วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551

กรุงธนบุรี อดีตราชธานีแห่งสยามประเทศ จากอดีตถึงปัจจุบัน


แปลจากปาฐกถานำของ ส.ศิวรักษ์ เรื่อง Dhonburi, The Former Capital of Siam : From Past to Present ซึ่งแสดง ณ การสัมมนานานาชาติ ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี




หลังจากการล่มสลายของอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงธนบุรีเป็นราชธานีของสยามประเทศเป็นเวลา ๑๕ ปี ก่อนจะย้ายมาที่ปัจจุบันอีกฟากฝั่งแม่น้ำ พร้อมกับการสถาปนาราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. ๒๓๒๕

กรุงธนบุรีมีพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ผู้ไม่ใช่ทรงเคยเป็นเพียงสามัญชนเท่านั้น พระองค์ทรงมีกำพืดเป็นชาวจีนอีกด้วย หากพระองค์ทรงกล้าหาญและทรงพระปรีชาสามารถมาก ถือได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงปลดแอกให้แก่ประเทศชาติ

เราต้องตระหนักว่าเมื่อพม่าทำลายกรุงเก่าและครอบครองตอนกลางของสยาม ประเทศถูกแบ่งออกเป็น ๖ ก๊ก พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงหลบหนีจากอยุธยาก่อนกรุงแตก เสด็จไปทางทิศตะวันออกจนกระทั่งถึงจันทบุรีเกือบติดชายแดนประเทศกัมพูชา พระองค์ทรงซ่องสุมกำลังชาวไทยและชาวจีน แล้วทรงยกทัพมาทางทะเลเพื่อโจมตีกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งมาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ พระองค์ทรงรบชนะพม่าที่กรุงเก่า ทรงสามารถประกอบการอย่างรวดเร็ว ทรงประกาศอิสรภาพและอธิปไตยของประเทศได้ภายในเวลาน้อยกว่า ๑ ปี กล่าวคืออยุธยาเสียกรุงในเดือนเมษายน ๒๓๑๐ พม่าเผาเกือบหมดทั้งเมือง แต่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงตีอยุธยาคืนมาได้ก่อนสิ้นเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อย่างไรก็ดีพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนและราชวงศ์ รวมทั้งชาวไทยหลายคนถูกจับเป็นเชลย และสมบัติของชาติถูกชิงและขนไปยังประเทศพม่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะบูรณะกรุงเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่อีก ๕ ก๊ก ที่ต่างก็ประกาศตนเป็นเอกราชจากกันและกัน ดังนั้นพระองค์จึงทรงประกาศให้กรุงธนบุรีเป็นราชธานี และทรงปราบปรามศัตรูทั้ง ๕ ได้สำเร็จ ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระประมุขสูงสุดแห่งสยาม ที่ขยายอาณาเขตรวมไปถึงลาวและกัมพูชาในฐานะประเทศราช ถึงแม้พม่าจะรุกรานราชอาณาจักรอยู่อีกเนืองๆ แต่ก็ไม่เคยได้ชัยอีกเลย

พระเจ้ากรุงธนบุรีหรืออีกพระนามหนึ่งคือพระเจ้าตากสิน ("สิน" คือเป็นพระนามเดิม และพระองค์ทรงเคยเป็นเจ้าเมืองตาก ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือ ก่อนที่จะทรงได้รับคำสั่งให้ย้ายมาอยุธยาเพื่อป้องกันเมืองหลวง) ทรงเห็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงในราชสำนัก และความเลวร้ายของผู้บริหารประเทศระดับสูง ทรงรู้สึกว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงการสิ้นราชวงศ์ได้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงจากพระนครไปพร้อมด้วยกลุ่มผู้กล้าที่เคารพพระองค์และติดตามพระองค์ไป เพื่อจะกลับมาช่วยประเทศหลังจากการล่มสลายของกรุงเก่า

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปกครองประเทศเป็นเวลา ๑๕ ปี พระองค์เสวยราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๓๓ พรรษา ทรงถูกประหารเมื่อพระชนมายุ ๔๘ พรรษา โดยทรงถูกกล่าวหาว่าพระสติวิปลาส แต่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แน่ชัดในเรื่องนี้ ที่จริงพระเกียรติคุณมัวหมองมาเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปี

เล่าลือกันว่า ก่อนที่พระองค์จะทรงถูกสำเร็จโทษ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยากรณ์ว่าผู้ได้ราชบัลลังก์จะมีอำนาจอยู่ ๑๕๐ ปี ที่จริงพระองค์ทรงพระเมตตายิ่ง เพราะพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองได้เพียง ๑๕ ปี กล่าวกันอีกว่าพระองค์ตรัสว่า หากมีการสร้างสะพานเชื่อมกรุงธนบุรีกับเมืองหลวงใหม่อีกฟากแม่น้ำ จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดราชวงศ์ใหม่

เพื่อการฉลอง ๑๕๐ ปีแห่งราชวงศ์จักรี ณ วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ เห็นควรว่าจำเป็นต้องสร้างสะพานอนุสรณ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านผู้ก่อตั้งราชวงศ์ และจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าในยุคใหม่และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้แต่โรงภาพยนตร์ติดเครื่องปรับอากาศแห่งแรกในทวีปเอเชียก็ถูกสร้างขึ้นใกล้สะพานใหม่นี้ ทว่าคำสาปแช่งหรือคำทำนายของพระเจ้ากรุงธนบุรียังคงหลอกหลอนต่อมา (อย่างน้อยก็ด้วยจิตใต้สำนึก) ถึงแม้จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในที่ใด อย่างไรก็ดีได้มีการประนีประนอม และสะพานที่สร้างขึ้นก็เป็นสะพานที่เปิดได้ เหตุผลก็คือฐานทัพเรือยังคงอยู่ที่กรุงธนบุรี เหนือสะพาน สะพานจึงต้องเปิดให้เรือรบเข้าออก อีกทั้งสะพานก็ถูกสร้างขึ้นเป็นรูปลูกศร ที่ยิงจากพระราชธานีใหม่ไปยังอีกฟากแม่น้ำ เกือบตรงพอดีกับวัดซึ่งเป็นที่เก็บพระอัฐิของอดีตพระเจ้ากรุงธนบุรี

มีข่าวลืออย่างหนาหูว่าจะเกิดกบฏในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้นอาจทรงถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ ๖ เมษายน วันที่พระองค์ทรงเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น ที่จริงการเฉลิมฉลองมีอยู่หลายสัปดาห์ จนกระทั่งพระเจ้าอยู่หัวทรงเหน็ดเหนื่อยและเสด็จไปพักผ่อนประจำปียังพระราชวังริมทะเลที่หัวหิน แล้วในวันที่ ๒๔ มิถุนายนปีเดียวกัน ก็มีการยึดอำนาจอย่างไม่สูญเสียเลือดเนื้อในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์จักรี

หากไม่เป็นเพราะนายปรีดี พนมยงค์ ผู้วางแผนเพื่อประชาธิปไตยไทย ผู้นำทหารอาจประกาศให้สยามเป็นสาธารณรัฐไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว นายปรีดีแย้งว่า เราต้องการระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ แต่พระมหากษัตริย์จะเป็นเพียงบุคคลหมายเลขหนึ่งในหมู่ผู้ที่เท่าเทียมกันของราษฎรทั้งปวง พระราชาและพระบรมวงศานุวงศ์จะไม่ทรงมีสิทธิพิเศษอีกต่อไป ถือได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนา

นายปรีดีก็เช่นเดียวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี คือเป็นสามัญชนชาวอยุธยา ถึงจะเป็นพลเรือน ท่านก็เป็นปัญญาชนผู้ปราดเปรื่องและมีความกล้าหาญเพื่อความชอบธรรมอย่างสูง ที่จะรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ ท่านและสหายสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยามสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งตอนนั้นท่านอายุได้ ๓๓ ปี ท่านเป็นเลขาธิการรัฐสภาคนแรกก่อนที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ซึ่งปฏิรูปการปกครองและกระจายอำนาจ โดยแสดงถึงความก้าวหน้าทางการเงินการคลังด้วยการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม และสามารถยุติลงได้ซึ่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่มหาอำนาจบีบบังคับเราตั้งแต่เราเปิดประเทศให้ตะวันตกในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๙๐ เป็นต้นมา ทั้งท่านยังได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักการเมืองในยุคประชาธิปไตย ที่มีความรู้สึกทางด้านการรับใช้บ้านเมืองและราษฎรอย่างซื่อสัตย์และอุทิศตน ท่านผลิตภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เพื่อเตือนประชาชนถึงอันตรายของสงครามโลก โดยแนะนำว่าทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางทหารคือการทูตและการไกล่เกลี่ย ท่านแนะนำให้รัฐบาลไทยประกาศนโยบายการเป็นกลาง แต่นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นจอมพลผู้ชื่นชมฮิตเลอร์และมุสโสลินี ถึงกับตกลงลับๆ กับญี่ปุ่น อนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองสยามเพื่อเดินทัพสู่พม่า มลายู สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย นายปรีดีจึงลาออกจากคณะรัฐมนตรีเพื่อร่วมอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเยาว์ยังคงทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่สุดแล้วนายปรีดีได้เป็นผู้สำเร็จราชการเพียงผู้เดียว และด้วยสถานะนี้ท่านสามารถตั้งขบวนการเสรีไทยโดยปฏิบัติการลับ เพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และทำงานร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งๆ รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา การทำงานอย่างหนักของนายปรีดีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นที่จดจำกันได้เป็นอย่างยิ่ง พอสิ้นสงครามประเทศเราไม่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกับญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี โดยสยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก่อนสวีเดนเสียด้วยซ้ำ

โชคร้ายที่เมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จนิวัตพระนครหลังสงคราม ในช่วงที่นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี เช้าวันหนึ่งปรากฏว่าพระองค์สวรรคตในห้องพระบรรทม นายปรีดีมีศัตรูผู้ต้องการรักษาอภิสิทธิ์ศักดินาหรือชอบความสะดวกแห่งระบอบเผด็จการมาก คนเหล่านี้ไม่อาจกล่าวหานายปรีดีในทางฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือประพฤติผิดทางกามได้ ท่านเป็นสุภาพบุรุษที่แท้ ดังนั้นพวกเขาจึงกล่าวหาว่าท่านวางแผนปลงพระชนม์ และมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งขับไล่นายปรีดีจากสยามประเทศ เวลานั้นท่านมีอายุได้ ๔๘ ปี วัยเดียวกับที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกประหาร ท่านต้องอยู่ต่างประเทศนานกว่า ๓ ทศวรรษ จนกระทั่งเสียชีวิตที่ชานกรุงปารีสในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หวังว่าคงไม่ต้องรออีก ๑๕๐ ปีก่อนที่การอุทิศตนของนายปรีดีเพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของไทยจะได้รับการยกย่องและยืนยัน แต่เดี๋ยวนี้คนชั้นสูงส่วนใหญ่ยังคงกล้าๆ กลัวๆ ที่จะยอมรับความยิ่งใหญ่ของนายปรีดี ถึงแม้ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่ได้ถูกปฏิเสธ แต่ข่าวลือในเรื่องที่ทรงมีพระสติฟั่นเฟือน ซึ่งควรจะเป็นเหตุที่แท้ที่ทรงถูกประหาร ยังคงมีตีพิมพ์ในอยู่ตำราเรียนส่วนใหญ่ ถึงแม้ข่าวลือที่ว่านายปรีดีเป็นผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์จะไม่ได้ถูกตีพิมพ์ในตำราใด ข่าวลือก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปในแวดวงชนชั้นสูง ซึ่งสนใจที่จะรักษาสถานภาพเดิมของตน




ที่ข้าพเจ้าเปรียบเทียบพระเจ้ากรุงธนบุรีกับนายปรีดี พนมยงค์ ก็เพราะเหตุผลเดียวคือ หากเราไม่ค้นหาความจริงอย่างจริงจังเพื่อที่จะยืนยันถึงสัจจะ ในอันที่เราจะได้ให้เกียรติผู้ที่สมควรได้รับเกียรติ เราก็จะไม่เข้าใจอดีตอย่างแท้จริง และหากเราไม่เข้าใจอดีตอย่างเหมาะสม ปัจจุบันก็จะถูกควบคุมไว้ด้วยอคติ ที่บดบังเราด้วยของปลอม หาไม่เราก็ได้รับแนวคิดมาจากเครือข่ายแห่งการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง และ/หรือทางเศรษฐกิจ ผ่านทางสื่อสารมวลชน แม้กระทั่งตำราเรียน

ยิ่งกว่านั้นนายปรีดีซึ่งเป็นเพียงพลเรือน หากท่านจัดการอย่างไรจึงจะรักษาดุลแห่งอำนาจไว้ได้เป็นเวลาถึง ๑๕ ปี ทั้งที่กองทัพบกเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ความจริงก็คือกองทัพเรือ ซึ่งมีศูนย์บัญชาการอยู่ในพระราชวังเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี สนับสนุนท่าน เมื่อผู้นำทัพเรือสิ้นความซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย และโต้แย้งกันเอง นายปรีดีย่อมถูกล้มล้างลงได้ และที่สุดแล้วกองทัพเรือเองก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ จนหลุดจากอำนาจวาสนาไปอย่างไร้ศักดิ์ศรีเอาเลย

พวกเราบางคนในองค์การพัฒนาเอกชนจัดงานฉลองใหญ่ที่อยุธยาเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื่องในโอกาสครบ ๒๐๐ ปีแห่งการประกาศเอกราชจากพม่า และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี เราขอให้รัฐบาลในสมัยนั้นประกาศให้วันนั้นเป็นวันหยุดราชการ จำเพาะในปีนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่วีรบุรุษของชาติ หากรัฐบาลปฏิเสธคำขอ โชคดีที่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๐ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลพิเศษที่วัดอินทาราม ซึ่งมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิพระเจ้ากรุงธนบุรี อย่างไรก็ดีไม่มีรัฐบาลไทยคณะใดเคยคิดที่จะเสนอพระนามพระเจ้ากรุงธนบุรีไปยังองค์การยูเนสโก เพื่อให้ยอมรับว่าทรงเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์โลก รัฐบาลไม่ได้ทำแน่ในปี ๒๕๑๐ ทั้งๆ ที่แต่ปี ๒๕๐๕ เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ขอให้องค์การยูเนสโกประกาศให้สมาชิก ๗ พระองค์ในพระราชวงศ์จักรีเป็นที่ยอมรับสำหรับนานาชาติ บวกกับ ๓ สามัญชนไทย ซึ่งคนหนึ่งคือนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อฉลองอายุครบศตวรรษของท่านในปี ๒๕๔๓ ถึงกระนั้นรัฐบาลไทยก็ฉลองอย่างกึ่งดิบกึ่งดี ที่จริงมีกระทั่งความพยายามที่จะลบนามของท่านจากองค์การยูเนสโกในช่วงสุดท้ายเอาเลยก็ว่าได้ เพราะท่านเกิดปีเดียวกันกับพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บางคนรู้สึกว่าสามัญชนผู้นั้นไม่ควรร่วมเกียรตินานาชาติกับสมาชิกในพระราชวงศ์ ทั้งที่จริงแล้วพระราชชนนีก็ทรงถือกำเนิดมาเป็นสามัญชนในจังหวัดธนบุรี โดยที่คนส่วนมากอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธนบุรีหมดความเป็นจังหวัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ เมื่อเผด็จการสมัยนั้นรวมธนบุรีเข้ากับกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานคร ทั้งที่กรุงเทพฯ เคยเป็นเพียงหมู่บ้านบางกอก เมื่อธนบุรีเป็นเมืองอันรุ่งเรือง อย่างน้อยก็ถึง ๒๐๐ ปีก่อนที่จะกลายมาเป็นราชธานีของเราใน พ.ศ. ๒๓๑๐

ชื่อ "ธนบุรี" เองหมายถึงเมืองแห่งความมั่งคั่ง ไม่แต่เพียงทางวัตถุ แต่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณด้วย พระที่เยี่ยมยอดในพระพุทธศาสนาหลายรูปในประเทศเคยอยู่ที่ธนบุรี โดยเฉพาะเมื่อครั้งยังเป็นเมืองหลวง องค์ที่รู้จักกันดีที่สุดคือสมเด็จโต วัดระฆัง เครื่องรางของท่านยังคงมีค่ามาก แต่การอุทิศตนของท่านสูงส่งยิ่งกว่า ที่จริงท่านสามารถท้าทายพระมหากษัตริย์และขุนนางข้าราชการ รวมทั้งชาวตะวันตกในช่วงปี ๒๔๐๐ เป็นต้นมา ท่านย้ำว่าศาสนธรรมนั้นสำคัญมากยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ตะวันตก และชี้ถึงธรรมชาติของจักรวรรดินิยมตะวันตก ว่ามีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง

วัดอรุณซึ่งมีพระปรางค์อันงามสง่า ไม่ได้เป็นเพียงวัดหลวงที่ดีที่สุดในธนบุรี วังระฆังเองก็มีหอสมุดไม้ ที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่ดีที่สุด ที่จริงหอสมุดนี้เคยเป็นพระนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์ปัจจุบันเมื่อครั้งยังทรงเป็นสามัญชน

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดคือ วัดกัลยาณมิตร ซึ่งเลียนแบบซำปอกง หรือวัดศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวจีนในอยุธยา แน่นอนว่าผู้อุปถัมภ์วัดกัลยาณมิตรเป็นชาวจีน ซึ่งเป็นพระสหายที่ดีที่สุดของรัชกาลที่ ๓ เขาผู้นี้ได้รับราชการถึงขนาดได้เป็นอัครมหาเสนาบดี

ไม่อยากพูดเรื่องวัด โบสถ์ หรือมัสยิดธนบุรีมากไปกว่านี้ โดยที่ทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งทางลัทธิศาสนาและความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนถึงความหลากหลายและมั่นคงทางจิตใจ ยิ่งกว่านั้นธนบุรียังมีชื่อเสียงเรื่องคลอง ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงสภาพอยู่ ในขณะที่คลองส่วนใหญ่อีกฟากแม่น้ำหายไปเกือบหมดแล้ว ธนบุรีมีน้ำท่าบริบูรณ์ จึงเต็มไปด้วยสวนผลไม้มากมายหลายพันธุ์ ที่จริงเป็นสวนผลไม้ที่ดีที่สุดในประเทศ ร่วมกับจังหวัดใกล้เคียงคือนนทบุรี โชคร้ายก็ตรงที่ในนามของความก้าวหน้าและการพัฒนา สวนผลไม้ของทั้งสองจังหวัดนี้ต้องจางหายไปมาก ที่จริงความสมดุลทางนิเวศต้องได้รับการปรับปรุงมาก โดยไม่ต้องเอ่ยถึงความเป็นธรรมทางสังคมก็ยังได้

ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้ากล่าวถึงอัครมหาเสนาบดีจีนของรัชกาลที่ ๓ ผู้ซึ่งเป็นพระสหายที่ดีที่สุดของพระองค์มาแล้ว โดยลูกหลานของท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า กัลยาณมิตร

ในทางพระพุทธศาสนา กัลยาณมิตรไม่ได้เป็นเพียงเพื่อนที่ดีเท่านั้น เขาหรือเธออาจเป็นเสียงแห่งสติภายนอกของคุณด้วย เขาหรือเธออาจช่วยคุณพัฒนาภายในจิตใจในการตระหนักรู้อย่างสำคัญ คือการถ่อมตน ลดอัตตา และค้นหาศักยภาพที่ดีที่สุดของคุณเพื่อรับใช้ผู้อื่น

น่ายินดีที่พูดได้ว่าพ่อค้าจีนหลายคนที่แต่งงานกับภรรยาชาวสยามมาหลายชั่วอายุคน ได้ให้กำเนิดคนสัญชาติไทยที่ดี เช่นเดียวกับผู้ที่มีต้นกำเนิดเป็นมุสลิม มาจากเปอร์เซีย คาทอลิกจากโปรตุเกส และโปรเตสแตนต์จากอังกฤษ พวกเขาทั้งหมดกลายมาเป็นชาวสยามผู้รักชาติไทย

ชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดยังคงเป็นคนจีน ไม่ว่าจะอยู่ในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ถึงแม้จะถือสัญชาติของประเทศนั้นๆ เพียงสยามประเทศเท่านั้น ที่ชาวจีนกลายเป็นไทยไปเกือบหมด แม้แต่ในชั่วคนเดียว การกลายเป็นไทยเกิดขึ้นจาก ๒ ปัจจัยหลักคือ

๑. มารดาชาวสยามมีอิทธิพลต่อลูกหลานที่ภูมิใจในความเป็นไทยมากกว่าจีน

๒. พุทธศาสนาไทยเน้นอย่างมากเรื่องทาน การให้ ความกรุณาปรานี มากกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งและอำนาจ

ด้วยปัจจัยหลัก ๒ ประการนี้ ทำให้คนไทยเป็นคนดี และหากทั้งสองปัจจัยนี้อ่อนตัวลง เราอาจกลายเป็นคนไร้มนุษยธรรม และกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพียงแต่บูชาศาสนาใหม่ในระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ไม่ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของสยามอีกต่อไป ทั้งที่เรามาจากหลากหลายชาติต้นกำเนิด

ตราบที่ธนบุรียังรักษาความสมดุลทางนิเวศบนแผ่นดินและผืนน้ำ และด้วยความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม คุณธรรม และจิตวิญญาณ ธนบุรีก็จะสามารถนำได้ในทางอุทิศตน อุทิศให้กับประเทศชาติ และกระทั่งกับโลก เพื่อให้เกิดสันติภาพและความยุติธรรมในสังคม ในกรณีนี้เราต้องค้นหาเอกลักษณ์อันลึกซึ้งของธนบุรีให้ลึกลงไปกว่าผิว วัดและตลาดน้ำมีความหมายลึกซึ้งสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าใจความหมายของชีวิตเกินกว่าวัตถุนิยม ทุนนิยม และการท่องเที่ยวอย่างผิวเผิน


เขียนโดย ส. ศิวรักษ์


ที่มา : sulak-sivaraksa.org

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็นบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: