วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พระมหากษัตริย์สวรรคต ขอพระมหากษัตริย์ (พระองค์ใหม่) ทรงพระเจริญ : The King is dead long live the King


ปัญหาของช่องว่างนี้เริ่มตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระองค์เดิมแสดงพระอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ารัชสมัยใกล้จะสิ้นลงแล้ว ก็สามารถเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นได้ ช่วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดินนี้เอง จึงเป็น "ความว่าง" ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายที่มีผลต่อราษฎร ขุนนาง เจ้านาย ตลอดจนกระทั่งแผ่นดินทั้งแผ่นดิน

เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงเวลาของการผลัดแผ่นดินบางคราว ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง การทำสงครามกลางเมือง การลอบสังหาร การฆ่าล้างแค้น แม้กระทั่งการฆ่าล้างครัว

ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดการผลัดแผ่นดินทั้งสิ้น ๘ ครั้ง มีบางครั้งที่สงบเรียบร้อย บางครั้งอาจจะขัดแย้ง แต่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ต้องเสียเลือดเนื้อ และเป็นเพียงครั้งเดียวที่เรียกได้ว่า เกิดกบฏชิงราชบัลลังก์เหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา

แม้จะมีความเรียบร้อยแต่ก็ใช่ว่าทุกครั้งจะ "ราบเรียบ" หรือเป็นไปอย่างรอมชอมทั้งหมด ตรงกันข้ามการผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งล้วนแต่มี "เงื่อนไข" ที่พ่วงติดมาด้วยทุกครั้ง เงื่อนไขเหล่านี้เอง ทำให้การผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ใครจะได้เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป และใครที่พลาดบัลลังก์อันสูงสุดนี้



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๑

พ่อสู่ลูก, และกบฏเจ้าฟ้าเหม็น


การผลัดแผ่นดินครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ "เกือบ" จะเรียบร้อย เนื่องจากในปลายรัชสมัยนั้นได้มีการเตรียมองค์รัชทายาทไว้ล่วงหน้าแล้ว หลังจากที่ "น้องชาย" ซึ่งเป็นวังหน้าสวรรคตลง และในเวลาใกล้เคียงกันก็ทรง "ปราบ" ลูกหลานวังหน้าที่ก่อการแข็งขืนและมีโอกาสที่จะเป็นภัยต่อวังหลวงในภายภาคหน้า

หลังจากอุปสรรคจากวังหน้าจะหมดสิ้นไปแล้ว แต่ "วังหลัง" ยังมีพระชนม์อยู่ เป็นพระเจ้าหลานเธอที่มีความสามารถและอำนาจบารมีไม่น้อย ทั้งยังทรงเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกันล้มพระราชวงศ์กรุงธนบุรี และสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น เหตุเรื่องพลังอำนาจของวังหลังนี้ แม้แต่พระเจ้ากรุงเวียดนามมิตรประเทศผู้ใกล้ชิดของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ ถึงกับมีพระราชสาสน์เตือนสติให้ทรง "จัดการ" ให้เรียบร้อยก่อนจะสายเกินไป

"มีพระราชสาสน์เตือนพระสติเข้ามาด้วยฉบับหนึ่งว่า สมเดจ์พระอะนุชาธิราช ซึ่งเปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคลสวรรคตแล้ว สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราลงทุกวัน ยังแต่พระเจ้าลูกเธอพระเจ้าหลานเธอมีกำลังเสมอกันอยู่ การข้างน่ากลัวจะไม่เรียบร้อย ขอไห้ยกสมเดจ์พระเจ้าลูกเธอพระองค์ไหญ่ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นดำรงเปนที่กรมพระราชวังบวร จะได้มีกำลังแลพาหนะมากขึ้น บ้านเมืองจึ่งจะเรียบร้อย"

ข้างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็มิได้ทรงยกวังหน้าขึ้นโดยไม่หยั่งเสียงดูก่อน เพื่อความรอบคอบจึงทรง "โยนหินถามทาง" ไปครั้งหนึ่ง

"ครั้นจะทรงสถาปนาขึ้นแต่โดยพระราชดำริห์นั้น ก็ไม่ทรงทราบอัธยาศัยข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง เปนการขัดอยู่ จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระเจริญแล้ว ไม่ปลงพระหฤทัยในราชการแผ่นดิน มีแต่ทรงฝักไฝ่ในการเล่น ก็ทรงพระพิโรธในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอนั้นเปนอันมาก จึ่งพระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดี มีความโศกสลดสยดสยองเกรงพระเดชานุภาพยิ่งนัก ท่านอัครเสนาบดีปฤกษาตกลงเห็นพร้อมกันแล้ว จึงได้กราบทูลพระกรุณาว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า ไม่มีพระบรมราชวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งจะได้ช่วยจัดการ ทำนุบำรุงแผ่นดินให้เปนสุขาถาวรวัฒนาสืบไป เห็นแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระปรีชาสามารถ อาจทราบในราชกิจทั้งปวง สมควรจะทำนุบำรุงแผ่นดินสืบไปภายหน้าได้"

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ปัญหาเรื่องวังหลังก็จบลงด้วยตัวเองเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขทิวงคต

ในปีเดียวกันนี้ จึงได้มีพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นเป็น "วังหน้า" หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงวางไว้เป็นองค์รัชทายาทอย่างมั่นคงเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปว่า

"สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเศกให้เป็นกรมพระราชวังบวรฯ สืบพระญาติพระวงษาต่อไป แผ่นดินจะได้ยืนยาวไปนั้น ยินดีพระไทยหนัก"

ครั้นเมื่อถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงพระประชวรอยู่ ๓ ปี ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมะเส็ง ก็ทรงพระประชวรหนัก แพทย์ประกอบพระโอสถถวายพระโรคก็ไม่ได้เสื่อมลง จนถึงวันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ เวลา ๓ ยาม ๗ บาท ก็เสด็จสวรรคต ตรงกับวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒

ยามเมื่อเสด็จสวรรคตนั้น พระราชพงศาวดารบันทึกการณ์อัศจรรย์ไว้ดังนี้

"ถึง ณ วันพฤหัศบดี เดือนเก้า แรมสิบสามค่ำ ปีมเสงเอกศก เวลาบ่ายห้าโมง เหนอัศจรรย์ ที่พระเจดีย์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอยู่ตวันออกแห่งพระมณฑป มีรัศมีสว่างบนยอด ครั้นเวลาสามยามเจดบาท เสดจสวรรคต"

เมื่อสิ้นแผ่นดินที่ ๑ ยังไม่ทันได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ก็เกิดเหตุ "กบฏเจ้าฟ้าเหม็น" ขึ้นเสียก่อน เป็นกบฏที่ก่อขึ้นโดยขุนนางกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นสู่ราชบัลลังก์ การปราบปรามเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดศึกกลางเมือง เป็นผลให้เกิดการ "ล้างครัว" เจ้าฟ้าเหม็น และลงโทษขุนนางผู้ก่อกบฏ เหตุการณ์ยุติได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่วัน

การสืบสันตติวงศ์จาก "พ่อสู่ลูก" เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เรียกพระนามอย่างย่อว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นลำดับ ๒ แห่งพระราชวงศ์จักรี



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๒

พ่อสู่ลูก, รัชทายาทตัวจริงออกบวชเว้นวรรคราชสำนัก


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๑๖ ปี แต่ว่าตลอดรัชกาลนี้ ผู้ที่มีบทบาทสูงสุดคือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระสนม เนื่องด้วยผู้กำกับดูแลราชการอีก ๒ พระองค์ คือ "วังหน้า" กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ว่าที่กรมวังและมหาดไทย สวรรคตและสิ้นพระชนม์ตามกันไป โดยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นแทน งานทั้งหมดรวมทั้งกรมท่าและกรมพระคลังมหาสมบัติที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงกำกับอยู่เดิม จึงตกอยู่กับพระองค์เพียงองค์เดียว เป็นการดูแลงานต่างพระเนตรพระกรรณโดยแท้จริง ดังมีบันทึกเล่ากันว่า

"เมื่อแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านได้เปนมหาปธานาธิบดีในราชการกรมท่าและกรมพระตำรวจน่าหลังทั้งสิ้น แลได้เปนผู้รับฎีกาของราษฎรที่มาร้องทุกข์ แลได้เปนแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวง แลตระลาการทุกศาล ท่านพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสยาม ท่านเปนผู้รับกระแสพระราชดำรัสแลพระราชประสงค์ต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพระบรมชนกนาถทั้งสิ้นฯ"

เมื่อถึงปลายแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวร และสวรรคตอย่างปัจจุบัน โดยไม่ได้รับสั่งถึงองค์รัชทายาทไว้ก่อน

"ถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีวอกฉศก ทรงพระประชวรให้มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจารในเพชร ข้างที่ ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วให้ร้อนเป็นกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เชื่อมซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสั่งไว้ มาจนถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาทเสด็จสู่สวรรคต"

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ตรัสสั่งเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับองค์รัชทายาท ซึ่งในความเป็นจริงพระราชดำรัสก่อนสวรรคตของทุกรัชกาลก็ไม่เคยกล่าวเป็นการเจาะจงผู้หนึ่งผู้ใด แต่มักจะตรัสโดยนัยยะ หรือวางตัวไว้ก่อน หรืออาศัยราชประเพณีเป็นที่อาศัย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหากทรงชี้ช่องไปยังผู้หนึ่งผู้ใด ก็มีโอกาสสร้างอันตรายถึงชีวิตให้กับพระราชวงศ์พระองค์นั้นได้ เนื่องจากทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีบทบัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ดังนั้นโอกาสจึงเป็นของทั้งผู้มีสิทธิตามประเพณีและผู้อื่นที่คิดว่าตัวเองก็มีสิทธินั้นด้วยเช่นกัน

คราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตโดย "มิได้ตรัสสั่งไว้" หากอาศัยธรรมเนียมแห่งราชประเพณี ราชสมบัติย่อมตกอยู่กับ "เจ้าฟ้ามงกุฎ" พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระมเหสี แต่ขณะนั้นทรงขาดทั้งกำลังและผลงาน และที่สำคัญที่สุดคือขุนนางที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเวลานั้นไม่ได้สนับสนุนพระองค์

ผู้ที่มีทั้งกำลัง ผลงาน และผู้สนับสนุน คือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอมมารดาเรียม แม้จะขาดความชอบธรรมทางราชประเพณี แต่ก็ได้รับความเห็นชอบและการสนับสนุนจากผู้ทรงอำนาจทุกฝ่าย ว่ามีความเหมาะสมที่สุดในเวลานั้น จึงอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓ แห่งพระราชวงศ์จักรี

จากการเริ่มต้นประดิษฐานพระราชวงศ์ใหม่นี้ ทำให้ ๓ รัชกาลแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้มี "แม่" เป็นเจ้ามาแต่กำเนิด และ ๕ ใน ๙ รัชกาลของพระราชวงศ์จักรี เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชชนนีมาจากสามัญชน

ทางฝ่าย "เจ้าฟ้ามงกุฎ" ก็จำเป็นต้องตัดสินพระทัยที่จะผนวชอยู่ต่อเพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางราชการแผ่นดิน แม้เมื่อภายหลังทรง "กลับมา" ครองราชสมบัติแล้ว ก็เคยรับสั่งถึงเรื่องนี้ว่า หากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระกำลังพอที่จะตรัสมอบแผ่นดินแก่ผู้ใดแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะทรงมอบให้กับพระองค์

การสืบราชสมบัติครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการออกนอก "สายตรง" ไประยะเวลาหนึ่ง



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๓

พี่สู่น้อง, กลับสู่สายหลัก


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่ ๒๗ ปี นับเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รอคอยที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อไป

จนเมื่อเวลาอันเป็นที่สุดแห่งรัชกาลมาถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกขนบธรรมเนียมเดิม คือไม่ระบุองค์รัชทายาทตรงๆ แต่กลับทรงเลือกวิธีเก่าคือ โยนหินถามทาง หยั่งเสียง และการบอกโดยนัยยะ แม้กระทั่งมีพระราชดำรัส "ตัด" พระราชวงศ์ที่อยู่ในข่ายสืบราชสมบัติออก

เบื้องต้นมีพระราชประสงค์ที่จะ "หยั่งเสียง" โดยมีพระราชโองการออกมาให้พระบรมวงศ์และขุนนางเลือกองค์รัชทายาทกันเอง คล้ายกับจะทรงฟังว่ามีมติออกมาอย่างไร แต่ครั้นทรงทวงถามถึงพระราชโองการนั้นว่ามีผลอย่างไร พระยาศรีสุริยวงศ์ก็กราบทูลเป็นการบ่ายเบี่ยงเสียว่า พระโรคนั้นยังไม่ถึงขั้นตัดรอน "ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร"

ครั้นเมื่อทรงทราบดังนี้แล้วว่ายังไม่มีการเสนอผู้ใดขึ้นมา ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชโอรสที่ทรงต้องการให้เป็นรัชทายาทก็ย่อมไม่อยู่ใน "โผ" นั้นด้วย

จึงมีพระราชกระแสรับสั่ง "กัน" พระราชวงศ์ที่เป็น "ตัวเก็ง" ออก คือ กรมขุนเดชอดิศร ท่านว่าพระกรรณเบาเชื่อคนง่าย กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ พระสติปัญญาไม่ถึงขั้น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ไม่พอพระทัยทำราชการ รักแต่เล่นสนุก ส่วนที่มีความเหมาะสมมากกว่าคนอื่นคือเจ้าฟ้ามงกุฎ แต่ก็รังเกียจว่าทรงครองผ้าอย่างมอญ จะเห็นได้ว่า "ข้อหา" สำหรับเจ้าฟ้ามงกุฎนั้น "เบา" และแก้ไขได้ง่ายที่สุด เห็นจะทรงปลงพระทัยแล้วหรืออย่างไร?

ส่วนพระราชโอรสที่มีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งครั้งหนึ่งมีพระราชประสงค์จะมอบ "สัญลักษณ์" แห่งการสืบราชบัลลังก์ คือพระประคำทองคำของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่ก็เกิดการ "หยิบผิด" หรือ "สับเปลี่ยน" นำพระประคำองค์ปลอมไปถวาย ว่ากันว่าเป็นลางให้พระองค์เจ้าอรรณพต้องพลาดจากราชบัลลังก์ไป

แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าพระประคำทองคำองค์นั้นคือ แรงสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาค ที่ส่งคนไปเตรียมการ "สึกพระ" ตั้งแต่ก่อนพระเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตเสียอีก ทางด้าน "ทูลกระหม่อมพระ" เองก็ทรงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ "เปิดตัว" ไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอยู่ค่อนข้างจะหนักและทรมาน เสวยข้าวไม่มีรสมาแล้วเป็นปี อาการพระโรคเจ็บหลัง เสียดท้องตามชายโครง เสียดถึงขั้นนอนหงายไม่ได้ พระอาการหนักอยู่จนถึงขั้นต้องออกประกาศหาแพทย์มือดีมารักษา แต่ก็ไม่สามารถจะฉุดรั้งพระอาการประชวรไว้ได้นาน ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกา ๕ บาท ก็เสด็จสวรรคต ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔

ราชสมบัติสืบต่อไปยังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในพระราชวงศ์นี้ที่มีสร้อยพระนาม "อุภโตสุชาติ" ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่มาจาก "เจ้าฟ้า" เท่านั้น อุภโตสุชาติคือการเกิดดี ทั้งพระราชบิดาและพระราชมารดาเป็นเจ้าพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีที่มีสร้อยพระนามอุภโตสุชาตินั้นมี ๔ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๔, ๕, ๖, ๗



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๔

พ่อสู่ลูก, กลับสู่สายหลัก


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ไม่ทรงตัดสินเป็นเด็ดขาดเรื่ององค์รัชทายาท แต่อย่างไรก็ดีทรงเตรียมการณ์อย่างเปิดเผยสำหรับพระราชโอรสองค์สำคัญคือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมให้พระราชโอรสรับมือกับชาติตะวันตก

ครั้นเมื่อถึงเวลาจริงๆ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคไข้ป่า จากการเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา และทรงหยั่งรู้ด้วยพระองค์เองว่าไม่อาจจะรอดจากพระโรคนี้ได้เป็นแน่ จึงได้แสดงพระราชประสงค์สุดท้ายผ่านทางขุนนางผู้ใหญ่ โดยมีพระราชดำริเป็นเชิง "หยั่งเสียง" เช่นรัชกาลก่อน คือให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือกันเองในเรื่องนี้ จะเลือกพระเจ้าลูกเธอหรือพระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสมกับกิจการงานแผ่นดิน

ฝ่ายขุนนาง (ตระกูลบุนนาค) ครั้งนี้ไม่ได้บ่ายเบี่ยงยักเยื้องเหมือนในแผ่นดินก่อน ทั้งยังได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบอย่างชัดเจน เมื่อรับสั่ง "ทวงถาม" ถึงมติเกี่ยวกับองค์รัชทายาท

"พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ กราบทูลพระกรุณาว่า บิดากระหม่อมฉันเห็นว่า พระอาการทรงพระประชวรมาก ได้ปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกัน เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ควรจะรับสิริราชสมบัติต่อไป"

สุดท้ายก็พระราชทาน "สัญลักษณ์" พระประคำทองคำให้กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ นำไปถวายเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ต้องตามพระราชประสงค์ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๕

พ่อสู่ลูก, สลับสายสืบราชสมบัติ


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกำหนดองค์รัชทายาท ที่เคยปฏิบัติแบบขาดกฎเกณฑ์ที่แน่นอนมาแต่โบราณ ทำให้เกิดความวุ่นวายให้กับราชสำนักอยู่เสมอ โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในระหว่าง "พี่น้อง" และความขัดแย้งระหว่างพระญาติในสาย "วังหน้า"

แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนนำไปสู่ "วิกฤตวังหน้า" ในรัชกาลนี้ ทำให้หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้ายทิวงคตลง ปีรุ่งขึ้น พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงเกิดธรรมเนียมใหม่ในการสืบสันตติวงศ์ มีการกำหนดตัวบุคคลที่ชัดเจน โดยทรงสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ถือเป็นที่สุดว่าเจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงเป็นองค์รัชทายาทนับแต่บัดนั้น

การสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศขึ้นเป็นองค์รัชทายาท ผลที่ตามมาคือพระราชมารดา ให้ยกขึ้นเป็นพระมเหสีเอกไปด้วย สายการสืบราชสมบัติจึงตกอยู่กับสาย "สว่างวัฒนา" หรือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

อย่างไรก็ดี "กฎ" ใหม่นี้ มีข้อดีอยู่ที่สามารถตัดปัญหาเรื่องการแย่งราชสมบัติภายในพระราชวงศ์ลงได้ แต่ก็ยังมีข้อเสียอยู่ตรงที่ว่า การเลือกองค์รัชทายาทโดยใช้ระบบ "โปเจียม" หรือถือลำดับอาวุโสตามสกุลยศ ทำให้ความสำคัญเรื่องความสามารถ ความเหมาะสม และการสนับสนุนดังที่ใช้กันในอดีตเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา

ดังจะเห็นได้ว่า แม้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศจะทรงมีพระปรีชาเฉลียวฉลาด เป็นที่รักของพระราชวงศ์ และทรงได้รับการอบรมสั่งสอนให้พร้อมสำหรับการเป็นกษัตริย์อย่างดี แต่ด้วยความเป็น "วัยรุ่น" ก็มีปัญหา "ความซุกซน" มาให้พระราชบิดาอึดอัดพระทัยอยู่ ดังเคยมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชทานต่อเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ว่า "ชายใหญ่เขามุ่งหมายจะเปนเจ้าแผ่นดินแต่สำหรับจะกินกับเสพย์เมถุน"

แต่แล้วตำแหน่ง "มกุฎราชกุมาร" พระองค์แรกก็อยู่ได้เพียง ๘ ปี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคตลงในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ด้วยพระชันษาเพียง ๑๖ ปีเศษ

ภายหลังที่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคตแล้ว พระราชโอรสองค์ถัดมาของพระมเหสีเอกก็น่าจะได้รับตำแหน่งนี้ต่อ ซึ่งขณะนั้นสาย "สว่างวัฒนา" มีอยู่ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย (๒๔๒๕-๔๒) และเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (๒๔๓๔-๗๒)

แต่การสืบต่อตำแหน่งไม่ได้เป็นไปตามนั้น คือได้มีการสลับสายจาก "สว่างวัฒนา" ไปสู่สาย "เสาวภาผ่องศรี" ด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด มีเพียงพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า "ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียงพี่เรียงน้องในการสืบสันตติวงศ์"๑๐

จึงมีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ใหม่ คือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และยกให้พระราชมารดาขึ้นเป็นพระมเหสีเอกแทนพระองค์ก่อน คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี

สาย "เสาวภาผ่องศรี" นี้ มีเจ้าฟ้าขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องกัน ๒ พระองค์

ต่อมาในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลาเที่ยงคืน ๔๕ นาที พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะพิการเรื้อรัง ส่วนตำแหน่งรัชทายาทนั้นยังเป็นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธพระองค์เดิม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นลำดับที่ ๖ แห่งพระราชวงศ์ ด้วยความรู้สึกที่ทรงบรรยายไว้ดังนี้

"ส่วนตัวฉันเองมิได้เคยนึกอยากเปนเลย, ฉนั้นเมื่อได้เปนขึ้นจึ่งมิได้รู้สึกยินดีเลย. การเปนตำแหน่งอื่นๆ ยังเคยนึกอยากเปนบ้าง, เพราะไม่ใช่ต้องรอให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นตายเสียก่อน, แต่การเปนพระเจ้าแผ่นดินโดยสืบสันตติวงศ์เช่นฉันนี้ ต้องเสียพ่อจึ่งจะได้เปน, จะให้ยินดีได้อย่างไร?"๑๑



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๖

พี่สู่น้อง, ไร้ราชโอรส


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรัชสมัยที่มีความพยายามหาความชัดเจนเรื่ององค์รัชทายาท โดยทรงเห็นว่าหากไม่ทำความข้อนี้ให้ชัดเจนแล้วก็อาจจะเกิดเรื่องวุ่นวายได้ ดังปรากฏในความข้างต้นของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตอนหนึ่งว่า

"สมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือก แลประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยากแก่งแย่งกันขึ้น ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันย่อมเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อความเจริญแห่งราชอาณาจักร"

หลักการของกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ก็คือให้ยึดสายตรงก่อน กล่าวอย่างง่ายๆ คือ จาก ๑. พระมหากษัตริย์สู่ลูก ๒. หากพระมหากษัตริย์ไม่มีลูก ก็มอบให้น้องอาวุโสสูงสุดก่อน ๓. แต่หากน้องที่อาวุโสสูงสุดนั้นสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็เลื่อนไปสู่ลูกของน้องก่อน ๔. แต่หากน้องคนโตสิ้นพระชนม์ไปแล้วและไม่มีลูก จึงจะไปสู่น้องคนถัดลงมา อย่างนี้เป็นต้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง การที่จะโปรดให้ใครเป็นรัชทายาทนั้นย่อมถือเป็นสิทธิ์ขาดขององค์พระมหากษัตริย์สุดแท้แต่พระราชหฤทัย

และปรากฏว่าในรัชกาลที่ ๖ ก็ไม่ทรงมีวี่แววว่าจะมีพระราชโอรส จึงต้องอาศัยหลักการ "พี่สู่น้อง" ในกฎมณเฑียรบาลไปพลางก่อน จึงทรงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งองค์รัชทายาท โดยระบุให้สืบต่อกันระหว่าง "น้อง" ที่ร่วมพระชนนีเดียวกัน โดยเริ่มจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่มอบราชสมบัติต่อให้ทายาทของพระองค์) ต่อมาเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ทำให้ "น้อง" ลำดับถัดมารับช่วงเป็นองค์รัชทายาทต่อ คือเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ แต่ก็ทิวงคตไปอีกในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ส่วนเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก นั้นสิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ดังนั้นจึงเหลือเพียงเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์พระองค์เดียว

ซึ่งหากจะถือตามกฎมณเฑียรบาลปี พ.ศ. ๒๔๖๗ จะมีผลให้พระโอรสของเจ้าฟ้าที่เคยอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท มีสิทธิจะสืบตำแหน่งต่อ ก่อนที่จะถึง "น้อง" ในลำดับต่างๆ ขณะนั้นมีอยู่ ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พระโอรสเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ) และหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ) ทั้ง ๒ พระองค์นี้ ต่างมีสิทธิก่อนจะถึงลำดับของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ตามกฎมณเฑียรบาล

แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเพิกถอนสิทธิของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ทั้งยังมีพระราชหัตถเลขามีพระราชประสงค์ยกราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ๑๒ โดยไม่ยกให้กับ "หลาน" ตามกฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังทรงติดพระทัยเรื่อง "แม่" ของทั้ง ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์นั้นมีพระมารดาเป็นชาวต่างชาติ ส่วนหม่อมเจ้าวรานนท์ฯ นั้นท่านว่ามีพระมารดาเป็นสามัญชน

แล้วปัญหาจริงๆ ของการสืบราชบัลลังก์ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อทรงได้พระราชธิดา ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นคำยืนยันว่าจะไม่มีพระราชโอรสสืบต่อตามที่ทรงหวังไว้ เพราะอีก ๒ วันหลังจากนั้นก็เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ด้วยพระอาการแผลที่ลำไส้ทะลุ อันเกิดจากแผลที่ทรงเคยผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อหลายปีก่อน

๑๕ นาที หลังจากที่สวรรคต พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่และเสนาบดี อันมีเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ เป็นองค์ประธาน ได้มีการอ่านแถลงการณ์และสำเนาพระราชหัตถเลขา อ้างพระราชประสงค์ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๗

อาสู่หลาน, กลับสู่สาย "สว่างวัฒนา"


ฝันร้ายในการสืบสันตติวงศ์กลับมาอีกในรัชกาลนี้ คือพระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระราชโอรส แต่ส่วนที่เป็นยิ่งกว่าฝันร้ายคือทรงระแวงพระทัยในพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งยังคงมีผลผูกพันอยู่กับกฎมณเฑียรบาล เรื่องการสืบสันตติวงศ์ เพราะมิได้ทรงถูก "ข้าม" เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนกับหม่อมเจ้าวรานนท์ฯ (ภายหลังยกขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า) ความหวาดระแวงดังกล่าวปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาที่มีไปยังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ดังนี้

"แกอาจจะอยากทราบว่าความรู้สึกของฉันที่มีต่อแกอย่างไร ฉันบอกแกได้ทันทีว่าความรู้สึกของฉันต่อแกในฐานญาติในฐานเป็นอา ย่อมมีแต่ความรัก และฉันจะพยายามทุกวิถีทางที่จะให้แกได้รับความเจริญ แต่ยังมีความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง คือความรู้สึกที่ฉันมีต่อแกในฐานที่ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินและแกเป็นพระราชวงศ์ ฉันจะพูดกับแกตรงๆ และหวังว่าแกจะพยายามเข้าใจความคิดของฉัน ฉันรู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งที่ต้องเอามาพูด แต่เป็นการจำเป็นและแกก็รู้ตัวอยู่ดี คือแกเป็นครึ่งชาติ และเพราะเหตุนั้นจึงถูกยกเว้นจากการสืบราชสมบัติ คนบางคนเขาว่าการถือเลือดต่างชาติกันนั้นเป็นของเหลวไม่เป็นสาระ แต่ที่จริงความรู้สึกมันก็ยังมีอยู่ ฉันจึงต้องขอบอกแกว่าฉันเห็นด้วย สนับสนุนอย่างเต็มที่ในการที่แกถูกยกเว้น จนถึงกับมีคนเขารู้กันอยู่แล้วว่า ฉันเคยพูดอย่างเปิดเผยว่า ถ้าแกพยายามคบคิดที่จะขึ้นบัลลังก์ไทย ฉันจะยิงแกด้วยมือของฉันเอง..."๑๓

แต่ปลายแผ่นดินนี้กลับไม่เหมือนกับทุกครั้ง คือไม่ต้องรอให้พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตก่อนจึงมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ได้ เพราะครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมีพระราชดำริเรื่ององค์รัชทายาทไว้อย่างชัดเจน ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ฉบับลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า

"ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์"

คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงพิจารณา "เจ้านาย" หลายพระองค์ที่อยู่ในข่ายจะได้รับราชสมบัติสืบต่อในวาระนี้ อันได้แก่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ แต่ก็ต้องถูกข้ามด้วยเหตุผลเดิมคือมีพระมารดาเป็นคนต่างด้าว ต่อมาคือพระองค์เจ้าวรานนท์ฯ ถูกยกเว้นด้วยเหตุผลเรื่องพระมารดาอีกเช่นกัน เท่ากับหมดสาย "เสาวภาผ่องศรี" เพียงแค่นี้

ตามกฎมณเฑียรบาลให้กลับมาพิจารณา "สายสนิทมากน้อย" ยังผลให้การสืบสายย้อนกลับมาสู่สาย "สว่างวัฒนา" อีกครั้ง

ในที่สุดลำดับการสืบสันตติวงศ์ก็มาตกอยู่กับเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช แต่สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นตามกฎมณเฑียรบาลจึงต้องเลื่อนมาสู่พระโอรส คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาผู้แทนฯ จึงลงมติอัญเชิญขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และให้มีผลย้อนหลังไปในวันที่รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ คือวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในพระราชวงศ์ที่ไม่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทำให้ในรัชสมัยนี้ไม่มีคำว่า "พระบาท" นำหน้าพระนาม ต่อมาจึงเฉลิมพระนามใหม่ในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล



ผลัดแผ่นดินคราวที่ ๘

"พระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ พระอนุชาต่างหากที่ไม่มีแล้ว"๑๔


เกิดเหตุร้ายที่ไม่มีใครคาดฝันว่าจะเป็นไปได้ ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๘ ในพระราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในพระบรมมหาราชวัง และขณะนั้นยังไม่มีพระมเหสีและพระเจ้าลูกเธอ

สมาชิกรัฐสภาจึงเห็นชอบ อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สืบสันตติวงศ์ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙



อ้างอิง

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙, น. ๑๘๗.

พระประภากร, หม่อมเจ้า. เทศนาพระราชประวัติและพงศาวดารกรุงเทพฯ. พระนคร : กรมราชบัณฑิต, ๒๔๖๒, น. ๓๖.

นรินทรเทวี, กรมหลวง. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙-๑๑๘๒. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, ๒๕๔๖, น. ๖๑๐.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. อ้างแล้ว. น. ๒๒๐.

อภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์, กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๕, น. ๖๒.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๐๔, น. ๒๐๕.

ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๑ จดหมายเหตุเมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต, กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, ๒๕๑๓, น. ๔๘๘.

มหินทรศักดิ์ธำรง, เจ้าพระยา. ประชุมจดหมายเหตุเรื่องสุริยุปราคาในรัชกาลที่ ๔ และเรื่องรัชกาลที่ ๔ ประชวรและสวรรคต. งานพระราชทานเพลิงศพ นายเทพ เสมถิติ). กรุงเทพฯ : ๒๕๑๒, น. ๔๘.

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๕, น. ๕๕.

๑๐ สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. กรุงเทพฯ : ผดุงศึกษา, ๒๕๒๐, น. ๑๒๑.

๑๑ ราม วชิราวุธ. อ้างแล้ว. น. ๕๕.

๑๒ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๔, น. ๕๙.

๑๓ จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า. เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๑, น. ๒๕.

๑๔ พระธรรมิกราชของชาวไทย, ศิลปากร, ๒๕๓๐


ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 08

โดย. ปรามินทร์ เครือทอง

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ร.9 ก็ใกล้วันตายเข้าไปทุกวัน คงอาจเกิดเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยก้นอีกครั้ง ใครจะขึ้นมาเป็น ร.10 เสียโอหรือว่าพระองค์เจ้าเปรมฯกันแน่

เจ้าน้อย ณ สยาม กล่าวว่า...

สวัสดีครับ คุณไพบูลย์

ใจเย็นครับใจเย็น...เรื่องเกิดแก่เจ็บตายผมว่ามันก็ต้องเปนไปตามธรรมชาติแน่นอนครับ

ส่วนอีกเรื่องสำหรับนายหัว...เปรม ผมว่าคงเปนไปไม่ได้ และเสี่ยเองก็ไม่แน่ว่าจะได้ดังใจหรือเปล่า ช่วงนี้มีหลายๆอย่างที่เปนตัวแปร ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ผมว่านะครับ..

im ann ^^ กล่าวว่า...

เรื่องนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก..

บทความน่าสนใจอีกเช่นเคย
Comment ครั้งที่สอง