วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551

สัพเพเหระ เรื่อง หลวงวิจิตร


ผมขอเล่าในกระทู้นี้ พวกข้อมูลที่ผมสะสมระหว่างทำชุด ไตรโลจี ดังกล่าว แต่หลายอัน ไม่เอาเข้าไว้ในบทความ เรียกว่าเป็นเรื่องประเภท "เก็บตก" บางเรื่องอ่านจะดู "ชวนหัว" (ตอนแรก นึกจะตั้งชื่อกระทู้นี้ว่า "กระทู้ชวนหัว" หรือ "กระทู้เบาสมอง" อะไรทำนองนั้น) แต่มีความซีเรียสบางอย่างที่อาจจะทำให้หัวเราะไม่ออกได้ เรื่องที่จะเล่านี้ จะไม่ปะติดปะต่อกันเท่าไร แม้ผมจะพยายาม "โยง" หรือ "ลาก" ให้ "ต่อ" กันบ้าง ขอเริ่มเลยดีกว่า



เรื่อง หลวงวิจิตรเกือบทำให้ไม่มีธรรมศาสตร์ "รังสิต"

ช่วงปี 2482 หลังจากศาลพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้นพิพากษาลงโทษพวกผู้ต้องหากบฎ ที่มี กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสของร.5 รวมอยู่ด้วย (คนนี้มีความสำคัญในอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งจะไม่เล่าในทีนี้ คือเล่ากันต่อๆมาในหมู่ลูกศิษย์อาจารย์ปรีดีว่า เขาเป็นคนสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการเล่นงานปรีดี หลังกรณีสวรรคต - จริงไม่จริงอีกเรื่องหนึ่งนะ) กรมขุนชัยนาท ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต แล้วก็เลยถูกสั่งถอดฐานันดรด้วย กลายเป็น "นายรังสิต ประยูรศักดิ์ รังสิต"

ทีนี้ ก็เกิดมีปัญหาว่า ในกรณีอย่างนี้ ที่พ่อเคยเป็นเจ้าแล้วถูกปลดเป็นสามัญชน ลูกหลานจะมีฐานะว่าอะไร เรียกว่าอะไร ปกติลูกของ พระองค์เจ้า อย่างกรณีกรมขุนชัยนาท จะต้องเป็น หม่อมเจ้า และที่สำคัญที่สุด ควรจะยังมีสิทธิในฐานะเจ้า ที่จะได้รับ "เงินปี" หรือไม่ (นี่คือส่วนแบ่งเงินที่ได้จากดอกผลของ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" เป็นปัญหาใหญ่มากหลัง 2475 หลังจากรัฐบาลเข้า takeover การจัดการทรัพย์สินนี้แล้ว) เรื่องก็ต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรีให้ตัดสิน ผลการประชุม ตกลงว่า ให้การถูกปลดของพ่อ ไม่มีผลต่อฐานันดรของลูก เพราะฉะนั้นลูกก็จะคงสิทธิความเป็นเจ้าตามเดิมต่อไป (ความจริงมีอีกประเด็นว่า ตัวผู้ถูกปลดเอง ควรจะเรียกเป็น "นาย" หรือเรียกเป็น "หม่อม" ในสมัยสมบูรณาญาฯ เจ้าที่ถูกปลด จะถูกเรียกกันว่า "หม่อม" แต่นี่เป็นเรื่องการให้เกียรติตามประเพณี ไม่ใช่กฎหมาย)

ทีนี้ในระหว่างอภิปรายกันนั้น มีตอนหนึ่ง หลวงวิจิตร เสนอดังนี้


หลวงวิจิตร : "...อย่างกรมขุนชัยนาท กรมราชทัณฑ์ก็เรียกว่านักโทษชายรังสิต และเรื่องนี้ใคร่จะขอเสนออีกสักหน่อยว่า คลองรังสิตนั้น การที่ให้ชื่อว่าคลองรังสิต ก็เพื่อจะเฉลิมพระนามกรุมขุนชัยนาท ฉะนั้น เมื่อต้องโทษแล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนเสียด้วย"

หลวงอดุล : "คลองไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วย เอาไว้ก่อนดีกว่า"

หลวงพิบูล : "เอาไว้ เพราะกระทำเมื่อครั้งดี"

สรุปแล้วให้คงชื่อคลองไว้!


ผมอ่านแล้วอดนึกขำไม่ได้ นอกจากประโยคของหลวงอดุล ที่ว่า "คลองไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วย" แล้ว ยังนึกเล่นๆว่า ถ้าข้อเสนอหลวงวิจิตรเป็นที่ยอมรับ ตอนนี้เราก็ไม่ต้องมีธรรมศาสตร์ "รังสิต" (ฮา) อาจจะเป็น ธรรมศาสตร์ "?"

แหะๆ เรื่องนี้ความจริงเป็น โจ๊ก แบบไม่เป็นประวัติศาสตร์เท่าไร เพราะในฐานะนักประวัติศาสตร์ ก็ต้องบอกว่า ต่อให้ตอนนั้นมีการเปลี่ยนชื่อคลองจริงๆ ก็อาจจะถูกเปลี่ยนกลับได้ (เช่น สมัยปรีดี ปล่อย และสถาปนา กรมขุนชัยนาท คืนฐานันดรเดิมระหว่างสงคราม หรือไม่ก็สมัยที่ กรมขุนชัยนาท กลับเป็นใหญ่ในฐานะ ประธานอภิรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี หลัง 2490)



หลวงวิจิตร กับ เพลงไทยเดิม

แน่นอน ใครที่ศึกษาหลวงวิจิตรอย่างใกล้ชิด ก็อาจจะไม่แปลกใจเรื่องข้อเสนอเปลี่ยนชื่อคลองรังสิต เพราะหลวงวิจิตรเป็นคนที่ซีเรียสมากๆกับเรื่องชื่อ จะเรียกอย่างไร ตัวอย่างหนึ่ง คือหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยแล้ว (มิถุนายน 2482) หลวงวิจิตรในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร ก็มีคำสั่งให้เปลี่ยนวิธีเรียกชื่อเพลงไทยเดิม ที่มีคำว่า "ลาว" หรือ "เงี้ยว" ใหม่ (อันนี้ความจริง เคยมีนักวิชาการเขียนถึงแล้ว) เช่น ลาวดวงเดือน, ลาวคำหอม, ลาวช้า, โอ้ลาว, ทะยอยลาว, ม่านเงี้ยว ฯลฯ เพลง "โอ้ลาว" ก็เลยกลายเป็น "โอ้" เฉยๆ (ฮา) "ทะยอยลาว" กลายเป็น "ทะยอยเหนือ" เป็นต้น ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถามขึ้นมาว่า ในรายชื่อทำไมไม่มีเพลง ลาวเจริญศรี (ผมไม่แน่ใจอันนีใช่เพลงเดียวกับที่สม้ยเด็กๆ ผมถูกบังคับร้องจนจำได้ "อายุเยาวเรศรุ่น เจริญศรี พระเพื่อนพี่แพงน้อง เอิ้ง เอิง เอย สองสมร..." หรือเปล่า) หลวงวิจิตร ก็เลยตอบว่า ที่ไม่มีน่ะถูกแล้ว เพราะความจริง ชื่อ "ลาวเจริญศรี" น่ะเป็นการเรียกผิดๆไปเอง ที่ถูกคือชื่อเพลง "ขับซอ"



หลวงวิจิตรกับเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญ

พูดถึงการเปลี่ยนชื่อเพลง ความจริงเพลงที่ถูกเปลี่ยนจากการเปลี่ยนชื่อประเทศ ที่สำคัญที่สุด มี 2 เพลง ไม่ใช่ถูกเปลี่ยนชื่อ แต่ถูกเปลี่ยนเนื้อ คือ เพลงชาติ กับ เพลงสรรเสริญ

หลายคนน่าจะไม่รู้ว่า หลวงวิจิตร เคยเขียนเพลงชาติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ปลายปี 2476 ไม่ใช่การเขียนใหม่เสียทีเดียว แต่เป็นการ "แปลง" เนื้อเพลงที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งไว้ ซึ่งตอนนั้น ยังไม่ได้รับการรับรองเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการ หลวงวิจิตร เสนอให้ทำให้เป็นทางการเสีย แต่ให้เปลี่ยนเนื้อบางตอน เนื้อที่ให้เปลี่ยน หรือเพลงชาติที่หลวงวิจิตรเขียนครั้งแรกนี้ (จากเนื้อของขุนวิจิตรมาตรา) ที่สำคัญคือเน้นลักษณะแอนตี้จีนมากขึ้น เช่น ประโยคเดิมของ ขุนวิจิตรมาตราที่ว่า "แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา รวมรักษาเอกราชชนชาติไทย บางสมัยศัตรูจู่มารบ...." หลวงวิจิตร แก้เป็น "แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองได้ลำบากยากหนักหนา เพราะถูกไล่ไทยต้องเคลื่อนเลื่อนลงมา ตั้งรักษาเอกราชของชาติไทย แต่กระนั้นเหล่าศัตรูยังจู่รบ..."

อันที่จริง - นี่หลายคนคงยังไม่รู้เหมือนก้น - ตอนปี 2476 ที่หลวงวิจิตรเสนอให้ทำเพลงชาติให้เป็นทางการ และเสนอเนื้อแก้ไขนี้ หลวงสารานุประพันธ์ หรือ นวล ปาจิณพยัคฆ์ ผู้ที่ต่อมาเป็นผู้แต่งเพลงชาติปัจจุบัน "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย..." ก็แต่งเพลงชาติขึ้นเพลงหนึ่งด้วย ไม่ใช่แปลงของขุนวิจิตร อย่างกรณีหลวงวิจิตร คือแต่งใหม่เลย ขึ้นต้นว่า "บ้านเมืองของไทยไทยปกครองเจ้าของประเทศ ตั้งอาณาเขตต์สยามด้วยความยืนมั่น ตั้งชาติไทยถือไตรรงค์เป็นธงสำคัญ ร่วมรักฉันท์สามัคคีมีใจเดียว..." ทั้งเนื้อเพลงแปลงของหลวงวิจิตร และเนื้อของ หลวงสาราฯ ยังมีอยู่ครบ แต่ในที่สุด รัฐบาลก็ตั้งกรรมการขึ้นมาประกวดเพลงชาติ และได้เพลงชาติที่ยาวมาก จากการรวมเนื้อของขุนวิจิตรฯ กับนายฉันท์ ขำวิไลเข้าด้วยกัน (เนื้อของขุนวิจิตรฯถูกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย)

นี่คือการเขียนเพลงชาติครั้งแรกของหลวงวิจิตร ในปี 2476 พอเปลี่ยนชื่อประเทศในปี 2482 หลวงวิจิตร รับหน้าที่เขียนเพลงชาติใหม่ ให้เป็น "ไทย" น่าเสียดายว่า เพลงชาติฉบับนี้ ซึ่งหลวงวิจิตรเขียนใหม่ทั้งเพลง ไม่เหลือต้นฉบับอยู่แล้ว (อย่างน้อยผมไม่เคยเห็น) ผมมีแต่บันทึกการพิจารณาเนื้อเพลง ซึ่งมีการยกตัวอย่าง ว่ามีคำว่า "เลือด" อยู่ด้วย (เพราะหลวงพิบูล ขอว่า "ต้องการให้มีเลือดอยู่บ้าง") ปรากฏว่า ในที่ประชุมพิจารณา หลวงธำรงฯกลับเสนอว่า ในเมื่อเพลงชาติ เป็นเรื่องของชาติ น่าจะจัดการประกวด ก็เลยตกลงให้มีการประกวดกัน และในที่สุดก็ได้เพลงชาติที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย..." ซึ่งผมจะกลับมาพูดในท้ายกระทู้นี้อีกที เนื้อเพลงชาติครั้งที่ 2 ของหลวงวิจิตรนี้ จึงหายสาปสูญไป (หลวงวิจิตรไม่ยอมส่งเข้าประกวดด้วย ไม่ทราบเพราะอะไร คนดังๆคนอื่นส่งเข้าประกวดหมด รวมถึง ทั้งขุนวิจิตรมาตรา และนายฉันท์ ขำวิไล 2 คนที่เป็นเจ้าของเนื้อเดิม)

ทีนี้ก็มาถึงเพลงสรรเสริญ ในเนื้อเพลงเดิม ที่กรมพระนริศฯแต่ง มีคำว่า "พระสยามินทร์" อยู่ด้วย ในเมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทยแล้ว ก็เลยคิดจะเปลี่ยนเพลงสรรเสริญด้วย ปรากฏว่า มีปัญหา ใช้เวลาพิจารณากันนาน ในที่สุด ก็สรุปว่า ให้ใช้ทำนองเดิม แต่ให้ลดความยาวของทำนองและเนื้อลง เป็นดังนี้


ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล มหากษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย


(ตรงนี้ถ้าใครอ่านหนังสือของ สุกรี เจริญสุข 99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี ควรระวังว่า สุกรี เข้าใจผิดอย่างแรงว่า เนื้อเพลงนี้คือ เพลงสรรเสริญ "ฉบับย่อ" ความจริง นี่คือ ฉบับยาว หรือ ฉบับพิศดาร แต่เป็นฉบับยาว ที่สั้นกว่าฉบับยาวเดิม ส่วนฉบับย่อ จะยิ่งสั้นกว่านี้ คือ มีเพียง "ข้าวรพุทธเจ้า ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย ดุจถวายไชย ชโย")

เมื่อเห็นเนื้อเพลงนี้ หลวงพิบูล เสนอว่า "คำว่า มหากษัตริย์ไทย นั้น ไม่ชอบ ขอแก้ว่า บรมกษัตริย์ไทย ได้ไหม" (ผมไม่แน่ใจว่าทำไมหลวงพิบูลจึงเสนอเปลี่ยน)หลวงวิจิตร ก็ตอบว่า "ใช้ได้ไม่ผิด บรม แปลว่า เป็นใหญ่"

เพลงสรรเสริญ ฉบับหลวงวิจิตรนี้ (ที่แก้ "มหา" เป็น "บรม") จึงถูกประกาศใช้ในรัฐนิยมฉบับที่ 8 วันที่ 26 เมษายน 2483



ชื่อประเทศและเพลงชาติปัจจุบันกับปัญหาภาคใต้

พูดถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ในระหว่างทำบทความเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศ ขณะที่กำลังมี "ปัญหาภาคใต้" ขณะนี้ ผมอดนึกไม่ได้ว่า สมมุติว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศ ถ้าประเทศนี้ใช้ชื่อสยามมาโดยตลอด จะช่วยให้ "ปัญหาภาคใต้" ไม่รุนแรงเท่าที่เกิดขึ้นหรือไม่? ไอเดียเบื้องหลังการเปลี่ยนจากสยามเป็นไทย ก็คือ เชื้อชาตินิยม (Racism) คือต้องการ อ้างความเป็นเจ้าของประเทศให้กับคนเชื้อชาติไทยเท่านั้น โดยกีดกัน ลดความสำคัญ คนเชื้อชาติอื่นลงไป

ในระหว่างที่อภิปรายข้อเสนอเปลี่ยนชื่อประเทศของหลวงวิจิตร-หลวงพิบูล ในปี 2482 มี รมต. คนหนึ่งที่พูดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน (ไม่ใช่ปรีดี อย่างที่ใครที่อ่านงานปรีดีเรื่องนี้ อาจจะเข้าใจไปได้) คือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ขอให้ดูคำพูดของเขา ต่อไปนี้


"ในแง่นโยบายปกครอง เราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวเราพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้ว ก็ใช้ว่า ?สยาม? เขาอาจจะน้อยใจได้ ถ้าเราเลิกใช้ ?สยาม? ใช้แต่ ?ไทย? จะเกิดความรู้สึกว่า เอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่า ?สยาม? ก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไปอาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ได้"


ตอนที่เขียนบทความเปลี่ยนชื่อประเทศ (ซึ่งต้นฉบับส่งไปให้ศิลปวัฒนธรรมแล้ว) ผมตีความคำพูดตอนนี้ว่า หลวงธำรง ต้องการหมายถึง คนจีน แต่ไม่พูดถึงคนจีนตรงๆ ใช้คำว่า "พวกปัตตานี" มาเป็นเหมือนคำแทน (euphemism) คนจีนในสยาม แต่หลังจากนั้น ผมเริ่มลังเลว่า หลวงธำรงฯ อาจจะคิดถึง "พวกปัตตานี" จริงๆก็ได้ เพราะปรากฏกว่า ในช่วงนั้น มีการพูดถึงปัญหาภาคใต้ ปัญหา "ไทยมุสลิม" โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการเรียกชื่อประเทศ และประชาชน เช่นในรัฐนิยม ฉบับที่ 3 ที่ให้เรียกชื่อคนไทยว่าไทยหมด ไม่แยกเป็น ลาว เป็น เงี้ยว มีการเติมคำว่า "ไทยมุสลิม" ลงไปในประกาศด้วย โดยตอนแรกที่ร่าง ไม่มี หรือ มีการพูดถึงมาตรการบางอย่างที่พยายามนำมาใช้กับภาคใต้ เช่น ให้ทุกบ้านต้องมีพุทธรูป ต้องใส่บาตร เป็นต้น

อคติต่อคนที่นับถือศาสนาอื่นในประเทศ "ไทย" โดยเชื่อมโยงความเป็นไทยเข้ากับพุทธศาสนา (ใครไม่นับถือพุทธไม่ใช่ไทย) นอกจากกรณีที่มีต่อมุสลิมแล้ว ที่สำคัญยังมีต่อคนที่นับถือคริสต์ ในช่วงปี 2484 มีการออกระเบียบกรมตำรวจ ว่า ไม่รับคนที่นับถือศาสนาอื่น (คือ ไม่ใช่พุทธ) เข้าเป็นตำรวจ ใครที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ กรมฯจะส่งเสริมให้เปลี่ยนมาเป็นพุทธ (แม้ระเบียบจะระบุว่า เฉพาะหน้ายังไม่รวมภาคใต้ 4 จังหวัด) แต่ที่น่าสนใจคือ ในระหว่างอภิปราย ผู้นำขณะนั้นบางคนพูดถึงคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ในลักษณะที่ ผมเองอ่านแล้วยังตกใจ นึกไม่ถึงว่า จะพูดกันแบบนั้น (ประมาณว่า นี่เป็นเมืองไทย คนที่ไม่นับถือพุทธ ไม่ควรจะอยู่ อะไรทำนองนี้ .. ผมหลีกเลี่ยงการอ้างตรงๆในที่นี้ เพราะยังไม่อยากให้ใครเอาไปใช้อย่าง out of context)



เพลงชาติปัจจุบัน, ภูพานปฏิวัติ และ
เพลงชาติฉบับแกรมมี่

การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย มาจากความคิด Racism ดังกล่าว เพลงชาติไทยที่แต่งขึ้นจากการเปลี่ยนชื่อประเทศ ก็มาจากความคิดเดียวกัน ไม่มีประโยคใดที่จะสะท้อนลักษณะ Racism ได้ชัดเจนมากเท่าประโยคแรกสุดของเพลง ที่เราคุ้นเคยกันอย่างดี คือ

"ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย"

ผมสงสัยว่า พวกเราจะมีสักกี่คนที่เวลาร้อง หรือฟังเพลงประโยคนี้ จะนึกถึงความหมายแท้จริง ตรงๆของประโยคบ้าง?

ผมถามเพราะกำลังนึกถึงว่า เมื่อไม่กี่ปีก่อน สารคดี เคยทำฉบับพิเศษ รวมเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา และ 17 พฤษภา เข้าด้วยกัน แล้วตั้งชื่อตัวโตขึ้นหน้าปกว่า รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

ผมคิดว่า ตอนที่ บ.ก. สารคดี ตั้งชื่อแบบนี้ คงไม่คิดอะไรมากไปกว่า ต้องการจะสื่อทำนองว่า "พวกเราก็เลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันทั้งนั้น" (ไยมาฆ่ากัน?) อะไรทำนองนี้

แต่ขอให้กลับไปดู ประโยคนี้ใหม่ โดยเฉพาะ ขอให้นึกถึงบริบทของการแต่งเพลง (เปลี่ยนชื่อประเทศ) ด้วย

ต่อให้ไม่รู้บริบทเลย ประโยคนี้ ไม่มีทางแปลอย่างอื่นได้เลย นอกจาก :

"ประเทศไทยเป็นที่รวมของคนเชื้อชาติไทย" !!!

ทุกวันนี้ เรารู้กันแล้วว่า ประเทศไทย ไม่ใช่ ที่รวมของคนเชื้อชาติไทย แต่เป็นที่รวมของคนหลายๆเชื้อชาติ ไม่เฉพาะไทย แต่มีจีน, มาเลย์, ลาว, มอญ, เขมร, ฯลฯ, ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ "ประเทศไทย ไม่ใช่รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย"


........


ตอนที่ประกวดหาเพลงชาติครั้งแรกในปี 2476-77 มีผู้ส่งเข้าประกวดเพียง 30 รายการ แต่ในปี 2482 มีผู้ส่งถึง 614 รายการ (เรียกเป็นรายการ เพราะบางคนส่งมากกว่า 1 รายการ) ซึ่งรวมถึงบรรดาคนดังๆ (ทั้งตอนนั้นและภายหลัง) หลายคน ไม่เพียงแต่ ขุนวิจิตรมาตรา, นายฉันท์ ขำวิไล 2 คนที่เป็นเจ้าของเนื้อเพลงชาติสยามเดิม ยังมี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระยาอุปกิตศิลปสาร, แก้ว อัจฉริยะกุล, สังข์ พัทธโนทัย, ประเสริฐ ณ นคร, เสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์

สุดท้าย กรรมการเลือกบทที่แต่งเข้าประกวดในนามกองทัพบก โดย หลวงสาราฯ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) โดยขอแก้ 2 จุด คือวรรคที่ 3 "อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล" แก้เป็น "อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล"

ทีนี้ มีอีกจุดหนึ่งที่กรรมการอยากจะแก้ คือ วรรคที่ 2 หลวงสาราฯแต่งไว้ว่า "เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน" หลวงวิจิตรบอกว่า ไม่รู้จะหาคำอะไรแทนคำว่า "ประชาธิปไตย" ดี ปรากฏว่า หลวงพิบูลเป็นคนเสนอว่าให้ใช้ "เป็นประชารัฐไทยของไทยทุกส่วน" ซึ่งที่ประชุมตกลง แต่แก้อีกนิดหน่อย เป็น "เป็นประชารัฐผะไทของไทยทุกส่วน" ....

หลายวันนี้ ผมฟังเพลงชาติสยาม ของขุนวิจิตรมาตรา เทียบกับเพลงชาตปัจจุบัน ฟังบ่อยเข้าๆ ชักรู้สึกว่า ความจริง เพลงเดิม ในแง่การเล่นคำ เล่นได้เพราะกว่ามาก คำของหลวงสาราฯ คือเพลงชาติปัจจุบันนี้ อาจจะบอกว่ามีข้อเด่นคือ "ง่าย" เป็นคำที่ง่าย และเรียงกันแบบง่ายๆ ขณะที่ของขุนวิจิตรมาตรานั้น เล่นคำ โดยเฉพาะเวลาเข้ากับทำนอง (อย่างตอนจบ "สถาปนาสยามให้เทอดไทย ชโย" เทียบกับ "เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย" จะเห็นว่าของเก่า เล่นเสียงดีกว่า "สถาปนา" และ "สยาม" หรือก่อนหน้านั้น "เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผไท" เล่นคำ "ลุย" กับ "เลือด", "หมาย" กับ "มุ่ง" และ "ผดุง" กับ "ผไท" ซึ่งในเพลงปัจจุบันไม่มี) ...


..........


พูดถึงเพลงชาติ 20-30 ปีก่อน ผมเคยนึกเล่นๆ สมัยที่ฝ่ายซ้ายยังดูเข้มแข็งว่า ถ้าเกิดฝ่ายซ้ายชนะแบบที่รู้สึกกันจริงๆ ("อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร") จะเอาเพลงอะไรเป็นเพลงชาติ?

สำหรับผม คิดว่า น่าจะไม่มีปัญหา คือ "ภูพานปฏิวัติ" ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผมเชื่อว่า ในบรรดาเพลงปฏิวัติ/เพลงเพื่อชีวิตไทย ไม่มีเพลงไหนทาบติดเพลงนี้ได้ใกล้เลย แต่สำหรับผม ชอบ version ที่วงกงล้อ ของพวกอรรถการ, ตือ ฯลฯ มาเล่นที่สนามบอลธรรมศาสตร์เวลาชุมนุม คือ แทนที่เขาจะร้องเร็วๆแบบเพลงมาร์ชทั้งหมด เขาร้อง

"ยืนตระหง่ายฟ้า แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูงสว่า
ภูพานมิ่งขวัญคู่หล้าแหล่งไทย"

แบบช้าๆ แล้วจึงรับต่อ ด้วยทำนองเร็ว

"ธงพรรคเด่นแดงเพลิงสะบัดโบกพริ้วเหนือภู...." ไปจนจบ

ฟังแล้วได้ความรู้สึกดีมาก เสียดายว่า ตอนที่พวกเขา (วงกงล้อ) เข้าป่า ไม่เห็นลองทำ version นี้ออกมา สงสัยว่า ในป่า คงรุ้สึกว่าเพลงนี้ "ศักดิ์สิทธิ์" เกินกว่าจะไปแก้ไขได้

พูดถึงเรื่องนี้ ผมขอจบด้วยประเด็นเรื่องการแก้ทำนองเพลงชาติ

คงจำได้ว่า ต้นปี 2546 มีข่าวออกมาว่า กระทรวงกลาโหม ได้ติดต่อให้แกรมมี่ ทำเพลงชาติใหม่ ให้ "พี่เบิร์ด" ธงไชย แมคอินไตย์ ร้อง โดยมีนักร้องจาก "ค่ายเพลง" ทุกค่าย ให้ความร่วมมือ ปรากฏว่า พอข่าวออกมา ถูกด่ากันขรม โพลตามอินเตอร์เน็ต กินขาดว่าไม่ควรเปลี่ยน

ตอนนั้น ผมเองไม่สนใจเท่าไร หรือถ้าคิดบ้าง ก็คงรู้สึกขำมากกว่า และไม่คิดอยากจะฟัง เพลงชาติ ฉบับแกรมมี่

แต่ตอนนี้ ผมเปลี่ยนใจว่า ชักอยากฟังเหมือนกันว่า ถ้าจะเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ จะออกมาในรูปใดได้

ส่วนหนึ่งที่ผมนึกอยากรู้ขึ้นมา (ไม่จำเป็นว่า ได้ยินแล้วจะเห็นด้วย) ว่า จะสามารถ เรียบเรียงเพลงชาติให้ออกมาใหม่ได้อย่างไร ก็เพราะ .. ดังที่ทุกคนที่เคยเข้าโรงหนังช่วงไม่กี่ปีนี้คงทราบดีว่า เครือ EGV ได้ทำเพลงสรรเสริญใหม่ (ไม่แน่ใจว่า เครือ major ใช้อันเดียวกัน คิดว่าคนละอัน?)

วันก่อน ผมได้ดูทีวี มีรายการแนะนำ คนที่อยู่เบื้องหลังการทำเพลงสรรเสริญใหม่นี้ ชื่อคุณอะไรจำไม่ได้ แต่นามสกุล "ตะเวทิกุล" (สงสัยเป็นอะไรกับ ทวี ตะเวทิกุล?) เธอไปจบจากนิวยอร์ค เธอเล่าถึงเบื้องหลังการทำเพลงสรรเสริญใหม่ ว่า ไปรวบรวมบรรดาคนดังๆ มาร้อง ใช้เสียงร้องล้วนๆ ไม่มีดนตรีประกอบ (ผมก็เพิ่งรู้นี่แหละว่า ในบรรดาเสียงนั้น มีอย่างคุณ เจริญ วรรธนสิน เป็นต้นอยู่ด้วย) ผมดูแล้ว ก็ชักอยากรู้ขึ้นมาว่า เพลงชาตินี่จะสามารถเรียบเรียงเสียงใหม่ได้อย่างไรบ้าง ...



โดย : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

เมื่อ : 5 เม.ย. 2547 ใน เว็บบอร์ด ThaiNGO


ที่มา : ThaiNGO : กระทู้สัพเพเหระ เรื่อง หลวงวิจิตรเกือบทำให้ไม่มีธรรมศาสตร์ "รังสิต", หลวงวิจิตรกับเพลงไทยเดิม เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญ, ชื่อประเทศและเพลงชาติปัจจุบัน กับปัญหาภาคใต้

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Hello. This post is likeable, and your blog is very interesting, congratulations :-). I will add in my blogroll =). If possible gives a last there on my blog, it is about the Livros e Revistas, I hope you enjoy. The address is http://livros-e-revistas.blogspot.com. A hug.