เรียน คุณสุชาติ นาคบางไทร และ
ผู้แอนตี้พันธมิตรทุกท่าน
ผมขอเสนอให้คุณสุชาติและท่านอื่นๆ ช่วยคิดและอภิปราย ดังนี้
1.
การต่อสู้ทางความคิด และทางการเมือง ต้องเอาชนะกันด้วยความคิดและการเมือง คือ ใครมีความคิดดีกว่า มีข้อเสนอ (นโยบาย ฯลฯ) ที่ดีกว่า
การใช้วิธีการ "ทางกายภาพ" (physical) ไม่ว่า จะระดับต่ำ คือ ตั้งม้อบเผชิญม้อบ ไปจนถึงระดับใช้กำลังเข้าห่ำหั่นกัน ไม่เกิดประโยชน์อันใด และยังสร้างความเสียหายให้แก่การต่อสู้ทางความคิด และทางการเมืองด้วย
ถึงจะ "สำเร็จ" ตั้งแต่ระดับ "ป่วน" ทำให้อีกฝ่าย "เสียขบวน" ไปจนถึง "ตีให้ขบวนอีกฝ่ายแตกกระจาย" แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นการ "แพ้" คือ "เสียการเมือง" (หรืออย่างน้อย ก็ "ไม่ได้อะไรทางการเมือง") เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณไม่สามารถมี ความคิด หรือ ข้อเสนอ อะไรที่ดีกว่า อีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงต้องหันไปใช้กายภาพแทน
2.
การต่อสู้ทางความคิด และทางการเมือง ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เพียง การต่อสู้ระหว่าง "ขบวนของเรา" กับ "ขบวนของอีกฝ่าย" แต่เป็นการต่อสู้ เพื่อ "แย่งชิง คนที่อยู่ตรงกลาง" การใช้วิธีการทางกายภาพ มีแต่จะทำให้ "คนที่อยู่ตรงกลาง" ไม่พอใจกับ "ขบวนของเรา" มากกว่าจะสนับสนุน
3.
พูดอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น - และนี่เป็นประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยน กับคนส่วนใหญ่ที่เขี่ยนในบอร์ดนี้ (ซึ่งแอนตี้พันธมิตร เชียร์ทักษิณ) มานาน คือ
ผมเห็นว่า จุดอ่อนที่สำคัญมากมาโดยตลอดของฝ่ายทักษิณ รวมทั้ง ในช่วงวิกฤติที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา คือ การต่อสู้เพื่อ "ช่วงชิง" คนที่ปัจจุบันเรียกกันว่า "คนชั้นกลาง" ในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพ
ผมคิดว่า การที่ "คนกรุงเทพ" ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนพันธมิตร ก่อน 19 กันยา หรือ แม้ในปัจจุบัน มีแนวโน้มไปในทางแอนตี้รัฐบาลเลือกตั้ง และสนับสนุน "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ส่วนหนึ่ง เพราะ "การทำงานการเมือง" ที่ไม่ดี หรือผิดพลาด ของฝ่ายทีเชียร์รัฐบาลเองด้วย
การเอาแต่โจมตี และโทษ "สื่อมวลชน" อย่างเดียว ผมไม่คิดว่า เป็นเรื่องถูกต้อง ที่ถูกคือ ต้องทั้งโจมตี (วิพากษ์) และ พยายาม "เอาชนะ" ด้วยเหตุด้วยผลด้วย
การเขียนโจมตี ในลักษณะ "เอามันส์" อย่างเดียว ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ที่สำคัญที่สุด ผมขอเรียกร้อง และขอเสนอให้ช่วยกันเรียกร้อง ให้ยุติ การใช้วิธีการทางกายภาพทั้งหมดทันที ตั้งแต่นี้ไป
สมศักดิ เจียมธีรสกุล
+*+*+*+*+*+*+*+*+*+*+*+
เรียนอาจารย์สมศักดิ์ครับ
ผมว่าการต่อสู้มันมีทั้งสองระดับคือ ระดับปรัชญาแนวคิดและระดับกายภาพครับ การต่อสู้ระดับปรัชญาแม้จะชนะ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็แค่เงียบไป และหันไปใช้กำลัง สุดท้ายก็ต้องปะทะกันด้วย Physical อยู่ดี
ตัวอย่างชัดเจนคือ สงครามกลางเมืองอเมริกันครับ การถกปรัชญาการเอามนุษย์มาเป็นทาส กับเคารพความเป็นมนุษย์ ผมว่าถกอย่างไร การเอามนุษย์มาเป็นทาสก็แพ้ แต่มันก็ไม่สามารถยุติสงครามได้ เพราะฝ่ายที่แพ้ เขาก็ไม่คิดว่าเขาแพ้ สุดท้ายก็ต้องตัดสินกันด้วยกำลัง
ผมคิดว่า มนุษย์มี Basic Value Judgement ที่แตกต่างกันครับ ความเชื่อพื้นฐานที่แตกต่างกัน ไม่มีทางที่จะถกกันได้ในระดับแนวคิดว่าของใครถูกต้อง เช่น ความเชื่อเรื่องพระเจ้า กับไม่มีพระเจ้า การต่อสู้ทางความคิดตัดสินไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องใช้กำลัง
ผมจึงคิดว่าการต่อสู้นั้น จึงมีทั้งทางกายภาพ และทางด้านระดับแนวคิด
หากชนะในระดับแนวคิด ก็จะทำให้ความเข็มแข็งทางกายภาพดีขึ้น มีขวัญกำลังใจมากขึ้น ทหารที่มีขวัญและกำลังใจดี จึงจะชนะสงครามทางกายภาพที่จะเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะในขั้นสุดท้าย
ต้องเอาชนะแนวคิด ก่อนจึงจะชนะสงคราม แต่เอาชนะทางแนวคิดอย่างเดียวไม่มีทางเอาชนะสงครามได้ หากไม่มีพลังทางกายภาพที่เข็มแข็ง
อาจารย์คิดว่า แม้อิรักจะถกชนะอเมริกันทางด้านแนวคิด อเมริกันจะยอมหรือไม่ที่จะไม่ใช้กำลัง
ผมจึงไม่ดูเบา ทั้งการต่อสู้ทางด้านแนวคิด และกายภาพครับ มันเป็นส่วนประกอบของกันและกัน มันขึ้นอยู่กับว่า เราต่อสู้กับใครเท่านั้นครับ
หากเราต่อสู้กันในวงการสัมมนาของปัญญาชนแน่นอนการใช้กำลังย่อมไม่มีประโยชน์ แต่หากเราต่อสู้กับคนป่าเถื่อน การใช้ปรัชญาก็ไม่มีประโยชน์ครับ
เครื่องมือของการต่อสู้ ทั้งสองชนิดนี้ไม่อาจแยกออกจากกันได้
เรื่องช่วงชิงคน ผมว่าไม่สำคัญเท่าไหร่แล้วครับ ตอนนี้คนเมืองได้ตัดสินไปแล้วว่าเข้าข้างพันธมิตร ดูจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ใน กทม. ก็จะเห็นว่า คนกรุงเทพฯ และคนชั้นกลางส่วนใหญ่สนับสนุนพันธมิตร และ ปชป.
ส่วนคนชั้นล่างและคนชนบทสนับสนุนพรรค พปช.
สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีคน "อยู่ตรงกลาง" ที่มีมวลมากพอที่จะทำให้ "ผลการเลือกข้างของทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนแปลงได้แล้วครับ
คนที่อยู่ตรงกลางจึงมีจำนวนเพียงน้อยนิด และไม่มีประโยชน์ที่จะเสียเวลาเอามาเป็นพวก และก็เสียเวลาอีกเช่นกันที่จะไปสนใจคน กรุงเทพฯ และคนชั้นกลางว่าจะคิดอย่างไร
พวกเขาก็มีแค่หนึ่งเสียง เหมือนคนชนบท ดังนั้นน้ำหนักในตอนเลือกตั้งจึงไม่มีความหมาย
และคนชั้นกลาง ที่ไปสนับสนุนการทำรัฐประหาร ทำไมจึงไม่คิดว่าพวกเขาผิดพลาด และทำไมต้องสนใจ คนที่สนับสนุนเผด็จการพวกนี้ด้วย
ไม่มีพรรคการเมืองใด หรือกลุ่มการเมืองใด ที่จะมีนโยบายที่ดีพอ ที่จะดึงคนสองกลุ่มที่มีแนวความคิดตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจนให้มาสนับสนุนพรรคเดียวกันได้
พรรคพลังประชาชน ไม่มีทางผลิตชุดนโยบายที่ ดึงดูดคนชั้นกลาง และคนชนบทในเวลาเดียวกันได้
พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะ "ชุดนโยบาย" ที่คนชนบทและคนชั้นกลางสนับสนุนพร้อมกันได้
ดังนั้น ความขัดแย้งครั้งนี้มันจึงต้องไปถึงจุดสิ้นสุดที่ว่า การดันทุรังไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่นั้นมันไม่มีทางออก
คนที่ดื้อ ไร้เหตุผลในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่ คนชนบท แต่เป็นนักวิชาการ คนชั้นนำ และคนชั้นกลางในเมือง
สุดท้ายพวกเขาจะเรียนรู้เองว่า การดันทุรัง ไม่มีทางที่จะยุติความขัดแย้งได้ การถกปรัชญาจะไม่นำไปสู่จุดนั้นได้ มันต้องถึงจุดที่ไม่มีทางไป เช่น ทำรัฐประหารก็แล้ว เดินขบวนนองเลือดก็แล้ว
เมื่อไม่มีทางออก พวกเขาจะหันกลับมาสู่หนทางที่ถูกต้องเอง
ลูกชาวนาไทย
ที่มา : บอร์ด "ประชาไท" : เรียน คุณสุชาติ นาคบางไทร และผู้แอนตี้พันธมิตรทุกท่าน
วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
"การต่อสู้ทางความคิด" กับ "การใช้วิธีการทางกายภาพ" สองความคิดสองแนวทาง
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:05 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
หัวควย พวกมึงหัวควยจริงๆ
แสดงความคิดเห็น