วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

The king never smiles : A Biography of Thailand' Bhumibol Adulyadej


โดย : ส.ศิวรักษ์


ในช่วงเวลากว่า 60 ปี แห่งการเจริญสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหนังสือตีพิมพ์ในต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษสามฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์เองและพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล และล้วนเป็นหนังสือต้องห้ามในไทยทั้งสิ้น ซึ้งนับว่าน่าเสียดายแม้ว่าเราอ้างตนเป็นพุทธาณาจักร ซึ่งยึดมั่นกับหลักประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม

พระพุทธองค์สอนให้เราน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งปวง หากคำวิจารณ์นั้นไม่มีมูลความจริง เราก็พึงแก้ไขตนเองให้สอดคล้องกับคำตักเตือนนั้น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทราช พระองค์เองตรัสว่าใครก็สามารถวิจารณ์พระองค์หรือรัฐบาลของพระองค์ได้ ถ้าสิ่งที่เขากล่าวไม่เป็นความจริง ก็ย่อมไม่มีใครใสใจเขาเอง แต่ถ้าคำวิจารณ์ของเขาเป็นไปในทางสร้างสรรค์เราก็พึงรับฟังเขาอย่างตั้งใจ เพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงตนเองได้

ในตอนนี้ดูเหมือนเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เราต้องการประกาศพุทธศาสนาประจำชาติ แต่เรากลับไม่รับฟังคำสอนของพระพุทธองค์ หรือคำสอนของพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้เป็นกษัตริย์องค์สุดแรกใต้รัฐธรรมนูญ หนังสือทั้งสามเล่มที่กล่าวถึงได้แก่ The Devil's Discus ของ Rayne Kruger (London ๑๙๖๔ ) The Revolutionary King ของ William Stevenson ( London ๑๙๙๙ ) และ The King Never Smiles; A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej ของ Paul Handley (Yale University Press ๒๐๐๖)

หนังสือของ Kruger เป็นการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ พระเชษฐาธิราชของรัชกาลปัจจุบัน ผู้เขียนให้ข้อมูลความเป็นมาซึ่งเป็นประโยชน์ ของสยามประเทศ ก่อนที่จะกล่าวถึงชีวิตและการสรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ ซึ่งผู้เขียนพยายามพิสูจน์ว่าเป็นการปลงพระชนม์ด้วยพระองค์เอง แม้ว่าคนส่วยมากจะเชื่ออีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนมีแรงจูงใจสำคัญในความพยายามให้เกิดการประนีประนอมระหว่างวังกับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่เกิดเหตุการณ์สวรรคต เขาไม่ประสบความสำเร็จในความประสงค์เช่นนั้น ตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกมา ข้าพเจ้ายังเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อว่านายปรีดีเกี่ยวข้องกับการปรงพระชนม์ และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์อย่างรุนแรง เป็นการวิจารณ์ทั้งผู้เขียนและนายปรีดี และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเป็นที่ชื่นชอบในแวดวงเจ้าขุนมูลนาย เป็นธรรมดาที่นายปรีดีต้องโกรธข้าพเจ้ามาก จากนั้นข้าพเจ้าก็ไถ่บาปด้วยการเขียนหนังสือเกี่ยวกับนายปรีดีซึ่งมีการแปรเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Powers That Be:Pridi Banomyong through the Rise and Fall of
Thei Democracy
รวมทั้งในภาษาอื่นๆด้วย

หนังสือของ Stevenson พยายามพิสูจว่าเป็นเหตุการณ์ลอบปรงพระชนม์โดยสายลับชาวญี่ปุ่นชื่อ ทสึจิ มาซาโนบุ แต่ไม่น่าเชื่อถือเอาเลย เป็นหนังสือที่เขียนไม่ดี เต็มไปด้วยข้อมูลผิดพลาด แต่อย่างน้อยก็เป็นกระบอกเสียงอย่างแท้จริงของพระเจ้าอยู่หัว และด้วยการอ่านหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นบุคคลผู้โดดเดี่ยวและไม่ไว้วางใจใคร

หนังสือของ Handley มีชื่อรองว่า "ชีวประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย" ซึ่งอันที่จริงได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของรัชกาลนี้ ทั้งในแง่ชีวิตและผลงานของพระองค์ ชีวประวัติที่ดีในจารีตตะวันตกต้องเปิดเผยถึงความสัตย์จริงให้มากที่สุด เป็นเหตุให้ทางราชวงศ์ให้ข้อมูลลับมากมายต่อผู้เขียน แม้จะสะท้อนถึงด้านมืดของบุคคลเหล่านั้น ข้าพเจ้าพบว่าชีวประวัติที่ดีเป็นสิ่งจรรโลงใจ โดยเฉพาะชีวประวัติของ Stephen Spender และ Lsiah Berlin หากผู้เขียนชีวประวัติมุ่งสรรเสริญบุคคลที่เขาเขียนถึงเพียงด้านเดียว ก็ถือได้ว่าเป็นงานเขียนในเชิงยกย่องสรรเสริญซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในไทยโดยเฉพาะหนังสือที่ตีพิมพ์และแจกจ่ายในงานศพ แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์อยู่ แต่ก็ยังมีการตีพิมพ์หนังสือสรรเสริญพระเกียรติคุณเป็นภาษาอังฤษในชื่อว่า King Bhumibol: Strength of the Land ซึ่งจะมีการแปลออกเป็น ๘ ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย โดยผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ ข้าพเจ้าสงสัยว่าหนังสือเช่นนี้จะมีประโยชน์ต่อใคร ไม่ต้องพูดถึงเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้เพื่อการนี้ ซึ่งมาจากภาษีอากรทั้งสิ้น

Handley ให้รายละเอียดอย่างครอบคลุมในประเด็นที่เขาเขียนเขาไม่เพียงพึ่งแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ แต่ยังมีแหล่งข้อมูลภาษาไทยด้วย ทั้งที่เป็นเอกสารและคำพูด เขาไม่เพียงเขียนถึงประเด็นการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล แต่ยังเชื่อมโยงคณะสงฆ์เข้ากับรัฐเพื่อชี้ให้เห็นว่าราชวงศ์ได้ใช้คณะสงฆ์เพื่อประโยชน์ของตนอย่างไร อันเป็นเหตุให้คณะสงฆ์กระแสหลักในปัจจุบันกลายเป็นองคาพยาพส่วนหนึ่งของวัง

ผู้เขียนมีความรู้มากมายเกี่ยวกับราชวงศ์และกิจการต่างๆ ในราชวงศ์จักรี แต่ก็ให้ข้อมูลที่สับสนอยู่บ้าง และยิ่งแสดงภูมิรู้มากเท่าใด เขาก็แสดงข้อผิดพลาดมากเท่านั้น อย่างเช่น กรณีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เป็นลูกพี่ลูกน้อง สกุลดิศกุล เทวกุลและกฤดากร ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าฟ้า เมื่อครั้งเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ดำรงตำแหน่งพระสมเด็จ พระวันรัต ไม่ใช่สมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่การวิเคราะห์กรณีพระพิมลธรรมของเขา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะเขาพูดถึงกรณีที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยไปปฏิบัตสมาธิภาวนากับพระพิมลธรรม ในช่วงที่มีการประหารชีวิตจำเลยสามคนในคดีลอบปลงพระชนม์ พระองค์เสด็จไปเจริญสมาธิภาวนาเพื่อไถ่บาปและแผ่ส่วนกุศลให้กับพวกเขาหรือไม่ โดยเฉพาะนายเฉลียว ประทุมรส อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในหนังสือ The Revolutionary King พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับนายปรีดี แต่พระองค์ก็ไม่ได้กระทำการใดเพื่อช่วยชีวิตพวกเขา หรือยกย่องเกียรติต่อบุคคลใดยกเว้นแต่สมาชิกในราชวงศ์

Handley ให้ข้อมูลสอดคล้องกับ Stevenson ว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยเชื่อใจใคร พระองค์ถือว่าข้าราชบริพารและเหล่านายพลเท่านั้นที่เป็นพวก และทรงดูถูกนักการเมือง เว้นแต่พวกที่ศิโรราบให้กับพระองค์โดยสิ้นเชิงอย่างนายธานินท์ กรัยวิเชียนและเปรม ติณสูลานนท์ เป็นที่ยืนยันว่าพระองค์ชอบระบอบการปกครองที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ โดยที่เป็นระบอบปกครองเผด็จการแบบทหาร ดังเช่นประเทศพม่าภายใต้นายเนวินและ SLORC มากยิ่งกว่าระบอบประชาธิประไตยซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นของฝรั่ง พระองค์เห็นว่านางอองซานซูจี ควรอยู่กับสามีและลูกที่อังกฤษ และไม่ควรมาข้องเกี่ยวกับการเมืองในประเทศของเธอเองเลยในทำนองเดียวกับนิสิตนักศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนไทยก็ไม่ควรมายุ่งกับการเมือง หรือทำตัวขัดขวางการพัฒนาประเทศ พระองค์เห็นว่าเขื่อนขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะทำให้คนยากจนลง เดือดร้อน ทำให้คนจนต้องเสียสละให้กับการพัฒนาประเทศ

ตามข้อมูลในหนังสือ พระองค์อ้างตนเองว่าเป็นบุคคลเดียวที่ใส่ใจอย่างแท้จริงต่อพสกนิกร และให้ความช่วยเหลือพวกเขาโดยเฉพาะชนเผ่าทั้งหลายรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ในขณะที่ภาครัฐมักไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน และยังมองว่าข้าราชการทั้งหลายมักกดขี่บีฑาพสกนิกรของพระองค์ มากกว่าการรับใช้พวกเขาข้าพเจ้ามีข้อสงสัยต่อข้อมูลบางอย่างที่ Handley นำเสนอ อย่างเช่น เรื่องที่จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องการขึ้นเป็นองค์มนตรี หรือเรื่องที่หลวงอดุลเป็นองค์มนตรีเพียงในนามแต่ไม่เคยเข้าร่วมประชุมเลย ข้าพเจ้าทราบดีว่าหลวงอดุลมีบทบาทสำคัญในคณะองค์มนตรี ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกพฤฒสภานั้น นายเดือน บุนนาค เป็นคนละคนกับเจ้าพระยาพิชัยญาติ ซึ่งมีชื่อเดิมว่านายดั่น บุนนาค

เป็นที่ประหลาดใจว่าผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลที่ว่า ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตตัน ขัดขวางแผนการที่จะส่งพระเจ้าอยู่หัวไปรับการศึกษาที่อังกฤษ โดยอ้างว่าพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตของพระเชษฐาธิราชซึ่งข้อมูลในเรื่องนี้มีการเผยแพร่บ้างแล้ว

หนังสือแบ่งเป็น ๒๒ บท เริ่มจากช่วงประสูติไปจนถึงการตั้งคำถามกับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ภายหลังรัชกาลปัจจุบัน ผู้เขียนยังให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา เพื่อชี้ให้เห็นอิทธิพลของธรรมราชาต่อราชวงศ์จักรีซึ่งเราเชื่อในทฤษฎีนี้ โดยไม่เพียงเป็นผลจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาแต่มีอิทธิพลมาจากปกรณัมเรื่องเทวราชาของศาสนาฮินดูแล้วเรายอมเชื่อว่าบุคคลหนึ่งอยู่เหนือกว่าคนอื่นได้ เราย่อมคบค้าสมาคมกับนายพลและเผด็จการที่ฉ้อฉล ด้วยเหตุที่เขาอ้างว่าสิ่งที่ตนทำไปก็เพื่อปกปักคุ้มครองชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พวกเขาอาจเชื่อว่าผู้ที่เป็นตัวแทนพุทธศาสนาได้แก่คนอย่างพระกิตติ วุฒโฑ ซึ่งไม่เพียงนิยมความรุนแรง แต่ยังรับใช้สถาบันกษัตริย์และชาติ (ทหาร) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งสมัยนั้นประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนและปัญญาชน ซึ่งพยายามเสนอทางเลือกออกจากระบอบปกครองฝ่ายขวาที่อยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดิอเมริกัน

ผู้เขียนกล่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวมักเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าพระองค์เข้าใจประชาชนเหล่านั้นจริงหรือ สิ่งที่พระองค์ให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจไม่ช่วยให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น

หนังสือเล่มนี้ทำให้พวกเราเข้าใจได้ว่าเหตุใดที่หน้าตึกรัฐสภา เราจะเห็นแต่อนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๗ แต่ไม่มีอนุสาวรีสำหรับบุคคลผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเลย ทางการมักจะอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสมเด็จพระปกเกล้าทรงยินยอมสละราชอำนาจของพระองค์ให้กับประชาชน ส่วนสมาชิกคณะราษฏรเป็นเพียงพวกฉวยโอกาสและเราไม่พึงให้ความเคารพ เป็นเหตุให้นายปรีดีและจอมพลป.พิบูลสงคราม ต้องลี้ภัยและถึงแก่อนิจกรรมในต่างแดนไม่ต่างจากสมเด็จพระปกเกล้าและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ แม้แต่บทบาทของขบวนการเสรีไทยซึ่งช่วยกอบกู้ประเทศจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มีการลดความสำคัญลงไป

ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้เขียนให้ความสำคัญกับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์มากจนเกินไปในฐานะเป็นผู้ฟื้นฟูพระเกียรติคุณของราชวงศ์ ข้าพเจ้าเห็นว่าพระองค์เจ้าธานีนิวัตมีบทบาทเป็นผู้วางแผนในเรื่องนี้มากกว่า แต่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและการทำงานแบบปิดทองหลังพระ เป็นเหตุให้พระองค์เจ้ารังสิตได้รับพระเกียรติยศไปเพียงพวกเดียว ทั้งๆ ที่พระองค์มีลักษณะเป็นเจ้าขุนมูลนายมากกว่าปัญญาชน

ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์เจ้าธานีนิวัติเป็นอย่างดี ท่านแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าเฉพาะสมาชิกราชวงศ์เท่านั้นที่รู้ถึงการปกครองประเทศ ท่านเห็นว่าถ้าพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรไม่ร่วมมือกับคณะราษฎรภายหลังการอภิวัฒน์ในปี ๒๔๗๕ แล้ว คณะราษฎรก็ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ท่านเห็นว่านายปรีดีเป็นบุคคลที่ฉลาด แต่ท่านก็ไม่เชื่อใจบุคคลผู้นี้ แม้ว่าภริยานายปรีดีกับหม่อมของพระองค์เจ้าธานีนิวัฒจักมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตต่อกันก็ตาม

ความรู้สึกว่าตนเหนือกว่าผู้อื่นของบรรดาพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาทางสายเลือด หรือเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นสูงอย่างออกฟอร์ดหรือเคมบริดจ์กันแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าส่วนที่เป็นสามัญชนในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและการศึกษาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ น่าจะช่วยให้พระองค์มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและรับฟังความเห็นจากประชาชนมากขึ้น น่าเสียดายที่พระองค์ไม่เคยรับฟังพวกเขาด้วยพระทัยอันเปิดกว้าง พระองค์กลับเห็นว่าทรงเป็นเหมือนพระมหาชนกซึ่งเป็นผู้นำทวยราชทั้งหลาย รวมทั้งบรรดานิสิตนักศึกษา ถ้าแสดงความไม่เห็นด้วยกับพระองค์ กลับถูกมองว่าเป็นการไม่จงรักภักดีต่อพระองค์พระองค์ไม่เคยเข้าใจถึงนัยยะของความจงรักภักดีที่อยู่บนพื้นฐานของความเห็นอันแตกต่าง หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลด้านนี้ค่อนข้างมาก โดยให้รายละเอียดถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังกิจการของพระราชวัง เผยให้เห็นเงามืดที่ถูกปกปิดไว้จำนวนมาก ซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียด แต่การไม่ใส่ใจต่อเงามืดเหล่านี้อาจเป็นความผิดพลาดในวาระเฉลิมฉลองวชิรสมโภช ซึ่งพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาของพระองค์ต่างเข้าร่วมด้วย และพระราขนัดดาบางส่วนก็เป็นสามัญชนด้วย และพระราชนัดดาที่หายไปส่วนหนึ่งหายไปไหนกันเล่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่แต่ไม่มีใครรู้หรือ ประชาชนควรมีสิทธิรู้ในเรื่องนี้

ผู้เขียนให้ความเห็นต่องานอดิเรกของพระเจ้าอยู่หัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการวาดภาพ ดนตรีและถ่ายรูป

แม้ผู้เขียนจะวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวค่อนข้างหนักหน่วง แต่ก็ให้ข้อเสนอที่ดีเพื่ออนาคตของสถาบันกษัตริย์ในไทย ซึ่งข้าพเจ้าขอจบการวิจารณ์หนังสือด้วยคำพูดเหล่านั้น

ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อราชบัลลังค์ การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกปกปิดในอดีต หรือไม่ว่าพฤติกรรมของพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาของพระองค์เองจะเป็นอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถธำรงรักษาพระเกียรติยศของพระองค์ไว้ได้แล้ว และไม่น่าจะมีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่นพระเกียรติยศได้ดำรงสืบมาอย่างปราศจากความเศร้าหมอง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเจริญพระชนมายุและพระราชจริยวัตรของพระองค์เองทั้งความมุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียน ความสุภาพและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เหตุที่พระองค์เสนอภาพตนเองเป็นดั่งพระมหาชนก จะทำให้คนรุ่นต่อไปเคารพบูชาพระองค์เช่นเดียวกับความเคารพที่มีให้ต่อพระอัยกาธิราช พระจุลจอมเกล้า

แต่ภายหลังรัชกาลของพระองค์ การลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์อาจจะเริ่มต้นขึ้น องค์รัชทายาทคงไม่สามารถปฏิบัติตนเป็นไปดังพระพุทธเจ้าโดยสมมติได้ และพฤติกรรมของพวกเขาก็ไม่เหมาะที่จะทำเช่นนั้นด้วย พวกเขาคงต้องปรับและเปลี่ยนรูปแบบของราชบัลลังก์ก่อนที่จะถูกบีบให้ทำเช่นนั้น เนื่องจากอิทธิพลของสื่อมวลชนและคนรุ่นหลังที่มีความรู้และการศึกษามากขึ้น คนรุ่นซึ่งไม่เคยผ่านสงครามเย็น ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลสำคัญในการฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ปัญหาท้าทายเหล่านี้แต่กต่างอยู่บางกับปัญหาที่สถาบันกษัตริย์ในตะวันตกต้องเผชิญในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ จะมีการกระจายความรับผิดชอบกิจการต่างๆ ของรัฐให้กับนักการเมืองข้าราชการและนักธุรกิจซึ่งไม่ได้ถูกคัดเลือกจากกษัตริย์ได้อย่างไร

ต้องมีการยกเครื่องวีธีการทำงานของสำนักพระราชวังในด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งหมด การระดมแจกจ่ายพระราชทรัพย์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ซึ่งกระทำกันอย่างเป็นความลับ จะต้องถูกแทนที่ด้วยระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามที่นำไปสู่ปัญหา องค์กรการกุศลเหล่านี้ควรมีความเปิดเผยและระมัดระวังต่อภาพลักษณ์ของตนมากขึ้น และไม่กระทำสิ่งที่ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สร้างสรรค์

การเปลี่ยนแปลงบางส่วนเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วบ้าง ในขณะที่บุคคลรุ่นต่อไปของราชวังจะถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง สุดท้ายแล้วพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายจะต้องใช้ประโยชน์จากพระราชอำนาจพิเศษที่ไม่มีใครกล่าวถึงได้แก่ ความสามารถอันมหัศจรรย์และสิทธิในการปรับเปลี่ยนตนเองก่อนที่คนอื่นจะทำได้ ซึ่งจะเป็นกุญแจนำไปสู่ความอยู่รอดของสถาบัน


ปาจารยสาร
ฉบับเดือน กันยายน - ตุลาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น: