๏ แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง
เราจะต้องยืนตรง เคารพธงชาติไทย
เคารพธงชาติไทย
๏ ต้องสนับสนุน ป. พิบูลสงคราม
เราจะต้องทำตาม เราจะต้องทำตาม
คำผู้นำชาติไทย
บทความเรื่องนี้ คัด ตัดทอน และปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่องธงไตรรงค์กับการสร้างอุดมการณ์รัฐไทย พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๕๒๐ ของชนิดา พรหมพยัคฆ์-เผือกสม สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา ๒๕๔๓
ธงไตรรงค์
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ธงไตรรงค์ ถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติในระบอบการปกครองใหม่ ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนพลเมือง แทนสัญลักษณ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งแต่สมัยของพันเอกพระยาพหลฯ และต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของธงไตรรงค์นี้ได้ถูกเน้นย้ำยิ่งขึ้นในช่วงที่เรียกว่า "การสร้างชาติ" ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในระยะเวลาไม่ถึง ๑ ปีของการเข้ามาปกครองบริหารประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างความหมายใหม่ให้กับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งก่อนหน้านี้ในสมัยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานั้นถือว่าเป็นวันที่ระลึกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นวันชาติ แทนวันจักรี ซึ่งได้กำหนดไว้ตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งถือเป็นการจัดงานฉลองการทำสนธิสัญญาเสมอภาคระหว่างสยามกับนานาประเทศ อันหมายความว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของสยามโดยสมบูรณ์
นอกจากนั้น วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยังเป็นวันที่ได้เปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการจากประเทศสยามเป็นประเทศไทยจากการออกรัฐนิยมฉบับแรก และเป็นวันที่มีการวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นที่กลางถนนราชดำเนิน รวมทั้งได้วางหมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย
รณรงค์เรื่องเคารพธงชาติ
การให้ความสำคัญกับธงชาตินอกจากจะเห็นได้ผ่านการประกาศรัฐนิยมให้มีการเคารพธงชาติแล้ว รัฐบาลยังได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุกระจายเสียง โดยเฉพาะผ่านทางรายการสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคง (สถานีวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยในขณะนั้นมีเพียงสถานีของกรมโฆษณาการเพียงแห่งเดียวเท่านั้น มิได้มีสถานีให้ประชาชนเลือกรับฟังได้มากมาย และช่วงเวลาในการออกอากาศก็แบ่งเป็น ๒ ช่วง เช้าและเย็น ไม่ได้มีการออกอากาศตลอดทั้งวันดังเช่นปัจจุบัน รายการที่ออกอากาศจึงไม่ได้มีให้เลือกหลากหลายนัก)
รายการสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคง ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้ในการติดต่อกับประชาชน โดยทำหน้าที่ถ่ายทอด และชักชวนกระตุ้นเตือนประชาชนให้ทำตามนโยบายของรัฐบาล ดังที่ได้กล่าวไว้บ้างแล้วว่าจุดกำเนิดของรายการสนทนาของนายมั่น-นายคงนี้ เริ่มจากเมื่อรัฐบาลได้ประกาศถือเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายนเป็นวันชาติ และให้มีการฉลองวันชาติครั้งแรกอย่างมโหฬารในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระราชธรรมนิเทศ ซึ่งทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองโฆษณาวันชาติ โดยได้เลือกสังข์ พัธโนทัย เป็นเลขานุการของกอง และได้คิดรูปแบบรายการเป็นการสนทนาทางวิทยุ โดยสมมตินามผู้พูดเป็นนายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย ทำหน้าที่โฆษณาเกี่ยวกับความสำคัญของงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญาเป็นงานแรก ซึ่งทำให้งานฉลองวันชาติมีความสำเร็จสมกับความประสงค์ของรัฐบาล
เมื่อหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์งานฉลองวันชาติสิ้นสุดลงแล้ว รายการสนทนาก็ยังคงดำเนินไปเป็นครั้งคราวเพื่อชี้แจงนโยบายของรัฐบาล และช่วยเหลือในการโฆษณากิจการต่างๆ ของรัฐ จนเกิดกรณีสงครามอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ อันเป็นการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในเรื่องการเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในลาวและกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศส จึงมีรายการสนทนานายมั่น-นายคงเป็นรายการประจำเรื่อยมา จนเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงได้ล้มเลิกไป
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นได้มีส่วนในการกำหนดวางแนวทางและเนื้อหา ในการทำรายการสนทนานายมั่น-นายคงนี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ได้มีรายการเป็นประจำทุกวัน
วิธีการคือ ก่อนที่จะเริ่มรายการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะส่งเนื้อหาของเรื่องราวที่จะกล่าวถึงในรายการวันนั้นมายังคณะผู้จัดทำรายการ ที่เรียกกันในคณะผู้ผลิตรายการว่า "จดหมายซองเหลือง" ซึ่งจะเขียนเป็นบทความร้อยแก้วธรรมดา จากนั้นพระราชธรรมนิเทศก็จะเป็นผู้แปลงบทร้อยแก้วที่ส่งมานั้นให้เป็นบทสนทนา โดยที่นายสังข์ พัธโนทัย เป็นผู้จดบันทึกตามคำบอกของพระราชธรรมนิเทศ และวันใดที่จอมพล ป. มิได้ส่งจดหมายซองเหลืองมา คณะผู้ผลิตรายการก็จะนำเอาเรื่องเก่าๆ มาเล่าซ้ำ โดยดัดแปลงให้เข้ากับเหตุการณ์ประจำวัน
ดังนั้นเนื้อหาในรายการจึงเป็นการสะท้อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะความคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นอย่างดี
สังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำรายการ และเป็นผู้อ่านบทสนทนาเป็นนายมั่น ได้อธิบายถึงเรื่องการที่ให้ชื่อตัวผู้สนทนา คือ นายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย ว่า พระราชธรรมนิเทศซึ่งเป็นผู้ให้นามสกุลนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็น "ส่งเสริมลัทธิชาตินิยมโดยตรง" รายการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังจำนวนไม่น้อย ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการประกาศแนวทาง และนโยบายของรัฐบาล
ในรายการสนทนาระหว่างนายมั่น-นายคงนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับธงชาติ ความสำคัญของธงชาติ และการประดับธงชาติในวันสำคัญต่างๆ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ ดังเช่นบทสนทนาที่เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ กล่าวถึง "เรื่องความเป็นชาติกับเรื่องความเป็นเอกราช" ซึ่งอาจจะดูเหมือนว่ามีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่อันที่จริงแล้วมีความหมายคนละอย่าง
นอกจากการย้ำเตือนความหมายและความสำคัญของธงชาติแล้ว รายการสนทนานายมั่น-นายคงยังได้ประชาสัมพันธ์ หรือเป็นผู้ที่คอยเตือนให้ประชาชนเตรียมประดับธงชาติในวันสำคัญ ที่ได้กำหนดให้ประชาชนประดับธงชาติตามบ้านเรือน รวมทั้งยานพาหนะ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในสมัยพันเอกพระยาพหลฯ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ (๓๑ ธันวาคม-๒ มกราคม) วันจักรี (๖ เมษายน) วันวิสาขบูชา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำและวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๖ หรือเดือน ๗ แล้วแต่กรณี) วันชาติ (๒๓-๒๕ มิถุนายน) วันเข้าพรรษา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำและวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘) วันเฉลิมพระชนมพรรษา (๒๐ และ ๒๑ กันยายน) วันรัฐธรรมนูญ (๙-๑๑ ธันวาคม) วันมาฆบูชา (เพ็ญเดือน ๓ หรือเดือน ๔ แล้วแต่กรณี) ดังเช่นรายการนายมั่น-นายคงได้กล่าวในเชิงเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวประดับและตกแต่งธงชาติในวันชาติที่กำลังจะมาถึงว่า การที่วันชาติใกล้จะมาถึงนี้ทำให้เราจะได้เห็นธงชาติปลิวไสวทั่วไปทุกแห่ง ก่อให้เกิดความชื่นตาชื่นใจต่อชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง
เมื่องานวันชาติใกล้เข้ามา คือวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ รายการสนทนานายมั่น-นายคงก็ได้กล่าวกำหนดวันในการประดับและชักธงเนื่องในงานวันชาติอีกครั้งหนึ่ง ว่า "การชักทงชาติมีกำหนด ๓ วัน เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป แต่เวลานี้ตามถนนราชดำเนิน และไนบริเวนสูนย์กลางของงาน เช่นที่สนามเสือป่า สวนอัมพร ที่อนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย และที่อื่นอีกหลายแห่ง ทงชาติได้ขึ้นสะบัดสลอนแล้ว เป็นที่น่าชื่นชมยินดียิ่งนัก" พร้อมกับกล่าวแสดงความรู้สึกว่า การที่ได้เห็นธงชาติไทยประดับประดาอย่างมากมายเช่นนี้ ก่อให้เกิดความรู้สึก "ชุ่มชื่นหัวใจมาก"
นอกจากงานวันชาติแล้ว รายการสนทนานายมั่น-นายคงยังได้เชิญชวนให้ประชาชนชักและประดับธงในวันสำคัญอื่นๆ อีก ดังเช่น ได้กล่าวชักชวนให้ชักธงชาติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
จะเห็นได้ว่า นอกจากนายมั่น-นายคงจะย้ำเตือนชักชวนให้ประชาชนประดับธงในวันสำคัญของชาติแล้ว ในบทสนทนาแต่ละครั้งยังเป็นการพยายามสร้างความรู้สึกชื่นชมยินดีร่วมกันของคนไทยเมื่อได้เห็นธงชาติไทย หรือเมื่อได้ชักและประดับธงชาติไทย โดยแสดงให้เห็นว่าธงชาติไม่ใช่ผืนผ้าที่ไม่มีความหมาย หากแต่เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึง
"เกียรติแห่งชาติไทย" ที่สามารถดำรงรักษาความเป็นเอกราชและความเป็นชาติไว้ได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง
ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนเคารพธงชาตินั้น เริ่มจากการที่คู่สนทนามีความเห็นว่า เรื่องการเคารพธงชาติ ที่ตั้งแต่การประกาศเป็นรัฐนิยม และต่อมาก็ได้เข้าไปอยู่ในกฎหมายวัฒนธรรมด้วยแล้วก็ตามยังเห็นผลในการปฏิบัติอย่าง "ลุ่มๆ ดอนๆ" อยู่ ถึงแม้ว่าในขณะนี้ชาวไทยทุกคนจะรู้จักและยอมรับแล้วว่า ธงเป็นเครื่องหมายสำคัญสูงสุดของความเป็นชาติไทย แต่ในทางปฏิบัติคือ การเคารพธงนั้นบางคนก็ทำอย่างเคร่งครัดบางคนก็ไม่ยอมทำเลย จึงไม่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะ "ถ้าเราหวังจะดำรงความเปนชาติของเราตลอดไป เราจะลืมเรื่องการเคารพทงชาติไม่ได้" จากนั้นจึงเสนอเรื่องการอบรมเรื่องการเคารพธงชาติให้ได้ผลดีว่า
"ไนวันหนึ่งๆ มีเวลาสำคันที่สุดสำหรับการเคารพทงชาติหยู่ ๒ เวลาด้วยกัน คือ เวลาชักทงขึ้น ซึ่งทางราชการนิยมเวลา ๘.๐๐ น. และการชักทงลงซึ่งนิยมเวลา ๑๘.๐๐ น. ทั้งสองเวลานี้สำคันนัก ถ้าจะไห้ทำกันไห้พรักพร้อม ต้องกำหนดเอา ๒ เวลานี้แหละเปนเกนท์"
ยังมีความเห็นอีกด้วยว่าคนที่อยู่เคหสถานบ้านเรือนก็ควรที่จะระลึกถึงธงชาติ และทำความเคารพธงชาติโดยการยืนขึ้นเมื่อเวลานั้นเป็นเวลาชักธงขึ้นหรือลงด้วย แต่มีปัญหาอยู่ที่จะใช้อาณัติสัญญาณอะไรสำหรับคนที่อยู่ในบ้าน ซึ่งนายคงได้เกริ่นไว้ตอนท้ายรายการว่า "บางทีในไม่ช้าวันนี้ทางวิทยุกะจายเสียงจะช่วยเป็นอานัติสัญญานบ้างกระมัง"
จากนั้นต่อมาอีกประมาณ ๑๐ วัน รายการสนทนาของนายมั่น-นายคงก็ได้ประกาศถึงการปรับปรุงเวลาการกระจายเสียงขึ้นใหม่เพื่อเป็นการเหมาะสม โดยการกระจายเสียงในภาคเช้าแทนที่จะเปิดสถานีเวลา ๖.๓๐ น. และปิดเวลา ๗.๓๐ น. จะได้เปิดสถานีเวลา ๗.๐๐ น. และปิดเวลา ๘.๑๕ น. ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป รวมทั้งยังได้กล่าวถึงสาเหตุแห่งการปรับปรุงเวลาการกระจายเสียงนี้ด้วยว่า
"เวลา ๘.๐๐ น. เปนเวลาชักทงชาติขึ้นสู่เสาทั่วราชอานาจักร เวลานี้แหละเปนเวลาสำคันที่สุดประจำวันของเรา กรมโคสนาการได้ประกาสเชินชวนข้าราชการและประชาชนไนที่ทุกแห่งไปยืนนิ่งระวังตรง เพื่อสแดงความเคารพต่อทงชาติไทยเปนเวลา ๕ วินาที หรือจนกว่าการบันเลงเพลงชาติโดยทางวิทยุกะจายเสียงจะได้จบลง หรือจนกว่าสัญญานอื่นๆ ไนการชักทงชาติได้จบลง"
รวมทั้งได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของธงชาติว่า "...ทงชาติเปนเครื่องหมายของความเปนเอกราชของชาติไทย เปนเครื่องหมายที่รวมความสูงสักดิ์และความสักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงของชาติไทย..."
ดังนั้นคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย ที่รู้จักความเป็นไทย รู้จักเคารพตนเอง เคารพชาติ เคารพความเป็นเอกราชของชาติ และเคารพเกียรติอันสูงสุดของชาติ จะต้องพร้อมใจกันยืนนิ่งเคารพธงชาติในเวลา ๘ นาฬิกาทุกวันโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งรายการนายมั่น-นายคง ยังได้นัดกับผู้ฟังว่า "เวลา ๘.๐๐ น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไปผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดังๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่วๆ กัน" เพื่อที่จะได้เคารพธงชาติพร้อมกันทั้งประเทศ
นายมั่นได้เรียกร้องให้ยุวชนเป็นผู้นำในการเชิญชวนตักเตือนคนในครอบครัวเคารพธงชาติ ตามคำวิงวอนของนายกรัฐมนตรีที่กระจายเสียงทางวิทยุเรื่อง "ยุวชนช่วยฉันสร้างชาติด้วย"
ถัดมาวันที่ ๑๔ กันยายน ซึ่งเป็นวันที่รายการนายมั่น-นายคงกำหนดนัดหมายประชาชนให้เคารพธงชาติพร้อมกันทั่วทั้งประเทศนั้น นายมั่น-นายคงได้กล่าวถึงความสำคัญของวันนี้ไว้ในรายการว่า
"เมื่อเช้านี้เท่ากับเราได้เปิดฉากไหม่ของชีวิตชาติไทยอีกด้านหนึ่ง คือการเคารพทงชาติ ซึ่งเปนด้านสำคันมาก เพราะเปนการรวมจิตไจของคนทั้งชาติเข้าด้วยกัน รวมจิตไจของคนทั้งชาติเข้าสู่ความเปนเอกราชของชาติ และเกียรติอันสูงสุดของชาติที่รวมหยู่ที่ทงชาติไทย แม้การนี้จะได้นัดแนะกันล่วงหน้าไม่กี่วันก็ตาม แต่ได้ผลส่วนรวมเปนที่น่ายินดีมาก เท่าที่ฉันได้ยินได้ฟังจากบุคคลที่หยู่ไนสถานที่ต่างๆ กัน จะยังมีบกพร่องกันบ้างเล็กน้อยนั้น เข้าไจว่าคงเกิดจากยังไม่เข้าไจกันดี"
ข้อบกพร่องต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการเคารพธงชาติพร้อมกับมีการบรรเลงเพลงชาติทางวิทยุกระจายเสียงยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับประชาชนทั่วไป อาทิ นายมั่น-นายคงกล่าวว่า ผู้สูงอายุ หรือสตรีที่เดินอยู่ตามถนน หรือในตลาดเวลาเช้า เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติทางวิทยุกระจายเสียงก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นการสมควร ซึ่งทางรายการก็ได้แนะนำว่า เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติทางวิทยุกระจายเสียงก็ให้ยืนตรงนิ่ง จนกว่าการบรรเลงเพลงชาติจะจบ หรือถ้าอยู่ห่างไกลจากเสียงวิทยุ หรืออาณัติสัญญาณอื่นๆ ก็ให้ถือเอาเวลา ๘ นาฬิกาเป็นเวลายืนนิ่งตรงเพียง ๕ วินาที เพื่อเคารพธงชาติก็ได้ โดยเชื่อว่า "การเคารพทงชาติเช้าพรุ่งนี้ คงจะพรักพร้อมยิ่งขึ้นกว่าวันนี้เปนแน่"
นอกจากนั้นนายมั่นยังกล่าวถึงการที่ข้าราชการผู้ใหญ่จะออกไปดูตามหน่วยงานที่สังกัดเพื่อตรวจดูเรื่องการเคารพธงชาติ รวมไปถึงข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอก็จะได้ออกไปเยี่ยมตามท้องที่ต่างๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลด้วย และในท้ายสุดนายมั่นเห็นว่า "หย่างไรก็ตาม วันนี้นับว่าเปนวันก้าวหน้าวันหนึ่งของชาติไทยแล้ว คือ เราก้าวหน้าขึ้นไนเรื่องพร้อมเพรียงกันเคารพทงชาติเปนเอกฉันท์"
ต่อจากนั้นเช้าวันที่ ๑๕ กันยายน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีสาส์นเรื่องการเคารพธงชาติ กล่าวแก่ประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง โดยมีเนื้อหาสังเขปคือ จอมพล ป. ได้กล่าวถึงการเคารพธงชาติในเวลา ๘ นาฬิกาในวันที่ ๑๔ กันยายนว่า ทำให้ท่าน "มีความรู้สึกสบายไจ" เพราะ "คลำดูตัวพบความเปนไทยมากขึ้นอีกหย่างหนึ่ง เนื่องจากเห็นพี่น้องชาวไทยผู้มีเกียรติดี ได้ทำการเคารพทงชาติตามคำชักชวนของกรมโคสนาการ เปนการพร้อมไจกันมาก"
จากนั้นจอมพล ป. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเคารพธงชาติว่า "ดูไม่ไช่เรื่องสามัญเลย เปนเรื่องไหย่ เปนเรื่องน้ำตานองหน้ากันทั้งชาติทีเดียว" โดยได้ยกตัวอย่างเรื่องการที่สยามได้เสียดินแดนให้ฝรั่งเศสว่า "ฉันจำได้ว่ามีผู้เล่าคราวฝรั่งเสสมาลดทงไทย และยกทงฝรั่งเสสขึ้นที่จันทบุรี ปรากดว่าพวกเราน้ำตานองหน้ากันทั่วไป สมมตว่าการยกทง ลดทงฝรั่งเสสคราวนั้น มาปรากตการกะทำเช้าวันนี้ที่เสาทงยอดพระที่นั่งอนันตสมาคม พี่น้องชาวไทยจะมีความรู้สึกหย่างไรบ้าง ถ้าท่านไม่น้ำตาไหลนองหน้าอก ไครๆ ก็ซาบว่าท่านไม่รักชาติไทยเท่านั้นเอง" และยกตัวอย่างเรื่องการได้ดินแดนคืนด้วยว่า "เมื่อ ๒ ปีเสสมานี้ ฉันจำได้ดี วันหนึ่งเราชักทงกันทั่วทั้งชาติ และเราได้ยินการกระทำพิธีชักทงไตรรงค์ที่ดินแดนไหม่ของเราที่พระตะบองทางวิทยุ ไนบัดนั้นเราผู้บูชาชาติเหนือหัว เราขนลุกขนพอง เราร้องไห้ หน้าเรานองไปด้วยน้ำตา บางคนหน้าอกเปียก น้ำตาชุ่มทีเดียว ฉันเห็นกับตาตนเอง แต่คราวนี้เปนน้ำตาที่กลั่นจากขั้วหัวไจแห่งความยินดี" ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของคนให้มีต่อธงชาติ และทำให้เห็นว่า "การชักทงชาติกินไจมนุสผู้จเริน ผู้รักชาติเพียงได" รวมทั้งจอมพล ป. อยากให้ปฏิบัติต่อธงชาติเสมือนเป็นสิ่งที่ควรเคารพสักการะ คือ "พี่น้องไทยทุกคนไช้น้ำตาเคารพทงชาติ ทงไตรรงค์ทุกเช้าค่ำ เวลายกขึ้นและลดลงเก็บในที่ควนสักการะเพื่อบุญมั่นขวันยืนยาวนานของชาติไทย"
ในรายการสนทนาระหว่างนายมั่น-นายคงวันที่ ๑๕ กันยายนนั้น ก็ได้กล่าวถึงใจความสำคัญของสาสน์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องการเคารพธงชาติอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมต่อจากการที่จอมพล ป. ได้อวยพรให้ประชาชนที่รู้จักความสำคัญของธงชาติและเคารพธงชาติ "จงบุญมั่นขวันยืนอยู่คู่กันไปกับทงชัยของชาติ" โดยนายมั่น-นายคงยังได้กล่าวถึงผู้ที่ไม่ใส่ใจและไม่เคารพธงชาติทั้งๆ ที่สามารถและมีโอกาสที่จะกระทำได้ว่าเป็น
"ผู้ที่เหยียดหยามชาติของตนเอง หรือพูดอีกทีก็คือ คนคิดทรยสต่อชาติเท่านั้นเอง ซึ่งอาดมีไม่กี่คนหรอก คนจำพวกนี้มีบาปหนัก ถึงกับพระโปรดไม่ขึ้นทีเดียว หนักหย่างที่พระเรียกว่า อนันตริยกัมทีเดียว เป็นอุกริตโทส...คนเช่นนั้นทำมาค้าไม่ขึ้น ไม่ว่าจะไปไหน จะเปนทางบก ทางเรือ ทางอากาสก็ตาม มหาภัยย่อมจะตามจองล้างจองผลานหยู่ทุกขนะ จะต้องถึงวินาสล่มจมเปนแน่แท้"
และประณามคนที่ไม่เคารพธงชาติอย่างรุนแรงอีกด้วยว่า "คนคิดคนทรยสต่อชาติมีโทสหย่างอุกริต เสมอด้วยด่าพ่อด่าแม่ของตน เสมอด้วยด่าครูบาอาจารย์ เสมอด้วยด่าพระพุทธเจ้าทีเดียว" เนื่องจาก "เราถือว่า ทงชาติไทยนั้นมีบารมีของพระพุทธเจ้าเข้ามาสิงสถิตหยู่ด้วย เพราะทงชาติไทยแทนสาสนาหยู่ด้วยไนตัว" และกล่าวสรุปว่า
"แม้ตามวัดวาอาราม พระท่านก็ได้กำชับนักกำชับหนาไนเรื่องการเคารพทงชาติตามวินัยของพระเนร เท่าที่ท่านจะพึงปติบัติอนุโลมได้ และไนเวลาเดียวกัน ท่านก็กะทำดุสนิภาพ คือ นิ่งระลึก และแผ่เมตตาต่ออานาประชาชน ต่อประเทสชาติ และต่อความขลัง ความสักดิสิทธของทงชาติไทย-พวกเราชาวไทยผู้เปนพุทธสาสนิกย่อมซาบซึ้งไนเรื่องนี้เปนหย่างดี มาเถิด พวกเราชาวไทยหมู่มาก มารวมญาติกันเปนคนดีของชาติเถิด เราทำความมงคลไห้บังเกิดขึ้นแก่ตัวเรา และแก่ประเทสชาติเถิด เราทิ้งคนที่คิดคดทรยสต่อชาติ ซึ่งเปนส่วนน้อยนิดเดียวไห้เขาลงเรือของเขาไป และรับวินาสภัยอันเปนเงาตามตัวของเขาด้วยตัวเขาเองเถิด"
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการโฆษณาเรื่องการเคารพธงชาติของรัฐบาลนั้น นอกจากการเคารพธงชาติจะเป็นการแสดงความเป็นไทยแล้ว ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้เคารพธงชาติก็จะประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ในขณะที่ผู้ที่ไม่ทำความเคารพธงชาติจะประสบกับการถูกประณามว่าเป็นคนทรยศต่อชาติ และขณะเดียวกันก็จะถูกสาปแช่งให้ "รับวินาสภัย" ซึ่งเราจะเห็นถึงกระบวนการสร้างธงชาติให้เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และการเคารพธงชาติก็เหมือนกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่จะส่งผลต่อชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติได้ ซึ่งการดำเนินการรณรงค์เรื่องการเคารพธงชาติยังดำเนินต่อไป และกล่าวถึงการเคารพธงชาติในฐานะที่แสดงถึงความเปนไทยและในฐานะที่ธงชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควบคู่กันไป
นอกจากนั้นการเคารพธงชาติยังเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติอย่างหนึ่งด้วย เพราะความรักชาตินั้นต้องอาศัยการแสดงออกทางกายด้วยจึงจะทำให้คนอื่นรู้ได้ และถือเป็นความรักชาติอย่างสมบูรณ์ และการเคารพธงชาติในตอนเช้ายังก่อให้เกิดผลดีต่างๆ อันเป็นผลพลอยได้ดังนี้ คือ
๑. "เมื่อเราตื่นขึ้นเพื่อเตรียมตัวเคารพทงชาติเวลา ๘.๐๐ น. แล้วก็เปนธัมดาหยู่เองที่เราจะต้องเตรียมตัวเพื่อประกอบการงานประจำวันพร้อมๆ กันไปด้วย เราจะเกิดมีนิสัยตรงต่อเวลา ลูกๆ ของเราหรือคนไนบ้านเช้าจะต้องรีบปลุกเราไห้ตื่นขึ้นเพื่อปติบัติกิจสำคันประจำวันคือการเคารพทงชาติเวลา ๘.๐๐ น."
๒. "หย่างน้อยไนวันหนึ่งๆ เรามีการระลึกถึงชาติครั้งหนึ่งเวลา ๘.๐๐ น. ระลึกไนเวลาบันเลงเพลงชาติระลึกถึงคุนของชาติระลึกถึงพี่น้องร่วมชาติ ระลึกถึงผู้มีอุปการะคุนแก่ชาติ และระลึกถึงทุกสิ่งทุกหย่างที่ดีงามแก่ชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน ครั้งเมื่อเส็ดการบันเลงเพลงชาติแล้ว เปนอันว่าไนวันนั้นเรามีทงที่คอยจูงใจของเรา ไห้ปติบัติการงานทุกสิ่งทุกหย่างไห้ถูกทางที่ชอบที่ควน"
๓. "ยุวชนก็ระลึกถึงหลักยุวชนส้างชาติไทย ๙ ประการที่ท่านผู้นำได้ไห้ไว้ และที่มีผู้แทนยุวชนมากล่าวปติญานว่าจะปติบัติตาม"
๔. "เมื่อเรามีนิสัยตื่นเช้ากันเปนกิจวัตรแล้วเราก็จะได้ชมแสงเงินแสงทอง"
ต่อมาในวันที่ ๑๙ กันยายน นายมั่น-นายคงได้ยกประเด็นขึ้นมาว่า ได้สังเกตเห็นคนไทยเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการเคารพธงชาติกันเป็นอย่างดียิ่ง จะมีผู้ที่ไม่ได้ทำความเคารพธงชาติอยู่น้อยราย ซึ่งคาดว่าไม่ใช่คนไทย และยังได้พบว่ามีคนต่างชาติที่อยู่ตามห้องแถวที่ถนนเยาวราช มองดูคนไทยเคารพธงชาติในเวลา ๘ นาฬิกา "ด้วยอาการคล้ายยิ้มเยาะ" อันเป็นการแสดงกิริยาไม่ดี ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนไทย เนื่องจากคนไทยถือว่าธงชาติไทยนั้นเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง ดังที่บทสนทนากล่าวว่า
"...เราไทยเคารพทงชาติยิ่งกว่าของสักดิ์สิทธิ์เสียอีก เพราะเราถือว่าบารมีของพระพุทธเจ้าสิงหยู่ในทงชาติ วิญญาณของบรรพบุรุสของเราก็มาสิงหยู่ที่ทงชาติเหมือนกัน ธงชาติไม่ใช่เพียงเป็นผืนผ้า สแดงความเปนเอกราชและการหยู่มั่นขวัญยืนของเราเท่านั้น แต่เราถือเสมือนว่า เปนของมีชีวิตจิดใจด้วย มีตาที่คอยเฝ้ามองหยู่เสมอว่าคนในชาติประพรึติดีเลวหย่างไร เอาใจใส่เคารพทงชาติหรือไม่เพียงใด..."
จากความคิดที่ว่า ธงชาติมีชีวิตจิตใจ คอยจับตามองดูคนในชาติอยู่เสมอ ยังทำให้ "ผู้ที่ไม่เคารพทงชาติจะต้องมีอุปาทานเหมือนหนึ่งว่า ตนได้ไปทำกะไรไม่ดีงามเข้าหย่างหนึ่งแล้ว ที่ไม่รอดพ้นสายตาของทงชาติไปได้ แล้วก็จะต้องเกิดรู้สึกดิ้นรนกะวนกะวาย ไม่เปนอันกินอันนอน จนกระทั่งไนที่สุดจะต้องถึงแก่พินาสล่มจม" นอกจากนั้นแล้วยังเป็นเหมือนของขลังที่ให้คุณให้โทษได้ด้วย กล่าวคือ
"...ผู้ที่ไม่ไยดีต่อธงชาตินั้น จะต้องพินาสล่มจมเปนแน่ คำสาปแช่งต่างๆ ที่บรรพบุรุสของเราได้กล่าวไว้สำหรับไห้ดนบันดานแก่ผู้ที่คิดคดทรยสต่อชาติ และผู้เนรคุนชาตินั้น มารวมหยู่ที่ทงชาติหมด เมื่อทงชาติปลิวก็เหมือนหนึ่งพัดเอาคำสาปแช่งหย่างร้ายแรงเหล่านั้นไปสู่คนทรยสต่อชาติทุกทิสทุกทาง เวลาเดียวกันก็พัดเอาคำที่ดีที่มีมงคลที่เปนคำอวยชัยให้พรไปสู่คนที่ดีของชาติ คนเหล่านั้นก็มีวันแต่จะจเรินสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป"
สำหรับเสียงเพลงชาตินั้น นายมั่น-นายคงก็กล่าวว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยเป็นเหมือน "น้ำมนต์ทิพ" ซึ่งถ้าใครได้รับก็จะทำให้ "รู้สึกว่าเขาแข็งแรง และมีปัญญาดีขึ้นมาก คิดอะไรได้คล่อง" และธงชาติยัง "กะพือพัดคำอวยชัยไห้พรของคนรุ่นก่อนๆ ไห้มาต้องตัวเขา เพิ่มกำลังไจ กำลังปัญญาไห้แก่เขาอีก"
ต่อมาในวันที่ ๒๒ กันยายน นายมั่น-นายคงได้สนทนาถึงการที่ละเมิดกฎหมายเรื่องการเคารพธงชาติและเพลงชาติว่า นอกเหนือจากจะเป็นการผิดกฎหมายและได้รับโทษทางกฎหมายแล้ว ยังได้รับโทษในทางจิตใจอีกด้วย คือ "คนที่ทรยสต่อชาติย่อมไม่มีใครคบ ไม่มีใครไว้วางใจ คนที่ไม่เคารพทงชาติ เพลงชาติ ถึงจะมีโทสน้อยกว่านั้นหน่อยก็จิง แต่ทำเอาคนที่จะร่วมงานหรือติดต่อกับเราด้วยนั้นตะขิดตะขวงใจยังไงๆ หยู่ หรือชักจะไม่ไว้วางใจเอาด้วยก็ได้ เพราะการไม่เคารพเช่นนั้นมันก็เปนลักสนะหนึ่งของการทรยสหรือเนรคุณชาติหยู่เหมือนกัน" และกล่าวถึงการที่ธงชาติมีวิญญาณบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ ว่า "ท่านเห็นหมดว่าใครทำดีทำชั่ว ถ้าไครทำดี วิญญาณบรรพบุรุสของเราก็อวยชัยให้พรไห้มีความสุขความจเรินไห้ทำมาค้าขึ้น ถ้าไครทำไม่ดี หรือทำแตกเหล่ากับพี่น้องร่วมชาติที่ทำดีกันเปนส่วนมาก ผู้นั้นก็ต้องถูกวิญญาณบรรพบุรุสของเราสาปแช่งไห้พินาสล่มจม ไม่ไห้ทำมาค้าขึ้น ไห้ประสบแต่อุปสัคทุกเมื่อ..."
จะเห็นได้ว่า การโฆษณาชักจูงประชาชนให้เคารพธงชาตินั้น มีทั้งการกล่าวถึงความสำคัญของธงชาติว่าเป็นเครื่องหมายของความเป็นชาติ และความเป็นไทย กล่าวถึงประโยชน์ที่เคารพธงชาติในตอนเช้า รวมไปถึงการใช้เหตุผลในทางศาสนาและความเชื่อที่ถือว่าธงชาติเป็นตัวแทนของศาสนา พระพุทธเจ้า เป็นที่รวมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณบรรพบุรุษ ที่สามารถจะอำนวยพรแก่ผู้ที่ทำความเคารพธงชาติ และสามารถให้โทษกับผู้ที่ไม่เคารพธงชาติได้ อาจจะกล่าวได้ว่า ความพยายามของการปลูกฝังประชาชนให้เห็นความสำคัญของธงชาติ ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแทนอธิปไตยและเอกราชนั้น อาจจะยังเป็นที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนไทยโดยทั่วไป ดังนั้นสร้างความเข้าใจเพื่อที่จะทำให้ประชาชนเคารพธงชาติกันโดยเคร่งครัดนั้น จึงต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือวิญญาณบรรพบุรุษ อันเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในความคิดของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน มาเป็นส่วนช่วยให้ธงชาติได้รับความเคารพจากประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยกล่าวควบคู่ไปกับความหมายและความสำคัญของธงชาติซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยสากลไว้เช่นกัน
ขณะเดียวกันการเคารพธงชาติยังได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นเช่นเดียวกับการที่เราเคารพพระพุทธรูปที่เป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธเจ้า "เราถือว่าพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า และเคารพบูชาฉันใด เราก็ถือว่าทงชาติเปนสัญญานแทนเอกราชของชาติซึ่งเราเคารพและบูชาฉันนั้น"
การเคารพธงชาติหรือพระพุทธรูป รวมถึงการเคารพบุคคล หรือสิ่งที่ควรเคารพใดๆ นั้น ไม่ได้หมายแต่เพียงยกมือขึ้น หรือแตะหมวก หรือประนมมือ หรือยืนตรงเท่านั้น แต่ยังมีความหมายเกี่ยวพันกับจิตใจเป็นสำคัญอีกด้วย การเคารพธงชาติจึงต้องแสดงออกทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจด้วย ดังที่ในการสนทนาวันที่ ๒๖ กันยายน
อย่างไรก็ตามนอกจากการมุ่งเน้นที่จะโฆษณาชักจูงด้วยวิธีการและเหตุผลต่างๆ ให้ประชาชนเคารพธงชาติแล้ว รายงานสนทนานายมั่น-นายคงยังได้ชี้แจงถึงวิธีการและความสะดวกต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนสามารถทำความเคารพธงชาติได้ เช่น การประชาสัมพันธ์ถึงสัญญาณในการเคารพธงชาติว่ามีด้วยกันหลายอย่าง คือ
๑. ฟังทางวิทยุ ๒. ฟังเสียงแตร ๓. ฟังระฆังตามวัด ๔. ฟังหวูดรถไฟ ๕. ฟังเสียงปืนใหญ่ ๖. ฟังเสียงสัญญาณตามที่เจ้าหน้าที่ท้องที่จะได้นัดหมายทำขึ้น
รวมทั้งได้สรุปวิธีการเคารพธงชาติเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและสามารถทำได้ ในขณะที่อยู่ในระหว่างการกระทำกิจกรรมต่างๆ กล่าวคือ
๑. สำหรับคนทั่วไป ยืนตรงนิ่ง ถ้าสวมหมวกในเครื่องแบบทำวันทยหัตถ์ นอกนั้นชายถอดหมวก ถือหมวกด้วยมือขวาแนบกับตัว หญิงไม่ต้องถอดหมวก
๒. ผู้ที่อยู่ในรถราง รถโดยสาร รถไฟ เรือ ถ้ายืนเคารพได้ให้ยืน ถ้ายืนไม่ได้ให้นั่งเคารพ ผู้สวมหมวกในเครื่องแบบทำวันทยหัตถ์ นอกนั้นชายถอดหมวก หญิงไม่ต้องถอด
๓. รถยนต์ส่วนตัว ถ้าหยุดได้ควรหยุด ทำความเคารพบนรถ ถ้าหยุดไม่ทันทำความเคารพบนรถ ถ้ายิ่งหยุดรถได้ และออกมาทำการเคารพนอกรถด้วยยิ่งดี
๔. รถสามล้อรับจ้างต้องหยุด ผู้ขับขี่และคนโดยสารลงจากรถทำความเคารพ
๕. ถ้ากำลังหาบของ หรือกำลังกระเดียดกระจาดอยู่ วางหาบและกระจาดตรงหน้าแล้วยืนตรง
๖. กำลังอาบน้ำ ทำครัว หรือทำงานใดๆ อยู่ ยืนตรงนิ่ง
๗. ถ้ากำลังแบกหามของหนักมาก เช่น แบกกระสอบข้าว เป็นต้น เมื่อจวนจะถึง ๘.๐๐ น. ควรวางกระสอบเสียก่อน เมื่อเคารพธงชาติเสร็จแล้วจึงแบกหามต่อไป
๘. เวลาพายเรือ แจวเรืออยู่ ถ้าเป็นเรือเล็กยืนขึ้นจะล่ม ก็ให้นั่งตรง ชายถอดหมวก หนีบด้ามพายไว้ในรักแร้ ทอดใบพายไปข้างหลัง ถ้าเป็นเรือใหญ่ใช้แจว ทอดแจวไปทางท้ายเรือ แล้วยืนตรง ชายถอดหมวก
๙. ผู้กำลังทำหน้าที่ขับยานพาหนะ ถ้าแสดงการเคารพจะเป็นการละทิ้งหน้าที่ หรือทำให้เกิดอันตรายขึ้น เช่น กำลังถือท้ายเรือยนต์ เรือกลไฟ เป็นต้น ก็ไม่ต้องแสดงเคารพ เป็นแต่นั่งตรงก็พอแล้ว ถ้ายืนถือพวงมาลัยได้ก็ยืนจะงามดี
๑๐. คนขับรถราง ถ้ารถรางหยุดอยู่ให้ยืนตรงนิ่ง และทำวันทยหัตถ์ เพราะมีเครื่องแบบ ถ้ารถกำลังแล่น ก็เบาลง แล้วขับต่อไป ไม่ต้องแสดงความเคารพ เพราะจะเป็นอันตราย ถ้าประสงค์จะแสดงเคารพก็ให้ถอดหมวกพร้อมกับคนอื่นๆ ได้เป็นการแสดงน้ำใจรักชาติยิ่ง
๑๑. ถ้าอยู่ในยานพาหนะที่ยืนให้ไม่ได้ให้นั่งตรง คือ นั่งนิ่งวางมือไว้ข้างหน้า หรือข้างตัว วางเท้าชิดกัน ถ้าสวมหมวกเครื่องแบบทำวันทยหัตถ์ ถ้าสวมหมวกอื่นให้ถอดหมวกวางไว้บนตัก
๑๒. ถ้านั่งหรือยืนไม่ได้ เช่น คนนอนเจ็บ ให้ยกมือไหว้
๑๓. ถ้ากำลังกินข้าวอยู่ ให้ลุกขึ้นยืนตรง ทำการเคารพ
๑๔. ถ้ากำลังซื้อ หรือขายของอยู่ในตลาด ในห้างร้านให้ลุกขึ้นยืนตรง ทำการเคารพ
นอกจากนั้นแล้วรายการสนทนานายมั่น-นายคงยังได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่การเคารพธงชาติของคนไทยกลุ่มต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และท้องถิ่นต่างๆ เช่นกล่าวถึงการเชิญชวนชาวจีนให้เคารพธงชาติไทยด้วย ดังจะเห็นได้จากการสนทนาในวันที่ ๒๗ กันยายน นายมั่นได้กล่าวถึงการลงข่าวชักชวนพี่น้องชาวจีนในประเทศไทย ให้ร่วมมือกับชาวไทยในการเคารพธงชาติในหนังสือพิมพ์ตงง้วน ซึ่งการกล่าวถึงข่าวนี้ก็เพื่อเป็นการเชิญชวนชาวจีนให้ทำความเคารพธงด้วยนั่นเอง โดยได้กล่าวถึงเนื้อความชักชวนในหนังสือพิมพ์ตงง้วนว่า
"ชาวจีนได้มาหยู่ร่วมกับคนไทยเกือบ ๑๐๐๐ ปีแล้ว ร่วมกันทั้งทางวัธนธัมและความเปนหยู่ของชีวิต เราเข้าใจดีต่อกัน ไม่เคยผิดพ้องหมองใจกัน เขาเคารพกฎหมาย และคำสั่งของผู้เปนเจ้าของประเทสหย่างเคร่งครัด แม้พระราชบัญญัติวัธนธัมของไทย ชาวจีนก็ได้ร่วมมือปติบัติด้วยเปนลำดับมา ชาวจีนหยู่ในนี้ได้รับความคุ้มครองเสมอด้วยคนไทย ชาวจีนจึงมีหน้าที่เคารพทงชาติไทย ชาวจีนในประเทศไทยอยู่ใต้ร่มโพธิสมภารของไทยด้วยสันติสุข ประเทสไทยยังดำรงเอกราชหยู่ตราบใด พี่น้องจีนในนี้ก็มีความสุขอยู่ตราบนั้น ฉะนั้นชาวจีนจึงต้องถือเปนหน้าที่สำคันที่จะต้องสแดงความเคารพต่อทงชาติไทย ที่เปนเครื่องหมายแห่งความเปนเอกราช จะพร้อมกันเคารพทงชาติไทย และเคารพหย่างสูงสุดด้วย"
ส่วนในท้องที่ต่างจังหวัดนั้น นายมั่น-นายคงได้รับแจ้งว่าได้มีการเคารพธงชาติกันอย่างพร้อมเพรียงในหลายจังหวัด โดยคณะกรมการจังหวัด และกรมการอำเภอหลายแห่งได้วางระเบียบการเคารพธงชาติ และวิธีให้สัญญาณการเคารพธงชาติกันอย่างเหมาะสมกับสภาพของท้องที่นั้นๆ รวมทั้งได้ประชุมชี้แจงหรืออบรมข้าราชการ และราษฎรในเรื่องการเคารพธงชาติ และตามโรงเรียนก็ได้มีการอบรมเรื่องความหมาย ความสำคัญ และวิธีการเคารพธงชาติกันอย่างแพร่หลาย การกล่าวถึงการเคารพธงชาติตามจังหวัดต่างๆ เหล่านี้ ก็เพื่อจะให้เกิดเป็นตัวอย่างให้แก่จังหวัดที่ยังมิได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังเรื่องการเคารพธงชาตินั่นเอง
ในท้ายบทสนทนา ยังได้มีโคลงเกี่ยวกับธงชาติ ว่า
"ทงชาติยังหยู่ยั้ง ยืนยง
ไทยก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
ทงชาติวินาสลง เราหยู่ ได้รือ
ไทยก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นดินไทย"
หลังจากช่วงเดือนกันยายนที่มีการรณรงค์เรื่องการเคารพธงชาติกันอย่างเต็มที่แล้ว ในรายการนายมั่น-นายคงก็ยังคงนำเรื่องความสำคัญของธงชาติ และการเคารพธงชาติขึ้นมากล่าวถึงให้เข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นด้วย เช่น ในรายการวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ในขณะนั้นกรุงเทพฯ ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ นายมั่น-นายคงได้กล่าวถึงการเคารพธงชาติของประชาชนในระหว่างน้ำท่วมด้วย คือ
"...ในระหว่างเวลาน้ำท่วมนี้ ไทยเราได้ทำการอย่างประหลาดที่สุดเรื่องหนึ่งคือทั้งๆ ที่เราต้องสู้กับน้ำท่วม ต้องห่วงเรื่องการกินการหยู่ ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงสัตว์พาหนะ และอะไรต่อมิอะไรจิปาถะ เรายังไม่ลืมเรื่องเคารพทงชาติ ดูเหมือนเรายิ่งลำบากเท่าไร เรายิ่งเคารพทงชาติเคร่งครัดยิ่งขึ้น...มีภาพอยู่ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นว่าในคราวน้ำท่วมนี้ เราเคารพทงชาติกันทุกวิธีเท่าที่จะกะทำได้ ในภาพนั้นมีรูปรถรางข้างถนนที่น้ำกำลังท่วม คนในรถรางยืนเคารพทงชาติ ถัดจากรถรางมีรถกะบะ คนบนรถนั้นยืนเคารพธงชาติ ถัดจากนั้นมีเรือเล็กลำหนึ่ง คนที่นั่งในเรือคนหนึ่งมีเครื่องแบบนั่งวันทิยะหัตถ์ อีกคนหนึ่งเปนคนพายไม่มีเครื่องแบบถอดหมวก หนีบด้ามพายไว้ในรักแร้ ทอดใบพายไปข้างหลัง เปนการเคารพทงชาติ ถัดจากนั้นไปมีคนบุกน้ำแค่เอวบ้าง แค่หัวเข่าบ้าง กำลังยืนตรงทำความเคารพทงชาติ ส่วนในตึกไกล้ๆ ก็มีคนยืนหน้าตึกทำการเคารพทงชาติ"
พร้อมกันนั้นนายคงได้สรุปลงตอนท้ายด้วยว่า "ฉันเห็นว่า การเคารพธงชาติของเราได้กลายเป็นประเพณีประจำชาติอย่างมั่นคงแล้ว..."
มีงานเขียนของผู้ที่อยู่ร่วมสมัย เขียนถึงการเคารพธงชาติของประชาชนในยามสงครามช่วงน้ำท่วมใหญ่ไว้ ไม่ต่างจากที่รายการนายมั่น-นายคงกล่าวถึง คือ "ทุกเช้าเวลา ๐๘.๐๐ น. เพลงชาติจากวิทยุกระจายเสียงบรรเลงลั่น ประชาชนจะยืนนิ่งแช่น้ำเคารพกันทั้งถนน ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าก็งงเหมือนกัน แต่เมื่อไทยหยุดกันอย่างนั้นญี่ปุ่นก็พลอยหยุดไปด้วย"
นอกจากนั้นยังมีเพลงรำวงเรื่องการเคารพธงชาติร้องกันในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ว่า
"แปดนาฬิกา ได้เวลาชักธง
เราจะต้องยืนตรง เคารพธงชาติไทย
เคารพธงชาติไทย
ต้องสนับสนุน ป. พิบูลสงคราม
เราจะต้องทำตาม เราจะต้องทำตาม
คำผู้นำชาติไทย"
ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น ก็ให้ความสำคัญกับธงชาติและการเคารพธงชาติอย่างมาก และเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะคอยสังเกตเมื่อเวลาที่ได้ไปตรวจราชการ หากพบข้อบกพร่องเกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่องการชักธงชาติ และเคารพธงชาติ ก็จะได้มาบอกกล่าวให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแก้ไขต่อไป ดังจะเห็นได้จากบทความที่แสดงทางวิทยุกระจายเสียงของ "สามัคคีชัย" วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เรื่อง "อะไรบ้างที่ไม่มีคู่" กล่าวตำหนิเจ้าหน้าที่ข้าราชการในท้องที่ต่างๆ กล่าวคือ
"...ที่ปทุมธานี ฉันเห็นเสาทงของจังหวัดนี้เปนที่น่าสังเกต ที่ตัวสาลากลางมีเสาทงสามเสา แต่บางเสาจะเอนล้ม ไม่มีไครจับไห้ตรง ที่ทำงานแห่งหนึ่งทางเหนือของสาลากลางจังหวัดเขาปักเสาทง-ทลุหลังคาขึ้นไป กระเบื้องแตกหลายแห่ง เวลาฝนตกก็รั่ว ฉันเห็นแล้วนึกว่าเสาทงทุกบ้านเป็นเช่นนี้ เวลาฝนตกคงไม่ได้นอนกันแน่ แม้เสาทงก็ไม่เอาไจไส่กัน ทำไห้ฉันนึกถึงการทำงานพายไต้เสาทงจะเปนหย่างไร ถ้าไม่เอนเอียงหย่างเสาทงก็เปนบุญของชาติ ที่อำเพอสามโคกฉันเอาเรือไปจอดฝั่งตรงข้ามกับอำเพอ ดูเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัถมนตรี นำข้าวสารไปแจกเมื่อจวน ๘ นาลิกา พวกเราไนเรือเตรียมเคารพทง ไนเรือมีวิทยุจึงเปิดดัง เพื่อช่วยราสดรแถวนั้นไห้เคารพทงชาติ แต่ยังไม่ทันถึง ๘ นาลิกา ประมานอีกสักสิบนาทีเห็นจะได้ ทงประจำอำเพอก็ขึ้นสู่เสา เห็นจะโดยคนงานสักคนหนึ่ง แต่ฉันไม่เห็นเพราะไกลมาก แต่คงไม่มีพิธีอะไร พอ ๘ นาลิกาเพลงชาติวิทยุบันเลง พวกเราไนเรือก็ยืนทำความเคารพกันหมด พวกไนเรือของสำนักนายกที่จอดหน้าอำเพอสามโคกก็สแดงการเคารพด้วย คงจะได้ยินเพลงชาติทางวิทยุไนเรือของฉัน...พูดถึงการเคารพทงมีคนเล่าไห้ฟังว่าที่ลำพูนเมื่อถึงเวลาเคารพทงข้าหลวงยังนอนหยู่ เลยไม่มีไครเคารพทงกัน ที่เชียงไหม่เขาว่าข้าหลวงก็ไม่เอาไจไส่ ไครจะทำหรือไม่ทำการเคารพก็ช่าง..."
นอกจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังได้เขียนโคลงเกี่ยวกับธงไตรรงค์ เพื่อให้กำนัน และผู้ใหญ่บ้านตามท้องที่ต่างๆ ได้นำไปท่องอบรมสั่งสอนประชาชนในพื้นที่ของตน โดยถือเป็นของขวัญสำหรับวันที่ ๔ ของปีใหม่ (๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖) เพื่อช่วยให้ประชาชนเห็นความสำคัญของธงชาติ โดยกล่าวถึงธงไตรรงค์ว่า
"...(ต้นฉบับไม่ชัด) ไตรรงค์
ผืนแผ่นห้าริ้วทง พ่อเจ้า
อีกแม่รักยิ่งพงส์ พันธุ์เผ่า ไดเอย
ลูกจุ่งพิทักส์เฝ้า ทุกเช้าค่ำเทอน
...
อิสระไทยปกป้อง ทงไทย
ทงโบกสบัดหนได ย่อมรู้
สกุลไทยหยู่เย็นไจ สงบสุข
อิสระ, ทง, ไทยสู้ จวบสิ้นตัวตาย..."
เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
และแผ่ขยายมหาอาณาจักรไทย Pan-Thai-ism
อดีตอันรุ่งโรจน์และการสูญเสียของชนชาติไทยอันมีประวัติศาสตร์สืบเนื่องมายาวนาน ถูกนำมาใช้เพื่อหลอมรวมคนเชื้อชาติไทยให้มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยความผูกพันทางเชื้อชาติเป็นสำคัญ ซึ่งอาจเห็นได้อย่างชัดเจนจากการเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม ให้เป็นประเทศไทย
นอกจากจะทำให้ชื่อประเทศตรงกับชื่อเชื้อชาติของพลเมือง (ส่วนใหญ่) แล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนความรักประเทศ ระลึกถึงความเป็นไทย และ "เป็นการปลูกความสามัคคีระหว่างชาวไทยในประเทศนี้กับชาวไทยที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศอื่นให้มีความรักใคร่กันยิ่งขึ้น"
นอกจากนั้นแล้วเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แห่งการสูญเสียดินแดน ให้กับการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก เป็นเหตุการณ์ที่ยังฝังอยู่ในความรู้สึกคนร่วมสมัยจำนวนไม่น้อย โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไทยต้องสูญเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และดินแดนอื่นๆ ให้กับฝรั่งเศส ที่คุกคามสยามถึงขั้นนำเอาเรือปืนบุกแล่นฝ่าป้อมปืนที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาประชิดถึงตัวพระราชวังได้ และทำให้รัฐบาลสยามต้องยินยอม "เสียดินแดน" บางส่วนไป เพื่อแลกกับเอกราชและอำนาจอธิปไตยของสยามเอาไว้ สยามจำเป็นต้องยกดินแดนให้กับฝรั่งเศสรวม ๕ ครั้งด้วยกัน คือ
๑. ใน พ.ศ. ๒๔๑๐
เสียพื้นที่ที่เป็นประเทศเขมรส่วนใหญ่ และเกาะ ๖ เกาะ
๒. เสียแคว้นสิบสองจุไทย
๓. เสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
๔. เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง และตรงข้ามปากเซ
๕. เสียจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ และต้องเสียดินแดนที่เรียกว่าหัวเมืองเงี้ยวและหัวเมืองตะวันออก รวมทั้งรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้อังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ และ พ.ศ. ๒๔๕๑
สำนึกแห่งอดีตของคนทั่วไป นอกจากจะรับรู้ถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย ยังได้รับอิทธิพลจากละครอิงประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดในการเรียกร้องดินแดนที่เคยสูญเสียไปคืนมา เช่น เรื่องราชมนู (พ.ศ. ๒๔๘๐) ที่กล่าวถึงชาวเขมรว่าเป็นคนไทยเช่นเดียวกัน เพียงแต่เข้าไปอยู่ในดินแดนของขอมโบราณ จึงเรียกว่าชาวเขมรต่อมา หรือเรื่องเจ้าหญิงแสนหวี (พ.ศ. ๒๔๘๑) ที่กล่าวถึงการมีเชื้อชาติ และวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างชาวไทยใหญ่ (ในแคว้นชานของพม่า) และชาวไทยน้อย ซึ่งก็คือไทยสยาม ถึงแม้ว่าจะแยกจากกันแต่ก็คงเป็นไทยเหมือนกัน
ในส่วนของการดำเนินการทางการเมืองเกี่ยวกับดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เกิดจากในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ก่อนที่จะเกิดสงครามในยุโรป ฝรั่งเศสได้ยื่นเสนอขอทำสัญญาไม่รุกรานกับไทย ส่วนรัฐบาลไทยได้ขอให้ฝรั่งเศสนำเอาปัญหาชายแดนด้านแม่น้ำโขงขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติทางกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ยังไม่มีการเจรจาตกลงกันจนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อเยอรมนี ฝรั่งเศสจึงได้มาขอร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในกติกาสัญญาไม่รุกราน อันจะทำให้กติกาสัญญานี้มีผลบังคับใช้ในทันที
รัฐบาลไทยเกรงว่าอินโดจีนของฝรั่งเศสอาจจะต้องเสียให้กับญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพล และย้ายกองทหารเข้ามาประจำการในอินโดจีนแล้ว ในวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยจึงถือโอกาสยื่นข้อเสนอ ๓ ประการเพื่อแลกกับคำขอของรัฐบาลฝรั่งเศส คือ
๑. วางแนวเส้นเขตแดนตามลำแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
๒. ปรับปรุงเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ตั้งแต่ทิศเหนือจรดใต้ จนถึงเขตแดนกัมพูชา และให้ไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซกลับคืนมา และ
๓. ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนมีการเปลี่ยนแปลงสูญเสียอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้แก่ไทย
ปรากฏว่าข้อเสนอของไทยได้รับการปฏิเสธจากฝรั่งเศส ในวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยฝรั่งเศสยืนยันจะขอทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกับไทย และให้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเท่านั้น
ความล้มเหลวในการเจรจากับฝรั่งเศส ทำให้รัฐบาลทำการรณรงค์เรื่องการเรียกร้องดินแดนคืนในหมู่ประชาชน อันจะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลสามารถใช้กำลังทหารเข้าไปต่อสู้เพื่อนำดินแดนคืนมาได้ ก่อนที่สงครามอินโดจีนจะเริ่มขึ้นประมาณ ๖ เดือน คณะผู้จัดรายการสนทนานายมั่น-นายคงได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ให้โฆษณาหยั่งเสียงประชาชนดูว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลจะเรียกร้องเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา
การโฆษณาในเรื่องนี้ สังข์ พัธโนทัย บันทึกไว้ว่า
"ย่อมไม่มีอะไรดีเท่ากับหยิบยกเอาพฤติการณ์ของฝรั่งเศสที่ทำแก่ประชาชนคนไทยในสมัยที่พวกผิวขาวกำลังแผ่จักรวรรดิในเอเชียขึ้นมาเล่าให้ประชาชนฟัง โดยเฉพาะพฤติการณ์ของ ม.ปาวี และกรณีที่ฝรั่งเศสปิดอ่าวไทยเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ พอนายมั่น-นายคงโฆษณาเรื่องนี้ได้พักเดียวก็ได้เห็นการเดินขบวนขนาดใหญ่ของประชาชนและนักศึกษาผ่านหน้ากรมโฆษณาการไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้คณะเราเกิดกำลังใจที่จะดำเนินการโฆษณาการปลุกใจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไป"
ดินแดนดังกล่าวที่ไทยต้องการเรียกร้องให้ได้คืนมานั้นรับรู้กันในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าไม่ได้เป็นเพียงดินแดนที่เคยอยู่ในการปกครองของราชอาณาจักรไทย แต่เป็นดินแดนของคนชาติไทยที่ต้องถูกปกครองโดยชาติอื่น กล่าวคือ
"...ดินแดนเหล่านั้นเป็นดินแดนของเราจริงๆ ไม่ใช่เมืองขึ้น ไม่ใช่อาณานิคม ไม่ใช่ต่างแดน แต่เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทย เลือดไทย ซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อไข มีชีวิตจิตต์ใจและมีวัฒนธรรมอันเดียวกับพวกเรา รวมความว่าเป็นเลือดเนื้อของเราแท้ๆ ชนชาติที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อเดียวกับเรามีจำนวน ๔ ล้านคน ต้องเสียอิสสรภาพต้องตกอยู่ในอำนาจบังคับและความกดขี่ข่มเหงอย่างทารุณ..."
ดังนั้นความต้องการที่จะได้ดินแดนคืนจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกียรติยศของชาติ ที่ไม่สามารถ "ทนดูเพื่อนร่วมชาติของตนตกอยู่ในความบังคับกดขี่ของชาติอื่น"
นโยบายการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสของรัฐบาล ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน จากการริเริ่มของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักเรียนเตรียมปริญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ คน โดยขบวนที่ประกอบด้วยธงไตรรงค์ และแผ่นป้ายเขียนคำแสดงความต้องการได้ดินแดนคืน เช่น "ไทยยอมตาย เมื่อไม่ได้ดินแดนคืน" หรือ "เราต้องรบ ถ้าไม่คืน" ร่วมกับเสียงตะโกนของผู้เดินขบวนได้เคลื่อนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหยุดที่หน้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม
นายกรัฐมนตรีได้มาให้โอวาทแก่ผู้เดินขบวน และย้ำว่าไทยต้องการเรียกร้องสิ่งที่เป็นของตนคืนมาเท่านั้น ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ไทยกำลังเรียกร้องนั้นก็เป็นพี่น้องเลือดเนื้อชาวไทยด้วยกัน
การเดินขบวนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้มีการเดินขบวนขึ้น และในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการเดินขบวนของนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งนักเรียนเตรียมปริญญาขึ้นอีกครั้งหนึ่งด้วย
หลังจากวันที่ ๘ ตุลาคมเป็นต้นมาก็ได้มีการเคลื่อนไหวเดินขบวนของกลุ่มองค์กรต่างๆ อีกมากมาย เช่น นักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์แห่งโรงพยาบาลศิริราช นักเรียนและครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนอำนวยศิลป์ หรือนักเรียนฝึกหัดครูในเขตกรุงเทพฯ ๑๔ โรงเรียน รวมทั้งมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ของประชาชนในพระนคร ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งการเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลนี้ได้ขยายไปยังจังหวัดต่างๆ อีกด้วย
การเคลื่อนไหวของประชาชนได้กลายเป็นมติมหาชน ที่สามารถทำให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงนำดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา คือการต่อสู้ด้วยกำลังทหาร
บรรยากาศทางการเมืองที่สร้างความตึงเครียดให้กับทั้งฝ่ายไทยและฝรั่งเศสนำไปสู่การปะทะกันตามชายแดน และกลายเป็นการรบที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ หลังจากการที่ฝรั่งเศสเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครพนม แต่ก็เป็นการรบแบบไม่มีการประกาศสงคราม จนถึงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (มีการเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินใหม่ โดยเริ่มนับวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ และทำให้ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หมดลงในเดือนธันวาคม โดยมีเพียง ๙ เดือน) ทหารฝรั่งเศสได้เข้าบุกโจมตีอำเภออรัญประเทศอย่างรุนแรง รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔
การรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสดำเนินไปประมาณเกือบหนึ่งเดือน กองทัพไทยสามารถบุกเข้ายึดดินแดนกลับคืนมาได้บางส่วน รายการสนทนานายมั่น-นายคงคอยรายงานความเคลื่อนไหวของสงครามอินโดจีนที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ทุกระยะ อาทิ ในวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รายการกล่าวว่า
"...แม้แต่ข่าวจากฮานอยเองก็สารภาพว่า ไทยได้อาณาเขตต์ส่วนมากของกัมพูชาแล้ว ทหารอินโดจีนฝรั่งเศสต่อต้านทหารไทยไม่ไหว เรา...จับธงไชยเฉลิมพลฝรั่งเศสได้ จับเชลยศึกทั้งผิวขาวผิวดำ และได้อาวุธยุทธภัณฑ์ขนกับหลายคันรถ...เวลานี้ความมีชัยเป็นของเราแล้ว ธงไตรรงค์ของไทยได้ปลิวสะบัดในอินโดจีน ถูกต้องตามพิธีการตั้งแต่วันที่ ๑๗ เดือนนี้แล้ว และประชาชนดินแดนที่ยึดได้ต่างก็มาต้อนรับธงไตรรงค์ของเราอย่างเอิกเกริก ไม่เหมือนเมื่อครั้งกระโน้น เมื่อเวลาชักธงชาติของเราลง ชักธงฝรั่งเศสขึ้นแทน ประชาชนต่างก็เงียบสงบและเหงาทุกหนทุกแห่ง..."
ดังนั้นในสงครามอินโดจีน ธงไตรรงค์ที่ชักขึ้นในดินแดนของฝรั่งเศสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการได้ดินแดนคืนกลับมาเป็นของสยามอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง นายมั่น-นายคงยังกล่าวต่อไปว่า
"...ธงไตรรงค์ของเราได้ชักขึ้นแล้วในอินโดจีน เราจะไม่ยอมปลดลงเป็นอันขาดตราบใดที่เราดำรงชาติไทยอยู่ ธงของเรา ดินแดนของเรา พี่น้องเลือดเนื้อไทยของเรา ทั้งสามอย่างนี้เรารักเสมอชีวิต อยู่ที่ไหนต้องอยู่พร้อมกันทั้งสามประการ จะยอมให้ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ บัดนี้พี่น้องชาวอินโดจีนของเราตามดินแดนที่เรายึดได้นั้นมีพร้อมแล้ว ทั้งธงไทย ดินแดนไทย พลเมืองไทย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ก็มีโอกาสที่จะได้ช่วยกันสร้างสมความเจริญก้าวหน้า โดยไม่มีอุปสรรคจากภายนอกอะไรมาขัดขวาง..."
สงครามในอินโดจีนจึงเป็นการเพิ่มความสำคัญและความรู้สึกรักและหวงแหนในธงไตรรงค์ให้เกิดขึ้นในประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่การสู้รบจะถึงจุดแตกหัก รู้ผลแพ้ชนะ ญี่ปุ่นก็ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้ยุติการรบ ซึ่งในที่สุดทั้งไทยและฝรั่งเศสก็ตกลงยินยอมให้มีการเจรจาทำความตกลงระงับข้อพิพาท โดยกระทำกันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ผลของการเจรจาเป็นไปตามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตามอนุสัญญาฉบับนี้ ประเทศไทยได้ดินแดนกลับคืน และได้ยกดินแดนดังกล่าวขึ้นเป็นจังหวัดของไทย คือ
๑. ยกแคว้นหลวงพระบาง บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขง ขึ้นเป็นจังหวัดลานช้าง
๒. ยกแคว้นนครจัมปาศักดิ์ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ขึ้นเป็นจังหวัดจำปาศักดิ์
๓. ยกท้องที่เมืองเสียมราฐ ขึ้นเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม และ
๔. ยกท้องที่เมืองพระตะบอง ขึ้นเป็นจังหวัดพระตะบอง
อาจกล่าวได้ว่า จุดสูงสุดในเชิงสัญลักษณ์ของชัยชนะในสงครามอินโดจีน ก็คือการที่ไทยสามารถนำเอาธงชาติไทยกลับไปปักปลิวสะบัดอยู่ในดินแดนที่ได้กลับคืนมา ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ กล่าวคือหลังจากที่ไทยต้องยกดินแดนบริเวณ "มณฑลบูรพา" ในกัมพูชาให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระยาคธาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์ ต่อมาได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์) ผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา ต้องอพยพครอบครัวเดินทางกลับกรุงเทพฯ และต้องอัญเชิญธงช้างซึ่งเป็นธงชาติสยามสมัยนั้นกลับคืนสู่ประเทศด้วย พระยาคธาธรธรณินทร์นี้ ก็คือบิดาของหลวงโกวิทอภัยวงศ์ หรือพันตรีควง อภัยวงศ์ (ตอนอพยพกลับกรุงเทพฯ นั้นพันตรีควงเพิ่งอายุได้เพียง ๕ ขวบ) และหลังจากการเจรจาได้ดินแดนเมืองพระตะบองกลับคืนมาแล้ว พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนทางด้านบูรพา ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการคือ พันเอกหลวงวีระวัฒนโยธิน พันเอกหลวงยอดอาวุธ พันเอกหลวงราญปฏิเวธ หม่อมเจ้าวงศานุวัฒน์ เทวกุล พันตรีพูล มาใช้เวทย์ นายอุดม บุญยประกอบ และนายสง่า นิลกำแหง
ก่อนเดินทางไปรับมอบดินแดนคืน พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ประธานคณะกรรมการ ได้กล่าวคำอำลานายกรัฐมนตรีเพื่อจะไปรับมอบดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ว่า ตนรู้สึกขอบใจนายกรัฐมนตรีที่ให้ความไว้วางใจและให้เกียรติแต่งตั้งตนเป็นประธานอำนวยการในคราวนี้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับตนอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ
"...เมื่อ ๓๔ ปีมาแล้ว ท่านบิดาของกระผมได้เป็นผู้อันเชิญธงไทยกลับสู่ประเทศไทยด้วยอาการอันนองน้ำตา และในวาระนี้กระผมผู้เป็นบุตรได้มีโอกาสเชิญธงไทยกลับไปสู่ถิ่นเดิม ซึ่งกระผมรู้สึกว่า นอกจากจะเป็นการสนองเกียรติประเทศชาติ และรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการสนองความปรารถนาอันแรงกล้าของท่านบิดาอีกด้วย"
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวตอบรับคำขอบคุณของประธานรับมอบดินแดนคืนในโอกาสนี้ว่า
"ข้าพเจ้าขอมอบธงช้างอันเป็นธงไทยเดิม ซึ่งท่านเจ้าคุณบิดาของท่านรัฐมนตรีได้นำกลับคืนมาสู่ประเทศไทยเมื่อ ๓๔ ปีที่แล้วมา พร้อมกับธงไตรรงค์อันเป็นธงไทยประจำชาติของเราในปรัตยุบันนี้ให้แก่ท่านและให้แก่จังหวัดต่างๆ ในเวลาเดียวกันนี้ เพื่อนำไปประดิษฐานในดินแดนใหม่ของเรา เป็นประจักษ์พยานว่าพวกเราได้สร้างความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาให้แก่มวลพี่น้องชาวไทยในดินแดนเดิม ซึ่งได้รับโอนมาใหม่นั้น และเป็นเครื่องหมายแห่งความกว้างใหญ่ไพศาลของชาติไทยในปรัตยุบันนี้"
ต่อมาในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวให้โอวาทแก่บรรดาทหารที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการรับมอบดินแดนแห่งราชอาณาจักรเดิมของไทยว่า
"เมื่อพี่น้องทหารทั้งหลายได้เข้าสู่ดินแดนใหม่แห่งราชอาณาจักรเดิมของไทยนี้แล้ว ท่านจะได้พบธงช้างกับธงไตรรงค์คู่กัน ชักขึ้นประดิษฐาน ณ สถานที่ราชการต่างๆ ขอให้พี่น้องทหารทั้งหลายจงมีความอิ่มเอิบใจและให้ระลึกไว้ว่า การที่ธงไทยทั้งเก่าและใหม่ได้ปรากฏขึ้นในดินแดนเหล่านั้น ก็ด้วยความเสียสละแห่งเลือดเนื้อและชีวิตของเรา เราได้นำชีวิตและเลือดเนื้ออันเป็นของสุดสงวนไปซื้อมาให้แก่มวลพี่น้องชาวไทยทั้งชาติ นับว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่ของชายชาติทหารสำเร็จครบถ้วนแล้วทุกประการ..."
นอกจากนั้นชาวเมืองพระตะบองก็ยังได้จัดหาธงไตรรงค์กันอย่างซ่อนเร้น (เนื่องจากฝรั่งเศสยังคงปกครองอยู่) เพื่อที่จะต้อนรับคณะที่จะเข้ามารับมอบดินแดน ซึ่งในเช้าวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ชาวเมืองต่างก็ชักธงไตรรงค์กันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งเป็นที่น่าปีติยินดีสำหรับคณะผู้รับมอบดินแดน และเมื่อพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้นำ "ธงช้าง" อันเป็นธงชาติสยามเดิมไปชักขึ้นที่หน้ามุขตึกที่พัก ซึ่งเป็นที่ทำการของคณะกรรมการรับมอบดินแดนในวันที่ ๒๖ กรกฎาคมนั้น "มีไม่น้อยคนที่ยืนดูด้วยน้ำตาคลอ"
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ญี่ปุ่นได้ขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังพม่า และเพื่อเข้าไปตีโอบล้อมประเทศจีนขึ้นไปจากทางภาคใต้อีกทางหนึ่ง (ตอนนั้นญี่ปุ่นได้บุกเข้าจีนจากทางภาคเหนือโดยมีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศแมนจูเรีย ซึ่งมีรัฐบาลของจักรพรรดิปูยีเป็นรัฐบาลหุ่น และเป็นผลให้พรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุติสงครามกลางเมือง และหันมาร่วมมือกันต่อสู้ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น) โดยญี่ปุ่นได้ยื่นขอเดินทัพผ่านไทยในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พร้อมกับในเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม กองทหารญี่ปุ่นได้บุกรุกเข้าสู่ประเทศไทยในจังหวัดแถบชายฝั่งทะเล และรัฐบาลไทยยินยอมตกลงให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ รวมทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และต่อมาในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีสัญญาให้ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร พร้อมกับชักธงชาติของทั้งสองประเทศขึ้นคู่กันเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมมือกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นด้วย ดังที่รายการสนทนานายมั่น-นายคง วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กล่าวว่า
"เวลานี้เราประสานมือกับญี่ปุ่นแล้ว...อย่างวันนี้ที่พี่น้องของเราได้ชักธงชาติไทยกับธงญี่ปุ่นขึ้นคู่กัน ก็นับว่าได้แสดงการผูกมิตรเป็นอย่างดี...วันนี้ตามเคหสถานบ้านเรือนและที่ทำการต่างๆ แลไปทางไหนก็เห็นแต่ธงทั้งสองชาติขึ้นสลอนทีเดียว นี้เป็นการแสดงความผูกพันมิตรอย่างสำคัญ เพราะตั้งแต่เราเกิดมา ก็ไม่เคยชักธงชาติใดขึ้นคู่กับธงชาติของเรา นอกจากธงชาติของญี่ปุ่น ซึ่งเราได้ทำมา ๒ คราว คราวหนึ่งเมื่อลงนามกันในสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เราชักธงชาติคราวนั้นเป็นการแสดงว่าเรารู้สึกขอบใจญี่ปุ่นที่ได้ช่วยไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทให้ คราวนี้เราชักธงคู่กันอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นที่ระลึกสำคัญที่เราทั้งสองชาติได้เป็นพันธมิตรกันในทางทหาร"
และกล่าวถึงพิธีการลงนามกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๑ ธันวาคมว่า
"สิ่งแรกที่ทุกๆ ท่านที่ไปในงานสะดุดตาก็คือ ธงชาติผืนใหญ่ทั้งของไทยและของญี่ปุ่นประดิษฐานอยู่คู่กันที่หน้าพระอุโบสถ ทำให้ผู้ที่ไปในงานพิธีแน่ตระหนักว่า มหามิตรผู้ถือพุทธศาสนาทั้งสองประเทศนี้ จะได้ร่วมมือกันปฏิบัติตามสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้เป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง"
หลังจากนั้นในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่ญี่ปุ่นได้บุกพม่าขึ้นไปทางภาคเหนือเพื่อปิดล้อมจีน รัฐบาลไทยก็ได้ส่งกองทัพบูรพาเข้าไปร่วมรบร่วมต่อสู้
รายการสนทนานายมั่น-นายคงได้กล่าวถึงเรื่องการเข้ายึดเชียงตุงของกองทัพไทยไว้อย่างน่าสนใจ ในการกระจายเสียงเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยกล่าวเริ่มต้นบทสนทนาว่า วันนี้เป็นวันที่รู้สึก "จเรินตาจเรินใจเสียเหลือเกิน" เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ธงชาติปลิวไสวทุกทิศทาง
นายมั่น-นายคงยังกล่าวว่า ชาวต่างประเทศที่อยู่ในเมืองไทยก็ได้ร่วมแสดงความยินดีด้วย โดยได้ "ชักธงชาติไทยกับธงชาติของเขาขึ้นคู่กัน"
ส่วนสาเหตุที่ไทยรุกเข้าไปในแคว้นไทยใหญ่นั้น นอกจากจะเป็นไปตามกติกาสัญญาพันธไมตรี ที่มีร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแล้ว เมืองเชียงตุงเองก็เคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน โดยนายมั่น-นายคงกล่าวว่า "เมืองเชียงตุงที่เรายึดได้เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนนี้ อันที่จริงก็เป็นดินแดนเดิมของอานาจักรไทยนั่นเอง" เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวถึงการเข้ายึดสหรัฐไทยใหญ่
ต่อมาในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๘๖ รายการของนายมั่น-นายคงก็ได้กล่าวถึงการมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์เหนือดินแดนสหรัฐไทยใหญ่ โดยกล่าวถึงบทความของ "ท่านสามัคคีไทย" (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ที่ได้กระจายเสียงทางวิทยุไปแล้ว โดยมีเนื้อหาว่า "สามัคคีไทย" เห็นว่า ในสัปดาห์นี้เป็น "สัปดาห์แห่งโชคชัย" เพราะกองทัพไทยสามารถมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์ที่สหรัฐไทยใหญ่นั่นเอง
นอกจากนั้นแล้วนายมั่น-นายคงยังกล่าวอีกว่า "ไตรรงค์ทงชาติไทยของเราคราวนี้มีชีวิตจิตไจเพิ่มยิ่งขึ้น" ซึ่ง "ท่านสามัคคีไทย" ได้กล่าวไว้ว่า
"ไตรรงค์ ธงชาติไทย มีชีวิตขึ้นได้เพราะรบ กินหยู่ วัธนธัม เมื่อกองทัพไทยรบชนะเช่นนี้แล้ว ไตรรงค์ทงชาติไทยก็ต้องมีชีวิตสดไสยิ่งขึ้นหย่างแน่นอน ยิ่งมือนักรบผู้กล้าหานของเราถือไปสบัดอยู่ตามชายแดนถิ่นไทยเดิมของพ่อแม่ในสหรัถไทยใหย่ทั่วทุกหนแห่งด้วยแล้ว ทงชาติไทยก็มีชีวิตสดใสยิ่งขึ้นในมือของเผ่าสกุลไทยเอง ไทยในยูนนานก็ได้เห็นทงชาติไทยของเขาอีกวาระหนึ่ง"
นอกจากนั้นเหตุการณ์ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลารอยต่อทางประวัติศาสตร์ ที่จะเชื่อมระหว่างปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ และ "เปนหัวต่อสำคันที่จะเชื่อมโยงไทยภายใต้ความคุ้มครองของพุทธศาสนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กับไทยในแคว้นยูนนานให้สนิทชิดเชื้อกันยิ่งขึ้น"
ยิ่งไปกว่านั้นนายมั่น-นายคงยังกล่าวแทนถึงความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ทางเชียงรุ่งด้วยว่า
"ความรู้สึกเช่นนี้เราหยู่ทางนี้น่ากลัวจะหาคำพูดไห้พอเพียงไม่ได้ ต้องหยู่ทางเชียงรุ่งเองและเห็นทงไตรรงค์รำไรอยู่ข้างหน้าแล้ว จึงจะเล่าถูก ทำไมพี่น้องชาวเชียงรุ่งของเราจะไม่ยินดีล่ะ เมื่อทงไตรรงค์เป็นทงของสกุลไทย เป็นทงของไทยยูนนาน..."
ก่อนจบรายการนายมั่น-นายคงกล่าวบทกล่อมขวัญลูกไทย (เด็กที่เกิดในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖) มีเนื้อหายืนยันความเห็นที่กล่าวไปแล้วว่า
"ลูกเอ๋ย ลูกไทย เกิดมาในสมัยไทยเรืองรุ่ง
ทงชาติไทยแกว่งไกวไนเชียงตุง แล้วเลยพุ่งตรงไปไนยุนนาน
พ่อเอาเลือดทาไว้เพื่อไตรรงค์ ขยายวงสกุลไทยไห้ไพสาล..."
ดังนั้นธงไตรรงค์ในตอนนี้ได้รับการสร้างความหมายโดยรัฐว่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่ธงชาติของประชาชนพลเมืองในชาติไทยและในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังจะเป็นได้ถึงธงชาติของปวงผู้คนที่มีเชื้อสายอยู่ใน "สกุลไทย" กล่าวคือเป็นธงชาติของบรรดาคนเชื้อชาติไทยทั้งหมด ซึ่งรัฐไทยจะต้องนำทัพไปยึดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐไทยในขณะนั้น
กล่าวได้ว่า นี่เป็นจุดสูงสุดของการรณรงค์เกี่ยวกับสำนึกความเป็นชาติที่หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างความเป็นชาติ กับความเป็นธงชาติของธงไตรรงค์ซึ่งใช้ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมไปถึงคนเชื้อชาติไทยในดินแดนต่างๆ ที่อยู่นอกรัฐไทยให้รวมเข้ามาใช้ธงไตรรงค์ร่วมกัน รวมทั้งยังอธิบายด้วยว่าคนเหล่านั้นอยากจะเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ร่วมกับชาติไทย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยหลังจากนั้น
ส่วนการดำเนินการโฆษณารณรงค์เรื่องการเคารพธงชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี การเคารพธงชาติได้กลายเป็นหลักปฏิบัติที่มีระเบียบแบบแผน และเป็นสิ่งที่ประชาชนถือว่าเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในขณะที่นโยบายทางวัฒนธรรมหลายฯ อย่างที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกยกเลิกไป เช่น การห้ามกินหมาก การบังคับให้สวมหมวกออกจากบ้าน การใช้ภาษาไทยแบบใหม่ การบังคับเรื่องการแต่งกาย ฯลฯ แต่เรื่องการเคารพธงชาติเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และยังคงปฏิบัติต่อมา แม้ว่าในปลาย พ.ศ. ๒๔๘๗ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ได้ออก "ระเบียบการชักธงชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๘" ขึ้นใหม่ (ประกาศวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗) แต่ก็ยังมีเนื้อความคล้ายคลึงกับระเบียบการชักธงชาติที่ออกใน พ.ศ. ๒๔๘๓
สังข์ พัธโนทัย ได้เขียนบันทึกไว้ในระหว่างที่ถูกจับขังคุกขณะรอการสอบสวน ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามหลังจากการสิ้นสุดของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้กล่าวถึงการเคารพธงชาติในคุกว่า
"...วันพุธ ได้ยินเสียง ผบก. [ผู้บัญชาการเรือนจำ] สั่งเคารพธงชาติอยู่ที่ระเบียง และได้ยินเสียงแตรวงบรรเลงอยู่ไกลๆ ลุกจากที่นอนขึ้นมายืนตรงอยู่จนสิ้นเสียงเพลงแล้ว ผบก.อธิบายว่า ที่นี่มีการทำพิธีชักธงชาติทุกวัน ชักนึกกระหยิ่มใจว่า ไม่เสียแรงที่นายมั่นจ้ำจี้จำไชพูดอยู่หลายหน ผลอันนี้ยังคงเหลืออยู่ จนตัวผู้พูดเองมาได้รับคำชี้แจงเรื่องการเคารพธงชาติอยู่ในกรงเหล็ก ดูก็ไม่เลวเลย..."
ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถูกจับกุมตัวด้วยนั้น สังข์ พัธโนทัย บันทึกไว้ว่า "...เช้าๆ เย็นๆ ที่โรงพักนี้ เขามีการทำพิธีชักธงชาติขึ้นและลงตามเคย ท่านจอมพลทำความเคารพธงชาติอย่างเข้มแข็งทุกครั้ง ครั้งหนึ่งทำความเคารพแล้วหันหน้ามาทางฉัน พูดเบาๆ ว่า นี่เป็นงานชิ้นหนึ่งที่เราทำกันไว้..."
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้ความสำคัญต่อธงไตรรงค์มากกว่าที่เคยเป็นมา มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจความหมายของธงไตรรงค์ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนเอกราช และอธิปไตยของสยาม ทั้งเป็นสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรักชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธงไตรรงค์ได้เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ เสมือนเคารพต่อชาติตนเอง รวมทั้งมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อแสดงถึงเกียรติยศของธงชาติ และกำหนดให้เกิดพิธีการเคารพธงชาติขึ้นเป็นประจำทุกวัน อันเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบต่อมาจนทุกวันนี้
ชนิดา พรหมพยัคฆ์-เผือกสม
ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 มีนาคม พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 5)
ที่มา : http://www.crma.ac.th/histdept/archives/articles/thai-flag.htm
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น