วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วาทกรรม "กษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิปดี" มาจากไหน?


ผมเคยได้ยิน ส.ศิวรักษ์ บอกว่า "กษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิปดี" และแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ก็เชื่อว่าระบอบเก่าดีกว่าระบอบใหม่ คุณก๊วยเจ๋งก็เอามาใช้อ้างต่อว่าระบอบเก่า "ดีกว่า" ระบอบใหม่ ซึ่งคงได้รับอิทธิพลมาจากรอยัลลิสต์รุ่นใหญ่อย่าง อ.สุลักษณ์ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่า ชุดวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมแบบวัดค่า/เปรียบเทียบดังกล่าว มันเริ่มขึ้นมาเมื่อไหร่ และจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่พวกเชื้อพระวงศ์ในอดีต เคยใช้สนับสนุน อุดมคติของระบอบดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจพวกเขา อีกทั้ง ผมก็ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ขณะที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับการอ่าน TKNS ก็พบว่าความคิดเหล่านี้ มันปรากฎขึ้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งฝ่ายนิยมเจ้าตอบโต้คณะราษฎร์ เพื่อช่วงชิงการนำ/หวนคืนระบอบกษัตริย์

ผมคิดว่าการทำความเข้าใจการเมืองในปัจจุบันนี้ หากเราย้อนกลับไปช่วงต่อสู้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง ก็จะให้ภาพพลวัตการต่อสู้ทางการเมืองที่มีความสอดคล้อง และเป็นกระจกสะท้อนปรากฎการณ์สองยุคสมัยนี้ได้ดีทีเดียว

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในหลวง ร. 8 ขณะที่พวกเชื้อพระวงศ์พยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมเจ้า โดยสถาปนากษัตริย์ขึ้นตามคติธรรมราชาแบบสุโขทัย เจ้าคนหนึ่งคือ ธานีอ้างวาทกรรมของ มาลินอสกี (Malinowski) นักมานุษยวิทยาคลาสิคคนดัง ประเด็นหลักที่ผมอ่านแล้วเหมือนจะเป็นวาทกรรมชุดเดียวกับที่ ส.ศิวรักษ์พูดประโยคดังกล่าวที่ว่า "กษัตริย์ถูกว่าประธานาธิปดี" ซึ่งตอกย้ำว่าระบอบกษัตริย์เหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่าประชาธิปไตย แต่การประเมินค่าเรื่องนี้มันจริงหรือ?

ผมรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมศาสตร์ทางมานุษยวิทยา ถึงมักจะรองรับให้กับชนชั้นปกครองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ช่วยอเมริการทำลายศัตรู รวมทั้งการรองรับความชอบธรรมโครงสร้างอำนาจเดิมๆ เสมอ อาจเพราะว่าพื้นฐานการมองวัฒนธรรมแบบสัมพัทธ์มากเกินไปหรือเปล่า? ไม่แน่ใจว่าเคยอ่านเจอในบทความของใคร ว่าที่ประเทศจีนหลังปฏิวัติวัฒนธรรม พรรคคอมฯ สั่งยุบสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าเป็นศาสตร์ของพวกกระฎุมพี เหลือไว้แต่สาขามานุษยวิทยากายภาพเท่านั้น

เมื่อย้อนกลับมาที่ข้อความที่ ธานีอ้างถึงมาลิสนอสกี และพอล แฮนด์ลี ก็นำมาอ้างถึงในหนังสือ TKNS ของเขาดังนี้ครับ Malinowski กล่าวว่า


"สังคมที่ทำให้ขนบจารีตมีความศักดิ์สิทธิ์นั้น จะมีอำนาจและความสถาพรอย่างประเมินมิได้ ความเชื่อและการถือปฏิบัติที่ยังความศักดิ์สิทธิ์แก่จารีตจะมี "คุณค่าในเชิงการอยู่รอด" สำหรับอารยธรรมอันเป็นแหล่งพัฒนาการของความเชื่อและการถือปฏิบัติดังกล่าว...ทั้งนี้จะต้องซื้อหามาในราคาที่แพง และจะต้องรักษาไว้ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงเท่าไรก็ตาม"


ข้อความข้างต้น มาลินอสกีเห็นว่าวัฒนธรรมมนุษย์ที่สั่งสมในแต่ละสังคม เป็นพื้นฐานทางอารยธรรม เขาใช้คำที่เปรียบเปรยกับมูลค่าราคาโดยตรง น่าสังเกตว่า วาทกรรมที่ถูกอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบเก่านั้น ก็ไม่แตกต่างจากที่ อ.สุลักษณ์กล่าวบ่อยๆ เช่นกัน และแน่นอนว่าพวกนิยมเจ้า ก็ย่อมจะสร้างวาทกรรมที่พวกเห็นสอดคล้องกับแนวคิดพวกเขาอยู่แล้ว ซึ่งสุลักษณ์ อาจไม่ได้อ้างจากมาลินอสกีก็ได้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดโครงสร้าง-หน้าที่ในยุคของมาลินอสกี ก็ถูกวิพากษ์มาตลอดระยะที่ผ่านมาว่า มันหยุดนิ่งตายตัว ...การที่ยังมองโครงสร้างหลักที่ทำหน้าที่ "สอดคล้อง" ประสานกัน ช่วยธำรงสังคมให้เกิดดุลยภาพแบบนี้ ยังคงใช้ได้อยู่อีกหรือในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบัน และแนวคิดสังคมได้เปิดเผยถึง "วาทกรรมอำนาจ" ที่สร้างไว้กดหัวคนอื่นๆ แทนแล้ว

การจะกล่าวได้ว่า สิ่งใดก็ตาม "ถูกกว่า/ดีกว่า" "แย่กว่า/เลวกว่า" มันเป็นเรื่องของการประเมินคุณค่า และย่อมขึ้นกับว่าเราจะมีแนวคิดสอดคล้องสนับสนุนไปในทางไหนมากกว่ากัน แต่แน่นอน การประเมินระบอบการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งสังคม ย่อมต้องคำนึงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยของ "สภาพสังคมโลก" ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย ระบอบไหน จะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการณ์ และจะอยู่รอดได้ในระยะยาวได้มากกว่ากัน นั่นเป็นคำถามที่ควรจะต้องถกเถียงกันได้ มิใช่เพียงแค่โปรปกาดาฝ่ายเดียว ขณะที่ปิดปากฝ่ายไม่เห็นด้วยตลอดกาล

ระบอบเก่าจะราคาถูกกว่าจริงหรือไม่?? ขณะที่สังคมไทยในช่วงประวัติศาสตร์นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ประชาชนผู้ยึดมั่นในประชาธิปไตยต้องจ่ายให้กับระบอบเก่านี้ อย่างมหาศาล และระบอบเก่านี้ ก็ไม่ได้ "เชื่อง" ไร้เดียงสาน่ารักอย่างที่หลายๆ คนเคยคิด เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะชัดเจนในตัวมันเองเพียงพอแล้ว


Homo erectus


ที่มา : เว็บบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : วาทกรรม "กษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิปดี" มาจากไหน?

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในหลวงทรงเหนื่อยยากเพื่อชาวไทยทุกคน ขอพระองค์ทรงพระเจริญ