วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ : เท้าความเรื่องการแช่งด่าราชวงศ์ ในยุคต้นกรุงฯเขาเรียกว่า " ทิ้งหนังสือ " หรือบัตรสนเท่ห์นั่นเอง


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น กรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งจะสถาปนาขึ้นมาได้เพียง ๒๗ ปี ก่อนหน้านี้ขึ้นไปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีได้เพียง ๑๕ ปี พอสิ้นรัชกาลของพระองค์ก็เปลี่ยนพระราชวงศ์ อาจเรียกไว้ว่าสถานะของกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม ความมั่นคงของพระราชวงศ์ก็ตามยังไม่น่าจะไว้วางใจได้นัก

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ในตอนต้นๆ รัชกาล หากจะพูดตามสำนวนของสมัยนี้ก็ต้องว่าออกจะเครียดๆ อยู่ และ

ในสมัยครั้งกระนั้นผู้คนยังเชื่อถือการแช่งด่า การทำนายทายทักที่เป็นอัปมงคลโดยเฉพาะต่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงไม่โปรดการทิ้งหนังสือหยาบช้าด่าแช่งกัน ครั้งนั้นหากชำระความได้ว่า ผู้ใดทิ้งหนังสือ (ปัจจุบันนี้คือบัตรสนเท่ห์นั่นเอง) ชำระเป็นสัตย์แล้ว สมควรตายก็ตาย สมควรจำคุกก็จำคุก

เมื่อรัชกาลที่ ๒ มีเจ้านาย พระราชโอรส ๑ พระราชธิดา ๑ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลที่ ๒ ต้องพระราชอาญา ด้วยโทษทิ้งหนังสือเกี่ยวพันกัน พระองค์ชายยังไม่ทันต้องโทษประหารประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อน พระองค์หญิงถูกประหารทุบด้วยท่อนจันทน์ตามพระราชประเพณี


พระองค์ชาย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑
พระองค์เจ้าคันธรส กรมหมื่นศรีสุเรนทร์

พระองค์หญิงคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑
พระองค์เจ้ากษัตรี


ทั้งสองพระองค์มิได้บาดหมายให้ถอดพระนามจึงยังคงพระนามและพระยศอย่างเดิมในที่นี้จะออกพระนามตามพระอิสริยยศครั้งนั้นว่า กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และพระองค์เจ้ากษัตรี (หรือกระษัตรี) เพียงสั้นๆสำหรับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ มีผู้ทราบเรื่องกันอยู่มากแล้ว และเคยเล่าถึงท่านมาบ้างแล้ว

เรื่องที่ท่านต้องพระราชอาญานั้น เกิดจากพระอาจารย์ของท่าน คือพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ และพระเถระมีสมณศักดิ์อีก ๒ องค์ ถูกชาวบ้านฟ้องว่า กระทำเมถุนปาราชิก จนมีบุตรเติบโตหลายคน แสดงว่าลักลอบทำผิดมานานช้า เมื่อโปรดฯให้ชำระความก็ได้ความเป็นสัตย์ว่าผิดจริง จึงให้สึกลงพระราชอาญาส่งไปจำคุกไว้

ในสมัยนั้น ที่เรียนหนังสือของลูกเจ้านายขุนนาง ก็คือวัด พระสงฆ์คือครู อาจารย์ ใครเป็นศิษย์พระเถระองค์ใด ก็อาจถือได้ว่าเปรียบเสมือนเป็นบิดามารดาที่สอง กรมหมื่นศรีสุเรนทร์จึงทรงเคารพรักพระอาจารย์ของท่านมาก ผู้ใหญ่บางท่านต่อมาตำหนิว่าท่านไม่แยกถูกแยกผิด เพราะการกระทำผิดพระวินัยจนลูกเต้าโตๆ แสดงว่าแรกๆ ชาวบ้านก็คงจะรู้เห็นอยู่แต่ยังไม่เอาเรื่อง จนกระทั่งทนไม่ไหว แต่บางคนก็เห็นพระทัยว่าท่านกตัญญูต่ออาจารย์จนนิ่งอยู่ไม่ได้ ทั้งกำลังอยู่ในวัยหนุ่ม เป็นกวีด้วย จึงทรงมีอารมณ์แรง

ว่าทางเจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์นั้น ตามประวัติก็ว่า ท่านเป็นคนกล้าหาญ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ท่านยังเด็กอายุเพียง ๑๐ ขวบ หนีพม่าไปกับน้องชายอายุ ๘ ขวบ กับพวกบ่าวไพร่ โดนพม่าจับเอาลงเรือ มัดพวกบ่าวไพร่รวมทั้งคนไทยอื่นๆ ที่จับมาได้หมดทุกคน เว้นแต่เจ้าจอมมารดาพุ่ม และน้องชายยังเป็นเด็กจึงไม่โดนมัด เรื่องเจ้าจอมมารดาพุ่ม เจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์เป็นเรื่องน่ารู้ จึงขอเล่าแทรกเอาไว้

เมื่อพากันหนีออกมาจากกรุงนั้น ก็เก็บเข้าของใส่กระบุงตะกร้าหาบคอนมาด้วย มีไม้ไผ่คานอันหนึ่งเป็นไม้ทะลวงปล้อง ได้เอาดาบของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ปู่ของเจ้าจอมมารดาพุ่มสอดซ่อนเอาไว้ ขณะที่พม่าจับได้นั้น คุณพุ่มก็ร้องเพลงกล่อมน้องบอกคนไทยที่โดนจับมัดรวมๆ กันไว้นั้น ว่ามีดาบซ่อนอยู่ในไม้คาน ถ้ามีโอกาสเมื่อใดท่านจะเอาดาบตัดเชือกให้ ขอให้ช่วยกันฆ่าฟันพม่า แล้วพากันหนีไป ครั้นได้โอกาสเย็นวันหนึ่งพม่าพากันขึ้นบกหมด เหลือเฝ้าเรือเฝ้าเชลยอยู่เพียง ๒ คน เจ้าจอมมารดาพุ่มจึงแอบเอาดาบในไม้คานออกมาตัดเชือก คนไทยทั้งหมดก็ช่วยกันกลุ้มรุมฆ่าพม่าตาย แล้วพากันหนี พบพวกพม่าลาดตระเวนเป็นหมู่สองสามคนก็ช่วยกันสู้ ว่ากันว่าตระกูลของเจ้าจอมมารดาพุ่มมีไม้กระบองอันหนึ่งเก็บเป็นมรดกตกทอดกันต่อๆ มา ที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์เพราะเป็นไม้กระบองที่เคยใช้ต่อสู้กับพม่าในครั้งกระนั้น

เจ้าจอมมารดาพุ่ม เป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นบุตรชายเจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาทิราช (เมฆ)เจ้าพระยาสุรสีห์พิศมาทิราช มีน้องชายคนเดียวคือเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล)เจ้าพระยามหาสมบัติเป็นผู้ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)เจ้าจอมมารดาพุ่ม และ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงเป็นพี่น้องในชั้นเดียวกัน)

จะเห็นได้ว่า กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ นั้น ท่านมีเจ้าจอมมารดาซึ่งสืบเชื้อสายขุนนางผู้ใหญ่ชั้นเจ้าพระยามาแต่กรุงศรีอยุธยา แล้วท่านก็ยังมีเลือดกล้า ดังนั้นในเวลาที่อยู่ในวัยหนุ่มในรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ท่านคงจะทรงอยู่ในฐานะลูกรักองค์หนึ่ง และคงจะไม่ ‘ธรรมดา’ นักจึงเมื่อพระอาจารย์ของท่านต้องพระราชอาญา ท่านก็โกรธแค้นแทน แต่งโคลงทิ้งหนังสือหรือบัตรสนเท่ห์ ซึ่งมีผู้จำกันไว้ได้มากว่า


ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี
กรมเจษฎาบดี เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาศ
อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ คงจะกริ้วในบาทสุดท้าย ซึ่งเป็นเสมือนแช่งบ้านเมือง โดยเฉพาะคำว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ โปรดฯให้ค้นหาตัวผู้ทิ้งหนังสือ ได้ตัวกรมหมื่นศรีสุเรนทร์

ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ จดเรื่องนี้ไว้ว่า

“ครั้งนั้นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ซึ่งเป็นศิษย์นายสี พุทธโฆษาจารย์ไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งหนังสือเป็นคำโคลงหยาบช้าต่อตระลาการกระทบกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วย จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพิจารณาหนังสือทิ้ง กรมพระราชวังได้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับนักปราชญ์ที่รู้กาพย์ กลอนโคลง พิจารณาก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นสำนวนฝีโอษฐ์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แน่แล้ว จึงรับสั่งให้หากรมหมื่นศรีสุเรนทร์มาซักถามก็ไม่รับ จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนถามจึงได้รับเป็นสัตย์ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทนอาชญาไม่ได้ ก็สิ้นชีพในพิม แล้วมิได้บาดหมายให้ถอดชื่อเหมือนอย่างหม่อมเหมน ข้าราชการเพ็ดทูลลางคนก็ออกพระนามว่า พระองค์เจ้าคันธรศบ้าง ออกพระนามว่ากรมหมื่นศรีสุเรนทร์บ้าง”

หลังจากชำระความกรมหมื่นศรีสุเรนทร์แล้ว เกิดมีผู้ทิ้งหนังสือในพระบรมมหาราชวัง หยาบช้าถึงองค์พระเจ้าแผ่นดินทีเดียว ความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่า

“ครั้นชำระความกรมหมื่นศรีสุเรนทร์แล้ว ก็มีผู้ทิ้งหนังสือหยาบช้าในพระราชวัง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นตระลาการพิจารณาให้ค้นลายมือเจ้า แลเจ้าจอมทุกเรือนเอามาสอบกับหนังสือทิ้ง ก็ถูกลายมือพระองค์เจ้ากระษัตรี ซึ่งเป็นภคคินีของพระองค์เจ้าสุริยวงศ์ ได้ไล่เลียงไต่ถามพระองค์เจ้ากระษัตรีก็ยังหารับไม่ จึงมีพระราชดำรัสให้ลงพระราชอาญา จำไว้ที่หลังห้องพระสุคนธ์ พระองค์เจ้ากระษัตรีได้ให้โขลนที่คุมนั้นไปซื้อกระดาษดินสอมาให้ ได้เขียนหนังสือที่นั่น แล้วใช้ให้คล้ายบุตรีพระสิริโรท เอาไปทิ้งที่ท้องพระโรงอีกครั้งหนึ่งคล้ายคนนี้เป็นคนรำ แต่ได้พระราชทานให้เป็นบุตรของพระองค์เจ้ากระษัตรี จึงได้มาเยี่ยมเยือนพระองค์เจ้ากระษัตรี ตระลาการถามก็รับทั้งสองคน”

จากการค้นทุกตำหนักทุกเรือนเมื่อเกิดความหนังสือทิ้งของพระองค์เจ้ากษัตรี เลยจับเพลงยาวนายช้อยได้ที่เรือน หม่อมเจ้าองุ่นในกรมหลวงนรินทรรณเรศ (กรมหลวงนรินทรรณเรศ เป็นพระโอรสที่ ๓ ใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นราชสกุลนรินทรางกูล ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าองุ่นทิ้งหนังสือหยาบช้าซ้ำอีก

ครั้งนั้นจับเรื่องชู้สาวในพระราชวัง ผิดกฎมณเฑียรบาลได้อีกหลายราย โปรดเกล้าฯให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิต ตั้งแต่พระองค์เจ้ากษัตรี หม่อมเจ้าองุ่น และหญิงชายอีก ๘ คน เฉพาะพระองค์เจ้ากษัตรี นั้น ให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี

การคุมขังเจ้านายตามโบราณราชประเพณีนั้น เรียกกันว่า ‘ติดสนม’ หากเป็นโทษสถานเบาก็เพียงโปรดฯ ให้นำโซ่ตรวนวางบนพานทอง เชิญไปที่วังกักบริเวณให้ประทับอยู่แต่ในวัง หรือหากติดสนมในที่คุมขังก็ให้วางพานโซ่ตรวนนั้นข้างองค์ แต่ถ้าโทษสถานหนัก เครื่องสังขลิก (คือโซ่ตรวน) พันธนาการเจ้านายสูงศักดิ์ ต้องใช้ผ้าขาวหุ้มก่อน


บทความ-สารคดี
โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์

ที่มา : สกุลไทย ฉบับที่ 2428 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2544

หมายเหตุ
การเน้นข้อความ และ สร้อยต่อท้ายชื่อบทความ ทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความเองหาได้มีจากต้นฉบับไม่

ไม่มีความคิดเห็น: