เรื่องนี้ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุ แต่มีการพูดถึงเล่าลือกันมากในหมู่บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือของ ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ และมหาชนชาวเหนือในภาคพายัพ รวมทั้งพวกพม่า - ต่องซู่ – เงี้ยวคนเมืองขึ้นของอังกฤษลือกันไปทั่วนครเชียงใหม่ ว่าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระเจ้ากรุงอังกฤษ ชาติมหาอำนาจทรงสู่ขอเจ้าหญิงดารารัศมี ราชบุตรีเจ้านครเชียงใหม่ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมแล้วจะสถาปนาให้เป็นเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อังกฤษเป็น “ทายาทเจ้านครเชียงใหม่ “ ที่จะครองนครต่อไปในอนาคต
ดารารัศมีชื่อก้องไปสู่ราชสำนักพระเจ้ากรุงสยาม
อันเรื่องราวเกี่ยวกับข่าวที่ทราบกันทั่วพระราชสำนักของพระเจ้ากรุงสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับ พ.ศ. 2426 ติดต่อถึง พ.ศ. 2427 เกี่ยวกับข่าวที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า ข่าวลือลั่นสนั่นเมืองนครเชียงใหม่ แล้วแพร่ออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทางด้านมณฑลพายัพในครั้งกระนั้นว่า
ควีนวิคตอเรีย กษัตริย์จักรพรรดินีของกรุงอังกฤษ จะทรงขอรับเอาเจ้าหญิงดารารัศมี พระราชบุตรีของพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมและสถาปนาให้เป็น “เจ้าในเชื้อพระราชวงศ์อังกฤษ “ เป็นพิเศษ แล้วจะทรงตั้งเจ้าหญิงดารารัศมีองค์นี้ขึ้นเป็น
“ปริ๊นเซสออฟเชียงใหม่ “
จะทรงยกย่องฐานันดรศักดิ์เป็น พระองค์เจ้าหญิงในเชื้อพระราชวงศ์
“วินเซอร์“ ของอังกฤษ หรือตรงกับภาษาไทยของเราว่า “เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ “ ซึ่งหมายมั่นให้เป็น “ทายาทที่จะครองเป็นเจ้านครสตรีนครเชียงใหม่ในอนาคต “
ทั้งนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เกิดภายหลังที่ได้ผ่านพิธีโสกันต์ไปแล้วไม่นานนัก จนเรื่องไปถึงหูรัชกาลที่5 จึงได้บอกให้ เจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ( พระองค์เจ้าคัคณางยุคล ) เสด็จขึ้นมาพระราชทานกุณฑลและพระธำมะรงค์ฝังเพชร พระราชทานเป็นพิเศษพร้อมกับยกย่องฐานันดรศักดิ์ ของเจ้าหญิงดารารัศมีให้สูงขึ้น โดยทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีทำเนียบพระพี่เลี้ยงชายหญิงประดับบารมีโดยให้มีบรรดาศักดิ์แบบอย่างพระราชบุตรี พระเจ้าประเทศราชชั้นสูง โดยแต่งตั้งนางเต็ม พระพี่เลี้ยงขึ้นเป็นนางกัลยารักษ์ และแต่งตั้งนายน้อยบุญทา พระพี่เลี้ยงผู้ชายเป็นพญาพิทักษ์เทวี เหตุการณ์ตอนนี้ตรงกับพ.ศ. 2427
รัชกาลที่5 มีความเมตตาและเอ็นดูต่อเจ้าหญิงดารารัศมี
มีเรื่องบางกรณี ที่มีเจ้านายฝ่ายหญิงระดับสูงของราชวงศ์เคยกล่าวประณามและสบประมาทหมิ่นลับหลังเจ้าดารารัศมี ซึ่งในขณะที่ไปรับราชการฝ่ายในเป็น “ เจ้าจอม “ ของเจ้ากรุงสยาม ในพระราชสำนัก เมื่อเรื่องมาถึงหูของ เจ้ากรุงสยาม ก็ได้ว่ากล่าวและตรัสตักเตือนสติบรรดาเจ้านายระดับสูง ตลอดจนเจ้าจอมหม่อมห้ามให้ได้ทราบความนัยและความสำคัญของ เจ้าจอมดารารัศมี เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ พระผู้เป็นบุตรีของเจ้าอินทวิไชยยานนท์ กับเจ้าแม่ทิพย์ไกรสรมหาเทวี ผู้เป็นราชบุตรของ เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 6 ไม่ใช่สามัญชน หาควรลบหลู่ไม่
พร้อมทั้งได้อธิบายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจกำลังคิดแบ่งมณฑลภาคเหนือของกรุงสยามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 นับตั้งแต่เจ้าหญิงดารารัศมี เพิ่งมีชนมายุได้ 11 ชันษา และได้เล่าถึงแผนการของพวกข้าหลวงใหญ่อังกฤษผู้สำเร็จราชการแคว้นเชียงตุง ได้กราบบังคมทูล จะให้ควีนวิคตอเรีย เจ้ากรุงอังกฤษ ทรงสู่ขอเจ้าหญิงดารารัศมี ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม และให้เป็นทายาทเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และนับถือยกย่องให้เป็นเจ้านายในพระราชวงศ์ “ วินเซอร์ “ โดยสถาปนาเป็นพิเศษตามแผนจะยึดครองหัวเมืองประเทศราชในมณฑลพายัพ
แต่เจ้าอินทวิไชยยานนท์ กับแม่เจ้าทิพย์ไกรสรไม่ทรงสนับสนุนและเห็นด้วยที่จะไปยุ่งกับพวกต่างชาติประเทศมหาอำนาจ มาตรแม้น พวกต่างชาติจะหวังดีอย่างไร ยกย่องอย่างไรก็จะไม่ขอรับความช่วยเหลือ
เกื้อกูลใด ๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นความดีของบิดาและมารดาของเจ้าหญิงดารารัศมี แต่ถ้าพวกเจ้าอินทวิไชยยานนท์ผันแปรไป ยกเจ้าหญิงดารารัศมีให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมแล้วของควีนวิคตอเรีย เจ้ากรุงอังกฤษแล้ว การเมืองจะผันแปรรูปไปได้ทั้งนั้นก็ไม่ทราบได้ เพราะไทยเราไม่สามารถจะไปสู้รบกับอังกฤษได้เลยในขณะนั้น จึงขอให้ทุกคนรำลึกถึงข้อนี้บ้าง ขออย่ามองเจ้าหญิงดารารัศมีไปในแง่ร้ายเลย
ประวัติของเจ้าหญิงดารารัศมีในสมัยชนมายุได้ 11 ชันษานั้นได้มีข่าวเรื่องที่ ควีนวิคตอเรียจะทรงขอ เจ้าหญิงดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ตามข่าวที่โจทย์กล่าวขานกันใน พ.ศ. 2426 – 2427 เป็นความจริงหรือไม่เพียงใดนั้น เรื่องดังกล่าวนี้ในสมัยที่เจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ อดีตนายอำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ นายอำเภอคนแรกที่บุกเบิกสร้างอำเภอพร้าวในปี พ.ศ. 2444 นั้น ท่านได้มีชีวิตมาถึงปี พ.ศ. 2478 อายุท่านได้ 79 ปีแล้ว ท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับจักรพรรดินีวิคตอเรีย พระมหากษัตริย์ของกรุงอังกฤษจะทรงขอ เจ้าหญิงดารารัศมี ไปเป็นธิดาบุญธรรมต่อพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ นั้นเป็นความจริง
และท่านยังได้บรรยายถึงเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับชีวประวัติของเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ “ทิพย์จักราธิวงศ์” ให้ทราบพร้อมกับข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อันเกี่ยวกับเมืองนครเชียงใหม่เจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ ท่านเป็นนักครองรุ่นแรกของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับราชการเป็นนายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่เป็นนักประวัติศาสตร์และนักจดบันทึกคนสำคัญในเหตุการณ์ต่างๆ ในอุบัติกาลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และกว่านั้นบรรพบุรุษของท่านคือ เจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก น้อย ธรรมลังกาเป็นปู่ทวดของท่าน เจ้ามโหตรประเทศราชาคือ ปู่ของท่าน และเจ้าอุปราชน้อยปัญญาเป็นผู้รั้งรักษาการเจ้าเมืองเชียงแสน
ในฐานะเป็นเจ้าอุปราชเป็นเจ้าบิดาของท่านได้เป็นนักจดบันทึกเหตุการณ์สืบๆ ต่อมาตลอดจนถึงตัวท่าน สำหรับเรื่องเกี่ยวกับประวัติ เจ้าหญิงดารารัศมีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ท่านได้เล่าว่า ตอนนั้นใน พ.ศ. 2426 ท่านมีอายุย่างเข้า 27 ปีแล้ว และได้เป็นมหาดเล็กอยู่กับพ่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ โอรสองค์กลางของเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ซึ่งขณะดังกล่าวนี้เจ้าอินทวโรรสพระนามเดิมว่า เจ้าสุริยาเมฆะ ยังมีพระยศเป็น เจ้าสุริยวงศ์ อยู่ และช่วยราชการพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ผู้เป็นพระบิดา ท่านได้เล่าให้ฟังว่า
“งานโสกันต์ตัดจุกเจ้าดารารัศมีซึ่งมีพระชนม์ได้ 11 ชันษานั้น เป็นความคิดของเจ้าพระยารัตนาธิเบศสมัยเป็นพระยาเทพประชุน ข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 มาแล้ว ท่านเองได้ตั้งชื่อให้เจ้าหญิงองค์พี่ใส่นามว่า “จันทรโสภา” และองค์น้องว่า “ดารารัศมี” องค์พี่มีบุญน้อยสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่อายุ 5 ชันษา คงเหลือแต่องค์น้อง และท่านเจ้าคุณเทพประชุนแนะนำเสนอให้ไว้จุก เพราะเป็นเจ้านายชั้นสูง พระราชบุตรีของเจ้าผู้ครองนครและเป็น “เจ้า” ให้ถือเป็นแบบอย่างเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี พ่อเจ้าชีวิตเฒ่า (หมายถึง พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์) ก็ถือปฏิบัติตามแบบทุกอย่าง ครั้นพระชนมายุได้ 11 ชันษา ก็กระทำพิธีโสกันต์คือโกนจุกนั่นเอง เมื่อก่อนเจ้านายฝ่ายเหนือไม่เคยมีและไม่เคยทำมาก่อน และได้กระทำเฉพาะเจ้าดารารัศมีองค์เดียวเท่านั้น ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่า พระราชบุตรีเจ้าผู้ครองนครคนใดกระทำพิธีดังกล่าวนี้อีกเลย
พอกระทำพิธีโสกันต์เสร็จไม่กี่วันเสียงลือเล่าอ้างกันไปในหมู่พวกหัวหน้าพวกชาวพม่า ต่องซู่ ไทยใหญ่ (เงี้ยว) และได้กระจายต่อไปยังบรรดาชนสามเผ่าดังกล่าว ซึ่งเป็นคนในบังคับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งได้ครอบครองแคว้นเชียงตุงต่อแดนของไทยไว้หมดแล้ว ว่ากันว่า สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจักรพรรดินีกรุงอังกฤษจะทรงขอรับเอาเจ้าหญิงดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม จะยกย่องเสมอเจ้านายในพระราชวงศ์อังกฤษ ให้มียศเทียบเท่าพระองค์เจ้าและจะให้เป็น เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่และเรื่องนี้เจ้าอินทวิไชยยานนท์ ได้ทรงเรียก พวกเฮ็ดแมนอังกฤษ หัวหน้าชนชาติพม่า และต่องซู่ไทยใหญ่มาไต่ถามว่าได้ข่าวมาจากไหน?
ถึงข่าวลือดังกล่าวนี้แล้วลือกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองไปจนถึงพสกนิกรชาวเชียงใหม่ ตลอดไปกระทั่งถึงพระยาราชเสนาเสือ พยัคฆนันท์ และพระราชสัมภากร (ชุ่ม) พระอุดรพิสดาร (สายยู) ข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ ต่างตื่นเต้นและมาถามพระเจ้าอินทวโรรสว่า มีการติดต่อกับทางรัฐบาลอังกฤษดังข่าวลือจริงหรือไม่ปรากฏว่าเฮ็ดแมนชาวไทยใหญ่ และต่องซู่ (ปะโอ)ให้การว่า นายร้อยเอกเซอร์ยอร์ชสก๊อต ผู้สำเร็จราชการอังกฤษเมืองเชียงตุง ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเมืองเชียงใหม่ได้ประกาศแก่ชาวเชียงตุงว่า พระนางเจ้าวิคตอเรียพระเจ้ากรุงอังกฤษได้มีพระราชดำริจะขอเอาเจ้าหญิงดารารัศมีมาเป็นพระราชธิดาบุญธรรมแล้ว ต่อไปเชียงใหม่กับเชียงตุงจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงตั้งเจ้าหญิงดารารัศมีเป็นทายาทเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อีกด้วย
และทางเฮ็ดแมนชาวพม่า (หัวหน้าคนในบังคับอังกฤษ) ก็ได้กราบทูลพ่อเจ้าอินทวิไชยยานนท์ว่า ชาวพม่าที่เดินทางจากเมืองย่างกุ้ง (แรงกูน) ได้ข่าวมา เช่นเดียวกับที่เมืองเชียงตุง โดยชาวพม่าพากันกล่าวขานกันทั่วไปหมดว่า ต่อไปเมืองเชียงใหม่กับเมืองเชียงตุงจะรวมกันเป็นแคว้นเดียวกันแล้วโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน ทั้งนี้โดยพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์จะยอมยกพระราชบุตรีชื่อสอว์ดารารัศมี ให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรม แต่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจะสถาปนา สอว์ดารารัศมี (สอว์ หมายถึงคำว่าเจ้า ตามสำเนียงพม่าและไทยใหญ่เรียก “เจ้า”)เมื่อเรื่องราวเป็นไปดังนี้ เจ้าอินทวิไชยยานนท์เลยประกาศให้พวกหัวหน้าชนเผ่าเมืองขึ้นของอังกฤษทราบในโอกาสนั้นเลยว่า เรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น และยังยืนยันว่าเมืองเชียงใหม่และบรรดาเจ้านายในพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ
“ทิพย์จักราธิวงศ์” ยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์สยาม อยู่ตลอดเวลา มิได้ผันแปรและเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น "
นี่คือเหตุการณ์ที่มาของข่าวลือกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งมีส่วนจริงอยู่บ้างว่าตัวการเสนอความเห็นในเชิงการเมืองขู่ขวัญรัฐบาลไทยตามขั้นตอนในการเตรียมยึดดินแดนไทยที่อยู่ในเขตเชียงใหม่ โดยเซอร์ยอร์ชสก๊อต ผู้สำเร็จราชการแคว้นฉาน (ไทยใหญ่) เหนือแคว้นแดนสยาม เสนอความคิดให้สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระเจ้าจักรพรรดินีอังกฤษ ดำเนินพระราโชบายด้วยวิธีการดังกล่าวเพื่อขู่ขวัญรัฐบาลไทยให้กระวน กระวายใจ และระแวงพวกเจ้าเชียงใหม่และในปีนั้นเอง..พระยาราชเสนา (เสือพยัคฆนันท์) ข้าหลวงใหญ่กับ พระราชสัมภากร (ชุ่ม) ได้ถูกย้ายกลับไปรับราชการในกรุงเทพมหานคร และได้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการณ์พิเศษต่างพระเนตร พระกรรณและส่งพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่และ 5 หัวเมือง
จากคำบอกเล่าในเหตุการณ์ดังกล่าวของ เจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ นั้นได้ประจวบเหมาะกับคำบอกเล่าของ เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ ภริยาของเจ้าอุตรกาลโกศล (เจ้าศุขเกษม ณ เชียงใหม่) ศรีสะใภ้ ของมหาอำมาตย์โทพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ผู้ซึ่งเคยถวายตัวอยู่กับเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมีตั้งแต่เด็กอยู่ในราชสำนักพระราชวังดุสิตในพระตำหนักฝรั่งกังไสตั้งแต่เด็กจนเป็นสาวใหญ่เกือบ 10 ปี ก็ได้เล่าเรื่องคำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงตรัสให้บรรดาพระบรมราชเทวีและเจ้านายในพระราชวงศ์ ตลอดจนเจ้าจอมหม่อมห้ามเกี่ยวกับพระประวัติของเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ก่อน ที่จะเข้ามาเป็น
“เจ้าจอม” รับราชการฝ่ายในเมื่อตอนเข้ามาใหม่ๆ ในครั้งกระโน้นได้เล่าให้ฟังคล้ายๆ กันกับที่เจ้าน้อยปิงเมืองท่านได้กรุณาเล่าให้ฟัง
เรียบเรียงจาก
หนังสือเพ็ชร์ลานนา
ของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง
วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551
เรื่องเล่าเมื่อครั้ง เจ้ากรุงอังกฤษ สู่ขอเจ้าหญิงดารารัศมีไปเป็นธิดาบุญธรรม และสถาปนาให้เป็น "เจ้าในราชวงศ์อังกฤษ"
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:24 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น