โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ โรงงานกระเบื้อง โรงน้ำแข็ง โรงงานบุหรี่ โรงงานทอผ้า เป็นต้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ลงทุนก่อสร้างถนนหนทาง ทางรถไฟ ประปา อาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน ทำให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ติดตามมา
การค้าภายในและการค้าต่างประเทศทำให้ชีพจรของกรุงเทพฯที่เคยเต้นอย่างช้าๆ สบายๆ มาเกือบสี่รัชกาลได้กลายมาเป็นความคึกคัก ในปี พ.ศ.2434 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่าบริเวณสำเพ็งซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งเดียวในสมัยนั้นคับแคบจอแจมาก ประกอบกับในช่วงเวลานั้นได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่สำเพ็ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราชแทรกลงระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนสำเพ็ง ต่อมาประชาชนจากสำเพ็งและที่อื่นๆ ได้ปลูกสร้างบ้านเรือนร้านค้ายาวกันไปตามแนวถนนเยาราชทั้งสองฟาก เรียกกันว่า "ตึกแถว" หรือ "ห้องแถว" มีการกำหนดศูนย์กลางธุรกิจการค้าของเมืองคือเยาวราช หลังจากนั้นความนิยมสร้างตึกแถวสองฟากถนน ได้ลุกลามไปตามถนนสายอื่นๆ เมื่อมีการใช้รถเป็นพาหนะเดินทางมากขึ้น ศูนย์การค้าบนถนนจึงเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ที่สำคัญๆ ได้แก่ บริเวณถนนเยาวราช ซึ่งเป็นย่านธุรกิจของคนจีนขายสินค้านานาชนิด บริเวณถนนบางรักเป็นที่ตั้งของบรรดาห้างร้านและโกดังสินค้าชาวยุโรป และบริเวณบางลำพูเป็นย่านการค้าแบบไทยๆ จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง
การหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินของคนต่างชาติต่างภาษา ได้ทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆ และสร้างผลกระเทือนต่อรูปโฉมของกรุงเทพฯด้วย ชุมชนชาวตะวันตกและชุมชนชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ทางทางด้านใต้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองรอบกรุงไปจนถึงคลองผดุกรุงเกษม เริ่มมีผู้คนแออัดมากขึ้น ชาวตะวันตกจึงได้ร้องขอให้รัฐตัดถนนเพิ่มเพื่อการคมนาคม จึงได้เกิดถนนเจริญกรุงนอกกำแพงพระนคร ส่วนในกำแพงพระนครเกิดถนนบำรุงเมืองกับเฟื่องนครเพิ่มขึ้น กงสุลของของชาติตะวันตกที่เข้ามาเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ และคุ้มครองคนในอาณัติ ได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็นที่ตั้งของสถานกงศุลบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมลงไป บริเวณนั้นจึงมีสถานกงสุลเยอรมัน โปรตุเกส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ ทำให้อาคารบ้านเรือนบริเวณนั้นมีสถาปัตยกรรมแบบยุโรปพร้อมกับถนนสีลมและถนนสายอื่นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในเวลานั้น ความนิยมสร้างอาคารแบบยุโรป เป็นการแสดงออกถึงความทันสมัยด้วย
กรุงเทพฯยุคต้นของการย่างก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะมีความงดงามและมีบุคลิกความเป็นตัวตนอยู่มาก จนผู้มาเยือนจากแดนไกลเห็นภาพที่เป็น "ตราประทับ" ในใจ กรุงเทพฯจึงได้รับสมญานามว่า "เวนิสแห่งตะวันออก" ดูจากการบรรยายภาพของกรุงเทพฯยุคต้นของ "ความสมัยใหม่" สะท้อนออกมาจากจดหมายรายวันของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ซึ่งมีถ้อยความบางตอนว่า
"ไกลออกไปอีก หลังจากได้ข้ามคลองไปแล้ว หลายต่อหลายคลองบนสะพานสูงกระทั่งไปถึงตลาดก็เปลี่ยนสภาพไป คนญวนซึ่งเป็นชาวประมงที่เก่งกาจ นำน้ำปลามาวางขาย ส่วนพวกชาวสวนถึงทางเท้า ถนนหนทางก็เปลี่ยนสภาพไปเหมือนกัน คลองมีจำนวนมากขึ้น ทำให้นครหลวงเป็นเมืองลอยน้ำ มากมูลไปด้วยเรื่อนแพ…… ยุโรปมิได้เยี่ยมกรายเข้าไปถึงในแหล่งพำนักเหล่านี้ ตัวเมืองจึงปรากฏแต่สีสัน และดูแปลกตาไปเสียทั้งนั้น…… ทัศนียภาพอย่างพื้นๆ เลือนหายไปกลายเป็นความจรัสแจ่มจ้า เมื่อเราข้ามฟากแม่น้ำไปจนกระทั่งถึงวัดแจ้งอันมีองค์เจดีย์สูงเหนือเจดีย์ของวัดหลวงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหินที่จำหลักฐานชั้นๆ ขึ้นไปจนถึงยอดครอบคลุมอาณาบริเวณไว้โดยทั่วภายใต้สายตาที่แลไปนั้น บางกอกกับพระบรมมหาราชวัง เรือกสวนและลำคลองอันแลไปสุดสายตา ทอดสนิทอยู่ กล่าวได้ว่าเป็นตลับสีเขียวขจีที่สร้างขึ้นไว้รองรับ แสงสีอันรุ่งโรจน์ของทองคำ สีชาดอันแดงเข้ม กับชิ้นกระเบื้องอันมันวาววับนั้น"
การสร้างกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องเร่งรีบเพื่อ สร้างความมั่นคงให้แก่ชาติรัฐสมัยใหม่ แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 6 เมืองเริ่มขยายตัวออกไปอัตราที่ช้าลงกว่ารัชกาลก่อน ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 7 แม้จะมีชุมชนบางแห่งเติบโตขึ้นมาบ้าง กรุงเทพฯสมัยใหม่ก็มิได้ขยายตัวออกไปมากนัก เพราะความตกต่ำอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สืบเนื่องกันมาหลายปี จนในที่สุด รัฐนาวาไทยถึงกับต้องพลิกคว่ำลงในพ.ศ.2475
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองในการสร้างรัฐประชาชาติ (nation state) โดยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ เพื่อให้รัฐมีความมั่นคงในการรับมือกับการคุกคามของนักล่าอาณานิคมที่กำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งได้ส่งผลให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโตเดี่ยวมาจนถึงทุกวันนี้
แนวคิดในการสร้างรัฐประชาชาติจำเป็นต้องมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และการปฏิรูประบบราชการเป็นการดำเนินการที่มุ่งส่งเสริมอำนาจของส่วนกลาง โดยอาศัยกลไกต่างๆ ของรัฐ อาทิการเลิกระบบไพร่อันเป็นการตัดทอนอำนาจและการสั่งสมกำลังของมูลนายในระดับต่างๆ การจัดตั้งกองทัพสมัยใหม่และการจัดระบบเกณฑ์ทหาร การตั้งกระทรวง 12 กระทรวง โดยแบ่งตามลักษณะงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ การจัดการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปมณฑลเทศาภิบาล มาตรการต่างๆ ดังกล่าวนี้ ได้นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้าง "รัฐประชาชาติ" โดยรวมอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง หรือหัวเมืองกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของประเทศและได้รับการพัฒนาอย่างมาก
เพื่อตอบสนองประโยชน์ทางด้านการปกครอง ได้มีการใช้พื้นที่เพื่อสร้างสถานที่ราชการหลายแห่ง นอกจากนั้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องเผชิญกับจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้รัฐมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นยุคสมัยที่รัฐเข้าไปมีบทบาทในการใช้ที่ดินอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนา จนกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นเมืองสมัยใหม่ที่โดดเด่นกว่าเมืองอื่นๆ ของประเทศไทยในขณะนั้น
จากนโยบายดังกล่าวเมื่อประกอบกับการปรับตัวให้ทันกับความศิวิไลซ์ของชนชั้นสูง ทำให้มีการใช้ที่ดินในทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าการนิยมสร้างวัดในอดีต เช่น การก่อตั้งสโมสรต่างๆ การสร้างสวนลุมพินีสมัยรัชกาลที่ 6 การขยายเขตพระราชวังดุสิตออกไปทางทุ่งส้มป่อย (นางเลิ้ง) การสร้างตำหนักจิตรดารโหฐาน และการสร้างโรงภาพยนตร์ตามย่านต่างๆ สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อมีการเชื่อมธนบุรีเข้ากับกรุงเทพฯ โดยสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ การพัฒนาถนนหลายสายที่เชื่อมอำเภอชั้นนอกกับอำเภอชั้นในทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตเต็มรูปแบบ ถึงกระนั้น การพัฒนาเมืองหลวงของไทยก็มิได้มีการวางทิศทางที่ชัดเจน เพราะผังเมืองรวมของกรุงเทพฯเพิ่งมีคณะทำงานชาวต่างประเทศมาศึกษาเพื่อวางผังเมืองตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2503
รูปโฉมของเมืองจึงเป็นไปตามการปั้นแต่งของผู้มีอำนาจในสังคมขณะนั้น
ในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7
ชนชั้นสูงอันได้แก่บรรดาเจ้านาย และขุนนางจะอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพระราชวังดุสิต ส่วนตามถนนบำรุงเมือง เฟื่องนคร เยาวราช เจริญกรุง สี่พระยา สุริวงศ์ สีลม และสาธรก็เป็นถิ่นของพ่อค้าชาวจีนและฝรั่ง ซึ่งมีฐานะดีเพราะที่ดินติดถนนมีราคาแพงคนสามัญไม่มีกำลังซื้อพอ แต่ชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาของที่ดินได้แก่พวกสามัญชนผู้มีรายได้น้อย พวก "ไพร่และทาส" ที่ได้รับการปลดปล่อย คนเหล่านี้จึงต้องไปกระจุกตัวอยู่ตามชุมชนแออัดตามตรอกซอกซอยต่างๆ หรือไม่ก็ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองที่สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางการต้องปราบปรามมาตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
ที่มา : ทำเมืองไทยให้น่าอยู่และยั่งยืน งานเวทีสิ่งแวดล้อม 39
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551
กรุงเทพฯเมื่อวันวาน
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:07 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น