วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551

เรื่องการบรรเลงเพลงสรรเสริญฯในโรงมหรสพ


เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสชวาเป็นครั้งที่ ๒ ในปี 1896(พ.ศ.2439) ได้ทรงเห็นการผลิตภาพยนตร์ที่ตำหนักเฮอริเคนเฮาส์ ณ เมืองสิงคโปร์ ซึ่งทรงบรรยายไว้ในจดหมายรายวันว่า

"เป็นรูปถ่ายติดๆกันเป็นม้วนยาวๆ เอาเข้าไปในเครื่องไฟฟ้าหมุนไป แลเห็นเหมือนรูปนั้นกระดิกได้ ม้วนหนึ่งใช้รูปถึง 1,400 ท่า"

และในขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองสิงคโปร์ ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง "God Save the Queen" เป็นเพลงบรรเลงในการรับเสด็จ จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีให้แต่งเพลงแตรวงรับเสด็จบ้าง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งคำร้องเพื่อประกอบทำนองเพลงเป็นโคลง และให้ นายปโยตร์ สซูโรฟสกี แต่งทำนองเพลงตามอย่างเพลง "God Save the Queen" ซึ่งภายหลังก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้เอง ( เรื่อง นายชูรอฟสกี้ เป็นผู้แต่ง เพลงสรรเสริญพระบารมี หรือไม่นั้น ยังแบ่งความเห็นออกเป็นสองฝ่ายโดยดูได้จากความเห็นของ ดร.สุพจน์ที่โต้แย้งว่า ชูรอฟสกี้ ไม่ใช่ผู้แต่ง จากบทความเรื่อง "เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติไทย" และ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้เสนอว่า ชูรอฟสกี้ เป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญฯ ดูได้ที่หนังสือ "99 ปีเพลงสรรเสริญพระบารมี" )

ภายหลังเมื่อมีภาพยนตร์เข้ามาฉายในสยาม ซึ่งมีแตรวงบรรเลงประกอบ และยังได้มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อถวายความเคารพพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อภาพยนตร์ฉายจบ ธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ น่าจะมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มมีการตั้งโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะที่โรงหนังญี่ปุ่นหลวง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกในสยาม และเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราแผ่นดิน

อาจเชื่อได้ว่าธรรมเนียมปฎิบัตินี้ได้แบบอย่างมาจาก เมืองสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการปกครองของอังกฤษ ซึ่งจะทำการฉายพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ และบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อจบการฉายภาพยนตร์ โดยให้ผู้ชมยืนถวายความเคารพต่อเจ้ากรุงอังกฤษ

การให้วงดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อจบการฉายภาพยนตร์นั้นในสมัยแรกได้ปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมไปทั่วทุกโรงภาพยนตร์ในสยาม โดยมิได้มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด

จนมาถึงในรัชกาลที่ 6 ช่วงต้นรัชกาล การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ยังมีการบรรเลงหลังจากฉายภาพยนตร์จบดังแบบแผ่นดินที่แล้วอยู่ ตามที่ปรากฎในบทความของ หนังสือพิมพ์รายวันชื่อ บางกอกไตมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับสำคัญของสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕,๖ และ ๗

ในบทความที่ชื่อ OUR CINEMA. (ลงพิมพ์ในฉบับวันเสาร์ทื่ ๗ พฤษภาคม 1921(พ.ศ. 2465) ) ในส่วนท้ายของบทความได้มีการพูดถึงเรื่องการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อจบการฉายภาพยนตร์ อยู่นิดหนึ่งซึ่งก็เป็นนิดหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังนี้

" แต่แล้วก็มีคำประกาศปรากฏบนจอความว่า "ตอนต่อไปของหนังระทึกขวัญเรื่องนี้จะฉายพรุ่งนี้"แม้จะขัดกับสิ่งไรที่สมควรแห่งเจตนาสำหรับเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่พวกเราก็ทะลักกันออกจากโรงหนังทางช่องประตูเล็ก ๆ ช่องเดียว อันเป็นกับดักแห่งมฤตยูแท้ ๆ หากเกิดอัคคีภัยขึ้น ทั้งนี้เพื่อออกมาสู่บรรยากาศเย็นลมยามดึก "
(วารสารหนังไทย ปีที่ 3ฉบับที่ 11กรกฎาคม-กันยายน 2544)

จากบทความนี้ทำให้เราเห็นว่าในช่วงปี พ.ศ.2465 นั้น การบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ยังบรรเลงกันหลังจากฉายภาพยนตร์จบ แต่ที่สำคัญผมถูกใจในความตรงไปตรงมาของนักข่าวผู้เขียนบทความนี้ ก็ไอ้ตรงที่เขาบอกว่า

"แม้จะขัดกับสิ่งไรที่สมควรแห่งเจตนาสำหรับเพลงสรรเสริญพระบารมี
แต่พวกเราก็ทะลักกันออกจากโรงหนัง"

นั้นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในสมัยนั้น ก็ไม่มีใครอยากที่จะมัวมานั้งสรรเสริญพระบารมีกัน ต่างคนก็ต่างที่จะรีบกลับบ้านกันทั้งนั้น

อาจจะเป็นตรงนี้เองที่ต่อมารัชกาลที่ 6 จึงได้มีคำสั่งว่า ก่อนที่จะเล่นมหรสพทุกครั้ง ให้มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญฯ แรกๆก็เป็นพวกการแสดงลิเก ต่อมาก็รวมไปถึงการแสดงละครต่างๆ จนสุดท้ายก็รวมถึงในโรงภาพยนตร์ด้วยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 อะไรหลายๆอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป เรื่องราวต่างๆที่เป็นการสรรเสริญ ยกยอปอปั้นเจ้าก็ลดน้อยถอยลงไปเช่นกัน ในสมัยนั้นจอมพล ป พิบูลย์สงคราม ได้ยกเลิกการบรรเลงเพลงสรรเสริญฯในโรงมหรสพไปทีนึง โดยให้มายืนเคารพ "ท่านผู้นำ" แทนเพื่อต้องการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม และเทิดทูนผู้นำ จึงให้มีการเปิดเพลงให้ประชาชนเคารพตนเองในฐานะผู้นำประเทศ

ในปีพ.ศ. 2478 ได้มีระเบียบออกมาว่าด้วยเรื่องให้ยืนตรงทำความเคารพเมื่อได้ยินเพลงชาติและเพลงสรรเสริญฯ โดยที่ยังไม่มีการกำหนดโทษ แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2485 จึงได้มีการออก พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ 2485 ซึ่งได้กำหนดใน มาตรา ๖ว่า

" บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ (๑) เคารพธงชาติ (๓) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ "

ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษฎิ์ ก่อการรัฐประหาร เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ จึงเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอ่อนแอลงมากหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเปลี่ยนแปลงการเปิดเพลงเคารพผู้นำในการมหรสพต่างๆ ให้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความเคารพต่อกษัตริย์แทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระยะแรกนั้นจะเป็นการเปิดเพลงเพลงสรรเสริญฯ หลังจากที่มีการฉายภาพยนตร์จบแล้ว ต่อมาถึงได้มาเปลี่ยนเป็นเปิดเพลงเพลงสรรเสริญฯก่อนที่หนังจะฉายเมื่อไม่ถึง 17 -18 ปีมานี้เอง

โดยที่ภาพประกอบเพลงสรรเสริญฯในสมัยแรกๆที่เปิดกันในโรงหนังนั้น ด้วยเทคโนโลยียังไม่ดีนัก มีแค่ภาพขึ้นมาสองภาพ ตอนนั้นเป็นแบบภาพสีซีเปียก็คือเป็นภาพที่มีทั่วไปของในหลวงตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์จนมาถึงในเรื่องของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ต่างๆเท่านั้น


เจ้าน้อย..



เพิ่มเติม

จากบางส่วนของบทความ : เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง
โดย ภัททิรา ชิงนวรรณ์


โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ เพลงสรรเสริญฯ เวอร์ชั่นปัจจุบันใช้ชื่อชุด 'นิทรรศการ' เปิดมาเป็นคำถวายพระพร เป็นฉากเด็กยืนถวายพระพรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ตัดเป็นภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ทรงเยี่ยมพสกนิกรตามภาคต่างๆ ภาพที่พระองค์ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในเรื่องการเกษตรเช่นเรื่องฝนเทียม ตอนท้ายภาพพสกนิกรมากมายยืนไหว้ถวายพระพร ภาพจะตัดสลับระหว่างภาพในหลวงกับประชาชน ภาพในหลวงจากพื้นดินแห้งแล้ง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ภาพในหลวง พื้นดินแห้งแล้ว มาเป็นภาพฝนตก

(เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จัดทำร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้เรียบเรียงดนตรี คือ บรูซ แกสตัน แห่งวงฟองน้ำ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2538 จัดทำบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อใช้ในโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 4 เวอร์ชัน)

เอสเอฟ เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2542 ได้เปลี่ยนเพลงสรรเสริญฯ ทั้งหมดทั้งสิ้น 2 เวอร์ชัน ชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชุด 'หยาดฝน' ที่เป็นเสียงดนตรีไทย ผู้เรียบเรียงดนตรีคือ บรูซ แกสตัน

เซ็นจูรี่ เครือใหม่ เปิดมาได้เพียง 2 เดือน เนื่องจากทางโรงภาพยนตร์ได้มองเห็นอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงในการเป่าแซ็กฯ เพลงสรรเสริญฯ ชุดที่ใช้อยู่จึงเป็นชุดที่มีเสียงแจ๊ซเป็นดนตรีหลัก และไม่มีเสียงร้อง เรื่องการดำเนินภาพจะเป็นกรอบรูปที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบันขึ้นมาทีละภาพ ซึ่งหนึ่งในรูปภาพเหล่านั้นมีภาพที่ในหลวงทรงกำลังเป่าแซ็กโซโฟนอยู่ด้วย เสียงเป่าแซ็กฯ โดยเศกพล อุ่นสำราญ หรือโก้ แซ็กแมน เรียบเรียงโดย ปราชญ์ มิวสิค

ลิโด้, สยาม, สกาล่า เป็นโรงหนังในเครือเดียวกันเปิดทำการมาไล่เลี่ยกัน โดยเปิดมาได้ประมาณ 40 ปีแล้ว เปลี่ยนเพลงสรรเสริญฯ มาแค่เพียง 2 เวอร์ชันเท่านั้น ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชุด 'จิ๊กซอว์' ที่มีภาพออกมาพร้อมกับเพลงสรรเสริญฯ มีภาพในหลวงขึ้นมาเป็นภาพจิ๊กซอว์มาต่อกัน จะมีภาพพระองค์ท่านเสด็จไปสถานที่ต่างๆ แล้วภาพจะค่อยๆ เลื่อนมาเป็นจิ๊กซอว์รูปพระพักตร์ของในหลวง ผู้เรียบเรียงดนตรี บรูซ แกสตัน

โรงหนังเฮาส์ เพิ่งเปิดมาได้ปีครึ่ง เพลงสรรเสริญฯ ที่ใช้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับของโรงหนังลิโด้,สยาม และสกาล่า

สำหรับเครืออีจีวี ฟิล์มเพลงสรรเสริญฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำเป็นกราฟิก ในหลวงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในรูปแบบต่างๆ ภาพการขึ้นครองราชย์ ท้ายสุดเป็นภาพเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ เสียงร้องเพลงสรรเสริญฯ นี้มาจากบุคคลมีชื่อเสียงมากมาย อาทิ เจริญ วรรธนะสิน, อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส, ดร.อ้อ-กฤติกา คงสมพงษ์ และดีเจพีเค ซึ่งจะร้องกันคนละท่อน แล้วมีเสียงประสานของ นักร้องอินดี้อย่าง แพม-ลลิตา ตะเวทิกุล เป็นแบ็กกราวนด์


ที่มาของบทความ :
"เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง" ฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่
http://www.siam-handicrafts.com/webboard/question.asp?QID=4636

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ใครคิดทำ blog นี้ โคตรชั่วเลย
ไม่ได้คิดทำอะไร เหมือนท่าน แต่เอาแต่โจมตี
ระวังเถอะ คุณคงไม่ได้ตายดีแน่นอน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไอ้พวกชั่ว ตายโหงไปเถอะ
คิดแต่เรื่องแบบนี้ มึงเป็นปมด้อยกันหรือไง.จาบจ้วงเหลือเกิน ไอ้เลว

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เกิดและเติบโตในแผ่นดินที่มีท่านดูแล ฉันมีความสุขดีว่ะ

ถ้าปท.เปลี่ยนจากนายกเป็นปธน.เมื่อไหร่ ฉันเห็นความวิบัติของการชิงอำนาจกันเมื่อนั้น

พวกนายอย่าเพ้อเจ้อกันให้มาก อะไรกงจักรอะไรดอกบัวให้รู้