วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พระเจ้าปราสาททอง : พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182


หมายเหตุ
ข้อมูลที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นพระราชประวัติของ พระเจ้าปราสาททอง โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่รัชกาล สมเด็จพระเชษฐาธิราช - พระเจ้าปราสาททอง

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 :
วันวลิต, แต่ง :
เลียวนาร์ด แอนดายา, แปลเป็นภาษาอังกฤษจากภาษาฮอลันดา :
มิเรียม เจ. แวน เดนเบอร์ก, คัดลอกจากต้นฉบับเดิม :
เดวิด เค. วัยอาจ, บรรณาธิการ :
วนาศรีื สามนเสน, แปลเป็นภาษาไทยจากภาษาอังกฤษ :
ประเสริฐ ณ นคร, ตรวจ :
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2523.


...................................


พระองค์เชษฐราชา

( Prae Ongh Tsit Terrae Tsiae )
พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๓ แห่งสยาม
เสวยราชย์อยู่ ๘ เดือน


พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระอินทราชา ขึ้นเสวยราชย์ ( ขัดต่อกฎมณเฑียรบาล ) เมื่อพระชนม์มายุได้ ๑๕ พรรษา ทรงพระนามว่า พระองค์เชษฐราชา ทรงเป็นเจ้าชายที่มีอารมณ์รุนแรง และเอาพระทัยยาก จึงเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าพระองค์จะปกครองประเทศอย่างเข้มงวด ทรงไม่สนใจกิจการใด ๆ ทั้งสิ้น ตัณหาจัด ไร้ความคิด ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความสำราญมากกว่าจะปกครองบ้านเมือง

พระอนุชาของพระอินทราชา ( หรือพระปิตุลาของพระองค์ ) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ แต่ถูกปฎิเสธ ก็ทรงสละทางโลกหันเข้าหาร่มกาสาวพัสตร์ ทรงทำเช่นนี้ก็เพื่อจะรักษาชีวิตของพระองค์เองไว้ เนื่องจากพระองค์ทรงถูกขู่คุกคาม อย่างไรก็ดี พระองค์ก็ทรงเฝ้าดูความประพฤติ และพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์อย่างใกล้ชิด ทรงเข้าพระทัยดีว่าทำไมขุนนางและประชาชนจึงเกลียดชังพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อประสบโอกาสจึงลาผนวช เสด็จไปบางกอก ( กรุงเทพฯ ) ซ่องสุมผู้คนอย่างลับ ๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อต่อต้านพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเรื่อง ก็ทรงรวบรวมกองทัพ ประกอบด้วยกองทัพญี่ปุ่น แกละส่งออกญากลาโหม และออกญาดุน ( Oya Thun ) ซึ่งเป็นพันโททหารญี่ปุ่นไปต่อสู้กับพระปิตุลา เมื่อทราบข่าวกองทัพพระเจ้าแผ่นดินยกมา ตีผู้คนของพระปิตุลาแตกพ่ายไป และจับพระองค์เป็นเชลย

พระเจ้าแผ่นดินทรงปีติโสมนัสมาก เมื่อทราบข่าวว่ารบชนะ และพระปิตุลาถูกจับเป็นเชลย อย่างไรก็ดี หลังจากทรงไตร่ตรองแล้ว พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยไม่ฆ่าพระปิตุลา แต่ปล่อยให้สิ้นพระชนม์โดยการลดจำนวนอาหารลงทุก ๆ วัน ณ เมืองเพชรบุรี เพื่อให้เป็นไปตามกระแสรับสั่งลงโทษ จึงมีการขุดบ่อลึกเพื่อขังพระปิตุลา ทรงได้รับอาหารลดจำนวนลงทุก ๆ วัน จนกระทั่งทรงหมดพระกำลัง ได้แต่ทรงรอความตาย

แต่พวกพระสงฆ์รักพระปิตุลา เนื่องจากทรงมีคุณงามความดี พวกเขาจึงขุดหลุมห่างจากบ่อที่พระปิตุลาถูกขังอยู่หลายฟุต และทำทางคล้ายอุโมงค์ใต้ดิน เมื่อถึงเวลาค่ำก็พากันมาช่วยพระปิตุลา เอาศพมาวางแทนที่และแต่งตัวศพด้วยฉลองพระองค์ของพระปิตุลา

รุ่งเช้า เมื่อทหารมาส่องดูที่ปากบ่อ ก็นึกว่าพระอนุชาสิ้นพระชนม์ ในเวลาเย็นด้วยความหิวโหย จึงช่วยกันถมบ่อ และเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อกราบทูลเรื่องราวแก่พระเจ้าแผ่นดิน พระสงฆ์ก็ช่วยกันปฐมพยาบาลพระปิตุลา จนกระทั่งมีพระอนามัยดีเหมือนเดิม ทรงให้กระจายข่าวไปว่าพระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ และได้รับความช่วยเหลือรอดชีวิตมาอย่างปาฎิหารย์ ทรงรู้สึกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พระองค์ทรงรอดชีวิตในครั้งนี้ และเป็นโอกาสเหมาะที่พระองค์จะทรงซ่องสุมพวกพ้อง

แต่ความหวังของพระองค์ก็สูญสิ้นชั่วพริบตาเดียว เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบข่าวว่าพระปิตุลายังมีพระชนม์ชีพอยู่ กำลังซ่องสุมผู้คน จึงให้ออกญากลาโหมและออกญาดุน ยกกองทหารไทยและญี่ปุ่นมาที่เพชรบุรีกองทหารดังกล่าวก็ได้ชัยชนะ จับตัวพระปิตุลาลงไปกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าแผ่นดินได้มีกระแสรับสั่งให้ลงโทษประหารชีวิต

พระปิตุลาทรงขออนุญาต ตรัสแก่พระเจ้าแผ่นดินสักครั้งก่อนถูกประหารชีวิต ซึ่งก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้เข้าเฝ้า ก็ทรงทูลข้อเตือนใจและคำแนะนำที่เป็นแก่นสาร ในตอนท้าย ได้ตรัสว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ควรทรงไว้ใจออกญากลาโหมมากนัก หรือให้ออกญากลาโหมมีอำนาจมากเกินไป ทรงเพิ่มเติมว่า “ออกญากลาโหมเป็นสุนัขจิ้งจอกที่แยบยล จะแยกมงกุฎจากพระเศียรของพระองค์ จะฆ่าพระองค์ และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นของราชวงศ์พระบิดา และจะปกครองอาณาจักรดุจราชสีห์”

อย่างไรก็ดี พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใส่ใจคำเตือนนี้ ทรงมีกระแสรับสั่งให้ประหารชีวิต พระปิตุลาถูกนำไปยังป่าช้าที่เงียบเหงา ซึ่งพระองค์ถูกบังคับให้นอนบนพรมสีแดง จากนั้นถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระอุระ ทั้งพระองค์ ท่อนจันทน์ และพรมสีแดง ก็ถูกเหวี่ยงลงบ่อน้ำไป ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ทรงเป็นเจ้าชายที่เข้มแข็งมาก ถ้าหากพระองค์ทรงได้ครองราชสมบัติตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว พระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีคุณงามความดีเหนือพระเชษฐาหลายประการ

เมื่อทรงได้รับชัยชนะ และประหารชีวิตเจ้าชายที่น่าสรรเสริญและเป็นพระปิตุลาที่ถูกต้องตามกฎหมายของพระองค์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ยิ่งเพิ่มความประมาท หยิ่งผยอง และกดขี่บรรดาขุนนางทั้งหลาย ดังนั้น พระองค์จึงเป็นที่รังเกียจของขุนนาง ตรงกันข้ามกับออกญากลาโหม ซึ่งเป็นมิตรกับทุก ๆ คน เมื่อน้องชายออกญากลาโหมตาย และเพื่อที่จะทำพิธีเผาศพอย่างใหญ่โต ออกญากลาโหมก็เชิญขุนนางหลายคนเดินทางไปกับตนเป็นเวลาหลายวัน เพื่อทำพิธีเผาศพให้สมบูรณ์

วันหนึ่ง ขณะที่ออกขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินทรงมีรับสั่งถามว่า “ขุนนางหายกันไปไหนหมด ทำไมถึงไม่มาเข้าเฝ้าเป็นเวลาหลายวันแล้ว” เมื่อทรงทราบ ว่าพวกขุนนางติดตามออกญากลาโหมไปในพิธีเผาศพ ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่า “ข้าตั้งใจไว้แล้วว่าแผ่นดินสยามนั้นจะต้องมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว และพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นก็คือข้า ออกญากลาโหมเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สองหรือ ข้าไม่ยักรู้ เอาเถิดปล่อยให้มันและพวกพ้องกลับมาถึงราชสำนักก่อน แล้วข้าจะให้รางวัลในการกระทำของพวกมันอย่างเต็มที่”

ขุนนางคนหนึ่งซึ่งเฝ้าอยู่ในขณะนั้น ก็แอบลอบออกจากพระราชวัง ไปเตือนออกญากลาโหมถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ออกญาและพวกขุนนางอื่นๆ ออกญากลาโหมมีทีท่าวุ่นวายใจเมื่อทราบข่าว และกล่าวว่าเขายินดีที่จะตายถ้าหากเลือดเนื้อของเขาจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินหายโกรธได้ แต่ได้กล่าวเพิ่มเติม ว่า “ถ้าหากข้าซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาพวกเรา จะต้องสิ้นชีวิตลงแล้ว พวกเจ้าจะเป็นอย่างไร”

หลังจากนั้น พวกขุนนางก็เสนอความเห็นหลายประการ และสาบานว่าจะสนับสนุนออกญากลาโหมทุกประการ และลงมติว่าออกญากลาโหมจะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพของพระเจ้าแผ่นดิน ( ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของออกญากลาโหม ) และขุนนางแต่ละคนจะเกณฑ์สมัครพรรคพวกและข้าทาสเข้าร่วมด้วย เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับที่พักของตนพร้อมกับเริ่มดำเนินการตามแผน เย็นวันนั้น ออกญากลาโหมพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง ก็ปรากฎตัว ณ ประตูกวาง พวกขุนนางก็เข้ารวมพวกด้วย และบุกเข้าไปในพระราชวังและสามารถยึดได้

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทราบข่าว ก็กระโดดขึ้นช้างตีนเร็ว ( fleet-footed-elephant ) หนีไปแต่ผู้เดียว ให้ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ และหนีต่อไปทางเหนือเมืองเจ็ดไมล์ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง เมื่อออกญากลาโหม ทราบข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินหลบซ่อนอยู่ในที่ใดแล้ว ก็ส่งทหารของตนออกไปจับพระองค์เป็นเชลย นำกลับมายังกรุงศรีอยุธยา

เมื่อมาถึง พวกขุนนางก็พิจารณาลงโทษประหารชีวิตพระองค์ ตามข้อแนะนำของออกญากลาโหม ผู้ซึ่งกล่าวว่า “เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จหนีไปจากพระราชวังของพระองค์เอง ทรงละทิ้งมงกุฎและเกียรติยศของกษัตริย์ พระองค์ไม่สมควรที่จะปกครองพวกเราสืบไป” ทันใดนั้น พระองค์ก็ถูกคุมตัวไปยังป่าช้า สถานที่เดียวกับที่พระปิตุลาถูกประหาร และพระองค์ก็สิ้นพระชนม์แบบเดียวกันกับพระปิตุลา เสวยราชย์อยู่ ๘ เดือน

ในต้นรัชสมัยของพระองค์ มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เกิดในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโหรได้ทำนายไปต่าง ๆ นานา แต่ปรากฎว่าคำทำนายนั้นผิด เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผิดไปจากคำทำนายอย่างสิ้นเชิง



พระองค์อาทิตยสุรวงศ์

( Prae Ongh Athit Soerae Wongh )
พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๔ แห่งสยาม
เสวยราชย์อยู่ ๓๘ วัน


ด้วยการเสนอแนะของออกญากลาโหม พระอนุชาของพระองค์เชษฐราชาซึ่งถูกประหารชีวิต ขึ้นเสวยราชสมบัติด้วยความเห็นชอบของขุนนาง ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา ทรงพระนามว่า พระองค์อาทิตยสุรวงศ์

ออกญากลาโหมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองและผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ แต่ออกญากลาโหมไม่ต้องการที่จะรับหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ออกญากลาโหมก็รับเป็นผู้สำเร็จราชการตามคำวิงวอนของขุนนาง ซึ่งกล่าวว่าออกญากลาโหม เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่และยุติธรรม และเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ในที่สุดหลังจากที่ได้คัดค้าน ออกญากลาโหมก็ยอมรับเป็นผู้ปกครอง และได้มีการรับรู้ และประกาศให้ทราบทั่วกันโดยพระราชวงศ์

หลังจากพระเจ้าแผ่นดินขึ้นครองราชย์ได้หลายวัน ออกญากลาโหมต้องการจะสละตำแหน่งหน้าที่ โดยกล่าวว่า “เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่ว่าชีวิตหรือตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าก็จะต้องไม่มั่นคง เพราะว่าย่อมจะมีทางเป็นไปได้ ที่บุคคลซึ่งไม่ใช่เพื่อนแท้ และพวกปากหอยปากปู ย่อมจะกล่าวร้ายป้ายสีการกระทำของข้า ทำให้ข้ามีมลทิน ซึ่งย่อมจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินพิโรธ” และกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เป็นการถูกต้องนัก ที่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นี้จะปกครองโดยพระเจ้าแผ่นดินที่เยาว์วัย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ จึงพิจารณาว่า ควรจะมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเป็นการชั่วคราวก่อนที่เจ้าชายองค์น้อยนี้จะบรรลุนิติภาวะ และทรงสามารถปกครองได้ด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงเวลานั้น พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวจะต้องถวายราชสมบัติคืนแก่รัชทายาทที่ถูกต้อง ในตอนนี้เจ้าชายจะต้องอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์เพื่อจะได้เรียนรู้หลักธรรม

หลังจากได้พิจารณาข้อเสนอของออกญากลาโหมแล้ว ก็ไม่สามารถจะตกลงให้สละตำแหน่งหน้าที่ได้ แต่ต้องสถาปนาออกญากลาโหมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตามเงื่อนใขที่ออกญาวางไว้เอง แต่อย่างไรก็ดี ออกญากลาโหมก็ไม่ต้องการรับมงกุฎ แต่ในที่สุดก็ยินยอมรับตามคำอ้อนวอนและขอร้องของบุคคลทุกชั้น

สองสามวันหลังจากที่ได้สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญากลาโหมก็ทรงเสนอต่อขุนนาง ว่าที่จะให้เจ้าชายปกครองพระราชอาณาจักรร่วม ไม่สามารถจะยอมได้ การจำกัดอำนาจดังกล่าวจะเกิดผลอันตรายเพราะว่าเมื่อเจ้าชายมีพระราชอำนาจเต็มที่แล้ว อาจจะไม่ไว้ใจออกญากลาโหมโดยการยุยงของผู้อื่น และจะคอยจับผิดเพื่อติเตียนออกญากลาโหมในด้านการปกครอง และดังนั้นจะเป็นอันตรายต่อออกญากลาโหมเป็นอย่างมาก ดังนั้น ออกญากลาโหมจึงไม่ขอรับมงกุฏ หรือภาระหน้าที่การปกครอง

คณะขุนนางไม่สามารถจะปล่อยให้เป็นไปดังกล่าวได้ แต่เพื่อรักษาชีวิต และตำแหน่งของพวกเขาเหล่านั้น และเพื่อให้อาณาจักรมีการปกครองที่ถูกต้อง คือมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว ไม่ใช่สององค์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือกำจัดเจ้าชายองค์น้อยเสีย แต่พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวไม่ทรงปรารถนาให้ทำเช่นนั้น มีดำรัสว่าเจ้าชายเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้ทรงทำผิดอะไร ก็ไม่สมควรที่จะต้องเสียเลือดเนื้อ

แต่พวกขุนนางคะยั้นคะยอให้ทำ

ในที่สุดก็ทรงยินยอมที่จะให้ประหารชีวิตเจ้าชาย ด้วยวิธีเดียวกับพระเชษฐาและพระปิตุลา ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทรงมีกระแสรับสั่งให้นำเจ้าชายไปจากโรงเรียน แล้วนำไปสู่ป่าช้าที่เงียบเหงา ซึ่งเจ้าชายองค์น้อยก็ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระอุระ และโยนลงบ่อดังเช่นพระเชษฐาและพระปิตุลา พระองค์เสวยราชย์อยู่ ๓๘ วัน



พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช /
พระเจ้าปราสาททอง

( Prae Onghsrij d’Harmae Roateial Thieraija )
พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๕ แห่งสยาม
เสวยราชย์อยู่ ๑๑ ปี


เมื่อเจ้าชายองค์น้อยสิ้นพระชนม์ ออกญากลาโหมพระเจ้าแผ่นดินชั่วคราว ( ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ) ก็ได้ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียวในอาณาจักรสยาม ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๓๐ พรรษา ทรงพระนามว่า พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช

พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ทรงเกี่ยวดองเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ซึ่งถูกสำเร็จโทษ เนื่องจากพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถูกสำเร็จโทษ และพระองค์เอง เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน พระราชมารดาของพระอินทราชาและพระราชบิดาของพระองค์ เป็นพี่น้องร่วมท้องกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสายเลือดจะเข้มข้นหรือไม่ ผู้ที่รู้ดีเท่านั้นที่อาจจะตัดสินได้ พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมเมื่อเริ่มปกครอง และทรงมีเมตตากรุณาต่อขุนนางและข้าราชบริพาร พระองค์ทรงมีวิจารณญษณ ถ้าหากมีผู้มาร้องทุกข์ต่อพระองค์ จะไม่ทรงลงโทษ หรือ ตัดสินผู้ถูกกล่าวหาอย่างทันทีทันใด แต่จะแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ผู้เป็นกลางสอบสวนข้อพิพาทเหล่านั้น พร้อมทั้งมีกระแสรับสั่ง ว่าผู้สอบสวนจะต้องไม่เอนเอียงในการสอบสวนไปข้างบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่ให้เป็นไปตามเทพยดา พระเจ้าแผ่นดิน และความยุติธรรม

เป็นที่น่าเสียดาย ว่าความประพฤติผิดในกาม และความหยิ่งยโสของพระองค์ ทำลายธรรมชาติที่ดี และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของพระองค์ ยิ่งพระองค์มีอำนาจมากเท่าไร พระองค์ยิ่งตัดสินพระทัยเร็วขึ้นมากเท่านั้น

ในต้นรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำสงครามกับลำปาง ( เมืองชายแดนระหว่างล้านช้างและนครศรีธรรมราช ) ซึ่งแข็งเมืองเมื่อมีเรื่องยุ่งในเมืองหลวง อย่างไรก็ตาม ทรงรบชนะลำปางและรวมเข้าอยู่ในอาณาจักรได้อีกครั้งหนึ่ง ทรงขับไล่ชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาศัยอยู่ในสยาม และเคยช่วยเหลือพระองค์ในระหว่างล้มล้างราชบัลลังก์ แต่ก็ทรงเรียกกลับต่อมาไม่ช้า

ทรงปฎิบัติต่อชาวโปรตุเกสอย่างศัตรู เหมือนดังว่าพวกเขาเป็นเชลย อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นก็ทรงส่งคณะฑูตไปยังมะละกา มีราชสาส์นไปยังมะนิลา ทรงเสนอสัญญาไมตรีต่อโปรตุเกสและสเปน ทรงปรองดองกับโปรตุเกสอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับคำตอบจากมะนิลา ทรงส่งคณะฑูตไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเมืองอัตเจ และยะไข่ เพื่อเสริมพระราชไมตรีให้แน่นแฟ้น พระเจ้าแผ่นดินเหล่านี้ โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินอัตเจ ไม่ได้ตัดพระราชไมตรีแต่ต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าสัมพันธไมตรีนั้นเป็นเพียงแค่คำพูด ไม่ได้มีไมตรีจริงจังเลย

อาณาจักรปัตตานีปฎิเสธที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการ ดังนั้นในปีที่ห้าแห่งรัชกาล ทรงส่งแสนยานุภาพไปที่นั่น แต่กลับถูกตีแตกมา พระองค์จึงทรงให้ซ่อมแซมเรือรบ และสร้างใหม่อีกหลายลำ เพื่อไปโจมตีปัตตานีอีกครั้งหนึ่งแต่ด้วยการไกล่เกลี่ยของผู้ครองรัฐเคดาห์และพระสงฆ์ชาวสยาม ในที่สุดก็มีสัญญาทางพระราชไมตรี และยุติสงคราม

ในปีที่สามแห่งรัชกาล ทรงประหารชีวิตเจ้าชายสองพระองค์ องค์หนึ่งพระชนมายุ ๗ พรรษา อีกองค์หนึ่ง ๕ พรรษา ทั้งสองพระองค์เป็นโอรสของพระอินทราและอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถูกปลงพระชนม์ บรรดาขุนนางที่คัดค้านการกระทำนี้ ถูกทำร้ายด้วยน้ำมือของพระองค์เอง และที่พักอาศัยรวมทั้งทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็ถูกริบราชบาตร

ในปีที่สามแห่งรัชกาลนี่เอง ที่ยอดปราสาททองนพธาตุหักลงมาโดยปราศจากลมพายุพัดหรือถูกฟ้าผ่า ทรงให้ปฎิสังขรณ์ให้ตั้งตรงดังเดิมทันที แต่ก่อนที่งานบูรณะจะสำเร็จ นั่งร้าน ( ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่อย่างแข็งแรงและทนทาน ) ก็พังลงมาอย่างไม่คาดฝันระหว่างที่เกิดพายุใหญ่ การนี้เป็นลางบอกเหตุ ซึ่งพวกโหรต่างก็เก็บคำทำนายไว้เป็นความลับ

ปีที่สีแห่งรัชกาล ช้างเผือกซึ่งเกิดในสมัยพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์ได้ล้มลง ในปีเดียวกันช้างซึ่งมีหางเป็นวงได้เกิดที่บริเวณนอกกรุงศรีอยุธยา มีนิยายมากมายเกี่ยวกับการล้มของช้างเผือกและการเกิดช้างหางกลม แต่ก็เป็นเรื่องเกินความจริงทั้งนั้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ขอกล่าวถึง

ในปีที่เจ็ดแห่งรัชกาล ทรงสั่งประหารชีวิตออกญาพิษณุโลกด้วยสาเหตุที่ทรงสร้างขึ้นเอง ถึงแม้ว่าออกญาพิษณุโลกเป็นผู้ช่วยเหลือพระองค์ให้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ทรงมีพระชนมายุอยู่จนถึง จุลศักราช ๑๐๐๐ ซึ่งถือว่าเป็นปีที่นำโชคชัยมาให้มหาศาล ทรงจัดให้มีพิธีฉลองแบบเก่า ซึ่งนำเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาโดยพระเจ้ารามาธิบดีพระเจ้าแผ่นดินผู้ประสบแต่โชคชัย พิธีนี้เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาขุนนางและพระสงฆ์อย่างมาก พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ปฎิบัติต่อขุนนางเยี่ยงทาส ขุนนางจะต้องเข้าเฝ้าทุกวัน และอนุญาตให้ไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกันตามบ้านหรือที่รโหฐานได้ แต่ไม่อนุญาตให้พูดกัน เว้นแต่ในที่สาธารณะ

กล่าวกันว่าพระองค์ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทั้งหมด รวมทั้งพระราชวังและเมืองก็ได้รับการแก้ไขอย่างมากมาย ทรงสร้างและปฎิสังขรณ์วัด หอคอย และเจดีย์หลายแห่ง มากกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ ก่อนที่จะยุติเรื่องราวของพระองค์ ข้าพเจ้าขอกล่าวเรื่องราวส่วนพระองค์อย่างสั้น ๆ

พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนักรบแบบชาวสยาม มีโวหารที่ผูกไมตรี เคร่งศาสนา และอุทิศพระองค์ให้แก่การศาสนา ทรงนิยมพระสงฆ์และนักปราชญ์เป็นอันมาก ทรงนิยมชาวต่างประเทศ และเพื่อทำให้ชาวต่างประเทศประทับใจในพระองค์ ทรงแบ่งเบาภาระชาวต่างประเทศหลายประการ และทรงปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สิบเอ็ดนำมาใช้ และใช้ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ยี่สิบเอ็ด แต่ทรงหยิ่งผยอง มีชื่อเสียงขจรไกล ทรงฉลองพระองค์สวยงาม มีสีฉูดฉาด และถึงแม้จะทรงตัดสินพระทัยอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทรงสามารถเปลี่ยนความโกรธเป็นความเมตตาได้รวดเร็วเหมือนกัน ดังนั้นจึงมีบุคคลเพียงสองสามคนเท่านั้นที่ถูกประหารชีวิตตามกฎหมาย

พระองค์ทรงเสวยน้ำจัณฑ์มากเกินไป เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์ได้พระมารดาและพระขนิษฐาของพระมเหสีเป็นพระสนม พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและธิดากับพระมเหสีพระสนมทั้งสามพระองค์ พระองค์เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไปมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน ๆ เสมอ พระองค์ทรงโลภมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ๆ ทรงให้รื้อฐานวัดเพื่อจะขุดหาของและเงินที่ฝังไว้

พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ทรงพระนามว่าหน่อพุทธากูร ( Noophout Thae Coun ) ได้นำวิธีปฎิบัติที่ว่าเมื่อขุนนางสิ้นชีวิตลง จะต้องจ่ายทองหนักหนึ่งบาทต่อที่ดินทุก ๆ สิบไร่ และพระอนุชาธิราชพระราเมศวร ก็ได้ใช้วิธีที่ว่าเมื่อขุนนางสิ้นชีวิตลง หนึ่งในสามของสมบัติส่วนตัว จะต้องตกเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ทรงต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากขุนนางสิ้นชีวิตลง ภรรยาจะถูกควบคุมตัว

ขุนนางจะลอบสังเกตซึ่งกันและกันว่าใครซ่อนสมบัติไว้บ้าง หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าจะแสดงความรู้สึกสำนึกบุญคุณอย่างล้นพ้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงหยิบยื่นพระทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นของตนเองให้บ้างเพียงเล็กน้อย ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงคิดเลยว่าพระองค์มีฐานะร่ำรวยจนกว่าพระองค์จะสามารถรวบรวมทรัพย์สมบัติเข้าท้องพระคลังได้หมด และรีดเงินจากชุมนุมชนได้ทั้งหมดด้วย

ข้าพเจ้าได้กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าพระชัยราชา พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สิบสี่แห่งสยามได้สร้างวัดพระชีเชียง ซึ่งมีเหตุมหัศจรรย์ปรากฎขึ้นเสมอ ๆ เนื่องจากเป็นเรื่องนิยายเกินไป ข้าพเจ้าจึงไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

ครั้งหนึ่ง วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในพระราชอาณาจักร แต่ได้ถูกฟ้าผ่า และพายุพัดหักลงมาตลอดเวลา พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ได้ทรงปฎิสังขรณ์วัดแห่งนี้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เร่งงานก็ต้องล้มเลิกไปกลางคัน เพราะว่าผู้ควบคุมและคนงานเกิดเจ็บป่วยและสิ้นชีวิตอย่างน่าสังเวช

กล่าวกันว่าพราหมณ์และพระสงฆ์ได้ทำนายไว้ ว่าผู้ที่จะบูรณะวัดนี้ได้ ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าอย่างบริสุทธิ์ เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว พระองค์ศรีธรรมราชาธิราชได้ทรงให้รื้อวัดจนถึงฐาน และทรงย้ายรูปหล่อทองแดงซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นออกไปไกลหลายวา เพื่อว่าจะสร้างวัดใหม่ ณ ที่ประดิษฐรูปหล่อทองแดง

ประชาชนต่างมีความเห็นในการสร้างวัดนี้ต่าง ๆ กัน มีหลายคนที่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงสามารถทำงานนี้ได้สำเร็จ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์ทรงเหมือนพระเจ้าแผ่นดินผู้แรกสร้างกรุงศรีอยุธยาหลายด้าน ซึ่งเหตุผลนี้ก็เป็นที่ยอมรับกัน แต่ชาวสยามก็ไม่ได้มีความเห็นเช่นนั้นทั้งหมด เนื่องจากผู้สร้างวัดนี้เป็นคนแรกที่ฆ่าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีพระชนม์พรรษาเพียง ๕ ปี ( หลังจากได้ครองราชย์อยู่ ๕ เดือน ) และชิงราชบัลลังก์

อย่างไรก็ดี พวกพราหมณ์กล่าวว่าได้เห็นปรากฎการณ์บนสวรรค์ ซึ่งระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินจะสร้างวัดใหม่ไม่สำเร็จ และจะทรงสวรรคตก่อนที่งานจะสำเร็จ เนื่องจากสาเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสร้างวัดด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่พระองค์ทรงหวังว่าจะได้พบทรัพย์สมบัติล้ำค่าในการทำลายรื้อวัดเก่า แต่ใครเล่าจะสามารถบอกความจริงได้นอกจากกาลเวลา

ในขณะนี้ พระเจ้าแผ่นดินทรงครองราชย์ได้ ๑๐ ปี ๗ เดือนแล้วแต่รัชสมัยของพระองค์ไม่เจริญรุ่งเรือง กลับมีแต่ความยุ่งยากตลอดเวลาแลโหรกล่าวว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปเช่นนี้จนกว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์

ข้าแต่ ฯพณฯ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะเขียนพรรณาเช่นการเจ็บป่วยของพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ ( พระอินทราชา ) การเนรเทศเจ้าชายพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน การสืบสันตติวงศ์ และการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์ รวมทั้งการชิงราชบัลลังก์

ระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่นี้ ก็ได้สืบสวนเกือบทุก ๆ ด้าน และได้บันทึกลงในกระดาษ แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ก็ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนเรื่องราวให้สำเร็จสมบูรณ์ได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้าได้ประทานเสนอบันทึกนี้ ซึ่งถือว่าเป็นบทนำฉบับนี้แก่ ฯณฯ ถ้าหากข้าพเจ้าผู้ต่ำต้อยจะสามารถทำให้ ฯณฯ พอใจกับผลงานที่ไร้ค่านี้แล้ว ข้าพเจ้าจะฉลองพระกรุณาธิคุณเขียนบันทึกประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้สั้นเข้า และถูกต้องตามความเป็นจริงทีสุด แต่ในระหว่างนี้ข้าพเจ้าขอความกรุณา ฯพณฯ ให้รับบันทึกฉบับนี้จากข้าฯ ผู้รับใช้ไว้พจารณาก่อน

กรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๑๘๒ ( ค.ศ. ๑๖๔๐ )


จากผู้รับใช้
เยเรเมียส วันวลิต



ที่มา : พระเจ้าปราสาททองในเอกสารวันวลิต โดย.ขุนนางอยุธยา

ปล.การเน้นข้อความเปนการทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ


เพิ่มเติม : ข้อมูลของ นายวัน วลิต

"นายวัน วลิต" นั้น แกมีชื่อตามเอกสารฮอลันดาว่า "Jeremias Van Vliet" (เยเรเมียส ฟอน ฟลีต แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกให้คุ้นหูคนไทยว่า "วัน วลิต") เป็นเจ้าหน้าที่ของห้างค้าขายของฮอลันดาชื่อ บริษัท อีสต์ อินเดีย เคยถูกส่งตัวไปทำงานที่ชวา และญี่ปุ่น แล้วจึงได้เข้ามาทำงานของห้างที่กรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๗๖ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

วัน วลิต อยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาจนถึง พ.ศ. ๒๑๘๕ เป็นเวลานานพอสมควรที่จะรู้หนังสือไทยและพูดภาษาไทยได้คล่อง เพราะฝรั่งสมัยนั้นมักจะมีเมียไทย

วัน วลิต ออกจากกรุงศรีอยุธยาไปรับตำแหน่งที่สูงกว่าเดิม คือไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองมะละกา ซึ่งสมัยนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลันดา ก่อนไป วัน วลิต ได้ถวายเด็กฮอลันดาไว้เป็นมหาดเล็กพระเจ้าปราสาททอง ๔ คน เด็ก ๔ คนนี้ต่อมาจะเป็นตายร้ายดีประการใดไม่ปรากฏ

ในขณะที่อยู่เมืองไทยนั้น วัน วลิตได้เขียนหนังสือไว้หลายเรื่อง เรื่องแรกที่เขียนนั้นได้เขียนในปีที่มาถึงกรุงศรีอยุธยา คือ Description of the Kingdom of Siam (การพรรณนาเรื่องราชอาณาจักรสยาม)

เรื่องที่สองคือเรื่อง The Short History of the Kings of Siam (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขป) ซึ่งเขียนขึ้นในต้นปี พ.ศ. ๒๑๘๓

และในปลายปีเดียวกันนั้น ก็ได้เขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มหนึ่งชื่อ The Historical Account of the War of Succession following the death of King Pra Interajatsia, 22nd King of Ayuthian Dynasty (รายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามสืบราชสมบัติหลังจากสมเด็จพระอินทรราชา พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา

หนังสือเล่มแรกได้แปลเป็นภาษาไทยนานแล้ว ส่วนหนังสือเล่มหลัง อาจารย์นันทา วรเนติวงศ์ ศ.บ. (โบราณคดี) แห่งแผนกแปลและเรียบเรียง กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้แปลขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ และจัดพิมพ์เผยแพร่แล้วในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๙

สำหรับเล่มที่คุณหงสาวดีอ่านนั้นน่าจะเป็นเล่มที่สอง ซึ่งสยามสมาคมได้เคยจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกสองภาษา คือภาษาฮอลันดา (ต้นฉบับเดิม) กับภาษาอังกฤษ (ซึ่งเป็นคำแปล) โดยมีผู้แปลเป็นภาษาไทยคือ "วนาศรี สามเสน" โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ตรวจ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิมพ์จำหน่าย ก่อนหน้านี้มีผู้แปลคือ ม.ร.ว. ศุภวัธน์ เกษมศรี แต่ได้พิมพ์ในจำนวนจำกัด

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขปนี้เขียนขึ้นใน พ.ศ. ๒๑๘๓ ก่อนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ถึง ๔๐ ปี จึงนับเป็นพระราชพงศาวดารที่เก่าที่สุดที่เราค้นพบถึงปัจจุบันนี้

โดยการเขียนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวัน วลิต ได้อ้างว่าได้ค้นจากจดหมายเหตุเก่า ๆ บ้าง และได้สอบถามเรื่องราวจากคนไทยบ้าง มีลักษณะเหมือนพระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ อยู่อย่างหนึ่ง คือ เหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่สร้างกรุงลงมาได้จดบันทึกไว้แต่สั้น ๆ โดยสังเขปทุกรัชกาล แต่มาเริ่มมีรายละเอียดพิสดารตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงมา น่าสังเกตุว่า เรื่องของ "สมเด็จพระสุริโยทัย" ที่พระราชพงศาวดารฉบับ วัน วลิต ไม่มี คงมีแต่ "พระสุวัฒน์" (Prae Souwat) ที่ทรงเป็น "แม่ยาย" ของสมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือขุนพิเรนทรเทพ

การสอบถามเรื่องราวจากคนไทยนั้น วัน วลิต คงจะถามจากคนที่มีอายุ และพระสงฆ์ที่รู้เหตุการณ์ และที่สำคัญก็คือ วัน วลิต ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นหลังสมเด็จพระนเรศ (Phra Naresr ลงพิมพ์ในสมุดไทยว่า Phas Narit) เสด็จสวรรคตแล้วเพียง ๔๕ ถึง ๕๐ ปีเท่านั้น ดังนั้น เหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพระนเรศราชาธิราชจึงคงจะอยู่ในความทรงจำของคนทั่วไปอยู่

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการประวัติศาสตร์ในปัจจุบันจึงได้ยกย่องพระราชพงศาวดารฯ ของวัน วลิต ว่าเป็น "เอกสารชั้นต้น" เนื่องจากเป็นการจดบันทึกที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์มากที่สุด (เท่าที่ค้นได้ในขณะนี้) และตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศยังคงมีชีวิตอยู่จนวัน วลิต สามารถบันทึกเรื่องราวจากปากคำได้อย่างมีเหตุผล ส่วนพระราชพงศาวดารที่มีการชำระในภายหลังจัดเป็น "เอกสารชั้นรอง" ซึ่งนักวิชาการประวัติศาสตร์ปัจจุบันถือว่ามีความน่าเชื่อถือในหลักวิชาการของข้อมูลน้อยกว่า


ข้อมูลอ้างอิง

๑. หนังสือ "กฤษฎาภินิหาร อันบดบังมิได้" โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, กรุงเทพฯ, ๒๕๑๙.
๒. หนังสือ "การเมืองเรื่อง พระสุริโยทัย" โดย อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม, นนทบุรี, ๒๕๔๔.

โดย.วศินสุข

ที่มา : pantip.com : ห้องสมุด

ไม่มีความคิดเห็น: