ความรู้สึกแห่งยุคสมัยที่ราวกับมีคำตอบ๑
อย่างน้อยสำหรับข้าพเจ้าและอีกหลายท่านที่ฉงนฉงายต่อการหายไปของพลังของความหมายและความทรงจำที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พบว่า เป็นเรื่องประหลาดที่การปฏิวัติครั้งนั้นถูกทำให้เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าภูมิใจ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับเรา หลายสิ่งหลายอย่างถูกเกลื่อนกลืน มีการโยกย้ายความหมายและความทรงจำ และมีการให้คำอธิบายว่า เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ รวมทั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย สามารถสืบย้อนหลังไปได้ว่าล้วนมีผู้ทำไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครองในอดีต
สำหรับในอาณาจักรของชาว "น้ำเงินแท้" แล้ว ไม่มีอะไรในประเทศนี้ที่ไม่เคยถูกทำมาก่อน หรือเป็นสิ่งใหม่ แม้แต่สิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในประเทศหรืออาจหมายรวมถึงในโลกนี้ คือการสร้างคำอธิบายว่าไทยมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือว่าผู้ปกครองในระบอบเก่ามีพระราชประสงค์จะมอบ "เดโมคราซี" หรือ "คอนสติติวชั่น" ให้มหาชนชาวสยาม จนดูประหนึ่งว่าการวางหลักไมล์ของจุดเริ่มต้นมิอาจเกิดขึ้นจากบุคคลชั้นธรรมดาในประเทศของเรา
ความฉงนฉงายเหล่านั้น ดลใจให้ข้าพเจ้าศึกษาและค้นคว้ามากขึ้น และพบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงการสร้างคำอธิบายใหม่ที่ถอยลงไปในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมบางอย่างที่สำคัญให้กับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เป็นปรปักษ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ด้วย "การรื้อสร้าง" การปฏิวัติ และพร้อมกันนั้นก็สร้างคำอธิบายใหม่ให้กับระบอบเก่าที่สอดคล้องกับโครงเรื่องในมโนสำนึก
สำหรับชาว "น้ำเงินแท้" แล้วอาจไม่มีปรากฏการณ์ใดที่จะ "เสียหน้า" และสูญเสียอำนาจ อันนำมาซึ่งความเจ็บช้ำ โหยหาวันก่อนคืนเก่าของพวกเขา ได้เท่ากับการเกิดขึ้นของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ความทรงจำที่ปวดร้าวมีผลให้การเล่าถึงการปฏิวัตินั้นว่า เต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยก ไม่เป็น "ประชาธิปไตย" ในความหมายของพวกเขา รวมตลอดจนการปฏิบัติของพวกเขาต่อสิ่งก่อสร้างเชิงสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ เช่น หมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก็ถูกมองในฐานะสิ่งแปลกปลอมและถูกปล่อยปละละเลยปราศจากการสงวนรักษาในฐานะที่เป็นจุดประกาศการก้าวสู่ระบอบใหม่ การพยายามลดทอนความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลงเป็นเพียงกองซีเมนต์ใหญ่ที่กีดขวางถนนหนทาง ตลอดจนการสร้างคำอธิบายว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัยเพื่อลบล้างพลังของการปฏิวัติ รวมถึงการผลิตซ้ำเรื่องเล่า เรื่องเล่านี้ถูกนำมาเล่าตอกย้ำ ว่ายวน โดยเฉพาะในประเด็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" ของการปฏิวัติครั้งนั้น
คณะราษฎรบางคนเงียบนิ่งต่อพลังการรื้อสร้างที่ดำเนินไป แต่หลายคนยังคงยืนหยัดโต้การรื้อสร้างเหล่านั้น ท้ายสุดกระบวนการรื้อสร้างนี้ก็กลายเป็นอภิมหาอรรถกถาครอบจักรวาลที่ดูดกลืนทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในอดีต
หาก "อดีต" เป็นภาชนะที่ห่อหุ้ม "ปัจจุบัน" เอาไว้แล้วไซร้ กระบวนการอธิบายหรือให้ความหมายย้อนหลังก็คือการสร้าง "อดีต" ไว้ใน "ปัจจุบัน" นั่นเอง ปฏิบัติการของเขาเหล่านี้เปรียบประหนึ่งกับการ "รื้อ" ความหมายเก่า และ "สร้าง" ความหมายใหม่ โดยทำให้ความหมายเก่าอ่อนตัวลง หรือทำลายความชอบธรรมของปรากฏการณ์ คำ วัตถุ และความทรงจำ พร้อมๆ ไปกับการประกอบสร้างหรือสวมกลืนความหมายใหม่ที่ต้องการเข้าไปแทนที่
หากใครสามารถครอบครองความหมายในอดีตได้ฉันใด ผู้นั้นก็มีอำนาจยึดกุมปัจจุบันได้ฉันนั้น
การศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนใช้หลักฐานจากงานเขียน บันทึกความทรงจำ ชีวประวัติ สารคดีการเมือง นิยายของบรรดาอดีตนักโทษทางการเมือง และกลุ่มพันธมิตรแนวร่วม เช่น นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ที่เขียนเกี่ยวกับกรณีกบฏบวรเดชและการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เพื่อพิจารณาถึงวิธีการเล่าเรื่อง ความรู้สึกนึกคิด ด้วยการเฝ้ามองและชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลกับปฏิบัติการ "รื้อสร้าง" ความหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ผ่านงานเขียนของเขาเหล่านั้น รวมถึงปฏิบัติการลดทอนพลังความหมาย ตลอดจนการประกอบสร้างความหมายใหม่ที่ยังประโยชน์ให้กับกลุ่มของตน รวมทั้งผลกระทบของการรื้อสร้างจากงานเขียนของชาว "น้ำเงินแท้" ในอดีตว่ามีผลสืบเนื่องอย่างไรต่อความรู้สึกนึกคิด และระบอบการปกครองของไทยในระยะต่อมาจนปัจจุบัน
หากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือการรูดม่านระบอบเก่าแล้ว การรัฐประหาร ๒๔๙๐ นั้น ถือได้ว่าเป็น "อรุณรุ่งแห่งแสงเงินแสงทองของวันใหม่" สำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นการบรรจบกันหรือการปรากฏตัวขึ้นใหม่ของอุดมการณ์ในระบอบเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่กบฏบวรเดช ๒๔๗๖ ที่เคยพ่ายแพ้ ถูกกักขัง จองจำ หลบซ่อน จนได้ออกมาเผยตัวอย่างแจ้งชัดในเวลาต่อมา
ปฏิบัติการรื้อถอนความชอบธรรมของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พร้อมๆ ไปกับการเชิดชูและสร้างความหมายใหม่ให้กับระบอบเก่าของกลุ่มคนเหล่านี้นำไปสู่การเข้าร่วมการรัฐประหารโค่นล้มคณะราษฎรเพื่อสานฝันของชาวคณะ "น้ำเงินแท้" ให้เป็นจริง การรัฐประหาร ๒๔๙๐ จึงเป็นจุดหมุนพลิกที่สำคัญในประเด็นอำนาจและอุดมการณ์
"ราชธรรมนูญ" กับ "ราษฎร์ธรรมนูญ" :
ปัญหากำเนิด "ระบอบรัฐธรรมนูญ"
และความขัดแย้งของขนาดพระราชอำนาจหลังการปฏิวัติ
ประเด็นหนึ่งในการรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของ "การเมืองเรื่องเล่า" คือการกล่าวว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นเป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์พระราชทาน "รัฐธรรมนูญ" อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงก็คือ การร่าง "รัฐธรรมนูญ" นั้นเป็นการร่างลับตามพระราชประสงค์ของพระองค์ โดยมีน้อยคนที่รู้ นอกนั้นไม่เคยมีใครได้เห็นเอกสาร นอกจากพูดต่อกันมา มีขุนนางในระบอบเก่าคนหนึ่งนามพระยาศรีวิสารวาจา๒ เท่านั้นที่รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะเขามีส่วนร่วมในการร่าง และรู้ว่ามันมีสาระเช่นไร อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานถึงการบอกถึงสาระที่แท้จริงในฉบับร่างจากเขาตลอดช่วงชีวิต แม้ว่าเขาจะมีส่วนในการเป็นรัฐมนตรีหลังการปฏิวัติหลายครั้งจนกระทั่งถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งนี่อาจเป็นเรื่องปกติก็ได้หากมองจากจุดยืนทางการเมืองของเขา เพราะสำหรับพระยาศรีวิสารวาจาแล้วอาจเป็นการดีกว่า ถ้าจะปล่อยให้เรื่องเล่าการจะพระราชทานสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และการชิงสุกก่อนห่ามของคณะราษฎรนั้นให้คงอยู่ในสังคมต่อไป เพราะเรื่องเล่าแบบนี้มีผลบวกต่อสิ่งที่เขาชื่นชมและทำให้คนฟังเห็นถึงความไม่จำเป็นของการปฏิวัติ ๒๔๗๕
หลังการเปิดหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๑๘ ความกระจ่างแจ้งในสาระสำคัญของเอกสารที่ทรงให้ร่างขึ้น และถูกเรียกจากผู้ต่อต้านการปฏิวัติว่าเป็น "รัฐธรรมนูญ" อันจะพระราชทานให้กับปวงชนชาวสยามนั้นก็ได้ปรากฏขึ้น เมื่อมีการค้นพบเอกสารสำคัญ ๒ ชิ้น ชิ้นแรกคือ ร่างกฎหมาย ปี ๒๔๖๙ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre)๓ (ในต้นฉบับไม่ระบุชื่อกฎหมายและไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร ให้มีอภิรัฐมนตรีสภา และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่เสนอนโยบายทั่วไปให้พระมหากษัตริย์ทรงตัดสินพระทัย และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้อำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ กล่าวโดยสรุปแล้วหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดทางการบริหาร นิติบัญญัติและการแก้ไขกฎหมาย หรือนัยหนึ่งก็คือทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยนั่นเอง
เอกสารอีกชิ้นหนึ่งคือ สำหรับร่างกฎหมาย ปี ๒๔๗๔ ซึ่งเขียนโดยเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา เอกสารนี้ใช้ชื่อว่าเค้าโครงร่างการเปลี่ยนรูปรัฐบาล (An Outline of Changes in the Form of the Government) มิได้ใช้คำว่ารัฐธรรมนูญ๔ ร่างฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดทางการบริหารและการนิติบัญญัติ โดยมีพระราชอำนาจเหนือสภานิติบัญญัติ เหนือสภาอภิรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งและถอดถอนสภาอภิรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ส่วนที่มาของสภานิติบัญญัตินั้น อาจมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ได้ แต่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยุบสภา โดยสรุปแล้วพระมหากษัตริย์คือผู้ทรงอำนาจอธิปไตยอีกเช่นกัน๕
จากหลักฐานเหล่านี้ยืนยันว่า เป็นความจริงที่พระองค์ทรงเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปกครอง แต่จะเป็นประชาธิปไตยตามหลักประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่ ขอให้พิจารณาขนาดของพระราชอำนาจที่มีอย่างมากมายแล้ว คงไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไป๖
ดังนั้นหากปราศจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และประชาชนเฝ้ารอคอยการพระราชทาน "ราชธรรมนูญ" นี้ ตามเรื่องเล่าแล้ว ที่สุดของความเป็นได้ของการปกครองของสยาม ก็น่าจะเป็นระบอบราชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจอธิปไตย กล่าวให้ถึงที่สุดคือ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันมีรัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรม" นั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างรวดเร็วในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นเป็นเสมือนหนึ่งการปิดฉากระบอบเก่าลง พร้อมกับการสถาปนา "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมาได้ (ภายหลังเรียกระบอบประชาธิปไตย) มีการถกเถียงกันในการตีความกำเนิดรัฐธรรมนูญสยาม ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างราษฎรและผู้ปกครอง๗ หรือเกิดจากการพระราชทาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง
ฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติเห็นว่ากำเนิดรัฐธรรมนูญเป็นการตกลงกันระหว่าง ๒ ฝ่าย [(มีเหตุแห่งการปฏิวัติ ฝ่ายปฏิวัติชนะ และตกลงกันได้) พระมหากษัตริย์ + คณะราษฎร รัฐธรรมนูญ = พระมหากษัตริย์ + สถาบันการเมือง (กรรมการคณะราษฎร-ต่อมาเรียกคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และศาล) + ประชาชน] พระมหากษัตริย์จึงทรงมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงอยู่เหนือการเมือง ตามหลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ละเมิดมิได้เพื่อทรงจะไม่ถูกวิจารณ์จากผลของการกระทำนั้นโดยตรง การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการเสมอ ดังนั้นการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภท ๒ จึงเป็นอำนาจของสถาบันการเมืองเสนอให้ทรงแต่งตั้ง สำหรับสมาชิกประเภทแรกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
แต่สำหรับฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ (หรือพวกที่เรียกกันในเวลานั้นว่าพวก "รอยัลลิสต์") กลับเห็นว่า รัฐธรรมนูญสยามกำเนิดจากการพระราชทานจากพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว [(ไม่สมควรมีเหตุแห่งการปฏิวัติ (แม้จริงๆ แล้วจะมีการปฏิวัติ) เพราะจะพระราชทานอยู่แล้ว๘) พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ = พระมหากษัตริย์ + สถาบันการเมือง + ประชาชน] พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชอำนาจทางการเมืองมากในลักษณะที่เท่าๆ หรือเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะพระองค์ทรงเป็นที่มาแห่งกำเนิดรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย ดังนั้นย่อมนำไปสู่ความเห็นว่าการแต่งตั้งสมาชิกประเภท ๒ ต้องเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมิใช่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบที่พวกแรกกำหนด
ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านการปฏิวัติ และการรื้อสร้างการปฏิวัติ ซึ่งจะกลายเป็นกระบวนการที่ยาวนานกระบวนการหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ความไม่สบพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ๙ ต่อพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ (ฉบับหลังการปฏิวัติใหม่ๆ) ในประเด็นคำเรียกขาน และการบัญญัติให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีเท่าๆ กับสถาบันการเมืองอื่น เช่น กรรมการคณะราษฎร สภาผู้แทนราษฎร และศาล ตลอดจนประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ นำมาสู่การที่ทรงต่อรองกับคณะราษฎรว่า ทรงจะขอแก้ไข "เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง" ซึ่งคณะราษฎรยินยอม หลังจากนั้นทรงเติมพระอักษรลงไปในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินว่า "ชั่วคราว" ก่อนจะทรงลงพระปรมาภิไธย๑๐
ผลแห่งการแก้ไขเรื่อง "เล็กๆ" นี้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นฉบับที่คณะผู้ร่างเกือบทั้งหมดมาจากขุนนางระบอบเก่า ประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขและเพิ่มเติมคือ การใช้คำว่าพระมหากษัตริย์ การใช้คำว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าอยู่เหนือการเมือง เป็นต้น การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ประเด็นเรื่องที่มาของผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ อันมาจากแต่งตั้งโดยคณะราษฎรแทนที่จะเป็นพระราชอำนาจนั้นนำมาซึ่งความไม่พอใจเป็นอันมากในหมู่พระราชวงศ์และพวก "รอยัลลิสต์" ทั้งๆ ที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดล้วนมาจากขุนนางระบอบเก่าและการร่างอยู่ใต้การปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับพระองค์ทั้งสิ้น
สภาวะความหวาดระแวงระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรนั้นดำรงมาตลอดและปรากฏชัดเจนเมื่อพระองค์ให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เจ้ากรมสำนักพระราชวังจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษขึ้น โดยเลือกพโยม โรจนวิภาต ข้าราชการสำนักพระราชวังซึ่งคลุกคลีกับวงการหนังสือพิมพ์เป็น "สายลับส่วนพระองค์" ในนาม "พ.๒๗" เพื่อทำหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรและแวดวงหนังสือพิมพ์ให้พระองค์ทรงทราบเป็นการลับโดยตรง สำหรับ "พ.๒๗" เขาเห็นว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็น "วันโลกาวินาศ"๑๑ "พ.๒๗" ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี จนได้รับคำชมจากพระองค์ว่ารายงานลับของเขานั้นรู้ดี แต่ยังไม่ลึกพอ รายงานฉบับสุดท้ายของ "พ.๒๗" ก่อนการลี้ภัยของเขาก็คือ การรายงานว่า เกิดการเคลื่อนไหวของทหารที่หัวเมืองเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ โดยมีพระองค์เจ้าบวรเดชทรงเป็นต้นคิดแผนการครั้งนี้๑๒
เจ้านายกับการโต้ "อภิวัฒน์"
มูลเหตุและเบื้องหลังความไม่พอใจจนเป็นเหตุให้นำทหารจากโคราช ราชบุรี เพชรบุรี ลงมาปราบปรามคณะราษฎรเมื่อปี ๒๔๗๖ หรือการโต้ "อภิวัฒน์" นั้น เราทราบจากบันทึกสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งทรงบันทึกจากมุมมองของ "คนใน" และในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่พระราชวังไกลกังวลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชวงศ์ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ๒๔๗๖ ก่อนเกิดกบฏบวรเดช (๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖) ว่า ที่พระราชวังไกลกังวลนั้น มีคนพลุกพล่านมาก และส่วนใหญ่เป็นพวกคณะชาติ๑๓ ทรงจำได้ว่าเจ้านายพระองค์หนึ่ง คือ...๑๔ ทรงขับรถมุ่งตรงไปยังพระราชวังไกลกังวล เพื่อขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ม.จ.หญิงพูนพิศสมัย ดิศกุล ทรงให้รายละเอียดด้วยว่า เจ้านายพระองค์นี้ถูกบรรดาพระราชวงศ์กล่าวหาว่าทรงเป็นผู้สนับสนุนให้ทหารกำเริบโลภจน "เป็นขบถ" เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และเจ้านายพระองค์นี้ได้ทรงกล่าวว่า "อย่างไรๆ ก็ต้องแก้มืออ้ายพวกขบถนี้ให้จงได้ แม้แต่พี่น้องก็ไม่มีใครเขาดูหน้าฉันหมดแล้ว"๑๕ เจ้านายพระองค์นี้ได้มาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการเปลี่ยนแปลง "การปกครองใหม่" จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงไม่เห็นด้วยกับการทำเช่นนี้ เพราะทรงเห็นว่าจะเกิดข้อสงสัยต่อบทบาทของพระมหากษัตริย์ว่าต้องการพระราชอำนาจกลับคืน แต่ท้ายที่สุดพระองค์ก็มิได้ทรงห้ามปรามอีก ทั้งยังพระราชทานของบางอย่างให้ ซึ่ง ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงใช้คำว่า "ให้ๆ บริสุทธิ์"๑๖ และทรงบันทึกต่อไปว่า ราชสำนักได้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จากพระคลังข้างที่ให้เจ้านายพระองค์ที่มาปรึกษาข้อราชการที่ไกลกังวลด้วย ต่อมาไม่นานเจ้านายพระองค์นั้นก็ทรงนำกองทัพจากทางเหนือลงมา
การยกทหารลงมา โดยเรียกตนเองว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ครั้งนี้ เป็นความพยายามครั้งแรกในการต่อต้านการปฏิวัติ เพื่อฟื้นฟูพระเกียรติและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนปราบปรามคณะราษฎร๑๗ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ (ดังที่ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกถึงความในใจของพระองค์เจ้าบวรเดช) ดังความรู้สึกของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) หนึ่งในผู้เข้าร่วม ซึ่งเห็นว่าเขาไม่พอใจรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาล ซึ่งเขาเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย๑๘
มีความคลุมเครือที่เกิดขึ้นจากบันทึกความทรงจำและเรื่องเล่าภายหลังเหตุการณ์ซึ่งมีลักษณะเป็นการสร้างคำอธิบายใหม่ว่า การยกกองทัพมาครั้งนี้เป็นการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยหลักการประชาธิปไตย การที่จะมุ่งสร้างประชาธิปไตยหรือไม่นั้น เราจะเข้าใจกระจ่างขึ้นหากพิจารณาจากความรู้สึกของหลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) หนึ่งในนายทหารผู้เข้าร่วม "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ตามที่ได้เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของเขา บันทึกความทรงจำนั้นเขียนขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์นั้นหลายปี (เขาเขียนในปี ๒๔๙๒) แต่เขายังคงยืนยันความรู้สึกเมื่อครั้งนั้นอย่างแจ่มชัดว่า "[การยกทหารจากหัวเมืองมาครั้งนี้-ผู้เขียนบทความ] จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะสมและถวายพระราชอำนาจแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"๑๙
"กบฏ" ที่ไม่ "ขบถ"!!? :
ความเข้าใจในตนเองของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง"
การเข้าใจชุดกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กับการเผชิญหน้ากันครั้งสำคัญระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายต่อต้านนั้น การให้ความสำคัญกับการพิจารณาความคิด ความหมาย จุดยืนทางอุดมการณ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้น
สำหรับงานเขียนที่นิยามความหมายของจุดยืนทางอุดมการณ์การเมืองในเวลาใกล้เคียงนั้น ทั้ง ม.ร.ว.ทรงสุจริต นวรัตน และ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ให้ความหมายของคำว่า "อนุรักษ์นิยม หมายถึง พวกหัวเก่าเห็นว่าวิธีการเก่าๆ ที่ใช้นั้นดีอยู่แล้ว การแก้ไขเปลี่ยนแปลงมีแต่จะได้รับผลร้าย...พวกนี้ถือคติว่า ก่อนกระโดดจงมองดูให้ดี กล่าวโดยทั่วไปแล้ว พวกนับถือราชวงศ์คือ พวกรอยะลิสม์ (Royalism) และโมนาคิสม์ (Monarchism) นับเป็นแขนงหนึ่งของพวกคอนเซอเวตีฟ หรือจะกล่าวว่า พวกคอนเซอเวตีฟพวกหนึ่งมาจากคตินับถือราชวงศ์ก็ได้" ทั้งนี้ "คอนเซอเวตีฟพวกนี้เห็นว่ากษัตริย์ทรงคุณแก่ประเทศ จึงสมควรสนับสนุนด้วยการถวายพระราชอำนาจ ความนับถือและเทิดทูนบูชา คติรอยะลิสม์เห็นได้ชัดเจนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ถึงแม้เลิกใช้ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชแล้ว คติรอยะลิสม์ก็ยังมีอยู่"๒๐
ในงานบันทึกความทรงจำมากมายหลายชิ้นของเหล่าผู้เข้าร่วมกับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ปี ๒๔๗๖ นั้น ไม่มีงานชิ้นใดที่บอกว่า พวกตนเป็น "ขบถ" ซึ่งก็เป็นเรื่องแน่นอนว่า ไม่มีใครยอมรับว่า การกระทำของตนไม่ถูกต้อง แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่าก็คือ สำหรับพวกเขาแล้ว พวกเขาให้ความหมายกับคำนี้อย่างไรต่างหาก การพิจารณาประเด็นดังกล่าวต้องการความละเอียดอ่อนพอที่จะเข้าใจความแตกต่างของการให้ความหมายของคำที่ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ใช้เพื่อสามารถเข้าใจฐานคิด จุดยืนของอุดมการณ์การเมือง และการกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมของฝ่ายตน ซึ่งเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมาตลอด ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และการกลับมาอีกครั้งของการยืนยันตัวเองในการเป็น "นักประชาธิปไตย" และการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของคนเหล่านี้
คำว่า "ขบถ" ในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖) ให้ความหมายว่า "คิดจะทำร้ายเจ้าชีวิต" แต่สำหรับปทานุกรมของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ คำว่า กบฏ คือ ความคดโกง พยศร้าย ล่อลวง ส่วนพจนานุกรมสำหรับนักเรียน ฉบับแก้ไขปรับปรุงของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๒ คำว่า กบฏ คือ ความคด ความโกง ความทรยศ การประทุษร้ายต่ออาณาจักร
จากความหมายข้างต้น สามารถสรุปความหมายได้ ๒ ความหมาย คือ คำว่า "ขบถ" ที่เก่าที่สุดนั้นแนวคิดสำคัญคือ การต่อต้านกษัตริย์ การคิดทำร้ายกษัตริย์ การช่วงชิงพระราชอำนาจ ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคคลมากกว่า แต่สำหรับอีกความหมายหนึ่งซึ่งใหม่ขึ้นมาอีกนั้น จะให้ความหมายของคำดังกล่าวในเชิงนามธรรมภายใต้แนวคิดสมัยใหม่ที่มองหรือให้ความสำคัญกับคำว่าอาณาบริเวณที่หมายรวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาตามแนวคิดรัฐสมัยใหม่ควบคู่มากขึ้น เช่น ดินแดน และรัฐบาล ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คำว่า "กบฏ" มีความหมายเกี่ยวกับ การคิดคด ความโกง ความทรยศ การต่อต้านศูนย์กลางอำนาจ/รัฐบาล
เมื่อนำ "คำ" ดังกล่าวมาพิจารณาควบคู่กับบริบททางการเมืองหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แล้วก็จะพบว่า รัฐบาลเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีการแบ่งแยกอำนาจ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงใช้อำนาจอธิปไตยการบริหารแทนประชาชนโดยรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการต่อต้านรัฐบาลคือกบฏ แต่สำหรับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" แล้ว อย่างน้อยพวกเขาไม่เคยยอมรับว่าพวกเขาเป็น "ขบถ" ในความหมายที่คิดร้ายต่อกษัตริย์ หรือแย่งชิงพระราชอำนาจ แต่เป็น "การเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่"
ความเข้าใจต่อตนของพวกเขาในการยกทหารลงมา "ปราบขบถ" นั้นเป็นการต่อต้านรัฐบาล (ศูนย์กลางอำนาจ) แต่ไม่ได้ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นถึงตัวอย่างความรู้สึกนึกคิดของหลวงโหมรอนราญ ที่ได้บันทึกไว้ว่า "สำคัญที่สุดอยู่ในหัวใจของข้าพเจ้านั้น ซื่อสัตย์กตัญญูต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมราชจักรีวงศ์อยู่ในสายเลือด จึงเกลียดชังผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินยิ่งนัก เพราะข้าพเจ้าถือว่านี้เป็นขบถ หมิ่นหยามและอกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์ จึงตั้งใจว่าถ้ามีโอกาส จะลุกขึ้นต่อสู้และปราบปรามพวกขบถเหล่านี้ให้จงได้"๒๑
แม้ว่าในช่วงปลายสงคราม รัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ แล้วก็ตาม แต่หลวงโหมรอนราญยังคงมีจุดยืนความคิดที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมที่ว่าคณะราษฎรแย่งชิงพระราชสมบัติ เขายืนยันว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินยังมีอำนาจราชศักดิ์ เป็นคณะรัฐบาลอยู่หลายคน ข้าพเจ้าไม่อยากอยู่ร่วมแผ่นดินกับพวกขบถเหล่านี้ [เน้นโดยผู้เขียนบทความ]"๒๒
การตระหนักรู้ตนเองในการเป็นพวก "รอยัลลิสต์" นี้ แกนนำอีกคนหนึ่งในการยกกองทัพจากหัวเมืองครั้งนี้ คือพระยาศราภัยพิพัฒ ได้เล่าถึงความรู้สึกของเขาหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่นานว่า เขาไม่หวาดวิตกในการมีรายชื่อที่จะถูกปลดจากราชการในฐานเป็น "พวกเจ้า" เลย แต่เขากลับเห็นว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจว่าเป็น "พวกเจ้า" เขาเห็นว่า สำหรับเขาแล้ว เมื่อพวกเจ้าตกอับ เขาก็พร้อมที่จะตกเหวตามไปด้วย๒๓ หลังการปฏิวัติไม่นาน เขาถูกปลดออกจากราชการ และได้ไปทำงานที่บริษัทสยามฟรีเพรสส์ ของหลุย คีรีวัต ต่อมาเขาได้เดินทางไปปีนังเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เขาเล่าว่า เมื่อเขากลับมาได้ถูกจับจ้องจากคณะราษฎรมาก จนได้รับหนังสือตักเตือนจากหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัย ไม่นานหลังจากนั้น เขาได้เดินทางไปท่องเที่ยวในจีนและญี่ปุ่นและได้เขียนสารคดีท่องเที่ยวประกอบการวิจารณ์การเมือง ทำให้เราได้ทราบความคิดทางการเมือง หรือเค้าความคิดในรัฐธรรมนูญอุดมคติของพระยาศราภัยพิพัฒ คือ เขาชื่นชมกับรัฐธรรมนูญฉบับพระราชทานของจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่นที่บัญญัติให้พระองค์มีพระราชอำนาจมาก และเขาเห็นว่าองค์จักรพรรดิมีการเตรียมการเป็นเวลานานเพื่อให้ประชาชนมีความพร้อม เขาประเมินว่าการที่องค์จักรพรรดิมีอำนาจสูงสุดแบบเอกาธิปไตยในรัฐธรรมนูญนั้นมีความเหมาะสม เพราะพระองค์จะชี้ขาดปัญหาทั้งมวล โดยประชาชนจะรอคอยพระบรมราชโองการอย่างจงรักภักดี๒๔
และพระยาศราภัยพิพัฒได้ประเมินสภาพการณ์หลังการปฏิวัติว่า การปฏิวัติเป็นการนำความเสื่อมมาสู่ โดยเขากล่าวถึงความเสื่อมโทรมของศีลธรรมเยาวชนว่า "จะเห็นได้จากพฤติการณ์และนิสัยเด็กหนุ่มของเราได้เสื่อมลงไปในระหว่างปีกลาย [๒๔๗๕] กับปีนี้ [๒๔๗๖] เป็นอันมาก เพราะเสรีภาพปลุกให้เขาตื่นอย่างัวเงีย"๒๕
การจัดวางพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสมหลังการปฏิวัติให้สอดคล้องตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และเหล่าพระราชวงศ์ ทำให้เกิดการสนับสนุนงบประมาณจากพระคลังข้างที่ในการยกกองทัพจากหัวเมือง เป็นเหตุให้เกิด "คณะกู้บ้านกู้เมือง" เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ พร้อมกับการยื่นคำขาดต่อคณะราษฎร จากความพ่ายแพ้ของการโต้ "อภิวัฒน์" นี้ ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชและแกนนำต้องลี้ภัยไปยังเวียดนามและสิงคโปร์ ส่วนนายทหารระดับนำเสียชีวิตในที่รบ แนวร่วมจำนวนมากถูกจับขึ้นศาล และนำไปสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้อง ๖๐๐ คน โดยถูกส่งฟ้องศาลพิเศษ ๓๔๖ คน ถูกตัดสินลงโทษ ๒๕๐ คน ถูกปลดจากราชการ ๑๑๗ คน๒๖
ในระหว่างคุมขังนักโทษทางการเมืองเหล่านี้ พวกเขาได้บันทึกความทรงจำและแต่งนิยายขึ้นจำนวนมากที่เล่าในลักษณะกลับหัวกลับหาง และภายหลังถูกนำมาเผยแพร่เมื่อได้รับการปลดปล่อย อย่างไรก็ตามบันทึกความทรงจำและนิยายเหล่านี้ ทำให้เราได้ทราบความรู้สึกนึกคิด ความคิดทางการเมืองและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาในเวลาต่อมา
"น้ำเงินแท้" (True Blue) :
หนังสือพิมพ์และการกู่ก้องร้องเพลงประกาศอุดมการณ์ในแดนหก
ในระหว่างที่พวกเขาถูกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาตัดสินจากศาลพิเศษนั้น ด้วยศรัทธาแห่งอุดมการณ์อันแรงกล้าไม่อาจทำให้แนวหลักและแนวร่วมของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" นี้สิ้นหวัง แต่ยังคงเคลื่อนไหวต่อไปโดยผ่านการออกหนังสือพิมพ์แสดงอุดมการณ์ของกลุ่มตนในนาม "น้ำเงินแท้" ในเรือนจำ ในนิยายกึ่งชีวประวัติของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน๒๗ เรื่องเมืองนิมิตร ได้บันทึกถึงกำเนิดของหนังสือพิมพ์นี้ว่า ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เป็นผู้เสนอทำหนังสือพิมพ์ขึ้นก่อนเพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้พรรคพวกทราบ โดยหนังสือพิมพ์นี้เป็นหนังสือพิมพ์ที่เขียนด้วยมือของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ลงบนกระดาษสมุด ภายหลัง ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์หนังสือพิมพ์เพื่อใช้เป็นตำราการเมือง เป็นหนังสือพิมพ์ชื่อ "น้ำเงินแท้" ขึ้นแทน มีลักษณะเป็นสมุดปกแข็ง หุ้มด้วยกระดาษแก้ว การผลิตหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเหล่านักโทษการเมืองมาก ตั้งแต่การเขียนภาพปก ภาพหัวเรื่อง โดย เพรา พวงนาค, เติม พลวิเศษ และแปลก ยุวนวรรธนะ สำหรับนักเขียนประจำใน "น้ำเงินแท้" มีเช่น หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร), พระยาศราภัยพิพัฒ, พระศรีสุทัศน์, หลุย คีรีวัต, ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และ "แม่น้ำโขง" (อ่ำ บุญไทย) เป็นต้น
การเผยแพร่หนังสือพิมพ์นี้ ชาว "น้ำเงินแท้" ใช้วิธีการซุกซ่อนใต้กระถางต้นไม้ บนหลังคาห้องน้ำ บ่อขยะ เพื่อสื่อสารระหว่างกัน ทั้งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ตรวจตราเป็นอย่างมากก็ไม่อาจจับได้
ความมุ่งมั่นในการออก "น้ำเงินแท้" นี้ดำเนินต่อไปได้ถึง ๑๗ ฉบับ ความพยายามในการเผยแพร่อุดมการณ์ไม่จำกัดแต่เพียงในแดนหกเท่านั้น แต่ชาว "น้ำเงินแท้" ยังพยายามเผยแพร่หนังสือนี้ออกสู่ภายนอกด้วยวิธีการผูกสมุดแนบกับตัวหรือท่อนขาของญาติที่มาเยี่ยม หรือฝากให้เมื่อพบกันที่ศาล๒๘ บทความที่ลงใน "น้ำเงินแท้" นั้นในสายตาของชุลี สารนุสิต ชาว "น้ำเงินแท้" คนหนึ่งแล้ว เห็นว่าเป็นบทความที่ดุเดือดที่เขียนจาก "ปากกาที่เผาด้วยเพลิง" มีทั้งบทความที่วิพากษ์วิจารณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ และของต่างประเทศ และความเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา๒๙ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากลองพิจารณาบันทึกความทรงจำที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและอุดมการณ์การเมืองของชาว "น้ำเงินแท้" ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงบรรยากาศเปิดทางการเมืองหลัง ๒๔๘๘ แล้ว เราอาจจะเข้าใจความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของพวกเขา ดังนี้ ชุลี สารนุสิต ได้บันทึกความทรงจำถึงความหมายของ "น้ำเงินแท้" ในแดนหก ว่า "น้ำเงินแท้" สามารถตีความได้ ๒ แบบ คือ สีของชุดนักโทษ หรือสีน้ำเงินในธงชาติ เขาเห็นว่าถูกทั้งสองความหมาย แต่เขาได้ย้ำเป็นพิเศษว่า สำหรับเขาแล้ว สีน้ำเงิน คือ "สีที่บริสุทธิ์ และเป็นธงชัยแห่งความหวัง"
ไม่แต่เพียงความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักโทษทางการเมืองเหล่านี้ด้วยการออกหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมีการแต่งเพลงร้องปลุกใจในพวกพ้องด้วย โดย ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้ทรงแต่งเพลง "น้ำเงินแท้" หรือ "True Blue" ขึ้น๓๐ ชุลีเล่าเสริมว่าเพลงนี้ได้แพร่หลายไปในหมู่นักโทษการเมืองอย่างรวดเร็ว แม้ว่าพรรคพวกที่เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็ยังร้องได้ เขาย้ำว่าเป็นเพราะว่าเพลง "True Blue" คือ "น้ำเงินแท้" นั่นเอง แม้ว่าภายหลังเจ้าหน้าที่เรือนจำเข้มงวดมากขึ้นจนทำให้ต้องยุติการออกหนังสือพิมพ์ แต่พลังของความหมายของ "น้ำเงินแท้" ไม่จบสิ้นลงในฐานะหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่บทเพลงแห่งอุดมการณ์ยังคงกึกก้องในหัวใจ ชุลีได้สรุปว่า "หนังสือน้ำเงินแท้ได้สิ้นลมปราณลงแล้ว เพราะความระมัดระวังตัวของพวกเรา แต่บทเพลงน้ำเงินแท้ยังคงชีพอยู่และก้องอยู่ในจิตต์ใจของนักโทษการเมืองทุกคน"๓๑
หลังจากถูกตัดสินลงโทษแล้ว ทั้งนักโทษการเมืองในกรณีกบฏบวรเดช ๒๔๗๖ และนักโทษในกรณีอื่นๆ เช่น การลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามและการโค่นล้มรัฐบาล ได้ถูกส่งตัวไปกักขังที่เกาะตะรุเตาและเกาะเต่า อันเป็นที่มาของประสบการณ์ที่ชาว "น้ำเงินแท้" และนักโทษการเมืองอื่นๆ ได้ใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนสารคดีการเมืองทยอยออกมาเป็นชุดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในรูปหนังสือสารคดีการเมืองเล่มเล็กๆ ที่เป็นอันนิยมขณะนั้น โดยโครงเรื่องส่วนใหญ่เป็นการเล่าถึงความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานในขณะถูกจำคุกด้วยน้ำมือของคณะราษฎรที่พวกเขากล่าวหาว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย" และ "เป็นคณาธิปไตย" ทางการปกครอง ตลอดจน "อยุติธรรม" ในการกวาดจับพวกเขา
การฟื้นชีพของชาว "น้ำเงินแท้"
กับการเปิดกว้างทางการเมืองหลังสงคราม
ในช่วงปี ๒๔๘๘ ปลายสงคราม โครงสร้างทางการเมืองของไทยเปิดเอื้อให้กับการกลับมาเคลื่อนไหวต่อต้านคณะราษฎรอีกครั้ง บรรยากาศในช่วงนั้นเป็นการพยายามประนีประนอมกับกลุ่มต่างๆ มากขึ้น รัฐบาลหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ได้ประกาศพระราชกำหนดการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล ๒๔๘๘ ซึ่งมีสาระว่าผู้ที่ได้กระทำความผิดทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ ทั้ง ๓ ครั้ง เมื่อ ๒๔๗๖, ๒๔๗๘ และ ๒๔๘๑ ทั้งที่ได้รับการตัดสินแล้ว หรือหลบหนี ให้ได้รับการนิรโทษกรรมให้พ้นผิด พระราชกำหนดฉบับนี้ มีผลในการเปิดโอกาสให้ชาว "น้ำเงินแท้" และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎรสามารถกลับยังประเทศและเข้าสู่วงการเมืองได้อีกครั้ง การกลับมาครั้งนี้พวกเขาได้กลับเข้าเล่นบทปัญญาชน ในการพูด เขียน วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนลงสมัครรับเลือกตั้ง๓๒
การได้รับการปลดปล่อย การได้รับคืนฐานันดร บรรดาศักดิ์ และยศ จากการนิรโทษกรรมของอดีตนักการเมืองชาว "น้ำเงินแท้" ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติและคณะราษฎรในหลายกรณี ได้ทยอยกลับมาจากต่างประเทศ เช่น พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา-อดีตแม่ทัพในระบอบเก่า), น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช-อดีตนายเวรวิเศษ-เลขาประจำตัวของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือในยุคสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต), พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค-อดีตสมุหเทศาภิบาล เมืองเพชรบุรี ราชบุรี), หลุย คีรีวัต (เจ้าของบริษัท สยามฟรีเพรสส์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์), ร.อ.หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) บางส่วนได้รับการปลดปล่อย เช่น หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร-อดีตเลขาธิการกรมราชเลขาธิการ), ร.ท.ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, ร.ท.ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต), ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ และชุลี สารนุสิต เป็นต้น และที่ได้รับการคืนฐานันดร เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นต้น
การกลับมาครั้งนี้ เหล่าชาว "น้ำเงินแท้" หลายคนได้เล่นบทเป็นนักคิดนักเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองลงหนังสือพิมพ์ ต่อมางานเขียนเหล่านี้บางส่วนถูกรวมพิมพ์เป็นเล่มหรือรวมพิมพ์ประกอบกัน เช่น พระยาเทพหัสดิน เขียนจดหมายจากพลโท พระยาเทพหัสดิน (๒๔๘๘)๓๓ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) เขียนกบฏเพื่ออะไร (๒๔๘๘)๓๔ ชุลี สารนุสิต เขียนแดนหก (๒๔๘๘) ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ เขียน ๑๑ ปีในชีวิตการเมือง๓๕ พายัพ โรจนวิภาต เขียนยุคทมิฬ (๒๔๘๙)๓๖ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เขียนความฝันของนักอุดมคติ (๒๔๙๑)๓๗ หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เขียนเมื่อข้าพเจ้าก่อกบฏ (๒๔๙๑) หลุย คีรีวัต เขียนประชาธิปไตย ๑๗ ปี (๒๔๙๓) เป็นต้น
หน้ากระดาษอันเปิดกว้างที่สะดวกในการ "รื้อ" ความชอบธรรมของคณะราษฎรด้วยการโจมตีคณะราษฎรว่าไม่มีความเป็นธรรมในการจับกุมหรือจับกุมตัวผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง/"จับแพะ" นั้นแพร่หลายอย่างมากในวรรณกรรมลักษณะ "ร้องแรกแหกกระเชอ" ของชาว "น้ำเงินแท้" พร้อมการปฏิเสธเสียงแข็งถึงความเกี่ยวข้องกับการกบฏ อย่างไรก็ตามหากเราติดตามงานของชาว "น้ำเงินแท้" ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป กล่าวคือ เมื่อคณะราษฎรสิ้นอำนาจในขณะที่พวก "รอยัลลิสต์" และทหารนิยมเถลิงอำนาจ เราจะพบว่า แกนนำเหล่านี้ล้วนยอมรับในภายหลังอย่างภาคภูมิว่า พวกเขาล้วนมีส่วนในความร่วมมือต่อต้านคณะราษฎรไม่มากก็น้อย๓๘
การเคลื่อนพลลงสนามการเมืองของเหล่านักการเมือง "น้ำเงินแท้" อย่างเป็นทางการ เริ่มจากการลงสมัครรับเลือกตั้งปี ๒๔๘๘ และการจัดตั้งพรรคการเมืองปี ๒๔๘๙ โดยเริ่มต้นที่โชติ คุ้มพันธุ์ ที่ลงสมัครอิสระ (ภายหลังสังกัดพรรคประชาธิปไตย) ได้รับชัยชนะเหนือทองเปลว ชลภูมิ จากความช่วยเหลือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ต่อมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวหน้า ที่มีนโยบายสำคัญคือ นโยบายต่อต้านคณะราษฎร) และการผนวกตัวกันระหว่างกลุ่มหลวงโกวิทฯ อดีตนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มพรรคประชาธิปไตย และพรรคก้าวหน้ากลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีหลวงโกวิทฯ เป็นหัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรคนั้น
ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ต่อพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญของรัฐบาลซึ่งขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลหลวงประดิษฐ์ฯ ได้เสนอให้แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญโดยให้คณะกรรมการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการยกร่างแก้ไข และได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดวิกฤตการณ์การเมือง เนื่องจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วย "การต้องพระแสงปืน" นำไปสู่วิกฤตการณ์การเมือง รัฐบาลหลวงประดิษฐ์ฯ ขอลาออก รัฐบาลใหม่ของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกโจมตีอย่างหนักจากนักการเมืองฝ่ายค้าน จนนำไปสู่การเผชิญมรสุมจากการรัฐประหาร เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
กำเนิด "ระบอบสีน้ำเงิน" :
การรุกคืบทางรัฐธรรมนูญกับการรื้อฟื้นพระราชอำนาจหลัง ๒๔๙๐
การเกาะกลุ่มของชาว "น้ำเงินแท้" กับพันธมิตรแนวร่วมนั้น มีผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเมืองที่เปิด ท่ามกลางความพยายามประนีประนอมของรัฐบาลหลังสงครามกับรอยฝังจำของเหล่านักโทษการเมือง ความระส่ำระสายทางการเมืองจากการบริหารประเทศหลังภาวะสงครามและเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากกรณีสวรรคต นำไปสู่การรัฐประหารที่ได้รับความร่วมมือจากชาว "น้ำเงินแท้" ในการโค่นล้มรัฐบาลเสรีไทย และนำไปสู่การกวาดล้างกลุ่มหลวงประดิษฐ์ฯ พร้อมกับได้แขวนข้อกล่าวหาฝากติดตัวให้ด้วย ในระยะเวลานี้ เกิดการปรากฏตัวอย่างสำคัญของพวก "รอยัลลิสต์" ที่เข้มแข็งอย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕
การผนึกกำลังร่วมกับคณะรัฐประหารในครั้งนี้มีผลสะท้อนให้สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ เปลี่ยนแปลงจากหลักการหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก๓๙ ดังมีลักษณะ [พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ = พระมหากษัตริย์ + (สถาบันการเมือง) + ประชาชน] เช่น ถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร (มาตรา ๗๔, ๗๕, ๗๗) ซึ่งกำหนดให้พระองค์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และมีพระราชอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรี (มาตรา ๗๘) โดยให้ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ โดยอภิรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งโดยพระราชอำนาจ (มาตรา ๙) อีกทั้งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเพิกถอนรัฐมนตรีได้ด้วยพระบรมราชโองการ (มาตรา ๗๙) และมีพระราชอำนาจในการเลือกวุฒิสภา (มาตรา ๓๓) พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการตราพระราชบัญญัติในกรณีฉุกเฉินและกรณีการเงิน (มาตรา ๘๐, ๘๑) เป็นต้น ดังนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่งผลให้ปราศจากผู้สนองพระบรมราชโองการ และขัดต่อหลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ละเมิดมิได้๔๐ โดยสรุปแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์มากและมีการรื้อฟื้นองค์กรในระบอบเก่ากลับมา คือการรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรีสภา เป็นต้น
ด้วยสาระสำคัญของพระราชอำนาจ "ตาม" รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ ของคณะรัฐประหารที่ปรากฏเช่นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร๔๑ หนึ่งในผู้สำเร็จราชการแผ่นดินฯ ได้ทรงลงพระนามประกาศแต่เพียงคนเดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ไม่ยอมลงนาม๔๒ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกตีความให้มีผลทางกฎหมาย ทั้งนี้ บุคคลที่เชื่อมคณะรัฐประหารให้เข้าพบสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร คือ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ซึ่งต่อมาคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์
หลังการรัฐประหาร หลวงโกวิทฯ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ มีเหล่าเชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน เช่น หม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันต์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ส่วนขุนนางในระบอบเก่ามี เช่น พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) รวมทั้งอดีตนักโทษการเมือง เช่น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร, พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)๔๓ เป็นต้น นับว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ ขุนนางระบอบเก่า และชาว "น้ำเงินแท้" มากอย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน
แม้ว่าชาว "น้ำเงินแท้" หลายคนได้ลงเล่นการเมือง แต่ส่วนที่เหลือยังคงดำเนินการทางการเมือง "รื้อ" คณะราษฎรลงหน้าหนังสือพิมพ์ในรูปสารคดีการเมือง บันทึกความทรงจำในเชิงลบต่อไปอีก ทั้งบางคนทำหน้าที่ทั้ง ๒ ด้านควบคู่กันไปใน "การรื้อสร้าง" พร้อมๆ กับสร้างการผนึกตัวระหว่างชาว "น้ำเงินแท้" กับนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ นักการเมืองชาว "น้ำเงินแท้", เชื้อพระวงศ์ที่มาเป็นนักการเมือง นักการเมืองนิยมเจ้าได้เคลื่อนพลลงสนามการเมืองในช่วง ๒๔๘๙-๒๔๙๕ ดังปรากฏ เช่น ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ (๒๔๘๙), ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๔๘๙, ๒๔๙๑), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (๒๔๘๙, ๒๔๙๑), พระยาศรีวิสารวาจา (๒๔๘๙), หลวงมหาสิทธิโวหาร (๒๔๘๙), พระยาศราภัยพิพัฒ (๒๔๘๙), ไถง สุวรรณทัต (๒๔๙๑, ๒๔๙๕), ม.จ.สิทธิพร กฤดากร (๒๔๙๑)๔๔ เป็นต้น
นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ และ ๒๔๙๒ นั้น ได้มีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวกับอภิรัฐมนตรี ซึ่งต่อมากลายเป็นองคมนตรี โดยบัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งอย่างอิสระปลอดจากการทัดทานอำนาจของสถาบันการเมืองอื่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เช่น ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ สำหรับสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ คือ การกำหนดองคมนตรีแทนอภิรัฐมนตรี โดยมีพระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้ง และให้พ้นตำแหน่งไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา ๑๓, ๑๔)๔๕ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เนื่องจากผู้ร่างส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษนิยมจึงได้บัญญัติถวายพระราชอำนาจที่สำคัญหลายกรณี เช่น การเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ (มาตรา ๘๒) เนื่องจากผู้ร่างต้องการให้วุฒิสภาเป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์ การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (มาตรา ๑๒) นอกจากนี้ผู้ร่างต้องการให้เป็นอำนาจ "ส่วนพระองค์โดยแท้" จึงบัญญัติให้ประธานองคมนตรีหรือองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ๔๖ เป็นต้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพระราชอำนาจที่ทรงมีเพิ่มขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐, ๒๔๙๒ หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕, ๒๔๘๙ ในหลายกรณีเป็นประเด็นที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น บทบัญญัติที่ถวายพระราชอำนาจให้เพิ่มขึ้น การรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรีซึ่งเคยถูกตั้งในสมัยระบอบเก่าและถูกเลิกไปเมื่อเกิดการปฏิวัติ ต่อมากลายเป็นองคมนตรีซึ่งเป็นพระราชอำนาจในการเลือก แต่งตั้ง และถอดถอนอย่างอิสระ การบัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การบัญญัติให้ทรงมีอำนาจในทางการเมือง เช่น การแต่งตั้ง ถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเลือก การแต่งตั้งวุฒิสภาโดยมีประธานองคมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระราชอำนาจเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ เป็นต้น แม้หลายประเด็นในฉบับ ๒๔๙๐ จะถูกเลิกไป เนื่องจากพัฒนาการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่แล้วก็ตาม แต่หลายประเด็นจากฉบับ ๒๔๙๐ และ ๒๔๙๒ ยังได้รับการสืบต่อมา
อย่างไรก็ตามยังมีความน่าสังเกตอีก หากเราตีความการพยายามกำจัด/ลดทอนพลังของคณะราษฎร เช่น บทบาทของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่ทรงลงพระนามเพียงคนเดียวอย่างรวดเร็วเพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ ทันทีที่คณะรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลหลวงธำรงฯ และกวาดล้างกลุ่มคณะราษฎรพลเรือนและกลุ่มหลวงประดิษฐ์ฯ ออกไปสำเร็จ แต่หลังจากได้มีการแต่งตั้งหลวงโกวิทฯ เป็นนายกฯ แล้ว ได้ปรากฏว่าพระยาศรีวิสารวาจาได้มาแจ้งกับจอมพล ป. ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ว่า จอมพล ป. มีภาพลักษณ์ไม่ดี ดังนั้นต่างประเทศจึงไม่รับรองรัฐบาลหลวงโกวิทฯ เพื่อให้จอมพล ป. ลาออก แต่หลวงกาจสงครามไม่เห็นด้วยและขอร้องให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป๔๗ หากวิเคราะห์ในแง่หนึ่งพบว่าอาจเป็นการเดินเกมกำจัดจอมพล ป. สมาชิกคณะราษฎรที่มีอำนาจขณะนั้น ให้พ้นจากอำนาจ (คงเหลือแต่เพียงหลวงโกวิทฯ ที่โน้มเอียงมาทางพวก "รอยัลลิสต์") ในทางกลับกันประเด็นเกี่ยวกับขนาดของพระราชอำนาจที่ลดลงในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเหตุให้เกิดความยากในการลงพระนามของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ดังเช่น เมื่อจอมพล ป. พยายามนำรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ มาใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๒๔๙๔ แต่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัต) ผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนั้นกลับทรงไม่ยอมลงพระนาม๔๘
อย่างไรก็ตามสำหรับในสายตาของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี๔๙ ได้ทรงเปรียบเทียบเหตุการณ์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ กับการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ว่า เหตุการณ์แรกนำมาซึ่งความมืดมนอนธการ ในขณะที่เหตุการณ์หลังนั้นนำมาซึ่งรุ่งอรุณแห่ง "แสงเงินแสงทอง" และพระองค์ทรงเรียกขานสภาวะการเมืองหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ โดยทรงใช้คำว่า "วันใหม่ของชาติ"๕๐
๒๔๙๐ "วันใหม่ของชาติ" :
เจตนารมณ์สืบเนื่องและพันธมิตรแนวร่วมชาว "น้ำเงินแท้" กับการรื้อสร้าง ๒๔๗๕
การพิจารณากลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองหลังสงครามโลกนี้ เราสามารถจำแนกแยกแยะกลุ่มพันธมิตรแนวร่วมชาว "น้ำเงินแท้" ได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก เป็นอดีตนักโทษทางการเมืองในกรณีกบฏบวรเดช ๒๔๗๖ และการพยายามโค่นล้มรัฐบาล ๒๔๘๑๕๑ ทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ข้าราชสำนัก ขุนนางในระบอบเก่า
กลุ่มที่ ๒ คือ กลุ่มนักการเมืองฝ่ายนิยมระบอบเก่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่อุบัติขึ้นหลังสงครามโลก เช่น หลวงโกวิทฯ (นายควง อภัยวงศ์), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ได้เปิดโอกาสให้เชื้อพระวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้ามีตำแหน่งทางการเมืองได้ ทำให้เชื้อพระวงศ์หลายคนเข้ามาเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรี เช่น ม.จ.วิวัฒน์ไชย ไชยันต์, ม.จ.สิทธิพร กฤดากร
และกลุ่มที่ ๓ คือ กลุ่มนักหนังสือพิมพ์/นักเขียนสารคดีทางการเมือง เช่น "ไทยน้อย" (เสลา เรขะรุจิ),๕๒ "เกียรติ" (สละ ลิขิตกุล-สังกัดค่ายสยามรัฐ) (๒๔๙๓), "ฟรีเพรสส์" (๒๔๙๓), จรูญ กุวานนท์ (๒๔๙๓), วิชัย ประสังสิต (๒๔๙๒) ทั้งนี้นักหนังสือพิมพ์บางคนมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับชาว "น้ำเงินแท้" เช่น "ไทยน้อย" และชาว "น้ำเงินแท้" บางคนเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วย เช่น พระยาศราภัยพิพัฒ, หลวงมหาสิทธิโวหาร และหลุย คีรีวัต เป็นต้น
กลุ่มแรก คืออดีตนักโทษการเมือง ซึ่งเคยต่อต้านการปฏิวัติและคณะราษฎรนั้น ในช่วงเวลานี้แกนนำของพวกเขาได้มีบทบาทในทางการเมืองและเล่นบทปัญญาชนรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เช่น น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒ๕๓ สำหรับงานชิ้นแรกของเขา คือชีวิตของประเทศ ตีพิมพ์หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (เป็นการรวมบทความที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ในช่วงระบอบเก่ามาพิมพ์ใหม่) ต่อมาเขียนสารคดีท่องเที่ยวผนวกวิจารณ์การเมือง ชื่อฝันจริงของข้าพเจ้า และถูกจับฐานก่อการกบฏเมื่อปี ๒๔๗๖ ต่อมาในปี ๒๔๘๘ หลังได้รับการนิรโทษกรรม เขาเดินทางกลับมาไทยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนสารคดีและบทความทางการเมืองลงในหนังสือพิมพ์แนวหน้า และหนังสือพิมพ์อัจฉริยะ โดยลงพิมพ์เป็นตอนๆ ต่อมาได้มีการรวมพิมพ์ผลงานของเขาเป็นเล่มในปี ๒๔๙๑ ภายใต้ชื่อฝันร้ายของข้าพเจ้า และ ๑๐,๐๐๐ ไมล์ของข้าพเจ้า โดยสำนักงานไทยซึ่งเป็นของบุตรชายของเขา๕๔
แบบแผนการเขียน "รื้อ" การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของพระยาศราภัยพิพัฒนั้น จะพบว่า เขาจะไม่เขียนวิจารณ์บุคคลในคณะราษฎรมากเท่ากับวิจารณ์คณะราษฎรทั้งคณะ โดยเขามองว่าการปฏิวัติเป็นผลจากการกระทำร่วมกัน (collective action) ซึ่งคณะราษฎรทุกคนต้องรับผิดชอบต่อปัญหาทางการเมืองที่ตามมา ดังที่เขาสรุปว่า "การปลูกต้นเสรีภาพของรัฐบาลคณะราษฎรมาตั้ง ๑๒ ปีนับว่ามิได้ผลิดอกออกผลสมใจนึก ดังที่พลเมืองโห่ร้องอวยชัยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕"๕๕ ความสามารถและลีลาในการเขียน นักหนังสือพิมพ์เก่าอย่างเขานั้นทำให้การวิจารณ์ความ "ไร้ความชอบธรรม" ของคณะราษฎร และการเล่าถึงการกลั่นแกล้งที่อยุติธรรม ซึ่งทำให้เขาต้องพบกับความยากลำบาก ตลอดจนการบรรยายฉากการพยายามหลบหนีจากค่ายคุมขังนักโทษ สร้างความน่าเห็นอกเห็นใจและชวนติดตามจากผู้อ่านอย่างมาก
การสร้างคำอธิบายต่อตนเองของเขาได้ปรากฏในช่วงปี ๒๔๙๑ นั้น เขาเล่าว่า เขานั้นชื่นชมกับ "ประชาธิปไตย" มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ เขาได้ยกข้อเขียนที่เสนอให้สยามมีการปรับปรุงการปกครองในช่วงระบอบเก่าให้มีสภา๕๖ เป็นตัวอย่างความนิยมประชาธิปไตยของเขาก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕
วิธีการเล่าเรื่องในสารคดีการเมืองของชาว "น้ำเงินแท้" จากตัวอย่างงานของเขา จะเห็นว่าเป็นความพยายามสร้างคำอธิบายต่อกลุ่มของตนใหม่ในลักษณะว่าเป็น "นักประชาธิปไตย" ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมของคณาธิปไตยโดยคณะราษฎร และจะวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรโดยตั้งประเด็น "ความไม่เป็นประชาธิปไตย" ของรัฐบาลคณะราษฎร และพวกเขานั้นเคยยกกำลังทางการทหารเข้าเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่เพื่อจะสร้าง "ประชาธิปไตยที่แท้จริง" ขึ้นมา ตลอดจนพรรณนาถึงความยากลำบาก ทนทุกข์ทรมาน และความไม่ยุติธรรม การถูกกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาลคณะราษฎรจนทำให้พวกเขาต้องตกระกำลำบากที่ตะรุเตา ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็น "นักประชาธิปไตย"
อย่างไรก็ตามน่าสังเกตว่าคำอธิบายต่อตนเองในการเข้าร่วมกับกบฏบวรเดชในหนังสือของเขานั้น เขากลับอธิบายว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดช เช่น แม้เขาได้เคยจัดทำใบปลิวโจมตีคณะราษฎรในช่วงนั้นแต่ได้เปลี่ยนใจทำลายทิ้งเสียในเวลาในขณะที่กองทัพของพระองค์เจ้าบวรเดชยึดดอนเมืองได้ และต่อมาคณะราษฎรได้ปรักปรำเขา ทั้งนี้เขากล่าวหาว่าคณะราษฎรใช้เงินจ้างพยานเท็จให้ร้ายเขาจนทำให้เขาถูกลงโทษอย่างหนักและไม่เป็นธรรม๕๗
"การรื้อสร้าง ๒๔๗๕" :
คณะราษฎรในฐานะผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์
การกลับมามีบทบาททางการเมืองและการสร้างพันธมิตรทางการเมืองของชาว "น้ำเงินแท้" กับนักการเมืองฝ่ายค้านเพิ่มการโจมตีคณะราษฎรมากขึ้น๕๘ สำหรับบทบาทการรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายนิยมระบอบเก่า ในช่วงปี ๒๔๙๑ นั้น ได้มีการรวบรวมบทความของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่รื้อสร้างความหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และบทบาทของคณะราษฎรซึ่งเขียนลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย (ช่วงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๐) ในนาม "แมลงหวี่" เป็นเล่มชื่อเบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม ๑
"แมลงหวี่" ได้เริ่มต้น "รื้อ" การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่าเป็นการปฏิวัติที่ผู้ก่อการได้ใช้อำนาจเหนือกฎหมายเป็นขบถล้มอำนาจเจ้า ซึ่งคนไทยนั้นไม่พร้อม แต่สำหรับการ "ปฏิวัติ" ๒๔๙๐ นั้นที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติที่เป็นไปตามมติมหาชน๕๙ เขาเห็นว่าตั้งแต่หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ มา "ประชาชนไทยได้ผ่านยุคทมิฬของคนพาลและยุคหินชาติของคนถ่อย ที่สุดด้วยอภินิหารของสยามเทวาธิราช เราจึงได้ก้าวมาสู่ยุคแสงสว่างรำไร"๖๐ เขาได้กล่าวย้ำถึงแนวคิดในเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อเปรียบเปรยถึงอิทธิพลทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์ฯ กับกรณีสวรรคตอย่างลึกลับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลว่า เหมือนกับอิทธิพลของคอมมิวนิสต์กำลังแพร่เข้าไปในประเทศกรีกเป็นผลให้พระเจ้าแผ่นดินกรีกต้องสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระอาการลึกลับเช่นกัน๖๑ และเขาได้โจมตีหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาลของคณะรัฐประหารว่า เป็นพวก "เสียงท่าช้าง"
สำหรับการสร้างความหมายใหม่ให้กับระบอบเก่าในอดีตนั้น แมลงหวี่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องถ้าประชาชนไปเข้าใจว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ เพราะเขาเห็นว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว เขาเห็นว่า ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คือรัฐธรรมนูญของไทย เป็นสิ่งมีสง่าราศีกว่าแมคนาคาตาของอังกฤษ เพราะมิได้มาจากการบังคับเช่นอังกฤษแต่มาจากความสมัครใจของกษัตริย์ไทย๖๒ รวมความแล้ว เขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาช้านาน และเป็นก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เสียอีก ดังนั้นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ จึงเป็นการทำลายประชาธิปไตยแบบไทย ด้วยเหตุนี้เขาจึงเห็นว่าที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ นั้น มีลักษณะที่แปลก กล่าวคือ เป็นการขอพระราชทาน แต่แทนที่จะกำจัดตัดตอนพระราชอำนาจ กลับแสดงการถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์๖๓
หลังจากวิพากษ์การปฏิวัติและคณะราษฎรแล้ว "แมลงหวี่" เปิดบทที่ชื่อว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยได้ประเมินคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติของสิ่งที่คณะราษฎรทำกับพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์แต่ปางก่อนในประวัติศาสตร์ไทยที่เขาเชื่อว่ามีมากว่า ๖๐๐ ปีนั้น ว่ามิอาจเปรียบเทียบกันได้ หากจะเปรียบก็เป็นได้แค่เพียง "พระชั้นโสดากับพระอรหันต์"๖๔ และเขาเห็นว่า "พระปกเกล้าทรงเป็นกษัตริย์ที่มีหัวใจเป็นนักประชาธิปไตย...เป็นผู้ที่ดำริริเริ่มที่จะให้สยามได้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง...ทรงมีพระราชดำริที่พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยมาก่อน...ด้วยหลักฐานเหล่านี้ จึงพอจะกล่าวยืนยันได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยเป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่สยามจะได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ"๖๕
นอกจากนี้ "แมลงหวี่" ประเมินว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นไม่เหมาะสมกับเมืองไทย ดังนี้ "ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะการเอาโจร ๕๐๐ มาประชุมกับพระ ๕ องค์...ลงมติกันทีไร โจร ๕๐๐ เอาชนะพระได้ทุกที"๖๖ ดังนั้นสำหรับเขาผู้ที่ไม่ยอมรับผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักเสียงข้างมากว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" แบบใดกันที่เขาต้องการ หรือเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่อภิสิทธิ์ชนมีบทบาททางการเมือง "แมลงหวี่" ได้เฉลยคำตอบว่า "ประชาธิปไตย" ในความหมายในใจของเขา คือ "การปกครองโดยเสียงข้างมากที่เรียกว่าประชาธิปไตยจะต้องไม่ถือเอาเกณฑ์เสียงข้างมากเป็นสำคัญ"๖๗ (!!?) สุดท้าย เขาได้ประกาศจุดยืนทางอุดมการณ์การเมืองว่า เขาเป็น "คนมีหัวใจประชาธิปไตย แต่มีหัวใจนิยมพระมหากษัตริย์"๖๘
สำหรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ใช้นิยายเรื่องสี่แผ่นดินในการรื้อฟื้นอดีต และเพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมของสังคมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐของเขาในช่วงปี ๒๔๙๔-๒๔๙๕ นิยายเรื่องนี้ ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของหญิงชนชั้นสูงผู้หนึ่งนามว่า "พลอย" ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความงดงามในช่วงระบอบเก่า เขาให้ภาพชีวิตเจ้านายที่น่าพิสมัย แต่พลันทุกอย่างก็มลายสิ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ครอบครัวของพลอยที่เคยสงบสุขก็เผชิญกับปัญหา เกิดความสับสนวุ่นวาย ความขัดแย้งในการเมือง เกิดสงคราม เกิดการพลัดพราก ความโศกาอาดูรในนิยายขนาดยาวเล่มนี้สร้างความซาบซึ้งอย่างมากต่อผู้อ่าน และหลายครั้งที่ผู้เขียนใช้ปากของ "พลอย" แสดงความคิดเห็นทางการเมืองแทนผู้เขียนในลักษณะที่ว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วทุกอย่างมีแต่เสื่อมลง ในท้ายที่สุด เรื่องปิดฉากลงเมื่อตัวละครเอกตายพร้อมกับการสูญเสียพระมหากษัตริย์ของไทย งานชิ้นนี้ของเขาได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งมาก ตลอดจนถูกนำไปผลิตซ้ำในรูปของละครโทรทัศน์หลายครั้งในการครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจวบกระทั่งปัจจุบัน
การเมืองเรื่องเล่า :
ประชาธิปไตย ๑๗ ปี หาอะไรดีไม่ได้
สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่จัดได้ว่าเป็นพันธมิตรแนวร่วมกับชาว "น้ำเงินแท้" ในการรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ กลุ่มนักหนังสือพิมพ์/นักเขียนสารคดีการเมือง ที่ผลิตงานเขียนเล่าเรื่องทางการเมืองในช่วงนี้จำนวนมาก เช่น เลือดหยดแรกของประชาธิปไตย ของจรูญ กุวานนท์ (๒๔๙๓), ละครการเมือง ของจำลอง อิทธะรงค์ (๒๔๙๒), นักการเมือง สามก๊ก เล่ม ๑-๔ ของ "ฟรีเพรสส์" (๒๔๙๓), พงษาวดารการเมือง ของ "เกียรติ" (สละ ลิขิตกุล) (๒๔๙๓), ปฏิวัติ รัฐประหารและกบฏจลาจลในสมัยประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ของวิชัย ประสังสิต (๒๔๙๒), แม่ทัพบวรเดช (๒๔๙๒) ค่ายคุมขังนักโทษการเมือง (๒๔๘๘) โศกนาฏกรรมแห่งเกาะเต่า (๒๔๘๙) ของ "ไทยน้อย" (เสลา เรขะรุจิ)๖๙ และ ประชาธิปไตย ๑๗ ปี (๒๔๙๓) ของหลุย คีรีวัต เป็นต้น
งานชิ้นสำคัญของกลุ่มนี้ คืองานเขียนของหลุย คีรีวัต๗๐ อดีตบรรณาการกรุงเทพเดลิเมล์และอดีตนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช ในหนังสือชื่อประชาธิปไตย ๑๗ ปี ที่มองย้อนและประเมินการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ผ่านมา
เขาเริ่มต้นโดยการออกตัวปฏิเสธว่าเขามิใช่นักการเมือง ไม่สังกัดพรรคใด การเขียนหนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นจุดหมุนการหันกลับไปมองประเมินอดีตที่ผ่านมา ๑๗ ปี ของประชาธิปไตยที่ประหนึ่งความเปรียบของเขาที่ว่า "ไม่มีอะไรใหม่ในโลกนี้" เขาเริ่มต้นด้วยการสร้างความเชื่อมต่อของระบอบเก่าและระบอบใหม่ ด้วยการเชิดชูประวัติศาสตร์ และสรรพสิ่งที่ระบอบเก่าได้ยกให้เป็นมรดกแก่ประชาธิปไตย โดยเขายืนยันว่า "ในพิภพนี้ ไม่มีชาติใดประเทศใดที่รักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ได้ยั่งยืนเท่ากับประเทศไทย และตลอดเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระบอบนี้ ก็ได้รักษาความเป็นเอกราชสืบต่อมาไว้ให้เราตราบจนทุกวันนี้"๗๑ เขาย้ำว่า ไม่มีอะไรใหม่ในพิภพนี้ เขาใช้หน้ากระดาษจำนวนมากในการพรรณนาถึงคุณูปการที่ในอดีตที่เหล่ากษัตริย์ได้พัฒนาประเทศ เช่น การเลิกทาส การรักษาเอกราช ตลอดจนแก้ต่างให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า "พระมหากษัตริย์ทำอะไร คนภายนอกก็รู้เท่าไม่ถึงการ พากันเห็นไปว่าพระองค์ทรงทำเล่นๆ...ดุจเดียวกับที่พระองค์ทรงเล่นดุสิตธานีนั้น...เพราะมีจุดประสงค์จะสอนประชาธิปไตยให้ข้าราชบริพารต่างหาก"๗๒ และในทัศนะของเขานั้น หนังสือพิมพ์ในระบอบเก่ามีเสรีภาพมากกว่าปัจจุบัน (หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕) เพราะพระมหากษัตริย์ทรงรับฟังเสียงของหนังสือพิมพ์ ซึ่งเขาเรียกว่า "ประชามติ" เขาสรุปว่าเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ในระบอบเก่ามีมากกว่าสมัยประชาธิปไตย๗๓ นอกจากนี้เขาได้แก้ต่างให้ข้อครหาว่า การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ซื้อกรุงเทพเดลิเมล์ จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาทนั้น หาได้เกิดจากความเกรงกลัวหนังสือพิมพ์ไม่ แต่ทรงซื้อเพราะเพื่อการตอบแทน เนื่องจากกรุงเทพเดลิเมล์ได้ช่วยลงข่าวต่อต้านเยอรมนีตามพระราชประสงค์จนหนังสือพิมพ์ขาดทุน พระคลังข้างที่จึงมาช่วยซื้อไว้ มิใช่พระองค์ทรงเกรงกลัวหนังสือพิมพ์ตามคำครหา
หลุย คีรีวัต มีความภูมิใจในพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์มาก โดยเขายกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่เคยดำรัสว่า "พระเจ้าแผ่นดินไทยจะทรงบันดาลให้คนเป็นเทวดาก็ได้ จะบันดาลให้เป็นหมาก็ได้"๗๔ และเขาประเมินว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นนักประชาธิปไตย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นานก็จะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยให้๗๕ ในทัศนะของเขานั้น การดำเนินการต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ในช่วงท้ายระบอบเก่าได้เคลือบประชาธิปไตยไว้จนหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำการปฏิวัติเลย แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามวิวัฒนาการ๗๖
นอกจากนี้เขาได้ดำเนินการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบอบทั้งสองว่า รัฐบาลในระบอบเก่าสั่งการอะไร ราษฎรก็ปฏิบัติตามอย่างไม่เคยต่อล้อต่อเถียงกับพระบรมราชโองการเลย และไม่มีการคอร์รัปชั่น โดยเขายกตัวอย่างการแก้ไขความขาดแคลนข้าวหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนข้าวในหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของรัฐบาลสมัยหลวงประดิษฐ์ฯ และหลวงธำรงฯ ที่ไม่สำเร็จและจับคนทำผิดไม่ได้ เขาเปรียบเทียบว่า "นี่คือผลต่างระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตยและผลที่ประชาชนได้รับจะเทียบเคียงกันได้ไฉน และที่อวดอ้างว่าเป็นความเลวทราม อ่อนแอของสมบูรณาญาสิทธิ์จึงปฏิวัติกันมานั้น เดี๋ยวนี้พอประจักษ์กันหรือยังว่า ระบอบไหนเลวทรามกว่ากันแน่?"๗๗ เขาเรียกการปกครองหลังการปฏิวัติว่า เป็นสมัยประชาธิปไตยที่หาใช่ประชาธิปไตยไม่ และเป็นระบอบที่สถาปนาโดยพวกขบถ๗๘ เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เขาเห็นว่าหลังการปฏิวัติ เสรีภาพจอมปลอมระบาดไปทั่ว ประชาชนพากันสำลักเสรีภาพที่ฟุ้งเฟ้อขึ้นมาอย่างฉับพลัน คณะราษฎรก็ไม่ระงับความเสื่อมโทรมของศีลธรรมที่เกิดจากเสรีภาพ แต่กลับเพิกเฉยดูดาย เขาเห็นว่าศีลธรรมหลังการปฏิวัติเหมือนกับที่รัสเซีย ซึ่งเลนินได้ทำทุกอย่างให้เป็นของกลาง แม้แต่ผู้หญิงก็ขายประเวณีได้ตามใจชอบ๗๙
เขาชื่นชมกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก ที่ไม่มีความเป็นนักการเมือง สำหรับเขาแล้ว นักการเมืองนั้น หมายถึงคนที่ต้องหมุนรอบ ลิ้นตวัดถึงใบหู หรือเป็นลิ้นทอง ต้องเชิดความไม่จริงได้อย่างช่ำชอง สุดท้ายเขาสรุปว่า พระยามโนปกรณ์ฯ ต่างจากหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นนักการเมืองเต็มตัว๘๐ เขาประเมินว่าเป็นการโชคดีที่คณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ ส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามพระยามโนปกรณ์ฯ มากกว่าพระยานิติศาสตร์ไพศาลซึ่งเป็นพวกหลวงประดิษฐ์ฯ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ หาไม่แล้วคงเป็นเรื่องยุ่งอีกนาน๘๑ เขาเห็นว่าการปกครองของคณะราษฎรไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดกับเจตนาที่ทรงสละราชสมบัติฯ ที่ทรงหมายสละพระราชอำนาจให้ราษฎรทุกคน โดยเขาได้ใช้พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในแถลงการณ์สละราชย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการวิพากษ์คณะราษฎรเป็นครั้งแรกว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจของข้าพเจ้าที่มีอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมยกอำนาจทั้งหลายให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงโดยแท้จริงของประชาราษฎร"๘๒ สรุปแล้ว เขาเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นบิดาของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เขาได้มองและประเมินผลงานของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่า ได้สร้างแต่ปัญหาและไม่มีผลงานอะไรใหม่ เช่น เขาเห็นว่าการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการหลังการปฏิวัติที่เปลี่ยนจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัดเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำที่สร้างความโกลาหลในการปกครอง และทำให้โจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้น๘๓ สำหรับนโยบายต่างประเทศนั้นเขาเห็นว่าหลังการปฏิวัติได้ดำเนินนโยบายต่างไปจากสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงคบมิตรเก่าๆ อย่างชาติตะวันตก การหันเหไปนิยมญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นเหตุให้ประเทศเข้าสู่ "วงฉิบหายในเอเชียอาคเณย์"๘๔ เขาเห็นว่าความเจริญของประเทศเกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถของชาวตะวันตกที่ให้คำปรึกษา และตั้งแต่ไทยมีนโยบายต่างประเทศเข้าใกล้ญี่ปุ่นทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นมากและไทยก็ยอมเป็นลูกน้องญี่ปุ่นเพื่อขัดกับฝรั่งนั้น เขาสรุปว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่เลวทรามที่สุดของประชาธิปไตย๘๕ เขาเห็นว่าการเดินทางไปแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตกของหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นงานสามัญธรรมดาและเป็นการท่องเที่ยวเสียมากกว่า เพราะการแก้ไขเหล่านี้เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แล้ว๘๖ อีกทั้งการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นก็ทำมาตั้งแต่สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แล้วเช่นกัน เขาเห็นว่าไม่มีอะไรใหม่หลังการปฏิวัติ คณะราษฎรเป็นเพียงผู้สานต่อเท่านั้น เขาวิจารณ์ว่าการที่รัฐบาลฟ้องร้องพระคลังข้างที่และยึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้นเป็นการทำลายหัวใจของคนทั้งชาติเป็นผลงานที่งามหน้าของพระยาพหลฯ และมันสมองอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ที่ได้รับการเทิดทูนว่าเป็นเชษฐบุรุษ และรัฐบุรษ๘๗
เขาเห็นว่า หลังการปฏิวัติ คณะราษฎรพยายามทำทุกวิถีทางในการทำลายศีลธรรมจรรยาและประเพณีของพลเมืองด้วยการยุแยงตะแคงบอน โดยคณะราษฎรอ้างว่าเมื่อปฏิวัติการเมืองแล้วต้องปฏิวัติทางจิตใจด้วย แต่เขาเห็นว่าเป็นการทำเลียนแบบรัสเซียเพื่อให้ชนชั้นต่ำมาเป็นพวก การแต่งกายนุ่งผ้าม่วงถุงน่องรองเท้าที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและอันมีค่า คณะราษฎรก็หาว่าเอามาจากเขมรและอินเดีย แต่กลับอนุญาตให้นุ่งกางเกงจีนและกางเกงขาสั้นใส่รองเท้าแตะไปออฟฟิศกัน ตลอดจนการเปลี่ยนเครื่องแบบทหารที่เคยสง่าภูมิฐานก็ปลดบ่าอินทรธนูลงเป็นเหมือนทหารแดง สำหรับพวกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำก็แต่งกายสวมเสื้อคอปิดและนุ่งกางเกงขายาวสีขาวเหมือนบ๋อยไหหลำ๘๘ เขาเห็นว่าหลังการปฏิวัติได้มีการทำลายความสง่างามของโบราณราชประเพณีที่เคยโอ่โถงมีพิธีรีตองถูกงดลงจนหมดสิ้น ช่วงชั้นของภาษาที่ปฏิบัติกันมานานในการเคารพผู้ใหญ่ก็กลายเป็นฉันและเธอ๘๙
สำหรับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่หลังการปฏิวัตินั้น เขาเห็นว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นเสมือนเครื่องจักรในการผลิตบัณฑิตเหมือนการผลิตเม็ดยา ไม่มีการกำหนดพื้นความรู้ของผู้เข้าเรียน ขอแต่เพียงมีเงินจ่ายก็สามารถเข้าเรียนได้ เพียงปีเดียวมหาวิทยาลัยก็มีนักศึกษานับหมื่นโดยใช้อาคารสถานที่ดัดแปลงให้เป็นตึกโดมเหมือนกรุงมอสโก๙๐ ผิดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีกฎเกณฑ์เลือกเฟ้นผู้เข้าศึกษามากมาย
นอกจากนี้เขาได้กล่าววิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งแรกมีแต่ความเหลวแหลก๙๑ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลของการยกทหารหัวเมืองมา เขาเห็นว่าบทบาทของพวกเขานั้นเป็นการต่อสู้เพื่อ "ฝังหมุดประชาธิปไตย" ที่แท้จริงตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในแถลงการณ์สละราชสมบัติ อันพวกสะเก็ดนักปฏิวัติทั้งโขยงจะหักล้างมิได้๙๒
สำหรับเขาแล้ว เขาไม่พอใจกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่มาก เขาเห็นว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกและแห่งเดียวที่ไม่มีความหมายอะไรที่จะไปจดจำ ซึ่งต่างไปจากอนุสาวรีย์ของกษัตริย์แห่งอื่นๆ เพราะมันเป็นความทรงจำของการรบของชนชาติเดียวกัน ทหารที่ตายก็มิได้แสดงความกล้าหาญแต่ประการใด ซึ่งไม่มีพลังความอันใดเลย นอกจากนี้เขาได้ลดทอนความหมายของอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วยการยกตัวอย่างการสร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้นเพื่อเชิดชูความกตัญญูขึ้นเทียบเคียง แต่สำหรับอนุสาวรีย์ที่หลักสี่นี้มีความหมายเพียงหลักหมายของสัปปุรุษที่ไปงานวัด เขาเล่าว่าเขาพยายามคิดหาเหตุผลของการมีอยู่ของอนุสาวรีย์นี้หลายตลบก็หามีความหมายอันใดไม่ เขาท้าว่ามีใครบ้างที่ไปกราบไหว้นอกจากทหารที่ต้องวางพวงมาลาปีละครั้ง ดังนั้นสำหรับเขาแล้ว อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงเป็นเพียงการยืนยันถึงความเคียดแค้น และเป็นเพียงสถานที่ที่โจรผู้ร้ายใช้เป็นพื้นที่จี้ปล้นเท่านั้น๙๓
นอกจากนี้สำหรับหมุดคณะราษฎรที่ตอกจารึก ณ ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น เขาก็ไม่ชอบใจเช่นกัน เขาบันทึกล้อเลียนข้อความหมุดคณะราษฎรว่า "ในวันนั้นและที่นั้น พันเอก พระยาพหลฯ หัวหน้าขบถได้หลอกลวงทหารเหล่าต่างๆ ในกรุงเทพ ให้มารวมกันและได้ยืนขึ้นประกาศระบอบประชาธิปไตย"๙๔ และสุดท้ายเขาได้ให้ฉายาหัวหน้าคณะราษฎร (พระยาพหลฯ) ว่า "หมูห่มหนังราชสีห์ออกนั่งแท่น"๙๕
นอกจากนี้เขาพยายามแยกสลายการผูกความหมายของการปฏิวัติไทยกับฝรั่งเศสว่ามีความต่างกันและเขาพยายามจับคู่ความหมายให้ผิดแผกออกไป เขาเห็นว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นเกิดจากเหล่าอำมาตย์ส่วนใหญ่ในยุคพระเจ้าหลุยส์ได้กดขี่ประชาชน แต่สำหรับสยามไม่มีอำมาตย์ที่กดขี่ประชาชน ประชาชนสยามอยู่ดีกินดี เคารพพระมหากษัตริย์ มีแต่อำมาตย์ส่วนน้อยเท่านั้นที่เนรคุณขบถต่อพระมหากษัตริย์ และเขาได้เชื่อมโยงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ (ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการปราบปรามฝ่ายต่อต้านระบอบใหม่) เข้ากับการเรียกร้องสิทธิของประชาชน โดยเขาดำเนินการเปรียบว่าอนุสาวรีย์นี้เทียบไม่ได้กับอนุสาวรีย์ที่บาสติลหรือเลนินในความหมายของการเรียกร้องสิทธิของประชาชน
อย่างไรก็ตามในหนังสือเล่มนี้หลุยปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชว่า คณะของเขา (ซึ่งมีพระยาศราภัยพิพัฒ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ไม่รู้จักกับพระองค์เจ้าบวรเดช ตราบเท่าทุกวันนี้ (๒๔๙๓) แต่พวกเขากลับถูกคณะราษฎรกล่าวหาว่าไปสมคบคิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช๙๖ นั้น ข้อความในลักษณะเช่นนี้ อาจสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาว "น้ำเงินแท้" ที่เขียนสารคดี "รื้อ" การปฏิวัติ ๒๔๗๕ และคณะราษฎร พร้อมประกาศพวกตนเป็น "นักประชาธิปไตย" ที่ต่อสู้กับคณาธิปไตยนั้น เป็นความพยายามหนึ่งในการรื้อสร้างการปฏิวัติ พร้อมกับการสร้างความหมายใหม่ให้ชาว "น้ำเงินแท้" เป็น "นักประชาธิปไตย" ทั้งนี้การรื้อสร้างความหมายและพยายามอธิบายตนเองใหม่ของชาว "น้ำเงินแท้" เหล่านี้ซึ่งพบได้มากมายในงานของพวกเขา และต่อมาได้ถูกนำไปเป็นแนวทางในการรับรู้อดีตที่กลับหัวกลับหางของคนรุ่นหลังต่อ "วีรกรรม" ของกบฏบวรเดชและชาว "น้ำเงินแท้" เพื่อเปรียบเทียบ "ทุรกรรม" ของคณะราษฎร "เผด็จการคณาธิปไตย" ที่ช่วงชิงพระราชอำนาจไป
๒๔๗๕ กับแรงปฏิวัติที่อ่อนล้า
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แต่เพียงมีงานรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของชาว "น้ำเงินแท้" แต่เพียงกลุ่มเดียว ในช่วงเวลานั้นยังมีงานเขียนประเภทบันทึกความทรงจำจากเหล่าคณะราษฎรจำนวนหนึ่งที่ได้เขียนหรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการปฏิวัติ เช่น เบื้องหลังการปฏิวัติ (มีนาคม ๒๔๙๐) ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่สัมภาษณ์พระยาพหลฯ แผนการปฏิวัตรเล่าโดย พล.ต. พระประศาสน์พิทยายุทธ์ ของจำรัส สุขุมวัฒนะ (๒๔๙๑) ที่ได้สัมภาษณ์พระยาประศาสน์พิทยายุทธ์ และชีวิตปฏิวัติ ของขุนศรีศรากร (๒๔๙๓) บันทึกพระยาทรงสุรเดช (๒๔๙๐) ถูกพิมพ์เผยแพร่เช่นกัน
สำหรับหลังปี ๒๕๐๐ แล้ว มีงานชีวิตและการต่อสู้ทางการเมืองพระยาฤทธิอาคเนย์ ของเสทื้อน ศุภโสภณ ที่ได้สัมภาษณ์พระยาฤทธิ์ฯ (๒๕๑๔) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ของอนันต์ พิบูลสงคราม (๒๕๑๘-๑๙) ซึ่งเป็นงานเขียนของบุตรชายของเขา อย่างไรก็ตามสาระในงานความทรงจำเหล่านี้ส่วนมากเป็นการบันทึกเหตุการณ์ถึงใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ในการปฏิวัติ และหากจะมีการกล่าวถึง "กบฏบวรเดช" ก็เป็นการเล่าเหตุการณ์มากกว่าการประเมินหรือวิจารณ์อย่างรุนแรงหากเปรียบเทียบเท่ากับที่ชาว "น้ำเงินแท้" ปฏิบัติต่อการปฏิวัติ ๒๔๗๕
อย่างไรก็ตามท่ามกลางการหมุนวนของข้อมูลและความหมายจากการรื้อสร้างการปฏิวัติ พร้อมกับขบวนการรื้อสร้างของชาว "น้ำเงินแท้" และพันธมิตรแนวร่วมทวีจำนวนมากขึ้น ในเชิงเปรียบเทียบแล้วงานเขียนรื้อสร้างจากเหล่าชาว "น้ำเงินแท้" นั้นมีลีลาซาบซึ้งกินใจ น่าเห็นอกเห็นใจและมีจำนวนมากกว่างานจากคณะราษฎรมาก แต่คณะราษฎรจำนวนมากที่ยังอยู่ในประเทศกลับเพิกเฉย และค่อยๆ ร่วงโรยจากไปทีละคน (อาจเป็นไปได้ที่พวกเขาสิ้นอำนาจและโครงสร้างและบริบททางการเมืองในขณะนั้นไม่เอื้อให้พูดอีก) มีแต่เพียงงานเขียนของหลวงประดิษฐ์ฯ (ในขณะนั้นเขาอยู่ที่ฝรั่งเศส) เท่านั้นที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุและความหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ตลอดจนพยายามต่อสู้ในเชิงความหมายกับกระบวนการรื้อสร้างของชาว "น้ำเงินแท้" และกลุ่มพันธมิตรแนวร่วมตราบจนเขาสิ้นชีวิตเมื่อปี ๒๕๒๖
ในช่วงหลังปี ๒๕๑๖ มีความพยายามในการรื้อฟื้นภาพลักษณ์ของคณะราษฎรผ่านหลวงประดิษฐ์ฯ จากนิสิตนักศึกษาและกลุ่มของสุพจน์ ด่านตระกูล แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ทุกอย่างก็ปิดฉากลง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการประวัติศาสตร์กลางทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ก็ได้เริ่มผลิตผลงานวิชาการทั้งตำรา วิทยานิพนธ์ และบทความในการประเมินภาพการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในทางบวกมากขึ้น ตลอดจนการเปิดกว้างของวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยและวารสารกึ่งวิชาการที่ให้ความสำคัญ กับการทบทวนภาพการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ใหม่ การเคลื่อนไหวทางปัญญาเหล่านี้มีผลในการฟื้นพลังแห่งความหมายของการปฏิวัติที่เคยถูกทำลายอย่างมีกระบวนการโดยชาว "น้ำเงินแท้" และพันธมิตรแนวร่วม ให้กลับมีพลังขึ้นมาบ้าง ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของระบอบการเมืองไทยในยุคปัจจุบันที่อ้างว่า "ไม่เหมือนใคร" ในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือกันเป็นสากล แต่ระบอบการเมืองนี้มุ่งแต่จำกัดอำนาจและให้ความสำคัญต่ำกับสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน แต่กลับพยายามเพิ่มอำนาจและเพิ่มความหมายให้กับสถาบันการเมืองอื่นที่มิได้มาจากการเลือกตั้งให้มากขึ้น จนกลายเป็นระบอบการเมืองกลายพันธุ์
ฝันจริงของชาว "น้ำเงินแท้" และฝันร้ายของคณะราษฎร
กระบวนการรื้อสร้าง ๒๔๗๕ ในงานเขียนของชาว "น้ำเงินแท้" และพันธมิตรแนวร่วมที่ทำดูเสมือน "เป็นเสรีนิยมและประชาธิปไตย" ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยเริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อชาว "น้ำเงินแท้" ได้รับการนิรโทษกรรม เขาเหล่านั้นได้เข้ามามีบทบาททั้งทางการเมือง ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ นักรัฐประหาร ผนวกกับกลุ่มอื่นๆ ในเวลาต่อมาจนนำไปสู่การพลิกความหมาย (คณะราษฎรกลายเป็นบรรพบุรุษของเผด็จการทหารที่ต้องโค่นล้มพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ความเป็นตัวแทนของความเป็นประชาธิปไตยและอุดมการณ์ของกบฏบวรเดช คือจุดเริ่มต้นของขบวนการประชาธิปไตยในการต่อสู้กับคณาธิปไตยเผด็จการที่นิสิตนักศึกษาใช้เป็นแบบอย่างและสืบทอดเจตนารมณ์) กลายเป็นพลังในการโค่นล้มรัฐบาลทหารในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผลพวงจากปฏิบัติการเหล่านี้ได้ก่อตัวและคลี่คลายไปยังความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มองการปฏิวัติและคณะราษฎรในเชิงลบมากขึ้นในเวลาต่อมา๙๗
หากเราจะแบ่งกลุ่มการร่วมรื้อสร้างแล้ว สามารถแบ่งงานเขียนกว้างๆ ได้ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มร่วมรื้อสร้างจากเคยได้รับผลร้ายโดยตรง เช่น พวก "รอยัลลิสต์" และพันธมิตรแนวร่วม อาทิ งานเขียนของชาว "น้ำเงินแท้" นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนสารคดี ที่ผลิตงานเขียนตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ และถูกผลิตซ้ำจำนวนมากในช่วงปี ๒๕๑๐ ส่วนกลุ่มที่ ๒ นั้นร่วมรื้อจากแง่มุมวิชาการ ตำรา และวิทยานิพนธ์ทางรัฐศาสตร์ในช่วงทฤษฎีการพัฒนาการเมืองเฟื่องฟู๙๘ และวิทยานิพนธ์ที่ทำในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐-๒๕๒๐ (ที่มองว่าบทบาทของทหารเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย และตีความว่าคณะราษฎรคือกำเนิดของพลังอำมาตยาธิปไตย) และตำรา๙๙ วิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ทำในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐-๒๕๒๐ เป็นต้น ตลอดจนการปัดฝุ่นรื้อฟื้นงานเขียนเก่าๆ ทั้งนิยายและสารคดีการเมืองของเหล่าชาว "น้ำเงินแท้" ที่เคยพิมพ์เผยแพร่เมื่อครั้งปี ๒๔๙๐ นั้นออกมาผลิตพิมพ์ซ้ำโดยเฉพาะอย่างในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ อย่างมากมาย๑๐๐ ตลอดจนงานเขียนทั้งความทรงจำและบทความทางการเมือง นิยาย อีกทั้งงานวิจัย วิทยานิพนธ์จำนวนมากมายมหาศาลที่ล้วนมองและประเมินการปฏิวัติและบทบาทของคณะราษฎรในแง่ลบและเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย
นอกจากนี้ความไม่ตระหนักในการรื้อสร้าง ๒๔๗๕ จากชาว "น้ำเงินแท้" ของคณะราษฎร๑๐๑ ตลอดจนการหมดสิ้นอำนาจของคณะราษฎร มีผลให้กระบวนการบ่อนเซาะความชอบธรรมของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ จากชาว "น้ำเงินแท้" ได้วางรากฐานให้กับระบอบการเมืองกลายพันธุ์ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามกว่าจะมีการตระหนักรู้ถึงกระบวนการรื้อสร้างนั้น อาการหมดสิ้นความหมายก็เข้ารุมเร้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และคณะราษฎรจนแทบกู้เกียรติและกู้ระบอบไม่ขึ้น การรื้อสร้างจากการเมืองเรื่องเล่าเหล่านี้ได้รื้อสร้างความหมายเดิมและสร้างความหมายใหม่ในลักษณะกลับหัวกลับหาง อันเป็นรากฐานของความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่นำไปสู่ระบอบการเมืองกลายพันธุ์
ตลอดจนการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้สูญเสียสถานะ ความหมาย และความชอบธรรมในความรับรู้และความทรงจำของผู้คนอันนำไปสู่เรื่องเล่าอื่นที่เป็นอภิมหาอรรถกถาครอบจักรวาลที่ทำให้สรรพสิ่งในระบอบนี้ล้วนมีผู้ครอบครองมาก่อน ซึ่งหาใช่โลกของคนสามัญธรรมดาตามระบอบประชาธิปไตยไม่
ขอบคุณ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ครูที่สอนให้ข้าพเจ้ารู้ว่าการได้คิดเป็นภาวะบรรเจิดเพียงใด ผศ.ดร.พิษณุ สุนทรารักษ์ ที่ให้ความกรุณาทุกครั้งกับศิษย์คนนี้ และ ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี ผู้ที่ทำให้ห้องเรียนกลายเป็นที่คุ้นเคยอีกครั้ง ขอบคุณสำหรับคำพร่ำสอนที่ไม่รู้เหน็ดเหนื่อยที่ให้กับข้าพเจ้าของ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ และอาจารย์ศิวะพล ละอองสกุล ตลอดจนกับ ผศ.ร.ท.เทอดสกุล ยุญชานนท์ และ รศ.วีณา เอี่ยมประไพ ที่ให้ความเมตตาข้าพเจ้าเสมอมา ขอบคุณคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว ที่กระตุ้นให้ข้าพเจ้าล้วงลงไปควานหาความรู้สึกที่มีต่อระบอบการปกครองร่วมสมัย ขอบคุณนักวิชาการและผู้รักในความรู้ทุกคนที่บุกเบิกให้การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เปล่งประกายความหมายอีกครั้ง และมิตรภาพของจีรพล เกตุจุมพล ทวีศักดิ์ เผือกสม และธนาพล อิ๋วสกุล ที่มอบให้ข้าพเจ้า ขอบคุณแม่ของข้าพเจ้าที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่ารักของแม่ยิ่งใหญ่เสมอ และสุดท้าย พีรญา มานะสมบูรณ์ ผู้ที่เป็นกำลังใจให้ข้าพเจ้า หากบทความนี้มีประโยชน์อยู่บ้างขอเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่มีถึงจิตใจที่กล้าหาญของคณะราษฎรที่หาญกล้านำการปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพื่อนำแสงสว่างแห่งระบอบใหม่มาให้คนไทยทุกคน แม้ว่าชื่อและวีรกรรมของพวกเขาจะถูกลบเลือนไปกับมรสุมการเมือง
ณัฐพล ใจจริง
ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 27 ฉบับที่ 02
เชิงอรรถ
ที่มา : http://www.geocities.com/roy_bilan222/article_9.htm
หมายเหตุ
การเน้นข้อความเปนไปตามความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเอง
วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551
"การรื้อสร้าง ๒๔๗๕" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้"
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:45 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น