วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

แฉหลักฐานทางประวัติศาสตร์ "ยึดอำนาจ" เมื่อ ร.๔ สวรรคต ถึงยุคขุนนางตั้งกษัตริย์กันเอง!


เรื่องชักจะไปกันใหญ่ แต่กระแสความเปลี่ยนแปลงในสยามเป็นไปอย่างรวดเร็วจนชาวต่างประเทศตามไม่ติด เมื่อต้นรัชกาลที่ ๔ ชาวตะวันตกออกจะงงงวยในระบบกษัตริย์ ๒ พระองค์ร่วมกันปกครองประเทศในเวลาเดียวกัน แต่นั่นยังไม่เท่าไร ในรัชกาลต่อมา กระแสข่าวใหม่จากกรุงเทพฯ มีออกไปอีกว่า บัดนี้สิ้นรัชกาลของทั้ง ๒ พระองค์นั้นแล้ว ต่อไปสยามจะมีผู้นำพร้อมกันทีเดียว ๓ คนเลย ความแปลกประหลาดนี้มีพิเศษอีกหน่อย คือ ๒ พระองค์แรกเป็นเชื้อพระวงศ์ เฉพาะคนที่ ๓ นั้นมาจากคนธรรมดา

สถานภาพการมีผู้นำพร้อมกันถึง ๓ คนนี้เป็นที่โจษจันกันไปทั้งโลก เป็นเหตุผลทางการเมืองภายในที่ยากต่อการเข้าใจ แม้ในเมืองไทยก็ยังมีข้อมูลที่ทำให้เกิดไขว้เขวได้ ดังที่นักประวัติศาสตร์ไทยท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า รัชกาลที่ ๕ มิได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์อย่างเป็นทางการในทันทีที่รัชกาลที่ ๔ สวรรคต เพราะมีขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งก้าวขึ้นไปทำหน้าที่นั้นแทนก่อน เพราะในหลวงกำลังทรงพระเยาว์ จนบางคนพูดว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "แผ่นดินที่สืบต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มา"(๑)

แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นอีก คือขุนนางผู้นั้นใช้อภิสิทธิ์พิเศษ "แต่งตั้ง" เจ้านาย ๒ พระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พร้อมๆ กัน ท่ามกลางที่ประชุมเสนาบดี ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งเสนอให้สถาปนาขุนนางผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์นั้นเสียด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ ในคืนวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘)

กรุงเทพมหานครอยู่ในสภาพตึงเครียด ไม่มีใครแน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นในพระบรมมหาราชวัง มีแต่ข่าวลือเล็ดลอดออกมาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ องค์รัชทายาท ทรงดำรงอยู่ในสภาพทรุดลงเรื่อยๆ มีพระอาการเพียบหนักจากพิษไข้ป่าที่ทรงติดมาจากหว้ากอ พร้อมกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดอาลัยดำรัสถามพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีว่า "พ่อใหญ่" สิ้นพระชนม์เสียแล้วหรือยังมีพระชนม์อยู่(๒)

๒๑.๐๐ น. คืนนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต อีกเพียง ๓ ชั่วโมงต่อมา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็ออกคำสั่งให้กำลังทหารล้อมวงเข้ารักษาพระราชมณเฑียรทั้งข้างหน้าข้างใน(๒) กรุงเทพฯ จึงถูก "ยึดอำนาจ" อย่างเด็ดขาดในเวลาเที่ยงคืน

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอีกหลายปีต่อมาถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ บอกเล่า "วิกฤตการณ์" หน้าสิ่วหน้าขวานที่น่ากลัวที่สุดในชั่วโมงนั้น ได้ดีกว่าใครอื่นหมด...


"ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดามีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียว ซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด หนำซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่ คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต ในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ ในที่สมมุติกษัตริย์"(๓)


หนังสือพิมพ์ลิลลุสตราซิองของฝรั่งเศส ฉบับวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๑๘๖๘ ประโคมข่าวทันทีเรื่อง "วิกฤติในสยาม" และทางรอดของเมืองไทยหลังสิ้นคิงมงกุฎ บทบรรณาธิการตีแผ่ความลับในราชสำนักและอำนาจทางการเมือง ซึ่งเวลานี้ตกไปอยู่ในมือของขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่น่าไว้ใจ เจ้าของกิตติศัพท์จอมบงการ ผู้มีอิทธิพลที่สุดในกรุงสยาม ซึ่งเคยตกเป็นผู้ต้องหาว่าคิดการกบฏหลายครั้งหลายหนก่อนหน้านี้ บัดนี้ตั้งตัวเองเป็น "P"Usamret Rajakan Pendin" (เอกสารต่างประเทศนิยมเรียกทับศัพท์ มิฉะนั้นก็ใช้คำว่า Kalahome) อย่างไม่ไว้หน้าผู้ใด และกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่เหนือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่เหลืออยู่ ชาวฝรั่งเศสในประเทศสยามหวาดหวั่นอยู่กับเหตุการณ์นี้ และได้รับคำแนะนำให้ดูแลรักษาตัวอยู่แต่ในเคหสถาน เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ขุนนางคนนี้ไม่เป็นผู้นิยมฝรั่งเศสเลย(๘)

หนังสือพิมพ์ดังกล่าว เผยแพร่ภาพกษัตริย์องค์ที่ ๑ (นับได้ว่าเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ภาพแรกในโลก ที่ได้รับการยืนยันว่าขึ้นเป็นกษัตริย์สยามองค์ใหม่แล้ว-ผู้เขียน) แต่งตั้งขึ้นโดยขุนนางผู้นั้น และในโอกาสเดียวกัน เขียนไว้อีกว่า "ชาวสยามต้องตกตะลึง" ที่ขุนนางสามัญชนถืออภิสิทธิ์แต่งตั้งกษัตริย์องค์ที่ ๒ ด้วยความเห็นชอบของตนเอง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่ประการใด ท้ายที่สุดเขาได้อุปโลกตัวเองขึ้นเป็น "รีเยนต์" ผู้ชอบธรรมของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์ นับเป็นเรื่องอื้อฉาวที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่ง เพราะประเพณีการดำรงตำแหน่งรีเยนต์ โดยทั่วไปนั้นต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่น พระราชบิดา หรือพระราชมารดาของกษัตริย์ผู้เยาว์วัย มิฉะนั้นก็ต้องมาจากการแต่งตั้งของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนเท่านั้น ดังเช่นในทวีปยุโรป หรือแม้แต่ในกรุงจีน เหตุที่เกิดในกรุงสยามนี้เป็นความหายนะที่หลีกเลี่ยงมิได้ ต่อสิ่งที่จะตามมาในไม่ช้า

การยึดอำนาจเด็ดขาดและการตั้งตัวเป็นผู้จัดการเบ็ดเสร็จในการบริหารราชการแผ่นดินในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ๕ ปี โดยมิได้รับการขัดขวางใดๆ ทั้งสิ้น

หลังจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นปฐมฤกษ์ ฉบับแรกที่เก่าและน่าเชื่อถือที่สุดของเหตุการณ์ภายหลัง ร.๔ เสด็จสวรรคต ซึ่งพบครั้งนี้แล้ว ยังมีหลักฐานความไม่ชอบมาพากลอีกถึง ๒ ชิ้น หลังการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผ่านพ้นไปได้ ๒ ปี และจะได้กล่าวต่อไปอีก

แต่ก่อนที่จะผ่านเลยไป ขอเกริ่นถึง "ผู้ตั้งกษัตริย์" อันเป็นต้นเหตุของประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ในกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี้พอสังเขป

การที่ขุนนางสามัญชนสามารถท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ ก็เพราะนอกเหนือจากการมีกำลังไพร่พลอยู่ในความปกครองจำนวนหนึ่งแล้ว ยังเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจมากที่สุด จึงทำให้รู้ช่องว่าง ความแข็งแกร่ง และความอ่อนแอของพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจสูงสุด แม้ว่ากษัตริย์จะทรงพยายาม "หาวิธี" รักษาอำนาจไว้ เช่น ตรากฎมณเฑียรบาล บังคับใช้พิธีถวายสัตย์ฯ ในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและการสับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งขุนนาง เพื่อถ่วงดุลอำนาจในระหว่างขุนนางกันเอง แต่ความยำเกรงก็เป็นไปได้เพียงชั่วคราว ตราบที่พระราชอำนาจของกษัตริย์ยังเป็นที่ยอมรับของขุนนางอยู่ แต่เมื่อใดที่ขุนนางมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์ ก็จะดำเนินการล้มล้างพระราชอำนาจลง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือการได้ครอบงำราชบัลลังก์ไว้เองในฐานะพระมหากษัตริย์ หรือตัวแทนพระมหากษัตริย์ อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ที่แสดงถึงอำนาจสูงสุด ในระบบการเมืองไทย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีตระกูลขุนนางที่มีอำนาจโดดเด่นและเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพียงตระกูลเดียว คือตระกูลบุนนาค ทำให้ไม่มีขุนนางตระกูลอื่นกล้าเสี่ยงที่จะมีความขัดแย้งด้วย จนตลอดรัชกาลที่ ๔ ในระหว่างนั้นตระกูลดังกล่าวได้สร้างสมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับสร้างการสืบทอดทางการเมืองแก่ทายาทของตนด้วย อย่างไรก็ดีขุนนางในตระกูลนี้ก็มิได้ต้องการแย่งราชสมบัติดังขุนนางสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี คงพอใจแต่ในฐานะ "ผู้ตั้งพระเจ้าแผ่นดิน" ซึ่งบรรพบุรุษในตระกูลหลายท่านได้รับเกียรติมาตลอด เช่น เมื่อมีส่วนสนับสนุนการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญและแต่งตั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นกษัตริย์ จนในครั้งนี้ได้แต่งตั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ติดต่อกันถึง ๓ รัชกาล จนเกือบจะกลายเป็นธรรมเนียมใหม่ในราชสำนักไทย

โอกาสเหมาะอีกครั้งหนึ่งที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สามารถปฏิบัติการ "รวบหัวรวบหาง" อำนาจทั้งหมดไว้ในกำมือโดยดุษณี ก็เพราะการที่เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ทูลขอ "แพ บุนนาค" ผู้เป็นหลานปู่แท้ๆ ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาเป็นเจ้าจอมพระสนมเอก ถึงขนาดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระโอษฐ์เพื่อหาหนทางรอมชอมอย่างหมดพิษสง กับท่านเจ้าคุณว่า "ไหนๆ ลูกข้าก็เป็นเขยของท่านแล้ว ข้าขอฝากลูกข้าด้วย"(๑)

สาเหตุของความขัดแย้งเกือบทั้งหมดเหลืออยู่เพียงความต้องการอำนาจทางการเมือง เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์มิได้ทรงบริหารบ้านเมืองและควบคุมไพร่พลโดยตรง แต่ทรงกระทำผ่านอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดี ซึ่งถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถ (เช่น ในรัชกาลที่ ๔) ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงพระปรีชาสามารถ หรือยังทรงพระเยาว์ (เช่น ในรัชกาลที่ ๕) ก็จะทรงถูกท้าทายจากขุนนางผู้มีกำลังอำนาจเหนือกว่า บทบาทของผู้นำในตระกูลนี้จึงปรากฏเด่นชัดที่สุดในรอยต่อของสองรัชกาลนี้

แม้ว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะเคยมีสถานภาพเป็นถึงมือขวาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้ซื่อสัตย์ก็ตาม แต่เจ้าคุณก็มักแสดงตนอย่างเปิดเผยที่จะขัดพระทัยของพระมหากษัตริย์ในด้านต่างๆ เช่น การต่างประเทศ เขาตั้งตนเป็นหัวหน้าฝ่ายต่อต้านชาวยุโรปที่แท้จริง เพราะพระราโชบายเปิดประเทศของพระองค์นั้น จำกัดขอบเขตอิทธิพลเสนาบดี เป็นการลิดรอนสิทธิ์และขัดผลประโยชน์ของเขาอย่างเห็นได้ชัด แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะ "ไม่ทรงลงรอย" กับเขาบ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็ต้องทรงยกย่องในเกียรติเขาผู้ซึ่งมีอำนาจรองจากพระองค์ในราชอาณาจักร ต่างฝ่ายต่างดูเชิงกันอยู่อย่างไม่ประมาท อำนาจอันสูงส่งของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ "มีขีดจำกัด" ตลอดรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินมีเหนือกว่า แต่วันเวลาที่เขารอคอยกำลังจะมาถึง(๕)

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ อำนาจอันไร้เทียมทานของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนใหม่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเบ็ดเสร็จ เขากลายเป็นเสาหลักที่มั่นคงในสยาม และเป็นศูนย์กลางอำนาจที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธอีกต่อไป

ช่วงสมัยที่เขาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี้ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะมหากษัตริย์ ที่ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองบ้านเมืองอย่างแท้จริง ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากบทบาทและอำนาจทางการเมืองของกลุ่มขุนนาง "ข่มบารมี" ของพระองค์ลงจนหมดสิ้น

การที่เสนาบดีตระกูลบุนนาคเข้าไปมีบทบาททางการเมืองและการปกครอง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงขีดสูงสุดปลายรัชกาลที่ ๔ ได้รับการยืนยันอยู่ในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "อำนาจเสนาบดี ได้เจริญขึ้นเพราะมีอำนาจได้ตั้งเจ้าแผ่นดินมาแต่ก่อนมากนักแล้ว"(๔)

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ แม้ที่ประชุม (เพื่อเลือกรัชทายาทองค์ใหม่) จะมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่มาพร้อมหน้าอยู่ก็ตาม แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เสนาบดีสำคัญเพียงไม่กี่คนเป็นผู้ "ชี้ชะตา" ในการเลือกพระองค์หนึ่งพระองค์ใดขึ้นเป็นกษัตริย์ และบรรดาขุนนางตำแหน่งหลักๆ ในที่ประชุมดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็อยู่ในตระกูลบุนนาค บุคคลผู้กุมเสียงสำคัญในการเลือกอัญเชิญผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ กับทั้งมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียว ก็คือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ดังนั้นเมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ ๔ ได้รับการอัญเชิญจากที่ประชุม ซึ่งมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นประธานขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป พระองค์จึงมิได้ทรงมีพระราชอำนาจแต่อย่างใด อำนาจในการปกครองแผ่นดินตกอยู่ในมือของขุนนางในระบบเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลบุนนาค ซึ่งได้เข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงและสำคัญ เช่น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม) น้องชายเป็นเสนาบดีกรมคลัง และพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช บุญหลง) หลานเป็นเสนาบดีกรมนา ส่วนราชทูตที่ไปอังกฤษและฝรั่งเศส ทุกคณะในรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นน้องชายร่วมสายโลหิตของผู้สำเร็จราชการเอง คณะทูตานุทูตทั้งยวงล้วนเป็นลูกหลานเทือกเถาเหล่ากอเชื้อสายบุนนาคอย่างไม่มีข้อสงสัย แล้วยังมีข้าราชการในตระกูลนี้โดยตรง หรือมีความสัมพันธ์กับตระกูลอีกไม่มากก็น้อยกระจายอยู่ตามกรมกองต่างๆ เป็นจำนวนมาก(๕) แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงให้ความสำคัญกับคนในตระกูลนี้อย่างใหญ่หลวง ถึงขนาดที่มีพระราชสาส์นไปแถลงไขต่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพื่อ
"นับญาติ" กับข้าราชการของพระองค์ ให้ทรงเข้าพระทัยดังนี้...


"พระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต (ชื่น บุนนาค) โดยตระกูลเปนราชนิกูลเชื้อพระวงศ์ในพระเจ้ากรุงสยาม ด้วยเปนบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาปยุรวงศ์ วรุตมพงศนายก แลเปนน้องร่วมมารดากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม แลเปนน้องต่างมารดากับเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีที่พระคลัง อันตระกูลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาปยุรวงศนั้น ก็เปนพระญาติอันสนิทกับพระเจ้ากรุงสยามถึงสามแผ่นดินมาแล้ว"


การที่ตระกูลบุนนาคยึดครองอำนาจดังกล่าว ทำให้รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงมีพระราชอำนาจเหนือตำแหน่งใดๆ ในทางราชการเลย ขุนนางเหล่านี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถบรรจุญาติพี่น้องและพรรคพวกของตนเข้าดำรงตำแหน่งทางราชการต่างๆ ซึ่งก็ทำให้บุคคลผู้น้อยรำลึกถึงบุญคุณของผู้ใหญ่ ผู้ช่วยเหลือตน ดังนั้นแทนที่จะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีความจงรักภักดีและกลายเป็นพรรคพวกของผู้ใหญ่ไปในที่สุด ลักษณะนี้เท่ากับเป็นการลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยปริยาย มีผู้กล่าวว่า อำนาจของตระกูลบุนนาคในขณะนั้น มีมากถึงขนาดที่พร้อมจะท้าทายอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้เลยทีเดียว(๔)

ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกของการครองราชย์ ฐานะของรัชกาลที่ ๕ จึงเปรียบเสมือน "กษัตริย์หุ่น" ดังที่ทรงกล่าวเองว่า "เวลาเราได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เจ้าแผ่นดินขึ้นก็เป็นเวลาเคราะห์ร้ายที่ตัวเราเป็นเด็ก เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่จะถอนอำนาจเจ้าแผ่นดินได้หมด เหมือนว่าวที่ปล่อยจนหมดสายป่านไม่มีเหลือเลย"(๔)

สิ่งที่แสดงถึงอิทธิพลทางการเมืองที่เด่นชัดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ คือการ "แต่งตั้ง" ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งวังหน้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ โอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ โดยไม่ได้ลดพระอิสริยยศต่างๆ ลงมาให้เท่ากับวังหน้าโดยทั่วไป แต่ให้คงพระอิสริยยศต่างๆ เท่ากับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีฐานะเป็น "พระเจ้าแผ่นดินที่สอง" การสนับสนุนกรมหมื่นบวรวิไชยชาญให้เป็นวังหน้าเช่นนี้ได้รับการคัดค้านจากบางเสียงในที่ประชุม ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า การเลือกตั้งวังหน้า มิใช่กิจของที่ประชุมเสนาบดี แต่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่จะทรงเลือกแต่งตั้งเองตามโบราณราชประเพณี แต่แล้วในที่ประชุมก็ยอมรับให้เป็นไปตามที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยืนยัน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ว่า "เมื่อเลือกพระมหาอุปราช ท่านสังเกตุดูผู้ที่อยู่ในที่ประชุมไม่เห็นชอบโดยมาก ที่ยอมเห็นด้วยเพราะกลัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เท่านั้น"(๔) การที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคิดทำเช่นนี้ ก็เพื่อปกป้องฐานอำนาจของตนเองในอนาคต เป็นการถ่วงดุลอำนาจมิให้ "กษัตริย์องค์แรก" มีบทบาทเพียงพระองค์เดียว จึงใช้วิธีเลือกคนของตัวเองขึ้นไว้ในตำแหน่งพิเศษเทียบเท่ากษัตริย์องค์แรกนั้นแน่เนิ่นๆ เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันภัย

เรื่องตั้งวังหน้าโดยอาศัยอิทธิพลส่วนตัวของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ย่อมทำให้รัชกาลที่ ๕ ทรงมีความรู้สึกไม่พอพระทัยที่ทรงถูกลิดรอนพระราชอำนาจอันชอบธรรมที่จะทรงตั้งพระมหาอุปราชด้วยพระองค์เอง พระองค์ได้ทรงกล่าวประชดเรื่องนี้ไว้ว่า "ท่านเสนาบดีปฤกษาว่า พระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ มีวิชาเป็นช่างเชาว์เกลาเกลี้ยงให้เป็นกรมพระราชวังบวรรับบัณฑูรเป็นที่ ๑๖ จะได้คุมข้าไทของวังหน้าต่อไป เป็นวังหน้าที่มิได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ และกษัตริย์มิได้ทรงเลือกเองเป็นที่ ๑ ตั้งแต่กรุงทวารวดีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์"(๗)

อย่างไรก็ดีในช่วงสมัยผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี้ อำนาจทางการเมืองซึ่งได้แก่การบังคับบัญชาสั่งราชการแผ่นดินทั้งปวง เป็นเด็ดขาดตกอยู่แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เพียงผู้เดียว วังหลวงและวังหน้าทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแต่เพียงในนาม ไม่ทรงมีพระราชอำนาจแต่อย่างใด รัชกาลที่ ๕ เองทรงตระหนักถึงฐานะของพระองค์ดี ดังพระราชดำรัสตอบผู้กราบบังคมทูลให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ตอนหนึ่งว่า...

"เพราะเราได้เคยทดลองรู้มาแล้ว ตั้งแต่เวลาเป็นตุ๊กตา ซึ่งไม่มีอำนาจอันใดเลยทีเดียว นอกจากชื่อ จนถึงเวลาที่มีอำนาจมากขึ้นมาโดยลำดับ จนเต็มบริบูรณ์ในบัดนี้ ในเวลาที่มีอำนาจน้อยปานนั้นได้ความลำบากอย่างไร เรารู้ดีจำได้ดี"(๔)

หนังสือพิมพ์ลิลลุสตราซิอง อีกฉบับหนึ่ง ลวท. ๕ มีนาคม ๑๘๗๐ พิมพ์ระหว่างปีสุดท้ายในรัชกาลของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พอดี ลงเรื่องราวความคืบหน้าของยุคขุนนางครองเมืองในสยามได้อย่างออกรสชาติ แต่ในท้ายที่สุดก็หยอดถึงความดีบางประการที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพอมีอยู่บ้าง โดยเน้นไปที่เกียรติคุณในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นพื้น เมื่อสยามเปิดประตูให้นักการทูตฝรั่งเศสเข้าไปทำสนธิสัญญาแบบเสรี เพื่อรื้อฟื้นและสานต่อความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีต่อกันมา ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่า "เจ้าพระยากลาโหมผู้นี้เป็นผู้ดูแลกิจการในกรุงสยามมาได้ ๒๐ ปีแล้ว เขาเป็นกำลังสำคัญของคิงมงกุฎผู้ชาญฉลาด ถึงแม้จะสิ้นบุญกษัตริย์องค์ก่อนไปแล้ว ทางฝรั่งเศสก็ยังได้รับรายงานเกี่ยวกับเขาเข้ามาเป็นระยะๆ พระจักรพรรดิของเราเห็นเป็นความดีความชอบ จึงพระราชทานตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลียอง ดอนเนอร์ชั้นสามารถ ให้เป็นเกียรติยศ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเห็นได้ในรูปล่าสุดของเขา ที่นำมาลงให้ดูในบทความชุดนี้ด้วย"(๙)

หนังสือพิมพ์ลูนิแวส์อิลลุสเทร่ พิมพ์วันที่ ๓ กันยายน ๑๘๗๒ ลงรูปรัชกาลที่ ๕ อีกครั้งเมื่อพระชนมพรรษาใกล้ ๒๐ พรรษา ในขณะที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินใกล้ที่จะหมดวาระ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงบรรลุนิติภาวะ อันเป็นหัวโค้งสำคัญในเวลาต่อมา ทำให้มีการราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ อีกครั้งเป็นหนที่สอง ซึ่งหมายความว่า ตำแหน่งของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะสิ้นสุดลง บทบรรณาธิการเท้าความปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งราชอาณาจักรแต่สามผู้นำ ที่ผ่านมาเหมือนการอำลากันด้วยดี แต่ยังให้ทัศนะต่อไปอีกว่า "ฐานอำนาจอันมั่นคงของสมเด็จเจ้าพระยาฯ น่าจะส่งผลให้อิทธิพลของขุนนางผู้นี้มีอยู่ต่อไปอีกนาน"(๑๐)

การยึดอำนาจทางการเมือง เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีผลให้เกิดการขาดดุลยภาพอย่างรุนแรง ในระบอบการปกครองของไทย เป็น
"ตะเข็บประวัติศาสตร์" ที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ในพงศาวดารที่ขาดหายไป ๕ ปีเต็มเข้าด้วยกันในที่สุด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบใหม่นี้เปรียบเหมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพจากมิติทวิภพที่เหลือเชื่อฉากหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย


ไกรฤกษ์ นานา


เอกสารอ้างอิง

(๑) ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์. แพร่พิทยา, ๒๕๐๕.

(๒) ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕. โรงพิมพ์บริษัท รัฐภักดี จำกัด, ๒๔๙๓.

(๓) พระบรมราโชวาท ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอในโอกาสต่างๆ. โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๐๔.

(๔) ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต. พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จ.ศ. ๑๒๔๗. ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๘.

(๕) ปิยนาถ บุนนาค. บทบาททางการเมืองการปกครองของเสนาบดีตระกูลบุนนาค. โรงพิมพ์พิฆเณศ, ๒๕๒๐.

(๖) เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.

(๗) จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพงศาวดาร กับเรื่องราชพระราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช. โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๙๗.

(๘) หนังสือพิมพ์ L"illustration ฉบับ ๑๙ ธันวาคม ๑๘๖๘, Paris.

(๙) หนังสือพิมพ์ L"illustration ฉบับ ๕ มีนาคม ๑๘๗๐, Paris.

(๑๐) หนังสือพิมพ์ L"univers illustre" ฉบับ ๓ กันยายน ๑๘๗๒, Paris.


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 08

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: