วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551

เฉกอะหมัด ปฐมบทของขุนนาง ตระกูลบุนนาค


ผู้เขียนคิดว่าคงมีนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยน้อยคนที่จะไม่รู้จักตระกูลบุนนาค เหตุเพราะ ตระกูลนี้มีสมาชิกเป็นขุนนางตำแหน่งสำคัญๆ สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่สุดตระกูลหนึ่งของสยาม ขุนนางตระกูลบุนนาคเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕ อันถือเป็นตระกูลขุนนางที่มีการสืบทอดบทบาทอำนาจหน้าที่ยาวนานตระกูลหนึ่งของสยาม

อย่างไรก็ตามผู้เขียนมิได้มีจุดประสงค์จะบรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาของตระกูลบุนนาค เนื่องจากเคยมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติของขุนนางในตระกูลนี้อย่างละเอียดลออ โดยนำเสนอทั้งในรูปบทความ งานวิจัย สารนิพนธ์ และประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ไม่ยาก แต่ผู้เขียนต้องการเสนอเรื่องราวของบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบรรพชนต้นสาแหรกของขุนนางในตระกูลบุนนาค บุคคลท่านนี้มีประวัติความเป็นมาอันสลับซับซ้อน และได้ถูกอนุชนรุ่นหลังเสริมเติมแต่งเรื่องราวของท่านจนกลายเป็น "ตำนานวีรบุรุษ" เมื่อนานวันเรื่องจริงกับตำนานก็ผสมปนเปจนยากจะแยกออกจากกัน บทความเรื่องนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นว่าบุคคลท่านนี้มีความเป็นมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด พร้อมกับเสนอแง่มุมใหม่ในการศึกษาวิเคราะห์เรื่องราวของบุคคลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นตระกูลขุนนางสำคัญของสยาม



เฉกอะหฺมัด บุรพชนในปกรณัม

"จดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค" ซึ่งเป็นหลักฐานเก่าที่สุดของตระกูลบุนนาค บันทึกเรื่องราวประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษต้นตระกูลไว้ดังนี้


"...เดิมท่านเศรษฐีแขกสองคนพี่น้องเป็นชาติมะห่น และเป็นชาวเมืองกุนีในแผ่นดินอาหรับ ท่านผู้พี่ชื่อ เฉกอะหฺมัด ท่านผู้น้องชื่อ มหะหมัดสะอิด สองคนพี่น้องเป็นหัวหน้าพ่อค้าใหญ่ฝ่ายแขกทั้งปวง ท่านทั้งสองนั้นเป็นต้นเหตุพาพวกลูกค้าแขกชาติมะห่น คือแขกเจ้าเซ็น เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศเมื่อจุลศักราช ๙๖๑ ปีขาลจัตวาศกเมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงธรรมมหาประเสริฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒๒ พระองค์ในกรุงเทพพระมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยาโบราณ" ๑


"จดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค" อธิบายว่าบรรพบุรุษของขุนนางในตระกูลบุนนาคเดิมชื่อ เฉกอะหฺมัด เป็นพ่อค้าชาวอาหรับ จากเมืองกุนี ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในสยามครั้งแรกเมื่อจุลศักราช ๙๖๑ ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๓ ในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงธรรมมหาประเสริฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๒ จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าท่านเฉกอะหฺมัดเข้ามายังแผ่นดินสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรเพราะเราทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๓๔ และสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๘ โดยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ ๑๙ แต่ข้อความในจดหมายเหตุกลับบันทึกว่าท่านเฉกอะหฺมัดเข้ามาในรัชสมัยพระเจ้าแผ่นดินลำดับที่ ๒๒ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พระเจ้าแผ่นดินลำดับที่ ๒๒ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๕๓-๒๑๗๑ แสดงว่ามีความสับสนเกี่ยวกับมิติเวลาเกิดขึ้นกับจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาคเสียแล้ว

"จดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค" เป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำของพระยาวรเชษฐภักดี (เถื่อน) ซึ่งเป็นขุนนางตำแหน่งจางวางกรมท่าขวาในรัชกาลที่ ๓ กรมท่าขวานี้มีหน้าที่ดูแลการค้าฝ่ายแขกคู่กับกรมท่าซ้ายฝ่ายจีน ขุนนางในกรมนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่สืบสายตระกูลมาจากท่านเฉกอะหฺมัดเช่นเดียวกับขุนนางในตระกูลบุนนาค พระยาวรเชษฐภักดีเป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรีในสมัยอยุธยา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหฺมัด ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อครั้งกรุงแตกท่านผู้นี้ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยยังพม่า แต่หนีรอดกลับมาได้และเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๑ ท่านได้รวบรวมเรื่องราวตามคำบอกเล่าของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)๒ แล้วจัดทำเป็นจดหมายเหตุไว้ ต่อมาได้มีการเพิ่มเติมประวัติของขุนนางสายตระกูลบุนนาค โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ นับเป็นปกรณัมเล่มแรกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของท่านเฉกอะหฺมัด

เอกสารฉบับที่สองซึ่งกล่าวถึงความเป็นมาของท่านเฉกอะหฺมัด คือหนังสือ "เฉกอ๊ะฮ์หมัด" ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือชื่อจริงคือ กุหลาบ ตฤษณานนท์ เขียนขึ้นเมื่อประมาณรัชกาลที่ ๕ มีข้อความดังนี้


"...เดิมท่านมหาเศรษฐีมะหง่น สองคนพี่น้องเปนชนที่นับถือสาสนาอิซ์ลาม เปนแขกชาติมะหง่น (แขกจ้าวเซน) เปนชาวเมืองกุหนี่มีถิ่นถานที่อยู่ในแผ่นดินอะหรับ (เนื่องในประเทศอินเดียร์) ท่านมหาเศรษฐีแขกมะหง่นสองคนพี่น้องนั้น ท่านผู้เปนพี่ชายหมายนามว่าดั่งนี้ "เฉกอ๊ะฮ์หมัด" ท่านผู้น้องชื่อว่าดั่งนี้ "โม่ฮัมหมัดซะอิด" ท่านทั้งสองคนพี่น้องเปนหัวหน้าพวกพ่อค้าใหญ่ฝ่ายแขกพานิชกรรมทั้งปวง ท่านทั้งสองนั้นเปนต้นเหตุการณ์ออกความคิดที่พาพวกพานิชแขกชาติมะหง่น (จ้าวเซน) นำเข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ที่ในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาประเทศสยามฝ่ายกลาง ณ ที่ตำบลนาที่เกาะหนองโสนเมื่อลุจุลศักราช ๙๖๔ ปีขาลจัตวาศก ในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงธรรมมหาประเสริฐ ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒๒ พระองค์ในกรุงศรีอยุธยา" ๓


ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ท่านเรียบเรียงจากจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค และยังได้เพิ่มเติมข้อความโดยใช้เอกสารของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) มาประกอบด้วย เนื้อความส่วนใหญ่คล้ายกับจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค แต่ต่างกันในเรื่องมิติของเวลา คือ ก.ศ.ร.กุหลาบ อ้างว่า ท่านเฉกอะหฺมัดเข้ามาสู่สยามเมื่อจุลศักราช ๙๖๔ ปีขาลจัตวาศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๖ ผิดกับจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาคไป ๒ ปี

เอกสารฉบับที่สาม คือหนังสือ "เฉกอะหฺมัด" ของพระยาโกมารกุลมนตรี ซึ่งเป็นบันทึกประวัติสายสกุลของขุนนางในตระกูลบุนนาคที่เก่าแก่รองลงมาเป็นอันดับที่ ๓ เขียนขึ้นราวรัชกาลที่ ๗ กล่าวว่า


"...เข้าใจว่าคงในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถนี้เอง มีแขกอาหรับสองคนพี่น้อง พี่ชื่อเฉกอะหมัด น้องชื่อมหะหมัดสะอิด พาบริวารซึ่งเป็นพวกเจ้าเซ็นนิกายเดียวกันเข้ามาตั้งร้านค้าขายที่ตำบลกายี ใกล้พระนครศรีอยุธยา การค้าของสองพี่น้องนี้คือ ซื้อของไทยบรรทุกเรือสลุปแขกออกไปจำหน่ายต่างประเทศ และซื้อของต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในกรุง การค้านั้นเจริญขึ้นเป็นลำดับจนสองคนพี่น้องได้นามปรากฏว่าเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา" ๔


งานเขียนเกี่ยวกับประวัติของท่านเฉกอะหฺมัดในช่วงต่อมายังคงอาศัยบันทึกข้อความของปกรณัมทั้ง ๓ เล่มเป็นต้นแบบ อย่างเช่นเรื่อง "เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหฺมัด)" ผลงานของสิริ ตั้งตรงจิตร ซึ่งกล่าวว่าท่านเฉกอะหฺมัดเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรก่อน พ.ศ. ๒๑๔๓ เอกสารดังกล่าวยังแก้ไขเพิ่มเติมว่า "ท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชาวอิหร่าน เกิด พ.ศ. ๒๐๘๖ ณ ตำบลปาอีเนะชาฮาร เมืองกุม ประเทศอิหร่าน"๕ "ประวัติการสืบสายของวงศ์เฉกอะหฺมัด คูมีฯ" ผลงานของอุทัย ภาณุวงศ์ ซึ่งได้รับข้อมูลบางส่วนจากงานค้นคว้าของสิริ ตั้งตรงจิตร อธิบายว่า ท่านเฉกอะหฺมัดเข้ามาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เช่นเดียวกัน๖ โดยระบุปี และสถานที่เกิดเหมือนกับงานของสิริ ตั้งตรงจิตร

ปกรณัม หรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับท่านเฉกอะหฺมัดได้รับการเพิ่มเติมเสริมต่อกันมาโดยลำดับ เริ่มต้นจากคำบอกเล่า ถูกบันทึกตีความโดยอ้างอิงจากหลักฐานบันทึกของคนในวงศ์ตระกูล ยังไม่มีหลักฐานชั้นต้นที่จะใช้พิสูจน์เรื่องราวอย่างชัดเจน ยิ่งนานวันเข้าประวัติความเป็นมาของบุคคลท่านนี้ก็ถูกขยายความออกไปมากขึ้น จนถึงกับมีผู้กล่าวว่า "ประวัติของตระกูลบุนนาคหากไม่มีใครรั้งไว้บ้างก็จะพากันชักเรือเข้าลึก และในที่สุดเราจะได้ดูกันเป็นที่สนุกสนานสำราญใจในละครโทรทัศน์ไม่เร็วก็ช้านี้"๗

อย่างไรก็ดีบรรดาปกรณัมที่เล่าเกี่ยวกับประวัติของท่านเฉกอะหฺมัดทั้งหมดนั้น หาใช่สิ่งเชื่อถือไม่ได้ แต่ถือเป็นหลักฐานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทว่าจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างรัดกุม ปราศจากอคติ และมีหลักฐานชั้นต้นรองรับ เพื่อให้เรื่องราวของบุคคลท่านนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง มิใช่ตำนานที่เขียนขึ้นอย่างเลื่อนลอย


กุญแจไขปริศนา

แม้เรื่องราวของท่านเฉกอะหฺมัดจะมีหลักฐานชั้นต้นให้ศึกษาน้อยมาก เท่าที่มีอยู่ก็เป็นจดหมายเหตุที่ถูกบันทึกในช่วงหลังสมัยของท่าน คือราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ อยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงที่พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ผู้เล่าเรื่องยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้การที่เอกสารถูกเขียนโดยคนวงในสายตระกูลก็ยิ่งลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปมาก เนื่องจากอาจมีการบันทึกเรื่องราวที่เกินเลยความเป็นจริงตามลักษณะของเอกสารประเภทอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องแสวงหาหลักฐานที่เชื่อถือได้ ทั้งยังต้องเป็นหลักฐานชั้นต้นที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันมาตรวจสอบ

หลักฐานสำคัญที่ผู้เขียนขอเสนอคือ "จดหมายเหตุวันวลิต" ซึ่งเป็นบันทึกของเยเรเมียส ฟอนฟลีต (Jeremais van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และหนังสือ "ชาห์ฟีไนเยสุลัยมานี" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" (The Ship of Sulaiman) เป็นจดหมายเหตุการเดินทางของคณะราชทูตอิหร่าน ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนี้ยังมีเอกสารบันทึกการค้าของอังกฤษและฮอลันดาอีกหลายฉบับ ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา" แปลมาจาก Dagh Register ซึ่งเป็นบันทึกของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (วีโอซี) ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๖๗-๒๑๘๕ และ "บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ ๑๗" ซึ่งแปลมาจาก Records of the Relations between Siam and Foreign Countries in the 17th Century อันเป็นบันทึกทางการค้าของฮอลันดา และอังกฤษในสมัยอยุธยา เอกสารเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นต้นที่เขียนขึ้นโดยผู้สังเกตการณ์ที่เรียกว่า Eyewitness ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ จึงมีความแม่นยำในเรื่องของเวลาพอสมควร

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ท่านเฉกอะหฺมัดเป็นใคร และมีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์หรือไม่ หลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่าท่านผู้นี้มีตัวตนจริงคือหนังสือ "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ซึ่งได้กล่าวถึงบุคคลผู้หนึ่งที่มีชื่อว่า "อกามะหะหมัด" ท่านผู้นี้เป็นเสนาบดีชาวอิหร่านของสมเด็จพระนารายณ์ เดิมเป็นพ่อค้า เข้ามาค้าขายในสยาม และยังเป็นหัวหน้าประชาคมชาวอิหร่านในกรุงศรีอยุธยาด้วย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีใหญ่ มีหน้าที่ดูแลการค้า การคลัง กองทหารอาสา และกิจการในราชสำนักให้กับสมเด็จพระนารายณ์๘ ชื่อของบุคคลท่านนี้ไปปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค และปกรณัมที่กล่าวมาข้างต้น โดยระบุว่าท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระศรีเนาวรัตน์ ซึ่งก็ตรงกับเอกสารของฮอลันดาและอังกฤษในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ระบุว่าท่านดำรงตำแหน่งออกพระศรีเนาวรัตน์๙

ต้นฉบับเดิมของหนังสือ "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" อยู่ในบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน เพิ่งถูกค้นพบเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๓ มีการแปลและตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในอีก ๓ ปีต่อมา คือหลังจากการพิมพ์หนังสือ "เฉกอะหฺมัด" ของพระยาโกมารกุลถึง ๑๐ ปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้แต่งปกรณัม ๓ เล่มแรกของท่านเฉกอะหฺมัดจะเคยเห็นเอกสารนี้มาก่อน

หลักฐานชั้นต้นที่กล่าวถึงท่านอกามะหะหมัด หรือออกพระศรีเนาวรัตน์ ซึ่งในปกรณัมระบุว่าเป็นหลานชายของท่านเฉกอะหฺมัด ทำให้พออนุมานได้ว่าท่านเฉกอะหฺมัดมีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้าที่ท่านอกามะหะหมัดจะเข้ามาสู่สยาม มีชาวอิหร่านรับราชการในราชสำนักแล้วหลายคน อย่างไรก็ตาม "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ไม่ได้ระบุชื่อของท่านเฉกอะหฺมัดไว้ ทั้งนี้คงเนื่องจากท่านเฉกอะหฺมัดถึงอนิจกรรมไปก่อนหน้าคณะราชทูตอิหร่านจะเข้ามานานแล้วจึงไม่ถูกกล่าวถึง

จากการที่ท่านเฉกอะหฺมัดเป็นลุงของท่านอกามะหะหมัดซึ่งเป็นชาวอิหร่าน แสดงว่าท่านเฉกอะหฺมัดต้องเป็นชาวอิหร่านมิใช่ชาวอาหรับอย่างที่ปกรณัม ๓ เล่มแรกบันทึกไว้ แต่การที่จดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค อ้างว่าท่านเป็นชาวอาหรับมีสาเหตุมาจากความเข้าใจของผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่คิดว่าพวกแขกเจ้าเซ็นเป็นชาวอาหรับ ดังปรากฏอยู่ในจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา ที่ศาลารายรอบวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในรัชกาลที่ ๓ ความว่า


อาหรับพวกนี้ แต่งกาย

เสื้อเศวตโสภณกรอม ค่อเท้า

กางเกงวิลาศลาย แลเลี่ยน

จีบจะดัดเกี้ยวเกล้า ต่างสี ฯ

เครื่องดำหมวกเสื้อเปลี่ยน แปลกตัว

ปางฮุเซ็นถึงปี ป่าวพ้อง

ลุยเพลิงควั่นหัว โลหิต ถั่งนา

เต้นตบอกเร้าร้อง ร่ำเซ็น ฯ๑๐



โคลงภาพชาวอาหรับบทนี้บรรยายถึงรูปพรรณสัณฐานของพวกแขกมะหง่น หรือแขกเจ้าเซ็น คือพวกที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ อันเป็นศาสนาอิสลามอีกนิกายหนึ่งซึ่งมีผู้นับถือมากเป็นอันดับสอง รองจากศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ มุสลิมพวกนี้โดยปกติจะแต่งตัวแบบแขกเทศ คือใส่เสื้อคลุมยาวกรอมเท้า มีกางเกงขายาว ทำจากผ้าทอลายยกทองแบบผ้าเยียรบับ สวมหมวกกลีบสีต่างๆ แต่เมื่อถึงวันขึ้นสองค่ำของเดือนมะหะหร่ำ ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของศักราชอิสลาม พวกมุสลิมนิกายชีอะห์จะเปลี่ยนไปแต่งดำและประกอบพิธีตะเซยัต อันเป็นพิธีรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของอิหม่ามฮุเซน ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระศาสดามะหะหมัด อิหม่ามพระองค์นี้ทรงสละพระชนมชีพในสงครามศาสนา และสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๑ เดือนมะหะหร่ำ พวกมุสลิมนิกายชีอะห์จึงประกอบพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยการแต่งดำไว้ทุกข์ แสดงความโศกเศร้าอาดูรด้วยการแห่แหนสัญลักษณ์ของอิหม่ามและพระศพจำลอง มีการตีอกชกตัว และสวดบทโศลกคร่ำครวญรำลึกถึงการสูญเสียอิหม่ามผู้ทรงเป็นที่รัก

เมื่อคนไทยเห็นพวกมะหง่นประกอบพิธีตะเซยัตเพื่อระลึกถึงอิหม่ามฮุเซนก็เลยเรียกติดปากว่าแขกเจ้าเซ็น ทุกวันนี้พวกเจ้าเซ็นยังคงประกอบพิธีตะเซยัตกันอยู่แถวมัสยิดกุฎีหลวง ถนนพรานนก และกุฎีแถบสะพานเจริญพาศน์ ฝั่งธนบุรี พวกเจ้าเซ็นในประเทศไทยกล่าวว่าพิธีตะเซยัต หรือพิธีมะหะหร่ำ หรือพิธีเจ้าเซ็นนี้ได้นำเข้ามาเผยแผ่ในสยามโดยท่านเฉกอะหฺมัด เราทราบว่าท่านเฉกอะหฺมัดซึ่งเป็นชาวอิหร่านนั้นเป็นแขกมะหง่น หรือแขกเจ้าเซ็น โดยชาวอิหร่านส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ แต่การที่ปกรณัมบันทึกว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชาวอาหรับ ก็เนื่องจากชาวสยามในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่มีการรวบรวมจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค โดยพระยาวรเชษฐภักดี (เถื่อน) เข้าใจว่าพวกเจ้าเซ็นคือชาวอาหรับ ด้วยเหตุนี้ผู้บันทึกเรื่องราวจึงเขียนว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชาวอาหรับเพื่อสื่อความหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตามจากคำนำหน้าตำแหน่งของบุคคลผู้นี้ที่เรียกกันว่าเฉก หรือชีค ทำให้มีผู้เชื่อว่าบุคคลผู้นี้อาจจะเป็นชาวอาหรับไม่ใช่ชาวอิหร่าน เนื่องจากคำว่าเฉก หรือชีค ใช้เป็นคำนำหน้าของหัวหน้าชุมชน หรือหัวหน้าเผ่าเชื้อสายอาหรับ๑๑ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ท่านเฉกอะหฺมัดจะมีเชื้อสายของชาวอาหรับ หรือเติร์กเนื่องจากชาวอิหร่านประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่มีการผสมกลมกลืนกันอยู่ในระดับหนึ่ง๑๒ อีกทั้งจาก "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ก็แสดงว่าท่านอกามะหะหมัดหลานของท่านเฉกอะหฺมัด มีเชื้อสายของชาวอาหรับหรือเติร์กอยู่ด้วย๑๓ จึงมีความเป็นไปได้ที่ท่านเฉกอะหฺมัดจะเป็นชาวอิหร่านที่มีเชื้อสายของชาวอาหรับหรือเติร์ก เพราะคนเหล่านี้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในอิหร่าน และหลายคนได้รับการส่งเสริมให้รับราชการมีตำแหน่งสูงมากในราชสำนักของชาร์แห่งราชวงศ์ซาฟาวี๑๔ ด้วยเหตุนี้การที่เราจะกำหนดว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชนชาติอิหร่าน หรืออาหรับ ก็เหมือนกับความพยายามหาคำตอบที่ว่าคนไทยแท้เป็นอย่างไร ซึ่งก็คงจะหาคำตอบได้ยาก แต่จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้นี้เป็นชาวอิหร่าน (ซึ่งอาจมีเชื้อสายอาหรับหรือเติร์ก) ที่นับถือนิกายชีอะห์

ปมปัญหาเกี่ยวกับประวัติของท่านเฉกอะหฺมัดประการต่อมาคือ ถิ่นฐานดั้งเดิมของบุคคลผู้นี้ควรจะเป็นสถานที่ใด ในปกรณัม ๓ เล่มแรกระบุว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชาวเมืองกุนี ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของเมืองที่ใกล้เคียงชื่อนี้อยู่ในอิหร่านยุคปัจจุบัน (แต่ชื่อเมืองในอดีตยังไม่มีผู้สืบค้นอย่างจริงจัง) ด้วยเหตุนี้ในงานเขียนยุคต่อมาคือ ผลงานของสิริ ตั้งตรงจิตร และอุทัย ภาณุวงศ์ จึงระบุว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชาวเมืองกุม (Qum) หรือกุมี่ (Qumi) เนื่องจากมีชื่อใกล้เคียงกับเมืองกุนี ที่ปรากฏในปกรณัม โดยผู้เขียนเชื่อว่าเพราะเมืองกุมเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ท่านเฉกอะหฺมัดก็น่าจะมาจากเมืองนี้ เพราะเป็นผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เข้ามาเผยแผ่ในสยาม๑๕ เมืองกุมตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางภาคเหนือของอิหร่าน เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ของอิหร่าน ด้วยเหตุที่มีการที่นำเรื่องของศาสนามาเป็นกรอบคิดเบื้องต้นทำให้ท่านเฉกอะหฺมัดกลายเป็นชาวกุม เพื่อให้สมกับที่เป็นวีรบุรุษผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามจากหลักฐานใน "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ระบุชัดเจนว่า อกามะหะหมัด เป็นชาวแอสตะระบัด (Astarabad) หรือที่เรียกว่า แอสตะระบะดิ (Astarabadi) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ ตั้งอยู่ระหว่างแคว้นโคระซาน หรือคูระซาน (Khurazan) ของอิหร่านกับทะเลสาบแคสเปียน (The Caspian Sea) หากท่านอกามะหะหมัดผู้นี้เป็นบุตรชายของโมฮัมมัดสะอิด น้องชายของท่านเฉกอะหฺมัด ตามที่ปรากฏอยู่ในปกรณัมต่างๆ ท่านเฉกอะหฺมัดก็น่าจะเป็นชาวเมืองใดเมืองหนึ่งจากแคว้นแอสตะระบัด หรือดินแดนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแอสตะระบัดด้วย

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับที่มาของนิวาสสถานเดิมของท่านเฉกอะหฺมัด เนื่องจากได้ศึกษาเอกสารต่างประเทศหลายฉบับพบว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ในสมัยที่ชาร์แห่งราชวงศ์ซาฟาวีปกครองอิหร่านนั้น บรรดาขุนนางและผู้ชำนาญการที่ไปรับราชการตามแว่นแคว้นต่างๆ ของอิหร่านถึงแม้จะมีภูมิลำเนาเดิมในแคว้นหนึ่งแต่ก็มักโยกย้ายไปรับราชการหรือตั้งถิ่นฐานในแคว้นอื่นๆ อยู่เสมอ ขุนนางและผู้ครองแคว้นแอสตะระบัดโดยมากเป็นกลุ่มชนชั้นผู้นำที่มาจากแคว้นใกล้เคียงที่มีบทบาทและอิทธิพลมากอย่างเช่นมะซันเดอราน (Mazanderan) กิลาน (Gilan) และคูระซาน โดยเฉพาะแคว้นคูระซานเป็นแคว้นใหญ่ที่มีอิทธิพลมาก โดยผู้ครองแคว้นนี้พยายามขยายอิทธิพลเข้าไปยังแอสตะระบัดและดินแดนรอบทะเลสาบแคสเปียน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นย่านการค้าสำคัญในสมัยราชวงศ์ซาฟาวี๑๖

คูระซาน เป็นแคว้นที่มีความสำคัญมากแคว้นหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซาฟาวี (Safavid dynasty เป็นราชวงศ์ที่ปกครองอิหร่านระหว่าง พ.ศ. ๒๐๔๖-๒๒๖๕) เนื่องจากมีฐานะเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์สำคัญของอิหร่านเช่นกัน ในประวัติศาสตร์ของอิสลาม แคว้นนี้เป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ในการต่อต้านการปกครองของกาหลิบราชวงศ์อุมไมยาต (The Ummyyad Khalifa) ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ คำว่า "คูระซาน" แปลว่า "ดินแดนแห่งรุ่งอรุณ" หมายถึงดินแดนตะวันออกสุดของอิหร่าน (ดูรายละเอียดในแผนที่ประเทศอิหร่าน) และยังหมายถึงดินแดนแห่งศาสนา ในสมัยราชวงศ์ซาฟาวี คูระซานมีความเจริญทั้งทางด้านการเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจ เป็นสถานที่ผลิตนักคิด นักวิชาการ และนักการศาสนาที่มีชื่อเสียง ชาวอิหร่านจากคูระซานเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานนอกอิหร่านเป็นจำนวนมาก ทั้งในอินเดีย เอเชียกลาง และสยาม พวกเขาเดินทางไปค้าขาย รับราชการในราชสำนัก เป็นกวี ทหารรับจ้าง สถาปนิก ศิลปิน และช่างฝีมือ ใน "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" มีข้อความน่าสนใจ ระบุว่ามีชาวคูระซาน (Khurazani) เข้ามารับราชการ และตั้งถิ่นฐานในสยามหลายคน จนทำให้ชาวสยามคิดว่าอิหร่านคือคูระซาน๑๗ ตัวอย่างที่เป็นพยานวัตถุคือ สิ่งก่อสร้างในเมืองลพบุรีที่รับแบบอย่างมาจากสถาปัตยกรรมคูระซาน อย่างเช่นตึกรับรองราชทูตที่เรียกว่า "ตึกคชสาร" ซึ่งมาจากคำว่า "ตึกคูระซาน" อันเป็นหนึ่งในผลงานสถาปัตยกรรมที่รังสรรค์โดยสถาปนิกชาวอิหร่าน ใน "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" กล่าวว่า มีสถาปนิกและช่างก่อสร้างชาวอิหร่านหลายคนเป็นผู้สร้างอาคารต่างๆ ให้กับสมเด็จพระนารายณ์๑๘ แม้แต่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ยกความดีให้กับฝรั่งเศสเป็นผู้มาวางแผนผังก่อสร้างก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพระราชวังแห่งนี้สร้างก่อนที่ชาวฝรั่งเศสจะเข้ามาวางผังเมืองลพบุรีหลายปี๑๙ ขณะที่เอกสารอิหร่าน หรือแม้แต่ของฝรั่งเศสเองระบุไว้ชัดเจน ว่าพระราชวัง บ้านเรือนในสยามที่ลพบุรีนั้นเป็นฝีมือของสถาปนิกและช่างชาวอิหร่าน โดยมีรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นประจักษ์พยาน๒๐ ฝรั่งเศสเพียงแต่เข้ามาสร้างเสริมป้อมปราการ และปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่พวกอิหร่านทำไว้เท่านั้น

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ท่านเฉกอะหฺมัดอาจจะเป็นชาวคูระซาน หรือคูระซะนี เนื่องจากขุนนางชาวคูระซานหลายคนมีเชื้อสายของพวกอาหรับ และเติร์ก ในขณะเดียวกันท่านอกามะหะหมัดซึ่งเป็นหลานชายของท่านเฉกอะหฺมัดก็อาจจะเป็นชาวคูระซานที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในแอสตะระบัดด้วย แต่การที่ในปกรณัมเขียนว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นชาวกุนี ก็เพราะการเพี้ยนเสียงของชาวสยามที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ อาการเรียกพวกมุสลิมอย่างผิดเพี้ยนนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ อย่างเช่นแขกเมืองอัลรูม (al Rum) ชาวสยามก็ออกเสียงเป็นแขกหรุ่ม พวกชีค (Shykh) ซึ่งแปลว่าหัวหน้าใหญ่ ก็ถูกเรียกว่าชีกุน คำนี้ใช้เรียกชื่อถนนในกรุงศรีอยุธยาที่เรียกว่า "ถนนชีค" หรือ "ถนนแขกหัวหน้าใหญ่" หรือ "ถนนแขกใหญ่" แต่ชาวสยามแปลงเสียเสร็จเป็น "ถนนชีกุน" "ท่าอากาหยี่" ซึ่งเป็นท่าเรือย่านชุมชนของพวกแขกเทศในกรุงศรีอยุธยาก็เปลี่ยนเป็นท่ากายี ด้วยเหตุนี้ "คูระซานี่" ก็อาจจะแผลงให้เรียกง่ายเข้าเป็นคูนี่ และเพี้ยนเป็นกุนีในที่สุด (ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมนักวิชาการหลายคนจึงไม่พบชื่อเมืองกุนีอยู่ในอิหร่าน) อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้คงต้องมีการค้นคว้าหาหลักฐานเพิ่มเติมกันต่อไป


ราชองครักษ์ชาวอิหร่านในราชสำนักสยาม

เมื่อทราบถึงที่มาของท่านเฉกอะหฺมัดแล้ว ก็มาถึงการสืบค้นว่าบุคคลผู้นี้เข้ามารับราชการในราชสำนักสยามครั้งแรกเมื่อใด เอกสารสำคัญที่จะช่วยไขปริศนาข้อนี้ได้แก่ "จดหมายเหตุวันวลิต" ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยผู้สังเกตการณ์ร่วมสมัยคือ เยเรเมียส ฟอนฟลีต หรือที่ชาวสยามเรียกให้ง่ายว่า "วันวลิต"

วันวลิตได้กล่าวถึงบทบาทของขุนนางมุสลิมผู้หนึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไว้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มเรื่องตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังดำรงตำแหน่งจมื่นศรีสรรักษ์ หัวหน้ามหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บิดาของจมื่นศรีสรรักษ์คือออกญาศรีธรรมาธิราช (Oya Sidarma Thyra) เป็นพี่เขยคนใหญ่ของพระชนนีในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม๒๑ จมื่นศรีสรรักษ์จึงมีฐานะเป็นเชื้อพระวงศ์ ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ และได้รับการอุปถัมภ์จากเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระชนนี ทำให้เป็นผู้มีอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก แต่การที่จมื่นศรีสรรักษ์มีอิทธิพลและผู้หนุนหลังมากนี่เองทำให้เกิดความบาดหมางกับพระศรีศิลป์ และพระองค์ทอง ซึ่งเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถึงกับวางแผนจะลอบปลงพระชนม์พระอนุชาทั้งสอง แต่ถูกจับได้และถูกลงพระอาญา ดังรายละเอียดในจดหมายเหตุต่อไปนี้


"...จมื่นศรีสรรักษ์ ไม่อาจลืมการลงอาญาที่โหดร้ายทารุณนี้ได้ แม้ว่าตนสมควรจะได้รับโทษนั้น นับตั้งแต่นั้นมาก็กระหายที่จะแก้แค้นทดแทน ที่สำคัญก็คือต้องการทำลายล้างพระองค์ทอง (Phra Onthong) และพระศรีศิลป์ (Phra Sysingh) พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่โปรดปรานรักใคร่เหนือสิ่งอื่นใด จมื่นศรีสรรักษ์เชิญสหายสี่คนมาเลี้ยงอาหารเย็นที่บ้านเพื่อดำเนินแผนการชั่วร้ายนี้ คนทั้งสี่คือออกหลวงพิบูล (Oioangh Pibon) ซึ่งต่อมาได้เป็นออกญานครราชสีมา (Oya Carassima) แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่ม จมื่นจงภักดิ์ (Choen Choenpra) ซึ่งต่อมาได้เป็นออกพระจุฬา (Opra Tiula) อภัยณรงค์ (Eptiongh Omongh) ต่อมาได้เป็นออกญาพิษณุโลก (Oya Poucelouck) และ Tiongh Maytiau Wangh ต่อมาได้เป็นตำแหน่งออกญาพระคลัง (Oya Berckelangh)" ๒๒


"จดหมายเหตุวันวลิต" ถูกแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกหลังการเขียนปกรณัมหลายสิบปี แต่กลับปรากฏข้อความสอดคล้องต้องกันกับ "เฉกอะหฺมัด" ฉบับของพระยาโกมารกุลมนตรี ที่ว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นสหายรักใคร่กันมากกับพระยามหาอำมาตย์ และเมื่อพระยามหาอำมาตย์เสด็จปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ทรงแต่งตั้งให้เฉกอะหฺมัดดำรงตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" เจ้ากรมท่าขวา๒๓ จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าเฉกอะหฺมัด ซึ่งเป็นสหายของบุคคลที่ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เคยรับราชการในตำแหน่งจมื่นจงภักดิ์ หรือจมื่นจงภักดี ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

จมื่นจงภักดิ์ หรือจมื่นจงภักดี มาจากตำแหน่งเต็มยศว่า "จมื่นจงภักดีองค์พระตำรวจขวา" คือตำแหน่งของพระตำรวจวังฝ่ายขวา ว่าที่ราชองครักษ์ขึ้นกับกรมวัง๒๔ ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์เรียกว่า "พระหมื่นจง" หรือ "หมื่นจง" (Pra Meuing Tchions or Meuing Tchions) มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเขตพระราชวัง๒๕ "ตำรากระบวนเสด็จครั้งกรุงเก่า" ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เรียกขุนนางนี้ว่า "จมื่นจง" ประกอบไปด้วยจมื่นจงขวา และจมื่นจงซ้าย ขึ้นอยู่กับกรมวัง๒๖

การที่ท่านเฉกอะหฺมัดซึ่งเป็นมุสลิมได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางตำแหน่งราชองครักษ์ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากก่อนหน้านั้นก็มีการจ้างชาวต่างชาติ คือพวกโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารอาสาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช๒๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงจ้างกองทหารชาวญี่ปุ่นเข้ามารับราชการในราชสำนัก๒๘ หลังจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คือในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็ยังทรงจ้างชาวอิหร่าน ๒๐๐ คน จากอินเดียมาเป็นทหารรักษาพระองค์๒๙ การที่กษัตริย์สยามทรงจ้างชาวต่างชาติให้มาทำหน้าที่ราชองครักษ์ ก็เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นมีความชำนาญพิเศษซึ่งไม่อาจหาได้ในหมู่คนไทย และยังมีข้อดีคือมักจะมีความพร้อมเพรียงกว่ากรมกองธรรมดา๓๐ บุคคลเหล่านี้มีทั้งพวกทหารรับจ้าง และผู้อพยพ ซึ่งถูกจัดเป็นกองอาสา และมักถูกใช้เป็นองครักษ์๓๑ นอกจากนี้กองทหารองครักษ์ต่างชาติยังเป็นขุมกำลังสำหรับพระมหากษัตริย์ที่จะทรงใช้สอยในกิจการต่างๆ ด้วย

หลักฐานอีกประการหนึ่งซึ่งแสดงว่าท่านเฉกอะหฺมัดเคยรับราชการในตำแหน่งราชองครักษ์ คือการที่ทายาทของท่านในสมัยอยุธยาทุกคนจะเข้ารับราชการในหน่วยงานนี้ ได้แก่ ท่านชื่น ซึ่งเป็นบุตรชายของท่านเฉกอะหฺมัด ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาวรเชษฐภักดี จางวางกรมท่าขวา ท่านสมบุญ บุตรชายท่านชื่น ก็เคยดำรงตำแหน่งจมื่นจงภักดี พระตำรวจขวา ท่านใจ บุตรชายของท่านชื่นและเป็นเหลนของท่านเฉกอะหฺมัด ก็ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาเพชรพิชัย จางวางกรมล้อมพระราชวัง นอกจากนี้ "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ยังกล่าวว่าท่านอกามะหะหมัดเป็นผู้ควบคุมดูแลทหารองครักษ์ชาวอินเดีย และชาวอิหร่าน ของสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งยังมีหน้าที่คัดเลือก และว่าจ้างทหารเหล่านั้นเข้ามาประจำการ๓๒ จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นแสดงว่าท่านเฉกอะหฺมัดคงรับราชการในตำแหน่งราชองครักษ์ฝ่ายขวา หรือองครักษ์แขกของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่เป็นไปได้ที่ท่านเฉกอะหฺมัดจะเริ่มรับราชการมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เพราะในสมัยนั้นมีการจ้างชาวต่างชาติมาเป็นทหารราชองครักษ์ของกษัตริย์

จากบันทึกในปกรณัมต่างๆ กล่าวว่าท่านเฉกอะหฺมัดเป็นทั้งพ่อค้าและผู้นำชุมชน โดยเฉพาะคำนำหน้าชื่อ "เฉก" หรือ "เช็ค" หรือ "ชีค" ซึ่งแสดงถึงสถานภาพชนชั้นผู้นำของประชาคมอันมีลักษณะคล้ายกับพ่อค้ากึ่งทหาร หรือ "merchant-condotierri" หมายถึงบุคคลที่มีสถานภาพเป็นทั้งพ่อค้า นักปกครอง และนักการทหารในคนเดียวกัน อันเป็นลักษณะของผู้ชำนาญการมุสลิมในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒๓๓ พวกพ่อค้ากึ่งทหารเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าชาห์แห่งราชวงศ์ซาฟาวี ให้เดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อขยายอิทธิพลของจักรวรรดิอิหร่านทั้งทางด้านการเมือง และการค้า๓๔ ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ชาวสยามจะเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่าแขกใหญ่ หรือแขกใหญ่เจ้าเซ็น๓๕ ซึ่งแสดงว่ามุสลิมกลุ่มนี้เป็นพวกที่มีร่างกายใหญ่โต แข็งแรง มีพลกำลังมาก๓๖ เหมาะที่จะเป็นราชองครักษ์ของพระมหากษัตริย์ จึงถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่คอยระวังราชภัย เช่นเดียวกับพวกยูนุค (eunuch) หรือขันทีแขกซึ่งมีหน้าที่เป็นราชองครักษ์ของเจ้านายฝ่ายใน

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ทรงถูกคุกคามจากทหารอาสาญี่ปุ่นที่ได้รับการว่าจ้างมาเป็นราชองครักษ์ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในเอกสารของชาวตะวันตกร่วมสมัย ระบุว่าพวกญี่ปุ่นบุกเข้าไปในพระราชวังหมายจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์๓๗ ส่วนพระราชพงศาวดารกล่าวว่าพระยามหาอำมาตย์พร้อมด้วยไพร่พลได้ขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้ ในหนังสือ "เฉกอะหฺมัด" ของพระยาโกมารกุลมนตรีกล่าวว่า ท่านเฉกอะหฺมัดได้นำพลทหารแขกร่วมกับพระยามหาอำมาตย์ไล่ฆ่าฟันพวกญี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก๓๘ เราไม่อาจทราบได้ว่าท่านเฉกอะหฺมัดนำทหารเข้าร่วมกับพระยามหาอำมาตย์จริงหรือไม่ และถ้าเข้าร่วมจริงจะเข้ามาในฐานะสหายของพระยามหาอำมาตย์ หรือในฐานะราชองครักษ์ หรือทั้งสองเหตุผลประกอบกัน เพราะการนำทหารแขกเข้ามาในเขตพระราชฐานนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้ถ้าไม่มีผู้นำเป็นคนสำคัญในพระบรมมหาราชวัง แต่เราทราบจากเอกสารของฮอลันดา ว่ากบฏญี่ปุ่นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ อันเป็นช่วงต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และจากจดหมายเหตุวันวลิต ก็ทำให้ทราบว่าพระยามหาอำมาตย์มีเพื่อนเป็นมุสลิม เหตุการณ์ครั้งนี้จึงอาจสันนิษฐานได้ ๒ ประการ ข้อสันนิษฐานประการแรกคือ ท่านเฉกอะหฺมัดรับราชการในตำแหน่งราชองครักษ์แขกแล้วตั้งแต่ต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาได้ร่วมกับพระยามหาอำมาตย์นำทหารรักษาพระองค์ที่เป็นแขกเข้าร่วมขับไล่พวกญี่ปุ่นออกไป ข้อสันนิษฐานที่สองคือ ท่านเฉกอะหฺมัดซึ่งยังเป็นพ่อค้ากึ่งทหาร และเป็นสหายกับพระยามหาอำมาตย์ได้นำกำลังพวกแขกมาสมทบช่วยขับไล่ญี่ปุ่น ภายหลังสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเห็นว่ามีความชอบจึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งราชองครักษ์


"จุฬาราชมนตรี" ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

จากหลักฐานที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแสดงว่าท่านเฉกอะหฺมัด มุสลิมชาวอิหร่านจากแคว้นคูระซาน ได้เข้ามารับราชการเป็นทหารองครักษ์ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในตำแหน่งจมื่นจงภักดี ที่พระตำรวจขวา ท่านผู้นี้ได้คบหาสมาคมกับจมื่นศรีสรรักษ์ หัวหน้ามหาดเล็กหลวง จนกลายเป็นสหายสนิท ต่อมาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ก็ได้รับการสถาปนาเป็นออกญาศรีวรวงศ์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างเจ้านายด้วยการสนับสนุนของขุนนางกลุ่มต่างๆ ในครั้งนั้นออกญาศรีวรวงศ์ และออกญาเสนาภิมุข (ยะมะดะ) เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ได้สนับสนุนสมเด็จเชษฐาธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จนสามารถปราบปรามกลุ่มของพระองค์ทองกับพระศรีศิลป์ได้สำเร็จ มีการประหารเจ้านายและขุนนางที่ต่อต้านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะขุนนางผู้ใหญ่ อันได้แก่ออกญากลาโหม ออกญาพระคลัง ออกหลวง ธรรมไตรโลก และมีการเตรียมประหารออกพระจุฬา ซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมในกรมท่าขวา แต่ออกญาเสนาภิมุขได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจนออกพระจุฬารอดชีวิตไปได้ อย่างไรก็ดี วันวลิตรายงานว่า ออกพระจุฬาท่านนี้ถูกปลดจากตำแหน่ง ทรัพย์สมบัติถูกริบ ถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ และหมดสิ้นอิสรภาพ๓๙ เมื่อออกญาพระคลัง และออกพระจุฬา ซึ่งเป็นขุนนางที่กุมเศรษฐกิจของประเทศถูกกำจัดไปแล้ว ออกญาศรีวรวงศ์ซึ่งในเวลานั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นออกญากลาโหม คงจะได้กราบทูลสมเด็จพระเชษฐาธิราช กษัตริย์พระองค์ใหม่ ขอให้ทรงแต่งตั้งสหายซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่แล้วให้เข้ามาบริหารราชการแทน และในคราวนั้นจมื่นจงภักดีน่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งออกพระราชเศรษฐี รองเจ้ากรมท่าขวา หรือที่ปกรณัมเรียกชื่อเต็มยศว่า "พระยาเฉกอะหฺมัดรัตนราชเศรษฐี"

ในระยะแรกท่านเฉกอะหฺมัดยังไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารงานในกรมท่าขวา ซึ่งเป็นกรมที่ควบคุมดูแลการค้าให้ราชสำนักสยาม เนื่องจากหน่วยงานนี้ยังอยู่ในความดูแลของออกพระจุฬาคนเดิม แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นผลให้ขุนนางกรมท่าขวากลุ่มเดิมหมดอำนาจ จมื่นจงภักดี ซึ่งเป็นพระสหายของ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเคยเป็นพ่อค้ามาก่อนจึงได้เข้าบริหารงานในกรมท่าขวา โดยท่านเฉกอะหฺมัดน่าจะเริ่มบริหารงานในกรมท่าขวาหลังรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อออกพระจุฬาคนเดิมถูกปลดไปแล้ว ไม่ใช่ดำรงตำแหน่งนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอย่างที่เข้าใจกันมาแต่เดิม

เมื่อออกญากลาโหมเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ก็ทรงแต่งตั้งออกพระราชเศรษฐีขึ้นเป็นออกพระจุฬาราชมนตรี๔๐ เจ้ากรมท่าขวา และสุดท้ายท่านคงได้ดำรงตำแหน่งออกญาวรเชษฐภักดี จางวางกรมท่าขวา และคงได้ว่าที่ออกญาราชนายก๔๑ อันเป็นตำแหน่งจางวางกรมมหาดไทย มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาด้านการปกครอง ซึ่งในปกรณัมเรียกว่า "เจ้าพระยาบวรราชนายก"

ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานชั้นต้นที่กล่าวว่าท่านเฉกอะหฺมัดถึงอนิจกรรมเมื่อใด ในปกรณัมกล่าวว่าท่านถึงอนิจกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งก็น่าจะถูกต้อง เนื่องจากบุตรของท่านคือท่านชื่นได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาวรเชษฐภักดี จางวางกรมท่าขวา แทนบิดาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมกับลูกพี่ลูกน้องคือ ท่านอกามะหะหมัด ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระศรีเนาวรัตน์ ส่วนใน "สำเภากษัตริย์สุลัยมาน" ก็มิได้กล่าวถึงท่านไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ท่านจะถึงอนิจกรรมไปแล้วก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์


สายเลือดขุนนางต่างชาติ

ในปกรณัมระบุว่าทายาทชั้นที่สามของท่านเฉกอะหฺมัด คือเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวัง ได้เปลี่ยนมารับนับถือศาสนาพุทธในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ท่านผู้นี้มีบุตรอยู่ ๒ คน คนโตชื่อเชน ยังคงนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ตามแบบบรรพบุรุษ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บุตรคนที่สองชื่อเสน นับถือพุทธศาสนาตามอย่างบิดา ท่านผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยากลาโหม ในรัชสมัยพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ท่านเชนซึ่งยังคงนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ตามอย่างบรรพบุรุษ เป็นต้นสายตระกูลขุนนางมุสลิมกรมท่าขวาในสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ส่วนท่านเสนเป็นบิดาของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นตระกูลของขุนนางฝ่ายพุทธ คือกลุ่มขุนนางในตระกูลบุนนาคนั้นเอง

การที่ขุนนางในตระกูลบุนนาคมีบทบาทอำนาจในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางรากฐานของท่านเฉกอะหฺมัด และลูกหลานที่เป็นมุสลิมชาวอิหร่าน ซึ่งได้ใช้ความสามารถและโอกาสในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นบันไดไปสู่การมีบทบาทและอำนาจในราชสำนักสยาม ขณะเดียวกันขุนนางกลุ่มนี้ยังมีความเฉลียวฉลาดในการปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบในทางการเมือง อันเป็นผลให้ขุนนางสายตระกูลนี้สามารถบริหารราชการแผ่นดินสืบเนื่องยาวนานกว่า ๓ ศตวรรษ เรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของขุนนางกลุ่มนี้ก่อนจะมาเป็นตระกูลบุนนาคมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนซึ่งจะขอนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้า และตรวจสอบประวัติเรื่องราวของท่านเฉกอะหฺมัดกันมากขึ้น เนื่องจากชีวประวัติของบุคคลท่านนี้มิได้เกี่ยวพันกับประวัติวงศ์ตระกูลขุนนางอันเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายเรื่อง อย่างเช่นบทบาทของมุสลิม และพัฒนาการของศาสนาอิสลามในประเทศไทย พัฒนาการและการเติบโตของขุนนางต่างชาติในราชสำนักสยาม หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับโลกมุสลิม เรื่องราวเหล่านี้ยังขาดการศึกษาค้นคว้าอยู่มากในปัจจุบัน อันเป็นผลให้ประวัติศาสตร์ไทยยังคงพร่ามัว เต็มไปด้วยเรื่องของตำนาน และปกรณัม

จนในที่สุดเราอาจแยกไม่ได้ว่าสิ่งใดคือความจริง และสิ่งใดคือนิยาย



จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์

ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 05


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม พ.ศ. 2547

ไม่มีความคิดเห็น: