วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2551

ฟังความหลายๆ ข้าง กรณี ‘ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี’


ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ‘เพลงสรรเสริญพระบารมี’ หรือ Royal Anthem ถือเป็นเพลงปลุกใจชนิดหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ เมื่อราวๆ ค.ศ.1568 หรือ 440 ปีที่แล้ว

เพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลกนี้มีชื่อว่า Het Wilhelmus และถูกแต่งขึ้นเพื่อ ‘ถวายพระเกียรติ’แด่ ‘กษัตริย์วิลเลียมที่ 1’ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ‘บิดา’ แห่งเนเธอร์แลนด์ นับตั้งแต่ครั้งที่พระองค์ทรงนำการสู้รบและพาให้ชาวดัทช์หลุดพ้นจากการปกครองของอาณาจักรสเปน จนกระทั่ง ค.ศ.1932 Het Wilhelmus จึงถูกยกให้เป็น ‘เพลงชาติเนเธอร์แลนด์’ อย่างเป็นทางการ

ส่วนธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยครั้งแรก เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีอื่นๆ ทั่วโลก

แม้เพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยจะถูกใช้ในฐานะ ‘เพลงชาติ’ นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2431-2475 ทว่า ปัจจุบัน การใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีตามระเบียบสำนักพระราชวัง ว่าด้วยการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่างๆ กำหนดให้บรรเลงเพลงสรรเสริญฯ เพื่อรับเสด็จและส่งเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือใช้บรรเลงในงานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์ โดยจะบรรเลงเมื่อเริ่มและจบงาน เป็นการถวายพระเกียรติยศ (1)

ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า จะต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ แต่ก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า โรงหนังหรือโรงมหรสพส่วนใหญ่จะบรรเลงเพลงสรรเสริญฯ ก่อนทุกครั้ง และทางโรงจะขอความร่วมมือจากผู้เข้าชม ด้วยข้อความว่า ‘โปรดยืนถวายความเคารพ’ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ด้วยเหตุนี้ การที่ ‘โชติศักดิ์ อ่อนสูง’ และ ‘ชุติมา เพ็ญภาค’ ไม่ลุกขึ้นยืนระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะเข้าชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในโรงหนังเซ็นทรัลด์เวิลด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2550 ทำให้ ‘นายนวมินทร์ วิทยกุล’ ต่อว่าทั้งโชติศักดิ์และชุติมา พร้อมทั้งใช้วาจาสั่งให้ทั้งสองลุกขึ้นยืน ซึ่งไม่มีผู้ใดทำตาม เป็นเหตุให้นายนวมินทร์ขว้างปาข้าวของใส่คนทั้งคู่ ขณะเดียวกัน คนอื่นๆ ในโรงก็ ‘ปรบมือสนับสนุน’ การกระทำของนายนวมินทร์ ทั้งโชติศักดิ์และชุติมาจึงออกจากโรงภาพยนตร์และโทรแจ้งตำรวจ

จากการสัมภาษณ์โชติศักดิ์ (2) ได้ระบุว่า ตนแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกนายนวมินทร์ทำร้ายร่างกายและบังคับจิตใจ คู่กรณีของโชติศักดิ์จึงแจ้งข้อหากลับ โดยให้เหตุผลว่าโชติศักดิ์และชุติมา ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ ด้วยการไม่ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ ซึ่งนายโชติศักดิ์ได้เข้าพบตำรวจเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาไปเรียบร้อยแล้ว (3)

000

แม้ว่าข้อหา ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ จะเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งของสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแสดงเจตจำนงส่วนบุคคลต่อเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย เพราะหลายประเทศเคยผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ ประเด็นของการไม่ยืนถวายความเคารพต่อเพลงปลุกใจให้รักชาติและกษัตริย์ เป็นชนวนแห่ง ‘โศกนาฏกรรม’ และนำไปสู่การสูญเสียชีวิต แต่ในอีกบางประเทศ เหตุการณ์เช่นนี้นำไปสู่ ‘การเรียนรู้’ ที่จะเคารพต่อสิทธิของบุคคลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงได้ด้วยการรับฟังเหตุผลของทุกฝ่าย รวมไปถึงการตีความบริบทหลายๆ ด้านประกอบกัน

เพลง Kimigayo ซึ่งเป็นเพลงชาติญี่ปุ่น และมีเนื้อหาเชิดชูถวายพระเกียรติองค์จักรพรรดิ์ ถือเป็น ‘กรณีศึกษา’อันดับแรกๆ ของ ‘อารยะขัดขืน’ ที่มีต่อลัทธิชาตินิยม ความจงรักภักดี และขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากเพลงคิมิงะโยะเคยเป็นเพลงปลุกใจที่กองทัพญี่ปุ่นใช้สร้างกระแสชาตินิยมในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านสงครามจึงมองว่าเพลงคิมิงะโยะคือเครื่องมือชวนเื่ชื่อของรัฐบาลผู้ก่อสงคราม ไม่ควรนำเพลงดังกล่าวมาใช้ซ้ำโดยมุ่งหวังนัยยะใดๆ ทางการเมือง เพราะมันคือ ‘บาดแผลทางประวัติศาสตร์’ ที่ยังไม่ได้รับการชำระ นอกจากนี้ เนื้อเพลงคิมิงะโยะยังเป็นการเชิดชูองค์จักรพรรดิ์แห่งญี่ปุ่นให้มีอายุยืนยาวอีกด้วย จึงมีผู้วิจารณ์ว่าเพลงนี้ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันของญี่ปุ่นซึ่งชูธง ‘ประชาธิปไตย’ เป็นหลัก

เมื่อรัฐบาลกำหนดให้คิมิงะโยะเป็นเพลงประกอบพิธีสำคัญทางการศึกษาในปี พ.ศ.2532 ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากครูอาจารย์จำนวนมาก โดย ครูที่ต่อต้านเพลงคิมิงะโยะใช้วิธี ‘นั่งสงบนิ่ง’ ระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงนี้ในพิธีทางการศึกษา ในขณะที่ครูซึ่งไม่ต่อต้านจะลุกขึ้นยืนตรง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ

จนกระทั่งปี พ.ศ.2541 ครูใหญ่ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของฮิโรชิมาถึงกับฆ่าตัวตาย เพราะไม่อาจแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างครูที่ปฏิเสธและครูที่ยอมรับเพลงคิมิงะโยะได้ (5) ทางการญี่ปุ่นจึงกำหนดบทลงโทษครูที่ต่อต้านเพลงคิมิงะโยะขึ้นมาในปี พ.ศ.2542

แต่ไม่ว่าจะถูกลงโทษด้วยการทำภาคฑัณฑ์, ตัดเงินเดือน หรือยกเลิกการต่อสัญญาจ้างกับครูที่ไม่ลุกขึ้นยืนในเวลาที่เปิดเพลงคิมิงะโยะ จำนวนครูซึ่ง ‘เลือกที่จะนั่ง’ ก็ยังไม่หมดไป มาตรการล่าสุดที่รัฐบาลใช้กับครูเหล่านี้จึงเพิ่มความกดดันมากขึ้น นั่นคือการสั่งให้คณะกรรมการของโรงเรียนเฝ้าจับตาูพฤติกรรมของคุณครูทั้งหลายที่ต่อต้านเพลงคิมิงะโยะ และบังคับให้เด็กนักเรียนร้องเพลงนี้ในช่วงเข้าแถวฟังโอวาททุกๆ เช้าด้วย

ในส่วนของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็น ‘ต้นทาง’ ของธรรมเนียมการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ไทยรับเอามาใช้ ก็มีการต่อต้านและขัดขืนเช่นกัน และเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2547 โดย นายเดวิด เมเยอร์ (David Mayer) สมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งเป็นตัวแทนจากเวลส์ ปฏิเสธที่จะยืนขณะที่มีการบรรเลงเพลง God Save the Queen ในพิธีเปิดโรงละคร แม้ว่า God Save the Queen จะเป็นทั้งเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีแด่พระราชินีอังกฤษก็ตาม

เดวิด เมเยอร์ ซึ่งเป็นชาวเวลส์ให้เหตุผลว่า เขาได้ยืนทำความเคารพและร้องตามเมื่อมีการบรรเลงเพลงชาติเวลส์ แต่เขาไม่มีเหตุผลที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อเพลงก็อดเซฟเดอะควีน เพราะการแสดงความสนับสนุนพระราชินีไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำในระบอบประชาธิปไตย

การกระทำของเดวิด เมเยอร์ ทำให้ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และประณามว่าเมเยอร์คือความอับอายของประเทศชาติซึ่ง ‘สิ้นคิด’ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เช่นเดียวกับที่ประธานสภา ‘บ๊อบ ไบรท์’ กล่าวตอบโต้ผู้ที่เรียกร้องให้เขาจัดการ ‘อะไรบางอย่าง’ กับเมเยอร์ ว่า “เราอยู่ในสังคมเสรี...ผมไม่อาจจะครอบงำความรู้สึกนึกคิดหรือทัศนคติของใครๆ ได้” (6)

การ ‘นั่ง’ เพื่อแสดง ‘จุดยืน’ ที่มีต่อเพลงสรรเสริญพระบารมีเกิดขึ้นหลายสิบปีมาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ซึ่งประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับความเป็น ‘ชาติผู้ยิ่งใหญ่’ ของอังกฤษที่พยายามปกครองประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในอดีต

นอกจากนี้ยังมีกรณี ‘โทนี สมิท’ นักกีฬาบาสเกตบอลหญิงจากวิทยาลัยแมนฮัตตันวิล ผู้หันหลังให้กับธงชาติอเมริกาและเพลง Star Spangled Banner ซึ่งเป็นเพลงชาติสหรัฐอเมริกา ขณะที่มีการร้องเพลงเพื่อเปิดและปิดการแข่งขัน ซึ่งสมิทให้เหตุผลว่า เธอเป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายอินเดียนแดง สัญลักษณ์การรวบรวมหมู่ดาวบนธงชาติและเนื้อร้องของเพลงสตาร์สแปงเกิลแบนเนอร์ จึงไม่ต่างจากการนำประวัติศาสตร์อันโหดร้ายที่ชาวผิวขาวกระทำต่อชาวพื้นเมืองในยุคแรกของการสร้างประเทศมาตอกย้ำโดยปราศจากความเข้าใจรากเหง้าของตัวเอง

ผลจากการหันหลังให้กับธงชาติและเพลงชาติ ทำให้โทนี สมิท ถูกขู่ฆ่าจากผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งสมิทให้เหตุผลว่าเธอไม่ได้แสดงอาการดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม ‘ความเชื่อ’ ของใคร แต่เธอไปอยู่ในสนามเพื่อเล่นกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งไม่เห็นว่าจะเกี่ยวอะไรกับการร้องเพลงชาติหรือจะต้องเคารพความเป็นชาติ (7)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของวิวาทะในสังคมต่างๆ ทั่วโลก ในเรื่องของการเลือกที่จะ ‘เชื่อ’ หรือ ‘ไม่เชื่อ’ ในสิ่งที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจอย่างยิ่งว่านั่นไม่ใช่ความผิดหรืออาชญากรรมแต่อย่างใด

000

ย้อนกลับมาที่ ‘กรณี 2 ไม่ยืน เพลงสรรเสริญฯ’ อีกครั้ง ถือว่าเป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย เพราะเรื่องนี้ถูกรายงานไปทั่วโลกโดยสื่อต่างประเทศที่ครอบงำพื้นที่สื่อกระแสหลัก เช่น สำนักข่าวเอพี, รอยเตอร์ และนิวยอร์กไทม์ส

ล่าสุด วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ของไทยบางฉบับ (8) อ้างถึงบทสัมภาษณ์ ‘ทองใบ ทองเปาด์’ ทนายความรางวัลแมกไซไซ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ทนายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน’ โดยระบุคำพูดของนายทองใบว่า การไม่ยืนตรงแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง มีความผิดทางอาญา และมีโทษสูงถึงขั้น ‘จำคุก’

โดยนายทองใบกล่าวว่า กรณีที่นายโชติศักดิ์ประพฤติตนเช่นนั้น (ไม่ยืนระหว่างมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี-ประชาไท) ถือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งการยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องกระทำด้วยความสุภาพ ยืนตัวตรง ห้ามแกว่งแขน หรือ ยืนยิ้ม ต้องยืนด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จะอยู่ ณ ที่แห่งใด เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี และ เพลงชาติ ทุกคนต้องยืนตัวตรงนิ่งทำความเคารพ โดยเฉพาะในโรงภาพยนตร์ทุกแห่งจะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า “โปรดยืนถวายความเคารพ”

“หากบุคคลใดเห็น หรือแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ไม่ลุกขึ้นยืน หรือ ยืนไม่สุภาพ และมีพยานเห็นชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับแจ้งความอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น และนำเรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกามาแล้ว ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องติดคุก 2 ปี เพราะไม่ลุกขึ้นยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะไปฟังการปราศรัยที่ท้องสนามหลวงมาแล้วด้วย”

นั่นคือถ้อยคำจากปากของทนายความผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นข้อความที่ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ในช่วงเวลาสับสนวุ่นวาย ทุกๆ 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็น ตามย่านธุรกิจ สถานีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือแม้แต่ป้ายรถเมล์ข้างถนน ก็ต้องมีคนที่ไม่สามารถหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่ได้เมื่อได้ยินเสียงเพลงแห่งความรักชาติดังขึ้น ซึ่งมันคงชี้วัดกันลำบากว่าเป็นเพราะความเร่งรีบในชีวิตประจำวันไม่เปิดโอกาสให้แสดงความเคารพได้อย่างเต็มที่ หรือเป็นเพราะว่าเขา/เธอคนนั้นกำลังดูหมิ่น ‘ความเป็นชาติ’ กันแน่

และถ้าหากว่า “การยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องกระทำด้วยความสุภาพ ยืนตัวตรง ห้ามแกว่งแขน หรือ ยืนยิ้ม ต้องยืนด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จะอยู่ ณ ที่แห่งใด” หากใครไม่ทำตามนี้ ถือว่า ‘มีความผิด’

วันนี้คงมีคนมากมายที่จะต้องติดคุกด้วยข้อหา
‘ไม่แสดงความเคารพ’ ต่อสิ่งที่ควรเคารพ...



ตติกานต์ เดชชพงศ


ข้อมูลอ้างอิง

(1) สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก หมวดเพลงเกียรติยศ โดย รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ

(2) สัมภาษณ์ "โชติศักดิ์" ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง, ประชาไท (21 เม.ย.2551)

(3) ‘สองไม่ยืนเพลงสรรเสริญฯ’ รับทราบข้อกล่าวหา เปิดแคมเปญ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม”, ประชาไท (23 เม.ย.2551)

(4) Activist denies charge of lese majeste , หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (23 เม.ย.2551)

(5) ฟ้องนัวไม่เคารพเพลงสรรเสริญ หนุ่มใหญ่ฉุนขาด นั่งเฉยในโรงหนัง เตือนแล้วยังเมิน ลามชกต่อยชุลมุน ตร.ปิด-สอบทั้งคู่, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (25 เม.ย.2551)

(6) Hinomaru, 'Kimigayo' express conflicts both past and future

(7) Anthem protest sparks a row

(8) Interview: College Basketball Player Toni Smith Took a Stand on the Court

(9) เพลงสรรเสริญฯ-ชาติ ไม่เคารพโทษสูงติดคุก, หนังสืิอพิมพ์บ้านเมือง (25 เม.ย.2551)


ที่มา : ข่าวประชาไท : รายงาน : ฟังความหลายๆ ข้าง กรณี ‘ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี’

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมไม่เห็นว่าบทความที่หยิบยกมาแสดงทั้งหมด จะทำให้เห็นว่าการยืนหรือไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญเป็นเรื่องถูกหรือผิดหรือว่าสามารถจะนำมาอ้างอิงกันกรณีของคุณ ‘โชติศักดิ์ อ่อนสูง’ และคุณ ‘ชุติมา เพ็ญภาค’
ได้เลย แม้แต่อันเดียว สำหรับผมก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคลเช่นกัน อย่างเรื่องที่ยกว่าไม่ว่าจะ
เพลง Kimigayo ที่มีคนต่อต้านก็เพราะมันเป็นตราบาปของเขา มันเป็นสิ่งที่ทำให้ recall ความเลวร้ายของสงคราม ไม่ทราบว่าหากตอนนั้นทางญี่ปุ่นไม่ได้ใช้เพลงนี้ปลุกใจที่กองทัพญี่ปุ่นใช้สร้างกระแสชาตินิยมในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วมันจะมีคนต่อต้านแบบนั้นหรือเปล่า
ส่วนกรณี เดวิด เมเยอร์ ซึ่งเป็นชาวเวลส์ให้เหตุผลว่า เขาได้ยืนทำความเคารพและร้องตามเมื่อมีการบรรเลงเพลงชาติเวลส์ แต่เขาไม่มีเหตุผลที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อเพลงก็อดเซฟเดอะควีนที่เป็นของอังกฤษ ก็จะบอกเหตุผลในตัวอยู่แล้ว ซึ่งก็คล้ายๆ กับกรณีของ ‘โทนี สมิท’ นักกีฬาบาสเกตบอลหญิงจากวิทยาลัยแมนฮัตตันวิล ผู้หันหลังให้กับธงชาติอเมริกาและเพลง Star Spangled Banner ซึ่งเป็นเพลงชาติสหรัฐอเมริกา เพราะเธอเป็นอินเดียแดงคนพื้นเมืองที่ถูกคนตะวันตกมายึดครองแผ่นดินจนกลายมาเป็นประเทศอเมริกาในปัจจุบัน ลองถ้ามีเพลงอินเดียนแดงมาซิ ผมกว่าเธอก็ให้ความเคารพ คงไม่มีใครคนไหร่ที่จะยืนทำความเคารพเพลงชาติที่มากดขี่ชาติของตนหรอกครับ กลับมากรณีของ 'โชติศักดิ์ อ่อนสูง’ และ ‘ชุติมา เพ็ญภาค’ ผมไม่ทราบว่าทั้งสองเป็นคนต่างด้าวที่ชาติไทยเราเคยไปกดขี่หรือเปล่า หรือขณะที่นั่งในโรงหนังเขากำลังสับสนวุ่นวายเข้าใจว่าตนเองอยู่กลางย่านธุรกิจอยู่จนไม่สะดวกที่จะแสดงความเคารพ ยกเว้นว่าเขาจะมีเหตุผลอื่นที่ไม่เหมือนกับกรณีที่ยกมาเลย ผมคิดว่าเจ้าของบทความคงไม่ลบข้อความผมทิ้งนะครับ หากคิดว่าจะฟังหลายๆ ข้างจริงๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเห็นด้วยกับ คุณที่ไม่ระบุชื่อ ใน ความคิดเห็นที่ 1 ครับ