วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551

คุยกับธงชัย วินิจจะกูล : “การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”


โดย กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน
16 มกราคม 2551


แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญต่อสังคมการเมืองไทยมหาศาล กล่าวเฉพาะในแวดวงการศึกษาก็จะพบว่ามีการผลิตงานเขียนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยออกมามากมายมหาศาลเช่นกัน ทว่างานเขียนเหล่านั้นกลับเป็นไปในทิศทางเดียว ขณะที่การศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างหลากหลายและรอบด้านแทบไม่เคยปรากฏ ยังไม่รวมถึงการเสนอข่าวสารหรือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ซึ่งปีนี้จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2551 มีการบรรจุหัวข้อสัมมนาเรื่อง “พระมหากษัตริย์: องค์ประกอบข้างเคียง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหนังสือหนึ่งเล่ม” (The Monarchy : Accessories, Lèse Majesté, and One Book) เป็นส่วนหนึ่งของงานดังกล่าว ในวงสัมมนานั้นมีการพูดถึงตั้งแต่เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, ภาพลักษณ์ของกษัตริย์, องคมนตรี และหนังสือเล่มร้อนแรงที่สุดแห่งปี The King Never Smiles

งานดังกล่าวได้รับความสนใจตั้งแต่ก่อนเริ่มเมื่อผู้จัดการออนไลน์ได้กล่าวหาว่างานนี้เป็นการจัดขึ้นเพื่อ “บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์” (ดูใน “ผนึกกำลังต่อต้านการทำลายชาติ”, 5 ธันวาคม 2550) ขณะที่สื่อมวลชนก็รายงานข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตางานนี้อย่างใกล้ชิด แต่ทว่างานดังกล่าวก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

-ฟ้าเดียวกัน- ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ในฐานะผู้ประสานงาน (organizer) จัดงานสัมมนาดังกล่าวมาพูดคุยในประเด็นที่ว่าด้วยสถานภาพไทยศึกษาจากสายตา “คนนอก”, การศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ข้อวิจารณ์ต่อหนังสือ The King Never Smiles ธงชัยย้ำว่าทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อต้องการบอกว่า การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนในสังคมไทยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดกันอย่างวิพากษ์วิจารณ์




ฟ้าเดียวกัน : ในฐานะที่อาจารย์ติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งโลกวิชาการภาษาไทยกับฝรั่ง คิดว่าในปัจจุบันสองโลกวิชาการนี้เป็นอย่างไร แล้วความแตกต่างของสองโลกวิชาการส่งผลอะไรกับการศึกษาสังคมไทยบ้าง


ธงชัย วินิจจะกูล : ฝรั่งศึกษาเรื่องไทย จะดีจะแย่ยังไง ก็เป็นการศึกษามิตรร่วมโลกที่เขาเห็นว่า น่าสนใจและมีอารยธรรมต่างจากตน ดังนั้นยังไงๆ ก็ไม่ใช่การศึกษาเรื่องของตนเองอย่างที่คนไทยศึกษาเรื่องไทย ผมคิดว่านี่เป็นความแตกต่างมูลฐานของไทยศึกษาในโลกวิชาการของไทยกับของฝรั่งหรือที่อื่นๆ มีผลต่อประเด็นความสนใจ ท่าทีในการศึกษา การเมืองของวิชาการ และอีกหลายแง่ ความต่างอีกอย่างก็คือ โลกวิชาการของไทยกับประเทอื่นมีความแตกต่างกันมากพอควร มีภูมิหลังความเป็นมา จารีตธรรมเนียม กิจกรรม มาตรฐาน คุณภาพ และอีกมากมายหลายแง่ที่ต่างกัน มีผลต่อทั้งปริมาณ คุณภาพของงานวิชาการ มีผลต่อวิถีชีวิตของคนทำงานวิชาการ ความต่างอีกอย่างคือฐานความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทยต่างกัน งานวิชาการล้วนแล้วแต่สร้างสมบนฐานความรู้ที่มีอยู่ ฐานที่ต่างกันจึงมีผลต่อทิศทางของวิชาการไม่เหมือนกัน ตัวอย่างง่ายๆ คือ การศึกษาเรื่องไทยในต่างประเทศ แยกไม่ค่อยได้จากการรู้จักทั้งภูมิภาค การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคหรือในโลกที่มีนัยให้เปรียบเทียบกันได้ แต่การศึกษาเรื่องไทยในประเทศไทยมักตัดขาดจากมิติของภูมิภาคและไม่มีนัยเปรียบเทียบ ผลก็คือปัญหาที่สนใจไม่ตรงกันเสียทีเดียวระหว่างคนละโลกวิชาการ คำถามต่อปัญหานั้นไม่ค่อยจะตรงกัน วิธีการศึกษาและคำตอบที่แสวงหาจึงมักต่างกัน องค์ความรู้จึงไม่ค่อยจะเหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในสังคมไทย จนกลายเป็นประเด็นอื้อฉาว หรือ “ขายได้” แต่ในโลกวิชาการภาษาอังกฤษ ประเด็นนี้ไม่มีผลต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยเท่าใดนัก ไม่ว่าจะสรุปผลออกมาอย่างไรก็ตาม

ความต่างเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าฝ่ายหนึ่งก้าวหน้าอีกฝ่ายหนึ่งล้าหลัง ไม่จำเป็นเสมอไป อาจเป็นอย่างนั้นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่องสยามเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคม สยามเป็นกึ่งเมืองขึ้น สยามเป็นนักล่าอาณานิคม ประเด็นพรรค์นี้โลกวิชาการภาษาอังกฤษไปไกลกว่าภาษาไทย แต่พอดูเรื่อง 2475 เรื่องบทบาททางการเมืองของฝ่ายขุนนางนิยมเจ้า เราจะพบว่างานของคนไทยภาษาไทยน่าตื่นเต้นกว่าในโลกภาษาอังกฤษมาก

การศึกษาเรื่องที่ถือกันว่าเป็นองค์ประกอบของความเป็นไทย ความเป็นตัวตนของเราเองจะยิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจน อย่างเช่นเรื่องพุทธศาสนาในสังคมไทย เรื่องชาตินิยมไทย เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น หลายคนชอบพูดว่าฝรั่งจะมาเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ดีกว่าคนไทยได้ยังไงกัน คำกล่าวพรรค์นี้ก็มีส่วนถูกต้องอยู่ คือเหมือนเราเป็นปลาว่ายอยู่ในอ่างใบหนึ่ง คนที่ไม่ได้เป็นปลาอยู่ในอ่างใบเดียวกัน จะมารู้จักชีวิตในอ่างของเราได้ดีกว่าเราคงเป็นไปได้ยาก แต่ความอ่อนแอของความรู้ของเราก็อยู่ตรงที่ความเข้มแข็งนั่นแหละ คือรู้จักชีวิตในอ่างแบบปลาอยู่ในอ่างแค่นั้นแหละ เราจึงมักไม่ค่อยเข้าใจชาตินิยมของตัวเอง การศึกษาเรื่องพุทธศาสนาในสังคมไทยจึงติดกรอบที่ค่อนข้างจำกัด คนไทยเขียนถึงพระมหากษัตริย์เหมือนปลาที่ไม่เคยรู้จักชีวิตแบบอื่นที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในน้ำ และเห็นว่าชีวิตท่ามกลางน้ำในอ่างใบนั้นวิเศษที่สุด


ฟ้าเดียวกัน : ความแตกต่างของโลกวิชาการภาษาไทยกับฝรั่งนี้เกี่ยวเนื่องกับกรอบทฤษฎีด้วยหรือไม่


ธงชัย วินิจจะกูล : แน่นอน กรอบคิดทฤษฎีย่อมต่างกันเพราะความต่างทั้งหลายอย่างที่ว่ามานั้นเป็นภูมิหลัง ปัญหาอีกอย่างในเรื่องกรอบคิดทฤษฎีก็คือ เรามักถือว่าตัวเองรู้จักสังคมไทยดีกว่า ดีมากๆ จนถึงรายละเอียดจิปาถะ จนมักคิดว่าทฤษฎีอะไรก็ใช้กับสังคมไทยไม่ได้ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่มีทฤษฎีที่ไหนในโลกอธิบายข้อเท็จจริงได้หมดหรอก ไม่ว่าที่ไหนก็เถอะ แต่กลับจำเป็นมากในการอธิบายประเด็นที่ซับซ้อนใหญ่โตเกินกว่าความรู้แบบสามัญสำนึก เราไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของกรอบคิดทฤษฎีหรือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงที่กระจัดกระจายมากมายเต็มไปหมด ผลในข้อนี้ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถหลุดพ้นกรอบทฤษฎีไปได้ เพราะเราหนีไม่พ้นการเอากรอบคิดบางอย่างมาสร้างความหมายให้กับข้อเท็จจริงที่มีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด แต่กลายเป็นว่าเราไม่ค่อยตรวจสอบหรือระมัดระวังกรอบคิดทฤษฎีที่เราใช้ บ่อยครั้งใช้อย่างไม่รู้ตัว กลายเป็นสามัญสำนึกด้วยซ้ำไป


ฟ้าเดียวกัน : ถ้าเช่นนั้นหนังสือ Siam Mapped ของอาจารย์ก็ถือเป็นผลผลิตของกรอบคิดฝรั่งด้วยหรือไม่ จึงทำให้แตกต่างจากงานศึกษาในประเด็นเดียวกันก่อนหน้านั้นในโลกภาษาไทย


ธงชัย วินิจจะกูล : ใช่ ใครจะบอกว่าผมได้ความคิดมาจากการอ่านงานของฝรั่งผมก็ไม่ปฏิเสธ การศึกษาเรื่องไทยที่เราเชื่อกันว่าเป็นแบบไทยๆ เอาเข้าจริงก็เป็นผลผลิตของกรอบคิดฝรั่งเช่นกัน เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งที่รู้ตัวและใช้ได้ดี และที่ไม่รู้ตัวและใช้อย่างหละหลวม แถมยังอ้างว่าไม่ได้อิทธิพลฝรั่งเสียอีก ความรู้ที่อ้างว่าเป็นแบบไทยๆ เอาเข้าจริงเป็นผลผลิตของการส่งผ่านแลกเปลี่ยนความรู้กับฝรั่งมาแต่ไหนแต่ไรเป็นร้อยปีแล้ว

ในขณะที่ผมเห็นว่ามีความต่างกันมากพอควร ระหว่างโลกวิชาการและความรู้ที่ผลิตในสังคมไทยกับที่อื่นอย่างที่พูดไปแล้ว ผมกลับเห็นว่า ผลของการแบ่งว่าใคร อย่างไร เป็นฝรั่ง เป็นไทย อย่างที่เข้าใจกัน มักจะผิดมากกว่าถูก และกลายเป็นแค่วาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ความคิดของตัวเอง และลดความน่าเชื่อถือของคนอื่นแค่นั้นเอง เป็นโวหารมากกว่ามีสาระอะไรจริงๆ จังๆ

เอาเข้าจริงผมกลับคิดว่าความคิดของผมมีที่มาจากสังคมไทยมากๆ แต่อาจจะไม่ใช่ในแบบที่คนอื่นเป็น คนที่มักกล่าวว่าผมเป็นฝรั่งมากไป มักจะดูเอาง่ายๆ จากการที่ผมอยู่ต่างประเทศครึ่งชีวิต ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยรู้จักอากาศนอกประเทศไทยเลย ตลอดครึ่งแรกของชีวิต ผมโดนโปรแกรมโดยสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมอาจโดนหล่อหลอมโดยสังคมไทยต่างจากคนอื่น ตรงนี้ต่างหากที่ปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่จะแตกต่างกันได้ท่ามกลางปัจจัยที่ใกล้เคียงกัน ความต่างตรงนี้แหละที่ทำให้ผมมักถูกกล่าวหาว่าไม่ค่อยเป็นไทย สังคมไทยไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยยอมรับการที่คนในสังคมตัวเองเป็น “คนนอก” คือเกิดระยะห่างที่มองกลับมาดูตัวเอง สังคมตัวเอง ต่างไปจากปลาอยู่ในอ่าง เป็นระยะห่างทางปัญญามากกว่าในเชิงกายภาพ มีคนอย่างนี้อยู่เยอะแยะไป แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทั่วๆ ไป ก็เลยโดนผลักให้กลายเป็นอื่น เป็นฝรั่งไปเสียเลย ผมรู้ตัวและยอมรับว่าตัวเองเป็นคนนอกในแง่นี้ ซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมไทยเอง เป็นผลผลิตของภูมิหลังประสบการณ์ที่ผมได้รับจากครึ่งแรกของชีวิตในสังคมไทยเอง ดังนั้นแทนที่ผมจะโดนโปรแกรมให้เป็นเหมือนคนอื่นๆ กลับเกิดระยะห่างทางปัญญาให้ผมมองสังคมไทยจากมุมมองที่ไม่ใช่ปลาอยู่ในอ่าง ผมขอย้ำนะครับว่านี่ไม่ใช่กรณีประหลาด มีคนแบบนี้อีกมากมายในดีกรีต่างๆ กัน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในโลกทางปัญญา เพราะระยะห่างดังกล่าวเป็นเรื่องทางปัญญามากกว่าเรื่องกายภาพ

“ช้างน้อย” เคยเรียกผมเป็น “ผี” คืออยู่ในสังคมไทยเดียวกันกับคนอื่นๆ แต่เหมือนอยู่คนละภพภูมิ คุณจะจัดประเภทตามแบบไตรภูมิหรือตามแบบจิตวิทยาก็เชิญ สิ่งที่เหมือนกันคือ สังคมไทยหล่อหลอมให้ผมมีระยะห่างในการมองย้อนกลับมาดูความเป็นไทย ชาตินิยมไทยและอะไรไทยๆ ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยปลอดพ้นจากอิทธิพลของความเป็นไทย ชาตินิยมไทยเหล่านั้นเลย จึงต่างจากฝรั่งที่อยู่นอกสังคมไทยจริงๆ ที่มาศึกษาเรื่องไทยตรงนี้แหละ

ผมคิดว่าสภาวะทางปัญญาแบบนี้ต่างหากที่มีส่วนสำคัญ เป็นฐานของความคิดของผมในการศึกษาเรื่องไทย หนังสือหนังหากรอบคิดทฤษฎีต่างๆ เป็นแค่เครื่องมือที่ “คนนอก” อย่างผมหยิบฉวยมาใช้ ไม่ต่างจากที่นักวิชาการคนไทยอื่นๆ ก็ฉวยใช้ แต่ใช้ในแบบของเขา ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องกรอบคิดทฤษฎีฝรั่งมากเท่ากับเรื่องตำแหน่งแห่งที่ทางปัญญาที่ใช้มองสังคมไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องกอดคัมภีร์ฝรั่งไม่รู้จักสังคมไทยอย่างที่กล่าวหากันอย่างมักง่าย ไร้สาระ แต่เป็นเรื่องของการคิดมาจากมุมคนละแบบ ปัญญาชนไทยไม่น้อยที่คิดแบบปลาอยู่ในอ่างก็เป็นอย่างนี้แหละ ชอบผลักไสความแตกต่างให้กลายเป็นฝรั่งต่างชาติไปเสียเลย ง่ายดี
ผมเองรู้ตัวและพอใจกับการมีระยะห่างทางปัญญากับสังคมไทย ยิ่งบวกกับระยะห่างโดยประสบการณ์และกายภาพยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ เพราะสภาวะแบบนี้ช่วยให้ผมมีคำถามกับสังคมฝรั่งจากมุมมองของคนนอกได้แทบทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง และมีคำถามกับสังคมไทยจากมุมมองของคนนอกไปอีกแบบได้ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้งเช่นกัน ผมกลับดีใจว่าผมโตมากับสังคมไทยมากพอ มีประสบการณ์ที่ต้องถือว่าหาได้ยาก ซึ่งหล่อหลอมฐานทางปัญญาของผมในแบบที่อาจจะต่างจากอีกหลายๆ คน แล้วยังมีโอกาสได้มาอยู่ท่ามกลางเงื่อนไขทางปัญญาอีกแบบที่ช่วยให้ผมสามารถคิดข้ามวัฒนธรรมเป็นชีวิตประจำวัน ผมเคยคิดจะเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง เก็บโน้ตไว้เต็มไปหมด ทั้งเรื่องโลกวิชาการข้ามวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมองจากข้ามวัฒนธรรม ไปจนถึงชีวิตประจำวัน การเมือง และสารพัดเรื่องจากมุมมองข้ามวัฒนธรรม แต่ลงท้ายผมไม่ได้เขียนสักที เพราะแค่นี้ก็โดนหาว่าเป็นฝรั่งไม่รู้จักสังคมไทยมากพอแล้ว

ออกนอกเรื่องมายืดยาว ขอตอบข้อนี้ปิดท้ายว่า เพื่อนฝรั่งที่ศึกษาเรื่องไทยมา 30 กว่าปีแล้ว แต่งงานกับคนไทย อยู่เมืองไทยปีละ 2-3 เดือน เคยบอกผมว่า Siam Mapped มีรสชาติ (flavor) ที่รู้ได้ชัดๆ ว่าคนเขียนไม่ใช่ฝรั่ง


ฟ้าเดียวกัน : ในการสัมมนาไทยศึกษานานาชาติที่ผ่านมา ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ประสานงานจัดวงสัมมนาเรื่อง “The Monarchy: Accessories, Lèse Majesté, and One Book” ซึ่งมีทั้งการนำเสนอบทความวิชาการ การเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ถ้าให้ประเมินอาจารย์คิดว่าปัจจุบันการศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์มีความก้าวหน้าหรือจุดเปลี่ยนอะไรบ้าง และจุดเปลี่ยนนั้นๆ มีความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องไทยอย่างไร


ธงชัย วินิจจะกูล : ฝรั่งที่ศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็มี แต่ไม่มาก อาจจะมีเรื่องความกลัวไม่ได้วีซ่าด้วย แต่เราคงต้องย้อนกลับไปถามว่ามีฝรั่งทำเรื่องไทยสักกี่คน ประเด็นเกี่ยวกับเมืองไทยมีตั้งมากมาย แต่คนที่เขียนเรื่องนี้เอาเข้าจริงมีอยู่ไม่เยอะ สังคมไทยเองต่างหากที่มีการเขียนเรื่องพระมหากษัตริย์เยอะมาก แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเยอะในแบบไหน งานที่ทำในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งน้อยมาก นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า การศึกษาเรื่องไทยแบบไทยๆ แบบปลาอยู่ในอ่าง ไม่ได้แปลว่าเข้าท่าเสมอไป เพราะเราอยู่ในกรอบที่ฝังหัวจนไม่เคยโดนท้าทาย ต่อให้มีผู้วิจารณ์เราก็พยายามแก้ตัวแก้ต่างหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลใหม่ ความคิดใหม่ เพื่อลงกรอบเดิมให้ได้ การจัดวงคุยครั้งนี้ขึ้นมาเพราะผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะคุยกันได้ในเรื่องนี้ คุยกันดีๆ เป็นเรื่องเป็นราว

แน่นอนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นปัญหา ซึ่งในความเห็นผมกฎหมายนี้ควรจะยกเลิกและเปิดให้คุยเรื่องนี้กันได้ แต่แม้ว่ากฎหมายหมิ่นฯ ยังคงอยู่อย่างปัจจุบันนี้ เราก็ยังคุยเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่าที่เราคิด จุดประสงค์ของการจัดวงครั้งนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกว่า การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ถึงแม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็ยังมีเรื่องให้คุยกันมากกว่าที่บอกว่าเราพูดไม่ได้ หมายความว่าเรามีสิทธิและมีช่องทางจะพูดเรื่องนี้มากขึ้น และแน่นอนนี่คือการส่งสัญญาณว่าสังคมไทยควรจะต้องคุยกันเรื่องนี้ คุยเรื่องนี้กันอย่างรับผิดชอบ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทยในระยะยาวมากกว่า ผมเชื่อว่ายิ่งคุยกันมากขึ้น จะยิ่งช่วยให้สังคมไทยตระหนักว่ากฎหมายหมิ่นฯ เป็นอุปสรรค เป็นเรื่องไม่เข้าท่า และควรยกเลิกซะ การคุยกันเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เร่งด่วนด้วย เพื่อให้สังคมไทยรู้จักคิดรู้จักปรับตัวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไป แทนที่จะหลอกตัวเองอยู่ร่ำไปแล้วรอวันที่จู่ๆ ก็เกิดปัญหาที่ตั้งตัวรับไม่ทัน กฎหมายหมิ่นฯ เป็นกฎหมายที่ก่อปัญหาต่ออนาคตของสังคมไทย

ทำไมถึงอยากจัดให้มีการคุยเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ของพอล แฮนด์ลีย์ ก็เพราะผมเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ควรที่จะมาพูดคุยถกเถียง ไม่ใช่มาห้าม ไม่ต้องกลัวว่าคนไทยจะรักเคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์มากขึ้นหรือน้อยลงเพียงเพราะหนังสือเล่มเดียว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นกรรมของสังคมไทย ที่หนังสือเล่มเดียวสามารถจะก่อผลได้ขนาดนั้น ผมคิดว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะคุยถึงหนังสือเล่มนี้ อาจมีผลไม่พึงประสงค์บ้างก็เป็นเรื่องปกติของการถกเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะดีกว่าถ้าสังคมไทยเผชิญกับเรื่องพวกนี้ เพื่อจะรู้จักปรับตัวรู้จักเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แทนที่จะเอาแต่ปกปิดกัน หรือทำให้คนกลัว ซึ่งไม่ช่วยให้สังคมไทยมีวุฒิภาวะ

นี่คือจุดประสงค์ของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ การศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในบ้านเรามีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ที่ใช้ได้มีไม่มาก และโดยมากก็เป็นการยืนยันกรอบเดิมๆ อย่างเป็นวิชาการ หรืออย่างมีเหตุมีผลหนักแน่นกว่าการสรรเสริญเยินยอตามธรรมเนียมที่มีอยู่อย่างดาษดื่น แวดวงวิชาการมีการพูดคุยเรื่องนี้น้อยเกินไป ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรจะพูดกัน อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้ให้เห็นว่าในวงการนิติศาสตร์แทบไม่มีการถกเถียงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้สะท้อนถึงการไม่รับผิดชอบของนักวิชาการ ทั้งที่คุยกันได้ว่ากฎหมายนี้ควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร แต่กลับไม่มีการคุยกันเลย


ฟ้าเดียวกัน : ในการอภิปรายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวว่าเหตุที่วงวิชาการไทยไม่ศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์มี 2 ประเด็นคือ หนึ่ง กลัวเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ อีกประเด็นหนึ่งคือ วงการไทยศึกษาไม่คิดว่าเป็นประเด็นหลักของการศึกษาเรื่องไทย อาจารย์นิธิบอกว่า The King Never Smiles มีคุณค่ามหาศาลต่อการศึกษาเรื่องการเมืองไทย เพราะเป็นการท้าทายต่อกรอบคำอธิบายเดิมๆ ที่ใช้กันมานาน อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่


ธงชัย วินิจจะกูล : ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิในข้อนี้ และเป็นประเด็นสำคัญมาก สถาบันกษัตริย์เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นไปทางสังคมมากมหาศาล แต่เรากลับเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง และยกออกไปไม่นำมาพิจารณาในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง อย่างนี้ถ้าไม่ใช่ความมืดบอดทางปัญญา ก็ต้องเรียกว่ารู้แต่กลับไม่รับผิดชอบ

สังคมไทยปล่อยให้ชีวิตของสังคมผูกติดกับความเป็นไปของสถาบันกษัตริย์มากเกินไป เรื่องนี้ก็นับว่าแย่มากแล้ว แต่ซ้ำกลับหลอกตัวเอง ไม่ศึกษา ไม่ยอมให้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการยกระดับวุฒิภาวะให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง อันนี้แย่มากๆ และอันตราย สังคมที่มีวุฒิภาวะพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงคือสังคมที่เปิดให้มีการถกเถียงกัน คนจะค่อยๆ ปรับความคิดปรับตัว รับรู้สิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดีแล้วตัดสินเอง ผมไม่เชื่อว่าการเปิดให้คุยเรื่องนี้กันแล้วสังคมไทยจะเปลี่ยนความคิดอย่างมหาศาลในเวลาชั่วข้ามคืน


ฟ้าเดียวกัน : ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง มองจุดแข็งของหนังสือ The King Never Smiles เล่มนี้อยู่ตรงไหน


ธงชัย วินิจจะกูล : จุดแข็งคือมันเปิดประเด็นที่สังคมไทยไม่กล้าพูด ไม่ยอมพูด แต่เอาเข้าจริงแฮนด์ลีย์ไม่ใช่คนแรกที่ทำ คนไทยซุบซิบนินทาเรื่องแบบนี้ทุกวี่วัน แต่ไม่เขียนไม่ถกเถียงกันให้เป็นเรื่องราว ทั้งเพราะกฎหมายหมิ่น ทั้งเพราะไม่พยายามทำ ไม่อยากลงแรงหาเรื่องเดือดร้อน

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ ว่าหนังสือเล่มนี้พยายามเสนอกรอบอธิบายต่างไปจากเดิมที่นักวิชาการไทยทำ เป็นกรอบที่นักวิชาการไทยไม่คิด หรือคิดแต่ไม่สามารถทำออกมาได้ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประมวลข่าวลือซุบซิบนินทาอย่างที่หลายคนกล่าวหา แต่เป็นการเสนอกรอบความเข้าใจบทบาทของราชสำนัก กลุ่มนิยมเจ้า พอล แฮนด์ลีย์ พูดถึงเครือข่ายฝ่ายเจ้า (network monarchy) แม้เขาจะไม่ได้ใช้คำนี้โดยตรงดังที่ดันแคน แมคคาร์โก [1] เสนอไว้ก็ตาม หนังสือเล่มนี้พูดถึงกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทางการเมือง เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และมีบทบาทในการเมืองไทย ถ้าสังคมเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองก็ต้องรู้ด้วยว่าฝ่ายเจ้าเหล่านี้ไม่ได้อยู่เหนือการเมืองเลย เขาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร อาจารย์นิธิไม่ได้ฟันธงว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหนังสือนี้ แต่เปิดประเด็นให้คุยกันว่าการวิเคราะห์โดยใช้กรอบนี้เข้าท่าไหม จุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์หนึ่งที่จัดวงพูดคุยนี้ขึ้นมา

ย้อนกลับไปอีกวงสัมมนาที่ อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล และเดวิด สเตร็กฟัสส์ เสนอเรื่อง “The Lèse Majesté Law in Thailand: Its Prosecution, Victims and Implications of Its Use on Politics and History” ผมชอบมากที่วิทยากรทั้งสองท่านสรุปว่ามีทางออกเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 4 ข้อ [2] ใน 4 ข้อนั้น เขาไม่ได้บอกว่าข้อไหนเป็นทางออก เขาบอกว่าสังคมไทยควรจะคุยกันว่าใน 4 เรื่องนี้จะเอาอย่างไร แต่ละเรื่องก็คุยกันได้จมเลย ส่วนการตัดสินว่าจะเลือกข้อไหนก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องหาคำตอบกันเอาเอง

หนังสือของพอล แฮนด์ลีย์ ถือว่าเปิดกรอบมุมมองต่อเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เคยพูดกันมาบ้างออกมาอย่างเป็นชุด มีข้อมูลสนับสนุน ผมคิดว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ดีกว่าหนังสือที่เขียนมาก่อนหน้า แม้กระทั่ง The Revolutionary King ของวิลเลียม สตีเวนสัน [3] ซึ่งมีโอกาสไปสัมภาษณ์ในหลวง บางคนคิดว่านั่นเป็นจุดแข็ง แต่ผมว่าหนังสือไม่ค่อยมีคุณภาพ ไม่มีสาระสำคัญที่น่าสนใจเลย ถึงแม้พอล แฮนด์ลีย์ไม่ได้สัมภาษณ์ ผมกลับคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีสาระให้ขบคิดอะไรใหม่ๆ ดีกว่าหนังสือของสตีเวนสันมากมาย


ฟ้าเดียวกัน : แล้วจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้มีอะไรบ้าง


ธงชัย วินิจจะกูล : ผมคิดว่าบทแรกๆ ที่อธิบายความคิดเรื่องธรรมราชาโดยย้อนกลับไปสุโขทัยโน่น อธิบายไม่ดีเท่าไหร่ แถมยังอธิบายแบบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเปี๊ยบเลย ความคิดธรรมราชามีมาแต่โบราณ แต่ไม่ใช่อย่างที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอธิบาย การอธิบายแบบนั้นเป็นผลผลิตของภูมิปัญญาฝ่ายเจ้าสมัยใหม่ ที่ก่อรูปก่อร่างราว 150 ปีมานี้เอง และค่อนข้างลงตัว 60 ปีมานี้เอง ไม่ใช่เรื่องโบร่ำโบราณสมัยสุโขทัย

ผมชอบการอธิบายช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก แต่ช่วงหลังของหนังสือเอาข่าวลือต่างๆ มาเล่าประกอบมากเหลือเกิน ซึ่งหลายแห่งก็ไม่จำเป็น เพราะสามารถสร้างข้อถกเถียงได้โดยไม่ต้องใช้ข่าวลือพรรค์นั้น แต่ผมต้องยอมรับว่า เขาไม่ได้ใช้ข่าวลือเป็นฐานการวิเคราะห์ แต่ใช้อย่างยอมรับได้ด้วยซ้ำไป คือระบุชัดเจนว่าเป็นข่าวลือ รายละเอียดเชื่อถือไม่ค่อยได้ แต่สะท้อนอะไร ซึ่งมีข้อเท็จจริงสนับสนุนต่างหากอย่างไร

ข้อวิจารณ์ของแอนเนต แฮมิลตัน ในการสัมมนาก็น่าคิด คือแฮนด์ลีย์ทำให้คนไทยดูเป็นพวกล้าหลังงมงายกับสถาบันกษัตริย์อย่างไม่น่าเชื่อ ตรงนี้คุณคิดเอาเองแล้วกันว่าแฮนด์ลีย์เป็นฝรั่งที่ดูถูกคนไทย หรือเขาพูดถูกเพราะคนไทยเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ดูเหมือนงมงายก็ต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงกลายเป็นอย่างนั้นไปได้ อีกประเด็นสำคัญคือ ในช่วงครึ่งแรกของหนังสือ ผมว่าเขาอธิบายเครือข่ายของพวกฝ่ายเจ้าได้ดีมาก แต่ช่วงหลังที่ใกล้สมัยปัจจุบันเข้ามากลับกลายเป็นเรื่องของบุคคลมากเข้าทุกที แฮนด์ลีย์ให้เหตุผลว่า เพราะยิ่งนานวันบุคคลยิ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดของเครือข่ายทั้งหมด ผมคิดว่าต่อให้เป็นอย่างนั้นจริง ความสำคัญของเครือข่ายฝ่ายเจ้าในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรสนใจอยู่ดี ผมไม่ค่อยเชื่อว่าเครือข่ายในฐานะกลุ่มผลประโยชน์นี้ขึ้นต่อหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลไปหมด แฮนด์ลีย์เองก็ตระหนักข้อนี้ ดูจากการที่เขาสะสมข้อมูลเกี่ยวกับองคมนตรี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย แต่เรื่องพวกนี้กลับจางลงไปในช่วงท้ายๆ ของหนังสือ


ฟ้าเดียวกัน : อาจารย์คิดอย่างไรต่อข้อวิจารณ์ของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในหนังสือ พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย [4] ซึ่งแม้จะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเขียนมาโต้หนังสือ The King Never Smiles ก็ตาม นั่นคืออาจารย์นครินทร์ชี้ว่าแนวคิดที่ว่ากษัตริย์อยู่เบื้องหลังทุกอย่างทางการเมือง ทำให้สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลเกินจริง


ธงชัย วินิจจะกูล : อาจารย์นครินทร์ต้องเถียงออกมาว่ากษัตริย์ไม่ได้อยู่เบื้องหลังอย่างที่แฮนด์ลีย์เสนอ จะอธิบายว่าเป็นเรื่องของเครือข่ายฝ่ายเจ้าแต่ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์เอง หรือจะอธิบายว่าไม่ใช่ทั้งนั้น ทั้งบุคคลและเครือข่ายไม่ได้เกี่ยวเลย อธิบายออกมาเลยครับ จะได้มีข้อถกเถียงกันได้ แต่หนังสืออาจารย์นครินทร์ไม่ได้อธิบายตรงนี้ กลับโบ้ยไปอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองแบบเดิมๆ คือสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ยกเว้นเมื่อประเทศชาติวุ่นวาย แล้วทรงกอบกู้ประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤติได้ ผมต้องถือว่าอาจารย์นครินทร์ผลิตงานตามกรอบเดิมๆ อีกชิ้น โดยไม่ได้วิจารณ์ตอบโต้แฮนด์ลีย์เลยสักนิด

ผมกลับคิดด้วยว่ากฎหมายและวาทกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนฉลาดอย่างอาจารย์นครินทร์ที่อยากจะออกมาตอบโต้แฮนด์ลีย์กลับไม่สามารถทำได้ถนัด ผมเชื่อว่าอาจารย์นครินทร์รู้และอยากจะพูดอยากจะเขียน อยากจะฉะกับแฮนด์ลีย์อย่างตรงไปตรงกว่านี้ แต่กลับไม่สามารถทำได้อย่างที่คิด เพราะการอภิปรายเชิงวิพากษ์วิจารณ์แม้จะลงท้ายเป็นการสรรเสริญเชิดชูก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ คุณดูตัวอย่างงานของอาจารย์กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร [5] ก็ได้ ผมคิดว่าให้อาจารย์กอบเกื้อเขียนเป็นภาษาไทยก็คงไม่ง่ายนัก ทั้งๆ ที่เป็นงานที่มีนัยตรงข้ามกับแฮนด์ลีย์ลิบลับ กลายเป็นว่าคนที่อยากจะยกย่องเชิดชูเจ้าอย่างวิพากษ์วิจารณ์ก็เกร็งเพราะกลัวจะล้ำเส้นเช่นกัน งานของอาจารย์นครินทร์ก็เลยออกมาเป็นงานวิชาการสำนัก “กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย” 2550 ทำนองเดียวกับอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิชและอีกหลายคนที่ออกมาช่วงประมาณปี 2510 ต้นๆ


ฟ้าเดียวกัน : ในงานวิจัยชิ้นล่าสุด “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี), 2519-2549″ ทำให้ความเข้าใจเรื่องฝ่ายขวาไทยของอาจารย์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เข้าใจมากขึ้น หรืออะไรที่ยังไม่เข้าใจ


ธงชัย วินิจจะกูล : งานเรื่องความทรงจำของฝ่ายขวาที่ผมนำเสนอเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อใหญ่เรื่องความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาฝ่ายขวา ความเงียบเกี่ยวกับ 6 ตุลา มีหลายแบบหลายประเภท ฝ่ายขวาเป็นแบบหนึ่ง ประเภทหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับฝ่ายขวาเป็นสาระสำคัญที่สุด ผมตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องแวดล้อมกับความเงียบของพวกเขา ทำไมพวกเขาเงียบไป ทำไมไม่พูด เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา พวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไร ทำไมจึงถูกทำให้เงียบลงไป แน่นอน ผมได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับฝ่ายขวา แต่มีหลายแง่หลายมุมสำคัญที่ผมยังไม่ได้แตะเลยถ้าหากประเด็นใหญ่เป็นเรื่องของฝ่ายขวาโดยเฉพาะ แม้กระทั่งการเลือกว่าจะสนใจใคร คุยกับใคร ก็ถือเอาเป้าหมายเรื่องความทรงจำเป็นสำคัญ ถ้าผมต้องการศึกษาฝ่ายขวาเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะ ผมต้องเลือกคนอีกแบบ คำถามอีกแบบ


ฟ้าเดียวกัน : พอพูดถึงงานในซีกที่ศึกษาขวาไทยที่ไม่ได้ศึกษาในฐานะเป็นปกติ ยังมีประเด็นที่น่าทำอีกเยอะ แล้วในความเห็นของอาจารย์ ถ้าจัดลำดับก่อน-หลังของความจำเป็น (priority) มีประเด็นอะไรน่าทำมากๆ ที่จะเปิดพื้นที่การศึกษาเรื่องนี้


ธงชัย วินิจจะกูล : ผมยังไม่ได้คิด ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่องสถาบันกษัตริย์ เรายังศึกษากันน้อย เรายังวิพากษ์วิจารณ์กันน้อย แต่ผมไม่ได้ต้องการส่งเสริมให้ศึกษาเผยแพร่ข่าวลือทั้งหลายซึ่งไม่เป็นเรื่องเป็นราว ย้อนกลับมาที่งานสัมมนาไทยศึกษา ตอนผมได้อ่านงานศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [6] ปรากฏว่ามันน่าตื่นเต้นมาก แล้วถามว่างานศึกษาเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เรื่องเดียวเพียงพอแล้วหรือ ไม่พอแน่นอน หรือเรื่องการผลิตเรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด โดยเฉพาะปัจจุบัน [7] เราก็ไม่ค่อยได้คิด จริงอยู่มีการพูดเรื่องลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 มาพักหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังสามารถตั้งคำถามใหม่ๆ ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งในวงสัมมนา มีการเสนอบทความของแฮนด์ลีย์เรื่ององคมนตรี [8] ตัวบทความทำหน้าที่บอกข้อมูล ข้อมูลเหล่านั้นทำให้เราคิดอะไรได้อีกมากมายที่เอาไปศึกษาได้

ตัวผมเองสนใจเรื่องความคิด ภูมิปัญญา ผมสนใจเรื่องชาตินิยมของไทย ความเป็นไทย เพราะผมคิดว่าภูมิปัญญาพรรค์นี้เป็นฐานของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดูเหมือนจะอยู่ต่อไปอีกนาน ความเข้าใจที่ว่าชาตินิยมที่อันตรายและไม่ดีคือความคิดแบบเชื้อชาตินิยมนั้น ผมว่าไม่พอ ผมไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่าเชื้อชาตินิยมของไทยเป็นเรื่องของเชื้อชาติจริงๆ ผมคิดว่าชาตินิยมของไทยดูคล้ายกับเป็นเรื่องของเชื้อชาติ แต่ที่จริงมีองค์ประกอบอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ เพราะความรู้เรื่องเชื้อชาติแบบฝรั่งคิดกันไม่เคยมีฐานในสังคมไทยเลย ความรู้มานุษยวิทยากายภาพมีน้อยมากในสังคมไทย วาทกรรมเชื้อชาติในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติเสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมมาตลอด ชาตินิยมไทยเป็นชาตินิยมเชิงการเมืองวัฒนธรรมมาตลอด แต่การต่อสู้ช่วงชิงความหมายชาตินิยมเชิงวัฒนธรรมก็มีมาตลอดเช่นกัน ผมคิดเรื่องนี้มา 20 กว่าปี แต่ยอมรับว่ามีอีกหลายประเด็นที่ยังคิดไม่ชัดเจนอยู่ดี ที่เพิ่งกล่าวไปก็ยังฟังดูชอบกล คงต้องค่อยว่ากันอีกทีในโอกาสอื่น


ฟ้าเดียวกัน : แล้วหนังสือ The King Never Smiles ทำไมต้องรอให้ฝรั่งมาเขียน ทั้งที่หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยรู้กันอยู่มิใช่หรือ


ธงชัย วินิจจะกูล : นั่นน่ะสิ เวลาคนชอบว่าฝรั่งไม่เข้าใจสังคมไทย ผมอยากจะตอบอย่างที่คุณถาม คุณก็เขียนสิ กล้าที่จะเขียน กล้าที่จะค้นสิ ถ้าคุณไม่กล้าที่จะค้น ไม่กล้าที่จะเขียน หรือทำไม่ได้ คุณก็อย่าไปต่อว่าฝรั่งที่เขาคิด เขาค้นแล้วเขาเขียนออกมา ความรู้เป็นของใครก็ได้ แล้วการที่คนอื่นเขาค้น เขาเขียน คุณไม่เห็นด้วย คุณก็เขียนโต้ออกมาสิ คุณก็เถียงเขาไปสิ ความรู้จากมุมข้างนอกจากมุมข้างใน เราเห็นต่างกัน ก็เขียนออกมาสิ ถามว่าเขียนได้ยังไง เดือดร้อนเปล่าๆ ผมว่ายังมีประเด็นและช่องทางให้เขียนได้อีกมากมายโดยไม่เดือดร้อน และยิ่งพูดยิ่งทำก็จะยิ่งท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ เรื่องอะไรจะปล่อยให้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นฝ่ายกระทำต่อเราอยู่ข้างเดียว เราน่าจะสู้ push the limits ท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ ด้วยในระดับที่ทำได้แล้วค่อยๆ เขยิบมากขึ้น



เชิงอรรถ

[1] ดูเพิ่มเติม Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand,” Pacific Review, 18: 4 (December 2005), pp. 499-519.

[2] ข้อเสนอต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 4 ข้อนั้นคือ 1. ให้กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ครอบคลุมการแสดงออกตามเจตนาของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2. ให้ยกเลิกความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ ซึ่งมีความหมายและกระบวนการพิสูจน์ความผิดต่างจากความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’ 3. ให้จำกัดอำนาจการฟ้องร้องและผู้ฟ้องตามกฎหมายนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้เสียหายหรือสำนักพระราชวัง เป็นต้น 4. ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ดูเพิ่มเติมใน กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน, “รายงาน : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติที่ธรรมศาสตร์,” ประชาไท, 21 มกราคม 2551)

[3] William Stevenson, The Revolutionary King: The True-life Sequel to The King and I. (Robinson Publishing, 2001)

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: 60 ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549)

[5] Kobkua Suwannathat-Pian, Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development 1932-2000 (London: Routledge Curzon, 2003)

[6] Porphant Ouyyanont, “How did the Crown Property Bureau Survive the 1997 Economic Crisis?,”

[7] Irene Stengs, “Celebrating Kingship, Worrying about the Monarchy,”

[8] Paul Handley, “Princes, Politicians, Bureaucrats, Generals: The Evolution of the Privy Council under the Constitutional Monarchy,” นำเสนอโดย Chris Baker



ที่มา : ฟ้าเดียวกันออนไลน์ : คุยกับธงชัย วินิจจะกูล : “การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คนเรามีสิทธิเท่าเทียมกันทุกคน แต่ก็ใช่ว่า ทุกคนจะมีอะไรได้เท่ากันทุกคน ความเท่าเทียมมิได้เรียกร้องโหยหามาจากผู้ใด แต่มันอยู่ในตัวของท่านเอง มิใช่ไปเปรียบเทียบเรียกร้องจากใครที่เขานั้นมีพร้อม คนเราฝันได้แต่ก็ต้องมีขอบเขต ทุกคนทำอะไรก็ต้องมีขอบเขตกฏระเบียบกันทุกคน เมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องยอมรับและทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่ดีก็ควรคงอยู่ สิ่งเก่ามิใช่สิ่งที่เราจะต้องรังเกียจ เหตุเพราะเราอ้างว่ามีอยู่มานานแล้วสุขสบายมากแล้ว สิ่งเหล่านี้จะอยู่ได้ยาวนานก็เพราะต้องสร้างสิ่งที่เราเรียกว่าความศรัธทาและความดี ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วเขาก็อยู่มิได้เช่นกัน แต่ถ้าถามว่าคนเราจะมีแต่ความดีไปทั้งหมดนั่นได้หรือไม่ ตอบว่าได้แต่ถ้าผมถามคุณว่าคุณเคยทำสิ่งเลวร้ายหรือไม่ ถ้าคุณตอบคำถามนี้กับผมไม่ได้ คุณก็ไม่มีสิทธิยืนอยู่ในสังคมนี้ใช่หรือไม่ และการที่คุณออกมาเรียกร้องต่างๆ ที่กระทำอยู่นี้ คุณก็ไม่มีความชอบทำด้วยหรือไม่ ผมเองก็มิใช่คนดีอะไรแต่ผมเองก็มีขอบเขตของความฝันและความหวัง สิ่งใดในโลกจะยืนยงคงอยู่ได้ ก็เพราะคุณค่าในตัวของสิ่งเหล่านั้น (จากผู้รู้ในความฝันและความจริงเมื่อยามตื่น)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

งั้น คห. ข้างบนตอบผมได้ไหมว่าความยยุติธรรมมีอยู่หนึ่งเดียวหรือไม่ ถ้าตอบไม่ได้คุณก็ไม่ควรยืนอยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรมเลย