วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์


ในเอกสารการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ที่ธรรมศาสตร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ (9-11 มกราคม 2551) ได้ระบุเหตุผลและวัตถุประสงค์ของรายการสนทนาและเสนอผลงานว่าด้วย ‘พระมหากษัตริย์: องค์ประกอบข้างเคียง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหนังสือหนึ่งเล่ม’ ไว้ว่า เพราะความสำคัญของพระมหากษัตริย์มีมากเหลือเกินแต่กลับมีการศึกษา พูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะไม่เพียงพอ ทั้งเห็นว่า การสนทนาพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่น่าจะกระทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และพึงกระทำกันให้มากขึ้น แม้กระทั่งภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ตาม

อีกอย่างที่เหตุผลเป็นทางการไม่ได้กล่าวไว้ก็คือ รายงานสนทนาและเสนอผลงานว่าด้วยพระมหากษัตริย์คราวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสนิยมเจ้าสูงขึ้นอย่างมากจนน่าอึดอัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การเรียกหาพระราชอำนาจและการรัฐประหาร 2549 ท่ามกลางบรรยากาศที่ผู้มีการศึกษา และปัญญาชนนักวิชาการเกิดอาการไข้เหลืองกำเริบไปทั่ว

รายการว่าด้วยพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 หัวข้อจัดขึ้นเพื่อท้าทายกระแสและบรรยากาศดังกล่าวเท่าที่จะทำได้

ผู้เฝ้าดูและติดตามรายการดังกล่าวก็คงจะดูออกว่าเป็นการท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งถูกห้ามในประเทศไทยตั้งแต่หนังสือยังพิมพ์ไม่เสร็จและตกเป็นข่าวอื้อฉาวถูกโจมตีจากหนังสือพิมพ์ที่ชอบอิงแอบอ้างเจ้าตลอดมา เพราะรายการดังกล่าวเท่ากับเป็นการไปให้ความสำคัญแก่หนังสือเล่มนี้ในวงวิชาการ โดยนักวิชาการที่จัดได้ว่าอยู่บรรดาหัวแถวของผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยทั้งในประเทศและในระดับโลก

จำนวนผู้เข้าร่วมรับฟังหัวข้อนี้เต็ม 3 ห้อง (รวมห้องที่มีการถ่ายทอดสดการสนทนาโดยโทรทัศน์วงจรปิด) ประมาณ 500 คน น่าจะเป็นสัญญาณว่า ไม่ว่าเขาจะคิดอย่างไรต่อหนังสือเล่มนี้ พวกเขาต้อนรับและเอาใจช่วยการพูดคุยสนทนากันอย่างเปิดเผยและมีความรับผิดชอบ คงไม่เป็นการเกินเลยและหากจะตีความว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการห้ามหนังสือดังกล่าว ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับหนังสือเล่มนี้เลยก็เถอะ

ผู้อภิปรายบนเวทีแสดงทัศนะดังกล่าวอย่างชัดเจน

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นว่า กรอบการอธิบายของพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยมีอยู่จำกัด ล้าสมัย ใช้ไม่ได้กับความเป็นจริงการการเมืองมาตั้งแต่ 30 ปีก่อนแล้วก็ว่าได้ แฮนด์ลีย์ (ผู้เขียน The King Never Smiles) เสนอคำอธิบายใหม่ที่สำคัญและน่าสนใจมาก หากไม่เห็นด้วยก็ต้องอภิปราย แต่หนังสือที่ทำท่าว่าจะอภิปรายตอบโต้แฮนด์ลีย์ เช่น งานของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (พระผู้ทรงปกเกล้าประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549) กลับล้มเหลวไม่เสนออะไรใหม่ไปจากกรอบเดิม ๆ ที่ใช้ไม่ได้แล้ว

แอนเนต แฮมิลตัน (University of New South Wales) ชี้ให้เห็นข้ออ่อนของหนังสือหลายประการ อาทิ ท่าทีดูถูกความคิดค่านิยมของคนไทยต่อพระมหากษัตริย์ แต่แฮมิลตันใช้เวลาครึ่งหนึ่งของเธอวิพากษ์การห้ามเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ในประเทศไทย เธอชี้ให้เห็นอันตรายของการเซนเซอร์ปิดกั้นเสรีภาพในการอ่าน คิด เขียน โฆษณา ที่จะมีต่อคนไทยเอง

เคร็ก เรโนลด์ (Australian National University) ตั้งข้อสงสัยต่อความหวาดกลัวหนังสือเล่มนี้ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใดก็ไม่เห็นเหตุที่น่าตื่นตระหนกใด ๆ ทั้งสิ้น ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติเป็นข้ออ้างในการโจมตีและไม่ใช่เหตุที่ต้องห้ามหนังสือนี้ การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยก็มีผู้เริ่มกระทำอยู่แล้ว และไม่เห็นเกิดอันตรายใด ๆ การอภิปรายถกเถียงต่างหากเป็นท่าทีที่ควรมีต่อหนังสือเล่มนี้

อ.กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยออกมาแล้วเล่มหนึ่ง (Kings, Country and Constitutions: Thailand's Political Development 1932-2000, London: Routledge Curzon, 2003) วิพากษ์วิจารณ์หนังสือของแฮนด์ลีย์มากกว่าวิทยากรท่านอื่นๆ และชี้ให้เห็นทัศนะของคนไทยต่อพระมหากษัตริย์ที่แฮนด์ลีย์ไม่เข้าใจ แต่กอบเกื้อกล่าวชัดเจนว่า การอภิปรายถกเถียงกันอย่างเปิดเผยเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง การเซ็นเซอร์ห้ามเผยแพร่หนังสือของแฮนด์ลีย์เป็นมาตรการที่ผิด

แม้ว่าวิทยากรจะมีทัศนะบวก ลบ ต่อหนังสือของแฮนด์ลีย์ไปต่าง ๆ กัน แต่ความเห็นร่วม 2 ประการที่เด่นชัดก็คือ ประการแรก สาระของหนังสือมีคุณค่าควรแก่การอภิปรายถกถียงในวงวิชาการและในสังคมไทย ประการที่สอง การเซนเซอร์ห้ามเผยแพร่หนังสือของแฮนด์ลีย์เป็นสิ่งที่ผิด

ประการหลังเด่นชัดเสียจนมีคำถามจากผู้ฟังว่า เสรีภาพในการอ่าน คิด เขียน สำคัญกว่าความศรัทธาของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กระนั้นหรือ มีค่ามากมายว่าการทำร้ายจิตใจคนไทยเชียวหรือ

ส่วนประการแรกนั้น มีคำถามจากผู้ฟังหลายคนที่เห็นว่าหนังสือได้เสนอประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่องที่วิทยากรไม่ได้กล่าวถึงเลย หรือกล่าวถึงอย่างเลี่ยง ๆ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับทหาร สภาวะที่แยกกันไม่ออกระหว่างความเป็นสถาบันกับองค์พระมหากษัตริย์ หรือการเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์เป็นต้น

คำถามจากผู้ฟังในห้องซึ่งเปิดเผยตัวชัดเจนและจากผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวดำเนินไปกว่าชั่วโมงเต็ม ๆ เป็นคำถามและความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะที่ไม่ใช่การพูดตามสูตรสำเร็จเพื่อการเฉลิมพระเกียรติตามขนบประเพณี แต่เป็นการกระตุ้นให้คิด วิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่ามีข้อจำกัดของกฎหมายและกลิ่นไอของความหวาดเกรงจะอบอวลอยู่ในห้องสัมมนาตั้งแต่ต้นจนจบก็ตาม นี่เป็นบรรยากาศที่ไม่พบเห็นบ่อยนักหรืออาจเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้

คงไม่มีใครทึกทักสรุปเอาว่า การสนทนาคราวนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า เสรีภาพทางวิชาการมีอยู่เต็มเปี่ยมในสังคมไทย เพราะความหวาดเกรงและตึงเครียดทั้งบนเวทีและในห้องสัมมนาเป็นหลักฐานพอแล้วว่า มีรังสีอำมหิตบางอย่างปกคลุมอยู่ (หนังสือพิมพ์ภาษาไทยลงข่าวว่า ตำรวจจับตารายการนี้อย่างใกล้ชิด และจำนวนเจ้าหน้าที่ของทางการที่เข้ารับฟัง เพราะต้องทำรายงานผู้บังคับบัญชาก็มีมากกว่ารายการวิชาการปกติทั่วไป) แต่คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า นี่เป็นการต่อสู้สำคัญครั้งหนึ่งทั้งเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ และเพื่อเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการแสดงออกในที่สาธารณะต่อสถาบันกษัตริย์อย่างวิพากษ์วิจารณ์

ก่อนหน้าการสนทนาเกี่ยวกับหนังสือของแฮนด์ลีย์ มีการเสนอผลงานทางวิชาการว่าด้วยพระมหากษัตริย์อีก 2 รายการ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน รายการแรก ว่าด้วย องค์ประกอบข้างเคียงของสถาบันกษัตริย์ซึ่งในที่นี้เลือกเสนอ 3 กรณีด้วยกันได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ องคมนตรี และความเกี่ยวพันกันระหว่างลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 กับ public image ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน

บทความเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของ ดร.พอพันธุ์ อุยยานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือที่เพิ่งออกใหม่ Thai Capital After the 1997 Crisis (ed. Chris Baker and Pasuk Pongpaichit, Silkworm, 2008) ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยที่ช่วยให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 มาได้ แถมยังเติบโตเข้มแข็งกว่าก่อนวิกฤติด้วยซ้ำ มีทั้งเงื่อนไขปัจจัยทางธุรกิจและการลงทุนอย่างเหมาะสมและปัจจัยพิเศษเนื่องมาจากคุณสมบัติของสำนักงานทรัพย์สินฯ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีธุรกิจหรือทุนรายอื่นใดในสังคมไทยจะได้รับอภิสิทธิ์เช่นนั้น ทั้งในแง่กฎหมายและการหนุนช่วยคุ้มครองในทางปฏิบัติ

Irene Strengs จากเนเธอร์แลนด์แสดงภาพจำนวนหนึ่งที่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ลัทธิเสด็จพ่อ ร. 5 ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หรือเป็นแค่การแสดงออกของชนชั้นกลางต่อสภาพสังคมปัจจุบัน แต่มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับการเสริมสร้าง public image ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน เธอกล่าวในตอนหนึ่งว่า เราแยกไม่ได้หรือบอกไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใดของยุคสมัยใดเป็นจุดเริ่มและเป็นผู้ได้รับผลพวงของลัทธินี้ มีผู้ฟังตั้งคำถามและอภิปรายถึงพระบรมฉายาลักษณ์นานาประเภท ทั้งที่จัดวางในสถานที่สำคัญและที่เผยแพร่ภายในท้องตลาด และความหมายต่าง ๆ ท ี่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทย รวมทั้งพระฉายาลักษณ์อื่นๆ ของเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่แพร่หลายในสื่อนานาชนิดในปัจจุบัน ว่าสะท้อนอะไรและมีผลอย่างไรในสังคมไทย

บทความเกี่ยวกับองคมนตรีเป็นผลงานล่าสุดของพอล แฮนด์ลีย์ ผู้จัดทราบมานานแล้วว่าผู้เขียนจะไม่มาร่วมประชุม ในสูจิบัตรรายการสัมมนาจึงระบุชัดเจนว่า ประธานผู้ดำเนินรายการจะเป็นผู้อ่านบทความแทน สาระสำคัญของบทความเป็นข้อมูลพื้นฐานน่าสนใจมากเกี่ยวกับองคมนตรีตั้งแต่หลัง 2475 จนถึงปัจจุบันว่า มีบทบาทมากขึ้นน้อยลงตามรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ อย่างไร มีองค์ประกอบและสมาชิกที่สำคัญ ๆ ในแต่ละชุดได้แก่ใครบ้าง แฮนด์ลีย์ทิ้งท้ายชี้ให้เห็นบทบาททางการเมืองที่มากขึ้นขององคมนตรีในระยะหลังนี้เอง และความสำคัญขององคมนตรีต่อการสืบราชบัลลังก์

เดนนิส เกรย์ ผู้สื่อข่าว เอ.พี. ตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีบทความชิ้นใหม่ของพอล แฮนด์ลีย์ อยู่ในรายการคราวนี้ด้วยเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน แม้เกรย์ไม่ได้อธิบาย แต่น่าจะเป็นสัญญาณอย่างเงียบ ๆ ว่า แฮนด์ลีย์ไม่ได้ถูกปฏิเสธจากวงการปัญญาชนวิชาการของไทย ความพยายามปิดกั้นและปฏิเสธผลงานของแฮนด์ลีย์ ไม่ประสบความสำเร็จและอาจส่งผลตรงข้ามด้วยซ้ำไป

รายการที่สองว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเสนอบทความที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่าก่อให้เกิดปัญหาและผลร้ายอย่างไร ประวิตร โรจนพฤกษ์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น รายงานประสบการณ์ของตนและผลการสัมภาษณ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางฉบับซึ่งล้วนแต่ต้องรู้จักการเซ็นเซอร์ตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าจะเสนอข่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ จะเสนออย่างไร ความหวาดกลัวกฎหมายหมิ่นฯ จึงมีผลที่ประวิตรเล่าว่าเป็นควงสว่านต่อเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานระดับล่างในเรื่องเฉพาะเรื่อยขึ้นไปจนถึงระดับบรรณาธิการและในระดับนโยบายของหนังสือพิมพ์ กฎหมายหมิ่นฯ เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพและวัฒนธรรมของสื่อมวลชนไทยอย่างมาก แต่สื่อมวลชนไทยกลับไม่เคยถกเถียงเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างจริงจังเลยสักครั้งเดียว

แวดวงวิชาการทางนิติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน

อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งข้อสังเกตว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับปัญหากฎหมายหมิ่นฯ เพียง 2 ครั้ง ทั้งสองครั้งทำโดยกลุ่มคนที่ห่วงใยต่อการใช้กฎหมายหมิ่น ฯ จนก่อปัญหา แต่นักกฎหมายและนักวิชาการทางนิติศาสตร์ไม่เคยมีการศึกษาหรือสนทนาทางวิชาการจริงจังในเรื่องนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว สมชายเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายว่าเป็นมาอย่างไรถึงได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเลอะเทอะในปัจจุบัน ที่สำคัญคือการขยายประเภทของการกระทำความผิดตามกฎหมายให้ครอบคลุมการ ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งคลุมเครือแต่กว้างขวาง จนเปิดโอกาสให้มีการใช้อย่างฉ้อฉล

เดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาเรื่องกฎหมายและคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย เสริม อ.สมชายโดยเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นฯ ของไทยกับกฎหมายทำนองเดียวกันในบางประเทศที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่ามีความเป็นมา ข้อจำกัด มาตรการอย่างไรจึงสามารถหลีกเลี่ยงไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนเปรอะอย่างในการเมืองไทยปัจจุบัน สมชายและเดวิดเขียนบทความร่วมกันที่นำไปสู่ข้อเสนอรูปธรรมซึ่งทั้งคู่เรียกร้องให้สังคมไทยถกเถียงพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ละข้อเสนอเป็นทางออกเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ แทนที่จะปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ไปเรื่อย ๆ แต่สังคมไทยต้องตัดสินใจกันเองว่าจะเอาอย่างไร ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อได้แก่

1. ให้กฎหมายหมิ่นฯไม่ครอบคลุม การแสดงออกตามเจตนาของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

2. ให้ยกเลิกความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งมีความหมายและกระบวนการพิสูจน์ความต่างจากความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’

3. ให้จำกัดอำนาจการฟ้องร้องและผู้ฟ้องตามกฎหมายนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้เสียหายหรือสำนักพระราชวังเป็นต้น

4. ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ถึงแม้ว่าการสนทนาและการเสนอผลงานเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ดังกล่าวมาจะมิใช่ข้อพิสูจน์ถึงเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย แต่ข้อคิดที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การพูดคุยกันอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นไปได้มากกว่าที่เราเข้าใจกัน จริงอยู่ว่ารายการที่กล่าวมาอยู่ในบริบทของการประชุมนานาชาติ กระทำกันในภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีภาษาไทยบ้างบางรายการ และในกรอบของวิชาการ กระนั้นก็ดี ทั้งวิทยากรและผู้ตั้งคำถาม ผู้ร่วมสนทนา ต่างแสดงให้เห็นว่า มีหลายประเด็น หลายแง่มุมเหลือเกินที่สามารถคุยกันได้มาก โดยไม่ละเมิดกฎหมายหมิ่นฯแต่อย่างใด เรื่ององคมนตรีอาจล่อแหลมทางการเมือง แต่อันที่จริงไม่ละเมิดกฎหมายเช่นกัน การศึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถทำได้มากโดยไม่เฉียดกรายเข้าใกล้การละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด มีอีกหลายประเด็นแม้แต่หนังสือที่ถูกห้ามและผู้เขียนหนังสือต้องห้าม ล้วนแต่เป็นประเด็นที่อภิปรายได้ในที่สาธารณะ

เราคงห้ามความหวาดกลัวและหวาดเกรงไม่ได้ แต่หากเรารับเอาการกดปราบด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรมเข้ามาอยู่ ในความคิดของเรามากเสียกว่ากฎหมายจะกระทำอะไรกับเรา ผลก็คือ การเซ็นเซอร์ตัวเองมากเสียยิ่งกว่ากฎหมายจะกระทำต่อเรา ดังอาการที่บรรดาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นกันอยู่ เราท่านที่ต้องการต่อสู้ ท้าทายการจำกัดเสรีภาพและกฎหมายหมิ่นฯ น่าจะพยายามผลักดันข้อจำกัดให้ห่างออกไป เปิดพื้นที่ของการถกเถียงสาธารณะให้เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ


นอกจากสามรายการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ตามที่กล่าวมา การประชุมคราวนี้ยังมีรายการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่าหนักหน่วง เปิดเผย และตรงไปตรงมา ทั้งในแง่ของความเป็นไปไม่ได้ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชนบทไทย และในแง่ที่ว่าความคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงข้อเสนอที่มีนัยยะทางชนชั้นระหว่างผู้เสนอ ผู้สมาทาน และผู้ที่ถูกคาดหวังให้ทำตามแนวคิดนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเพียงแค่อุดมการณ์ของชนชั้นนำเพื่อรักษาความได้เปรียบของตนเองเหนือชนชั้นล่างและชาวชนบท

องค์ปาฐกท่านหนึ่ง (ศาสตราจารย์คายส์ แห่งมาหวิทยาลัยวอชิงตัน) กล่าวอย่างเป็นนัยว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาวะเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ชนบทไทย (อย่างน้อยก็ในภาคอีสาน) เปลี่ยนไปมหาศาลในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญก็คือ ชาวชนบทพึงพอใจ สมัครใจ และต้อนรับทุนนิยมและความเจริญทางวัตถุ พวกเขาเห็นประโยชน์ของทุนนิยมต่อชีวิตพวกเขา มิได้มีทัศนะต่อทุนนิยมแบบเดียวกับปัญญาชนเมืองผู้สมาทานและผลักดันเศรษฐกิจพอเพียง

ท่ามกลางการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเปะปะจนไม่รู้ความหมายว่าอะไรกันแน่ และทำกันอย่างหลับหูหลับตาไม่มีการยั้งคิดวิพากษ์วิจารณ์ เสียงวิจารณ์จากที่ประชุมวิชาการครั้งนี้น่าจะพึงรับฟัง

ยังมีอีกหลายหัวข้อที่การประชุมคราวนี้ เสนอความเข้าใจสังคมไทยต่างไปจากที่ผู้คนในสังคมไทยเชื่อกันอยู่อย่างง่าย ๆ บ้างอาจกล่าวว่าชาวต่างชาติไม่มีทางเข้าใจสังคมไทย แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มิใช่ฝรั่งผ่านทางแวะมาชั่ววูบวาบแล้วออกความเห็นฉาบฉวย พวกเขาศึกษาด้วยเครื่องมือทางวิชาการ ทัศนะวิพากษ์วิจารณ์และมุมมองซึ่งต่างจากที่เราคุ้นเคย ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความเข้าใจจำกัดของชาวต่างชาติ หรือเป็นผลของการที่ชาวต่างชาติไม่ติดกับดับงมงายอยู่ในกรอบแนวคิดทัศนะแบบเดียวกับที่คนในสังคมไทยถูกกล่อมเกลาแต่เกิดจนแก่ หรือทั้งสองอย่างประกอบกัน ทัศนะที่นักวิชาการต่างชาติมีต่อพุทธศาสนาในประเทศไทยดังปรากฏในหลายรายการ ทัศนะต่อสื่อมวลชน พรรคการเมือง ทหาร ระบบราชการ และอีกหลายประเด็นมากมาย ล้วนสะท้อนความแตกต่างระหว่างทัศนะจากคนละมุมโลก สังคมไทยพิจารณาเอาเองแล้วกันว่าจะยึดมั่นภูมิใจในความถูกต้องของทัศนะตนด้วยเหตุผลว่าคนอื่นไม่มีทางเข้าใจ หรือจะเดินออกมาจากความคับแคบของตัวเองเสียที


น่าเสียดายที่สื่อมวลชนภาษาไทยแทบไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมคราวนี้และการวิพากษ์วิจารณ์ท้าทายอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด เหตุผลที่มักอ้างคือ นักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฟังภาษาอังกฤษได้ไม่ดีพอหรือไม่ได้ความเลย หากส่งมาก็ป่วยการเปล่า เหตุผลข้อนี้จะจริงหรือไม่เพียงใดคงต้องพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงอีกบางประการได้แก่ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ข่าวลือว่า พอล แฮนด์ลีย์มาร่วมประชุม เน้นประเด็นว่าเป็นการประชุมที่มีบุคคลอันตรายเข้าร่วม ประโคมข่าวหรือเสนอแนะให้ตำรวจสอบสวน หนังสือพิมพ์เหล่านี้ไม่เคยโทรศัทพ์มาสอบถามหรือเช็กข่าวกับผู้จัด ไม่เคยแสวงหาข้อมูลที่แจกจ่ายอย่างเปิดเผยแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคน ไม่ทำการบ้านเบื้องต้น ไม่แสดงความรับผิดชอบแม้แต่จะเพียงแค่ตรวจสอบข้อมูลก่อนการเขียนและตีพิมพ์

จะไปคาดหวังให้หนังสือพิมพ์เหล่านี้สนใจเนื้อหาการประชุมคงเป็นการคาดหวังที่เกินกว่าจะเป็นไปได้ ความสามารถทางภาษาดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างที่ง่ายดี แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือ คุณภาพของสื่อ จรรยาบรรณของสื่อ ความรับผิดชอบของสื่อเหล่านั้นเป็นเบื้องต้น

เป็นไปได้มากว่าหนังสือพิมพ์ไทยไม่ได้คิดด้วยซ้ำไปว่าควรจะสนใจรายการถกเถียงทางวิชาการทำนองนี้ หนังสือพิมพ์ไทยอาจไม่สนใจเลยเพราะว่าไม่ใช่ ‘ข่าว’ ที่ผู้อ่านสนใจ เพราะนักหนังสือพิมพ์เองก็อาจจะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ ว่ากิจกรรมเหล่านี้สะท้อนหรือเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร สิ่งที่เป็น ‘ข่าว’ จึงจำกัดอยู่แค่เรื่องที่น่าตื่นเต้นของตำรวจกับการสอบสวนที่พวกเขาช่วยกันชี้ทางให้ตำรวจจัดการ (เผื่อว่าจะได้มี ‘ข่าว’ มาขาย)

เรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาข้อจำกัดทางภาษาเลยสักนิด มัวแต่บอกปัดว่าเป็นปัญหาทางภาษาจะยิ่งทำให้สื่อมวลชนไทยไม่รู้จักตรวจสอบตนเอง

แต่การที่สื่อมวลชนไทยไม่สนใจการถกเถียงทางวิชาการทำนองนี้ สะท้อนสภาวะทางปัญญาของสังคมไทยมากกว่าประเด็นคุณภาพของสื่อมวลชนไทยหรือไม่? อย่าลืมว่าสื่อมวลชนเป็นเป็นแหล่งรวมของผู้มีการศึกษาปัญญาชนของสังคม ปัญญาชนไทยทึกทักว่าตนเองรู้เรื่องเมืองไทยดีกว่านักวิชาการต่างชาติหรือเปล่า หรือด่วนสรุปหรือเปล่าว่าคนต่างชาติจะรู้เรื่องเมืองไทยสักเท่าไหร่กัน? ความแตกต่างระหว่างการศึกษาเมืองไทยเป็นอีกประเด็นที่แทบไม่เคยมีการมีการพิจารณากัน ตัวอย่างเช่น เคยสะกิดใจไหมว่า การศึกษาเรื่องไทยในสังคมไทยมักเต็มไปด้วยรายละเอียดลึกซึ้งมาก แต่มักอ่อนแอด้านแนวคิดและวิธีวิทยา บ่อยครั้งสะท้อนโลกทัศน์ที่จำกัดอันเกิดจากความไม่รู้จักสังคมอื่นใดนอกจากสังคมไทยเท่านั้น จึงด่วนทึกทักว่าสังคมไทยเป็นสิ่งพิเศษที่สุดในโลกเกินกว่าแนวคิดและการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ จากภายนอกจะเข้าใจได้


กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน


ที่มา : บอร์ดฟ้าเดียวกัน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์....

เพิ่มเติม : ข่าวประชาไท : รายงาน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถึงผู้มีหนังสือต้องห้ามทั้งหลาย
ขอแสดงความนับถือที่ท่านสามารถมีหนังสือต้องห้ามในมือของท่าน แต่หากท่านยังสามารถเผยแพร่ด้วยการสแกนเป็นไฟล์PDFเพื่อแบ่งปันกันอ่าน
เพื่อเป็นภูมิความรู้อีกด้านแก่ลูกหลานคนไทยยุคใหม่
หากท่านพอมีเวลาทำ
ขอแสดงความนับถือ