วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อยากเป็นเจ้า


คนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องนับถือในสังคมแล้ว ก็มีข้อที่ต้องพึงระวังอยู่เสมอว่าเป็นที่สนใจของพวกทุจริตที่จะปลอมแปลงเข้ามาหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ ดังเช่นกรณี "อีจั่น อีนวล" ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่มีเรื่องไปเกี่ยวข้องกับพระองค์เจ้าเกษร พระราชธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์กับเจ้าจอมมารดาปิ่น ลำดับของเรื่องดังต่อไปนี้


ขั้นวางแผน

เรื่องมีว่า อีนวลมีนิวาสสถานอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี มาทำธุระเรื่องที่ดินที่บางกอก และได้แวะมาซื้อของที่ตลาดท้ายสนม พระบรมมหาราชวัง อีนวล ได้ยินข่าวที่พระองค์เจ้า (หญิง) เกษรสิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าเกษร เป็นพระราชธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์กับเจ้าจอมมารดาปิ่น เจ้าจอมมารดาปิ่นเศร้าโศกเสียใจยิ่งนักที่พระองค์เจ้าเกษรสิ้นพระชนม์ อีนวลระลึกได้ว่าอีจั่นซึ่งต่อไปจะเป็นคนสำคัญได้รักใคร่อยู่กับนายยังหลานชายของตน ต่อมาอีจั่นป่วย ญาติพี่น้องของอีจั่นอันประกอบด้วยอำแดงอิน (มารดาเลี้ยง) อีขำ (พี่) อีแจ่ม (น้อง) พาอีจั่นไปรักษาตัวอยู่ที่เรือนของนายทองกับอำแดงคุ้มที่บ้านบางครกอยู่คืนหนึ่ง อีจั่นไปหาอีนวลขอพักรักษาตัวอยู่ได้ ๓-๔ วัน จนอาการดีขึ้น อีนวลคิดอุบายที่จะล่อลวงเจ้าจอมมารดาปิ่น จึงสอนให้อีจั่นบอกกับคนอื่นๆ ว่าตนชื่อทองคำ มารดาชื่อฉิม พี่ชื่อฉ่ำ น้องชื่ออิ่ม บ้านอยู่บางกอก นางทองคำออกฝีตาย "แม่พรามเขาตะเครา" นำตัวไป แล้วส่งกลับเข้าร่างเดิม แต่เข้าไม่ได้เพราะร่างถูกฝังแล้ว จึงมาเข้าที่รูปอีจั่นซึ่งเป็นลูกของอีนวล

อีจั่นเห็นด้วยกับอุบายของอีนวล จึงทำเป็นไม่รู้จักนายนากผู้เป็นบิดา และอีนวลกำชับให้อีจั่นบอกว่าบ้านเดิมของตนอยู่ที่บางกอก "เรือนฝาถือปูนประดับกระจก ได้เคยลงลอยกระทงตำหนักแพ ๒ ครั้ง บ้านที่อยู่มีช้างเผือกและลิงเผือก" ฝ่ายนายนากผู้เป็นบิดาของอีจั่นมารับอีจั่นกลับไปรักษาที่บ้านได้เพียง ๒-๓ วัน อีจั่นก็กลับมาอาศัยอยู่กับอีนวลอีก ข่าวก็เลื่องลือไปทั่วว่าแม่พรามเขาตะเคราให้ลูกแก่อีนวลคนหนึ่ง ชื่อว่าแม่ทองคำ มารดาชื่อฉิม พี่สาวชื่ออ่ำ น้องสาวชื่ออิ่ม บ้านเดิมอยู่ที่บางกอก แม่ทองคำนี้วางตัวเป็นเจ้านาย


เดินทางไปเพชรบุรี

ต่อมาพระยาเพชรบุรีสั่งให้อีนวลและนายมูนบุตรขุนจ่าเมืองให้ไปรับอีจั่นกลับไปเมืองเพชรบุรีอีกครั้งหนึ่ง ผู้ร่วมขบวนไปรับอีจั่นมีหลายคน ประกอบไปด้วยอีนวล นายมูน อำแดงเปี่ยม อำแดงหุน และอีเลย อีจั่นลงเรือสำปั้นมาวางท่าในลักษณะที่เป็นเจ้านาย คือ "กลางกั้นร่มกระดาษ" เมื่อมาถึงเมืองเพชรบุรี ได้อยู่ที่เรือนขุนจ่าเมือง ๓-๔ คืน จากนั้นพระยาเพชรบุรีก็ให้ย้ายไปขึ้นเรือนตนถึง ๕-๖ คืน และในตอนนี้เองพระยาเพชรบุรีคิดการใหญ่ คือเข้าหาอีจั่น แต่อีจั่นไม่ยินยอม ในคำพิพากษาพรรณนาว่า "ใช้เท้าถีบพระยาเพชรบุรี" พิจารณาความในตอนนี้ ต้องสรรเสริญว่าอีจั่น "เล่น" ได้สมบทบาท เพราะในฐานะที่ตนวางตัวเป็นเจ้า การลดตัวมาสมาคมกับชายสามัญ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง

พระยาเพชรบุรี เป็นผู้ที่สมควรได้รับคำตำหนิอย่างยิ่ง เพราะตนอยู่ในฐานะ "ข้า" ของพระเจ้าอยู่หัว การที่ไปล่วงเกินเชื้อพระวงศ์ย่อมไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง หรือหากจะพิจารณาได้เป็นอีกทางก็คือ พระยาเพชรบุรีคงสังเกตเห็นพิรุธบางประการ และคิดว่าอีจั่นเป็นหญิงธรรมดา


เข้าวัง

อีนวลเกรงว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ แต่คงไม่มีความสามารถที่จะนำอีจั่นออกจากเรือนพระยาเพชรบุรีได้ จึงพร้อมใจกันกับอีเลยมายังบางกอก และได้พบกับฉิมซึ่งเป็นเฝ้าที่ ของเจ้าจอมมารดาปิ่น ฉิมจึงพาอีนวล อีเลย มาพบเจ้าจอมมารดาปิ่น เจ้าจอมมารดาปิ่นก็ซักไซ้ อีนวลก็เล่าความเดิมที่แต่งไว้ เจ้าจอมมารดาปิ่นก็ยังไม่เชื่อเพราะชื่อไม่ตรง อีนวลจึงชี้แจงเพิ่มว่า เดิมแม่ทองคำ (หรืออีจั่น) มีชื่อว่าเจ้าเกษร เจ้าจอมมารดาชื่อปิ่น พี่สาวชื่อพัน (คือพระองค์เจ้าอำพัน) แม่ทองคำยังจำเครื่องประดับของตนได้อยู่ อีนวลคงฉลาดเฉลียวพอสมควร เพราะสามารถโน้มน้าวเจ้าจอมมารดาปิ่นให้คล้อยตามตนไปได้ เป็นต้นว่า อีจั่นเมื่อพูดถึงเครื่องประดับที่ใด "ร้องไห้อ้อนวอนให้ภาเข้ามาส่งให้ถึงตำหนักแพ จะใคร่พบกับเจ้าจอมมารดา" หรือเมื่อพรรณนาลักษณะของแม่ทองคำ ก็กล่าวว่า "รูปอีจั่นนั้นเดิมนมคล้อย ผมหยิก ตัวอ้วน เดี๋ยวนี้นมตั้ง ผมฉลวย [คือสลวย] รูปร่างก็เล็กลง กิริยาพูจาเหมือนช้าววังรูปก็งามกว่ารูปเดิม"


ออกไปรับ

กล่าวฝ่ายเจ้าจอมมารดาปิ่นคงหลงเชื่ออีนวลเต็มที่ จึงคิดจะออกพิสูจน์ความจริง หากเป็นพระองค์เจ้าเกษรจริง ก็จะได้รับตัวกลับมา ส่วนพระองค์เจ้าอำพันผู้เป็นพระภคินีของพระองค์เจ้าเกษร มีรับสั่งให้อีนวลและอีเลยหาซื้อฟักทองมีขนาดเท่ากระโถน เพื่อพระองค์จะได้มาทำโถใส่ข้าวยาคูถวายพระสงฆ์ เจ้าจอมมารดาปิ่นลงเรือไปถึงปากมหาชัย เข้าใจว่าไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต กระทำโดยพลการ

ที่ปากมหาชัย เจ้าจอมมารดาปิ่นได้สวนทางกับนางนม (เข้าใจว่าเป็นนางนมของพระองค์เจ้าเกษร) ที่เจ้าจอมมารดาปิ่นให้นำเบี้ยจักจั่นและโถกระแจะไปให้อีจั่นดู นางนมเล่าว่าอีจั่นไม่รู้จักหลักฐาน ๒ ชิ้น แล้วพิจารณาดูแล้วว่าไม่น่าจะใช่ นางนมแนะนำให้เจ้าจอมมารดาปิ่นกลับบางกอกดีกว่า เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเดินทางต่อไป นางนมยืนยันหากไม่เป็นตามคำของตน ตนจะยินยอมให้เจ้าจอมมารดาปิ่นเฆี่ยน ๕๐ ที แล้วจะแถมเงินให้อีก ๑๐ ตำลึง เจ้าจอมมารดาปิ่นเห็นนางนมยืนยันอย่างหนักแน่น จึงเลิกล้มความตั้งใจ เดินทางกลับบางกอก


เจ้าจอมมารดาปิ่นออกมารับอีก

เวลาผ่านไป อีนวลไปแนะนำอีจั่นว่าหากเจ้าจอมมารดาออกมารับก็ให้ไปกับเจ้าจอมมารดา ต่อมาอีก ๒-๓ วัน มีข้าหลวงของเจ้าจอมมารดาปิ่น ๔ คน คือ ฉิม เปี่ยม เพียร ขำ มาที่เรือนของขุนจ่าเมือง มาพบอีจั่นและนำเครื่องประดับมาให้ดู หลังจากนั้นเจ้าจอมมารดาปิ่นก็มาที่เรือนขุนจ่าเมือง เพื่อมารับอีจั่น แต่ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณเสียก่อน จึงให้มีการชำระความขึ้น เรื่องคงดำเนินการอยู่หลายปี และมาตัดสินความเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


การพิพากษา

๑. อีจั่น อีนวล อีเลย ถูกริบราชบาตร เอาทรัพย์สินของทั้งสามเป็นของหลวงโดยสิ้นเชิง เฆี่ยนคนละ ๓ ยก จากนั้นตะเวนบก ๓ วัน เรือ ๓ วัน และให้ฆ่าเสีย

๒. เจ้าจอมมารดาปิ่น และข้าหลวงอีก ๔ คน ได้แก่ ฉิม เปี่ยม เพียร ขำ ให้เฆี่ยนคนละ ๕๐ ที และให้ส่งเปี่ยม เพียร ขำ ไปเป็นวิเสท

๓. ขุนจ่าเมือง ที่อีจั่นไปพำนักอยู่ด้วย ถูกเฆี่ยน ๕๐ ที และจำคุก

๔. พระยาเพชรบุรี หลวงปลัด หลวงยุกกระบัตร ถูกเฆี่ยน ๓๐ ที

๕. ผู้เกี่ยวข้อง ทองดี อำแดงเงิน อำแดงอยู่ อำแดงเปี่ยม อำแดงหุน นายมูน มีความผิดคือเก็บเอาเรื่องที่อีจั่นพูดมาเล่าให้เจ้าจอมมารดาฟัง และแสดงกิริยายำเกรงอีจั่นว่าเป็นเจ้า ให้เฆี่ยนคนละ ๓๐ ที


พิจารณาจากคำพิพากษา ผู้ที่สมควรได้รับคำตำหนิ ๓ คน คือ พระยาเพชรบุรี หลวงปลัด หลวงยุกกระบัตร ซึ่งขอคัดความมาดังนี้

ฝ่ายพญาเพชรรีย หลวงปลัด หลวงยุกระบัด กรมการเล่า ทรงพระกรรุณาโปรฏเกล้าให้ออกไปรั้งไปครองเมือง สำหรับจะได้ระงับปราบปรามเสี้ยรหนามการแผ่นดิน ต่างพระเนตรพระกรร ครั้นรู้ความว่า ไพร่บ้านพละเมืองพูจาเลื่องฦๅอื้ออึงกันว่าอีจั่นตายแล้ว พระองค์เจ้าเกษรออกไปเกิดเข้ารูปอีจั่น อีจั่นกับพวกคิดการทั้งนี้ผิดประเพณีเหยียงหย่างแต่ก่อนสืบๆ มา ชอบแต่พระญาเพชรบูรีย หลวงปหลัด หลวงยกกระษัตร กรมการ จะเอาตัวอีจั่นกับพวกอีจั่นมาพิจารณาเฆี่ยนตีเสียให้เข็ดหลาบ อย่าให้ไพร่บ้านพละเมืองนับถือเลื่องฦๅกันต่อไป หาทำดั่งนี้ไม่แล้วก็มิได้บอกข้อความส่งตัว อีจั่น อีนวร เข้ามาให้กราบบังคมทูลพระกรรุณาให้ทราพใต่ฝ่าลอองฯ ทั้งนี้พญาเพชบุรี หลวงปลัด หลวงยกระบัด กรมการล่วงพระราชอาญาผิดอยู่ด้วยกัน ต้องบทพระอายการว่า ผู้ใดโลภนักมักทำใจไหญ่ฝ่ายสูงให้เกินศัก และกระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือบันดาศักตนและหมีจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว และถ้อยคำหมีควรเจรจา เอามาเจรรจาเข้าในรวางราชาสัพ และสิ่งของหมีควรปรดับเอามาเปนเครื่องปรดับตน ท่านว่าผู้นั่นทนงองอาจเข้าในอุบาทวขาดเหลือ ให้ลงโทษ ๘ สถาน สถานหนึ่งให้บั้นคอริบเรือน เอามพร้าวห้าวยัดปาก ริบราชบาทเอาตัวลงย้าช้าง ไหมจัตูรคูน แล้วเอาตัวออกจากราชการ ไหมทวีคูน ทวนด้วยลวดหนัง ๒๕ ที ๕๐ ที ใส่ตรุไว้ จำไว้แล้วถอดเสียเปนไพร่ ภากทันไว้ จะควรสถารใด ให้เอาแต่สถานหนึ่ง

อนึ่งผู้ใดรู้ว่าผู้ใดคิดร้ายในแผ่นดิน และผู้รู้นั้นชอบใจกันกับคลร้ายปกปิดเสียก็ดี แลเอามาผิดทูลว่าผู้ร้ายนั้นเปนคนดี จะให้ท่านเลี้ยงดู ท่านว่าผู้นั้น เลมิดพระราชอาชญาให้ลงโทษตามนักและเบา๑๐

ลุวันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑ ปีขาลโทศก เวลายามเศษ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาความ และมีพระราชบัญชาว่า


๑. ยกโทษให้อีจั่น อีนวล อีเลย ไม่ต้องประหารชีวิต แต่ถูกส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

๒. เพิ่มโทษขุนจ่าเมืองในฐานะที่เป็นกรรมการที่ต้องรักษาหน้าที่ กลับไปประสมโรง จึงให้เพิ่มโทษให้ตะเวนบก ๓ วัน เรือ ๓ วัน และให้ส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

๓. ยกโทษให้แต่ให้ภาคภัณฑ์ไว้ ได้แก่ เจ้าจอมมารดาปิ่น พระยาเพชรบุรี หลวงยุกกระบัตร หลวงปลัด

๔. ขำ เพียร เปี่ยม ข้าหลวง ให้เฆี่ยนเท่าเดิม แต่ไม่ต้องส่งไปเป็นวิเสท ให้นายเงินรับกลับไป (นายเงินก็คือ เจ้าจอมมารดาปิ่น)

๕. ผู้เกี่ยวข้องที่เหลือ เมื่อถูกเฆี่ยนแล้วให้ปล่อยตัวไป


เรื่องนี้ก็จบลงด้วยผู้ที่ทำผิดก็ถูกทำโทษไปตามระเบียบ และโทษนั้นก็มีทั้งเพิ่มและลดตามควรแก่กรณี ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีข้อควรชี้แจงเกี่ยวกับคำที่ใช้เรียกชื่อบุคคลในเหตุการณ์ ดังจะขอยกพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔ มาดังนี้

การที่จะใช้คำว่า "อี" เช่นเดียวกับคำว่า "อ้าย" คือ "ตัวแลลูกหมู่ไพร่หลวงมหันตโทษแลนักโทษที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ และขาดบรรดาศักดิ์แล้ว แลตัว แลลูกหมู่ ทาส เชลยทั้งปวงมีคำนำหน้าชื่อว่า อ้าย หญิงเช่นผู้ชายที่มีคำนำหน้าชื่อว่า อ้าย ทั้งปวงนั้นย่อมมีคำหน้าชื่อว่า "อี" ทั้งสิ้น"๑๑

การใช้คำว่า "อำแดง" ใช้กับภรรยาข้าราชการที่ศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ ลงมา

ส่วนที่ไม่มีคำนำหน้าชื่อ ได้แก่ อนุภริยา ของข้าราชการที่ถือศักดินาตั้งแต่ ๑๐๐๐๐ ลงมาถึง ๔๐๐ หญิงที่เป็นบุตรข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ และหญิงโสด

ก่อนจะจบบทความนี้ผู้เขียนยอมรับว่า "ทึ่ง" ในความสามารถของอีนวล เพราะเพียงลงมาเที่ยวที่บางกอก ได้ยินได้ฟังคำสนทนาเพียงเล็กน้อย ก็วางแผนทุจริตได้ทันที และเมื่อเหตุการณ์ทวีความซับซ้อน อีนวลก็ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็หนีชะตากรรมไปไม่ได้ ที่น่าชมอีกเรื่องหนึ่งก็คือไปสั่งสอนให้อีจั่นกล่าวว่าอีจั่นอยู่ที่บ้านที่มีช้างเผือกและลิงเผือก

ในที่นี้ต้องขยายความว่า ช้างเผือกและลิงเผือกเป็นสัตว์ที่คู่กัน เมื่อมีช้างเผือกก็ต้องมีลิงเผือกคู่กันไป ซึ่งผู้ที่สามารถเป็นเจ้าของสัตว์ทั้งสองนี้ได้ ก็มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้น



ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร

ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เชิงอรรถ

๑. ตลาดท้ายสนม เข้าใจว่าคงอยู่บริเวณท่าเตียนในปัจจุบัน

๒. ต้นฉบับเขียนว่า "นวน" แต่ต่อมาก็ใช้ว่า "นวล" ที่ถูกควรเป็น "นวล"

๓. ในหนังสือราชสกุลวงศ์ เขียนว่าพระองค์เจ้าเกสร

๔. คงจะเป็น "เจ้าแม่" ที่ชาวบ้านบริเวณนั้นนับถือ

๕. ต้นฉบับใช้ว่า "อีเลีย" ที่ถูกคงจะเป็นอีเลย

๖. เป็นตำแหน่งพนักงานฝ่ายใน ดูแลเกี่ยวกับสถานที่

๗. เข้าใจว่าเป็นตำบลมหาชัย สมุทรสงคราม

๘. การที่สตรีฝ่ายใน โดยเฉพาะเชื้อพระวงศ์ออกไปนอกพระบรมมหาราชวัง โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ถือว่าเป็นความผิดอย่างฉกรรจ์ เพราะการจะออกไปได้นั้น ต้องเป็นเหตุสำคัญๆ เช่น บิดามารดาป่วยหนักหรือสิ้นชีวิต โดยผู้ขอต้องทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้แล้วจะต้องมีท้าวนางผู้ใหญ่กำกับไปด้วย

๙. มีวิธีเขียนหลากหลาย แต่ที่ถูกก็คือพระยาเพชรบุรี

๑๐. จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๕, (กรุงเทพฯ : ๒๕๓๐), หน้า ๕๗.

๑๑. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ดำรงธรรม, ๒๕๑๑), หน้า ๔๔๖. (คณะสงฆ์วัดอนงคารามพิมพ์ถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๑)


บรรณานุกรม

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑-๕. กรุงเทพฯ, ๒๕๓๐. (รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๕๓๐).

ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ดำรงธรรม, ๒๕๑๑. (คณะสงฆ์วัดอนงคารามพิมพ์ถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๑).

ราชสกุลวงศ์ : พระนามเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าในกรุงรัตนโกสินทร์. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๐.


ภาคผนวก

พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

ประสูติก่อนอุปราชาภิเษก

(ที่ ๑๒) พระองค์เจ้าหญิงอำพัน ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ พระชันษา ๗๙ ปี ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาปิ่น

ประสูติเมื่ออุปราชาภิเษกแล้ว

(ที่ ๒๖) พระองค์เจ้าหญิงเกสร ประสูติเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๕๓ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาปิ่น


หมายเหตุ หนังสือราชสกุลวงศ์มิได้ระบุว่า พระองค์เจ้าเกษรสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ใด แต่แจ้งว่าสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๒ สวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗ เพราะฉะนั้นพระองค์เจ้าเกษรคงต้องสิ้นพระชนม์ก่อนปี พ.ศ. ๒๓๖๗ คะเนอย่างคร่าวๆ ก็คงมีพระชนม์ ๑๐-๑๔ พรรษา ซึ่งคงมีพระรูปโฉมงดงาม จนถึงเจ้าจอมมารดาเศร้าโศกอยู่มิวาย


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น: