วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550

จดหมายถึงศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับเบื้องหลังการสืบราชสมบัติของ ร. 4


หมายเหตุ : จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายจริงที่ผมมีไปถึงกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ (ดังปรากฎวันที่ในจดหมาย) ซึ่งจะว่าไปก็ถือเป็นเรื่องปกติวิสัยอย่างมาก โดยส่วนตัวผมมักมีจดหมายไปถึงนิตยสารที่อ่านเป็นประจำเสมอ ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเต็มใจที่จะให้สาธารณะหรือบุคคลอื่นที่นอกเหนือการสื่อสารนี้ได้รับรู้หรืออ่านข้อความในจดหมายเท่าใดนัก แม้จะได้รับอนุญาตจากอีกฝ่าย(ที่ติดต่อกัน)ก็ตาม ไม่ใช่แค่โดยมารยาทครับแต่ถือเป็นการให้เกียรติกันและกัน !

เนื่องจาก ?ความพิเศษ ? ของจดหมายฉบับนี้ผมจึงไม่คิดที่จะ CC. ไว้อ่านคนเดียว ในจดหมายนี้ผมได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเอาไว้ คิดว่าถ้านำมาโพสต์ก็อาจช่วยให้แวดวงไซเบอร์สเปซแห่งนี้ได้มีเรื่องถกเถียงกันมากขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง...

อย่างไรก็ตามต่อ ?สารสำคัญ ? ที่ผมได้สื่อออกไปนี้ ผมเองยังต้องศึกษาอยู่อีกมาก การชี้ให้เห็นจุดบกพร่องหรือผิดพลาดของงานชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมมีความรอบรู้ในเรื่องนั้นดีกว่าเจ้าของบทความดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่ได้หมายความว่า เขาไม่ได้รู้จริงหรือรู้น้อยในเรื่องนั้น ผมเพียงแต่ต้องการแชร์ประเด็นร่วมกับเขาในฐานะคนที่สนใจในเรื่องที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น ถ้ามันจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง ก็ลองช่วยกันอ่านช่วยกันศึกษาดูนะครับ !!!


000000

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

เรียน บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ที่เคารพ,


เนื่องด้วยผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามอ่านศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด ในระยะหลังๆมานี้เลยสังเกตเห็นแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่พักหลังนี้ศิลปวัฒนธรรมมักตีพิมพ์งานเกี่ยวกับพระจอมเกล้าฯ อย่างต่อเนื่องหลายฉบับ จะเป็นด้วยเพราะใกล้ถึงช่วงสมโภช ๒๐๐ ปี พระจอมเกล้าฯ (๑๘ ตุลาคม) หรือเพราะเหตุผลอื่น (เช่น เหตุผลทางการตลาด) ก็ตามที แต่เมื่อสำรวจดูงานวิชาการเกี่ยวกับพระจอมเกล้าฯ และยุคสมัยของพระองค์ จะพบว่า เป็นส่วนที่ขาดๆหายๆมานานหลายปีแล้ว นับแต่งานคลาสสิคอย่างของสมเด็จเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, สมเด็จกรมฯ พระยาดำรงราชานุภาพ, นายแสน ธรรมยศ (๒๔๙๕), และบางส่วนจากงานของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ) ในระยะแรกๆ ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะมีบางอย่างที่ขาดหายไปมาตลอด

ล่าสุดศิลปวัฒนธรรม ฉบับปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ ?การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ? ของคุณเทอดพงศ์ คงจันทร์ ซึ่งแม้จะเป็นงานที่มีลักษณะเขียนแบบรวบย่ออยู่มาก แต่ก็จัดว่ามีคุณูปการ (contribution) ต่อการศึกษาเกี่ยวกับยุคสมัยพระจอมเกล้าฯ อยู่บ้าง (นอกเหนือจากความสนใจเรื่องการทำสนธิสัญญาเบาริง, กรณีแหม่มแอนนา, พระราชดำริเกี่ยวกับทาส, และประเด็นอื่นๆ) เนื่องจากประเด็นของคุณเทอดพงศ์กำลังอยู่ในความสนใจของผมเช่นกัน (แต่ไม่มีเวลามากพอที่จะค้นคว้าอย่างจริงๆจังๆ) ผมจึงอยากจะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้ผ่านจดหมายถึงบก.เสียหน่อย (แค่ความคิดเห็นนะครับ ไม่ใช่การวิจารณ์ ขอให้เข้าใจไว้ด้วย) โดยมีประเด็นดังข้อต่อไปนี้

(๑)จากการอ่านกลับไปกลับมาราว ๒-๓ รอบ ผมพบว่า มีปัญหาสำคัญที่คุณเทอดพงศ์ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวพันถึงส่วนที่เป็นใจความหลักของงานทีเดียว คือ ในชิ้นนี้คุณเทอดพงศ์พยายามให้ภาพตัวแทน (proxy) เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีต่อการเลือกสรรผู้ที่จะมาสืบราชสมบัติต่อจากพระนั่งเกล้าฯ ทั้งที่ตระกูลบุนนาคเป็นขุนนางที่สั่งสมอำนาจบารมีมาแต่ครั้งสมัย ร.๑ ถึงขนาด ?สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดที่สามารถกุมชะตาและทิศทางของสยามประเทศได้โดยเต็มที่? แต่เหตุใดขุนนางตระกูลนี้ถึงยังงมงายอยู่กับระบบการมีกษัตริย์เป็นประมุข ? ไม่มีการแตกขั้วอำนาจออกไปต่างหาก เช่น ที่เกิดขึ้นในระบบศักดินายุโรป ไม่มีแม้กระทั่งการท้าทายเชื้อพระวงศ์อย่างเด็ดขาดแท้จริง (อาจขัดแย้งกันบ้างแต่ไม่รุนแรงมากมายนัก) ประเด็นคำถามที่น่าสนใจอีกก็คือ สายเลือด ร.๑ มีสิทธิธรรมอะไรหรือ ? ถึงได้กดบีบให้ขุนนางแก่พวกนี้กลายเป็นข้าบริพารผู้ภักดีต่อราชวงศ์ ทั้งที่พวกนี้หลายครั้งมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์เสียอีก ???

(๒)ตรงกันข้ามแต่ต่อเนื่องจาก(๑) คุณเทอดพงศ์กลับอธิบายกระบวนวิธีการเลือกสรรผู้จะมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินออกไปในแง่ที่เป็นเรื่องตัวบุคคลและความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างขุนนางบุนนาคกับเชื้อพระวงศ์ที่มีสิทธิธรรม (ซึ่งส่วนนี้ผมไม่รู้ว่าจะเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งในงานชิ้นนี้กันแน่) เช่น ที่มีประเด็นพาดพิงถึงบุคลิก ลักษณะ และความสามารถของเจ้านาย ๔ พระองค์ (วชิรญาณภิกขุ (หรือเจ้าฟ้ามงกุฎฯ), เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์, กรมขุนเดชอดิศร, และ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์) ว่าทรงเป็นเช่นใดกันบ้าง และที่สำคัญคือ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับขุนนางบุนนาคมากน้อยเพียงใด ???

(๓)ถึงที่สุดแล้วการมองเรื่องการสถาปนาพระจอมเกล้าฯ โดยเน้นบทบาทขุนนางเป็นด้านหลัก ส่วนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเป็นเพียงผู้ถูกเลือกจากขุนนางผู้มีอำนาจ ก็เท่ากับมองว่า พระองค์มีฐานะจริงเป็นแค่ ?เจว็ด? ทีนี้ว่าในทางประวัติศาสตร์ (ตรงนี้ผมหมายถึงประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง) นอกจากกษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์แล้วก็ไม่แน่ว่า จะเคยมีซักครั้งไหมที่กษัตริย์จะทรงเป็น ?เจว็ด? ไปได้จริงๆ ปัญหาคือ คุณเทอดพงศ์สะท้อนเพียงว่า วชิรญาณฯ เป็นผู้ถูกเลือกมากกว่า นัยหนึ่งก็หมายถึงว่า พระองค์เป็นเพียงผู้ถูกกระทำไม่ใช่ผู้กระทำเอง ตรงนี้ไม่เพียงไม่มีสภาพ irony ครับ แต่มันตลกมากกว่า เพราะเท่ากับคุณเทอดพงศ์บอกเราว่า ?วชิรญาณฯ ถูกบังคับให้สืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์ ร.๔? (ฮามั๊ยล่ะ ? )

(๔)ต่อจาก(๓) ด้วยตรรกบทแบบนี้โดยตัวมันเองก็มักถึงแก่ความอับจนในที่สุด บทความนี้จึงไม่ช่วยให้เราเข้าใจประเด็นสำคัญ เช่นว่า ทำไมเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ถึงต้องเสด็จออกผนวชเกือบจะทันทีหลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จะได้สืบราชฯ ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์ และยังคงอยู่ในคราบสมณเพศตลอดสมัย ร.๓ จะเป็นด้วยเพราะพระองค์มีศรัทธาในพุทธศาสนางั้นหรือ ? หรือเพราะนั่นเป็นการลี้ภัยทางการเมืองเพื่อหวังรอดจากคมดาบ ? หรือเพราะพระองค์ต้องการอาศัยพลังจากทางฝ่ายพุทธจักร ซึ่งเป็นแหล่งอำนาจสำคัญภายนอกราชสำนักมาเป็นฐานสนับสนุน เพราะกาลต่อมาก็ปรากฎว่าทรงเป็นผู้นำสำคัญในการก่อตั้งนิกายใหม่ขึ้น ???

เรื่องนี้แม้แต่ ร.๕ ก็ยังเคยมีพระราชหัตถเลขา (ซึ่งเป็นหลักฐานที่ไม่ปรากฎในรายการอ้างอิงท้ายบทความของคุณเทอดพงศ์) ไว้อย่างน่าสนใจว่า การบวชและการจัดตั้งธรรมยุติกนิกายโดยเจ้าฟ้ามงกุฎฯ นี้ ?เป็นการต่อสู้อย่างยิ่ง? ส.ธรรมยศก็เคยขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเหนือบัลลังก์ของพระองค์เอง ( ? มงกุฎมีเพียงหนึ่ง ? ) เพราะปรากฏว่าก่อนที่ ร.๓ จะทรงประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ในคราบ วชิรญาณฯ ก็กลับเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งในสยามและต่างประเทศ

นอกจากนี้ในงานวิจัยของ อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ เกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็สะท้อนว่า วชิรญาณฯ มีความมุ่งหมายในราชบังลังก์อยู่แต่เดิม จึงกระทำสิ่งที่มักเรียกกันจนติดปากทุกวันนี้ว่า เป็นการ ?ปลอมจารึก? นั่นเอง (อาจารย์พิริยะตีความว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการปกครองและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยวชิรญาณฯ ด้วยซ้ำ)

(๕)ประเด็นที่ผมอภิปราย(โดยย่อ)ในข้อ(๔) จึงมีผลเป็นการหักล้างประเด็นของคุณเทอดพงศ์ในข้อที่ (๓) วชิรญาณฯ ไม่เพียงไม่ได้เป็น ?เจว็ด ? ของขุนนางเท่านั้น หากมีกุศโลบายทางการเมืองที่เหนือชั้นอย่างมากในการดูดกลืนสิทธิธรรมคู่แข่งอื่นๆ และกุศโลบายนี้มีความต่อเนื่องมาจนถึงสมัยที่ทรงครองราชย์แล้ว นอกจากปูนบำเหน็จขุนนางที่สนับสนุนพระองค์ (ดังที่เทอดพงศ์สะท้อน) ที่สำคัญ(ที่เทอดพงศ์ไม่ได้เขียนถึง) คือ พระองค์ยังแต่งตั้งกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชาของพระองค์ขึ้นเป็น ?กษัตริย์องค์ที่สอง? เพื่อเป็นดุลย์อำนาจระหว่างพระองค์กับพวกขุนนางบุนนาค ผมจึงไม่ค่อยเชื่อการตีความของคุณเทอดพงศ์เท่าไรในประเด็นที่ว่า การปูนบำเหน็จขุนนางโดยเลื่อนตำแหน่งชั้นบรรดาศักดิ์นั้นจะเป็นเพียงการตอบแทนที่ยกราชสมบัติให้พระองค์ตามธรรมดา ๆ ๆ ๆ?

(๖)คุณเทอดพงศ์แสดงความเห็นไว้ในหน้า ๑๖๕ ว่า ในระบบการเมืองแบบราชาธิปไตย (Limited Monarchy) มีเพียงกลุ่มตัวแสดงที่สำคัญ ๓ ฝ่าย ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน, กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์, และกลุ่มขุนนาง ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจ ๓ เส้าภายในราชสำนักเอง บทสรุปจากจินตภาพ (concept ) ที่ไม่มีอะไรลึกล้ำพิสดารไสตล์สามก๊กแสนรู้นี้จึงเท่ากับเป็นการบอกเราว่า การเมืองในระบอบราชาธิปไตยนั้นเป็นแค่เรื่องของคนส่วนน้อยในราชสำนักเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับประชาชนส่วนข้างมากหรือสังคมชนชั้นอื่น concept นี้ขัดแย้งกับสภาพความจริงที่ว่า วชิรญาณฯ ผู้ได้สืบบัลลังก์นี้แม้เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก (ราชสำนัก) ไปเป็นเวลาร่วม ๒๗ ปีแล้ว (?) และกำลังสำคัญที่สนับสนุนพระองค์ก็เป็นกลุ่มคนภายนอกนั้นมากกว่า ส่วนจะเป็นกลุ่มคนในสังคมชนชั้นใดนั้นผมยังไม่ชัดเจน จะเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่ต่อเนื่องมาจากคนกลุ่มใหญ่ที่อาจารย์นิธิเรียกว่า ?กระฎุมพีต้นรัตนโกสินทร์? ด้วยหรือไม่นั้น ผมยังไม่แน่ใจ ?

(๗)นอกเหนือจากนั้นอื่นใด ที่ผมสะท้อนข้างต้นนี้ล้วนเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดจากความโน้มเอียงแบบหนึ่ง ซึ่งมักปรากฎในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์โดยทั่วไป ได้แก่ ความโน้มเอียงที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วอย่างง่ายดายมากไป ยังไม่สู้จะมีการใช้วิธีวิพากษ์ ( Criticism of histerical ) เพื่อข้ามพ้นข้อจำกัดอันเกิดจากความโน้มเอียงนี้นอกเหนือไปจากปริมณทลของหลักฐาน เรายังไม่ได้มีการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราคิดว่า เรา ?รู้? จริงๆ ในชิ้นนี้ผลจากที่คุณเทอดพงศ์ยอมรับเอาความรู้ที่ว่า วชิรญาณฯ คือ ผู้ได้รับสืบราช ฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๔ ของรัตนโกสินทร์ มาเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐาน คุณเทอดพงศ์ก็จึงทำเช่นเดียวกับที่นักเรียนประวัติศาสตร์ที่ใสซื่ออื่นๆ เขาทำกันมามากแล้ว นั่นคือ ทำได้ไกลเพียงแค่ให้คำอธิบาย ( argurment ) หรือให้นัยความหมาย ( meaning ) เพียงว่า เหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่มีการเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ที่ว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปกติถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงการยอมรับในลักษณะดังกล่าวก็ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไรมากมายนัก แต่ถ้าเผื่อเป็นเหตุการณ์ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงในอดีตล่ะ ( ? ? ? ? ? ) เกี่ยวกับพระจอมเกล้าฯ คุณเทอดพงศ์จึงเพียงแต่อธิบายว่า วชิรญาณฯ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้อย่างไรเท่านั้น (?) และการอธิบายว่า ร.๔ เป็นเพียงผู้ถูกเลือกโดยขุนนางก็ยากที่จะหาความถูกต้องหรือลงตัวใดใดทั้งสิ้น !!!

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ก็ยังคงเป็นงานที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง เพราะมีส่วนที่จัดว่าเป็นคุณูปการ ( contribution )ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาท ของขุนนางตระกูลบุนนาคก่อนเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้นในสมัย ร.๕ ( พ.ศ.๒๔๓๕ ) ซึ่งในเรื่องนี้คุณเทอดพงศ์ประสบความสำเร็จในการสะท้อนประเด็นได้อย่างน่าสนใจ เราจะเห็นภาพตัวแทน ( proxy ) ที่ดูเป็นมนุษย์จริงๆ มีการต่อสู้แย่งชิง มีการเผชิญปัญหา และต่างพยายามหาทางออกทั้งเพื่อตัวเองและสังคมโดยรวม ไม่ใช่มนุษย์ที่เป็นเพียง ?เหยื่อ ? ของโครงสร้างสังคม หากเป็น ?สัตว์การเมือง? ที่สามารถยิ่ง?

จริงอยู่ว่าความเห็นผมที่แสดงไว้ข้างต้น อาจดูเป็นการท้าทายต่อการตีความในแบบของคุณเทอดพงศ์ แต่ก็หาได้มีผลต่อการเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและองค์ความรู้โดยรวมที่ปรากฎในบทความดังกล่าวนี้ ทราบมาว่า งานลักษณะนี้จะถูกตีพิมพ์ออกมา(เป็นเล่ม)ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย ผมจึงรู้สึกยินดีที่จะได้ศึกษาจากนักเขียนนักค้นคว้าอย่างคุณเทอดพงศ์อีก และก็เช่นเดียวกับงานหลายชิ้นที่ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ยังคงเป็นงานที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระ ผมในฐานะผู้อ่านได้รับความรู้และข้อมูลดีดีจากนิตยสารนี้ด้วยดีเสมอมา จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวขอบคุณไว้ ณ.โอกาสนี้ด้วย ขอบคุณมากครับ.


ด้วยรักและศรัทธา.
กำพล จำปาพันธ์


ที่มา : thaingo : จดหมายถึงศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับเบื้องหลังการสืบราชสมบัติของ ร

ไม่มีความคิดเห็น: