ท่านที่ติดตามประชาไทเป็นประจำ ย่อมเห็นพระนามของกษัตริย์คเยนทรา (Gyanendra) หรือ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ (Gyānendra Vīra Vikrama Śāhadeva) ปรากฏเป็นข่าวในประชาไทและกลายเป็นข่าวร้อนบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่เพียงแต่มีผู้อ่านเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเท่านั้น แต่ด้วยเนปาลเองที่ยามนี้กำลังร้อน เพราะต้นปีมานี้มีการชุมนุมประท้วงจนกระทั่งพระองค์ต้องสละพระราชอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อเดือนเมษายน และขณะนี้การเมืองเนปาล ‘สมานฉันท์’ เพราะกำลังจะมีการปฏิรูปการเมือง มี ‘สมัชชาแห่งชาติ’ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญสำหรับเนปาลใหม่
อันที่จริงแล้วทั้งไทยและเนปาลมีความคล้ายคลึงกันตรงที่เป็นไม่กี่ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเชื่อดั้งเดิมว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพมาปราบยุคเข็ญ ไทยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เนปาลก็เชื่อตามคติฮินดูว่าแท้จริงแล้วกษัตริย์เนปาลคือปางอวตารของวิษณุเทพ อันเป็นคติแต่โบราณของผู้คนในชมพูทวีป
เพียงแต่ท่ามกลางวิกฤตกาลทางการเมืองวิธีการคลี่คลายปัญหาของ 2 ประเทศนั้นก็ต่างกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ
คเยนทรา และ ความวุ่นวายทางการเมืองในเนปาล
สำหรับกษัตริย์คเยนทราประสูติเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนของชาวคริสต์ในเมืองดาจีลิง (Darjeeling) ประเทศอินเดีย พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2544 ต่อจากกษัตริย์พิเรนทรา (King Birendra Bir Bikram Shah Dev) ผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปี 2515 ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในเหตุการณ์ ‘สังหารโหดในพระราชวัง’ (the Palace Massacre) ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2544 ที่เจ้าชายดิเพนทราพระโอรสซึ่งเสวยน้ำจัณฑ์จนเมามายได้กราดยิงพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์จนสิ้นพระชนม์ก่อนที่เจ้าชายดิเพนทราจะปลงพระชนม์ตัวเองตาม
โดยพื้นฐานทางการเมืองของเนปาลเองปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลายาวนาน ก็เพิ่งจะมีประชาธิปไตยหลังจากขบวนการ ‘จัน อันโดลัน’ (Jan Andolan Movement) หรือแปลเป็นไทยว่าขบวนการประชาชน ได้บีบให้กษัตริย์พระองค์ก่อนคือพิเรนทรายอมปฏิรูปการเมือง และพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2534 ทำให้เนปาลมีรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีกิริยา ปราสาท กัวราลา (Girija Prasad Koirala) จากพรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress Party) ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่การเมืองเนปาลก็เข้าสู่สภาพไร้เสถียรภาพเพราะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพของรัฐบาล กับพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมานำโดยสหายประจันดา (Prachanda) ที่จับอาวุธสู้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนฝ่ายกบฏมีฐานที่มั่นอยู่ใน 50 จังหวัดจาก 75 จังหวัดของเนปาล และสงครามกลางเมืองก็ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 12,500 ราย
การแทรกแซงของพระราชอำนาจแบบเนปาลๆ
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ ‘สังหารโหดในพระราชวัง’ (the Palace Massacre) และกษัตริย์คเยนทราทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2544 การเมืองเนปาลก็ยิ่งไร้เสถียรภาพเข้าไปอีก เพราะพระองค์อ้างเหตุความไม่สงบในเนปาลเข้าแทรกแซงการเมืองระบอบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของ อาทิทำการปลดและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เองรวม 5 ครั้งช่วงปี 2544 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ก่อนที่พระองค์จะยึดอำนาจการปกครองของเนปาลมาอยู่ที่พระองค์เองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โดยพระองค์อ้างเหตุผลการยึดอำนาจว่าเพราะนายกรัฐมนตรีคนก่อนบริหารราชการแผ่นดินบกพร่องในเรื่องการเตรียมการเลือกตั้งและไม่สามารถสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้นมาในบ้านเมืองได้ โดยพระองค์สัญญาว่าจะคืน “ความสงบเรียบร้อยและประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ” ภายในเวลา 3 ปี
นอกจากนี้พระองค์ยังตัดสินพระทัยจำกัดเสรีภาพของประชาชนรวมไปถึงเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชน มีการจับกุมนักการเมือง นักเคลื่อนไหวที่เห็นต่างจากพระองค์ ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรประชาธิปไตยในประเทศกังวลต่อสถานการณ์ในเนปาลโดยเฉพาะกับนักข่าวและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของเนปาล แต่กษัตริย์คเยนทราก็ทรงตอบโต้องค์กรต่างประเทศเหล่านั้นว่า “ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ก้าวหน้าทั้งหลายจำเป็นน้อยกว่าการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ!”
พลังซุบซิบเรื่อง ‘เจ้า’ ในเนปาล
นอกจากความไม่พอใจในตัวกษัตริย์เนปาลจะเกิดเพราะการเข้ายึดอำนาจของกษัตริย์คเยนทราพแล้ว สิ่งที่ช็อกความรู้สึกชาวเนปาลอีกประการหนึ่งคือการที่คณะลูกขุนของรัฐบาลตัดสินว่าเจ้าชายดิเพนทรา (Prince Dipendra) พระโอรสของกษัตริย์พิเรนทรา กษัตริย์พระองค์ก่อน ซึ่งยิงพระองค์เองเสียชีวิต ได้เป็นฆาตกรสังหารพระราชบิดาและพระบรมวงศานุวงศ์ในเหตุการณ์สังหารโหดในพระราชวังปี 2544 ครั้งนั้น แต่สำหรับเรื่องนี้เป็นการยากที่จะให้ชาวเนปาลทำใจเชื่อได้ แถมกบฏลัทธิเหมายังกระพือข่าวว่ากษัตริย์คเยนทราผู้สืบราชสมบัติต่อนั่นแหละเป็นตัวการในการสังหารโหดครั้งนั้น
กระแสข่าวทางลบในลักษณะนี้ต่อกษัตริย์คเยนทรา ยังคงแพร่กระจายไปทั่วเนปาล ผู้คนต่างตั้งคำถามว่ากษัตริย์คเยนทราหนีออกจากพระราชวังได้อย่างไรในวันที่เหตุฆาตกรรมหมู่เกิดขึ้น และบุตรชายคนเดียวของพระองค์เจ้าชายพาราช (Prince Paras) หลบออกจากพระราชวังไปได้อย่างไรโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่รอยขีดข่วน!?
และยิ่งเจ้าชายพาราช ผู้สืบทอดราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และสืบราชสมบัติแห่งราชวงศ์ชาห์กลับมีนิสัยชอบขับรถซิ่งและความเจ้าสำราญที่ชาวเนปาลขนานนามพระองค์ว่า “The playboy” ยิ่งทำให้ความนิยมของประชาชนต่อเจ้าชายพาราชผู้สืบทอดราชสมบัติของราชวงศ์ชาห์และทำให้กษัตริย์คเยนทราไม่เป็นที่นิยมชนิดร้าวลึก
พันธมิตรแห่งแนวต้านอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์
ท่ามกลางอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ในประเทศ ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 พันธมิตร 7 พรรคการเมืองเนปาล (Seven Party Alliance - SPA) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในสภาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมาทำสัญญาเป็นพันธมิตรบันทึกข้อตกลง 12 ประการเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านการปกครองของกษัตริย์คเยนทรา ซึ่งทำให้เกิดฝ่ายต่อต้านการปกครองของกษัตริย์ขยายตัวออกไปทั่วประเทศ
การต่อต้านพระราชอำนาจได้ถึงจุดปะทะเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2549 พันธมิตร 7 พรรคการเมืองจัดการชุมนุมในกรุงกาฐมาณฑุ เรียกร้องประชาธิปไตยและคว่ำบาตรการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กษัตริย์คเยนทราจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นเพียงมายาภาพที่แสดงให้เห็นว่านี่เป็นก้าวแรกสู่ประชาธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของพระองค์ที่ดำเนินมากว่า 1 ปี
โดยรัฐบาลพยายามสกัดการชุมนุมของประชาชนด้วยการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านในยามวิกาลในเขตเมืองหลวงและบางพื้นที่ของเนปาล ห้ามการชุมนุมสาธารณะ มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์และคุกคามผู้ออกมาต่อต้านการเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้การชุมนุมเลื่อนจากวันที่ 20 มกราคม มาเป็นอีกวันหนึ่ง
โดยในวันที่ 21 มกราคม มีการเดินขบวนท้าทายอำนาจของกษัตริย์ครั้งใหญ่โดยประชาชนหลายพันคน ทำให้รัฐบาลของกษัตริย์คเยนทราใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง จนมีผู้นำพรรคการเมือง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้นำแรงงาน นักศึกษา และนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมหลายร้อยคน ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจและทหาร พร้อมเผายางรถยนต์เป็นเครื่องกีดขวาง ซึ่งการปราบปรามครั้งนั้นทำให้การชุมนุมต่อต้านกษัตริย์ปะทุไปทั่วประเทศ
การประท้วงใหญ่เดือนเมษายน และการสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์
ในเดือนเมษายน 2549 ภายใต้การนำของพันธมิตร 7 พรรคการเมืองเนปาล (Seven Party Alliance - SPA) และกบฏลัทธิเหมาได้มีการต่อต้านครั้งใหญ่เพื่อทวงประชาธิปไตยคืนมาจากกษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศเป็นเวลา 4 วันตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน และจัดการชุมนุมใหญ่ในเมืองหลวงวันที่ 8 เมษายน ตามด้วยการดื้อแพ่งด้วยการหยุดจ่ายภาษี เช่นเดียวกับการประท้วงหลายต่อหลายครั้ง รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวห้ามไม่ให้ประชาชนออกมาชุมนุม แต่การชุมนุมประท้วงกลับขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ๆ ตลอดทั้งเดือน ทำให้รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดสลายการชุมนุมกระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จำนวนผู้ออกมาประท้วงเฉพาะในเมืองหลวงพุ่งสูงกว่า 300,000 - 500,000 คน
และในวันที่ 21 เมษายนกษัตริย์คเยนทราได้มีพระราชดำรัสว่าจะทรงคืนอำนาจบริหารให้แก่ประชาชนและจะจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด รวมทั้งขอให้กลุ่มพันธมิตรฯ เสนอชื่อชื่อบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มกบฏลัทธิเหมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว พร้อมกับนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 เมษายน
กระทั่งเที่ยงคืนของวันที่ 24 เมษายน กษัตริย์คเยนทราได้ยอมประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า พระองค์จะฟื้นฟูสภาผู้แทนราษฎรที่ล้มเลิกไปและขอให้พรรคการเมืองทั้ง 7 พรรคกลับมาร่วมรับผิดชอบดูแลประเทศชาติ เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพของชาวเนปาล ทำให้วันรุ่งขึ้นชาวเนปาลจำนวนมากออกมาชุมนุมแสดงความยินดีต่อชัยชนะของประชาชนตามท้องถนน
ตลอดการประท้วงใหญ่ 19 วัน มีการปราบปรามโดยกองกำลังรัฐบาลจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 คน และผู้บาดเจ็บนับพันคน ด้วยเหตุนี้ระหว่างประท้วงจึงทำให้มวลชนตามท้องถนนเผาหุ่นของกษัตริย์และประณามกษัตริย์คเยนทราว่าเป็น “ฆาตกร”
เมื่อประชาชนทวง ‘พระราชอำนาจ’ คืน
ภายหลังจากที่สภาถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ นายกิริยา ปราสาท กัวราลา อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคองเกรสเนปาล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว โดยเขาสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามข้อเรียกร้องของประชาชน
ต่อมาอดีตรัฐมนตรี 5 คนที่ทำงานให้กษัตริย์คเยนทราก็ถูกจับกุมและสอบสวนกรณีใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย นอกจากนี้รัฐบาลชุดใหม่และสภาผู้แทนราษฎรยังได้ดำเนินการลดทอนพระราชอำนาจอย่างต่อเนื่องทำให้ฐานะของสถาบันกษัตริย์เนปาลกลายเป็นประมุขของประเทศแต่ในทางพิธีกรรม (Ceremonial Monarchy) เท่านั้น เช่น ห้ามมิให้กษัตริย์มีอำนาจสั่งการกองทัพอีกต่อไป ทั้งนี้กองทัพเคยมีบทบาทในการช่วยกษัตริย์คเยนทรายึดอำนาจด้วยการกราบบังคมทูลเชิญกษัตริย์คเยนทราขึ้นสู่อำนาจการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การจับนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในขณะนั้น มีการเปลี่ยนชื่อกองทัพจากกองทัพในพระมหากษัตริย์เนปาล (Royal Nepalese Army) มาเป็นกองทัพแห่งชาติเนปาล (Nepalese Army)
แถมเพลงชาติเนปาลซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขึ้นต้นในทำนองว่า “ขอพระบารมีปกเกล้า, เป็นขวัญอธิปไตย เธอชาวเนปาลผู้กล้า มีมหาราชาธิราชเป็นกษัตริย์ของเรา...” ก็กำลังจะถูกเปลี่ยนอีกด้วย
นอกจากนี้การจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติขึ้นใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยุบคณะองคมนตรี ให้สภาฯ มีอำนาจในการออก แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ รวมทั้งจะเก็บรายได้และทรัพย์สินของกษัตริย์กับราชวงศ์อีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังประกาศให้เนปาลเป็นรัฐฆราวาส (Secular state) แยกศาสนาออกจากอาณาจักร มิใช่รัฐฮินดูอีกต่อไป
ที่สำคัญหลังการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนก็ทำให้กษัตริย์คเยนทราก็ไม่ค่อยปรากฏพระองค์ในสถานที่สาธารณะ รถนำขบวนพระราชวงศ์ซึ่งการเสด็จครั้งหนึ่งต้องปิดถนนและทำให้รถติดในเมืองหลวงเป็นกินนานหลายชั่วโมงรวมทั้งการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังชนบทด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งก็ถูกยกเลิก
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการโดดเดี่ยวกษัตริย์คเยนทราในเดือนกรกฎาคม ในงานเลี้ยงฉลองวันเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 59 ปี ซึ่งปีนี้ไม่มีเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมากมาร่วมงานเลี้ยงฉลองเหมือนอย่างเคย แถมรัฐมนตรีในรัฐบาลก็ไม่เข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว
หยุดยิง สงบศึก และกระบวนการสันติภาพในเนปาล
หลังการลงจากอำนาจการปกครองโดยตรงของกษัตริย์คเยนทรา รัฐบาลชั่วคราวประกาศหยุดยิงกับกบฏลัทธิเหมาเป็นการชั่วคราวในวันที่ 3 พฤษภาคม ตามมาด้วยกระบวนการเจรจาสันติภาพ โดยมีการลงนามข้อตกลงในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 8 พฤศจิกายนระหว่างกบฏลัทธิเหมากับรัฐบาล ก่อนที่ในวันที่ 21 พฤศจิกายนจะมีการลงนามสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการโดนนายกรัฐมนตรีกิริยา ปราสาท กัวราลา ซึ่งภายใต้สัญญาฉบับนี้กบฏลัทธิเหมาจะมีที่นั่งในรัฐบาลเฉพาะกาลนี้ด้วย ขณะที่กำลังอาวุธของฝ่ายกบฏจะถูกควบคุมดูแลโดยสหประชาชาติ
โดยสหายประจันดา อดีตครูประถมผู้ผันตัวไปเป็นผู้นำการปฏิวัติกล่าวว่า “สัญญาแห่งความทรงจำนี้ จะหยุดยั้งระบอบศักดินาเก่าที่ดำเนินมากว่า 238 ปี ยุติซึ่ง 11 ปีแห่งสงครามกลางเมือง พรรคของเราจะทำงานภายใต้ภารกิจใหม่ ภายใต้ความกระตือรือร้นใหม่ เพื่อสร้างเนปาลใหม่”
ส่วนนายกรัฐมนตรีกัวราลากล่าวว่า “ข้อตกลงนี้ จะยุติซึ่งการเมืองแห่งการประหัตประหาร ยุติความรุนแรง ยุติการก่อการร้าย และจะเริ่มต้นใหม่ซึ่งการเมืองแห่งการประสานประโยชน์ ผมอยากขอบคุณประจันดา ซึ่งหาทางออกแห่งวิกฤตด้วยสันติวิธี เนปาลจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่มุ่งสู่สันติภาพ บัดนี้เราร่วมมือซึ่งกันและกัน ตลอดจนทำความเข้าใจต่อกันเพื่อทำให้สัญญาสันติภาพนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติรูปธรรมอย่างเต็มที่”
