วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ในที่สุด อำนาจฝ่ายเลือกตั้ง ก็กลับมาได้อย่างจำกัด ได้ปีเดียว (ไม่ครบปีนักด้วยซ้ำ)


วันนี้ระหว่างขับรถกลับบ้าน ผมนั่งนึกไปว่า ในที่สุด ทักษิณก็สามารถ "กลับมา" ได้อย่างจำกัดมากๆเพียงปีเดียว ไม่ครบปีนักด้วยซ้ำ คือนับจากเลือกตั้ง 23 ธันวา (ตั้งรัฐบาลจริงช่วงปีใหม่)

ผมนึกไปถึงว่า ช่วงปีที่แล้ว หลังจากความล้มเหลวในการบริหารงานของ รัฐบาลสุรยุทธ และหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้ง (และการได้เสียงมากในการลงมติ รธน.) มีบางคนรู้สึกว่า "คมช. แพ้แล้ว" หรือ "รัฐประหาร 19 กันยา แพ้ / ล้มเหลว"

ตอนนั้น ผมได้เขียนกระทู้เสนอว่า
ขึ้นอยู่กับว่า วัดกันตรงไหน ทีว่า "แพ้" หรือ "ชนะ"

ถ้านับว่า รัฐประหาร 19 กันยา ได้ล้มรัฐบาลเลือกตั้งที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั่วประเทศอย่างมหาศาล (แม้จะถึงช่วง รปห. เสียงสนับสนุนนี้ ก็ยังมากอยู่ในระดับทั่วประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้) ล้มรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และแบน นักการเมืองสำคัญๆของพรรคนี้ 5 ปี ทั้งยัง ในที่สุด สร้างรัฐธรรมนูญ ที่วางโครงสร้าง ที่เป็นหลักประกันว่า อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ใช่อำนาจที่เข้มแข็งอีก และอำนาจของตุลาการ วุฒิสมาชิกแต่งตั้ง ที่อยู่เหนือการควบคุมของประชาชน จะมีบทบาทสำคัญต่อไป

อันที่จริง แม้แต่เรื่อง งบประมาณทหาร, การที่อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารหลุดจากมือรัฐบาลเลือกตั้ง การที่รัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อกับทหาร แม้จะเลือกตั้งมา - นึกถึงสมัคร ต้องเอาอนุพงษ์ไปไหนมาไหนด้วยในเดือนแรกๆ เพื่อป้องกันการยึดอำนาจ และต้องปล่อยให้อนุพงษ์จัดการโยกย้ายตำแหน่งอย่างเสรี


ถ้ามองในแง่นี้ รัฐประหาร 19 กันยา และ คมช.
ก็ได้รับชัยชนะอย่างใหญ่หลวง อย่างไม่ต้องสงสัย

ในแง่นี้ การที่นักวิชาการอย่างเกษียร ยังคงพูดถึงการ "ไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว" ราวกับว่า ทั้ง "2 ขั้ว" อยู่ในฐานะ และดุลย์กำลังที่ใกล้เคียงกันนั้น จึงนับเป็นการมองที่ "หลี่ตาข้างหนึง" โดยแท้ (เกษียรใช้คำว่า "หลับตาข้างหนึ่ง" มาวิพากษ์คนที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของเขา ผมเลียนแบบ และ return the compliment!)


1 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลสะเทือนของชัยชนะของพวกรัฐประหารมีมากกว่าที่คิดกันเมื่อปีที่แล้ว

อีกอย่างที่ผมนึกย้อนไปในปีที่ผ่านมา คือ ตลอด 1 ปีนี้ กล่าวได้ว่า รัฐบาล แทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะต้องเป็นฝ่ายรับมือกับการรุกอย่างหนักของ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" และที่สำคัญคือ เรื่องใหญ่ๆ ที่ฝ่าย "พลังเทวดาอุปถัมภ์" เป็นฝ่ายรุก 2 เรื่อง ล้วนเป็นเรืองเกี่ยวพันหรืออิงกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ โดยตรงโดยอ้อม คือ กรณีจักรภพ และ กรณีเขาพระวิหาร

ทั้ง 2 กรณีนี้ ได้ทำให้กำลังรัฐบาลอ่อนลงไปอีกมาก เพราะผลจากรัฐประหารเช่นกัน ทำให้ คนที่ขึ้นเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 23 ธันวา เป็นนักการเมือง "ระดับมือรอง" ลงมา (หรือที่สมัครใช้คำว่า "ขี้เหล่หน่อย") ทั้งกรณีจักรภพ และ เขาพระวิหาร ได้ทำให้นักการเมืองทีค่อนข้างมีความสามารถหรือมีศักยภาพมากที่สุด 2 คน ต้องหลุดจากตำแหน่งไปอีก


และในที่สุด ผมนึกถึง ช่วงกลางปี ที่บรรดานักวิชาการทั้งหลาย ที่สำคัญ รวมถึงพวก ที่อ้างว่า "เป็นกลาง" หรือ "ไม่เอาทั้งสองขั้ว" ทั้งหลาย เช่น สมชาย อรรถจักร ประภาส นฤมล ฯลฯ ฯลฯ ออกมาโวยวาย เรื่อง "เราต้องหาทางออกจากการเมือง 2 ขั้ว" เมื่อรัฐบาลเสนอแก้รัฐธรรมนุญ ก็พวกนี้ แหละ ที่ออกมาประสานเสียงกับ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" ทำนองว่า "ไม่เห็นด้วยที่จะเป็นการช่วยพวกตัวเองให้พ้นผิด เป็นการเห็นแก่ตัว ต้องพยายามให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม"

และก็เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร สิ่งที่นักวิชาการที่ "เป็นกลาง" ที่อ้างเรื่อง "ก้าวให้พ้นการเมือง 2 ขั้ว" ทั้งหลาย สามาารถ contribute ได้จริงๆ คือ ทำให้ขั้วรัฐบาลอ่อนแอลงไปอีก และช่วยให้ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" เข้มแข้งขึ้นอีก (เช่นเดียวกับที่เกิดขึนในปี 49)

และ ในด้านกลับกัน ในที่สุด เมื่อพวก "พลังเทวดาอุปถัมภ์" deliver the final blow ในรูปแบบของการ "ยุบพรรค" ทีเดียว 3 พรรค ปิดสนามบิน ทำให้ประเทศเป็นอัมมะพาต และ ใช้การแบล็กเมล์ ให้เกิดการรัฐประหารแอบแฝง ในรูปของ "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ("legality") ดังที่ได้เห็นกันในวันนี้

นักวิชาการที่อ้างเรื่อง "ก้าวพ้นการเมือง 2 ขั้ว" ทำอะไร? หรือ ทำอะไรได้บ้าง? คำตอบคือ เปล่าเลย

สรุปคือ เช่นเดียวกับปี 49 นักวิชาการเหล่านี้ ให้การช่วยเหลือกับ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" โดย "ไม่ตั้งใจ" หรือถ้าพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นคือ โดยที่ควรจะรู้ แต่แกล้งหลอกตัวเองว่า "ไม่ได้ทำ" "ความจริง คัดค้านทั้งสองฝ่าย" นั่นเอง


(ขออธิบายเพิ่มเติมหัวข้อเล็กน้อยว่า แน่นอนว่า ประชาธิปัตย์เอง ความจริง มีฐานอยู่ทีการเลือกตั้ง แต่ใน 3 ปีนี้ พรรคนี้ ในทางเป็นจริง ทำตัวเป็น "โฆษก" หรือกระบอกเสียง ให้กับ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" ล้วนๆ ในทุกๆเรื่อง การขึ้นสู่อำนาจครั้งนี้ ก็อาศัยการแบล็กเมล์ของ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" ช่วยเป็นหลัก .. ลักษณะที่เหมือน paradox นี้ จะนำมาสู่อะไร เมื่อพรรคนี้ ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล? ผมยังไม่มีไอเดีย ต้องขอเวลาคิดนานกว่านี้)


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : ในที่สุด อำนาจฝ่ายเลือกตั้ง ก็กลับมาได้อย่างจำกัด ได้ปีเดียว (ไม่ครบปีนักด้วยซ้ำ)

ไม่มีความคิดเห็น: