วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551

วันวาน ณ. ทุ่งพระเมรุ จากสถานที่ศักดิสิทธ์ของเจ้านายสู่เวทีการเมืองของสามัญชน


สนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุถูกสร้างขึ้นตรงทิศเหนือของวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้เผาศพของพระราชวงศ์และเจ้านายชั้นสูง ในอดีตจึงถูกขนานนามว่าทุ่งพระเมรุ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่4ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสนามหลวงแต่ยังคงใช้งานพื้นที่นี้ด้วยจุดประสงค์เดิม ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่5ได้มีการเพิ่มหน้าที่ของสนามหลวงด้วยการใช้ซ้อมรบตามแบบสมัยใหม่และใช้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญเช่นพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีสนามหลวงยังคงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้เฉพาะเจ้านายและชนชั้นสูงเท่านั้น

สนามหลวงมาเริ่มเป็นพื้นที่สำหรับสามัญชนครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในปี2476 คณะราษฎรได้ใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อเผาศพทหารที่เสียชีวิตในการปะทะกับกบฏบวรเดช การใช้สนามหลวงจัดพิธีเผาศพทหารนี้นอกจากจะเป็นการประกาศศักดาของสามัญชนในการเข้ามาใช้สถานที่ของชนชั้นสูงอันแสดงถึงการประกาศตัวเป็นพลเมืองแห่งรัฐหลังจากที่เป็นเพียงไพร่ฟ้าที่ไร้สิทธิเสรีภาพมานานแล้ว ยังเป็นการต่อสู้ในเชิงการเมืองเรื่องพื้นที่ด้วยเพราะการใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจเก่าคืออำนาจของเจ้าและราชนิกูลชั้นสูงนั้นได้ถูกลดอำนาจและบทบาทไปมากทีเดียวจนจำต้องยอมฟังและทำตามความต้องการของมติมหาชนแทนที่จะกระทำสิ่งใดได้โดยไม่ต้องฟังเสียงสามัญชนอันเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศก่อน ประเด็นนี้สังเกตได้จากการที่รัชกาลที่7ยอมให้คณะราษฎรใช้พื้นที่สนามหลวงเผาศพทหารโดยไม่เต็มใจนักแต่ก็ต้องยอมเพราะไม่สามารถที่จะขัดขวางได้

สนามหลวงมามีบทบาทเป็นพื้นที่ทางการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อปี2489หลังจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางกลับจากการดูงานรอบโลก โดยได้มีการเปิดให้สนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะที่พลเมืองสามารถวิจารณ์การเมืองได้อย่างเปิดเผยเลียนแบบสวนสาธารณะไฮด์ปาร์คของอังกฤษ แต่ทว่ากิจกรรมนี้ทำได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกเพราะรัฐบาลของจอมพล ป. ถูกเล่นงานอย่างหนักด้วยการไฮด์ปาร์ค ยิ่งเมื่อเกิดรัฐประหารในปี2500โดยจอมพลสฤษดิ์สนามหลวงก็หมดบทบาทในฐานะเวทีการเมืองสาธารณะของสามัญชนและได้กลับกลายสภาพเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมของชนชั้นสูงอีกครั้ง เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ได้มีการรื้อฟื้นพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การรัฐประหารและทำให้ประชาชนไม่ต่อต้านเพราะถือว่าการรัฐประหารเป็นไปเพราะมีภัยคุกคามต่อราชบัลลังค์อันเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของคนไทย การพื้นฟูพระราชพิธีต่างๆที่ถูกยกเลิกสมัยคณะราษฎรมีอำนาจก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งเช่นพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งตรงจุดนี้ได้ทำให้สนามหลวงได้กลับกลายมาเป็นสถานที่สำหรับประกอบพระราชพิธีเป็นหลักอีกครั้ง พร้อมๆกับยุติบทบาทความเป็นพื้นที่การเมืองเปิดสำหรับประชาชนไปเป็นการชั่วคราว

สนามหลวงมากลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองของสามัญชนอีกครั้งในช่วงทศวรรษ1970(หรือช่วงพ.ศ.2510เป็นต้นมา)หลังจากกระแสและความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งกระแสต่อต้านจักรวรรดินิยม รวมไปถึงกระแสต่อต้านเผด็จการภายในประเทศทั้งมีเพราะมีปัจจัยหลายๆประการสนับสนุน ตัวผู้นำจอมพลถนอมก็ไม่มีความสามารถในการเป็นผู้เผด็จการเท่าจอมพลสฤษดิ์ กองทัพก็แตกแยกเพราะความไม่ลงตัวของการจัดสรรผลประโยชน์ภายใน และที่สำคัญคือภาคประชาชนไม่พอใจกับสภาพชีวิตที่ต้องอยู่ใต้ระบบเผด็จการทหาร การรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอมได้ทำให้กระแสความไม่พอใจรุนแรงขึ้นไปอีก มีการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการเกิดขึ้นหลายครั้งจนท้ายสุดเกิดเหตุการณ์14 ตุลาในปีพ.ศ.2516 ซึ่งแน่นอนสนามหลวงคงหนีการเป็นหนึ่งในสถานที่จัดการชุมนุมไปไม่พ้นและหลัง14 ตุลา สนามหลวงก็ได้รองรับการชุมนุมเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลจากเหล่าผู้ถูกกดขี่นับครั้งไม่ถ้วนมาจนกระทั่งรุ่งอรุณวันที่6ตุลา 2519 สนามหลวงได้เปลี่ยนสภาพจากที่ชุมนุมแสดงพลังของพลเมืองมาเป็นลานประหารเมื่อกองกำลังและกลุ่มพลังฝ่ายขวาได้ระดมทั้งอาวุธและกำลังเข้าโจมตีผู้ชุมนุมที่มีเพียงมือเปล่าในธรรมศาสตร์อย่างบ้าคลั่งพร้อมทั้งนำคนบางส่วนมาเผาทั้งเป็นและลากไปมาบนพื้นสนามหลวงอย่างโหดเหี้ยมและแล้วหญ้าเขียวขจีของสนามหลวงก็ถูกย้อมไปด้วยเลือดและน้ำตาของผู้ชุมนุมที่รักประชาธิปไตยและมีเพียงมือเปล่า เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นจุดด่างดำในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้

หลังเหตุการณ์นองเลือดจบลงสนามหลวงก็เงียบเหงาไปพักใหญ่ๆเพราะรัฐไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ตามติดด้วยรัฐบาลพลเรือนขวาตกขอบของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังจากนั้นเมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปิดอีกครั้งพร้อมๆกับที่สนามหลวงได้รักษาแผลที่เกิดจากรอยเลือดและห่ากระสุนปืนจนหายดีแล้วสนามหลวงก็ได้กลับมาทำหน้าที่เป็นสถานที่ในการแสดงพลังทางการเมืองของสามัญชนอีกครั้ง ทั้งช่วงรัฐประหารในปี2534 ต่อมาจนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี2535จนกระทั่งในยุคปัจจุบันสนามหลวงยังคงเป็นสังเวียนหลักในการชุมนุมทางการเมืองหลายต่อหลายครั้งทั้งการชุมนุมไล่อดีตนายกทักษิณช่วง ปี 2548 ต่อ 2549 และการชุมนุมไล่เผด็จการ คมช. เมื่อเร็วๆนี้ และเชื่อแน่ว่าสนามหลวงจะยังคงต้องทำหน้าที่ต้อนรับผู้ชุมนุมต่อไปอีกหลายต่อหลายครั้งจนกว่าการกดขี่จากทั้งรัฐและนายทุนจะถูกทำลายไป ได้แต่หวังว่าจะไม่มีการใช้เลือดและห่ากระสุนปืนในการรดหญ้าแทนน้ำอีกครั้งดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต


โดย Benjamin Franklin

ปล.
อ่านเรื่องเมรุคราวปราบกบฎบวรเดชเพิ่มเติมได้จากวารสารฟ้าเดียวกันปีที่5ฉบับที่2หน้า212-229


ที่มา : พรรคแนวร่วมภาคประชาชน : บทความ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความเปนไปตามความเห็น และความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเอง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ
ทำให้คนเราได้คิดอะไรเยอะเลยครับ ^^