วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ปฏิบัติการพอเพียง : การขยายพื้นที่แห่งความยินยอมและความกลัว


หมายเหตุ
อาจารย์พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอจากบทความในชื่อ “ภาคปฏิบัติการของวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง” ในการประชุมทางวิชาการ เรื่อง เหลียวหลังแลหน้าการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทอีสานช่วงทศวรรษ 2540-2550 กรณี “เศรษฐกิจพอเพียง: ความรู้และความไม่รู้” จัดโดย สาขาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2550 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ศิโรตม์ คร้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ร่วมแสดงความเห็นต่อบทความชิ้นนี้ “ประชาไท” ขอนำเสนอโดยย่อ ดังนี้


000

พฤกษ์ เถาถวิล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


ในรอบทศวรรษนี้ แนวคิด” เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทวีความสำคัญขึ้นเป็นอุดมการณ์แห่งชาติ ตลอดจนเป็นแนวนโยบายหลักของรัฐในการพัฒนาประเทศ ภายใต้การทำงานของสถาบัน/องค์กรหลากหลายที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบ มีผู้เชี่ยวชาญ การสร้างองค์ความรู้ การประชาสัมพันธ์ และการปฏิบัติที่หลากหลาย จนอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงได้ยกฐานะเป็น”วาทกรรมหลัก” ของสังคมไทย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ วาทกรรมหลักนี้สถาปนาตนขึ้นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย โดยเฉพาะภาคชนบท/หมู่บ้าน ในที่นี้จะใช้กรอบความคิดที่มองเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของวาทกรรมการพัฒนา ซึ่งหมายถึงกระบวนการผลักดันการพัฒนาที่กระทำผ่านปฏิบัติการทางสังคมที่หลากหลาย เพื่อสร้างความจริงเรื่องการพัฒนาที่สังคมไทยต้องมุ่งไปให้ถึง และจะวิเคราะห์ภาคปฏิบัติการของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้าน อันเป็นกระบวนการทางสังคมในการนำแนวคิดนี้มาใช้ รวมถึงผลที่เกิดขึ้น

การพัฒนาชนบท เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ซึ่งเป็นวาทกรรมระดับโลกที่ถูกผลักดันโดยกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จนนำมาสู่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย แต่แล้วผลของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยกลับทำให้ประเทศที่ถูกพัฒนาด้อยพัฒนายิ่งขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมืองมากขึ้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงแผน 5 (2525-2529) ที่รับเอาแนวคิดการพัฒนาแบบพึ่งตนเองจากการผลักดันขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นวาทกรรมชุดใหม่ที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ทำให้ชุมชนมีศักยภาพ พึ่งตนเองได้ จากภูมิปัญญาหรือจุดแข็งที่มี และองค์กรพัฒนาเอกชนได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 เมื่อทางราชการหันมาใช้แนวทางเดียวกัน แนวทางการพัฒนาแบบพึ่งตนเองจึงได้มีบทบาทสำคัญขึ้นในการพัฒนาชนบท

เมื่อมองในบริบทการพัฒนาดังกล่าวมา จะพบว่า เศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นภายใต้กระแสการพัฒนาแบบพึ่งตนเองในยุคนั้น นับตั้งแต่ในหลวงทรงพระราชทาน “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นครั้งแรกในปี 2537 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้เข้าปะทะประสานแลกเปลี่ยนกับวาทกรรมอื่นๆ และสถาปนาตัวเป็นวาทกรรมหลักในเวลาต่อมา และดูดกลืนการพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งหน่วยงานรัฐมาไว้ภายใต้วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกลมกลืน

ในยุคของรัฐบาลทักษิณ (2542-2549) เศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็นประเด็นในการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ระหว่างกลุ่มจารีตนิยม และทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ ทั้งสองฝ่ายพยายามช่วงชิงในการให้ความหมายเศรษฐกิจพอเพียง และใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจนำ ฝ่ายจารีตนิยมได้ผลักดัน/ขยายแนวคิดผ่านการพูด การเขียนของปัญญาชน นักวิชาการ นักพัฒนา ปราชญ์ชาวบ้าน ข้าราชการ นักธุรกิจ ผลักดันต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงผ่านโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ ผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และ 10

ในขณะที่ ฝ่ายทุนนิยมเสรี ซึ่งมีทักษิณเป็นตัวแทน ก็ตีความเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับโลกาภิวัตน์และนโยบายประชานิยม ที่สร้างคะแนนนิยมในหมู่ประชาชน และสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับตัวทักษิณและพรรคไทยรักไทย การจับ “เศรษฐกิจพอเพียงแต่งงานกับประชานิยม” ทำได้ไม่ยาก เพราะทั้งสองฝ่ายมีรากลึกอยู่ที่การพัฒนาแบบพึ่งตนเอง เศรษฐกิจพอเพียงนั้นพ้องกับการพัฒนาแบบพึ่งตนเองอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนประชานิยม อันได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้าน SML หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็เป็นแนวการพัฒนาแบบพึ่งตนเองดีๆ นั่นเอง เพราะนำชนบทมาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยอาศัยกระบวนการกลุ่ม การมีส่วนร่วม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญ

ในยุครัฐประหาร เศรษฐกิจพอเพียงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกครั้งในการสร้างการยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ประกาศให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายหลัก และแปรสู่การปฏิบัติภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดที่ชื่อ “ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข” แต่เมื่อพิจารณาดูก็ไม่ต่างจากแผนที่ผ่านๆ มา คือเต็มไปด้วยสำนวนประเภทพึ่งตนเอง สร้างความเข้มแข็ง การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ฯลฯ และเพิ่มคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไป โดยมีงบประมาณอัดฉีดเข้ามาเพื่อทำงานอย่างเร่งด่วน การนำแผนไปปฏิบัติก็มีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาของการทำงานแบบราชการ ที่เน้นการทำงานให้บรรลุเป้าหมายเชิงปริมาณ และประชาสัมพันธ์ มีการตั้งเป้าหมายการจัดเวทีอบรมเศรษฐกิจพอเพียง ครัวเรือนพอเพียง หมู่บ้านตัวอย่าง หมู่บ้านดีเด่น หมู่บ้านเทิดพระเกียรติ

แต่ทว่าในทางปฏิบัติ ข้าราชการก็ทำงานกับหมู่บ้านที่เคยทำมาก่อนและมีกิจกรรมต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่เพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การอบรมแนวคิด ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ กระบวนการที่ใช้ก็ไม่แตกต่างจากเดิมคือเน้นชาวบ้านเป็นศูนย์กลางผ่านกิจกรรมกลุ่มและการมีส่วนร่วม หลังจากนั้นก็ประชาสัมพันธ์ให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นได้ว่าในแง่การทำงานของหน่วยราชการ นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงจึงเท่ากับการแปะฉลากใหม่ให้กับหมู่บ้าน

การพัฒนาชนบทจึงเป็นเวทีสำแดงตนที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการวิเคราะห์ผลที่เกิดกับหมู่บ้าน/ชนบท จะทำผ่านกรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านดอน (ชื่อสมมติ) หมู่บ้านในเขต อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ชาวบ้านดอนทำนาเป็นอาชีพหลัก ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินเอง (ข้าวเหนียว) อีกส่วนหนึ่งผลิตเพื่อขาย(ข้าวจ้าว) นอกฤดูกาลทำนาก็ออกไปรับจ้าง วิถีการผลิตเป็นลักษณะของการใช้เงินทุนในการซื้อปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช) และการจ้างแรงงานในขั้นตอนต่างๆ ปัญหาหลักของชาวบ้าน คือ ปัญหาหนี้สิน โดยทั่วไปเป็นหนี้ 70,000-80,000 บาทต่อครัวเรือน และปัญหาความเครียดที่เกิดจากการทำงานหนัก แต่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายและไม่พอใช้หนี้ เห็นได้ว่า ปัญหาของชาวบ้านเป็นผลมาจากปัญหาเชิงนโยบายที่ถูกผลักดันเข้าสู่การเกษตรเชิงพานิชย์ แล้วเสียเปรียบในระบบตลาด ถูกขูดรีดจากกลุ่มทุนในรูปของค่าเช่า ดอกเบี้ย ราคาปัจจัยการผลิตที่สูง และการกดราคาผลผลิต รวมทั้งการกดค่าแรงเมื่อออกไปทำงานนอกฤดูกาลทำนา

ที่บ้านดอนมีกิจกรรมการพัฒนาชนบทโดยหน่วยงานรัฐมาอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มแม่บ้าน และภายใต้แผนการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงมีการริเริ่มกลุ่มใหม่ คือกองทุนปุ๋ย ร้านค้าชุมชน และกลุ่มเพาะเห็ดขาว เครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่หน่วยงานพัฒนาชุมชนใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตรงความต้องการของชาวบ้าน คือ การประชุมประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งมีรูปแบบเป็นทางการ มีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วม มีระเบียบวาระที่ชัดเจน มีการบันทึกการประชุม

การประชุมประชาคมหมู่บ้านวาระพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการกว่าทุกครั้ง การประชุมเริ่มจากประธานในพิธีแสดงความเคารพต่อสัญลักษณ์ของชาติ ผู้ใหญ่บ้านกล่าวรายงานและนายก อบต.กล่าวเปิด จากนั้นพัฒนาการอำเภอบรรยายแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามด้วยพัฒนากรในระดับรองลงมาบรรยายในประเด็นเทคนิคและการทำงาน และสุดท้ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยแสดงความคิดเห็นและสรุปกิจกรรมทางเลือก

ผลการประชุมครั้งนี้ ปรากฏว่ากลุ่ม/ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดเป็นครัวเรือนตัวอย่างตามคุ้มบ้าน มีหัวหน้าคุ้มคอยดูแลให้ดำเนินงานตามแผน และมีคณะกรรมการปฏิบัติการแก้จนคอยตรวจสอบและให้คำปรึกษา มีการให้คำปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านดอน เราสามารถพิจารณาผ่านแง่มุมต่างๆของการพัฒนา เช่น วาทกรรมเรื่องการทำงานกลุ่มและการมีส่วนร่วม ซึ่งมาพร้อมๆกับการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง การทำงานกลุ่มถูกมองว่าเป็นการสร้าง/แสดงออกถึงศักยภาพของชุมชนในการพัฒนา แต่การพัฒนาชนบทที่ผ่านมาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านให้กลายเป็นปัจเจกชนในระบบตลาด การส่งเสริมการรวมกลุ่มจึงเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ราบรื่นของกิจกรรม และกล่าวโทษชาวบ้าน การมีส่วนร่วมก็เช่นเดียวกันในทางปฏิบัติเป็นการมีส่วนร่วมในกรอบนโยบาย หรือแผนที่มีอยู่แล้วจึงเป็นการมีส่วนร่วมทำ มากกว่าร่วมคิด

ขณะเดียวกัน การประชาคมซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วม กลับประกอบไปด้วย”พิธีกรรม” ที่ตอกย้ำระดับชั้นทางอำนาจ ระหว่างผู้พัฒนา/ผู้ถูกพัฒนา มากกว่าสร้างความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ผลก็คือ กิจกรรมกลุ่มที่บ้านดอนไม่ประสบผลตามเป้าที่วางไว้ กิจกรรมไม่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านเท่าที่ควร และชาวบ้านยิ่งกลายเป็นผู้มีปัญหา รอคอยความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น

ระบอบแห่งความกลัว เป็นผลจากกระบวนการสร้างความกลัวจากปฏิบัติการหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่ การใช้ความรุนแรง การกล่าวหา และการจับจ้องมอง ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในการพัฒนาชนบทยุคสงครามเย็น

ในบ้านดอน กลไกของรัฐใช้การจับจ้องมองในการสร้างความกลัว ไม่ว่าจะเป็นการที่หัวหน้าคุ้ม/คณะกรรมการปฏิบัติการแก้จนคอยติดตาม ตรวจสอบ รายงานข้อมูล และการปฏิญาณตนที่จะปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งหมดนี้ มีผลทางจิตวิทยาต่อชาวบ้าน ส่งผลในการควบคุมชาวบ้านอย่างได้ผล

การสร้างภาพแทนความจริง เป็นการสร้างภาพพจน์ของสิ่งต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจบางอย่าง ซึ่งส่งผลต่อความคิด/พฤติกรรมของคน การสร้างภาพแทนความจริงจึงเป็นการสร้างความหมายเพื่อให้เกิดอำนาจในการควบคุม ที่บ้านดอน พัฒนาชุมชนใช้เครื่องมือนี้ในการผลักดันเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านแผนชุมชนที่มีงบประมาณสนับสนุน เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เขียนป้ายประชาสัมพันธ์ แต่เนื่องจากความที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เปรียบเทียบกับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ที่สภาพหมู่บ้านและบริเวณบ้านสะอาดเป็นระเบียบ มีรั้วบ้าน แนวรั้ว/บริเวณบ้านปลูกผักและดอกไม้ แนวถนนมีป้ายคำขวัญเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหรือคติสอนใจ ภาพเหล่านี้คือภาพอุดมคติของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแสดงถึง ความมีระเบียบวินัย ความประหยัด ความร่วมมือ ความมีภูมิปัญญา แม้ว่าเบื้องหลังคือความอึดอัดของชาวบ้านที่รั้วกลายเป็นอุปสรรค

บ้านที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย/เก็บเครื่องมือทำมาหากิน ไม่มีได้มีไว้เพื่อรักษาให้เป็นระเบียบ/สวยงาม แต่ภาพนี้สื่อกับคนภายนอกที่ได้เห็น ขณะที่ประกาศย้ำให้ชาวบ้านดำเนินชีวิตในแบบอุดมคติ และทำให้เจ้าหน้าที่ได้ผลงาน ชนชั้นนำในหมู่บ้านได้รับคำชม ชาวบ้านได้ความภูมิใจและงบประมาณต่อไป

จากการวิเคราะห์ เราจะพบความสัมพันธ์ของวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในระดับชาติ กับภาคปฏิบัติในระดับหมู่บ้าน ที่เอื้อประโยชน์แก่กัน ทำให้เกิดความหมายและขยายพื้นที่แห่งความยินยอม ซึ่งเป็นผลจากอุดมการณ์ครอบงำ ผ่านการโหมประชาสัมพันธ์ การใช้กระบวนการกลุ่ม การมีส่วนร่วม และความกลัวจากการจับจ้องมอง ความยินยอมและความกลัวทำงานประสานกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว ที่สำคัญมันขยายเข้าไปในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และปฏิบัติการในระดับมโนธรรมสำนึก เพราะปัญหาความยากจนกลายเป็นปัญหาทางศีลธรรม ความไม่พอเพียง ไม่ขยัน ผนวกกับปัญหาความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ

ผลก็คือ รัฐสามารถกลบเกลื่อนความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีมาอย่างยาวนานและแหลมคมขึ้นทุกขณะได้อย่างสงบราบคาบ ชนชั้นปกครองสามารถสืบทอดความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และยิ่งควบคุมและใช้ประโยชน์จากชนบทได้มากขึ้นอีก ดังเราจะเห็นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะมี การเมืองของการกล่าวหาและควบคุมชนบทขนานใหญ่ ในประเด็นการซื้อสิทธิขายเสียง

สำหรับชาวบ้านก็คือความขัดแย้ง/ตึงเครียดในสำนึกตัวเอง ชีวิตต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือฟันฝ่ากับปัญหาเศรษฐกิจในชีวิตจริง อีกส่วนหนึ่งคือแบกรับการสร้างโลกแห่งความฝันเศรษฐกิจพอเพียงกับเจ้าหน้าที่

เมื่อมองภาพกว้างออกไป เราจะพบอาณาจักรแห่งความยินยอมและความกลัวทะมึนเหนือสังคมไทย กรณีทหารเข้ามามีบทบาทในการจัดการในกรณีเขื่อนปากมูลหรือกรณีอื่นๆ ในนามศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหาความยากจนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) การพยายามต่ออายุกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน การรักษาพื้นที่กฎอัยการศึก การผลักดัน พรบ.ความมั่นคงฯ พรบ.คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

กล่าวถึงที่สุด ยุคนี้อาจเป็นยุคที่ความยินยอมและความกลัวทำงานประสานกลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียวอย่างถึงที่สุด และชนบทหรืออาจทั้งสังคมไทยถูกสะกดให้สยบยอมมากกว่ายุคใดๆ

000


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา


งานของอาจารย์พฤกษ์ ทำให้เราเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงวางอยู่บน 2 ขา คือ หนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงปฏิเสธที่จะตอบปัญหาของระบบทุนนิยมที่ดำรงอยู่ในชนบท เช่น การที่ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรองกับระบบตลาด ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการไม่มีที่ทำกินของเกษตรกร หรือปัญหาที่เกิดจากการบังคับสร้างความเป็นกลุ่ม/ชุมชน ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียด และกล่าวโทษชาวบ้านอย่างที่ อาจารย์พฤกษ์ได้กล่าวไปแล้ว

เศรษฐกิจพอเพียงได้ทำให้พื้นที่เรื่องเศรษฐกิจกลับไปอยู่ที่ครอบครัว/ปัจเจกบุคคล หรือกล่าวได้ว่าเป็นการโยนความผิดทางเศรษฐกิจไปสู่เหยื่อทางเศรษฐกิจ หรือคนจน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคของสฤษฎิ์ (ธนะรัชต์) และถนอม (กิตติขจร) ก็พูดตลอดว่า ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน การที่เศรษฐกิจพอเพียงโยนภาระของคนชนบทไปที่คนชนบทเอง เป็นสิ่งที่รัฐไทยทำมาโดยตลอด

สอง การใช้ความรุนแรงบังคับ งานของ อาจารย์พฤกษ์ ทำให้เราเห็นสถานภาพของเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อลงสู่หมู่บ้านว่า มีมิติของความรุนแรงคล้ายสิ่งที่รัฐไทยเคยทำในยุคที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนฝ่ายซ้าย สิ่งที่จะเสนอเพิ่มคือ ควรมีการศึกษาต่อให้มากขึ้นว่าการใช้ความรุนแรงทางนามธรรมในลักษณะที่ยกมา เช่น การลงชื่อ การให้คำปฏิญาณตน เป็นรูปแบบในการทำให้ชาวบ้านรับเศรษฐกิจพอเพียงในหลายพื้นที่หรือไม่ ถ้าเป็นจริงแสดงว่าการที่มีหลายหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเกิดจากการบังคับซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของอำนาจและความรุนแรง อีกประเด็นที่จะเพิ่มเติมก็คือ อาจต้องอธิบายให้เห็นมากขึ้นว่า ความรุนแรงในลักษณะที่ยกมานำไปสู่ปัญหาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่แตกต่างจากการใช้ความรุนแรงทางกายภาพมากน้อยแค่ไหน

ประเด็นที่น่าอภิปรายเพิ่ม คือ การประเมินสถานภาพของเศรษฐกิจพอเพียง คนจำนวนมาก ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะพิจารณาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ แต่จากประเด็นที่ อาจารย์พฤกษ์ เสนอ มีแง่มุมที่พูดถึงความพยายามของรัฐไทยที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชาวบ้าน/ชุมชน ซึ่งเป็นความต่อเนื่องของสิ่งที่รัฐไทยทำมาโดยตลอดในยุคการพัฒนาประเทศ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระบรมราโชบายหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จริงๆ หรือ เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ และการตอบคำถามนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะนำไปสู่การคิดทางการเมืองที่มีความแตกต่างกัน

ประเด็นต่อมาคือ เศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มทุน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทุนศักดินา และกลุ่มทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ เราอาจไม่เข้าใจความขัดแย้งของ 2 กลุ่มนี้ชัดเจนมากนักถ้าเรามองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่เรื่องของอุดมการณ์หรือการครองความเป็นใหญ่ทางความคิด(Hegemony) อย่างที่ อาจารย์พฤกษ์ เสนอไว้ เราอาจต้องคิดถึงเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นวาทกรรมทางเศรษฐกิจ/การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 ที่พยายามอธิบายว่าโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง และสังคมไทยจะต้องจัดการตัวเองในกรณีนี้อย่างไร

ในแง่นี้ เราอาจคิดว่า ความขัดแย้งระหว่างแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกับประชานิยม เป็นการพยายามตอบปัญหาว่าสังคมไทยหลังปี 2540 ควรจะเดินไปในทิศทางไหน เป็นไปได้ว่าสถานภาพของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับการยอมรับไม่ได้สะท้อนถึงพระราชอำนาจนำ แต่สะท้อนถึงกรอบหลักๆในการถกเถียงทางเศรษฐกิจทางการเมืองของสังคมไทย ซึ่งถูกกำหนดด้วยวาระของสังคมที่เพิ่งเผชิญกับการล้มละลายในปี 2540 และทุกวันนี้ปัญหานี้ก็ยังรบกวนสังคมไทยอยู่

ประเด็นสุดท้าย คือ ความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐกิจพึ่งตนเอง อย่างน้อยแนวทางเศรษฐกิจพึ่งตนเองก็พยายามพูดถึงปัญหาที่เกิดจากระบบตลาด การไม่มีที่ดินของเกษตรกร แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยของเศรษฐกิจพอเพียงปัญหานี้ไม่มีการพูดถึงเลย จุดเปลี่ยนที่ทำให้คำอธิบายของชนบทจากแนวทางเศรษฐกิจพึ่งตนเองไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร อะไรทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดิน เต็มไปด้วยหนี้สิน เชื่อว่าตัวเองจนเพราะเป็นคนไม่ดีมาได้เรื่อยๆ นำไปสู่ปัญหาที่ อาจารย์พฤกษ์ พูดไว้ คือเรื่องของการครองความเป็นใหญ่ทางความคิด ซึ่งหมายถึง การทำให้คนจน/ชนชั้นล่างรู้สึกบางอย่างในลักษณะที่มองไม่เห็นความเป็นจริง และใช้เงื่อนไขของการสร้างความเป็นจริงผ่านภาษาหรืออะไรต่างๆ เพื่อให้คนจนยอมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ตัวเองเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา ภาพหมู่บ้านที่ อ.พฤกษ์ นำเสนอ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เศรษฐกิจพอพียงพยายามจะบอกเรา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างนี้มีส่วนเกื้อหนุนกับความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม หรือความยากจนอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้าง


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/10391

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