สมัชชาเฉพาะกาลและการเลือกตั้งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ
ภายใต้สัญญาสันติภาพ สมัชชาเฉพาะกาลเนปาลจะมีที่นั่งทั้งสิ้น 330 ที่นั่ง แบ่งให้พรรคคองเกรสเนปาล (the Nepali Congress party) พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศจะได้รับ 75 ที่นั่ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) และพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมาจะได้รับโควตาพรรคละ 73 ที่นั่งเท่าๆ กัน ส่วนที่นั่งในสมัชชาเฉพาะกาลที่เหลือ ได้รับการจัดสรรให้ 5 พรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นอดีตพรรครัฐบาลผสม
โดยการเมืองเนปาลหลังจากนี้ พันธมิตร 7 พรรคการเมืองและพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่การโอนพระราชอำนาจของกษัตริย์ทั้งหมดมาอยู่กับนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของรัฐ นับเป็นครั้งแรกของเนปาลที่ประมุขของรัฐเป็นสามัญชน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในเดือนเมษายนปี 2550
ดูเหมือนว่ากษัตริย์คเยนทราจะเสื่อมความนิยม แต่นายคาปิล ชเรสฐา (Kapil Shrestha) ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยตรีภูวัน (Tribhuvan University) แห่งเนปาลกลับมองว่าเป็นเรื่องของการเสื่อมความนิยมในตัวบุคคล คนเนปาลมีปัญหาในตัวกษัตริย์คเยนทรา แต่ไม่ได้มีปัญหาในแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์จะมีหรือไม่มีต่อไป “ผู้คนรังเกียจสิ่งที่กษัตริย์ทำ แต่ไม่ได้รังเกียจสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด” ชเรสฐากล่าว
นี่เป็นข้อสรุปของนักวิชาการเนปาล เพราะกระแสของผู้คนในเนปาลก็แตกเป็นหลายเสียง เช่น มีนักศึกษาเตรียมจะไปประท้วงการแปรพระราชฐานของกษัตริย์คเยนทราไปยังชนบทที่อากาศอบอุ่นกว่าในเมืองหลวงช่วงคริสต์มาส-ปีใหม่ ขณะที่มีคนเขียนจดหมายไปหาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในเนปาลบอกว่าอยากเชิญกษัตริย์คเยนทราไปเสวยพระกระยาหารที่บ้าน เพราะตนชื่นชมในแนวทางการปกครองประเทศแบบนี้ เป็นต้น! ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่าหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของเนปาลในเดือนเมษายนปี 2550 รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ และสถาบันกษัตริย์จะมีอนาคตเป็นอย่างไร
บทสรุป : สองนคราประชาธิปไตย ‘สีเหลือง-สีแดง’
หากท่านติดตามข่าวสารของทั้งสองดินแดนในรอบปี 2549 มาโดยตลอด เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสองดินแดนนี้ อาจจะพอสรุปถึงกระแสปฏิวัติสองกระแส ซึ่งประชาไทขอขนานนามว่า กระแสปฏิวัติสีเหลือง และ กระแสปฏิวัติสีแดง
บ้านเมืองหนึ่งอยู่ภายใต้กระแสปฏิวัติสีเหลือง เสื้อสีเหลืองขายดี บ้านเมืองนี้เพียงเพื่อไล่นายกรัฐมนตรีถึงกับต้องการชูธงเหลืองขอถวายคืนพระราชอำนาจ ซึ่งมีการชูมาตั้งแต่ปี 2548 ตามมาด้วยการใช้มาตรา 7 และขอนายกพระราชทานในปี 2549 ซึ่งการเมืองห้วงนี้ทำเอาคนเดือนตุลา ทำเอาคนเดือนพฤษภาเสียศูนย์ไปหลายราย ด้วยการยอมเสียหลักการประชาธิปไตย แต่หันมาทำยังไงก็ได้เพื่อไล่ทักษิณ แม้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระประมุขจะตรัสว่ามาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานนั้นมั่วและไม่เป็นประชาธิปไตยและขอให้ศาลดูแลการเลือกตั้ง แต่กระนั้นหลายคนก็เรียกร้องให้ทหารออกมาทำหน้าที่ กระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องลงจากอำนาจหลังเกิดมหกรรมมอเตอร์โชว์รถถังและยานยนต์หุ้มเกราะ มีพริตตี้เอ๊ยทหารผูกโบว์สีเหลืองยืนกรีดกรายเต็มเมืองในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549
อีกบ้านเมืองหนึ่งอยู่ภายใต้กระแสปฏิวัติสีแดง เสื้อสีแดงเป็นที่นิยม บ้านเมืองนี้กษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ทั้งยังไม่สามารถทำให้สงครามกลางเมืองยุติได้ กษัตริย์เมืองนี้จึงลงมารวบอำนาจไว้กับพระองค์ แล้วปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง ด้วยการปกครองที่เข้มงวด มีการจำกัดเสรีภาพ ภาคประชาชนที่นี่อันได้แก่บรรดาพรรคการเมืองและฝ่ายกบฏลัทธิเหมาจึงผนึกกำลังกันเรียกร้องให้กษัตริย์ลงจากอำนาจ มีการเดินขบวนขับไล่กษัตริย์ไปทั่วทุกหัวระแหง การประท้วงที่ไม่มีการเปล่งเสียง ‘ทรงพระเจริญ’ ใดๆ มีแต่การประณามกษัตริย์ว่าเป็น ‘ฆาตกร’ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต ซึ่งในที่สุดกษัตริย์ก็ต้องประกาศสละอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ตอนเที่ยงคืนของวันที่ 24 เมษายน 2549
บ้านเมืองหนึ่งอยู่ภายใต้กระแสปฏิวัติสีเหลือง คณะปฏิรูปการปกครองฯ ซึ่งกลายเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เลือกนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง โดยในคืนก่อนวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมหากษัตริย์มีเหล่านักการเมือง บรรดาขุนนาง มหาอำมาตย์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันถวายพระพร โดยพระองค์มีพระราชดำรัสให้กำลังใจรัฐบาลหลังการรัฐประหาร
ผิดกับอีกบ้านเมืองหนึ่ง อยู่ภายใต้กระแสปฏิวัติสีแดง พรรคการเมืองและฝ่ายกบฏร่วมกันตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลและร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่โอนอำนาจทั้งหลายของกษัตริย์มาไว้ที่นายกรัฐมนตรี ในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของกษัตริย์บรรดานักการเมืองต่างโดดเดี่ยวพระองค์ด้วยการพร้อมใจไม่ไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิด
บ้านเมืองหนึ่งอยู่ภายใต้กระแสปฏิวัติสีเหลือง แม้เสื้อเหลืองจะขายดี แต่ราษฎรเดินดินก็ยังไร้อำนาจ สิ่งที่เรียกว่า ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ก็เป็นแค่กองเชียร์ข้างเวทีเพราะถึงที่สุดการเรียกร้อง ‘ถวายคืนพระราชอำนาจ-มาตรา 7’ ก็ไม่ทำให้ภาคประชาชนเติบโต มีแต่จะเป็นหมากเบี้ยในกระดาน ที่เรียกให้ผู้มีอำนาจ อำมาตย์ ขุนทหารเข้ามามีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองแทนตน
ดังจะเห็นได้จากการที่บ้านเมืองนี้แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเกือบ 2,000 โดยอ้างว่ามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ที่จริงส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ เพื่อนสนิทคณะรัฐประหาร แต่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่แท้จริง ซ้ำร้ายสมัชชานี้ก็มีอายุสั้นยิ่งกว่ายุงลายโตเต็มวัย เพราะเพียงข้ามคืนสมัชชายุงลายแห่งบ้านเมืองนี้ก็ต้องคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คนก่อนที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะคัดเลือกให้เหลือ 35 คนรวมกับคนที่ตัวเองใส่ชื่อเข้าไปอีก 10 คนเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงมีข้อกังขาว่าแท้จริงแล้วประชาชนจะมีส่วนร่วมหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการปิดห้องร่างรัฐธรรมนูญโดยคุณพ่อรู้ดี (Patronize) ได้แก่เนติบริกรร่วมกับผู้มีบารมีอันได้แก่เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย!?
เมื่อนักข่าว นักวิชาการตีปี๊บ หวั่นเกรงจะมีการสืบทอดอำนาจ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็สำทับแล้วว่า “ตนทำตามหลักไม่ใช่เพื่อสืบทอดอำนาจอย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกต เพราะการกระทำมักดังกว่าคำพูด”
การกระทำย่อมดังกว่าคำพูดแน่นอน เพราะหลังจากนั้นไม่นานผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็เสนอให้ต่ออายุกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จาก 5 ปี เป็น 10 ปี โดยมีอำมาตย์ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องชงเรื่องสนองทันที!
สงสัยกันว่าปี 2550 เราอาจจะได้เห็นการสืบทอดอำนาจของคณะท็อปบู้ตในไม่ช้า!
อีกบ้านเมืองหนึ่งอยู่ภายใต้กระแสปฏิวัติสีแดง แม้จะมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาเฉพาะกาลหลังวิกฤตทางการเมือง แต่องค์ประกอบก็มาจากพรรคการเมือง ไม่ใช่ลูก(ของ)ป๋าที่ไหน สภาเฉพาะกาลนี้มีขึ้นก็เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า เพื่อเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ การร่างรัฐธรรมนูญของที่นี่จึงมีกระบวนการโดยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
บ้านเมืองหนึ่งโดยผิวเผินดูเหมือนกับอีกบ้านเมืองหนึ่ง เพียงแต่ท่ามกลางวิกฤตกาลทางการเมืองวิธีการคลี่คลายปัญหานั้นต่างกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ แต่อย่างไรก็ตามผลที่ติดตามมาและอนาคตทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ของบ้านเมืองทั้งสองเป็นที่น่าจับตามองยิ่งนัก
ประชาธิปไตยจากการมีส่วนร่วมจะให้บทสรุปเช่นไร ประการหนึ่ง และประชาธิปไตยแบบคุณพ่อรู้ดี หรือที่มีนักวิชาการเรียกว่าลูกป๋าอุปถัมภ์จะให้บทสรุปเช่นไร อีกประการหนึ่ง
เอาเข้าจริงๆ บทเรียนที่ต่างจากเมืองไทยสุดขั้วอย่างเนปาล อาจเป็นความเหมือนใน ‘มุมกลับ’ เป็นผลสะเทือนให้กับเราๆ ท่านๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งสังคม-การเมืองไทย ผู้มีอำนาจในเมืองไทย ตลอดจนผู้นำประเทศทั่วโลกเป็นอนุสติด้วยซ้ำว่าแท้จริงแล้วอาจเป็นดั่งวรรคทองของวิสา คัญทัพที่ว่า
‘ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ’
และสถานการณ์ในเนปาลคงเป็นกระจกบทเรียน ‘ตบหน้า’ ใครหลายคนในเมืองไทยที่คิดจะแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธี ‘มักง่าย’ ไม่เชื่อมั่นในพลังประชาชน ด้วยการเรียกร้องให้ ‘อำนาจอื่น’ เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งรังแต่จะทำให้เราก้าวพ้นจากความกลัวหนึ่ง ไปสู่อีกความกลัวหนึ่ง ที่น่ากลัวกว่า
ด้วยเหตุนี้ประชาไทจึงขอนำเสนอ The Visible Man : กษัตริย์คเยนทรา ให้ท่านผู้อ่านพิจารณา!
และชวนท่านจับตามอง ปี 2550 อย่างไม่กระพริบตา
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
แหล่งอ้างอิง
วารสาร
ใต้ฟ้าเดียวกัน : สากล. ใน “ฟ้าเดียวกัน” ปีที่ 4(2) เมษายน-มิถุนายน 2549 : 270.
ใต้ฟ้าเดียวกัน : สากล. ใน “ฟ้าเดียวกัน” ปีที่ 4(3) กรกฎาคม-กันยายน 2549 : 249 - 250.
อินเตอร์เน็ต
Gyanendra of Nepal, Wikipedia, the free encyclopedia, [Retrieved Dec 17, 2006] http://en.wikipedia.org/wiki/Gyanendra_of_Nepal
Nepalese Civil War, Wikipedia, the free encyclopedia [Retrieved Dec 17, 2006] http://en.wikipedia.org/wiki/Nepalese_Civil_War
Politics of Nepal, From Wikipedia, the free encyclopedia [Retrieved Dec 17, 2006] http://en.wikipedia.org/wiki/Politic_of_Nepal
หนังสือพิมพ์ออนไลน์
Charles Haviland, Erasing the 'royal' in Nepal, BBC News, Kathmandu, May 19, 2006
Nepal's king ill-placed for a comeback: officials, analysts by Deepesh Shrestha, AFP, Dec 17, 2006
Nepal's Maoists declare end to revolt in landmark peace deal, by Sam Taylor, AFP, Nov 8, 2006
Nepal god-king's future uncertain as peace breaks out, AFP, Nov 8, 2006
Nepal's PM calls on Maoist rebels to respect peace deal, by Sam Taylor, AFP, Nov 9, 2006
Nepal rebels rally to celebrate peace deal, Kyodo via Yahoo! Asia News, Nov 10, 2006.
Nepal King gets X-mas dinner date offer, New Kerala - Dec 24 8:04 AM
ข่าวกษัตริย์คเยนทราในประชาไทย้อนหลัง
รายงาน : ฤาจะสิ้นเสียงปืน หลังเนปาลใหม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพ, 11 พ.ย. 2549
รายงาน : ฤาเนปาลจะสิ้นเสียงปืน (ตอนที่ 2) ชะตากรรมของกษัตริย์สมมติเทพ, 13 พ.ย. 2549
สถานการณ์การเมืองเนปาลล่าสุดหลังข้อตกลงสันติภาพ, ประชาไท, 13 พ.ย. 2549
กษัตริย์เนปาล อาจถูกดำเนินคดีจากการปะทะในเหตุประท้วง, ประชาไท, 15 พ.ย. 2549
ผลสอบสวนกษัตริย์เนปาลมีความผิดจริงฐานใช้กำลังปราบผู้ประท้วง, ประชาไท, 21 พ.ย. 2549
รัฐบาลเนปาล-กบฏเหมา เซ็นสัญญาสันติภาพยุติสงครามกลางเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว, ประชาไท, 22 พ.ย. 2549
ที่มา : ประชาไท : โครงการ Visibleman 2006 ( เมื่อ 27/12/2549 )
วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2551
‘กษัตริย์คเยนทรา’ ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:08 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆ
แสดงความคิดเห็น