วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เสวนา :‘สิทธิมนุษยชน กับความคิดเห็นที่แตกต่าง’


วันที่ 2 พ.ค.51 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาวิชาการเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน กับความคิดเห็นที่แตกต่าง’ โดย สถาบันสันติประชาธรรม ซึ่งเป็นเวทีสืบเนื่องจากกรณีที่นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และนางสาวชุติมา เพ็ญภาค ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้อภปิรายร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้แก่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น และ เกษม เพ็ญภินันท์ จากคณะศิลปศาสตร์ มธ.เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่ง ‘ประชาไท’ ได้ถอดความและเรียบเรียงเนื้อหาส่วนที่ทั้ง 3 คนนำเสนอบนเวที

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นของงานเสวนา ทางคณะผู้จัดได้เปิดเสียงรายการ “Metro Life” จัดรายการโดยต่อพงศ์ เศวตามร์ และ อำนาจ เกิดเทพ ออกอากาศทางคลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน FM 97.75 เวลา 21.30 น. เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเวลาประมาณ 10 นาที ในส่วนของเนื้อหาที่เป็นไปในทางยั่วยุให้ผู้คนเกิดความเกลียดชังและเข้ามาก่อความรุนแรงในงานเสวนาดังกล่าวตลอดจนทำร้ายนายโชติศักดิ์

หลังจากนั้นทางคณะผู้จัดฯ จึงได้แจ้งต่อผู้เข้าร่วมงานว่าเนื่องจากเกิดกระแสยั่วยุดังกล่าวทำให้เห็นว่าเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรให้นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งตามกำหนดเดิมนั้นเขาเป็นผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่ง

“ทางคณะผู้จัดงานเห็นว่าไม่ควรให้คุณโชติศักดิ์มาร่วมงานด้วยเกรงเรื่องสวัสดิภาพของคุณโชติศักดิ์และผู้ร่วมงาน รวมทั้งเกรงว่าอาจจะเกิดความรุนแรงและถูกขยายผลนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองอื่นๆ สุดท้าย เราขอยืนยันว่า ในสังคมประชาธิปไตยจะต้องมีการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะแตกต่างสักเพียงใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความเห็นนั้นไม่นำมาสู่การสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม และกรณีทีเกิดขึ้นกับคุณโชติศักดิ์นั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยอาจจะยังห่างไกลจากสิ่งที่พึงปรารถนา และคุณโชติศักดิ์ อ่อนสูง ก็เป็นเหยื่อของสังคมที่ไม่เคารพความเห็นที่แตกต่าง” คณะผู้จัดชี้แจง


0 0 0 0 0 0 0


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ


๑.

ต่อให้ไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย มันก็มีกำแพงความคิดจากการครอบงำ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างปราศจากเหตุผล อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณี 6 ตุลา [2519]


๒.

หลังปี 2475 มีความพยามจะเลิกการแบ่งแยกตรงนั้น เลิกสิทธิโดยชาติกำเนิด ฐานันดร แต่กระแสนิยมเจ้าได้ฟื้นตัวกลับตั้งแต่ปี 2490 แล้วทำลายดอกผลของการปฏิวัติ 2475 แล้วนำสังคมไทยมาสู่ถอยหลังลงคลอง วัฒนธรรมไพร่ฟ้าถูกรื้อคืนขึ้นมา ประชาชนก็ถูกปฏิบัติ หรือคงรักษาให้อยู่ในสถานะคล้ายๆ กับเป็นไพร่ต่อไป


๓.

คนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าต้องปลุกระดม โฆษณาเคลื่อนไหวให้ประชาชนเกลียดชัง จนกระทั่งไปโหวตไม่รับรัฐบาลแล้วไปเลือกพรรคอื่น เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น คือ ถ้าคิดแบบนั้นก็โอเค ถือว่าแฟร์เพลย์ เป็นประชาธิปไตย แต่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน




เรื่องสิทธิมนุษยชนกับความเห็น ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคงเป็นเรื่องของคุณโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงหนัง ซึ่งมีความพยายามในการโยงเรื่องนี้เข้ากับอีกคดีหนึ่งของคุณชาญวิทย์ จริยานุกูล ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีเดียวกัน ผมคิดว่าวันนี้มาพูดเรื่องคุณโชติศักดิ์ก่อน เพราะกรณีคุณชาญวิทย์อาจผูกพันกับอีกหลายเรื่อง

เมื่อพูดถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกรณีคุณโชติศักดิ์ คงต้องเริ่มที่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” เราต้องเข้าใจว่าโดยธรรมชาติว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงปลุกใจชนิดหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนให้ความคือ คุณตติกานต์ เดชชพงศ เขียนบทความไว้ว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเกิดขึ้นก่อนในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 สมัยที่ชาวฮอลแลนด์ปฏิวัติสเปน ต่อมาก็เกิดเพลงลักษณะเดียวกันที่สดุดีกษัตริย์ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อังกฤษ คือ เพลง God Save the Queen ซึ่งประเพณีการยืนเคารพรูปพระมหากษัตริย์ในอังกฤษเกิดขึ้นในสมัยก่อนนานแล้ว เมื่อฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ก็ต้องเปิดเพลง God Save the king หรือ god save the queen การเริ่มในอังกฤษเริ่มในสมัยชาตินิยม แล้วต่อมาประเพณีนี้ก็แพร่ไปในอาณานิคมของอังกฤษด้วยโลก ซึ่งข้อมูลที่มีมาพบว่าได้ยกเลิกประเพณีไปนานแล้ว ว่ากันว่าเป็นเพราะเมื่อราว 30-40 ปีก่อน พวกนักศึกษาปัญญาชนคัดค้าน ประท้วงโดยการไม่ยืน เมื่อไม่ยืนกันมากเข้ารัฐบาลอังกฤษก็เลิก

ความสำคัญอยู่ที่ว่า จารีตนี้พวกฟาสซิสม์ได้นำไปใช้ด้วย ในเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยฮิตเลอร์ ในอิตาลียุคของมุสโสลินี และในญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน มีการเปิดเพลงแล้วให้ประชาชนยืนตรงเคารพรูปอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคารพรูปมุสโสลินี หรือเคารพรูปจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่เมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วประเพณีนี้ก็เลิกไป ไม่มีแล้วทั้งในเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

กลับมาดูประเทศไทย เราต้องเข้าใจว่าแต่เดิมมา การเคารพกษัตริย์ไม่ใช่การยืน แต่เป็นการหมอบกราบกับพื้น ถ้าขุนนางยืนต่อหน้ากษัตริย์นั่นคือการกระด้างกระเดื่อง เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังนั้น จารีตการยืนในความหมายเดิมจึงไม่ใช่การเคารพ จนกระทั่งจารีของทางตะวันตกเข้ามาในสังคมไทยประมาณรัชการที่5 จึงยอมให้ขุนนางนั่งเก้าอี้หรือยืนหรือถวายคำนับ เนื่องจากการหมอบกราบดูเป็นเรื่องล้าสมัย ฉะนั้น การยืนเคารพเป็นเรื่องใหม่ เมื่อมีการเปลี่ยนจารีตตามฝรั่ง และหลังจากนั้นราวปี 2430 จึงเริ่มมีการแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยรัชกาล5 นั้นเอง โดยก่อนหน้านี้ก็ได้ขอยืมเพลง god save the queen มาใช้ก่อนโดยการบรรเลงเพื่อสดุดีพระมหากษัตริย์ จนมีการแต่งเพลงสรรเสริญเองครั้งแรก ซึ่งก็มีแค่ 4 วรรค คำ “ข้าวรพุทธเจ้า” แล้วมาที่ “ธ ประสงค์ใด ......” เลย แล้วที่เห็นเนื้อยาวขึ้นอย่างในปัจจุบันนั้นแต่งในสมัยรัชการที่ 6 เพิ่มเติมเข้าไป

เพลงนี้ใช้ในพระราชพิธีอย่างเป็นทางการที่ต้องทำแบบตะวันตกเท่านั้น ถ้าเป็นพิธีแบบพราหมณ์ก็ใช้เพลงอื่น จะมีแบบแผนว่าใช้เพลงสรรเสริญเพื่อรับเสด็จ ส่งเสด็จ ใช้ในงานเป็นทางการ ใช้ในงานที่มีผู้แทนพระองค์ ฯ และต้องบรรเลงเพื่อถวายพระเกียรติยศเท่านั้น ดังนั้น การใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีในอดีตเป็นเรื่องของพิธีการในราชสำนักและเป็นเรื่องที่ “ไม่เกี่ยว” กับไพร่เลย เพราะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไพร่ห่างไกลกับสถาบันกษัตริย์มาก แม้กระทั่งพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ไพร่ไม่มีสิทธิกลืน มีแต่พวกขุนนางเท่านั้นที่มีสิทธิดื่มได้ ไพร่ต้องภักดีแต่ไม่ต้องอยู่ในพิธีกรรม

การที่มีการจารึกไว้ว่า เพลงสรรเสริญเริ่มใช้ในการแสดงหนังละครก่อน ปี 2475 นั่นไม่จริง มันมีการนำเพลงของตะวันตกมาใช้จริง แต่เท่าที่มีการสอบถามนั้นเป็นการใช้เพลงอื่นเพราะไม่ใช่พิธีในพระราชสำนัก

แล้วใครที่ทำให้เกิดพิธีการยืนตรงแบบนี้ มันเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ราษฎร ประชาชนทั่วไปกลายเป็นเป้าหมาย ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง เริ่มต้นเมื่อจอมพล ป. ดำเนินนโยบายรัฐนิยม มีแบบแผนให้มีการยืนตรงเคารพเพลงชาติ และยังรวมไปถึงเพลงสรรเสริญด้วยในที่สาธารณะ ดังนั้น จารีตการใส่เพลงสรรเสริญพระบารมีเข้าไปในการแสดงหนัง ละคร น่าจะเริ่มหลังจากนี้ เพราะก่อนหน้านั้นหนังก็เข้ามาฉายน้อย และหลังสงครามโลกจึงเริ่มมีหนังเข้ามาฉายมากขึ้น สถานีวิทยุต่างๆ ก็เริ่มเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ดังนั้น การฉายหนังสมัยนั้นจึงปิดท้ายด้วยเพลงสรรเสริญ ขอย้ำว่าสมัยนั้นเป็นเพลง “ปิดท้าย” เราจะรู้กันว่าถ้าขึ้น “ข่าวอ” แปลว่าหนังจบ เราไม่เรียกว่า “ข้าวอ” [ข้าวรพุทธเจ้า] แต่เรียก “ข่าวอ”

แล้วทำไมเปลี่ยนมาเปิดเพลงนี้ก่อน มันเริ่มช่วงหลัง 14 ตุลา [2516] จนราวปี 2520 ที่เริ่มเกิดความวิตกต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์จากการคุกคามของพวกสังคมนิยม ชนชั้นนำไทยจึงบีบบังคับให้ประชาชนเคารพมากขึ้น การเปิดเพลงทีหลังมีปัญหาว่าประชาชนพากันเดินออกก่อน ซึ่งคงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเคารพหรือไม่เคารพ จึงตัดปัญหา ดังนั้น ในสมัยธานินทร์ [กรัยวิเชียร] จึงเปลี่ยนเอามาเปิดเพลงก่อนการฉายหนังเพื่อให้ประชาชนยืนเคารพก่อน

อันนี้จะชี้ให้เห็นว่า มีคนไม่ยืนกันมาแล้ว ซึ่งอาจด้วยเหตุผลหลายประการ และการยืนตรงในโรงหนังเป็นจารีตที่มีความเป็นมาเหมือนกันและเป็นความจงใจ แต่เอาเข้าจริงทางปฏิบัติก็บังคับไม่ได้ เพื่อนบางคนที่ต้องการดูหนังและรำคาญไม่อยากยืน ก็จะไปเข้าห้องน้ำเมื่อเปิดเพลงข่าวอ ซึ่งก็คงไม่ท้าทายเท่าที่คุณโชติศักดิ์ทำ ถ้าใครดูหนังบ่อยๆ จะรู้ว่าเมื่อขึ้นโฆษณามือถือดีเทคหรือเอไอเอสในโรงหนังแล้ว ก็จะรู้ว่าจะมีเพลงนี้แล้วก็จะไปเข้าห้องน้ำ

ในต่างประเทศมีการแสดงเจตจำนงในการต่อต้านโดยตรง กรณีของของเพลงชาติอเมริกาก็มีคนไม่ยืนไม่เคารพเพลงชาติ คือ ‘โทนี สมิท’ [นักกีฬาบาสเกตบอลหญิงจากวิทยาลัยแมนฮัตตันวิล]ซึ่งมีเชื้อสายอินเดียนแดงไม่สามารถจะยืนเคารพเพลงชาติอเมริกาได้ เพราะเป็นการดูถูกชนชาติของเขา

กรณีของโชติศักดิ์สะท้อนให้เห็นปัญหาในไทย 2 ระดับที่สำคัญมาก ระดับที่หนึ่ง อันนี้โยงกับที่ทางผู้จัดเปิดวิทยุผู้จัดการเมื่อสักครู่นี้ ขณะนี้กรณีโชติศักดิ์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ด้วยการไม่ยืนตรงในโรงหนังแค่นี้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองในการโจมตีรัฐบาลสมัคร ทำไมไม่จัดการ โจมตีจักรภพว่าทำไมยอมให้คนใส่เสื้อแบบนี้ออกทีวี โดยเหตุผลแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่งี่เง่า เพราะไม่มีกฎหมายอะไรบังคับ และตัวโชติศักดิ์เองก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลและจักรภพ เพ็ญแข กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีแบบนี้โดยมีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเป็นแกน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้จัดการตอนนี้กลายเป็น “ดาวสยามยุคใหม่” ถ้าเราทราบประวัติศาสตร์ที่ผ่านก็จะรู้ว่าดาวสยามแสดงบทบาทอย่างนี้ในสมัย 6 ตุลาในการใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาโดยใช้ประเด็นสถาบันกษัตริย์ในการโจมตีนักศึกษา วันนี้ไม่มีดาวสยามแล้ว แต่มีผู้จัดการซึ่งพยายามโยงเรื่องโชติศักดิ์ไม่ยืนในโรงหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่คุณสมัครจะมาเป็นนายกฯ รัฐบาลสมัครไม่เคยมาหนุนและโชติศักดิ์ก็เกลียดสมัครที่สุด (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้ ขณะที่ผู้จัดการทำหน้าที่เป็นดาวสยามใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เปลี่ยนเป็นพรรคประชากรไทยยุคเก่า พรรคประชาธิปัตย์ได้หยิบยกเรื่องแบบนี้มาโจมตีสมัคร โจมตีทักษิณ แล้วพยายามโยงว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดี

ประเด็นในขณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องการยืนหรือไม่ยืน และไม่ใช่แม้กระทั่งเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การโจมตีของผู้จัดการ หรือของคุณคำนูณ สิทธิสมาน นั้นโจมตีว่า ล้มล้างสถาบัน การไม่ยืนตรงนั้นกลายเป็น หรือใส่เครื่องหมายเท่ากับ การนำไปสู่สาธารณรัฐนิยม ดังนั้น การปลุกระดมอย่างที่เราได้ยินเมื่อกี๊จึงเกิดขึ้น จากการวางเป้าให้ประชาชนเกลียดชังโชติศักดิ์ ไม่ใช่เพราะแค่โชติศักดิ์ไม่ยืนตรง แต่เพราะจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นเรื่องน่ากลัวมาก

การสร้างกระแสแบบนี้สร้างขึ้นไหม มีการตอบรับไหม ต้องเรียนตามจริงว่า สร้างขึ้น และมีกระแสตอบรับ เพราะขณะนี้ความวิตกอย่างยิ่งของกลุ่มนิยมเจ้า หรือที่เรียกว่า ultra royalist หวาดกลัวมากเรื่องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากกรณีเนปาล สภาพการณ์คล้ายปี 2518 คล้ายๆ เมื่อตอนที่กษัตริย์ลาวถูกโค่น พวกเขารับไม่ได้กับการที่ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ไม่มีกษัตริย์ เพราะเห็นว่าระบบกษัตริย์เป็นระบบที่ดีที่สุด การที่ประเทศอื่นไม่มีกษัตริย์เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ประเทศไทยจึงเป็นกรณีสูงเด่น มีบุญบารมียิ่งกว่าชาติใด ดังนั้น republic จึงไม่ได้คุกคามเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คุกคามความดีงาม ความพิเศษของสังคมไทยด้วย พวกเขาจะตีความว่าถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์โลกทั้งโลกของสังคมไทยจะต้องพังทลาย ประชาชนไม่มีที่ยึดเหนี่ยว การเป็น republic จึงเป็นเรื่องร้ายแรง เลวร้าย ที่คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้อง รับไม่ได้อย่างเด็ดขาด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

การสร้างกระแสขวาจัดแบบผู้จัดการ การใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองจึงฟังขึ้น และสามารถบวกคะแนนเพิ่มให้กับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ และยิ่งกว่านั้นมันโยงกับการบริหารอันเฉไฉของรัฐบาลสมัครด้วย จริงๆ ไม่ควรจะโยงกัน พูดกันแบบแฟร์ๆ ถ้าเราจะต่อต้านรัฐบาลสมัคร จะให้เกิดปัญญาความรู้กับประชาชน ต้องบอกว่าเขาบริหาร ใช้นโยบายที่ผิด ไม่ถูกต้องยังไง และมีนโยบายที่ดีกว่านี้ยังไง ถ้าพูดแบบนี้สร้างสรรค์ แต่เมื่ออยู่ในโครงสร้างความคิดแบบนี้ การโจมตีแบบนั้นมันไม่พอ สู้โจมตีว่าทักษิณล้มสถาบัน สมัครล้มสถาบันไม่ได้ แบบนี้มีน้ำหนักทางการเมือง หรือพูดตรงๆ ว่า หลอกประชาชนได้ง่ายกว่า แล้วทำอย่างไรถึงจะมีรูปธรรม ก็ต้องหยิบกรณีโชติศักดิ์บ้าง กรณีชาญวิทย์บ้างมาโหมประโคมสร้างกระแส

กระแสนี้จะนำไปสู่การรัฐประหารไหม คิดว่าเขาคิด เพราะวิธีการเบ็ดเสร็จอันเดียวที่จะทำลายรัฐบาลพลังประชาชน หรือรัฐบาลสมัครได้อย่างเฉียบพลันได้ก็คือ การัฐประหาร คนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าต้องปลุกระดม โฆษณาเคลื่อนไหวให้ประชาชนเกลียดชังจนกระทั่งไปโหวตไม่รับรัฐบาลแล้วไปเลือกพรรคอื่น เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น คือ ถ้าคิดแบบนั้นก็โอเค ถือว่าแฟร์เพลย์ เป็นประชาธิปไตย แต่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ว่าการรัฐประหารหรือการแทรกแซงทางการเมืองโดยตรงโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม และถ้ากรณีที่สองเกิดขึ้นพวกเขาจะต้องรับผิดชอบ

ประเด็นเหล่านี้น่ากลัวมาก เพราะการรณรงค์อย่างที่ว่าทำให้เกิดความคับแคบทางความคิดอย่างมากในสังคมไทย คำขวัญที่ชูว่า “การคิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” เป็นเรื่องรับไม่ได้ของคนเหล่านี้ เพราะเขาคิดว่าการคิดต่างเรื่องสถาบันนั้นเป็นอาชญากรรมโดยตรง เป็นการละเมิดคุณค่าร่วมของสังคม ละเมิดสิ่งที่คนไทยควรยึดถือร่วมกัน เขาไม่อาจยอมรับในหลักการประชาธิปไตยที่ยึดหลักว่ามนุษย์คิดต่างกันได้ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดการเคารพนับถือของคนอื่น ความจริงแล้วการนับถือหรือไม่นับถือใครเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง แต่สังคมไทยไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ความคับแคบของสังคมไทยบังคับให้ทุกคนต้องนับถือในสิ่งเดียวกัน ถ้านับถือในสิ่งที่แตกต่างไปยอมไม่ได้

ดังนั้น กรณีของโชติศักดิ์จึงสะท้อนปัญหาใหญ่มากๆ มากไปกว่าการยืนไม่ยืน เพราะพฤติกรรมเช่นนี้กระทบกับกระแสครอบงำความคิด หรือทางทฤษฎีเรียกว่า hegemony ซึ่งก็คือ วัฒนธรรมศักดินา หรือ วัฒนธรรมไพร่ฟ้า ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของกลุ่มนิยมเจ้าที่ตกค้างมาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ 2475 มีการแบ่งจำแนกคนออกไปโดยแบ่งโดยชาติกำเนิด คุณเกิดมาเป็นเจ้า เกิดมาเป็นไพร่ และมีวัฒนธรรมที่ผูกติดกับคุณ ก้าวก่ายแทรกแซงกันไม่ได้และตายตัวอย่างนั้น คนที่เกิดมาต้องยอมรับลำดับชั้นที่เกิดมา ความเสมอภาคทางสังคมจึงเป็นไปไม่ได้

หลังปี 2475 มีความพยามจะเลิกการแบ่งแยกตรงนั้น เลิกสิทธิโดยชาติกำเนิด ฐานันดร แต่กระแสนิยมเจ้าได้ฟื้นตัวกลับตั้งแต่ปี 2490 แล้วทำลายดอกผลของการปฏิวัติ 2475 แล้วนำสังคมไทยมาสู่ถอยหลังลงคลอง วัฒนธรรมไพร่ฟ้าถูกรื้อคืนขึ้นมา ประชาชนก็ถูกปฏิบัติ หรือคงรักษาให้อยู่ในสถานะคล้ายๆ กับเป็นไพร่ต่อไป อิทธิพลแบบนี้เองเป็นภัยร้ายแรงทางความคิด และเป็นสถานการณ์ทางความคิดของประชาชน ขอสรุปแบบนี้


วัฒนธรรมไพร่ฟ้า หรือวัฒนธรรมศักดินา ก่อให้เกิดอันตราย หรือภัยร้ายต่อสังคมไทยอย่างน้อย 4 ประเด็น

1.
ทำให้แนวความคิดเรื่องความเสมอภาคกันระหว่างมนุษย์เป็นไปไม่ได้ คุณต้องยอมรับว่าจะต้องมีมนุษย์บางกลุ่มอยู่ในสถานะที่สูงกว่าประชาชนโดยทั่วไป

2.
เรื่องนี้ตอบคำถามว่า ทำไมประชาธิปไตยในเมืองไทยจึงล้มลุกคลุกคลาน เพราะรากวัฒนธรรมศักดินานั้นทำลายการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะหลักการสำคัญของประชาธิปไตยนั้นอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน ประชาชนต้องใช้อำนาจนั้น แต่ในสังคมไทย แนวคิดเราถูกทำให้ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานอำนาจนั้นแก่ประชาชน ดังนั้น ประชาชนไทย หรือกลุ่มที่คิดแบบนี้ยังคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราช และพร้อมเสมอในการถวายพระราชอำนาจคืน

3.
แนวความคิดศักดินาทำลายแนวความคิดรัฐประชาชาติสมัยใหม่ เพราะรัฐประชาชาติสมัยใหม่นั้นประชาชนทุกคนต้องเป็นเจ้าของประเทศโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเจ้าหรือไพร่ หนึ่งเสียงในประเทศนี้เท่ากัน แต่แนวคิดศักดินาทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้อาศัยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ในกรณีโชติศักดิ์จึงมีคนพูดว่าถ้าคิดอย่างนั้นก็ต้องไปอยู่ประเทศอื่น เบื้องหลังการพูดแบบนี้ก็คือความเชื่อที่ว่ารัฐประชาชาติไทยไม่ได้เป็นของประชาชนแต่เป็นของพระมหากษัตริย์ ประชาชนเป็นเพียงผู้อาศัย

4.
ประชาชนไทยจะคุ้นกับการคิดด้านเดียว เห็นภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในอดีตเพียงด้านดีด้านเดียว พระมหากษัตริย์ทั้งหลายเป็นผู้มีบุญบารมี มีความสามารถรอบด้าน ซึ่งต้องย้ำว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องไม่จริง ไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะมีด้านดีด้านเดียวเช่นนี้ เป็นความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง และเมื่อคนไทยรับความคิดแบบนี้ เมื่อมีคนเสนออีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องรับไม่ได้


ประเด็นที่ผมชี้แจงมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าการที่โชติศักดิ์ยืนหรือไม่ยืน และที่จริงมันใหญ่กว่าแม้กระทั่งการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อให้ไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ก็มีกำแพงความคิดจากการครอบงำ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างปราศจากเหตุผล อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณี 6 ตุลา [2519] รวมทั้งลุกขึ้นมาทำลายอะไรหรือใครก็ได้ที่เขาคิดว่าเป็นภัย โดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองเลย กรณีเหล่านี้เองที่คุกคามภาวะสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างยิ่ง


0 0 0 0 0 0 0


ประวิตร โรจนพฤกษ์
ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น


๑.

สังคมที่ทุกคนต้องพูด เห็น เหมือนกันไปหมด และไม่ต้องการตั้งคำถาม ได้ยินคำถาม ฟังคำตอบ หรือแม้กระทั่งตั้งคำถามไม่ได้ คงมิอาจเรียกว่าเป็นสังคมมนุษย์ได้ เพราะการตั้งคำถามเป็นคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ของการเป็นมนุษย์


๒.

ผมฝัน ว่าตนเองหลงหลุดไปในเมืองลับแล ที่ผู้คนเชื่อว่า เมืองตนนั้นแปลกแตกต่าง มีเอกลักษณ์วิเศษพิสดารกว่าที่อื่น และรักสันติ แต่ ณ เมืองนั้นผมเห็นผู้คนถูกปลุกระดมจนบ้าคลั่ง ไล่ล่าฆ่าคนที่เห็นต่างอย่างกระหายเลือด


๓.

สื่อกระแสหลักจำนวนมากในไทยเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง พวกเขามิเพียงละเลยหน้าที่ที่จะเป็นเวทีเปิดของความเห็นต่าง ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนโต้เถียงอย่างสันติ มิหนำซ้ำ ยังนิ่งดูดายกับการที่สื่อเครือข่ายพันธมิตรฯ พยายามเรียกร้องให้มีการกดทับ ปราบปราม หรือทำร้าย



ต้องขอออกตัวว่าที่มาพูดที่นี่ไม่ได้มาในนามหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น แม้ว่าผมจะทำงานอยู่ที่นั่น และสิ่งที่ผมจะเสนอก็อาจจะต้องหรือต่างกับความเห็นของคนในหนังสือพิมพ์บ้างก็แล้วแต่

ประเด็นนี้เตรียมมาอ่านเป็บบทความสั้นๆ ขอตั้งชื่อบทความว่า
“คำถามต่อสังคมที่มิต้องการคำถาม”


....ไม่ว่าผู้ฟังจะเห็นด้วย หรือไม่กับนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง กรณีนายโชติศักดิ์ ผู้ไม่ยอมยืนระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน

ปฏิกิริยามีทั้งเห็นใจ ชื่นชม รวมถึงโกรธแค้น เกลียดชัง และต้องการทำร้ายหรือแม้กระทั่งประชาทัณฑ์เข่นฆ่านายโชติศักดิ์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในจังหวะที่สถาบันกษัตริย์กำลังถูกนำมาอ้าง เพื่อผลประโยชน์ในการต่อสู้ทางการเมือง โดยกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และสื่ออย่าง ASTV นสพ.ผู้จัดการ วิทยุผู้จัดการ อย่างที่ท่านผู้ฟังได้ฟังตอนต้น หรือที่ถูกเรียกขานนามว่าเป็น ดาวสยามยุคใหม่ หรือเรียกว่า ดาวสยามยุคดิจิตอลอาจจะดีกว่า

ก่อนอื่นผู้พูดอยากให้พิจารณาข้อเท็จจริงบางประการ เช่น นายโชติศักดิ์กับเพื่อนหญิง หลังจากที่ไม่ยืน ถูกทำร้ายร่างกายในโรงหนัง และตัวนายโชติศักดิ์เองเป็นผู้โทรศัพท์ เรียกให้ตำรวจเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ และการฟ้องเกิดขึ้นหลังจากที่นายโชติศักดิ์ไม่ยอมถอนฟ้องข้อหาทำร้ายร่างกายแก่นายนวมินทร์ นายโชติศักดิ์เท่าที่ผมทราบ ไม่ใช่สมาชิก นปก. หรือ นปช. และก็ไม่สู้จะชื่นชอบนายทักษิณ ชินวัตร

แต่ก็มิวายที่สื่อที่ไร้ความรับผิดชอบอย่าง นสพ.ผู้จัดการและ ASTV พยายามที่จะจับแพะชนแกะ ปลุกผีให้ผู้คนคลุ้มคลั่งเกลียดชังนายโชติศักดิ์ และถึงแม้นายโชติศักดิ์จะได้เขียนจดหมายร้องเรียนพยายามอธิบายตนเองแก่ นสพ.ผู้จัดการ แต่ก็ดูเหมือนจะมิได้รับแม้กระทั่งโอกาส ที่จะมีพื้นที่ชี้แจงความเห็นต่างและจุดยืนตัวเองใน นสพ. ฉบับนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์กว่าที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาถึงความเห็นทำนองต้องการประชาทัณฑ์ หรือแม้กระทั่งฆ่านายโชติศักดิ์นั้น ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบาก หรือแม้กระทั่งความล้มเหลวของสังคมไทย ที่จะถกพูดหรือตั้งคำถามเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างปกติ โดยมิต้องกระหายเลือด ขาดสติหรือเอียงไปทางขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างสุดกู่

สังคมที่คนเห็นต่างมิสามารถ แม้เพียงแต่จะมีที่ยืน (หรือที่นั่งในกรณีนี้) หรือตั้งคำถามโดยข้อเขียนหรือการกระทำ แถมยังถูกทำให้เป็นอาชญากรทั้งทางกฎหมายและสังคม และโดยที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ผู้คนจำนวนมิน้อยกลับเห็นชอบและชื่นชม คำถามคือ
ควรเรียกสังคมเช่นนี้ว่าสังคมอะไร?

การตั้งคำถาม หากกระทำมิได้กับบางเรื่อง ย่อมต้องมีผลต่อทักษะในการตั้งคำถามเรื่องอื่นๆ ในชีวิตด้วย และมีผลต่อระดับสติปัญญา ความเข้าใจรับรู้ของผู้คนในสังคมนั้น

สื่อกระแสหลักจำนวนมากในไทยเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเกี่ยวกับกรณีข่าวนี้ ซึ่งรวมถึง นสพ.เดอะเนชั่น พวกเขามิเพียงละเลยหน้าที่ที่จะเป็นเวทีเปิดของความเห็นต่างอันมีอยู่หลากหลาย ซึ่งเป็นธรรมดาปกติของสังคมมนุษย์ ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนโต้เถียงอย่างสันติ มิหนำซ้ำ ยังนิ่งดูดายกับการที่สื่อเครือข่ายพันธมิตรฯ พยายามเรียกร้องให้มีการกดทับ ปราบปราม หรือทำร้าย และไม่เปิดให้พื้นที่ความเห็นหรือคำถามต่างๆ ที่แตกต่างมีที่ทาง

สังคมที่ทุกคนต้องพูด เห็น เหมือนกันไปหมด และไม่ต้องการตั้งคำถาม ได้ยินคำถาม ฟังคำตอบ หรือแม้กระทั่งตั้งคำถามไม่ได้ คงมิอาจเรียกว่าเป็นสังคมมนุษย์ได้ เพราะการตั้งคำถามเป็นคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งอย่างหนึ่งของการเป็นมนุษย์

สังคมที่ขาดความหลากหลาย หรือทำลายความหลากหลาย ย่อมมิต่างอะไรจากพืชไร่เชิงเดี่ยวที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ความเสี่ยงสูง แมลงลงทีเดียวอาจกวาดกินพืชจนหมดไร่ได้ เช่นนี้เปรียบได้กับสังคมที่ผู้คนถูกบังคับให้คิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด

แน่นอนวัฒนธรรมอุปถัมภ์ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกอบอุ่นผูกพัน ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกโกรธแค้น และอาฆาตนายโชติศักดิ์ เพราะรู้สึกถูกละเมิด แต่ความอาฆาต หรือแม้กระทั่งความกระหายเลือด คือด้านมืดของวัฒนธรรมอุปถัมภ์

การเขียนข้อความด่าทอนายโชติศักดิ์ทางเว็บ การแสดงความเห็นทำนองเดียวกันทางวิทยุอย่างที่ได้รับฟังมา โดยไม่พยายามโต้เถียงต่างมุม คือความล้มเหลวของผู้คนในสังคมที่จะเผชิญหน้ากับความต่างด้วยเหตุผลและสติอย่างสันติ

หลายคนโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ประชาไท หรือฟ้าเดียวกัน ฯลฯ ว่านายโชติศักดิ์ ไม่ใช่คนไทยบ้าง ควรไปอยู่พม่า เขมร หรือจีนบ้าง บางคนเรียกโชติศักดิ์เป็น “โชติสัตว์” ดั่งมิใช่มนุษย์ เหล่านี้คือการสร้าง

“ความเป็นอื่น” และทำลายความเป็นมนุษย์ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนที่อยากทำร้ายร่างกายนายโชติศักดิ์ไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป และผู้คนเหล่านี้จะได้สามารถกระทำรุนแรงต่อนายโชติศักดิ์เยี่ยงสัตว์ได้

เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หรือในตะวันตก ยุคยุโรปตอนกลางหรือยุคมืดที่ผู้คนที่ถูกกล่าวหา หรือไม่ยอมเชื่อคริสต์ศาสนาถูกเข่นฆ่า

หรือนี่คือสังคมไทย สังคมพุทธที่มี “ความสงบ” อยู่บนพื้นฐานของการกดขี่โดยคนหมู่มาก ลิดรอนมิให้คนจำนวนหนึ่งที่เห็นต่างสามารถคิดและตั้งคำถามกับสังคม และเป็นสังคมที่มิต้องการคำถามหรือคำตอบหรือคำอธิบายใดๆ อย่างแท้จริง

ป.ล. เมื่อคืนวันก่อนผมฝัน ว่าตนเองหลงหลุดไปในเมืองลับแล ที่ผู้คนเชื่อว่า เมืองตนนั้นแปลกแตกต่าง มีเอกลักษณ์วิเศษพิสดารกว่าที่อื่น และรักสันติ แต่ ณ เมืองนั้นผมเห็นผู้คนถูกปลุกระดมจนบ้าคลั่ง ไล่ล่าฆ่าคนที่เห็นต่างอย่างกระหายเลือด ชายคนหนึ่งถูกเตะทุบตีครั้งแล้ว ครั้งเล่า จนสิ้นลมหายใจ

ผู้คนสงสัยว่า ทำไมเหยื่อไม่ยอมประพฤติปฎิบัติเหมือนคนส่วนมาก และเขาไม่กลัวคุกกลัวตะราง หรือแม้กระทั่งห่วงชีวิตตนเองหรืออย่างไร เขาคงกลัวคุก แต่เขาคงทนคุกแห่งสามัญสำนึกที่ถูกผู้คนและสังคมยัดเยียดให้เขาต่อไปไม่ไหวกระมัง

ในเมืองลับแลนี้ การไล่ล่าฆ่าผู้เห็นต่างเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนในที่สุดผู้คนที่เห็นต่างหมดไปจากสังคม และผู้คนในเมืองลับแลก็มิต้องคิดแลกเปลี่ยนความเห็นหรือถกเถียงประเด็นอะไรกันอีกต่อไป เพราะทุกคนคิดเห็นเหมือนกันไปหมดแล้ว

มันเป็นฝันร้ายที่ดูเสมือนจริงยิ่งนัก แต่หลังจากตื่นขึ้น ข้าพเจ้าก็ตระหนักว่าบางครั้ง โลกแห่งความจริงมันน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าฝันร้ายเสียอีก และคุณจะตื่นขึ้นก็ไม่ได้อีกต่างหาก หลายคนจึงยอมอยู่ในโลกแห่งฝันร้ายต่อไป



0 0 0 0 0 0 0



สุลักษณ์ ศิวรักษ์


๑.

เราต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้
แต่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เพื่ออยู่ฝ่ายราษฎร



๒.

ถ้าเรารักสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ หรือเปล่า หรือต้องการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ตนเอง จะเล่นกับทักษิณ ถ้าเก่งจริงก็ควรเล่นกันตัวต่อตัว อย่าดึงข้างบนมาเล่น


๓.

เวลานี้ความกลัวสะกดคนไทยมาก โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ไปโยงกับความกลัว เราต้องสลัดทิ้งและมีความกล้าหาญทางจริยธรรม สื่อมวลชนไม่มีแม้ซักฉบับเดียวที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่กล้าพูดความจริง หากินกับโฆษณา




ผมจะพยายามพูดให้คุณประวิตรหายจากฝันร้าย แต่ก่อนพูดในทางบวกต้องพูดหยิกเล็บให้เจ็บเนื้อเล็กน้อยว่า ผู้พูดทั้งหมดวันนี้เป็นผู้ชายทั้งนั้น และเอ่ยถึงแต่โชติศักดิ์ ทำไมไม่เอ่ยถึงชุติมา เพ็ญภาค บ้าง ผู้หญิงหายไปไหน

อาจารย์สุธาชัยให้ความรู้ดีมากในทางประวัติศาสตร์ แต่อยากจะออกความเห็นที่ต่างไปเล็กน้อย เช่น เพลงสรรเสริญพระบารมีเล่นนั้นได้เล่นในโรงมหรสพก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีข้อมูลชัดเจนในหนังสือเรื่อง State Ceremony of Siam บรรยายพิธีกรรมของฝ่ายรัฐสมัยรัชการที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า มียายแก่คนหนึ่งไม่ยืนขึ้นเคารพตอนเพลงสรรเสริญพระบารมี ถูกตำรวจจับ เวลานั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงอยู่ ณ ที่นั้นด้วยได้ตรัสให้ปล่อยทันที เพราะธรรมเนียมการยืนนั้นไม่เคยใช้ เราเพิ่งไปเอาอย่างฝรั่ง ยายแก่จะไปรู้อะไร

เรื่องชนชั้นศักดินา อาจารย์สุธาชัยอธิบายได้มีประโยชน์มากแต่ขอติงว่าตึงเกินไปนิด ในสังคมไทยไม่ถึงขั้นเป็นระบบวรรณะแบบของพราหมณ์ พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน และพระเชษฐาธิราชก็มีพระมารดาเป็นไพร่ รัชกาลที่ 3 ก็มีพระมารดาเป็นไพร่ เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดี ได้สุพรรณบัตรสูงสุดในบรรดาขุนนางก็เป็นไพร่ อีกนัยยะหนึ่งแปลว่าสังคมไทยมีการเลื่อนสถานะพอสมควร ปฏิวัติ 2475 ต้องการเปลี่ยนอันนี้แต่ก็ล้มเหลว

ประเด็นวันนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนกับความคิดที่แตกต่าง เราจะต้องเห็นบุญคุณของทั้งสองซึ่งจุดชนวนให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชนและความคิดที่แตกต่างสำคัญ เหมือนที่เราต้องสำนึกในบุญคุณของคนที่ต่อต้านกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นครั้งแรกที่คนทั่วโลกแลเห็นว่ากีฬาโอลิมปิคเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยม และมันหากินรับใช้ใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติ ผมเชื่อว่าต่อไปบรรษัทข้ามชาติและจีนจะต้องเปลี่ยน

เช่นเดียวกันควาฝันร้ายของคุณประวิตรจะต้องเปลี่ยนถ้าเราตีประเด็นให้ชัด เรื่องนี้มี 2 ประเด็นนี้ที่เกี่ยวข้องคือ 1.ความเลวร้ายของสื่อกระแสหลักในสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะผู้จัดการอย่างเดียว แต่เดอะ เนชั่นของคุณประวิตรก็เลวร้าย มิหนำซ้ำบรรณาธิการใหญ่ของเดอะ เนชั่นจะได้รับ
รางวัลศรีบูรพาปีนี้อีกด้วย คุณศรีบูรพาเป็นนักหนังสือพิมพ์คนสุดท้ายของไทยที่ยืดหยัดอยู่ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และคนยากไร้ ซึ่งบรรณาธิการของเดอะ เนชั่น ไม่มีคุณสมบัติเช่นนี้ แล้วยังสามารถพูดโกหกคำโต เช่น เขียนว่าไปหาท่านติช นัท ฮันห์ เป็นครูบาอาจารย์เก่าทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ความเลวร้ายก็ไม่ได้มีเฉพาะผู้จัดการ มติชน หนังสือพิมพ์คุณภาพเองก็เลวร้ายพอกัน คุณขรรค์ชัย บุนปาน สั่งไม่ให้ลงเรื่องของ ส.ศิวรักษ์ แต่ไม่มีสื่อฉบับไหนเลยที่เล่นงานมติชน เล่นงานผู้จัดการ เพราะมันเลวร้ายกันทั้งนั้น พร้อมที่จะพูดอาสัตย์ ไม่พูดความจริง ไม่มีจุดยืนในทางสัจธรรม จริยธรรม เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน...ทุกฉบับ

ในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมมีความเห็นว่า สถาบันนี้จะอยู่ได้ก็ต้องเหมือนทุกสถาบัน รวมทั้งสถาบันหนังสือพิมพ์ คือ ต้องเปิดเผย โปร่งใส วิพากษ์วิจารณ์ได้ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องเป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเราทั้งหลาย เป็นสมมติเทวราชไม่ใช่เป็นเทวราช และในสมัยศักดินา พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้อำนาจขุนนาง โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชการที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 เวลานี้กำลังจะเอากลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ ถ้าเราไม่แก้ตรงนี้ก็จะพัง ผมพูดด้วยความจงรักภักดีและพร้อมที่จะติดคุกถ้าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คนที่เห็นคุณค่าของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ พูดอย่างไม่เกรงใจคือ ในสังคมไทยมีน้อย บางคนไม่พอใจอยากให้ล้มเลย แต่ไม่กล้าพูดดังๆ เพราะกลัว ซึ่งความกลัวเป็นอคติอย่างหนึ่งที่อันตรายมาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอคติมี 4 ประการ รัก หลง เกลียดและกลัว เวลานี้ความกลัวสะกดคนไทยมาก โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ไปโยงกับความกลัว เราต้องสลัดทิ้งและมีความกล้าหาญทางจริยธรรม สื่อมวลชนไม่มีแม้ซักฉบับเดียวที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่กล้าพูดความจริง หากินกับโฆษณา

คุณประวิตรเองแม้จะอยู่ในสื่อกระแสหลัก แต่ก็เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ไปลงเว็บไซต์ประชาไทบ้าง ฟ้าเดียวกันบ้าง ฯ สื่อนอกกระแสหลักเหล่านี้เคารพความแตกต่าง แม้ประชาไท แม้ฟ้าเดียวกันก็ด่านายโชติศักดิ์ได้ ด่า ส.ศิวรักษ์ก็ได้ และด้วยความเคารพ ด่าเบื้องสูงก็ได้ อันนี้จะทำให้เบื้องสูงอยู่อย่างมั่นคงแข็งแรง ถ้าเรารักสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ หรือเปล่าหรือต้องการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ตนเอง จะเล่นกับทักษิณ ถ้าเก่งจริงก็ควรเล่นกันตัวต่อตัว อย่าดึงข้างบนมาเล่น แล้วที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคุณมาเล่นงานเด็ก ตัวเล็กๆ เลวร้ายที่สุด แล้ววิธีที่เล่นงานคนที่ไม่มีความผิด เราทำมาตั้งแต่เล่นงานปรีดี พนมยงค์ 2490 สร้างให้ปรีดีเป็นคนเลวร้ายได้ ทำให้คุณเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นคนสำคัญในขบวนการประชาธิปไตยถูกฆ่าแล้วไม่มีใครรู้สึกอะไรเลย หรือย่างที่เกิดกับกรณี 6 ตุลา

ผมว่าเราต้องเลิกกันได้แล้ว แต่สื่อกระแสหลักยังไม่เลิก การศึกษาในสถาบันการศึกษาหลักยังไม่เลิก รวมทั้งสถาบันของอาจารย์สุธาชัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย หรือที่ธรรมศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งอธิการบดีสั่งให้คณบดีมาปิดห้องสัมมนานี้แล้วด้วยซ้ำ ถ้าข่าวที่ได้มาไม่จริงจะยอมขอโทษ และอธิการบดีคนนี้ได้เคยบอกด้วยว่า ประชาธิปไตยไทยเติบโตมาในพระบรมราชูปถัมภ์ ผมว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อธรรมศาสตร์เป็นสถาบันพระปกเกล้า ถ้าเราไม่กล้าพูดความจริงและไม่มีหิริโอตตัปปะในการพูดความจริง แล้วศักดิ์ศรีนักวิชาการ ศักดิ์ศรีสื่อมวลชน จะอยู่ตรงไหน

ผมเพิ่งไปดูโอเปราที่นิวยอร์คเกี่ยวกับคานธี คานธีใช้สัจวาจาเอาชนะจักรวรรดิอังกฤษได้ เวลานี้ในสหรัฐอเมริกาคนกำลังเห็นแล้วว่าสิ่งที่บุชทำนั้นเลวร้าย สื่อกระแสหลักก็มอมเมา แล้ววันที่ 13 วันสงกรานต์ ผมพูดร่วมกับอีกหลายท่านในวัดใหญ่ที่สุดในนิวยอร์ค เราเห็นกันเลยว่าคนที่อื่นๆ ก็ฝันร้ายเหมือนกัน เพราะทุนนิยมบริโภคนิยมทำให้เราเห็นอาสัตย์กลายเป็นสัจจะ ให้เห็นความรุนแรงสำคัญกว่าสันติวิธี

เราต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ แต่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เพื่ออยู่ฝ่ายราษฎร ถ้อยคำตอนสุดท้ายของเพลงสรรเสริญพระบารมีเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร ที่ว่า ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจจะถวายชัย ชโย...... ถ้าพระประสงค์ใด เช่น ประสงค์ในทางสร้างเขื่อนไม่รู้จักหยุดก็แย่แน่ ประสงค์จะมีอำนาจเต็มที่ก็แย่แน่ แต่พระประสงค์ใดเพื่อประโยชน์ของราษฎร จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัยเพื่อรับใช้ราษฎร รับใช้สัจธรรม ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณประวิตรก็คงจะหายจากการฝันร้าย



ที่มา : ประชาไท : เสวนาวิชาการ : ‘สิทธิมนุษยชน กับความคิดเห็นที่แตกต่าง’

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ



ดูเพิ่มเติมเรื่องเดียวกัน..

เสวนา ‘สิทธิมนุษยชนกับความเห็นที่แตกต่าง’
เจอม็อบเสื้อเหลือง - ตำรวจขออธิการบดีให้งดใช้สถานที่

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความ