ข่าวคราวเกี่ยวกับการรื้อฟื้น พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผนวกกับความพยายามในรอบหลายปีที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ โดยกลุ่ม กปร. (กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน) ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วการดำรงอยู่ของการเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนระดับความเป็นประชาธิปไตยของรัฐเอง พอ ๆ กับที่สะท้อนลักษณะเผด็จการไปด้วยในตัว
ไม่เพียงแต่หลัง ๒๔๙๐ และ หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เท่านั้น ที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ขึ้นสู่กระแสสูง อันที่จริงแม้แต่ครั้ง ๒๔๗๕ กิจกรรมการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ก็มีบทบาทสำคัญอันจะละเลยไปไม่ได้ ดังจะชี้ให้เห็นต่อไป
ภายหลังจากเหตุการณ์ยึดอำนาจโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไปไม่นาน จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๔, ๗ และ ๑๓ ตุลาคมของปีเดียวกันนั้นเอง ก็ปรากฏมีข่าวที่ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งทำการแจกใบปลิวตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เช่น ที่ธนบุรี นครราชสีมา อุบลราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ เพชรบุรี พิษณุโลก ( ดูข้อมูลใน เออิจิ มุราชิมา. การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙), น. ๑๐๒. )
ใบปลิว / แถลงการณ์ที่แจกมีลักษณะพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง เขียว บางส่วนก็สีดำ แบ่งเป็น ๓ ภาษาด้วยกัน คือ ไทย จีน และอังกฤษ ระบุวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ลงนาม "คณะคอมมูนิสต์สยาม" และ "คณะคอมมูนิสต์หนุ่มสยาม" ( สะกดตามคำเดิมในเอกสาร )
เนื่องจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสยาม เป็นที่จับตามองของรัฐบาลมาตั้งแต่ครั้งสมบูรณญาสิทธิราชย์ เอกสารข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับ "กิจการของคอมมูนิสต์ในสยาม" รัฐบาลใหม่หลังเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็ได้รับตกทอดมาจากรัฐบาลพระปกเกล้าฯ ทั้งยังได้เรียนรู้คุณประโยชน์ในวิธีการปราบปรามของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ อีกต่อหนึ่งด้วย
เบื้องต้นโดยจุดใหญ่ใจความที่สำคัญ ๆ คณะราษฎรก็มองการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยการผสมโรงเข้าเป็นการก่อความไม่สงบของพวกคนจีนอพยพ ฉะนั้น การตอบโต้หรือปราบปราม จึงเน้นไปที่กลุ่มคนจีนเป็นหลักและพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเชิงเชื้อชาตินิยม (Racism) และด้วยเหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุคแรกยังทำงานฝังตัวอยู่แต่ในหมู่คนงาน การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ยุคแรกเมื่อต้องเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายรัฐบาล พวกเขาจึงถูกลดทอนลงเป็นเพียงปัญหาการก่อความไม่สงบของคนงานจีน
อย่างไรก็ตามท่าทีของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ นั้น พบว่ายังเป็นไปโดยละมุนม่อม กล่าวคือมักใช้วิธีการเนรเทศกลับไปประเทศจีนเสียโดยมาก แม้แต่กรณีชาวญวนอพยพก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า ขบวนการคอมมิวนิสต์ในสยามขณะนั้น เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอื่น เช่น จีน และ เวียดนาม เป็นต้น ไม่ได้เน้นที่การเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศสยามแต่อย่างใด ( โปรดดู สุวดี เจริญพงศ์. ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการเคลื่อนไหวตามแนวความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต เสนอต่อแผนกวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๙. )
กรณีเวียดนามซึ่งเคลื่อนไหวเน้นหนักไปในทางชาตินิยม ยังปรากฏท่าทีว่ารัฐบาลสยามมีความเห็นอกเห็นใจอยู่ด้วย เพราะต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ชาติเดียวกับที่เคยคุกคามสยามเมื่อครั้ง ร.ศ. ๑๑๒ มานั่นเอง
การวิเคราะห์ดังกล่าวมีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือนอกจากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมการเมืองในประเทศอื่นแล้ว ต่อกรณีสยามคณะคอมมิวนิสต์ก็หาได้ละเลยไม่ ในจำนวนแถลงการณ์ที่แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลัง ๒๔๗๕ มีแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสยามรวมอยู่ด้วย ทั้งก่อนหน้านั้นยังปรากฎมีการออกเอกสารวิเคราะห์สรุปความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการ "แยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามกับวิธีการของสมาคม" เป็นการจำแนกชนชั้นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมสยามขณะนั้น รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของคณะฯ ( ดูรายละเอียดเนื้อหาเอกสารนี้ได้ในภาคผนวกของ เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราฯ, ๒๕๔๓), น. ๔๔๖ - ๔๕๕. )
นอกเหนือจากที่มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองทั้งในประเทศอื่นและระหว่างประเทศในทางสากล การจัดรำลึกวันสำคัญคณะฯ เช่น วันที่ ๑ พฤษภาคม ( May Day ) และ วันปฏิวัติรัสเซีย การชักธงแดงรูปค้อนเคียวในที่สำคัญต่าง ๆ เดินขบวนย่อย ๆ ร้องเพลง International เป็นต้น
ข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้ทำให้คณะราษฎรนิ่งนอนใจ มีการส่งสายลับออกไปติดตามดูอยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เช่นกัน จะด้วยเหตุเพราะก่อนหน้านั้นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับฝ่ายคอมฯ เป็นไปอย่างครึกโครมหรืออย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด รัฐบาลจึงส่งตัวแทนออกไปสืบราชการ และ พร้อมกันนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปด้วย เพื่อสบโอกาสจะได้จับกุมตัวมาดำเนินคดียังกรุงเทพฯ
แต่ปรากฏว่าตัวแทนที่ส่งไปส่วนใหญ่เรียกได้ว่าพบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสมาชิกคณะคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แล้ว ตัวแทนที่อาจกล่าวได้ว่าทำงานได้ผลอยู่บ้างก็คือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคณะราษฎร (เป็นตัวแทนในจำนวนไม่กี่คนที่มีดีกรีเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วย) รายงานที่ได้มาจากประยูร และคณะ (ประกอบด้วย พระยาสัจจาภิรมย์, พันตรีหลวงประจักษ์, และ ร้อยตำรวจเอกขุนนาม เป็นต้น) มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ฝ่ายรัฐบาล และ เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา (ปัจจุบันรายงานนี้จัดเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เทเวศร์ ใน หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ )
เนื่องจากประยูรได้นำเอกสารแถลงการณ์ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แนบกับรายงานดังกล่าวติดตัวกลับมาด้วย เหตุที่ประยูรได้แถลงการณ์นั้นมาก็เนื่องจากข้าราชการ (ไม่ระบุนามไว้) ในพื้นที่จังหวัดที่ประยูรไปตรวจราชการ (แต่ความจริงโดยเจตนาคือ ไปสืบหาคอมฯ และ จับตัวมาดำเนินคดี) คือที่จังหวัดนครราชสีมา ได้เก็บเอาไว้และตั้งใจจะจัดส่งไปให้กับคณะราษฎรคนใดคนหนึ่งเพื่อหาความดีความชอบอยู่แล้ว ก็ประจวบเหมาะที่ประยูรได้ไปพบพอดี
ตามรายงานของประยูรพบว่า ผู้ที่เห็นแถลงการณ์คนแรก ๆ คือ นายสถานี (รถไฟ) นครราชสีมา ในเวลาราวตี ๕ เศษ รายงานยังระบุถึงความดีความชอบของนายสถานีผู้นี้ว่า เป็นผู้ที่ทำการเก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ไปทิ้งเสียก่อนที่ประชาชนที่ผ่านสัญจรไปมาในสถานีจะพบเข้าในเวลารุ่งสาง แม้จะไม่ระบุนามก็จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่านายสถานีผู้นี้นั่นเองที่เป็นผู้เก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ดังกล่าวไว้ให้ประยูรได้กลับมา
อย่างที่กล่าวแล้วว่าเอกสารใบปลิวดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน ๓ ภาษา แต่ละแบบ / ภาษา มีความยาว ๑ หน้ากระดาษพิมพ์ ซึ่งประยูรได้ครบทั้ง ๓ ฉบับภาษาอังกฤษได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และ มุราชิมา (ในเล่มที่อ้างข้างต้น) ก็ได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในงานของเขา ซึ่งเป็นการแปลมาเพียงบางส่วนพร้อมกับตีความสรุปตามแนวการศึกษาของเขา ส่วนในภาคภาษาไทยนั้นเอกสารมีเนื้อความทั้งหมดดังนี้
ชาวนา กรรมกร ทหาร และ
คนทุกข์ยากของประเทศสยาม!.
รัฐบาลของประชาธิปก ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วร้ายต่าง ๆ เช่น กดขี่ข่มเหง ปิดหูปิดตา และสูบเลือดของราษฎร ก็ได้ถูกโค่นลงแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ซึ่งมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนี้จะทำประโยชน์อะไรแก่ชาวไทยเราบ้าง ขอให้พิจารณาต่อไป
ก. คณะราษฎรซึ่งถือบังเหียนการปกครองแผ่นดินในเวลานี้ ล้วนเป็นข้าราชการของรัฐบาลเก่า ซึ่งได้รับความข่มเหงจากพวกเจ้า ทำให้หนทางทำมาหากินไม่ได้สดวกเหมือนแต่ก่อนจึงเอาชื่อราษฎร ใช้กำลังทหารเพื่อแย่งอำนาจจากพวกเจ้ามาหาประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หาใช่หวังดีอะไรต่อพวกเราไม่ ในจำนวนผู้แทนคณะราษฎร ๗๐ คนนั้นส่วนมากเป็นขุนหลวง พระ พระยาทั้งนั้น จะหาคนยากจนสักคนเดียวก็ไม่ได้
ข. เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย เช่น พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ และพรรคพวก เป็นต้น พวกนี้ได้ตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น ชั้นผู้ที่เป็นสมาชิกต้องสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อคณะในการที่สืบข่าวจากราษฎรและปกครองราษฎรอย่างเด็ดขาด
ฆ. คณะราษฎรปลอมได้ประกาศว่า จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ และทำให้ราษฎรมีงานทำทุกคนให้ราษฎรมีความเสมอภาค และมีเสรีภาพ เป็นต้น แต่ขอให้พวกเราดูประเทศที่มีการปกครองอย่างราชาธิปตัย เช่น ญี่ปุ่น และ อังกฤษ กับประเทศที่มีการปกครองอย่างประชาธิปตัย เช่น ฝรั่งเศส และ สหปาลีรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าสยามเราหลายเท่า แต่พลเมืองที่ไม่มีงานทำนับเป็นจำนวนหลายล้านคน บางคนถึงกับไม่ได้กินอิ่ม ไม่มีเสื้อใส่พอ ไม่มีที่พักอาศัย ถึงฤดูหนาวในเวลากลางคืนไม่มีไฟผิง ต้องเดินไปเดินมาตามถนนตลอดคืนยันรุ่ง เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นดังนี้เป็นต้น ดังนั้นราษฎรของประเทศต่าง ๆ จึงต่อสู้กับรัฐบาลมิได้หยุด เพื่อจะแย่งอำนาจการปกครองของประเทศไว้ในกำมือของราษฎรโดยแท้
ค. คณะราษฎรปลอมทำคุณอันเล็กน้อยเพื่อซื้อเอาน้ำใจของพวกเรา กล่าวคือยกเลิกอากรนาเกลือ และ ภาษีสมพัตสร ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากเพื่อแสดงว่าคณะเขารักพวกเรามากกว่ารัฐบาล แต่เงินรัชชูปการซึ่งเก็บปีหนึ่งเป็นจำนวนตั้ง ๑๐ ล้าน ก็หาได้ยกเลิกไม่ พวกเราฆ่าหมูตัวหนึ่งต้องเสียเงิน ๕ บาท ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งต้องเสียเงิน ๓ บาท และ ภาษีอากรอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเงินที่พวกเราหาได้มาแทบเลือดตากระเด็นนั้นยังเก็บอยู่เรื่อยไป เงินนี้ใช้บำรุงข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนนับตั้งหลายร้อยบาท ส่วนชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากอื่น ๆ จะได้รับผลประโยชน์ในการออกน้ำพักน้ำแรงทำงาน วันยันค่ำก็พอเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ง. ชาวไทยเรามิใช่แต่ได้ถูกพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมกดขี่ข่มเหงเท่านั้น ชาวต่างประเทศก็มาสูบเอาเลือดของเราไปด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้แย่งเอาดินแดนของเราไปและได้มีสิทธิพิเศษในการป่าไม้ การขุดบ่อแร่ และการค้าขาย เป็นต้น
พี่น้องเอ๋ย ถ้าเราไม่ช่วยตัวของเราเอง แล้วใครจะมาช่วยพวกเราได้ เราจะหวังพึ่งพวกคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้มียศศักดิ์ อำนาจ และมีความมั่งคั่งสมบูรณ์นั้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ทำให้เรายากจนลง เขาจะได้ความมั่งคั่งผาสุกนั้นมาแต่ไหน
เวลานี้ในโลกนี้มีแต่ชาวรัสเซียเท่านั้นที่มีความสุข และ มีความเสรีภาพโดยแท้ เพราะเขาได้กำจัดพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมเสียจนสิ้น และ ได้ยึดอำนาจการปกครองในประเทศไว้ในกำมือของเขาเอง
ให้พวกเราสามัคคีกันเข้า รวมกำลังกันเพื่อจะกำจัดพวกเจ้าคณะราษฎรปลอม และ พวกเศรษฐี และชาวต่างประเทศที่สูบเลือดเราเสียให้สิ้น ตั้งรัฐบาลโซเวียดสยามขึ้นรวมทรัพย์และอำนาจไว้ในมือของพวกเรา คือ ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากทั่วไป เราและลูกหลานเหลนของเราจึงจะมีความสุขทั่วหน้ากันตลอดไปเป็นนิจ.
คณะ คอมมูนิสต์สยาม
คณะ คอมมูนิสต์หนุ่มสยาม
วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕.
จากเนื้อหาเอกสารจะเห็นได้ว่า "คณะคอมมูนิสต์" มีจุดยืนวิพากษ์ทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ คณะราษฎร ภายในคณะราษฎร คณะคอมฯ ก็วิพากษ์ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา ( พจน์ พหลโยธิน ) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ( ปรีดี พนมยงค์ ) เบื้องต้นจุดยืนดังกล่าวกรณีพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรไม่ได้เป็นการวิพากษ์ทั้งสองฝ่ายพร้อมกัน มีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น เพราะเป็นการวิพากษ์เชิงซ้อน กล่าวคือ เป็นการวิพากษ์บนฐานคิดที่ยึดติดกับ "เวลา" เป็นสำคัญ
เนื่องจากขณะนั้นตามความเข้าใจของคณะคอมฯ คณะราษฎร คือ ผู้กุมอำนาจเพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายพระปกเกล้าฯ หรือ "ประชาธิปก" (ตามคำในเอกสาร) "ได้ถูกโค่นลงแล้ว" การวิพากษ์จึงมุ่งเน้นไปที่คณะราษฎรเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันด้วยจุดยืนวิพากษ์ที่แสดงก่อนหน้านั้น (ครั้งก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕) คณะคอมฯ ก็มีบทบาทในการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเด็นจุดยืนต่อสถาบันจึงไม่เป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญอะไรสำหรับคณะคอมฯ ขณะที่ต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยาม" คณะฯ ก็ไม่ได้มีความมุ่งหวังด้วยสักเท่าไร แม้ว่าความขัดแย้งอันแหลมคมระหว่างชนชั้นปกครองเดิมตามระบบศักดินากับกลุ่มกระฎุมพียุคใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว
พวกเขาปฏิเสธแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม การจัดตั้งรัฐสภา และ การปกครองระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความเห็นว่า "…ทางที่จะหนีให้พ้นทุกข์ก็มีแต่ต้องกำจัดพวกจักรพรรดิ์กับพวกที่เป็นเครื่องมือของเขาเสีย และต้องคัดค้านการตั้งรัฐสภากับกฎธรรมนูญซึ่งเป็นการหลอกลวงมหาชนนั้นด้วย…" (จากเอกสารร่างแยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามฯ, อ้างแล้ว.) ไม่มีปัญหาว่าแนวคิดดังกล่าวจะไม่ถูกต้านทานจากหลายฝ่ายแม้แต่กับกลุ่มก้าวหน้าต่าง ๆ เวลานั้น…
แต่กรณีที่นับเป็นปัญหาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็กลับเป็นปัญหาที่เกิดจากทัศนะ / จุดยืนต่อคณะราษฎร และ ๒๔๗๕ ซึ่งก็สืบเนื่องจากจุดยืนต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยฯ" การวิพากษ์ทั้งพระยาพหลฯ และ ปรีดี ซึ่งต่างเป็นตัวแทนสำคัญของฝ่ายทหารและพลเรือนในคณะราษฎร เบื้องต้นนั่นสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คณะคอมมิวนิสต์กับนายปรีดี ไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันแต่อย่างใด แม้ว่าภายหลังฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จะใช้เป็นเหตุผลกล่าวอ้างว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม ดูเหมือนเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันน้อยกว่าที่คิด และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ได้
หลายปีจากนั้น ปรีดีก็พูดถึงเรื่องนี้อย่างไม่สู้จะยินดีเท่าไรนัก (สำหรับการข้องเกี่ยวกับคณะคอมมิวนิสต์โดยที่ตนไม่ล่วงรู้ และไม่เต็มใจ) ตรงข้ามต่อคณะคอมฯ ปรีดีก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกัน (ดูคำให้สัมภาษณ์ของปรีดีตามที่ปรากฎถึงเรื่องนี้ในหนังสือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ. (กรุงเทพฯ : โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526). )
ในทางกลับกันนั่นก็สะท้อนว่า คณะคอมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใดในเหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ ดูเหมือนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่พยายามจะมีอำนาจโดยไม่อ้างความชอบธรรมจากการเป็น "ผู้กระทำ" (Acter) จาก ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญจะเกิดจากการพระราชทานหรือโดยยึดอำนาจกดดันจากเบื้องล่างจึงไม่เป็นปัญหาเป็น - ตาย สำหรับคณะคอมฯ ทั้งน้ำเสียงวิจารณ์ก็สะท้อนอยู่ในตัวว่าถึงที่สุดแล้วคณะคอมฯ ก็ไม่ได้คาดหวังอันใดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากวันนั้น (๒๔ มิถุนาฯ)
การกดขี่หาได้หมดสิ้นไป ภารกิจสำคัญของคณะฯ ยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ตรงข้ามอย่างสุดขั้วทีเดียวในประเด็นสะท้อนที่ว่า "เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย" ภายหลังตรรกะนี้พระปกเกล้าฯ ก็ทรงใช้วิจารณ์คณะราษฎรเช่นกัน ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของพระองค์ แต่นั่นก็เป็นคนละบริบทกัน !!!
ต่อกรณีปรีดีนั้นก็น่าพิจารณาเป็นอีกประเด็น เพราะสะท้อนแง่มุมความคิดและความเข้าใจของคณะคอมฯ ที่มีต่อคณะราษฎร แม้ว่าขณะที่คณะคอมฯ มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังไม่มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ อันเป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนอิทธิพลความคิดสังคมนิยมในการเมืองไทยยุคใหม่ แต่ในแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็มีเนื้อหาระบุถึงแนวทางของคณะราษฎรเอาไว้ก่อนแล้วว่า "จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก" ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยการให้ความหวังแก่ราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ เช่นว่า "ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"
ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดนักว่าคณะคอมฯ จะได้รู้เห็นหรือติดตามการทำงานของคณะราษฎรมากน้อยเพียงใด ลักษณะที่มีความเป็นจีนอย่างสูง (Lukjin Communist) บวกกับที่ศัพท์ "ศรีอาริย์" ขณะนั้นยังไม่มีการอธิบายเทียบเคียงกับ Socialism เท่าที่ควร ตรงข้ามสังคมนิยมแบบไทยที่แพร่หลายก็กลับเป็น "อุตตรกุรุ" ตามแนวคำอธิบายที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ ร. ๖ ด้วยเหตุง่ายดายเพียงเท่านี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคณะจีนคอมมิวนิสต์ในสยามไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอันใดต่อศัพท์ "ศรีอาริย์" และด้วยเหตุอันเดียวกันนี้ แนวร่วมระหว่างคณะคอมฯ กับปีกก้าวหน้าในคณะราษฎรจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และ กระทั่งมีท่าทีที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อกันเท่าใดนัก
กรณีปรีดีอาจพิจารณาได้อีกแง่หนึ่ง ตรงที่ภายหลังเขาเองถูกคุกคามจากฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จนต้องผ่อนปรนข้อเสนอของตน และ การปกป้องตัวเองก็แสดงออกโดยง่ายว่าตนไม่ได้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ นั่นยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับคณะคอมฯ ดูห่างไกลกันมากขึ้น กระทั่งไม่อาจติดต่อประสานการทำงานร่วมกันได้เลย กรณีนายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรผู้ซึ่งแสดงท่าทีว่านิยมแนวคิดสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ ด้วยมีผลงานแปลที่สำคัญและไม่มีชนักปักหลังเช่น ปรีดี แต่ปรากฏว่าต่อคณะคอมฯ สงวนกลับมีท่าทีที่ดู "แย่" กว่าปรีดีเสียอีก
ในคราวที่สงวนได้รับหน้าที่ติดตามดูการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รวม ๖ แห่ง ได้แก่ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ย่านบางลำภู กลาโหม ทุ่งพระสุเมรุ และพระบรมรูป (ลานหน้าพระที่นั่งอนันตฯ) ในจดหมายลายมือลงชื่อ สงวน ตุลารักษ์ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นรายงานการสืบราชการลับ) สงวนกลับรายงานต่อรัฐบาลว่าหัวหน้าคณะฯ ดังกล่าวได้รับค่าจ้างจากหม่อมเจ้านิทัศน์ (บู้) เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ บาท ให้ยิงพระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎร โดยให้สังเกตว่าคนที่จะยิงนั้น "ไว้จอนหูยาว" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓). กอปรกับขณะนั้นเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าคณะราษฎรจะมองการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ ว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ้านายเดิมที่สูญเสียประโยชน์จากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ฝ่ายพระยาพหลฯ เองก็มีจดหมายอีกฉบับส่งตรงมาถึงเขา แจ้งความว่ามีผู้คิดการร้ายต่อเขากับคณะ(ราษฎร) โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง "คณะเจ้า"(ตามคำในเอกสาร) ข้าราชการที่ถูกดุลในคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ และชาวจีนกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่คลองดำเนินสดวก จดหมายระบุชัดว่า ชาวจีนกลุ่มดังกล่าว "เป็นขี้ข้าตัวโปรดของกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ (๘) - (๙).) แม้ว่าจดหมายทั้งสองฉบับจะมีข้อความที่เป็นเท็จ เพราะไม่ปรากฏมีการลอบทำร้ายพระยาพหลฯ ดังที่แจ้งมา
กรณีรายงานของสงวน มีหลักฐานยืนยันว่ามีการทิ้งใบปลิวที่มีเนื้อหาวิจารณ์คณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยลงนาม "คณะคอมมูนิสต์" จริง แต่ก็ไม่ปรากฏมีการลอบยิงพระยาพหลฯ แต่อย่างใด ผู้ที่รู้วิธีการของขบวนการคอมมิวนิสต์ย่อมทราบกันโดยทั่วไปว่า นั่นไม่ใช่แนวทางของคอมมิวนิสต์ กระนั้นก็ตามต่อข้อมูลที่ผิดพลาดนี้อาจไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของสงวน หากแต่เป็น "สาย" ของคณะราษฎรเองที่ให้ข้อมูลมาผิด (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้จัดตั้งสายลับขึ้นเป็นจำนวนมาก ให้คอยติดตามดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ (ทั้งทหารและพลเรือน) เศรษฐีในเมือง (ยังไม่ถูกเรียกว่า "นายทุน") และกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มกรรมกร ชาวจีน และคอมมิวนิสต์ ต่อมาหน่วยงานนี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยรวมสังกัดอยู่ในหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เป็นต้น)
และ มีความเป็นไปได้มากว่ารายงานของสงวนจะเป็น Secondary Sources ที่อาศัยข้อมูลจาก Primary Sources อย่างรายงานของสายสืบที่ทำงานเกาะติดคณะคอมฯ อยู่ก่อนที่จะได้ให้ข้อมูลต่อตัวแทนคณะราษฎร ซึ่งในที่นี้ก็คือ สงวน บางครั้งถ้าเป็นรายงานลับที่ไม่มีการเปิดเผยหรือผ่านการ กลั่นกรองเท่าที่ควรก็จึงเป็นเรื่องง่ายที่อาจมีการรายงานผิดพลาดทางข้อมูลกันได้ ส่วนชีวิตคนที่อาจถูกคุกคามจากผลลัพธ์ของข้อมูลในรายงานเหล่านี้ สำหรับสายที่ไม่ได้ผ่านการอบรมมาดีพอ ก็อาจเห็นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากการปฏิบัติงานก็ได้
กรณีหลังก็เป็นธรรมดา อันที่จริงพระยาพหลฯ และ คณะราษฎร มักจะได้รับจดหมายลักษณะนี้ทั้งจากผู้หวังดีทั้งข้าราชการและประชาชนอยู่เป็นประจำ บางฉบับที่มีความสำคัญ (ในความเห็นของคณะฯ และ ผู้ได้รับ) พระยาพหลฯ ก็ตอบกลับไป แต่ในกรณีนี้ไม่ปรากฏมีการตอบขอบคุณจากพระยาพหลฯ แต่นั่นก็ไม่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระยาพหลฯ (รวมทั้งคณะราษฎร) จะไม่เชื่อ แม้จะดูเป็นจดหมายที่มีเนื้อหาแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้นำใหม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเชื่อตามข้อความในจดหมายดังกล่าวหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในทางปฏิบัติคณะราษฎรก็แสดงท่าทีคุกคามต่อคณะคอมฯ และกลุ่มอื่น ๆ ที่สงสัยว่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะกลุ่ม "เจ้า" เท่านั้น
อย่างไรก็ตามท่าทีดังกล่าวมีผลทำให้การโจมตีคณะราษฎรของฝ่ายคอมมิวนิสต์ดูสมเหตุสมผล ไม่เพียงแต่กับคอมมิวนิสต์เท่านั้น การนัดหยุดงานของกรรมกร การประท้วงของนักเรียนอัสสัมชัน การเคลื่อนไหวของกองทหารบางซื่อ หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และหลักเมือง เป็นต้น คณะราษฎรก็จัดการแก้ไขได้ไม่ดีเท่าที่ควร ภาษีรัชชูปการอันเป็นมรดกอย่างหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่ถูกยกเลิก ฯลฯ
ต่ออิทธิพลของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" ในทัศนะของคณะคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ฯ หรือ ปรีดี พนมยงค์ นั้นไซร้ก็กลับทำคุณเพียงเล็กน้อย การแก้ไขสนธิสัญญาที่รัฐบาลเก่าเคยทำไว้ถูกมองว่าเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ทั้งของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" และ ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเกียรติประวัติของชนชั้นปกครองของไทยสมัยสมบูรณาฯ อีกด้วย
ฉากแรกของการท้าทายต่อระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมาย, นักศึกษาประวัติศาสตร์บางท่านอาจมองว่าจุดเริ่มสำคัญนั้นอยู่ที่การฟ้องพระปกเกล้าฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยนายถวัติ ฤทธิเดช เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะพิสูจน์ว่ากษัตริย์ใต้กฎหมายนั้นจักเป็นจริงเพียงใด แต่อันที่จริงกลุ่มคนที่มีบทบาทในการต่อสู้คัดค้านระบอบดังกล่าวโดยตรงนั้นไม่ใช่ใครอื่น หากอ่านดูใบปลิวต่าง ๆ ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ครั้งนั้นก็จะพบประเด็นดังกล่าว แต่อาจเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลหลักฐานอยู่ ณ เวลานี้
จากเนื้อหาข้อความที่ปรากฏในใบปลิว "ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากฯ" สะท้อนความคิดเห็นที่เป็นข้อสรุปสำคัญในหมู่พวกเขาว่า รัฐบาลใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความต่อเนื่องบางอย่างร่วมกับรัฐบาลเก่า ท้ายสุดก็ไม่ได้สร้างหลักประกันแก่ความมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง มองจากจุดยืนของคนชั้นล่าง เช่น ชาวนา กรรมกร และคนทุกข์ยาก (ขณะนั้นยังไม่มีศัพท์บัญญัติ เช่น "กรรมาชีพ") แง่นี้รัฐบาลใหม่จึงอาจไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาลเก่า อีกทั้งยังเห็นว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ "ราษฎร" อย่างแท้จริง หากเป็นแต่เพียง "คณะราษฎรปลอม" เท่านั้น
ขณะเดียวกันแม้ว่ามีความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเดิมของระบบศักดินากับนายทุนนายหน้า และ ขุนศึก แต่ไม่ปรากฏข้อเสนอเรื่องการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย ตรงข้ามนั่นเป็นแนวทางที่เคยถูกปฏิเสธมาก่อนแล้ว ดังที่สะท้อนข้างต้น การที่ชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ดูจะไม่ขัดแย้งกับรากฐานของแนวคิดเดิม เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุด ชาวนาก็จะล้มละลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นคนงานผู้ไร้ปัจจัยการผลิต คณะคอมฯ จึงมีจุดยืนเน้นกลุ่มคนที่เรียกกันภายหลังคือ "ชนชั้นกรรมาชีพ"
ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง "โซเวียดสยาม" นี้ ที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อเสนออันเก่าแก่ตามแบบฉบับของ Classical Marxist เพราะยังไม่ปรากฏอิทธิพลจากความคิดสายสตาลิน - เหมา ความจริงแม้คณะคอมมิวนิสต์ในสยามจะมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานสากลที่ ๓ ( Comminturn III ) แต่ก็นับว่ายังห่างไกลจากความขัดแย้ง ระหว่างแนวทางปฏิวัติตลอดกาลของทรอตสกี กับ แนวทางสังคมนิยมประเทศเดียวของสตาลิน
ลัทธิเหมายิ่งยังไม่เป็นปัญหา อย่างที่ทราบคือขณะนั้นเหมาเจอตุง กับแนวทางชนบทล้อมเมืองของเขา กว่าจะเป็นกระแสหลักภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานนัก "โซเวียดสยาม" ที่จริงจะเป็นข้อเสนอของขบวนการฝ่ายซ้ายภายใต้อิทธิพลของสากลที่ ๓ ไม่ได้เท่าไร เพราะดังที่ทราบกันคือภายหลังจากที่สตาลินกับพวกขึ้นสู่อำนาจก็มีการทำลายสภาคนงาน (หรือที่เรียกเป็นภาษารัสเซียว่า "Soviet" (โซเวียต)) ลง โดยหันมาเชิดชูพรรคให้เป็นอำนาจรัฐรวมศูนย์เพียงขั้วเดียว
การให้ความสำคัญกับ "ทหาร" ในฐานะบทบาทหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นมรดกอันหนึ่งที่ได้จากการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เพราะทหารเปลี่ยนข้าง การปฏิวัติจึงสัมฤทธิ์ผล ในสยามเองก่อนหน้านั้น คณะ ร.ศ.๑๓๐ ก็เป็นกรณีหนึ่ง และ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง การสไตรค์ของกองทหารบางซื่อ ดูเหมือนจะให้ความหวังใหม่แก่คณะคอมฯ การณ์นี้ทหารถูกผนวกรวมเป็นมวลชนพื้นฐานของคณะฯ ด้วย แต่นั่นไม่ง่ายดังหวัง เพราะการณ์ปรากฏออกมาคือ ทหารกลับกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับฝ่ายคณะราษฎร
การใช้ "ชาวไทยเรา" สำหรับเรียกผู้รับสารในใบปลิว สะท้อนให้เห็นพัฒนาการสำคัญของขบวนการและปัญหาบางประการอันเกิดขึ้นควบคู่กับแนวคิดที่ยังยึดถือ กล่าวคือ แม้ว่าหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะคอมฯ จะได้สมาชิกที่เป็นคนไทยรวมอยู่ด้วย แต่โดยสัดส่วนแล้วจำนวนคนไทยในคณะฯ ก็ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับจำนวนชาวจีนและญวน และ แม้จะมีข่ายการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง เช่น นอกจากแกนนำในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีคณะกรรมการประจำภาคอีสาน, เหนือ, ใต้ และ ในพระนครเอง ก็มีคณะกรรมการประจำเทศบาลพระนคร
นอกนั้นก็เป็นคณะกรรมการประจำจังหวัด รวมทั้งมีกองอำนวยการฉุกเฉินที่เรียกว่า "กองบรรเทาทุกข์คนใหญ่" ( คน สะกด คะ - นะ ) สำหรับให้ความช่วยเหลือกรรมกรที่นัดหยุดงาน ภายใต้กรรมการใหญ่ในสยามยังประกอบด้วย คณะสาขา กองย่อย และ กิ่งสาขา แต่ละหน่วยมีกรรมการดำเนินงานและติดต่อประสานกับคณะกรรมการใหญ่ และ แต่ละหน่วยงานนั้น ๆ ปรกติจะมีสมาชิกตั้งแต่ ๘ คนขึ้นไป มีกรรมการประจำกิ่งสาขาประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและความเหมาะสม
แม้จะถูกพิจารณาบ่อยครั้งว่าเป็นเพียงส่วนย่อยหนึ่งของข่ายการปฏิบัติงานของคณะจีน แต่ความจริงปรากฏว่า "สหาย" จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาปฏิบัติงานในสยามยังต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของคณะทำงานในสยาม ขณะเดียวกันหากสมาชิกคณะคอมฯสยามเดินทางกลับเข้าสู่เขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์จีน ก็ยังต้องสมัครขึ้นทะเบียนต่อสำนักอำนาจรัฐของคณะคอมมิวนิสต์ที่นั่น ปลายสมัยสมบูรณาฯ จึงปรากฎว่าคณะคอมมิวนิสต์ในสยามมีสถานภาพเป็นอีกคณะหนึ่งแยกออกจากคณะคอมมิวนิสต์ในจีน มีอิสระ และ ดำเนินแนวทางที่เป็นของตนเองอยู่พอสมควร
กระนั้นก็ตามการอ้างถึง "ชาวไทยเรา" ก็ไม่น่าเกิดขึ้นขณะเดียวกับที่วิจารณ์คณะราษฎรอย่างรุนแรงว่า เป็น "คณะราษฎรปลอม" เพราะการอ้างดังกล่าว (ชาวไทยเรา) มีนัยไม่ผิดแปลกไปจากการอ้างเป็นตัวแทนรูปแบบอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างที่ครอบคลุมผู้คนทั่วประเทศ การมีข่ายการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมอาณาเขตอำนาจของรัฐอย่างกว้างขวางไม่เป็นเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับการอ้างเป็นตัวแทน พูดแทน และ กระทำการต่าง ๆ ในฐานะตัวแทน !!!
การสะท้อนว่า "ความสุข... และเสรีภาพโดยแท้" เกิดขึ้นที่รัสเซียหลังการปฏิวัติก็มีผลทำให้คณะคอมมิวนิสต์สยามกระทำความผิดพลาดอีกคราว นั่นแสดงว่าพวกเขาไม่ล่วงรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมการเมืองของรัสเซียหลังการปฏิวัติมากนัก หรือไม่ก็อาจมีคำอธิบายแก้ต่างกันอีกชุดหนึ่ง (เช่น การโทษว่าเป็นเพราะ Stalinism เป็นต้น) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นมีข้อจำกัดและไม่อาจเป็นหลักประกันอันใดได้เลย สำหรับระบอบสังคมอย่างใหม่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็นั่นแหล่ะ !! มาร์กซิสต์เชื่อมั่นต่อความขัดแย้งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะความขัดแย้งหลักระหว่าง ๒ ขั้วที่ตรงกันข้าม และ ๒ ขั้วที่ว่านั้น ก็อาจนำไปสู่วิถีทางของการทำลายกันมากกว่าการสร้างสรรค์ แต่นั่นอาจไม่ใช่อะไรอื่นอีกนั่นแหล่ะ !! เอกภาพของสิ่งตรงข้ามที่ยากแก่การจัดการอย่างลงตัว...
อย่างไรก็ตามหากการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์จะกลับมาอีกครั้ง ก็คงต้องกลับมาในรูปแบบใหม่ (เช่นเดียวกับที่ในอดีตภายใต้เงื่อนไขหนึ่งเคยเป็นอีกแบบหนึ่ง) ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ลักษณะความขัดแย้งก็ยังคงเป็นโจทก์สำคัญ และ ก็ด้วยการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดในบางจุดที่สำคัญ ๆ นั้นเอง คณะคอมมิวนิสต์สยามจึงแทบไม่เหลือที่ทางของตน แม้กระทั่งในแง่ความทรงจำและการเมืองอุดมการณ์
ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเท่าไรที่ในคำให้สัมภาษณ์ของ ธง แจ่มศรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ปรากฏมีการพูดถึงข้อเสนอในอดีตเช่น "โซเวียดสยาม" แม้จะพูดถึงคณะคอมมิวนิสต์สยามอยู่บ้างก็ตาม แต่ดูเหมือนคณะฯ ที่ว่านั้นไม่ได้สร้างคุณูปการอะไรไปมากกว่าที่เป็นรากกำเนิดให้กับอีกองค์กรหนึ่ง (คือ พคท.) แม้แต่ในเอกสารประวัติ พคท. โดยวิรัช อังคถาวร ที่เคยเผยแพร่ในวารสารของสายงานพรรคเมื่อหลายปีก่อน (และ ตีพิมพ์ซ้ำในฟ้าเดียวกัน ฉบับแรก เมื่อไม่นานมานี้) ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรในส่วนนี้ แต่ไม่ใช่ความผิดของคนตายไปนานอย่างวิรัช กับท่านผู้เฒ่าอย่างธงหรอก ปัญหามันละเอียดอ่อนกว่านั้น...
การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ที่จะกลับมาใหม่นั้น จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับสังคมการเมืองไทยได้หรือไม่ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป พวกเขายังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก มีอดีต มีที่ทาง และมีบทเรียนกันพอสมควร ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งมองเป็นเรื่องตลก หรือเรื่องเพ้อฝันกันมากนัก ประวัติศาสตร์ทั้งหมดไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน!!!
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ
หมายเหตุ:
ผลงานวิชาการชิ้นนี้เดิมชื่อแด่ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยาก คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : Document number 571
*การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551
คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:33 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น