วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วง ๓ รัชกาล เริ่มแต่รัชกาลที่ ๕ ถึง รัชกาลที่ ๗


การเปลี่ยนแปลงสมัย ร.๕
(พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓)
การเมืองการปกครองสมัย ร.๖

(พ.ศ. ๒๔๕๓ - พ.ศ. ๒๔๖๘)
สภาพการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สมัย ร.๗

(พ.ศ.๒๔๖๘-พ.ศ.๒๔๗๕)



การเปลี่ยนแปลงสมัย ร.๕
(พ.ศ.๒๔๑๑-พ.ศ.๒๔๕๓)

ร.๕ ขึ้นครองราชย์ พระราชอำนาจถูกจำกัดด้วยอำนาจของขุนนางเก่า(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มขุนนางเดิมช่วงปี พ.ศ.๒๔๑๖(ร.๕ทรงบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒) จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๕เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่อสัญกรรม ผู้นำสยามแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ

(๑) Young Siam ร.๕ เป็นผู้นำ
(๒) Conservative Siam สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้นำ
(๓) Old Siam กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นผู้นำ

บทบาททางการเมืองของกลุ่มสยามหนุ่ม เริ่มปฏิรูปทางการเมืองและพยายามขจัดอิทธิพลของขุนนางรุ่นเก่า ออก น.ส.พ.การเมืองเล่มแรก “ดรุโณวาท” กระบอกเสียงของกลุ่ม ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อทำลายแหล่งรายได้ของขุนนางเก่า ตรากฎหมายและตั้งสถาบันทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการต่อสู่เพื่อพระราชอำนาจของ ร.๕

* พ.ร.บ.เคาท์ซิลออฟสเตท (ตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน)

* พ.ร.บ.ปรีวิวเคาท์ซิล (ตั้งที่ปรึกษาในพระองค์)

การตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ = ปฏิรูปการคลัง เป็นก้าวแรกของการปฏิรูประบบบริหาร เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้มีการคอรัปชั่น ส่งผลให้มีการถอดถอนขุนนางชั้นผู้ใหญ่(ที่คอรัปชั่น) รายได้พระคลังเพิ่มขึ้น


กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ กับข้อเสนอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มกราคม ๒๔๒๗(ร.ศ.๑๐๓) กลุ่มราชวงศ์และขุนนางที่เป็นคณะทูตไทยในยุโรป ถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.๕(เป็นแผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย) ชี้ภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยมในยุโรป มักใช้ข้ออ้าง ๔ ประการ

(๑) ยุโรปเป็นชาติศิวิไลซ์ ต้องมาจัดการบ้านเมืองประเทศด้อยพัฒนา

(๒) ประเทศด้อยพัฒนามีระบบการปกครองขัดขวางชาติที่เจริญแล้ว

(๓) เมื่อจัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อยส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของชาวยุโรปในการค้าขาย จึงต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่

(๔) ประเทศในเอเชียไม่เปิดการค้าขายกับชาติในยุโรป เป็นการเหนี่ยวรั้งความเจริญของชาวยุโรปที่ไม่อาจมาทำการค้าขายได้ และไม่สามารถนำวัตถุดิบใน ประเทศด้อยพัฒนาไปป้อนอุตสาหกรรมในประเทศยุโรปได้

กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ คัดค้านแนวทางป้องกันลัทธิจักรวรรดินิยม วิเทศโยบายใช้ความอ่อนหวาน ผ่อนปรน เป็นแนวทางผิดใช้ไม่ได้ การต่อสู้ด้วยกำลังทหาร ใช้ไม่ได้ ใช้สยามเป็น Buffer State เป็นไปได้ยาก การจัดการบ้านเมืองเฉพาะเรื่อง มิได้เป็นเครื่องแสดงว่ามีความเจริญ สัญญาที่ทำไว้กับอเมริกัน ไม่เกิดผลเมื่อมีวิกฤตการณ์ การค้าขายและผลประโยชน์ชาวยุโรปในสยาม ไม่อาจช่วยคุ้มครองการเบียดเบียนชองชาติอื่นที่หวังผลประโยชน์ได้ ความเชื่อว่าแต่เดิมว่าสยามรักษาเอกราชมาได้ ครั้งนี้ย่อมรักษาได้อีก เป็นความคิดที่ไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กฎหมายระหว่างประเทศ ช่วยรักษาเอกราชไม่ได้


แนวทางที่กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ กราบบังคมทูลเสนอ ร.๕

เปลี่ยน absolute monarchy เป็น constitutional monarchy

การปกครองบ้านเมืองภายใต้การตัดสินใจของ cabinet

หาทางป้องกันทางสินบน ผู้ทำราชการมีเงินเดือนพอใช้

มีกฎหมายประกันความยุติธรรมแก่ราษฎรเสมอหน้ากัน การเก็บภาษีต้องยุติธรรมไม่ว่าต่อคนไทยหรือต่างชาติที่มาค้าขาย

แก้ไขเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม กฎหมาย ที่ขัดขวางความเจริญ

ให้มีเสรีภาพทางความคิด และแสดงออกทางความคิด

มีการจัดระบบราชการด้านการบริหารงานบุคคล มีการกำหนดคุณสมบัติและเลือกบุคคลมีความรู้ความประพฤติดีเข้ารับราชการ

คำกราบบังคมทูลมิได้อยู่ที่การจัดการเปลี่ยนแปลงกลไกการบริหารราชการเท่านั้น หากอยู่ที่การเปลี่ยนรูปแบบของระบบการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญในการจัดอำนาจทางการเมือง และพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอการปกครองแบบ constitutional monarchy นี้ยังไม่ต้องการให้มี parliament รูปการปกครองไม่เหมือนการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรป แต่เป็น อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ผสมประชาธิปไตย ( Democracy) เป็นแผนที่จะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยร่วมกันระหว่างขุนนางผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองร่วมกับพระมหากษัตริย์


ปฏิกิริยา ร.๕ ต่อคำกราบบังคมทูลของกลุ่ม ร.ศ.๑๐๓ ทรงเห็นภยันตรายอยู่แล้ว ไม่ทรงปรารถนามีพระราชอำนาจหรือรวบอำนาจเด็ดขาดไว้ ไม่ทรงหวงอำนาจเหมือนกษัตริย์ยุโรป “เราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนอย่างกับคางคกที่อยู่ในกะลาครอบ ที่จะพึงทรมานให้สิ้นทิษฐิถือว่าตัวโตนั้นด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย” ๕ ปีแรกการครองราชย์ (๒๔๑๑-๒๔๑๖) ทรงเสมือน “ตุ๊กตาซึ่งไม่มีอำนาจใดเลยนอกจากชื่อ” ช่วงปี ๒๔๑๖-๒๔๒๕ เป็นช่วงสร้างฐานอำนาจทางการเมือง กลุ่ม ร.ศ.๑๐๓ กราบบังคมทูลเมื่อปี ๒๔๒๗ เป็นช่วงที่เพิ่งตั้งพระองค์ได้มั่น และกำลังดำเนินการเร่งรัดปรับปรุงบ้านเมือง การตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน(council of state) เพื่อทานอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารในความเป็นจริง การที่ฝ่าย legislative ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเข้มแข็งเพราะทรงเป็นผู้นำ แต่เมื่อทรงได้อำนาจแท้จริงแล้ว ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินก็ลดบทบาทไป “ทำกฎหมายอันใดก็ไม่ใคร่จะทำได้สำเร็จ” แสดงว่าลักษณะขุนนางไทยไม่มีความเป็นตัวของตัวเองพอที่จะปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในระบบที่มีพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเด็ดขาด

ด้านการปกครอง ร.๕ ทรงเป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และ เป็นเสมือนเสนาบดีทุกกระทรวง “เราต้องรู้การตั้งแต่ใหญ่ลงไปเล็ก ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำเอง สั่งเองทุกสิ่งตลอดจนถ้อยความเล็กน้อย ไม่ใคร่จะได้อาศัยฤาไม่ได้อาศัยเสนาบดีตามตำแหน่งนั้น ๆ เลย” ร.๕ไม่อาศัยเสนาบดี เพราะเสนาบดีเป็นคนรุ่นเก่าซึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ร.๕ และ สติปัญญาความสามารถไม่เพียงพอที่จะทำงานปรับปรุงประเทศ หลีกเลี่ยงการประชุม เวลาประชุมไม่พูดจาออกความเห็น การที่จะกระจายอำนาจให้เสนาบดีรับผิดชอบสูงขึ้นเป็นไปได้ยาก ร.๕ ทรงปรารถนาจะปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้า แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือเสนาบดีชุดเก่าไม่มีความสามารถพอ ทรงเห็นว่าสิ่งจำเป็นที่สุดคือ government reform ปรับปรุงตัวผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี และ ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ร.๕ ทรงเห็นว่าปัญหาสำคัญรีบด่วนไม่ใช่การมีสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นการปฏิรูปการบริหาร ความเห็นกลุ่ม ร.ศ.๑๓๐ ช่วยเร่งให้มีการปรับปรุงการบริหารรวดเร็วขึ้น ร.๕ ทรงส่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการไปงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีวิคตอเรีย และให้ไปพิจารณาแบบอย่างการปกครองของชาติต่าง ๆในยุโรปด้วย และเริ่มเตรียมการปฏิรูปการปกครองเต็มรูปในปี พ.ศ.๒๔๓๕

การปฏิรูปการปกครอง ๒๔๓๕ เป็นการแบ่งแยกแจกแจงหน้าที่การบริหารในกระทรวง กรม ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารมากกว่าการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่และกิจกรรมการบริหาร
รัฐสมัย ร.๕ เน้นหนักการรักษาความสงบปลอดภัย การรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง มุ่งเก็บภาษีเข้าพระคลัง

การปฏิรูปการปกครอง ๒๔๓๕ ส่งผล ๓ ประการ ปฏิรูปการคลัง ปรับปรุงรูปการปกครอง จัดการบริหารให้ทันสมัยลดความซ้ำซ้อน และจัดแบ่งงานระหว่างกระทรวงให้ชัดเจน มีผลทำให้ ร.๕ อาศัยเป็นเหตุเปลี่ยนตัวเสนาบดีชุดเก่าที่ล้าสมัย และไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามพระราชประสงค์ เป็นการนำผู้มีความคิดก้าวหน้าและรุนแรงสมัยนั้น และมีศักยภาพที่จะท้าทายอำนาจของผู้นำ(counter elite) เช่น กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เข้ามาอยู่ในคณะเสนาบดีชุดใหม่ เป็นศูนย์อำนาจใหม่

ขั้นตอนการปฏิรูปการปกครอง จัดแบ่งหน้าที่การบริหารของ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก เวียง วัง คลัง นา ใหม่ไม่ให้คละปะปนกัน ปรับการปกครองประเทศราชและหัวเมือง เลิกการสืบเชื้อสายการครองอำนาจในท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางเริ่มระบบแต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลาง เลิกระบบการจัดเก็บภาษีอากรที่เจ้าเมืองเก็บ แต่ยักยอกไว้ไม่ส่งรัฐส่วนกลางทั้งหมด โดยรัฐส่วนกลางเริ่มเก็บภาษีอากร ค่าน้ำ ค่านา และค่าราชการเสียเอง และเริ่มระบบการให้เงินเดือนประจำแก่ข้าราชการ

การรวมอำนาจรัฐเข้าส่วนกลางส่งผลให้เกิดกบฏ ใน ร.ศ.๑๒๑ คือ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน และ ขบถพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง อันมีเหตุเนื่องจาก ความไม่พึงพอใจที่ถูกตัดอำนาจในการปกครองและจัดเก็บภาษี การให้ราษฎรเลิกเล่นการพนัน เลิกสูบฝิ่น รับบาลจัดเก็บค่าราชการเองเหลือส่วนแบ่งให้กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่เล็กน้อยทำให้ขาดผลประโยชน์และไม่พอใจระบบการปกครองแบบใหม่ การตั้งกระทรวงมหาดไทย และการใช้ระบบเทศาภิบาล เป็นการขยายขอบเขตอำนาจจากรัฐส่วนกลางเข้าไปควบคุมหัวเมืองซึ่งเคยอยู่ในสภาพกึ่งเอกเทศมาก่อน จึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อำนาจรัฐ

การพัฒนาการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัย ร.๕ มีการดึงอำนาจกลับมาสู่พระมหากษัตริย์ มีการแบ่งแยกแจกแจงหน้าที่ของระบบบริหารให้ชัดเจนขึ้น มีการรวมอำนาจของรัฐให้มีขอบเขตกว้างขวางและสามารถควบคุมอาณาเขตต่าง ๆ ภายในรัฐให้กระชับแน่นขึ้น ภายใต้การปฏิรูปการบริหาร การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาลที่เป็นตัวเชื่อมการปกครองส่วนกลางกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีการเปลี่ยนคณะเสนาบดี การพัฒนาการเมือง เป็นการรวมอำนาจรัฐเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นขั้นตอนแรกการพัฒนาการเมือง แต่ยังไม่นำระบอบการปกครองแบบรัฐสภามาใช้


การเมืองการปกครองสมัย ร.๖
(พ.ศ.๒๔๕๓-พ.ศ.๒๔๖๘)

ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองในทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในขณะสิ้นตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น (พระราชดำรัส ร.๕) ร.๖ สร้างเมืองดุสิตธานี โดยตราธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล ให้เป็นเมืองประชาธิปไตย ต้นรัชกาล(พ.ศ.๒๔๕๔) เกิดกบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นเหตุให้ ร.๖ทรงเริ่มตระหนักถึงความต้องการของข้าราชการที่ได้รับการศึกษาและอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตกที่มีการปกครองระบอบใหม่ ช่วง ๒๔๕๔-๒๔๖๑ พระราชดำริการเมือง ร.๖ โน้มเอียงต่อต้านการนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ ทรงต่อต้านระบบสาธารณรัฐ

ข้อคัดค้านประชาธิปไตยของ ร.๖ ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้ ถ้าให้สิทธิที่ตัดสินใจเอง ก็จะนำไปใช้ในทางที่ผิดเป็นผลร้ายต่อชาติ ไม่เชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง การเป็นตัวแทน และระบบพรรคการเมือง เพราะประชาชนต้องประกอบธุรกิจทำมาหาเลี้ยงชีพไม่สามารถสละเวลามาทำความรู้จักหรือศึกษาว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งดีหรือไม่ดี การเลือกตั้งจึงเป็นไปโดยที่ประชาชนไม่อาจเลือกคนดีอย่างแท้จริง

การเลือกตั้งพรรคการเมืองจะหาวิธีการล่อใจประชาชนด้วยการเลี้ยงดู ติดสินบน พรรคใดมีทุนมากก็ได้เปรียบ ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนเพราะรู้ว่าเป็นคนดีแต่เลือกเพราะมีผู้บอกให้เลือก เพราะได้สินบน อำนาจจะไม่อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริงแต่อยู่ที่คนกลุ่มน้อยคือพรรคการเมือง

ไม่เชื่อมั่นในการที่บุคคลจะเป็นนักการเมืองอาชีพ ไม่เชื่อมั่นในวิธีการใช้เสียงข้างมาก การมีพรรคการเมืองและรัฐบาลที่ประกอบด้วยนักการเมืองอาชีพมาเป็นรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนกันบริหารกระทรวงไปตามการมีเสียงข้างมากในสภาเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา การที่พรรคการเมืองต้องอาศัยเงินทุนมากทำให้ผู้บริจาคให้พรรคเป็นผู้มีอำนาจ

พรรคการเมืองที่ผลัดกันเป็นรัฐบาลใช้ระบบการเล่นพวก พรรคฝ่ายค้านก็ค้านพอเป็นพิธีเมื่อขึ้นมามีอำนาจก็ทำแบบพรรคที่เป็นรัฐบาล

การมีรัฐสภาหรือแม้ว่าจะเป็นสาธารณะรัฐก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดไป เพราะประเทศเหล่านั้นก็มีปัญหาแบบเดียวกัน

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เนื่องมาจากในหมู่ข้าราชการไม่พึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญทัดเทียมชาติอื่น รวมทั้งปัญหาจากการทะเลาะกับทหารมหาดเล็กของสมเด็จพระยุพราช(ร.๖) การที่ข้าราชการทหารเห็นสภาพความเดือดร้อนจริงของประชาชนที่ทุกข์ยาก (ขณะที่ ร.๖ ทรงพบว่าราษฎรยังมีความสุขสบายไม่เดือดร้อน) หลังเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ ร.๖ ไม่ทรงเชื่อว่าประชาธิปไตยจะเหมาะสมกับเมืองไทย และได้ทรงนำประสบการณ์จากการเสด็จประพาสเมืองต่าง ๆ ทางตะวันตกมาสนับสนุนความรู้สึกส่วนพระองค์ว่าประชาชนโดยทั่วไปไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และถึงแม้ว่าคนในกรุงเทพจะต้องการการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มีผลหรือความสำคัญ

พระราชดำริทางการเมือง ร.๖ เป็นไปในทางการนิยมระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยที่ทรงเชื่อว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีเหมาะกับสังคมไทย ไม่ทรงเชื่อว่าความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เหตุผลคือความไม่พร้อมของประชาชน ร.๖ ทรงมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นการจ้องล้มล้างสถาบันกษัตริย์ มูลเหตุมาจากการอยากได้อำนาจ ความอิจฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว การพัฒนาการเมืองสมัย ร.๖ ไม่เกี่ยวข้องกับการปูพื้นฐานประชาธิปไตยโดยตรง หรือ ไม่ได้เป็นการเตรียมการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ หากเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมทางชาตินิยมซึ่งมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับความอยู่รอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิฯ

ความรู้สึกชาตินิยมมีแนวโน้มที่จะต่อต้านชนชาติกลุ่มน้อยที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ(กลุ่มชาวจีน) เพราะระแวงว่าชาวจีนจะมีบทบาททางการเมืองถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้มีรัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง นโยบายชาตินิยมจึงเด่นชัดและเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางการเมืองสูงสุดในสมัย ร.๖ แม้ ร.๖ ไม่ทรงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่แนวพระบรมราโชบายหลายอย่างที่ต่อต้านลัทธิประชาธิปไตย (การสร้างความรู้สึกชาตินิยม การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรีเพื่อทรงได้ทราบกระแสความคิดการเมือง และชี้แจงชักชวนให้คนเห็นตรงข้ามด้วยอาวุธอย่างเดียวกันคือการเขียนตอบโต้) กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หน่อความคิดประชาธิปไตยเบิกบาน


สภาพการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สมัย ร.๗
(พ.ศ.๒๔๖๘-พ.ศ.๒๔๗๕)

ต้นรัชกาลปัญหาการเมืองที่สำคัญ คือ เอกภาพของราชวงศ์ จึงทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ขึ้น ด้วยเหตุผล ๓ ประการ พระราชวงศ์รวมตัวกันและทำงานอย่างกลมเกลียว ร.๗ เต็มใจขอคำปรึกษาจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้ว เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน พระราชอำนาจกษัตริย์ที่จะทำตามใจพระองค์ลดลงเมื่อมีอภิรัฐมนตรีสภา

พระยากัลยา ณ ไมตรี (Dr.Francis B.Sayre) ถวายคำปรึกษา ร.๗ ว่ายังไม่ควรมีการปกครองระบอบรัฐสภา แต่แนะนำให้มีนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบการบริหารโดยตรงแทนกษัตริย์ ซึ่งมีประโยชน์ คือ ถ้ารัฐบาลคอร์รัปชั่น มีผู้คิดกบฏ หรือกลุ่มคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวขึ้นมามีอำนาจ กษัตริย์สามารถถอดถอนได้ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากราชวงศ์ แต่อาจเลือกได้กว้างขวางจากคนที่มีความสามารถในการบริหารราชการ นายกรัฐมนตรีทำให้การทำงานกระทรวงต่าง ๆ มีเอกภาพ ประสานกัน นายกรัฐมนตรีวางนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการ ช่วยแบ่งงานกษัตริย์ เพราะการบริหารซับซ้อนมากขึ้น อำนาจเด็ดขาดยังอยู่ที่กษัตริย์ เพียงแต่มอบความรับผิดชอบให้บริหารราชการ

จัดตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” เป็นสภาแต่งตั้งโดย ร.๗ เพื่อ เป็นการทดลองและและเรียนรู้ถึงวิธีการประชุมปรึกษาของรัฐสภา เป็นพลังที่จะเหนี่ยวรั้งต้านทานการใช้อำนาจในทางที่ผิด ร.๗ แก้ปัญหาการคลังตามคำแนะนำของ Sir Edward Cook โดยการลดรายจ่ายมากกว่าการเพิ่มภาษี เพื่อจัดระเบียบการคลังให้ได้ดุลยภาพ และสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเงินให้ดีขึ้น หากจะเพิ่มภาษีควรแก้ไขรายการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนก่อน ร.๗ ทรงยอมรับว่าเสนาบดีไม่เสนอโครงการอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแผนงานโครงการใหม่ที่ดีเพราะไม่รู้ว่าคลังมีเงินเท่าไร

พระราชบันทึก Democracy in Siam สะท้อนพระราชดำริทางการเมือง

๑.ทรงเชื่อว่าประชาธิปไตยแท้จริงยากจะเป็นผลสำเร็จในไทย เพราะวัฒนธรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง คนไทยต่างกับยุโรป

๒.ห่วงว่าในขณะเศรษฐกิจอยู่ในมือชาวจีน พรรคการเมืองจะถูกครอบงำโดยชาวจีน เพรามีทุน

๓. ยากอธิบายเหตุผลให้คนเชื่อว่าสยามไม่พร้อมเป็นประชาธิปไตย เพราะคนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

๔. แม้ไทยไม่พร้อม แต่ต้องเล่นเกมเป็นประชาธิปไตย ถ้าสถานการณ์บังคับ ต้องมีการเตรียมการโดยให้การศึกษาและสร้างความสำนึกทางการเมืองให้กับประชาชนเพื่อที่จะได้เลือกผู้แทนที่เห็นประโยชน์ประชาชน

๕. การปรับปรุงสภาองคมนตรี(สมัย ร.๕) ให้เป็นสภากรรมการองคมนตรี เป็นความพยายามที่จะนำไปสู่การปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นสภาฝึกฝนการประชุมแบบรัฐสภา และเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเด็ดขาดที่ไม่เป็นธรรมของกษัตริย์

๖. ขั้นตอนต่อไปต้องขยายเทศบาล ให้มีการเลือกตั้งเพื่อฝึกฝนประชาชนให้รู้จักสิทธิ โดยให้ประชาชนมีบทบาทควบคุมกิจการใกล้ตัวส่วนท้องถิ่น แล้วขยายสิทธิให้ควบคุมกิจการรัฐระดับชาติ

๗. ทรงวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่ามีแต่เสื่อมลง เพราะไม่มีวิธีประกันอันตรายที่จะเกิดจากการมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีคุณธรรม การสร้างสถาบันควบคุมพระมหากษัตริย์น่าจะดีที่สุด


สรุปพัฒนาการเมืองไทย ร.๕-ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ สมัย ร.๕ มีการท้าทายอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มสกุลบุนนาค กลุ่มกบฏตามหัวเมือง เนื่องจากการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง สิ้น ร.๕ เริ่มมีหน่อแห่งการเปลี่ยนแปลง มีคลื่นใต้น้ำต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ปัญหาการเมือง ร.๖ คือ ปัญหาวิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรมทางการเมือง การปรับระบบช่วง ๒๔๒๗-๒๔๗๕ ระยะเวลา ๔๘ ปี แต่ไม่มีการปรับตัวให้เป็นไปตามแนวคิดประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่แนวคิดประชาธิปไตยมีมาตลอด


แนวพระราชดำริทางการเมือง

ความเห็นต่อกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

- ร.๕ : เพราะหวังดีต่อชาติ แต่ไม่คำนึงความเหมาะสม

- ร.๖ : เพราะเห็นแก่ตัว อิจฉาริษยา

- ร.๗ : เพราะหวังดีต่อชาติแต่เป็นไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล

ความเห็นต่อการมีรัฐธรรมนูญ

- ร.๕ : ยังไม่ถึงเวลาและไม่เหมาะสมกับการเมืองไทย

- ร.๖ : เป็นไปไม่ได้สำหรับไทย

- ร.๗ : จะต้องมีแน่ ๆ แต่ปัญหาอยู่ที่เวลา

ความเห็นต่อการมีรัฐสภา

- ร.๕ : ดี แต่ไม่มีคนที่จะทำหน้าที่นี้เพียงพอ

- ร.๖ : ไม่ดี สับสน วุ่นวาย

- ร.๗ : ดี และควรรีบปูพื้นฐาน

ความเห็นที่มีต่อการมีพรรคการเมือง

- ร.๕ : ไม่เหมาะสมกับการเมืองไทย

- ร.๖ : ไม่ดี และ ไม่เหมาะสม

- ร.๗ : ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป


ความคิดเห็นต่อความสามารถของประชาชนในการปกครองตนเอง

- ร.๕ : ไม่ปรากฏแน่ชัด

- ร.๖ และ ร.๗ : ประชาชนยังไม่มีความรู้

ความเห็นที่มีต่อนโยบายหลักของประเทศ

- ร.๕ : การปฏิรูปการบริหาร

- ร.๖ : การสร้างความมั่นคง และ ความรู้สึกชาตินิยม

- ร.๗ : การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเตรียมปูพื้นฐานทางการปกครองแบบประชาธิปไตย


สำนึกทางการเมืองที่เกิดขึ้นสมัย ร.๕
ไม่รุนแรงพอให้เกิดพลังขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะ

- กลุ่มเพียงเสนอความคิดไปยัง ร.๕

- สมัย ร.๕ มีปัญหาของชาติบางอย่างที่ทำให้ชนชั้นปกครองต้องรวมตัวกันเพื่อแก้ไข

- สมัย ร.๕ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบบริหารตลอดรัชกาล ปัญหาทางการเมืองจึงเป็นเป้าหมายรอง



สมัย ร.๖ การปรับตัวทางการเมืองหยุดชะงัก
แต่ความสำนึกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเพราะ

- คนจบต่างประเทศมากขึ้น เมื่อมารับราชการเห็นจุดบกพร่องระบอบสมบูรณาฯ มีความรู้สึกเปรียบเทียบ

- ระบอบสมบูรณาฯไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้ลดลง

- พระบรมราโชบาย ร.๖ ปลุกความรู้สึกชาตินิยมและสนับสนุนออกหนังสือพิมพ์เสรี ผลต่อการตื่นตัวทางการเมืองสูง ขณะที่ระบอบสมบูรณาฯยังคงปิดกั้นกลุ่มคนที่ถูกปลุกแล้วให้เข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง


สรุปการเมืองและพัฒนาการเมืองใน ๓ รัชกาล

ความอยู่รอดระบบและการพัฒนาการเมืองขึ้นกับการปรับตัวของสถาบันทางการเมืองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ระบบการเมืองที่รวมอำนาจมาก และระบบการเมืองในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่วนอื่น ๆ นอกเมืองหลวงที่ผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนระดับสูงมากกว่าที่อยู่กับมวลชน ทำให้กลุ่มผู้นำราชการเป็นผู้ชี้ขาด ระบอบสมบูรณาฯ มีความขัดแย้งในตัวเอง ที่ทั้งรักษาสถานภาพ และ มีการรับรู้การเปลี่ยนแปลง แต่ระบอบปรับตัวช้าเนื่องจากผู้นำตัดสินใจไม่ได้ระหว่างรักษาอำนาจเดิมหรือเปลี่ยนแปลง จึงนำไปสู่การปฏิวัติ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนล่าง เป็นผลต่อการสับเปลี่ยนกลุ่มบุคคลผู้ถืออำนาจการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มท้าทายภายในระบบราชการเฉพาะที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจทางการเมืองในเขตเมืองหลวง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเป็นลักษณะของความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่ในระบบราชการกับผู้ปกครอง และมีผลเพียงการปรับเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยไม่กระทบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม โดยส่วนรวม การปฏิวัติ ๒๔๗๕ มิใช่เหตุการณ์ของปีนั้น แต่เป็นจุดสุดยอดของการสะสมความต้องการเปลี่ยนแปลงที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีพลังขับดันจากภายนอกและภายใน แต่มีข้อจำกัดที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นโครงสร้างส่วนกลางน้อยมาก หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ภายในระบบการเมืองนั้นการตื่นตัวทางการเมืองประชาชนอยู่ในระดับต่ำ



หมายเหตุ
การเน้นข้อความและการจัดเรียงเนื้อหาของบทความข้างต้น ในบางส่วนทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความเอง เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน ท่านสามารถดูต้นฉบับได้จากที่มาของบทความตามนี้

ที่มาของบทความ : การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วง ๓ รัชกาล รัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น: