วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำอภิปรายจักรภพธรรมดามาก หากเทียบกับ สส สมัยก่อนนู้น


ผมได้อ่านบทความของณัฐพล ใจจริง ในฟ้าเดียวกันเล่มล่าสุด
(ผมชอบมาก แนะนำให้อ่านและเผยแพร่กันเยอะๆ)

หน้า ๑๒๖ ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนปราจีนบุรี อภิปรายเกี่ยวกับพระปกเกล้าฯ ว่า

“พระราชบันทึกของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ประเทศเรามีการปกครองประชาธิปไตยอย่างอังกฤษแท้ๆ แต่พระองค์ก็บอกไว้ในนั้นเอง บอกแย้งไว้ในนั้นเองว่า จะให้ฉันทำอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับรัฐบาลและต้องทรงเสียภาษีพระราชทรัพย์) ไม่ได้ ทีการปกครองละก้อจะเอาอย่างอังกฤษ (กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสภาขุนนาง) แต่ไม่อยากเอาจะเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ (ในเรื่องทรัพย์สิน) เพราะฉะนั้นก็เหลือที่จะทนทานเหมือนกัน”


และจากการอ่านงานประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หลายๆชิ้นแล้ว ก็ได้เจอคำภิปรายของผู้แทนในสมัยก่อน ที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรง

มิพักต้องกล่าวถึง กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง ร ๗
กรณีการฟ้องเพื่อยึดทรัพย์ ร ๗

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น
ประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

หากเรายังยืนยันว่าปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่ ทำไมความเห็นจักรภพต้องเป็น

“ทัศนคติที่อันตราย” ด้วย

ก็ในเมื่อ การประชุมสภา สมัยก่อน สส ยังอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเต็มที่

แล้วทำไม ปัจจุบัน เพียงแค่คำอภิปรายต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เชิงวิเคราะห์ เชิงวิชาการ ไม่ได้ระบุตัวบุคคล ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงสถาบันกษัตริย์ ถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงต้องโดนหัวหน้าพรรคการเมือง (ที่ดูเหมือนเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ความคิดโบราณย้อนไปก่อน ๒๔๗๕) กล่าวหาว่าเป็น “ทัศนคติที่อันตราย” ด้วย?

หรือ เราไม่ได้อยู่ในการปกครองประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เหมือนหลัง ๒๔๗๕ ?

หากฝ่ายรอแยลลิสม์ และอุลตร้า รอแยลลิสม์ ยืนยันเสมอว่า เราปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ผมอยากให้ ปัญญาชนฝ่ายนั้น ช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ตกผลึก และเขียนเป็นงานวิชาการด้วยว่า การปกครองดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร? แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่มีกษัตริย์อย่างไร? แตกต่างจากประชาธิปไตย ที่กษัตริย์อยู่ใต้ รธน อย่างไร? เจาะจงใช้เฉพาะสมัยใดสมัยหนึ่งหรือไม่?


ปิยบุตร


เพิ่มเติม :ความเห็นในกระทู้ของ ธนาพล


หวังว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งต่อไป (ถ้ามี) น่าจะอภิปรายอย่างข้างล่างบ้างครับ

...........

“ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกปลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ก็คือ การนิยมกษัตริย์”

นายชื่น ระวีวรรณ


“ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้เขียนไว้โดยมีความปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายพระราชอำนาจมากกว่าเดิม… ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆ ทีเดียว”

นายฟื้น สุวรรณสาร


“คณะจ้าวนี่เองเป็นปัญหาใหญ่… พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่ฆ่าคนได้โดยมีความผิด”

นายเลียง ไชยกาล


การอภิปรายในสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492

(อ้างจาก ธงชัย วินิจจะกูล : "ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา" ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ฟ้าเดียวกัน 3:4, 146)


ที่มา : กระดานสนทนา "ฟ้าเดียวกัน" : คำอภิปรายจักรภพธรรมดามาก หากเทียบกับ สส สมัยก่อนนู้น

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: