วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕


ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ผู้วิจัย
คณะอักษรศาสตร์
ภาควิชาประวัติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ความนำ

การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งนำมาสู่การสร้างประเทศสยามยุคใหม่ ที่น่าสนใจคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นปัญญาชนร่วมสมัยคนหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ ที่เขียนเรื่องอ่านเล่นธรรมดา แต่ในที่สุด กระแสแห่งแนวคิดประชาธิปไตยที่เผยแพร่ในระยะก่อนการปฏิวัติ ก็โน้มนำให้กุหลาบเปลี่ยนแปลงความคิด และกลายเป็นนักคิดที่มีอุดมการณ์แบบใหม่แห่งลัทธิประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบจึงแสดงท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติอย่างชัดเจน และได้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการวิพากษ์แนวความคิดเรื่องการถือชาติกำเนิด ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่รักษาระบบศักดินาฐานันดรก่อนหน้าการปฏิวัติ

ต่อมา เมื่อเวลาผ่านไป จนถึง พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยมแล้วและได้ประพันธ์นวนิยายเพื่อชีวิตเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" กุหลาบ ก็ยังคงยอมรับในอุดมการณ์ของการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เพียงแต่เห็นว่า ในระยะเวลาต่อมา ผู้ก่อการคณะราษฎร ก็ได้กลายเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มิได้รักษาอุดมการณ์ของตนเอง ลักษณะความคิดเช่นนี้จะเห็นได้ชัดอีกครั้งเมื่อ กุหลาบ เขียนนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งสะท้อนสังคมก่อนการปฏิวัติ จนถึงเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" ซึ่งเป็นเรื่องเล่าหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ในบทความนี้ ต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ของคุณกุหลาบ ที่สอดคล้องกับคณะผู้ก่อการคณะราษฎร ที่นำมาสู่จุดยืนที่สนับสนุนการปฏิวัติอย่างไม่เปลี่ยนแปลง


๑.

อุดมการณ์ใหม่ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ.๑๒๓ ซึ่งเป็นวันสิ้นปี พ.ศ.๒๔๔๗ ตามปฏิทินเก่า(*)บิดาชื่อ นายสุวรรณ เป็นเสมียนเอกกรมรถไฟ, มารดาชื่อ นางสมบุญ. กุหลาบมีพี่สาว ๑ คน ชื่อ จำรัส ได้รับการศึกษาในวัยเด็กที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนจบชั้นประถม ๔ จากนั้น เข้าเรียนโรงเรียนทหารเด็กของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ และมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์. บิดาของกุหลาบ ถึงแก่กรรมตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้ ๖ ปี ทำให้ครอบครัวของเขาต้องอยู่ในฐานะยากจนมาก มารดาของเขาต้องรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนพี่สาวยึดอาชีพแสดงละครร้อง จึงสามารถที่จะส่งกุหลาบให้เรียนจบจบชั้นมัธยมได้ จากพื้นฐานครอบครัวเช่นนี้ น่าจะทำให้กุหลาบเป็นคนที่มีความรู้สึกเห็นใจคนยากจน และให้ความสำคัญยกย่องความเป็นแม่

(*)ในขณะนั้น วันขึ้นปีใหม่เริ่มที่วันที่ ๑ เมษายน ดังนั้น การคิดว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิด พ.ศ.๒๔๔๘ และ ฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีใน พ.ศ.๒๕๔๘ นั้น เป็นการคิดแบบง่าย โดยการย้อนตามปฏิทินของระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อคุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ผู้บุตร ยืนยันว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดปีมะโรง จึงต้องเป็นปี พ.ศ.๒๔๔๗ เพราะ ปี พ.ศ.๒๔๔๘ นั้น เป็นปีมะเส็ง ดูเพิ่มเติมจาก ข้อท้วงติง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับ ๙๖ ปีศรีบูรพา ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒-๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔)


ในระหว่างที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาก็ได้เริ่มชีวิตการเขียนหนังสือ และเมื่อจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ แล้ว ก็ได้ประกอบอาชีพในด้านที่จะเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ (*) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ยุคสมัยที่กุหลาบเริ่มประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์นั้น ยังเป็นสมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสถาปนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และยังดำรงอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๗

(*) รายละเอียดของประวัติในช่วงนี้ ที่เรียบเรียงได้ดี และแสดงหลักฐานชัดเจน ดูได้จาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี. "สุภาพบุรุษ...มนุษยภาพ ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์ คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา. พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ : ๘๗.


ลักษณะสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ที่สถาบันกษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ โดยราษฎรทั่วไปไม่มีสิทธิทางการเมืองแต่อย่างใด แต่มีหน้าที่จะต้องจงรักภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ในทางสังคมก็ไม่มีความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนเห็นได้ชัดเจน โดยมีชาติกำเนิดเป็นหลักสำคัญในการแบ่งชั้นของมนุษย์ เพราะชนชั้นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ มีสถานะเหนือกว่าไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป

ราว พ.ศ.๒๔๗๐ มีสถิติว่า กลุ่มเจ้านายมีมากถึง ๑๐๘ องค์ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ๒๕๓๕ : ๒๕) ท่านทั้งหมดนี้อยู่ในลำดับสูงของสังคม มีภาษา มีกฎระเบียบในสังคมตนเอง ไม่อาจลดพระองค์ลงมาเท่าเทียมกับราษฎรสามัญได้ ดังนั้น ชนชั้นเจ้านายจึงทรงไว้ซึ่งสถานะอันสูงส่งด้วยชาติกำเนิด และชาติกำเนิดนำมาซึ่งผลประโยชน์จำนวนมาก เช่น ทรงมีเบี้ยหวัดเงินปีจำนวนมาก และเมื่อทรงรับราชการจะเลื่อนตำแหน่งเร็ว ได้รับตำแหน่งสูงโดยง่าย และได้รับพระราชทานเงินเดือนจำนวนมาก ทรงมีวังอันอัครฐานเป็นที่พักอาศัย มีบริวารจำนวนมาก และอยู่ในสถานะอันพึงเคารพสำหรับราษฎรอยู่เสมอ

แต่กระนั้น ระบอบกษัตริย์สมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งดูเหมือนจะมั่นคง ก็ได้ถูกท้าทายในด้านแนวคิดจากอุดมการณ์ใหม่ นั่นคืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักการสำคัญ ก็คือ การให้คุณค่าแก่ราษฎร โดยเสมอว่าราษฎรเป็นเจ้าของประชาคมทางการเมือง ดังนั้นระบบการเมืองแบบเก่า ที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของกษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์จำนวนน้อยจึงไม่ถูกต้อง ควรที่จะยินยอมให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยผ่านระบอบปาเลียเมนต์ หรือให้มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร

นอกจากนี้ คือ การให้มีหลักประกันในด้านกฏหมายที่จะจำกัดอำนาจของกษัตริย์ ที่เรียกว่า คอนสติติวชั่น หรือ รัฐธรรมนูญ (*) ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ โดย คณะกราบบังคมทูล ร.ศ.๑๐๓ นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และต่อมา ก็จะถูกนำเสนอในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเทียนวรรณ ที่กล่าวว่า ราษฎรนั้นเป็น"สายโลหิตแห่งแผ่นดิน" เป็น "แก้วตาของพระมหากษัตริย์" ดังนั้น จึงควรที่จะมีการแก้ไขวิธีการปกครองให้ทันสมัยโดยให้มีระบอบรัฐสภากล่าวคือ "จะตั้งปาลิเมนอนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนต่อราษฎรได้"(**)

(*) ก่อน พ.ศ.๒๔๗๕ คำว่า ปาเลียเมนต์ และ คอนสติติวชั่น นั้นใช้ทับศัพท์ การบัญญัติศัพท์ เป็นคำว่า รัฐสภา และรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๗๕.

(**) กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เคยเขียนบทความสดุดีความคิดของเทียนวรรณไว้ในเรื่อง "เทียนวรรณ บุรุษรัตน์ของสามัญชน" ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อพิมพ์ในหนังสือเรื่อง เทียนวรรณ ที่ค้นคว้าเรียบเรียงโดยสงบ สุริยินทร์ และหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก ใน พ.ศ.๒๔๙๕ นี้เอง


แนวคิดลักษณะนี้ยังสืบทอดต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ออกหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของการปฏิวัติประชาธิปไตยในจีน ก็ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยในสยามด้วย. ดังนั้น เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยยิ่งรุนแรงมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายตัวของสำนึกแห่งความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ ที่จะทำให้สถานะอันสูงส่งของชนชั้นเจ้านาย เริ่มเป็นที่ไม่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ดังปรากฏหลักฐานว่า เพียงเดือนแรกที่ขึ้นครองราชย์ ก็มีนายภักดีกับนายไทย เสนอหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (สุวดี เจริญพงศ์ ๒๕๑๙ : ๑๐๔)

นอกจากนี้ คำว่า "ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น" เป็นที่คุ้นเคยกันทั่วไป และได้มีบทความลงหนังสือพิมพ์หลายบทความที่วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น "เจ้านายกับขุนนาง" ใน บางกอกการเมือง (๒๘ เมษายน ๒๔๗๐) ชี้ว่า มีแต่เจ้านายและขุนนางเป็นผู้บงการประเทศ ราษฎรไม่มีสิทธิแต่ประการใด. บทความเรื่อง "ราษฎรตื่นแล้ว" ใน สยามรีวิว (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๐) เสนอว่า การเรียกร้องให้มีรัฐสภาเป็นความต้องการของราษฎร ถ้าหากไม่ได้รับการตอบสนองอาจจะมีการเรียกร้องด้วยวิธีรุนแรง ที่เรียกว่า "เลือดกับเหล็ก" และ บทความชื่อ "เห็นว่าเจ้าเป็นตุ้มถ่วงความเจริญ" ออกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราษฎร (๙ มกราคม ๒๔๗๑) วิจารณ์"พวกเจ้าราชวงศ์ของจีน"ว่าเอาแต่แสวงความสุขส่วนตัว ไม่แก้ปัญหาบ้านเมือง จนในที่สุดราษฎรต้องลุกขึ้นทำการเก๊กเหม็ง(ปฏิวัติ)โค่นเจ้าราชวงศ์เหล่านั้นลง

เมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกมาเป็น"นักแต่งหนังสือ" ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ ในระยะแรกก็ยังเป็นเหมือนนักเขียนรุ่นใหม่ธรรมดา ที่เขียนบทความที่ถ่ายทอดความรู้และสื่อความคิด พร้อมกับแต่งเรื่องอ่านเล่น ดังนั้น เรื่องสั้นและนวนิยายที่แต่งและพิมพ์เผยแพร่ในสมัยแรก ในนามปากกาว่า "ศรีบูรพา" จึงเป็นเพียงเรื่องรักที่สอดแทรกคุณธรรมในบางลักษณะ เช่น เรื่องสั้น "วาสนาความรัก" (พ.ศ.๒๔๖๙) ก็อธิบายความเป็นไปของความรักระหว่างหนุ่มสาวด้วยเรื่องของ "วาสนา". ส่วนนวนิยายหลายเรื่องที่ศรีบูรพาแต่งขึ้น (*)๕ เช่น โลกสันนิวาส(แต่ง พ.ศ.๒๔๖๙) ชีวิตสมรส(พ.ศ.๒๔๗๐) (**) มารมนุสส์(พ.ศ.๒๔๗๐) หัวใจปรารถนา(พ.ศ.๒๔๗๐) ต่างก็เป็นเรื่องชิงรักหักสวาทอย่างธรรมดาทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่อง ปราบพยศ (พ.ศ.๒๔๗๑) นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มชื่อ โกมล ดุสิตสมิต ต้องการที่จะเอาชนะความรักของหญิงงามผู้มีหัวใจปราศจากความรัก คือ ยวนใจ โรหิตบวร ปรากฏว่าในท้ายที่สุด นายโกมลก็สามารถปราบพยศ เอาชนะหัวใจหญิงสาวได้ ซึ่งโครงเรื่องลักษณะนี้ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น (***)

(*) ความจริงนวนิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ของ ศรีบูรพา ใน พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเรื่อง "คุณพี่มาแล้ว" และ "จ้าวหัวใจ" (ดูบันทึกการแต่งหนังสือ ใน "คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา". พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ : ๑๐๐-๑๐๑. รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๙๕) อธิบายว่า นวนิยายเรื่องแรก ของศรีบูรพา คือ "คมสวาทบาดจิต" แต่งานเหล่านี้ยังหาตันฉบับไม่ได้ ปรากฏว่าเรื่อง คมสวาทบาดจิต ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในบันทึกการแต่งเลยด้วยซ้ำ)

(**) น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับที่ในบรรทึกการแต่ง เขียนว่า เป็น "ชีวิตวิวาห์"

(***) แต่ต่อมา เรื่อง "ปราบพยศ" กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยประเมินค่าเมื่ออยู่ในคุก เมื่อมีสำนักพิมพ์มาขอพิมพ์ซ้ำเรื่องนี้ในพ.ศ.๒๔๙๗ ว่า "ปราบพยศไม่ได้เรื่องอะไร ผมเขียนตั้งแต่หนุ่มๆ เราได้เงินค่าเรื่องห้าพันก็จริง แต่คนอ่านกลับงมงายตามเราไปด้วย สำนักพิมพ์เท่านั้นที่เป็นผู้ได้" (ไพศาล มาลาพันธ์ ๒๕๒๘ : ๑๘๓)


จนกระทั่งในเรื่องสั้นเรื่อง"เล่นกับไฟ" ตีพิมพ์ในนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ที่ได้เริ่มสะท้อนถึงอุดมคติในบางลักษณะ ดังที่กุหลาบได้สอดแทรกข้อความในเนื้อเรื่องว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น"และในนวนิยายเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ซึ่งกุหลาบแต่งในปี พ.ศ.๒๔๗๑ เช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องรักประโลมโลกธรรมดา แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า เขาได้รับผลสะเทือนจากความคิดแบบใหม่โดยเฉพาะอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์ที่เกิดมาย่อมมีฐานะที่เท่าเทียมกัน กุหลาบจึงไม่เห็นด้วยกับสังคมสยามในขณะนั้นที่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำต่ำสูง โดยเฉพาะการคัดค้านสถานะที่ได้จากชาติกำเนิด ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ฐานะและชาติกำเนิด เพราะตัวเอกของเรื่อง คือ มาโนช รักสมาคม มาจากชนชั้นล่าง มีพ่อเป็นช่างไม้ แต่ก็สามารถที่จะอาศัยความตั้งใจจริงในระบบการศึกษา สร้างตนเองจนได้รับราชการเป็นพระวิสุทธิสัตถญาน ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และยังเป็นคนที่มีคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนกระทั่งศัตรูคู่แข่งก็ยังต้องยกย่องว่า เป็น"ลูกผู้ชายที่แท้จริง"(*)

(*) ดู จดหมายของตัวละคร ชื่อ คีรี สีตะกำแหง ลูกขุนนางซึ่งเป็นผู้ร้ายในเรื่องนี้ เป็นคู่แค้นที่รังแก มาโนช มาตั้งแต่เด็ก ทั้งยังเป็นชู้และชิงอาภา ภรรยาของมาโนช แต่สุดท้ายต้องยอมรับในคุณธรรมความเป็นลูกผู้ชายของพระวิสุทธิสัตถญาน ดู ศรีบูรพา. ลูกผู้ชาย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๔๕) : ๒๕๓.


ความคิดเรื่องความเป็น "ลูกผู้ชายที่แท้จริง" กับเรื่อง "ความเป็นสุภาพบุรุษ" น่าจะเป็นเรื่องอันเดียวกันและเป็นเหตุผลหนึ่งในการที่ กุหลาบและเพื่อนมิตรร่วมกันออกนิตยสาร "สุภาพบุรุษ" รายปักษ์ ในเดือนมิถุนายนพ.ศ.๒๔๗๒ โดยมี กุหลาบเอง รับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ, อบ ไชยวสุ ซึ่งร่วมก่อตั้งนิตยสารนี้ เล่าว่า กุหลาบเป็นคนตั้งชื่อนิตยสารเอง เพราะกุหลาบได้กล่าวว่า "ผมคิดอยู่นานแล้วว่าจะใช้คำว่า "สุภาพบุรุษ"เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมตัวกันขึ้น" (ฮิวเมอริสต์ ๒๕๓๑ : ๑๖๕) ดังนั้นในเรื่อง"พูดกันฉันท์เพื่อน" ที่กุหลาบ เขียนในนิตยสารสุภาพบุรุษฉบับปฐมฤกษ์ ได้อธิบายถึงความหมายของสุภาพบุรุษ โดยดึงเอาประโยคสำคัญมาจากเรื่อง"เล่นกับไฟ" ดังความว่า

หัวใจของความเป็นสุภาพบุรุษ อยู่ที่การเสียสละเพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กระชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น"(อ้างใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ๒๕๔๘ : ๙๓) แม้ว่า ความคิดเรื่องลูกผู้ชาย และสุภาพบุรุษ ของกุหลาบในที่นี้จะโยงเข้ากับอุดมคติแห่งการเสียสละ แต่ก็ยังเห็นได้ว่า เป็นความคิดที่มีลักษณะของบุรุษนิยม หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่ (*) ได้อย่างชัดเจน เหมือนกับแนวคิดของชายทั่วไปในสังคมสยาม

(*) แนวความคิดบุรุษนิยม หรือชายเป็นใหญ่ คือ แนวคิดที่ถือว่า ชายมีสิทธิและศักดิ์เหนือสตรี ซึ่งรวมไปถึงลักษณะการกำหนดให้คุณธรรมหรือความดีงามในบางลักษณะ ผูกโยงเข้ากับความเป็นเพศชาย เช่น ความเป็นลูกผู้ชาย หรือความเป็นสุภาพบุรุษ ที่โยงเข้ากับสัจจะหรือการรักษาคำพูด ความมีน้ำใจนักกีฬา ความสุภาพเรียบร้อย และในกรณีนี้ คือ การเสียสละต่อผู้อื่น ความจริงคุณธรรมเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นลูกผู้ชาย หรือสุภาพบุรุษอะไรเลย เพราะลูกผู้หญิง หรือ สุภาพนารี ก็มีได้เช่นกัน


กุหลาบยังมิได้มีความคิดก้าวหน้าถึงขั้นที่จะเข้าใจเรื่องสิทธิสตรี ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดมากขึ้นในนวนิยายเรื่อง แสนรักแสนแค้น (พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๓) ซึ่งกุหลาบวางโครงเรื่องให้จุไร สตรีที่เป็นคนรักของนายพโยม สิงหยรรยง ไปแต่งงานกับคนอื่น ปรากฏว่าพโยมได้ประนามจุไรอย่างรุนแรง และลงมือแก้แค้นด้วยความพยาบาท ปราศจากความเห็นใจหรือให้อภัย และจบเรื่องลงท้ายด้วยความตายอย่างไร้เกียรติของจุไร ซึ่งถ้าประเมินจากพฤติกรรมในเนื้อเรื่องแล้ว ต้องถือว่า พโยมเป็นคนชั่วยิ่งกว่าจุไรผู้ไม่ซื่อสัตย์มากมาย (*)

(*) ดู ศรีบูรพา แสนรักแสนแค้น. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๒๙). ความจริงน่าจะถือได้ด้วยซ้ำว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นนวนิยายที่เนื้อหาแย่ที่สุดของศรีบูรพา.


ความสนใจเรื่องสิทธิของมนุษย์เห็นได้ชัดเจนเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบทความเรื่อง "มนุษยภาพ"ลงใน หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ เริ่มตอนแรกในฉบับวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๔ แต่บทความชุดนี้ยังไม่จบสมบูรณ์ก็เกิดปัญหา เพราะหลวงวิจิตรวาทการ(กิมเหลียง วัตนปฤดา)และคณะได้เข้ามาถือหุ้นในไทยใหม่ และมีนโยบายไม่ต้องการให้วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กุหลาบจึงนำบทความมาปรับปรุงแล้วพิมพ์ซ้ำอีกครั้งเป็น ๓ ตอนในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เริ่มในฉบับวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๔(ปฏิทินเก่า) ในบทความนี้ กุหลาบได้แสดงจุดมุ่งหมายในส่วนนำเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ว่า - ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเปนไปได้ -

ในบทความ กุหลาบได้เริ่มด้วยคำถามว่า "มนุษยภาพหรือความเปนมนุษย์ หรือ ความเปนคนควรวางอยู่บนลักษณะอย่างไร" จากนั้น ก็ได้พูดถึง "สิทธิ" โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดในประเทศสยามจึงไม่มีการนำพาในเรื่องสิทธิ. คำตอบของกุหลาบ ในเรื่องนี้ ก็คือสัจจะ หรือความจริง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับความซื่อตรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นมนุษย์ จากนั้นก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การโกหกตอแหล การหลอกลวง ซึ่งตรงข้ามกับความจริงนั้น ได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและคนชั้นสูง และว่า "บุคคลผู้มีอำนาจ อันประกอบด้วยชาติตระกูล ด้วยยศศักดิ์ หรือด้วยเงินก็ตาม มักจะไม่ใคร่อยู่กันสัจจะหรือความเป็นจริง"

ปรากฏว่าบทความเรื่อง"มนุษยภาพ" นี้เองเป็นเหตุให้ พล.ต.ท.พระยาอธิกรณประกาศ (หลุย จาติกะวณิชย์) อธิบดีกรมตำรวจภูธรสั่งปิดแท่นพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และทำให้พระยาอุปการศิลปเสรฐ(อั่น ชัชกุล) ซึ่งเป็นบรรณาธิการถูกถอนใบอนุญาต หนังสือพิมพ์ศรีกรุงปิดได้ ๙ วัน ก็ได้เปิดดำเนินการใหม่ โดยเปลี่ยนบรรณาธิการเป็น นายเจริญ วิสิษฐ์

นอกจากนี้ ใน พ.ศ.๒๔๗๔ นี้ กุหลาบ ก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "สงครามชีวิต" เป็นรูปจดหมายโต้ตอบระหว่างคนรัก คือ นางสาวเพลินกับระพินทร์ ยุทธศิลป์

(*) โดยในจดหมายรักเหล่านี้ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะในเชิงวิจารณ์สังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสำนึกเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคม เช่นการที่กุหลาบได้อธิบายถึง ความแตกต่างระหว่างคนยากจนและคนมั่งมีไว้ว่า - คนยากจนต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อความเป็นอยู่อันจำเป็น คนมั่งมีต่อสู้เพื่อการสะสม แล้วในที่สุด ไปจากโลกนี้ คนทั้งสองประเภทก็ไปทำนองเดียวกัน คือไปด้วยมือเปล่าแท้ๆ - และด้วยความยากจนของคนทั้งสองนี้เอง ที่ทำให้เพลินตัดสินใจไม่แต่งงานกับระพินทร์ แต่ไปแต่งงานกับ วินัย บูรณเกียรติ ที่มีฐานะการเงินอันมั่นคงกว่า นวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องชีวิตของคนยากจน ที่จบลงด้วยความไม่สมหวัง ไม่ได้จบด้วยความสุขสมหวังเหมือนนวนิยายพาฝันทั่วไป. นอกจากนี้ ยังอาจได้ตีความว่า "สงครามชีวิต" เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่มีเป้าหมายเสนอปัญหาสังคม และวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเน้นความสำคัญจนถึงเ ป็นแก่นเรื่อง (ตรีศิลป์ บุญขจร ๒๕๒๕ : ๔๒)

(*) นวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต นี้ ศรีบูรพา นำรูปแบบการเขียนจดหมายตอบโต้ กับลักษณะเนื้อหา มาจาก นวนิยายเรื่อง "รักของผู้ยากไร้" (Poor People) ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนชาวรุสเซีย ซึ่ง ศรีบูรพา สอดแทรกเรื่องของดอสโตเยฟสกี้ไว้ โดยที่ระพินทร์ได้เล่าเรื่องนักเขียนผู้นี้ให้เพลินทราบในจดหมายฉบับหนึ่ง และสุดท้ายก็ให้เพลินเขียนตอบไว้ตอนหนึ่งว่า "ระพินทร์จงตั้งต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่ลือนามของนักประพันธ์ตามความใฝ่ฝันของเธอ ดิฉันอนุญาตให้เธอนำเรื่องราวของเราเขียนเป็นหนังสือเล่มแรก ดิฉันเชื่อมั่นว่า เธอจะได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกับที่ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ได้รับจากเรื่อง Poor People ของเขา" ดู ศรีบูรพา. สงครามชีวิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๘), หน้า ๒๔๓.



๒.

กุหลาบ สายประดิษฐ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕

เมื่อเกิดการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงมีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติโดยทันที โดยแรกสุด หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ที่มี กุหลาบ ร่วมในกองบรรณาธิการ ได้มีท่าทีในทางตอบรับต่อการปฏิวัติ จากนั้นใน ศรีกรุง ฉบับวันที่ ๕ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนเรื่อง "สร้างสยามใหม่ในชั่วเวลา ๗ วัน" อธิบายให้เห็นคุณูปการของการปฏิวัติครั้งนี้อย่างชัดเจนว่า ภายในเวลา ๗ วัน คณะราษฎรได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำไม่ได้ นั่นคือ การดำเนินการให้มีธรรมนูญการปกครองและให้มีสภาราษฎรในสยาม และยกย่องคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยใช้คำว่า "คณะรักชาติ" ดังใจความตอนหนึ่งว่า

"ในช่วงเวลา ๗ วัน คณะรักชาติได้พิสูจน์ให้เราเห็นความสามารถอันยิ่งใหญ่ เราได้ธรรมนูญการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฏหมาย เปนธรรมนูญที่ให้สิทธิแก่ประชาราษฎรอย่างสมบูรณ์ ในอันที่จะแสดงความคิดเห็นในการบ้านเมือง" และแสดงความชื่นชมว่า "คณะราษฎร์ได้ยกภูเขาทั้งลูกผ่านพระเจ้าแผ่นดินไปแม้โดยใกล้ชิด ก็มิได้กระทำอาการซวนเซให้กระทบกระทั่งพระวรกายของพระองค์ คณะราษฎร์ได้ผ่านพระองค์ไปด้วยความเคารพ. จากนั้น ก็สรุปว่า การปฏิวัติครั้งนี้ เป็นไปเพื่อความดีงามของคนไทย ชาติไทย บ้านไทยเมืองไทย" ไม่ใช่เพียงแต่ในวันนี้เท่านั้น แต่จะเป็นมรดกตกทอดไปในอนาคตด้วย

การสนับสนุนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีต่อ"คณะรักชาติ"ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มิได้เป็นเพียงการแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังนำเสนออย่างชัดเจน ถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ ดังนั้นกุหลาบ จึงได้เขียนบทความ ๓ ตอนครั้งใหม่ โดยบทความแรกนั้น ลงในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ในชื่อว่า "สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน" เขาได้เสนอว่า ชีวิตของประเทศนั้นควรจะผูกไว้กับความจริง และชี้ให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น ราษฎรสยามถูกอบรมให้เชื่อมั่นในเรื่องชาติกำเนิดของบุคคลมากเกินไป ดังนี้


ตลอดเวลา ๑๕๐ ปี ในอายุของกรุงเทพฯมหานคร เราได้รับการอบรมให้มีความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่า เจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกเจ้าชีวิต ท่านตอบว่าเจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆ ได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆ คนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆ คนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย เมื่อเราพูดถึงเจ้านาย เราจะต้องพูดว่าเจ้านายที่เคารพทุกครั้งไป กฎหมายไม่ได้บังคับให้เราพูด แต่จารีตประเพณีและการอบรมบังคับให้เราพูดเอง

เราพากันเคารพบูชาเจ้านาย เพราะเจ้านายเป็นผู้บันดาลให้เกิดความสำเร็จแทบทุกชะนิด ทุกๆ คนที่หวังความสุข พยายามอยู่ในโอวาท และในความรับใช้ของเจ้านาย เราพากันพิศวงงงงวยในความสามารถของท่าน เราคิดว่าถ้าขาดครอบครัวของท่านเสียครอบครัวเดียว สยามจะต้องล่มจม ไม่มีใครปกครองประเทศได้ดีเท่าพวกท่าน ดังนั้นเราจึงถือความเชื่อมั่นกันมาว่า สิ่งสำคัญในตัวบุคคลคือ ชาติกำเนิด ผู้ที่เกิดมาเปนเจ้านาย จะต้องเป็นที่เคารพทุกคน เจ้านายจะต้องเปนคนดีทั้งนั้น จะเปนคนชั่วไม่ได้เลย นอกจากพวกเจ้านายแล้ว เราไม่เชื่อในความรู้ความสามารถของใคร เราไม่เชื่อว่าบุคคลอื่นจะบันดาลให้เกิดความสำเร็จได้


ต่อมาในศรีกรุงฉบับวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เสนอบทความตอนที่ ๒ ที่ชัดเจนมากขึ้นในบทความที่ชื่อว่า"ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน"โดยมีความขยายว่า -พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดบุคคลเปนหลัก พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่- ในส่วนนี้ กุหลาบ อธิบายเพิ่มเติมว่า


ตามความอบรมที่เราได้รับสืบต่อกันมา ทำให้เราเชื่อกันโดยมากว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทุกองค์เปนผู้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทรงกระทำ พวกเรายอมรับกันว่าเปนสิ่งถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ครอบครัวของราชวงศ์จักรีเปนปาปมุติ คือ เปนผู้ที่พ้นจากบาป ไม่เคยทำอะไรผิดและจะไม่ทำผิด เรารับรองคติอันนี้โดยอาการที่เราไม่ตำหนิ หรือทักท้วงการกระทำทุกอย่างของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ เราทำตัวเหมือนลิ่วล้อตามโรงงิ้ว คือ ร้องฮ้อทุกครั้ง ไม่ว่าตัวงิ้วหัวหน้าจะพูดอะไรออกมา

แท้จริงพวกเจ้านายก็เปนมนุสส์ปุถุชนเหมือนอย่างพวกเราๆ นี่เอง ย่อมจะข้องอยู่ในกิเลสอาสวะ มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ดุจคนทั้งปวง เมื่อบุคคลในครอบครัวทั้งหลายอื่น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนในครอบครัวหนึ่ง ก็ยังมีคนดีคนชั่ว คนทำถูก ทำผิด คลุกคละปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นฉะนี้ เหตุใดครอบครัวของเจ้านาย...จึงกลายเปนคนดีคนทำถูกไปเสียทั้งหมด


กุหลาบได้วิพากษ์ว่า การนับถือชาติกำเนิดในลักษณะเช่นนี้ เป็นการฝ่าฝีนความเป็นจริง และขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้สอนสาวกให้ยึดเอาชาติกำเนิดหรือตัวบุคคล เป็นเครื่องวินิจฉัย ดังนั้น การยกเอาชาติกำเนิดมาเป็น"เครื่องชั่งน้ำหนัก" จึงถือว่า "เป็นการหลงผิดอย่างงมงาย" แต่กระนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เสนออย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มิได้กระทำโดยมุ่งที่จะละเมิดเดชานุภาพของกษัตริย์ โดยอธิบายว่า


ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะลบหลู่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ใดๆ ที่ได้มีอยู่กับประเทศสยาม ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์เปนอย่างดี เพียงแต่ข้าพเจ้าตั้งใจจะให้คนทั้งปวงตกหนักในความจริงว่า ชาติกำเนิดมิได้เปนเครื่องวัดความดีความชั่ว ความสามารถ และไม่สามารถของบุคคล

(ศรีกรุง ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕ : ๑)


ต่อมา ในวันที่ ๑๖ และ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เสนอตอนที่ ๓ ของบทความ ในชื่อว่า "ความเชื่อมั่นของสยามใหม่ อยู่ที่คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคล" โดยอธิบายว่า คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคลนั่นเอง คือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอันชอบธรรม ไม่ใช่ชาติกำเนิดและวัยวุฒิ ข้อพิสูจน์ของเขาก็คือ ความสำเร็จของการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งกระทำการโดยคนรุ่นหนุ่มที่ไม่สูงด้วยวัยวุฒิ และมิได้มีชาติกำเนิดอันสูงส่ง กุหลาบชี้ว่า "เราเรียกแผนการปกครองของคณะราษฎร ว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมได้เต็มปาก การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ และสมภาพ อันผู้เรียกร้องพึงมีพึงได้นั้น ใคร่เล่าจะบังอาจคัดค้านว่า เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยทำนองคลองธรรม"

และเสนอต่อไปว่า บุคคลที่ทำกรรมดีเท่านั้น จึงควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ เราพึงเคารพบูชาความดีและความสามารถของคนเป็นข้อใหญ่ โดยไม่ต้องใส่ใจว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร เพราะแม้กระทั่งเจ้านายที่ประกอบด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม ก็มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับราษฎรทั้งหลาย จากนั้นก็ได้อธิบายการปิดฉากของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า


สมัยแห่งการโกหกตอแหลเจ้าเอย ขอให้เจ้าได้ตายอย่างสนิทเถิด เจ้าอย่าเพียงแต่สลบ เจ้าจงอย่าได้ห่วงใยในบุคคลที่รักของเจ้าเลย สมัยของความสัตย์จริงจะเลี้ยงดูคนที่รักของเจ้าให้มีทั้งความสุขและความเจริญ ถ้าเขาจะไม่ทำตัวเปนปรปักษ์กับสมัยของเรา เจ้าจงตายให้สนิทและไปเกิดในนรก ซึ่งเปนบ้านเกิดเมืองนอนของเจ้าเถิด ประเทศสยามได้กล่าวคำอำลาเจ้าแล้ว

(ศรีกรุง ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕ : ๕)


หลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ม.จ.วรรณไวยากร วรวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้านายที่สนับสนุนการปฏิวัติ ต้องการที่จะออกหนังสือพิมพ์การเมืองเพื่อเสริมสร้างความรู้ในด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชน จึงได้ชักชวนให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ และชักชวนเพื่อนของกุหลาบหลายคนร่วมในกองบรรณาธิการด้วย หนังสือพิมพ์นี้ออกฉบับปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๕ และกลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญในสมัยแห่งการบริหารของคณะราษฎร

ใน พ.ศ.๒๔๗๘ กุหลาบ ได้เขียนลำนำสั้นเรื่อง "แม่ทำอะไรบ้างหนอ" รวมพิมพ์ในหนังสือ แม่จ๋า ซึ่งเป็น หนังสือชุมนุมบทกวี พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพของคุณแม่บุญเกิด ปาจิณพยัคฆ์ มารดาของหลวงสารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในลำนำบทนี้ กุหลาบได้เขียนยกย่องความเป็นแม่ว่า ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยไม่มีใครมองเห็น และที่น่าสนใจก็คือ การที่กุหลาบเปรียบเทียบผลงานที่ยิ่งใหญ่ของแม่ กับงานสำคัญจำนวนมากในโลก เช่น การค้นพบอเมริกาของโคลัมบัส การค้นพบยาแก้พิษสุนัขบ้าของปาสเตอร์ การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ การรวมอาณาจักรเยอรมนีของ บิสมาร์ค และพ่วงท้ายด้วยงานของ ท่านเจ้าคุณพหลฯและคณะ ที่ทำให้ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กุหลาบ ยังถือว่าการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่อยู่เสมอ

พ.ศ.๒๔๗๙ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม มีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น ได้เกิดปัญหาในกองบรรณาธิการเพราะฝ่ายของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เห็นว่า ประชาชาติแสดงท่าทีสนับสนุน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของตน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ และเดินทางไปดูงานที่หนังสือพิมพ์อาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๖ เดือน ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งในโอกาสนี้เอง ที่เขาได้เก็บข้อมูลมาเขียนนวนิยายเรื่องสำคัญ คือเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติใน พ.ศ.๒๔๘๐

นวนิยายเรื่อง"ข้างหลังภาพ" นี้ เป็นเรื่องรักสะเทือนใจที่เป็นที่นิยมที่สุดของศรีบูรพา นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงภาพของ หม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งเป็นสตรีชั้นสูงในสังคมเก่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่เป็นโสดตลอดชีวิต. แต่เนื่องจากปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ที่ทำให้เชื้อพระวงศ์มีโอกาสสมรสกับสามัญชน(*) หม่อมราชวงศ์กีรติ จึงต้องเลือกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๕ ปี กับพระยาอธิการบดี ที่เป็นขุนนางอายุ ๕๐ ปี และเดินทางไปฮันนีมูนที่กรุงโตเกียว ปรากฏว่า เธอได้ไปรู้จักกับนพพร นักเรียนไทยอายุ ๒๒ ปี และได้สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก

(*) ในสังคมก่อนการปฏิวัติ มีแต่เจ้านายผู้ชายเท่านั้น ที่สามารถรับเอาสตรีสามัญเป็นชายาได้ ส่วนเจ้านายผู้หญิงต้องสมรสกับเจ้านายด้วยกันเองเท่านั้น ไม่อาจลดองค์มาสมรสกับสามัญชนได้เลย หรืออีกนัยหนึ่ง ชายสามัญชนก็ไม่อาจที่จะอาจเอื้อมไปสมรสกับสตรีเชื้อพระวงศ์ได้ กฏระเบียบลักษณะนี้ ได้ถูกคณะราษฎรยกเลิกหลังการปฏิวัติ


นพพรได้สารภาพรักกับหม่อมราชวงศ์กีรติ ขณะที่ทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกที่มิดาเกาะ แต่หม่อมราชวงศ์กีรติ แม้ว่าจะรักนพพรก็ตาม ก็ไม่อาจจะตอบรับความรักได้ ต่อมาเมื่อหม่อมราชวงศ์กีรติกลับมาประเทศไทย และเวลาผ่านไป ความรักของนพพรก็เลือนลางจืดจางลง จนเมื่อจบการศึกษาก็กลับมาแต่งงานกับสตรีคนอื่น ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ ยังคงยึดมั่นในความรัก และต่อมาเธอก็ล้มป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตพร้อมกับความรักนั้น ความตายของหม่อมราชวงศ์กีรติ จึงถือเป็นการสะท้อนถึงการล่มสลายของชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕

นอกจากนี้คือเรื่อง "ป่าในชีวิต" ซึ่งกุหลาบส่งลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ในเรื่องนี้ กุหลาบ ได้แต่งให้ตัวเอกของเรื่อง คือ นายร้อยโทนิกร เสนีบริรักษ์ เป็นหนึ่งในนายทหารที่เข้าร่วมในกบฏบวรเดช และต้องถูกจับกุมติดคุกถึง ๔ ปี แต่แก่นของนวนิยายเรื่องนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรง และกุหลาบก็ไม่ได้ต้องการสะท้อนจุดยืนว่าจะสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร หรือฝ่ายกบฏบวรเดช เพียงแต่ต้องการอธิบายผลกระทบทางการเมืองต่อชะตากรรมของนิกร และความรักของเขากับนางเอกของเรื่องที่ชื่อ กันยา. เรื่องนี้จบลงด้วยการเสียสละของนิกร ที่ตัดสินใจไปจากชีวิตของกันยา แต่ที่น่าสนใจคือ ศรีบูรพาน่าจะเป็นคนแรกที่หยิบเอาเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยอันใกล้ตัว มาผูกเรื่องแต่งเป็นนวนิยาย ซึ่งยังไม่ปรากฏเห็นชัดในนวนิยายไทยสมัยก่อนหน้านี้

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ สนิท เจริญรัฐ และกลุ่มเพื่อนได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชามิตร โดยมีบริษัทไทยวิวัฒน์ ของ นายวรกิจบรรหาร(พงษ์ รังควร) เป็นเจ้าของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เข้าร่วมงานด้วย ต่อมาเมื่อประชามิตรเป็นที่นิยม บริษัทไทยวิวัฒน์ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง โดยกุหลาบเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะมีบทบาทมากขึ้น ในการวิจารณ์และท้วงติงรัฐบาล เมื่อ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมา และเริ่มบริหารประเทศด้วยนโยบายรัฐนิยม พร้อมกับมีแนวโน้มในทางทหารนิยมเผด็จการมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓ คือ การที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม สนับสนุนให้ยืดบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อจะครองอำนาจไปอีก ๑๐ ปี

ในกรณีนี้ หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ได้แสดงความเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรกำลังเอาสิทธิของประชาราษฎรไปจำหน่ายโอนโดยพลการ และเสนอความเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการยืดบทเฉพาะกาล เพื่อจะบริหารประเทศต่อไป ก็ควรที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง เพราะจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง (นุศรา อะมะรัสเสถียร ๒๕๓๒ : ๘๑)

ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้รับชัยชนะในสงครามอินโดจีน และได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ๔ จังหวัด ในโอกาสนี้ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้เลื่อนให้นายกรัฐมนตรี ได้รับยศจอมพลคนแรกหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นจอมพล หลวงพิบูลสงคราม. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เขียนวิจารณ์แนวนโยบายของรัฐบาลที่โน้มไปในทางอำนาจนิยม และสนับสนุนญี่ปุ่น ต่อมาในระหว่างวันที่ ๔ พฤษภาคม - ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ก็ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง "เบื้องหลังการปฏิวัติ"(*) ลงในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ

(*) บทความนี้ เดิมใช้ชื่อว่า "เบื้องหลังการปฏิวัติ" เพราะในขณะที่เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ การปฏิวัติยังมีครั้งเดียว ต่อมาเมื่อมีการก่อการรัฐประหารและปฏิวัติอีกหลายครั้ง หนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ จึงเติม ๒๔๗๕ ลงไป เพื่อให้เป็นที่เข้าใจชัดเจน (ทวีป วรดิลก ๒๕๔๕ : ๑๔๕)


ในกรณีนี้ ได้นำมาสู่ความไม่พอใจแก่ผู้นำในคณะรัฐบาล จนในวันที่ ๑๑ มิถุนายนนั้นเอง ได้มีการกล่าวโจมตีบทความนี้ ทางวิทยุกระจายเสียงในรายการของนายมั่นนายคง ซึ่งเป็นรายการโฆษณาของฝ่ายรัฐบาล (*)๑๔ จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ สมาชิกในสภาราษฎร ต้องตั้งข้อถามในทำนองประท้วงต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีต้องตอบต่อข้อถามในเรื่องนี้ต่อสมาชิกสภาอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเกิดเหตุเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ก็มิได้มีท่าทีอ่อนข้อจนนายกรัฐมนตรี ต้องมีจดหมายส่วนตัวมาถึงกุหลาบ ๒ ฉบับ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน และ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ด้วยน้ำใสไมตรีอันปลอบประโลมใจ แต่กุหลาบ ได้เขียนตอบไปว่า "ถึงแม้มีความผูกพันฉันทไมตรีและนับถือกันดีอยู่ แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นจะต้องกระทำต่อไป" (กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๐ : ๑๓)

(*) โดยข้อโจมตีก็คือ การนำเบื้องหลังการปฏิวัติมานำเสนอ จะทำให้ผู้ก่อการทุกท่านที่ยังมีชีวิตอยู่เกิดความกระดากใจ เพราะทุกท่านทำการปฏิวัติโดยเสียสละแล้วทุกอย่าง โดยไม่หวังผลตอบแทน และยังเสนอด้วยว่า การเสนอเบื้องหลังการปฏิวัติ จะก่อให้เกิดความรู้สึกกระทบกระเทือนแก่ความรู้สึกของคนบางหมู่บางคณะ ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ตอบโต้ข้อวิจารณ์เหล่านี้และชี้ให้เห็นว่าเป็นข้อโจมตีอันไร้เหตุผล


นอกจากนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ยังมีบทบาทในการคัดค้านการแทรกแซงเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น ในเรื่องการแต่งกาย สวมหมวก กินหมาก เป็นต้น และที่สำคัญ คือ การคัดค้านการที่รัฐบาลที่จะฟื้นฟูบรรดาศักดิ์กันอย่างมโหฬาร ซึ่งกุหลาบ (๒๔๙๐ : ๑๓) ได้เล่าเรื่องนี้ว่า


มีความดำริกันว่า จะสถาปนาท่านผุ้นำและสมัครพรรคพวกบริวารขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพญา เจ้าพญา ท่านพญา รวมทั้งสมเด็จเจ้าพญาหญิง เจ้าพญาหญิง ท่านพญาหญิง เป็นลำดับ เมื่อปรากฏรูปความคิดเห็นของนักปฏิวัติจอมพลและกลุ่มจอลพลออกมาดังนี้ ข้าพเจ้าก็เห็นแน่ว่า จอมพลและนักปฏิวัติกลุ่มนั้น ได้ประหารอุดมคติของเขาวินาศย่อยยับสิ้นเชิงลงแล้ว เราได้ให้โอกาสนานพอแก่คนพวกนั้น ที่จะปรับปรุงความคิดเห็นของเขาเสียใหม่ แต่เขามีแต่จะรุดหน้าไปในทางที่มิใช่เป็นที่นัดพบของเราตามที่เขาได้สัญญา และเราก็ได้รับเอาสัญญานั้น นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องหันหลังให้กัน แม้ว่าจะได้มีไมตรีต่อกัน


ด้วยทัศนะเช่นนี้ นำมาสู่การที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์จะถูกจับกุมเข้าคุกครั้งแรก ทั้งนี้เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามตัดสินใจยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดนและร่วมมือกับญี่ปุ่น ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีกลุ่มคนไทยผู้รักชาติ ใช้นามว่า "คณะไทยอิสสระ" ออกใบปลิวต่อต้านญี่ปุ่น และโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ว่า ยอมตกเป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น

รัฐบาลหวาดระแวงสงสัยนักหนังสือพิมพ์ว่าอยู่เบื้องหลังการทำใบปลิว ในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ จึงได้จับกุม กุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, ขจร สหัสจินดา, เฉวียง เศวตทัต, ดำริห์ ปัทมะศิริ, สุรีย์ ทองวานิช, และคนอื่นๆ ในข้อหาต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้พิมพ์ใบปลิวแจก แต่ต่อมาปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ทางการตำรวจได้จับกุมนายเล้ง โบราณวงศ์ ในขณะที่กำลังเตรียมใบปลิวไทยอิสสระฉบับที่ ๒ จึงได้ทราบว่า กลุ่มนักเขียนที่จับมาไม่ใช่ไทยอิสระ กุหลาบและนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ จึงถูกปล่อยตัว แม้กระนั้นทางการรัฐบาลก็ยังคงคุมขังกุหลาบเอาไว้ถึง ๘๔ วัน

ในระหว่างสงคราม เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและขาดแคลนกระดาษ รัฐบาลจึงได้เข้าควบคุมการทำหนังสือพิมพ์ จนทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดกิจการ และที่เหลืออยู่ก็ต้องลดหน้ากระดาษ. "ประชามิตร"และ"สุภาพบุรุษ"จึงต้องยุบรวมเป็นฉบับเดียว และยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงหลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สิ้นวาระลงเพราะแพ้มติในสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ หลังจากนั้น บรรยากาศทางการเมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเมื่อสงครามโลกยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ รัฐบาลพลเรือน ที่สนับสนุนนายปรีดี พยมยงค์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ หนังสือพิมพ์ก็สามารถเสนอข่าวสารได้อย่างเป็นอิสระ ในระยะนี้เอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับความช่วยเหลือจากปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ให้กู้เงินธนาคารเอเชีย ไปศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงออกเดินทางไปออสเตรเลียในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐



๓.

จากเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" ถึง "แลไปข้างหน้า"

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรียนอยู่ในออสเตรเลียเกือบ ๒ ปี จนถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ ก็เดินทางกลับ ซึ่งเป็นระยะที่รัฐบาลพลเรือนได้ถูกยึดอำนาจโค่นล้มไปแล้ว โดยคณะนายทหารบกที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พ.อ.กาจ กาจสงคราม ปรากฏว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับเชิญให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ แม้กระนั้น สภาพทางการเมืองยังคงเป็นไปตามระบบรัฐสภา (*)๑๕ และเป็นระยะที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มเผยแพร่ในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสะเทือนจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน

(*) ที่น่าสังเกต คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ยังไม่ได้ใช้มาตรการเผด็จการในระยะ พ.ศ.๒๔๙๑ จนถึงหลังจากรัฐประหาร พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ จึงเผด็จการมากขึ้น


ที่น่าสนใจก็คือ กุหลาบ ก็ได้รับผลสะเทือนจากแนวคิดสังคมนิยมเช่นกัน หากแต่เป็นแนวคิดสังคมนิยมจากออสเตรเลีย เมื่อกลับมาจากออสเตรเลีย กุหลาบได้ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ ตีพิมพ์ผลงานของตน และได้เป็นนักเขียนประจำลงในนิตยสารอักษรสาส์น ซึ่งมีสุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ. นิตยสารฉบับนี้ เป็นนิตยสารสำคัญที่เผยแพร่ความคิดแบบสังคมนิยมในระยะ พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๕ ซึ่งกุหลาบก็เป็นคนหนึ่ง ที่ได้เข้าร่วมเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมด้วย โดยเข้ารับผิดชอบในแผนกวิชาการเมืองของนิตยสาร(*)

(*) การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในสังคมไทยก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในกลุ่มคนจีน และลูกหลานจีนเป็นส่วนใหญ่ จนถึงระยะหลังการปฏิวัติจีน พ.ศ.๒๔๙๒ จึงทำให้ลัทธิมาร์กซเป็นที่สนใจของปัญญาชนในสังคมไทยมากขึ้น การออกนิตยสาร อักษรสาส์น ของสุภา ศิริมานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างขบวนการลัทธิมาร์กซในหมู่ปัญญาชนไทย


และที่น่าสังเกตคือ ในระยะหลัง พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นไป กุหลาบ จะไม่เขียนอะไรที่ประสงค์เพียงแต่ความสนุกเพลิดเพลินที่สบอารมณ์เพียงอย่างเดียว หากแต่มุ่งที่จะแต่งหนังสือที่บำรุงปัญญาความคิดเป็นหลัก งานเขียนที่สำคัญของกุหลาบในระยะนี้มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องสั้นเรื่อง คนพวกนั้น(พ.ศ.๒๔๙๓) คำขานรับ (พ.ศ.๒๔๙๓) (*)๑๗ สารคดีเรื่อง ข้าพเจ้าได้เห็นมา(พ.ศ.๒๔๙๔) และเรื่องแปลเรื่อง เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร(พ.ศ.๒๔๙๕) เป็นต้น

(*) เรื่อง คำขานรับ เป็นเรื่องสั้นที่ส่งผลสะเทือนอย่างมากในยุคก่อนและหลัง ๑๔ ตุลา พ.ศ.๒๕๑๖ เนื้อหาของเรื่องกล่าวถึงนักศึกษาหนุ่มปีสุดท้าย ชื่อ ทนง ที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา และในที่สุดก็ปฏิเสธปริญญาแล้วแสวงหาเส้นทางชีวิตใหม่ ที่จะนำเอาอนาคตอันแจ่มใสมาให้แก่มนุษยชาติ บทความนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่หลายครั้ง ในหนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสมัยนั้น


ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงได้แต่งนวนิยายเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" (พ.ศ.๒๔๙๓) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตเล่มแรกในสังคมไทย โดย แถลงในจุดมุ่งหมายการแต่งว่า "นักเขียนเช่นเราๆ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่า โอกาสที่จะได้เสนองานและความคิด ตามที่เขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาคมที่เขาประสงค์จะได้" แม้ว่าเนื้อเรื่องของนวนิยายนี้ ดำเนินไปด้วยการสนทนา แต่ก็สะท้อนถึงการพัฒนาความคิดของกุหลาบ ที่อธิบายการเปลี่ยนความคิดของตัวละครเอก คือ โกเมศ นักเรียนไทยในออสเตรเลีย ที่ได้รับผลสะเทือนจากนักอุดมคติหญิงชาวออสเตรเลียชื่อ แนนซี เฮนเดอร์สัน ทำให้เปลี่ยนจากการดำเนินชีวิตแบบหนุ่มเสเพล มาสู่การเป็นนักอุดมคติที่มีความรักในมวลมนุษยชาติ และเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะกลับมาผลักดันสังคมไทย ให้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น. ในนวนิยายเล่มนี้ กุหลาบได้วิพากษ์ความล้าหลังและไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยไว้ด้วย ดังคำบรรยายของโกเมศตอนหนึ่งว่า


โดโรธี เธอคงจะได้เห็นแล้วว่า ในประเทศไทยแลนด์อันอำไพด้วยแสงเดือนแสงตะวัน อันชื่นบานด้วยอากาศสดบริสุทธิ์ และความรำเพยพริ้วของลมเย็น อันระรื่นตาด้วยสีเขียวชอุ่มของต้นข้าวและใบไม้ อันได้รับประกันอดหยากจากความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินนั้น ในอีกด้านหนึ่งคือ การปฏิบัติต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศอันน่าผาสุกนั้น เต็มไปด้วยความอัปลักษณ์โสโครกเพียงใด ด้วยอาศัยกลไกการปกครองและการจัดระเบียบสังคมอันเหี้ยมโหดเลือดเย็น และเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอันน่าสยดสยองนั้น ชีวิตของคนเกือบทั้งประเทศถูกกดไว้ภายใต้ความต่ำทรามอันน่าทุเรศ มวลชนตั้ง ๙๐ เปอร์เซนต์ของประเทศ... ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเพียงเพื่อจะเอาชีวิตรอดไปวันหนึ่ง และต้องนำรายได้อันมีค่าแทบทั้งหมดนั้น ไปประเคนปรนปรือความสุขสำราญเหลือเฟือของคนส่วนน้อยนิดในเมืองหลวง และด้วยการถือโอกาสแห่งความสงบเสงี่ยม และน้ำใจโอบอ้อมอารีของประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้น บรรดาพวกอิ่มหมีพีมัน จึงคงรื่นเริงสุขสำราญต่อไปอย่างลืมตัว โดยไม่คำนึงถึงการปันส่วนรายได้เสียใหม่แต่อย่างใดเลย ในบางครั้งคราวหรือบ่อยๆ ยังใช้อำนาจกดขี่เหยียดหยามประชาชนผู้อาภัพเหล่านั้นเสียอีก

(จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๗-๔๘)


การอธิบายสังคมในลักษณะเช่นนี้ ความจริงเป็นการอธิบายด้วยทฤษฎีชนชั้นลัทธิมาร์กซ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้ยอมรับในหลักการลัทธิมาร์กซแล้ว ทั้งที่ ใน พ.ศ.๒๔๙๓ ขบวนการลัทธิมาร์กซในหมู่ประชาชนไทยเพิ่งจะเริ่มต้น กุหลาบ เองก็มีส่วนร่วมโดยการเขียนเรื่อง "ระบบบงการประชาธิปไตยของประชาชน"ลงในอักษรสาส์น เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ บทความนี้แปลมาจากเรื่อง People's Democratic Dictatorship ของเหมาเจ๋อตง ซึ่งได้แถลงในโอกาสครบ ๒๘ ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๑๙๔๙ ซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ China Digest. ต่อมา กุหลาบ ก็ได้เขียนเรื่อง "ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส" ลงพิมพ์ในนิตยสารอักษรสาส์น ใน พ.ศ.๒๔๙๓ (*)

(*) เรื่อง "ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส" นี้ กุหลาบ เรียบเรียงจากคำบรรยายของเอมิล เบิร์น (Emile Burns) ได้ถูกนำมารวบรวมและตีพิมพ็เป็นเล่มโดย แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๑๐๓-๑๐๔) ได้อธิบายว่า บทความชุดนี้ มีทั้งหมด ๑๘ บท แต่คณะผู้จัดพิมพ์ "มิได้ปรึกษาผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้อง" จึงนำมาตีพิมพ์เพียง ๖ บทสุดท้ายเท่านั้น ทำให้ข้ามเนื้อหาที่น่าสนใจของบทความชุดนี้ไป เช่น ทฤษฎีการเมืองตอนลัทธิโซซลิสม์ หรือ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น


นอกจากนี้ ในเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" กุหลาบก็ได้อธิบายความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ไว้ว่า


ในประเทศของฉัน สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ที่เป็นเสนาบดีหรือรัฐมนตรีมีเงินเดือนขนาดคนงานชั้นส่งนมส่งขนมปังรวมกันราว ๑๕๐ คนเห็นจะได้ และถ้าเทียบกับรายได้ของพวกชาวนาแล้ว เสนาบดีคนหนึ่งได้รับเงินเดือนเท่ากับรายได้ของชาวนาประมาณ ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ คนรวมกัน

(จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๕)


จากนั้น ก็ได้เสนอทัศนคติในเชิงวิจารณ์ผู้ก่อการคณะราษฎรว่า ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เพียงแต่ไล่ผู้มีอำนาจชุดเก่าไป แล้วตัวเขาก็ขึ้นนั่งบัลลังก์แทน ในชั้นต้นก็ดูว่าเขาได้พยายามจะชำระล้างความโสโครกอยู่เหมือนกัน แต่ในไม่ช้าความโลภและความเห็นแก่ตัวก็ค่อยงอกงามขึ้นในจิตใจของเขา ในที่สุดเขาก็หลงติดอยู่ในวิมาน ดังนั้น แทนที่จะทำลายวิมานอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอยุติธรรม เขากลับเรียกหาความร่วมมือกับผู้ที่อยู่ในวิมานนั้นมาก่อน และรวบรวมกำลังกันเข้ารักษาวิมานนั้นไว้อย่างแข็งแรง (จนกว่าเราจะพบกับอีก : ๔๖)

ต่อมาใน เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีการลงนามในสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน และยังแสดงเจตนาที่จะส่งทหารไทยไปช่วยสหรัฐฯ รบในสงครามเกาหลี ทั้งนี้เพราะโดยทัศนะของรัฐบาล ก็มีความเห็นในทางเดียวกับสหรัฐฯ ว่า สงครามเกาหลีเกิดขึ้นเพราะการรุกรานของคอมมิวนิสต์ โดยเกาหลีเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์รุกรานเกาหลีใต้ที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันการรุกราน ปรากฏว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นประเทศที่สองต่อจากสหรัฐฯ ที่แถลงว่าจะส่งทหารจำนวน ๔,๐๐๐ คน ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี และต่อมา ก็ได้ส่งข้าว ๔๐,๐๐๐ ตัน ให้แก่เกาหลีฝ่ายใต้

การดำเนินการเช่นนี้ ไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องของปัญญาชนที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เห็นว่า การรวมเกาหลีเป็นเรื่องภายใน การที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไป จึงเป็นสงครามรุกราน และเป็นการแผ่อำนาจแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เพราะกิจการในเกาหลี ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่ไทยจะส่งทหารไปช่วยสหรัฐฯ ก่อการรุกราน ข้อเสนอสำคัญของกลุ่มปัญญาชนที่ก้าวหน้า ก็คือ การเรียกร้องให้ยุติสงคราม และแก้ปัญหาเกาหลีด้วยสันติวิธี

แต่กระนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ก็ยังคงดำเนินโยบายส่งทหารไปรบในเกาหลีต่อไป ดังนั้น หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ ที่มี เจริญ สืบแสง(ขุนเจริญวรเวชช์) ส.ส.ปัตตานี เป็นเจ้าของ และ เพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรี เป็นบรรณาธิการ ก็ได้เป็นแนวหน้าสุดที่เปิดการรณรงค์เพื่อสันติภาพและคัดค้านสงคราม ซึ่งมีการระบุเป้าหมายก็คือการคัดค้าน "การส่งพี่น้องทหารไทย ไปตายเพื่ออเมริกาในดินแดนอันไกลโพ้น"

ต่อมา เจริญ สืบแสง ได้เป็นประธานจัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย" ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ กุหลาบได้เข้าร่วมในขบวนการนี้ด้วย และเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านสงคราม จึงได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของคณะสันติภาพ. ในระหว่างนี้ คณะรัฐประหารได้ก่อการยึดอำนาจครั้งที่สองในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ และได้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีลักษณะเผด็จการมากยิ่งขึ้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ แต่ขบวนการสันติภาพก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกันลงชื่อคัดค้านสงคราม และเสนอให้มีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ปรากฏว่าจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น มีประชาชนมาร่วมลงนามเรียกร้องสันติภาพและคัดค้านสงครามนับแสนคน ซึ่งการลงนามเรียกร้องสันติภาพนี้ กุหลาบได้นำมาเล่าไว้ในเรื่องสั้น "ประกายใหม่ในดวงตาของเขา" ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตร วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับเชิญจากแผนกปาฐกถา ของคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้ไปกล่าวปาฐกถาเรื่อง "ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์" ในบทปาฐกถานี้ กุหลาบได้แสดงทัศนะที่เห็นใจสตรีอย่างชัดเจน และชี้ว่า ฐานะของสตรีในอดีตที่ผ่านมานั้น มิได้เท่าเทียมกับบุรุษ เขาได้ใช้ความรู้ในเชิงสังคมวิทยามาอธิบายว่า สถานะของสตรีนั้นเสื่อมลงจากเงื่อนไขของชีวิตครอบครัวและชีวิตสมรส เพราะแต่เดิมมาสังคมจะถือสตรีเป็นใหญ่ และนับการสืบสายแต่ทางฝ่ายหญิงเท่านั้น แต่เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสังคมทาส ผู้ชายชนชั้นนำได้เข้าครอบครองโภคทรัพย์ของสังคม อำนาจของผู้ชายที่มีอยู่เหนือผู้หญิงก็ถูกสถาปนาขึ้น และดำเนินไปในลักษณะเช่นนั้น. กุหลาบ ได้ตั้งความหวังกับสังคมใหม่และได้ชี้ว่า "เมื่อลัทธิสังคมนิยมได้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกแล้ว ความขวนขวายพยายามที่จะยกฐานะของสตรีให้ทัดเทียมกับบุรุษ ก็เป็นไปในทางทะมัดทะแมงมากขึ้น" จากนั้น ก็ลงท้ายโดยการเรียกร้องให้สตรี "ก้าวออกมาจากสถานะของช้างเท้าหลัง"ออกมายืนเคียงข้างบุรุษ (กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๕ : ๕๐-๕๓)

ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา ได้เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงในภาคอีสาน เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดังนั้นคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย จึงได้มีการตั้ง"คณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนภาคอีสานผู้อดอยาก"ขึ้น โดยมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสาร และเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือ โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อ ปรากฏว่ากรรมการสันติภาพได้รับสิ่งของมากมายรวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท และเป็นเสื้อผ้า ๒๑ กระสอบ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ กุหลาบสะท้อนเอาไว้ในเรื่องสั้นชื่อ "เขาตื่น" ลงในหนังสือพิมพ์ ปิยมิตร วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๓๔๙๕ โดยได้อธิบายที่มาของสิ่งเหล่านี้ว่า มีแต่คนยากจนเป็นส่วนใหญ่ที่ยินดีที่จะช่วยพี่น้องในภาคอีสาน กล่าวคือ เงินและสิ่งของที่มีราคามากมายเหล่านี้ ไม่ได้มาจากเศรษฐีและคนมั่งคั่ง หรือพวกคนใหญ่คนโตที่ไหน แต่มาจากคนธรรมดาสามัญที่เดินอยู่ตามถนน ที่ยืนโหนรถเมล์และรถราง ที่นั่งพุ้ยข้าวต้ม หรือกินข้าวราดแกง ที่อาศัยอยู่ตามบ้านเล็กเรือนน้อย เงินและสิ่งของเหล่านี้ส่วนมากมาจากกรรมกรหรือคนงานที่ยากจน มาจากเยาวชน ผู้หญิง เสมียน พนักงาน ลูกจ้าง มาจากคนธรรมดาสามัญทั้งไทยและจีน มาจากสิ่งที่บุรุษผู้นั้นสรุปเรียกว่า ประชาชน (ช่วย พูลเพิ่ม๒๕๓๐ : ๒๐๔-๒๐๕)

เรื่อง "เขาตื่น" นี้ เล่าถึงชีวิตของคนถีบสามล้อ ชื่อ อ่ำ ที่เข้าร่วมในขบวนการสันติชน จึงได้เปลี่ยนใจไม่ยอมพาลูกไปดูงานรับมอบอาวุธใหม่ที่สหรัฐฯ จัดส่งมาให้รัฐบาลไทย และจะมีการจัดแสดงที่สนามหลวง โดยพาลูกไปดูสัตว์ที่เขาดินแทน อ่ำให้เหตุผลว่า "อย่าไปสนุกสนานกับอ้ายอาวุธห่าเหวเหล่านี้เลยวะ อย่าไปยินดีกับอ้ายเรื่องเตรียมรบราฆ่าฟันกับเขาเลยวะ แกกับข้ามาร่วมกับพวกสันติชน ช่วยเขากอบกู้สันติภาพ เพื่อความอยู่ร่วมเย็นเป็นสุขของประชาชนกันเถอะ"

ดังนั้น ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พร้อมด้วย อุทธรณ์ พลกุล, ฉัตร บุณยศิริชัย, และคนอื่นๆ ก็ได้เดินทางนำสิ่งของไปแจกของบรรเทาทุกข์ในภาคอีสาน ปรากฏว่าตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวรัฐบาลได้โจมตีเสมอว่า การเคลื่อนไหวสันติภาพเป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์ และเมื่อกรรมการสันติภาพเดินทางไปภาคอีสาน รัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าจะทำการจับกุม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ เมื่อกุหลาบและคณะสันติชนกลับจากภาคอีสาน การกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น มีปัญญาชน นักศึกษา และชาวนาถูกจับในกรณีนี้นับร้อยคน กรณีนี้จึงถูกเรียกว่า "กบฏสันติภาพ" หรือ "กบฏแจกผ้า"

ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน นั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจับหลังจากกลับจากภาคอีสาน และต่อมาก็ถูกสั่งฟ้องร่วมกับผู้ต้องหาอื่นๆ อีก ๕๒ คน ในที่สุด ศาลได้ตัดสินจำคุกกุหลาบและจำเลยคนอื่นๆ ๒๐ ปีในความผิดที่ก่อการสันติภาพ และแจกข้าวของคนยากคนจน แต่กระนั้น นักโทษทุกคนได้รับการนิรโทษกรรมในโอกาสงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กุหลาบ ได้รับการนิรโทษกรรมให้ออกจากคุกในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา ในขณะที่รัฐบาลกำลังจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ที่สนามหลวง

ในระหว่างที่อยู่ในคุกนี้เองที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้แต่งนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งได้เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารปิยมิตรวันอาทิตย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั้นเรื่อง ขอแรงหน่อยเถอะ(พ.ศ.๒๔๙๖) ความเรียงเรื่อง กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ(พ.ศ.๒๔๙๗) เรื่องพุทธศาสนาคือ อุดมธรรม(พ.ศ.๒๔๙๘) และบทกวี อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ(พ.ศ.๒๕๐๐) เป็นต้น

ในเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งมีบทเปิดเรื่องที่เขียนได้อย่างน่าประทับใจมาก (*)๑๙ กุหลาบได้สร้างฉากเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งยังเป็นระยะที่สังคมมีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน และได้อธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นนั้น โดยผ่านสายตาของเด็กชายจันทา โนนดินแดน ลูกชาวนาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งเมืองขุขันธ์ ที่ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และกลายเป็น"กาที่ได้เข้ามาอยู่ในหมู่หงส์"เพราะได้มาอาศัย"ปราสาท" คือ บ้านของพระยาอภิบาลราชธานี อำมาตย์ผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนเทเวศน์รังสฤษดิ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของชนชั้นผู้ดี เพื่อเป็นบ่าวคอยรับใช้คุณวัชรินทร์ บุตรของท่านเจ้าคุณ ซึ่งเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้เช่นกัน

(*) นวนิยายที่เด่นในยุคแรก ผู้ประพันธ์มักจะเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ และเป็นบทที่น่าประทับใจ นวนิยายของชาร์ล ดิกเกนส์ เรื่อง Great Expectation และ Oliver Twist ก็มีบทเปิดเรื่องที่น่าประทับใจเรื่อง Mother ของ แมกซิม กอร์กี ก็มีบทเปิดเรื่องอันยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมแห่งชีวิตกรรมกร. เรื่อง กามนิต ที่แปลโดย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ก็มีบทเปิดเรื่องที่ดีเด่นมาก บรรยายถึงบรรยากาศยามเย็นอันงดงามนอกกรุงราชคฤห์. ศรีบูรพา จึงนำเอาจารีตเช่นนี้ มาเขียนบทเปิดเรื่องสำหรับ "แลไปข้างหน้า" ในบทเปิดเรื่องนี้เอง เป็นการชี้ถึงความหมายของการ "แลไปข้างหน้า" ของศรีบูรพา ที่น่าสังเกต คือ นวนิยายก่อนหน้านี้ของศรีบูรพา ไม่มีบทเปิดเรื่องเช่นนี้


กุหลาบได้อธิบายสถานะของความไม่เท่าเทียมกันนั้นว่า บ่าวทั้งหลายจึงมักจะคิดเห็นไปว่า สภาพความเป็นข้าเจ้าบ่าวนายนั้น เป็นสภาพที่ฟ้าดินได้กำหนดมาว่าจะต้องดำรงอยู่ตลอดไปและจะเลิกร้างเสียมิได้ ด้วยเหตุนี้ แทนที่พวกบ่าวจะคิดสลัดภาพข้าเจ้าบ่าวนายให้หลุดพ้นไป จากแผ่นดินที่เขาได้ถือกำเนิดมา เพราะว่ามันเป็นสภาพอัปลักษณ์ไม่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ บ่าวทั้งหลายจึงกลับไปทำความตะเกียกตะกายที่จะได้เป็นเจ้าขุนมูลนายกับเขาบ้าง (แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ๑๗๒)

นอกจากนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ยังได้เสนอทัศนะใหม่ในทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มิได้สร้างโดยชนชั้นนำเท่านั้น แต่ประชาชนสามัญที่มิได้จารึกชื่อก็เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน เขาได้ถ่ายทอดความคิดนี้ผ่านการชี้แจงของ นิทัศน์ สวัสดิรักษา เพื่อนของจันทา ที่ชี้แจงต่อ ม.ร.ว.รุจิเรข นักเรียนอีกคนหนึ่งว่า - ในที่นี้ ฉันอยากให้ รุจิเรข และเพื่อนนักเรียนของเราได้เข้าใจด้วยว่า บรรดาผู้ที่เสียชีวิตกู้บ้านกู้เมืองและรักษาเอกราชของชาติไว้ให้แก่เรานั้น ไม่ได้ถูกจารึกชื่อลงไว้ในพงศาวดารทุกคน... การที่พงศาวดารมิได้จารึกชื่อราษฎรสามัญชนจำนวนมากมายที่ได้สละชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเรามาเหมือนกันนั้น จะเป็นเหตุให้เราถือว่าเราไม่ได้เป็นหนี้บุญคุญท่านผู้กล้าหาญที่เป็นสามัญชนชาวบ้านเหล่านั้นด้วยหรือ? - (แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย : ๒๙๘-๒๙๙)

ต่อมาเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ง "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" ลงในนิตยสารปิยมิตรวันจันทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ก็มีบทเปิดเรื่องอันน่าประทับใจเช่นกัน แต่บทเปิดเรื่องของนวนิยายตอนนี้ได้เน้นการอธิบาย ประเมินค่า และสดุดีการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งอาจจะถือได้ว่า บทเปิดเรื่องเป็นงานประพันธ์ร้อยแก้วยอเกียรติการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น การอธิบายบรรยากาศการปฏิวัติ ตอนหนึ่งว่า

ชุมนุมราษฏรยืนฟังคำประกาศด้วยอาการที่ออกจะงงงวย เพราะว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขามาได้ยินว่า อำนาจที่เคยได้รับความเคารพสักการะอย่างสูงสุดนั้น มาถึงวันนี้ได้แปรสภาพเป็นฝุ่นละอองไปเสียแล้ว ราษฏรบางกลุ่มฟังคำประกาศด้วยอาการอันสำรวม... บางกลุ่มก็เปล่งเสียงไชโยกันเกรียวกราว ในไม่ช้าคำประกาศของคณะราษฎรก็ได้กระจายไปทั่วพระนคร... ประชาราษฎรคนยากคนจน เมื่อได้อ่านประกาศของ"คณะราษฎร" ที่ได้เปิดโปงความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลเจ้าขุนมูลนาย และได้ประณามความชั่วร้ายเหลวแหลกในวงราชการ ความเห็นแก่ตัวของชนชั้นสูงที่ปกครองประเทศ ความอยุติธรรม และการกดขี่นานาประการที่สุมอยู่บนหัวอกราษฎรแล้ว เขาก็เริ่มคำนึงถึงอำนาจใหม่ เสมือนหนึ่งเป็นความงาม ความสะอาดหมดจด และเป็นแสงสว่างที่จะส่องลงมาบนชีวิตอันมืดมนขะมุกมอมของเขา

และเมื่อเขาได้อ่านคำมั่นสัญญาของคณะราษฎร ที่ได้ประกาศออกมาอย่างหนักแน่นว่า จะทำนุบำรุงการเป็นอยู่ของพวกเขา ทั้งในเมืองและชนบทอย่างดีที่สุด จะไม่ปล่อยให้พวกเขาอดหยากไร้งาน ทั้งยังจะให้การศึกษาแก่พวกเขาอย่างเต็มที่ และจะฟังความคิดความเห็นในเรื่องการปกครองบ้านเมืองจากพวกเขาทั้งหลายด้วย ประชาชนคนยากผู้เป็นคนซื่อก็ยกมือขึ้นท่วมหัวเปล่งเสียงสาธุ แล้วเริ่มตั้งความหวังว่า นับแต่นี้พวกเขาเห็นจะเงยหน้าอ้าปากขึ้นได้บ้างละ (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๒๐-๒๑)

จากนั้น กุหลาบก็ผูกเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันแวดล้อมการปฏิวัติ เพราะ ครูอุทัยแห่งโรงเรียนเทเวศน์รังสฤษดิ์ ที่เคยเป็นผู้สอนของจันทา และ นิทัศน์ ก็ได้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย กุหลาบได้อธิบายถึงเหตุผลและแนวทางของคณะปฏิวัติผ่านครูอุทัย อธิบายความหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบใหม่ผ่านความเห็นของนิทัศน์ จันทา และ เซ้ง และชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับการปฏิวัตินั้นคือพวกเจ้าขุนมูลนายที่สูญเสียอำนาจ มิใช่ราษฎรทั่วไป และยังอธิบายถึงความเป็นไปของระบอบใหม่ในระยะแรก ที่ผู้แทนทั้งหลายที่พวกชาวนาและคนงานทั้งหลายเลือกเป็นตัวแทนของเขา ไปประชุมพิจารณาวินิจฉัยราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์แก่เขาทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในระบอบเก่า นอกจากนี้ ก็ได้สะท้อนถึงความเสื่อมสลายของระบอบเก่าผ่านการล่มสลายของ "ปราสาทร้าง" หรือบ้านของพระยาอภิบาลราชธานีที่เคยเป็นที่อาศัยของจันทานั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นวิถีของประวัติศาสตร์ ที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่อาจจะเหนี่ยวรั้งได้ กุหลาบได้อธิบายลักษณะที่เป็นสัจจะของประวัติศาสตร์ยุคศักดินาว่า มันได้เห็นสมัยรุ่งเรืองของกษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยาราชธานี ได้เห็นความเสื่อม ความเหลวแหลกภายในราชสำนัก และในที่สุดได้เห็นความพินาศล่มจมของราชธานีนั้น มันได้เห็นการช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ในระหว่างราชวงศ์ และในบางครั้งบางคราว การช่วงชิงอำนาจราชบัลลังก์นั้น ก็กระทำโดยเจ้าขุนมูลนายนักรบที่เป็นข้าของกษัตริย์นั่นเอง กษัตริย์ราชวงศ์ พร้อมทั้งขุนนางและครอบครัวของฝ่ายแพ้ ได้ถูกกษัตริย์ราชวงศ์ของฝ่ายชนะล้างผลาญชีวิตอย่างเหี้ยมโหดทารุณ ดุจเดียวกับความประพฤติของยักษ์มารที่บุคคลเหล่านั้นสาปแช่ง และห่างไกลอย่างยิ่งจากคุณธรรมของพวกเทพที่บุคคลเหล่านี้สรรเสริญบูชา อาชญากรรมอันน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นจากความโลภอำนาจราชบัลลังก์ และเป็นอาชญากรรมที่ประกอบขึ้นโดยบุคคลที่มีศักดิ์สูงเทียมเมฆ ได้มีอยู่ในประวัติศาสตร์ราชธานีเก่าไม่ขาดสาย

มันได้เห็นการผลัดแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงอำนาจที่ได้กระทำกันในพระบรมมหาราชวังของราชธานีเดิม มันได้เห็นการขึ้นสู่อำนาจวาสนาอันสูงสุดของคนชุดหนึ่ง และได้เห็นการตกต่ำจนถึงขั้นไปสู่ตะแลงแกงของคนอีกชุดหนึ่งในบรรดาผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ด้วยกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็ไม่มีความสัมพันธ์อันใดเลยกับชีวิตของประชาราษฎรในราชอาณาจักรสยาม ประชาราษฎรเคยมีชีวิตอันต่ำต้อยแร้นแค้นมาอย่างใด ชีวิตของเขาก็ดำเนินไปอย่างนั้น... (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๑๔๑-๑๔๒)

ดังนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงไม่ได้อาลัยอาวรณ์ต่อการล่มสลายแห่งอำนาจของระบอบศักดินา เพราะอย่างน้อยระบอบใหม่ก็เปิดโอกาสแก่ประชาชน เช่น นิทัศน์ และ จันทา ในการที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่ เป็นตลาดวิชา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต ส่วนเซ้งเพื่อของจันทา ได้เข้าไปทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่กระนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นลัทธิทหารนิยมมากขึ้น ซึ่งกุหลาบได้สะท้อนเหตุการณ์ที่ทหารกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปคุกคามสำนักงานหนังสือพิมพ์ประชามติที่เซ้งทำงานอยู่ ซึ่งเป็นผลจากการที่เซ้งเขียนบทความทักท้วงการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารว่า คณะราษฎรไม่ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะนำประเทศไปทำสงครามกับใคร คณะราษฎรไม่ได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะเพิ่มงบประมาณทางทหารอย่างมากมายใหญ่โต แต่ได้ประกาศว่าจะบำรุงเศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศ จะช่วยให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ จะช่วยให้ราษฎรอยู่ดีกินดี (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๑๕๕)

กุหลาบได้อธิบายต่อไปถึงการที่เจตนาดีต่อประเทศชาติของคณะราษฎรได้อ่อนลง และการหวงแหนอำนาจได้เพิ่มมากขึ้น จึงนำมาซึ่งแนวโน้มของการเผด็จการ โดยการกวาดล้างจับกุมผู้ที่รัฐบาลถือว่าเป็นศัตรูของรัฐบาลรวมทั้งศิริลักษณ์ เพื่อนของนิทัศน์และจันทา ซึ่งกรณีที่กุหลาบสะท้อนในเรื่องนี้ คือการกวาดล้างใหญ่กบฏในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน และในที่สุด ผู้ต้องหากบฏเหล่านี้ถูกยื่นฟ้องต่อศาลพิเศษและถูกตัดสินประหารชีวิต ๑๘ คน โดยกุหลาบได้วิพากษ์การตัดสินคดีนี้ผ่านความเห็นของจันทาว่า

- หลักกฏหมายที่เราได้เรียนมา เกี่ยวกับวิธีความอาญาและลักษณะพยานถูกละเมิดหมด - และนิทัศน์ก็ตอบว่ามันเป็นคำพิพากษาของศาลเสียเมื่อไร มันเป็นคำพิพากษาของโจทก์ต่างหาก หรือจะให้ถูกยิ่งกว่านั้น ต้องกล่าวว่ามันเป็นคำพิพากษาของคู่ศัตรูที่พิพากศัตรูของเขา... เพราะฉะนั้นคำพิพากษาคดีนี้จึงมิใช่เป็นคำพิพากษาของศาลแต่เป็นคำพิพากษาของพวกนักเลงโต ที่ใช้กับคู่อริของเขา ฉันเห็นว่าประชาธิปไตยประเทศเรากำลังดำเนินสู่ความมืดมน และชื่อเสียงของคณะราษฎรกำลังตกอยู่ในอันตราย (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย : ๒๔๔-๒๔๕)

แม้ว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะไม่เห็นชอบต่อการแปรเปลี่ยนของคณะราษฎรดังกล่าว แต่ก็มิได้หมายความว่า จะกลับไปเห็นดีงามกับระบอบเก่า ดังที่เขาได้สะท้อนว่า "ถ้าพวกชนชั้นสูงเขาคิดว่า ราษฎรจะกลับเรียกร้องให้พวกเขาปกครองประเทศอีก ก็นับว่าพวกเขาได้ฝันไปอย่างน่าสงสาร เดี๋ยวนี้ราษฎรพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อพวกคนชั้นสูงปกครองประเทศนั้น เขาปกครองเพื่อระโยชน์ของใคร" (แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย :๒๔๖)

ปรากฏว่า "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" นี้แต่งไม่จบ ในส่วนที่สองเพิ่งจะเริ่มไปได้เพียง ๓ ตอน ถึงตอนที่กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้ว และมีใบปลิวของไทยอิสสระต่อต้านรัฐบาล ตำรวจจึงได้มาค้นบ้านของเซ้ง เพื่อทำการจับกุม ทั้งนี้เนื่องจาก กุหลาบได้รับเชิญให้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๐ และเมื่อกลับมาแล้ว เขาก็ไม่ได้เขียนต่อ จนถึงช่วงที่เดินทางไปจีน และลี้ภัยเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ เพราะไม่ต้องการที่จะกลับมาใช้ชีวิตในคุกเมืองไทยอีก เราจึงไม่อาจคาดเดาไว้ว่า กุหลาบได้เตรียมวางโครงเรื่องต่อไปอย่างไร รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๔๑) สันนิษฐานว่า ถ้าหากศรีบูรพาเขียนต่อ เรื่อง แลไปข้างหน้า น่าจะปิดฉากด้วยการขึ้นศาลในคดีกบฏสันติภาพ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖



๔.

บทสรุป อุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

จากที่กล่าวมา จะเห็นพัฒนาการความคิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จากนักเขียนบทความและนวนิยายธรรมดา และแม้กระทั่งเป็นนักคิดที่มีระบบคิดแบบบุรุษนิยม เปลี่ยนมาสู่การเป็นนักคิดนักเขียนที่มีอุดมคติเพื่อสังคม มีความเห็นใจในคนยากคนจน กุหลาบจึงเริ่มรับอุดมคติแห่งความเสมอภาคและประชาธิปไตย และคัดค้านความอยุติธรรมแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยอุดมการณ์เช่นนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงเป็นปัญญาชนคนสำคัญที่สนับสนุนการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ และแม้ว่าในระยะต่อมา กุหลาบจะมีความเห็นว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองบางส่วนทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามที่สัญญาไว้ และหันไปสถาปนาเผด็จการ แต่เขาก็มิได้เสื่อมความศรัทธาไปจากอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่นอกประเทศถึง ๑๖ ปี จนถึงแก่กรรมที่ประเทศจีนในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี ในระหว่างนี้ กุหลาบ ก็ยังมีงานเขียนที่เป็นบทความ และบทกวี มากมายออกมาทางวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย และยังน่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเรียบเรียง และเป็นบรรณาธิการหนังสือปฏิวัติหลายเล่มที่แปลจากภาษาจีนออกเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตาม เป็นการยากมากที่จะรวบรวมหรือระบุงานเขียนของเขาในระยะนี้ เพราะแทบจะไม่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่แล้ว เพียงแต่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะลี้ภัยในต่างประเทศ กุหลาบก็มิได้หยุดการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเสรีภาพของประชาชนไทย จนกระทั่งสุดท้ายในวาระชีวิตของเขา และนี่คือความมั่นคงในอุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

บทกวีสำคัญที่กุหลาบ แต่งเพื่อสดุดีการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ยังเป็นที่จดจำกันอยู่ดังนี้


หยดฝนย้อยจากฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่

แผ่เสียงซัดปฐพีอึ่งมีไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน

อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล

แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน


+++++++++++++++++++++++

(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)


หนังสืออ้างอิง:
กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕


กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๐. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร), ๒๕๔๕.กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๕. "ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์" ประวัติศาสตร์สตรีไทย. (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงดาว), ๒๕๑๙.

ช่วย พูลเพิ่ม (รวบรวม) ๒๕๓๐. ขอแรงหน่อยเถอะ. รวมเรื่องสั้นเพื่อชีวิตของนักประพันธ์ นักมนุษยชาติ ศรีบูรพา (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า).

ตรีศิลป์ บุญขจร ๒๕๒๕. นวนิยายกับสังคมไทย. (กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

ทวีป วรดิลก ๒๕๔๕. "บทแนะนำเชิงวิจารณ์" เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร).

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ๒๕๓๕. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : ฝ่ายสิ่งพิมพ์โครงการ ๖๐ ปีประชาธิปไตย).

นฤมิตร สอดสุข ๒๕๔๘. "เหลียวหลังแล" แลไปข้างหน้า" : แผนที่นำทาง(Road Map)ประเทศไทยในวิสัยทัศน์ของศรีบูรพา" เอกสารอัดสำเนา.

นุศรา อะมะรัสเสถียร ๒๕๓๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์ : จากวรรณกรรมสู่หนังสือพิมพ์. สารนิพนธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธงชัย พึ่งกันไทย ๒๕๒๑. "ลัทธิคอมมิวนิสต์และนโยบายต่อต้านของรัฐบาลไทย พ.ศ.๒๔๖๙-๒๕๐๐"วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพศาล มาลาพันธ์ (นามแฝง) ๒๕๒๘. "ศรีบูรพา อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ" นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย. หนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ - ๗๒ ปีสุภาพบุรุษ, ๒๕๔๔.

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ๒๕๒๒. ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว), ๒๕๓๒.

วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ๒๕๓๙. กบฏสันติภาพ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ).

ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๘๐. ข้างหลังภาพ. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร), ๒๕๒๔.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๙๓. จนกว่าเราจะพบกันอีก. (กรุu3591 .เทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า), ๒๕๓๖.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๔๙๘. แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา), ๒๕๑๘.
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๕๑๘. แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย. (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสืออุดมธรรม).
ศรีบูรพา (นามแฝง) ๒๕๓๒. ป่าในชีวิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า).

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ๒๕๔๘. "สุภาพบุรุษ...มนุษยภาพ "ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์" คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา. พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาลกุหลาบสายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ๒๕๓๔. แผนชิงชาติไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์).

สุวดี เจริญพงศ์ ๒๕๑๙. "ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการเคลื่อนไหวตามแนวคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฮิวเมอริสต์ (นามแฝง) ๒๕๓๑. "สุภาพบุรุษ" นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย. หนังสืออนุสรณ์ ๙๖ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์- ๗๒ ปีสุภาพบุรุษ, ๒๕๔๔.

++++++++++++++++++++++

ประวัติผู้วิจัย:
ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ปริญญาตรี ชื่อปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต,ปริญญาสาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2524

ปริญญาโท ชื่อปริญญา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต,ปริญญาสาขาวิชาเอก ประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2532วิทยานิพนธ์ กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ครั้งที่ 2 (2490-2500)

ปริญญาเอก ชื่อปริญญา DOCTOR OF PHILOSOPHYสาขาวิชาเอก Portuguese Historyสถาบันการศึกษา UNIVERSITY OF BRISTOL ประเทศ สหราชอาณาจักรสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2541วิทยานิพนธ์ The Portuguese Lancados in Asia


ที่มา :
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความลำดับที่ ๑๔๘๗
เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 12, 02, 2008)

ตอนที่ ๑ : งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๑)

ตอนที่ ๒ : งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๒)

ไม่มีความคิดเห็น: