newmandala (นวมณฑล) วารสารทางวิชาการรูปแบบเว็บบล็อก ซึ่งเน้นศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ของวิทยาลัยวิจัยแปซิฟิกและเอเชียศึกษา (The Research School of Pacific and Asian Studies - RSPAS) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เผยแพร่บทความชื่อ “Royalist propaganda and policy nonsense” (การโฆษณาชวนเชื่อของพวกนิยมเจ้า และนโยบายนอนเซ็นส์) ของ ดร.เควิน ฮิววิสัน (Kevin Hewison) มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ที่แชพเพลฮิลล์ (The University of North Carolina at Chapel Hill)
บทความดังกล่าวเป็นบทวิจารณ์หนังสือ รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย: เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน (THAILAND HUMAN DEVELOPMENT REPORT. SUFFICIENCY ECONOMY AND HUMAN DEVELOPMENT) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งมี ดร.คริส เบเกอร์ (Chris Baker) เป็นบรรณาธิการ มีที่ปรึกษาของรายงานซึ่งเป็นบุคคลชั้นนำในประเทศไทยทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ และข้าราชการชนชั้นสูง มีประธานคณะที่ปรึกษาเป็นองคมนตรี และมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นรองประธานคณะที่ปรึกษารายงานดังกล่าว
สำหรับบทความ “Royalist propaganda and policy nonsense” ดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร The review will appear in the Journal of Contemporary Asia, 38, ฉบับที่ 1 ปี 2008
และต่อไปนี้เป็นบางส่วนของบทความที่แปลมาจากงานของ ดร.เควิน ฮิววิสัน ดังกล่าว
0 0 0
Royalist propaganda and policy nonsense
เควิน ฮิววิสัน
มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ที่แชพเพลฮิลล์
หลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยได้ขวนขวายที่จะยกย่องสถาบันกษัตริย์ด้วยการมอบรางวัลต่างๆ แก่เชื้อพระวงศ์ ราชสำนักมีความต้องการการยกย่องจากต่างประเทศมากอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อหน่วยงานระหว่างประเทศให้การยอมรับในความยิ่งใหญ่และพระปรีชาสามารถด้วยแล้ว จึงมีความสำคัญมากสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อภายในประเทศ
ในต้นปี 2550 UNDP ไปไกลยิ่งกว่านั้น ด้วยการยกรายงานประจำปี Thailand Human Development Report ทั้งฉบับให้เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในด้านการพัฒนา โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง รายงานระบุว่า พระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเป็นประโยชน์ต่อทั้งบุคคล บริษัทและประเทศกำลังพัฒนา ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทยพร่ำพรรณนาว่า UNDP รู้สึก “เป็นเกียรติอย่างมหาศาล” ที่ได้สามารถเผยแพร่ “พระราชสาส์นสำคัญ[ของพระองค์ท่าน]ไปทั่วโลก” (น. vi) ด้วยเป็นพระราชดำริที่ “พิเศษเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร” เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็น “ทางเลือกที่จำเป็นมากสำหรับโลกที่กำลังดำเนินไปในเส้นทางที่ไม่ยั่งยืนอยู่ในขณะนี้” (น. v)
แต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้มีเนื้อหาสนับสนุนคำอ้างใหญ่โตเหล่านี้เลย อันที่จริง ในการอธิบายพระราชดำริ รายงานฉบับนี้ก็ผลิตซ้ำการสดุดีต่างๆ ที่หาได้ตามหนังสือต่างๆ ในเมืองไทย รายงานของ UNDP ไม่ได้ทำการประเมินพระราชดำริอย่างจริงจัง เมื่อมองดูความบางส่วนที่เป็นการอ้างอิงของรายงาน ก็พอจะรู้สึกได้ว่าเป็นเอกสารประเภทไหนกันแน่ แทบไม่มีงานสังคมศาสตร์จริงๆ จังๆ เลย
เมื่อพลิกกลับมาดูส่วนที่เป็นกิตติกรรมประกาศ ก็เห็นได้ชัดว่า ราชสำนักเป็นผู้ผลิตรายงานฉบับนี้นั่นเอง โดยคณะที่ปรึกษา มีองคมนตรีคนหนึ่ง และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มานั่งเป็นประธานร่วมอยู่ด้วย ขณะที่คณะที่ปรึกษาก็เต็มไปด้วยนักวิชาการ นักธุรกิจ และข้าราชการชนชั้นสูง (น.vii) ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และแบบอย่างแห่งเศรษฐกิจพอเพียง... พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่หามีใครเสมอเหมือน และเป็นแรงบันดาลใจให้โลกได้ศึกษาเรียนรู้” (น. xviii) อาเศียรวาทสดุดีทำนองนี้ พบเห็นได้ทั่วไปในรายงานที่เต็มไปด้วยพระราชดำรัส ทำให้บรรยากาศดูค่อนข้างขลัง ซึ่งคำตรัสของพระองค์เป็นมากกว่าหลักฐานและการวิเคราะห์ใดๆ
บทที่ 1 ของรายงานที่ประเมินสถานะการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทย เป็นเพียงส่วนเดียวของรายงานที่สามารถเรียกได้ว่า หลีกเลี่ยงการยึดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมืดบอด เป็นเพราะว่าบทนี้ทำการประเมินความคืบหน้าของไทยในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัษวรรษของสหประชาชาติได้เป็นอย่างดี โดยกล่าวถึงความสำเร็จในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ ความยากจน ความเสมอภาคทางเพศ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็ระบุปัญหาที่สำคัญๆ ไว้ด้วย โดยเฉพาะ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่มีมากขึ้น พร้อมกับประเด็นทางด้านสุขภาพ การศึกษา และการจ้างงาน เนื้อหาเหล่านี้เป็นการสรุปที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาของไทยและมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดี (Annex II) น่าสนใจมากที่ส่วนที่เหลือของรายงานอันว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงนั้นแทบไม่มีข้อมูลเลย
การขาดข้อมูลอย่างนี้หมายความว่าไม่มีทางเลยที่จะสามารถประเมินผลลัพธ์ได้อย่างพอเพียง ยกเว้นแต่ประเมินในฐานะที่เป็นชุดความคิดทางปรัชญา การเมืองและอุดมการณ์เท่านั้น
ส่วนหนึ่งของบทที่ 1 ที่ควรต้องวิจารณ์คือ การบรรยายสั้นๆ ถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่บอกว่า “มีการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก” การกระจายอำนาจได้ขยายตัวมากขึ้น องค์กรที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงก็เพิ่มมากขึ้น (น. 16) เรื่องนี้จริง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและจัดการควบคุมเสรีภาพทางการเมือง ด้วยการที่รายงานฉบับนี้มีคำนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แต่งตั้งโดยทหาร รวมทั้งความเห็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ หลังรัฐประหาร ความเห็นทางบวกเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ล้วนเอาอกเอาใจรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
เรื่องนี้สำคัญ เนื่องจากคณะรัฐประหารและรัฐบาลได้ยกเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นเป็นอุดมการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติ เศรษฐกิจพอเพียงถูกใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่างนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลรัฐประหารนี้ออกจากนโยบายของทักษิณ ชินวัตร รายงานฉบับนี้อาจมีการเริ่มจัดทำมานานก่อนหน้าการรัฐประหาร แต่การที่ UNDP ตัดสินใจเชิดชูเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารและรัฐบาลนั้น นับเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองที่น่าสนใจทีเดียว
บทที่ 2 เป็นการอธิบายความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ระบุอย่างถูกต้องว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นที่มาของเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นก็มีข้อถกเถียงที่ไม่น่าคล้อยตาม คือว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ “การพึ่งตนเอง (self-sufficiency)” การหวน “กลับสู่รากเหง้า” หรือต่อต้านโลกาภิวัตน์หรือเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ข้อถกเถียงเหล่านี้มีอยู่ในพระราชดำรัสต่างๆ ที่ถูกยกออกมาจากบริบท (decontextualised)
ในที่สุด รายงานก็สรุปว่า เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ (moderation) ภูมิปัญญา (wisdom or insight) และความยืดหยุ่นในตัวเอง (built-in resilience) (น. 29) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า อย่ารีบร้อนเข้าร่วมระบบทุนนิยมโลก แต่เข้าไปอย่างระมัดระวังด้วยการสร้าง “ความพอเพียง” ของประเทศเสียก่อน เศรษฐกิจพอเพียงก็เลยจำเป็นต้องถูกลดลงมาเหลือแค่ความคิดดาดๆ อย่างนั้น เพราะมันถูกประโคมว่า ใช้ได้สำหรับทุกคน เป็น “แนวทางการดำเนินชีวิตและการตัดสินใจ...สำหรับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน โครงการ ธุรกิจ ชาติ หรือทั้งโลก” (น. 31)
ในทางปฏิบัติ ความ “สามัญ” อย่างนี้มีความจำเป็นสำหรับการแปลงโฆษณาชวนเชื่อให้เป็นอุดมการณ์แห่งชาติ
บุคคลและองค์กรต่างๆ ที่เชิดชูเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็มีความขัดแย้งในตัวเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ทรงเชิดชูความพอประมาณ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย มีที่ดินมหาศาล และเป็นเจ้าบรรษัททุนนิยมขนาดใหญ่ ความมั่งคั่งของสถาบันเท่าที่เป็นที่ทราบกันคือราว 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดูพอพันธ์ อุยยานนท์, The Crown Property Bureau in Thailand and the Crisis of 1997, Journal of Contemporary Asia, 38, 1, 2008)
นายกฯ สุรยุทธ์ใช้เวลามากกับการกล่าวยกย่องเศรษฐกิจพอเพียง และรัฐบาลของเขาก็จัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง (ในการประกาศครั้งหนึ่ง รัฐบาลจัดงบประมาณ 8 พันล้านบาทสำหรับโครงการต่างๆ ดูบางกอกโพสต์ 6 มิถุนายน 2550) ขณะเดียวกัน สุรยุทธ์มีรถสปอร์ต นาฬิการาคาแพงและบ้านหรู ทั้งที่เป็นทหารรับเงินเดือนที่ค่อนข้างต่ำมาตลอดชีวิต
อาจเถียงได้ว่า ทางสายกลางของศาสนาพุทธ (ความพอประมาณของเศรษฐกิจพอเพียง) ไม่ได้ห้ามความมั่งคั่งหรือความเพลิดเพลิน ห้ามแต่การยึดติดความมั่งคั่งหรือความกระหายอยากเท่านั้น ความจริงที่ปรากฏจากสิ่งขัดแย้งเหล่านี้ทำให้ดูเหมือนว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีนิยามกว้างเหลือเกินจนเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ใครอยากจะให้เป็น คนรวยก็สามารถมีความสุขกับความรวยของตนได้ตราบใดที่ไม่ทำเกินฐานะ ส่วนคนจน คำแนะนำก็คือ จงพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ กล่าวในแง่ชนชั้นแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นอุดมการณ์ที่สร้างความชอบธรรมให้กับความไม่เท่าเทียมที่รายงาน UNDP อ้างว่าเป็นประเด็นห่วงใยนั่นเอง
บทที่ 3 เป็นกรณีตัวอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง น่าสนใจที่ตัวอย่างที่ยกมาแทบทั้งหมดเกิดก่อนเศรษฐกิจพอเพียง และถูกรวมเข้ามาโดยอ้างว่า ตัวอย่างเหล่านี้ใช้แนวคิดที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง (น. 38) ตัวอย่างเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และก็ได้รับการประโคมในสื่อไทยเป็นประจำอยู่แล้ว แม้ว่าตัวอย่างแต่ละกรณีจะน่าสนใจ แต่ดังที่กล่าวไว้แล้ว ไม่มีการให้ข้อมูลสำหรับการประเมินอย่างจริงจังเลย ข้อขัดแย้งประการหนึ่งในบทนี้คือ การบรรยายถึงข้อกังวลห่วงใยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (น. 48-9) มีการยกตัวอย่างมาอย่างกว้างขวาง แต่ไม่มีการพูดถึงการที่พระองค์ทรงสนับสนุนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียที่ทำกินและป่าไม้ถูกน้ำท่วม การบรรยายถึงความสำเร็จในเชิงธุรกิจของเศรษฐกิจพอเพียง (corporate SE successes) ก็บอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโมเดลทางธุรกิจ กระทั่งมีการทำเช็คลิสต์และสกอร์คาร์ดเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับบริษัท แต่การบรรยายธรรมดาๆ แบบนี้ไม่มีอะไรใหม่เลยสำหรับเนื้อหาประเภทธุรกิจที่ยั่งยืน (sustainable business) และความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัท (corporate social responsibility)
เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจระดับประเทศ (น. 58-66) ก็น่าสนใจ เพราะมีการวิจารณ์นโยบายการพัฒนาและสวัสดิการสังคมของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งนำเอาข้อวิจารณ์จำนวนมากจากขบวนการต่อต้านทักษิณที่นำไปสู่การรัฐประหาร ในขณะที่ข้อวิจารณ์เหล่านั้นยอมรับอย่างเสียไม่ได้ว่านโยบายของทักษิณเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของประชาชน แต่ก็มุ่งไปที่การขาด “ความพอประมาณ” และบทบาทการเป็นพระเอกของรัฐบาล ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นประเด็นสำคัญของรายงาน โดยระบุว่า รัฐบาลที่ทำการแทรกแซงมากเกินไป (interventionist governments) นั้น เลี่ยงไม่พ้นที่จะตัดสินใจผิดพลาดที่ “ไม่จำเป็นว่าต้องดีที่สุดสำหรับสังคม” ดังนั้นรัฐบาลจึงควรจำกัดอยู่แค่การสร้างสถาบันที่ “ช่วยให้ตลาดทำงาน...อย่างมีประสิทธิภาพ...” (น. 63) ลักษณะทางอุดมการณ์ของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการหนุนเสริม ในบทบรรยายว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการบรรจุเป็นส่วนสำคัญในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับของประเทศอย่างไร (น. 66-8) และด้วยคำกล่าวที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียง “ตอนนี้เป็นภารกิจแห่งชาติ (now serves as a mission statement for the nation) (p. 68).
บทที่ 4 พยายามเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวาระ (agenda) ของ UNDP ในเรื่องการพัฒนามนุษย์ และดึงบทเรียนเชิงนโยบายของเศรษฐกิจพอเพียงออกมา บทเรียนหนึ่งตอกย้ำสาระของการต่อต้านรัฐในบทที่ 3 โดยบอกว่า ควรจำกัดการกระจาย (redistribution) และสวัสดิการเพื่อจะได้ไม่ “ละเมิดหลักการการพึ่งพาตัวเอง (self-reliance)” รายงานนี้บอกว่า รัฐบาลจะต้องหลีกเลี่ยงการ “แจกจ่าย (handouts)” และงบประมาณต่างๆ ควรส่งผ่านไปตามช่องทาง “สถาบันชุมชนที่มีอยู่แล้ว” (น. 72) ซึ่งสอดคล้องกับ [……..] จุดยืนอนุรักษ์นิยมคลาสสิคที่บอกว่า สวัสดิการสังคมทำให้คนมีความรับผิดชอบน้อยลง ให้บทบาทแก่รัฐบาลซึ่งมีแนวโน้มฉ้อฉล และสร้างภาระแก่รัฐทั้งที่ควรจะเป็นของครอบครัวและชุมชน
รายงานนี้สรุปว่า เศรษฐกิจพอเพียง “สร้างทางเลือกที่หลีกเลี่ยงการเติบโตอย่างไร้สติ...” (น. 76) ขณะที่ผู้วิจารณ์มีความกังขาต่อประเด็นนี้ ผลลัพธ์ที่น่าสนใจประการหนึ่งในการเทียบเคียงข้อมูลการพัฒนามนุษย์ (HD data) ของ UNDP เข้ากับเศรษฐกิจพอเพียงคือ ข้อมูลไม่เข้ากับสมมติฐานของเศรษฐกิจพอเพียง อันที่จริง จังหวัดที่มีตัวชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (HD indicators) ที่ดีที่สุดก็คือ จังหวัดที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมากที่สุด เพียงแค่นี้นักเศรษฐศาสตร์เคร่งตำราอาจถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะหัวร่อใส่เศรษฐกิจพอเพียง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบอุดมการณ์สำหรับอนุรักษ์นิยมไทยที่พยายามปกป้องไม่ให้อำนาจการเมืองและเศรษฐกิจของตนเองลดลง อำนาจของพวกเขาถูกท้าทายโดยชัยชนะในการเลือกตั้ง ความนิยมและนโยบายสวัสดิการของทักษิณ
ถึงที่สุดแล้ว รายงานของ UNDP พยายามทำทีว่า กล่าวถึงประเด็นการพัฒนาที่สำคัญๆ แต่ก็เป็นอะไรไม่มากไปกว่าความไร้สาระทางนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้เลือกเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา รัฐบาลมักยกรายงานชิ้นนี้และรางวัลจากสหประชาชาติที่มอบแก่เชื้อพระวงศ์เป็นเครื่องยืนยันความชอบธรรมของการดำเนินเศรษฐกิจพอเพียงของตน ที่แย่ยิ่งกว่า การตีพิมพ์รายงานชิ้นนี้เป็นการสนับสนุนการโฆษณาชวนเชื่อที่ปลูกฝังจิตสำนึกคนไทยอยู่ในเวลานี้ ทั้งทางโทรทัศน์ ในโรงเรียน ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสถานที่สาธารณะเกือบทุกแห่ง มีไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่สถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญจะเป็นศูนย์กลางอำนาจการเมืองได้ถึงเพียงนี้
ผู้วิจารณ์เห็นว่า UNDP ควรทำการค้น หาตัวตน (soul searching) ขององค์กรตนเองอย่างจริงจัง เพื่อจะเข้าใจว่า เหตุใดสถาบันอย่าง UNDP จึงถูกใช้ในลักษณะนี้ หรือมาร่วมมือเชิดชูรัฐบาลที่มาจากทหารได้อย่างไร
ที่มาของบทความ
Kevin Hewison, Royalist propaganda and policy nonsense, [Posted: November 7th, 2007. by Andrew Walker] http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2007/11/07/royalist-propaganda-and-policy-nonsense/
อ้างอิง
Thailand Human Development Report 2007(page1-50)
Thailand Human Development Report 2007 (page51-130)
ดาวโหลดเอกสาร
ภาษาไทย
คริส เบเกอร์ (บรรณาธิการ) และคณะ, รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย: เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), 2550
http://www.sufficiencyeconomy.org/show.php?Id=472
รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 (หน้า1-29)
http://sufficiencyeconomy.org/mfiles/1176352650/HDR_book_TH_hi.pdf1.pdf
รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 (หน้า30-138)
http://sufficiencyeconomy.org/mfiles/1176352650/HDR_book_TH_hi.pdf2.pdf
ภาษาอังกฤษ
Chris Baker, ed. [et al]. THAILAND HUMAN DEVELOPMENT REPORT. SUFFICIENCY ECONOMY AND HUMAN DEVELOPMENT. By UNDP (Bangkok: United Nations Development Programme, 2007).
http://www.sufficiencyeconomy.org/show.php?Id=475
Thailand Human Development Report 2007(page1-50)
http://sufficiencyeconomy.org/mfiles/1176868545/HDR_book_EN1_hi.pdf
Thailand Human Development Report 2007 (page51-130)
http://sufficiencyeconomy.org/mfiles/1176868545/HDR_book_EN_hi.pdf2.pdf
สำเนาบทความมาจาก
สำนักข่าวประชาไท : วิจารณ์รายงาน UNDP ประจำปี 2550 ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
หมายเหตุ
การเน้นข้อความเปนการทำตามความสนใจโดยผู้จัดเก็บบทความเอง
วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550
" การโฆษณาชวนเชื่อของพวกนิยมเจ้า และนโยบายนอนเซ็นส์ " บทวิจารณ์รายงาน UNDP ประจำปี 2550 ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:10 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
แสดงความคิดเห็น