หนทางสู่ประชาธิปไตย?
“ภูฏาน” ราชอาณาจักรในฝันของสาวๆ ชนชั้นกลางไทย ที่โอ้อวดเอาเรื่อง"ความสุขมวลรวมประชาชาติ" (Gross National Happiness: GNH) มากดหัวประชาชน เริ่มเปลี่ยนแปลงสังคมให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการจัดให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบเท่านั้น
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมานี้ เป็นวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา 15 ที่นั่งจากทั้งหมด 25 ที่นั่ง โดย 5 ที่นั่ง สงวนไว้สำหรับบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ และที่เหลืออีก 5 ที่นั่งจะลงคะแนนเลือกในปลายเดือน ม.ค.นี้ --- โดยรัฐบาลภูฏาณอ้างถึงปัญหาเกี่ยวกับการส่งชื่อผู้สมัครล่าช้า รวมถึงคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร
มีการคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนออกไปใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่า 300,000 คน จากประชากรประมาณ 670,000 คน
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะจัดขึ้นในเดือน ก.พ.หรือ มี.ค. ซึ่งจะอนุญาตให้พรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
แต่ยังคงมีหลายสิ่งแฝงเร้น เช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจากกษัตริย์เองหรือเรื่องปัญหาของการกำหนดคุณสมบัตินักการเมืองที่ใช้มาตรฐานสูงเกินไป อาทิ ผู้รับสมัครเลือกตั้งต้องมีอายุอย่างน้อย 25 ปีขึ้นไป ต้องจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย และไม่มีประวัติต้องคดีต่างๆ มาก่อน เป็นต้น --- ข้ออ้างเรื่องความไม่พร้อมของประชาชนยังคงใช้ได้เสมอ สำหรับชนชั้นปกครองในแต่ละที่
เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศภูฏานสู่ความทันสมัย อันเป็นแผนการของกษัตริย์องค์เก่า จิกมี สิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบบสมบูรณาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) สู่ระบบรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์ก็ยังคงมีอำนาจอยู่ (constitutional monarchy) ซึ่ง จิกมี สิงเย วังชุก ได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyal Wangchuck) ลูกชายวัย 27 ปีผู้จบการศึกษาจากออกฟอร์ดของเขา เมื่อปี ค.ศ.2006
สำหรับภูฏาน การเลือกตั้งครั้งนี้มองได้สองมุมมอง หนึ่ง มองแบบโรแมนติกทั่วไปคือ สถาบันกษัตริย์ผู้มีเมตตากำลังปล่อยวางและริเริ่มให้ประชาชนอันเป็นที่รักที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า ให้รู้จักริเริ่มปกครองกันเองด้วยระบอบประชาธิปไตย
หรืออีกมุมมองก็คือ เป็นแค่เพียงการพยายามปรับปรุงรูปแบบการกดหัวประชาชน ให้ยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
เพราะที่เนปาลเพื่อนบ้านใกล้เคียงของภูฏาน ประชาชนและรัฐบาลประชาชนของเนปาลได้มอบของขวัญชิ้นสำคัญให้แก่โลก ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา คือ การเตรียมยกเลิกระบบกษัตริย์และประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ และตั้งรัฐสภาตามระบอบรัฐธรรมนูญ --- โดยการผลักดันของกองกำลังลัทธิเหมาอิสต์ (Maoist) มาตลอดในระยะเวลาหลายปีที่ต้องการโค่นล้มสถาบันนี้
สิ่งนี้เองทำให้ภูฏานเองต้องหนาวๆ ร้อนๆ ออกอาการในวันเลือกตั้งด้วยการปิดชายแดนชั่วคราว เนื่องจากความหวาดหวั่นกองกำลังลัทธิเหมาอิสต์ในเนปาลจะเข้ามาปั่นป่วนการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ยังมีสิ่งน่ารังเกียจหลายอย่างของการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภูฏานที่อ้างเรื่องความสุขลมๆ แล้งๆ และฉากทิวทัศน์ดั่งสวรรค์บังหน้า
ภูฏานกับความน่ารังเกียจที่ถูกปกปิด
ภูฎานเป็นประเทศที่ชอบอ้างถึงเรื่องนามธรรม เช่นเรื่องของความสุขที่ต้องมาก่อนเรื่องวัตถุ แต่กระนั้นไม่ได้ตีความว่าความสุขของใครชัดเจน ประชาชน? หรือ วงศ์วานของกษัตริย์?
สำหรับวงศ์วานกษัตริย์แล้ว แน่นอนว่าความสุขความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของพวกเขามีเหลือเฟือ เพราะพวกเขาได้รับการอารักขาอย่างแน่นหนา โดยกองกำลังของภูฏานนั้นรวมไปถึงหน่วยที่เรียกว่ารอยัลบอดีการ์ด (Royal Bodyguard) ที่คอยคุ้มกันคนของราชวงศ์โดยเฉพาะ และยังมีตำรวจภูฎาน (Royal Bhutan Police) ซึ่งทั้งหมดมีประมาณ 6,000 นาย โดยได้รับการฝึกฝนจากกองทัพอินเดีย
ค่าใช้จ่ายสำหรับกองกำลังซึ่งมีหน้าที่ป้องกันของกษัตริย์นี้มีรวมกันถึง 13.7 ล้านเหรียญต่อปี คิดเป็น 1.8% ของ GDP ทั้งหมดของประเทศ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านชาติพันธุ์และการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกษัตริย์อย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ประมาณการกันว่ามีผู้ลี้ภัยจากภูฏานไปในเนปาลถึงประมาณ 120,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับประชากรประมาณ 670,000 คนนั้น เทียบเป็นสัดส่วนได้ถึง 1 ต่อ 6 ของประชากร ที่ต้องระหกระเหินไปมีความสุขแบบพอเพียงที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน
จากบทความ ภูฏานและผู้ลี้ภัยการเมืองที่โลกลืม (ขออภัยที่อาจทำให้ใครอกหัก) งานแปลของภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่แปลจาก Murari R. Sharma, "Shaking Up Bhutan" (Silver City, NM and Washington, DC: Foreign Policy In Focus, December 28, 2006). http://fpif.org/fpiftxt/3828 ได้ให้ภาพอีกมิติหนึ่งของภูฏาน ที่คนไทยส่วนใหญ่มักหลงใหลได้ปลื้มกับภาพผิวนอกของทั้งกษัตริย์และโปสการ์ดที่ดูดีน่าชื่นชม …
เต็ก นาธ รียัล (Tek Nath Rijal) เคยเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์จิกมี สิงเย วังชุก เขาถูกจำคุกและถูกทรมานถึง 9 ปี เพราะการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รียัลเขียนลำดับความไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ Nirvasan (ลี้ภัย) ถึงการที่กษัตริย์ทรงบดขยี้ขบวนการด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งก่อตัวขึ้นเพื่อยึดอำนาจให้อยู่มือ ขั้นแรก รัฐบาลในนครหลวงธิมปูจำกัดสิทธิของชุมชนชาวเนปาลในการเคลื่อนย้ายและถือครองทรัพย์สิน จากนั้น รัฐบาลยัดเยียดภาษา, การแต่งกายและวัฒนธรรมของชาวทิเบตที่เป็นชนชั้นปกครองแก่ชุมชนเชื้อชาติอื่นซึ่งมีอยู่ถึงเกือบสองในสามของประชากรภูฏาน
การประท้วงปะทุขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 และรัฐบาลใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรง รัฐบาลเปลี่ยนกฎหมายสัญชาติใน ค.ศ.1988 ถอนสัญชาติของผู้ประท้วงและเนรเทศออกนอกประเทศ เนื่องจากผู้ถูกเนรเทศส่วนใหญ่มีเชื้อสายเนปาล พวกเขาจึงรอนแรมมาอาศัยอยู่ในเนปาล และมีประชาชนอพยพตามออกมาอีกเพราะถูกคุกคามหรือเพราะความกลัว …
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปิดกั้นสื่ออย่างแข็งขันของรัฐบาลภูฏานเอง ก็ทำให้ประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ และแสดงออก ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นการตัดตอนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยให้กับประชาชนภูฎาน
การค้ำยันระบอบกษัตริย์เป็นประมุข
อันมีประชาธิปไตยเป็นคำอ้าง
สำหรับปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาว่าเป็นรัฐแห่งความสุข, ธุรกิจท่องเที่ยวและไฮโดรอิเล็คทริก --- สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชาวโลกจ้องมองภูฏานมากขึ้น
รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของประชากรและผลกระทบจากการผลักไสประชากรกว่า 1 ใน 6 ออกไปจากมาตุภูมิ --- นี่คือปัจจัยภายในที่จะทำให้คนภูฏานรุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามกับสังคมภูฎานที่ถูกสต๊าฟแช่แข็งไว้เป็นดั่ง “สวนสัตว์มนุษย์” ที่ไม่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มาช้านาน
ระบอบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่มานานแสนนานจึงต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ นั่นคือวิสัยทัศน์ของ จิกมี สิงเย วังชุก อดีตกษัตริย์ภูฏาน --- และคำว่า “ประชาธิปไตย” จึงเป็นคำตอบสำคัญอันหนึ่ง
ในส่วนตัวผู้เขียน เข้าใจมาเสมอว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่มีคำอื่น หรือรูปแบบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง และถึงแม้มันจะมีคำต่างๆ หรือรูปแบบต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ก็ขอให้มันพอเป็นพิธีการ สัญลักษณ์เท่านั้น และคำหรือรูปแบบต่างๆ นั้นก็ขอกรุณาอย่าเข้าไปจ้ำจี้จ้ำไชชี้แนะแนวให้กับการเลือกที่จะอยู่กันเองปกครองกันเองของประชาชน
เพราะถ้าจะเป็นประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์จะต้องถูกล้มเลิก หรือทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีอำนาจแทรกแซงทางการเมือง เท่านั้น
ในกรณีภูฏานผู้เขียนมองเห็นเพียง การกำลังดิ้นอีกเฮือกของสถาบันกษัตริย์ ในการสร้างสิ่งค้ำยันให้พวกเขายังยืนอยู่บนสุดของยอดโครงสร้างสังคม ด้วยการสร้างภาพว่าเริ่มมีการสร้างประชาธิปไตยให้กับประชาชน เท่านั้นเอง
วิทยากร บุญเรือง
ประกอบการเขียน:
Bhutan sheds 100-year-old monarchy with parliamentary elections (New Kerala 31 December 2007)
Shangri-la Votes (Asia Sentinel 31 December 2007)
Press freedom essential for Bhutan democracy (Media Helping Media 22 January 2007)
Bhutan From Wikipedia, the free encyclopedia (เข้าดูเมื่อ 2 มกราคม 2550)
ภูฏานและผู้ลี้ภัยการเมืองที่โลกลืม (ขออภัยที่อาจทำให้ใครอกหัก) (ประชาไท 23 กุมภาพันธ์ 2550)
ที่มา : ประชาไท วันที่ : 3/1/2551
หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนเปนไปตามความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเอง
วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551
การค้ำยันระบอบกษัตริย์เป็นประมุข อันมีประชาธิปไตยเป็นคำอ้าง …ที่ภูฏาน
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:38 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
3 ความคิดเห็น:
มาสวัสดีปีใหม่ค่ะ ^__^
...
คงไม่ช้าไปนะคะ เพราะยังไงเป็นก็ยังเป็นปีใหม่อยู่
ปล. นับถือคุณจริงๆค่ะ.. ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนที่สามารถกลั่นบทความดีๆออกมาได้แค่ภายในไม่กี่วันขนาดนี้
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆที่นำมาแบ่งปันให้กัน
แสดงความคิดเห็น