วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551

แด่หยุด แสงอุทัย : ปิยบุตร แสงกนกกุล


วันที่ ๘ เมษายน ปีนี้ เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ผู้มีคุณูปการต่อวงการกฎหมายไทย

หยุด เกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๑ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนมัธยมโฆษิตสโมสร เนติบัณฑิตไทยจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม สำเร็จปริญญาเอกกฎหมายขั้นเกียรตินิยมชั้นสูง (Magna Cumlaude) จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในอดีต เคยรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการร่างกฎหมาย จนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๑ จึงเกษียณอายุราชการ นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นอีก เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะต่างๆ แทบทุกลักษณะวิชาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงอื่นๆ ด้วย หยุดแต่งตำราทางกฎหมาย เขียนบทความทางกฎหมายและบันทึกท้ายคำพิพากษาฎีกาไว้เป็นจำนวนมาก หยุด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๒

หยุดเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแทบทุกประเภท แต่ที่ได้การยอมรับนับถือเป็นอย่างมาก คือ กฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้หยุดยังเขียนตำราคลาสสิก “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป” ซึ่งปัจจุบันยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หยุดเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตำแหน่งของหยุดแล้วก็เปรียบเสมือนเป็น “มือกฎหมาย” ของรัฐบาลนั่นเอง จากบทบาทดังกล่าว ส่งผลให้หยุดต้องรับวิบากกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. (ดูรายละเอียดได้ในบทความ “กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙” ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ที่ somsak's work และ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน )

จากการศึกษาตำรากฎหมายของรัฐธรรมนูญของหยุด บทความ หรือคำอภิปรายต่างๆ เรายืนยันได้ว่า หยุด มีความคิดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คือ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ เพื่อมิให้กษัตริย์ต้องรับผิด ตามคำกล่าวที่ว่า “The King Can Do No Wrong” จึงต้องมิให้กษัตริย์กระทำการใดๆ เว้นแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นผู้กระทำอย่างแท้จริง

ดังปรากฏให้เห็น เช่น


“ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์” และ “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ”(ในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)

“ในเวลานี้ ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือน ไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ ๓ ประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้น อาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและรับสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง” และ “… ในกรณีที่ไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงทักท้วงตักเตือนให้เห็นภยันตรายของการดำเนินตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงเช่นว่านี้ ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะต้องประชุม ปรึกษาหารือกันใหม่ คณะรัฐมนตรีอาจยืนยันความเห็นเดิมก็ได้ และเมื่อคณะรัฐมนตรียืนยันตามความเห็นเดิม พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอม เพราะคณะรัฐมนตรีต่างหากเป็นผู้รับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ…”(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕. หน้า ๔๖-๔๗)

ผู้เขียนได้รับความรู้ทางกฎหมายจากตำราของหยุด และได้รับอิทธิพลทางความคิดของหยุดในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมาพอสมควร และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของหยุด แสงอุทัย ผู้เขียนจึงขออนุญาตใช้พื้นที่ของฟ้าเดียวกันในการเผยแพร่บทความบางส่วนของผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการอุทิศแด่ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้แก่


๑. พระราชอำนาจ การลงพระปรมาภิไธย
และการสนองพระบรมราชโองการ

๒. พระราชดำรัสของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

๓. อะไรคือ ตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์”

๔. การลดพระราชอำนาจกษัตริย์ในสวีเดน และการเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในลิคเตนสไตน์

๕. กฎมณเฑียรบาลกับรัฐธรรมนูญ


อนึ่ง บทความเหล่านี้ เคยเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะในหลายๆที่มาก่อน หากผู้ใดเคยอ่านมาแล้ว ผู้เขียนต้องขออภัยที่นำ “ของเก่า” มา “ขายใหม่” และหากจะก่อให้เกิดประโยชน์โภชผล ผู้เขียนขออุทิศให้แด่ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย


รวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์กรณี
หยุด แสงอุทัยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

หมายเหตุ
ผู้เขียนตัดตอนข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยที่มุ่งโจมตีหยุด แสงอุทัยกรณีถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อกระทบต่อไปยังจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเราจะได้ทบทวนสถานการณ์การนำข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาเป็นอาวุธทางการเมืองทิ่มแทงต่อกันในสมัยนั้น ซึ่งบังเอิญเหลือเกินว่าอาวุธเช่นว่า ก็ยังคงปรากฏให้เห็นในสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน

ข่าวหนังสือพิมพ์เหล่านี้อยู่ในบทความขนาดยาวมากซึ่งผู้เขียนค้นหาเจอในเว็บไซต์ บทความนี้ไม่ปรากฏชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่งหรือผู้เป็นเจ้าของบทความแต่อย่างใด คาดเดาว่าอาจอยู่ในหนังสือเล่าประวัติการเมืองไทยสักเล่มหนึ่ง แล้วมีผู้นำบางส่วนมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ผู้เขียนจึงต้องขออภัยผู้แต่งและผู้ค้นคว้าข้อมูลตัวจริงที่ไม่ได้แจ้งที่มาของข้อมูล เพราะผู้เขียนไม่ทราบแหล่งที่มาจริงๆ

เมื่ออ่านข่าวเหล่านี้จบแล้ว อาจฉุกคิดขึ้นได้ว่า แม้เหตุการณ์ผ่านไป ๕๐ ปีเศษ สื่อมวลชนที่นำข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาใช้ทำลายศัตรูทางการเมือง ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทยเลย

………………………………………


๑.
ประชาธิปไตย วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙


ละเมิดพระมหากษัตริย์

เรื่องที่มีราษฎรร้องต่อตำรวจว่ามีผู้หมิ่นในหลวงเข้าแล้ว โดยบังอาจกล่าวคำวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสเรื่องจะเข้าในกฎหมายอาญาเป็นผิดหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะผู้กล่าววิพากษ์วิจารณ์เป็นข้าราชการประจำ เมื่อกระทำผิดรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยในมาตราหนึ่ง “พระมหากษัตริย์ย่อมเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และเมื่อมีผู้ละเมิดขึ้นเช่นนี้ ผู้ละเมิดเป็นข้าราชการก็น่าจะได้มีการพิจารณาลงโทษ ปลดไล่ออกหรือด้วยประการใดๆตามวินัยไปก่อนโดยไม่ชักช้า ส่วนทางคดีอาญานั้น ทางตำรวจก็พิจารณาและดำเนินต่อไปทางโรงศาล

ข้อที่ว่าจะเป็นการละเมิดหรือไม่นั้น เราจำได้ว่าสมัยหนึ่ง จะเป็น พ.ศ. ๒๔๘๐ หรือ ๒๔๘๑ ไม่แน่ใจ ขณะนั้นพระยามานวราชเสวี ประธานสภา พระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรี และจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลครั้งนั้น ในหลวงได้มากระทำพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้มีดำรัสต่อสภา กล่าวถึงกิจการงานที่รัฐบาลได้ปฏิบัติในระหว่างเปิดสมัยประชุมในทางดีงามต่างๆ เมื่อสภาได้เปิดประชุมปรึกษาเป็นครั้งแรกในสมัยนั้น นายอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ส.ส. นครสวรรค์ ได้เสนอญัตติให้เปิดอภิปรายกิจการงานที่รัฐบาลได้ปฏิบัติไปในสมัยเปิดประชุมนั้นว่าได้เป็นไปในทางดีงามต่างๆเหมือนกับที่รัฐบาลได้ไปกราบทูลในหลวง และในหลวงได้นำมาดำรัสเล่าให้สภาทราบนั้นหรือไม่ มีอภิปรายกันมาก ผู้สนใจคงจะค้นดูกันได้จากรายงานการประชุมสภา และจำได้ว่ารัฐบาลสมัยนั้นได้ค้าน ไม่ยอมให้มีการอภิปรายโดยให้เห็นว่าถ้ามีการอภิปรายก็จะต้องพาดพิงไปถึงกระแสพระราชดำรัสนั้น เมื่อมีการกล่าวพาดพิงถึงก็จะเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ผิดรัฐธรรมนูญ

ตามหลักฐานที่กล่าวมาแล้วนี้ แม้ในสภาซึ่งได้รับเอกสิทธิคุ้มครอง รัฐบาลอันประกอบด้วยจอมพล ป.พิบูลสงครามในครั้งนั้นยังเห็นว่าเป็นการละเมิด ก็สำมะหาอะไร ข้าราชการผู้ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากล่าววิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้จะไม่เป็นการละเมิด

ส่วนที่มีข่าวว่าได้มีการสับเปลี่ยนฉบับอันเป็นหลักฐานการพูดที่กรมประชาสัมพันธ์เสียนั้นก็ไม่ประหลาดอะไร ถ้ามีอำนาจในรัฐบาลนี้จะดำเนินการตรงไปตรงมา รู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบ ก็จะสอบสวนได้โดยไม่ลำบาก การกล่าวคำหมิ่นประมาทด้วยวาจาต่อคนที่ได้ยินเพียง ๓ – ๔ คน ก็ยังเข้าคุกเข้าตารางมาแล้วตั้งมากมาย ที่พูดทางวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาล คนได้ยินนับหมื่นนับแสน จะเอาแน่ว่าพูดอย่างไรไม่ได้เชียวหรือ ถ้ามีการสับเปลี่ยนต้นฉบับจริง ก็น่าจะมีการสอบสวนทางอาญาถึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆที่พยายามทำลายหลักฐานได้อีกตั้งหลายกระทง

ถ้าจอมพล ป.ผู้ซึ่งกล่าวเสมอถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้คนใกล้ชิดของท่านทำผิดรัฐธรรมนูญได้ก็น่าจะเป็นที่อเน็จอนาถใจไม่น้อยเลย


๒.
ประชาธิปไตย
วันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ฉบับพิเศษ


การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินพากันเศร้าสลดใจในพฤติกรรมของบุคลลผู้หนึ่งซึ่งได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน กล่าวคือ เมื่อคืนวันอังคารที่แล้วมา กระบอกเสียงของรัฐบาลได้กระจายเสียงออกอากาศภาคบทความของนายหยุด แสงอุทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรมร่างกฎหมาย) สังกัดในสำนักคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าโดยได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทยว่า “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใด ที่เป็นปัญหาหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” และกล่าวคำอื่น ๆ อีกที่เพียรพยายามจะแสดงให้เกิดความเข้าใจกันว่าองค์พระมหากษัตริย์ประมุขของชาติคือ “หุ่น” ที่รัฐบาลจะเชิดเท่านั้นเอง

กรณีเหตุที่ทำให้บรรยากาศเกี่ยวกับองค์พระประมุขของชาติ โดยมีบุคคลได้กระทำการดูหมิ่นขึ้นนั้นก็เนื่องด้วยที่ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานในวันกองทัพบกว่า “ให้ทหารรู้จักหน้าที่ในความเป็นทหาร ทหารไม่บังควรเล่นการเมือง” เป็นต้น

คำกล่าวด้วยความทะนงองอาจของบุคคลผู้หนึ่งครั้งนี้ เป็นการกล่าวถ้อยคำในฐานะที่เป็นข้าราชการ และได้นำไปออกอากาศกระจายเสียงที่กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นสำนักงานแถลงข่าวของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ในการเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและบังคับบัญชากันในทางราชการนั้น บุคคลผู้นี้ได้สังกัดขึ้นตรงต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย นับว่าเป็นสายบังคับบัญชางานขึ้นตรงโดยเฉพาะและบุคคลผู้นั้นไม่ใช่ข้าราชการผู้น้อยชั้นถ่อยแต่เป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลคณะนี้ยกย่องถึงขนาดเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นที่ปรึกษาทั่วไปในทางกฎหมายประจำทำเนียบของรัฐบาลนี้โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นการกล่าวถ้อยคำอันเป็นการดูหมิ่นด้วยความทะนงองอาจต่อองค์พระมหากษัตริย์ ประมุขของชาติเช่นนี้ จึงอาจที่จะบิดเบือนเป็นอื่นไปได้ที่ว่าจะกล่าวขึ้นด้วยความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ โดยเฉพาะรัฐบาลจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย

อนึ่ง เมื่อวันเสาร์ซึ่งมีเพรสคอนเฟอรเรนซ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวชี้แจงแก้แทนนายหยุด แสงอุทัย ในคำกล่าวหานั้นว่า “ไม่มีผิด” และนายหยุด แสงอุทัย ก็ได้นำคำมากล่าวย้ำอีกว่า กษัตริย์อังกฤษนั้นไม่กระทำการใดๆที่ไม่มีรัฐมนตรีรับสนอง ซึ่งคำกล่าวลักษณะนี้ ขอให้พี่น้องทั้งหลายพิจารณากันดูเอาเองเถิด และก็ควรจะได้พิจารณากันให้ลึกซึ้งด้วยว่าข้าราชการในอังกฤษซึ่งอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับนายหยุด แสงอุทัยได้มีผู้แนะนำความอันเกี่ยวกับอังกฤษมากล่าวย้ำสั่งสอนพระราชาของเขาทำนองนี้บ้างหรือไม่

การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์พระมหากษัตริย์กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๘ ได้บัญญัติไว้มีความว่า “ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระราชเทวีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันจำคุกไม่เกิน ๗ ปี และปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง”

เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรภาคอีสาน ได้มีเหตุการณ์ขึ้นเรื่องหนึ่งคือ ชายผู้หนึ่งจะนำหนังสือเข้าทูลเกล้าถวายฎีกาแต่ไม่สามารถเข้าไปได้ บุคคลผู้นั้นได้ปาหนังสือตรงไปยังรถพระที่นั่ง แม้เหตุการณ์เพียงเท่านั้น เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองก็ได้จับคนผู้นั้นในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและให้ศาลได้ลงโทษจำเลยผู้นั้นไปแล้วโดยให้จำคุก เมื่อได้นำเอากรณีดังกล่าวแล้ว มาเทียบกับพฤติการณ์แห่งความทะนงองอาจของนายหยุด แสงอุทัย ที่ได้กระทำขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ประมุขของชาติคราวนี้เป็นการทะนงองอาจใหญ่ยิ่งกว่ากันหลายเท่านัก หากบุคคลที่ได้ขว้างปาเอกสารเป็นบุคคลธรรมดาสามัญ แต่นายหยุด แสงอุทัยเป็นบุคคลพิเศษอยู่ในฐานะใกล้กับรัฐบาลคณะนี้ จึงยังไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจได้ดำเนินการกับนายหยุด แสงอุทัยประการใดเลย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจจะดำเนินการได้ทันทีไม่พักให้ต้องมีผู้นำความมาแจ้งและร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานนั้น คงไม่มีประเทศใดในโลกนี้เขาทำกันหรอกและก็ทำให้สงสัยว่าอาจจะเงียบกันต่อไป เพราะจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แก้แทนเสียแล้วว่า “ไม่ผิด”

ทางที่ถูกต้องเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจจะต้องเข้าดำเนินการสอบสวนพิจารณาองค์การของรัฐบาลคือเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ที่ได้ยอมให้นายหยุด แสงอุทัยนำข้อความไปอ่านออกอากาศกระจายเสียงโฆษณาต่อประชาชนทั้งประเทศนั้นว่า ได้มีความเห็นสอดคล้องต้องด้วยหรืออย่างไร กับเจ้าพนักงานสอบสวนจะต้องตั้งตนเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองเกรงกลัวผู้มีอำนาจบาทใหญ่ ต้องการกระทำการสอบสวนหัวหน้าผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายหยุด ด้วยว่าได้มีส่วนรู้เห็นเจตนาจงใจร่วมกับนายหยุด แสงอุทัยให้กระทำขึ้นเพื่อลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์เช่นนั้นด้วยหรือไม่

ประชาชนทั้งเมืองต่างเอาใจใส่กับเหตุการณ์ที่เกิดนี้โดยทั่วกัน และก็ใคร่จะได้ฟังคำปฏิบัติการของเจ้าพนักงานทุกฝ่ายว่ากระทำการกันฉันใด เพราะเหตุการณ์เช่นนี้กระทำให้เป็นที่หวั่นไหวต่อจิตใจของพสกนิกรที่เคารพรักพระมหากษัตริย์อยู่โดยทั่วหน้าเพราะต้องการทราบข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัด


๓.
ประชาธิปไตย วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙


ดร. หยุด แสงอุทัย ไปอาบน้ำมนต์ล้างซวยครางอ๋อยว่าหมอดูแล้วว่าจะซวย เตรียมไปพูดวันอื่นแต่ต้องการพูดแทน

ดร.หยุด แสงอุทัยต้องการให้พระรดน้ำมนต์ล้างซวยให้ ในกรณีที่เขียนบทความไปพูดทางวิทยุ จนกระทั่งถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงกับส.ส.ฝ่ายสนับสนุนต้องเสนอเรื่องให้ตำรวจจัดการในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดร.เยอรมันครวญว่า “……มันเป็นคราวซวยของผมเอง ก่อนเกิดเรื่องหมอดูได้ทำนายไว้แล้วทีเดียวว่า ผมกำลังเคราะห์ร้ายมากจะต้องรดน้ำมนต์ถึง ๗ วัดจึงจะหายซวย”

หลังจากที่นายสงวน ศิริสว่าง ส.ส.เชียงใหม่ได้ทำบันทึกยืนยันไปยังอธิบดีกรมตำรวจให้ดำเนินคดีกับดร.หยุด แสงอุทัย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับที่ไปบรรยายบทความทางวิทยุกระจายเสียงเรื่องอำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย ตอน ๒ เมื่อคืนวันที่ ๗ เดือนนี้นั้น ซึ่งมีข้อความบางตอนเป็นการหมิ่นในหลวง และอธิบดีตำรวจก็ได้ส่งเรื่องให้แก่กองคดีวินิจฉัยเพื่อความแจ่มแจ้งต่อไปนั้น ดร.หยุด แสงอุทัยกล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้ผมก็ยังยืนยันว่าผมไม่ผิด ผมพูดตามหลักวิชาการ และเคยพูดแบบนี้ทางวิทยุกระจายเสียงมา ๗ ครั้งแล้ว เช่น ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันฉัตรมงคล มีข้อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรแต่คราวนี้กลับเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตไปได้ก็ประหลาดเหมือนกัน

ดร.หยุด แสงอุทัย กล่าวต่อไป “ผมมันซวยจริงๆ ความจริงบทความเรื่องนี้ของผมตามรายการกระจายเสียงแล้วจะต้องพูดในวันที่ ๒๑ เดือนนี้ แต่บังเอิญคุณโอภาส ชัยนาม เจ้าหน้าที่ทางสาขาเนติธรรมเหมือนกันเขาจะพูดทางรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย แต่เขาเขียนไม่ทัน เขาก็เอารายการของผมเข้ามาแทน ถ้าหากผมไปพูดในรายการเดิมคือวันที่ ๒๑ เข้าใจว่าคงจะไม่มีเรื่อง แต่บังเอิญถึงคราวซวยของผม เลยได้จังหวะกันพอดี”

เกี่ยวกับที่มีข่าวว่าต้นฉบับที่แจกให้ครั้งหลังนี้อาจจะไม่ตรงกันกับวันที่อ่านทางวิทยุกระจายเสียงคืนนั้น ดร.หยุด บอกว่า “ผมไม่บ้าอย่างนั้นหรอก” ว่าแล้วก็จัดการล้วงต้นฉบับที่เขียนซึ่งมีการขีดฆ่าต่อเติมให้ดู “คุณตรวจดูซิว่าตรงกับที่แจกให้ไหม”

“ส่วนที่ว่าผมกำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องคุณสงวนและหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องนี้นะหรือ ตราบใดที่ผมยังเป็นข้าราชการอยู่ ตราบนั้นผมจะไม่ฟ้องใครในฐานหมิ่นประมาทเลยเป็นอันขาด เพราะผมถือว่าใครทำดีทำชั่วคนเขารู้เอง สำหรับเรื่องที่ว่าผมหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น ผมสู้เต็มที่ ผมก็เป็นคนที่รักในหลวงคนหนึ่งเหมือนกัน เพราะผมรักพระองค์ท่าน ผมจึงไม่ต้องการให้ใครเอาในหลวงเป็นเครื่องมือ”

การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีออกรับแทนในเพรสคอนเฟอร์เรนซ์เมื่อวันเสาร์นั้น ดร.หยุด ไม่ตอบโดยตรง แต่ซักตัวอย่างให้ฟังว่า “สมมุติว่าคุณเลี้ยงหมาไว้ตัวหนึ่ง มีคนเข้ามาเตะหมาของคุณ คุณเป็นเจ้าของคุณจะไม่ป้องกันหมาของคุณหรือ”

ดร.หยุด กล่าวในที่สุดว่า “เมื่อเช้านี้ ผมได้ให้ท่านมหาประจวบที่วัดมหาธาตุรดน้ำมนต์ให้แล้ว เพื่อจะได้หายซวยเสียที หรือจะเป็นเพราะความขลังของน้ำมนต์ก็ไม่รู้ที่ส่งคุณให้มาพบกับผม” กล่าวจบก็หัวเราะ


๔.
ประชาธิปไตย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙


ควงวิพากษ์วิจารณ์ ดร.หยุด ครื้นเครงจอมพลไปออกรับแทนก็ยิ่งผิดใหญ่ คนไปที่บ้านเจริญพรกันเปิงไปเลย

หลังจากที่ ดร.หยุด แสงอุทัย ถูกส.ส.สงวน ศิริสว่างแจ้งให้พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจจัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพล.ต.อ.เผ่า ได้ส่งบทความของดร.หยุด ให้กองคดีกรมตำรวจวินิจฉัย ในที่สุดกองคดีพิจารณาแล้วปรากฏว่าบทความของดร.หยุดไม่ผิดและไม่มีการหมิ่นพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดนั้น

จากการพบกับนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นว่า “ดร.หยุด เป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญของรัฐบาลเสียเปล่ ถึงจะพูดถูกหรือไม่ถูกก็ตาม ทำให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองเข้าใจผิด ใครที่ได้ฟังวิทยุในคืนนั้นก็เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นในหลวง แล้วมันก็ใช้ได้ที่ไหน”

นายควงยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เหมือนอย่างครูเหมือนกัน ถึงแม้จะเก่งหรือวิเศษสักปานใด แต่สอนแล้วนักเรียนไม่เข้าใจ ครูคนนั้นก็ใช้ไม่ได้ อย่างดร.หยุด ที่จอมพล ป.คิดว่าเป็นนักกฎหมายที่เก่งและดีมาก แต่อย่าลืมนะว่าเป็นดีคนเดียว ไปอยู่ในหมู่คนบ้าก็กลายเป็นบ้าเหมือนกัน ไม่เชื่อใครก็ได้ไปหาลูกน้องหมอฝนที่หลังคาแดงปากคลองสานซิ พวกนั้นจะหาว่าบ้าทั้งนั้น และก็ดร.หยุด เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย อุตส่าห์เขียนมาอ่านให้คนฟังเข้าใจผิดกันทั้งเมืองก็แปลกเต็มทน”

เกี่ยวกับจอมพลที่เข้าข้าง ดร.หยุดโดยออกรับแทนในที่ประชุมหนังสือพิมพ์ นายควงกล่าวว่า “นั่นแหละจอมพลยิ่งผิดใหญ่ทีเดียว เพราะหากที่ดร.หยุดพูดไปเป็นการหมิ่นในหลวง และจอมพล ป.ก็เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมพล ป.ก็ผิดเต็มประตู แต่ถ้าดร.หยุด ไม่พูดหมิ่นในหลวง จอมพลเป็นคนอนุญาตให้พูด ทำให้คนเข้าใจผิดกันทั้งเมือง จอมพล ป.ก็ผิดอีก ไม่ใช่แต่เพียงหนังสือพิมพ์หรือ ส.ส.สงวนที่เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นในหลวง คนอื่นๆทั้งที่มีสติปัญญาและไม่มีสติปัญญา เขาก็เข้าใจอย่างนั้นทั้งสิ้น ใคร ๆ ที่มาหาผมถามว่าคืนนั้นฟังวิทยุหรือเปล่า ผมบอกว่าเปล่า เขาบอกว่าที่ดร.หยุดพูดนั้นหมิ่นพระมหากษัตริย์จริง ๆ แล้วก็ด่ากันเปิงไปหมด เขายังบอกต่อไปอีกว่าต้นฉบับที่แจกหนังสือพิมพ์วันนั้นไม่ตรงกับที่จ่ายทางวิทยุ เมื่อดร.หยุดพูดให้คนเข้าใจผิดกันหมดอย่างนี้ จะเลี่ยงได้ไหม?“ นายควงกล่าวในที่สุด


ปิยบุตร แสงกนกกุล


ที่มา : ฟ้าเดียวกันออนไลน์ : คอลัมนิสต์ออนไลน์ : แด่หยุด แสงอุทัย

ไม่มีความคิดเห็น: