วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2551

เจ้า(-->)นาย : เชกูวารา


แม้ในด้านหนึ่ง มีคนกล่าวว่า กระแสนิยมเจ้า (รวมทั้ง กระแสชูสิ่งอื่น ๆ ในเชิงงมงาย หรือใกล้เคียงกัน) ในหมู่คนไทยกำลังพุ่งสูงขึ้นมากจนน่าอึดอัด แต่โดยส่วนตัว ...ภายใต้ความรู้ความเข้าใจเพียงเล็กน้อย กับการเกาะติดแบบกระท่อนกระแท่นในเรื่องทำนองนี้ของผม...ผมก็เห็นว่า นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นต้นมา ทั้งตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ และบุคคลในสถาบัน ฯ ก็เริ่มถูกจับตา ตรวจสอบ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน (ส่วนจะหายอึดอัด หรือมีที่ทางให้เท่าเทียมหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง) ข้อมูลชุดที่แตกต่างจากข้อมูลฝั่งรัฐชุดเดิม ๆ ถูกนำเสนอเป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น (จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็มีแล้ว แต่ยังไม่บูม หรือเป็นที่สนใจใคร่รู้ในวงกว้าง) ซึ่งน่าจะถือเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ความไม่ "พอเพียง" ของคนพวกแรก

ขออนุญาตเดาต่อด้วยว่า เหล่านี้คงเป็น "โรคแทรกซ้อน" ที่ทั้งคนทำ และคนอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร คาดไม่ถึง หรือถ้าคาดถึง ก็ไม่คิดว่าอาการจะหนักหนาสาหัสขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายหนึ่งของการทำรัฐประหารคราวนี้ น่าจะเกี่ยวพันกับการ "ปกป้อง" ความศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง และละเมิดไม่ได้ของสถาบัน ฯ และราชบัลลังก์ ให้คงอยู่ (ทำนองเดียวกับการทำรัฐประหารครั้งอื่น) หลังจากถูกกระเทาะเปลือก เทียบชั้นความนิยมชมชอบ รวมทั้งท้าทายอำนาจโดยสามัญชนคนธรรมดา ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนฝ่ายเจ้านิยม จะยังมั่นใจในตัวเองอยู่มาก ไม่เห็นอันตราย ไม่ให้ค่า หรือเลินเล่อ สบประมาทศักยภาพสื่อชนิดใหม่ ก็สุดจะคาดเดา...จึงยังโหมประโคม หรือบางคนอาจเรียกว่า "ยัดเยียด" ความจงรักภักดีใส่มือผู้คนจนเกินงามต่อไป ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงยิ่งขึ้น จนเริ่มเห็นแววการปะทะกันทาง "ความเชื่อถือศรัทธา" ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ที่ชัดเจนและยังอยู่ในกระแส เห็นจะหนีไม่พ้น การตั้งคำถามแรง ๆ และ ดัง ๆ ต่อกรณี...

เหลือง-ชมพู-ดำฟีเวอร์, กรณีการบังคับเศร้า, การใช้งบประมาณ และภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลในการจัดงานไว้อาลัย และปรากฎการณ์อื่น ๆ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน เช่น ทีวีขาวดำ (ที่อาจเกิดจากความ อยาก/ควร ทำ โดยสถานี และผู้จัด) เมื่อเกิดการสูญเสียสมาชิกในราชวงศ์ขึ้น ...งานครั้งนี้ดูเอิกเกริกจนผิดหูผิดตา ทั้ง ๆ ที่จะว่ากันจริง ๆ แล้ว ทั้งสถานะ และภาระกิจต่าง ๆ ของผู้วายชนม์ ไม่ได้ (ดูเหมือน) สำคัญ หรือยิ่งใหญ่เท่ากับของคนที่ผ่านมาเลย (ตอนนั้น ก็มีการตั้งคำถามเหมือนกัน แต่เป็นไปอย่างแผ่วเบา และจำกัดอยู่ในวงแคบมาก ๆ)

ปรากฎการณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ก็อาทิ กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหม่ินประมาทและดูหมิ่นกษัตริย์ ฯ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "หม่ินพระบรมเดชานุภาพ" ถูกเรียกร้องให้ "ทบทวน" ถึงความจำเป็นในการต้องมีอยู่ หรือถึงขั้นขอให้ "ยกเลิก" ไปเสีย, งานศึกษาวิจัยที่มีขอบเขตเกี่ยวพันกันสถาบัน ฯ โดยตรง เช่น บทบาททางธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ , การสถาปนาพระราชอำนาจ จากโครงการในพระราชดำริ ได้รับความสนใจ และถูกตีแผ่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เรื่องทำนองนี้ไม่ค่อยมีคนสนใจ และสามารถนอนนิ่งอยู่ได้ในแดนสนธยา

ที่ชัดเจนและกำลังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งของนักวิชาการไทย และต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ในช่วงนี้ ก็คือ "การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ที่ธรรมศาสตร ์เมื่อวันที่ 9-11 มกราคม 2551" ซึ่งเน้นการเสนอผลงาน และประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ : องค์ประกอบข้างเคียง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหนังสือหนึ่งเล่ม

น่าจะจริงดังที่ผู้เขียนรายงานกล่าว ว่าที่สุดแล้ว งานนี้ถือเป็นการท้าทายกระแสนิยมเจ้า รวมทั้งอำนาจรัฐ อีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดประเด็น และชูความเป็นวิชาการของ หนังสือที่รัฐห้าม The King never Smiles

หากประเมินจากจำนวนผู้เข้าร่วม และผู้สนใจ (ที่ไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม) ก็ควรต้องยอมรับว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อย สนใจพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวพันกับสถาบัน ฯ รวมทั้งที่เกี่ยวกับคนในสถาบัน ฯ ...รัฐต้องยอมรับว่า การตั้งคำถามต่อประเด็นเหล่านี้มีอยู่จริงในสังคมไทย ไม่ใช่ไม่มี แต่ที่ผ่านมา ด้วยหลากหลายสาเหตุ มันกลับถูกทำให้เป็นได้แค่หัวข้อแห่งการ "ซุบซิบนินทา" ในวงสนทนาเล็ก ๆ ที่มักเน้นไปที่ข่าวลือที่ขาดความรับผิดชอบ หรือไม่ก็เรื่อง "ส่วนตัว" ที่ไร้แก่นสาร ไม่ได้กระทบอะไรในระดับโครงสร้าง จนทำให้คนหลากชนชั้นหันมาร่วมกันอภิปราย

่ประเด็นก็คือ ณ วันนี้ (หรืออย่างน้อย ก็มีแนวโน้ม) ไม่ว่า เจ้า, พวกนิยมเจ้า, อภิสิทธิ์ชน, ศักดินา หรือคนไทยบางคน จะต้องการ หรือยอมรับมันได้หรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้วยกระแสแห่งความเท่าเทียมกัน และด้วยความช่วยเหลือและศักยภาพของเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์และแวดวง กำลังจะถูกลด "ความอ่อนไหว" ลง และยกระดับจากการ ซุบซิบนินทา ไปสู่หัวข้อการสนทนา และอภิปราย ทั้งในแง่วิชาการ และการเมืองการปกครอง ที่สามารถเปิดเผยได้ในที่สาธารณะ นะครับ !


รายงาน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์


By เชกูวารา

ที่มา : BioLawCom.De : เจ้า(-->)นาย

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยผู้จัดเก็บบทความ และ
ขอให้ท่านๆทั้งหลายตามเข้าไปดูที่ต้นฉบับเพราะที่นั้นมีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่น่าสนใจรออยู่...

ไม่มีความคิดเห็น: