วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2551

ข้อมูลประวัติศาสตร์ : ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491


เมื่อต้นปีกลาย ผมได้โพสต์เผยแพร่เอกสารบันทึกลับที่เขียนโดย เคนเน็ธ พี แลนดอน (ผู้เขียน Siam in Transition และผู้แปล "เค้าโครงเศรษฐกิจ" เป็นภาษาอังกฤษคนแรก และสามีของ มาร์กาเร็ต ผู้เขียน The King and I)


Landon archive:The King and I,กรณีสวรรคตและแผนใหญ่ของควง-พี่น้องปราโมช


ตอนนั้น ผมได้เซ็นเซอร์ข้อความบางตอนออก เร็วๆนี้ ผมได้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง (เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งบทความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในช่วงทศวรรษ 2490 ที่ผมพยายามทำอยู่) และคิดว่า มีข้อความบางตอน ไม่จำเป็นต้องเซนเซอร์อีก คือส่วนที่เกียวกับพระองค์เจ้าจุมภฏและ ควง-"พี่น้องปราโมช"


เรื่องของเรื่องคือ สถานทูต-กท.ต่างประเทศอเมริกันได้รับข่าวลือเรื่อง ควง และ "พี่น้องปราโมช" เตรียมวางแผนจะสถาปนาพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ เรื่องนี้เป็นเพียง "ข่าวลือ" หรือ"ข่าวกรอง" (intelligence) ซึ่งอาจจะไม่จริงก็ได้ แต่อย่างน้อย ก็มีความน่าเชื่อถือในระดับที่สถานทูตรายงานและเจ้าหน้าที่กระทรวง (คือ แลนดอน) ทำบันทึกแสดงความเห็น


ผมไม่แน่ใจว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ความจริง-ไม่จริง ได้หรือไม่ (ว่า ควง-"พี่น้องปราโมช" มีไอเดียเรื่องนี้) ซึ่งก็เช่นเดียวกับข้อมูลจำนวนมาก ที่อยู่ในเอกสารทางการทูตของอเมริกันและอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น งานของกอบเกื้อ ทั้งเรื่อง Thailand's Durable Premier และ เรื่อง Kings, Country and Constitutions ได้อาศัยข้อมูลชุดนี้เป็นหลัก และมีหลายข้อมูล เป็นเรื่องคล้ายกันนี้ แม้บางอันจะดูน่าเชื่อถือ เพราะอ้างคำของบางคนในวงการรัฐบาลและราชสำนักเอง เช่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง กับ พิบูล และ เผ่า โดยเฉพาะกรณีรัฐธรรมนูญ 2495 เป็นต้น


ให้ผมยกตัวอย่างหนึ่ง คือ ตามข้อมูลชุดนี้ กล่าวว่า ช่วงหลังรัฐประหาร 2490 พิบูลต้องการเป็นอภิรัฐมนตรีคนหนึ่งด้วย ผมเองไม่เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นจริง แต่ดูเหมือนทั้ง กอบเกื้อ และ Handley ที่นำไปอ้างต่อ จะเชื่อ ฯลฯ


ในเวลาไม่นานข้างหน้า ผมเข้าใจว่า จะมีนักวิชาการบางท่านนำข้อมูลบางส่วนจากข้อมูลชุดนี้มาเผยแพร่เพิ่มเติมอีก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่อง "เล็กๆ" แต่อาจจะ sensational พอสมควร จากจุดของผู้สนใจความขัดแย้งช่วง 2500 โดยเฉพาะบทบาทของราชสำนัก ในความขัดแย้งที่นำไปสู่การโค่นพิบูล-เผ่า (เท่าที่ผมได้เห็นเป็นข้อมูลทีน่าสนใจมาก)


โดยสรุปแล้ว ข้อมูลทางการทูตของอเมริกันและอังกฤษ เกี่ยวกับการเมืองไทย ยังคงมีความสำคัญและน่าสนใจยิ่ง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบความจริง (verification) บ้าง นักเรียนประวัติศาสตร์ต้องชั่งน้ำหนัก และอภิปรายความน่าเชื่อถือเป็นกรณีๆไป


เฉพาะในกรณีข่าวลือเรื่อง ควง-"พี่น้องปราโมช" นี้ ผมไม่คิดว่า สามารถยืนยันความจริงได้ดังกล่าวแล้ว แต่ประเด็นที่ผมคิดว่า เอกสารนี้ช่วยทำให้มองเห็น (และนี่คือจุดประสงค์ของการเผยแพร่ในทีนี้) คือ สถานะของรัชกาลปัจจุบัน ในช่วงปีแรกๆ มีความไม่แน่นอน หรือไม่มั่นคงสูง โดยเฉพาะในส่วนทีเชื่อมโยงกับกรณีสวรรคตของรัชกาลก่อน และโดยเฉพาะในสายตาของวงการทูต-รัฐบาลตะวันตก


คำแปล

(ส่วนที่ใส่เครื่องหมาย [........] คือข้อความที่ผมยังขอเซ็นเซอร์ ข้อความสีแดง คือข้อความที่เดิมผมเคยเซ็นเซอร์)


" ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันว่า หาก ควง อภัยวงศ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี และหากรัฐบาลของเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ตัวแทนของรัฐบาลแต่ละประเทศดังกล่าวที่กรุงเทพก็จะให้การรับรองแก่รัฐบาลควง อย่างเป็นทางการ และความสัมพันธ์กับรัฐบาลสยามก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป [ความสัมพันธ์ปกติถูกพักไว้หลังรัฐประหาร - สมศักดิ์] รัฐบาลของทั้งสี่ประเทศยังตกลงร่วมกันว่า หากคนอื่นที่ไม่ใช่ควงได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของสี่ประเทศก็จะปรึกษาหารือกัน ก่อนที่จะให้การรับรองรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ


รายงานล่าสุดเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ ที่ว่า ควง กำลังเตรียมตัวที่จะประกาศว่า [........]; ว่าในหลวงภูมิพลจะทรงสละราชสมบัติ และว่า พระองค์เจ้าจุมภฏ จะทรงเป็นกษัตริย์แทน ได้ทำให้เกิดเป็นปัจจัยใหม่ขึ้นมาในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนอย่างถึงราก การแบ่งขั้วการเมืองในขณะนี้


ในปี 1945 [ที่ถูกควรเป็นปี 1944 มากกว่า - สมศักดิ์] ควง ได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองโดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนนี้กำลังลี้ภัยในต่างประเทศ ความทะเยอทะยานของควงทำให้เกิดแตกหักกับปรีดีภายในเวลา 9 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 1947 ควงได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองอีก คราวนี้โดย พิบูล หลังจากพิบูลยึดอำนาจรัฐบาลจากปรีดีด้วยการรัฐประหาร เช่นเดียวกับปรีดี พิบูลคิดว่าควงจะเป็นเบี้ยที่เต็มใจและผู้ติดตามที่ว่านอนสอนง่าย แต่ดูเหมือนว่า อีกครั้งที่ควงเองกำลังเดินหมากการเมืองด้วยความทะเยอทะยานของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกหักกับพิบูล


พิบูลขัดแย้งอย่างมากกับข้อเสนอของควงที่ว่าในหลวงภูมิพล [.......] และที่ให้ พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์แทน อาจจะเป็นความจริงที่ว่า ในหลวงภูมิพล [.......] ผมเองได้เสนอความเป็นไปได้เช่นนี้ในบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้. กล่าวในทางการเมือง ไม่เป็นสิ่งสำคัญว่า ในหลวงภูมิพล [.......]หรือไม่ หากจุดมุ่งหมายเบื้องหลังการกล่าวหานี้ คือการจัดการให้ พระองค์เจ้าจุมภฏขึ้นครองราชบัลลังก์ เพราะเรื่องนี้ก็จะเป็นเพียงความพยายามอย่างจงใจของควงที่จะฟื้นฟูอำนาจที่เคยมีอยู่


ก่อน [2475] ของสถาบันกษัตริย์ และสถาปนาให้ควงเองและพี่น้องปราโมชเป็นผู้นำของคณะนิยมเจ้าและของประเทศสยาม ดูเหมือนควงและพี่น้องปราโมชหวังว่า พวกเขาจะสามารถรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้หากพระองค์เจ้าจุมภฏได้ทรงขึ้นครองราชย์ เพราะพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นบุคคลผู้มีวุฒิภาวะ [ประสูติ 2447 - สมศักดิ์] และมีทรัพย์สมบัติไม่น้อย ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองในราชสำนักเป็นเวลานาน มีผู้สนับสนุนพระองค์จำนวนมากในหมู่ชาวไทยและจีนในประเทศสยาม และทรงได้รับการผลักดันจากพระชายาผู้มีความทะเยอทะยาน ซึ่งในฐานะธิดาผู้หลักแหลมของอดีตเสนาบดีต่างประเทศของสยามผู้ชาญฉลาดที่สุดคนหนึ่ง [หมายถึง มรว.พันทิพย์ ธิดาคนแรกของพระองค์เจ้าไตรทศพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย - สมศักดิ์] ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับเกมการเมืองทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศ


สถานการณ์ปัจจุบันถูกทำให้ปั่นป่วนทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกจากบทบาทคอร์รัปชั่น ของหลวงกาจสงคราม ผู้ให้การสนับสนุนควง และผู้ควบคุมกำลังทหารบางส่วนสำคัญไว้ด้วย การปฏิบัติแบบคอร์รัปชั่น ของหลวงกาจสร้างความไม่พอใจให้กับพิบูล ซึ่งถือว่าการคอร์รัปชั่นเช่นนี้เป็นอภิสิทธิ์ของเขาเองและต้องการให้ ลูกน้องอย่างหลวงกาจ ได้รับส่วนแบ่งในการโกงกินน้อยกว่าเขา ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพิบูลเองคอร์รัปชั่นจนรวยแล้ว จึงสามารถแสดงท่าทีเป็นผู้มีคุณธรรมต่อกรณีคอร์รัปชั่นของหลวงกาจได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองทั้งในประเทศและต่อต่างชาติ


พิบูลกับปรีดีเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองในคณะพรรคเดียวกัน ทั้งคู่คัดค้านการรื้อฟื้นอำนาจให้สถาบันกษัตริย์พอๆกัน พวกเขาไม่มีปัญหากับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่มีบริวารส่วนพระองค์ หมากครั้งนี้ของควงอาจทำให้พิบูลกับปรีดีหันมาคืนดีกันเพราะกลัวต่อความเป็นไปได้ [specter] ที่พระองค์เจ้าจุมภฏจะได้เป็นกษัตริย์ ควงกับพวกกำลังพยายามสร้างคณะการเมืองอีกคณะหนึ่งที่ต่างออกไปจากคณะที่แตกออก เป็นพวกปรีดีและพวกพิบูล [หมายถึงคณะราษฎ - สมศักดิ์] ควงไม่มีทางประสบความสำเร็จหากเขาได้รับการสนับสนุนเพียงจากหลวงกาจและกำลังทหาร ที่หลวงกาจคุม และจากพระองค์เจ้าจุมภฏและบริวารพวกนิยมเจ้า การสนับสนุนจากพิบูลเป็นสิ่งจำเป็นหากควงอยากจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ


หากเค้าลางในขณะนี้ของการหันมาคืนดีกันระหว่างพิบูลกับปรีดียังคงมีต่อไป เราก็อาจจะได้เห็นสถานการณ์พัฒนาไปเป็นแบบเดียวกับเดือนธันวาคม 1938 เมื่อ พิบูลกับปรีดี รู้สึกว่า ต้องการอีกฝ่ายหนึ่ง และร่วมมือกันจัดต้งรัฐบาลผสมขึ้นมา "





ในหลวงทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับประเทศไทย จนกว่าคดีสวรรคตจะเสร็จสิ้น (2491)


ความจริง สถานการณ์ที่ประเทศสยาม-ไทย ไม่มีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศอย่างถาวรเป็นเวลาประมาณเกือบ 20 ปี (2477-ธันวาคม 2494) ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของรัฐบาล ทั้งรัฐบาลคณะราษฎรในปลายทศวรรษ 2470 และต้นทศวรรษ 2480 หรือรัฐบาลปรีดี ช่วงปลายทศวรรษนั้น และรัฐบาลคณะรัฐประหารในครึ่งแรกของทศวรรษต่อมา


แต่มาจากความปรารถนาของฝ่ายราชสำนัก ขององค์พระมหากษัตริย์และพระญาติเอง ด้วยเหตุผลที่ต่างๆกันไป


ทุกรัฐบาล มีการกราบบังคมทูลเชิญด้วยหนังสือหรือด้วยวาจาให้เสด็จกลับประเทศ หรือกราบบังคมทูลเชิญ ให้ประทับต่อ ไม่เสด็จกลับไปต่างประเทศ หลังการเสด็จนิวัตรพระนคร แต่ได้รับการยืนยันในเชิงปฏิเสธทุกครั้ง


กรณีที่สำคัญ คือ ช่วงที่ในหลวงอานันท์เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ (2478) และกรณีที่ทรงเสด็จนิวัตรพระนครครั้งที่สองในปี 2488-2489 รัฐบาลปรีดีก็ได้เสนอให้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นการถาวร โดยเสนอจะจัดหาพระอาจารย์มาให้การศึกษา แต่ทรงยืนยันจะเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ในที่สุด มีหมายกำหนดการจะเสด็จกลับไปยุโรปในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 แต่เพียง 4 วันก่อนกำหนดเสด็จ ก็ทรงสวรรคตด้วยพระแสงปืน...


หลังกรณีสวรรคตและพระอนุชาได้รับการรับรองจากสภาฯให้ขึ้นครองราชย์ เป็นในหลวงองค์ปัจจุบัน ความจริง รัฐบาลปรีดีก็ต้องการให้ทรงประทับในประเทศไทย แต่ทางราชสำนักยืนยันว่าในหลวงองค์ใหม่จะเสด็จกลับไปต่างประเทศ


ผมยกความจริงเรืองนี้ขึ้นมา เพราะเป็น irony ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จกลับมาประทับอย่างถาวรจริงๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2494 กลับกลายเป็นปัญหาให้กับกลุ่มนำในรัฐบาลขณะนั้น จนต้องรีบชิงทำรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน ที่เกิดขึ้นขณะในหลวงทรงอยู่ในเรือที่กำลังเข้ามาในน่านน้ำไทย (ในที่สุด เสด็จถึงท่าเรือกรุงเทพวันที่ 2 ธันวาคม)


..............................


หลังในหลวงองค์ปัจจุบันเสด็จกลับยุโรปในเดือนสิงหาคม 2489 แล้ว รัฐบาลหลวงธำรง(ที่บริหารแทนรัฐบาลปรีดี)ก็คาดหมายว่า จะทรงเสด็จกลับมาประกอบพระราชพิธีพระราชเพลิงศพพระเชษฐาในไม่กี่เดือนข้างหน้า มีการเริ่มลงมือเตรียมจัดสร้างพระเมรุ เพื่อประกอบพิธีในเดือนมีนาคมปีต่อมา (2490) แต่ผ่านไป 3-4 เดือน ทางราชสำนัก ก็ยังหาได้ยืนยันว่าจะทรงเสด็จกลับมาประกอบพิธีไม่ ทางรัฐบาลก็ไม่แน่ใจ ครั้นจะเลื่อนการเตรียมงานออกไป ก็ไม่กล้าทำ หลวงธำรง กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2489 ว่า "เลื่อนไม่ได้ จะขุดหลุมฝังเรา" แต่แล้ว ในเดือนเดียวกัน ทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีหนังสือมาขอให้รัฐบาลเลื่อนงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ออกไปเอง ในบรรดาเหตุผล 2-3 ข้อที่ยกมา มีอยู่ข้อหนึ่งนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การสอบสวนกรณีสวรรคตยังไม่เสร็จสิ้น แต่ทว่าทำไม คณะผู้สำเร็จฯจึงเห็นว่า การที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการพระราชทานเพลิงศพนั้น นับว่าค่อนข้างคลุมเครือ ขอให้ดูข้อความในหนังสือส่วนนี้ โดยเฉพาะที่ผมขีดเส้นใต้เน้นคำไว้ :


"อนึ่งการกำหนดงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพนั้น ถ้าจะกำหนดแล้ว ก็น่าจะกำหนดให้เหมาะกับโอกาสที่จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อถวายพระเพลิงด้วย แต่โดยที่การสอบสวนกรณีสวรรคตยังเป็นอันควรให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนอยู่ต่อไปอีก และยังหวังไม่ได้ว่า การสอบสวนต่อไปดังว่านั้นจะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อใดแน่ การที่จะกำหนดให้เสด็จเข้ามาเพื่อถวายพระเพลิงในเดือนมีนาคมหน้า ถ้าการสอบสวนเช่นว่านั้นยังไม่สำเร็จเด็ดขาดลงไป การขลุกขลักย่อมจะมีขึ้นเกี่ยวกับการจัด ที่ประทับและการจัดผู้คนราชบริพารประจำในที่ประทับเหล่านี้อยู่มาก"


ต้องนับว่าค่อนข้างแปลกและคลุมเครือมาก ว่า ทำไมคณะผู้สำเร็จฯจึงคิดว่า การที่การสอบสวนคดีสวรรคตยังดำเนินไป จะทำให้ "การขลุกขลักย่อมจะมีขึ้นเกี่ยวกับการจัดที่ประทับและการจัดผู้คนราชบริพารประจำ ในที่ประทับเหล่านี้อยู่มาก" เพราะดูๆแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย


(นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งคณะผู้สำเร็จฯเรียกเข้าเฝ้า เพื่อแจ้งขอให้เลื่อนงาน ได้บอกกับคณะรัฐมนตรีว่า "ผมหยั่งดูอีกอัน เห็นจะเป็นว่าในหลวงไม่พร้อมที่จะเสด็จ")


.................................


หลังรัฐประหาร ในปี 2491 รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีการกำหนดเตรียมงานพระราชเพลิงพระบรมศพใหม่ เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 และได้ตกลงเตรียมจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย พร้อมกันนั้นได้ตกลงกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จกลับมาประท้บในประเทศไทยเป็นการถาวร พร้อมกันไปด้วย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รัฐมนตรีต่างประเทศ (พล.ต. หม่อมเจ้า ปรีดีเทพพงศ์ เทวกุล) เดินทางไปเข้าเฝ้าที่สวิสเซอร์แลนด์ เรียนพระราชปฏิบัติขอพระราชทานพระกระแสพระราชดำริในเรื่องนี้ แต่ในที่สุด ในหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ซึ่งจอมพล ได้แจ้งแต่คณะรัฐมนตรีว่า "...ได้รับพระราชหัตถ์เลขา [อ่าน.....] สรุปว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย [เป็นการถาวร - สมศักดิ์] จนกว่าการพิจารณาคดีสวรรคตจะเสร็จสิ้น"


.................................


ช่วงปี 2493-94 หลังจากเสด็จกลับไปยุโรป หลังจากทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษกแล้ว เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีทรงตั้งพระครรภ์ รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญให้ทรงเสด็จมาทรงประสูติในประเทศไทย เพื่อจะได้ประกอบพระราชพิธีให้ถูกต้องตามพระราชประเพณีแต่โบราณกาล (รัฐบาลได้ใช้ความพยายามไม่น้อยในการกราบบังคมทูลเชิญ) แต่ทรงยืนยันปฏิเสธ


....................................


การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยเป็นการถาวรในปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นธันวาคม 2494 นั้น มีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2494 ให้ประหารชีวิตนายชิต สิงหเสนีย์ ในความผิดสมรู้ร่วมคิดปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ .....

....................................

หมายเหตุ : ผมไม่ได้ทำเชิงอรรถอ้างอิงข้อมูลข้างต้น เนื่องจากนี่เป็นเพียงบันทึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างบทความเท่านั้น ในตัวบทความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีเชิงอรรถอ้างอิงครบถ้วน


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มา : แบ่งออกเปนสองส่วนตามนี้..

เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน : ข้อมูลประวัติศาสตร์ (1): ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมช...

เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน : ข้อมูลประวัติศาสตร์ (2): ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมช...

ไม่มีความคิดเห็น: