พระประวัติของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (๒๓๙๔-๒๔๗๕) เป็นพระโอรสองค์สุดท้ายของกรมขุนราชสีหวิกรม (พระองค์เจ้าชุมสาย) อธิบดีกรมช่างศิลป์หมู่แลช่างศิลา และหม่อมน้อย๑ ในรัชกาลที่ ๓ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๓๒ กุมภาพันธ์ ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๒) เมื่อเด็กได้ตามเสด็จพระบิดาไปดูสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอในคณะของรัชกาลที่ ๔ จนทรงจับไข้ด้วย แต่ไม่ร้ายแรง
ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ เป็นนักเรียนหลวงส่งไปเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ เมืองสิงคโปร์ได้ ๖ เดือน จากนั้นได้เสด็จไปศึกษาในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ใช้เวลาเตรียมตัวและศึกษาชั้นมัธยมราว ๓ ปีจึงสอบเข้าศึกษาในคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ในแผนกวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ (Applied Science and Engineering Department) สมัยโน้นเรียกว่าจบวิชาช่างกล
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นนักศึกษาที่เรียนดี ได้รับรางวัถ่ายในวันลาผนวชที่กรุงเทพมหานคร แกลดสตัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น ถึงกับชมว่า "มิสเตอร์ปฤษฎางค์ ชุมสายเป็นผู้ที่มาจากประเทศไกลยิ่ง มีนิสัยน่ากลัวอย่างในการรับเหมาเอารางวัลเสียแต่ผู้เดียวสิ้น"
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทรงกลับมายังเมืองไทย เป็นที่ชื่นชมในสติปัญญายิ่ง บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์พากันออกพระโอษฐ์ว่า "ปฤษฎางค์ดูเป็นไทยๆ ดี ไม่เป็นฝรั่งอย่างพวกที่ไปเรียนเมืองนอก" รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขอกลับไปเรียนและฝึกความรู้สาขาวิศวกรรมโยธาเพิ่ม และเรียนด้านการจัดการทำโรงกษาปณ์ในอังกฤษอีกด้วย
แต่การฝึกงานในบริษัทวิศวกรรมโยธาไม่สำเร็จ เพราะในปี ๒๔๒๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นล่ามและตรีทูตไปในคณะของเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี เพื่อไปเฝ้าพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งกรุงอังกฤษ แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตไทยคนแรกประจำสำนักเซนต์เจมส์แห่งกรุงอังกฤษ และประจำประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริการวมถึง ๑๒ ประเทศ ได้เป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อไปเฝ้าพระเจ้าราชาธิราชแห่งกรุงออสเตรียและกรุงปรัสเซียก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูต
ทันทีที่ทรงเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ยังไม่ทันส่งพระราชสาส์นตราตั้งแก่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็เกิดเหตุการณ์อังกฤษยึดเมืองมัณฑะเลย์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงทำรายงานถึงกระทรวงการต่างประเทศ และแปลหนังสือพิมพ์ที่พูดเรื่องเมืองพม่าให้ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงต่อไป
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริ "เห็นเป็นการร้ายแรงน่าหวาดหวั่น" จึงได้มีพระราชหัตถเลขาตรงถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้แสดงความเห็นต่อปัญหาเรื่องดังกล่าวเข้าไปด้วย
ครั้งแรกพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่กล้ากราบบังคมทูล เพราะอ่อนในทางความรู้ในทางราชการสากลการเมือง และไม่มีความสามารถจะกราบทูลได้ "เกรงพระราชอาชญาว่าอาจเปนการเหลือเกินไปด้วย"
ในหลวงจึง "โปรดเกล้าฯ พระราชทานตอบออกมาว่า อย่าให้เกรงกลัวที่จะพูดจาแสดงความคิดความเห็นได้ ให้กราบบังคมทูลได้ทุกอย่าง ให้เต็มปัญญาความคิด" พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงนำ "พระราชหัตถ์เลขาและคำกราบบังคมทูลไปประชุมพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๓ พระองค์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ในสถานทูต ทั้งที่ประจำสถานทูตกรุงลอนดอนแลปารีส (รวมทั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ผู้เปนที่ปฤกษาราชการทูตลอนดอน แลพระองค์เจ้าสวัสดิ์ฯ ด้วย) เพราะพระองค์ท่านเปนพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ทั้งนั้น ย่อมรอบรู้กิจราชการบ้านเมืองสูงกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก็ได้ตกลงกันเปนอันจะทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นรวมกัน รับผิดชอบด้วยกัน ซึ่งเป็นความเห็นของพระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณโดยมากข้อ ข้าพเจ้า (หมายถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ผู้เขียน) เป็นผู้รวมเรียบเรียง กรมหมื่นนเรศร์ฯ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตฯ พระองค์เจ้าสวัสดิ์ฯ เปนผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เสร็จแล้วก็พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์พื้นตะไบ ๔ ฉบับ สำหรับส่งเข้าไปให้สมาชิกสโมสรหลวง สุดแต่จะมีผู้ใดเต็มใจลงนามร่วมเห็นพ้องด้วย ทูลเกล้าฯ ถวาย ๑ ฉบับ สำหรับพวกราชทูตลงนามทูลเกล้าฯ ถวาย ๑ สำหรับสำนักทูตทั้ง ๒ เมืองสำนักละ ๑ ฉบับ ให้นายเสน่ห์ หุ้มแพร นำเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายแลชักชวนผู้อื่นให้ลงนามด้วย"
นั่นคือที่มาของเอกสารประวัติศาสตร์
"คำกราบบังคมทูลฯ ร.ศ. ๑๐๓"
หลังจากทำคำกราบบังคมทูลฯ เสร็จและเผยแพร่ระดับหนึ่งแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงคิดถึงการที่ทำให้ความเห็นเรื่องนี้เป็นการเปิดเผย "จึงรู้สึกว่าได้คิดผิดไป เพราะเปนเรื่องที่ทรงหาฤาข้าพเจ้าแต่เฉพาะผู้เดียว แลหาใช่การเปิดเผยเปนกิจการอันผู้อื่นจะควรเกี่ยวข้องด้วยไม่ แต่มารู้สึกโทษต่อเมื่อพ้นเวลาที่จะยั้งตัวได้เสียแล้ว"
ในปีรุ่งขึ้นนั้นเอง ก็โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตกลับ แล้วไม่นานโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ มีคำสั่งออกมายังอัครราชทูตทั้ง ๒ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณให้กลับกรุงเทพฯ "โดยมีเหตุผลหลายประการที่ยุ่งๆ อย่างไม่ควรมีได้เกิดขึ้น เข้าใจกันว่าเป็นการส่วนตัวทั้งนั้น"
แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่กลับในทันใดนั้นเลย เพราะกาลังติดราชการเกี่ยวกับการทำสัญญาสุรา กำลังจะเซ็นสัญญาบ้างก็มี และก็มีการประชุมแก้สัญญาไปรษณีย์สากล สัญญาโทรเลขสากล และติดราชการเร่งด่วนอีกมาก ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ทั้งสิ้น จึงเชื่อว่าไม่เป็นการผิดที่ยังไม่เสด็จกลับ ต่อเมื่อเสร็จราชการต่างๆ ทั้งหลายแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงเดินทางกลับสยามประเทศพร้อมกับพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงคิดว่าเป็นการกลับไปชั่วคราว แล้วจะโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปรับราชการอีก แต่มีเหตุขัดแย้งที่ไม่เปิดเผย ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่อาจยอมรับฉลองพระเดชพระคุณได้อีก
เดาจากข้อมูลตอนนี้ แสดงว่ารัชกาลที่ ๕ ก็ทรงกริ้วไม่น้อยเหมือนกัน ดังที่คัดเลือกผู้อื่นให้ไปแทนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ โดยเห็นว่า "ใครๆ ก็เปนราชทูตได้ เพราะเปนแต่ผู้สื่อสารรับคำสั่ง ทำตามคำสั่งเท่านั้น" พระองค์เจ้าปฤษฎางค์แสดงความรู้สึกค้านด้วยการบันทึกว่า (หากเป็นเช่นนั้นทูตก็) "เปนผู้รับบาปแทนรัฐบาลเท่านั้น"
ความขัดแย้งและปัญหาครั้งนี้ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงโทมนัสเสียใจอย่างยิ่ง เท่ากับคนที่ตายจากโลกราชการเสียแล้ว จึงไปซื้อปืนโก (โคลต์) มาลาภรรยา พระญาติผู้หญิงต่างๆ มาร้องไห้อ้อนวอนขอให้เลิกคิดฆ่าตัวตาย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงเอาปืนทิ้งน้ำ เลิกล้มความคิดนั้นอีกต่อไป
จากช่วงนี้ต่อไป กล่าวได้ว่าชีวิตและการงานของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่ได้มีความหมายเด่นอะไรอีกต่อไป ได้รับมอบหมายให้ทำหรือช่วยราชการงานต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีอะไรที่เป็นหลักเป็นฐานและได้รับผิดชอบราชการอะไร เช่นกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงพระดำริจะจัดตั้งกรมโยธาธิการขึ้นมา แรกใครๆ ก็คิดว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นผู้บัญชาการโยธา แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งกับรัชกาลที่ ๕ ตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวก็พับไป
ในที่สุดพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทูลลาออกจากราชการในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ด้วยความทอดอาลัยในชีวิตและการงาน
ในปี ๒๔๓๙ ก็เดินทางไปบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่ลังกา ทรงใช้ชีวิตในพระพุทธศาสนาอยู่ถึง ๑๕ ปี จนเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต จึงได้เดินทางกลับมาถวายบังคมพระบรมศพ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเขียนกระดาษพันรูปเทียนไว้หน้าพระบรมศพความว่า "เกิดชาติใดฉันใดให้ได้เปนข้าเจ้ากัน ขออย่าให้มีศัตรูมาเกียดกันระหว่างกลาง เช่นชาตินี้เลย"
ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทยไม่มีอะไรดีขึ้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงไปรับเป็นบรรณาธิการแผนกภาษาไทยให้กับหนังสือพิมพ์ "สยามออบเซอร์เวอร์" ซึ่งมีพระอรรถการประสิทธิ์เป็นเจ้าของ แต่ก็ถูกไล่ออก เพราะไปด่าฝรั่งและพม่าที่ประพฤติหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในคำนำของหนังสือพิมพ์ ไม่มีแม้บ้านที่เป็นของพระองค์เอง เพราะไม่ได้ทำราชการอยู่ในประเทศนานพอ ต้องอาศัยบ้านเช่าของกรมหลวงราชบุรีฯ อยู่ เมื่อพระองค์สิ้นบุญ ก็ถูกไล่ออก กระทั่งมีความขึ้นศาลเรื่องมรดกกับหม่อมเจ้าหญิงประภาผู้เป็นพี่หัวปีและมารดาบุญธรรม ที่ได้โอนให้ไว้เมื่อเวลาบวชอยู่ที่ลังกา คดีนี้ก็ไม่ชนะ เลยต้องเป็นหนี้สินรุงรังต่อมา
"รอยร้าวของมรกต" : การปะทะกันทางความคิด
ระยะแรกๆ ของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความคิดการเมืองดั้งเดิมของสยามกับความคิดการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ เกิดขึ้นในปริมณฑลของการต่อสู้และขัดแย้งระหว่างรัฐราชวงศ์กับรัฐประชาชาติตะวันตก ระหว่างองค์อธิปัตย์ที่ยังแสดงออกผ่านพระมหากษัตริย์ กับอำนาจอธิปไตยที่มาจากประชาชนทั้งชาติ ระหว่างพื้นที่การเมืองที่เป็นสมบัติส่วนตัวกับพื้นที่การเมืองที่เป็นสาธารณะ จึงเดาได้ไม่ยากว่า การอธิบายถึงความหมายและนัยไปถึงการปฏิบัติในทฤษฎีการเมืองตามปรัชญาแสงสว่าง (Enlightenment) ของยุโรปนั้น เป็นเรื่องที่ดูแปลกประหลาดและยอมรับว่าถูกต้องนั้นยากลำบากยิ่งสำหรับชนชั้นนำสยาม หากไม่มีเรือปืนมาจ่อหลังและได้ยิงทำลายอาณาจักรเพื่อนบ้านให้แตกฉานซ่านเซ็นเป็นเมืองขึ้นไปตามๆ กัน
ดังนั้นแม้นักคิดนักเขียนปัญญาชนสยามยุคนั้น เริ่มอ่านและคิดตามพัฒนาการทางการเมืองและการปกครองของยุโรปและอเมริกาได้ก็ตาม แต่ก็ไม่กระจ่างว่ามูลเหตุที่มาของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาจากอะไรและมีปรัชญาอะไรรองรับ เช่น ในกรณีของเทียนวรรณนั้น เขามองเห็นลักษณะเด่นของ "การจัดการและการบริหาร" ของตะวันตกในด้านการปกครอง แต่เขาไม่อาจอธิบายถึงที่มาทางปรัชญาของความมีเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ คงปล่อยไว้ในลักษณะที่เป็น "ความอัศจรรย์" ของระบบตะวันตก ในขณะที่กลุ่มนักคิดชั้นสูง เช่น คณะเจ้านายและข้าราชการ ที่ถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๓ สามารถอธิบายแนวคิดการเมืองตะวันตกได้มากกว่า เนื่องจากเคยศึกษาหรือทำราชการใช้ชีวิตในสังคมยุโรปมาระยะหนึ่ง จึงพูดได้ว่าชนชั้นนำเหล่านี้มีความคุ้นเคยและเข้าใจความคิดและการปฏิบัติทางการเมืองสมัยใหม่ของยุโรปค่อนข้างมาก
ประเด็นที่ผมสนใจติดตามก็คือ นักคิดสยามคิดอย่างไรต่อแนวความคิดการเมืองสมัยใหม่ต่างๆ เหล่านั้น ดังเห็นได้จากข้อเขียนในเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ถึงความคิดและความเข้าใจของปัญญาชนสยามชั้นสูงที่มีต่อความคิดการเมืองตะวันตก
ความยุติธรรมคืออะไร : การปะทะกันระหว่างวาทกรรมไทยดั้งเดิมกับวาทกรรม "แสงสว่าง"
คณะ ร.ศ. ๑๐๓ เรียกระบบคิดและการจัดการในแบบเป็นเหตุเป็นผลของยุโรป ซึ่งในทางการเมืองใช้ในการอ้างความชอบธรรมที่เข้าปกครอง (จัดการ) ประเทศที่ไม่มีอารยธรรมว่า "ยุติธรรม" ดังข้อความในคำกราบบังคมทูลฯ ตอนหนึ่งว่า
"ภัยอันตรายที่จะมีมานั้นต้องมาแต่ข้างนอกพระราชอาณาเขต แลจะมาจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่ากรุงสยาม มีประเทศหนึ่งประเทศใดในยุโรปเป็นต้น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงทราบแล้วว่า ชาติยุโรปหนึ่งชาติใดจะต้องประสงค์เมืองหนึ่งเมืองใดแล้ว ต้องมีทางที่เขาเรียกว่ายุติธรรมที่จะเอาเมืองนั้นๆ ได้ ทางธรรมดาที่ชาติยุโรปใช้อยู่นั้นมีอยู่เป็นต้น"
"ทางยุติธรรม" หรือความเป็นเหตุผลของยุโรปในการเอาเมืองอื่นประกอบไปด้วย
ประการที่หนึ่ง "อ้างว่าเป็นธรรมดาผู้มีความกรุณาต่อมนุษย์ด้วยกันทั่วไป ต้องประสงค์ที่จะให้มนุษย์มีความสุขความเจริญ แลได้รับความยุติธรรมเสมอทั่วกัน"
ข้อนี้เทียบได้กับความคิดว่าด้วยมนุษย์มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และความต้องการในการมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคเป็นสิทธิธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ดังนั้นการที่ยุโรปอ้างว่ามาช่วยทำให้คนในเมืองอื่นได้รับสิทธิธรรมชาติเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องที่ยุติธรรมด้วยเหมือนกัน การยอมรับในทฤษฎีเรื่องมนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาตินี้ กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ และนักคิดไทยอื่นๆ ด้วย ไม่มีข้อโต้แย้ง แม้จะไม่อาจอธิบายได้ด้วยแนวคิดเชิงพุทธทรรศน์ก็ตาม แต่เป็นการยอมรับด้วยข้อเท็จจริงในความเหนือกว่าทุกๆ ด้านของยุโรปและอเมริกามากกว่า
ประการที่สอง คณะ ร.ศ. ๑๐๓ เสนอว่ายุโรปอ้างถึงความเจริญความศิวิไลซ์ของชาวยุโรป ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเดินทางต่อไปในทุกประเทศ การกีดขวางความเจริญเป็นเหตุที่ยุโรปอ้างการเข้ามาปกครองจัดการบ้านเมืองนั้นให้เจริญต่อไป ข้อนี้เป็นแนวคิดว่าด้วยความก้าวหน้า ซึ่งแพร่หลายมากในสมัยนั้น
ประการที่สามและสี่ คือการรักษาผลประโยชน์ของคนต่างชาติในประเทศนั้นๆ รวมถึงการเปิดการค้าขายของประเทศนั้นๆ ให้กับคนอื่นๆ ด้วย หากไม่ทำ ยุโรปก็จะเข้ามาเปิดการค้าขายและทำให้ทรัพยากรเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไป ข้อนี้ตรงกับแนวคิดลัทธิการค้าเสรี กล่าวได้ว่าคณะ ร.ศ. ๑๐๓ ยอมรับและมองเห็นตรรกะของระบบการค้าเสรีและระบบทุนนิยมได้ค่อนข้างชัดเจน เมื่อวิเคราะห์มูลเหตุปัจจัยทั้งหมดของการที่ยุโรปจะเข้ามาครองประเทศอื่นแล้ว ก็เห็นว่าปัญหาใจกลางในการแก้ไขนั้นอยู่ที่การปกครองบ้านเมืองว่าเป็นอย่างไร
คณะเจ้านายและข้าราชการ ร.ศ. ๑๐๓ จึงเสนอความเห็นอันเป็นทางออกของกรุงสยาม ในอันที่จะไม่ทำให้ฝรั่งอ้างความล้าหลังในประเทศมาบังคับเอาเป็นเมืองขึ้นได้ ก็โดยการที่สยามจะต้องมีระบบการปกครองที่เป็นแบบศรีวิไล โดยมีรัฐบาลที่สามารถปกครองทำให้บ้านเมืองปราศจากโจรผู้ร้าย การค้าปลอดภัยทั่วพระราชอาณาจักร กล่าวโดยรวมก็คือ มีรัฐบาลที่สามารถจัดการทำให้ผลประโยชน์และความสุขเกิดแก่คนจำนวนมากในแผ่นดินให้ได้ ดังรายละเอียดในคำกราบบังคมทูลฯ นั้นว่า
"แต่ทางทั้ง ๔ ข้อซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณามานี้ ต้องมารวมอยู่ในข้อเดียวว่า ทางให้ความสุขแก่มนุษย์เสมอกันก็ดี อ้างความเจริญของประเทศยุโรปก็ดี ทางระงับโจรผู้ร้ายฤาเปิดทางค้าขายก็ดี ต้องประกอบไปด้วยการปกครองรักษาแผ่นดินของเมืองนั้นๆ ทั้งสิ้น เมื่อเมืองใดมีแผ่นดินมีทรัพย์ในแผ่นดิน แลมีราษฎรอยู่ในแผ่นดินนั้นตามสมควร แต่เมืองนั้นไม่มีอำนาจแลความคิดที่จะจัดแจงปกครองบ้านเมืองของตน ให้เป็นประโยชน์แก่ตนแลท่านได้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะยึดเหนี่ยวเอาแผ่นดินแลทรัพย์ ซึ่งเป็นของสำหรับให้มนุษย์ทั้งโลกได้ส่วนประโยชน์แลความสุขในนั้นด้วยให้ไปเสียๆ เปล่าๆ ความซึ่งยุโรปคิดดังนี้ เป็นการถูกโดยทางยุติธรรมของโลกอันยิ่ง เหมือนหนึ่งกฎหมายไทยซึ่งมีอยู่ข้อ ๑ ว่าถ้าผู้จับจองไร่นาไว้มิอาจสามารถที่จะทำให้เป็นผลประโยชน์ได้ เมื่อพ้นพระราชกำหนดแล้วผู้หนึ่งผู้ใดจะมาจับจองไปทำให้เป็นประโยชน์ ผู้ที่เป็นเจ้าของเดิมก็ไม่มีอำนาจที่จะขัดขืนได้"
ประเด็นที่เป็นหัวใจซึ่งคณะ ร.ศ. ๑๐๓ มองเห็นจากอันตรายของยุโรปที่ต้องการ "บำรุงความเจริญ "ศิวิไลเซชั่น" ของโลกให้มนุษย์มีความสุขเสมอทั่วกัน" ก็คือความสามารถของเมืองนั้นๆ ในการปกครองรักษาแผ่นดินเอาไว้อย่างไร ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นๆ ด้วย การที่จะบำรุงรักษาบ้านเมืองในกรณีของกรุงสยามนั้น ไม่อาจทำได้ด้วยระบบการปกครองแบบเก่า ซึ่งการปกครองทุกอย่างอาศัยอยู่ที่พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว การปกครองระบบเก่านั้น "อุปมาเหมือนอุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว พวงอุบะซึ่งอาศัยเชือกอยู่นั้น ถ้ามีอันตรายเชือกขาดก็จะต้องตกถึงพื้น ถึงแก่ฟกช้ำเปลี่ยนแปลงรูปพรรณไปได้ต่างๆ ฤาบางทีทำลายยับเยินสิ้นทีเดียว"
พูดในภาษาปัจจุบันก็คือ คำกราบบังคมทูลฯ เสนอว่าสยามต้องจัดการให้มีรัฐบาลที่ปกครองประเทศโดยความยุติธรรม รักษาและสร้างผลประโยชน์ให้แก่คนทั้งประเทศ และรัฐบาลนั้นต้องไม่ใช่อาศัยแต่อำนาจและสิทธิ์ขาดของคนคนเดียวดังแต่ก่อน จะพูดว่างั้นก็คือรัฐบาลประชาธิปไตยแบบที่เราเพิ่งกำลังสร้างและทะเลาะกันอยู่ในปีนี้ก็คงได้
จากปีโน้นมาถึงปีนี้ก็ปาเข้าไปร้อยกว่าปีแล้ว กว่าที่ระบบรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถก่อตัวขึ้นมาได้อย่างจริงจัง ลองไปดูรายละเอียดในคำเสนอนั้นดูอีก
รูปแบบ "ชุมชนการเมือง" ใหม่
ในทรรศนะไทย (เดิม)
คณะ ร.ศ. ๑๐๓ เสนอลักษณะการปกครองใหม่ ที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากอันตรายได้ ประการแรกคือ "ต้องทำให้เป็นที่นับถือวางใจซึ่งกันแลกัน ที่เห็นชั่วเห็นดีเห็นผิดเห็นชอบทางเดียวกัน จึ่งนับได้ว่าเป็นผู้เห็นทางชอบธรรมเสมอกันได้" การจะทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องมีระเบียบแบบแผนกฎหมายที่เรียกว่า "คอนสติติวชัน ซึ่งประกอบไปด้วยสติปัญญาแลกำลังของราษฎรเป็นการพร้อมเพรียงกันเป็นประมาณ ซึ่งเขานับกันว่ามียุติธรรมทั่วถึงกันจะทำการสิ่งใดก็สำเร็จได้แน่จริง" (๖๘) แนวคิดอันนี้กล่าวได้ว่าเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของอุดมการณ์และการปฏิบัติระบบประชาธิปไตย นั่นคือการที่คนทั่วไปจะนับถือวางใจซึ่งกันและกันได้นั้น ก่อนอื่นคนทั้งหลายต้องมีความเสมอภาคกัน เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เสมอกันที่สุด ไม่ใช่ในฐานะสังคมและทรัพย์สินหรือความฉลาดหลักแหลมของคนแต่ละคน ซึ่งแน่นอนย่อมไม่อาจเท่าเทียมกันได้
ในชั้นนี้ผมไม่ยืนยันว่าคณะ ร.ศ. ๑๐๓ คิดและตีความอย่างเข้าใจเช่นเดียวกับที่ผมวิเคราะห์ข้างบนนี้หรือเปล่า แต่ถึงไม่เหมือนกันเสียทั้งหมด ก็คงใกล้เคียงบ้าง เพราะเงื่อนเวลาสมัยโน้นก็ยังเป็นระบบอาญาสิทธิ์อยู่ เศรษฐกิจก็ยังจำกัดแต่เกษตรกรรม สังคมและชนชั้นก็ยังไม่ก่อรูปและหลากหลาย โลกทัศน์จึงน่าจะถูกจำกัดไม่น้อย แต่กระนั้นก็เห็นร่องรอยของการเกิดวาทกรรมความคิดการเมืองสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิมอย่างเห็นได้ชัด
น่าสนใจคือคนรุ่นนั้นไม่ได้ตระหนกตกใจกับแนวคิดการเมืองสมัยใหม่มากเท่าไรนัก หากพยายามสานต่อแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาอย่างเป็นระบบและระเบียบที่สยามอยู่ในวิสัยที่จะทำตามอย่างบ้าง หากองค์อธิปัตย์เห็นด้วยทั้งหมด ผมคิดว่าจุดสำคัญได้แก่การทำให้แนวคิดการเมืองตะวันตกแบบปรัชญา "แสงสว่าง" กลายมาเป็นความคิดการเมืองแบบไทยตามคติพุทธได้ ดังเห็นได้จากแนวคิดที่ยังคงทำให้ศูนย์กลางแห่งอำนาจและรัฐที่เป็นของพระมหากษัตริย์ยังดำรงและมีความชอบธรรมอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกมากมาย ในขณะที่ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายในไม่ค่อยมีหรือมีอย่างไม่มีนัยสำคัญอะไรมากนัก
คณะ ร.ศ. ๑๐๓ จับตรรกะของความคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมได้ ทำให้ยังเสนอต่อไปถึงว่า ผู้ที่เป็นเสนาบดีก็เป็น "ผู้แทนของราษฎรซึ่งเลือกมาต่อๆ ขึ้นไปเป็นชั้นๆ ทั้งต้องรับผิดชอบทั่วกัน เหมือนอาศัยปัญญาแลความคิดความยุติธรรมของคนมากด้วยกัน" การที่จะมีระบบเช่นนี้ได้ต้อง "จัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณีฤาคอนสติติวชันใหม่ ตามทางชาวยุโรป"
ในชั้นต้นนี้คณะ ร.ศ. ๑๐๓ กล่าวว่าไม่ได้ต้องการที่จะให้มีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่ หากแต่เรียกร้องให้มี ข้อหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงประเพณีปัจจุบันนี้ ซึ่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงว่าการในทุกเรื่องไป อันเป็นแบบที่อังกฤษเรียกว่า "แอบโสลุดโมนากี" ให้เป็นประเพณีซึ่งเรียกว่า "คอนสติตูชาแนลโมนากี" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น "มหาประธานของบ้านเมือง ที่จะทรงพระราชวินิจฉัย มีพระบรมราชโองการเป็นสิทธิ์ขาด แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ พระองค์ในยุโรป ที่มิต้องทรงราชการด้วยพระองค์ทั่วไปทุกอย่าง" (๖๙)
ข้อที่สองคือการสร้างระบบคาบิเน็ต ทำหน้าที่ปกครองดุจเครื่องจักรเอง รวมถึงระเบียบการรับข้าราชการบนพื้นของความสามารถ ป้องกันการคอร์รัปชั่นหรือที่เรียกว่า "ทางสินบน" ให้หมดทุกทาง
ข้อที่สามซึ่งเกี่ยวกับปรัชญาแสงสว่างคือ "ต้องให้มนุษย์มีความสุขเสมอกัน แลถือกฎหมายอันเดียว แลในเรื่องเก็บภาษีแลสักเลข ต้องให้ความยุติธรรมที่จะไม่เป็นที่ลำเอียงฤาติเตียนได้ทั้งไทยและฝรั่ง" ไปถึงการให้เปลี่ยน "ขนบธรรมเนียมแลกฎหมายแผ่นดิน" ที่ล้าหลังกีดขวางความเจริญของบ้านเมือง หรือที่ไม่เป็นประโยชน์แท้
อีกข้อที่สำคัญยิ่งในบทวิเคราะห์นี้ คือข้อเสนอที่ว่า "ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแลราษฎรทั่วพระราชอาณาเขต ต้องมีโสตในถ้อยคำและความคิดความเห็นของตน ที่เป็นประโยชน์แลมีอำนาจที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏ ในท่ามกลางที่ประชุมก็ดี ฤาในหนังสือพิมพ์ก็ดี แต่การใส่ถ้อยความที่ไม่จริงนั้น จึ่งจะมีโทษานุโทษตามพระราชกำหนดกฎหมาย" (๗๐) ผมนั่งอ่านประโยคนี้อยู่หลายวันและหลายคืน เพราะรู้สึกว่าความหมายคุ้นๆ กับอะไรบางอย่างที่เราก็รู้สึกอยู่ แต่สำนวนภาษาเท่านั้นที่เก่าและโบราณจนทำให้ในชั้นแรกเพียงผ่านไปเฉยๆ ไม่สะกิดใจอะไรนัก
ผมคิดว่าหากพูดในภาษาปัจจุบัน ความข้อนี้คือการเสนอให้ราษฎรและขุนนางเจ้านายในขอบเขตทั่วประเทศ มีสิทธิและเสรีภาพในการพูด ในการแสดงความคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์ การมี "อำนาจที่จะแสดง (ความคิด) ให้ปรากฏ" ก็คือสิทธิในทรรศนะสมัยใหม่นั้นเอง เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะได้ โดยไม่ใช่เป็นการกล่าวเท็จหรือแกล้งใส่ความผู้อื่น ซึ่งก็จะมีความผิดตามกฎหมายต่อไป
สังเกตว่ามโนทัศน์ไทยเดิม การที่คนธรรมดาจะทำอะไรต่อสาธารณะนั้น ต้องอาศัยหรือใช้ "อำนาจ" จึงจะเข้าไปทำได้ และอำนาจนั้นก็ต้องขอหรือถูกนำมาให้สำหรับไปใช้ในเรื่องนั้นๆ เป็นการเฉพาะ เพราะมีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทำอะไรในสาธารณะหรือต่อสาธารณะได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร เพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว นอกนั้นแล้วไม่มีใครมีความชอบธรรมที่จะทำได้โดยลำพังหรือตามใจตนเอง
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่ทำไมนายกรัฐมนตรีไทยสมัยไหนๆ ก็ตาม มักเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ เมื่อถูกบรรดา "คนนอก" (คอก) ทั้งหลาย บังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์และกระทั่งเสนอแนะวิธีการปกครองประเทศและประชาชนให้ "พวกมันมีอำนาจอะไรถึงมาสั่งสอนกูได้" ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนทั้งหลายก้าวขึ้นมาเป็น "เจ้าของตัวเอง" (subject) นั้น ก็ยังดำเนินไปท่ามกลางความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงเหลื่อมล้ำอยู่ตลอดเวลา ผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐไทยจึงต้องมีอำนาจทางกายและอำนาจทางใจ แสดงออกทั้งในฐานะสังคมและในการเมือง สังเกตบรรดาบริวารและผู้คนสรรพสิ่งรอบๆ ข้างผู้มีบุญของไทย จะเห็นปรากฏการณ์แห่งอำนาจดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
หัวใจของข้อเสนอดังกล่าวนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายเก่า "เพิ่มเติมธรรมเนียมแลกฎหมายบำรุงความเจริญขึ้นใหม่" ไปจนถึงการทำให้ "ราษฎรมีความคิดรู้สึกตัว ว่าการกดขี่แลอยุติธรรมต่างๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึ่งจะมีความรักต่อบ้านเมือง จนเห็นชัดว่ากรุงสยามนั้นเป็นเมืองของราษฎรแลจะต้องบำรุงรักษา เพื่อได้ความสุขความเจริญความยุติธรรมเป็นโสตเสมอทั่วหน้ากันหมด"
ทั้งหมดนี้พูดในภาษาปัจจุบันก็คือ การสร้างสำนึกในความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นกับทุกคนในประเทศ แต่วาทกรรมของสมัยนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้ถูกมองในเรื่องของระบบใหญ่ ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องจักรของสังคม หากแต่ยังมองในกรอบของโลกทัศน์ไทยคือ ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในประเพณีของบ้านเมืองเป็นสำคัญ และบุคคลที่สาคัญเป็นแกนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ย่อมแน่นอนว่าต้องมาจากผู้นำสูงสุดหรือศูนย์กลางนั่นเอง การได้มาและเปลี่ยนแปลงในเรื่องอำนาจของราษฎรที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ยังเป็นเรื่องรอง และถ้าพิจารณาจากคำกราบบังคมทูลทั้งหมดและจากการปฏิบัติที่เกิดตามมา กล่าวได้ว่ายังเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญที่สุดในตัวมันเอง ทำนองว่าอาจเกิดขึ้นมาได้ด้วย หากมีการปฏิรูประบบการปกครองและกฎหมายใหม่ดังกล่าวแล้ว กล่าวโดยรวม แม้จะเกิดมีร่องรอยของความคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกลุ่มชนชั้นนำและนักคิดสยาม แต่ทั้งหมดยังห่างไกลจากการปฏิบัติที่เป็นจริง ทั้งนี้เนื่องจากการครอบงำและกระบวนการทำให้วาทกรรมต่างชาติเข้ามาเป็นวาทกรรมการเมืองของชนชั้นปกครองที่เป็นอยู่ต่อไป
กล่าวได้ว่าพร้อมๆ กับการนำเข้ามาของความคิดทางการเมืองและกฎหมายสมัยใหม่ เราก็สามารถเห็นความต้านตึง (tension) และการแปลให้เป็นท้องถิ่น (localization) ที่ก่อตัวขึ้นจากปัจจัยและพลังในระบอบเก่า ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม ดังตัวอย่างของการให้นิยามและความหมายของคำว่า "ที่สาธารณะ" ในประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ที่อธิบายว่า "ที่สาธารณะคือที่ว่างเปล่าหรือสถานที่ซึ่งคนทั่วไปสามารถหรือมีอำนาจเข้าไปได้" สาธารณะในมโนทัศน์สังคมไทยระยะผ่านจึงยังไม่ใช่สถานที่หรือที่ซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจเหนือ หากแต่เพียงมีความสามารถในการเข้าไป (ใช้ประโยชน์?) ได้เป็นสำคัญ ทั้งนี้เนื่องมาจากคติดั้งเดิมที่ว่าที่สาธารณะซึ่งแสดงออกในคำว่าแผ่นดินนั้นเดิมเป็นของพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง เมื่อมีการแยกกรรมสิทธิ์ออกจากการครอบครอง ทำให้ที่ดินกลายเป็นทรัพย์ที่มีค่าอย่างหนึ่ง (หรือคือทุนนั่นเอง) กษัตริย์จึงต้องระบุให้สิทธิในที่ดินยังเป็นของกษัตริย์อยู่ แม้จะให้ราษฎรไปครอบครองทำกินได้ก็ตาม เหตุผลมาจากปัญหาอำนาจการเมือง เพราะหากให้ราษฎรผู้ผลิตเป็นเจ้าของที่ดินได้อย่างเต็มที่ คือมีอำนาจเหนือที่ดิน ทำให้กลายเป็นปรปักษ์ต่ออำนาจของกษัตริย์ในฐานะเจ้าแผ่นดินได้ ดังนั้นจึงต้องตัดทอนและจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินลง มิให้เป็นการบั่นทอนหรือท้าทายต่ออำนาจเด็ดขาดขององค์พระมหากษัตริย์และเป็นการป้องกันรักษาระเบียบและผลประโยชน์ของบ้านเมืองแบบเดิมไว้ได้ด้วย๕ จึงทำให้คติสมัยใหม่ที่รัฐและแผ่นดินควรจะเป็นของ (หรือมาจาก) ราษฎรนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยไม่อาจคิดและยอมรับได้
กล่าวได้ว่าแนวคิดในเรื่องรูปแบบและระบบของรัฐบาลใหม่นั้น มีการอภิปรายกันในกรอบของ "ขนบธรรมเนียมประเพณี" ไม่ใช่เรื่องของระบบ ซึ่งเป็นมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ และจะค่อยตามมาในระยะหลังๆ หากแต่ในระยะแรกของการริเริ่มพูดเรื่องรูปแบบรัฐบาลใหม่ ยังคงดำเนินไปภายใต้วาทกรรมการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบรัฐบาลเป็นเรื่องของการแก้ไขในขนบธรรมเนียมประเพณีการปกครองที่ดำเนินมาเท่านั้น๖
นัยของมันก็คือการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ได้ตั้งใจให้นาไปสู่การเปลี่ยนโค่นล้มผู้ปกครองและระบบเก่าที่ดำเนินมาทั้งหมดโดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และไม่ยุติธรรมลงไปเสีย ด้วยการเพิ่มเติมส่วนใหม่ที่เป็นประโยชน์ที่ยุติธรรมเข้ามาแทนที่
ทรรศนะและความต้องการของชนชั้นนำดังกล่าว มีส่วนทำให้การปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นการริเริ่มดำเนินโดยผู้ปกครองจากเบื้องบนเอง เนื่องจากข้าราชการและราษฎรและผู้อยู่ใต้การปกครองไม่มีอำนาจและหน้าที่ในขนบธรรมเนียมเก่าที่จะไปทำอะไรได้ หรือหากให้ความเปลี่ยนแปลงมาจากความเห็นและความต้องการของคนข้างล่างทั้งหลายก็จะเกิดความวุ่นวายไม่จบสิ้นได้
นี่เป็นความขัดแย้งหรือขัดกันของแนวความคิดการเมืองสมัยใหม่ในสังคมไทย ที่ก่อรูปและพัฒนาขึ้นมาภายใต้บริบทและสัมพันธภาพทางอำนาจแบบระบอบเก่า
นี่เองที่ทำให้การก่อรูปขึ้นของภูมิปัญญาและความคิดสมัยใหม่ในสังคมสยามรับเอาความคิดและการปฏิบัติแบบสมัยใหม่ของตะวันตกมักมีแนวโน้มไปเป็นแบบอนุรักษนิยม ติดที่รูปแบบเสียเป็นส่วนมาก ส่วนเนื้อหาและลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ของความรู้ตะวันตกนั้นได้มาน้อยมากหรือไม่ได้เลย
ในระยะยาว สิ่งที่นักคิดและปัญญาชนสาธารณะจะรู้สึกต่อความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือ ความหมดหวังและไม่ค่อยแน่ใจในอนาคตของบ้านเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงหลักๆ แทบทุกอย่างและความสำเร็จหรือล้มเหลวของมัน ต้องฝากหรือขึ้นอยู่กับความสามารถและสติปัญญาของพระมหากษัตริย์หรือผู้นำทางอำนาจในเวลาต่อมาเท่านั้น
เชิงอรรถ
๑. ในคำนำของ ม.ล.มานิจ ชุมสาย เขียนว่าหม่อมหุ่น ดู ประมวลจดหมายของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตองค์แรกของไทยประจำทวีปยุโรป (กรุงเทพฯ, คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี, ๒๕๓๔) แต่ในใบแทรก (ไม่ได้บอกว่าใบแก้คำผิด) ระบุว่าคือหม่อมน้อย ตรงกับในอัตชีวประวัติของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เอง.
๒. ในคำนำของ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ระบุวันเกิดว่าตรงกับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ดู ประมวลจดหมายของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตองค์แรกของไทยประจำทวีปยุโรป (กรุงเทพฯ, คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี, ๒๕๓๔).
๓. ประวัติย่อ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (กรุงเทพฯ, หจก.นิยมวิทยา, ๒๕๑๓), หน้า ๔๗. ข้อความอ้างอิงต่อไปในประวัตินำมาจากหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้น.
๔. เพิ่งอ้าง. หน้า ๖๐.
๕. ร.แลงกาต์ ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๕).
๖. ทำนองเดียวกับการพยายามปฏิรูปการเมืองไทยปัจจุบัน ที่ฝากความหวังไว้ที่การแก้ไขหรือออกกฎหมายลูก เป็นนัยสำคัญ ซึ่งในทางปฏิบัติมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจริงๆ น้อยมาก.
หนังสือ ศิลปวัฒนธรรม
ปีที่ 24 ฉบับที่ 12
วันที่ 01 ตุลาคม พุทธศักราช 2546
ที่มา : http://www.numtan.com/nineboard/view.php?id=1166
หมายเหตุ
การเน้นข้อความเปนไปตามความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเองมิได้มาจากต้นฉบับ
วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550
เรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กับ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการ เปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๓"
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:37 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น