วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

ภายใต้ความรุ่งโรจน์ ( ของกษัตริย์ และขุนนาง )


ความรุ่งโรจน์ของกรุงศรีอยุธยาที่คนส่วนใหญ่รับรู้กันมักถูกมองว่า เป็นเพราะพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงเหล่าขุนนาง แต่ในความเป็นจริงยังมีไพร่ที่มีบทบาทสำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังมีแง่มุมด้านมืดแฝงอยู่ด้วย เมธี ดวงประเสริฐ ประมวลเอกสารและแง่มุมจากนักประวัติศาสตร์-โบราณคดี ต่อการรับรู้กระแสหลักนี้

ใน 'กำสรวลสมุทร' หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า 'กำสรวลศรีปราชญ์' อันเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา แม้ในสมัยรัชกาลที่ 1 อันเป็นเวลาที่อยุธยาเสื่อมอำนาจไปแล้ว

ผองชนในเวลานั้นยังคงสำนึกถึงความรุ่งโรจน์ของอยุธยาได้เป็นอย่างดีดังที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้ทรงเคยได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งก่อนที่จะเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 ทรงพรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศซึ่งมีความมั่งคั่งร่ำรวยและความสุขสำราญไว้ใน 'เพลงยาวไทยรบพม่า' ตอนหนึ่งความว่า


...ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร ทุกถิ่นฐานบริบูรณ์หนักหนา อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน เชยชื่นเป็นสุขเกษมศรี...


การที่ความรับรู้ของคนทั่วไปเป็นเช่นนั้น บางทีอาจมาจากการที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งบอกเล่าเหตุการณ์สมัยอยุธยาเกือบทั้งหมด ตกทอดมาในลักษณะของพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาที่มีพระมหากษัตริย์

เหล่าเชื้อพระวงศ์ กลุ่มขุนนางเป็นแกนหลักและกลไกสำคัญในการบริหารบ้านเมือง ทำให้ประชาชนทั่วไปของอยุธยาในขณะนั้นซึ่งดำรงความเป็น 'ไพร่' ตามสถานะทางสังคมที่ถูกกำหนดด้วยระบบศักดินาอันเป็นกลไกชนิดหนึ่งในการควบคุมกำลังคนของผู้ปกครอง แทบจะไม่ได้มีพื้นที่ในการปรากฏบทบาทของตน

ที่จริงแล้วไพร่สมัยอยุธยามีบทบาทสำคัญมากทั้งในฐานะที่เป็นผู้ค้ำจุนรากฐานทางเศรษฐกิจ เป็นกำลังคนที่ทรงอิทธิพลในทางการเมือง และเป็นกลุ่มคนที่สืบทอดความคิดภูมิปัญญาของสังคม

แม้จะมีการกล่าวถึงไพร่อยุธยาในเอกสารของชาวต่างชาติ เช่น ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส หรือในบันทึกของวัน วลิต พ่อค้าฮอลันดาก็ตาม แต่การที่เรื่องราวในเอกสารเหล่านั้นจำกัดอยู่ในวงแคบและมีผู้สนใจเพียงกลุ่มน้อย ทำให้เนื้อหาในบันทึกเหล่านั้นไม่เคยถูกรับรู้โดยคนส่วนใหญ่ของสังคม

หากเปรียบอยุธยาเป็นเหรียญเงินเหรียญหนึ่ง ความรุ่งโรจน์ของอยุธยาภายใต้การนำของชนชั้นปกครองย่อมเป็นด้านหนึ่งของเหรียญ แต่ยังมีเหรียญอีกด้านที่คนทั่วไปไม่ใคร่ตระหนัก

ไพร่คืออะไร?

ไพร่ คือสถานะทางสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ของอยุธยา นอกเหนือจาก ขุนนาง พระสงฆ์ และทาส ไพร่แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 'ไพร่หลวง' ซึ่งมีหน้าที่มาเป็นแรงงานให้ราชการ และ 'ไพร่สม' ที่เป็นแรงงานส่วนตัวของขุนนาง ในกรณีของไพร่ที่อยู่ห่างไกลมากหรืออยู่ในที่กันดาร มาเข้าเวรเกณฑ์แรงงานลำบาก สามารถส่งส่วยเป็นสิ่งของมาให้ทางราชการแทนการมาใช้แรงงานได้ กลุ่มนี้เรียกว่า 'ไพร่ส่วย'

อัญชลี สุสายัณห์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงหน้าที่ของไพร่ไว้ในหนังสือเรื่อง 'ไพร่สมัย ร.5 ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' ว่า


"พันธะตามปกติของไพร่ทั่วๆ ไปคือการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า การเข้าเวรหรือการเกณฑ์ราชการ มิฉะนั้นก็ต้องส่งผลผลิตหรือเงินเป็นส่วยแทนแรงงาน ทุกครั้งที่มีการเกณฑ์ราชการไพร่จะต้องนำสัตว์ เช่น ช้าง วัว หรือควาย เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเสบียงอาหารติดตัวมาเข้าเวรด้วย

งานที่ต้องทำมีทั้งงานโยธา ทำการเกษตร เป็นกำลังรบหรือทำงานตามคำสั่งมูลนาย มีบ่อยครั้งที่ไพร่จะถูกเกณฑ์ราชการเพิ่มจากปกติโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพื่อมาทำงานอย่างสร้างพระเมรุทำถนนหรือพลับพลารับเสด็จและเป็นกำลังคุ้มกันให้ขุนนางข้าราชการที่ต้องเดินทางไปราชการยังหัวเมืองหรือออกนอกพระราชอาณาเขต"


หากใครที่เคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ จะพบว่า ตัวละครที่เป็นไพร่หลวงนั้นสบายกว่าไพร่สม เพราะตัวไพร่สมมักจะถูกใช้แรงงานอย่างหนักจากขุนนาง ในขณะที่ไพร่หลวงที่ขึ้นกับพระมหากษัตริย์และระบบราชการกลับได้ทำมาหากินตามปกติ ในประเด็นนี้ ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แย้งว่าภาพลักษณ์ของไพร่ที่คนทั่วไปรับรู้ผ่านละครนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงๆ แล้วไพร่หลวงถูกใช้งานหนักกว่าไพร่สม


"ทั้งทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ การเกณฑ์แรงงานไพร่ค่อนข้างโหดเหี้ยมอยู่ แต่ที่น่าสนใจ ผมว่ามันอยู่ที่ว่า ทำไมไพร่หลวงถึงได้อยากหนีเป็นไพร่สมในตอนปลายสมัยอยุธยา ถ้าดูแบบละครช่อง 7 ว่า ไพร่สมอยู่ภายใต้ขุนนางเจ้านายมันน่าจะลำบาก ถูกเขาเอาเปรียบใช้อะไรต่ออะไร แล้วไพร่หลวงก็คนของหลวง แต่จริงๆ มันตรงกันข้าม ไพร่หลวงนี่ต้องทำทุกอย่าง เข้าเดือนออกเดือนตั้งครึ่งหนึ่งของปี แทนที่จะไปทำงาน จะได้อยู่กับลูกเมีย ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ไพร่หลวงจะหนีไปเป็นไพร่สม"


ด้าน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาชื่อก้อง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง 'กรุงศรีอยุธยาของเรา' เสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งว่าไม่ควรใช้สายตาของคนสมัยนี้ไปมองคนสมัยก่อน


"ไพร่อยุธยาไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่ อยุธยานี้อาหารการกินมีเต็มที่ ตอนนั้นเราไม่บ้าเรื่องวัตถุนิยม คนไทยมีกินได้ตลอดปี อาหารการกินเครื่องนุ่งห่มมีทั้งนั้น การเกณฑ์แรงงานก็เป็นเรื่องปกติ รัฐต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคต่างก็เกณฑ์แรงงานจากประชาชนของตนทั้งนั้น"


ท่ามกลางระบบควบคุมกำลังคนที่ไพร่ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมที่มีต่อการเกณฑ์แรงงานอยู่ตลอดเวลามีผลทำให้ชีวิตของไพร่อยุธยาถูกบีบคั้นมากขึ้น ซึ่งอาจารย์อัญชลีได้อธิบายไว้ในหนังสือไพร่สมัย ร.5ฯ ว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเกณฑ์แรงงานคือ สงคราม ความวุ่นวายภายในและโรคระบาด


สงคราม :
การกวาดต้อนและความสูญเสีย


ในสมัยอยุธยาการทำสงครามระหว่างรัฐดูจะเป็นเรื่องปกติ ด้วยเหตุที่อุดมการณ์ของกษัตริย์สมัยรัฐจารีตนั้น ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผูกพันอยู่กับการเป็นราชาธิราชซึ่งหมายถึงการเป็นราชาที่อยู่เหนือราชาองค์อื่นๆ หากในทางปฏิบัติแล้ว การทำสงครามในสมัยอยุธยามีจุดประสงค์เพื่อการกวาดต้อนผู้คนและปล้นชิงทรัพย์สมบัติ ดังที่อาจารย์ธีรวัตได้ให้ความเห็นว่า


"สงครามสมัยนั้นไม่ได้รบกันเพื่อขยายเขตแดน แต่เพื่อปล้นทรัพย์สินและปล้นคนซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำสงครามของกษัตริย์และเจ้านายสมัยก่อน เพราะด้วยการคมนาคม ระยะทางที่ห่างไกลมากระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ จะเอากองทัพมาประจำมายึดครองแบบกองทัพสมัยใหม่คงทำไม่ได้ การกวาดต้อนจึงเป็นเรื่องที่อย่างน้อยก็ได้กำลังคน กำลังคนนี่สำคัญกว่าเงินทองอีก เพราะกำลังคนเป็นแรงงานในยามสันติ เป็นทหารในยามสงคราม"


ตัวอย่างของการกวาดต้อนผู้คนมีปรากฏใน 'พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)' โดยพระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้ระบุถึงการกวาดต้อนไพร่จากอยุธยาไปยังหงสาวดีเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พระเจ้าบุเรงนองเมื่อปี พ.ศ.2112 ความว่า "พระเจ้าหงสาวดีก็ให้เทเอาครัวอพยพชาวพระนคร...ส่งไปเมืองหงสาวดี"

อาจารย์ศรีศักรได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกวาดต้อนผู้คนในการทำสงครามว่าเหมือนกับการโดนไล่ที่


"ชีวิตคนปักหลักอย่างมีความสุข พอถูกกวาดต้อนมันก็เดือดร้อนทั้งนั้น แต่เมื่อกวาดต้อนไปแล้ว เขาก็ไม่ได้ทารุณ ลำบากบ้างในการปรับตัว มันก็เหมือนโดนไล่ที่แล้วต้องไปอยู่ที่ใหม่ก็ต้องปรับตัวใหม่"


นอกจากการถูกกวาดต้อนแล้ว ไพร่อยุธยายังต้องเผชิญกับการสูญเสียชีวิตระหว่างสงครามอันเนื่องมาจากการที่ไพร่อยุธยาเป็นกำลังสำคัญของชนชั้นปกครองในการทำสงครามกับรัฐรายรอบ ใน 'คำให้การชาวกรุงเก่า' ได้ให้ภาพของสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ตอนหนึ่ง ดังนี้


...ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ทราบว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพมาดังนั้น ก็จัดขบวนทัพใหญ่ยกออกมาตั้งรับนอกพระนคร ครั้น 2 ทัพ ปะทะกันแล้ว ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พลปืนต่อปืนก็เข้ารบกัน พลช้างต่อช้าง พลม้าต่อม้า พลทวนต่อทวน พลดาบต่อดาบก็เข้ารบกัน ควันปืนกลุ้มตลบไปทั้งอากาศ ไม่เห็นแสงตะวัน ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเป็นอันมาก...


รัฐประหาร :
บ่อเกิดความวุ่นวายภายใน


อาจารย์ธีรวัต แจกแจงถึงความลำบากที่ไพร่อยุธยาได้รับจากการชิงอำนาจกันของชนชั้นปกครองว่า

"การเมืองอยุธยามันเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน ระหว่างเจ้านายกับขุนนาง ขุนนางกับขุนนาง ระหว่างเจ้านายกันเอง รัฐที่มีราชสำนักเป็นองค์กรหรือสถาบันที่สำคัญก็จะเกิดการช่วงชิงอำนาจ ซึ่งบ่อยครั้งต้องใช้ความรุนแรง คนที่อยู่ในระบบไพร่ก็ลำบากเป็นธรรมดา เขาจะรบกันคุณก็ต้องไปเป็นกำลังในกองทัพของเขา"

"เมื่อเจริญขึ้นมากผลประโยชน์มันก็มากขึ้น เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งมีการชิงราชสมบัติกันอยู่เรื่อย โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมลงมา ความอ่อนแอความแตกแยกเกิดขึ้นทั้งข้างในและข้างนอก พวกขุนนางไม่ว่าจะในอยุธยาหรือตามหัวเมืองต่างมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ อยุธยาจึงกลวง" อาจารย์ศรีศักร อธิบายถึงเหตุผลสำคัญของความวุ่นวายภายในกรุงศรีอยุธยา และยังกล่าวต่อว่า "ปลายสมัยพระเจ้าท้ายสระ ตอนที่พระเจ้าบรมโกศขึ้นครองราชย์นี่ก็ฆ่ากันแหลกเลย"


เหตุการณ์ที่อาจารย์ศรีศักรเอ่ยถึง มีปรากฏอยู่ใน 'พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)' ความว่า


...ครั้นปลายเดือนยี่ ล้นเกล้าฯ(พระเจ้าท้ายสระ)เสด็จสวรรคตแล้ว ฝ่ายข้างวังหลวงให้หลวงชัยบูรณ์ยกทัพ...ไปทางชีกุน เลี้ยวขึ้นไปทางวัดกุฎีสลัก ฝ่ายข้างพระราชวังบวรสถานมงคล(พระเจ้าบรมโกศในเวลาต่อมา)ยกออกรบ ตัดเอาศีรษะหลวงชัยบูรณ์ไปได้ทัพก็แตกลงมา...


โรคระบาด :
ภัยร้ายจากธรรมชาติ


...โรคอย่างร้ายแรงที่สุดและสังหารชีวิตชาวสยามถี่ๆ นั้น ก็โรคป่วงแลโรคบิดในปีหนึ่ง โรคบาดทะพิษบาดทะยักต่างๆ โรคลมจับ โรคอัมพาต เหล่านี้ห่างๆ...อนึ่งในกรุงสยาม ก็มีโรคติดต่อกัน แต่หาใช้ห่ากาฬโรค อย่างทวีปยุโรปไม่ ตัวโรคห่าของกรุงสยามนั้นก็คือ ไข้ทรพิษ เคยเป็นขึ้นชุมและสังหารชีวิตมนุษย์วินาศเสียเอนกอยู่เนืองๆ ยิ่งกว่าอหิวาตกโรค...ไข้จับวันเว้นวันก็มีรายๆ แต่อยู่ข้างฉกาลอยู่...ด้วยเห็นอากาศฉะอุ่มฝนเสียมากเดือน...


นั่นคือเนื้อความตอนหนึ่งใน 'จดหมายเหตุลาลูแบร์' (แปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) บันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งได้บรรยายถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ ลาลูแบร์ยังอธิบายอีกว่า สาเหตุที่ทำให้อยุธยามีโรคระบาดเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ


...บ้านเมืองสยามเปนเมืองร้อนจัด พลเมืองจึงต้องอยู่จับขอบแต่ตามริมลำแม่น้ำ...เปนด้วยชาวสยามไม่ได้ไปตักน้ำมาจากลำธาร ซึ่งไม่มีข้อสงสัยละคงอยู่ไกลเกินไป ตักมาแต่ชั่วลำน้ำลำคลอง ยามน้ำเอ่ออยู่น้อยหรือมากวัน ตามแต่หน้าน้ำ น้ำจะท่วมสูงหรือต่ำ หรือเวลาน้ำไหลลงเชี่ยวหรือไม่เชี่ยว เพราะเมื่อเวลาน้ำไหลลงงวด น้ำก็ขุ่นเปนโคลนตม และบางทีก็เซิบด้วยยางที่ร้ายๆ

ซึ่งชะลงมาจากแผ่นดินหรือน้ำกลับไหลขึ้นเข้าไปในลำคลองที่เกรอะกรังอยู่ด้วยโคลนเลน โสโครกพอที่จะทำให้เกิดโรคบิดและโรคต่างๆ บรรดาจะดื่มให้ปราศจากภยันตรายมิได้ นอกจากชาวสยามใช้ตักมาขังไว้ในตุ่มหรือระบายเข้ามาไว้ในสระ ในบ่อ ให้สิ่งโสโครกนอนจุพอใช้ไปได้สัก 3 สัปตวารหรือเดือนหนึ่ง...


ขณะที่ เอนก สีหามาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 จ.อยุธยา อธิบายถึงโรคระบาดในสมัยอยุธยาว่า


"โรคระบาดที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยามีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือที่ทำให้ตายทันที เช่น ตอนต้นอยุธยา ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีขบวนสินค้าจากจีนแวะค้าขายตามเมืองท่าต่างๆ จนถึงยุโรป ได้นำไข้ดำ (Black Death) ผ่านมาทางอยุธยา โรคนี้ไปทำลายเลือด ทำให้ตายทันที อีกแบบหนึ่งคือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ตายในทันทีทันใด อย่างโรคอหิวาต์ซึ่งเกิดจากการที่เวลาน้ำท่วมมันพาสิ่งโสโครกที่มาจากสัตว์บ้างคนบ้างมาด้วย"


ชีวิตของไพร่อยุธยานั้น การเข้าเวรเกณฑ์แรงงานที่ตามปกติถือว่าเป็นภาระหนักอยู่แล้ว เมื่อรวมกับปรากฏการณ์ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่เกิดขึ้นก็ยิ่งมีผลทำให้ไพร่อยุธยาได้รับความลำบากมากขึ้นไปอีก บังเกิดผลตามมาดังที่อาจารย์อัญชลีกล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า


...ไพร่จึงพยายามหลบเลี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น หาทางเสี่ยงมาขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สมหรือบวช นอกจากนี้ไพร่ยังหาวิธีหลบเลี่ยงภาระด้วยการขายตัวเป็นทาส และหนีไปหลบซ่อนตามป่าดง ยิ่งทำให้อยุธยาประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนและยังไม่สามารถควบคุมกำลังคนได้เต็มที่ ในสมัยปลายอยุธยาปัญหาดังกล่าวสร้างความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของอาณาจักรมาก

เห็นจากในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ(พ.ศ.2275-2301) ชาวจีนเพียงไม่กี่ร้อยคนก็สามารถยกกำลังมาปล้นพระราชวัง แสดงถึงความขาดแคลนไพร่พลที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชธานีและความเสื่อมประสิทธิภาพของระบบที่ใช้ควบคุมกำลังคนมีส่วนให้เกิดความระส่ำระสาย จนนำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด...


อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นเพราะขีดความสามารถของชนชั้นปกครองในการจัดการและควบคุมกำลังคน แล้วร่วงโรยล่มสลายก็เพราะความไร้ประสิทธิภาพในควบคุมกำลังคนอีกเช่นกัน

ไพร่ซึ่งเปรียบเสมือนเลือดเนื้อที่คอยหล่อเลี้ยงรัฐอันเป็นดั่งร่างกายจึงเป็นอีกด้านของเหรียญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอยุธยา


เมธี ดวงประเสริฐ

ที่มา : โบราณคดีไทย : ภายใต้ความรุ่งโรจน์

ไม่มีความคิดเห็น: