วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ประชาธิปัตย์ : อีกปัจจัยหนึ่งของปัญหาการเมืองปัจจุบัน


เมื่อวานผมได้นำเสนอ ข้อวิจารณ์พรรครัฐบาล ซึ่งก็คือพรรคพลังประชาชนไปแล้ว

สถานภาพจักรภพอาจมีปัญหา, กระทู้วิจารณ์ พปช.

วันนี้ผมขอเสนอข้อวิจารณ์ของพรรคฝ่ายค้านบ้าง

ความจริงถ้ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แบบ Constitutional Monarchy (ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษ เพราะถ้าผมแปลตามแบบคณะราษฎร Limited Monarchy ไม่แปลตามแบบนิยมในปัจจุบัน อาจมีปัญหากับชีวิตได้) ซึ่งกำหนดให้มีระบบการเมืองแบบรัฐสภา ก็ควรจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคนำเสนอแนวทางการเมืองที่แตกต่างกันให้กับประชาชน

พูดง่ายๆว่า ระบบการเมืองแบบรัฐสภาควรจะมีพรรคการเมืองอย่างน้อยก็สองพรรคขึ้นไป ในเมืองไทยก็คงเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์นี่แหละ

สมัยพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงผู้นำ จากบัญญัติมาเป็นอภิสิทธิ์ นี่ผมจำได้ว่าผมก็รู้สึกยินดีเล็กๆนะครับ เพราะเชื่อว่าคนอย่างอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นคนหนุ่ม คงจะนำความคิดใหม่ๆมาให้ประชาธิปัตย์ (จำได้ว่าตอนไทยรักไทยได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ผมยังเคยเขียนบทความทำนองให้กำลังใจและให้ปรับปรุงพรรค)

แต่ระยะเวลาตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมา ผมรู้สึกผิดหวังกับพรรคนี้มากๆ

ไม่คิดว่าคนหนุ่มอย่างอภิสิทธิ์
กลับทำงานการเมืองแบบล้าหลัง และอนุรักษ์นิยม

ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน, การไม่ประณามการรัฐประหาร, ด่านโยบายประชานิยม (แต่ตัวเองก็นำเสนอเสียเอง โดยรีแบรนด์เป็นชื่ออื่น) หรือล่าสุด ให้คนอย่างเทพไท ออกมาฟ้องร้อง 29 เว็บไซต์ว่าหมิ่นฯ ซึ่ง

ผมไม่คิดว่าประชาธิปัตยจะตกต่ำได้ถึงเพียงนี้

ผมรู้สึกผิดหวัง และหงุดหงิดพรรคการเมืองพรรคนี้ได้ จนรู้สึกไม่อยากพูดถึง คิดแค่ว่าถ้ายังทำงานการเมืองแบบนี้ ก็คงรอวันล่มสลาย และเมืองไทยก็คงมีพรรคการเมืองอยู่เพียงพรรคเดียวนั่นแหละ

(แต่ผมก็ไม่รู้ว่า คนภาคใต้กลุ่มใหญ่ เขาจะเลิกเลือกพรรคการเมืองพรรคนี้หรือเปล่า)

พอเมื่อวานได้อ่านบทวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ จากวีรพงษ์ รามางกูร ที่เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ ก็รู้สึกว่าพูดได้ตรงใจ (บางส่วน -- ซึ่งผมจะพูดต่อไป)

ประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูป : วีรพงษ์ รามางกูร

ผมก็ขอยืมข้อวิจารณ์คุณวีรพงษ์นี่แหละ มาวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพรรคจะปรับตัวตามข้อวิจารณ์นี้หรือเปล่า

ข้อวิจารณ์ของวีรพงษ์ชี้ว่า ปัญหาหลักของประชาธิปัตย์ ก็คือปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม จนกระทั่งกลืนคนรุ่นใหม่ที่เข้าพรรคไปเสียสิ้น

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อให้เปลี่ยนตัวผู้นำจากอภิรักษ์เป็นคนอื่น (say กร จาติกวณิช) ก็ใช่ว่าประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ

แต่ส่วนที่ผมยังเห็นต่างจากวีรพงษ์คือ ปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะปัญหาจากการ ไม่ยอมปฏิรูปของประชาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว

มันยังมีปัญหาเรื่อง การแทรกแซงการเมืองของอำนาจบางอย่างนอกรัฐสภา ซึ่งประชาธิปัตย์ก็เข้าใจพลังการเมืองแบบนี้ดี และยังอาศัยประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วย


ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร แบบอนุรักษ์นิยม
จึงไม่ได้เกิดแต่เพียงพรรคประชาธิปัตย์

แต่เกิดขึ้นในระดับประเทศด้วย


สหายสิกขา


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ประชาธิปัตย์ : อีกปัจจัยหนึ่งของปัญหาการเมืองปัจจุบัน


เพิ่มเติม..

ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ :

"สามล้อไม่ให้ขี่ กระหรี่ไม่ให้ขึ้นห้อง"

เก็บตกบทสัมภาษณ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์


โดย : เซียงหยาง


วันนี้ผมจัดชั้นหนังสือเลยบังเอิญไปพลิกๆ ดู GM ฉบับครบรอบยี่สิบปี (เล่มนี้ผมชอบมาก เพราะเป็นเล่มรวมบทสัมภาษณ์ดีๆจากหลายเล่ม)พอดีเจอบทสัมภาษณ์ชิ้นหนี่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างดี จึงขอคัดลอกมาบางส่วน เพื่อให้เพื่อนๆทั้งหลาย ได้มีโอกาสร่วมรำลึกประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกัน ว่าครั้งหนึ่งเคยมีคนให้สมญา"สถาบันการเมือง"แห่งนี้ว่าอย่างไร และเมื่อผ่านไปหลายสิบปี สถาบันการเมืองแห่งนี้ จะยังอนุรักษ์ตัวตนความเป็นประชาํธิปัตย์ไว้ได้เหนียวแน่นขนาดไหน


หัวเรื่อง: ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ คมคิดของนักเขียน


คำโปรย: เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่า ที่เคยเปรียบเทียบตัวเองว่ายอมเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ ดีกว่าจะยอมวิวัฒนาการไปเป็น"เหี้ย" ชีวิตการทำงานในวงการน้ำหมึกของเขา เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อยังเรียนชั้นมัธยมด้วยซ้ำ จนก้าวจากการเป็นนักข่าวเต็มตัวและขึ้นมาสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี ประวัติการทำงานของเขาดำเนินมาควบคู่กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย ไล่จาก "อาทิตย์รายวัน" เปลี่ยนเป็น "มาตุภูมิ" มาสู่ "สยามใหม่" จนกระทั้ง"ข่าวพิเศษ" นอกจากนี้ เขายังมีงานเขียนอีกหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี และสารคดี GM รักบทสัมภาษณ์ของเขา เพราะเขาเจาะประเด็นเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างที่ไม่มีใครกล้าพูด


GM: คุณมักอ้างถึงคำพูดของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ่อยๆ ว่า

"สามล้อไม่ให้ขี่ กระหรี่ไม่ให้ขึ้นห้อง"

ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม เป็นอย่างไร


ชัชรินทร์: แหม! เรื่องมันยาว ถ้าในหมู่นักข่าวที่เคยทำข่าวจะรู้กันชัด อย่างเช่น บางครั้งพรรคพลังใหม่เกือบสูญพันธุ์แบบพรรคพลังธรรมในปัจจุบันนี้ พวกพรรคพลังใหม่ก็คือพวกด็อกเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งเบบี้ด็อกเตอร์ไปเรียนรู้เทคนิคจากต่างประเทศก็คิดจะมาทำในเมืองไทย ยุคนั้นก็เกิดการกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์ เอียงซ้ายหรือเอียงขวา อะไรอย่างนี้ พรรคพลังใหม่ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นแตงโมที่ข้างนอกสีเขียว พอผ่าออกมาข้างในสีแดง

มีการออกป้ายประกาศว่า "สังคมนิยมทุกชนิดก็คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง" ใช้ทุกวิธีคือด่าๆๆๆ พวกทหารจะใช้ปืน แต่ประชาธิปัตย์จะใช้ปาก เล่ห์เหลี่ยมเยอะ ที่อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านพูดแบบนี้ ท่านยังพูดด้วยว่ากระทั่งพี่ชาย-ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช ยังด่าน้องชายหาว่าเป็นพวกลักเพศ เพื่อว่าตัวเองจะได้ขึ้นไปเป็นนายกฯ แล้วมันก็จริง คือได้มาตั้ง 100 กว่าเสียง แต่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ไม่มีใครเอาด้วย ด่าทั้งฝ่ายซ้าย ด่าทั้งฝ่ายขวา แล้วมันก็แปลก จารีตประเพณีนี้มันก็ยังมีอยู่

จนกระทั่งผมเคยปรารภกับพรรคพวก เคยคุยกับพี่วีระ มุสิกพงศ์ ก็ถามพี่วีระว่า พี่วีระ พรรคการเมืองนี้มันเป็นยังไง คนดีๆหลายคน พอเข้าไปพฤติกรรมมันเหมือนกันหมด คนอย่างอาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต ยุคอยู่ ป.ป.ป. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) ก็ดี๊ดี พอเข้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับโดนบล็อกไปรูปนั้นเลย พี่วีระก็บอกว่ามันเหมือนแดร็กคิวล่า(หัวเราะ)

ใครเข้าไป มันก็ดูดเลือดแล้วแพร่เชื้อ


[หลังจากนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแล้วครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชน แล้วก็มุมมองของแกต่อสิ่งต่างๆ]


คัดจากบทสัมภาษณ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
จาก GM ปีที่ 11 เล่มที่ 184
ปักษ์หลัง เดือนธันวาคม 2539
สัมภาษณ์ : ทิพากร บุญอ่ำ
ถ่ายภาพ : สมบูรณ์ ตามภักดีพานิชย์


ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ : สามล้อไม่ให้ขี่ กระหรี่ไม่ให้ขึ้นห้อง, เก็บตกบทสัมภาษณ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์


ไม่มีความคิดเห็น: