วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

เพื่อนร่วมตาย คืนปฏิวัติ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐


รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันกัน ๒ พรรคใหญ่ คือ พรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นพรรครัฐบาล มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค

ภายในพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เลขาธิการพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีตำแหน่งข้าราชการประจำคืออธิบดีกรมตำรวจเจ้าของคำขวัญที่ว่า

"ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้"

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลเดียวกันที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจก็จะพกอาวุธเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ พร้อมกันนั้นก็สั่งการให้กองกำลังตำรวจเข้าอารักขาภายในทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกก็สั่งกองทหารราบพร้อมอาวุธหนักคุมเชิงรอบนอกทำเนียบรัฐบาล ลักษณะการประจันหน้าระหว่างตำรวจและทหารบกเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ทำอะไรไม่ได้เพราะกำลังหมดอำนาจและบารมี

การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ นับเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เลขาธิการ ใช้อำนาจและอิทธิพลของทหารและตำรวจบีบบังคับข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนให้ช่วยพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงบทบาทของพระเอกขี่ม้าขาวด้วยการเรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั่วประเทศให้ทหารทุกคนวางตัวเป็นกลาง ไม่ให้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ ทหารทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจทางการเมืองของตนเอง ไม่ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชี้นำผู้ใต้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาด

หลังการเลือกตั้งพรรคเสรีมนังคศิลามีชัยเหนือพรรคประชาธิปัตย์ หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนทุกแขนงต่างประโคมข่าวการทุจริตการเลือกตั้ง ประชาชนและขบวนการนิสิตนักศึกษาต่างโจมตีการเลือกตั้งสกปรกครั้งนี้เพราะมีพลร่มไพ่ไฟ การเวียนเทียนการบีบบังคับข้าราชการประจำและการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ กัน ประชาชนได้เดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้ง ถึงแม้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลาและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ประชาชน และนิสิตนักศึกษา แต่ความไม่พอใจในตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเพิ่มมากขึ้น วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือ ๑ สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม รักษาการนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่กลับเพิ่มดีกรีของความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น การเดินขบวนประท้วงของประชาชนและนิสิตนักศึกษามุ่งหน้าจากท้องสนามหลวงสู่ทำเนียบรัฐบาล และในวันเดียวกันนี้ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีอำนาจบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจได้ทั่วราชอาณาจักร

ผู้คนเรือนหมื่นประจันหน้ากับกองทัพของชาติที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน วินาทีเลือดอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งไปบัญชาการอยู่ในที่นั้นได้ประกาศแก่กองกำลังทหารและตำรวจว่า

"ทหารและตำรวจทั้งหลาย อย่าใช้อาวุธทำร้ายประชาชน
เป็นอันขาด จงเปิดทางให้ประชาชนผ่านเข้ามาโดยดี"

จากนั้นคลื่นมหาชนได้เคลื่อนเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลโดยเผชิญหน้ากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่ง ณ ที่นั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอม และให้คำมั่นสัญญาต่อผู้ชุมนุมประท้วงว่า

"ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติ และขอพูดอย่างชายชาติทหารว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นใจประชาชน สิ่งใดที่มติมหาชนไม่ต้องการ ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมมือด้วย และหาทางขจัดเสีย ในการที่ข้าพเจ้าพูดอย่างนี้ ขอเอาเกียรติทหารเป็นเดิมพัน"

มีภาษิตทางการเมืองว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" แต่มองในมุมกลับวีรบุรุษอาจจะสร้างสถานการณ์ได้ ประวัติศาสตร์การเมืองหน้านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษหรือวีรบุรุษสร้างสถานการณ์

ท่ามกลางบรรยากาศความไม่พอใจของหนังสือพิมพ์และประชาชนทั่วไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม นับเป็นรัฐบาลชุดที่ ๒๖ ในระบอบประชาธิปไตย ในรัฐบาลนี้จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นรองนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทถนอม กิตติขจร (จอมพล) เป็น รมช.กลาโหม พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตรีประภาส จารุเสถียร (จอมพล) เป็น รมช.มหาดไทย พันเอก นายวรการบัญชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องพารัฐนาวาฝ่าคลื่นมรสุมอย่างหนักหน่วงหลายประการ ในสายตาประชาชนแล้วรัฐบาลขาดความชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตยุติธรรม การโจมตีของหนังสือพิมพ์ และพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายควง อภัยวงศ์ ส.ส.กรุงเทพฯ และหัวหน้าพรรค และที่สำคัญสุดคือการชิงอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีข่าวมาตลอดว่าต่างจะจับกุมตัวซึ่งกันและกันและจะขึ้นเป็นผู้นำทางการเมืองแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม

และแล้วความล่มสลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มาถึง และทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องลี้ภัยการเมืองจากประเทศไทยไปจนถึงอสัญกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น

วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลโทถนอม กิตติขจร พลตรีศิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พลโทประภาส จารุเสถียร และพลอากาศโทเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รมช.เกษตร ขอลาออกจากตำแหน่ง เหตุผลที่เป็นทางการของการลาออกของคณะนายทหารครั้งนี้คือ "แนวนโยบายไม่ตรงกับของรัฐบาล จึงอยู่ร่วมกันไม่ได้" แต่เหตุผลที่เป็นจริงคงมีอยู่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พยายามเจรจาประนีประนอมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและคณะ แต่ไม่สำเร็จ ขณะเดียวกันประชาชนก็รวมตัวประท้วงและต่อต้านรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก จึงได้เรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งรวมตัวเป็น "คณะรัฐประหาร" ตั้งข้อเสนอต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ๒ ข้อ คือ ให้รัฐบาลลาออก และให้พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจและตำแหน่งอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี รับข้อเสนอของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้วก็ยังสงวนท่าทีไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน บ่าย ๒ โมงของวันที่ ๑๕ กันยายน คลื่นมหาชนนับหมื่นเปิดไฮด์ปาร์กที่ท้องสนามหลวงเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และให้ส่งพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ ออกไปนอกประเทศ ซึ่งเป็นการตอกย้ำข้อเสนอของคณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นเอง จากนั้นในช่วงค่ำได้เดินขบวนไปที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์เพื่อพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเรียกร้องให้ออกมาแก้ไขปัญหาการเมืองในขณะนั้นให้ลุล่วงไป จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกมาต้อนรับและปราศรัยฝูงชนผู้ประท้วงว่า

"ข้าพเจ้ายินดีเสียสละทุกอย่างเพื่อประชาชน
ส่วนท่านทั้งหลายขอให้ต่อสู้ต่อไปในวิถีทางที่ถูกต้องและดีงาม"

เย็นวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๖ กันยายน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้เรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่หอประชุมกองทัพบก เป็นการประชุมลับแต่ก็เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี คงปฏิบัติหน้าที่ดูทีท่าของคณะรัฐประหารอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล มีข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง นายทหารร่วมชุมนุมอยู่ด้วย

เมื่อรู้แน่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินลงมาจากห้องพักชั้นบนของทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียก พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ นายฉาย วิโรจน์ศิริ ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรีและดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พันตำรวจเอกเทียบ สุทธิมณฑล นายตำรวจเวร และพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขา แล้วพูดว่า "ไป"

รถซีตรองประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเคลื่อนออกจากทำเนียบรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นคนขับ พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ นั่งด้านซ้ายคู่กับจอมพล ป. นายฉาย วิโรจน์ศิริ และพันตำรวจเอกเทียบ สุทธิมณฑล นั่งเบาะหลังทั้ง ๓ คน ฝนตกปรอยๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่มีลักษณะรีบร้อนหรือตื่นเต้นแม้แต่น้อย คงสูบบุหรี่และเปิดวิทยุในรถฟังตลอดเวลา จุดแรกที่ไปคือบ้านซอยชิดลม แล้วจอมพล ป. ได้ขึ้นไปบนบ้านและให้พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามโทรศัพท์ตามหาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ว่าอยู่ไหน ผลคือไม่สามารถติดต่ออธิบดีกรมตำรวจได้

ทุกคนขึ้นประจำที่ที่รถซีตรองคันเดิม สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำกระเป๋าเอกสารแบบซิปรูดบรรจุเงินสด ๔๐,๐๐๐ บาท รถเคลื่อนตัวออกจากบ้านซอยชิดลมไปตามถนนสุขุมวิท ทุกคนอยู่ในอาการเงียบสงบ ไม่ทราบว่าท่านผู้นำคิดอย่างไร และกำลังจะไปไหน ถึงหน้าสถานีตำรวจพระโขนง ท่านผู้นำจอดรถชั่วขณะแล้วหันมาพูดกับผู้ติดตาม ๓ คนด้านหลังว่า ข้างหลังนั่ง ๓ คนอึดอัด ท่านจึงให้พันตำรวจเอกเทียบ สุทธิมณฑล ลงแล้วหารถกลับเข้ากรุงเทพฯ หากมีโอกาสให้ไปดูสถานการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล และให้ไปรายงานที่บ้านพักรับรอง บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ขณะนั้นฝนตกพรำๆ จากนั้นท่านผู้นำขับรถมุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการอย่างไม่รีบร้อนนัก ขณะขับรถ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้แพ้ภัยการเมืองสูบบุหรี่ชนิดมวนต่อมวนไปตลอดทาง ขณะเดียวกันวิทยุในรถเปิดเพลงมาร์ชรักชาติ สลับกับเพลงปลุกใจ เมื่อถึงปากน้ำและมุ่งไปทางบางปู ถึงบ้านพักรับรองท่านผู้นำเพียงแต่หันไปมองชั่วครู่แต่ไม่เลี้ยวเข้า ท่านขับรถเลยไป ขณะนั้นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ฝนเริ่มเม็ดหนาขึ้นทุกที ท้องฟ้ามืดมิด รถมาถึงสะพานบางปะกง ทหารช่างจากแปดริ้วกำลังตั้งด่านตรวจรถ ขณะที่รถของท่านผู้นำไปถึงการตั้งด่านยังไม่เรียบร้อยจึงยังไม่ได้ลงมือตรวจ ท่านผู้นำและคณะจึงผ่านเลยไป เพียงชั่วอึดใจวิทยุในรถประกาศบ่อยครั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และจอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล รองนายกรัฐมนตรี ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก

ท่านผู้นำและคณะได้ยินประกาศนี้ แต่ต่างคนต่างเงียบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฟังเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังคงสูบบุหรี่มวนต่อมวน เมื่อถึงศรีราชาท่านจึงพูดว่ามีคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โทรศัพท์มาบอกว่าขอเชิญตัวไปที่หอประชุมกองทัพบก แต่ท่านไม่รอให้ทหารมาเชิญจึงได้ขับรถออกมาทำเนียบรัฐบาลเสียก่อน รถน้ำมันหมดที่ศรีราชาและมอบให้นายฉาย วิโรจน์ศิริ และพลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ นำรถย้อนกลับไปเติมน้ำมันที่ตลาด ส่วนจอมพล ป. กับพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขาหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมถนน

ครู่ใหญ่รถกลับมาจากเติมน้ำมัน ฝนยังคงหนาเม็ด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังทำหน้าที่ขับรถต่อไป ท้องฟ้าคะนอง ฝนตกหนักขึ้นทุกที เมื่อถึงสัตหีบท่านผู้นำไม่ยอมแวะไปหาพลเรือตรีประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชายซึ่งเป็นผู้บังคับการฐานเรือสัตหีบ แต่ขับรถเลยไป ถนนจากสัตหีบเริ่มไม่ดี ฝนตกหนัก และเป็นเวลากลางคืน กระจกหน้ามีฝ้าจับมาก ท่านผู้นำต้องขับรถไปอย่างช้าๆ วิทยุในรถยังคงเปิดเพลงมาร์ชและเพลงปลุกใจ สลับกับการประกาศให้บุคคลที่คณะรัฐประหารต้องการตัวไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก

เมื่อรถเลยสัตหีบไปแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถามขึ้นลอยๆ ว่าถนนที่จะไปเขมร โดยผ่านทางไปพลนั้นมีใครรู้จักเส้นทางบ้างไหม ผู้ติดตามจึงทราบว่าท่านผู้นำจะลี้ภัยการเมืองไปประเทศกัมพูชาแน่นอน เมื่อไม่มีใครรู้จักเส้นทาง ท่านจึงขับรถไปเรื่อยๆ ท้องฟ้าทางตะวันออกเริ่มสว่าง และรู้ว่าเข้าเขตจังหวัดตราด ท่านจึงเลี้ยวรถเข้าไปในดงมะพร้าว ฝนหยุด กำลังรุ่งสางแล้ว แต่เมฆฝนยังคงทะมึนอยู่ พร้อมที่จะตกได้ทุกเวลา

พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขา ได้บอกกับท่านผู้นำว่าจะเข้าไปในตลาดเพื่อซื้อกาแฟ ปาท่องโก๋พร้อมทั้งดูเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย จากนั้นจึงถอดเครื่องแบบตำรวจออกคงเหลือแต่เสื้อยืดคอกลมชั้นในเพียงตัวเดียว ขณะนั้นเป็นเวลา ๖ โมงเช้า ชาวตราดฟังวิทยุทราบแล้วว่ามีการปฏิวัติรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เช้าวันที่ ๑๗ กันยายน เป็นวันที่อากาศไม่แจ่มใสเสียเลยโดยเฉพาะกับผู้เผชิญปัญหาวิกฤตที่เอาเป็นเอาตายกันถึงชีวิต พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เดินไปที่ท่าเรือซื้อกาแฟ ปาท่องโก๋ พร้อมทั้งสอบถามชาวเรือถึงการเช่าเรือแถวๆ นั้นด้วย แต่เมื่อชาวเรือถามว่าจะเช่าไปไหนก็ตอบไม่ได้เพียงแต่บอกว่าจะไปเที่ยว ชาวเรือทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามรสุมคลื่นลมแรงอย่างนี้ ไม่มีเรือลำไหนกล้าออกทะเลหรอก และเมื่อคืนนี้มีการปฏิวัติเหตุการณ์ยังไม่สงบ ไม่มีเรือกล้าออกไปไหน ถึงแม้พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จะบอกว่าจะไปเที่ยวไม่ไกลนัก ชาวเรือก็ปฏิเสธที่จะออกจากฝั่ง พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงหิ้วกระป๋องกาแฟและถุงปาท่องโก๋กลับมารายงานท่านผู้นำ ซึ่งท่านบอกว่ากินกาแฟก่อนแล้วพยายามอีกครั้ง

ช่วงสาย พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ และนายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกไปตลาดอีกครั้งเพื่อหาเรือลี้ภัยไปเขมร ผู้คนในตลาดเริ่มพลุกพล่านต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โชคดีของคณะผู้ลี้ภัยที่นายฉาย วิโรจน์ศิริ ได้พบกับครูประชาบาลคนหนึ่งซึ่งรู้จักกันมาก่อนและมีเรือหาปลาด้วย จึงขอร้องเชิงบังคับขอเช่าเรือออกทะเลโดยมิได้บอกจุดหมายปลายทางว่าจะไปไหน ครูประชาบาลเจ้าของเรือจำเป็นต้องรับปากอย่างไม่เต็มใจ ขณะนั้นท้องทะเลกำลังปั่นป่วน ด้วยคลื่นลมหน้ามรสุม ขณะเดียวกันพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ก็พบลูกน้องเก่าคนหนึ่งที่เคยรับราชการที่จังหวัดระยองด้วยกัน ชื่อนายดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแหลมงอบ และยินดีที่จะนำคณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางไปยังเกาะกงของเขมร

เมื่อได้รับรายงานจากบุคคลทั้งสอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงวิตกกังวลซึ่งสังเกตได้จากใบหน้าของท่าน เมื่อตัดสินใจจะเดินทางในช่วงเที่ยง ท่านผู้นำจึงสั่งให้พลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ เดินทางกลับยังพระนครและให้ไปรายงานต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่องการลี้ภัยของท่าน และถามพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ว่า

"คุณชุมพล คุณมีปัญหาอะไรไหม หมายถึงมีคดีทางการเมืองบ้างไหม"

"กระผมไม่เคยมีปัญหากับใคร และไม่มีผู้บังคับบัญชาคนไหนใช้ให้กระผมกระทำในสิ่งที่ผิดครับผม" นายตำรวจอารักขาตอบอย่างมั่นใจ

"คุณจะไปกับผมไหม"

"ท่านต้องการกระผมหรือเปล่า กระผมไม่มีเงินติดตัวเลย อาจจะเป็นภาระให้ท่านก็ได้ และท่านก็ใช่ว่าจะมีเงินไปมาก เงินภายนอกประเทศไม่มีเลย อยู่ในต่างประเทศจะหาใครอุ้มชู คงจะยาก เงินที่ท่านมีอยู่เพียงท่านคนเดียวคงไปได้ไม่ไกล" เสียงตอบจากนายตำรวจติดตาม

"ผมอยากให้คุณไปกับผม" จอมพล ป. พูดตัดบทกับนายตำรวจอารักขา

"กระผมทำหน้าที่อารักขาท่าน ขณะนี้หน้าที่ยังไม่สิ้นสุด ถ้าท่านคิดว่าจำเป็นที่จะต้องเอากระผมไปด้วย กระผมก็ยินดีและเต็มใจไปกับท่าน อนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง ผมเชื่อมั่นว่าภรรยาซึ่งเป็นครูคงจะมีรายได้พอจะเลี้ยงลูกทั้งสี่ของเราได้" พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ตอบอย่างมั่นคงในจิตใจ

จากนั้นพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ได้ฝากเครื่องแบบตำรวจไว้กับพลโทบุลศักดิ์ วรรณมาศ ให้ช่วยไปมอบให้ภรรยาและแจ้งข่าวการอารักขานายกรัฐมนตรีตามหน้าที่ซึ่งจำเป็นต้องเสียสละความสุขส่วนตัว

สภาพของเรือประมงซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้ในการลี้ภัยการเมืองไปยังเกาะกง ประเทศกัมพูชา เป็นเรือหาปลาขนาดเล็กเครื่องยนต์ใช้น้ำมันเตา อุปกรณ์การเดินเรืออย่างอื่นไม่มี ไม่ว่าจะเป็นวิทยุติดต่อ แผนที่เดินเรือหรือเข็มทิศ ตอนบ่ายคณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีผู้ติดตามประกอบด้วย นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขา บ่าย ๒ โมงเรือเริ่มเดินเครื่องออกจากท่า แม้จะอยู่ตามชายฝั่งแต่เนื่องจากเป็นเรือเล็กและคลื่นแรงเรือจึงโคลงอย่างหนัก พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เกิดอาการเมาคลื่นอย่างสาหัส อาเจียนจนหมดเรี่ยวแรง แต่สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วท่านนั่งเฉยไม่มีอาการหวาดวิตกว่าเรือจะโคลง จะโดนคลื่น หรือเรือจะล่ม

เรือหาปลาลำเล็กแล่นฝ่ามรสุมไปอย่างบังคับทิศทางไม่ได้ เรือแล่นไปได้ไกลสักเท่าใดก็ไม่ทราบ ประมาณ ๒ ทุ่มเศษ เรือได้มาถึงหาดเล็กชายแดนไทย-กัมพูชา คณะจอดเรือเพื่อหาอาหารค่ำรับประทานโดยมีผู้ใหญ่บ้านซึ่งทราบเรื่องได้พาลูกบ้านทำข้าวต้มเลี้ยงท่านผู้นำ ขณะเดียวกันวิทยุก็ประกาศให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไปรายงานตัวต่อคณะปฏิวัติที่หอประชุมกองทัพบก ทำให้ท่านมีสีหน้าที่ไม่สบายใจนัก เกือบ ๔ ทุ่ม ท่านจึงสั่งให้รีบออกเดินทางทั้งๆ ที่บรรยากาศมืดสนิท ท้องทะเลกำลังบ้า คลื่นลมแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะกลัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติจะสั่งให้กองกำลังตามจับ

พลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า

การเดินเรือคราวนี้เลวร้ายกว่าครั้งที่ออกจากตราดมาก ท้องทะเลปั่นป่วนและมืดสนิท พายุโหมกระหน่ำอย่างเกรี้ยวกราด คลื่นแต่ละลูกเหมือนภูเขา น้ำทะเลเข้าไปในเรือแต่ละโครมทำให้เรือถูกกระแทกอย่างแรง จนเอียงวูบเหมือนจะจม แต่ไม่จม ผมเจอทะเลบ้าครั้งนี้ อาเจียนจนไม่มีอะไรจะอาเจียนอีก แต่ยังครองสติได้ เมื่อน้ำทะเลซัดเข้าไปในท้องเรือ น้ำท่วมห้องเครื่อง ผมและลูกเรืออีกคนหนึ่ง พยายามสูบน้ำออกจากห้องเครื่อง แต่ปริมาณน้ำที่สูบออกเหมือน "เยี่ยวเด็ก" แต่น้ำที่เข้าไปเหมือน "ทำนบพัง" เครื่องถึงที่สุดของมันคือดับสนิท

เมื่อเครื่องเรือดับ การบังคับเรือทำไม่ได้เลย เรือหาปลาลำนี้ก็เหมือนกาบมะพร้าวลอยไปตามยถากรรม ตามแรงกระแทกของคลื่นยักษ์ ขณะนี้ผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าลงไปช่วยสูบและวิดน้ำออกจากห้องเครื่อง ถ้าเรือจมแน่นอนว่าต้องจมไปกับเรือ

การผจญกับคลื่นลม ความแปรปรวนของท้องทะเล และเรือต้องลอยไปตามยถากรรมนั้น ผมโผล่จากท้องเรือเห็นจอมพล ป. นั่งสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางความมืด ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก ไม่มีอาการเมาคลื่น หรืออะไรทั้งสิ้น

เรือประมงลำเล็กๆ ของเราจวนเจียนจะจมหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่จม ผมถามกัปตันเรือว่าขณะนี้เราอยู่ที่ไหน อยู่ห่างจากฝั่งเท่าไร เรากำลังอยู่ฝั่งเขมร หรือลอยอยู่ในทะเลไทย กัปตันตอบว่า "ไม่รู้" ขณะที่เครื่องเรือเงียบสนิทและรอให้พายุสงบ

ท้องทะเลยังปั่นป่วนต่อไป เรือจะอับปางลงนาทีหนึ่งนาทีใดก็ไม่รู้ ผมขึ้นจากท้องเรือเพราะสู้กับปริมาณน้ำทะเลที่คลื่นซัดเข้าเรือไม่ไหว มานั่งกอดเสาอยู่หน้าจอมพล ป. ไม่มีอะไรทำที่ดีไปกว่าภาวนา บนบานศาลกล่าวนึกถึงพระนึกถึงเจ้า พร้อมทั้งคิดว่าเราไม่เคยสร้างกรรมชั่วอะไรไว้ ทำไมจะต้องมาตายอย่างทารุณกลางทะเลบ้าอย่างนี้

ผมยังคิดว่า ถ้าตกลงไปในทะเลบ้า หรือมีเหตุให้เรือจม หรือจมไปกับเรือ ผมจะยิงขมับตัวเองทันทีจะไม่ยอมทรมานด้วยการจมน้ำตายเด็ดขาด

เหตุการณ์อันน่าหวาดกลัวและตื่นเต้นที่เกิดขึ้นกับพวกเราในครั้งนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ พวกเราเองก็รู้ว่ามันต้องเกิดขึ้น ทุกคนได้เตือนแล้ว หน้ามรสุมเช่นนี้ไม่มีใครกล้าออกทะเล แม้จะเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์การเดินเรือพร้อมก็ตาม แต่เราจำเป็นต้องออก และไม่คิดว่าทะเลจะบ้าคลั่งอย่างรุนแรง น่าสะพรึงกลัวอย่างนี้ พวกเราปลงตกว่าไม่มีใครแก้ได้ ทุกคนทำอะไรไม่ได้ นอกจากระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ช่วยคุ้มครองเท่านั้น

ภัยที่พวกเราผจญอยู่ในคืนนั้น มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวสุดขีด คงไม่มีภัยใดที่น่ากลัวเท่านี้หรือกว่านี้อีกแล้ว ในช่วงที่เครื่องเรือดับและเรือผจญคลื่นขนาดใหญ่ของทะเลที่บ้าคลั่ง พายุโหมกระหน่ำอย่างไม่ปรานี การอยู่ในสภาพที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าทำใจให้สงบพร้อมที่จะตาย เหตุการณ์รุนแรงอยู่กว่าครึ่งชั่วโมง มันเป็นครึ่งชั่วโมงที่ยาวนาน เป็นครึ่งชั่วโมงที่ทรมานโหดร้ายที่สุดในชีวิต

ลมฝนค่อยเบาลง แน่นอนคลื่นเล็กลงเป็นลำดับ ในที่สุดท้องทะเลก็เงียบสงบอีกครั้ง ผมหายจากอาการเมาคลื่น รีบลงไปใต้ท้องเรือช่วยกันวิดน้ำออกจนหมด เอาผ้ามาบิดให้แห้ง เช็ดเครื่องเรือ เผาหัว ติดเครื่องได้อีกครั้ง

ที่แน่นอนที่สุดของธรรมชาติอย่างหนึ่งคือ หลังพายุฝนท้องฟ้าจะแจ่มใส ดวงดาวบนท้องฟ้าระยิบระยับ กัปตันเรือสามารถบอกได้ทันทีว่าขณะนี้เราอยู่ที่ไหน ห่างจากฝั่งเท่าไหร่โดยอาศัยดวงดาว ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่เดินเรือของพวกเขา

ถึงตีห้าเศษๆ คณะจึงรู้ว่าเรืออยู่ทางทิศตะวันออกเพราะท้องฟ้าเริ่มสว่างจ้าเห็นชัดเจนจนมองเห็นฝั่ง และเบื้องหน้าคือ "เกาะกง" จุดหมายการลี้ภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรือแล่นเข้าเกาะกงอย่างช้าๆ และก่อนถึงฝั่งทหารประจำเกาะขับเรือเข้าเทียบเรือประมงของคณะผู้ลี้ภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม แจ้งให้ทหารเหล่านั้นทราบว่า ท่านเป็นใคร มาจากไหน และต้องการมาลี้ภัย ทหารเขมรรับทราบและให้คณะลอยเรือรออยู่ก่อนเพื่อจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ครู่ต่อมาทหารเขมรได้ขึ้นมาควบคุมเรือแล้วลอยลำเข้าไปยังเกาะและเชิญให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม คุณฉาย วิโรจน์ศิริ และพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ พักอาศัยที่เรือนรับรองในค่ายทหาร ส่วนนายดาบตำรวจเฉลิม ชัยเชียงเอม กัปตันเรือ และลูกเรือ ทางทหารเขมรปล่อยให้เดินทางกลับประเทศไทย

ในขณะนั้นสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ พระประมุขประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศส และทรงมอบให้สมเด็จพระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลต้องรอรับสั่งจากสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุว่าจะทรงตัดสินพระทัยอย่างไร ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงให้ลี้ภัยที่เขมรได้ เพราะครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเคยลี้ภัยการเมืองที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน และรับสั่งให้ดูแลรับรองคณะจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่าให้ขาดตกบกพร่อง หลังจากนั้น ๒ วัน ผู้บังคับการค่ายทหารแจ้งแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ารัฐบาลยินดีให้ลี้ภัยได้และรัฐบาลจะจัดรถมารับไปยังกรุงพนมเปญในวันรุ่งขึ้น

รุ่งเช้าของวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลจัดเรือรบมารับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะ จนกระทั่งบ่ายโมงเรือรบเดินทางถึงเมืองเสียมเรียบซึ่งเป็นเมืองชายทะเลของเขมร และคณะต้องเดินทางต่อด้วยรถยนต์อีก ๔ ชั่วโมง จึงถึงกรุงพนมเปญ สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุรับสั่งให้คณะพักที่บ้านหลังใหญ่ครึ่งตึกครึ่งไม้หลังพอเหมาะในบริเวณพระราชวังของพระองค์

วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจอารักขานายกรัฐมนตรีผู้ลี้ภัยได้เดินทางไปยังสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญเพื่อรายงานตัวและตั้งใจจะเล่าเรื่องราวการเดินทางให้ทูตรับทราบและถูกทูตปฏิเสธไม่ให้เข้าพบโดยแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ว่าไม่อยู่ บังเอิญที่ในเย็นวันนั้นทูตทหารไทยประจำกรุงพนมเปญได้มาเยี่ยมจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเอาบุหรี่นาวีคัท มามอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะท่านชอบสูบบุหรี่ยี่ห้อนี้ พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงมีโอกาสพูดคุยกับทูตทหารท่านนี้และรับทราบว่าผู้มีอำนาจที่แท้จริงของไทยคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทูตทหารจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันรุ่งขึ้น พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงถือโอกาสขอร้องให้ทูตทหารช่วยเรียนกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือพลโทถนอม กิตติขจร หรือพลโทประภาส จารุเสถียร ท่านใดท่านหนึ่งถึงการทำหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรี และเมื่อหมดหน้าที่แล้วจะขอเดินทางกลับประเทศไทย พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ พูดกับท่านทูตทหารว่าถึงรัฐบาลไม่ให้กลับก็จะกลับเพราะไม่มีความรู้อื่นใด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่มีเงินพอที่จะอุปการะได้โดยตลอด และยินดีให้รัฐบาลจับถ้าเห็นว่ามีความผิดที่ทำหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรี

๑ สัปดาห์ผ่านไป ทูตทหารกลับจากไทยมาบอกกับพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ว่าได้ไปรายงานต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถึงการลี้ภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะปฏิวัติพิจารณาแล้วเห็นว่าพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ไม่มีความผิดอะไร ให้เดินทางกลับประเทศไทยได้

สถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญได้ออกหนังสือรับรองสัญชาติไทยให้พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นคนออกค่าตั๋วเครื่องบินของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ให้ วันเดียวกันนี้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม พลตรีนิตย์ พิบูลสงคราม บุตรชาย และนาวาโททินกร พันธ์กวี กลับจากประชุมสภาสตรีสากลที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ไปพบกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เขมร ซึ่งพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ถือว่าได้เสร็จสิ้นภารกิจการเป็นนายตำรวจอารักขาของตนเองแล้ว

วันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๑๖.๐๐ น. พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ได้กราบลาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้ลี้ภัย และเดินทางถึงสนามบินดอนเมืองในช่วงค่ำ ซึ่งต้องเผชิญกับกองทัพนักข่าว พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ต้องการรายงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบก่อนให้ข่าวกับสื่อมวลชน จึงคิดหนีกองทัพนักข่าว โชคดีได้พบกับนาวาอากาศเอกกระแสร์ อินทรัตน์ (ภายหลังเป็นพลอากาศเอก อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร นาวาอากาศเอกกระแสร์ อินทรัตน์ จึงนำขึ้นรถจี๊ปของทหารอากาศออกมาทาง กองบิน บน. ๖ แล้วออกถนนพหลโยธิน ไม่มีนักข่าวคนใดตามมาเลย จากนั้นได้ไปรายงานตัวต่อพลตำรวจโท หลวงแผ้วพาลชน ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งได้สอบถามพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ เพียงไม่กี่คำจากนั้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ ๒ สันติบาล เป็นผู้สอบสวน ซึ่งถูกสอบอยู่ ๘ ชั่วโมง ไม่ได้เข้าประเด็นอะไร รุ่งขึ้นพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงขอพบพลตำรวจเอกไสว ไสวแสนยากร อธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ แทนพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

พลตำรวจเอกไสว ไสวแสนยากร อธิบดีกรมตำรวจ แจ้งว่าไม่มีใครติดใจอะไร และแจ้งว่านายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องการให้เป็นนายตำรวจอารักขา พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ปฏิเสธขอไปทำหน้าที่ตำรวจตามวิชาชีพแต่ไม่อาจปฏิเสธได้คงต้องเป็นตำรวจอารักขานายกรัฐมนตรีอีก ๒ ท่าน นายพจน์ สารสิน และพลเอกถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ หน้าที่การเป็นตำรวจอารักขาของพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ จึงสิ้นสุดลง

อนึ่งหลังจากลี้ภัยอยู่ในเขมรเป็นเวลา ๒ เดือน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยา ได้อุปสมบทที่พุทธคยาและเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งคราว และถึงอสัญกรรมที่บ้านพักชานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ขณะอายุได้ ๖๗ ปี ส่วนพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ครองยศสูงสุดคือพลตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ๒ สมัย และในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ๒ สมัย และถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขณะอายุได้ ๘๓ ปี


ข้อมูลจาก "ตำรวจอารักขา" ของพลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพลตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๔


เล็ก พงษ์สมัครไทย


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 26

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: