วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุดเริ่มและจบที่พบกันในรัชกาลที่ ๕


ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งบันทึกว่าเหตุการณ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ชาติตะวันตกมาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแต่ประเทศเล็กที่ไม่มีทางสู้, คนไทยถูกต่างชาติเอาเปรียบด้วยการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฝรั่งต่างชาติ ฯลฯ

เหล่านั้นคือเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่เคยได้ยินกันมายาวนาน อย่างไรก็ตามได้มีงานวิชาการที่เพิ่งมีการตีพิมพ์ ที่เลือกอธิบายประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่แตกต่างออกไปจากความเข้าใจข้างต้น หนังสือเล่มนั้นคือ
"The Rise and Decline of Thai Absolutism" ซึ่ง "ศิลปวัฒนธรรม" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงผลงานเล่มล่าสุดว่า


"หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะหาวิธีเข้าใจสังคมปัจจุบัน ด้วยการศึกษาในเชิงสังคมศาสตร์ที่เข้าไปดูเอกสารชั้นต้น ตอนที่เริ่มต้นค้นคว้าสนใจว่าระบบอุปถัมภ์มันเปลี่ยนไปอย่างไร จากที่อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ศึกษาไว้ว่ามันเป็นแกนกลางของการจัดโครงสร้างทางสังคม คือคนไทยต้องเข้าไปสังกัดมูลนาย จนกระทั่งถึงปัจจุบันระบบนี้ถูกล้มเลิกไป แต่ก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นคำถามคือ กระแสชาตินิยมโดยรัฐ ที่ออกมาในรูปของขบวนการ เช่น เสือป่า เราก็อยากจะเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยมที่เห็นในขณะนั้น มันมีกำเนิดเมื่อไร อย่างไร คนส่วนมากจะบอกว่าชาตินิยมเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๖ และตอนนั้นก็เชื่อเช่นนั้น แต่อยากเข้าใจว่ามันเกิดจากสาเหตุใด

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ากระบวนการชาตินิยมและเสือป่าเป็นความพยายามของรัชกาลที่ ๖ ที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะมาท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ที่ทำให้รัชกาลที่ ๖ ต้องทรงสร้างอุดมการณ์ชาตินิยม และกระบวนการชาตินิยมคืออะไร

ถ้าเราจะเข้าใจปัญหาของรัชกาลที่ ๖ เราคงต้องไล่กลับไปที่รัชกาลที่ ๕ พอดีขณะนั้นได้ทำวิจัยโครงการอุดมการณ์รัฐไทย ก็มาคิดว่าถ้าจะดูว่าอุดมการณ์รัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างไร ก็ควรไปดูหนังสือแบบเรียนที่สร้างขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ ๕"


โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือธรรมจริยา ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ทำให้พบว่า


"ผู้นำไทยให้ความสำคัญกับการที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก พอดีได้พบเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่แสดงให้เห็นว่าการเลิกทาส เลิกไพร่นั้น สาเหตุสำคัญมาจากเราเริ่มต้นผลิตข้าวให้แก่ตลาดโลก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนให้แรงงานที่มีอยู่เป็นแรงงานอิสระเพื่อสร้างเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้เป็น turning point ที่สำคัญมาก ทำให้การวิจัยมีความชัดเจน

เอกสารชั้นต้นที่พบอธิบายว่า สิ่งที่พระองค์ทำคือการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง จะเรียกว่าการสร้างรัฐสมัยใหม่ก็ได้ โดยการเสนอพระองค์เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระบบแรงงานใหม่ ให้รับกับข้อเรียกร้องที่มาจากระบบเศรษฐกิจโลกได้ ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจโลกที่เข้ามา กับความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ผู้นำกลุ่มต่างๆ มีผลประโยชน์ มีทัศนคติ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าฐานะประโยชน์ของแต่ละกลุ่มอยู่ตรงไหน เช่น กลุ่มขุนนางคนสำคัญต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ไพร่ทาสได้เป็นผู้ผลิตอิสระ เพื่อที่จะได้ทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รัชกาลที่ ๕ ก็รับความคิดอันเดียวกันนี้ เพียงแต่พระองค์เห็นว่าการปรับตรงนี้จะทำให้เกิดทรัพยากรจำนวนมหาศาลขึ้นมา ซึ่งหากว่าสามารถเข้าไปควบคุมทรัพยากรตรงนั้นได้ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างอำนาจในยุคสมัยนั้นได้ด้วย

และนี่คือที่มาของการปฏิรูปการปกครอง ความพยายามที่จะรวบศูนย์อำนาจเข้ามาที่สถาบันกษัตริย์ ที่พูดมาถึงจุดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าการที่รัฐไทยเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับทุนนิยมในช่วงต้นรัชกาล กลางศตวรรษที่ ๑๙ จำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างระบบเเรงงานเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของระบบทุนนิยมได้ดีที่สุด ขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้ใช้ความจำเป็นนี้เป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีขอบเขตกว้างขวางกว่าที่จะเรียกว่าการปฏิรูปการปกครอง แต่เป็นการเปลี่ยนเเปลงรูปแบบรัฐ จากรัฐศักดินาไปสู่รัฐสมัยใหม่ หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในเชิงของประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป ทำให้เข้าใจว่าก่อนที่พระมหากษัตริย์จะขึ้นมามีพระราชอำนาจเต็มที่ได้ต้องต่อสู้กับขุนนาง เมื่อมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้เกิดมีทรัพยากรที่มากขึ้น บุคคลจะมีอำนาจต้องไปช่วงชิงการควบคุมทรัพยากรที่ขยายตัวตรงนี้ได้มากขึ้น

ตัวแบบที่ใช้ศึกษาเพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทย คือรัฐในยุโรปตะวันตก ทั้งนี้เพราะทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เกิดจากตะวันตก ถึงแม้ว่าขุนนางของเขาจะมีอำนาจเหนือดินแดน ซึ่งไม่เหมือนขุนนางของเราที่คุมไพร่พล แต่ต่างก็เป็นความพยายามที่จะสร้างระบบการคุมทรัพยากรในบริบทที่ขาดพลังของเศรษฐกิจเงินตรา ดังนั้นจึงสามารถเป็นตัวแบบเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบด้วย เพราะดิฉันคิดว่าเวลาศึกษาเรื่องเมืองไทย เราไม่ควรเอาเมืองไทยเป็นตัวตั้งมากเกินไป เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำ เราเป็น นั้นสอดคล้องหรือแตกต่างกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในที่อื่นอย่างไรด้วย"


แล้วขั้วอำนาจในยุโรปก็ถูกเปลี่ยนมือจากขุนนางมาเป็นกษัตริย์ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ช่วงเวลาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับของไทยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นหลังจากสนธิสัญญาเบาริ่ง


"เรามักให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาเบาริ่งว่า เราถูกบังคับให้เซ็นสัญญา ในกระบวนการนี้เราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่เมื่อดิฉันได้อ่านเอกสารเกี่ยวข้องกับการเจรจาดังกล่าวก็เห็นว่าเขาไม่ได้สนใจเรื่องของสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเลย มันไม่ใช่ประเด็นในการเซ็นสัญญา

ประเด็นคือ สิ่งที่อังกฤษต้องการคือการซื้อข้าวและการขายฝิ่น ซึ่งในกรณีหลังรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงอนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษเข้ามาค้าได้ก่อนการเจรจาสนธิสัญญาเบาริ่ง ปัญหาที่แท้จริงมิได้อยู่ที่เราไม่ต้องการที่จะขายข้าวให้อังกฤษ แต่อยู่ที่ขุนนางกับพ่อค้ากลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนั้น ถ้ามีการเซ็นสัญญาต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี ทำให้กลุ่มบุคคลที่เคยได้ประโยชน์เสียประโยชน์ จะทำอย่างไรให้เกิดการยินยอม เป็นเรื่องของความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ภายในประเทศด้วย ในการจะเปิดรับอังกฤษหรือไม่เปิดรับ

หนังสือนี้เป็นการเปลี่ยนวิธีมองสนธิสัญญาเบาริ่ง จากที่มองว่าเราเป็นรัฐเล็กๆ แล้วมีมหาอำนาจอังกฤษมาบีบให้เราต้องเซ็นสัญญาที่ทำให้เสียประโยชน์มากมาย และเป็นปัญหาต่อมาในอนาคต นั่นเป็นส่วนหนึ่งของพล็อตประวัติศาสตร์ว่า เราได้ต่อสู้กับการรักษาเอกราชชาติไทยมาอย่างไรบ้าง ดิฉันคิดว่าสำคัญถ้าจะทำให้คนไทยมีความสามารถที่จะคิดเป็น
เราต้องรู้จักประวัติศาสตร์อย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่อย่างแนวทางการ หรือพวกกระแสหลักทั้งหลาย

ดิฉันเห็นความสำคัญของสนธิสัญญาเบาริ่ง ดิฉันเห็นฐานะของมันที่เป็นตัวแทนของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก

อีกประเด็นหนึ่ง เเล้วทำไมระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงได้ล่มสลายลง นี่เป็นข้อเสนออันที่ ๒ ของงานชิ้นนี้ ที่เมื่อกี้บอกว่าทุนนิยมเป็นเงื่อนไขของการเกิดรัฐสมัยใหม่ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าอย่างนั้นทุนนิยมมีบทบาทอย่างไรกับระบบล่มสลายไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕

สิ่งที่เสนอไว้ในหนังสือคือ ในกระบวนการสร้างรัฐร่วมศูนย์ กระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่นั้น ได้ก่อให้เกิดความขัดเเเย้ง ความตึงเครียดที่อยู่ในระบบเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สืบนำมาสู่การล่มสลายของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้อสรุปนี้เเตกต่างจากงานวิชาการอื่นอย่างไร ตรงนี้ขออธิบายว่ากระบวนการสร้างรัฐเป็นที่มาของขบวนการล่มสลายด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นดิฉันจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยเฉพาะหน้าเท่าไหร่นัก แต่ได้อธิบายในเชิงโครงสร้าง นั่นคือชี้ให้เห็นถึงปัญหาระหว่างระบบกษัตริย์ที่ได้นำเอาหลักการใหม่ๆ เช่น การรับคนเข้ารับราชการโดยใช้เกณฑ์การศึกษามาผสมผสานกับระบบเดิมที่ยังคงมีความเชื่อในชาติกำเนิดอยู่"


โดยการศึกษาอยู่ในระหว่างรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖


"ต้นรัชกาลที่ ๖ ได้เกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ กบฏที่ดิฉันวิเคราะห์ว่า การล่มสลายของระบบที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐ คือเสนอภาพในลักษณะที่เป็นเหรียญที่มี ๒ ด้าน ในกระบวนการสร้างมันก็มีการหย่อนเชื้อของระบบนี้ที่จะล่มสลายลงไปด้วยพร้อมๆ กัน

ในการวิเคราะห์คือว่า ทำไมในเชิงโครงสร้างระบบนี้ถึงอยู่ไม่ได้ และจงใจที่จะยุติการศึกษาในช่วงรัชกาลที่ ๖ เพื่อจะบอกว่ามันมีเงื่อนไขที่พร้อม ซึ่งจะบอกว่าระบบนี้มันจะอยู่ไม่ได้ เพราะมันได้เกิดกบฏขึ้นในปี ร.ศ. ๑๓๐ ที่รัชกาลที่ ๖ เพิ่งครองราชย์ ตรงนี้อาจจะต่างจากงานของนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่มองว่าเหตุการณ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดจากความไม่พอใจของบุคคลระดับล่างในสังคม

ดิฉันไม่ได้ปฏิเสธประเด็นนี้ แต่คำถามคือ ความไม่พอใจของบุคคลระดับล่างเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการล่มสลายของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือเปล่า มันไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน ความไม่พอใจมีอยู่ แต่ความไม่พอใจทำให้เกิดการล่มสลายหรือเปล่า เท่าที่ศึกษามาดิฉันวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องของความไม่พอใจของชนชั้นระดับข้าราชการ ข้าราชการแบบใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ เป็นผู้สร้างขึ้นมา เมื่อพวกเขาพบว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ ความคาดหวัง สถานภาพของเขาในสังคมที่มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเขาคาดหวังมากกว่าที่ระบบจะให้ได้

ตรงนี้ต้องเน้นเลยว่าดิฉันอยากจะอธิบายสาเหตุของการล่มสลายของระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบรัฐบาลอาณานิคมในประเทศต่างๆ ด้วยสาเหตุเดียวกัน คือมีการให้โอกาสทางการศึกษากับคนกลุ่มหนึ่ง แล้วคนพวกนี้ก็เข้ามาอยู่ในระบบ และเขาก็พบว่าระบบมันไม่เอื้อประโยชน์ อาจจะเอื้อบ้างแต่ไม่เท่าที่คาดหวัง และนำไปสู่การหาคำตอบว่าระบบที่ดีควรจะเป็นอย่างไร แล้วเขาก็พบว่าอย่างน้อยระบบที่มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา จะตอบคำถามหรือแก้ปัญหาให้ได้ในระดับหนึ่ง นี่คือที่มาที่เรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในกรณีของรัฐไทย และข้อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งเอกราชในกรณีของรัฐอาณานิคม

ดิฉันเลือกวิเคราะห์ปัญหาในระบบราชการเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูง คนเหล่านี้ก็คือลูกหลานรัชกาลที่ ๕ ที่พระองค์ส่งไปเรียนเมืองนอก เมื่อเวลากลับมาเขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ สิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มีอยู่ชัดเจนร่วมกัน คือแต่ละคนจะมองผลประโยชน์ขององค์กรเป็นสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น กรมหลวงราชบุรีฯ สิ่งที่ท่านต้องการคือการแยกอำนาจตุลาการให้เป็นอิสระจากอำนาจบริหาร ซึ่งในกรอบโครงสร้างอำนาจรัฐในเวลานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ความเป็นอิสระของตุลาการมันก้าวหน้าเกินไปกว่าที่จะเป็นได้ ตรงนี้ก็คือสาเหตุความขัดแย้งของพระองค์ท่านกับรัชกาลที่ ๕ ทั้งที่เป็นพ่อลูกกันใช่ไหมในแง่หนึ่ง ดิฉันไม่วิเคราะห์ในแง่ของ David Wyatt ที่มองว่าเป็น Family Politic เป็นเรื่องของพ่อลูกทะเลาะกัน มันไม่ใช่อย่างนั้น สถานภาพใหม่ของคนที่เป็นสมาชิกของราชสกุลคือเจ้ากระทรวง เกิดมีผลประโยชน์ขององค์กรซึ่งอาจแตกต่างไปจากผลประโยชน์ที่กำหนดโดยพระมหากษัตริย์

หรือในสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมหลวงชุมพรฯ ถูกปลดจากตำแหน่ง นายทหารเรือนายหนึ่งชื่อคุณประพัตร กฤษจันทร์ เขาทำการรวบรวมเอกสารของรัชกาลที่ ๖ โดยจดหมายสำคัญฉบับหนึ่งซึ่งสนับสนุนการวิเคราะห์ที่ว่าเกิด tension ในระบบราชการสังคมสมัยใหม่ ระหว่างกลุ่มราชการสมัยใหม่ กับพระมหากษัตริย์"


ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับขุนนางรุ่นใหม่ที่เรียกว่า "ข้าราชการ" ได้เปลี่ยนไปแล้ว


"ข้าราชการสมัยเก่า เวลาคุณจะเข้ารับราชการ คุณถวายตัวให้คุณเป็น client คุณขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ พระองค์รับคุณเข้ามาคุณถึงเข้าได้ แต่พอเราเอาระบบการศึกษาสมัยใหม่มาเกณฑ์การรับราชการมันเปลี่ยนไป คุณต้องมีการศึกษา พอเรียนจบโรงเรียนคุณก็ถูกดึงเข้าไปแล้ว เพราะคนเรียนหนังสือในสมัยนั้นมีน้อยมาก

ระบบราชการสมัยใหม่ต่างจากระบบราชการสมัยเก่า ตรงที่ว่ามันต้องใช้คนไปบริหารจัดการ และต้องเอาอำนาจของรัฐหยั่งลงไปในทุกๆ ส่วน เพราะฉะนั้นการสื่อสารต้องเป็นเอกสาร ซึ่งระบบราชการแบบเก่าไม่มี การว่าราชการให้นั่งในท้องพระโรง กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการสั่งราชการด้วยปาก ขุนนางก็ใช้วิธีการกราบบังคมทูล ขุนนางเองอยู่ได้ด้วยพระมหากษัตริย์อนุญาตว่าให้เก็บทรัพยากรของรัฐจำนวนหนึ่งเอาไว้เลี้ยงชีพ ไม่มีการจ่ายเงินเดือน

นั่นเพราะว่ารัฐก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนกลางไม่มีอำนาจ ไม่มีกลไกในการจัดบริหารทรัพยากร แล้วทรัพยากรก็มีจำกัด เศรษฐกิจมันไม่มีการเติบโต แต่ช่วงรัชกาลที่ ๔-๕ เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมาก ทำให้รัชกาลที่ ๕ คิดว่าพระองค์ต้องสร้างกลไกที่จะเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรที่มันขยายตัวออกมาได้อย่างไร นี่คือโจทย์ของพระองค์ คือการตั้งระบบราชการสมัยใหม่ หรือว่า modern bureaucracy ซึ่งต่างจาก feudal bureaucracy

ภายใต้ระบบราชการสมัยใหม่ไม่ได้เข้ามาเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวอีกต่อไป และข้าราชการไม่สามารถเอาตำแหน่งมาหาประโยชน์ส่วนตัวได้ รัฐจ่ายเงินเดือนให้ หน้าที่ของข้าราชการคือ การรวบรวมเก็บทรัพยากร ดูแลความเรียบร้อย ทุกอย่างนี้เพื่อทำให้ระบบทุนนิยมที่เข้ามาในสังคมไทยทำงานได้อย่างราบรื่น"


ข้าราชการระบบใหม่มาพร้อมกับความคาดหวังชุดใหม่ ที่หวังว่าระบบจะไม่อ้างอิงชาติตระกูลเป็นเกณฑ์


"ระบบอุปถัมภ์ถูกทำให้หมดไปในทางหลักการ แต่ไม่หมดไปทางปฏิบัติ เพราะเป็นระบบที่อยู่มาอย่างนาน และอาจเรียกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเข้าไปฝากตัวไปเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นข้าราชการสมัยใหม่เมื่อเข้าไปในระบบใหม่ก็คาดหวังว่าระบบใหม่จะทำงานแบบหนึ่ง ตามเกณฑ์ใหม่ แต่มันไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น

นอกจากนี้ระบบยังมีความเบียดเสียดยัดเยียด ปลายรัชกาลเริ่มเบียดกันแล้ว แต่ละคนจะคอยมองว่าใครได้ดีกว่ากัน แล้วก็พบว่ามันอาจเกิดความไม่ยุติธรรม

ขณะที่ระบบราชการสมัยใหม่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับ meritocracy แต่เวลาทำงานจริงๆ มันไม่ได้ทำงานตามนั้น นี้คือที่มาของ tension ที่พูดถึง"


ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมที่มีชนชั้นกษัตริย์ เจ้า ขุนนาง และไพร่ รัชกาลที่ ๕ ทรงให้ฐานะพิเศษกับชนชั้นเจ้า และผูกมิตรกับขุนนาง


"รัชกาลที่ ๕ พระองค์มองว่าชนชั้นขุนนางเป็นพันธมิตรที่สำคัญของพระองค์ท่าน ท่านออกทุนการศึกษาให้ลูกหลานขุนนางตระกูลละ ๑ คน มีหนังสือของพระยาเทพหัสดิน ซึ่งได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ท่านเขียนเอาไว้ว่า ละอายเหมือนกันว่าตัวเองไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรเลย เรียนหนังสือก็ไม่เก่ง แต่ก็ได้การสนับสนุน ถ้าคนที่รับทุนคิดอย่างนี้คนอื่นจะไม่คิดอะไรเลยได้อย่างไร

พระองค์ตระหนักว่าอยู่ในฐานะที่ลำบาก พระองค์รู้ว่าพระองค์ท่านต้องสร้างพันธมิตรขึ้นมา เพื่อเอามาเป็นกำลังที่จะสร้างรัฐสมัยใหม่ พระองค์จะไปหาคนที่ท่านไม่รู้จักมาเป็นพันธมิตรหรือ พระองค์ก็หวังว่าบุคคลที่รู้จัก บุคคลที่เคยช่วยทำงานกันมาก่อน ซึ่งเป็นกลไกของระบบเก่าจะไปช่วยกันผลิตลูกหลานมาอยู่ในระบบใหม่ได้

ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ระบบของเราไม่ได้เป็นไปตามนั้นเสียทั้งหมด คนชั้นขุนนางปรับตัวได้ช้า ในการที่จะมาแสวงหาโอกาสใหม่ ประโยชน์ใหม่ที่ให้ กลับกลายเป็นว่าคนชั้นสามัญหรือไพร่สามารถปรับสถานภาพทางสังคมของเขาในการที่จะรับโอกาสใหม่สูงกว่าขุนนาง"


นี่เป็นที่มาของการใช้ชื่อหนังสือว่า "The Rise and Decline of Thai Absolutism" ทั้งที่ระยะการศึกษาในรัชกาลที่ ๕-๖ แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๗


"ความเสื่อมเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้าง เพื่อจะบอกว่าที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาจากรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับการสร้างมันก็เสื่อมด้วย มันเกิดการท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ก็เลยใช้คำว่า decline และจงใจหยุดที่ตรงนั้น เพราะเห็นว่ามีเงื่อนไขพอที่จะนำไปสู่ ๒๔๗๕ ได้ แต่ถ้าจะทำการศึกษาถึงรัชกาลที่ ๗ หรือ ๒๔๗๕ จะเป็น the fall"


วิภา จิรภาไพศาล


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 03

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นขอวผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: