ก่อนเกิดรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เพียงไม่นาน ศาสตราจารย์ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เสนอความเห็นไว้ในบทความ “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand.” (ตีพิมพ์ใน The Pacific Review. 18, 4 (December 2005): pp.499-519.) ว่าแนวคิดและวิธีอธิบายแบบเดิมที่ใช้กันมาอย่างกว้างขวาง เช่น แนวคิดว่าด้วยระบบรัฐราชการ, กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการปฏิรูปการเมือง ล้วนแต่ล้มเหลวในการอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย ตรงกันข้าม การเมืองไทยปัจจุบันสามารถทำความเข้าใจได้อย่างดีด้วยมุมมองแบบ “เครือข่ายทางการเมือง” ของชนชั้นนำที่มีบทบาทอย่างสูงในช่วงระหว่างพ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๔๔ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในพระราชวัง ซึ่งแมคคาร์โกนิยามว่า "เครือข่ายราชสำนัก" (Network monarchy)
เครือข่ายนี้เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายราชสำนักได้สร้างอิทธิพลอย่างมากมาย แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงขั้นครอบงำประเทศได้ทั้งหมด ตรงกันข้ามราชสำนักต้องทำงานผ่านสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ โดยมีท่าทีของคณะรัฐบาลและรัฐสภาเป็นตัวแปรสำคัญ แม้โดยพื้นฐานเครือข่ายราชสำนักจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมเสียส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็จะแสดงบทบาทเป็นฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยในบางครั้งที่ได้ประโยชน์จากกลไกภายในระบบ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างพ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๔๒ ซึ่งก่อนหน้านั้นนับแต่ระยะหลังปีพ.ศ.๒๕๑๖ จนถึงตลอดทศวรรษ ๒๕๒๐ เครือข่ายนี้จะให้การยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและเป็นเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร จนถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ในช่วงที่รัฐไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา พล.อ.เปรม รับบทบาทเป็นตัวแทนของราชสำนักในการสร้างสมดุลของอำนาจ และคอยจัดระบบการเมืองให้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของเครือข่าย อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอบางประการที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปีพ.ศ.๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ พ.ต.ท.ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยแทนที่เครือข่ายราชสำนักด้วยเครือข่ายใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้น นำมาซึ่งความขัดแย้งและวิกฤติของเครือข่ายและอำนาจของราชสำนัก
เช่นเดียวกับกรณีหนังสือ “The King Never Smiles” ของพอล แฮนลีย์ (Paul Handley) และกรณีนิตยสาร The Economist (ฉบับวันที่ ๖-๑๒ ธันวาคม ๒๐๐๘/๒๕๕๑) เมื่อไม่นานมานี้ แมคคาร์โกได้เสนอข้อเท็จจริงที่ยากแก่การโต้แย้ง โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงการเมืองของฝ่ายสถาบัน ซึ่งมีผลทำให้แนวคิดเรื่องการเป็นกลางและอยู่เหนือความขัดแย้ง กลายเป็นเพียงนิยายสร้างภาพผิดไปจากความจริงเท่านั้น การแบนงานสองเล่มหลังของทางการไทย ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอผ่านงานเหล่านี้ลดน้อยลงไปได้เลย ต่อให้เราไม่เห็นด้วย ก็ยากจะปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด บอกตามตรงว่าทุกวันนี้ผู้เขียนรู้สึกเจ็บอายอย่างไรบอกไม่ถูก จนไม่อยากเรียกตัวเองว่า “นักวิชาการ” เพราะเรื่องซึ่งมีความสำคัญต่อบ้านเมืองตัวเองขนาดนี้ กลับไม่มีปัญญาจะพูดจะเขียนได้มากนัก ต้องให้นักวิชาการและสื่อต่างประเทศเขาเสนอขึ้นมาก่อน แต่ก็ต้องขอบใจนักวิชาการและสื่อต่างประเทศเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ต่อข้อเสนอของแมคคาร์โก ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอยู่ ๓ ประเด็น แต่ดังที่กล่าวข้างต้นประเด็นแย้งของผู้เขียนไม่มีผลต่อส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงในตัวงาน แต่มีผลเฉพาะมุมมองการวิเคราะห์ที่แมคคาร์โกนำเสนอเท่านั้น การโต้แย้งของผู้เขียนในที่นี้ เป้าหมายจะอยู่ที่การชี้ให้เห็นภาพกว้างของเครือข่ายราชสำนัก และทบทวนดูลักษณะ “ความเป็นเครือข่าย” ของราชสำนักให้ขยายขอบเขตในการศึกษาขึ้นใหม่ ประเด็นทั้ง ๓ ของผู้เขียนมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
(๑) ๒๕๑๖ หรือ ๒๕๒๕ : ปีฐานเดิมที่แมคคาร์โกให้ไว้คือ ๒๕๑๖ นั้นไม่ลงรอยกับการประเมินใหม่ หากนำเอาตัวแปรสำคัญอีกหนึ่งที่แมคคาร์โกไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ได้แก่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในชนบทระยะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ความหมายก็คือการมีอยู่ของพคท. ในช่วงหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึงระยะป่าแตกช่วงปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับสถาบันยังคงมีพื้นที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากกรอบของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ขนานใหญ่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งจะวิวัฒน์เป็นฐานรากของปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม เกิดหลังจากที่พคท. ยุติบทบาทการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ อย่างน้อยที่สุดก่อนหน้านั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังคงสมานฉันท์กับกำลังสำคัญจากฝ่ายเสรีนิยม เพื่อประโยชน์ในการต่อต้านพคท. และแนวสังคมนิยม ตรงนี้มีความสำคัญหากจะยืนกรานในประเด็นว่า เครือข่ายราชสำนักเป็นเครือข่ายของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่ต้องการครอบงำเหนือกลไกรัฐและพื้นที่ของฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่หากไม่ยืนกรานในประเด็นนี้ ๒๕๑๖ ก็ยังเป็นปีฐานที่ถูกต้องของแนวคิดเครือข่ายราชสำนักของแมคคาร์โก แต่จะไม่สามารถอธิบายเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในระยะหลังมานี้ได้เลย
(๒) ลื่นไหล ยืดหยุ่น หรือแข็งกระด้าง : แมคคาร์โก อธิบายลักษณะสำคัญของเครือข่ายราชสำนักว่า “ไม่ได้เป็นระบบที่ตายตัว แต่มีรูปแบบและวิธีการทำงานที่ลื่นไหล สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การกำหนดคุณลักษณะหรือแยกประเภทให้ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยาก จึงมักถูกมองข้ามอยู่เรื่อยมา” และ “เนื่องจากการเมืองตามรูปแบบถูกครอบงำโดยพวกนายทุน เครือข่ายราชสำนักจึงเสนอทางเลือกในการชูวาระทางการเมืองแบบก้าวหน้า สำหรับพวกเสรีนิยม เครือข่ายราชสำนักก็คือการปกครองแบบมีผู้คุ้มกันอยู่อีกต่อหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับบรรยากาศการเมืองแบบเสรีนิยม ขณะเดียวกันเครือข่ายราชสำนักก็ไม่ได้เป็นพวกเสรีนิยมไปทุกส่วน พระมหากษัตริย์ยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด ทหาร กระทรวงกลาโหม และกลุ่มการเมือง เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (รวมถึงตชด. และตุลาการด้วย – ผู้อ้าง) เครือข่ายราชสำนักไม่ได้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งอย่างเร่งด่วน เครือข่ายราชสำนักนั้นยืดหยุ่นโดยเนื้อแท้”
คำถามก็คือ แล้วเหตุใด ? เครือข่ายราชสำนักจึงไม่สามารถปรับตัวเมื่อการเมืองแบบเสรีนิยมขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี หากเครือข่ายราชสำนักมีความลื่นไหลและยืดหยุ่นดังที่แมคคาร์โกกล่าว ทั้งที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมประสบความสำเร็จในการครอบงำความคิดเสรีนิยมผ่านการสร้างนิยายว่าด้วย “ประชาธิปไตยแบบไทย” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหากรณีการสืบราชสมบัติ เครือข่ายราชสำนักก็หาได้ยืดหยุ่นหรือเปิดกว้างพอที่จะรับมือกับปัญหาความไม่แน่นอนของอนาคตเช่นนี้ได้ ความสำเร็จในปลายรัชกาลปัจจุบันถูกประเมินเป็นเรื่องเฉพาะพระองค์ไม่สามารถส่งผ่านสู่อีกรัชกาลถัดไป มาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัญหาข้างต้น กลับทำราวกับว่าเครือข่ายนี้จะนำสังคมให้หมุนย้อนกลับสู่ยุคก่อนสมัยใหม่ ที่ปัญหาการสืบราชสมบัติมักนำมาซึ่งการประหัตประหารกันครั้งใหญ่ จนเกิดความคิดอันแปลกประหลาดในหมู่ชนชั้นนำไทยปัจจุบันที่จะยึดเอากลไกรัฐไว้เป็นเครื่องมือปราบปรามการต่อสู้ของประชาชนที่ไม่เห็นพ้องกับรัชกาลถัดไป ฉะนั้นในแง่นี้แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงยังไม่มีทางที่จะถูกยกเลิกไป ตราบที่ชนชั้นนำยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและความเชื่อต่ออนาคตที่เลยพ้นไปจากกรอบปัญหาอันนี้
ความพยายามของกลุ่มกษัตริย์นิยมในอดีต ที่จะล้มระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร สถาปนาระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” กลับเป็นบทเรียนอันไร้ความหมายในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต กลายเป็นว่า “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงมันอีกต่อไป ความอยู่รอดของสถาบันมีค่าเหนืออื่นใด รวมทั้งความเสียหายอันเกิดจากการรัฐประหารของคณะนายทหารที่อ้าง “ทำเพื่อสถาบัน” และการกระทำอันป่าเถื่อนโดย “ม๊อบเพื่อสถาบัน” ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงมันอีกต่อไป ประเทศและประชาชนเดือดร้อนกันเท่าไรก็ช่างหัวมันปะไร สถาบันเป็นใหญ่ในแผ่นดินใครก็รู้...
(๓) เครือข่ายกับอำนาจ : เมื่อเลือกจะมองจาก “เครือข่าย” ซึ่งเป็นวิธีมองความสัมพันธ์แบบแนวนอน คำถามก็คือ ในเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่าง ๆ ในเครือข่ายราชสำนักไม่ได้เป็นไปโดยเท่าเทียมเสมอภาค แต่อิงอยู่กับสถานภาพทางชนชั้น เป็นความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง เครือข่ายราชสำนักยังจะคงความเป็นเครือข่ายมาตรฐานอยู่หรือไม่ ? ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะความเป็นพระประมุขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เครือข่ายราชสำนักสามารถระดมความช่วยเหลือจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมนี้ได้กว้างขวาง เมื่อเทียบกับเครือข่ายอื่น ๆ ลักษณะเฉพาะตรงนี้อาจขยายกว้างจนทำให้เครือข่ายนี้หลุดไปจากความเป็นเครือข่ายมาตรฐานก็ได้ สมมติว่าคุณ (ผู้อ่านหรือใครก็ได้) มีความสัมพันธ์รู้จักมักคุ้นกับนาย ก. นาย ข. ฯลฯ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่านาย ก. นาย ข. จะเชื่อถือในตัวคุณ จนคุณสามารถสั่งหรือขอให้เขาช่วยทำอะไรให้ก็ได้ แต่ในกรณีเครือข่ายราชสำนักไม่ได้เป็นอย่างนั้น แมคคาร์โกเองก็เสนอว่าดูเหมือนกลุ่มต่าง ๆ เองก็ยินยอมพร้อมใจที่จะให้การสนับสนุนเครือข่ายราชสำนักอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เครือข่ายราชสำนักมี “ทุนทางวัฒนธรรม” รองรับในระดับที่จะไม่มีในเครือข่ายอื่น
ในเมื่อเครือข่ายราชสำนักไม่ได้เลยพ้นประเด็นเรื่องของอำนาจและความสัมพันธ์แนวดิ่ง รวมถึงการอิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์และสำนึกแบบไพร่ ก็น่ากลัวว่าความเป็นเครือข่ายของเครือข่ายราชสำนักอาจต้องหมดสิ้นไปเช่นกัน มี “เครือข่าย” ไม่เท่ากับมี “อำนาจ” แต่มี “อำนาจ” ก็ไม่จำเป็นต้องมี “เครือข่าย” อำนาจมีที่มาหลากหลายกว่านั้น ระหว่าง “อำนาจ” กับ “เครือข่าย” ในกรณีไทยแล้วอย่างแรกดูเป็นจริงยิ่งกว่าอย่างหลัง เป็นที่รู้กันว่าสถานะทางอำนาจของสถาบันมีมาก่อน ๒๕๒๕ รวมทั้ง ๒๕๑๖ (ในกรณีแมคคาร์โก) โดยนับย้อนกลับไปได้ถึงระยะหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งเท่ากับว่า “อำนาจ” เช่นนี้มีมาก่อนจะก่อรูปเป็น “เครือข่าย” และสถานะทางอำนาจนี้ได้รับการนิยามโดยนักวิชาการไทยว่า “พระราชอำนาจนำ” นั่นเอง
การที่เครือข่ายราชสำนักสร้างความเป็นศัตรูกับเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะไม่นานมานี้ จะโดยล่วงรู้หรือไม่ก็ตาม ก็มีส่วนทำให้ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมดูเป็นจริงเป็นจังและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอาจต้องจบลงที่การต่อสู้กันบนท้องถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากกลไกรัฐและพื้นที่เดิมที่เป็นของฝ่ายเสรีนิยมถูกยึดกุมและทำลายลงอย่างหมดสิ้น พวกเขาจะไม่มีทางเลือกนอกจากต่อสู้ร่วมกับประชาชนบนท้องถนน และหากเสรีนิยมถูกบีบคั้นให้ต่อสู้อย่างถึงที่สุด กลุ่มก้าวหน้าส่วนต่าง ๆ ของสังคม (ซึ่งเคยเป็นพลังสำคัญของขบวนการสังคมนิยมและการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนทั้งหลาย) ตลอดจนประชาชนรากหญ้าหรือนัยหนึ่งคือพลเมืองของรัฐประชาธิปไตย จะให้ความสนับสนุนฝ่ายเสรีนิยมอย่างเต็มที่ เพราะเป็นผลประโยชน์ของพวกเขาเองด้วย และหากสถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินไปจนถึงขั้นนั้นแล้ว จากประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของทุกแห่งในโลกล้วนยืนยันแก่เราว่า ไม่มีประชาชนประเทศไหนเลยซักแห่งจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในท้ายสุด การพยายามยึดกุมและทำลายกลไกรัฐและพื้นที่ต่าง ๆ ในระบอบเสรีนิยมที่กำลังดำเนินอย่างเข้มข้นอยู่นี้จึงเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายของชนชั้นนำไทยเองโดยแท้!
หลักประกันความอยู่รอดของสถาบันจริง ๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ที่การยึดกุมกลไกรัฐและการครอบครองพื้นที่ของฝ่ายเสรีนิยมเลยแม้แต่น้อย เพราะนั่นจะเท่ากับเป็นการทำลายล้างระบบประชาธิปไตยไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จนอาจทำให้ประชาชนต้องออกมาต่อสู้ด้วยธงของเสรีนิยม (ซึ่งถูกทำให้เป็นศัตรูกับฝ่ายสถาบันไปแล้ว) อันตรายอย่างแท้จริงที่จะเกิดแก่สถาบันและทุกกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องอยู่ตรงจุดนี้ ทางออกที่ถูกต้องควรจะเป็นการหันมาปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ คืนสิทธิและเสรีภาพตามระบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็วต่างหาก ไม่ใช่จะทำลายระบบนี้ให้อ่อนแอหรือพยายามจะเอาระบบเก่าที่พังพ่ายไปนานแล้วมาแทนที่ เป็นไปไม่ได้ที่ประวัติศาสตร์จะหมุนย้อนกลับเช่นนั้น เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงข้อนี้กันเสียที ไม่เช่นนั้น อาจสายเกินจะแก้ไขอะไรไปแล้วก็ได้...
กล่าวโดยสรุป ข้อจำกัดของประเด็นถกเถียงที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอในที่นี้ สามารถประมวลภาพรวมได้ว่า เป็นการเปิดข้อถกเถียงในประเด็นว่า เครือข่ายราชสำนักมีประวัติที่มาและคุณลักษณะสำคัญอย่างไร ? ไม่ได้ตั้งคำถามถอนรากว่ามีเครือข่ายราชสำนักดำรงอยู่ในการเมืองไทยจริงหรือไม่ ? และกล่าวสำหรับแมคคาร์โกนั้น หากตัวบทในงานของท่านที่ผู้เขียนหยิบยกมาโต้แย้งไม่ได้สอดคล้องกับความหมายที่ท่านต้องการจะสื่อ ผู้เขียนก็ขออภัยไว้ในที่นี้เป็นอย่างยิ่ง.
กำพล จำปาพันธ์
ที่มา : ประชาไท : กำพล จำปาพันธ์: เมื่อชนชั้นนำไม่ต้องการประชาธิปไตย
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551
เมื่อชนชั้นนำไม่ต้องการประชาธิปไตย
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:56 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
2 ความคิดเห็น:
เป็นธรรมดาที่คนสามารถคิดต่างกันได้ แต่อยากให้สำนึกว่าในหลวงทรงงงานมาตลอดชีวิต ก็เพราะอยากให้ประเทศชาติเราอยู่ดีมีสุข
ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น