วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551

การเมืองในสมัย ร. 5 คือการทำให้อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์


ก่อนอื่นต้องยอมรับกันก่อนว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันไปจนถีงประวัติศาสตร์ในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5– 6–7 ซึ่งการเมืองสมัยใหม่ได้เริ่มเข้ามาสู่เมืองไทย ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ก็เกือบจะมีการรัฐประหารโดยคนตระกูลหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลสูงมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งราชวงค์จักรี (ไม่ต้องถามผมนะครับว่าตระกูลใหน ผมไม่อยากถูกฟ้อง มีคนถูกฟ้องไปหลายรายแล้ว) ทำให้พระองค์ต้องป้องกันการกระทำในลักษณะนี้ โดยการกำหนดกฏเกณฑ์การสืบสันติวงศ์เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เงื่อนไขในลักษณะเดิมมาทำรัฐประหารอีก ตรงนี้เองที่นักวิชาการคนหนึ่ง ก็พูดถึงเอาไว้ว่า

การเมืองในสมัย ร. 5 คือการทำให้อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์

การไม่มีฐานของอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมนี้เปลี่ยนเพราะอะไรบ้าง? ผมคิดว่ามันเปลี่ยนเมื่อเกิดสภาพแวดล้อมใหม่ที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการเกิดภาวะ Modernity หรือภาวะสมัยใหม่ อันนำไปสู่กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ควบคู่ไปกับการสร้างการเมืองแบบที่อำนาจการเมือง ‘รวมศูนย์’ อยู่ที่พระราชา

ในการทำให้กษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจได้สมบูรณ์แบบนั้น ภารกิจที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้ขุนนางหรือผู้นำทางการทหารมีโอกาสตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ได้ต่อไป คำอธิบายว่ากษัตริย์ได้แก่คนผู้มีสถานะพิเศษบางอย่างจึงเกิดขึ้นบนเงื่อนไขนี้ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของความพยายามอธิบายว่า อะไรคือฐานของอำนาจการเมืองที่ชอบธรรม

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือการพยายามที่จะสถาปนาหลักการว่า ใครคือคนที่มีสิทธิจะเป็นกษัตริย์ ซึ่งในอดีตไม่มีหลักการที่ชัดเจนขนาดนี้ แต่ในสมัยรัชกาลที่5 เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจนว่า Ground ของความชอบธรรมทางการเมืองคืออะไร ซึ่งหนึ่งในหลักการนี้ก็คือคนที่เป็นสายเลือดของกษัตริย์โดยตรง หรือพูดอีกอย่างก็คือคนที่เป็นประมุขของชนชั้นสูงทั้งหมดในสังคมไทย

ต่อมาในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ตอนนั้นเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 สถานการณ์ทั่วโลกต่างก็วุ่นวาย ในเมืองไทยของเราก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เนื่องจากมีปัญหาการสืบสันติวงศ์เข้ามาแทรกซ้อน ซึ่งก็มีการพยายามกระทำการรัฐประหารขึ้นมาอีก ในยุคสมัยนั้นพูดได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ อ่อนแอลงสืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ และกระแสการรับรู้ข่าวสารของยุคใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา

ในที่สุดเมื่อเข้ามาในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 การแตกหักระหว่างเจ้า และไพร่ ก็มาถึง ประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงนี้ซับซ้อนมาก มีการถกเถียงกันมาจนถึงทุกวันนี้ในแวดวงนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการบิดเบือนกันหลายประเด็น จากหลายฝ่ายทั้งฝ่ายคณะราษฎร์ ทั้งฝ่ายเชื้อพระวงศ์ ทั้งฝ่ายเป็นกลาง ทั้งฝ่ายผู้จงรักษ์ภักดี (ที่ถูกเรียกว่าพวกนิยมเจ้า) ต่างฝ่าย ต่างก็อ้างความถูกต้องของข้อมูลฝ่ายตน จึงทำให้ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ยังคงคลุมเคลืออยู่

ในความคิดเห็นของผม (ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้นะครับ) ยุคสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้น ต้องพูดว่าเศรษฐกิจของไทย ล่มสลาย เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนนั้นมีการตัดทอนค่าใช้จ่ายของแผ่นดินลงมากมาย เรียกได้ว่ามีคนเสียผลประโยชน์กันเยอะ (พวกตัวใหญ่ ๆ นั่นแหละ) อีกทั้งเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงไปทั่ว มีพวกเจ้าขุนมูลนาย หลายต่อหลายคน ได้แอบทำการคอร์รัปชั่น โดยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ไม่สามารถจัดการอะไรได้มากนักอันสืบเนื่องมาจากการอ่อนแอลงของพระราชอำนาจที่เป็นต่อเนื่องกันมาในสองรัชกาลก่อน คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร์” จึงอาศัยเงื่อนไขนี้สร้างความชอบธรรมในการกระทำรัฐประหาร ทั้งนี้โดยเนื้อแท้แล้ว หากเราอ่านประวัติของบุคคลที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นคณะราษฎร์ ก็จะพบว่าคณะราษฎร์ ประกอบไปด้วยคนที่สูญเสียอำนาจ คนที่สูญเสียประโยชน์ พวกหัวก้าวหน้าที่หลงไหลไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในยุคนั้น นักวิชาการที่หวังดีกับประเทศชาติ ฯลฯ มั่วกันไปหมดทุกคนสงวนจุดต่าง และแสวงจุดร่วม โดยมีเงื่อนไขแอบแฝงกันทั้งนั้น

ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนี้ ในช่วงแรก ประชาธิปไตยของไทย ไม่ได้หน้าตาเหมือนกับประชาธิปไตยในวันนี้ ยุคนั้นต้องเรียกได้ว่ายุคสมัยของการล้มล้างระบอบกษัตริย์ เลยทีเดียว พระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจใด ๆ เหลืออยู่ พวกเชื้อพระวงศ์แตกซ่านกระเซ็นไปคนละที่คนละทาง อำนาจอยู่ในมือของคนที่ถือรัฐธรรมนูญ จะทำอะไรก็อ้างรัฐธรรมนูญไปซะหมด แต่เนื่องจากในสมัยนั้นการสื่อสารยังไม่ดีมากนัก ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลและข่าวสารได้ง่ายดายเหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นคณะราษฎร์ จึงต้องคงสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาไว้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ประชาชนจะไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ปกครอง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงจงรักษ์ภักดี ตามความเชื่อที่มีกันมาแต่ครั้งโบราณ ตอนนั้นถ้าไม่ติดขัดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
ป่านนี้ประเทศไทยมีประธานาธิบดี ไปแล้วครับ

หลังจากนั้นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็เริ่มขึ้นล้มลุกคลุกคลานกันไปแบบสะบักสะบอม จนมาถึงยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงมีการฟื้นฟูเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งผมคิดว่า เป็นเงื่อนไขเพื่อสร้างความชอบธรรมของการเข้ามามีอำนาจ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงจากการเป็นแค่ตรายาง มาเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างในปัจจุบัน


ปล. ที่ผมได้นำเสนอนี้ เป็นบทความทางวิชาการ ซึ่งเขียนโดยความเขลาของผมเอง โดยได้ข้อมูลมาจากถุงกล้วยแขก ดังนั้นจึงขอสงวนสิทธิ ไม่ให้นำไปใช้อ้างอิงใด ๆ และขอความกรุณาอย่าฟ้องร้องผม


คนในวงการ

ที่มา : propaganda.forumotion.com

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

"ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง" อะไรคือความพอเพียงที่เป็นรูปธรรม


ในอนาคตอีก20กว่าปีข้างหน้า ถ้าประชากรของ2ประเทศนี้คือ จีนและอินเดียรวมกันกว่า 3,000 ล้านคนเข้าสู่ระบบตลาดโลก จะเกิดอะไรขึ้นและมีนัยต่อประเทศไทยอย่างไร?

คำตอบต่อคำถาม ที่จะต้องใช้วิสัยทัศน์ล่วงหน้าไปกว่า20ปีเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจนตั้งแต่วันนี้ แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ จะรักษาสมดุลของผลประโยชน์ของคน2 Generation หรือคน2รุ่นอย่างไร ระหว่างคนรุ่นเราและรุ่นลูกในอนาคตเมื่อคำนึงถึงประเด็นที่ของทรัพยากรที่บริโภคในวันนี้(คนรุ่นเรา)และส่วนที่เหลือในอนาคต(ให้คนรุ่นลูก)

และประเด็นจะซับซ้อนเป็นทวีคูณ เมื่อขยายกรอบความคิดไปว่าคนชาตินั้น คนชาตินี้ กับทรัพยากรที่จำกัดของโลกทั้งในวันนี้และวันหน้า เพราะทรัพยากรจริงๆในวันนี้ไม่ได้หยุดนิ่งหรือเป็นสมบัติตายตัวของชาติใดชาติหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการไหลเวียนของคน(แรงงาน) เงินทุน(ทุน) โภคภัณฑ์(เหล็ก ทองคำ น้ำมัน สังกะสีฯลฯ) Software Computer และปัจจัยการผลิตอื่นๆ จนเราจินตนาการไม่ออกหรอกว่า มีสินค้าใดในโลกที่สร้างโดยทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตของประเทศใดประเทศหนึ่งตามลำพัง


ผมเองโดยส่วนตัวยังสงสัยว่า ถ้าประเทศไทยเลือกเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียงจริง แต่ชาติอื่นไม่เลือก ผลข้างเคียงจะเป็นเช่นไร ต่อนัยยะระดับการลงทุน ระดับการจ้างงาน ระดับการออม ทรัพยากรในประเทศ และอื่นๆในประเทศไทย และที่สำคัญต่อสวัสดิการของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีใครบอกได้บ้างว่าผลได้โดยตรงของคนรุ่นนี้และคนรุ่นอนาคตที่เลือกเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง เขาจะได้ผลประโยชน์อะไรหรืออรรถประโยชน์อะไรเป็นรูปธรรมนอกจากความสงบทางจิตใจ (ถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ กับคนส่วนใหญ่ที่เลือกเส้นทางพอเพียง ผมเขียนย้ำว่าคนส่วนใหญ่กับผลลัพธ์ความสงบทางจิตใจเนื่องมาจากการบริโภคอย่างพอเพียง)


ส่วนตัวผมยังคิดว่าเป็นเรื่องง่าย ที่จะยกเอาหลักคำสอนศาสนาเป็นข้ออ้างหรือวิธีแก้ปัญหาต่อปากท้องทางเศรษฐกิจ ผมย้ำนะครับว่าปัญหาปากท้องทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาทางจิตใจ เป็นเรื่องง่ายที่เราจะบอกให้ทุกคนเอาหลักธรรมไปใช้ และบอกว่าพอเสียทีในด้านการบริโภค แต่ในความเป็นจริงโลกมันได้ง่ายเช่นนั้น เพราะเอาแค่ในมิติเวลาช่วงปัจจุบัน ไม่ได้ไปคิดถึงคนในรุ่นอนาคต คนในสังคมไทยแบ่งเป็นหลายกลุ่มเช่น จนมาก จนที่สุด จนน้อย พอมี พอมีขึ้นมาอีกหน่อย รวย รวยมาก รวยที่สุด ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็ครองสัดส่วนประชากรของประเทศไทยแตกต่างกันออกไป

เป็นเรื่องง่ายที่เราไปบอกประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในกลุ่มจนมากและจนที่สุดให้พอเสียทีกับการบริโภค และคงเป็นเรื่องง่ายเช่นกันที่เราบอกว่าการแก้ปัญหาสังคมง่ายนิดเดียว คือให้ทุกคน ละกิเลสให้หมด โลกเราไม่ง่ายเช่นนั้นหรอก

ผมเองโดยส่วนตัว ยังอยากให้มีการพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้มีมาตรการเป็นรูปธรรมอาทิเช่น ในเชิงภาษีเพื่อลดการบริโภค และมีนโยบายในเชิงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศผ่านเครื่องมือนโยบายทั้งที่มีอยู่เดิมและสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่


เพราะ ณ วันนี้ ยังไม่มีนักคิดไทยคนใด หามาตรการรูปธรรมที่สอดคล้องกับประเทศไทยที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมเลย เท่าที่เห็นมีแต่ความคิดของประเวศ วะสี ที่จะถอยหลังประเทศไทยไปสู่ยุคเกษตรกรรมธรรมชาติ แบบ Organic Agriculture หรือเกษตรอินทรีย์ ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสารเคมี ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา รวมทั้ง โรงพยาบาล ยารักษาโรคและถนนตลอดจนทั้งโรงเรียน ผมสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่เลือกเส้นทางพอเพียงจะต้องถอยหลังคนเลือกเส้นทางดังกล่าวไปสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์


และจริงๆแล้วถ้าจะสร้างภาคเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาในประเทศไทย สักส่วนหนึ่ง อะไรคือความพอเพียงที่เป็นรูปธรรม

ถ้าจะพอเพียงแบบพึ่งตนเองได้ในทางอุตสาหกรรม ต้องเลือกอุตสาหกรรมสำคัญที่จำเป็นต่อชาติ และจะต้องลงทุนขนาดหนักผลาญทรัพยากรในวันนี้มหาศาล เพื่อการพึ่งตนเองได้ทางอุตสาหกรรมของคนในอนาคต ซึ่งถ้านำปัจจัยจีนและอินเดียมาคิดด้วย คำถามคือมีทรัพยากรในโลกที่จัดหาในราคาถูกหรือมีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ในวันข้างหน้า

ถ้าพอเพียงแบบเกษตรกรรมจะทำอย่างไรต่อการวิจัยไบโอเทคโนโลยีที่เน้นการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) หรือจะเลือกเส้นทางพอเพียงทางการเกษตรด้วยการผลิตแบบการเกษตรแบบธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมี พึ่งพาดิน น้ำ ฝน เยี่ยง100กว่าปีก่อนหน้านั้น และจริงๆถ้าเลือกการผลิตแบบธรรมชาติไม่พึ่งสารเคมี ประเทศไทยมีอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคของคนในชาติหรือ

และถ้าเลือกพอเพียง ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อะไรคือรูปธรรม ที่โยงไปยังปัญหาปากท้องจริงๆได้ ทั้งในวันนี้และอนาคต

และถ้าเลือกพอเพียงทางจิตใจ อะไรคือรูปธรรม ทั้งในเชิงเครื่องมือและผลลัพธ์ ที่โยงไปยังปัญหาปากท้องจริงๆได้ ทั้งในวันนี้และอนาคต

ผมฝากให้ผู้เชี่ยวชาญทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยพัฒนาทฤษฎีให้เป็นรูปธรรมด้วยเพื่อให้เป็นทางออก ไม่เฉพาะของคนไทยแต่ทั้งโลกในเชิงรูปธรรมครับ


ปริเยศ (Pariyed)


ที่มา : 'เศรษฐกิจพอเพียง' จะสู้ 'ทุนนิยม' ได้ไง

หลักฐานประวัติศาสตร์ ที่เหลืออยู่ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘


กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ แม้ว่าจะจบสิ้นไปแล้วตามกระบวนการยุติธรรม แต่คดีลี้ลับนี้ไม่เคยปิดสำนวนลงตามคำพิพากษาแต่อย่างใด โดยเฉพาะบทสรุปของเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ ตามความในคำพิพากษาศาลฎีกา

"พยานสองชุดนี้ยังไม่เป็นหลักฐานพอจะชี้ได้ว่า
ใครเป็นผู้ลงมือกระทำการลอบปลงพระชนม์"

นี่คือที่มาสำคัญที่ทำให้คดีนี้เป็นที่สนใจมาตลอดทุกครั้งที่พูดถึง

จากวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๕๗ ปี นอกจากเอกสารสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงอดีต ย้ำเตือนความมืดดำมาสู่ปัจจุบัน คือวัตถุหลักฐานที่ใช้ประกอบในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ ราวกับรอคอยให้ปริศนาแห่งคดีเปิดเผยสัจจะมาในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ตามคำของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เคยกล่าวไว้

"...เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ
ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยมาหลายร้อยปีก็ตาม"

วัตถุหลักฐานส่วนหนึ่งในคดีนี้ที่ยังปรากฏมาถึงปัจจุบัน และเปิดเผยต่อสาธารณชน ถูกจัดแสดงอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ อาคารอดุลยเดชวิกรม หรือที่รู้จักกันอย่างลำลองว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย" เหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะพระเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ "ซีอุย แซ่อึ้ง" ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังที่สุดของเมืองไทย สร้างคดีสยองขวัญในช่วงปี ๒๕๐๑ ในการฆ่าเด็กแล้วกินตับ และหัวใจ ถูกเก็บรักษาศพไว้ที่นี่ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก

พิพิธภัณฑ์ซีอุยเคยจัดแสดงอยู่ชั้นล่างของตึกนิติเวชเก่าภายในโรงพยาบาล บรรยากาศทึมๆ ชวนขนลุก แต่เดี๋ยวนี้มีการปรับปรุงใหม่บนชั้นสองของอาคารอดุลยเดชวิกรม สว่างไสวลดบรรยากาศสยองขวัญไปได้หมดสิ้น นอกจาก "ซีอุย" แล้วยังมีการจัดแสดงทางด้านนิติเวชอื่นๆ คือการรวบรวมตัวอย่างชิ้นส่วนมนุษย์ วัตถุพยาน อันเนื่องมาจากการฆาตกรรม และอุบัติเหตุ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาต่างๆ ประเภท "สืบจากศพ" นั่นเอง รวมทั้งวัตถุหลักฐานในชั้นสอบสวนของคดีสวรรคตด้วย

วัตถุหลักฐานในคดีสวรรคตส่วนแรกแสดงอยู่ในตู้ขนาดไม่ใหญ่นัก มีคำบรรยายเล็กน้อยพอให้รู้ว่าคืออะไร "บางส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล"

ภายในตู้จัดแสดงเครื่องมือแพทย์ชนิดต่างๆ ๑๑ ชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบคือ ผ้า ไม้บรรทัด ดินสอ ไม่มีคำบรรยายอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ แต่รายละเอียดของเครื่องมือทั้งหลาย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต" ไว้พอสมควร


"วันที่ ๒๑ มิถุนายน มาถึงที่ทำงานก่อน ๘.๐๐ น. เล็กน้อย สำรวจเครื่องมือที่จะนำไป และได้เครื่องมือเพิ่มเติมจากหมอสงกรานต์ด้วย เนื่องจากเครื่องมือที่แผนกมีไม่ครบเพราะทำกับศพธรรมดา ไม่เหมาะกับการชันสูตรเกี่ยวกับหาหลักฐานทางคดี เครื่องมือจากแผนกกายวิภาคศาสตร์ มีมีดชำแหละ ๒ เล่ม เทปวัดทำด้วยเหล็ก ๑ อัน ถุงมือยางอย่างหนา ๒ คู่ เลื่อย ๑ ปื้น ทางพยาธิวิทยาให้ยืมเครื่องมือจับกะโหลกมา ๑ อัน และถุงมือยางอย่างบาง ๒ คู่ และก่อนจะลงมือชันสูตรพระบรมศพทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นำมีดยาวมา ๑ เล่ม เข็มเย็บผิวหนัง ๑ เล่ม เครื่องมือจับเข็ม ๑ อัน ผ้าคลุมปากจมูก ๒ ผืนมาเพิ่มเติมให้ (เครื่องมือบางชิ้นขณะนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) นอกจากนั้นก็มีโหลใส่ฟอร์มาลิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์-๕๐๐ ซีซี แอลกอฮอล์ และน้ำยาแอมโมเนีย (กลัวจะเป็นลม) ทางแผนกกายวิภาคศาสตร์เอาไฟถ่ายรูปไป ๒ ดวง คุณหมออวยเตรียมกล้องและฟิล์ม" (สุด แสงวิเชียร, เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต, ๒๕๒๙)


คงต้องยกความดีนี้ให้กับนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ที่คิดเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้ไว้ ไม่ปล่อยให้สูญหาย หรือถูกทำลายเหมือนกับหลักฐานชิ้นอื่นๆ ในคดีนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ต้องผ่านขั้นตอนการชันสูตรพระบรมศพ เครื่องมือแพทย์เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่ประโยชน์ทางนิติเวชศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง

น่าเสียดายตรงที่ว่าการจัดแสดงลำดับความสำคัญกับส่วนนี้น้อยเกินไป ทั้งทางเนื้อหา และทางจิตใจ

การชันสูตรพระบรมศพด้วยเครื่องมือบางส่วนที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงไว้ เกิดขึ้นที่พระที่นั่งพิมานรัถยา ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๔๕ ถึง ๑๕.๓๐ น. มีนายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เป็นผู้ทำการชันสูตร

รายงานการชันสูตรอย่างเป็นทางการมีอยู่ใน บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๙.๓๐ น. ที่ศาลานอกพระที่นั่งพิมานรัถยา แต่ขั้นตอนโดยละเอียดนั้นนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้เขียนบันทึกไว้ภายหลังในหนังสือ "เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต" ดังนี้


"เวลาสำคัญได้มาถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนมซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อคอปิดสีขาวได้เชิญพระโกศลองในปิดทองเกลี้ยงมา ทุกคนถวายคำนับแล้วยืนสงบนิ่ง พนักงานสนมเปิดฝาพระโกศออก (เข้าใจว่าได้กะเทาะที่บัดกรีออกไว้ก่อนแล้ว) พนักงานเขย่งตัวขึ้นไปหยิบพระมหามงกุฎ (ยอดหัก) ออกมาก่อน เห็นประดับเพชรแวววาวไปหมด เอาห่อผ้าขาวแล้วตีตรา ต่อไปจึงช่วยกันช้อนเอาพระบรมศพออกจากพระโกศ เอาขึ้นมาวางบนเตียงใหญ่..."

"...ขณะนั้นพนักงานสนมแก้เอาด้ายดิบออกซึ่งพันไว้เป็นเปลาะๆ แล้วจึงแกะเอาผ้าขาวออก พอเปิดถึงพระพักตร์ก็มีคนดีใจว่า ยาฉีดเขาดีพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสดอยู่ แต่ที่จริงเป็นขี้ผึ้งปิดพระพักตร์ มีทองปิดด้วยหรือเปล่าไม่ได้สังเกต แล้วก็เปิดถึงผ้าเยียระบับ แต่ลืมไม่ได้สังเกตว่าได้ทำเป็นฉลองพระองค์เสื้อหรือเปล่า ตามผ้าขาวและผ้าเยียระบับมีพระบุพโพเปื้อนอยู่ทั่วไป แต่มีกลิ่นน้อยอย่างประหลาดถึงกับคิดว่าไม่ต้องใส่ผ้ากันปากจมูกก็ได้ ในพระที่นั่งมีถาดจุดกำยานอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่มีพัดลม..."


เรื่องเกี่ยวกับ ยาฉีดเขาดี ทำให้ไม่มีกลิ่นก็เพราะมีการฉีดยาพระบรมศพน้อยกว่ากำหนด ทำให้คณะกรรมการฝ่ายแพทย์เกรงว่าพระบรมศพอาจจะไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์นัก

"พระยาดำรงแพทยาคุณสงสัยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจถูกยาพิษจึงสั่งไม่ให้ใช้น้ำยาที่ผสมสารหนู แพทย์ทั้งสองจึงใช้น้ำเปล่าผสมฟอเมอรีน และคลีโอสถฉีดเข้าทางเส้นโลหิตที่โคนขาขวา โดยตั้งใจว่าจะฉีด ๓,๐๐๐ ซีซี แต่เมื่อฉีดไป ๑,๐๐๐ ซีซี ก็มีน้ำยาไหลออกทางรอยแผลที่พระนลาตประมาณ ๑๐ ซีซี จึงเลิกฉีด..." (สรรใจ แสงวิเชียร, วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคตฯ, ๒๕๑๗)

ขั้นตอนการชันสูตรนั้นเป็นไปอย่างละเอียดหลายหน้าตามกระบวนการ คำให้การในชั้นศาลของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพ การเอกซเรย์ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการนำอวัยวะต่างๆ กลับคืนที่ และเย็บแผลจนเรียบร้อย ขั้นตอนโดยย่อพอให้เห็นการใช้เครื่องมือชันสูตรเป็นดังนี้


"พระบรมศพซีดเซียวลงไปเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับมีกลิ่นรบกวนการชันสูตรแม้ว่ายาฉีดรักษาพระบรมศพจะน้อยกว่าที่ควร หลังจากตรวจภายนอกแล้ว ได้ทำการถ่ายรูปเอ็กซเรย์โดยใช้เครื่องชนิดเคลื่อนที่ได้ ทำการถ่ายเอ็กซเรย์ ๙ รูป เอ็กซเรย์เฉพาะพระเศียรไว้ ๔ ท่า ท่าคว่ำพระพักตร์ หงายพระพักตร์ทั้งสองด้าน ต่อจากนั้นนายแพทย์สุด แสงวิเชียร และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน ทำการตรวจต่อโดยใช้มีดกรีดผิวหนังจากพระกรรณข้างหนึ่งขึ้นบนพระเศียรจนถึงพระกรรณอีกข้างหนึ่ง แล้วตลบผิวหนังไปจนพ้นรอยบาดแผลด้านหลัง พบรอยแตกที่กลางพระกะโหลกทางด้านซ้ายตั้งแต่กลางพระเศียรจนถึงพระกรรณซ้าย ผิวหนังเหนือรอยแตกนี้มีรอยแดงช้ำ ตลบหนังพระเศียรไปจนถึงพระนลาต รูแผลที่พระนลาตขนาด ๑๑ x ๑๐ มม. มีรอยร้าวออกไปจากรูแผล จากนั้นแพทย์ทั้งสองเลื่อยพระกะโหลกส่วนบนแล้วดึงส่วนนั้นออก ตัดเยื่อหุ้มสมองภายใน พบพระโลหิตตกเป็นแผ่นแข็งอยู่ทางด้านซ้าย พระสมองด้านซ้ายคงดีอยู่ ทางด้านขวาเน่า พบรูที่พระสมองซีกซ้ายตรงกับรูที่พระนลาต ทะลุออกไปตรงกับรูที่ท้ายทอย ได้ตัดเอาพระสมองออก ที่ฐานพระกะโหลกมีรอยแตกร้าวอีก..." (กรณีสวรรคตฯ, น. ๔๐, ๒๕๑๗)


เมื่อการชันสูตรเสร็จสิ้นลง นายแพทย์สุด แสงวิเชียร จึงได้เก็บเครื่องมือชันสูตรนั้นไว้ ทำให้เราได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญกันในวันนี้

"ก่อนไปล้างมือได้คุกเข่าลงถวายบังคมกับพื้นขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วไปล้างมือ พอล้างมือเสร็จ ห่อเครื่องมือตั้งใจจะเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ (เดิมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาค คองดอน ขณะนี้มอบให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ พร้อมกับกะโหลก และผิวหนังของศพที่ได้ทดลองยิงในวันต่อมา)..."

ที่มาที่ไปของเครื่องมือชันสูตรพระบรมศพมีโดยสังเขปเท่านี้

ถัดจากตู้เครื่องมือไป จะเป็นตู้แสดงกะโหลกศพที่ใช้ในการทดลองยิงตามกระบวนการสืบสวนในคดี เหนือขึ้นไปจะแสดงภาพถ่ายให้เห็นถึงวิถีกระสุน เกี่ยวเนื่องกันทางตู้ติดผนังจะเป็นชิ้นส่วนหนังศีรษะของกะโหลกที่แสดงอยู่ เป็นการแสดงรอยแผลจากกระสุนปืน ที่มีลักษณะคล้าย หรือแตกต่างจากรอยแผลของพระบรมศพ

เหตุผลที่ต้องทดลองยิงศพคนเพิ่มขึ้น หลังจากที่ยิงหัวหมูแล้วได้ข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ บันทึกไว้ว่า "...ทำการทดลองยิงศพคนที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทราบระยะยิง ที่จะทำให้เกิดบาดแผล เช่นบาดแผลที่พระบรมศพ"

ที่ต้องหาระยะยิง และลักษณะของบาดแผล ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสับสนในเรื่องของบาดแผลที่พระบรมศพ เนื่องจากแผลที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ใหญ่กว่าแผลตรงท้ายทอย หลายคนสงสัยว่าอาจถูกยิงจากข้างหลัง และเป็นการหาว่าจากบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากเหตุใดได้บ้าง ระหว่างปลงพระชนม์เอง ถูกลอบปลงพระชนม์ และอุบัติเหตุ

ต่อมาจึงได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า วิถีกระสุนเข้าทางพระนลาฏ ทะลุออกทางด้านหลัง แต่ระยะยิงนั้นเป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน ในการสันนิษฐานหาสาเหตุที่แท้จริงในกระบวนการสอบสวน เช่น หากเป็นการยิงไกลเกินระยะแขน ก็เป็นไปได้ว่าไม่ได้เกิดจากพระองค์เอง หรือหากเป็นการยิงในระยะประชิด เหตุใดจึงไม่รู้สึกพระองค์ก่อน และคนร้ายเข้าไปในพระวิสูตรโดยไม่มีใครรู้ได้อย่างไร เป็นต้น

การทดลองยิงศพนั้นเกิดขึ้นหลังจากการชันสูตรพระบรมศพ ๑ วัน มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการใน บันทึกรายงานการประชุมคณะแพทย์ ครั้งที่ ๓ วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๑๐.๑๐ น. ที่ห้องตรวจชันสูตรศพ ของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้


"การทดลองได้กระทำในห้องตรวจศพของแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ของกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พื้นห้องเป็นพื้นกระเบื้องซีเมนต์ ศพที่ใช้ทดลองวางอยู่บนที่นอน ๒ ชั้น และได้เปลี่ยนเพิ่มเป็น ๓ ชั้น และเพิ่มหมอนรองใต้ที่นอนอันล่างสุดอีก ๑ ใบ เมื่อถึงการทดลองศพที่ ๓ ศพนอนหงาย ศีรษะศพวางอยู่บนหมอนใบเดียว ที่นอนวางบนเตียงไม้เตี้ยๆ มีแผ่นเหล็ก ๓ แผ่นวางกันกระสุนอยู่ใต้ที่นอนอันล่าง มีหีบใส่ทรายอยู่ใต้เตียง ความสูงของเตียงและที่นอนใกล้เคียงกับพระที่บรรทม ที่นอนที่ใช้ทดลองเป็นที่นอนทั่วๆ ไปที่ใช้ตามโรงพยาบาล ยัดนุ่นหลวมกว่าพระที่มาก ปืนที่ใช้เป็นปืนสั้นออตอเมติกขนาด ๑๑ มม. ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนนำมา เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นผู้ยิง"


ตามบันทึกการทดลองยิงศพในเวลานั้น มีการทดลองทั้งหมด ๗ ครั้ง ลักษณะทางกายภาพของศพ และระยะยิงแตกต่างกันออกไป คือ


ศพที่ ๑, ศพดอง เพศชาย อายุ ๑๖ ปี ยิงโดยวิธีให้ปากกระบอกปืนติดกับผิวหนัง ยิงทางด้านหน้าตรงตำแหน่งที่พบแผลในพระบรมศพ ตรงตามแนวไม้บรรทัดที่จัดให้แนวตรงกับแผลหน้า และแผลหลัง ในพระบรมศพ ผู้ยิงปืนยิงอยู่ทางด้านหัวของศพ

ศพที่ ๒, ศพดอง เพศหญิง อายุ ๑๘ ปี ยิงเหมือนการทดลองกับศพแรก แต่ระยะยิงห่างจากศพ ๑๐ เซนติเมตร

ศพที่ ๓, ศพดอง เพศชาย อายุ ๑๗ ปี ยิงห่างจากศพ ๕ เซนติเมตร

ศพที่ ๔, ศพดอง เพศหญิง อายุ ๒๒ ปี ยิงทางด้านหน้า ปากกระบอกปืนเกือบชิดผิวหนัง

ศพที่ ๕, ศพสด เพศหญิง อายุ ๑๙ ปี ยิงชิดกับผิวหนัง

ศพที่ ๖, ศพสด เพศชาย อายุ ๔๗ ปี ยิงทางด้านหน้า ปากกระบอกปืนติดชิดกับผิวหนัง

ศพที่ ๗, ศพดอง เพศชาย อายุ ๒๗ ปี คว่ำหน้าศพวางอยู่บนหมอน ยิงจากท้ายทอยไปทางหน้า ผู้ยิงยืนยิงที่ตรงลำตัวของศพ ปากกระบอกปืนห่างจากเป้า ๕๐ เซนติเมตร


ผลการทดลองสรุปเป็นความเห็นออกมาว่า บาดแผลที่พระบรมศพ มีลักษณะคล้ายคลึงกับศพที่ทดลองยิงในระยะติดหรือเกือบชิดผิวหนัง และยิงจากหน้าไปทะลุท้ายทอย ภายหลังจึงมีข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นมาอีกว่า "คณะกรรมการยืนยันเป็นเอกฉันท์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้สวรรคตโดยลูกกระสุนปืน ซึ่งเข้าไปในพระนลาฏของพระองค์ และผ่านทะลุออกไปข้างหลังของพระเศียร และทั้งชี้แจงเป็นเอกฉันท์ว่า ตามที่ได้ทดลองกับศพ ปากกระบอกปืนจ่ออยู่ภายในระยะ ๕ เซนติเมตร ของพระนลาฏโดยเกือบแน่นอน" (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ คดีหมายเลขดำที่ ๓๐๕๖/๒๔๙๔ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๖๓๖/๒๔๙๖)

สุดท้ายคณะกรรมการแพทย์แต่ละท่านก็มีความคิดเห็นออกมาตามแถลงการณ์ของกรมตำรวจ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙


นายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และแพทย์ประจำพระองค์

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง ซึ่งอาจเป็นได้เท่ากันทั้งสองประการ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นอุบัติเหตุเลย"


พ.อ.เย อี. ไดรเบอร์ก (Colonel Driberg) นายแพทย์กองทัพบกอังกฤษ ไม่มีความเห็นในแถลงการณ์ฉบับนี้ แต่จากคำให้การของนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ ต่อศาลอาญา วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ อ้างว่า พันเอกไดรเบอร์กมีความเห็นว่า ถูกลอบปลงพระชนม์ รองลงมาคือปลงพระชนม์เอง แล้วจึงถึงอุบัติเหตุ


พ.ต.ท.เอ็จ ณ ป้อมเพชร กรรมการผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์ ผู้แทนตำรวจ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าบาดแผลนั้นเนื่องมาจากการกระทำด้วยพระองค์เอง หรือเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น"


นายแพทย์คอร์ท (E. C. Cort)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิค เชียงใหม่

"...แห่งที่ของบาดแผล และทางของบาดแผลคล้ายถูกปลงพระชนม์กว่าปลงพระชนม์เอง และอุบัติเหตุนั้น ดูไม่น่าจะเป็นไปได้"


นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ อดีตอาจารย์อายุรศาสตร์ ศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ

"...ตามความเห็นของข้าพเจ้าเรื่องนี้เป็นกรณีถูกปลงพระชนม์ และข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเป็นการปลงพระชนม์เองหรืออุบัติเหตุโดยสิ้นเชิง"


นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน พยาธิแพทย์
และผู้ชำนาญวิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์เต่อ สนิทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการอุบัติเหตุ หรือถูกปลงพระชนม์ หรือปลงพระชนม์เอง ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว จิตแพทย์ โรงพยาบาลโรคจิต

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการอุบัติเหตุ ถูกปลงพระชนม์ หรือปลงพระชนม์เอง ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์สุด แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์
โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้ามีทางอธิบายที่เป็นไปได้ ๒ ประการเท่านั้น คือ ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่าๆ กัน"


นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ สูติแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์หรือปลงพระชนม์เองตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป และข้าพเจ้าไม่ถือว่าเป็นการอุบัติเหตุเลย"


พ.ต.ต่วน จีรเศรษฐ พยาธิแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ การปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์ชูช่วง เศวตรุนทร์ แพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


นายแพทย์สงัด เปล่งวานิช เลขานุการกรมการแพทย์

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


พ.ต.ประจักษ์ ทองประเสริฐ หัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการปลงพระชนม์ หรือถูกปลงพระชนม์ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นอุบัติเหตุ"


นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา โรงพยาบาลศิริราช

"ตามความเห็นของข้าพเจ้า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะอนุมานได้โดยสิ้นเชิงว่าจะเป็นประการใดประการหนึ่งเช่นว่านั้น แต่ข้าพเจ้าเลือกจะถือว่าเป็นการถูกปลงพระชนม์เป็นประการแรก เป็นอุบัติเหตุเป็นประการที่สอง และเป็นการปลงพระชนม์เองเป็นประการที่สาม"


นายแพทย์หลวงพิณพาทย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

"ตามความเห็นของข้าพเจ้า การสวรรคตเนื่องมาจากถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุ ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป"


พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ

"ตามความเห็นของข้าพเจ้าเป็นการถูกปลงพระชนม์ หรือปลงพระชนม์เอง ตามลำดับเป็นขั้นๆ ไป ข้าพเจ้าไม่ถือเป็นอุบัติเหตุเลย"


ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นของแพทย์ ตามผลการชันสูตร และการทดลอง โดยสรุปก็คือแพทย์ส่วนใหญ่เห็นเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ มากกว่าปลงพระชนม์เอง และอุบัติเหตุ

แต่นั่นไม่ใช่ข้อสรุปของคดี เพื่อให้เห็นภาพรอบด้านมากขึ้นอีก คงต้องฟัง "ฝ่ายค้าน" ในคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลย ณ ศาลอาญา วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๙๔ คดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙๘/๒๔๙๑ คดีหมายเลขแดงที่ /๒๔ ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับคณะแพทย์ชุดนี้ว่า


"การตรวจเพื่อรู้ว่า สมองส่วนใดจะต้องถูกทำลายไปพร้อมกันนี้ย่อมต้องมีความชำนาญในการตรวจ และมีความชำนาญพอที่จะวินิจฉัยได้ และได้เคยประจักษ์ผลแห่งความแรงของปืน การกระเทือนของปืนที่ผ่านสมองไป มีผลทำให้รอบข้างทำลายไปพร้อมกันเพียงใด ซึ่งในเรื่องความชำนาญดังนี้ เป็นที่น่าเสียดายที่บรรดานายแพทย์ทุกท่านที่เข้ามาเป็นพะยานในเรื่องนี้ ไม่เคยได้กระทำการตรวจสมองใดๆ ที่เคยมีกระสุนปืนผ่านมาก่อนเลย และในรายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ ได้ทำการตรวจเมื่อระยะเวลาล่วงไปนานเสียแล้ว จึงไม่อาจตรวจพิเคราะห์โดยละเอียดได้..."


ทนายจำเลย นายฟัก ณ สงขลา ยังได้ค้านเกี่ยวกับความเห็นเรื่องการถูกปลงพระชนม์ โดยตัดอุบัติเหตุออกไป ตามความเห็นของแพทย์ ดังนี้


"เกี่ยวกับเรื่องฐานที่ตั้งจากบาดแผลตามตำรานิติเวชวิทยา มิได้ยืนยันว่าบาดแผลที่กระทำขึ้นอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นบาดแผลที่ถูกปลงพระชนม์เท่านั้น การเฉียงลงของกระสุนปืน เป็นเพียงการเฉียงลงเล็กน้อย มิใช่ว่าจะให้บ่งตรงว่าเป็นเรื่องลอบปลงพระชนม์อย่างเดียวเช่นเดียวกัน ถ้าลองเอาปืนขนาด ๑๑ มม. จรดดูที่หน้าผาก วางปืนตั้งได้ฉากหรือเอนด้ามขึ้นทางศีรษะ เอนด้ามปืนลงมาทางเท้า ไม่มีลักษณะที่ขัดข้องที่จะกระทำด้วยตนเองอย่างใดเลย อนึ่ง เป็นที่รับกันว่ากรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้น บางรายเกิดขึ้นได้อย่างพิสดารที่สุด..."

แต่ผลสรุปคดีทางกฎหมายของศาลยุติธรรมทั้งสามศาล เห็นได้ชัดว่าคณะผู้พิพากษาได้ให้น้ำหนักกับกระบวนการชันสูตร และความเห็นของแพทย์ไว้ค่อนข้างมาก ยกเว้นความเห็นแย้งคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ที่มองต่างมุมในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ว่ากระบวนการทางแพทย์ (กรณีอาการแข็งเกร็ง คาดาเวอริสปันซั่ม) และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (กรณีสนิมในปากกระบอกปืน) ยังไม่สมบูรณ์เด็ดขาดพอที่จะพิสูจน์ให้มีข้อสรุปเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ชัดเจน แต่คำพิพากษาก็ชี้สาเหตุการสวรรคตออกมาสอดคล้องกันทั้ง ๓ ศาล

ศาลอาญา เชื่อว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ จึงมีการตัดสินประหารชีวิตจำเลยที่ ๒ นายชิต สิงหเสนี อยู่ในข่ายรู้เห็นร่วมมือกับผู้กระทำการปลงพระชนม์ แต่ให้ปล่อยนายเฉลียว ปทุมรศ และนายบุศย์ ปัทมศริน

ศาลอุทธรณ์ เชื่อว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์เช่นกัน จึงได้ตัดสินประหารชีวิต นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ให้ปล่อยนายเฉลียว ปทุมรศ

ในชั้นอุทธรณ์นี้มีความเห็นแย้งคำพิพากษา โดยผู้พิพากษา ๑ ใน ๕ ของคณะผู้พิพากษา คือความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์จนพิสุทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ "หลักฐานยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสาม"


ศาลฎีกา พิพากษาประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน!


แม้กระบวนการทางกฎหมายจะได้สิ้นสุดลงแล้ว และไม่อาจแก้ไขสิ่งใดๆ ได้อีก แต่ "สิ่งที่ยังเหลืออยู่" ในกรณีสวรรคต ไม่ใช่แค่เครื่องมือแพทย์ และกะโหลกศีรษะ ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ไม่ใช่แค่สำนวนคดีหลายพันหน้าที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย แต่ยังมี "ความแคลงใจ" ในปริศนาของคดีนี้ ซึ่งจะเหลืออยู่ตลอดกาล

"...ประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่สิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่าน และชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย..."
(ปรีดี พนมยงค์, ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๖)


ปรามินทร์ เครือทอง

ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2546

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 7

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551

กบถผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน เมื่อปีพ.ศ.2502

ย้อนรอยอดีต กบถผีบุญที่โชคชัย โคราช

ก่อนการยึดอำนาจครั้งนี้ราว 3 วัน ต่างกันเพียงปี พ.ศ. คือ 16 กันยายน 2500 ห่างจาก 19 กันยายน 2549 หย่อน 50 ปี เพียง 3 วัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ได้นำกองกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ จากจอมพล ป. พิบูลสงคราม สำเร็จหลังจากนั้นได้ เปิดให้มีการเลือกตั้ง เช่นเดียวกัน พรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยได้เสียงกระจายกันไป สภาได้ซาวเสียงให้ พลเอกถนอม กิติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

การบริหารประเทศภายใต้พรรคการเมืองที่ไม่มีเสียงข้างมากขัดแข้งขัดขากันเองในรัฐบาล เลยมาจนถึง 20 ตุลาคม 2500 ก็ได้ลาออก แล้วตอนเย็นวันนั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ได้ยึดอำนาจซ้ำซากอีกครั้ง พร้อมกับการประกาศยกเลิกพรรคการเมือง สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ และใช้เผด็จการเต็มรูปแบบ จะให้กฎหมายใดศักดิ์สิทธิหรือไม่ศักดิ์สิทธิขึ้นอยู่กับท่านผู้นำตอนนั้น คล้ายๆ กับตอนนี้

การใช้มาตรา 17 ยิงเป้าผู้วางเพลิง กรณีเกิดเหตุไฟไหม้ไล่เลี่ยกัน ช่างเหมือนสมัยนี้เหลือเกินต่างตรงที่จับแล้วปล่อยเน้นสมานฉันท์ยกเว้นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพวกตน มีรายเดียวที่เป็นอุบัติเหตุไฟเชื่อมกระเด็นใส่อาคารเรียนเสียหายเล็กน้อย สมัยนั้นตามโรงเรียนอาจไม่มีไฟฟ้าใช้ เลยไม่มีเหตุไฟฟ้าลัดวงจรกันบ่อยๆ เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ อย่างทุกวันนี้

รถยนต์คันใหญ่สามคันได้ภายใต้การนำของ นายศิลา วงศ์สิน ได้นำผู้ชาย ผู้หญิงเด็กรวมแล้วกว่าร้อยคน มาเป็นแขกของ บ้านใหม่ไทยเจริญ ต.สารภี อ.โชคชัย นครราชสีมา กลางดึกของคืนที่ร้อนอบอ้าว กลางเดือนเมษายน

การมาของคนเหล่านี้ นายสงวน อินคำ ผู้ใหญ่บ้านใหม่ไทยเจริญ ได้สอบถามคณะที่มาถึงได้ความว่า พากันอพยพจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้ามาหาที่ทำกิน โดยอ้างว่ารัฐได้จัดให้หมู่บ้านนี้เป็นที่จับจองทำกิน โดยผู้ใหญ่สงวนก็งงเพราะไม่เคยได้ยินเรื่องอย่างนี้จากทางการ ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของคนเหล่านี้

แล้วคนร้อยกว่าชีวิตก็จับจองสร้างบ้านเรือน พร้อมกับจ้างชาวบ้านแถวนั้นให้ค่าแรงสูงกว่าปกติ ใช้เงินซื้อข้าวของมากผิดปกติ นอกจากนี้ทางเข้าหมู่บ้านคุ้มที่นายศิลาสร้างใหม่ ยังมียามถือปืนเฝ้าทางเหมือนป้อมค่ายทหาร

เมื่ออาคารสถานที่พร้อมแล้ว นายศิลา ก็ประกาศตนเองว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด สามารถรักษาโรคได้สาระพัด ใครเป็นโรคอะไรไปหาหมอไม่หาย ไม่อยากหายไปจากโลกก็มาอ่อนน้อมและทำตามที่นายศิลาบอก ด้วยวาจาสิทธิของผู้มีบุญบวกกับสมุนไพรปลุกเสก เป็นโรคอะไรก็หาย เท่านั้นแหละประชาชนที่พร้อมจะเชื่ออะไรได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากสมัยนี้มากสักเท่าไหร่แค่มีคนคิดชื่อเทพเจ้าขึ้น ก็แห่ไปจองกันแทบจะเหยียบกันตาย ราคาเท่าไหร่เท่ากัน มาแย่งกันซื้อ ประชาชนสมัยนั้น ก็แห่มาพบท่านผู้มีบุญ เพื่อขอให้ผู้มีบุญดลบันดาลให้มีโชคลาภ และแคร้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย

หน่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ของนายศิลา ได้ตระเวณไปทำสรรเสริญความวิเศษของนายศิลา โดยกลอนลำเพราะๆ ไม่ต่างจากการขึ้นเวทีของบรรดาเพลงเพื่อชีวิตบางคณะบางเหล่าของสมัยนี้ ด้วยประสิทธิภาพของสื่อที่เข้าถึงชาวบ้าน ทำให้นายศิลา เข้าไปยืนอยู่ในดวงใจของชาวบ้านจำนวนมาก ขนาดชี้นกเป็นไม้ได้ อยากได้อะไรเพียงแต่เอ่ยเปรยๆ เท่านั้นก็จะมีคนเอามาให้ผู้มีบุญอย่างนายศิลาด้วยความเต็มใจยิ่ง หวังแค่บุญบารมีที่นายศิลาจะได้เผือแผ่ให้ชีวิตพวกเขามีสุข

เจ้าหน้าที่ปกครองบ้านเมืองได้รายละเอียดว่า นายศิลา นี่เป็นคนอายุราว 50 เศษๆ และเมียสาวสวยชาวโชคชัย ชื่อ "ประกายแก้ว" อายุเพียง 20 ปี ที่พ่อและแม่ของสาวประกายแก้วยกให้นายศิลา หลังจากที่นายศิลา ได้รักษาให้เธอหายจากโรคร้ายที่เธอเป็นอยู่

ความล่าช้าของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กับความเจนจัดในการใช้สื่อประเภทหมอลำ เข้าถึงชาวบ้านได้มาก ทำให้คนรักและศรัทธานายศิลา เห็นนายศิลาเป็นคนเก่งกาจมีความรู้ความสามารถและเป็นผู้วิเศษมากขึ้น ประกอบกับทางการก็ไม่รู้จะเอาข้อหาไหนมาจัดการกับนายศิลา วงศ์สิน ผู้นี้ได้ ประกอบกับชาวบ้านคนหนุ่มคนแก่ได้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกนายศิลามากขึ้น รวมทั้งคนเจ็บมีทั้งชาวลาวจากเวียงจันทร์และคนเวียตนาม รวมทั้งคนเจ็บและญาติพี่น้องที่เฝ้าคนเจ็บที่รอให้นายศิลารักษาอยู่จำนวนมาก

วันอุบาทว์เลวร้ายได้ที่สุดๆ มาถึงเมื่อ วันฉัตรมงคล ของปีนั้น นายศิลา ได้ประกาศตนเป็นกษัตริย์ และ นางประกายแก้วเป็นราชินี บรรดาเหล่าเมียน้อย ที่เข้ามาห้อมล้อมคนมีบุญอย่างนายศิลา ได้เป็นเจ้าจอม สนม กำนัลบ้าง รวมทั้งบรรดาลูกน้องคนสนิท หมอลำหน่วยโฆษณา บรรดาญาติๆ ต่างได้เป็นขุนนาง ตำแหน่งดุจเดียวกับราชสำนัก และมีข้าทาสบริวารกันพร้อมหน้า ตอนนี้ประชาชนหามีแค่ชาวโชคชัย หรือโคราชนี้เท่านั้น จากอีสานทั่วสารทิศต่างที่จะเข้ามาชื่นชมบารมีของผู้มีบุญกันถ้วนหน้า ลาภยศ ศรัทธาต่างไหลมาเทมาไม่ว่างเว้น

ผู้ใหญ่สงวนต่างไม่นิ่งดูดาย รีบไปแจ้งแก่ทางอำเภอ ต้องหลับตานึกว่าสมัยก่อนนี่ข่าวสาร ระยะทางไปมาหาสู่กันลำบาก แม้สมัยนี้ก็เถอะเกิดเหตุร้ายที่ภาคใต้ กว่าจะมีเจ้าหน้าที่ไปถึง สาระพัดอุปสรรค นายอำเภอเลิศ พุกกะรัตน์ได้รับแจ้งต่างเร่งรีบเรียกหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ มาประชุมหารือ พร้อมทั้งประมวลข่าวสารที่ได้รับจากชาวบ้าน ทุกกระแส และที่ประชุมได้ข้อยุติร่วมกันว่า นายอำเภอและคณะจะต้องลงไปตรวจสอบเหตุการณ์ ณ สถานที่จริงคือ บ้านใหม่ไทยเจริญ ให้เห็นกับตา ว่าเกิดอะไรขึ้น

แล้วเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม 2502 นี่และวันหน้าเศร้าของฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ภาพเหตุการณ์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่พยายามที่จะเข้าไปคลี่คลายให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในภาคใต้ แต่สุดท้าย คือการสูญเสียชีวิตของตนเอง เพียงแต่เหตุการณ์วันก่อนนี้เกิดที่อีสาน วีนนี้เกิดที่ภาคใต้และได้พัฒนาซับซ้อนกว่าวันก่อนเยอะ

นายอำเภอโชคชัย นายเลิศ พุกกะรัตน์ ผู้บังคับกองตำรวจโชคชัย ร้อยตำรวจเอกประเสริฐ สุนทรเสรี และปลัดอำเภอโชคชัย คือ นายเทพ หาญณรงค์ และป่าไม้อำเภอคือ นายหวล แก่นกระโทก ส่วนผู้ใหญ่ฉ่ำ สุขกระโทก และอาจารย์ผ่อง เกณฑ์กระโทก ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาล และชาวบ้านอีกสามคน เป็นคณะที่ไปจากอำเภอโชคชัย เพื่อเข้าไปหารายละเอียด ราชวงศ์ศิลา วงศ์สิน ที่สถาปนาขึ้นใหม่มาดๆ

จะด้วยคิดว่าคงไม่มีเหตุร้าย เพราะนั่นคือ "เจ้านาย" เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ยำเกรงของชาวบ้านเป็นอันมาก หรือเพราะว่าเป็นเจตนาที่จะไม่ให้มีการระแวงกัน ดังนั้นการเข้าไปโดยปราศจากอาวุธ เพียงแค่ปืนไม่กี่กระบอก นอกนั้น ในคณะก็ไปมือเปล่า พากันไปหมู่บ้านใหม่ไทยเจริญ โชคชัยในเช้าวันนั้น

ใกล้เที่ยง คณะที่ไปจากอำเภอโชคชัยก็เข้าไปถึงหมู่บ้านป้อมค่ายของนายศิลา เห็นมีชายฉกรรจ์ในชุดเตรียมพร้อมอยู่แล้วแต่นายอำเภอได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใจเย็นและแสดงกริยาที่เป็นมิตรกับชาวบ้านแบบเอาน้ำเย็นเข้าลูบก่อนเข้าไปคลี่คลายเรื่องร้าย

นายอำเภอและ ร.ต.อ.ประเสริจและเจ้าหน้าที่บางส่วน ได้ขึ้นไปบนบ้านของนายศิลา ส่วนปลัดเทพและเจ้าหน้าที่ติดตามไปบางส่วนรออยู่ด้านล่าง

ชั่วครู่ เสียงลั่นถกเถียงกันบนเรือนนายศิลาเกิดขึ้น

"นายอำภอไม่มีสิทธิเข้ามายุ่มย่ามในบ้านของฉัน คนเขารักฉัน เขาเชื่อฉันเป็นใหญ่ที่นี่"

"แต่ที่นี่เมืองไทย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"

"กูนี่แหละกฎหมาย ! ฆ่าพวกมัน"

สิ้นเสียงคำสั่งของนายศิลา เสียงร้องโหยหวนของคนที่ถูกทำร้าย และเสียงโห่ร้องของชาวบ้านสมุนของนายศิลาระงมไปหมด

ปลัดเทพพยายามยามที่จะขึ้นไปบนบ้านเพื่อช่วยเหลือนายอำเภอและผู้กอง แต่ชาวบ้านฮือเข้ามาไล่ฟันจนเลือดอาบ ปลัดเทพ พร้อมกับชาวบ้านอีกสามคนต่างพากันวิ่งหนีกระเสือกระสนออกจากหมู่บ้านเขตอิสระที่ไม่ยอมขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศไทย ต่างคนต่างได้รับบาดเจ็บเลือดท่วมตัวกันทุกคน รีบไปรวมกันแจ้งเรื่องราวทั้งหมดให้ปลัดอาวุโสของโชคชัยและคาดการณ์ว่า นายอำเภอเลิศ ผู้กองประเสร็ฐ นายฉ่ำ นายผ่องและนายหวลคงสิ้นชีวิตไปแล้ว

ปลัดอำเภอโชคชัยรีบรายงานให้จังหวัดนครราชสีมา ทางจังหวัดรีบรายงานให้รัฐบาลที่มากบารมีและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ เพื่อให้จัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด นี่แหละเหตุการณ์ที่เปลี่ยนหมู่บ้านที่เคยสงบร่มเย็นกลายเป็นสมรภูมิเลือดระหว่างผีบุญผู้หยั่งรู้และเข้าใจวิถีของชาวบ้าน ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความยากจนและความเชื่อที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความหวังทั้งจากชีวิตนี้และชีวิตหน้า เมื่อมีผู้มาให้ความหวังว่าชีวิตจะพบความสุขหากเดินตามรอยทางที่ผู้ที่เข้าถึงจิตใจเพื่อนมนุษย์และใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอของคนอื่น เมื่อมีการก่อตั้งเขตปกครองอิสระ ในหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชาสีมา เหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายกับเกิดขึ้นภาคใต้ตอนนี้ เพียงแต่ความรุนแรงต่างกันลิบลับ

เมื่อทางบ้านเมืองได้รับรายงานเหตุการณ์ "กบถผีบุญ" ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจรัฐ นายพลผ้าขาวม้าแดง ผู้มีอำนาจมากที่สุดเพิ่งจะยึดอำนาจของรัฐในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด ล้มองค์กร การปกครองหรือไม่ล้ม อันไหนที่เห็นว่าไม่ใช่พรรคพวกของตน ก็ปลดออกบ้าง ไล่ออกบ้าง หรือย้ายไปในตำแหน่งไม่สำคัญ เอาคนที่ตนสั่งการได้ รับใช้อำนาจตน เข้าไปทำหน้าที่แทนเหมือนตอนนี้ พวกที่อยากเป็นใหญ่ทางลัดหรือหาประโยชน์ใส่ตน โดยไม่คิดว่า มันถูก หรือผิด มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย อย่างบ้านเมืองเราตอนนี้เยอะหน่อย นายพลผ้าขาวม้าแดงผู้ซึ่งชิงเอาอำนาจรัฐเข้ามาไว้ในอุ้งมือของตน ครั้งที่สองมาดๆ ถือโอกาสตัดไม้ข่มนาม ให้ศัตรูทางการเมืองเห็น

คืนนั้นได้มีคำสั่งไปถึงผู้กำกับการตำรวจภูธร ภาค 3 คือ พลตำรวจจัตวา มุข ศรีสมบูรณ์ ให้จัดการกับ "กบถผีบุญ" กลุ่มนี้อย่างรวดเร็ว เหลือไว้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อยากประกาศตนอิสระจากอำนาจรัฐกลุ่มอื่นๆ หรือพรรคการเมืองบางพรรค

ฝ่ายกลุ่มกบถผีบุญ ของนายศิลา ผู้ประกาศตนเป็นเจ้า หลังจัดการกับเจ้าหน้าที่จนได้ชัยชนะต่างโห่ร้องแสดงความยินดี ที่มีชัยเหนือเจ้าหน้าที่ตัวแทนอำนาจรัฐ พร้อมกับยกย่องนายศิลา ว่ามีบุญญาบารมีมากสามารถปกปักรักษาให้สมัครพรรคพวกของตนปลอดภัยจากการต่อสู้ และยินดีให้นายศิลา นำพาพวกตนสู่การเป็นเขตอิสระ ก่อตั้งบ้านสร้างเมืองจนถึงที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ระดมความคิดที่จะจัดการกับศพเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตทั้งหมด รวม 5 คน ด้วยการนำมารวมกันที่กลางลานบ้านเพื่อที่จะทำพิธีเผาในวันถัดไป

กองกับกับการตำรวจภูธร ภาค 3 หลังจากได้รับคำสั่งจากรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านจอมพลผ้าข้าวม้าแดง ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาวางแผนอย่างเคร่งเครียดเพื่อที่จะเข้าปราบปรามกบถผีบุญ กลุ่มนี้ให้ประสบผลสำเร็จ

เช้าของวันสิ้นเดือนพอดี คือวันที่ 31 พฤษภาคม 2502 เจ้าหน้าที่อาจกระฉับกระเฉงเป็นพิเศษกว่าวันอื่นๆ แม้ว่าจะรู้สึกกังวลในสิ่งที่เกิดขึ้น กองกำลังกว่า 200 คน ภายใต้การนำของท่านพลจัตวามุข ศรีสมบูรณ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร ภาค 3 ได้นำกำลังทั้งหมด มุ่งหน้าไปสู่หมู่บ้านใหม่ไทยเจริญ อำเภอโชคชัย นครราชสีมา ตามแผนที่ได้ระดมความคิดจากเจ้าหน้าที่ที่วางไว้ แล้วเข้าล้อมแนวหมู่บ้านไว้

เจ้าหน้าที่ตระโกนประกาศเสียงดังให้ชาวบ้าน เดินเรียงแถวออกมามอบตัวและวางอาวุธ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้น ประกาศหลายครั้งก็ไม่เห็นจะมีวี่แววว่าจะมี ชาวบ้านคนใดออกมามอบตัว

หมู่บ้านใหม่ไทยเจริญยุคนั้นที่ กบถผีบุญภายใต้การนำของนายศิลา ผู้ประกาศตนอ้างเอาแผ่นดินของหมู่บ้านใหม่ไทยเจริญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ของนครราชสีมาและของโลกมาเป็นเจ้าของ อ้างเป็นเจ้าแผ่นดิน ตามธรรมเนียม และแสดงอภินิหารให้คนเห็นและอ้างว่าตนเป็นผู้วิเศษสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้านได้ นอกจากแนวป่าพ้นหมู่บ้านไปก็เป็นที่โล่งที่ชาวบ้านหักร้างถางพงษ์ กับแนวป่าของหมู่บ้าน

กองกำลังของเจ้าหน้าที่เคลื่อนตัวพร้อมกันบีบเข้าไปล้อมหมู่บ้านตามคำสั่งของท่านผู้กำกับการ ตำรวจภูธร ภาค 3 พลตำรวจจัตวามุข ห่างจากหมู่บ้านราว 300 เมตร เสียงปืนพร้อมห่ากระสุนก็ระดมยิงออกมาจากหมู่บ้านใส่เจ้าหน้าที่ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ยิงโต้ตอบพร้อมกับเข้าที่กำบัง เพราะการบุกเข้าไปจากที่โล่ง ฝ่าเข้าไปแนวดงไม้ทึบชายหมู่บ้านเป็นปราการกีดขวางธรรมชาติชั้นดี ตอนนี้อย่าลืมนึกถึงฉากยิงภูเขา เผากระท่อมของหนังไทยยุคเก่าๆ การต่อสู้แบบหูดับไหม้อาวุธนานาชนิดของเจ้าหน้าที่มากมาย กับกองกำลังชาวบ้านพรรคพวกของกบถผีบุญ

การสู้รบล่วงเลยมาจนบ่าย เจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนการบุกไปแล้วหลายระลอกแต่ก็ไม่เป็นผล หากพลบค่ำการสู้รบยังไม่จบอาจเกิดผลกระทบอื่นต่อทางราชการ สถานการณ์อาจขยายตัวบานปลายเป็นอย่างอื่นต่อไปอีก

เจ้าหน้าที่ต่างนำอาวุธหนักที่เจ้าหน้าที่สมัยนั้นมีออกมาใช้บุก ทั้งปืนกลหนัก ปืนกลเบาและเครื่องยิงจรวดต่อสู้แบบบาซูก้าเป็นหลัก หลังการระดมยิงไม่นานแนวป้องกันของกลุ่มกบถผีบุญด้านป่าละเมาะของหมู่บ้าน เริ่มต้านการบุกของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่อยู่ หากว่าเจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังไม่เน้นการสมานฉันท์แบบไม่ลืมหูลืมตา ใช้กฎหมายเป็นกฎหมายเมื่อไหร่ ความสำเร็จก็ต้องเป็นของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แนวต้านของกบถผีบุญเริ่มแผ่วและถอนกำลังกันเข้าไปในหมู่บ้าน จนเจ้าหน้าที่รุกคืบแนวต้านก่อนเข้าหมู่บ้านได้ทั้งหมด

ใกล้ห้าโมงเย็นเจ้าหน้าที่สามารถบุกเข้าไปในหมู่บ้านได้ ฝ่ายกบถเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน จับได้ 38 คน โดยมีหญิง 15 คนชาย 6 คน และ 17 คน อีกส่วนหนึ่งที่แข็งแรงพอจะสู้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ ยังไม่วางอาวุธเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ป่าใกล้หมู่บ้านจับได้อีก 40 คน

นายศิลา หัวหน้ากบถพร้อมกับญาติๆ ผู้ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเหนื่อยในวันสิ้นเดือนพอดี ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องเงินเดือนจะพอใช้หนี้หรือเปล่าในเดือนนั้น สามารถนำกำลังคนสนิท 10 คนตีฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่ออกไปได้ เก่งสมกับเป็นหัวหน้าพอสมควร สามารถหนีไปได้อย่างลอยนวล

