วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

พระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์ไทย เกี่ยวกับกิจการการต่างประเทศ


ข้อความเบื้องต้น

นับแต่ที่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) ถือกำเนิดขึ้นในโลก บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้จำกัดแต่เฉพาะการปกครองบริหารภายในประเทศเท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการการต่างประเทศ (Foreign affairs) ด้วย

โดยเฉพาะบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมีมาช้านานแล้วตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) จนถึงระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy)

แนวคิดกฎหมายระหว่างประเทศในอดีตถือว่า ประมุขของรัฐเป็นผู้แทนในกิจการการต่างประเทศหรือความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมีดังนี้

พระราชอำนาจในการประกาศสงคราม

ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมีและออสเตรียฮังการี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

สำหรับพระบรมราชโองการประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นดูเหมือนว่ามีอยู่สองฉบับ คือฉบับที่เป็นภาษาไทย ซึ่งต้องการ

"ประกาศแก่บรรดาคนทั้งปวงซึ่งจะเกี่ยวข้องแก่การนี้ให้ทราบทั่วกันว่า ทางพระราชไมตรีอันเรียบร้อยซึ่งได้เคยมีอยู่ในระหว่างกรุงสยามฝ่ายหนึ่ง กับประเทศเยอรมนีกับออสเตรียฮังการีอีกฝ่ายหนึ่ง บรรลุถึงที่สุดหมดสิ้นเสียแล้วและลักษณะแห่งการสงครามได้เข้ามาตั้งอยู่แทนที่ว่านั้นด้วย...ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ณ กรุงเทพมหานคร วันที่ 22 กรกฎาคม พระพุทธศักราช 2460 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน"

อีกฉบับหนึ่งทำเป็นภาษาต่างประเทศ โดยหนังสือประกาศสงครามที่ทำกับรัฐบาลเยอรมัน มันทำเป็นภาษาอังกฤษ

แต่หนังสือประกาศสงครามแก่รัฐบาลออสเตรียฮังการีนั้นเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส


ยุคพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หลังจากที่คณะราษฎรล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 นั้น ก็ได้รับรองว่า อำนาจประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เพียงแต่พระมหากษัตริย์หาได้ใช้พระราชอำนาจนี้แต่เพียงผู้เดียวไม่ แต่ทรงใช้โดยมีคำแนะนำของกรรมการราษฎร์กำกับอยู่

ดังจะเห็นได้จากมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งบัญญัติว่า "การประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ตามคำแนะนำของกรรมการราษฎร"

ต่อมาเมื่อประเทศสยามได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศสงครามไว้เช่นเดิม

แต่ที่น่าสนใจก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เปลี่ยนจากการใช้อำนาจประกาศสงครามจากเดิมที่ให้อยู่ภายใต้คำแนะนำของ "กรรมการราษฎร์" มาเป็นอยู่ภายใต้กรอบกติกา "สันนิบาตชาติ" (League of Nations) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับสากลที่ประเทศสยามเป็นภาคีอยู่ในขณะนั้น

ในมาตรา 54 วรรค 2 บัญญัติว่า "การประกาศสงครามนั้น จะทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ"

รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 2490 และ 2492 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่างบัญญัติข้อความเหมือนกันคือ พระราชอำนาจในการประกาศสงครามเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และจะทรงประกาศได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภาแล้ว

แต่พอมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2495 มาตรา 91 ได้เพิ่มเงื่อนไขพระราชอำนาจการประกาศสงครามของพระมหากษัตริย์อีกสองข้อว่า การประกาศสงครามนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎบัตรของสหประชาชาติและต้องได้รับความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

นับเป็นครั้งที่สองที่รัฐธรรมนูญของไทยให้ความสำคัญว่าการประกาศสงครามของประเทศไทยนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยครั้งแรกนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 บัญญัติให้การประกาศสงครามนั้นต้องไม่ขัดแก่กติกาสันนิบาตชาติ


2.จอมทัพไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม"

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 5 เป็นพิมพ์เขียวให้กับรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ได้ลอกถ้อยคำจากมาตรา 5 มาเกือบจะคำต่อคำ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 2490 2495 2511 2517 2521 2534 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจของพระมหากษัตริย์มากที่สุด มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้) มาตรา 11 บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง"

เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้ยอมรับว่าพระมหากษัตริย์นอกจากจะดำรงตำแหน่ง "จอมทัพไทย" (The Thai Armed Forces) ซึ่งเป็นเพียงสัญลักษณ์และเป็นการถวายพระเกียรติให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังรับรองอีกด้วยว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจบังคับบัญชาทางทหารด้วย โดยทรงเป็น "ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง" (Commander in chief)

นอกจากนี้แล้วรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ยังสำทับอย่างชัดเจนอีกด้วยว่า กำลังทหารอยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ และการใช้กำลังทหารเพื่อการรบหรือการสงครามนั้น ต้องอาศัยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า อำนาจประกาศสงครามนั้นจะต้องได้รับคำแนะนำจาก ฝ่ายบริหารและความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติอีกด้วย

สำหรับประมุขของรัฐต่างประเทศนั้นที่ดำรงตำแหน่ง "ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร" ได้แก่ พระมหากษัตริย์สวีเดนในอดีต เช่น Charles XIV John of Sweden พระมหากษัตริย์ของประเทศสวีเดนดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึงเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี ค.ศ.1975

นอกจากนี้แล้วก็มีจักรพรรดิ (Emperor) ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรพรรดิฮิโรฮิโต ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารของประเทศญี่ปุ่น


3.พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญา

ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 มาตรา 7 บัญญัติว่า ประมุขของรัฐ (Head of State) เป็นบุคคลผู้มีอำนาจเต็มในการรับตัวบท หรือรับรองความถูกต้องของข้อบทสนธิสัญญา หรือแสดงเจตนาผูกพันตามสนธิสัญญาโดยที่มิต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)

แม้ในช่วงที่กรุงสยามจะปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงเจรจาทำความตกลงด้วยพระองค์เองแต่จะมีผู้แทนพระองค์เป็นตัวแทนการเจรจาทำสนธิสัญญา (ซึ่งก็สอดคล้องกับทางปฏิบัติของรัฐอื่นๆ ในอดีตที่ประมุขของรัฐมักจะไม่เจรจาทำสนธิสัญญาด้วยพระองค์เอง แต่จะทำโดยผู้แทนของพระองค์ โดยผู้แทนจะได้รับหนังสือมอบอำนาจเต็ม)

เช่น เมื่อครั้งที่คณะทูตชุดที่สองของประเทศฝรั่งเศสที่มีท่านทูตลาลูแบร์นั้น ได้ทำหนังสือสัญญากับอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ได้ส่งผู้แทน 2 คนเป็นผู้ทำหนังสือสัญญาคือ ออกญาพระเสด็จว่าที่พระคลัง กับออกพระศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา ฝ่ายอยุธยาได้แต่ประทับตราประจำตำแหน่งโดยหาได้เซ็นชื่อไม่

ในเรื่องนี้ลาลูแบร์ได้บันทึกในหนังสือของเขาว่า "ข้าราชการไทยมิได้เซ็นชื่อหรือประทับตราใดๆ ซึ่งจะเปนตัวหนังสือหรือเปนอักษรพิเศษไว้เลย ข้าราชการเหล่านั้นได้ประทับตราประจำตำแหน่งไว้ ซึ่งตราเหล่านั้นเปนแต่เพียงสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงมอบไว้ให้เปนเครื่องมือใช้แต่เฉพาะที่ทำการเท่านั้น"

หรือคราวที่กรุงสยามเจรจาทำสนธิสัญญาเบาริ่ง พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่ตั้งคณะผู้แทนของฝ่ายสยาม เพื่อปรึกษาหารือทำสัญญาจำนวนห้าท่านด้วยกันคือ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) คณะผู้แทนชุดนี้ถือว่าได้รับอำนาจเต็มในการเจรจาและตัดสินใจเกี่ยวข้องกับข้อสนธิสัญญาต่างๆ รวมถึงการลงนามในสนธิสัญญาด้วย

หรือคราวที่กรุงสยามทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น หนังสือสัญญาที่กรุงสยามทำขึ้นลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เป็นอรรคราชทูตผู้มีอำนาจเต็มและพระองค์ได้ทรงลงพระนามในหนังสือสัญญานี้ด้วย

เป็นที่สังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศสยามคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ไม่ได้กล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการทำ (Conclude) หนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ แต่กล่าวถึงเฉพาะพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการให้สัตยาบัน (Ratification) สัญญาทางพระราชไมตรีเท่านั้น

แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการทำหนังสือสัญญาคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 โดยมาตรา 54 บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ...ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ"

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศไว้เช่นเดียวกันในมาตรา 224 วรรค 1


4.พระราชอำนาจในการให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรี

ในอดีต อำนาจในการให้สัตยาบันสนธิสัญญาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ทูตเองเมื่อทำสัญญาแล้วก็ต้องกลับไปรายงานให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบ

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 36 วรรค 3 จะรับรองว่าการให้สัตยาบันสัญญาทางพระราชไมตรีเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์แล้ว ในวรรคแรกของมาตราเดียวกันยังรับรองว่า ผลการเจรจาการเมืองกับต่างประเทศที่กระทำโดยกรรมการผู้แทนราษฎร์จะต้องรายงานกราบบังคมทูลกษัตริย์ให้ทรงทราบด้วย การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเช่นนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

ประการที่หนึ่ง มาตรา 36 วรรค 1 ให้อำนาจแก่กรรมการราษฎร์ค่อนข้างกว้างขวางในการ "เจรจาการเมืองกับต่างประเทศ" คำว่า "การเมือง" นั้นมีความหมายกว้างขวางซึ่งอาจเป็นเรื่องใดก็ได้หากเกี่ยวข้องกับ "กิจการการต่างประเทศ" (Foreign affairs) ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องการทำสนธิสัญญา

ประการที่สอง บทบาทพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนเหลือแต่เพียงให้ "รับทราบ" ความคืบหน้าของผลการเจรจาที่กระทำโดยกรรมการราษฎรเท่านั้น

พระมหากษัตริย์หามีพระราชอำนาจในการแก้ไขเสนอแนะ หรือไม่เห็นชอบผลการเจรจาไม่


5.พระราชอำนาจในการแต่งตั้งทูตไทยไปประจำต่างประเทศและรับพระราชสาส์นตราตั้งทูตต่างประเทศ

ตามอนุสัญญากรุงเวียนนา เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มแต่งตั้งโดยประมุขของรัฐ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการฝ่ายพลเรือนในระดับตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า

ซึ่งตำแหน่ง "เอกอัครราชทูต" นั้นเทียบได้กับระดับ 10 (ซี 10) คือเท่ากับตำแหน่ง "อธิบดี" ในขณะที่ "อุปทูต" แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเมื่อจะแต่งตั้งนักการทูตผู้ใดไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแล้ว จะมีการประกาศพระบรมราชโองการและออกพระราชสาส์นตราตั้ง

โดยพระราชสาส์นตราตั้งมีข้อความกลางๆ ว่าประมุขของรัฐผู้ส่งแจ้งให้ประมุขของรัฐผู้รับทราบว่า ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นทูตและขอให้ประมุขของรัฐผู้รับไว้ใจให้ความเชื่อถือและช่วยเหลือการงานของทูตนั้นๆ


บทส่งท้าย

แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่บทบาทของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับกิจการการต่างประเทศก็ยังคงมีอยู่ ดังสะท้อนให้เห็นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งในอดีตและปัจจุบัน


ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา : รัฐสภาไทย : ข่าวสารบ้านเมือง

ข้อสังเกต เรื่องการสั่งห้ามขายหนังสือ A Coup for the Rich


ผมมีข้อสังเกต จากความรู้สึกเป็นปริศนา เรื่องนี้เล็กน้อย

ไม่แน่ใจว่าจะถูกหรือไม่ เป็น speculation

คือ เริ่มแต่จดหมายจากสันติบาลถึง สุลักษณ์ ที่ฟ้าเดียวกัน เอามาตีพิมพ์

ผมแปลกใจจดหมายนั้นมาก เพราะ

(ก) อ.สุลักษณ์ ลดการพูดถึงสถาบันลงอย่างมาก (นี่ไม่เชิงการวิจารณ์ ใครที่โดนข้อหา ม.112 ค้ำอยู่ ย่อมมีความลำบาก)

(ข) มิหนำซ้ำ อันที่จริง ครั้งหลังๆ ที่ อ.สุลักษณ์ พูดถึงสถาบันฯ คือ การพูดในแง่เล่นงานทักษิณ (ทักษิณ "ไม่จงรักภักดี" "เลวกว่าสฤษดิ์ ที่ยังจงรักภักดี")

ผมจึงประหลาดใจว่า ทำไมจึงมีจดหมายในลักษณะนั้น

แล้วผมได้ความคิด หรือ "สมมุติฐาน" ขึ้นมาอันหนึี่ง คือ อ.สุลักษณ์ เป็นผู้ที่มีแนวโน้มว่า ถ้าฝรั่งจะมาถามเรื่องสถาบัน จากคนไทย จะไปถาม อ.สุลักษณ์ มากกว่าใคร

พูดอีกอย่างคือ สันติบาล เตือนสุลักษณ์ ไม่ใช่ในแง่ สิ่งที่สุลักษณ์พูดเร็วๆนี้ แต่เป็นการเตือน เพื่อ กัน เรื่องการพูดกับฝรั้่ง

ถ้า "สมมุติฐาน" นี้มีความเป็นไปได้

ผมสงสัยว่า กรณีหนังสือใจ อาจจะเป็นเหตุเดียวกัน คือ นีเป็นหนังสือที่เขียนเป็ฯภาษาอังกฤษ โอกาสที่จะฝรั่งจะอ่าน จะมีมากกว่า
(อันทีจริง ฝรั่งหลายคน อ่านได้เฉพาะหนังสือนี้ เมื่อต้องการข้อมูลที่มีลักษณะวิพากษ์ รปห. เพราะอ่านงานไทยอื่นๆไม่ได้ ดูฝรั่งหลายคนที่มาโพสต์ใน ฺBangkok Pundit หนังสือเล่มนี้ "ดัง" พอสมควร ในหมู่ฝรั่ง พวก expat และอื่นๆ (ที่อ่านไทยไม่ได้) )

พูดกันตรงๆ (คล้ายกรณีสุลักษณ์) ผมไม่คิดว่า หนังสือ ใจ เป็นงานทีดีนัก ใจ ยังคงลักษณะ dogmatism อย่างคงเส้นคงวา แม้แต่ central concept ผมว่า ผิด มากๆ ถ้า coup นี้ เราเรียกว่า coup for the rich ก็ไม่มีประโยชน์อะไรในแง่การทำความเข้าใจ coup นี้ คือ ไม่เข้าใจ differentia specifica ของ coup นี้

ไม่ต้องอะไรมาก ไม่รู้สึกเป็นการตลก ที่พูดว่า coup for the rich กับ coup ที่โค่น one of the richest man หรือ?แน่นอน ใจ อธิบาย แบบ dogmatic ตามแบบฉบับของเขา ว่า rich อย่างทักษิณ กับ "ทหาร" ก็ "ไม่ต่างกัน" เป็น "นายทุน" เหมือนกัน (ดูบทความเรื่องสถาบันฯของเขาในประชาไท)

วิธีการมองอะไรแบบ "ชนชั้นปกครอง ก็คือ ชนชั้นปกครอง ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย" พร้อมๆกับที่วา คนอื่นเป็น maoist (ทั้งๆที่ คนที่เขาระบุนี่ แม้แต่เกษียร!! ไม่เชื่อเรื่อง maoism ไปเป็นชาติแล้ว) อันทีจริง ชวนให้ผมนึกถึงอะไรรู้ไหม? .. ผมกำลังสอน ประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซีย และ ปรัชญา ปวศ.มาร์กซิสม์ .. คือ นึกถึง ช่วงที่เรียกว่า Third Period ของสตาลิน (1928-1935) ที่มองว่า พวก Social Democracy คือส่วนหนึี่งของ Fascism อะไรทำนองนั้น วิธีมองว่า "ชนช้นนำ" ที่ใช้รัฐสภา กับ ชนช้นนำ ที่ใช้ ทหาร ใช้ระบอบกษัตริย์ ไม่มีความแตกต่างอะไร เป็นชนช้นนายทุนเหมือนกัน ช่างไร้เดียงสาอะไรประมาณนั้น(ความไม่รู้ในทางทฤษฎีอื่นๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการถกเถียงเรื่อง Bourgeois Revolution แม้แต่ในกรณีอังกฤษเอง ก็นับว่าน่าละเหี่ยใจ .. )

ขออภัยที่พูดอ้อมเสียยาว ประเด็นเพื่อจะบอกว่า หนังสือ ใจ ในความเห็นผม ไม่ใช่หนังสือที่ดีนัก และแม้แต่ประเด็นเรื่องสถาบันเอง ก็ไม่ใช่งานที่มีลักษณะแหลมคมเป็นพิเศษในเรื่องนี้?

ถ้างั้น ทำไมจึง "แบน" ...?

ผมสงสัยว่า อาจจะเหมือนกับกรณีสุลักษณ์?

เรื่องนี้ ความจริง โยงกับประเด็นหนึี่งที่ "สร้างความกังขา" ผมมาระยะหนึี่ง คือ...

พูดแบบง่ายๆนะ "ทำไม เว็บนี้ ถึงเปิดอยู่ได้วะ?"
[ เว็บฟ้าเดียวกับ : เจ้าน้อย ]
(ไม่ต้องพูดถึง กรณี "พระยาพิชัย" ที่เข้าใจว่า เลิกดำเนินการไปแล้ว)

ผมมมีสมบุติฐานคร่าวๆว่า ฝ่ายรัฐกำลังใช้นโยบาย ที่พุ่งเป้าเฉพาะกรณีที่กระทบถึง "ฝรั่ง" หรือถึง "เมืองนอก"แต่ใช้นโยบายอีกอย่างในกรณีในประเทศ??


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มา : เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน : ตำรวจนครบาลสั่งห้ามขายหนังสือ A Coup for the Rich

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

ภายใต้ความรุ่งโรจน์ ( ของกษัตริย์ และขุนนาง )


ความรุ่งโรจน์ของกรุงศรีอยุธยาที่คนส่วนใหญ่รับรู้กันมักถูกมองว่า เป็นเพราะพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงเหล่าขุนนาง แต่ในความเป็นจริงยังมีไพร่ที่มีบทบาทสำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังมีแง่มุมด้านมืดแฝงอยู่ด้วย เมธี ดวงประเสริฐ ประมวลเอกสารและแง่มุมจากนักประวัติศาสตร์-โบราณคดี ต่อการรับรู้กระแสหลักนี้

ใน 'กำสรวลสมุทร' หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า 'กำสรวลศรีปราชญ์' อันเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา แม้ในสมัยรัชกาลที่ 1 อันเป็นเวลาที่อยุธยาเสื่อมอำนาจไปแล้ว

ผองชนในเวลานั้นยังคงสำนึกถึงความรุ่งโรจน์ของอยุธยาได้เป็นอย่างดีดังที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้ทรงเคยได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งก่อนที่จะเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 ทรงพรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศซึ่งมีความมั่งคั่งร่ำรวยและความสุขสำราญไว้ใน 'เพลงยาวไทยรบพม่า' ตอนหนึ่งความว่า


...ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร ทุกถิ่นฐานบริบูรณ์หนักหนา อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน เชยชื่นเป็นสุขเกษมศรี...


การที่ความรับรู้ของคนทั่วไปเป็นเช่นนั้น บางทีอาจมาจากการที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งบอกเล่าเหตุการณ์สมัยอยุธยาเกือบทั้งหมด ตกทอดมาในลักษณะของพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาที่มีพระมหากษัตริย์

เหล่าเชื้อพระวงศ์ กลุ่มขุนนางเป็นแกนหลักและกลไกสำคัญในการบริหารบ้านเมือง ทำให้ประชาชนทั่วไปของอยุธยาในขณะนั้นซึ่งดำรงความเป็น 'ไพร่' ตามสถานะทางสังคมที่ถูกกำหนดด้วยระบบศักดินาอันเป็นกลไกชนิดหนึ่งในการควบคุมกำลังคนของผู้ปกครอง แทบจะไม่ได้มีพื้นที่ในการปรากฏบทบาทของตน

ที่จริงแล้วไพร่สมัยอยุธยามีบทบาทสำคัญมากทั้งในฐานะที่เป็นผู้ค้ำจุนรากฐานทางเศรษฐกิจ เป็นกำลังคนที่ทรงอิทธิพลในทางการเมือง และเป็นกลุ่มคนที่สืบทอดความคิดภูมิปัญญาของสังคม

แม้จะมีการกล่าวถึงไพร่อยุธยาในเอกสารของชาวต่างชาติ เช่น ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส หรือในบันทึกของวัน วลิต พ่อค้าฮอลันดาก็ตาม แต่การที่เรื่องราวในเอกสารเหล่านั้นจำกัดอยู่ในวงแคบและมีผู้สนใจเพียงกลุ่มน้อย ทำให้เนื้อหาในบันทึกเหล่านั้นไม่เคยถูกรับรู้โดยคนส่วนใหญ่ของสังคม

หากเปรียบอยุธยาเป็นเหรียญเงินเหรียญหนึ่ง ความรุ่งโรจน์ของอยุธยาภายใต้การนำของชนชั้นปกครองย่อมเป็นด้านหนึ่งของเหรียญ แต่ยังมีเหรียญอีกด้านที่คนทั่วไปไม่ใคร่ตระหนัก

ไพร่คืออะไร?

ไพร่ คือสถานะทางสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ของอยุธยา นอกเหนือจาก ขุนนาง พระสงฆ์ และทาส ไพร่แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 'ไพร่หลวง' ซึ่งมีหน้าที่มาเป็นแรงงานให้ราชการ และ 'ไพร่สม' ที่เป็นแรงงานส่วนตัวของขุนนาง ในกรณีของไพร่ที่อยู่ห่างไกลมากหรืออยู่ในที่กันดาร มาเข้าเวรเกณฑ์แรงงานลำบาก สามารถส่งส่วยเป็นสิ่งของมาให้ทางราชการแทนการมาใช้แรงงานได้ กลุ่มนี้เรียกว่า 'ไพร่ส่วย'

อัญชลี สุสายัณห์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงหน้าที่ของไพร่ไว้ในหนังสือเรื่อง 'ไพร่สมัย ร.5 ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' ว่า


"พันธะตามปกติของไพร่ทั่วๆ ไปคือการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า การเข้าเวรหรือการเกณฑ์ราชการ มิฉะนั้นก็ต้องส่งผลผลิตหรือเงินเป็นส่วยแทนแรงงาน ทุกครั้งที่มีการเกณฑ์ราชการไพร่จะต้องนำสัตว์ เช่น ช้าง วัว หรือควาย เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเสบียงอาหารติดตัวมาเข้าเวรด้วย

งานที่ต้องทำมีทั้งงานโยธา ทำการเกษตร เป็นกำลังรบหรือทำงานตามคำสั่งมูลนาย มีบ่อยครั้งที่ไพร่จะถูกเกณฑ์ราชการเพิ่มจากปกติโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพื่อมาทำงานอย่างสร้างพระเมรุทำถนนหรือพลับพลารับเสด็จและเป็นกำลังคุ้มกันให้ขุนนางข้าราชการที่ต้องเดินทางไปราชการยังหัวเมืองหรือออกนอกพระราชอาณาเขต"


หากใครที่เคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ จะพบว่า ตัวละครที่เป็นไพร่หลวงนั้นสบายกว่าไพร่สม เพราะตัวไพร่สมมักจะถูกใช้แรงงานอย่างหนักจากขุนนาง ในขณะที่ไพร่หลวงที่ขึ้นกับพระมหากษัตริย์และระบบราชการกลับได้ทำมาหากินตามปกติ ในประเด็นนี้ ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แย้งว่าภาพลักษณ์ของไพร่ที่คนทั่วไปรับรู้ผ่านละครนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงๆ แล้วไพร่หลวงถูกใช้งานหนักกว่าไพร่สม


"ทั้งทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ การเกณฑ์แรงงานไพร่ค่อนข้างโหดเหี้ยมอยู่ แต่ที่น่าสนใจ ผมว่ามันอยู่ที่ว่า ทำไมไพร่หลวงถึงได้อยากหนีเป็นไพร่สมในตอนปลายสมัยอยุธยา ถ้าดูแบบละครช่อง 7 ว่า ไพร่สมอยู่ภายใต้ขุนนางเจ้านายมันน่าจะลำบาก ถูกเขาเอาเปรียบใช้อะไรต่ออะไร แล้วไพร่หลวงก็คนของหลวง แต่จริงๆ มันตรงกันข้าม ไพร่หลวงนี่ต้องทำทุกอย่าง เข้าเดือนออกเดือนตั้งครึ่งหนึ่งของปี แทนที่จะไปทำงาน จะได้อยู่กับลูกเมีย ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ไพร่หลวงจะหนีไปเป็นไพร่สม"


ด้าน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาชื่อก้อง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง 'กรุงศรีอยุธยาของเรา' เสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งว่าไม่ควรใช้สายตาของคนสมัยนี้ไปมองคนสมัยก่อน


"ไพร่อยุธยาไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่ อยุธยานี้อาหารการกินมีเต็มที่ ตอนนั้นเราไม่บ้าเรื่องวัตถุนิยม คนไทยมีกินได้ตลอดปี อาหารการกินเครื่องนุ่งห่มมีทั้งนั้น การเกณฑ์แรงงานก็เป็นเรื่องปกติ รัฐต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคต่างก็เกณฑ์แรงงานจากประชาชนของตนทั้งนั้น"


ท่ามกลางระบบควบคุมกำลังคนที่ไพร่ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมที่มีต่อการเกณฑ์แรงงานอยู่ตลอดเวลามีผลทำให้ชีวิตของไพร่อยุธยาถูกบีบคั้นมากขึ้น ซึ่งอาจารย์อัญชลีได้อธิบายไว้ในหนังสือไพร่สมัย ร.5ฯ ว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเกณฑ์แรงงานคือ สงคราม ความวุ่นวายภายในและโรคระบาด


สงคราม :
การกวาดต้อนและความสูญเสีย


ในสมัยอยุธยาการทำสงครามระหว่างรัฐดูจะเป็นเรื่องปกติ ด้วยเหตุที่อุดมการณ์ของกษัตริย์สมัยรัฐจารีตนั้น ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผูกพันอยู่กับการเป็นราชาธิราชซึ่งหมายถึงการเป็นราชาที่อยู่เหนือราชาองค์อื่นๆ หากในทางปฏิบัติแล้ว การทำสงครามในสมัยอยุธยามีจุดประสงค์เพื่อการกวาดต้อนผู้คนและปล้นชิงทรัพย์สมบัติ ดังที่อาจารย์ธีรวัตได้ให้ความเห็นว่า


"สงครามสมัยนั้นไม่ได้รบกันเพื่อขยายเขตแดน แต่เพื่อปล้นทรัพย์สินและปล้นคนซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำสงครามของกษัตริย์และเจ้านายสมัยก่อน เพราะด้วยการคมนาคม ระยะทางที่ห่างไกลมากระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ จะเอากองทัพมาประจำมายึดครองแบบกองทัพสมัยใหม่คงทำไม่ได้ การกวาดต้อนจึงเป็นเรื่องที่อย่างน้อยก็ได้กำลังคน กำลังคนนี่สำคัญกว่าเงินทองอีก เพราะกำลังคนเป็นแรงงานในยามสันติ เป็นทหารในยามสงคราม"


ตัวอย่างของการกวาดต้อนผู้คนมีปรากฏใน 'พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)' โดยพระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้ระบุถึงการกวาดต้อนไพร่จากอยุธยาไปยังหงสาวดีเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พระเจ้าบุเรงนองเมื่อปี พ.ศ.2112 ความว่า "พระเจ้าหงสาวดีก็ให้เทเอาครัวอพยพชาวพระนคร...ส่งไปเมืองหงสาวดี"

อาจารย์ศรีศักรได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกวาดต้อนผู้คนในการทำสงครามว่าเหมือนกับการโดนไล่ที่


"ชีวิตคนปักหลักอย่างมีความสุข พอถูกกวาดต้อนมันก็เดือดร้อนทั้งนั้น แต่เมื่อกวาดต้อนไปแล้ว เขาก็ไม่ได้ทารุณ ลำบากบ้างในการปรับตัว มันก็เหมือนโดนไล่ที่แล้วต้องไปอยู่ที่ใหม่ก็ต้องปรับตัวใหม่"


นอกจากการถูกกวาดต้อนแล้ว ไพร่อยุธยายังต้องเผชิญกับการสูญเสียชีวิตระหว่างสงครามอันเนื่องมาจากการที่ไพร่อยุธยาเป็นกำลังสำคัญของชนชั้นปกครองในการทำสงครามกับรัฐรายรอบ ใน 'คำให้การชาวกรุงเก่า' ได้ให้ภาพของสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ตอนหนึ่ง ดังนี้


...ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ทราบว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพมาดังนั้น ก็จัดขบวนทัพใหญ่ยกออกมาตั้งรับนอกพระนคร ครั้น 2 ทัพ ปะทะกันแล้ว ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พลปืนต่อปืนก็เข้ารบกัน พลช้างต่อช้าง พลม้าต่อม้า พลทวนต่อทวน พลดาบต่อดาบก็เข้ารบกัน ควันปืนกลุ้มตลบไปทั้งอากาศ ไม่เห็นแสงตะวัน ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเป็นอันมาก...


รัฐประหาร :
บ่อเกิดความวุ่นวายภายใน


อาจารย์ธีรวัต แจกแจงถึงความลำบากที่ไพร่อยุธยาได้รับจากการชิงอำนาจกันของชนชั้นปกครองว่า

"การเมืองอยุธยามันเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน ระหว่างเจ้านายกับขุนนาง ขุนนางกับขุนนาง ระหว่างเจ้านายกันเอง รัฐที่มีราชสำนักเป็นองค์กรหรือสถาบันที่สำคัญก็จะเกิดการช่วงชิงอำนาจ ซึ่งบ่อยครั้งต้องใช้ความรุนแรง คนที่อยู่ในระบบไพร่ก็ลำบากเป็นธรรมดา เขาจะรบกันคุณก็ต้องไปเป็นกำลังในกองทัพของเขา"

"เมื่อเจริญขึ้นมากผลประโยชน์มันก็มากขึ้น เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งมีการชิงราชสมบัติกันอยู่เรื่อย โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมลงมา ความอ่อนแอความแตกแยกเกิดขึ้นทั้งข้างในและข้างนอก พวกขุนนางไม่ว่าจะในอยุธยาหรือตามหัวเมืองต่างมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ อยุธยาจึงกลวง" อาจารย์ศรีศักร อธิบายถึงเหตุผลสำคัญของความวุ่นวายภายในกรุงศรีอยุธยา และยังกล่าวต่อว่า "ปลายสมัยพระเจ้าท้ายสระ ตอนที่พระเจ้าบรมโกศขึ้นครองราชย์นี่ก็ฆ่ากันแหลกเลย"


เหตุการณ์ที่อาจารย์ศรีศักรเอ่ยถึง มีปรากฏอยู่ใน 'พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)' ความว่า


...ครั้นปลายเดือนยี่ ล้นเกล้าฯ(พระเจ้าท้ายสระ)เสด็จสวรรคตแล้ว ฝ่ายข้างวังหลวงให้หลวงชัยบูรณ์ยกทัพ...ไปทางชีกุน เลี้ยวขึ้นไปทางวัดกุฎีสลัก ฝ่ายข้างพระราชวังบวรสถานมงคล(พระเจ้าบรมโกศในเวลาต่อมา)ยกออกรบ ตัดเอาศีรษะหลวงชัยบูรณ์ไปได้ทัพก็แตกลงมา...


โรคระบาด :
ภัยร้ายจากธรรมชาติ


...โรคอย่างร้ายแรงที่สุดและสังหารชีวิตชาวสยามถี่ๆ นั้น ก็โรคป่วงแลโรคบิดในปีหนึ่ง โรคบาดทะพิษบาดทะยักต่างๆ โรคลมจับ โรคอัมพาต เหล่านี้ห่างๆ...อนึ่งในกรุงสยาม ก็มีโรคติดต่อกัน แต่หาใช้ห่ากาฬโรค อย่างทวีปยุโรปไม่ ตัวโรคห่าของกรุงสยามนั้นก็คือ ไข้ทรพิษ เคยเป็นขึ้นชุมและสังหารชีวิตมนุษย์วินาศเสียเอนกอยู่เนืองๆ ยิ่งกว่าอหิวาตกโรค...ไข้จับวันเว้นวันก็มีรายๆ แต่อยู่ข้างฉกาลอยู่...ด้วยเห็นอากาศฉะอุ่มฝนเสียมากเดือน...


นั่นคือเนื้อความตอนหนึ่งใน 'จดหมายเหตุลาลูแบร์' (แปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) บันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งได้บรรยายถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ ลาลูแบร์ยังอธิบายอีกว่า สาเหตุที่ทำให้อยุธยามีโรคระบาดเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ


...บ้านเมืองสยามเปนเมืองร้อนจัด พลเมืองจึงต้องอยู่จับขอบแต่ตามริมลำแม่น้ำ...เปนด้วยชาวสยามไม่ได้ไปตักน้ำมาจากลำธาร ซึ่งไม่มีข้อสงสัยละคงอยู่ไกลเกินไป ตักมาแต่ชั่วลำน้ำลำคลอง ยามน้ำเอ่ออยู่น้อยหรือมากวัน ตามแต่หน้าน้ำ น้ำจะท่วมสูงหรือต่ำ หรือเวลาน้ำไหลลงเชี่ยวหรือไม่เชี่ยว เพราะเมื่อเวลาน้ำไหลลงงวด น้ำก็ขุ่นเปนโคลนตม และบางทีก็เซิบด้วยยางที่ร้ายๆ

ซึ่งชะลงมาจากแผ่นดินหรือน้ำกลับไหลขึ้นเข้าไปในลำคลองที่เกรอะกรังอยู่ด้วยโคลนเลน โสโครกพอที่จะทำให้เกิดโรคบิดและโรคต่างๆ บรรดาจะดื่มให้ปราศจากภยันตรายมิได้ นอกจากชาวสยามใช้ตักมาขังไว้ในตุ่มหรือระบายเข้ามาไว้ในสระ ในบ่อ ให้สิ่งโสโครกนอนจุพอใช้ไปได้สัก 3 สัปตวารหรือเดือนหนึ่ง...


ขณะที่ เอนก สีหามาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 จ.อยุธยา อธิบายถึงโรคระบาดในสมัยอยุธยาว่า


"โรคระบาดที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยามีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือที่ทำให้ตายทันที เช่น ตอนต้นอยุธยา ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีขบวนสินค้าจากจีนแวะค้าขายตามเมืองท่าต่างๆ จนถึงยุโรป ได้นำไข้ดำ (Black Death) ผ่านมาทางอยุธยา โรคนี้ไปทำลายเลือด ทำให้ตายทันที อีกแบบหนึ่งคือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่ตายในทันทีทันใด อย่างโรคอหิวาต์ซึ่งเกิดจากการที่เวลาน้ำท่วมมันพาสิ่งโสโครกที่มาจากสัตว์บ้างคนบ้างมาด้วย"


ชีวิตของไพร่อยุธยานั้น การเข้าเวรเกณฑ์แรงงานที่ตามปกติถือว่าเป็นภาระหนักอยู่แล้ว เมื่อรวมกับปรากฏการณ์ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่เกิดขึ้นก็ยิ่งมีผลทำให้ไพร่อยุธยาได้รับความลำบากมากขึ้นไปอีก บังเกิดผลตามมาดังที่อาจารย์อัญชลีกล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า


...ไพร่จึงพยายามหลบเลี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น หาทางเสี่ยงมาขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สมหรือบวช นอกจากนี้ไพร่ยังหาวิธีหลบเลี่ยงภาระด้วยการขายตัวเป็นทาส และหนีไปหลบซ่อนตามป่าดง ยิ่งทำให้อยุธยาประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนและยังไม่สามารถควบคุมกำลังคนได้เต็มที่ ในสมัยปลายอยุธยาปัญหาดังกล่าวสร้างความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของอาณาจักรมาก

เห็นจากในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ(พ.ศ.2275-2301) ชาวจีนเพียงไม่กี่ร้อยคนก็สามารถยกกำลังมาปล้นพระราชวัง แสดงถึงความขาดแคลนไพร่พลที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชธานีและความเสื่อมประสิทธิภาพของระบบที่ใช้ควบคุมกำลังคนมีส่วนให้เกิดความระส่ำระสาย จนนำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด...


อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นเพราะขีดความสามารถของชนชั้นปกครองในการจัดการและควบคุมกำลังคน แล้วร่วงโรยล่มสลายก็เพราะความไร้ประสิทธิภาพในควบคุมกำลังคนอีกเช่นกัน

ไพร่ซึ่งเปรียบเสมือนเลือดเนื้อที่คอยหล่อเลี้ยงรัฐอันเป็นดั่งร่างกายจึงเป็นอีกด้านของเหรียญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอยุธยา


เมธี ดวงประเสริฐ

ที่มา : โบราณคดีไทย : ภายใต้ความรุ่งโรจน์

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2551

Power To The People

by john lennon

ขอให้พลังของประชาชนรวมกันเปนหนึ่ง
เพื่อนำพาเราไปสู่...

เสรีภาพที่แท้จริง ?

ข้อมูลประวัติศาสตร์ : ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491


เมื่อต้นปีกลาย ผมได้โพสต์เผยแพร่เอกสารบันทึกลับที่เขียนโดย เคนเน็ธ พี แลนดอน (ผู้เขียน Siam in Transition และผู้แปล "เค้าโครงเศรษฐกิจ" เป็นภาษาอังกฤษคนแรก และสามีของ มาร์กาเร็ต ผู้เขียน The King and I)


Landon archive:The King and I,กรณีสวรรคตและแผนใหญ่ของควง-พี่น้องปราโมช


ตอนนั้น ผมได้เซ็นเซอร์ข้อความบางตอนออก เร็วๆนี้ ผมได้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง (เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งบทความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในช่วงทศวรรษ 2490 ที่ผมพยายามทำอยู่) และคิดว่า มีข้อความบางตอน ไม่จำเป็นต้องเซนเซอร์อีก คือส่วนที่เกียวกับพระองค์เจ้าจุมภฏและ ควง-"พี่น้องปราโมช"


เรื่องของเรื่องคือ สถานทูต-กท.ต่างประเทศอเมริกันได้รับข่าวลือเรื่อง ควง และ "พี่น้องปราโมช" เตรียมวางแผนจะสถาปนาพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ เรื่องนี้เป็นเพียง "ข่าวลือ" หรือ"ข่าวกรอง" (intelligence) ซึ่งอาจจะไม่จริงก็ได้ แต่อย่างน้อย ก็มีความน่าเชื่อถือในระดับที่สถานทูตรายงานและเจ้าหน้าที่กระทรวง (คือ แลนดอน) ทำบันทึกแสดงความเห็น


ผมไม่แน่ใจว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ความจริง-ไม่จริง ได้หรือไม่ (ว่า ควง-"พี่น้องปราโมช" มีไอเดียเรื่องนี้) ซึ่งก็เช่นเดียวกับข้อมูลจำนวนมาก ที่อยู่ในเอกสารทางการทูตของอเมริกันและอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น งานของกอบเกื้อ ทั้งเรื่อง Thailand's Durable Premier และ เรื่อง Kings, Country and Constitutions ได้อาศัยข้อมูลชุดนี้เป็นหลัก และมีหลายข้อมูล เป็นเรื่องคล้ายกันนี้ แม้บางอันจะดูน่าเชื่อถือ เพราะอ้างคำของบางคนในวงการรัฐบาลและราชสำนักเอง เช่น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง กับ พิบูล และ เผ่า โดยเฉพาะกรณีรัฐธรรมนูญ 2495 เป็นต้น


ให้ผมยกตัวอย่างหนึ่ง คือ ตามข้อมูลชุดนี้ กล่าวว่า ช่วงหลังรัฐประหาร 2490 พิบูลต้องการเป็นอภิรัฐมนตรีคนหนึ่งด้วย ผมเองไม่เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นจริง แต่ดูเหมือนทั้ง กอบเกื้อ และ Handley ที่นำไปอ้างต่อ จะเชื่อ ฯลฯ


ในเวลาไม่นานข้างหน้า ผมเข้าใจว่า จะมีนักวิชาการบางท่านนำข้อมูลบางส่วนจากข้อมูลชุดนี้มาเผยแพร่เพิ่มเติมอีก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่อง "เล็กๆ" แต่อาจจะ sensational พอสมควร จากจุดของผู้สนใจความขัดแย้งช่วง 2500 โดยเฉพาะบทบาทของราชสำนัก ในความขัดแย้งที่นำไปสู่การโค่นพิบูล-เผ่า (เท่าที่ผมได้เห็นเป็นข้อมูลทีน่าสนใจมาก)


โดยสรุปแล้ว ข้อมูลทางการทูตของอเมริกันและอังกฤษ เกี่ยวกับการเมืองไทย ยังคงมีความสำคัญและน่าสนใจยิ่ง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบความจริง (verification) บ้าง นักเรียนประวัติศาสตร์ต้องชั่งน้ำหนัก และอภิปรายความน่าเชื่อถือเป็นกรณีๆไป


เฉพาะในกรณีข่าวลือเรื่อง ควง-"พี่น้องปราโมช" นี้ ผมไม่คิดว่า สามารถยืนยันความจริงได้ดังกล่าวแล้ว แต่ประเด็นที่ผมคิดว่า เอกสารนี้ช่วยทำให้มองเห็น (และนี่คือจุดประสงค์ของการเผยแพร่ในทีนี้) คือ สถานะของรัชกาลปัจจุบัน ในช่วงปีแรกๆ มีความไม่แน่นอน หรือไม่มั่นคงสูง โดยเฉพาะในส่วนทีเชื่อมโยงกับกรณีสวรรคตของรัชกาลก่อน และโดยเฉพาะในสายตาของวงการทูต-รัฐบาลตะวันตก


คำแปล

(ส่วนที่ใส่เครื่องหมาย [........] คือข้อความที่ผมยังขอเซ็นเซอร์ ข้อความสีแดง คือข้อความที่เดิมผมเคยเซ็นเซอร์)


" ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันว่า หาก ควง อภัยวงศ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี และหากรัฐบาลของเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ตัวแทนของรัฐบาลแต่ละประเทศดังกล่าวที่กรุงเทพก็จะให้การรับรองแก่รัฐบาลควง อย่างเป็นทางการ และความสัมพันธ์กับรัฐบาลสยามก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป [ความสัมพันธ์ปกติถูกพักไว้หลังรัฐประหาร - สมศักดิ์] รัฐบาลของทั้งสี่ประเทศยังตกลงร่วมกันว่า หากคนอื่นที่ไม่ใช่ควงได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของสี่ประเทศก็จะปรึกษาหารือกัน ก่อนที่จะให้การรับรองรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ


รายงานล่าสุดเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ ที่ว่า ควง กำลังเตรียมตัวที่จะประกาศว่า [........]; ว่าในหลวงภูมิพลจะทรงสละราชสมบัติ และว่า พระองค์เจ้าจุมภฏ จะทรงเป็นกษัตริย์แทน ได้ทำให้เกิดเป็นปัจจัยใหม่ขึ้นมาในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนอย่างถึงราก การแบ่งขั้วการเมืองในขณะนี้


ในปี 1945 [ที่ถูกควรเป็นปี 1944 มากกว่า - สมศักดิ์] ควง ได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองโดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนนี้กำลังลี้ภัยในต่างประเทศ ความทะเยอทะยานของควงทำให้เกิดแตกหักกับปรีดีภายในเวลา 9 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 1947 ควงได้รับการดันขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองอีก คราวนี้โดย พิบูล หลังจากพิบูลยึดอำนาจรัฐบาลจากปรีดีด้วยการรัฐประหาร เช่นเดียวกับปรีดี พิบูลคิดว่าควงจะเป็นเบี้ยที่เต็มใจและผู้ติดตามที่ว่านอนสอนง่าย แต่ดูเหมือนว่า อีกครั้งที่ควงเองกำลังเดินหมากการเมืองด้วยความทะเยอทะยานของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกหักกับพิบูล


พิบูลขัดแย้งอย่างมากกับข้อเสนอของควงที่ว่าในหลวงภูมิพล [.......] และที่ให้ พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์แทน อาจจะเป็นความจริงที่ว่า ในหลวงภูมิพล [.......] ผมเองได้เสนอความเป็นไปได้เช่นนี้ในบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้. กล่าวในทางการเมือง ไม่เป็นสิ่งสำคัญว่า ในหลวงภูมิพล [.......]หรือไม่ หากจุดมุ่งหมายเบื้องหลังการกล่าวหานี้ คือการจัดการให้ พระองค์เจ้าจุมภฏขึ้นครองราชบัลลังก์ เพราะเรื่องนี้ก็จะเป็นเพียงความพยายามอย่างจงใจของควงที่จะฟื้นฟูอำนาจที่เคยมีอยู่


ก่อน [2475] ของสถาบันกษัตริย์ และสถาปนาให้ควงเองและพี่น้องปราโมชเป็นผู้นำของคณะนิยมเจ้าและของประเทศสยาม ดูเหมือนควงและพี่น้องปราโมชหวังว่า พวกเขาจะสามารถรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้หากพระองค์เจ้าจุมภฏได้ทรงขึ้นครองราชย์ เพราะพระองค์เจ้าจุมภฏเป็นบุคคลผู้มีวุฒิภาวะ [ประสูติ 2447 - สมศักดิ์] และมีทรัพย์สมบัติไม่น้อย ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองในราชสำนักเป็นเวลานาน มีผู้สนับสนุนพระองค์จำนวนมากในหมู่ชาวไทยและจีนในประเทศสยาม และทรงได้รับการผลักดันจากพระชายาผู้มีความทะเยอทะยาน ซึ่งในฐานะธิดาผู้หลักแหลมของอดีตเสนาบดีต่างประเทศของสยามผู้ชาญฉลาดที่สุดคนหนึ่ง [หมายถึง มรว.พันทิพย์ ธิดาคนแรกของพระองค์เจ้าไตรทศพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย - สมศักดิ์] ทรงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับเกมการเมืองทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศ


สถานการณ์ปัจจุบันถูกทำให้ปั่นป่วนทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกจากบทบาทคอร์รัปชั่น ของหลวงกาจสงคราม ผู้ให้การสนับสนุนควง และผู้ควบคุมกำลังทหารบางส่วนสำคัญไว้ด้วย การปฏิบัติแบบคอร์รัปชั่น ของหลวงกาจสร้างความไม่พอใจให้กับพิบูล ซึ่งถือว่าการคอร์รัปชั่นเช่นนี้เป็นอภิสิทธิ์ของเขาเองและต้องการให้ ลูกน้องอย่างหลวงกาจ ได้รับส่วนแบ่งในการโกงกินน้อยกว่าเขา ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพิบูลเองคอร์รัปชั่นจนรวยแล้ว จึงสามารถแสดงท่าทีเป็นผู้มีคุณธรรมต่อกรณีคอร์รัปชั่นของหลวงกาจได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองทั้งในประเทศและต่อต่างชาติ


พิบูลกับปรีดีเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองในคณะพรรคเดียวกัน ทั้งคู่คัดค้านการรื้อฟื้นอำนาจให้สถาบันกษัตริย์พอๆกัน พวกเขาไม่มีปัญหากับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่มีบริวารส่วนพระองค์ หมากครั้งนี้ของควงอาจทำให้พิบูลกับปรีดีหันมาคืนดีกันเพราะกลัวต่อความเป็นไปได้ [specter] ที่พระองค์เจ้าจุมภฏจะได้เป็นกษัตริย์ ควงกับพวกกำลังพยายามสร้างคณะการเมืองอีกคณะหนึ่งที่ต่างออกไปจากคณะที่แตกออก เป็นพวกปรีดีและพวกพิบูล [หมายถึงคณะราษฎ - สมศักดิ์] ควงไม่มีทางประสบความสำเร็จหากเขาได้รับการสนับสนุนเพียงจากหลวงกาจและกำลังทหาร ที่หลวงกาจคุม และจากพระองค์เจ้าจุมภฏและบริวารพวกนิยมเจ้า การสนับสนุนจากพิบูลเป็นสิ่งจำเป็นหากควงอยากจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ


หากเค้าลางในขณะนี้ของการหันมาคืนดีกันระหว่างพิบูลกับปรีดียังคงมีต่อไป เราก็อาจจะได้เห็นสถานการณ์พัฒนาไปเป็นแบบเดียวกับเดือนธันวาคม 1938 เมื่อ พิบูลกับปรีดี รู้สึกว่า ต้องการอีกฝ่ายหนึ่ง และร่วมมือกันจัดต้งรัฐบาลผสมขึ้นมา "





ในหลวงทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับประเทศไทย จนกว่าคดีสวรรคตจะเสร็จสิ้น (2491)


ความจริง สถานการณ์ที่ประเทศสยาม-ไทย ไม่มีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศอย่างถาวรเป็นเวลาประมาณเกือบ 20 ปี (2477-ธันวาคม 2494) ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของรัฐบาล ทั้งรัฐบาลคณะราษฎรในปลายทศวรรษ 2470 และต้นทศวรรษ 2480 หรือรัฐบาลปรีดี ช่วงปลายทศวรรษนั้น และรัฐบาลคณะรัฐประหารในครึ่งแรกของทศวรรษต่อมา


แต่มาจากความปรารถนาของฝ่ายราชสำนัก ขององค์พระมหากษัตริย์และพระญาติเอง ด้วยเหตุผลที่ต่างๆกันไป


ทุกรัฐบาล มีการกราบบังคมทูลเชิญด้วยหนังสือหรือด้วยวาจาให้เสด็จกลับประเทศ หรือกราบบังคมทูลเชิญ ให้ประทับต่อ ไม่เสด็จกลับไปต่างประเทศ หลังการเสด็จนิวัตรพระนคร แต่ได้รับการยืนยันในเชิงปฏิเสธทุกครั้ง


กรณีที่สำคัญ คือ ช่วงที่ในหลวงอานันท์เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ (2478) และกรณีที่ทรงเสด็จนิวัตรพระนครครั้งที่สองในปี 2488-2489 รัฐบาลปรีดีก็ได้เสนอให้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นการถาวร โดยเสนอจะจัดหาพระอาจารย์มาให้การศึกษา แต่ทรงยืนยันจะเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ในที่สุด มีหมายกำหนดการจะเสด็จกลับไปยุโรปในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 แต่เพียง 4 วันก่อนกำหนดเสด็จ ก็ทรงสวรรคตด้วยพระแสงปืน...


หลังกรณีสวรรคตและพระอนุชาได้รับการรับรองจากสภาฯให้ขึ้นครองราชย์ เป็นในหลวงองค์ปัจจุบัน ความจริง รัฐบาลปรีดีก็ต้องการให้ทรงประทับในประเทศไทย แต่ทางราชสำนักยืนยันว่าในหลวงองค์ใหม่จะเสด็จกลับไปต่างประเทศ


ผมยกความจริงเรืองนี้ขึ้นมา เพราะเป็น irony ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จกลับมาประทับอย่างถาวรจริงๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2494 กลับกลายเป็นปัญหาให้กับกลุ่มนำในรัฐบาลขณะนั้น จนต้องรีบชิงทำรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน ที่เกิดขึ้นขณะในหลวงทรงอยู่ในเรือที่กำลังเข้ามาในน่านน้ำไทย (ในที่สุด เสด็จถึงท่าเรือกรุงเทพวันที่ 2 ธันวาคม)


..............................


หลังในหลวงองค์ปัจจุบันเสด็จกลับยุโรปในเดือนสิงหาคม 2489 แล้ว รัฐบาลหลวงธำรง(ที่บริหารแทนรัฐบาลปรีดี)ก็คาดหมายว่า จะทรงเสด็จกลับมาประกอบพระราชพิธีพระราชเพลิงศพพระเชษฐาในไม่กี่เดือนข้างหน้า มีการเริ่มลงมือเตรียมจัดสร้างพระเมรุ เพื่อประกอบพิธีในเดือนมีนาคมปีต่อมา (2490) แต่ผ่านไป 3-4 เดือน ทางราชสำนัก ก็ยังหาได้ยืนยันว่าจะทรงเสด็จกลับมาประกอบพิธีไม่ ทางรัฐบาลก็ไม่แน่ใจ ครั้นจะเลื่อนการเตรียมงานออกไป ก็ไม่กล้าทำ หลวงธำรง กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2489 ว่า "เลื่อนไม่ได้ จะขุดหลุมฝังเรา" แต่แล้ว ในเดือนเดียวกัน ทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีหนังสือมาขอให้รัฐบาลเลื่อนงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ออกไปเอง ในบรรดาเหตุผล 2-3 ข้อที่ยกมา มีอยู่ข้อหนึ่งนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การสอบสวนกรณีสวรรคตยังไม่เสร็จสิ้น แต่ทว่าทำไม คณะผู้สำเร็จฯจึงเห็นว่า การที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการพระราชทานเพลิงศพนั้น นับว่าค่อนข้างคลุมเครือ ขอให้ดูข้อความในหนังสือส่วนนี้ โดยเฉพาะที่ผมขีดเส้นใต้เน้นคำไว้ :


"อนึ่งการกำหนดงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพนั้น ถ้าจะกำหนดแล้ว ก็น่าจะกำหนดให้เหมาะกับโอกาสที่จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อถวายพระเพลิงด้วย แต่โดยที่การสอบสวนกรณีสวรรคตยังเป็นอันควรให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนอยู่ต่อไปอีก และยังหวังไม่ได้ว่า การสอบสวนต่อไปดังว่านั้นจะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อใดแน่ การที่จะกำหนดให้เสด็จเข้ามาเพื่อถวายพระเพลิงในเดือนมีนาคมหน้า ถ้าการสอบสวนเช่นว่านั้นยังไม่สำเร็จเด็ดขาดลงไป การขลุกขลักย่อมจะมีขึ้นเกี่ยวกับการจัด ที่ประทับและการจัดผู้คนราชบริพารประจำในที่ประทับเหล่านี้อยู่มาก"


ต้องนับว่าค่อนข้างแปลกและคลุมเครือมาก ว่า ทำไมคณะผู้สำเร็จฯจึงคิดว่า การที่การสอบสวนคดีสวรรคตยังดำเนินไป จะทำให้ "การขลุกขลักย่อมจะมีขึ้นเกี่ยวกับการจัดที่ประทับและการจัดผู้คนราชบริพารประจำ ในที่ประทับเหล่านี้อยู่มาก" เพราะดูๆแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย


(นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งคณะผู้สำเร็จฯเรียกเข้าเฝ้า เพื่อแจ้งขอให้เลื่อนงาน ได้บอกกับคณะรัฐมนตรีว่า "ผมหยั่งดูอีกอัน เห็นจะเป็นว่าในหลวงไม่พร้อมที่จะเสด็จ")


.................................


หลังรัฐประหาร ในปี 2491 รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีการกำหนดเตรียมงานพระราชเพลิงพระบรมศพใหม่ เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 และได้ตกลงเตรียมจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย พร้อมกันนั้นได้ตกลงกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จกลับมาประท้บในประเทศไทยเป็นการถาวร พร้อมกันไปด้วย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รัฐมนตรีต่างประเทศ (พล.ต. หม่อมเจ้า ปรีดีเทพพงศ์ เทวกุล) เดินทางไปเข้าเฝ้าที่สวิสเซอร์แลนด์ เรียนพระราชปฏิบัติขอพระราชทานพระกระแสพระราชดำริในเรื่องนี้ แต่ในที่สุด ในหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ซึ่งจอมพล ได้แจ้งแต่คณะรัฐมนตรีว่า "...ได้รับพระราชหัตถ์เลขา [อ่าน.....] สรุปว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย [เป็นการถาวร - สมศักดิ์] จนกว่าการพิจารณาคดีสวรรคตจะเสร็จสิ้น"


.................................


ช่วงปี 2493-94 หลังจากเสด็จกลับไปยุโรป หลังจากทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษกแล้ว เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีทรงตั้งพระครรภ์ รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญให้ทรงเสด็จมาทรงประสูติในประเทศไทย เพื่อจะได้ประกอบพระราชพิธีให้ถูกต้องตามพระราชประเพณีแต่โบราณกาล (รัฐบาลได้ใช้ความพยายามไม่น้อยในการกราบบังคมทูลเชิญ) แต่ทรงยืนยันปฏิเสธ


....................................


การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยเป็นการถาวรในปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นธันวาคม 2494 นั้น มีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2494 ให้ประหารชีวิตนายชิต สิงหเสนีย์ ในความผิดสมรู้ร่วมคิดปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ .....

....................................

หมายเหตุ : ผมไม่ได้ทำเชิงอรรถอ้างอิงข้อมูลข้างต้น เนื่องจากนี่เป็นเพียงบันทึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างบทความเท่านั้น ในตัวบทความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีเชิงอรรถอ้างอิงครบถ้วน


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มา : แบ่งออกเปนสองส่วนตามนี้..

เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน : ข้อมูลประวัติศาสตร์ (1): ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมช...

เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน : ข้อมูลประวัติศาสตร์ (2): ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมช...

เจ้า(-->)นาย : เชกูวารา


แม้ในด้านหนึ่ง มีคนกล่าวว่า กระแสนิยมเจ้า (รวมทั้ง กระแสชูสิ่งอื่น ๆ ในเชิงงมงาย หรือใกล้เคียงกัน) ในหมู่คนไทยกำลังพุ่งสูงขึ้นมากจนน่าอึดอัด แต่โดยส่วนตัว ...ภายใต้ความรู้ความเข้าใจเพียงเล็กน้อย กับการเกาะติดแบบกระท่อนกระแท่นในเรื่องทำนองนี้ของผม...ผมก็เห็นว่า นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นต้นมา ทั้งตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ และบุคคลในสถาบัน ฯ ก็เริ่มถูกจับตา ตรวจสอบ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน (ส่วนจะหายอึดอัด หรือมีที่ทางให้เท่าเทียมหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง) ข้อมูลชุดที่แตกต่างจากข้อมูลฝั่งรัฐชุดเดิม ๆ ถูกนำเสนอเป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น (จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็มีแล้ว แต่ยังไม่บูม หรือเป็นที่สนใจใคร่รู้ในวงกว้าง) ซึ่งน่าจะถือเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ความไม่ "พอเพียง" ของคนพวกแรก

ขออนุญาตเดาต่อด้วยว่า เหล่านี้คงเป็น "โรคแทรกซ้อน" ที่ทั้งคนทำ และคนอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร คาดไม่ถึง หรือถ้าคาดถึง ก็ไม่คิดว่าอาการจะหนักหนาสาหัสขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายหนึ่งของการทำรัฐประหารคราวนี้ น่าจะเกี่ยวพันกับการ "ปกป้อง" ความศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง และละเมิดไม่ได้ของสถาบัน ฯ และราชบัลลังก์ ให้คงอยู่ (ทำนองเดียวกับการทำรัฐประหารครั้งอื่น) หลังจากถูกกระเทาะเปลือก เทียบชั้นความนิยมชมชอบ รวมทั้งท้าทายอำนาจโดยสามัญชนคนธรรมดา ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนฝ่ายเจ้านิยม จะยังมั่นใจในตัวเองอยู่มาก ไม่เห็นอันตราย ไม่ให้ค่า หรือเลินเล่อ สบประมาทศักยภาพสื่อชนิดใหม่ ก็สุดจะคาดเดา...จึงยังโหมประโคม หรือบางคนอาจเรียกว่า "ยัดเยียด" ความจงรักภักดีใส่มือผู้คนจนเกินงามต่อไป ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงยิ่งขึ้น จนเริ่มเห็นแววการปะทะกันทาง "ความเชื่อถือศรัทธา" ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ที่ชัดเจนและยังอยู่ในกระแส เห็นจะหนีไม่พ้น การตั้งคำถามแรง ๆ และ ดัง ๆ ต่อกรณี...

เหลือง-ชมพู-ดำฟีเวอร์, กรณีการบังคับเศร้า, การใช้งบประมาณ และภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลในการจัดงานไว้อาลัย และปรากฎการณ์อื่น ๆ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน เช่น ทีวีขาวดำ (ที่อาจเกิดจากความ อยาก/ควร ทำ โดยสถานี และผู้จัด) เมื่อเกิดการสูญเสียสมาชิกในราชวงศ์ขึ้น ...งานครั้งนี้ดูเอิกเกริกจนผิดหูผิดตา ทั้ง ๆ ที่จะว่ากันจริง ๆ แล้ว ทั้งสถานะ และภาระกิจต่าง ๆ ของผู้วายชนม์ ไม่ได้ (ดูเหมือน) สำคัญ หรือยิ่งใหญ่เท่ากับของคนที่ผ่านมาเลย (ตอนนั้น ก็มีการตั้งคำถามเหมือนกัน แต่เป็นไปอย่างแผ่วเบา และจำกัดอยู่ในวงแคบมาก ๆ)

ปรากฎการณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ก็อาทิ กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหม่ินประมาทและดูหมิ่นกษัตริย์ ฯ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "หม่ินพระบรมเดชานุภาพ" ถูกเรียกร้องให้ "ทบทวน" ถึงความจำเป็นในการต้องมีอยู่ หรือถึงขั้นขอให้ "ยกเลิก" ไปเสีย, งานศึกษาวิจัยที่มีขอบเขตเกี่ยวพันกันสถาบัน ฯ โดยตรง เช่น บทบาททางธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ , การสถาปนาพระราชอำนาจ จากโครงการในพระราชดำริ ได้รับความสนใจ และถูกตีแผ่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เรื่องทำนองนี้ไม่ค่อยมีคนสนใจ และสามารถนอนนิ่งอยู่ได้ในแดนสนธยา

ที่ชัดเจนและกำลังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งของนักวิชาการไทย และต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ในช่วงนี้ ก็คือ "การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ที่ธรรมศาสตร ์เมื่อวันที่ 9-11 มกราคม 2551" ซึ่งเน้นการเสนอผลงาน และประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ : องค์ประกอบข้างเคียง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหนังสือหนึ่งเล่ม

น่าจะจริงดังที่ผู้เขียนรายงานกล่าว ว่าที่สุดแล้ว งานนี้ถือเป็นการท้าทายกระแสนิยมเจ้า รวมทั้งอำนาจรัฐ อีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดประเด็น และชูความเป็นวิชาการของ หนังสือที่รัฐห้าม The King never Smiles

หากประเมินจากจำนวนผู้เข้าร่วม และผู้สนใจ (ที่ไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม) ก็ควรต้องยอมรับว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อย สนใจพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวพันกับสถาบัน ฯ รวมทั้งที่เกี่ยวกับคนในสถาบัน ฯ ...รัฐต้องยอมรับว่า การตั้งคำถามต่อประเด็นเหล่านี้มีอยู่จริงในสังคมไทย ไม่ใช่ไม่มี แต่ที่ผ่านมา ด้วยหลากหลายสาเหตุ มันกลับถูกทำให้เป็นได้แค่หัวข้อแห่งการ "ซุบซิบนินทา" ในวงสนทนาเล็ก ๆ ที่มักเน้นไปที่ข่าวลือที่ขาดความรับผิดชอบ หรือไม่ก็เรื่อง "ส่วนตัว" ที่ไร้แก่นสาร ไม่ได้กระทบอะไรในระดับโครงสร้าง จนทำให้คนหลากชนชั้นหันมาร่วมกันอภิปราย

่ประเด็นก็คือ ณ วันนี้ (หรืออย่างน้อย ก็มีแนวโน้ม) ไม่ว่า เจ้า, พวกนิยมเจ้า, อภิสิทธิ์ชน, ศักดินา หรือคนไทยบางคน จะต้องการ หรือยอมรับมันได้หรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้วยกระแสแห่งความเท่าเทียมกัน และด้วยความช่วยเหลือและศักยภาพของเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์และแวดวง กำลังจะถูกลด "ความอ่อนไหว" ลง และยกระดับจากการ ซุบซิบนินทา ไปสู่หัวข้อการสนทนา และอภิปราย ทั้งในแง่วิชาการ และการเมืองการปกครอง ที่สามารถเปิดเผยได้ในที่สาธารณะ นะครับ !


รายงาน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์


By เชกูวารา

ที่มา : BioLawCom.De : เจ้า(-->)นาย

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยผู้จัดเก็บบทความ และ
ขอให้ท่านๆทั้งหลายตามเข้าไปดูที่ต้นฉบับเพราะที่นั้นมีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่น่าสนใจรออยู่...

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551

การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของศักดินา !


ทุนนิยม (Capitalism) สนับสนุนตลาดเสรี การจัดสรรทรัพยากรโดยกลไกตลาด

สังคมนิยม (Socialism) สนับสนุนความเท่าเทียมในเชิงรายได้ สนับสนุนสวัสดิการชนชั้นแรงงานโดยรัฐ

...ในประวัติศาสตร์ไทยจะพบว่าชนชั้นศักดินา (ซึ่งรักษาความเป็นชนชั้นปกครองในสังคมไทยมาได้ตลอด) ได้พบกับทางเลือก 2 ทาง ที่เลวร้ายพอๆ กัน

...หนึ่งคือ ชนชั้นศักดินาไม่ต้องการสนับสนุน "ทุนนิยม"เพราะในระบอบทุนนิยม รายได้จะถูกจัดสรรให้กับคนที่สามารถ "ตอบสนองความต้องการ (demand) ได้มากที่สุด"แต่ชนชั้นศักดินา ไม่เคย contribute ให้กับระบบเศรษฐกิจด้วยการผลิตค่านิยมของศักดินาไทยตั้งแต่สมัยโบราณก็คือ อาชีพพ่อค้าถือเป็นอาชีพชั้นล่าง (คนจีน)ซึ่งไม่คู่ควรกับเกียรติของพวกเขา ศักดินาจึงพยายามที่จะได้ดิบได้ดีกับการเป็นข้าราชการ และนักกฎหมาย

...เมื่อความเคลื่อนไหวของโลกได้ทำให้ทุนนิยมเข้ามาแทนที่ศักดินานิยมมากขึ้นทุกทีกลุ่มศักดินาจึงสูญเสียอำนาจในสังคมให้กับกลุ่มพ่อค้ามากขึ้นเรื่อยๆพ่อค้ามีอำนาจมากขึ้นทั้งในการเศรษฐกิจและในทางสังคม ในขณะที่ศักดินาถดถอยลงการกำเนิดขึ้นมาของพวก "Nuveau Riche (เศรษฐีใหม่)" สร้างความเจ็บช้ำให้ศักดินาเสมอมา

...ดังนั้น ทุนนิยมสมัยใหม่ จึงเป็นสิ่งที่ศักดินาเกลียดชัง และพยายามจะสร้างวาทกรรมขึ้นมาต่อต้านทุนนิยมอยู่เสมอๆ

...ในขณะเดียวกัน ชนชั้นศักดินาก็เกลียดชัง "สังคมนิยม" ไม่แพ้กันเพราะสังคมนิยมสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ศักดินาต้องการ

...จะเห็นได้ว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ มีบทบาทสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์สังคมไทยสมัยใหม่แต่ "แนวคิด" ของสังคมนิยม แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยพวกศักดินาพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้แนวคิดของความเท่าเทียมทางสังคมได้เผยแพร่พวกศักดินาจึงสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับ จารีต ความเคารพในทางชนชั้น และการใช้ชีวิตอย่างพอมีพอกิน ขึ้นมา

...การเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมในสมับสงครามโลก ถูกนำเสนอโดยพวกศักดินา ว่าเป็น "ความแตกแยกของคนไทย" "ความหลงผิด" และ "การเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน"เนื้อหาสาระของอุดมการสังคมนิยม ในฐานะแนวคิดทางเศรษฐกิจและสังคมถูกบิดเบือนหมดสิ้น และถูกครอบด้วยวาทกรรม "ความแตกสามัคคี" แทน

...รัฐบาล พล.อ.เปรม ประสบความสำเร็จในการชักจูงให้ผู้ที่หลบหนีเข้าป่า กลับออกมาในฐานะ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"รัฐบาลสร้างวาทกรรมว่าความสำเร็จดังกล่าวเป็นการ "ทำให้ชาติไทยเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง"และความสำเร็จดังกล่าว ก็เป็นที่มาของตำแหน่ง "รัฐบุรุษ" ของ พล.อ.เปรม

...แต่ในความเป็นจริง ความสำเร็จครั้งนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า ความสำเร็จของชนชั้นศักดินา

...จุดเปลี่ยนของสำคัญของดุลอำนาจครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และนี่คือหายนะของศักดินา เพราะทักษิณเขย่าชนชั้นศักดินาด้วยทุนนิยม และสังคมนิยมพร้อมๆ กันทักษิณทำให้กลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ (ยอดหญ้า) ได้ประโยชน์ ด้วยทุนนิยม ในขณะเดียวกันก็สร้าง campaign สวัสดิการชนชั้นแรงงาน (รากหญ้า) อย่างมโหฬาร(นี่คือเหตุผลว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคน เรียก Thaksinomics ว่าเป็น Dualism - สองขั้วขนาน)

...ทักษิณจึงทำให้ position ของชนชั้นศักดินา (ซึ่งก็กำลังค่อยๆ ถดถอยอยู่ก่อนแล้ว) ยิ่งสั่นคลอนอย่างหนัก

...การเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงการทำรัฐประหาร เป็นการเดิมพันครั้งสุดท้ายของกลุ่มศักดินาดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็น "ตัวละครเก่าๆ" ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นศักดินาในอดีต กลับเข้ามามีบทบาทในปี 2547-2550 กันครบถ้วน ทั้งที่เปิดเผยตัว และที่ยังหลบซ่อนอยู่เบื้องหลัง

...ในระยะสั้น กลุ่มศักดินาเป็นฝ่ายชนะ

...และผู้ชนะก็กำลังจะสร้างฐานเพื่อการกลับมาของกลุ่มศักดินาไทยรธน. 2550 ซึ่งเปิดทางให้ อำนาจตุลาการ เข้ามากำหนดการเมืองและทำให้กลุ่มข้าราชการมีอำนาจมากขึ้น ก็เป็นก้าวหนึ่งของการพยายามกลับมาเป็นชนชั้นปกครอง

...แต่ในระยะยาว กลุ่มศักดินาเหล่านี้ กลับทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศรู้ถึงความสำคัญของตัวเองในการกำหนดการเมืองพ.ศ.2548-50 เป็นครั้งแรกที่กลุ่มรากหญ้าเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง(ในอดีต ความเคลื่อนไหวทางการเมืองล้วนถูกผูกขาดโดยปัญญาชน และชนชั้นกลางในเมือง)ดังนั้น ความพยายามในการกลับสู่อำนาจของศักดินา ในระยะยาวจะทำให้การเมืองกลับมาเป็นการเมืองของประชาชน

...ยิ่งกว่านั้นคือ มนต์สะกดของชนชั้นศักดินาผ่านวาทกรรมและการโฆษณาชวนเชื่อก็ล้วนเสื่อมลงจนประชาชนสามารถมองทะลุผ่านกรอบความเชื่อที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อสิ่งเหล่านี้กลับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้ประชาชนกลับมาเป็นเจ้าของอำนาจได้เร็วขึ้น และ

ทำให้ชนชั้นศักดินาไทยล่มสลายเร็วขึ้น

โดย : Prach.

ที่มา : ประชาไทเว็บบอร์ด : ทักษิณ พล.อ.เปรม และการดิ้นรนครั้งสุดท้ายของศักดินา

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

The king never smiles : A Biography of Thailand' Bhumibol Adulyadej


โดย : ส.ศิวรักษ์


ในช่วงเวลากว่า 60 ปี แห่งการเจริญสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหนังสือตีพิมพ์ในต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษสามฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์เองและพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล และล้วนเป็นหนังสือต้องห้ามในไทยทั้งสิ้น ซึ้งนับว่าน่าเสียดายแม้ว่าเราอ้างตนเป็นพุทธาณาจักร ซึ่งยึดมั่นกับหลักประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม

พระพุทธองค์สอนให้เราน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งปวง หากคำวิจารณ์นั้นไม่มีมูลความจริง เราก็พึงแก้ไขตนเองให้สอดคล้องกับคำตักเตือนนั้น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทราช พระองค์เองตรัสว่าใครก็สามารถวิจารณ์พระองค์หรือรัฐบาลของพระองค์ได้ ถ้าสิ่งที่เขากล่าวไม่เป็นความจริง ก็ย่อมไม่มีใครใสใจเขาเอง แต่ถ้าคำวิจารณ์ของเขาเป็นไปในทางสร้างสรรค์เราก็พึงรับฟังเขาอย่างตั้งใจ เพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงตนเองได้

ในตอนนี้ดูเหมือนเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เราต้องการประกาศพุทธศาสนาประจำชาติ แต่เรากลับไม่รับฟังคำสอนของพระพุทธองค์ หรือคำสอนของพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้เป็นกษัตริย์องค์สุดแรกใต้รัฐธรรมนูญ หนังสือทั้งสามเล่มที่กล่าวถึงได้แก่ The Devil's Discus ของ Rayne Kruger (London ๑๙๖๔ ) The Revolutionary King ของ William Stevenson ( London ๑๙๙๙ ) และ The King Never Smiles; A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej ของ Paul Handley (Yale University Press ๒๐๐๖)

หนังสือของ Kruger เป็นการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ พระเชษฐาธิราชของรัชกาลปัจจุบัน ผู้เขียนให้ข้อมูลความเป็นมาซึ่งเป็นประโยชน์ ของสยามประเทศ ก่อนที่จะกล่าวถึงชีวิตและการสรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ ซึ่งผู้เขียนพยายามพิสูจน์ว่าเป็นการปลงพระชนม์ด้วยพระองค์เอง แม้ว่าคนส่วยมากจะเชื่ออีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนมีแรงจูงใจสำคัญในความพยายามให้เกิดการประนีประนอมระหว่างวังกับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่เกิดเหตุการณ์สวรรคต เขาไม่ประสบความสำเร็จในความประสงค์เช่นนั้น ตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกมา ข้าพเจ้ายังเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อว่านายปรีดีเกี่ยวข้องกับการปรงพระชนม์ และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์อย่างรุนแรง เป็นการวิจารณ์ทั้งผู้เขียนและนายปรีดี และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเป็นที่ชื่นชอบในแวดวงเจ้าขุนมูลนาย เป็นธรรมดาที่นายปรีดีต้องโกรธข้าพเจ้ามาก จากนั้นข้าพเจ้าก็ไถ่บาปด้วยการเขียนหนังสือเกี่ยวกับนายปรีดีซึ่งมีการแปรเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Powers That Be:Pridi Banomyong through the Rise and Fall of
Thei Democracy
รวมทั้งในภาษาอื่นๆด้วย

หนังสือของ Stevenson พยายามพิสูจว่าเป็นเหตุการณ์ลอบปรงพระชนม์โดยสายลับชาวญี่ปุ่นชื่อ ทสึจิ มาซาโนบุ แต่ไม่น่าเชื่อถือเอาเลย เป็นหนังสือที่เขียนไม่ดี เต็มไปด้วยข้อมูลผิดพลาด แต่อย่างน้อยก็เป็นกระบอกเสียงอย่างแท้จริงของพระเจ้าอยู่หัว และด้วยการอ่านหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นบุคคลผู้โดดเดี่ยวและไม่ไว้วางใจใคร

หนังสือของ Handley มีชื่อรองว่า "ชีวประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย" ซึ่งอันที่จริงได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของรัชกาลนี้ ทั้งในแง่ชีวิตและผลงานของพระองค์ ชีวประวัติที่ดีในจารีตตะวันตกต้องเปิดเผยถึงความสัตย์จริงให้มากที่สุด เป็นเหตุให้ทางราชวงศ์ให้ข้อมูลลับมากมายต่อผู้เขียน แม้จะสะท้อนถึงด้านมืดของบุคคลเหล่านั้น ข้าพเจ้าพบว่าชีวประวัติที่ดีเป็นสิ่งจรรโลงใจ โดยเฉพาะชีวประวัติของ Stephen Spender และ Lsiah Berlin หากผู้เขียนชีวประวัติมุ่งสรรเสริญบุคคลที่เขาเขียนถึงเพียงด้านเดียว ก็ถือได้ว่าเป็นงานเขียนในเชิงยกย่องสรรเสริญซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในไทยโดยเฉพาะหนังสือที่ตีพิมพ์และแจกจ่ายในงานศพ แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์อยู่ แต่ก็ยังมีการตีพิมพ์หนังสือสรรเสริญพระเกียรติคุณเป็นภาษาอังฤษในชื่อว่า King Bhumibol: Strength of the Land ซึ่งจะมีการแปลออกเป็น ๘ ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย โดยผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ ข้าพเจ้าสงสัยว่าหนังสือเช่นนี้จะมีประโยชน์ต่อใคร ไม่ต้องพูดถึงเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้เพื่อการนี้ ซึ่งมาจากภาษีอากรทั้งสิ้น

Handley ให้รายละเอียดอย่างครอบคลุมในประเด็นที่เขาเขียนเขาไม่เพียงพึ่งแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ แต่ยังมีแหล่งข้อมูลภาษาไทยด้วย ทั้งที่เป็นเอกสารและคำพูด เขาไม่เพียงเขียนถึงประเด็นการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล แต่ยังเชื่อมโยงคณะสงฆ์เข้ากับรัฐเพื่อชี้ให้เห็นว่าราชวงศ์ได้ใช้คณะสงฆ์เพื่อประโยชน์ของตนอย่างไร อันเป็นเหตุให้คณะสงฆ์กระแสหลักในปัจจุบันกลายเป็นองคาพยาพส่วนหนึ่งของวัง

ผู้เขียนมีความรู้มากมายเกี่ยวกับราชวงศ์และกิจการต่างๆ ในราชวงศ์จักรี แต่ก็ให้ข้อมูลที่สับสนอยู่บ้าง และยิ่งแสดงภูมิรู้มากเท่าใด เขาก็แสดงข้อผิดพลาดมากเท่านั้น อย่างเช่น กรณีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เป็นลูกพี่ลูกน้อง สกุลดิศกุล เทวกุลและกฤดากร ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าฟ้า เมื่อครั้งเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ดำรงตำแหน่งพระสมเด็จ พระวันรัต ไม่ใช่สมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่การวิเคราะห์กรณีพระพิมลธรรมของเขา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะเขาพูดถึงกรณีที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยไปปฏิบัตสมาธิภาวนากับพระพิมลธรรม ในช่วงที่มีการประหารชีวิตจำเลยสามคนในคดีลอบปลงพระชนม์ พระองค์เสด็จไปเจริญสมาธิภาวนาเพื่อไถ่บาปและแผ่ส่วนกุศลให้กับพวกเขาหรือไม่ โดยเฉพาะนายเฉลียว ประทุมรส อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในหนังสือ The Revolutionary King พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับนายปรีดี แต่พระองค์ก็ไม่ได้กระทำการใดเพื่อช่วยชีวิตพวกเขา หรือยกย่องเกียรติต่อบุคคลใดยกเว้นแต่สมาชิกในราชวงศ์

Handley ให้ข้อมูลสอดคล้องกับ Stevenson ว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยเชื่อใจใคร พระองค์ถือว่าข้าราชบริพารและเหล่านายพลเท่านั้นที่เป็นพวก และทรงดูถูกนักการเมือง เว้นแต่พวกที่ศิโรราบให้กับพระองค์โดยสิ้นเชิงอย่างนายธานินท์ กรัยวิเชียนและเปรม ติณสูลานนท์ เป็นที่ยืนยันว่าพระองค์ชอบระบอบการปกครองที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ โดยที่เป็นระบอบปกครองเผด็จการแบบทหาร ดังเช่นประเทศพม่าภายใต้นายเนวินและ SLORC มากยิ่งกว่าระบอบประชาธิประไตยซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นของฝรั่ง พระองค์เห็นว่านางอองซานซูจี ควรอยู่กับสามีและลูกที่อังกฤษ และไม่ควรมาข้องเกี่ยวกับการเมืองในประเทศของเธอเองเลยในทำนองเดียวกับนิสิตนักศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนไทยก็ไม่ควรมายุ่งกับการเมือง หรือทำตัวขัดขวางการพัฒนาประเทศ พระองค์เห็นว่าเขื่อนขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะทำให้คนยากจนลง เดือดร้อน ทำให้คนจนต้องเสียสละให้กับการพัฒนาประเทศ

ตามข้อมูลในหนังสือ พระองค์อ้างตนเองว่าเป็นบุคคลเดียวที่ใส่ใจอย่างแท้จริงต่อพสกนิกร และให้ความช่วยเหลือพวกเขาโดยเฉพาะชนเผ่าทั้งหลายรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ในขณะที่ภาครัฐมักไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน และยังมองว่าข้าราชการทั้งหลายมักกดขี่บีฑาพสกนิกรของพระองค์ มากกว่าการรับใช้พวกเขาข้าพเจ้ามีข้อสงสัยต่อข้อมูลบางอย่างที่ Handley นำเสนอ อย่างเช่น เรื่องที่จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องการขึ้นเป็นองค์มนตรี หรือเรื่องที่หลวงอดุลเป็นองค์มนตรีเพียงในนามแต่ไม่เคยเข้าร่วมประชุมเลย ข้าพเจ้าทราบดีว่าหลวงอดุลมีบทบาทสำคัญในคณะองค์มนตรี ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกพฤฒสภานั้น นายเดือน บุนนาค เป็นคนละคนกับเจ้าพระยาพิชัยญาติ ซึ่งมีชื่อเดิมว่านายดั่น บุนนาค

เป็นที่ประหลาดใจว่าผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลที่ว่า ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตตัน ขัดขวางแผนการที่จะส่งพระเจ้าอยู่หัวไปรับการศึกษาที่อังกฤษ โดยอ้างว่าพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตของพระเชษฐาธิราชซึ่งข้อมูลในเรื่องนี้มีการเผยแพร่บ้างแล้ว

หนังสือแบ่งเป็น ๒๒ บท เริ่มจากช่วงประสูติไปจนถึงการตั้งคำถามกับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ภายหลังรัชกาลปัจจุบัน ผู้เขียนยังให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา เพื่อชี้ให้เห็นอิทธิพลของธรรมราชาต่อราชวงศ์จักรีซึ่งเราเชื่อในทฤษฎีนี้ โดยไม่เพียงเป็นผลจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาแต่มีอิทธิพลมาจากปกรณัมเรื่องเทวราชาของศาสนาฮินดูแล้วเรายอมเชื่อว่าบุคคลหนึ่งอยู่เหนือกว่าคนอื่นได้ เราย่อมคบค้าสมาคมกับนายพลและเผด็จการที่ฉ้อฉล ด้วยเหตุที่เขาอ้างว่าสิ่งที่ตนทำไปก็เพื่อปกปักคุ้มครองชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พวกเขาอาจเชื่อว่าผู้ที่เป็นตัวแทนพุทธศาสนาได้แก่คนอย่างพระกิตติ วุฒโฑ ซึ่งไม่เพียงนิยมความรุนแรง แต่ยังรับใช้สถาบันกษัตริย์และชาติ (ทหาร) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งสมัยนั้นประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนและปัญญาชน ซึ่งพยายามเสนอทางเลือกออกจากระบอบปกครองฝ่ายขวาที่อยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดิอเมริกัน

ผู้เขียนกล่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวมักเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าพระองค์เข้าใจประชาชนเหล่านั้นจริงหรือ สิ่งที่พระองค์ให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจไม่ช่วยให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น

หนังสือเล่มนี้ทำให้พวกเราเข้าใจได้ว่าเหตุใดที่หน้าตึกรัฐสภา เราจะเห็นแต่อนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๗ แต่ไม่มีอนุสาวรีสำหรับบุคคลผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเลย ทางการมักจะอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสมเด็จพระปกเกล้าทรงยินยอมสละราชอำนาจของพระองค์ให้กับประชาชน ส่วนสมาชิกคณะราษฏรเป็นเพียงพวกฉวยโอกาสและเราไม่พึงให้ความเคารพ เป็นเหตุให้นายปรีดีและจอมพลป.พิบูลสงคราม ต้องลี้ภัยและถึงแก่อนิจกรรมในต่างแดนไม่ต่างจากสมเด็จพระปกเกล้าและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ แม้แต่บทบาทของขบวนการเสรีไทยซึ่งช่วยกอบกู้ประเทศจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มีการลดความสำคัญลงไป

ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้เขียนให้ความสำคัญกับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์มากจนเกินไปในฐานะเป็นผู้ฟื้นฟูพระเกียรติคุณของราชวงศ์ ข้าพเจ้าเห็นว่าพระองค์เจ้าธานีนิวัตมีบทบาทเป็นผู้วางแผนในเรื่องนี้มากกว่า แต่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและการทำงานแบบปิดทองหลังพระ เป็นเหตุให้พระองค์เจ้ารังสิตได้รับพระเกียรติยศไปเพียงพวกเดียว ทั้งๆ ที่พระองค์มีลักษณะเป็นเจ้าขุนมูลนายมากกว่าปัญญาชน

ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์เจ้าธานีนิวัติเป็นอย่างดี ท่านแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าเฉพาะสมาชิกราชวงศ์เท่านั้นที่รู้ถึงการปกครองประเทศ ท่านเห็นว่าถ้าพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรไม่ร่วมมือกับคณะราษฎรภายหลังการอภิวัฒน์ในปี ๒๔๗๕ แล้ว คณะราษฎรก็ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ท่านเห็นว่านายปรีดีเป็นบุคคลที่ฉลาด แต่ท่านก็ไม่เชื่อใจบุคคลผู้นี้ แม้ว่าภริยานายปรีดีกับหม่อมของพระองค์เจ้าธานีนิวัฒจักมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตต่อกันก็ตาม

ความรู้สึกว่าตนเหนือกว่าผู้อื่นของบรรดาพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาทางสายเลือด หรือเป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นสูงอย่างออกฟอร์ดหรือเคมบริดจ์กันแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าส่วนที่เป็นสามัญชนในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและการศึกษาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ น่าจะช่วยให้พระองค์มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและรับฟังความเห็นจากประชาชนมากขึ้น น่าเสียดายที่พระองค์ไม่เคยรับฟังพวกเขาด้วยพระทัยอันเปิดกว้าง พระองค์กลับเห็นว่าทรงเป็นเหมือนพระมหาชนกซึ่งเป็นผู้นำทวยราชทั้งหลาย รวมทั้งบรรดานิสิตนักศึกษา ถ้าแสดงความไม่เห็นด้วยกับพระองค์ กลับถูกมองว่าเป็นการไม่จงรักภักดีต่อพระองค์พระองค์ไม่เคยเข้าใจถึงนัยยะของความจงรักภักดีที่อยู่บนพื้นฐานของความเห็นอันแตกต่าง หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลด้านนี้ค่อนข้างมาก โดยให้รายละเอียดถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังกิจการของพระราชวัง เผยให้เห็นเงามืดที่ถูกปกปิดไว้จำนวนมาก ซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียด แต่การไม่ใส่ใจต่อเงามืดเหล่านี้อาจเป็นความผิดพลาดในวาระเฉลิมฉลองวชิรสมโภช ซึ่งพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาของพระองค์ต่างเข้าร่วมด้วย และพระราขนัดดาบางส่วนก็เป็นสามัญชนด้วย และพระราชนัดดาที่หายไปส่วนหนึ่งหายไปไหนกันเล่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่แต่ไม่มีใครรู้หรือ ประชาชนควรมีสิทธิรู้ในเรื่องนี้

ผู้เขียนให้ความเห็นต่องานอดิเรกของพระเจ้าอยู่หัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการวาดภาพ ดนตรีและถ่ายรูป

แม้ผู้เขียนจะวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวค่อนข้างหนักหน่วง แต่ก็ให้ข้อเสนอที่ดีเพื่ออนาคตของสถาบันกษัตริย์ในไทย ซึ่งข้าพเจ้าขอจบการวิจารณ์หนังสือด้วยคำพูดเหล่านั้น

ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อราชบัลลังค์ การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกปกปิดในอดีต หรือไม่ว่าพฤติกรรมของพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาของพระองค์เองจะเป็นอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถธำรงรักษาพระเกียรติยศของพระองค์ไว้ได้แล้ว และไม่น่าจะมีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่นพระเกียรติยศได้ดำรงสืบมาอย่างปราศจากความเศร้าหมอง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเจริญพระชนมายุและพระราชจริยวัตรของพระองค์เองทั้งความมุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียน ความสุภาพและวิถีชีวิตอันเรียบง่าย เหตุที่พระองค์เสนอภาพตนเองเป็นดั่งพระมหาชนก จะทำให้คนรุ่นต่อไปเคารพบูชาพระองค์เช่นเดียวกับความเคารพที่มีให้ต่อพระอัยกาธิราช พระจุลจอมเกล้า

แต่ภายหลังรัชกาลของพระองค์ การลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์อาจจะเริ่มต้นขึ้น องค์รัชทายาทคงไม่สามารถปฏิบัติตนเป็นไปดังพระพุทธเจ้าโดยสมมติได้ และพฤติกรรมของพวกเขาก็ไม่เหมาะที่จะทำเช่นนั้นด้วย พวกเขาคงต้องปรับและเปลี่ยนรูปแบบของราชบัลลังก์ก่อนที่จะถูกบีบให้ทำเช่นนั้น เนื่องจากอิทธิพลของสื่อมวลชนและคนรุ่นหลังที่มีความรู้และการศึกษามากขึ้น คนรุ่นซึ่งไม่เคยผ่านสงครามเย็น ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลสำคัญในการฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ปัญหาท้าทายเหล่านี้แต่กต่างอยู่บางกับปัญหาที่สถาบันกษัตริย์ในตะวันตกต้องเผชิญในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ จะมีการกระจายความรับผิดชอบกิจการต่างๆ ของรัฐให้กับนักการเมืองข้าราชการและนักธุรกิจซึ่งไม่ได้ถูกคัดเลือกจากกษัตริย์ได้อย่างไร

ต้องมีการยกเครื่องวีธีการทำงานของสำนักพระราชวังในด้านสังคมสงเคราะห์ทั้งหมด การระดมแจกจ่ายพระราชทรัพย์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ซึ่งกระทำกันอย่างเป็นความลับ จะต้องถูกแทนที่ด้วยระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามที่นำไปสู่ปัญหา องค์กรการกุศลเหล่านี้ควรมีความเปิดเผยและระมัดระวังต่อภาพลักษณ์ของตนมากขึ้น และไม่กระทำสิ่งที่ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สร้างสรรค์

การเปลี่ยนแปลงบางส่วนเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วบ้าง ในขณะที่บุคคลรุ่นต่อไปของราชวังจะถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง สุดท้ายแล้วพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายจะต้องใช้ประโยชน์จากพระราชอำนาจพิเศษที่ไม่มีใครกล่าวถึงได้แก่ ความสามารถอันมหัศจรรย์และสิทธิในการปรับเปลี่ยนตนเองก่อนที่คนอื่นจะทำได้ ซึ่งจะเป็นกุญแจนำไปสู่ความอยู่รอดของสถาบัน


ปาจารยสาร
ฉบับเดือน กันยายน - ตุลาคม 2550

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551

รายงานข่าวต่างประเทศ : จากการศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน "ประเทศโทน"


รายงานฉบับแรก

ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน"ประเทศโทน" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ

จากการศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าว เริ่มต้นที่ยุค 7 ประเทศโทน ปกครองโดยระบอบสมบูรณญาฯ แต่เกิดปัญหาตรงที่ว่าลูกหลานของท่าน 7 รังแก ข่มเหง ข้าราชการ และ ได้ดิบได้ดีในวงราชการ ทหาร และ ข้าราชการไม่พอใจจึงเกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย โดยนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และ ท่าน 7 ก็ สละราชสมบัติ ต่อมาเป็นท่าน 8 ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกน้องชายฆ่าตาย น้องชายก็ขึ้นมาเป็นท่าน 9 ท่านได้พูดกับประชาชนชาวประเทศโทนว่า"เราจะครอบครองแผ่นดินโดยทำ" ท่าน 9 มีเมียชื่อ"เสือกสน" คุณเสือกสนฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ โดยมีทหารเอกชื่อ"หัวปวย" คุณเสือกสนฯ กับ หัวปวย แยกกันไม่ออก เพราะทั้งนายและลูกน้องต่างสมประโยชน์กันทั้งคู่ ไพร่ราบทหารเลวต่างมาสวามิภักดิ หัวปวย หัวปวยจะทำอย่างไรกับประเทศโทนก็ได้ ท่าน 9 กับ คุณเสือกสน ไม่เคยขัด

สาเหตุเพราะ ท่าน 9 กับ คุณเสือกสน พร้อมกับลูกๆ และ หัวปวยมีหุ้นต่างๆอยู่ในประเทศโทนมากมาย ไม่ได้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ผูกขาดตลาดการค้า รับเงินบริจาคซึ่งไม่มีที่ไปที่มาของเงิน(เปรียบเสมือนการฟอกเงินแหล่งใหญ่ของประเทศ) ลูกๆ ของพวกเขาหากินกับการแจกปริญญา อยู่เบื้องหลังของการปฏิวัติ ผลาญเงินงบประมาณของประเทศชาติ ก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิด และนำมาซึ่งความรุนแรงภายในประเทศ และ สร้างภาพให้ประชาชนชาวประเทศโทน จงรักภักดี ใครทำอะไรผิดใจหัวปวยๆ ก็จะกล่าวหาคนนั้นว่า"ไม่จงรักภักดี"

เหตุการณ์ที่น่าจับตามองภายในครอบครัวท่าน 9 แห่งประเทศโทน คือ ลูกชายท่าน 9 ไม่ถูกกับ หัวปวย แต่การแต่งตั้งรัชทายาทแห่งประเทศโทนต้องมี หัวปวยเป็นผู้เสนอ เกมส์ภายในของครอบครัวมีการวางแผนกันหลายชั้นอยู่ระหว่างทางสองแพร่ง ระหว่างทำลายหักล้าง และ แย่งชิง และเป็นที่มาของทรัพย์สมบัติมหาศาล รวม ทั้งอำนาจ

เคยมีบุคคลได้พยากรณ์ประเทศโทนไว้ว่า"ยุคที่ 8 คือยุคให้ร้าย ยุคที่ 9 คือป้ายสีขาว ยุคที่ 10 ชาวโทนศิวิไลซ์"

ตอนนี้ท่าน 9 ก็ใกล้ฝั่งแล้ว ปัญหาต่างๆจะตามมาคือการแย่งชิงเก้าอี้นั่ง เก้าอี้ตัวนี้มีทั้งเงินและบารมี ทหารที่ถือหางต่างฝ่ายก็ต้องฆ่ากัน

ประชาชนบางส่วนแห่งประเทศโทนไม่พอใจท่าน 9 และ ครอบครัว รวมถึงหัวปวย และลิ่วล้อของหัวปวยด้วย แต่กำลังรอจัวหวะ อีกไม่เกิน 10 ปี ชาวประชาแห่งประเทศโทน จะได้เห็นเหตุการณ์ที่สำคัญ

จบการรายงานเหตุการณ์แห่งประเทศโทน แต่เพียงเท่านี้ ความคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป

ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน ไม่มีสิ่งใดอยู่ค้ำฟ้า ขอยึดมั่นกับคำสอนของพระพุทธองค์เป็นที่ตั้ง



รายงานฉบับที่สอง

รายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ในประเทศโทน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 นายกที่มาจากการเลือกตั้งชื่อ"ทักสิน" ทักสินฯ ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนประเทศโทนอย่างล้นหลาม(ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์แห่งประเทศโทนมาก่อน) ทักสินฯ ได้บริหารประเทศโทนตามสัจจะที่ได้ให้ไว้กับประชาชนชาวโทน ชาวบ้านซื้อง่ายขายคล่อง เศรษฐกิจดี เจริญรุ่งเรือง ต่อมา ทักสินฯ มีความสนิทสนมกับรัชทายาทของท่าน 9 ซึ่งไม่ถูกกันกับหัวปวย หัวปวยได้พยายามที่จะกำจัดทักสิน และ รัชทายาท ให้สิ้นซาก หัวปวยจึงวางแผนที่เล่นงานทักสินฯ ก่อน เพราะรัชทายาทก็เหมือนลูกไก่ในกำมือ และแผนชั่วของหัวปวยก็เริ่มขึ้นโดยการให้ลิ่วล้อ สร้างสถานการณ์ปั่นป่วนในกรุงเทบ(เมืองหลวง) ประชาชนชาวโทน ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทบ ขณะนั้นมีอาการเหมือนช้างตกมัน หรือเหมือนไอ้ทรพี(ควาย) จะขวิด จะชน อย่างเดียว โดยการกรุเรื่องๆต่างจากนายด๋ำเดือก(สนทวย) ว่า"ทักสินฯ เป็นบุคคลที่ไม่จงรักภักดี โกงกิน" และการก่อความไม่สงบครั้งนี้มีคุณเสือกสน ภรรยาของท่าน 9 ร่วมกระทำการอัปรีย์ จัญไร ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คุณเสือกสนทำตัวเยี่ยงไพร่ และในที่สุดก็จัดการกับทักสินฯ ได้สำเร็จ ทักสินฯ ต้องหนีไปอยู่ประเทศอังกิด และ มาต่อที่ฮ่องโกง รอการกลับมาประเทศโทน แต่หัวปวย ฆ่าทักสิน ไม่ตาย ก็เลยต้องยอมลดวาวาศอก โดยมีคนกลาง(อนุภง)มาไกล่เกลี่ย หัวปวยได้กล่าวว่า"เอ็งจะกลับเข้ามาในประเทศโทน ก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามเข้ามายุ่งกับกิจการของข้าฯอีก" ซึ่งผลของการตกลงระหว่าง หัวปวย กับ ทักสิน จะเป็นอย่างไร จะนำเสนอต่อไป

จากการติดเกาะข่าวของแหล่งข้อมูลที่ใกล้ชิด ได้ความว่า ทักสิน พยายามที่จะให้ทุกบริษัท ที่ท่าน 9 กับ หัวปวย และ ลิ่วล้อ มีหุ้นอยู่ เสียภาษีให้ถูกต้อง และต้องการที่จะตรวจสอบเรื่องเงินที่เอามาให้ท่าน 9 ว่าเงินมาอย่างไร เพราะ ทักสิน เห็นว่าเงินดังกล่าวไม่บริสุทธิ์ เป็นการฟอกเงิน คุณเสือกสน กับ หัวปวย จึงกำจัด ทักสิน และทุกวันนี้สังคมภายในประเทศโทนเกิดการแร้นแค้น เพราะหัวหน้าคณะปฏิวัติคือ พล.เอก สนหอย ได้ผลาญงบประมาณของประเทศโดยนำเงินไปเลี้ยงหอย และ เจตนาของ พล.เอก สนหอย ต้องการที่จะเลี้ยงหอย 10 ตัว หอยแต่ละตัวมีชื่อต่างกัน ประไหมสุหรี(2) มะเดหวี(2) มะโต(2) ลิกู(2) เหมาหลาหงี(2)

รายละเอียดต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศโทน จะนำเสนอต่อไปเป็นระยะ


รายงานฉบับที่สาม

ตามมารยาท และ จริยธรรมของนักข่าว ในประเทศที่เจริญแล้วผู้รายงานข่าว มีหน้าที่แต่รายงานข่าวเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะวิจารณ์ข่าว เพราะเป็นสาเหตุแห่งการชี้นำ สังคม และ นำมาซึ่งความแตกแยก ผิดถูกเป็นเรื่องของกฏหมายตัดสิน ผมมีหน้าที่แต่ติดตามข่าว และ นำมาเสนอเท่านั้น จากการติดตามข่าว หรือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศโทน มีผู้สื่อข่าวเดนตาย แจ้งเข้ามาว่า นายกคนปัจจุบันของประเทศโทนชื่อ "สุรยัด" ซึ่งมาจากการปฏิวัติ ได้งาบป่าเขายายเที่ยงคืน แต่ยังไม่มีใครสามารถที่จะเอาผิดกับ สุรยัด ได้ เพราะตอนที่ สุรยัด งาบป่าเขายายเที่ยงคืน เป็นคืนเดือนมืด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถคลำทางได้ ต้องรอจนกว่า ข้างขึ้นเดือนหงาย พระจันทร์เต็มดวงเสียก่อน แล้วทุกอย่างจะกระจ่าง ต่อข้อถามที่ว่า"สุรยัด งาบเขายายเที่ยงคืนจริงหรือ" สุรยัดตอบว่า"ถ้าผิดจริง ก็เอาที่คืนไป" ชาวโทน จึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และ ชาวโทนตั้งฉายาให้กับสุรยัดว่า"หวยคัว" ตอบแบบไม่มีสมอง และ เห็นแก่ได้

มีข้าราชการคนจนแห่งประเทศโทน ออกมารับแทน ท่าน 9 พร้อมกับ คุณเสือกสน และ หัวปวย ว่าการกระทำของบุคคลเหล่านี้เป็นไปโดยชอบแล้ว

ประชาชนบางส่วนแห่งประเทศโทน ได้มองแล้ว ท่าน 9 พร้อมกับ ครอบครัว และ หัวปวย มีหุ้นอยู่ในธุรกิจต่างๆ และ ธุรกิจเหล่านี้ ไม่สามารถมีใครตรวจสอบได้ เงินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฏหมาย เช่น การหนีภาษี, อบายมุขและการพนันทุกชนิด, การตัดไปม้ทำลายป่า, ยาเสพติด และ เงินที่ได้มาจากการรีดนาทาเร้นชาวโทน ส่วนหนึ่งได้ถูกส่งไปให้ท่าน 9 โดยใช้คำว่า"เงินให้โดยเสน่หา ใช้ตามอำเภอใจ" และมีผู้วิเคราะห์เพิ่มเติมต่ออีกว่า ประชาชนชาวโทน ทุกคน จะต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ว่าเงินมีที่ไปที่มาอย่างไร เพราะประเทศมีความจำเป็นเรื่องภาษี ที่จะต้องเอามาดูแล คนพิการสายตา อาการทางจิต และ พิการหรือป่วยอย่างอื่นอีกมาก แต่ประเทศโทน คนตาบอดต้องมาขาย lotto คนป่วยอาการทางสมองถูกปล่อยปละละเลย และ ทำร้าย หรือ ฆ่า คนปกติ ตามถนนหนทาง และ จะต้องนำมาช่วยเกี่ยวกับการศึกษา

ต่อข้อถามที่ว่า "ท่าน 9 ทำงานหนัก เพื่อประชาชนชาวโทน และมีมูลนิธิต่างๆเพื่อช่วยชาวโทนจริงหรือ"

มีผู้สัดทัดกรณี ให้ความเห็นว่า "ท่าน 9 รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนอยู่แล้ว ก็ควรที่จะต้องทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่เอาความดีนี้มาอ้างเป็นบุญคุณ ส่วนเงินที่ท่าน 9 นำมาตั้งกองทุนต่างๆ เป็นเงินที่ได้มาอย่างไร มีที่ไปที่มาของเงินอย่างไร" และ ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า

"ถ้าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่สุจริต และ นำเงินเหล่านี้มาตั้งเป็นกองทุนสมควรหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ ก็ในเมื่อมีรัฐบาลแล้ว ทำไมไม่ให้รัฐบาลเป็นผุ้ดำเนินการ และกระทำการตามฉันทานุมัติของประชาชนชาวโทน"

และนี่คือเรื่องจริงก่อนปิดท้ายรายงานข่าว ที่จังหวัดหนึ่งติดชายแดน มีโรงแรมหนึ่ง ได้นำมาไม้เถื่อน มาทำบานประตู หน้าต่าง เจ้าหน้าที่ได้จับ ตรวจ และ ยึด เจ้าของโรงแรมได้อ้างว่า"เป็นพระสหายของพี่สาวท่าน 9" และ พี่สาวของท่าน 9 ก็โทรด่วนมาเอาไม้คืน และ คดีของหม่อมลูกอ๊อด และ คดีของท่าน 9 ที่ฆ่าพี่ชายตาย คดีบุกรุกป่าทุ่งใหญ่ฯ ยังสรุปไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าเป็นคดีที่มีท่าน 9 กับครอบครัว หรือ คนใกล้ชิด เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ตำรวจจะไม่สามารถทำอะไรได้ สังคมไม่สามารถตรวจสอบได้

ชาวประชาโทน กำลังร้องเพลง"รอ" และ

"ข้างขึ้นเดือนหงาย คงต้องตายสักวัน ไม่เธอก็ฉัน พระจันทร์เป็นพยาน"



ผู้รายงาน : นักข่าวไม่รู้สำนัก นามว่า nat

ที่มา : ประชาไท : ความคิดเห็นต่อข่าว/บทความ

หมายเหตุ
ด้วยเหตุที่ว่าตอนนี้ไม่รู้จะหาบทความและ ข่าวภายในประเทศเรี่องอะไรมาลงดี พอดีกับที่ไปเห็นรายงานข่าวต่างประเทศชิ้นนี้น่าสนใจดี เลยไปขโมยรายงานข่าวชิ้นนี้มาลงขัดตาทัพไว้ก่อน...

ยังไงซะมันก็เป็นแค่ข่าวต่างประเทศอย่าคิดมาก

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์


ในเอกสารการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ที่ธรรมศาสตร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ (9-11 มกราคม 2551) ได้ระบุเหตุผลและวัตถุประสงค์ของรายการสนทนาและเสนอผลงานว่าด้วย ‘พระมหากษัตริย์: องค์ประกอบข้างเคียง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหนังสือหนึ่งเล่ม’ ไว้ว่า เพราะความสำคัญของพระมหากษัตริย์มีมากเหลือเกินแต่กลับมีการศึกษา พูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะไม่เพียงพอ ทั้งเห็นว่า การสนทนาพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่น่าจะกระทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และพึงกระทำกันให้มากขึ้น แม้กระทั่งภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ตาม

อีกอย่างที่เหตุผลเป็นทางการไม่ได้กล่าวไว้ก็คือ รายงานสนทนาและเสนอผลงานว่าด้วยพระมหากษัตริย์คราวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสนิยมเจ้าสูงขึ้นอย่างมากจนน่าอึดอัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การเรียกหาพระราชอำนาจและการรัฐประหาร 2549 ท่ามกลางบรรยากาศที่ผู้มีการศึกษา และปัญญาชนนักวิชาการเกิดอาการไข้เหลืองกำเริบไปทั่ว

รายการว่าด้วยพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 หัวข้อจัดขึ้นเพื่อท้าทายกระแสและบรรยากาศดังกล่าวเท่าที่จะทำได้

ผู้เฝ้าดูและติดตามรายการดังกล่าวก็คงจะดูออกว่าเป็นการท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งถูกห้ามในประเทศไทยตั้งแต่หนังสือยังพิมพ์ไม่เสร็จและตกเป็นข่าวอื้อฉาวถูกโจมตีจากหนังสือพิมพ์ที่ชอบอิงแอบอ้างเจ้าตลอดมา เพราะรายการดังกล่าวเท่ากับเป็นการไปให้ความสำคัญแก่หนังสือเล่มนี้ในวงวิชาการ โดยนักวิชาการที่จัดได้ว่าอยู่บรรดาหัวแถวของผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยทั้งในประเทศและในระดับโลก

จำนวนผู้เข้าร่วมรับฟังหัวข้อนี้เต็ม 3 ห้อง (รวมห้องที่มีการถ่ายทอดสดการสนทนาโดยโทรทัศน์วงจรปิด) ประมาณ 500 คน น่าจะเป็นสัญญาณว่า ไม่ว่าเขาจะคิดอย่างไรต่อหนังสือเล่มนี้ พวกเขาต้อนรับและเอาใจช่วยการพูดคุยสนทนากันอย่างเปิดเผยและมีความรับผิดชอบ คงไม่เป็นการเกินเลยและหากจะตีความว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการห้ามหนังสือดังกล่าว ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับหนังสือเล่มนี้เลยก็เถอะ

ผู้อภิปรายบนเวทีแสดงทัศนะดังกล่าวอย่างชัดเจน

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นว่า กรอบการอธิบายของพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยมีอยู่จำกัด ล้าสมัย ใช้ไม่ได้กับความเป็นจริงการการเมืองมาตั้งแต่ 30 ปีก่อนแล้วก็ว่าได้ แฮนด์ลีย์ (ผู้เขียน The King Never Smiles) เสนอคำอธิบายใหม่ที่สำคัญและน่าสนใจมาก หากไม่เห็นด้วยก็ต้องอภิปราย แต่หนังสือที่ทำท่าว่าจะอภิปรายตอบโต้แฮนด์ลีย์ เช่น งานของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (พระผู้ทรงปกเกล้าประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549) กลับล้มเหลวไม่เสนออะไรใหม่ไปจากกรอบเดิม ๆ ที่ใช้ไม่ได้แล้ว

แอนเนต แฮมิลตัน (University of New South Wales) ชี้ให้เห็นข้ออ่อนของหนังสือหลายประการ อาทิ ท่าทีดูถูกความคิดค่านิยมของคนไทยต่อพระมหากษัตริย์ แต่แฮมิลตันใช้เวลาครึ่งหนึ่งของเธอวิพากษ์การห้ามเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ในประเทศไทย เธอชี้ให้เห็นอันตรายของการเซนเซอร์ปิดกั้นเสรีภาพในการอ่าน คิด เขียน โฆษณา ที่จะมีต่อคนไทยเอง

เคร็ก เรโนลด์ (Australian National University) ตั้งข้อสงสัยต่อความหวาดกลัวหนังสือเล่มนี้ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใดก็ไม่เห็นเหตุที่น่าตื่นตระหนกใด ๆ ทั้งสิ้น ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติเป็นข้ออ้างในการโจมตีและไม่ใช่เหตุที่ต้องห้ามหนังสือนี้ การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยก็มีผู้เริ่มกระทำอยู่แล้ว และไม่เห็นเกิดอันตรายใด ๆ การอภิปรายถกเถียงต่างหากเป็นท่าทีที่ควรมีต่อหนังสือเล่มนี้

อ.กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยออกมาแล้วเล่มหนึ่ง (Kings, Country and Constitutions: Thailand's Political Development 1932-2000, London: Routledge Curzon, 2003) วิพากษ์วิจารณ์หนังสือของแฮนด์ลีย์มากกว่าวิทยากรท่านอื่นๆ และชี้ให้เห็นทัศนะของคนไทยต่อพระมหากษัตริย์ที่แฮนด์ลีย์ไม่เข้าใจ แต่กอบเกื้อกล่าวชัดเจนว่า การอภิปรายถกเถียงกันอย่างเปิดเผยเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง การเซ็นเซอร์ห้ามเผยแพร่หนังสือของแฮนด์ลีย์เป็นมาตรการที่ผิด

แม้ว่าวิทยากรจะมีทัศนะบวก ลบ ต่อหนังสือของแฮนด์ลีย์ไปต่าง ๆ กัน แต่ความเห็นร่วม 2 ประการที่เด่นชัดก็คือ ประการแรก สาระของหนังสือมีคุณค่าควรแก่การอภิปรายถกถียงในวงวิชาการและในสังคมไทย ประการที่สอง การเซนเซอร์ห้ามเผยแพร่หนังสือของแฮนด์ลีย์เป็นสิ่งที่ผิด

ประการหลังเด่นชัดเสียจนมีคำถามจากผู้ฟังว่า เสรีภาพในการอ่าน คิด เขียน สำคัญกว่าความศรัทธาของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กระนั้นหรือ มีค่ามากมายว่าการทำร้ายจิตใจคนไทยเชียวหรือ

ส่วนประการแรกนั้น มีคำถามจากผู้ฟังหลายคนที่เห็นว่าหนังสือได้เสนอประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่องที่วิทยากรไม่ได้กล่าวถึงเลย หรือกล่าวถึงอย่างเลี่ยง ๆ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับทหาร สภาวะที่แยกกันไม่ออกระหว่างความเป็นสถาบันกับองค์พระมหากษัตริย์ หรือการเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์เป็นต้น

คำถามจากผู้ฟังในห้องซึ่งเปิดเผยตัวชัดเจนและจากผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวดำเนินไปกว่าชั่วโมงเต็ม ๆ เป็นคำถามและความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะที่ไม่ใช่การพูดตามสูตรสำเร็จเพื่อการเฉลิมพระเกียรติตามขนบประเพณี แต่เป็นการกระตุ้นให้คิด วิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่ามีข้อจำกัดของกฎหมายและกลิ่นไอของความหวาดเกรงจะอบอวลอยู่ในห้องสัมมนาตั้งแต่ต้นจนจบก็ตาม นี่เป็นบรรยากาศที่ไม่พบเห็นบ่อยนักหรืออาจเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้

คงไม่มีใครทึกทักสรุปเอาว่า การสนทนาคราวนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า เสรีภาพทางวิชาการมีอยู่เต็มเปี่ยมในสังคมไทย เพราะความหวาดเกรงและตึงเครียดทั้งบนเวทีและในห้องสัมมนาเป็นหลักฐานพอแล้วว่า มีรังสีอำมหิตบางอย่างปกคลุมอยู่ (หนังสือพิมพ์ภาษาไทยลงข่าวว่า ตำรวจจับตารายการนี้อย่างใกล้ชิด และจำนวนเจ้าหน้าที่ของทางการที่เข้ารับฟัง เพราะต้องทำรายงานผู้บังคับบัญชาก็มีมากกว่ารายการวิชาการปกติทั่วไป) แต่คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า นี่เป็นการต่อสู้สำคัญครั้งหนึ่งทั้งเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ และเพื่อเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการแสดงออกในที่สาธารณะต่อสถาบันกษัตริย์อย่างวิพากษ์วิจารณ์

ก่อนหน้าการสนทนาเกี่ยวกับหนังสือของแฮนด์ลีย์ มีการเสนอผลงานทางวิชาการว่าด้วยพระมหากษัตริย์อีก 2 รายการ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน รายการแรก ว่าด้วย องค์ประกอบข้างเคียงของสถาบันกษัตริย์ซึ่งในที่นี้เลือกเสนอ 3 กรณีด้วยกันได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ องคมนตรี และความเกี่ยวพันกันระหว่างลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 กับ public image ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน

บทความเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของ ดร.พอพันธุ์ อุยยานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือที่เพิ่งออกใหม่ Thai Capital After the 1997 Crisis (ed. Chris Baker and Pasuk Pongpaichit, Silkworm, 2008) ศึกษาเงื่อนไขปัจจัยที่ช่วยให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 มาได้ แถมยังเติบโตเข้มแข็งกว่าก่อนวิกฤติด้วยซ้ำ มีทั้งเงื่อนไขปัจจัยทางธุรกิจและการลงทุนอย่างเหมาะสมและปัจจัยพิเศษเนื่องมาจากคุณสมบัติของสำนักงานทรัพย์สินฯ อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีธุรกิจหรือทุนรายอื่นใดในสังคมไทยจะได้รับอภิสิทธิ์เช่นนั้น ทั้งในแง่กฎหมายและการหนุนช่วยคุ้มครองในทางปฏิบัติ

Irene Strengs จากเนเธอร์แลนด์แสดงภาพจำนวนหนึ่งที่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ลัทธิเสด็จพ่อ ร. 5 ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หรือเป็นแค่การแสดงออกของชนชั้นกลางต่อสภาพสังคมปัจจุบัน แต่มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับการเสริมสร้าง public image ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน เธอกล่าวในตอนหนึ่งว่า เราแยกไม่ได้หรือบอกไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใดของยุคสมัยใดเป็นจุดเริ่มและเป็นผู้ได้รับผลพวงของลัทธินี้ มีผู้ฟังตั้งคำถามและอภิปรายถึงพระบรมฉายาลักษณ์นานาประเภท ทั้งที่จัดวางในสถานที่สำคัญและที่เผยแพร่ภายในท้องตลาด และความหมายต่าง ๆ ท ี่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทย รวมทั้งพระฉายาลักษณ์อื่นๆ ของเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่แพร่หลายในสื่อนานาชนิดในปัจจุบัน ว่าสะท้อนอะไรและมีผลอย่างไรในสังคมไทย

บทความเกี่ยวกับองคมนตรีเป็นผลงานล่าสุดของพอล แฮนด์ลีย์ ผู้จัดทราบมานานแล้วว่าผู้เขียนจะไม่มาร่วมประชุม ในสูจิบัตรรายการสัมมนาจึงระบุชัดเจนว่า ประธานผู้ดำเนินรายการจะเป็นผู้อ่านบทความแทน สาระสำคัญของบทความเป็นข้อมูลพื้นฐานน่าสนใจมากเกี่ยวกับองคมนตรีตั้งแต่หลัง 2475 จนถึงปัจจุบันว่า มีบทบาทมากขึ้นน้อยลงตามรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ อย่างไร มีองค์ประกอบและสมาชิกที่สำคัญ ๆ ในแต่ละชุดได้แก่ใครบ้าง แฮนด์ลีย์ทิ้งท้ายชี้ให้เห็นบทบาททางการเมืองที่มากขึ้นขององคมนตรีในระยะหลังนี้เอง และความสำคัญขององคมนตรีต่อการสืบราชบัลลังก์

เดนนิส เกรย์ ผู้สื่อข่าว เอ.พี. ตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีบทความชิ้นใหม่ของพอล แฮนด์ลีย์ อยู่ในรายการคราวนี้ด้วยเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน แม้เกรย์ไม่ได้อธิบาย แต่น่าจะเป็นสัญญาณอย่างเงียบ ๆ ว่า แฮนด์ลีย์ไม่ได้ถูกปฏิเสธจากวงการปัญญาชนวิชาการของไทย ความพยายามปิดกั้นและปฏิเสธผลงานของแฮนด์ลีย์ ไม่ประสบความสำเร็จและอาจส่งผลตรงข้ามด้วยซ้ำไป

รายการที่สองว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเสนอบทความที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่าก่อให้เกิดปัญหาและผลร้ายอย่างไร ประวิตร โรจนพฤกษ์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น รายงานประสบการณ์ของตนและผลการสัมภาษณ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางฉบับซึ่งล้วนแต่ต้องรู้จักการเซ็นเซอร์ตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าจะเสนอข่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ จะเสนออย่างไร ความหวาดกลัวกฎหมายหมิ่นฯ จึงมีผลที่ประวิตรเล่าว่าเป็นควงสว่านต่อเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานระดับล่างในเรื่องเฉพาะเรื่อยขึ้นไปจนถึงระดับบรรณาธิการและในระดับนโยบายของหนังสือพิมพ์ กฎหมายหมิ่นฯ เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพและวัฒนธรรมของสื่อมวลชนไทยอย่างมาก แต่สื่อมวลชนไทยกลับไม่เคยถกเถียงเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างจริงจังเลยสักครั้งเดียว

แวดวงวิชาการทางนิติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน

อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งข้อสังเกตว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับปัญหากฎหมายหมิ่นฯ เพียง 2 ครั้ง ทั้งสองครั้งทำโดยกลุ่มคนที่ห่วงใยต่อการใช้กฎหมายหมิ่น ฯ จนก่อปัญหา แต่นักกฎหมายและนักวิชาการทางนิติศาสตร์ไม่เคยมีการศึกษาหรือสนทนาทางวิชาการจริงจังในเรื่องนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว สมชายเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายว่าเป็นมาอย่างไรถึงได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเลอะเทอะในปัจจุบัน ที่สำคัญคือการขยายประเภทของการกระทำความผิดตามกฎหมายให้ครอบคลุมการ ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งคลุมเครือแต่กว้างขวาง จนเปิดโอกาสให้มีการใช้อย่างฉ้อฉล

เดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาเรื่องกฎหมายและคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย เสริม อ.สมชายโดยเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นฯ ของไทยกับกฎหมายทำนองเดียวกันในบางประเทศที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่ามีความเป็นมา ข้อจำกัด มาตรการอย่างไรจึงสามารถหลีกเลี่ยงไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนเปรอะอย่างในการเมืองไทยปัจจุบัน สมชายและเดวิดเขียนบทความร่วมกันที่นำไปสู่ข้อเสนอรูปธรรมซึ่งทั้งคู่เรียกร้องให้สังคมไทยถกเถียงพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ละข้อเสนอเป็นทางออกเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ แทนที่จะปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ไปเรื่อย ๆ แต่สังคมไทยต้องตัดสินใจกันเองว่าจะเอาอย่างไร ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อได้แก่

1. ให้กฎหมายหมิ่นฯไม่ครอบคลุม การแสดงออกตามเจตนาของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

2. ให้ยกเลิกความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งมีความหมายและกระบวนการพิสูจน์ความต่างจากความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’

3. ให้จำกัดอำนาจการฟ้องร้องและผู้ฟ้องตามกฎหมายนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้เสียหายหรือสำนักพระราชวังเป็นต้น

4. ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ถึงแม้ว่าการสนทนาและการเสนอผลงานเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ดังกล่าวมาจะมิใช่ข้อพิสูจน์ถึงเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย แต่ข้อคิดที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การพูดคุยกันอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นไปได้มากกว่าที่เราเข้าใจกัน จริงอยู่ว่ารายการที่กล่าวมาอยู่ในบริบทของการประชุมนานาชาติ กระทำกันในภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีภาษาไทยบ้างบางรายการ และในกรอบของวิชาการ กระนั้นก็ดี ทั้งวิทยากรและผู้ตั้งคำถาม ผู้ร่วมสนทนา ต่างแสดงให้เห็นว่า มีหลายประเด็น หลายแง่มุมเหลือเกินที่สามารถคุยกันได้มาก โดยไม่ละเมิดกฎหมายหมิ่นฯแต่อย่างใด เรื่ององคมนตรีอาจล่อแหลมทางการเมือง แต่อันที่จริงไม่ละเมิดกฎหมายเช่นกัน การศึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถทำได้มากโดยไม่เฉียดกรายเข้าใกล้การละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด มีอีกหลายประเด็นแม้แต่หนังสือที่ถูกห้ามและผู้เขียนหนังสือต้องห้าม ล้วนแต่เป็นประเด็นที่อภิปรายได้ในที่สาธารณะ

เราคงห้ามความหวาดกลัวและหวาดเกรงไม่ได้ แต่หากเรารับเอาการกดปราบด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรมเข้ามาอยู่ ในความคิดของเรามากเสียกว่ากฎหมายจะกระทำอะไรกับเรา ผลก็คือ การเซ็นเซอร์ตัวเองมากเสียยิ่งกว่ากฎหมายจะกระทำต่อเรา ดังอาการที่บรรดาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นกันอยู่ เราท่านที่ต้องการต่อสู้ ท้าทายการจำกัดเสรีภาพและกฎหมายหมิ่นฯ น่าจะพยายามผลักดันข้อจำกัดให้ห่างออกไป เปิดพื้นที่ของการถกเถียงสาธารณะให้เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ


นอกจากสามรายการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ตามที่กล่าวมา การประชุมคราวนี้ยังมีรายการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่าหนักหน่วง เปิดเผย และตรงไปตรงมา ทั้งในแง่ของความเป็นไปไม่ได้ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชนบทไทย และในแง่ที่ว่าความคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงข้อเสนอที่มีนัยยะทางชนชั้นระหว่างผู้เสนอ ผู้สมาทาน และผู้ที่ถูกคาดหวังให้ทำตามแนวคิดนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเพียงแค่อุดมการณ์ของชนชั้นนำเพื่อรักษาความได้เปรียบของตนเองเหนือชนชั้นล่างและชาวชนบท

องค์ปาฐกท่านหนึ่ง (ศาสตราจารย์คายส์ แห่งมาหวิทยาลัยวอชิงตัน) กล่าวอย่างเป็นนัยว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาวะเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ชนบทไทย (อย่างน้อยก็ในภาคอีสาน) เปลี่ยนไปมหาศาลในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญก็คือ ชาวชนบทพึงพอใจ สมัครใจ และต้อนรับทุนนิยมและความเจริญทางวัตถุ พวกเขาเห็นประโยชน์ของทุนนิยมต่อชีวิตพวกเขา มิได้มีทัศนะต่อทุนนิยมแบบเดียวกับปัญญาชนเมืองผู้สมาทานและผลักดันเศรษฐกิจพอเพียง

ท่ามกลางการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเปะปะจนไม่รู้ความหมายว่าอะไรกันแน่ และทำกันอย่างหลับหูหลับตาไม่มีการยั้งคิดวิพากษ์วิจารณ์ เสียงวิจารณ์จากที่ประชุมวิชาการครั้งนี้น่าจะพึงรับฟัง

ยังมีอีกหลายหัวข้อที่การประชุมคราวนี้ เสนอความเข้าใจสังคมไทยต่างไปจากที่ผู้คนในสังคมไทยเชื่อกันอยู่อย่างง่าย ๆ บ้างอาจกล่าวว่าชาวต่างชาติไม่มีทางเข้าใจสังคมไทย แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มิใช่ฝรั่งผ่านทางแวะมาชั่ววูบวาบแล้วออกความเห็นฉาบฉวย พวกเขาศึกษาด้วยเครื่องมือทางวิชาการ ทัศนะวิพากษ์วิจารณ์และมุมมองซึ่งต่างจากที่เราคุ้นเคย ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความเข้าใจจำกัดของชาวต่างชาติ หรือเป็นผลของการที่ชาวต่างชาติไม่ติดกับดับงมงายอยู่ในกรอบแนวคิดทัศนะแบบเดียวกับที่คนในสังคมไทยถูกกล่อมเกลาแต่เกิดจนแก่ หรือทั้งสองอย่างประกอบกัน ทัศนะที่นักวิชาการต่างชาติมีต่อพุทธศาสนาในประเทศไทยดังปรากฏในหลายรายการ ทัศนะต่อสื่อมวลชน พรรคการเมือง ทหาร ระบบราชการ และอีกหลายประเด็นมากมาย ล้วนสะท้อนความแตกต่างระหว่างทัศนะจากคนละมุมโลก สังคมไทยพิจารณาเอาเองแล้วกันว่าจะยึดมั่นภูมิใจในความถูกต้องของทัศนะตนด้วยเหตุผลว่าคนอื่นไม่มีทางเข้าใจ หรือจะเดินออกมาจากความคับแคบของตัวเองเสียที


น่าเสียดายที่สื่อมวลชนภาษาไทยแทบไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมคราวนี้และการวิพากษ์วิจารณ์ท้าทายอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด เหตุผลที่มักอ้างคือ นักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฟังภาษาอังกฤษได้ไม่ดีพอหรือไม่ได้ความเลย หากส่งมาก็ป่วยการเปล่า เหตุผลข้อนี้จะจริงหรือไม่เพียงใดคงต้องพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงอีกบางประการได้แก่ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ข่าวลือว่า พอล แฮนด์ลีย์มาร่วมประชุม เน้นประเด็นว่าเป็นการประชุมที่มีบุคคลอันตรายเข้าร่วม ประโคมข่าวหรือเสนอแนะให้ตำรวจสอบสวน หนังสือพิมพ์เหล่านี้ไม่เคยโทรศัทพ์มาสอบถามหรือเช็กข่าวกับผู้จัด ไม่เคยแสวงหาข้อมูลที่แจกจ่ายอย่างเปิดเผยแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคน ไม่ทำการบ้านเบื้องต้น ไม่แสดงความรับผิดชอบแม้แต่จะเพียงแค่ตรวจสอบข้อมูลก่อนการเขียนและตีพิมพ์

จะไปคาดหวังให้หนังสือพิมพ์เหล่านี้สนใจเนื้อหาการประชุมคงเป็นการคาดหวังที่เกินกว่าจะเป็นไปได้ ความสามารถทางภาษาดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างที่ง่ายดี แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือ คุณภาพของสื่อ จรรยาบรรณของสื่อ ความรับผิดชอบของสื่อเหล่านั้นเป็นเบื้องต้น

เป็นไปได้มากว่าหนังสือพิมพ์ไทยไม่ได้คิดด้วยซ้ำไปว่าควรจะสนใจรายการถกเถียงทางวิชาการทำนองนี้ หนังสือพิมพ์ไทยอาจไม่สนใจเลยเพราะว่าไม่ใช่ ‘ข่าว’ ที่ผู้อ่านสนใจ เพราะนักหนังสือพิมพ์เองก็อาจจะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ ว่ากิจกรรมเหล่านี้สะท้อนหรือเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร สิ่งที่เป็น ‘ข่าว’ จึงจำกัดอยู่แค่เรื่องที่น่าตื่นเต้นของตำรวจกับการสอบสวนที่พวกเขาช่วยกันชี้ทางให้ตำรวจจัดการ (เผื่อว่าจะได้มี ‘ข่าว’ มาขาย)

เรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาข้อจำกัดทางภาษาเลยสักนิด มัวแต่บอกปัดว่าเป็นปัญหาทางภาษาจะยิ่งทำให้สื่อมวลชนไทยไม่รู้จักตรวจสอบตนเอง

แต่การที่สื่อมวลชนไทยไม่สนใจการถกเถียงทางวิชาการทำนองนี้ สะท้อนสภาวะทางปัญญาของสังคมไทยมากกว่าประเด็นคุณภาพของสื่อมวลชนไทยหรือไม่? อย่าลืมว่าสื่อมวลชนเป็นเป็นแหล่งรวมของผู้มีการศึกษาปัญญาชนของสังคม ปัญญาชนไทยทึกทักว่าตนเองรู้เรื่องเมืองไทยดีกว่านักวิชาการต่างชาติหรือเปล่า หรือด่วนสรุปหรือเปล่าว่าคนต่างชาติจะรู้เรื่องเมืองไทยสักเท่าไหร่กัน? ความแตกต่างระหว่างการศึกษาเมืองไทยเป็นอีกประเด็นที่แทบไม่เคยมีการมีการพิจารณากัน ตัวอย่างเช่น เคยสะกิดใจไหมว่า การศึกษาเรื่องไทยในสังคมไทยมักเต็มไปด้วยรายละเอียดลึกซึ้งมาก แต่มักอ่อนแอด้านแนวคิดและวิธีวิทยา บ่อยครั้งสะท้อนโลกทัศน์ที่จำกัดอันเกิดจากความไม่รู้จักสังคมอื่นใดนอกจากสังคมไทยเท่านั้น จึงด่วนทึกทักว่าสังคมไทยเป็นสิ่งพิเศษที่สุดในโลกเกินกว่าแนวคิดและการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ จากภายนอกจะเข้าใจได้


กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน


ที่มา : บอร์ดฟ้าเดียวกัน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์....

เพิ่มเติม : ข่าวประชาไท : รายงาน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์