สื่อหนังสือพิมพ์สมัยนั้นไม่รู้จะเอียงเหมือนสมัยนี้หรือเปล่าไม่รู้ ได้ลงข่าวเหตุการณ์การสู้รบใหญ่โต ของกลุ่มกบถผีบุญผู้กล้าท้าทายอำนาจรัฐ ที่ผีบุญยุคนั้นหาใช่พวกอ้างกฎหมาย อ้างสิทธิมนุษยชนอะไรเหมือนสมัยนี้ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายจนเกิดเป็นจลาจล สื่อหลายฉบับได้สวดเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของนครราชสีมา ถึงการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เอาใจไปตีกอล์ฟ ไม่ใส่ใจ หูไวตาไวในการดูแลทุกข์สุขราษฎรปล่อยให้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นร้อยต่อสู้กับบ้านเมืองได้ขนาดนี้

ข่าวหลายกระแสบอกว่านายศิลาหนีเข้าประเทสลาวไปแล้ว บางกระแสบอกว่าเขาชายแดนเส้นทางเขมรเพราะชำนาญเส้นทางนี้เป็นพิเศษ บ้านเมืองต้องระดมส่งสายสืบไปตามควานหาตัวให้เจอ

หลังการสู้รบเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นหมู่บ้าน พบปืนยิงเร็ว ปืนเก็บเสียงและเอกสารทางศาสนาและตำราพวกคาถาอยู่ยงคงกระพันเจ้าหน้าที่จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

ตำรวจได้ระดมกำลังกันตามล่านายศิลา ผีบุญผู้ท้าทายอำนาจรัฐอยู่ด้วยความยากลำบาก กว่ายี่สิบวันที่นายศิลาพาลูกเมียพี่น้อง 7-8 คน รอนแรมในป่าลึกด้วยความยากลำบากหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเช่นกัน แล้วก็จนมุมเจ้าหน้าที่ในวันที่ 20 มิถุนายน 2502

เช้าวันที่ 21 มิถุนายน นายศิลาก็ถูกนำตัวมาจากอุบล ถึงนครราชสีมาเพื่อให้ท่าน พลตำรวจตรีประชา บูรณะธนิต ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 ที่รอสอบอยู่นานหลายวันแล้ว ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว


"ความผิดของนายศิลา ที่ทำตนเป็นผู้วิเศษหรือผีบุญนี้มีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต แม้จะรับสารภาพก็ไม่อาจได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ"


คำสัมภาษณ์ดังกล่าวผมไม่แน่ใจว่ามีสื่อประเภทบันทึกเสียงหรือเปล่า หากเป็นสมัยนี้อาจมีภาพมีเสียงประกอบแน่นอน แต่นั่นมันยุคห้าสิบกว่าปีที่แล้วแต่ความคิดเรื่อง ความเชื่อของวิเศษขลังๆ ผู้วิเศษหากคิดเป็นสัดส่วนจำนวนประชากรตอนนั้นสิบกว่าล้าน กับตอนนี้หกสิบกว่าล้านคิดว่าเปอร์เซ็นไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ แน่นอนคนมาก จำนวนมากเวลามีข่าวผู้มีบุญ หรือของวิเศษที่ไหน ภาพประกอบจำนวนผู้คนศรัทธาแก่กล้ารอตัวดีๆ หรือคำพูดเด็ดๆ เอาไปตีความเสี่ยงโชคกับหวย กับเบอร์จะมากเป็นพิเศษ

สายของวันที่ 22 มิถุนายน 2502 นายศิลา วงศ์สิน ก็มีผู้นำตัวไปเที่ยวกรุงเทพแบบขาดอิสระภาพที่กองปราบสามยอด ศิลาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์อย่างหนักแน่น

"มิได้เป็นกบถหรือแบ่งแยกดินแดนอย่างที่กล่าวกัน" ข้อความที่โค๊ดไว้ และวันเวลานี่จากสื่อที่คุณธนาคมเจ้าของหนังสือ กบถอีสาน ได้เรียบเรียง ผมไม่แน่ใจว่าคนอืนสมัยนั้น จะพูดภาษากลางหรือคนภาคกลางจะเข้าใจคำภาษาถิ่นอีสานทุกคำเหมือนสมัยนี้ เพราะสมัยนี้ศัพท์หลายคำเหมือนกันเพียงสำเนียงต่างที่ต่างถิ่นเท่านั้น ในอดีต คำเดียวกัน ต่างที่ต่างถิ่น คนละความหมายกันเลยเช่น คำว่าแพ้ ภาษาลาว หรืออีสาน แปลว่าชนะ "เอ็งตีแพ้หมอนี่ไหม?" ตอบว่าแพ้ คือ ว่าสู้หมอนั่นได้ คือ ชนะ นั่นเอง

นายศิลายอมรับว่าที่เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นเพราะชาวบ้านที่โกรธแค้นทางอำเภอเรื่องที่ทำกินที่ทางอำเภอไม่ให้ เลยรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่แม้ว่าตนจะห้ามปรามแล้วชาวบ้านก็ไม่เชื่อ ส่วนความนิยมชมชอบที่ชาวบ้านมีให้อย่างล้นหลามนั้นเนื่องจากตนเป็นคนเรียนวิชาอาคมทางไสยศาสตร์มาเป็นอย่างดี

บ่ายวันเดียวกันนั้น นายศิลา วงศ์สิน ได้มีโอกาสพบนายกรัฐมนตรี ของประเทศไทยซึ่งเป็นโอกาสที่คนธรรมดาสามัญยากที่จะได้พบ นายพลผู้มีอำนาจมากที่สุด และผู้มีเรื่องอื้อฉาวทั้งเรื่องผู้หญิงและทรัพย์สินหลังการสิ้นอำนาจวาสนาไปแล้ว

"ลื้อกำแหงมากนะ คิดแบ่งแยกดินแดนล่ะสิ"

คำแรกที่ท่านผู้นำเอ่ย เมื่อพบหน้านายศิลาเมื่อปะหน้า ผู้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำคนได้เป้นร้อย กับผู้นำคนเป็นล้าน จากแดนอีสานด้วยกัน

"ผมไม่เคยคิดเลยครับ"

นายศิลากล่าว ขณะก้มลงกราบท่านผู้นำด้วยไปหน้าซีดสลดเป็นไก่ต้มสุก หนีไข้หวัดนก

ท่านผู้นำจ้องหน้าทันทีขณะที่นายศิลาก้มหน้าหลบ

"ถ้าลื้อเป็นผู้วิเศษจริง อมกระโถนหรือวิทยุให้อั๊วดูหน่อยได้ไหม?
ถ้าลื้อทำได้อั๊วจะยอมเป็นลุกน้องลื้อ !"

ผมนึกถึงบรรยากาศโรงพักสามยอดตอนนี้นคงยังมีกระโถนวางอยู่แถวๆ นั้น แต่ผมไม่คิดหร็อกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ยังเคี้ยวหมากอยู่ เพราะท่านผู้นำคนก่อนได้ประกาศห้ามการกินหมากแล้วถ่มน้ำหมากเปื้อนในที่สาธารณะแล้ว บรรดาข้าราชการย่อมสนองนโยบายเป็นพวกแรก เว้นชาวบ้านที่ไม่สนใจคำขอของผู้นำคนก่อน ผมเองมีหน้าที่ซื้อหมาก พรูและสีเสียดบ้าง ยาฉุน ปูนแดง และปูนขาวในวันที่คุณยายอยากเคี้ยวหมาก และเป็นมือตะบันหมากในที่ตะบันทองเหลืองให้แขกรุ่นราวคราวเดียวกับคุณยาย ซึ่งบรรดาขแขกของยายผู้ที่อายุขัยของฟัน กับอายุขัยของตัวไม่สัมพันธ์กันอยู่บ่อยๆ ตอนเด็กๆ

กระโถนแน่นอนสมัยนั้น กับสมัยนี้ขนาดคงไม่ต่างกันเท่าไหร่ แล้ววิทยุที่ท่านผู้นำจะให้นายศิลาไปอมเพื่อแสดงความวิเศษเหนือคนให้ท่านดู ผมเข้าใจว่าเป็นวิทยุสื่อสาร แบบส่วนบุคคล ซึ่งคงเป็นของเจ้าหน้าที่วางอยู่แถวๆนั้น หรือว่าอาจเป็นวิทยุสื่อสารแบบตั้งโต๊ะ หรือว่าอาจเป็นวิทยุแบบ AM หรือคลื่นสั้นที่ฟังข่าวฟังเพลง ผมก็เดาว่าขนาดใกล้เคียงกับทีวียี่สิบนิ้วสมัยนี้ หากเป็นวิทยุมือถือขนาดก็ต่างจากโทรศัพท์มือถือสมัยนี้สิ้นเชิง เรื่องอมให้ดูนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ผมว่าท่านผู้นำคงมองๆ หาอะไรที่คนธรรมดาอมไม่ได้อยู่แล้ว ขืนเอาที่ให้อมได้โดยใช้ความพยายามสักหน่อยนี่ ท่านผู้นำอาจต้องแย่กลายเป็นลูกน้องจริงๆ ของนายศิลาเข้านี่ อาจยุ่งหนักกว่าเดิมก็ได้

"ลื้อมีอะไรจะพูดอีกไหม ! "

นายศิลาไม่ตอบคำถามสุดท้าย จะเพราะยังคิดอะไรไม่ออก หรือ คิดออกแต่จะพูดไปก็เท่านั้น ไม่มีใครรู้ ใครที่อยากรู้ต้องไปถามเจ้าตัวเขาเอาเอง

เย็นนั้นนายศิลาถูกส่งกลับจากกรุงเทพ มาที่นครราชสีมา

23 มิถุนายน 2502 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้ นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 17 ซึ่งเป็นอำนาจที่ให้นายกรัฐมนตรีสั่งลงโทษได้อย่างกว้างขวาง และรุนแรง หากเกิดเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงบ้านเมือง ทำหน้าที่ประหารชีวิต ตัดสินแทนศาลก็ได้เลย แทบจะเรียกว่าเทียบเท่ากับกษัตริย์ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาลให้เหนื่อยกันเป็นคณะๆ คอยตีข่าว คอยชี้มูล คอยฟ้อง และเข้าสู่กระบวนการตัดสิน เหมือนสมัยนี้ กฎหมายฉบับนั้นเป็นสัญญลักษณ์ของ อำนาจ ของบุคคล "ท่านผู้นำ" คือ "รัฐ" แบบเบ็ดเสร็จ ที่ประเทศเราเคยมีมา

26 มิถุนายน 2502 วันคล้ายวันเกิดของกวีสุนทรภู่ แต่ไม่มีใครจะสนใจเรื่องกาพย์กลอน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศถึงประชาชน ที่ใช้อำนาจ มาตรา 17 เพื่อประหารชีวิต นายศิลา วงศ์สิน

เวลาประมาณ 17:00 น. นายศิลา วงศ์สิน ถูกนำตัวไปหลักประหารที่ป่าช้าจีนของนครราชสีมา เมื่อรู้ตัวว่าความตายจะมาถึงตนไม่ช้า ถึงกับเข่าอ่อนไปเลย เจ้าหน้าที่ต้องหิ้วปีกไปเหมือนไก่ อันนี้ท่าจะจริง เคยมีผู้ต้องหาคดีสังหารผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งสมัยรัฐบาลท่านนายกทักษิณ ผู้ร้ายที่เป็นอดีตนายทหารของกองทัพไทย ผู้หันมาเอาดีทางร้ายๆ เคยฝึกอดทนต่อเรื่องอย่างนี้มามาก นั้นตามข่าวเห็นว่าขี้ราดกันเลย ต้งมีคนหิ้วปีกไปเหมือนกัน แต่นายศิลาแค่เข่าอ่อนหมดแรงนี่ยังดูดีกว่ารายคดีสังหารผู้ว่ายโสธร

คดีกบถต่อแผ่นดินไทยจะว่างเว้นมานานแค่ไหน หรือมีบ้างปะปรายตามฝ่ายที่กล่าวหากันทางการเมือง แต่เท่าที่ผู้เขียนจำได้ชัดเจน ก็ตอนที่ นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่เป็นประธานองคมนตรีอยู่นี่แหละ ที่หัวหน้ากบถมียศตำแหน่งระดับพลเอกถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนผู้ร่วมก่อ ได้รับการอภัยโทษแต่สามารถโลดแล่นเป็นตัวตน พูดฉอดๆ รักชาติบ้านเมืองอย่างนั้น อย่างนี้อยู่นี่ก็หลายคน ลองหาอ่านเอาเอง มีผู้เขียนเยอะแยะ

กระสุนปืนคาร์บินกว่า 20 นัดพุ่งใส่ร่างของนายศิลา วงศ์สินที่มัดติดอยู่หลักประหาร ปิดคดีกบถผึบุญอีสาน ผู้หาญต่อสู้อำนาจรัฐของอีสาน ณ บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย นครราชสีมา ที่มีตำนานรวมกันกับกบถหลายคน ว่างๆ จะเอากบถเชียงแก้ว ชายผู้ผ่านชีวิตนักบวชเป็นเณรน้อยแต่เปลี่ยนใจเดินทางธรรม หันมาเอาดีทางการเมืองเป็นผู้นำผู้คนต่อต้านอำนาจกษัตริย์หลายๆ ราชสำนัก และนำกำลังยึดเมืองต่างๆ ในประเทศราชไทย จนมาพ่ายแพ้ต่อทางการไทย ที่สนามรบแก่งตะนะ ใต้เขื่อนปากมูล ลองดูภาพสมรภูมิระหว่างเชียงแก้ว กับกองทหารของราชอาณาจักรไทยไปพรางๆ ภาพที่ผู้เขียนที่เพิ่งถ่ายอาทิตย์ที่แล้วไปก่อน


วันเวลา ข้อความคำพูด
ตามที่เขียนเรื่องกบถคนอีสานที่ ธนาคม ได้เรียบเรียงไว้

โดย : P. Phupharn

ที่มา : http://lmsonline.nrru.ac.th/board/index.php?topic=1445.msg5625


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551

จักรพรรดิราช


ถ้ามองว่าการกระทำของราชวงศ์จักรีเป็นการรื้อแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยาอย่างเดียวนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ในรอบสองร้อยปีนี้ดีพอ แต่ถ้าเข้าใจว่าเป็นการประกดอบสร้างขึ้นใหม่ ก็จะเข้าใจมากขึ้น

แม้ว่าฝรั่งจะเข้ามาบนผืนแผ่นดินไทยแล้ว แต่ไทยไม่เคยเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมโหฬารก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้เพราะ มีการปรับตัวของชนชั้นนำก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเข้ามา และปรับตัวโดยรักษาอำนาจให้สืบเนื่องเอาไว้ได้นั่นเอง

หากพิจารณาจากเพลงยาวของวังหน้า ทำให้รู้สึกได้ว่า คนที่หนีพม่ามาสร้างประเทศใหม่นั้นช็อกเพราะแกนหลักของโลกที่เชื่อกันมาเสียไป จึงมีผลกระทบกับนโยบายการเมืองใหม่ที่ไม่อยากสืบทอดจากกรุงศรีอยุธยา

จักรพรรดิราชจึงต้องรักษาอำนาจให้มั่นคงในประเทศราชซึ่งในสมัยอยุธยาไม่ค่อยมีนัก เช่นการไม่สนในการรักษาเชียงใหม่ในสมัยหลังจากพระนเรศวร เป็นต้น. แต่ในกรุงเทพกลับตรงกันข้าม คือเข้าไปมีอิทธิพลที่ไหนต้องพยายามรักษาและพยายามแทรกแซงทางการเมืองเท่าที่จะทำได้ เช่นกษัตริย์กัมพูชาสวรรคต กรุงเทพก็คิดแต่งตั้งให้ (ในสมัยรัชกาลที่ 4) มีทายาทเป็นพี่น้องกัน โดยระบุให้กัมพูชาเลือกกษัตริย์ที่โง่กว่าอย่างชัดเจน

ส่วนเชียงใหม่ กรุงเทพก็ไม่ยอมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของล้านนาอีกต่อไป ให้ทุกแคว้นขึ้นกับกรุงเทพแห่งเดียว เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง เหตุผลส่วนที่ทำแบบนี้ก็เพื่อกันพม่าให้อยู่ไกลขึ้นนั่นเอง
จากเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ล้วนระบุว่า มีความพยายามคุมประเทศราชมากกว่าสมัยอยุธยา อีกอย่างคือขอบเขตการเก็บภาษีที่ขยายขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ในขณะที่อยุธยามีขอบเขตไปถึงแค่ลพบุรี อันนี้สะท้อนถึงความพยายามขยายอำนาจคุมหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น และขยายไปสู่หัวเมืองที่ไม่เคยมีอำนาจเช่น ทวาย มะริด และตะนาวศรี

ส่วนการเมืองภายในมีความพยายามคานอำนาจ"เจ้า"กับ"ขุนนาง"พอสมควร, ผลคือทำให้ขุนนางสะสมอำนาจมากจนถึงรัชกาลที่ 4 ขุนนางก็คุม และได้อำนาจพอสมควร

ด้านทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ การเข้ามาของคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งในสมัยอยุธยามีบทบาทน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกฮกเกี้ยน. จีนแต้จิ๋วเข้ามาในลักษณะเสื่อผืนหมอนใบ พวกนี้ตอนอยู่ในประเทศจีนมีพื้นที่ทำนาไม่พอจึงต้องออกไปหากินในทะเล ไปเป็นโจรสลัดก็มาก พวกแต้จิ๋วเมื่อล่องเรือมาไทยก็ต้องส่งเงินกลับไปบ้านเกิด ดังนั้นพวกนี้จึงเป็นแค่ชาวนาหรือใช้แค่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ จึงก่อให้เกิดการผลิตภายในนอกเหนือจากข้าวและของป่า

การที่จีนแต้จิ๋วพวกนี้เข้ามา จึงมีการส่งออกน้ำตาลที่คุณภาพดีที่สุดในโลก มีการนำเหล็กมาหล่อเป็นกระทะและโซ่ส่งออก เป็นผู้ผลิตพริกไทย กาแฟ ซึ่งการผลิตเหล่านี้ในสมัยอยุธยามีน้อยมาก. การค้าภายในเจริญขึ้น เมืองและชุมชนการค้าก็เกิดมากขึ้น เช่น นครชัยศรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, จึงกลายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม เกิดการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่นสวนฝั่งธนบุรีที่มีการยกร่องสวนเรียงแถวและขุดร่องน้ำ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของจีน หรือแม้แต่การผสมพันธุ์ผักผลไม้ก็อาจจะใช่

อีกประเด็นคืออุดมการณ์พุทธถูกเน้นสำหรับชนชั้นนำ
เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแห่งความเป็นเจ้า มีการประดิษฐ์ประเพณีใหม่มากกว่าการรื้อฟื้นตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยเลือกสรรประเพณีบางอย่างมาให้ความหมายเพื่อสื่อหรือยืนยันให้ผู้ร่วมพิธียอมรับในโครงสร้างสังคมว่า ใครใหญ่ ใครเล็ก หรือใครมีบทบาทหน้าที่อย่างไร เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงเชิงอำนาจที่ต้องประดิษฐ์ประเพณีใหม่จนเป็นทุกวันนี้


นิธิ เอียวศรีวงศ์


เนื้อหาจาก : วงเสวนา 'กรุงเทพฯ พื้นที่ทางวัฒนธรรมของ มหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยาราชธานีวงศ์ - พระราม' ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ, มหาวิทยาลัยศิลปากร. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549

ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บทความลำดับที่ 1211

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

สถาบันกษัตริย์เนปาลจะถูกล้มเลิก เข้าสู่ยุคใหม่ของสาธารณรัฐเนปาลในปี ๒๕๕๑


รัฐบาลเนปาลจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ตามข้อตกลงเพื่อยุติความขัดแย้งกับพรรคนิยมลัทธิเหมาเพื่อนำพรรคดังกล่าวเข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาล โดยในปี 2551 รัฐบาลจะประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป และเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ขณะที่กลุ่มพันธมิตรรัฐบาลเนปาล 6 พรรค และพรรคนิยมลัทธิเหมาได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนเรื่องดังกล่าว

การเลือกตั้งทั่วไปของเนปาลจะจัดขึ้นประมาณเดือนเมษายน ๒๕๕๑

ราชวงศ์เนปาล เป็นสถาบันกษัตริย์สุดท้ายของชาวฮินดู ที่กำลังจะถูกล้มเลิก กษัตริย์คเยนทรา จะเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของเนปาล ความนิยมในตัวกษัตริย์คเยนทรา และต่อสถาบันกษัตริย์ของประชาชนชาวเนปาล ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่พระองค์ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2005 ซึ่งนำไปสู่วิกฤติการณ์ความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่ จนนำไปสู่การเสียชีวิตของพลเรือนชาวเนปาลจำนวนมาก

ที่มา-สำนักข่าวบีบีซี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2550 และ บากกอกโพสต์

ดูข่าวเก่าและความเห็นที่เกี่ยวข้อง


ความเห็น

ความจริง ตามประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษยชาติ มนุษย์เคยอยู่ร่วมกันแบบชนเผ่า เคยผ่านสังคมทาส สถาบันกษัตริย์ ไม่ได้กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่แรกพร้อมกับสังคมมนุษย์ เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาเข้าสู่ระบอบทุนนิยม

สถาบันกษัตริย์ที่กำเนิดมาจากสังคมศักดินา ก็ทะยอยถูกล้มเลิกไปเป็นส่วนใหญ่ ที่ดำรงอยู่ได้ ก็มักต้องปรับตัวเป็นอยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่นอกเหนือแวดวงการเมืองการปกครอง ทั้งยังต้องประพฤติดี ประพฤติชอบ ตามกระแสความนิยมของสังคมด้วย

ดังที่เห็นได้จากบทบาทหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังที่เหลาจื๊อได้กล่าวไว้ว่า

"ผู้ที่ดำรงตนอยู่อย่างเหมาะสมกับ
สถานะของตน ย่อมอยู่ได้ยาวนาน"

สำหรับสถาบันกษัตริย์ของไทย เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ คณะราษฎรโดยการเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้ใช้ ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายและอยู่นอกเหนือแวดวงการเมืองการปกครอง มาระยะหลัง ได้มีกลุ่มผู้นิยมกษัตริย์ ที่หลงรักกษัตริย์ยิ่งกว่าตัวกษัตริย์เอง ที่เรียกว่า

"ผู้เกินกว่าราชา"

ได้เคลื่อนไหวผลักดันให้เพิ่มบทบาทหน้าที่ของกษัตริย์ในแวดวงการเมืองการปกครองมากขึ้นตามลำดับ
แล้วเรียกระบอบนี้ว่า

ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
หรือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เรื่องนี้ ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งและการถกเถียงความหมายของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างขนานใหญ่

สถาบันกษัตริย์ของไทย ควรมีบทบาทหน้าที่
เพียงใด ในแวดวงการเมืองการปกครอง ?

จึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของการเมืองไทย
ซึ่งจะต้องได้รับการสะสางให้ชัดเจนต่อไป


โดย : admin อารยชน

ที่มา : อารยชน : สถาบันกษัตริย์เนปาลจะถูกล้มเลิก เข้าสู่ยุคใหม่ของสาธารณรัฐเนปาลในปี ๒๕๕๑

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551

กรุงเทพฯเมื่อวันวาน


เมื่อประมาณ 6000 ปีก่อน "เจอริโค" เป็นเมืองที่ถูกสร้างเป็นเมืองแห่งแรกในโลก และต่อมาเมืองอื่นก็ผุดตามขึ้นมาแล้วต่อมาก็ล่มสลายลง เพราะถูกทำลายโดยสงครามและการปล้นสะดม บางครั้งเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือมีหายนะเนื่องจากโรคระบาดร้ายแรง บางเมืองที่เคยรุ่งโรจน์ต้องเสื่อมทรุดลง แล้วมีเมืองเกิดขึ้นใหม่กระจายไปทั่วทั้งทวีปยุโรป เอเซีย อเมริกา และแอฟริกา ซึ่งนับจากอดีต จนถึงปัจจุบัน การพัฒนาของเมืองแต่ละเมืองดำเนินแตกต่างกันไป เพราะนอกจากเงื่อนไขทางภูมิสาสตร์แล้ว เงื่อนไขทางการทหาร ทางเศรษฐกิจ วัมนธรรม และการแผ่อำนาจของมหาอำนาจในอดีต ก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อรูปโฉมและชีวิตของเมืองหลายแห่งในโลกด้วย

ดังนั้นการมองกรุงเทพฯ ในอดีตนั้นจำเป็นต้องเหลียวไปมองเมืองในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม อิทธิพลของตะวันตกที่มีต่อประเทศในอาณัติย่อมมีมากเป็นพิเศษ ฝรั่งผู้ปกครองประเทศอาณานิคมจะออกแบบ และสร้างเมืองตามแนวสถาปัตยกรรมของเมืองแม่เป็นหลัก ประเทศสยามแม้จะไม่ตกเป็นอาณานิคมของใคร แต่ก็รับเอากระแสอิทธิพลของสังคมอุตสาหกรรมตะวันตกมาไม่น้อย ซึ่งดูได้จากสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆ และความพยายามในการเปลี่ยนสภาพกรุงเทพฯ ที่มีรากฐานมาจากเมืองน้ำในอดีต ให้มีความเป็นเมืองบกมากขึ้น การสร้างกรุงเทพฯ ในระยะแรกมิได้แตกต่างไปจากสังคมศักดินาในยุโรปกลางที่ ผู้มีอำนาจต้องการรวมศูนย์กลางทุกอย่างให้อยู่ในมือ และได้เป็นผู้กำหนดทิศทางแบบแผนของเมืองตามจินตนาการ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 1 การสร้างเมืองกรุงเทพฯ ก็คือการสร้างเมืองที่ตั้งใจทำให้เป็นเหมือนดั่งเมืองฟ้า เป็นเมืองเจ้าเมืองนายของเทวดา เมืองแห่งความรุ่งเรื่องในบวรพระพุทธศาสนา บริเวณพระนครจะดูงดงามอร่ามไปด้วยปราสาทราชมณเฑียรและวัดวาอารามน้อยใหญ่ เมื่อสร้างเมืองเสร็จใหม่ๆ พื้นที่ของเมืองยังเล็กอยู่มาก มีเพียง 2,589 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองยาวประมาณ 7.2 กิโลเมตร การใช้ที่ดินในเขตชั้นในที่สำคัญได้แก่ พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามบนพื้นที่ 132 ไร่ นอกจากนั้นประกอบด้วย สถานที่ราชการ วัง และวัดต่างๆ เรียงรายโดยรอบพระบรมมหาราชวังเป็นลำดับชั้น ตามความสำคัญของสถานที่นั้นๆ หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของสถานที่นั้น อันเป็นผู้มีความสำคัญในการปกครอง

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เมืองกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพน้อยมาก มีแต่การขยายเขตพระบรมมหาราชวังออกไปทางทิศใต้อีก 20ไร่ครึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจอันใด เพราะเศรษฐกิจของประเทศสยามเวลานั้นเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ การค้าขายและการใช้เงินยังไม่แพร่หลาย ชาวสยามเกือบทั้งหมดทำการเกษตรการค้าขายกับต่างประเทศ กรุงเทพฯจึงเป็นเมืองที่แทบไม่ได้เติบโตขึ้นเลย แต่ในห้วงระยะเวลาเดียวกัน เมืองในทวีปยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดเทคนิคทางการผลิตที่ก้าวหน้า มีจำนวนประชากรเติบโตอย่างรวดเร็ว และสถาบันเก่ายุคศักดินาที่ล้าสมัยอยู่ในระหว่างการเสื่อมถอย

สมัยรัชกาลที่ 4 ประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูเมืองชั้นนอกขนานไปกับแนวกำแพงเมืองเดิม เป็นผลให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว คือประมาณ 4,000 ไร่ การเพิ่มของประชากรเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของกรุงเทพฯสู่ความสมัยใหม่ได้ดี ดังจะเห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2365 กรุงเทพฯ มีประชากรราว 50,000 คน ครั้งถึงพ.ศ.2394 กรุงเทพฯ มีประชากรราว 600,000 คน

การทำสนธิสัญญาเบาริงเมื่อ พ.ศ.2398 ได้จุดประกายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศสยามทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและการพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์สัญญาเบาริงได้เปิดประตูการค้าเสรีให้ชาวตะวันตกมาลงทุน ในกิจการด้านการค้าและอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯอย่างกว้างขวาง กิจการในโรงสีที่เป็นโรงสีมือ ได้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องจักรในปี พ.ศ.2401 โดยชาวอเมริกัน อีกไม่นานโรงสีของชาวจีนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ความต้องการทางการบริโภคที่ขยายออกไปทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆ ผุดขึ้นมา เช่น โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ โรงงานกระเบื้อง โรงน้ำแข็ง โรงงานบุหรี่ โรงงานทอผ้า เป็นต้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ลงทุนก่อสร้างถนนหนทาง ทางรถไฟ ประปา อาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน ทำให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ติดตามมา

การค้าภายในและการค้าต่างประเทศทำให้ชีพจรของกรุงเทพฯที่เคยเต้นอย่างช้าๆ สบายๆ มาเกือบสี่รัชกาลได้กลายมาเป็นความคึกคัก ในปี พ.ศ.2434 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่าบริเวณสำเพ็งซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งเดียวในสมัยนั้นคับแคบจอแจมาก ประกอบกับในช่วงเวลานั้นได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่สำเพ็ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราชแทรกลงระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนสำเพ็ง ต่อมาประชาชนจากสำเพ็งและที่อื่นๆ ได้ปลูกสร้างบ้านเรือนร้านค้ายาวกันไปตามแนวถนนเยาราชทั้งสองฟาก เรียกกันว่า "ตึกแถว" หรือ "ห้องแถว" มีการกำหนดศูนย์กลางธุรกิจการค้าของเมืองคือเยาวราช หลังจากนั้นความนิยมสร้างตึกแถวสองฟากถนน ได้ลุกลามไปตามถนนสายอื่นๆ เมื่อมีการใช้รถเป็นพาหนะเดินทางมากขึ้น ศูนย์การค้าบนถนนจึงเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ที่สำคัญๆ ได้แก่ บริเวณถนนเยาวราช ซึ่งเป็นย่านธุรกิจของคนจีนขายสินค้านานาชนิด บริเวณถนนบางรักเป็นที่ตั้งของบรรดาห้างร้านและโกดังสินค้าชาวยุโรป และบริเวณบางลำพูเป็นย่านการค้าแบบไทยๆ จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง

การหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินของคนต่างชาติต่างภาษา ได้ทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆ และสร้างผลกระเทือนต่อรูปโฉมของกรุงเทพฯด้วย ชุมชนชาวตะวันตกและชุมชนชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ทางทางด้านใต้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองรอบกรุงไปจนถึงคลองผดุกรุงเกษม เริ่มมีผู้คนแออัดมากขึ้น ชาวตะวันตกจึงได้ร้องขอให้รัฐตัดถนนเพิ่มเพื่อการคมนาคม จึงได้เกิดถนนเจริญกรุงนอกกำแพงพระนคร ส่วนในกำแพงพระนครเกิดถนนบำรุงเมืองกับเฟื่องนครเพิ่มขึ้น กงสุลของของชาติตะวันตกที่เข้ามาเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ และคุ้มครองคนในอาณัติ ได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็นที่ตั้งของสถานกงศุลบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมลงไป บริเวณนั้นจึงมีสถานกงสุลเยอรมัน โปรตุเกส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ ทำให้อาคารบ้านเรือนบริเวณนั้นมีสถาปัตยกรรมแบบยุโรปพร้อมกับถนนสีลมและถนนสายอื่นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในเวลานั้น ความนิยมสร้างอาคารแบบยุโรป เป็นการแสดงออกถึงความทันสมัยด้วย

กรุงเทพฯยุคต้นของการย่างก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะมีความงดงามและมีบุคลิกความเป็นตัวตนอยู่มาก จนผู้มาเยือนจากแดนไกลเห็นภาพที่เป็น "ตราประทับ" ในใจ กรุงเทพฯจึงได้รับสมญานามว่า "เวนิสแห่งตะวันออก" ดูจากการบรรยายภาพของกรุงเทพฯยุคต้นของ "ความสมัยใหม่" สะท้อนออกมาจากจดหมายรายวันของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ซึ่งมีถ้อยความบางตอนว่า


"ไกลออกไปอีก หลังจากได้ข้ามคลองไปแล้ว หลายต่อหลายคลองบนสะพานสูงกระทั่งไปถึงตลาดก็เปลี่ยนสภาพไป คนญวนซึ่งเป็นชาวประมงที่เก่งกาจ นำน้ำปลามาวางขาย ส่วนพวกชาวสวนถึงทางเท้า ถนนหนทางก็เปลี่ยนสภาพไปเหมือนกัน คลองมีจำนวนมากขึ้น ทำให้นครหลวงเป็นเมืองลอยน้ำ มากมูลไปด้วยเรื่อนแพ…… ยุโรปมิได้เยี่ยมกรายเข้าไปถึงในแหล่งพำนักเหล่านี้ ตัวเมืองจึงปรากฏแต่สีสัน และดูแปลกตาไปเสียทั้งนั้น…… ทัศนียภาพอย่างพื้นๆ เลือนหายไปกลายเป็นความจรัสแจ่มจ้า เมื่อเราข้ามฟากแม่น้ำไปจนกระทั่งถึงวัดแจ้งอันมีองค์เจดีย์สูงเหนือเจดีย์ของวัดหลวงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหินที่จำหลักฐานชั้นๆ ขึ้นไปจนถึงยอดครอบคลุมอาณาบริเวณไว้โดยทั่วภายใต้สายตาที่แลไปนั้น บางกอกกับพระบรมมหาราชวัง เรือกสวนและลำคลองอันแลไปสุดสายตา ทอดสนิทอยู่ กล่าวได้ว่าเป็นตลับสีเขียวขจีที่สร้างขึ้นไว้รองรับ แสงสีอันรุ่งโรจน์ของทองคำ สีชาดอันแดงเข้ม กับชิ้นกระเบื้องอันมันวาววับนั้น"


การสร้างกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องเร่งรีบเพื่อ สร้างความมั่นคงให้แก่ชาติรัฐสมัยใหม่ แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 6 เมืองเริ่มขยายตัวออกไปอัตราที่ช้าลงกว่ารัชกาลก่อน ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 7 แม้จะมีชุมชนบางแห่งเติบโตขึ้นมาบ้าง กรุงเทพฯสมัยใหม่ก็มิได้ขยายตัวออกไปมากนัก เพราะความตกต่ำอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สืบเนื่องกันมาหลายปี จนในที่สุด รัฐนาวาไทยถึงกับต้องพลิกคว่ำลงในพ.ศ.2475

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองในการสร้างรัฐประชาชาติ (nation state) โดยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ เพื่อให้รัฐมีความมั่นคงในการรับมือกับการคุกคามของนักล่าอาณานิคมที่กำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งได้ส่งผลให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองโตเดี่ยวมาจนถึงทุกวันนี้

แนวคิดในการสร้างรัฐประชาชาติจำเป็นต้องมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และการปฏิรูประบบราชการเป็นการดำเนินการที่มุ่งส่งเสริมอำนาจของส่วนกลาง โดยอาศัยกลไกต่างๆ ของรัฐ อาทิการเลิกระบบไพร่อันเป็นการตัดทอนอำนาจและการสั่งสมกำลังของมูลนายในระดับต่างๆ การจัดตั้งกองทัพสมัยใหม่และการจัดระบบเกณฑ์ทหาร การตั้งกระทรวง 12 กระทรวง โดยแบ่งตามลักษณะงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ การจัดการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปมณฑลเทศาภิบาล มาตรการต่างๆ ดังกล่าวนี้ ได้นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้าง "รัฐประชาชาติ" โดยรวมอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง หรือหัวเมืองกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของประเทศและได้รับการพัฒนาอย่างมาก

เพื่อตอบสนองประโยชน์ทางด้านการปกครอง ได้มีการใช้พื้นที่เพื่อสร้างสถานที่ราชการหลายแห่ง นอกจากนั้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องเผชิญกับจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้รัฐมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นยุคสมัยที่รัฐเข้าไปมีบทบาทในการใช้ที่ดินอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนา จนกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นเมืองสมัยใหม่ที่โดดเด่นกว่าเมืองอื่นๆ ของประเทศไทยในขณะนั้น

จากนโยบายดังกล่าวเมื่อประกอบกับการปรับตัวให้ทันกับความศิวิไลซ์ของชนชั้นสูง ทำให้มีการใช้ที่ดินในทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าการนิยมสร้างวัดในอดีต เช่น การก่อตั้งสโมสรต่างๆ การสร้างสวนลุมพินีสมัยรัชกาลที่ 6 การขยายเขตพระราชวังดุสิตออกไปทางทุ่งส้มป่อย (นางเลิ้ง) การสร้างตำหนักจิตรดารโหฐาน และการสร้างโรงภาพยนตร์ตามย่านต่างๆ สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อมีการเชื่อมธนบุรีเข้ากับกรุงเทพฯ โดยสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ การพัฒนาถนนหลายสายที่เชื่อมอำเภอชั้นนอกกับอำเภอชั้นในทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตเต็มรูปแบบ ถึงกระนั้น การพัฒนาเมืองหลวงของไทยก็มิได้มีการวางทิศทางที่ชัดเจน เพราะผังเมืองรวมของกรุงเทพฯเพิ่งมีคณะทำงานชาวต่างประเทศมาศึกษาเพื่อวางผังเมืองตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2503
รูปโฉมของเมืองจึงเป็นไปตามการปั้นแต่งของผู้มีอำนาจในสังคมขณะนั้น

ในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7
ชนชั้นสูงอันได้แก่บรรดาเจ้านาย และขุนนางจะอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพระราชวังดุสิต ส่วนตามถนนบำรุงเมือง เฟื่องนคร เยาวราช เจริญกรุง สี่พระยา สุริวงศ์ สีลม และสาธรก็เป็นถิ่นของพ่อค้าชาวจีนและฝรั่ง ซึ่งมีฐานะดีเพราะที่ดินติดถนนมีราคาแพงคนสามัญไม่มีกำลังซื้อพอ แต่ชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาของที่ดินได้แก่พวกสามัญชนผู้มีรายได้น้อย พวก "ไพร่และทาส" ที่ได้รับการปลดปล่อย คนเหล่านี้จึงต้องไปกระจุกตัวอยู่ตามชุมชนแออัดตามตรอกซอกซอยต่างๆ หรือไม่ก็ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองที่สาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางการต้องปราบปรามมาตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์

ที่มา : ทำเมืองไทยให้น่าอยู่และยั่งยืน งานเวทีสิ่งแวดล้อม 39

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

พิริยะ ไกรฤกษ์ จับ "พิรุธ" ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง


มันน่าแปลกไหม จารึกสุโขทัยมีไม่รู้ตั้งกี่หลักทำมั้ย? จึงมีคนคอยจองล้างจองผลาญกับศิลาจารึก หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงอยู่เพียงหลักเดียว ทำไม?

ก็เพราะว่า เป็นจารึกที่น่าสงสัย มีพิรุธมากมายซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด ระหว่างอักษรน่ะซี

จึงเกิดปุจฉาขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วจารึกหลักนี้ใครแต่งกันแน่?

เมื่อราว ๑๐ ปีก่อน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาประกาศตูมว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้เป็นของปลอม! พ่อขุนรามคำแหงมิได้แต่งขึ้น ผู้ที่แต่งคือ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่างหาก (ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีนักวิชาการออกมาแสดงข้อกังขาจารึกหลักนี้อยู่แล้วเช่น ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี และ Michael Vickery)

เกิดการโต้แย้งทางวิชาการกันยกใหญ่ แล้วก็หายไปในสายลมประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นจะมีการกล่าวขวัญถึงจารึกหลักนี้ก็เพียงประเด็นย่อย ๆ ไม่มีอะไรคืบหน้านักจนกระทั่งทุกวันนี้ และในสำนึกการรับรู้ประวัติศาสตร์ไทยของคนส่วนใหญ่ยังคงว่า ศิลาจารึก หลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงทรงแต่งขึ้น และพระองค์ทรงประดิษฐ์ "ลายสือไทย" เป็น "วรรณคดีเล่มแรกของไทย" อยู่เช่นเดิม

มาวันนี้ น้ำในแอ่งจารึกคงจะนิ่งมานาน อ.พิริยะ ไกรฤกษ์จึงออกมากวนอีกครั้ง เสียงเคาะจารึกนี้ดังขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง

อ.พิริยะยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมและดูจะหนักแน่นขึ้นกว่าเดิมที่ว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยจับ "พิรุธ" ต่าง ๆ ของจารึกมาเผยดังนี้


๑.
ขนาดของศิลาจารึก จารึกพ่อขุนรามฯ นั้นมีขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ ผิดธรรมดา ต่างจากศิลาจารึกที่อายุใกล้เคียงกันคือ จารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเกือบ ๒ เมตร นอกจากนั้นศิลาจารึกรุ่นหลัง ๆ เช่น หลักที่ ๒ และ หลักที่ ๔ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน


๒.
ไม่มีการเขียนภาษาไทยที่อื่นใดที่มีสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน ยกเว้นจารึกหลักที่ ๑ แต่อย่าลืมว่า พ่อขุนรามฯ ไม่ได้ประดิษฐ์ลายสือไทย แต่ลายสือไทยที่เห็นเป็นตัวอักษรที่ขอยืมมาจากจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย ยกเว้นแต่เขียนบนบรรทัดเดียวกัน และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็มี ๒ พระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ประดิษฐ์อักษรแบบสระพยัญชนะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน พระองค์หนึ่งคือ พ่อขุนรามคำแหงที่ประดิษฐ์อักษรไทย อีกพระองค์หนึ่งคือ รัชกาลที่ ๔ ที่ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะเพื่อใช้เขียนภาษาบาลีที่วัดบวรณ แต่ไม่มีใครสนุกด้วยจึงยกเลิกไป มีจารึกให้เห็นแห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้อักษรอริยกะ คือจารึกวัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔


๓.
ในศิลาจารึก หลักที่ ๑ นี้มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับโลกทัศน์สมัยสุโขทัยที่เราทราบจากจารึกหลักอื่น ๆ เช่น

- คำว่า รามคำแหง นั้นไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เลย จะมีแต่ในหลักที่ ๑ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีจารึกอีกหลายหลักที่กล่าวถึงราชวงศ์พระร่วงและโปรดสังเกตว่า รามคำแหง จะใกล้กันมากกับชื่อพระรามคำแหง ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัยการนาทหารหัวเมือง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑

- ชื่อช้างของขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดชื่อ มาสเมือง คล้ายกับช้างทรงของรัชกาลที่ ๒ ที่ชื่อ มิ่งเมือง และช้างของพ่อขุนรามคำแหงชื่อ รูจาครี ก็คล้ายกับชื่อ คีรีเมฆ เทพคีรี จันคีรี ในพระราชนิพนธ์ช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ แต่ในหลักที่ ๒ ช้างของมหาเถรศรีศรัทธาชื่อ อีแดงเพลิง ซึ่งฟังเป็นสุโขทัย

- การตกแต่งช้างของพ่อขุนรามฯ ตกแต่งด้วยระยาง (พุ่ที่ห้อยอยู่หน้าหูช้างเพื่อกันผี) เหมือนกับช้างเผือกของรัชกาลที่ ๔ ก็ตกแต่งด้วยระยาง แต่ช้างทรงในภาพจำหลักที่ปราสาทบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งไม่ห่างจากสมัยพ่อขุนรามฯ นัก ไม่มีการตกแต่งด้วยระยางเลย แต่จะสวมกะบังหน้าแล้วก็มงกุฎ ฉะนั้นหากจารึกหลักที่ ๑ เขียนในสมัยพ่อขุนรามฯ การตกแต่งช้างทรงก็น่าจะกล่าวถึงกะบังหน้าและมงกุฎ ซึ่งมันรับกับโลกทัศน์สมัยนั้น ไม่ใช้โลกทัศน์สมัยรัตนโกสินทร์ที่ห้อยระยาง


๔.
ตรีบูรสามพันสี่ร้อยวา หรือประมาณ ๖,๘๐๐ เมตร กรมศิลปกากรขุดค้นที่กำแหงเมืองสุโขทัยแล้ววัดกำแพงได้ความยาวดังนี้ กำแพงชั้นใน ๖,๑๐๐ เมตร ชั้นกลาง ๖,๕๐๐ เมตร และชั้นนอก ๖,๘๐๐ เมตร แล้วก็เสนอว่า กำแพงชั้นในเท่านั้นที่สร้างในสมัยสุโขทัย ส่วนชั้นกลางและชั้นนอกน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ดังนั้น ตรีบูรสามพันสีร้อยวาที่กล่าวในจารึกก็คือ กำแพงเมืองสุโขทัยชั้นนอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้


๕.
เป็นจารึกที่แปลกกว่าหลักอื่น ๆ ที่ไม่มีการระบุชื่อชัด ๆ ไม่มีชื่อวัดสักวัดเดียวในจารึกหลักนี้ ทั่วไปแล้วจารึกจะกล่าวถึงวัดอะไรจะบอกชื่อเสมอ ส่วนอรัญญิก หมายถึงนอกเมือง ไม่ได้ระบุชื่อวัดในอรัญญิก

"เมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม" คือผู้เขียนพยายามเขียนให้มันกลาง ๆ อะไรก็ได้ มันก็ถูกทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอะรไรที่จะระบุว่ามันไม่มี


๖.
พระพุทธรูปหลายองค์ที่กล่าวถึงในจารึกหลักที่ ๑ ดูตามรูปแบบศิลปะแล้วไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัยหรือร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหงเลย พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนกลางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระอัฎฐารส หรือพระอจนะ ซึ่งมาจากคำว่า อัจละ แปลว่า ไม่หวั่นไหว ซึ่งยอร์ช เซเดส์ ก็บอกว่าไม่น่าจะหวั่นไหว เพราะก่อด้วยอิฐหรือเคลื่อนย้ายไม่ได้


๗.
รูปแบบและวิธีการเขียนจารึกหลักที่ ๑ มีความเคยชินและมีลักษณะขอยืมมาจากจารึกสุโขทัยหลักอื่น ๆ เช่น

"จารึกอันหนึ่มีในเมือง...จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำ" ก็มาจากหลักที่ ๓"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว", "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสีนท่านบ่ใคร่เดือด", "หัวพุ่งหัวรบก็บดีบ่ฆ่าบ่ตี" ก็มาจากหลักที่ ๔

แล้วเมื่อลอกแล้วก็เอาศิลาจารึกเหล่านี้ไปซ่อนไว้ตามที่ต่าง ๆ หลักที่ ๓ ไปไว้ที่กำแพงเพชร หลักที่ ๕ ไว้ที่อยุธยา หลักที่ ๒ ไปไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุม แต่ผู้แต่งจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังดีกว่ากษัตริย์พม่าที่ลอกแล้วทุบทิ้งเลย


๘.
คำที่ใช้ในจารึกหลักที่ ๑ เป็นคำที่นิยมใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น

- ตระพังโพยสี ไม่ปรากฏที่อื่นเลย ยกเว้นในพระราชพงศาวดารฉบับกรุงสยาม ซึ่ง อ.พิริยะมั่นใจว่าเขียนสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ลงเวลาย้อนหลังในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตระพังโพยสี คือการขุดสระให้เป็นสีมา มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุที่เข้ามาใน พ.ศ. ๑๙๖๙ และนิยมสร้างนทีสีมา

- หมากม่วง การเขียนมะม่วงให้เป็นหมากม่วงเป็นการเขียนให้ดูเก่า สมัยสุโขทัยจะเขียนว่าไม้ม่วง ซึ่งคำว่าหมากม่วงนี้ปรากฎใน "นางนพมาศ"

- พุทธศาสนา สมัยสุโขทัยไม่มีการใช้คำว่า พุทธศาสนา แต่จะเรียกว่า ศาสนาพระเจ้า หรือ ศาสนาพระเป็นเจ้า

- พนมดอกไม้ คือการจัดดอกไม้เป็นพุ่ม เป็นลักษณะการจัดดอกไม้แบบวัดบวรนิเวศ คำนี้เป็นคำเฉพาะไม่มีในจารึกหลักอื่น ๆ สมัยอยุธยาก็ไม่มี แต่มีใน "นางนพมาศ" และใน "มหาชาติ" พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๔ การจัดดอกไม้แบบนี้ไม่มีใครทำมาก่อนเลย นอกจากนางนพมาศในสมัยรัชการที่ ๓

- ทั้งมากาวลาวแลไทเมืองใต้หล้าฟ้า ในจารึกหลักที่ ๑ บอกว่าพ่อขุนรามฯ เป็นลูกใคร มีประวัติอย่างไร และปกครองชนเผ่าไหนบ้าง คือใช้เผ่าเป็นตัวกำหนด อันเป็นวิธีเขียนแบบเดียวกับพระราชสาสน์ของรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงมีถึงประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สำคัญคือ เผ่ากาว คือคนที่อยู่ในภาคบูรพาของอีสานนี้ไม่ใช่โลกทัศน์ของพ่อขุนรามคำแหง


๙.
เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดและเคารพบูชารัชกาลที่ ๔ มาก ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ อภินิหารการประจักษ์ ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ ตอนที ๓๖ เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) เล่าถึงพระราชประวัติตอนทรงผนวชและเสด็จประพาสเมืองเหนือ แล้วพบศิลาจารึกและพระแท่นมนังคศิลา จนเสด็จขึ้นครองราชย์และตอนท้ายกล่าวถึงความในจารึกโดยสังเขป ตอนที่เสด็จประพาสเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ มีความว่า

"เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัย ถึงเวลาเยนอยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่งพังลงมาตะแคงอยู่ ที่เหล่านั้นชาวเมืองเขาเครพย์สำคัญเปนสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี...รับสั่งให้ฉลองลงมาก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมรที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา"

อ.พิริยะชี้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ไม่ได้กล่าวว่าเอาจารึกหลักที่ ๑ มาด้วย เอามาแต่ ๒ อย่างคือ พระแท่ามนังคศิลากับจารึกหลักที่ ๔ ภาษาเขมร แต่ในตอนจบของอภินิหารการประจักษ์ อยู่ ๆ พระองค์ก็รับสั่งว่า หนังสือเสาศิลานี้แก่กว่าหนังสือเสาศิลาที่จารึกเป็นหนังสือเขมร ๖๔ ปี น่าสงสัยต่อมารัชการที่ ๕ ก็รับสั่งว่าจารึกหลักที่ ๑ นี้เอามาคราวเดียวกัน แต่ที่จริงไม่ได้เอามา


๑๐.
อ.พิริยะให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ปีเหตุการณ์ในจารึกหลักที่ ๑ นั้น ถ้าอ่านเป็น พ.ศ. ก็เป็นชีวประวัติของพ่อขุนรามคำแหง แต่ถ้าอ่านเป็น ค.ศ. จะเป็นชีวประวัติของรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากพระองค์โปรดการใช้คริสต์ศักราช เช่น

ค.ศ. ๑๘๓๐ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ขุดลูกนิมิตวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เพื่อปรับเป็นธรรมยุตินิกาย

พ.ศ. ๑๘๓๐ พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ขุดเอาพระธาตุมาบำเรอแล้วฝังที่เดียวกัน

ค.ศ. ๑๘๓๖ รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศเป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๑๘๓๕ (อาจคลาดเคลื่อนได้ปีสองปี) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ปลูกไม้ตาลได้ ๑๔ ปีจึงฟันพระแท่นมังคศิลาบาตร (รัชกาลที่ ๔ ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรฯ ๑๔ ปีเสด็จขึ้นครองราชย์)

ค.ศ. ๑๘๕๑ รัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์

พ.ศ. ๑๘๕๑ พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์เช่นกัน

ตอบจบของอภินิหารการประจักษ์ มีโคลงอยู่บทหนึ่งซึ่ง อ.พิริยะตีความว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงแต่งไว้แบบอยากจะพูดเต็มประดาแต่ไม่กล้าพูด จึงเสนอเป็นปริศนาไว้ ดังนี้


ศักราชคิดดั่งนี้ ชอบขยัน

มืดลับชนสามัญ ห่อนแจ้ง

ไทยถือว่าสำคัญ กลเลข

แยบยนต์คนเก่าแกล้ง กล่าวอ้างคนไกล


คนเก่าก็คือรัชกาลที่ ๔ กล่าวอ้างคนไกลไม่ใช่การตรงโดยบังเอิญ ทุกอย่างมีระบบของเขา แต่ละเรื่องรับกันโดยไม่มีความบังเอิญเลย

ก่อนจบ อ.พิริยะได้เฉลยไว้ว่า ทำไมรัชกาลที่ ๔ ต้องทำศิลาจารึก หลักที่ ๑

ในสมัยนั้นอิทธิพลตะวันตกเริ่มเข้ามาระลอกใหญ่ การจะปรับเปลี่ยนขนบประเพณีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะถือกันมาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ต้องรักษาโบราณราชประเพณี รัชการที่ ๔ ทรงทำจารึกหลักที่ ๑ ก็เพื่อเป็นราโชบายที่ทรงใช้ในการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีให้รับกับอารยธรรมตะวันตก โดยมีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย เช่น

การปรับเปลี่ยนภาษีตามสนธิสัญญาเบาริ่งที่จะให้สยามลดภาษี ก็ไม่ใช้เรื่องยากเย็นอีกต่อไป ในเมื่อสมัยพ่อขุนรามฯ ไม่เก็บภาษีเลย หรือ รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของการรับฟังฎีกาจากพสกนิกร จึงมีการเอากระดิ่งไปแขวนไว้ซึ่งไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีในสมัยพ่อขุนรามฯ กับสมัยรัชกาลที่ ๔

รัชกาลที่ ๔ ต้องการจะแยกการนับถือผีออกจากพระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง จึงยกเอาพระขพุงผีขึ้นมา แล้วท่านก็สร้างพระสยามเทวาธิราชให้เป็นผีที่ใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสยาม

หรือต้องการเปลี่ยนขนบประเพณีของการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือ" คือ ลูกเจ้าก็ถือน้ำ ลูกขุนก็ถือน้ำ และพระองค์ก็ทรงถือน้ำด้วย ซึ่งไม่เคยมีมาเลยในประวัติศาสตร์สยาม

ไม่ว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ จะเป็นของจริงหรือของปลอมก็ตาม แต่การถกเถียงกันเรื่องนี้ให้บทเรียนที่ดีว่าก่อนจะนำเอาหลักฐานใด ๆ มาใช้ศึกษาอ้างอิงนั้น ควรจะมีการตรวจสอบว่าหลักฐานชิ้นนั้นเขียนขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้เขียน และมีจุดประสงค์อย่างไร

เพราะสังคมทุกวันนี้สลับซับซ้อนเสียจนแทบไม่รู้ว่า

อะไรจริง? อะไรปลอม?


ภูวดล สุวรรณดี

ศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๒๑
ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓

ที่มา : http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1201.5;wap2

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วย สถานะของสถาบันกษัตริย์ไทยในปัจจุบัน : สนทนากับเพื่อนร่วมอุดมการณ์


ผมได้อ่านบทความของสหายท่านหนึ่งของพรรคที่พยายามผลิตผลงานอย่างเร่งด่วนออกมาให้เราได้ร่วมคิดและถกเถียงกันในสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถามกับสถานะและบทบาทของ ?สถาบันกษัตริย์? ด้วยความชื่นชมและตื่นเต้นอย่างมาก นั่นก็คือ บทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ เรื่อง ?สถาบันกษัตริย์ไทยมีอำนาจแค่ไหน?: การถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย? (23 มกราคม 2551) ผมมีทั้งข้อที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับบทความของใจ โดยจะแลกเปลี่ยนเฉพาะประเด็นหลักๆตามพื้นที่ที่จำกัดของคอลัมน์นี้ดังต่อไปนี้


1.
สถาบันฯของไทยมีลักษณะเฉพาะหรือไม่?

ใจอธิบายสถานะของสถาบันฯด้วยวิธีการเปรียบเทียบในเชิงประวัติศาสตร์กับสถาบันฯในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น[1] ซึ่งการเปรียบเทียบสถาบันฯในที่ต่างๆเพื่อนำมาทำความเข้าใจสถาบันฯของไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมาถูกมองข้ามไปโดยนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้โดยทั่วไป อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบตามหลักวิชาการโดยทั่วไปนั้น นอกจากจะชี้ความเหมือนแล้ว ยังต้องชี้ความต่างด้วย อะไรบ้างที่แตกต่างในกรณีของไทยกับกรณีอังกฤษและญี่ปุ่น ? อังกฤษและญี่ปุ่นไม่มี กฎหมายหมิ่นฯ ไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือแสดงพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการจนเป็นประเพณีทุกปี ฯลฯ ต่างจากของไทยอย่างสิ้นเชิงในแง่นี้ ? การที่สถาบันฯของไทยในปัจจุบันมีอำนาจและความสำคัญในระดับที่รัฐต้องให้การรับรอง ?อย่างเป็นทางการ? นี่คือ ความแตกต่างอย่างแน่นอน!!! และเป็นความแตกต่างที่เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทำไม???


2.
สถาบันฯเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?

ใจให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราต้องพูดให้ชัดว่า สถาบันฯซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันมีโอกาสขึ้นหรือลงก็ได้ แต่ถ้าเราดูสถาบันฯในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนกับสถาบันในช่วงหลัง 2475 อย่างแน่นอน ใจให้ความสำคัญกับสฤษดิ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานะของสถาบันถูกกู้คืนมาในลักษณะที่เป็นการสร้างประเพณีใหม่ให้ดูเก่า ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในเวลานั้นมีประโยชน์กับการสถาปนาอำนาจความมั่นคงของระบอบเผด็จการ อันนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่.. ถ้าเรามองว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดแบบวิภาษวิธี สถานะของสถาบันในปัจจุบัน อย่างน้อยหลัง 2535 นั้นก็ต่างจากในช่วงสฤษดิ์อย่างแน่นอน ? อย่างน้อยที่เราเห็นได้ชัดก็คือ ประเพณีต่างๆถูกสร้างให้สถาบันฯกลายเป็นส่วนหนึ่งและเป็นหัวใจประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น สถาบันกลายเป็นศูนย์กลางของแนวคิดชุมชนของเอ็นจีโอหลายส่วนในสังคมไทย การตายของราชวงศ์ถูกทำให้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ สำนักทรัพย์สินฯซึ่งเป็นแหล่งทุนของสถาบันมีผลกำไรและเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน[2] องคมนตรีมีบทบาทในทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์อย่างเดียว แต่มีพรรคพวกและผลประโยชน์ในกองทัพและระบบราชการอย่างชัดเจน ฯลฯ --- สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า สถาบันฯของไทย ไม่ได้มี ?ปริมาณ? และ ?คุณภาพ" เฉกเช่น สมัยสฤษดิ์ ? นี่ไม่ใช่หรือคือการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ในฐานะหัวใจของนักสังคมนิยม


3.
สถาบันฯคืออะไร?

ปัญหาอันหนึ่งเวลาเราพูดถึง กษัตริย์ ในสังคมไทยก็คือ หลายคนจะบอกว่า เวลาที่สำนักทรัพย์สินฯ หรือ องคมนตรี ไปทำอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย กษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลไม่ได้ยินดีหรือรู้เห็นด้วย หรือ การบอกว่า กษัตริย์ถูกบังคับให้ยอมรับการรัฐประหาร การมองแบบนี้มีจุดอ่อน ซึ่งใจตระหนักดีและได้วิจารณ์มุมมองแบบนี้ในบทความของเขา แต่... ประเด็นหนึ่งที่ใจละเลยและสับสนตลอดเวลา ก็คือ เวลาใจพูดคำว่า ?สถาบันกษัตริย์? ใจมักจะหมายถึง ตัวของกษัตริย์ มากกว่าที่ใจจะให้ความสำคัญหรือพูดรวมไปถึง กลไกของสถาบันที่มีมากมาย เช่น องคมนตรีที่มีสายสัมพันธ์และคุมบางส่วนของกองทัพ สำนักทรัพย์สินฯซึ่งเป็นแหล่งสะสมทุนของสถาบันฯ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ?สถาบัน? ไม่ใช่หรือ สถาบันไม่ใช่ตัวบุคคล ดังนั้นถ้าสถาบันเป็นกลไก การที่กลไกของสถาบันมีบทบาททางการเมือง (กองทัพและระบบราชการ) และเศรษฐกิจ ไม่ได้แปลว่า สถาบันไม่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจหรอกหรือ??? -- ในงานเขียนของพอพันธ์ก็ชี้ไว้ชัดเจนว่า ความเข้มแข็งของสถาบันในเชิงการเมืองกับเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกัน การเติบโตของทุนสำนักทรัพย์สินฯที่มากมายในปัจจุบันนั้นอิงกับอิทธิพลที่สถาบันมีต่อรัฐและกลไกรัฐ -- ข้อเสนออันนี้จะกลับไปสูประเด็นที่สำคัญที่สุดของบทความของใจก็คือ การที่ใจมองว่า ?สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ? ? หรือข้อเสนอของใจจะผิด???


4.
สถาบันอ่อนแอจริงหรือ?

การที่มีหลายคนบอกว่า ?สถาบันฯมีอิทธิพลทางการเมืองและไม่อ่อนแอ? หรือแม้แต่ ?สนับสนุนรัฐประหารอย่างเต็มที่? ซึ่งแน่นอนว่าใจไม่เห็นด้วยและโต้แย้งมากมายในงานของเขา การพูดเช่นนี้ ?ไม่จำเป็น? ต้องหมายความว่า ?สถาบันกษัตริย์เข้มแข็งและมั่นคงตลอดกาล? หรือ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ?ภาคประชาชนไม่มีความหมาย ชนชั้นล่างไม่มีพลัง? ? มาร์กซ์ พูดชัดในงานศึกษาเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของนโปเลียนโบนาปาร์ตในฝรั่งเศสถึง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆภายในชนชั้นนำด้วยกันทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ด้วย ? ผมเคยเขียนแล้วว่า รัฐประหาร 19 กันยา 49 นั้น ?ส่วนหนึ่ง? สะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่มใหญ่ในประเด็น ?การเมือง? ซึ่งหมายถึง การแย่งชิงพื้นที่กันเพื่อสร้างอิทธิพลเพื่อควบคุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในระบบราชการและกองทัพ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลและเป็นฐานทำมาหากินทางเศรษฐกิจเดิมของกลุ่มองคมนตรีและพรรคพวกมาตลอด (ข้อเสนอนี้อิงอยู่บนฐานเศรษฐกิจด้วย ซึ่งใจเองก็ยอมรับว่า กองทัพมีฐานทางเศรษฐกิจจริง) และ ?อีกส่วนหนึ่ง? รัฐประหารสะท้อนสิ่งที่ใจพูดอย่างถูกต้องโดยที่หลายคนละเลย ก็คือ การทำรัฐประหารครั้งนี้คือ ปฏิกิริยาที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีต่อนโยบายประชานิยม ที่ไทยรักไทยใช้เงินให้กับประชาชนมากไป ? และนี่คือสิ่งที่พวกเราเรียกว่า การต่อสู้ ?ระหว่าง? หรือ ?ทาง? ชนชั้น ? การรัฐประหารจึงสะท้อนความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดในหลายระดับและซับซ้อนกว่าการพูดว่า มีแค่ชนชั้นปกครองสองกลุ่มทะเลาะกัน หรือ เป็นเรื่องระหว่างชนชั้นแต่เพียงด้านเดียวตลอดไป


5.
สังคมไทยเป็นอะไรในปัจจุบัน?

ใจถูกต้องที่มองว่า รัฐประหารไม่ใช่เรื่องของ ศักดินา กับ นายทุนสมัยใหม่ แบบที่นักวิชาการหลายคนเสนอกันว่า เราล้มศักดินาไม่สำเร็จ ดังนั้นเรากำลังอยู่ในยุคกึ่งศักดินา หรือว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่าง เศรษฐกิจพอเพียง กับ เสรีนิยมโลกาภิวัตน์ ฯลฯ -- แต่... เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองโดยทั่วไป ทั้งไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ และสถาบันฯต่างก็ชื่นชมและสะสมความร่ำรวยผ่านนโยบายเสรีนิยมใหม่ ที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และ FTA ซึ่งเป็นผลเสียกับคนจนอย่างที่เราเห็นกันว่า รัฐบาลเผด็จการพอเพียงผ่านกฎหมายเสรีนิยมมากกว่ารัฐบาลไทยรักไทย ? ผมเห็นด้วยกับใจว่า ในปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนไทยได้ประโยชน์จากการมีสถาบัน เพื่อเอาไว้ แก้วิกฤต และเป็นขั้วอนุรักษ์นิยม ? ดังนั้นข้อเสนอว่า ไทยรักไทยจะยกเลิกสถาบันฯโดยยกเอาเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ของภาคประชาชนบางคนจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผลและสุดขั้ว ? แต่... การไปไกลขนาดว่า ไม่มีใครขัดแย้งกับสถาบันฯเลย หรือ สถาบันอ่อนแอจนทำอะไรไม่ได้ อย่างที่ใจเสนอ ก็เป็นเรื่องสุดขั้วเช่นเดียวกัน ซึ่งผมได้เสนอเหตุและผลไปแล้วข้างต้น ? ข้อสรุปที่ถูกต้องน่าจะเป็น ?เราอยู่ในระบบทุนนิยมที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นกลุ่มย่อยของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจและอิทธิพลมาก ?ในแง่เศรษฐกิจและการเมือง? และสถาบันฯเป็นเครื่องมือและสถาบัน ?ในเชิงอุดมการณ์? ที่จำเป็นต่อผลประโยชน์ระยะยาวของการปกครองของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นโดยเฉพาะในยามวิกฤต?


โดยสรุปแล้ว ในเชิงทฤษฎี ผมเสนอว่า วิภาษวิธีหรือการศึกษาแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของนักสังคมนิยมนั้น ต้องมองความขัดแย้งทางชนชั้นในลักษณะที่ไม่แข็งทื่อ การพูดว่า ชนชั้นปกครองขัดแย้งกันเองในสถานการณ์หนึ่งๆ ไม่ได้แปลว่า เราละเลยความขัดแย้งหรือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ? แต่ในงานของมาร์กซ์ และของนักสังคมนิยมหลายคนก็ชี้ให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่าการมองอะไรทางเดียว ไม่ใช่มาร์กซ์หรอกหรือที่เสนอว่าวิภาษวิธีก็คือ เครื่องมือให้เราสามารถมองเห็นหลายๆด้านของความจริงที่ขัดแย้งกันเองได้พร้อมๆกัน -- ส่วนข้อสรุปในเชิงการเมืองของผมก็ยังเป็นข้อสรุปเดิมของพรรคฯว่า ?เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นนำหลายๆกลุ่ม แต่เราต้องมีจุดยืนอิสระของภาคประชาชนเอง? ซึ่งนี่ก็เป็นหัวใจที่สำคัญเหนืออื่นใดของการเชิดชูและให้ความสำคัญกับการต่อสู้ทางชนชั้นจากล่างสู่บนในโลกของความเป็นจริง!!!


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ


[1] ดูบทความแรกๆของใจในเรื่องนี้ในหนังสือ ?รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย? (2547)
[2] ดูบทความของ พอพันธ์ อุยยานนท์, ?สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ? ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร, การต่อสู้ของทุนไทย (มติชน, 2549)


ที่มา : พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕


ข่าวคราวเกี่ยวกับการรื้อฟื้น พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผนวกกับความพยายามในรอบหลายปีที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ โดยกลุ่ม กปร. (กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน) ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วการดำรงอยู่ของการเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนระดับความเป็นประชาธิปไตยของรัฐเอง พอ ๆ กับที่สะท้อนลักษณะเผด็จการไปด้วยในตัว

ไม่เพียงแต่หลัง ๒๔๙๐ และ หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เท่านั้น ที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ขึ้นสู่กระแสสูง อันที่จริงแม้แต่ครั้ง ๒๔๗๕ กิจกรรมการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ก็มีบทบาทสำคัญอันจะละเลยไปไม่ได้ ดังจะชี้ให้เห็นต่อไป

ภายหลังจากเหตุการณ์ยึดอำนาจโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไปไม่นาน จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๔, ๗ และ ๑๓ ตุลาคมของปีเดียวกันนั้นเอง ก็ปรากฏมีข่าวที่ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งทำการแจกใบปลิวตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เช่น ที่ธนบุรี นครราชสีมา อุบลราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ เพชรบุรี พิษณุโลก ( ดูข้อมูลใน เออิจิ มุราชิมา. การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙), น. ๑๐๒. )

ใบปลิว / แถลงการณ์ที่แจกมีลักษณะพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง เขียว บางส่วนก็สีดำ แบ่งเป็น ๓ ภาษาด้วยกัน คือ ไทย จีน และอังกฤษ ระบุวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ลงนาม "คณะคอมมูนิสต์สยาม" และ "คณะคอมมูนิสต์หนุ่มสยาม" ( สะกดตามคำเดิมในเอกสาร )

เนื่องจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสยาม เป็นที่จับตามองของรัฐบาลมาตั้งแต่ครั้งสมบูรณญาสิทธิราชย์ เอกสารข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับ "กิจการของคอมมูนิสต์ในสยาม" รัฐบาลใหม่หลังเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็ได้รับตกทอดมาจากรัฐบาลพระปกเกล้าฯ ทั้งยังได้เรียนรู้คุณประโยชน์ในวิธีการปราบปรามของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ อีกต่อหนึ่งด้วย

เบื้องต้นโดยจุดใหญ่ใจความที่สำคัญ ๆ คณะราษฎรก็มองการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยการผสมโรงเข้าเป็นการก่อความไม่สงบของพวกคนจีนอพยพ ฉะนั้น การตอบโต้หรือปราบปราม จึงเน้นไปที่กลุ่มคนจีนเป็นหลักและพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเชิงเชื้อชาตินิยม (Racism) และด้วยเหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุคแรกยังทำงานฝังตัวอยู่แต่ในหมู่คนงาน การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ยุคแรกเมื่อต้องเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายรัฐบาล พวกเขาจึงถูกลดทอนลงเป็นเพียงปัญหาการก่อความไม่สงบของคนงานจีน

อย่างไรก็ตามท่าทีของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ นั้น พบว่ายังเป็นไปโดยละมุนม่อม กล่าวคือมักใช้วิธีการเนรเทศกลับไปประเทศจีนเสียโดยมาก แม้แต่กรณีชาวญวนอพยพก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า ขบวนการคอมมิวนิสต์ในสยามขณะนั้น เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอื่น เช่น จีน และ เวียดนาม เป็นต้น ไม่ได้เน้นที่การเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศสยามแต่อย่างใด ( โปรดดู สุวดี เจริญพงศ์. ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการเคลื่อนไหวตามแนวความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต เสนอต่อแผนกวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๙. )

กรณีเวียดนามซึ่งเคลื่อนไหวเน้นหนักไปในทางชาตินิยม ยังปรากฏท่าทีว่ารัฐบาลสยามมีความเห็นอกเห็นใจอยู่ด้วย เพราะต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ชาติเดียวกับที่เคยคุกคามสยามเมื่อครั้ง ร.ศ. ๑๑๒ มานั่นเอง

การวิเคราะห์ดังกล่าวมีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือนอกจากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมการเมืองในประเทศอื่นแล้ว ต่อกรณีสยามคณะคอมมิวนิสต์ก็หาได้ละเลยไม่ ในจำนวนแถลงการณ์ที่แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลัง ๒๔๗๕ มีแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสยามรวมอยู่ด้วย ทั้งก่อนหน้านั้นยังปรากฎมีการออกเอกสารวิเคราะห์สรุปความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการ "แยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามกับวิธีการของสมาคม" เป็นการจำแนกชนชั้นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมสยามขณะนั้น รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของคณะฯ ( ดูรายละเอียดเนื้อหาเอกสารนี้ได้ในภาคผนวกของ เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราฯ, ๒๕๔๓), น. ๔๔๖ - ๔๕๕. )

นอกเหนือจากที่มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองทั้งในประเทศอื่นและระหว่างประเทศในทางสากล การจัดรำลึกวันสำคัญคณะฯ เช่น วันที่ ๑ พฤษภาคม ( May Day ) และ วันปฏิวัติรัสเซีย การชักธงแดงรูปค้อนเคียวในที่สำคัญต่าง ๆ เดินขบวนย่อย ๆ ร้องเพลง International เป็นต้น

ข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้ทำให้คณะราษฎรนิ่งนอนใจ มีการส่งสายลับออกไปติดตามดูอยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เช่นกัน จะด้วยเหตุเพราะก่อนหน้านั้นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับฝ่ายคอมฯ เป็นไปอย่างครึกโครมหรืออย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด รัฐบาลจึงส่งตัวแทนออกไปสืบราชการ และ พร้อมกันนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปด้วย เพื่อสบโอกาสจะได้จับกุมตัวมาดำเนินคดียังกรุงเทพฯ

แต่ปรากฏว่าตัวแทนที่ส่งไปส่วนใหญ่เรียกได้ว่าพบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสมาชิกคณะคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แล้ว ตัวแทนที่อาจกล่าวได้ว่าทำงานได้ผลอยู่บ้างก็คือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคณะราษฎร (เป็นตัวแทนในจำนวนไม่กี่คนที่มีดีกรีเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วย) รายงานที่ได้มาจากประยูร และคณะ (ประกอบด้วย พระยาสัจจาภิรมย์, พันตรีหลวงประจักษ์, และ ร้อยตำรวจเอกขุนนาม เป็นต้น) มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ฝ่ายรัฐบาล และ เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา (ปัจจุบันรายงานนี้จัดเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เทเวศร์ ใน หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ )

เนื่องจากประยูรได้นำเอกสารแถลงการณ์ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แนบกับรายงานดังกล่าวติดตัวกลับมาด้วย เหตุที่ประยูรได้แถลงการณ์นั้นมาก็เนื่องจากข้าราชการ (ไม่ระบุนามไว้) ในพื้นที่จังหวัดที่ประยูรไปตรวจราชการ (แต่ความจริงโดยเจตนาคือ ไปสืบหาคอมฯ และ จับตัวมาดำเนินคดี) คือที่จังหวัดนครราชสีมา ได้เก็บเอาไว้และตั้งใจจะจัดส่งไปให้กับคณะราษฎรคนใดคนหนึ่งเพื่อหาความดีความชอบอยู่แล้ว ก็ประจวบเหมาะที่ประยูรได้ไปพบพอดี

ตามรายงานของประยูรพบว่า ผู้ที่เห็นแถลงการณ์คนแรก ๆ คือ นายสถานี (รถไฟ) นครราชสีมา ในเวลาราวตี ๕ เศษ รายงานยังระบุถึงความดีความชอบของนายสถานีผู้นี้ว่า เป็นผู้ที่ทำการเก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ไปทิ้งเสียก่อนที่ประชาชนที่ผ่านสัญจรไปมาในสถานีจะพบเข้าในเวลารุ่งสาง แม้จะไม่ระบุนามก็จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่านายสถานีผู้นี้นั่นเองที่เป็นผู้เก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ดังกล่าวไว้ให้ประยูรได้กลับมา

อย่างที่กล่าวแล้วว่าเอกสารใบปลิวดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน ๓ ภาษา แต่ละแบบ / ภาษา มีความยาว ๑ หน้ากระดาษพิมพ์ ซึ่งประยูรได้ครบทั้ง ๓ ฉบับภาษาอังกฤษได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และ มุราชิมา (ในเล่มที่อ้างข้างต้น) ก็ได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในงานของเขา ซึ่งเป็นการแปลมาเพียงบางส่วนพร้อมกับตีความสรุปตามแนวการศึกษาของเขา ส่วนในภาคภาษาไทยนั้นเอกสารมีเนื้อความทั้งหมดดังนี้


ชาวนา กรรมกร ทหาร และ
คนทุกข์ยากของประเทศสยาม!.

รัฐบาลของประชาธิปก ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วร้ายต่าง ๆ เช่น กดขี่ข่มเหง ปิดหูปิดตา และสูบเลือดของราษฎร ก็ได้ถูกโค่นลงแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ซึ่งมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนี้จะทำประโยชน์อะไรแก่ชาวไทยเราบ้าง ขอให้พิจารณาต่อไป

ก. คณะราษฎรซึ่งถือบังเหียนการปกครองแผ่นดินในเวลานี้ ล้วนเป็นข้าราชการของรัฐบาลเก่า ซึ่งได้รับความข่มเหงจากพวกเจ้า ทำให้หนทางทำมาหากินไม่ได้สดวกเหมือนแต่ก่อนจึงเอาชื่อราษฎร ใช้กำลังทหารเพื่อแย่งอำนาจจากพวกเจ้ามาหาประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หาใช่หวังดีอะไรต่อพวกเราไม่ ในจำนวนผู้แทนคณะราษฎร ๗๐ คนนั้นส่วนมากเป็นขุนหลวง พระ พระยาทั้งนั้น จะหาคนยากจนสักคนเดียวก็ไม่ได้

ข. เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย เช่น พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ และพรรคพวก เป็นต้น พวกนี้ได้ตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น ชั้นผู้ที่เป็นสมาชิกต้องสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อคณะในการที่สืบข่าวจากราษฎรและปกครองราษฎรอย่างเด็ดขาด

ฆ. คณะราษฎรปลอมได้ประกาศว่า จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ และทำให้ราษฎรมีงานทำทุกคนให้ราษฎรมีความเสมอภาค และมีเสรีภาพ เป็นต้น แต่ขอให้พวกเราดูประเทศที่มีการปกครองอย่างราชาธิปตัย เช่น ญี่ปุ่น และ อังกฤษ กับประเทศที่มีการปกครองอย่างประชาธิปตัย เช่น ฝรั่งเศส และ สหปาลีรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าสยามเราหลายเท่า แต่พลเมืองที่ไม่มีงานทำนับเป็นจำนวนหลายล้านคน บางคนถึงกับไม่ได้กินอิ่ม ไม่มีเสื้อใส่พอ ไม่มีที่พักอาศัย ถึงฤดูหนาวในเวลากลางคืนไม่มีไฟผิง ต้องเดินไปเดินมาตามถนนตลอดคืนยันรุ่ง เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นดังนี้เป็นต้น ดังนั้นราษฎรของประเทศต่าง ๆ จึงต่อสู้กับรัฐบาลมิได้หยุด เพื่อจะแย่งอำนาจการปกครองของประเทศไว้ในกำมือของราษฎรโดยแท้

ค. คณะราษฎรปลอมทำคุณอันเล็กน้อยเพื่อซื้อเอาน้ำใจของพวกเรา กล่าวคือยกเลิกอากรนาเกลือ และ ภาษีสมพัตสร ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากเพื่อแสดงว่าคณะเขารักพวกเรามากกว่ารัฐบาล แต่เงินรัชชูปการซึ่งเก็บปีหนึ่งเป็นจำนวนตั้ง ๑๐ ล้าน ก็หาได้ยกเลิกไม่ พวกเราฆ่าหมูตัวหนึ่งต้องเสียเงิน ๕ บาท ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งต้องเสียเงิน ๓ บาท และ ภาษีอากรอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเงินที่พวกเราหาได้มาแทบเลือดตากระเด็นนั้นยังเก็บอยู่เรื่อยไป เงินนี้ใช้บำรุงข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนนับตั้งหลายร้อยบาท ส่วนชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากอื่น ๆ จะได้รับผลประโยชน์ในการออกน้ำพักน้ำแรงทำงาน วันยันค่ำก็พอเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

ง. ชาวไทยเรามิใช่แต่ได้ถูกพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมกดขี่ข่มเหงเท่านั้น ชาวต่างประเทศก็มาสูบเอาเลือดของเราไปด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้แย่งเอาดินแดนของเราไปและได้มีสิทธิพิเศษในการป่าไม้ การขุดบ่อแร่ และการค้าขาย เป็นต้น

พี่น้องเอ๋ย ถ้าเราไม่ช่วยตัวของเราเอง แล้วใครจะมาช่วยพวกเราได้ เราจะหวังพึ่งพวกคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้มียศศักดิ์ อำนาจ และมีความมั่งคั่งสมบูรณ์นั้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ทำให้เรายากจนลง เขาจะได้ความมั่งคั่งผาสุกนั้นมาแต่ไหน

เวลานี้ในโลกนี้มีแต่ชาวรัสเซียเท่านั้นที่มีความสุข และ มีความเสรีภาพโดยแท้ เพราะเขาได้กำจัดพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมเสียจนสิ้น และ ได้ยึดอำนาจการปกครองในประเทศไว้ในกำมือของเขาเอง

ให้พวกเราสามัคคีกันเข้า รวมกำลังกันเพื่อจะกำจัดพวกเจ้าคณะราษฎรปลอม และ พวกเศรษฐี และชาวต่างประเทศที่สูบเลือดเราเสียให้สิ้น ตั้งรัฐบาลโซเวียดสยามขึ้นรวมทรัพย์และอำนาจไว้ในมือของพวกเรา คือ ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากทั่วไป เราและลูกหลานเหลนของเราจึงจะมีความสุขทั่วหน้ากันตลอดไปเป็นนิจ.

คณะ คอมมูนิสต์สยาม
คณะ คอมมูนิสต์หนุ่มสยาม
วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕.


จากเนื้อหาเอกสารจะเห็นได้ว่า "คณะคอมมูนิสต์" มีจุดยืนวิพากษ์ทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ คณะราษฎร ภายในคณะราษฎร คณะคอมฯ ก็วิพากษ์ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา ( พจน์ พหลโยธิน ) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ( ปรีดี พนมยงค์ ) เบื้องต้นจุดยืนดังกล่าวกรณีพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรไม่ได้เป็นการวิพากษ์ทั้งสองฝ่ายพร้อมกัน มีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น เพราะเป็นการวิพากษ์เชิงซ้อน กล่าวคือ เป็นการวิพากษ์บนฐานคิดที่ยึดติดกับ "เวลา" เป็นสำคัญ

เนื่องจากขณะนั้นตามความเข้าใจของคณะคอมฯ คณะราษฎร คือ ผู้กุมอำนาจเพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายพระปกเกล้าฯ หรือ "ประชาธิปก" (ตามคำในเอกสาร) "ได้ถูกโค่นลงแล้ว" การวิพากษ์จึงมุ่งเน้นไปที่คณะราษฎรเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันด้วยจุดยืนวิพากษ์ที่แสดงก่อนหน้านั้น (ครั้งก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕) คณะคอมฯ ก็มีบทบาทในการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเด็นจุดยืนต่อสถาบันจึงไม่เป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญอะไรสำหรับคณะคอมฯ ขณะที่ต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยาม" คณะฯ ก็ไม่ได้มีความมุ่งหวังด้วยสักเท่าไร แม้ว่าความขัดแย้งอันแหลมคมระหว่างชนชั้นปกครองเดิมตามระบบศักดินากับกลุ่มกระฎุมพียุคใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

พวกเขาปฏิเสธแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม การจัดตั้งรัฐสภา และ การปกครองระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความเห็นว่า "…ทางที่จะหนีให้พ้นทุกข์ก็มีแต่ต้องกำจัดพวกจักรพรรดิ์กับพวกที่เป็นเครื่องมือของเขาเสีย และต้องคัดค้านการตั้งรัฐสภากับกฎธรรมนูญซึ่งเป็นการหลอกลวงมหาชนนั้นด้วย…" (จากเอกสารร่างแยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามฯ, อ้างแล้ว.) ไม่มีปัญหาว่าแนวคิดดังกล่าวจะไม่ถูกต้านทานจากหลายฝ่ายแม้แต่กับกลุ่มก้าวหน้าต่าง ๆ เวลานั้น…

แต่กรณีที่นับเป็นปัญหาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็กลับเป็นปัญหาที่เกิดจากทัศนะ / จุดยืนต่อคณะราษฎร และ ๒๔๗๕ ซึ่งก็สืบเนื่องจากจุดยืนต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยฯ" การวิพากษ์ทั้งพระยาพหลฯ และ ปรีดี ซึ่งต่างเป็นตัวแทนสำคัญของฝ่ายทหารและพลเรือนในคณะราษฎร เบื้องต้นนั่นสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คณะคอมมิวนิสต์กับนายปรีดี ไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันแต่อย่างใด แม้ว่าภายหลังฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จะใช้เป็นเหตุผลกล่าวอ้างว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม ดูเหมือนเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันน้อยกว่าที่คิด และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ได้

หลายปีจากนั้น ปรีดีก็พูดถึงเรื่องนี้อย่างไม่สู้จะยินดีเท่าไรนัก (สำหรับการข้องเกี่ยวกับคณะคอมมิวนิสต์โดยที่ตนไม่ล่วงรู้ และไม่เต็มใจ) ตรงข้ามต่อคณะคอมฯ ปรีดีก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกัน (ดูคำให้สัมภาษณ์ของปรีดีตามที่ปรากฎถึงเรื่องนี้ในหนังสือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ. (กรุงเทพฯ : โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526). )

ในทางกลับกันนั่นก็สะท้อนว่า คณะคอมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใดในเหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ ดูเหมือนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่พยายามจะมีอำนาจโดยไม่อ้างความชอบธรรมจากการเป็น "ผู้กระทำ" (Acter) จาก ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญจะเกิดจากการพระราชทานหรือโดยยึดอำนาจกดดันจากเบื้องล่างจึงไม่เป็นปัญหาเป็น - ตาย สำหรับคณะคอมฯ ทั้งน้ำเสียงวิจารณ์ก็สะท้อนอยู่ในตัวว่าถึงที่สุดแล้วคณะคอมฯ ก็ไม่ได้คาดหวังอันใดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากวันนั้น (๒๔ มิถุนาฯ)

การกดขี่หาได้หมดสิ้นไป ภารกิจสำคัญของคณะฯ ยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ตรงข้ามอย่างสุดขั้วทีเดียวในประเด็นสะท้อนที่ว่า "เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย" ภายหลังตรรกะนี้พระปกเกล้าฯ ก็ทรงใช้วิจารณ์คณะราษฎรเช่นกัน ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของพระองค์ แต่นั่นก็เป็นคนละบริบทกัน !!!

ต่อกรณีปรีดีนั้นก็น่าพิจารณาเป็นอีกประเด็น เพราะสะท้อนแง่มุมความคิดและความเข้าใจของคณะคอมฯ ที่มีต่อคณะราษฎร แม้ว่าขณะที่คณะคอมฯ มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังไม่มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ อันเป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนอิทธิพลความคิดสังคมนิยมในการเมืองไทยยุคใหม่ แต่ในแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็มีเนื้อหาระบุถึงแนวทางของคณะราษฎรเอาไว้ก่อนแล้วว่า "จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก" ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยการให้ความหวังแก่ราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ เช่นว่า "ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดนักว่าคณะคอมฯ จะได้รู้เห็นหรือติดตามการทำงานของคณะราษฎรมากน้อยเพียงใด ลักษณะที่มีความเป็นจีนอย่างสูง (Lukjin Communist) บวกกับที่ศัพท์ "ศรีอาริย์" ขณะนั้นยังไม่มีการอธิบายเทียบเคียงกับ Socialism เท่าที่ควร ตรงข้ามสังคมนิยมแบบไทยที่แพร่หลายก็กลับเป็น "อุตตรกุรุ" ตามแนวคำอธิบายที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ ร. ๖ ด้วยเหตุง่ายดายเพียงเท่านี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคณะจีนคอมมิวนิสต์ในสยามไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอันใดต่อศัพท์ "ศรีอาริย์" และด้วยเหตุอันเดียวกันนี้ แนวร่วมระหว่างคณะคอมฯ กับปีกก้าวหน้าในคณะราษฎรจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และ กระทั่งมีท่าทีที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อกันเท่าใดนัก

กรณีปรีดีอาจพิจารณาได้อีกแง่หนึ่ง ตรงที่ภายหลังเขาเองถูกคุกคามจากฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จนต้องผ่อนปรนข้อเสนอของตน และ การปกป้องตัวเองก็แสดงออกโดยง่ายว่าตนไม่ได้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ นั่นยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับคณะคอมฯ ดูห่างไกลกันมากขึ้น กระทั่งไม่อาจติดต่อประสานการทำงานร่วมกันได้เลย กรณีนายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรผู้ซึ่งแสดงท่าทีว่านิยมแนวคิดสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ ด้วยมีผลงานแปลที่สำคัญและไม่มีชนักปักหลังเช่น ปรีดี แต่ปรากฏว่าต่อคณะคอมฯ สงวนกลับมีท่าทีที่ดู "แย่" กว่าปรีดีเสียอีก

ในคราวที่สงวนได้รับหน้าที่ติดตามดูการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รวม ๖ แห่ง ได้แก่ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ย่านบางลำภู กลาโหม ทุ่งพระสุเมรุ และพระบรมรูป (ลานหน้าพระที่นั่งอนันตฯ) ในจดหมายลายมือลงชื่อ สงวน ตุลารักษ์ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นรายงานการสืบราชการลับ) สงวนกลับรายงานต่อรัฐบาลว่าหัวหน้าคณะฯ ดังกล่าวได้รับค่าจ้างจากหม่อมเจ้านิทัศน์ (บู้) เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ บาท ให้ยิงพระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎร โดยให้สังเกตว่าคนที่จะยิงนั้น "ไว้จอนหูยาว" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓). กอปรกับขณะนั้นเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าคณะราษฎรจะมองการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ ว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ้านายเดิมที่สูญเสียประโยชน์จากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ฝ่ายพระยาพหลฯ เองก็มีจดหมายอีกฉบับส่งตรงมาถึงเขา แจ้งความว่ามีผู้คิดการร้ายต่อเขากับคณะ(ราษฎร) โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง "คณะเจ้า"(ตามคำในเอกสาร) ข้าราชการที่ถูกดุลในคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ และชาวจีนกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่คลองดำเนินสดวก จดหมายระบุชัดว่า ชาวจีนกลุ่มดังกล่าว "เป็นขี้ข้าตัวโปรดของกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ (๘) - (๙).) แม้ว่าจดหมายทั้งสองฉบับจะมีข้อความที่เป็นเท็จ เพราะไม่ปรากฏมีการลอบทำร้ายพระยาพหลฯ ดังที่แจ้งมา

กรณีรายงานของสงวน มีหลักฐานยืนยันว่ามีการทิ้งใบปลิวที่มีเนื้อหาวิจารณ์คณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยลงนาม "คณะคอมมูนิสต์" จริง แต่ก็ไม่ปรากฏมีการลอบยิงพระยาพหลฯ แต่อย่างใด ผู้ที่รู้วิธีการของขบวนการคอมมิวนิสต์ย่อมทราบกันโดยทั่วไปว่า นั่นไม่ใช่แนวทางของคอมมิวนิสต์ กระนั้นก็ตามต่อข้อมูลที่ผิดพลาดนี้อาจไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของสงวน หากแต่เป็น "สาย" ของคณะราษฎรเองที่ให้ข้อมูลมาผิด (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้จัดตั้งสายลับขึ้นเป็นจำนวนมาก ให้คอยติดตามดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ (ทั้งทหารและพลเรือน) เศรษฐีในเมือง (ยังไม่ถูกเรียกว่า "นายทุน") และกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มกรรมกร ชาวจีน และคอมมิวนิสต์ ต่อมาหน่วยงานนี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยรวมสังกัดอยู่ในหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เป็นต้น)

และ มีความเป็นไปได้มากว่ารายงานของสงวนจะเป็น Secondary Sources ที่อาศัยข้อมูลจาก Primary Sources อย่างรายงานของสายสืบที่ทำงานเกาะติดคณะคอมฯ อยู่ก่อนที่จะได้ให้ข้อมูลต่อตัวแทนคณะราษฎร ซึ่งในที่นี้ก็คือ สงวน บางครั้งถ้าเป็นรายงานลับที่ไม่มีการเปิดเผยหรือผ่านการ กลั่นกรองเท่าที่ควรก็จึงเป็นเรื่องง่ายที่อาจมีการรายงานผิดพลาดทางข้อมูลกันได้ ส่วนชีวิตคนที่อาจถูกคุกคามจากผลลัพธ์ของข้อมูลในรายงานเหล่านี้ สำหรับสายที่ไม่ได้ผ่านการอบรมมาดีพอ ก็อาจเห็นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากการปฏิบัติงานก็ได้

กรณีหลังก็เป็นธรรมดา อันที่จริงพระยาพหลฯ และ คณะราษฎร มักจะได้รับจดหมายลักษณะนี้ทั้งจากผู้หวังดีทั้งข้าราชการและประชาชนอยู่เป็นประจำ บางฉบับที่มีความสำคัญ (ในความเห็นของคณะฯ และ ผู้ได้รับ) พระยาพหลฯ ก็ตอบกลับไป แต่ในกรณีนี้ไม่ปรากฏมีการตอบขอบคุณจากพระยาพหลฯ แต่นั่นก็ไม่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระยาพหลฯ (รวมทั้งคณะราษฎร) จะไม่เชื่อ แม้จะดูเป็นจดหมายที่มีเนื้อหาแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้นำใหม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเชื่อตามข้อความในจดหมายดังกล่าวหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในทางปฏิบัติคณะราษฎรก็แสดงท่าทีคุกคามต่อคณะคอมฯ และกลุ่มอื่น ๆ ที่สงสัยว่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะกลุ่ม "เจ้า" เท่านั้น

อย่างไรก็ตามท่าทีดังกล่าวมีผลทำให้การโจมตีคณะราษฎรของฝ่ายคอมมิวนิสต์ดูสมเหตุสมผล ไม่เพียงแต่กับคอมมิวนิสต์เท่านั้น การนัดหยุดงานของกรรมกร การประท้วงของนักเรียนอัสสัมชัน การเคลื่อนไหวของกองทหารบางซื่อ หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และหลักเมือง เป็นต้น คณะราษฎรก็จัดการแก้ไขได้ไม่ดีเท่าที่ควร ภาษีรัชชูปการอันเป็นมรดกอย่างหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่ถูกยกเลิก ฯลฯ

ต่ออิทธิพลของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" ในทัศนะของคณะคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ฯ หรือ ปรีดี พนมยงค์ นั้นไซร้ก็กลับทำคุณเพียงเล็กน้อย การแก้ไขสนธิสัญญาที่รัฐบาลเก่าเคยทำไว้ถูกมองว่าเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ทั้งของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" และ ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเกียรติประวัติของชนชั้นปกครองของไทยสมัยสมบูรณาฯ อีกด้วย

ฉากแรกของการท้าทายต่อระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมาย, นักศึกษาประวัติศาสตร์บางท่านอาจมองว่าจุดเริ่มสำคัญนั้นอยู่ที่การฟ้องพระปกเกล้าฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยนายถวัติ ฤทธิเดช เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะพิสูจน์ว่ากษัตริย์ใต้กฎหมายนั้นจักเป็นจริงเพียงใด แต่อันที่จริงกลุ่มคนที่มีบทบาทในการต่อสู้คัดค้านระบอบดังกล่าวโดยตรงนั้นไม่ใช่ใครอื่น หากอ่านดูใบปลิวต่าง ๆ ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ครั้งนั้นก็จะพบประเด็นดังกล่าว แต่อาจเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลหลักฐานอยู่ ณ เวลานี้

จากเนื้อหาข้อความที่ปรากฏในใบปลิว "ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากฯ" สะท้อนความคิดเห็นที่เป็นข้อสรุปสำคัญในหมู่พวกเขาว่า รัฐบาลใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความต่อเนื่องบางอย่างร่วมกับรัฐบาลเก่า ท้ายสุดก็ไม่ได้สร้างหลักประกันแก่ความมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง มองจากจุดยืนของคนชั้นล่าง เช่น ชาวนา กรรมกร และคนทุกข์ยาก (ขณะนั้นยังไม่มีศัพท์บัญญัติ เช่น "กรรมาชีพ") แง่นี้รัฐบาลใหม่จึงอาจไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาลเก่า อีกทั้งยังเห็นว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ "ราษฎร" อย่างแท้จริง หากเป็นแต่เพียง "คณะราษฎรปลอม" เท่านั้น

ขณะเดียวกันแม้ว่ามีความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเดิมของระบบศักดินากับนายทุนนายหน้า และ ขุนศึก แต่ไม่ปรากฏข้อเสนอเรื่องการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย ตรงข้ามนั่นเป็นแนวทางที่เคยถูกปฏิเสธมาก่อนแล้ว ดังที่สะท้อนข้างต้น การที่ชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ดูจะไม่ขัดแย้งกับรากฐานของแนวคิดเดิม เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุด ชาวนาก็จะล้มละลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นคนงานผู้ไร้ปัจจัยการผลิต คณะคอมฯ จึงมีจุดยืนเน้นกลุ่มคนที่เรียกกันภายหลังคือ "ชนชั้นกรรมาชีพ"

ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง "โซเวียดสยาม" นี้ ที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อเสนออันเก่าแก่ตามแบบฉบับของ Classical Marxist เพราะยังไม่ปรากฏอิทธิพลจากความคิดสายสตาลิน - เหมา ความจริงแม้คณะคอมมิวนิสต์ในสยามจะมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานสากลที่ ๓ ( Comminturn III ) แต่ก็นับว่ายังห่างไกลจากความขัดแย้ง ระหว่างแนวทางปฏิวัติตลอดกาลของทรอตสกี กับ แนวทางสังคมนิยมประเทศเดียวของสตาลิน

ลัทธิเหมายิ่งยังไม่เป็นปัญหา อย่างที่ทราบคือขณะนั้นเหมาเจอตุง กับแนวทางชนบทล้อมเมืองของเขา กว่าจะเป็นกระแสหลักภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานนัก "โซเวียดสยาม" ที่จริงจะเป็นข้อเสนอของขบวนการฝ่ายซ้ายภายใต้อิทธิพลของสากลที่ ๓ ไม่ได้เท่าไร เพราะดังที่ทราบกันคือภายหลังจากที่สตาลินกับพวกขึ้นสู่อำนาจก็มีการทำลายสภาคนงาน (หรือที่เรียกเป็นภาษารัสเซียว่า "Soviet" (โซเวียต)) ลง โดยหันมาเชิดชูพรรคให้เป็นอำนาจรัฐรวมศูนย์เพียงขั้วเดียว

การให้ความสำคัญกับ "ทหาร" ในฐานะบทบาทหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นมรดกอันหนึ่งที่ได้จากการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เพราะทหารเปลี่ยนข้าง การปฏิวัติจึงสัมฤทธิ์ผล ในสยามเองก่อนหน้านั้น คณะ ร.ศ.๑๓๐ ก็เป็นกรณีหนึ่ง และ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง การสไตรค์ของกองทหารบางซื่อ ดูเหมือนจะให้ความหวังใหม่แก่คณะคอมฯ การณ์นี้ทหารถูกผนวกรวมเป็นมวลชนพื้นฐานของคณะฯ ด้วย แต่นั่นไม่ง่ายดังหวัง เพราะการณ์ปรากฏออกมาคือ ทหารกลับกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับฝ่ายคณะราษฎร

การใช้ "ชาวไทยเรา" สำหรับเรียกผู้รับสารในใบปลิว สะท้อนให้เห็นพัฒนาการสำคัญของขบวนการและปัญหาบางประการอันเกิดขึ้นควบคู่กับแนวคิดที่ยังยึดถือ กล่าวคือ แม้ว่าหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะคอมฯ จะได้สมาชิกที่เป็นคนไทยรวมอยู่ด้วย แต่โดยสัดส่วนแล้วจำนวนคนไทยในคณะฯ ก็ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับจำนวนชาวจีนและญวน และ แม้จะมีข่ายการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง เช่น นอกจากแกนนำในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีคณะกรรมการประจำภาคอีสาน, เหนือ, ใต้ และ ในพระนครเอง ก็มีคณะกรรมการประจำเทศบาลพระนคร

นอกนั้นก็เป็นคณะกรรมการประจำจังหวัด รวมทั้งมีกองอำนวยการฉุกเฉินที่เรียกว่า "กองบรรเทาทุกข์คนใหญ่" ( คน สะกด คะ - นะ ) สำหรับให้ความช่วยเหลือกรรมกรที่นัดหยุดงาน ภายใต้กรรมการใหญ่ในสยามยังประกอบด้วย คณะสาขา กองย่อย และ กิ่งสาขา แต่ละหน่วยมีกรรมการดำเนินงานและติดต่อประสานกับคณะกรรมการใหญ่ และ แต่ละหน่วยงานนั้น ๆ ปรกติจะมีสมาชิกตั้งแต่ ๘ คนขึ้นไป มีกรรมการประจำกิ่งสาขาประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและความเหมาะสม

แม้จะถูกพิจารณาบ่อยครั้งว่าเป็นเพียงส่วนย่อยหนึ่งของข่ายการปฏิบัติงานของคณะจีน แต่ความจริงปรากฏว่า "สหาย" จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาปฏิบัติงานในสยามยังต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของคณะทำงานในสยาม ขณะเดียวกันหากสมาชิกคณะคอมฯสยามเดินทางกลับเข้าสู่เขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์จีน ก็ยังต้องสมัครขึ้นทะเบียนต่อสำนักอำนาจรัฐของคณะคอมมิวนิสต์ที่นั่น ปลายสมัยสมบูรณาฯ จึงปรากฎว่าคณะคอมมิวนิสต์ในสยามมีสถานภาพเป็นอีกคณะหนึ่งแยกออกจากคณะคอมมิวนิสต์ในจีน มีอิสระ และ ดำเนินแนวทางที่เป็นของตนเองอยู่พอสมควร

กระนั้นก็ตามการอ้างถึง "ชาวไทยเรา" ก็ไม่น่าเกิดขึ้นขณะเดียวกับที่วิจารณ์คณะราษฎรอย่างรุนแรงว่า เป็น "คณะราษฎรปลอม" เพราะการอ้างดังกล่าว (ชาวไทยเรา) มีนัยไม่ผิดแปลกไปจากการอ้างเป็นตัวแทนรูปแบบอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างที่ครอบคลุมผู้คนทั่วประเทศ การมีข่ายการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมอาณาเขตอำนาจของรัฐอย่างกว้างขวางไม่เป็นเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับการอ้างเป็นตัวแทน พูดแทน และ กระทำการต่าง ๆ ในฐานะตัวแทน !!!

การสะท้อนว่า "ความสุข... และเสรีภาพโดยแท้" เกิดขึ้นที่รัสเซียหลังการปฏิวัติก็มีผลทำให้คณะคอมมิวนิสต์สยามกระทำความผิดพลาดอีกคราว นั่นแสดงว่าพวกเขาไม่ล่วงรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมการเมืองของรัสเซียหลังการปฏิวัติมากนัก หรือไม่ก็อาจมีคำอธิบายแก้ต่างกันอีกชุดหนึ่ง (เช่น การโทษว่าเป็นเพราะ Stalinism เป็นต้น) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นมีข้อจำกัดและไม่อาจเป็นหลักประกันอันใดได้เลย สำหรับระบอบสังคมอย่างใหม่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็นั่นแหล่ะ !! มาร์กซิสต์เชื่อมั่นต่อความขัดแย้งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะความขัดแย้งหลักระหว่าง ๒ ขั้วที่ตรงกันข้าม และ ๒ ขั้วที่ว่านั้น ก็อาจนำไปสู่วิถีทางของการทำลายกันมากกว่าการสร้างสรรค์ แต่นั่นอาจไม่ใช่อะไรอื่นอีกนั่นแหล่ะ !! เอกภาพของสิ่งตรงข้ามที่ยากแก่การจัดการอย่างลงตัว...

อย่างไรก็ตามหากการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์จะกลับมาอีกครั้ง ก็คงต้องกลับมาในรูปแบบใหม่ (เช่นเดียวกับที่ในอดีตภายใต้เงื่อนไขหนึ่งเคยเป็นอีกแบบหนึ่ง) ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ลักษณะความขัดแย้งก็ยังคงเป็นโจทก์สำคัญ และ ก็ด้วยการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดในบางจุดที่สำคัญ ๆ นั้นเอง คณะคอมมิวนิสต์สยามจึงแทบไม่เหลือที่ทางของตน แม้กระทั่งในแง่ความทรงจำและการเมืองอุดมการณ์

ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเท่าไรที่ในคำให้สัมภาษณ์ของ ธง แจ่มศรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ปรากฏมีการพูดถึงข้อเสนอในอดีตเช่น "โซเวียดสยาม" แม้จะพูดถึงคณะคอมมิวนิสต์สยามอยู่บ้างก็ตาม แต่ดูเหมือนคณะฯ ที่ว่านั้นไม่ได้สร้างคุณูปการอะไรไปมากกว่าที่เป็นรากกำเนิดให้กับอีกองค์กรหนึ่ง (คือ พคท.) แม้แต่ในเอกสารประวัติ พคท. โดยวิรัช อังคถาวร ที่เคยเผยแพร่ในวารสารของสายงานพรรคเมื่อหลายปีก่อน (และ ตีพิมพ์ซ้ำในฟ้าเดียวกัน ฉบับแรก เมื่อไม่นานมานี้) ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรในส่วนนี้ แต่ไม่ใช่ความผิดของคนตายไปนานอย่างวิรัช กับท่านผู้เฒ่าอย่างธงหรอก ปัญหามันละเอียดอ่อนกว่านั้น...

การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ที่จะกลับมาใหม่นั้น จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับสังคมการเมืองไทยได้หรือไม่ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป พวกเขายังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก มีอดีต มีที่ทาง และมีบทเรียนกันพอสมควร ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งมองเป็นเรื่องตลก หรือเรื่องเพ้อฝันกันมากนัก ประวัติศาสตร์ทั้งหมดไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน!!!


กำพล จำปาพันธ์

นักวิชาการอิสระ


หมายเหตุ:
ผลงานวิชาการชิ้นนี้เดิมชื่อแด่ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยาก คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : Document number 571

*การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