วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2550

บันทึกเรื่อง : เมื่อทหารหนุ่มถามหา อนาคตของประเทศ


หมายเหตุ
บันทึกเรื่อง *เมื่อทหารหนุ่มถามหาอนาคตของประเทศ* นี้ คัดมาจากตอน *ฉากคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง* อันเป็นตอนหนึ่งของอัตชีวประวัติเรื่องคน ๖๐ ปี ซึ่ง ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ ได้เขียนขึ้น

หนังสือเรื่องนี้พิมพ์เป็นครั้งแรกในวาระที่ท่านผู้เขียน คือ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นหนังสือ ๒ เล่ม และต่อมาได้นำมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในหนังสือคน ๙๐ ปี (หากภายในยังคงใช้ชื่อ \"เรื่องคน ๖๐ ปี\" เช่นเดิม) อันเป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้เขียน ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ในการคัดมาตีพิมพ์นี้ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้ยกย่อหน้าใหม่เสียบ้างเป็นบางที่ ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกแก่การอ่าน กับทั้งยังได้ตั้งชื่อตอนดังที่จั่วหัวไว้นั้นด้วย

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม



เมื่อทหารหนุ่มถามหา อนาคตของประเทศ


กรณี *เอาเรื่อง* ที่จะเกิดขึ้นก็โดยที่คืนวันหนึ่ง ในราวปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) คืนวันนั้นข้าพเจ้าเข้านอนแต่หัวค่ำ พอนอนเต็มตื่นราวเวลาตี ๑ เศษ ก็ลืมตาขึ้น พบ ๒ สหาย [นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ และนายร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ-บ.ก.] นั่งชนหัวสนทนากันด้วยเสียงแผ่วเบา พร้อมด้วยขวดสุราวางอยู่กลางโต๊ะ ส่วนเตียงข้างเคียง นายทหารเวรประจำการกำลังนอนหลับอยู่ นายทหารในกองปืนกลเวลานั้น มีคนที่ชอบนอนประจำไม่กลับบ้านก็คือคุณจรูญกับข้าพเจ้าเสียโดยมาก นอกนั้นพอเลิกงานแล้วก็กลับกันหมด ต่อรุ่งเช้าจึงมาทำงาน เพราะต่างก็มีบุตรภรรยาเข้าวัยครองเรือนด้วยกันแล้ว เว้นแต่ผู้ที่เป็นเวรจึงต้องนอนค้าง ฉะนั้นเตียงหนึ่งจึงต้องจัดเป็นของเวรประจำการ และคุณจรูญกับข้าพเจ้าบางคืนก็ต้องนอนด้วยกันหากมิใช่เวร คืนวัน *เอาเรื่อง* นั้น คุณจรูญมิใช่เวร ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเขาคงต้องการฆ่าเวลาให้เกิดความง่วงเสียก่อนจึงจะเข้านอน

เมื่อข้าพเจ้าเห็นเขาคุยทนเช่นนั้นแล้ว ก็ลุกไปชำระกาย โดยตั้งใจจะมาร่วมวงด้วย แต่ก่อนจะเข้าร่วมวง ข้าพเจ้าโดยอัธยาศัยมักจะขออนุญาตเสียก่อน พลางเล่นปนจริง จึงได้กล่าวขึ้นเป็นใจความว่า *มีเรื่องอะไรกันหรือ คุยอยู่จนดึกจนดื่น เข้าร่วมด้วยคนซิ* เขาทั้งคู่เงยหน้าขึ้นมองข้าพเจ้า พร้อมกับกล่าวรับรองต้อนรับตามเคย

แต่ครั้งนี้แทนที่จะคุยสนุกโปกฮา ดูสีหน้าตึงเครียดอย่างเอาจริงเอาจัง คนหนึ่งได้เริ่มคำพูดขึ้นว่า เรื่องเกี่ยวกับการบ้านการเมืองอยากจะร่วมด้วยก็เอา

ข้าพเจ้าซึ่งมีหัวคนหนุ่มอยากให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างอารยประเทศทั้งหลายอยู่แล้ว ทั้งประเทศเพื่อนบ้านคือจีนก็กำลังเกิดเก๊กเหม็งเกรียวกราว เป็นเหตุกระตุ้นเตือนหัวใจคนหนุ่มให้เร่งเร้าอยู่

ซึ่งเป็น *เรื่องของการเมืองหรือของโลก* มาอย่างนี้ทุกสมัยตามประวัติการณ์ ข้าพเจ้าจึงเข้าร่วมวง ขอทราบเหตุผลและวัตถุประสงค์ของเพื่อนต่อไป

เขาทั้งสองก็ผลัดกันสาธยาย เขากล่าวย้อนขึ้นไปถึงเรื่องเดิมตั้งแต่เราอยู่ ร. ๑๑ ในวังหลวงมาด้วยกัน เคยนำทหารไปตั้งแถวเกียรติยศหน้าพระที่นั่งจักรีอยู่เสมอ

ได้เห็นเหตุการณ์อันทหารถูกเหยียดหยามมาแล้วอย่างไรบ้างความเป็นไปในราชสำนักเป็นอย่างไร ความหมดเปลืองเงินแผ่นดินไปในทางมิชอบด้วยเหตุผลมีอย่างไร การแบ่งชั้นวรรณะในระหว่างบุคคลมีขึ้นอย่างไร ความเคารพนับถือบุคคลที่ทรงวัยวุฒิเสื่อมทรามอย่างเหลวแหลกอย่างไร ข้าราชการกำลังทำงานเอาแต่ตัวรอดไปวันหนึ่งๆ โดยมิได้คิดถึงประเทศชาติที่รักของเขาด้วยเหตุไร ราษฎรพลเมืองกำลังขาดแคลนความบำรุงในเรื่องการอาชีพและความสุขใจสบายกายสถานใดบ้าง เฉพาะชาวไร่ชาวนาหากธรรมชาติไม่ช่วยในปีใดก็หมดมือหมดเท้า บางคราวก็ถึงอดอยากยากแค้นทั่วๆ ไป แต่ส่วนภาษีอากรสิมีแต่เพิ่มทวีขึ้นทุกๆ ปี ไม่เคยปรากฏว่าได้ลดราวาศอกอะไรลงเลย มิหนำซ้ำบางครั้งยังถูกผู้รักษากฎหมายใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตของกฎหมายเสียอีก ย่อมเป็นความเดือดร้อนใจชนิดพูดไม่ออก ฯลฯ

ลักษณาการเหล่านี้ก็เนื่องจากการปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง มักกดการศึกษาของพลเมืองอยู่เสมอ เพื่อมิให้มีสติปัญญาฉลาดเทียมทันพวกเขา การปกครองประเทศ ถ้าใช้แบบหัวเดียวทำงานทั้งแผ่นดินมันจะสู้หลายหัวช่วยกันทำได้อย่างไร และทุกคนก็เป็นเจ้าของแผ่นดินโดยธรรมชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ ย่อมมีความรักประเทศชาติอันเป็นที่เกิดที่อยู่ของเขามาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เขาย่อมรักอย่างสุดชีวิต และคิดอยากจะให้เจริญรุ่งเรืองที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ดูแต่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเราสิ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งได้เปิดท่าคบค้ากับฝรั่งสมัยใกล้ๆ กับเรา แต่ความเจริญรุ่งโรจน์ได้ก้าวหน้าไปไกลลิบ แทบจะเปรียบกันไม่ได้เลย นี่เมืองจีนก็เอาอีกแล้ว ท่านหมอซุนได้กอบกู้ชาติพร้อมด้วยคณะอย่างไม่เกรงต่อความทุกข์ทรมานใดๆ และที่ตายไปแล้วก็ไม่น้อย ถ้าเทียบการกระทำของคณะเก๊กเหม็ง กับหากเราจะกอบกู้ชาติไทยของเราบ้างในขณะนี้ เราอาจจะทำได้ง่ายกว่ามาก เพราะพวกยโสกำลังลืมตัวสนิท ขอแต่ให้เราเป็นต้นคิด คิดแล้วอย่าท้อถอย ก็ต้องสำเร็จแน่ๆ ถ้าและเวลานี้พวกเรา-ทหาร-ไม่ทำ ใครเล่าจะกล้าลงมือทำ ค่าที่ไม่มีอาวุธและสมัครพรรคพวกเป็นกำลังเลย การทำที่เป็นวัตถุประสงค์ของเราก็คือ จะเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (แอ๊บสะลูตมอนากี้) มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่น (ลิมิเต็ดมอนากี้) หรือแบบฝรั่งเศส (รีปับลิก) เพื่อให้ราษฎรได้ใช้เสียงในการปกครองประเทศของเราเองด้วย แม้ราษฎรจะยังไม่เข้าใจในเรื่องการปกครอง เราก็พอจะให้การศึกษาอบรมเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปได้ ดูพลทหารที่ปกครองอยู่ในขณะนี้ เมื่อเข้ามารับราชการใหม่ๆ ก็เกือบไม่รู้อะไรเลย ชั้นแต่ ก ข ก็อ่านไม่ค่อยออก กระทั่งหันซ้ายหันขวาก็ไม่เข้าใจ แต่ไม่ทันถึง ๖ เดือน ก็ฉลาดปราดเปรื่องขึ้นทุกคน

เมื่อข้าพเจ้าได้รับทราบเหตุผลและความประสงค์อันเป็นจุดหมายปลายทางจนเป็นที่พอใจ และเห็นด้วยว่าจะต้องร่วมใจกันกระทำแน่นอนแล้ว เราก็แลกความเห็นกันต่อไปอีกพักหนึ่ง แล้วก็ตกลงกันว่าให้ต่างคนต่างสอนทหารในเรื่องการปกครองระบอบต่างๆ แทรกเข้าไปในเวลาสั่งสอนระเบียบข้อบังคับด้วยคราวละเล็กละน้อยอย่าให้โจ่งครึ่ม ทั้งให้ต่างคนต่างทาบทามเกลี้ยกล่อมนายทหารในกรมกองที่ตนสังกัดโดยวิธี *ตัวต่อตัว* ไม่เปิดเผย-ไปพลางๆ ก่อน เพื่อฟังผล แล้วเราทั้งสามพยายามหาเวลาแจ้งผลซึ่งกันและกันเป็นคราวๆ ไป ยึดเอากองปืนกลเป็นสถานีกลางนัดพบตามเวลาอันสมควร หรือจะโทรศัพท์เรียกตัวกันมาก็ได้ เช่น เชิญรับประทานอาหาร เป็นต้น

คืนนั้นมันให้เกิดความปลื้มปรีดีด้วยกันทุกคนอย่างไรชอบกลพูดไม่ถูก ด้วยความปลาบปลื้มอย่างแปลกประหลาดนี้เอง เราได้สนทนากันอยู่จนถึงเวลาฝึก จึงได้แยกย้ายกันไป

ต่อมาเราได้นัดพบกันเป็นคราวๆ เพื่อแจ้งผลที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้าง แต่จิตใจของเรามันต้องการจะทำให้เร็วยิ่งขึ้นทุกที จึงหารือกันถึงเรื่องที่ว่าควรจะมีผู้ใหญ่มาเป็นกำลังความคิดและดำเนินงานสักผู้หนึ่ง ซึ่งควรจะได้ผู้ที่มีหัวไปในทางเดียวกับเรา ทั้งกว้างขวางและเป็นที่เชื่อถือของนายทหารทุกชั้นด้วย คุณเหรียญก็เสนอชื่อพี่ชายของเขาขึ้นมา คือร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่าเป็นหมอที่ทหารโดยมากนับถือ มีความละมุนละม่อมอ่อนโยน อาจติดต่อกับนายทหารได้ทุกชั้น แต่น้ำใจเข้มแข็งจริงจัง ไม่เหลาะแหละ ทั้งเวลานั้นได้เป็นนายแพทย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และประจำพระองค์ทูลกระหม่อมจักรพงษ์อยู่แล้วด้วย ย่อมชักจูงใจนักเรียนนายร้อยและนายทหารให้เข้ามาเป็นกำลังได้ง่าย พวกเราก็เห็นด้วย เพราะกำลังเห็นตัวอย่างหมอซุนที่เป็นหัวหน้าเปลี่ยนการปกครองประเทศจีนอยู่แล้ว ทั้งหมอเหล็งได้เคยเรียนวิชาทหารฝ่ายนักรบมาแล้วด้วย จึงนับว่าเป็นการเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เราจึงนัดวันไปพบกับหมอเหล็งเพื่อขอร้องให้เป็นหัวหน้าดำเนินการต่อไป

บ้านหมอเหล็งเวลานั้นอยู่ในถนนสาทร พร้อมด้วยบุตรภรรยาเป็นหลักแหล่ง พอถึงวันกำหนดนัด เราทั้งสามก็ไปพบในเวลาเย็นต้นๆ เดือนมกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) คุณหมอเหล็งและภรรยาชื่ออบ เราเรียกว่าคุณพี่อบ ได้ต้อนรับเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอย่างดียิ่งและเต็มใจที่สุด เมื่อคุณเหรียญได้แนะนำให้หมอเหล็งและคุณพี่อบรู้จักเราทั้งสองเรียบร้อยแล้ว เราก็เริ่มลงมือสนทนาหารือกันถึงเรื่องการเมืองทีเดียว ซึ่งหมอเหล็งได้ทราบล่วงหน้าอยู่ดีแล้ว พร้อมนั้นหมอเหล็งได้นำเอาพงศาวดารทางการเมืองของต่างประเทศมาชี้แจงให้เราฟังถึงเรื่องที่เขาได้เปลี่ยนแปลงการปกครองกันมาอย่างไร เพื่อประกอบเป็นตัวอย่างที่เราควรจะยึดเป็นหลักดำเนินการต่อไป เรารู้สึกเลื่อมใสใน

ความตั้งใจจริงของหมอเหล็งยิ่งนักหมอเหล็งเมื่อได้ฟังความคิดเห็นของเรา พร้อมด้วยเห็นความเป็นลูกผู้ชายของเราตลอดแล้ว ก็ยินดีรับเป็นหัวหน้า จึงสั่งให้คุณพี่อบจัดอาหารค่ำเลี้ยงเรา รวมผู้ที่รับประทานอาหารในวันนั้น ๕ คนด้วยกัน คุณพี่อบเป็นกุลสตรีที่ใจคอกล้าแข็งเช่นเดียวกับสามี ได้กล่าวส่งเสริมกำลังน้ำใจของพวกเราตลอดเวลา เราได้หารือเรื่องการเมืองถึงทางได้ทางเสียที่จะนำมาสู่ประเทศชาติอย่างใดบ้างเมื่อเราทำลงไป ตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร ส่วนตัวเราทุกคนยอมอุทิศเป็นชาติพลีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ในที่สุดหมอเหล็งให้เรานัดผู้ที่เราได้เกลี้ยกล่อมไว้แล้วมาประชุมสักครั้งหนึ่ง ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ เดือนนั้น เพื่อฟังเสียงและทำความเข้าใจกันบางประการ พวกเรารับตกลง เพราะเวลานั้นเราได้เกลี้ยกล่อมนายทหารกองปืนกล กรม ร. ๑๑ และกองนักเรียนนายสิบบางคนไว้แล้ว รวมประมาณ ๑๐ คน แล้วเราก็ลากลับด้วยความหวังอันเต็ม

เปี่ยมการประชุมคณะก่อการเปลี่ยนการปกครองประเทศสยาม ได้อุบัติขึ้นเป็นรูปทรง ณ ศาลาพักร้อนหลังเล็ก ภายในบริเวณบ้านหมอเหล็ง ถนนสาทร อำเภอสาทร จังหวัดพระนคร เมื่อเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) องค์ประชุมครั้งแรกนี้มีเพียง ๗ คน เท่าที่ข้าพเจ้ายังพอจะนึกได้คือ หมอเหล็ง เป็นหัวหน้า ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ ร.ต. หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ และข้าพเจ้า หัวหน้าเป็นประธานการประชุม ข้าพเจ้าเป็นผู้บันทึกและนายทะเบียน นอกนั้นก็ถือเสมือนกรรมการผู้ริเริ่มมาปรึกษาหารือกิจการเบื้องต้น เพื่อดำเนินการต่อไป

ประธานได้กล่าวเปิดประชุม โดยแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบกับนายทหารผู้รักชาติอันแท้ ซึ่งประธานไม่เคยคาดคิดเลย ว่าจะมามีขึ้นเป็นคณะเช่นนี้ แล้วก็เล่าให้ที่ประชุมฟังถึงความคิดเดิมที่พวกเรา ๓ คน ได้ไปหารือและขอร้อง ในที่สุดก็แสดงความหวังในความสำเร็จเผล็ดประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นแน่นอน ขอให้เราดำเนินการประชุมแลกความคิดเห็นต่อไป ผู้ที่มาประชุมต่างได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเกี่ยวกับความเสื่อมของชาติและวิถีทางที่จะแก้ไขให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างไรบ้าง ผลหรือมติของการประชุมก็สรุปได้ว่า จะต้องเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ในรูปใดรูปหนึ่ง ผู้ที่มีความเห็นรุนแรงก็ขอให้เปลี่ยนเป็นรีปับลิกทีเดียว ผู้ที่มีความเห็นไม่รุนแรงก็เห็นว่าควรเป็นเพียงลิมิเต็ดมอนากี้ไปก่อน แต่ปัญหานี้จะได้สงวนไว้ให้ที่ประชุมใหญ่ในวันข้างหน้าเป็นผู้วินิจฉัยกันโดยรอบคอบต่อไป ในชั้นนี้ที่ประชุม

ลงมติขอร้องให้สมาชิกทุกคนต่างเกลี้ยกล่อมนายทหารที่มีหัวไปในทางเดียวกันเข้าเป็นสมาชิกโดยวิธี *ตัวต่อตัว* ให้ได้มากที่สุดที่จะสามารถกระทำได้ แล้วส่งรายชื่อไว้ที่นายทะเบียน ณ กองปืนกล กับให้แทรกซึมการสอนทหารถึงลัทธิการปกครองไว้ด้วยทุกคน เพื่อปลุกให้ตื่นเสียแต่เบื้องต้น แล้วมอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนคำเกลี้ยกล่อมส่งให้สมาชิกทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการไปในทางเดียวกันโดยถูกต้อง และขอให้รักษาไว้เป็นความลับเท่ากับชีวิตของตน ลงท้ายหัวหน้าก็เลี้ยงอาหารเย็นพร้อมด้วยเครื่องดื่ม นับว่ากิจการเบื้องต้นได้เป็นไปด้วยความสามัคคีเรียบร้อยเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการประชุมต่อไป มอบให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าซึ่งจะได้ติดต่อกับข้าพเจ้าเป็นผู้นัด แล้วพวกเราก็จากกัน

ด้วยความภาคภูมิใจทุกคนอีก ๗ วันต่อมา เมื่อข้าพเจ้าได้ติดต่อกับหัวหน้าถึงเรื่องจำนวนสมาชิกและความเป็นไปด้วยดีระหว่างนั้นแล้ว หัวหน้าก็มอบให้ข้าพเจ้านัดประชุมครั้งที่ ๒ ณ สถานที่เดิม ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน การประชุมครั้งนี้มีจำนวนสมาชิกประมาณ ๒๐ คน คือนอกจาก ๗ คนครั้งแรกแล้ว ได้เพิ่มขึ้นใหม่อีก ๑๓ คน มีผู้ที่ควรกล่าวนามและจำได้แม่นยำก็คือ พันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิวิทย์ (หมออัทย์ หสิตะเวช), ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง, ร.ท. จือ ควกุล, ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส, คุณอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ล่ามภาษาอังกฤษกระทรวงยุติธรรม กับนายทหารกองนักเรียนนายสิบทั้งหมด (เว้นผู้บังคับกอง) นอกนั้นก็เป็นนายทหารกองปืนกล (เว้นผู้บังคับกอง) และกรม

ทหารเหล่าอื่นในพระนครอีกกรมละคน ๒ คนในการประชุมครั้งนี้ มีข้อแปลกกว่าคราวก่อนก็คือ เมื่อหัวหน้ากล่าวเปิดประชุมเช่นแสดงความยินดีและปลุกความกล้าหาญเสร็จแล้ว หลวงวิฆเนศร์ฯ ซึ่งเวลานั้นยังเคร่งต่อคริสต์ศาสนาอยู่ ได้ขอให้ทำพิธีสาบานปฏิญาณตนพร้อมกันทุกคน โดยเอาลูกปืนเบรานิงแช่ลงไปในแก้วสุรา คุณหลวงเป็นผู้นำกล่าว มีใจความว่า

จะซื่อสัตย์สุจริตต่อกันจริงๆ ทุกเมื่อ และยอมสละชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติไทย มิหวังผลอันมิชอบแก่ส่วนตัวด้วยประการทั้งปวง แล้วก็รินสุราแช่ลูกปืนแจกกันดื่มทั่วหน้า เสร็จแล้วคุณหลวงกล่าวคำปลุกใจ โดยถอนเอาตะไคร้ที่ปลูกอยู่ข้างศาลานั้นมาเป็นอุทาหรณ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์ความสามัคคีกลมเกลียว คือหักตะไคร้ตั้งแต่ ๑ ต้นจนถึงทั้งกำ หมายความว่าถ้าเราทำงานใหญ่เพียงคนเดียว มันก็จะไม่สำเร็จเหมือนตะไคร้ต้นเดียว ซึ่งหักให้ขาดออกจากกันได้โดยง่าย แต่ถ้าทำรวมกันเป็นก้อนหนึ่งเหมือนตะไคร้ทั้งกำแล้ว จะหักเท่าไรๆ ก็ไม่ขาดออกจากกัน

ที่ประชุมแสดงความพอใจเป็นอันมาก แล้วที่ประชุมก็ลงมือปรึกษาหารือกันในเรื่องการเมืองต่อไป

ผลของการประชุมวันนั้นคือ นอกจากรับรองผลของการประชุมครั้งที่ ๑ แล้ว พอจะสรุปได้ดังนี้คือ

๑. จะต้องรีบลงมือกระทำการให้เร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพราะอย่างไรๆ ก็ปิดเป็นความลับได้ยาก (ร.ท. จือ นายทหารเสนาธิการประจำกองพลที่ ๑ เป็นผู้เสนอญัตตินี้อย่างเสียงแข็ง)

๒. เรื่องระบอบปกครองจะใช้ระบอบใดให้รอฟังผลจากที่ประชุมครั้งต่อๆ ไป (ร.ท. จือ เห็นอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องเป็นลิมิเต็ดมอนากี้ เพื่อเหมาะสมแก่ประเทศชาติในขณะนั้น)

๓. ให้สมาชิกทุกท่านต่างเร่งรีบเกลี้ยกล่อมสมาชิกตามหลักเดิมให้ได้มากที่สุดทั้งในพระนครและต่างจังหวัด

๔. ให้แบ่งมอบหน้าที่กันไปทำตามวุฒิสามารถและการงาน เช่น หมอเหล็ง เป็นหัวหน้าดำเนินงานและประสานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หลวงวิฆเนศร์ฯ ผู้เคยไปต่างประเทศมาแล้วให้ประสานกับชาวต่างประเทศ เพราะคุ้นเคยกับอัครราชทูตอเมริกันและชาวต่างประเทศมากกว่าผู้อื่น ร.ท. จรูญ กับคุณอุทัย รับงานทางด้านกฎหมาย เพราะประจำกรมพระธรรมนูญทหารบกและกระทรวงยุติธรรมอยู่แล้ว ร.ท. จือ และ ร.ท. ทองดำ รับงานด้านเสนาธิการในเรื่องวางแผนการ (ร.ท. ทองดำขณะนั้นก็เป็นนายทหารเสนาธิการเหมือนกัน) ร.ต. หม่อมราชวงศ์แช่ รับด้านคุมกำลังและออกแบบเครื่องหมายและอาณัติสัญญาณ สมาชิกนอกนั้นเป็นฝ่ายคุมกำลังเข้าทำการและออกไปเกลี้ยกล่อมสมาชิกในต่างจังหวัด สุดแต่ผู้ใดจะถนัดในจังหวัดไหน

๕. ให้ช่วยกำลังเงินในการต้อนรับเลี้ยงดูและเป็นค่าพาหนะส่งคนไปเกลี้ยกล่อมในต่างจังหวัด คนละ ๕ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ให้ส่งไว้ที่นายทะเบียน (เงินตามมตินี้ยังมิทันได้รับ ก็พ่ายแพ้รัฐบาลเสียก่อน เว้นแต่บางคนที่มีศรัทธาแก่กล้าได้มีแก่ใจส่งไว้บ้าง ซึ่งได้มอบให้หัวหน้าเป็นค่าต้อนรับ นับเป็นจำนวนเล็กน้อยที่สุด แต่คุณอุทัยเป็นผู้มีอัครฐานดี ได้สละให้ ๑,๐๐๐ บาท ครั้งเดียว)

ในที่สุดเมื่อหัวหน้าเลี้ยงอาหารเรียบร้อยแล้วก็ปิดการประชุม แล้วพวกเราก็ได้รับเชิญจากคุณหลวงวิฆเนศร์ฯ ให้ไปเยี่ยมบ้านซึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ใกล้กับบ้านหมอเหล็ง โอกาสนั้นเองคุณหลวงได้นำแฟ้มเรื่องและภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ประเทศจีนมาให้ชม กับได้ชี้แจงความสำคัญต่างๆ ในการที่ต่างประเทศได้กระทำกันมาอย่างไร เพื่อเตือนใจพวกเราให้หนักแน่นยิ่งขึ้น สมาชิกก็ลาแยกย้ายกันกลับด้วยน้ำใจอันเบิกบาน

การประชุมครั้งที่ ๓ ได้เปิดขึ้น ณ สถานที่เดิมอีก เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เดือนเดียวกัน เพื่อเร่งงานให้เร็วขึ้น มีสมาชิกไปประชุม ๒๐ กว่าคน ล้วนแต่เป็นนายทหารหน้าใหม่โดยมาก เมื่อหัวหน้ากล่าวเปิดประชุม และสมาชิกรับรองผลของการประชุมครั้งที่ ๑ และที่ ๒ แล้ว ก็เริ่มปรึกษางานต่อไป ผู้ที่รับหน้าที่ไปดำเนินการครั้งก่อนๆ ต่างได้แจ้งผลที่ตนกระทำไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง เช่น จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกกี่มากน้อย เครื่องหมายธง เครื่องหมายประจำตัวสมาชิกเพื่อให้รู้จักกัน อักษรสัญญาณเหล่านี้เป็นต้น ฝ่ายวางแผนการก็กะว่าจะลงมือกระทำการงานในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) ในวัดพระแก้ว โดยใช้กำลังทหารขอให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (เวลานั้นใช้คำว่าพระธรรมนูญ) โดยละมุนละม่อม มิให้เสียเลือดเนื้อ ถ้าและมิยินยอมจึงจะค่อยดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ให้ใช้วิธีบังคับโดยฉับพลันในขณะลงมือทำการ ฝ่ายกฎหมายก็เสนอว่ากำลังจะหาหลักเกณฑ์ร่างพระธรรมนูญอยู่ ซึ่งจะได้เอาพวกนักกฎหมายฝ่ายพลเรือนจากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นกำลังช่วยอีก และจะพยายามมาประชุมด้วยในคราวหน้า ที่ประชุมเห็นพ้องด้วยทุกข้อ สมาชิกใหม่ทุกคนรับว่าจะเกลี้ยกล่อมให้ได้สมาชิกมากที่สุดและเร็วที่สุด ก่อนปิดประชุมได้มีการรับประทานอาหารกันตามเคย และเลยนัดประชุมครั้งที่ ๔ ในวันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ศกเดียวกัน ณ โบสถ์ร้างวัดช่องลม ตำบลช่องนนทรี โดยมาพร้อมกันที่บ้านหมอเหล็งก่อน พร้อมด้วยปืนยิงนกเท่าที่จะหาได้ เพื่อพรางเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมือง เพราะได้ประชุมที่เดิมหลายคราวแล้ว เกรงว่าจะเกิดสงสัยขึ้น ส่วนสมาชิกใหม่ที่หาได้ให้ชวนมาได้มากเท่าใดเป็นดีที่สุด แล้วจึงจะออกเดินทางลัดทุ่งไปยังตำบลที่กล่าวนั้น

วันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ มาถึง สมาชิกประมาณ ๓๐ กว่าคน ก็ได้ไปพร้อมกันที่บ้านหมอเหล็ง มีทั้งทหารและพลเรือน ล้วนเป็นสมาชิกใหม่โดยมาก คุณอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ล่ามกระทรวงยุติธรรมได้ไปร่วมอีก พวกเราได้มีปืนแฝดยิงนกติดไปราว ๓-๔ กระบอก กระสุนพร้อม พอได้เวลาราวก่อนเที่ยง พวกเราก็เริ่มออกเดินจากบ้านหัวหน้า คุยสนุกโปกฮากัน ไปยิงนกในทุ่งนากันไปอย่างแบบปิคนิค ไม่มีใครสงสัยเป็นอย่างอื่นเลย จนกระทั่งถึงโบสถ์ร้างวัดช่องลม ก็เริ่มรับประทานอาหารกลางวันที่ในโบสถ์ร้างนั้น ไม่มีพระพุทธรูปและคนเฝ้า มีแต่พื้นเป็นดินขรุขระ หลังคาและฝาผนังยังดี มิดชิดอยู่ คุยกันพลาง ยังไม่ได้เข้าระเบียบวาระประชุม ต่อเมื่อเสร็จอาหารแล้ว จึงได้เริ่มล้อมวงเปิดการประชุมเหมือนเช่นเคย แต่การประชุมครั้งนี้เราได้จัดสมาชิกเก่าๆ เป็นยามคอยเหตุไว้ภายนอกโบสถ์ด้วย ทำทีเป็นนักยิงนกเดินเที่ยวเตร่อยู่แถวนั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้สัญจรไปมาเกิดความสงสัยแคลงใจได้

ผลของการประชุมครั้งนั้นที่นับว่าเป็นมติของที่ประชุมก็คือ การกำหนดตัวผู้ที่จะไปเกลี้ยกล่อมสมาชิกต่างจังหวัด เช่น จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และอยุธยา ดูเหมือนจำได้ว่า ร.ต. จันทร์ ปานสีดำ จะออกไปจังหวัดนครสวรรค์ เพราะเคยประจำการอยู่ในกรมทหารราบที่ ๖ ร.ต. บุญ แตงวิเชียร เห็นจะเป็นจังหวัดราชบุรี ส่วนจังหวัดอยุธยาคือ ร.ต. หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร ทั้งนี้

ก็เพื่อเร่งรัดความพรักพร้อมให้ทันเวลา ซึ่งมีอยู่อีก ๒ เดือนเศษเท่านั้น ทางกรุงเทพฯ ก็ให้ต่างคนต่างชักชวนให้ทั่วถึงโดยเร็ว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่คนใดที่รับทำอะไรไป ก็ให้ลงมือจัดเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ สมาชิกฝ่ายพลเรือนมีคุณอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็จะได้หาสมัครพรรคพวกทางกระทรวงยุติธรรมมาช่วยอีก การร่างธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดจะต้องทำให้รอบคอบ ไม่ให้บกพร่อง ฝ่ายทหารเรือ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ขอรับไปชักชวน เพราะพระรามสิทธิ์ (พื้น) กรมพระธรรมนูญทหารเรือ ได้เป็นเครือญาติกันอยู่และน้ำใสใจคอก็เข้มแข็งแน่วแน่เหมือนพวกเรา คงจะไม่ปฏิเสธ ทั้งจะโยงพวกพ้องได้อีกมากด้วย เป็นอันว่าต่างคนต่างเร่งรีบ ค่าที่รู้จุดประสงค์กันดีอยู่แล้ว

เรื่องที่ยังต้องขบกันอยู่มากในขณะนั้นคือ ปัญหาเรื่องการปกครองจะเอาระบบไหนกันแน่ อันเป็นเรื่องโต้เถียงกันมาแทบทุกคราวประชุม เหตุที่ลงมติให้เด็ดขาดยังไม่ได้ ก็เพราะเคารพต่อสมาชิกที่จะเข้ามาใหม่อีกมากมายไม่รู้จำนวน ครั้นจะเรียกประชุมใหญ่ทั้งหมดก็ย่อมทำไม่ได้อยู่เอง ได้แต่ฟังเหตุและผลกันไว้พลางก่อน พอได้เวลาอันสมควรแล้วเราก็เดินทางมายังบ้านหมอเหล็งเหมือนเมื่อขาไป การร่ำลากลับก็เริ่มแต่ ณ ที่นั้น การประชุมครั้งที่ ๕ คุณอุทัยขอนัดที่บ้านคุณอุทัย ตำบลศาลาแดง แต่ข้าพเจ้าติดธุระอย่างอื่นที่จำเป็น จึงมิได้ไปร่วมการประชุมด้วย ได้รับแต่ผลของการประชุม และจำนวนรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่ มีทั้งทหารเรือ ทหารบกอีกมากมาย ทางฝ่ายพลเรือนก็มีคุณน่วม (ต่อมาเป็นพระพินิจพจนาตรถ์) หลวงนัยวิจารณ์ และคุณปลอด ณ สงขลา (พระยามานวราชเสวีได้ออกไปเรียนต่างประเทศเสียก่อนเข้าประชุมและเกิดเรื่อง) คุณบุญเอกทำงานสถานทูตฝรั่งเศส ฯลฯ ผลที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้คือเรื่องการเงิน คุณอุทัยได้สละเงินช่วยมาด้วย ก็ยังยินดีที่จะช่วยอยู่ร่ำไป ทั้งยังกำลังจะติดต่อกับธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของคณะ ข้าพเจ้าได้ทราบเลาๆ ว่า ดูเหมือนจะได้ไปทาบทามธนาคารยู่เส็งเฮงไว้แล้ว ซึ่งคุณฉลองนัยนาถ (ยู่เส็ง ธนโกเศศ) เป็นผู้จัดการ แต่ยังไม่ทันจะได้ทำความตกลงกันก็เกิดเรื่องเสียก่อน (ต่อมาธนาคารนั้นแบงก์รัพท์ลง พวกเรายังได้พลอยแสดงความเสียใจด้วย) ส่วนผลการประชุมเรื่องระบอบการปกครองก็คงยังเป็นปัญหาโต้เถียงกันอยู่ตามเดิมนั้นเอง

วันกำหนดลงมือทำการยิ่งใกล้เข้า ข้าพเจ้าก็ยิ่งมีงานมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งกลางของคณะ จะต้องติดต่อกับสมาชิกทุกฝ่ายและเฉพาะหัวหน้าแทบมิได้ขาดแต่ละวัน ส่วนการประชุมใหญ่ๆ ไม่ได้นัดกันแล้ว เพราะต่างแจ่มแจ้งในจุดหมายปลายทางกันอย่างดี เป็นแต่คุณจรูญ ณ บางช้าง ซึ่งตั้งสำนักงานทนายความอยู่ที่ตึกแถวข้างวังบูรพาภิรมย์ ตอนใกล้ถนนเจริญกรุง ที่เป็นตึกแถวห้างศรีจันทร์อยู่ในขณะนั้น ได้เรียกประชุมพบปะเพื่อนฝูงเป็นเชิงว่าเลี้ยงดูกันฐานมิตรสหายอีกราว ๖-๗ ครั้ง แต่ทุกคราวได้เจรจากันถึงเรื่องการเมืองด้วยเมื่อมีโอกาส พร้อมกันนั้นก็มีการรับสมาชิกใหม่ไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อกระชับความสามัคคีกลมเกลียวให้แน่นสนิทยิ่งขึ้นทุกที ข้าพเจ้ามิเคยไปร่วมด้วยเพราะเวลาจำกัด เป็นแต่คอยรับผลการประชุมที่เป็นมติใหม่ กับจำนวนรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่เท่านั้น การโต้เถียงเรื่องระบอบการปกครองคงมีตามเคย จนสรุปได้ว่าปัญหาเรื่องระบอบการปกครองนั้น สำหรับคนหนุ่มๆ ประสงค์จะให้เป็นรีปับลิกหรือสาธารณรัฐแทบทั้งนั้น เพราะกำลังอยู่ในวัยเลือดร้อน ต้องการทำครั้งเดียวให้แตกหักกันไปเลย ไม่อยากให้ประชาชนต้องเพลอยได้รับความเดือดร้อนกันเรื่อยๆ ไป เมื่อจะเกิดความยุ่งยากอย่างใดก็แก้ไขไปในตัวของมัน ในไม่ช้าก็เคยชินกลับถอยหลังอีกไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็คือตายกันทั้งหมด ส่วนสมาชิกที่มีอายุชั้นผู้ใหญ่เคยเห็นเหตุการณ์มามากหรือวัยกลาง มักจะรั้งให้ใช้ระบอบลิมิเต็ดมอนากี้ คือกำหนดอำนาจของกษัตริย์ไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เพื่อดึงน้ำใจพลเมืองที่ยังแนบแน่นอยู่ในระบอบเก่า ไม่ให้ช้ำชอกจนเกินไป ฝ่ายที่ถูกชิงอำนาจก็จะไม่เคียดแค้นถึงกับทำตัวเป็นศัตรูอยู่ตลอดกาล เป็นการอะลุ้มอล่วยพอจะเข้ากันได้ระหว่างทาง ซึ่งบางทีจะมิต้องเสียเลือดเนื้อของคนชาติเดียวกัน (ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นความเห็นของพวกเราสมัยนั้น ถ้าจะนำเอามาคิดสมัยนี้แล้วไม่ได้ความเลย)

ในที่สุด สมควรรวบรัดตัดความได้แล้วว่า สมาชิกทุกคนต่างรอคอยเวลาและแผนการที่จะเปิดฉากขึ้นในต้นเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕)

ไม่มีอะไรที่จะทำไปมากกว่านั้น แม้แต่พลทหารในกรุงเทพฯ ก็คอยคำสั่งผู้บังคับบัญชาอยู่ด้วยกันทุกกรมกอง ส่วนรัฐบาลสิยังหลับสนิท เพราะกำลังเพลินและอิ่มอยู่ในสิ่งชวนลืมอะไรสิ้น ถ้าจะพูดว่าท่านลืมความฉลาดของคนที่แม้ธรรมชาติก็อาจสอนได้ ประวัติศาสตร์หลายสมัยก็ยังสอนท่านอยู่ ทั้งตัวของท่านเองก็มาจากคนที่ไม่รู้อะไรมาก่อน ย่อมจะได้นึกบ้างในเมื่อเวลาที่ท่านเคี้ยวอาหารและขบเอากระดูกสัตว์เข้าจนกลืนไม่ลง หากแต่พวกเราเองมาทำลายกันเองเพื่อเห็นแก่ตัว เราจึงต้องพ่ายแพ้โดยราบคาบ เว้นแต่ประวัติศาสตร์ยังคงตื่นอยู่เพื่อคนชั้นหลังเสมอ

สาเหตุที่คณะ ร.ศ. ๑๓๐ จะต้องพ่ายแพ้ ย่อมเป็นเรื่องรู้ๆ กันอยู่ และเคยเตือนกันเสมอว่า จำพวกนกหลายหัวซึ่งมีอยู่ในกองทัพบกไม่กี่ตัวนักนั้น อย่าพึงชักนำมาเข้าคณะเป็นอันขาด กาลวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับรายงานว่า

ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่ เดิมเป็นนักเรียนเบญจมบพิตร สมัยข้าพเจ้าอยู่มีชื่อว่าแต้ม เป็นลูกศิษย์วัดเบญจมฯ เหมือนกัน เพื่อนนักเรียนและศิษย์วัดย่อมซาบซึ้งนิสัยใจจิตของเขาดีว่าเป็นอย่างไร) ได้มาเข้าเป็นสมาชิกรับการปฏิญาณสาบานตัว ณ ที่ประชุมในสำนักงาน ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง จวนๆ จะใกล้ถึง วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ อยู่แล้ว ข้าพเจ้าและพวกหลายคนก็เอะใจ ถึงกับข้าพเจ้าเองต้องออกสืบสาวราวเรื่องโดยทันควัน ว่ามันเป็นมาอย่างไรกัน ได้ความว่า ว่าที่ ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ กองนักเรียนนายสิบเป็นผู้ชักชวน และนำเข้ามาร่วมคณะเพราะเคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน และให้เหตุผลต่อไปว่า คณะเรายังมิได้ส่งผู้ใดไปเกลี้ยกล่อมทหารจังหวัดพิษณุโลกเลย จวบเหมาะกับ ร.อ. หลวงสินาดฯ ได้รับคำสั่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ในจังหวัดนั้น กำหนดจะเดินทางออกไปรับหน้าที่อยู่แล้วอีกไม่กี่วัน ถ้าได้เข้ามาร่วมคณะก่อการเสียก่อนเดินทาง ก็จะเป็นกำลังของคณะหาน้อยไม่ โดยจะได้กำลังทหารในจังหวัดนั้นทั้งหมดหรือเกือบหมด ในที่สุดเพื่อนทวนยังย้ำว่า ขอรับรองในความซื่อสัตย์ของเขาต่อคณะของเราอีกด้วย หากเป็นท่าน ท่านจะทำอย่างไร ความหลวมตัวเป็นเรื่องแล้วไปแล้ว ทางที่ประชุมก็เอะใจไหวทันเหมือนกัน ถึงกับได้เปิดการสาบานตนขึ้นเป็นพิเศษ ก่อนที่จะปรึกษาหารือกันถึงจุดประสงค์ต่อไป เรื่องการตีหน้าของเขาผู้นั้นเพื่อให้เข้าได้กับคณะของเราอย่างสนิท ไม่จำเป็นต้องขุดมาเล่าถึง พอถึงเวลาเลิกประชุม เขาก็อำลาเยี่ยงเพื่อนทั้งหลายโดยดุษณีภาพเช่นกัน

หลังจากนั้น ถึงหากคณะอยากจะเร่งรีบกระทำการก็สิ้นท่า เพราะแผนการได้กำหนดตายตัวเสียแล้ว เรามิได้เดินหมากรุกชนิดเอาทหารเป็นหุ่น นึกอยากจะชักสายใยให้ลุกขึ้นโลดเต้นเมื่อไรก็อาจทำได้ทุกขณะ ก็พอดีถึงวันอันเป็นวาระพ่ายแพ้ของเรา เพราะเขาผู้นั้นหลังจากอำลาพวกเราด้วยพรายยิ้มแห่งความเห็นแก่ตัวอย่างแรงกล้าแล้ว ก็นำความไปบอกหรือฟ้องร้องนั่นเอง ต่อคนนั้นถึงคนนี้ จากคนนี้แล้วก็คนโน้น จนถึงทูลหม่อมจักรพงษ์ เสนาธิการทหารบก และทำการแทนเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้เสด็จไปรักษาองค์ในต่างประเทศ เสียแต่เดือนธันวาคมดังกล่าวไว้แล้ว ทูลหม่อมจักรพงษ์ อย่างไรๆ เสียก็ต้องจัดการไปตามกบิลเมือง จะนิ่งนอนใจไม่ได้เป็นอันขาด

ส่วนข้าพเจ้าเองขอกล่าวไว้สักนิด ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กทูลหม่อมไม่กี่เดือนมานี้เอง โดยคุณป้านาก (สตรีผู้หนึ่ง ข้าหลวงในราชสำนักพระพันปีหลวง ร่างกายสมบูรณ์ใหญ่โต ผู้ใดพบเห็นเพียงครั้งเดียวก็จำได้ติดตา) ผู้ที่แม่ข้าพเจ้าเคารพนับถืออย่างญาติ ได้นำข้าพเจ้าพร้อมกับแม่เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอก พร้อมด้วยพานดอกไม้ธูปเทียนตามขนบประเพณี ณ วังปารุสก์ ท่านทรงรับด้วยความเต็มพระทัย พร้อมด้วยหม่อมคัทธารีน พระชายา และทรงเมตตาทักถามถึงเรื่องการเรียนของข้าพเจ้า จนได้มาอยู่เหล่าทหารปืนกลรักษาพระองค์ที่เพิ่งตั้งใหม่ ข้าพเจ้าก็ทูลทุกระยะ และสังเกตได้ว่าทรงพอพระทัยเป็นพิเศษ ถึงกับรับสั่งในที่สุดว่า นายทหารปืนกลน่าจะได้ไปเรียนต่างประเทศสักคนหนึ่ง แล้วก็ทรงหันไปปราศรัยกับคุณป้านากและแม่อยู่ครู่หนึ่ง จึงเสด็จเข้าข้างใน พวกเราก็ทูลลากลับ ต่อมาใกล้จะเกิดเรื่อง

ร.ศ. ๑๓๐ คุณป้านากไปบอกแม่ว่า ทูลหม่อมจะประทานเหรียญจักรกะบองในไม่ช้า ให้เตรียมตัวไปรับ และน่ากลัวว่าจะได้มีโอกาสดีต่อไปอีก (อันนี้มาทราบภายหลังว่า บางทีจะได้ไปศึกษาวิชาปืนกลในต่างประเทศด้วย) เรื่องพรรค์นี้ใครๆ ก็ย่อมพอใจ ถึงจะไม่เต็มใจก็ต้องรับอยู่ในอาการดุษณีภาพ แล้วก็ต้องรีบปรับตัวให้เกิดสมรรถภาพ เพื่อให้รับกัน มิฉะนั้นองค์ความดีของผู้ใหญ่อาจพลอยเสื่อมไปด้วย

ทูลหม่อมจักรพงษ์เป็นน้องของในหลวงรัชกาลที่ ๖ แท้ๆ พระบิดาพระมารดาเดียวกันพอทรงทราบเรื่องราวตลอด และได้ส่งคนออกสืบสวนทวนพยานจนแน่แท้แล้วไม่ผิดพลาด คือทรงทราบจนกระทั่งว่า ตัวท่านเองก็มีชื่อเข้าไปอยู่ในข้ออภิปรายของฝ่ายทหารบกด้วย โดยมีสมาชิกเพียงบางคนเท่านั้น เสนอว่าทูลหม่อมจักรพงษ์พระองค์หนึ่งละ สมควรเป็นกษัตริย์ภายใต้กฎหมายได้ ถ้าถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกท่าน ฝ่ายทหารเรือบางคนก็เช่นเดียวกัน ได้เสนอพระนาม

ทูลหม่อมบริพัตรในทำนองนั้น ฝ่ายพลเรือนได้เสนอกรมหลวงราชบุรีปราชญ์กฎหมายขึ้นมาอย่างประหลาดว่า หากระบอบการปกครองจะต้องกลับตาลปัตรถึงซึ่งรีปับลิกแน่แล้ว และเมื่อยังหาตัวประธานาธิบดีมิได้ ก็ขอเสนอพระนามกรมพระราชบุรีไว้พลางๆ ก่อน ทั้งนี้นับว่าเป็นแต่เรื่องอภิปรายถึงบุคคลที่ ๓ กันเท่านั้น แล้วก็ต้องมีฝ่ายค้านลุกขึ้นโต้ทานด้วยประการต่างๆ อย่างแข็งแรง ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย ก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เรื่องมันก็เลยสนุกแกมจริงกันไป หากสมาชิกใหม่คนใดบังเอิญเข้าประชุมในคราวที่โต้เถียงกันถึงเรื่องนั้นก็มักยึดเอาเป็นความจริง เพราะการเปลี่ยนการปกครองมันยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ทราบแน่ว่าใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไร ถ้าผู้ใดได้ฟังเผินๆ จากสมาชิกเพียงคนสองคนเล่าให้ฟัง โดยไม่ไตร่ตรองให้ถ่องแท้แน่นอนกันจริงๆ แล้ว ก็พอโอนเอนความเชื่อไปทางนั้นได้ ดังจะได้เห็นอุทาหรณ์ต่อไป

สำหรับข้าพเจ้าในเรื่องตัวบุคคลดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเสนอชื่อใคร หรือเห็นด้วยกับฝ่ายใดเลย เพราะมันเป็นเรื่องจะต้องจับตัวจริงๆ กัน ในเมื่อทำการสำเร็จ และจะควรหวังได้อย่างไร ในเรื่องพี่ร่วมท้องน้องร่วมไส้ของเขา ทั้งทรงไว้แล้วซึ่งความรู้สูงส่งจากต่างประเทศ พอเอะอะขึ้นอาจมีคนในต่างประเทศมาแบมือช่วยรับไปก็ได้ เจ้าธนาคารต่างประเทศนั้นเป็นพระมาลัยมาโปรดอย่างยอดเยี่ยมที่สุด สำหรับนักการเมืองตาขาว น่าอนาถเหลือ! (ขอโทษที่นำเอาพระมาลัยมากล่าวทั้งๆ ที่รู้ว่านอนเซนส์ แต่อาศัยที่พอกล่าวแล้ว คนรุ่นหนึ่งเข้าใจความหมายได้ดีเท่านั้นเอง)

พอทูลหม่อมแน่พระทัย ก็จับรถไฟไปเฝ้าพี่ชายคือรัชกาลที่ ๖ ณ สนามจันทร์ นครปฐม ซึ่งกำลังเล่นเสือป่าอยู่อย่างพระสำราญ เขาว่า (ถ้าผิดขออภัย) พี่น้องสองพระองค์เท่านั้นที่เข้าพบกัน แจ้งเรื่องแต่ต้น จนอีกฝ่ายหนึ่งตกอกตกใจ ถึงกับหน้าเสียและน้ำตาไหล (ข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นคนใจอ่อน กระทบเรื่องบางเรื่องอดตาแดงน้ำตาไหลไม่ค่อยได้เหมือนกัน)

ครั้นแล้วการปราบคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ก็เริ่มตั้งแต่วันทูลหม่อมเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ คือวันพุธที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) โดยวิธีแยบคายและละม่อม...


ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 04

ที่มา : บอรด์ประชาไท โพสต์โดย.คุณเกลียดสอง

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วง ๓ รัชกาล เริ่มแต่รัชกาลที่ ๕ ถึง รัชกาลที่ ๗


การเปลี่ยนแปลงสมัย ร.๕
(พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓)
การเมืองการปกครองสมัย ร.๖

(พ.ศ. ๒๔๕๓ - พ.ศ. ๒๔๖๘)
สภาพการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สมัย ร.๗

(พ.ศ.๒๔๖๘-พ.ศ.๒๔๗๕)



การเปลี่ยนแปลงสมัย ร.๕
(พ.ศ.๒๔๑๑-พ.ศ.๒๔๕๓)

ร.๕ ขึ้นครองราชย์ พระราชอำนาจถูกจำกัดด้วยอำนาจของขุนนางเก่า(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มขุนนางเดิมช่วงปี พ.ศ.๒๔๑๖(ร.๕ทรงบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒) จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๕เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่อสัญกรรม ผู้นำสยามแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ

(๑) Young Siam ร.๕ เป็นผู้นำ
(๒) Conservative Siam สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้นำ
(๓) Old Siam กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นผู้นำ

บทบาททางการเมืองของกลุ่มสยามหนุ่ม เริ่มปฏิรูปทางการเมืองและพยายามขจัดอิทธิพลของขุนนางรุ่นเก่า ออก น.ส.พ.การเมืองเล่มแรก “ดรุโณวาท” กระบอกเสียงของกลุ่ม ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อทำลายแหล่งรายได้ของขุนนางเก่า ตรากฎหมายและตั้งสถาบันทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการต่อสู่เพื่อพระราชอำนาจของ ร.๕

* พ.ร.บ.เคาท์ซิลออฟสเตท (ตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน)

* พ.ร.บ.ปรีวิวเคาท์ซิล (ตั้งที่ปรึกษาในพระองค์)

การตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ = ปฏิรูปการคลัง เป็นก้าวแรกของการปฏิรูประบบบริหาร เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้มีการคอรัปชั่น ส่งผลให้มีการถอดถอนขุนนางชั้นผู้ใหญ่(ที่คอรัปชั่น) รายได้พระคลังเพิ่มขึ้น


กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ กับข้อเสนอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มกราคม ๒๔๒๗(ร.ศ.๑๐๓) กลุ่มราชวงศ์และขุนนางที่เป็นคณะทูตไทยในยุโรป ถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.๕(เป็นแผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย) ชี้ภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยมในยุโรป มักใช้ข้ออ้าง ๔ ประการ

(๑) ยุโรปเป็นชาติศิวิไลซ์ ต้องมาจัดการบ้านเมืองประเทศด้อยพัฒนา

(๒) ประเทศด้อยพัฒนามีระบบการปกครองขัดขวางชาติที่เจริญแล้ว

(๓) เมื่อจัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อยส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของชาวยุโรปในการค้าขาย จึงต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่

(๔) ประเทศในเอเชียไม่เปิดการค้าขายกับชาติในยุโรป เป็นการเหนี่ยวรั้งความเจริญของชาวยุโรปที่ไม่อาจมาทำการค้าขายได้ และไม่สามารถนำวัตถุดิบใน ประเทศด้อยพัฒนาไปป้อนอุตสาหกรรมในประเทศยุโรปได้

กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ คัดค้านแนวทางป้องกันลัทธิจักรวรรดินิยม วิเทศโยบายใช้ความอ่อนหวาน ผ่อนปรน เป็นแนวทางผิดใช้ไม่ได้ การต่อสู้ด้วยกำลังทหาร ใช้ไม่ได้ ใช้สยามเป็น Buffer State เป็นไปได้ยาก การจัดการบ้านเมืองเฉพาะเรื่อง มิได้เป็นเครื่องแสดงว่ามีความเจริญ สัญญาที่ทำไว้กับอเมริกัน ไม่เกิดผลเมื่อมีวิกฤตการณ์ การค้าขายและผลประโยชน์ชาวยุโรปในสยาม ไม่อาจช่วยคุ้มครองการเบียดเบียนชองชาติอื่นที่หวังผลประโยชน์ได้ ความเชื่อว่าแต่เดิมว่าสยามรักษาเอกราชมาได้ ครั้งนี้ย่อมรักษาได้อีก เป็นความคิดที่ไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กฎหมายระหว่างประเทศ ช่วยรักษาเอกราชไม่ได้


แนวทางที่กลุ่ม ร.ศ. ๑๐๓ กราบบังคมทูลเสนอ ร.๕

เปลี่ยน absolute monarchy เป็น constitutional monarchy

การปกครองบ้านเมืองภายใต้การตัดสินใจของ cabinet

หาทางป้องกันทางสินบน ผู้ทำราชการมีเงินเดือนพอใช้

มีกฎหมายประกันความยุติธรรมแก่ราษฎรเสมอหน้ากัน การเก็บภาษีต้องยุติธรรมไม่ว่าต่อคนไทยหรือต่างชาติที่มาค้าขาย

แก้ไขเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม กฎหมาย ที่ขัดขวางความเจริญ

ให้มีเสรีภาพทางความคิด และแสดงออกทางความคิด

มีการจัดระบบราชการด้านการบริหารงานบุคคล มีการกำหนดคุณสมบัติและเลือกบุคคลมีความรู้ความประพฤติดีเข้ารับราชการ

คำกราบบังคมทูลมิได้อยู่ที่การจัดการเปลี่ยนแปลงกลไกการบริหารราชการเท่านั้น หากอยู่ที่การเปลี่ยนรูปแบบของระบบการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญในการจัดอำนาจทางการเมือง และพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอการปกครองแบบ constitutional monarchy นี้ยังไม่ต้องการให้มี parliament รูปการปกครองไม่เหมือนการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรป แต่เป็น อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ผสมประชาธิปไตย ( Democracy) เป็นแผนที่จะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยร่วมกันระหว่างขุนนางผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองร่วมกับพระมหากษัตริย์


ปฏิกิริยา ร.๕ ต่อคำกราบบังคมทูลของกลุ่ม ร.ศ.๑๐๓ ทรงเห็นภยันตรายอยู่แล้ว ไม่ทรงปรารถนามีพระราชอำนาจหรือรวบอำนาจเด็ดขาดไว้ ไม่ทรงหวงอำนาจเหมือนกษัตริย์ยุโรป “เราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนอย่างกับคางคกที่อยู่ในกะลาครอบ ที่จะพึงทรมานให้สิ้นทิษฐิถือว่าตัวโตนั้นด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย” ๕ ปีแรกการครองราชย์ (๒๔๑๑-๒๔๑๖) ทรงเสมือน “ตุ๊กตาซึ่งไม่มีอำนาจใดเลยนอกจากชื่อ” ช่วงปี ๒๔๑๖-๒๔๒๕ เป็นช่วงสร้างฐานอำนาจทางการเมือง กลุ่ม ร.ศ.๑๐๓ กราบบังคมทูลเมื่อปี ๒๔๒๗ เป็นช่วงที่เพิ่งตั้งพระองค์ได้มั่น และกำลังดำเนินการเร่งรัดปรับปรุงบ้านเมือง การตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน(council of state) เพื่อทานอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารในความเป็นจริง การที่ฝ่าย legislative ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเข้มแข็งเพราะทรงเป็นผู้นำ แต่เมื่อทรงได้อำนาจแท้จริงแล้ว ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินก็ลดบทบาทไป “ทำกฎหมายอันใดก็ไม่ใคร่จะทำได้สำเร็จ” แสดงว่าลักษณะขุนนางไทยไม่มีความเป็นตัวของตัวเองพอที่จะปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในระบบที่มีพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเด็ดขาด

ด้านการปกครอง ร.๕ ทรงเป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และ เป็นเสมือนเสนาบดีทุกกระทรวง “เราต้องรู้การตั้งแต่ใหญ่ลงไปเล็ก ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำเอง สั่งเองทุกสิ่งตลอดจนถ้อยความเล็กน้อย ไม่ใคร่จะได้อาศัยฤาไม่ได้อาศัยเสนาบดีตามตำแหน่งนั้น ๆ เลย” ร.๕ไม่อาศัยเสนาบดี เพราะเสนาบดีเป็นคนรุ่นเก่าซึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ร.๕ และ สติปัญญาความสามารถไม่เพียงพอที่จะทำงานปรับปรุงประเทศ หลีกเลี่ยงการประชุม เวลาประชุมไม่พูดจาออกความเห็น การที่จะกระจายอำนาจให้เสนาบดีรับผิดชอบสูงขึ้นเป็นไปได้ยาก ร.๕ ทรงปรารถนาจะปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้า แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือเสนาบดีชุดเก่าไม่มีความสามารถพอ ทรงเห็นว่าสิ่งจำเป็นที่สุดคือ government reform ปรับปรุงตัวผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี และ ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ร.๕ ทรงเห็นว่าปัญหาสำคัญรีบด่วนไม่ใช่การมีสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นการปฏิรูปการบริหาร ความเห็นกลุ่ม ร.ศ.๑๓๐ ช่วยเร่งให้มีการปรับปรุงการบริหารรวดเร็วขึ้น ร.๕ ทรงส่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการไปงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีวิคตอเรีย และให้ไปพิจารณาแบบอย่างการปกครองของชาติต่าง ๆในยุโรปด้วย และเริ่มเตรียมการปฏิรูปการปกครองเต็มรูปในปี พ.ศ.๒๔๓๕

การปฏิรูปการปกครอง ๒๔๓๕ เป็นการแบ่งแยกแจกแจงหน้าที่การบริหารในกระทรวง กรม ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารมากกว่าการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่และกิจกรรมการบริหาร
รัฐสมัย ร.๕ เน้นหนักการรักษาความสงบปลอดภัย การรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง มุ่งเก็บภาษีเข้าพระคลัง

การปฏิรูปการปกครอง ๒๔๓๕ ส่งผล ๓ ประการ ปฏิรูปการคลัง ปรับปรุงรูปการปกครอง จัดการบริหารให้ทันสมัยลดความซ้ำซ้อน และจัดแบ่งงานระหว่างกระทรวงให้ชัดเจน มีผลทำให้ ร.๕ อาศัยเป็นเหตุเปลี่ยนตัวเสนาบดีชุดเก่าที่ล้าสมัย และไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามพระราชประสงค์ เป็นการนำผู้มีความคิดก้าวหน้าและรุนแรงสมัยนั้น และมีศักยภาพที่จะท้าทายอำนาจของผู้นำ(counter elite) เช่น กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เข้ามาอยู่ในคณะเสนาบดีชุดใหม่ เป็นศูนย์อำนาจใหม่

ขั้นตอนการปฏิรูปการปกครอง จัดแบ่งหน้าที่การบริหารของ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก เวียง วัง คลัง นา ใหม่ไม่ให้คละปะปนกัน ปรับการปกครองประเทศราชและหัวเมือง เลิกการสืบเชื้อสายการครองอำนาจในท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางเริ่มระบบแต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลาง เลิกระบบการจัดเก็บภาษีอากรที่เจ้าเมืองเก็บ แต่ยักยอกไว้ไม่ส่งรัฐส่วนกลางทั้งหมด โดยรัฐส่วนกลางเริ่มเก็บภาษีอากร ค่าน้ำ ค่านา และค่าราชการเสียเอง และเริ่มระบบการให้เงินเดือนประจำแก่ข้าราชการ

การรวมอำนาจรัฐเข้าส่วนกลางส่งผลให้เกิดกบฏ ใน ร.ศ.๑๒๑ คือ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน และ ขบถพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง อันมีเหตุเนื่องจาก ความไม่พึงพอใจที่ถูกตัดอำนาจในการปกครองและจัดเก็บภาษี การให้ราษฎรเลิกเล่นการพนัน เลิกสูบฝิ่น รับบาลจัดเก็บค่าราชการเองเหลือส่วนแบ่งให้กรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่เล็กน้อยทำให้ขาดผลประโยชน์และไม่พอใจระบบการปกครองแบบใหม่ การตั้งกระทรวงมหาดไทย และการใช้ระบบเทศาภิบาล เป็นการขยายขอบเขตอำนาจจากรัฐส่วนกลางเข้าไปควบคุมหัวเมืองซึ่งเคยอยู่ในสภาพกึ่งเอกเทศมาก่อน จึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อำนาจรัฐ

การพัฒนาการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัย ร.๕ มีการดึงอำนาจกลับมาสู่พระมหากษัตริย์ มีการแบ่งแยกแจกแจงหน้าที่ของระบบบริหารให้ชัดเจนขึ้น มีการรวมอำนาจของรัฐให้มีขอบเขตกว้างขวางและสามารถควบคุมอาณาเขตต่าง ๆ ภายในรัฐให้กระชับแน่นขึ้น ภายใต้การปฏิรูปการบริหาร การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาลที่เป็นตัวเชื่อมการปกครองส่วนกลางกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีการเปลี่ยนคณะเสนาบดี การพัฒนาการเมือง เป็นการรวมอำนาจรัฐเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นขั้นตอนแรกการพัฒนาการเมือง แต่ยังไม่นำระบอบการปกครองแบบรัฐสภามาใช้


การเมืองการปกครองสมัย ร.๖
(พ.ศ.๒๔๕๓-พ.ศ.๒๔๖๘)

ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองในทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในขณะสิ้นตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น (พระราชดำรัส ร.๕) ร.๖ สร้างเมืองดุสิตธานี โดยตราธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล ให้เป็นเมืองประชาธิปไตย ต้นรัชกาล(พ.ศ.๒๔๕๔) เกิดกบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นเหตุให้ ร.๖ทรงเริ่มตระหนักถึงความต้องการของข้าราชการที่ได้รับการศึกษาและอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตกที่มีการปกครองระบอบใหม่ ช่วง ๒๔๕๔-๒๔๖๑ พระราชดำริการเมือง ร.๖ โน้มเอียงต่อต้านการนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ ทรงต่อต้านระบบสาธารณรัฐ

ข้อคัดค้านประชาธิปไตยของ ร.๖ ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้ ถ้าให้สิทธิที่ตัดสินใจเอง ก็จะนำไปใช้ในทางที่ผิดเป็นผลร้ายต่อชาติ ไม่เชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง การเป็นตัวแทน และระบบพรรคการเมือง เพราะประชาชนต้องประกอบธุรกิจทำมาหาเลี้ยงชีพไม่สามารถสละเวลามาทำความรู้จักหรือศึกษาว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งดีหรือไม่ดี การเลือกตั้งจึงเป็นไปโดยที่ประชาชนไม่อาจเลือกคนดีอย่างแท้จริง

การเลือกตั้งพรรคการเมืองจะหาวิธีการล่อใจประชาชนด้วยการเลี้ยงดู ติดสินบน พรรคใดมีทุนมากก็ได้เปรียบ ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนเพราะรู้ว่าเป็นคนดีแต่เลือกเพราะมีผู้บอกให้เลือก เพราะได้สินบน อำนาจจะไม่อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริงแต่อยู่ที่คนกลุ่มน้อยคือพรรคการเมือง

ไม่เชื่อมั่นในการที่บุคคลจะเป็นนักการเมืองอาชีพ ไม่เชื่อมั่นในวิธีการใช้เสียงข้างมาก การมีพรรคการเมืองและรัฐบาลที่ประกอบด้วยนักการเมืองอาชีพมาเป็นรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนกันบริหารกระทรวงไปตามการมีเสียงข้างมากในสภาเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา การที่พรรคการเมืองต้องอาศัยเงินทุนมากทำให้ผู้บริจาคให้พรรคเป็นผู้มีอำนาจ

พรรคการเมืองที่ผลัดกันเป็นรัฐบาลใช้ระบบการเล่นพวก พรรคฝ่ายค้านก็ค้านพอเป็นพิธีเมื่อขึ้นมามีอำนาจก็ทำแบบพรรคที่เป็นรัฐบาล

การมีรัฐสภาหรือแม้ว่าจะเป็นสาธารณะรัฐก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดไป เพราะประเทศเหล่านั้นก็มีปัญหาแบบเดียวกัน

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เนื่องมาจากในหมู่ข้าราชการไม่พึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่สามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญทัดเทียมชาติอื่น รวมทั้งปัญหาจากการทะเลาะกับทหารมหาดเล็กของสมเด็จพระยุพราช(ร.๖) การที่ข้าราชการทหารเห็นสภาพความเดือดร้อนจริงของประชาชนที่ทุกข์ยาก (ขณะที่ ร.๖ ทรงพบว่าราษฎรยังมีความสุขสบายไม่เดือดร้อน) หลังเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ ร.๖ ไม่ทรงเชื่อว่าประชาธิปไตยจะเหมาะสมกับเมืองไทย และได้ทรงนำประสบการณ์จากการเสด็จประพาสเมืองต่าง ๆ ทางตะวันตกมาสนับสนุนความรู้สึกส่วนพระองค์ว่าประชาชนโดยทั่วไปไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และถึงแม้ว่าคนในกรุงเทพจะต้องการการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มีผลหรือความสำคัญ

พระราชดำริทางการเมือง ร.๖ เป็นไปในทางการนิยมระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยที่ทรงเชื่อว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีเหมาะกับสังคมไทย ไม่ทรงเชื่อว่าความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เหตุผลคือความไม่พร้อมของประชาชน ร.๖ ทรงมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นการจ้องล้มล้างสถาบันกษัตริย์ มูลเหตุมาจากการอยากได้อำนาจ ความอิจฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว การพัฒนาการเมืองสมัย ร.๖ ไม่เกี่ยวข้องกับการปูพื้นฐานประชาธิปไตยโดยตรง หรือ ไม่ได้เป็นการเตรียมการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ หากเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมทางชาตินิยมซึ่งมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับความอยู่รอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิฯ

ความรู้สึกชาตินิยมมีแนวโน้มที่จะต่อต้านชนชาติกลุ่มน้อยที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ(กลุ่มชาวจีน) เพราะระแวงว่าชาวจีนจะมีบทบาททางการเมืองถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้มีรัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง นโยบายชาตินิยมจึงเด่นชัดและเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางการเมืองสูงสุดในสมัย ร.๖ แม้ ร.๖ ไม่ทรงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่แนวพระบรมราโชบายหลายอย่างที่ต่อต้านลัทธิประชาธิปไตย (การสร้างความรู้สึกชาตินิยม การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรีเพื่อทรงได้ทราบกระแสความคิดการเมือง และชี้แจงชักชวนให้คนเห็นตรงข้ามด้วยอาวุธอย่างเดียวกันคือการเขียนตอบโต้) กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หน่อความคิดประชาธิปไตยเบิกบาน


สภาพการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สมัย ร.๗
(พ.ศ.๒๔๖๘-พ.ศ.๒๔๗๕)

ต้นรัชกาลปัญหาการเมืองที่สำคัญ คือ เอกภาพของราชวงศ์ จึงทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ขึ้น ด้วยเหตุผล ๓ ประการ พระราชวงศ์รวมตัวกันและทำงานอย่างกลมเกลียว ร.๗ เต็มใจขอคำปรึกษาจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้ว เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน พระราชอำนาจกษัตริย์ที่จะทำตามใจพระองค์ลดลงเมื่อมีอภิรัฐมนตรีสภา

พระยากัลยา ณ ไมตรี (Dr.Francis B.Sayre) ถวายคำปรึกษา ร.๗ ว่ายังไม่ควรมีการปกครองระบอบรัฐสภา แต่แนะนำให้มีนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบการบริหารโดยตรงแทนกษัตริย์ ซึ่งมีประโยชน์ คือ ถ้ารัฐบาลคอร์รัปชั่น มีผู้คิดกบฏ หรือกลุ่มคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวขึ้นมามีอำนาจ กษัตริย์สามารถถอดถอนได้ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากราชวงศ์ แต่อาจเลือกได้กว้างขวางจากคนที่มีความสามารถในการบริหารราชการ นายกรัฐมนตรีทำให้การทำงานกระทรวงต่าง ๆ มีเอกภาพ ประสานกัน นายกรัฐมนตรีวางนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการ ช่วยแบ่งงานกษัตริย์ เพราะการบริหารซับซ้อนมากขึ้น อำนาจเด็ดขาดยังอยู่ที่กษัตริย์ เพียงแต่มอบความรับผิดชอบให้บริหารราชการ

จัดตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” เป็นสภาแต่งตั้งโดย ร.๗ เพื่อ เป็นการทดลองและและเรียนรู้ถึงวิธีการประชุมปรึกษาของรัฐสภา เป็นพลังที่จะเหนี่ยวรั้งต้านทานการใช้อำนาจในทางที่ผิด ร.๗ แก้ปัญหาการคลังตามคำแนะนำของ Sir Edward Cook โดยการลดรายจ่ายมากกว่าการเพิ่มภาษี เพื่อจัดระเบียบการคลังให้ได้ดุลยภาพ และสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเงินให้ดีขึ้น หากจะเพิ่มภาษีควรแก้ไขรายการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนก่อน ร.๗ ทรงยอมรับว่าเสนาบดีไม่เสนอโครงการอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแผนงานโครงการใหม่ที่ดีเพราะไม่รู้ว่าคลังมีเงินเท่าไร

พระราชบันทึก Democracy in Siam สะท้อนพระราชดำริทางการเมือง

๑.ทรงเชื่อว่าประชาธิปไตยแท้จริงยากจะเป็นผลสำเร็จในไทย เพราะวัฒนธรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมือง คนไทยต่างกับยุโรป

๒.ห่วงว่าในขณะเศรษฐกิจอยู่ในมือชาวจีน พรรคการเมืองจะถูกครอบงำโดยชาวจีน เพรามีทุน

๓. ยากอธิบายเหตุผลให้คนเชื่อว่าสยามไม่พร้อมเป็นประชาธิปไตย เพราะคนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

๔. แม้ไทยไม่พร้อม แต่ต้องเล่นเกมเป็นประชาธิปไตย ถ้าสถานการณ์บังคับ ต้องมีการเตรียมการโดยให้การศึกษาและสร้างความสำนึกทางการเมืองให้กับประชาชนเพื่อที่จะได้เลือกผู้แทนที่เห็นประโยชน์ประชาชน

๕. การปรับปรุงสภาองคมนตรี(สมัย ร.๕) ให้เป็นสภากรรมการองคมนตรี เป็นความพยายามที่จะนำไปสู่การปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นสภาฝึกฝนการประชุมแบบรัฐสภา และเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเด็ดขาดที่ไม่เป็นธรรมของกษัตริย์

๖. ขั้นตอนต่อไปต้องขยายเทศบาล ให้มีการเลือกตั้งเพื่อฝึกฝนประชาชนให้รู้จักสิทธิ โดยให้ประชาชนมีบทบาทควบคุมกิจการใกล้ตัวส่วนท้องถิ่น แล้วขยายสิทธิให้ควบคุมกิจการรัฐระดับชาติ

๗. ทรงวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่ามีแต่เสื่อมลง เพราะไม่มีวิธีประกันอันตรายที่จะเกิดจากการมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีคุณธรรม การสร้างสถาบันควบคุมพระมหากษัตริย์น่าจะดีที่สุด


สรุปพัฒนาการเมืองไทย ร.๕-ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ สมัย ร.๕ มีการท้าทายอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มสกุลบุนนาค กลุ่มกบฏตามหัวเมือง เนื่องจากการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง สิ้น ร.๕ เริ่มมีหน่อแห่งการเปลี่ยนแปลง มีคลื่นใต้น้ำต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ปัญหาการเมือง ร.๖ คือ ปัญหาวิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรมทางการเมือง การปรับระบบช่วง ๒๔๒๗-๒๔๗๕ ระยะเวลา ๔๘ ปี แต่ไม่มีการปรับตัวให้เป็นไปตามแนวคิดประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่แนวคิดประชาธิปไตยมีมาตลอด


แนวพระราชดำริทางการเมือง

ความเห็นต่อกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

- ร.๕ : เพราะหวังดีต่อชาติ แต่ไม่คำนึงความเหมาะสม

- ร.๖ : เพราะเห็นแก่ตัว อิจฉาริษยา

- ร.๗ : เพราะหวังดีต่อชาติแต่เป็นไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล

ความเห็นต่อการมีรัฐธรรมนูญ

- ร.๕ : ยังไม่ถึงเวลาและไม่เหมาะสมกับการเมืองไทย

- ร.๖ : เป็นไปไม่ได้สำหรับไทย

- ร.๗ : จะต้องมีแน่ ๆ แต่ปัญหาอยู่ที่เวลา

ความเห็นต่อการมีรัฐสภา

- ร.๕ : ดี แต่ไม่มีคนที่จะทำหน้าที่นี้เพียงพอ

- ร.๖ : ไม่ดี สับสน วุ่นวาย

- ร.๗ : ดี และควรรีบปูพื้นฐาน

ความเห็นที่มีต่อการมีพรรคการเมือง

- ร.๕ : ไม่เหมาะสมกับการเมืองไทย

- ร.๖ : ไม่ดี และ ไม่เหมาะสม

- ร.๗ : ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป


ความคิดเห็นต่อความสามารถของประชาชนในการปกครองตนเอง

- ร.๕ : ไม่ปรากฏแน่ชัด

- ร.๖ และ ร.๗ : ประชาชนยังไม่มีความรู้

ความเห็นที่มีต่อนโยบายหลักของประเทศ

- ร.๕ : การปฏิรูปการบริหาร

- ร.๖ : การสร้างความมั่นคง และ ความรู้สึกชาตินิยม

- ร.๗ : การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเตรียมปูพื้นฐานทางการปกครองแบบประชาธิปไตย


สำนึกทางการเมืองที่เกิดขึ้นสมัย ร.๕
ไม่รุนแรงพอให้เกิดพลังขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะ

- กลุ่มเพียงเสนอความคิดไปยัง ร.๕

- สมัย ร.๕ มีปัญหาของชาติบางอย่างที่ทำให้ชนชั้นปกครองต้องรวมตัวกันเพื่อแก้ไข

- สมัย ร.๕ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบบริหารตลอดรัชกาล ปัญหาทางการเมืองจึงเป็นเป้าหมายรอง



สมัย ร.๖ การปรับตัวทางการเมืองหยุดชะงัก
แต่ความสำนึกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเพราะ

- คนจบต่างประเทศมากขึ้น เมื่อมารับราชการเห็นจุดบกพร่องระบอบสมบูรณาฯ มีความรู้สึกเปรียบเทียบ

- ระบอบสมบูรณาฯไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้ลดลง

- พระบรมราโชบาย ร.๖ ปลุกความรู้สึกชาตินิยมและสนับสนุนออกหนังสือพิมพ์เสรี ผลต่อการตื่นตัวทางการเมืองสูง ขณะที่ระบอบสมบูรณาฯยังคงปิดกั้นกลุ่มคนที่ถูกปลุกแล้วให้เข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง


สรุปการเมืองและพัฒนาการเมืองใน ๓ รัชกาล

ความอยู่รอดระบบและการพัฒนาการเมืองขึ้นกับการปรับตัวของสถาบันทางการเมืองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ระบบการเมืองที่รวมอำนาจมาก และระบบการเมืองในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่วนอื่น ๆ นอกเมืองหลวงที่ผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนระดับสูงมากกว่าที่อยู่กับมวลชน ทำให้กลุ่มผู้นำราชการเป็นผู้ชี้ขาด ระบอบสมบูรณาฯ มีความขัดแย้งในตัวเอง ที่ทั้งรักษาสถานภาพ และ มีการรับรู้การเปลี่ยนแปลง แต่ระบอบปรับตัวช้าเนื่องจากผู้นำตัดสินใจไม่ได้ระหว่างรักษาอำนาจเดิมหรือเปลี่ยนแปลง จึงนำไปสู่การปฏิวัติ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนล่าง เป็นผลต่อการสับเปลี่ยนกลุ่มบุคคลผู้ถืออำนาจการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มท้าทายภายในระบบราชการเฉพาะที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจทางการเมืองในเขตเมืองหลวง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเป็นลักษณะของความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่ในระบบราชการกับผู้ปกครอง และมีผลเพียงการปรับเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยไม่กระทบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม โดยส่วนรวม การปฏิวัติ ๒๔๗๕ มิใช่เหตุการณ์ของปีนั้น แต่เป็นจุดสุดยอดของการสะสมความต้องการเปลี่ยนแปลงที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีพลังขับดันจากภายนอกและภายใน แต่มีข้อจำกัดที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นโครงสร้างส่วนกลางน้อยมาก หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ภายในระบบการเมืองนั้นการตื่นตัวทางการเมืองประชาชนอยู่ในระดับต่ำ



หมายเหตุ
การเน้นข้อความและการจัดเรียงเนื้อหาของบทความข้างต้น ในบางส่วนทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความเอง เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน ท่านสามารถดูต้นฉบับได้จากที่มาของบทความตามนี้

ที่มาของบทความ : การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วง ๓ รัชกาล รัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๗

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เดอะ ควีน : มุกหอม วงษ์เทศ


นับเป็นโชคดีของทุกฝ่ายที่การบริโภคอาหารค่ำดำเนินไปโดยราบรื่น อาหารที่บกพร่องและภาชนะที่ผิดพลาดได้รับการปรับปรุงแก้ไขทันท่วงที หาไม่แล้วคุณหญิงธุลีพิทักษ์คงไม่แคล้วล้มป่วยจากความเคืองและขายหน้า ความเป็นผู้ดีนี้เองที่ทำให้คุณหญิงต้องรักษาเกียรติยศและแบบแผนจนยังความลำบากแก่ตัวเอง จะโทษใครก็หาได้ไม่

ฝ่ายรำไพเป็นอันยอมอ่อนข้อต่อบิดามารดา หล่อนรับปากว่าจะพูดภาษาไทยให้ได้ทุกคำ หากพยายามถึงที่สุดแล้วไม่สำเร็จก็จะพูดภาษาอังกฤษทุกคำ ไม่ปะปนกัน

เคลื่อนย้ายกันกลับมาที่ห้องรับแขก คุณหญิงเจนอุบายโวหารหยิบกาน้ำชา ถ้วยมัก และขวดเกลือ-พริกไทยเซรามิคปั๊มรูปควีนอลิซาเบธที่สองสวมพระมาลาที่วางโชว์บนชั้นขึ้นมาดูทีละชิ้นอย่างทะนุถนอม แล้วชมว่าน่ารัก

คุณหญิงธุลีฯ แถลงว่าซื้อมาจากร้านขาย ซูเวอเนียร์ เมื่อคราวไปเที่ยวลอนดอนห้าหกปีก่อน กาน้ำชาราคา 25 ปอนด์ ถ้วยมักราคา 12 ปอนด์ ขวดเกลือ-พริกไทยคู่ละ 10 ปอนด์

พระยาเจนฯ กล่าวขึ้นว่า "สองเดือนก่อนที่ควีนอลิซาเบธเสด็จฯ เยือนสหรัฐหลายเมือง ผมได้ดูข่าวทั้งจากบีบีซีและซีเอ็นเอ็น เห็นคนอเมริกันมาเฝ้าฯรับเสด็จกันคับคั่ง ข่าวว่าแต่งเนื้อแต่งตัวหอบลูกจูงหลานแห่กันมายืนเข้าแถวรอตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งช่อดอกไม้ ทั้งกล้องดิจิตอล ถือกันให้ว่อน"

"จริงหรือคะ ที่ว่าคนอเมริกันไปเฝ้าควีนกันคับคั่ง แปลก ดิฉันนึกไม่ถึง" คุณหญิงธุลีฯ ทำสีหน้าพิศวง

"เป็นความจริงครับ คุณหญิง หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานว่าควีนอลิซาเบธทำให้คนอเมริกัน "เข่าอ่อน" ส่วนดิ อีโคโนมิสต์ยิ่งหนัก เขาว่า "Americans have a dangerous fondness for monarchy"

"แต่มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นได้นะครับ เจ้าคุณ" หลวงบริภาษฯ แย้ง "ก็ไอ้ประเทศอเมริกามันต่อสู้แยกตัวเป็นอิสระมาจากอังกฤษไม่ใช่เหรอครับ แล้วจู่ๆ จะกลืนน้ำลายกลับไปสวามิภักดิ์นายเก่าได้ยังไง เขม่นกันจะตายล่ะไม่ว่า"

"ปู้โธ่! คุณหลวงช่างไม่รู้อะไร! ประเทศอายุน้อยๆ ที่ไม่เคยมีโมนาคีอย่างคนอื่นเขาก็อย่างนี้แหละครับ จะเห่อรอยัลตี้กว่าปกติ ตอนเจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ คนอเมริกันก็ร้องห่มร้องไห้ไปด้วย" พระยาเจนฯ ยักไหล่เหมือนเป็นเรื่องแสนจะธรรมดาจนคร้านจะสาธยายต่อ

"แต่ดิฉันชอบภาพยนตร์เรื่อง เดอะควีน มากเลยค่ะ" คุณหญิงธุลีฯ แทรกเมื่อสบโอกาส "เธอเล่นเป็นควีนอลิซาเบธได้ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ เอ ดาราคนไหนหนอ ดิฉันจำชื่อเธอไม่ได้เสียแล้ว..."

"เฮเลน มีร์เรนค่ะ" รำไพไขข้อข้องใจ "แต่ทราบไหมคะว่าเธอกลับปฏิเสธคำเชิญไปรับประทานอาหารค่ำที่พระราชวังบั๊กกิ้งแฮม เล่นเอาใครต่อใครช็อคไปตามๆ กัน คิดดูสิคะ บอกปัดคำเชิญของควีนอลิซาเบธโดยอ้างว่าติดถ่ายหนัง โอ้ พระเจ้า!"

"ทำไมเธอถึงกล้าปฏิเสธนะ" คุณหญิงบริภาษฯ ถามบุตรี

"หนูก็ไม่ทราบค่ะ คุณแม่" รำไพส่ายหน้า ทำท่าตรองครู่หนึ่งแล้วกล่าวต่อว่า "ชาวอังกฤษคงไม่ได้อยากพบควีนเป็นการส่วนตัวกันทุกคนมั้งคะ"

"เดาซิว่าตอนนายบุชพบควีนอลิซาเบธ เขาทำอย่างไร" พระยาเจนฯ ตั้งปริศนา

คราวนี้พระยาธุลีฯ รับคำท้าก่อนใคร "ผมเดาว่านายบุชไม่ยอมโค้ง"

"เจ้าคุณเฉียบแหลมจริง!" พระยาเจนฯ ยกนิ้วหัวแม่มือพร้อมสีหน้าทึ่ง "ผมคอยจับตาดูนายบุชทุกฝีก้าว แกไม่แม้แต่จะก้มหัวให้อลิซาเบธสักนิดหนึ่ง ไอ้พิธีการแบบรัฐพิธีมันก็มีของมันไป ทะหงทหารแต่งตัวเต็มยศ แต่นายบุชทำยังกับว่าควีนอลิซาเบธเป็นแขกสำคัญธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่ควีนของเครือจักรภพตั้งสิบกว่าประเทศ ผมดูแล้วอดหงุดหงิดตาเคาบอยเท็กซัสนี่ขึ้นมาไม่ได้ อ้อ, ในสปีชแกก็หลุดคำผิดอีก หลุดไม่หลุดเปล่า ทะลึ่งขยิบตาให้ควีนอีกต่างหาก!"

"อะไร้! เป็นถึงประธานาธิบดี ช่างไร้มารยาทไม่รู้กาลเทศะ อเมริกันบ้านนอกชัดๆ!" คุณหญิงธุลีฯ ร้องขึ้นมา

"ผมว่าบุชแกทระนงแบบของแกมากกว่าครับ" หลวงหาญฯ ออกความเห็น "ผมรู้จักคนอเมริกันดี เขาถือว่าประเทศเขาพลเมืองมีความเท่าเทียม ไม่แบ่งชั้นวรรณะ"

"ไม่จริงครับ!" พระวาณิชอุปถัมภ์แย้งขึ้นทันที "ใครว่าอเมริกาไม่มีชั้นวรรณะ ผมค้านหัวชนฝา โรงเรียนกับคอลเลจนั่นแหละครับจะเป็นตัวบอก คุณหลวงได้โปรดไปดูก่อนว่าคนอเมริกันที่มีฐานะและการศึกษาส่งลูกเข้าสกูล์อะไร พอโตแล้วเข้ายูอะไร ตระกูลที่ทรงอิทธิพลในอเมริกา..."

คุณนายอนงค์แทรกว่า "คุณพี่คะ!" แล้วหันไปทางพระยาเจนฯ "แล้วควีนอลิซาเบธทรงทำยังไงต่อคะ เจ้าคุณ พอนายบุชมีกิริยาอย่างนั้น"

"ท่านก็ไม่ได้โต้ตอบครับ แค่มองอย่างเหยียดลึกๆ แต่ผมว่าท่านคงไม่สบอารมณ์นายบุชเท่าใดนัก สมัยท่านเสด็จฯเยือนอเมริกาครั้งแรกๆ ตาบุชยังเตาะแตะอยู่เลยกระมัง"

พระวาณิชฯ พูดต่อว่า "ผมบังเอิญอ่านเจอในหนังสือพิมพ์เหมือนกัน สื่ออังกฤษแสดงความประหลาดใจว่าทำไมชาวอเมริกันถึงยินดีปรีดาต้อนรับควีนของพวกเขากันอย่างเนื้อเต้นนักหนา แล้วเลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลพวงมาจากหนังเรื่อง เดอะควีน นั่นแหละครับที่ให้ภาพควีนอลิซาเบธอย่างเห็นอกเห็นใจ" พระวาณิชฯ หันไปยิ้มกับคุณหญิงธุลีฯ

"ถ้าให้ผมเดาอีกที" พระยาธุลีฯ หยุดครู่หนึ่งเหมือนจะสร้างความระทึก "คนอเมริกันน่าจะเป็นพวกโหยหาเทพนิยาย มีความเจริญมั่งคั่ง แต่ขาดวงศ์วานขัตติยะ"

"เจ้าคุณเดาได้ตรงใจผม" พระวาณิชฯ ตอบรับโดยพลัน "นอกจากนี้ผมยังเห็นว่าควีนอลิซาเบธทรงอยู่ในโลกที่บูชาดาราคนดังด้วยอีกโสตหนึ่งครับ คนอเมริกันเลยเครซี่กระตู้วู้ไปกันใหญ่ ทั้งแฟรี่เทลทั้งเซเล็บบริตี้ คนดังสามัญชนที่ไหนจะเทียบรัศมีได้"

"คุณพระก็วิเคราะห์ได้ตรงใจผมเช่นกัน" พระยาธุลีฯ ผงกศีรษะเห็นพ้อง

หลวงหาญฯ ใช้หางตาชำเลืองพระวาณิชฯ แวบหนึ่งก่อนจะกล่าวเสียงขึงขังว่า

"ผมมีมิตรสหายชาวอเมริกันหลายคน ช่วงที่ควีนอลิซาเบธเสด็จฯเยือนสหรัฐ เขาถกเถียงกันว่าคนอเมริกันควรจะโค้งคำนับหรือถอนสายบัวให้กับควีนอลิซาเบธหรือเปล่า

ฝ่ายที่ว่าควรก็อ้างว่าเพราะทรงเป็นถึงสมเด็จพระราชินีผู้เกรียงไกรแห่งอังกฤษ ครองราชย์มายาวนาน ทำไมจะแสดงความเคารพเพื่อเป็นเกียรติแด่องค์พระประมุขไม่ได้

ส่วนฝ่ายที่ว่าไม่ควรก็ค้านว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเชิดชูหลักเสรีภาพและความเสมอภาคเหนืออื่นใด เป็นเรื่องน่าละอายถ้าคนอเมริกันจะยอมก้มหัวให้กษัตริย์ ราชินี และเชื้อพระวงศ์ประเทศอื่น การต้อนรับควีนอลิซาเบธอย่างสมพระเกียรตินั้นสมควรกระทำตามธรรมเนียมเจ้าภาพที่ดี แต่ต้องไม่ลดตัวเองให้ต่ำกว่าเยี่ยงผู้อยู่ใต้อาณัติ ฝ่ายนี้จึงเห็นว่านายบุชในฐานะประมุขของรัฐทำถูกแล้วครับ ควีนอลิซาเบธเป็นควีนของอังกฤษ ไม่ใช่ควีนของอเมริกา"

"โอ คิดถึงว่าถ้าสมมุติชาวอเมริกันต้องหมอบคลานแล้วขำจังเลยค่ะ" รำไพยกมือป้องปาก หัวเราะคิกคัก

"แต่ชาวอังกฤษหรือชาวยุโรปไม่เคยทำกันขนาดนั้นนะครับ" หลวงหาญฯ เสียงแผ่วลง

"แต่ถ้าเป็นปริ๊นซ์วิลเลียม รำไพยอมค่ะ ดีใจจะตายที่เลิกกับยัยเคทนั่นได้" เผลอคะนองปากแล้วเจ้าตัวก็หน้าแดงซ่านเสียเอง

หลวงหาญฯ หน้าเจื่อนไปพอประมาณแล้วเลยเสไปคุยเรื่องอื่น พักหนึ่งพระยาเจนฯ ก็วกกลับเข้าเรื่องเดิมอีกจนได้ ว่านายจอร์จ บุชถูกเกลี้ยกล่อมให้จัดเลี้ยง "ไวท์ไท" สเตทดินเนอร์เป็นครั้งแรกของทำเนียบขาวในสมัยของเขา แถมยังต้องแต่งชุดทักซิโด้ที่เฒ่าลูกทุ่งอย่างเขาออกจะขยาด การตระเตรียมงานรับ รอยัลวิซิท ชุลมุนวุ่นวายไม่น้อย

ฝ่ายตกแต่งสถานที่ต้องเร่งบูรณะทำเนียบขาวให้งามผ่องทุกตารางนิ้ว ฝ่ายพิธีทางการทูตกริ่งเกรงเล็กน้อยว่านายบุชจะหลุดวาจาและกิริยาอันไม่บังควร ด้วยประธานาธิบดีสหรัฐผู้นี้เคยยกขวดน้ำกรอกใส่ปากในงานเลี้ยงอาหารกลางวันของยูเอ็นแทนที่จะรินน้ำใส่แก้วก่อนดังที่ผู้ได้รับการอบรมประพฤติปฏิบัติกัน อีกครั้งหนึ่งนั้นมีประจักษ์พยานพบเห็นนายบุชเคี้ยวก้อนขนมปังหยับๆ เต็มปากขณะกำลังคุยจ้อกับนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ นี่ยังไม่นับการตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเมื่อผู้นำชาติมหาอำนาจคนนี้รีบกลืนขนมปังกรอบเพร็ทเซลแล้วสำลักติดคอจนหมดสติ!

ตามคู่มืออบรมจรรยามารยาทที่จัดเตรียมไว้ให้ นายบุชพึง แอดเดรส ควีนอลิซาเบธให้ถูกต้องว่า "Your Majesty" และเรียกเจ้าชายฟิลลิปพระสวามีว่า "Your Royal Highness" สำหรับเหล่าสุภาพสตรีนั้นจู่ๆ จะถือวิสาสะ เช็กแฮนด์ กับควีนไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าพระองค์จะยื่นพระหัตถ์ออกมาให้สัมผัสก่อน และเมื่อใดที่พระองค์เสวยพระกระยาหารเสร็จ ทุกคนที่เหลือก็ต้องเสร็จตามทันที

เวลาแห่งการสังสรรค์ล่วงไปจนดึก ในที่สุดทุกคนในงานเลี้ยงของพระยาธุลีพิทักษ์ต่างยอมรับกันถ้วนหน้าว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากจะมีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยกับสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เป็นที่สุด จะเป็นอาหารหรือชาก็ไม่เกี่ยง


มุกหอม วงษ์เทศ

มติชน : คอลัมน์ คุยความคิด
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10718

ที่มา : เดอะ ควีน

หมายเหตุ
ฮามาก...
อ่านแล้วให้นึกถึงว่าตัวละครยังหลงอยู่ในยุค " วิคตอเรีย " อย่างไม่ยอมโงหัวพยุงคอ ขึ้นมาจากอดีต....

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550

กฎมณเฑียรบาลกับรัฐธรรมนูญ


กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริของรัชกาลที่ ๖ นับตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ดังที่ทรงบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า “ความคิดของฉันได้มีอยู่เช่นนี้ตั้งแต่เมื่อฉันได้เปนพระเจ้าแผ่นดินขึ้นใหม่ๆ และฉันมิได้ลืมความคิดนั้นเลย เปนแต่เมื่อยังมิได้แลเห็นโอกาสอันเหมาะที่จะออกกฎหมายอย่างที่ว่านั้นก็ยังระงับๆไว้ มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ ตอนปลายปีมีเหตุเตือนใจให้ฉันรำลึกขึ้นได้ถึงความคิดอันนั้น จึ่งได้มาจับบทดำริห์และร่างกฎหมายนั้น อันจะได้ใช้เปนนิติธรรมสำหรับการสืบราชสันตติวงศ์เปนระเบียบต่อไป”

ภายหลังรัชกาลที่ ๖ ทรงร่างกฎมณเฑียรบาลแล้วเสร็จ ก็ทรงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ แต่ในมาตรา ๒ กลับกำหนดให้มีผลใช้บังคับนับแต่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๗

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรได้จัดทำธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขึ้นใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ในส่วนการเข้าสู่ตำแหน่งของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ คณะราษฎรไม่ปรารถนาจะร่างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ แต่กลับให้ไปใช้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยในมาตรา ๔ ของธรรมนูญฯ บัญญัติว่า “ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมฤดกให้ให้เป็นไปตามกฎมนเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้ แทนราษฎร”

อย่างไรก็ตาม แม้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวจะไม่ก้าวล่วงไปแทรกแซงเนื้อหาของกฎมณเฑียรบาล กล่าวคือ ลำดับการขึ้นครองราชย์ยังคงเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลดังเดิม แต่การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่การเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขของรัฐต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน

หลักการดังกล่าวได้รับการยืนยันต่อมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ดังเช่น มาตรา ๙ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕, มาตรา ๙ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๘๙, มาตรา ๑๒ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๐, มาตรา ๒๓ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๒, มาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๕, มาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๑๑, มาตรา ๒๕ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๑๗ และมาตรา ๒๐ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๒๑

จนกระทั่งถึงปี ๒๕๓๔ การกลับหลักการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขของรัฐต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔ แม้บทบัญญัติในมาตรา ๒๐ ยังคงยืนยันตามเดิมว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗” แต่ได้ลดอำนาจของรัฐสภา จากเดิมต้อง “ให้ความเห็นชอบ” การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ มาเป็นเพียง “เพื่อรับทราบ” เท่านั้น ดังปรากฏในมาตรา ๒๑ วรรคแรกว่า “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”

บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวได้รับการสืบทอดต่อมาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓

เป็นอันว่า นับแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้นมา ระบบกฎหมายไทยได้เปลี่ยนแปลงหลักการเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขของรัฐ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญไทยในอดีตกำหนดให้ “การขึ้นครองราชย์ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลและต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ” มาเป็น “การขึ้นครองราชย์ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลและต้องให้รัฐสภารับทราบ”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ในตัวกฎมณเฑียรบาล รัชกาลที่ ๖ ทรงกำหนดวิธีการแก้ไขไว้ในมาตรา ๒๐ ว่า “ถ้าแม้ว่าเมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใดๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา ให้มีองคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า ๒ ส่วนใน ๓ แห่งจำนวนองคมนตรีทั้งหมดแล้ว และพระราชทานข้อความอันมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขหรือเพิกถอนนั้นให้สภาปรึกษากันและถวายความเห็นด้วยความจงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริต ถ้าและองคมนตรีมีจำนวนถึง ๒ ส่วนใน ๓ แห่งผู้ที่มาประชุมนั้นลงความเห็นว่าควรแก้ไขหรือเพิกถอนตามพระราชประสงค์ได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงค่อยมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน แต่ถ้าแม้ว่าองคมนตรีที่มาประชุมนั้นมีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนเป็นจำนวนไม่ถึง ๒ ใน ๓ แล้วไซร้ ก็ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นไว้เถิด”

นั่นหมายความว่า ในระบอบเก่า กษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มและเสนอสาระสำคัญที่ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติม และองคมนตรีเป็นผู้ลงมติว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับแรกๆไม่ได้กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลไว้ ดังนั้น การแก้ไขก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา ๒๐ ของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ ตามเดิม

จนกระทั่งมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๒ ในมาตรา ๒๓ วรรคสองได้ไปไกลถึงขนาดว่า “การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้” และยืนยันตามกันมาในมาตรา ๒๑ วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๕

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๑๑ ในมาตรา ๒๒ วรรคสองได้ลดความเข้มงวดในการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ จากเดิมที่ “กระทำมิได้” มาเป็นให้กระทำได้แต่ต้องกระทำ “โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”

เงื่อนไขดังกล่าว ใช้บังคับเรื่อยมาในมาตรา ๒๕ วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๑๗ และมาตรา ๒๐ วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๒๑ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔ กล่าวคือ ในมาตรา ๒๐ วรรคสอง กำหนดให้ “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

เช่นเคย บทบัญญัติทำนองนี้ถูกล้อต่อมาในมาตรา ๒๒ วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐

เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเป็นพระราชอำนาจโดยแท้ของกษัตริย์เช่นนี้ อีกนัยหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในระดับรัฐธรรมนูญเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้แก่กษัตริย์โดยตรง จึงน่าคิดต่อไปว่าแล้วสถานะของกฎมณเฑียรบาลจะเป็นเช่นไร สูงกว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือไม่? เทียบเท่าหรือสูงกว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่? ในกรณีที่เนื้อหาของกฎมณเฑียรบาลขัดกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ จะใช้บังคับกฎมณเฑียรบาลหรือพระราชบัญญัติ?

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แสดงความเห็นไว้ในตำรากฎหมายมหาชนของเขาว่า กฎมณเฑียรบาลมีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผล ๓ ประการ ดังนี้ ประการแรก พิจารณาจากประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยแล้ว รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับถือว่ากฎมณเฑียรบาลมีความสำคัญมาก และยกไว้ระดับเดียวกับรัฐธรรมนูญเสมอมา เมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้ระบุศักดิ์กฎมณเฑียรบาลไว้แตกต่างไปจากประเพณีเดิม กฎมณเฑียรบาลก็ต้องมีศักดิ์เท่ากับรัฐธรรมนูญ ประการที่สอง รัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลไว้ให้เป็นพระราชอำนาจโดยแท้ของพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว รัฐสภาไม่อาจแก้ไขได้ นั่นหมายความว่า กฎมณเฑียรบาลย่อมมีสถานะเหนือกว่ากฎหมายธรรมดา ในกรณีที่กฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาขัดกับกฎมณเฑียรบาล ก็ต้องใช้กฎมณเฑียรบาล จะนำหลัก “กฎหมายที่ออกขึ้นภายหลังย่อมมีผลใช้บังคับก่อนกฎหมายที่ออกขึ้นก่อน” มาใช้ไม่ได้ ประการที่สาม กฎมณเฑียรบาลมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่โดยสภาพแล้วเป็นรัฐธรรมนูญ (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชนเล่ม ๓ ที่มาและนิติวิธี, นิติธรรม, ๒๕๓๘, หน้า ๓๓.)

ปัญหาน่าคิดอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเป็นพระราชอำนาจโดยแท้ของกษัตริย์ร่วมกับความช่วยเหลือขององคมนตรี แต่รัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อีกนัยหนึ่ง ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบนั่นเอง เช่นนี้แล้ว จะสอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบของผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการหรือไม่ ก็ในเมื่อพระมหากษัตริย์กับองคมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจโดยแท้ร่วมกันในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล แต่กลับให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบแทนในฐานะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งๆที่รัฐสภาไม่ได้มีอำนาจ “ให้ความเห็นชอบ” การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล หากทำได้เพียง “รับทราบ” เท่านั้น

กรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔ ลดอำนาจของรัฐสภาจาก “ให้ความเห็นชอบ” เหลือเพียง “รับทราบ” ในการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ก็ดี กรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔ ลดอำนาจของรัฐสภาจาก “ให้ความเห็นชอบ” เหลือเพียง “รับทราบ” ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียบาลก็ดี นับเป็นจุดเริ่มต้นให้การเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐและกฎมณเฑียรบาล เป็นเรื่อง “วงใน” ของพระมหากษัตริย์ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง

อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญ เป็นเอกลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แบบ “ไทยๆ” นั่นเอง


ปิยบุตร แสงกนกกุล

ตีพิมพ์ครั้งแรก:
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2550

ที่มาของบทความ : โอเพ่นอ่อนไลน์ : นิติรัฐ : กฎมณเฑียรบาลกับรัฐธรรมนูญ

ปิดฉากสถาบันกษัตริย์ ฯ



ปิดฉากสถาบันกษัตริย์เนปาล
รัฐบาลเตรียมประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐปีหน้า

บีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ว่า รัฐบาลเนปาลเตรียมยกเลิกระบบกษัตริย์แล้ว ตามข้อตกลงกับกบฏลัทธิเหมาซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลมายาวนาน โดยในปีหน้า รัฐบาลจะจัดการเลือกตั่งทั่วไป จากนั้นจะประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ และตั้งรัฐสภาตามระบอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรรัฐบาลเนปาล 6 พรรค และกบฎลัทธิเหมาได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เนปาลจะกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากมีการเปิดรัฐสภาเนปาลเป็นครั้งแรก

รายงานระบุว่า แผนยกเลิกระบอบสถาบันกษัตริย์ของเนปาลเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลประสบปัญหาในการเจรจาหยุดยิงกับกบฎเนปาล เพื่อนำประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่มกบฎเนปาลประกาศว่ากลุ่มพร้อมที่เล่นการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ขณะที่ชาวเนปาลก็สนับสนุนที่จะให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ ทั้งนี้ ราชวงศ์เนปาลได้เสื่อมความนิยมนับตั้งแต่เกิดเหตุสังหารหมู่ราชวงศ์เนปาลเมื่อปี 2544 และการใช้ความรุนแรงของกษัตริย์คเยนทราเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

เป็นที่รับรู้ว่า เนปาลจะพลิกโฉมหน้ากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยหน้าใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ชนิดไม่เหลือแม้แต่สถาบันกษัตริย์ให้ไว้ประดับในรัฐธรรมนูญ ทว่านี่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พูดได้ว่า เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ผ่านการยินยอมพร้อมใจของประชาชนชาวเนปาลเอง

แล้วประเทศชื่อเนปาลก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่น่าใจหายสำหรับบางประเทศ โดยเฉพาะการล้มสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน เมื่อข้อตกลงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎ ที่เป็นปรปักษ์คู่อริกับสถาบันกษัตริย์เนปาลมาแต่ไหนแต่ไรได้บรรลุขึ้น ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ของเนปาลซึ่งครั้งหนี่งเคยเป็นที่ชื่นชอบของชาวเนปาลต้องถึงกาล 'ล่มสลาย' กลายเป็นอดีตอย่างถาวร จากอิทธิพลแห่งการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกต่อประเทศเล็ก ๆ ที่ถวิลหาระบอบปกครองใหม่ และน้ำมือของกษัตริย์เจ้าแผ่นดินนาม 'คเยนทรา' ผู้ซึ่งถูกหลายฝ่ายโจมตีเป็นฝ่ายทำลายราชวงศ์กษัตริย์ด้วยพระองค์เอง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มพันธมิตรรัฐบาลเนปาล 6 พรรค ได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลลัทธิเหมา เพื่อแผ่วทางไปสู่การเมืองระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูป ด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และประกาศให้ประเทศเป็นสาธารณะ ก่อนจะจัดตั้งรัฐสภาขึ้นมาเพื่อร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้น สถาบันกษัตริย์ก็จะถูกยุบอย่างเป็นทางการ โดยเนปาลจะพลิกโฉมหน้ากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยหน้าใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ชนิดไม่เหลือแม้แต่สถาบันกษัตริย์ให้ไว้ประดับในรัฐธรรมนูญ ทว่านี่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พูดได้ว่า เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ผ่านการยินยอมพร้อมใจของประชาชนชาวเนปาลเอง

ว่าไปแล้ว การถึงกาลอวสานของราชวงศ์เนปาล ได้ถูกปูทางก่อนถึงบทสรุปเด็ดขาด ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วโดยรัฐบาลพลเรือนของเนปาลต้องการบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มกบฎเนปาล ซึ่งดำเนินสงครามต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ตามความศรัทธาลัทธิเหมาของกลุ่ม หลังจากที่รัฐบาลเนปาลต้องทนกับสภาพบ้านเมืองวุ่นวายไม่สงบ เพราะปฎิบัติการก่อกวนของกลุ่มกบฎเหมา ที่มีศักยภาพคายพิษแสบกระทบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการปิดกั้นการจราจรตามเมืองต่างๆ ของประเทศ การจัดการ

ชุมนุมขนาดใหญ่ป่วนรัฐบาล นอกเหนือจากการควบคุมพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพคร่าวกับกบฎลัทธิเหมา ด้วยการยอมประเด็นสำคัญเรื่องการพิจารณาเรื่องยุบราชวงศ์เนปาล ภายใต้การเมืองใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ โดยรัฐสภาชุดใหม่จะมีการร่าง'แก้ไขรัฐธรรมนูญ'เปลี่ยนเนปาลให้เป็นประเทศสาธารณรัฐ และรัฐบาลพลเรือนเนปาลต้องยอมกลุ่มกบฎที่ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว หลังจากกลุ่มโวยวายต้องการให้มีการยุบสถาบันกษัตริย์เนปาลอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านราชวงศ์กษัตริย์เนปาลเกิดขึ้นจาก 'ประชาชนชาวเนปาล' เองที่ไม่พอใจการปกครองประเทศของกษัตริย์เนปาล เป็นปฎิกิริยาที่เกิดขึ้นชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แตกต่างจากกษัตริย์พิเรนทราซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ชื่นชอบและศรัทธาของชาวเนปาลทั่วประเทศ โดยแผ่นดินเนปาลต้องพานพบฝันร้าย เมื่อพระองค์และพระราชินีไอชวายา และสมาชิกราชวงศ์อื่น ๆ 7 พระองค์ ต้องถูกสังหารสิ้นชีพขณะที่ร่วมกระยาหารมื้อค่ำ จากน้ำมือของเจ้าชายดิเพนทรา ผู้ผิดหวังเรื่องความรักที่ถูกกีดกั้น ก่อนปลิดชีพตัวเอง กลายเป็นเหตุการณ์ช๊อกเนปาลและทั่วโลก

ต่อมา กษัตริย์คเยนทรา ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบศรัทธาจากชาวเนปาลเท่ากับได้ผงาดขึ้นมาเป็น 'จ้าวแผ่นดิน'บริหารประเทศ โดยพระองค์ได้ใช้ 'กฎเหล็ก' ด้วยสถานภาพประมุขของประเทศ ประกาศยุบรัฐบาลพลเรือนของนายเชอร์ บาฮาดูร์ ดิวบา ฐานไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกบฎลัทธิเหมา เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งในปี 2548 ท่ามกลางกระแสโจมตีพระองค์ว่าต้องการจะยึดอำนาจเพื่อบริหารประเทศ และสร้างระบอบกษัตริย์ที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายเป็นความรุนแรง จากการประท้วงของประชาชนที่เบื้องแรกเริ่มต้นจากการจลาจลบนท้องถนน และนำไปการประกาศใช้กำลังทหาร
ปราบปรามประชาชนและสมาชิกพรรรคฝ่ายค้าน และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด

ขณะที่กษัตริย์คเยนทราต้องเผชิญกับ 'พลังประชาชน' ที่รวมตัวชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้พระองค์ต้องยอมถอยหลัง เพื่อไม่ให้ประเทศเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตยไร้ขื่อแป ท่ามกลางกระแสกดดันของนานาชาติซึ่งเพิ่มขึ้นต่อกษัตริย์เนปาลพระองค์ โดยต่างชาติต่างไม่พอใจกับการใช้กฎเหล็กรุนแรงของพระองค์ในการกุมบังเหียนบริหารประเทศ ในสภาพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ก่อนที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะขี้นมาจัดตั้งรัฐบาล และประกาศจะทำข้อตกลงสันติภาพกับกบฎลัทธิเหมา และ

กษัตริย์คเยนทราถูกบังคับให้สละอำนาจบริหารประเทศโดยตรงหลังจากนั้น เป็นเส้นทางที่นำไปสู่อวสานของสถาบันกษัตริย์ประเทศนี้ โดยเนปาลจะไม่ได้เห็นพระ 'โอรสพระองค์ต่อไป' ได้มีโอกาสสืบทอดราชบัลลังก์กษัตริย์ต่อไปอีกแล้ว โดยเฉพาะเจ้าชายเปราส มกุฎราชกุมาร ถือเป็นการสิ้นสุดยุคของกษัตริย์พระองค์ของเนปาล ด้วยชื่อสุดท้ายของพระเจ้าแผ่นดินชื่อ 'คเยนทรา'


เรียงเรียงจาก http://www.matichon.co.th/

โดย. ประชาไท

เพิ่มเติมท้ายข่าว

ขออภัย ข่าวนี้ปิดการแสดงความเห็นชั่วคราว

ที่มา : ข่าวประชาไท

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พระราชดำรัสของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย


"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย”

อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙


รัฐเสรีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐหรือราชอาณาจักร จะเป็นรัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐ ประมุขของรัฐ ย่อมมีสิทธิในการกล่าวสุนทรพจน์ (ภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า Speech หรือ Message ส่วนภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า Discours) ต่อสาธารณะและประชาชน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเงื่อนไขการกล่าวสุนทรพจน์ของประมุขของรัฐจะเหมือนกันในทุกประเทศ ตรงกันข้าม ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะระบอบการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ

การพิจารณาขอบเขตและเงื่อนไขในการกล่าวสุนทรพจน์ของประมุขของรัฐ ต้องใช้อำนาจทางการเมืองและความรับผิดชอบของประมุขของรัฐเป็นเกณฑ์พิจารณา โดยแยกเป็นประมุขของรัฐที่มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ และประมุขของรัฐที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง

กล่าวสำหรับรัฐเสรีประชาธิปไตยที่มีประมุขมีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ ย่อมปกครองในระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา หรือปกครองในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เช่น ฝรั่งเศส กล่าวคือ ประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมีอำนาจทางการเมืองในการบริหารประเทศ เมื่อประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐ และเป็นทั้งฝ่ายบริหารสูงสุด จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ประธานาธิบดีย่อมมีสิทธิกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองต่อสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง เพราะ มีที่มาจากประชาชน มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ และมีความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจทางการเมืองของตน

ดังจะเห็นได้จากกรณีสหรัฐอเมริกา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในทุกเดือนมกราคมที่ประธานาธิบดีต้องกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส ประธานาธิบดีไม่อาจเข้าไปสภาคองเกรสได้โดยไม่มีพิธีรีตอง โดยทั่วไปทหารประจำสภาคองเกรสจะนำประธานาธิบดีเข้าไปในที่ประชุม สมาชิกรัฐสภาจะยืนปรบมือต้อนรับประธานาธิบดี จากนั้นประธานาธิบดีแจกสำเนาสุนทรพจน์ให้แก่ประธานสภาคองเกรส ประธานวุฒิสภา และรองประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะอ่านสุนทรพจน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายการบริหารประเทศ โดยไม่มีการอภิปรายจากสมาชิกสภา

ในส่วนของรัฐเสรีประชาธิปไตยที่ประมุขไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ ย่อมปกครองในระบบรัฐสภา อาจแบ่งออกเป็น รัฐที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ เช่น สหราชอาณาจักร สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และรัฐที่มีประมุขเป็นประธานาธิบดี เช่น สหพันธ์สาธารรัฐเยอรมนี อิตาลี กรีซ โปรตุเกส

ในรัฐที่มีประมุขเป็นประธานาธิบดีและไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ ตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม กล่าวคือ รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือในบางประเทศ ให้มีคณะกรรมการเลือกตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อประธานาธิบดีไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่อำนาจเหล่านี้ตกเป็นของรัฐบาลแล้ว การกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะของประธานาธิบดีจึงต้องถูกจำกัดตามไปด้วย

กล่าวสำหรับ รัฐที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ การแสดงพระราชดำรัสของกษัตริย์ ยิ่งต้องมีความระมัดระวัง และมีเงื่อนไขที่จำกัดมากขึ้น เพราะ ตำแหน่งกษัตริย์มีที่มาจากการสืบทอดทางสายเลือดของราชวงศ์ตามนัยของกฎมณเฑียรบาล ไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงในทางประชาธิปไตยกับประชาชน ประกอบกับ ราชอาณาจักรที่เป็นประชาธิปไตย หรืออาจเรียกว่าเป็นการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ แต่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ใช้อำนาจและเป็นผู้รับผิดชอบ

ในสหราชอาณาจักร ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยึดถือกันมาโดยตลอดว่า พระราชาหรือพระราชินี (แล้วแต่กรณี) จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะปีละ ๒ ครั้ง ครั้งแรก คือ การเปิดประชุมรัฐสภา และครั้งที่สอง ในช่วงวันคริสต์มาส

กรณีกล่าวพระราชดำรัสในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ร่างพระราชดำรัส และมอบให้พระราชาหรือพระราชินีอ่านในพิธีเปิดประชุม สมาชิกรัฐสภาจะนั่งฟังด้วยความสงบ ไม่มีการโต้แย้ง เมื่อทรงอ่านพระราชดำรัสแล้วเสร็จ พระราชาหรือพระราชินีจะทรงเปิดประชุม และเสด็จกลับ จากนั้นสมาชิกรัฐสภาจึงอภิปรายกัน และลงมติรับรอง “คำตอบต่อพระราชดำรัส”

กระบวนการเช่นว่านี้ นำไปใช้ในแคนาดา และออสเตรเลียด้วย โดยผู้อ่านพระราชดำรัสนั้น เป็นผู้แทนพระองค์ประจำประเทศนั้นๆ

เช่นเดียวกันกับเนเธอร์แลนด์ พระราชินีในฐานะประมุขของรัฐต้องกล่าวพระราชดำรัสต่อสมาชิกรัฐสภาในวัน Prinsjesdag (ภาษาอังกฤษเรียกว่า วัน day of the princes) ของทุกปี (ส่วนมากตรงกับวันอังคารที่สามของเดือนกันยายน) คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ร่างพระราชดำรัส มีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายที่จะดำเนินการในปีนั้น และมอบให้พระราชินีเป็นผู้อ่านพระราชดำรัส เมื่อทรงอ่านแล้วเสร็จ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะลุกขึ้นกล่าว “Long live the Queen!” ตามด้วยสมาชิกรัฐสภาร่วมกันตอบรับว่า “Hurray! Hurray! Hurray!” แล้วพระราชินีและครอบครัวก็เสด็จกลับ จึงเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นจึงเริ่มพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

ในนอร์เวย์ คล้ายกับสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ที่กษัตริย์จะเข้าร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาประจำปี ในทุกเดือนกันยายน โดยอ่านพระราชดำรัสที่รัฐบาลเป็นผู้ร่าง ส่วนเบลเยียม รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา ๑๐๒ ว่า “ไม่มีกรณีใดที่พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาจะหลุดพ้นไปจากความรับผิดชอบของรัฐมนตรี”

นอกจากการแสดงพระราชดำรัสต่อรัฐสภาแล้ว โดยทั่วไปกษัตริย์จะไม่แสดงพระราชดำรัสที่มีเนื้อหาทางการเมืองต่อสาธารณะ อาจมีในบางกรณีที่กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสต่อประชาชนโดยไม่ได้ผ่านรัฐสภา เช่น วันคริสต์มาส หรือวันเกิด แต่เนื้อความในพระราชดำรัสก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ทว่าเป็นเพียงการอวยชัยให้พรเสียมากกว่า

ส่วนประเทศอื่นๆที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับการแสดงพระราชดำรัสของกษัตริย์ไว้นั้น พบว่า มีน้อยมากที่กษัตริย์จะแสดงพระราชดำรัสในประเด็นทางการเมือง นอกจากกรณีวิกฤติการณ์ร้ายแรงจริงๆ

เช่น ในสเปน กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ได้แสดงพระราชดำรัสต่อสาธารณะผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อแสดงว่าพระองค์ไม่ยอมรับรัฐประหาร และเรียกร้องให้ทหารกลับเข้าประจำหน้าที่ ในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๘๑ (ดูบทความเก่าของผู้เขียน, เมื่อฆวน คาร์ลอส ปฏิเสธรัฐประหาร) หรือกรณีล่าสุด หลังการก่อการร้ายในกรุงมาดริดเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๐๐๔ พระองค์ได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว และเรียกร้องความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พระองค์แสดงพระราชดำรัสต่อสาธารณะนับแต่เหตุการณ์ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๘๑

อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ชัดเจนหรือไม่ หรือมีธรรมเนียมปฏิบัติวางกรอบไว้หรือไม่ก็ตาม กษัตริย์ในรัฐเสรีประชาธิปไตยทรงตระหนักถึงพระราชอำนาจ สถานะ ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ที่กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเสรีประชาธิปไตยพึงมีเสมอ ดังนั้นพระองค์จึงสงวนตนเองไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการแสดงพระราชดำรัสที่อาจส่งผลกระทบทางการเมือง เพราะ การเข้าไปพัวพันทางการเมือง (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าโดยชัดเจนหรือปริยาย) ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือต่อสถาบันกษัตริย์เอง

คงไม่เกินเลยไปหากจะบอกว่า ในรัฐเสรีประชาธิปไตย กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่พึงแสดงพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการเมืองตามความคิดเห็นของกษัตริย์เองโดยลำพัง และปราศจากการร่างหรือตรวจสอบโดยคณะรัฐมนตรี

การแสดงพระราชดำรัสในประเด็นทางการเมืองต่อสาธารณะนับเป็นการแทรกแซงทางการเมืองในลักษณะหนึ่ง ซึ่งกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐที่ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ จำต้องพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะด้วยสถานะของตนเองที่ต้องเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับไม่มีฐานที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง

ต้องไม่ลืมว่า การแสดงพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการเมืองต่อสาธารณะตามความคิดเห็นของกษัตริย์เอง นอกจากจะผิดหลักการตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังส่งผลกระทบทางการเมืองในวงกว้าง และอาจมีบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนำไปบิดเบือนใช้ประโยชน์ได้

และหากปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังอันตรายต่อเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์อีกด้วย


โดย. ปิยบุตร


หมายเหตุ
ผมเคยเขียนเรื่องทำนองนี้ไว้ เล่าสู่กันฟังในส่วนของกษัตริย์ประเทศอื่นๆ ตั้งใจจะลงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่เขาพิจารณาแล้วขอไม่เอาลงด้วยเหตุผลบางประการ


เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยครับ

เมื่อเดือนที่แล้ว กษัตริย์ของเบลเยียมก็มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เขาออกมาเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในเร็ววัน

คือ ตอนนี้เบลเยียมประสบวิกฤติการเมือง ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะ มีความขัดแย้งกันระหว่างพรรคการเมืองสองขั้ว ระหว่างเสรีนิยม กับ พวกชาตินิยมของเฟลมัช

เบลเยียมเป็นประเทศที่มี ๓ ชาติหลักๆผสมกันอยู่ ใช้ ๓ ภาษา คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน และฮอลแลนด์

คนส่วนใหญ่ คือ เชื้อชาติเฟลมิช ใช้ภาษาฮอลแลนด์ แต่พวกอีลิท ชนชั้นนำทางการเมือง เป็นพวกพูดฝรั่งเศส กษัตริย์ก็เป็นพวกพูดฝรั่งเศส

ผมอ่านตำรารัฐธรรมนูญของประเทศราชาธิปไตยในยุโรปเปรียบเทียบเล่มหนึ่ง เก่ามากแล้ว ตีพิมพ์ช่วงปลาย ๑๙๖๐ เขาศึกษาบทบาททางการเมืองของกษัตริย์ในสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยียม ฮอลแลนด์ ลักเซมเบิร์ก เขาสรุปว่า กษัตริย์ของเบลเยียมมีบทบาททางการเมืองมากที่สุด

เรื่องนี้ ต้องเข้าใจบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเบลเยียม ที่เป็นประเทศผสมเอา ๓ เชื้อชาติ ๓ ภาษา เข้ามาอยู่ด้วยกัน กษัตริย์จึงต้องดำรงตนเป็นผู้ประสานความสามัคคีของคนทั้ง ๓ ชาตินี้

แต่อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ของเขาก็ไม่เคยมีพระราชดำรัสที่เทคไซด์ไปข้างใดข้างหนึ่งแบบชัดเจน (คนก่อนๆมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะช่วงก่อนสงครามโลก จนจบสงครามโลก แต่คนปัจจุบันนี่ ส่วนใหญ่มีแต่พระราชดำรัสแนวๆเน้นความร่วมมือร่วมใจของคนในประเทศมากกว่า)

อีกกรณีล่าสุด คิดว่าคงรู้กันแล้ว เพราะปรากฏในข่าว คือ กรณีฆวน คาร์ลอส ไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศที่ใช้ภาษาสเปน แล้วไปเม้งแตกใส่ฮูโก้ ชาเวซ ปธน เวเนซุเอลา ว่า เมื่อไรคุณจะหุบปากเสียที เพราะ ทนชาเวซที่พูดแทรกตลอดเวลาระหว่างที่ โฆเซ่ ซาปาเตโร นายกฯสเปน กำลังพูดอยู่

กรณีนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเหมือนกัน

ปิยบุตร


ที่มาของบทความและส่วนเพิ่มเติม : บอร์ดฟ้าเดียวกัน

การเน้นข้อความเปนการทำไปโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ทำไมประเทศประชาธิปไตยจึงไม่อนุญาตให้ประมุขที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง พูดปัญหาการเมือง-กฎหมาย-สังคม ต่อสาธารณะด้วยตัวเอง


ประมุขที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในทีนี้ อาจจะได้แก่ประธานาธิบดีพิธีการ(ceremonial president) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล, ตัวแทนควีน (เช่นในออสเตรเลีย) และแน่นอน ควีน คิง หรือจักรพรรดิ (อังกฤษ, ญี่ป่น เป็นต้น) ตวามจริง เป็นเวลาหลายปีหลัง 2475 ประเทศสยามก็ทำตามหลักการนี้เช่นกัน

แต่นี่เป็นปัญหาหลักการที่คนไทยปัจจุบัน แม้ระดับปัญญาชน นักวิชาการ ไม่เข้าใจ อย่าว่าแต่ระดับชาวบ้านทั่วๆไป หรือแม้แต่ผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา เหตุผลที่ไม่เข้าใจ ก็ไม่ยากเย็นลึกลับอะไร เพราะเราโตขึ้นมาจากสภาพตรงกันข้ามกับหลักการนี้

(ผมเคยเล่าเป็นเกร็ดในบอร์ดเก่าแล้วว่า เมื่อนครินทร์นำเสนอ draft ของงานที่ต่อมากลายเป็นหนังสือ "กรณี ร.7 ทรงสลาราชย์" นั้น นครินทร์ ยังไม่รู้หรือเข้าใจประเด็นนี้เลยว่า กรณีอย่างกษัตริย์-ควีน-อังกฤษ ไม่สามารถพูดอะไรต่อสาธารณะด้วยพระองค์เองอย่างเด็ดขาด ทุกอย่างต้องให้รัฐบาลร่างให้ ผมกับ อ.กุลลดา ต้องช่วยกันยืนยันในเรื่องนี้)

ในกระทู้ที่คุณ "อ้า..." ดีเบตกับผมไม่กี่วันที่ผ่านมาในบอร์ดฟ้าเดียวกัน สิ่งที่เป็นฐานของความไม่เข้าใจของคุณ "อ้า.." ที่สำคัญ เกี่ยวกับ นัยยะ ของ "25 เมษา" ก็มาจากเรืองนี้ดูกระทู้ (ความเห็น 12 เป็นต้นไป)http://www.sameskybooks.org/board/index.php?s=&showtopic=4512&view=findpost&p=22280และกระทู้http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4527 )

ผมเขียนกระทู้นี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากเห็นว่านี่เป็นหลักการสำคัญที่ควรรู้ และเป็นการต่อเนื่องจากดีเบตดังกล่าว และหลังจากเพิ่งดูทีวีเมื่อครู่นี้ (คงเข้าใจว่าหมายถึงอะไร)



ทำไมประเทศประชาธิปไตยจึงไม่อนุญาตให้ unelected head of state (ประมุขรัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) พูดอะไรด้วยตัวเองต่อสาธารณะได้?

ก็เพราะ ถ้าอนุญาต ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิการเมืองขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของพลเมืองนับสิบๆล้านของประเทศนั้น

พูดแบบใช้อุปลักษณ์ (metaphor) จะเท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" "ความเป็นพลเมือง" (citizenship) ของพลเมืองนับสิบล้านนั้นเลยทีเดียว

หลักการหรือสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยทีว่านี้ ก็คือ สิทธิที่พลเมืองจะวิพากษ์ ตรวจสอบ กระทั่ง เสนอ รณรงค์ และ โหวดให้ออก ผู้มีตำแหน่งสาธารณะ ที่ทำอะไรไม่เป็นที่พอใจได้

ดังนั้น ถ้าอนุญาตให้ unelected head of state พูดอะไรด้วยตัวเองได้ แต่ไม่อนุญาตให้ โหวตให้ออก (เพราะเป็น unelected position) ก็เท่ากับเป็นการละเมิดหลักการหรือสิทธิพื้นฐานนี้

จึงมีการบังคับเป็นกฎเกณฑ์ว่า unelected head of state ที่โหวดให้ออกจากตำแหน่งไม่ได้ ต้องไม่พูดอะไรต่อสาธารณะ เพราะถ้าพูดอะไร ก็ย่อมมีคนที่ไม่ชอบในสิ่งที่พูดได้ ซึ่งตามหลักการและสิทธิพื้นฐาน เขาย่อมควรมีสิทธิจะเสนอ รณรงค์ หรือ โหวต ให้ head of state นั้น ออกได้

ด้วยเหตุผลหลากหลายของแต่ละประเทศ ไม่ว่าในเชิงพิธีการ (ceremonial) หรือในเชิงจารีตประเพณีสืบต่อกันมา (traditional), หลายประเทศได้คงรูปแบบของการมีประมุขที่ไม่ได้มาจากการเลือกต้งไว้ และไม่อนุญาตให้มีการโหวดบุคคลนั้นออกจากตำแหน่ง (หรือเข้ารับตำแหน่ง) ได้

แต่ในเมื่อไม่ต้องการให้โหวตออกได้ ก็ต้องไม่อนุญาตให้พูดอะไรเกี่ยวกับการเมือง-กฎหมาย-สังคม ต่อสาธารณะด้วยตัวเองเลยถ้าจะอนุญาตให้พูดอะไรแบบนั้นต่อสาธารณะด้วยตัวเอง ก็ต้องอนุญาตให้โหวต ออกได้


นี่เป็นปัญหาสิทธิการเมืองขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่ละเมิดไม่ได้


อันทีจริง ในหลายประเทศ เขียนเป็นกฎหมายไว้ด้วยซ้ำ

ขออนุญาต ยกตัวอย่างกรณีประเทศสยามเอง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ที่ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 และมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 กำหนดเหมือนๆกันว่า "การกระทำใดๆของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ" และ "บทกฎหมาย พระราชหัถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผุ้รับผิดชอบ"

เป็นที่เข้าใจร่วมกันของทั้งรัฐบาลกับ รัชกาลที่ 7(อย่างน้อยในตอนแรกๆ) ว่าไม่ได้หมายถึงเฉพาะเอกสาร ประกาศ คำสั่ง หรือ กฎหมายที่เป็นทางการเท่านั้น แต่รวมถึงการแสดงความเห็นต่อสาธารณะด้วย (ดูการใช้คำว่า "การกระทำใดๆ" ใน รัฐธรรมนูญฉบับแรก และคำว่า "พระราชหัตถเลขา" ในรัฐธรรมนุญฉบับที่สอง พระราชดำรัส ย่อมเข้าอยู่ในข่ายนี้ด้วย เพราะเมื่อบันทึกลงไว้ ก็เท่ากับเป็นพระราชหัตถเลขาอย่างหนึ่ง) อันที่จริง ในช่วงหนึ่ง ถึงกับมีการนำประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ว่า พระราชหัตถเลขาจดหมายส่วนพระองค์ จะต้องผ่านการตรวจของครม.ด้วยหรือไม่ เพราะพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็น head of state ของระบอบประชาธิปไตย (ดูหลักการข้างต้น) ในที่สุด ก็ตกลงว่า ถ้าเป็นจดหมายส่วนพระองค์ ไม่ต้องผ่านการตรวจ แต่นอกนั้น ต้องผ่านการตรวจ

การทีในปี 2499 หยุด แสงอุทัย กล่าวปาฐกถาทางวิทยุเรื่อง "อำนาจ และ ความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" (power and accountibility in a democracy) ตอนหนึ่งว่า

" องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองหรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"

ก็๋เพื่ออธิบายหลักการดังกล่าวข้างต้นที่ถือเป็นกฎเกฎฑ์และหลักปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกนั่นเอง (อ้างจาก คึกฤทธิ์ ปราโมช "เก็บเล็กผสมน้อย", สยามรัฐ, 12 กุมภาพันธ์ 2499)


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : จากกระทู้ใน เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2007 ชื่อกระทู้

" ทำไมประเทศประชาธิปไตยจึงไม่อนุญาตให้ประมุขที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง พูดปัญหาการเมือง-กฎหมาย-สังคม ต่อสาธารณะด้วยตัวเอง, "กระทู้วิชาการ" ห้ามดึงเข้าสู่เรื่องการเมืองปัจจุบัน "

New look at Thai Royal riches : ราชวงศ์ไทยรวยที่สุดในโลกหรือเปล่า?


นักวิชาการชาวไทยประเมินค่าทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อาจมีมูลค่ามากกว่าที่เคยได้ประมาณการไว้

ราชวงศ์ไทยรวยที่สุดในโลกหรือเปล่า?

ที่ผ่านมามูลค่าสินทรัพย์ในสนง.ทรัพย์สินฯ ได้รับการประมาณการไว้ที่ 2พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นิตยสาร Forbesใช้เมื่อปี 1997 และอีกตัวเลขหนึ่งที่ว่ากัน คือ 8พันล้านเหรียญ (หนังสือ Asian eclipse: Exposing the Dark Side of Business in Asia โดย Michael Backman) ส่วนทาง Bloomberg คำนวนมูลค่าการถือครองหลักทรัพย์ของสนง.ทรัพย์สินฯ ไว้ที่ 5พันล้านเหรียญ ซึ่งตัวเลขนี้ ทาง Forbes ได้นำไปใช้ในการจัดอันดับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นพระมหากษตริย์ที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 5 ของโลก

บทความล่าสุดในนิตยสาร Journal of Contemporary Asia อ้างว่าตัวเลขต่างๆข้างต้นนั้น เป็นการประมาณการณ์ที่ต่ำเกินไปอย่างมาก อาจารย์พอพันธ์ อุยยานนท์ นักเศรษฐศาสคร์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้คำนวนมูลค่าสินทรัพย์ของ สนง.ทรัพย์สินฯไว้ที่ 1.123 ล้านล้านบาท (32พันล้านเหรียญ คิดที่ 35บาทต่อดอลล่าร์)

โดยในการประเมินดังกล่าว อ.พอพันธ์ ได้ให้เหตุผลที่ตัวเลขกระโดดขึ้นไปอย่างมากว่าได้เกิดจากการรวมมูลค่าการถือครองทรัพย์สิน ประเภทอสังหาริมทรัพย์เข้าไปด้วย และแม้จะมีตัวเลขว่า สนง.ทรัพย์สินฯ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 8,835 ไร่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีข้อมูล ที่ชัดเจนเรื่องที่ตั้งของที่ดินดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่าที่ดินเหล่านี้จำนวนไม่น้อย ตั้งอยุ่ในเขตเมืองและย่านธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งอ.พอพันธ์ ได้ใช้ปัจจัยนี้ มาเป็นสมมติฐานร่วมกับราคาประเมินที่ดินในเขตต่างๆมาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่ง อ.พอพันธ์เชื่อว่า แม้แต่ตัวเลขที่ได้จะสูงมากก็ตามการประเมินดังกล่าวยังเป็นการประเมินที่ค่อนไปในทางต่ำกว่ามูลค่าจริงอยู่ดี และย้ำว่าตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขคร่าวๆเท่านั้น

ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุงกว่า 30พันล้านเหรียญ ราชวงศ์ไทย จึงกลายเป็นราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยกษัตริย์บรูไน ที่นิตยสาร Forbes ได้บันทึกไว้ว่าร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น มีสินทรัพยประมาณ 22 พันล้านเหรียญ

บางคนอาจเถียงว่าสินทรัพย์ทั้งหลายนั้นจริงๆแล้วเป็นของรัฐ ไม่ได้มีไว้ให้ราชวงศ์ใช้จ่าย ซึ่งกรณีนี้ทางอ.พอพันธ์ได้ชี้แจงว่า หลังปี 2475 รัฐบาลคณะราษฎร์ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินต่างๆ ว่าส่วนใดเป็นของรัฐ และส่วนใดเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์

อย่างไรก็ดี พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491 ได้แก้ไขให้อำนาจการจัดการทรัพย์สิน กลับไปอยู่ กับสำนักพระราชวัง และอนุญาตให้การดำเนินการของ สนง.ทรัพย์สินฯ เป็นไปโดยอิสระจากรัฐบาล และให้การใช้ทรัพยากรของสนง.ทรัพย์สินฯ เป็นไปโดยพระราชอัธยาศัย (ผมแปลตาม article ที่ได้รับมานะครับ จริงเท็จอย่างไร ขอเวลาอ่าน พรบ.อีกที http://www.crownproperty.or.th/history.php)

นอกจากนี้ พรบ.ยังกล่าวว่า สินทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการประเมินมูลค่า ไม่มีการเรียกเก็บภาษี และการดำเนินการของสนง.ทรัพย์สินฯ ไม่สามารถระบุวิธีการได้แน่ชัดตามกฏหมาย

ในกาลต่อมา รัฐสภามีความจำเป็นต้องให้คำจำกัดความเรื่องสถานะของ สนง.ทรัพย์สินฯ ว่ามีสถานะเป็นองค์กรประเภทใดถึง 4 คราว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการให้คำจำกัดความที่สับสน และไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยเอกฉันท์ กล่าวคือสภาได้มีความเห็นว่า สนง.ทรัพย์สินฯ ไม่ใช่บริษัทเอกชน ไม่ใช่กระทรวง ทบวง กรม ใดๆ ของรัฐ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกด้วยโดยในปี 2544 ได้กำหนดให้ สนง.ทรัพย์สินฯ เป็น "หน่วยงานหนึ่งของรัฐ" ไม่ว่าคำจำกัดความนี้จะมีความหมายว่าอะไรก็ตาม

สถานะพิเศษนี้ อ.พอพันธ์ อธิบายว่าได้ทำให้ สนง.ทรัพย์สินฯ ซึ่งได้ลงทุนเป็นจำนวนมากใน ธนาคาร ประกัน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และปิโตรเคมี เกิดความมั่งคั่งเป็นอย่างมากหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เขากล่าวว่า "ปัจจัยสำคัญของความมั่งคั่งของ สนง.ทรัพย์สินฯ คือสายป่านที่ยาวมาก ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนั้น สนง.ทรัพย์สินฯ สามารถกู้เงินจำนวนประมาณ 6-8 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2-3 เท่าของรายได้สูงสุดต่อปีของสนง.ทรัพย์สินฯ ในช่วงก่อนหน้านั้น และเราไม่รู้เลยว่าเงินกู้ดังกล่าว มีที่มาอย่างไร"

อ.พอพันธ์ ยังได้เขียนถึงการดำเนินการของสนง.ทรัพย์สินฯ ที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากนโยบายรัฐที่มุ่งกอบกู้ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และธนาคาร หลังวิกฤติเศรษกิจในคราวนั้น เขาอ้างถึงธนาคารไทยพานิชย์ ซึ่ง สนง.ทรัพย์สินฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ว่าในช่วงวิกฤติ ธนาคารต่างๆจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษากิจการนั้น กระทรวงการคลังได้เสนอให้เงินลงทุน เพื่อการเพิ่มทุนดังกล่าว

ธนาคารบางแห่ง ตัดสินใจไม่รับข้อเสนอของกระทรวงการคลัง และวิ่งหาทางเพิ่มทุนจากแหล่งทุนอื่นๆ เนื่องจากเกรงว่าต้องตกเป็นธนาคารของรัฐในอนาคต

แต่สนง.ทรัพย์สินฯ ได้ตกลงรับเงินเพิ่มทุนดังกล่าวจากนั้น ได้ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนคืนจากกระทรวงการคลัง ที่ราคาขายครั้งแรกบวกดอกเบี้ย เป็นมูลค่ารวม 13พันล้านบาทารซื้อหุ้นคืนนี้ ทำโดยการโอนที่ดินจำนวน 485 ไร่ของสนง.ทรัพย์สินฯ ซึ่งได้ใช้เป็นที่สร้างอาคารสำนักงานต่างๆอยู่แล้วไปเป็นของรัฐ

ธนาคารไทยพานิชย์ เป็นธนาคารเดียวที่ได้ทำการซื้อขายลักษณะนี ้ในบทความ อ.พอพันธ์หลีกเลี่ยงการพูดถึงผลกระทบเรื่องการเมืองที่เกิดจาก สนง.ทรัพย์สินฯ เขากล่าวเพียงว่าสนง.ทรัพย์สินฯได้สร้างความมั่งคั่งให้กับราชวงศ ซึ่งได้ช่วยปกป้องราชวงศ์จากแรงกดดันทางการเมือง อันสืบเนื่องจากการใช้งบประมาณของรัฐ


เขียนโดย. Daniel Ten Kate

แปลไทยโดย. panoon

หมายเหตุ
ผมแปลมาให้อ่านกัน โดยพยายามรักษาเนื้อความเดิมไว้ให้มากที่สุด ผิดพลาดประการใด รบกวนเพื่อนสมาชิกชี้แนะด้วยครับ

http://www.asiasentinel.com/index.php?option=com_content&task=view&id=91...
เมื่อ 6 ธค. ครับ ( panoon )


ที่มาของสำเนาฉบับแปลไทยนี้ : http://www.arayachon.org/forum/arayachon/307
การเน้นข้อความเปนไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความเอง ( เจ้าน้อย.. )

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

วัดอภัยทายาราม อนุสรณ์ ๒๐๐ ปี สมานฉันท์ จักรี-ธนบุรี


"วัดอภัยทายาราม" หรือที่ชาวบ้านยังเรียกกันในปัจจุบันว่า "วัดมะกอก" ตั้งอยู่ติดกับเขตโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หันหน้าเข้าสู่คลองสามเสน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ เป็นวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ ๒๐๐ ปีพอดี แต่ด้วยความเป็นมาที่สับสน ทำให้วัดนี้มิได้มีการเฉลิมฉลองโอกาสอันเป็นมงคลอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงมีเพียงการฉลองอายุเจ้าอาวาสครบ ๙๐ ปีเพียงวาระเดียว ทั้งที่วัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

สาเหตุอย่างหนึ่งอาจมาจากประวัติวัด "อย่างเป็นทางการ" ของกรมการศาสนาซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒ ก็ใช้อ้างอิงไม่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัดแห่งนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่หลายข้อ รวมไปถึงการระบุเจ้านายผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ผิดองค์

ประวัติการปฏิสังขรณ์วัด "ตัวจริง" ได้ถูกจารึกเป็นเพลงยาวไว้บนแผ่นไม้สักลงรัก เขียนทอง เก็บรักษาไว้ที่วัดมาตลอดโดยมิได้เคลื่อนย้ายไปไหน แต่ก็มิได้มีการอนุรักษ์ซ่อมแซม จนปัจจุบันเพลงยาวที่จารึกไว้ได้ลบเลือนจนยากที่จะอ่านได้ความ

อย่างไรก็ดีคุณบุญเตือน ศรีวรพจน์ แห่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้พบเพลงยาวฉบับตัวเขียนในสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเนื้อหาตรงกันกับเพลงยาวที่จารึกไว้บนแผ่นไม้ของวัด และได้เขียนแนะนำไว้พอสังเขปแล้วในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ทำให้เราได้ "ความสมบูรณ์" ในการปฏิสังขรณ์วัดอภัยทายารามเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากนี้ทัศน์ ทองทราย ก็ได้บันทึกประวัติวัด "จากคำบอกเล่า" ของเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดียวกัน

แต่ในวาระที่วัดอภัยทายารามได้มีอายุครบ ๒๐๐ ปี ในปีนี้ นอกจากประวัติการปฏิสังขรณ์วัดจากเพลงยาวและประวัติวัดจากคำบอกเล่าแล้ว ยังควรพิจารณาแง่มุมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน โดยเฉพาะในประเด็นของ "ชื่อวัด" และวัตถุประสงค์ในการปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้


ปฏิสังขรณ์วัดบ้านนอกเสมอด้วยวัดหลวง

วัดอภัยทายาราม เดิมเป็นวัดที่ทรุดโทรม ซึ่งน่าจะสร้างมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา "เจ้าฟ้าเหม็น" พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยังเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คงเสด็จมาพบเข้า เห็นว่าวัดนั้นเสื่อมโทรมไม่สมกับเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ดังที่เพลงยาวได้กล่าวไว้ดังนี้


ในอารามที่ปลายซองคลองสามเสน

เหนบริเวณเปนแขมคาป่ารองหนอง

ไม่รุ่งเรืองงามอรามด้วยแก้วทอง

ไร้วิหารห้องน้อยหนึ่งมุงคา

ไม่ควรสถิศพระพิชิตมาเรศ

น่าสังเวทเหมือนเสดจ์อยู่ป่าหญ่า

ทั้งฝืดเคืองเบื้องกิจสมณา

พระศรัดทาหวังประเทืองในเรืองธรรม


เมื่อเสด็จมาพบเข้าดังนี้ ก็มีพระประสงค์จะทำการกุศล จึงทรงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่มาเตรียมการปฏิสังขรณ์ใหญ่ ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปีจุลศักราช ๑๑๕๙ (พ.ศ. ๒๓๔๐)

ครั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๖๐ (พ.ศ. ๒๓๔๑) เจ้าฟ้าเหม็นจึงเสด็จถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เป็นการเริ่มต้นการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ คือสร้างใหม่ทั้งวัด อย่างไรก็ดีวันเดือนปีที่ปรากฏในเพลงยาวนั้นยังคลาดเคลื่อนกับปฏิทินอยู่บ้างเล็กน้อย คือกำหนดพระฤกษ์วันเสด็จในการถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์เพลงยาวได้ระบุว่าเป็น "สุริยวารอาสุชมาล กาลปักทวาทัสมี ปีมเมียสำฤทศกปรมาร" ถอดคำแปลออกมาเป็น วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๖๐ ซึ่งตามปฏิทินนั้นเดือนแรมดังกล่าวจะตรงกับวันจันทร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์ นอกจากนี้ในบทอื่นๆ ที่กล่าวถึงวันเดือนปี ก็จะคลาดเคลื่อนทุกครั้ง จึงเป็นการยากที่จะถอดวันเดือนปีในเพลงยาวให้เป็นวันเดือนปีในปฏิทินสุริยคติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

วัดอภัยทายารามเมื่อแรกปฏิสังขรณ์นั้นยิ่งใหญ่และงดงามอย่างยิ่ง เสนาสนะทุกสิ่งอันล้วนวิจิตรบรรจงและอลังการ เทียบเคียงได้กับวัดสำคัญๆ ในสมัยนั้น และสิ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าวัดนี้เป็น "วัดสำคัญ" นอกกำแพงพระนครคือ "พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์" เสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และ "วังหน้า" กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งและหวาดระแวง

ที่ตั้งของวัดจะอยู่ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางของเมืองในขณะนั้น สามารถจัดได้ว่าเป็น "วัดบ้านนอก" ดังนั้นการเสด็จทั้ง ๒ พระองค์ในครั้งนี้ย่อมมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้อง "สืบสวน" กันอย่างละเอียดเพื่อหาเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินมายัง "วัดบ้านนอก" ในครั้งนั้น

ขณะที่ "พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์" เสด็จพระราชดำเนินนั้น วัดยังอยู่ระหว่างก่อสร้างคือเมื่อเดือนยี่ ปีจุลศักราช ๑๑๖๓ (พ.ศ. ๒๓๔๔) จึงไม่ได้เสด็จมาเพื่อเฉลิมฉลองหากแต่มาทรงผูกพัทธสีมา "จผูกพัดเสมาประชุมสงฆ" แต่ถึงกระนั้นก็เสด็จมาทางชลมารคด้วยกระบวนเรือ "มหึมา"


สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสององค์

ผู้ทรงธรรม์อันสถิศมหาสถาร

ก็เสดจ์ด้วยราชบริพาน

กระบวนธารชลมาศมหึมา

ถึงประทับพลับพลาอาวาศวัด

ดำรัดการที่สืบพระสาสนา

สท้านเสียงดุริยสัทโกลา

หลดนตรีก้องประโคมประโคมไชย

เสจพระราชานุกิจพิทธีกุศล

เปนวันมนทณจันทรไม่แจ่มไส

ประทีปรัตนรายเรืองแสงโคมไฟ

เสดจ์คันไลเลิกกลับแสนยากร


การปฏิสังขรณ์ใหญ่วัดอภัยทายารามใช้เวลาทั้งสิ้น ๘ ปี จึงแล้วเสร็จในเดือน ๓ ปีจุลศักราช ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) ผ่านมาครบ ๒๐๐ ปีในปีนี้พอดี เมื่อการปฏิสังขรณ์สำเร็จบริบูรณ์จึงมีการเฉลิมฉลองขึ้นเป็นงานใหญ่ ๗ วัน ๗ คืน มีมหรสพ ละคร การละเล่นอย่างยิ่งใหญ่ และเทียบเท่ากับงานเฉลิมฉลองระดับ "งานหลวง" ทั้งสิ้น องค์ประธานผู้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเสด็จร่วมงานฉลองครบทุกวันจนจบพิธี แล้วขนานนามวัดว่า "อไภยทาราม"


ส้างวัดสิ้นเงินห้าสิบเก้าชั่ง

พระไทยหวังจไห้เปนแก่นสานต์

ตั้งทำอยู่แปดปีจึ่งเสจการ

ขนานชื่อวัดอไภยทาราม


สิ่งที่น่าสนใจและเป็นปริศนาชวนให้ค้นหาคำตอบของวัดอภัยทายาราม ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเพลงยาวและอื่นๆ ไม่ใช่การปฏิสังขรณ์อย่างยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การสร้างเสนาสนะอย่างวิจิตรบรรจง หรือแม้แต่งานฉลอง ๗ วัน ๗ คืน ด้วยการละเล่นดุจเดียวกับงานหลวง สิ่งเหล่านี้มีฐานะเป็นแต่เพียง "พยาน" สำคัญ ที่จะนำไปสู่การไขคำตอบสำคัญ ซึ่งก็คือเหตุอันเป็นที่มาของชื่อวัด "อไภยทาราม" นั่นเอง


วัดอไภยทาราม

ไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็น


นามวัด "อภัยทายาราม" เป็นนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในชั้นหลัง เดิมนามวัดตามที่ปรากฏในเพลงยาวขนานนามว่า "อไภยทาราม" ซึ่งก็น่าจะเป็นนามพระราชทาน ชื่อ "อไภยทาราม" นี้อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็น ผู้ทรงปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่พระนาม "เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์" ของเจ้าฟ้าเหม็นนั้น มิได้ใช้โดยตลอด เนื่องด้วยมีพระราชดำริเห็นว่าเป็นนามอัปมงคล!

ที่มาที่ไปของพระนามอัปมงคล เริ่มต้นและเกี่ยวพันกับพระชาติกำเนิดของเจ้าฟ้าเหม็น ในฐานะผู้ที่ทรงอยู่กึ่งกลางระหว่างความขัดแย้งของพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชบิดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คือพระอัยกา หรือ "คุณตา" ซึ่งได้สำเร็จโทษพระราชบิดาเจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดิน

เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระสนมเอก ท่านผู้นี้เป็นธิดาของเจ้าพระยาจักรี หรือต่อมาเสด็จขึ้นปกครองแผ่นดินเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑ ในพระราชวงศ์จักรี เจ้าฟ้าเหม็นประสูติในแผ่นดินกรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช ๒๓๒๒ ต่อมาอีกเพียง ๓ ปี "คุณตา" เจ้าพระยาจักรี ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัว สถาปนาพระราชวงศ์ใหม่ โดยได้สำเร็จโทษ "เจ้าตาก" พระราชบิดาของเจ้าฟ้าเหม็น พร้อมกับพระญาติบางส่วน ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นอันสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี

หลังจากเหตุการณ์ล้างครัว "เจ้าตาก" จบลง ยังเหลือพระราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกบางส่วนที่ได้รับการยกเว้น รวมทั้งเจ้าฟ้าเหม็นด้วย เนื่องจาก "คุณตา" ทรงอาลัยหลานรักพระองค์นี้ยิ่งนัก ดังนั้นตลอดรัชกาลที่ ๑ แม้เจ้าฟ้าเหม็นจะทรงถูก "ตัด" ออกจากราชการบ้านเมืองทั้งสิ้น แต่ก็ยังทรงเป็น "พระเจ้าหลานเธอ" พระองค์โปรดของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตลอดรัชกาล

พระนามพระราชทานแรกของเจ้าฟ้าเหม็น ที่เป็นนาม "พ่อตั้ง" คือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระนามนี้ใช้ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็มีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนพระนามเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ในแผ่นดินก่อน ด้วยไม่สมควรที่จะใช้เรียกขานในแผ่นดินใหม่นี้

"พระบาทสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าเจ้าตากขนานพระนามพระราชนัดดาให้เรียก เจ้าฟ้าสุพันธวงษ์ ไว้แต่เดิมนั้น จะใช้คงอยู่ดูไม่สมควรแก่แผ่นดินประจุบันนี้ จึ่งพระราชทานพระนามใหม่ว่า สมเดจ์พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศรสมมติวงษ พงษอิศวรราชกุมาร..."

อย่างไรก็ดีพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ที่คาดว่าเป็นพระนามที่นำไปขนานนาม "วัดอไภยทาราม" นั้น ตามความเป็นจริงพระนามนี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้น ก็มีพระราชดำริให้เลิกเสียและเปลี่ยนพระนามใหม่อีกครั้ง

"ภายหลังข้าราชการกราบบังคมทูลหาสิ้นพระนามไม่ กราบทูลแต่ว่า เจ้าฟ้าอภัย จึ่งทรงเฉลียวพระไทย แล้วมีพระราชดำรัศว่า ชื่อนี้พ้องต้องนามกับเจ้าฟ้าอภัยทัต เจ้าฟ้าปรเมศ เจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินกรุงเก่า ไม่เพราะหูเลย จึ่งพระราชทานโปรดเปลี่ยนพระนามไหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ์ร นเรศว์รสมมติวงษ พงษอิศวรราชกุมารแต่นั้นมาฯ" (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน), อมรินทร์, ๒๕๓๙, น. ๔๓)

เหตุการณ์นี้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ในช่วงปีจุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ จึงเท่ากับว่าพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้อยู่ไม่เกิน ๒ ปี จึงยกเลิกเสีย ด้วยว่าเป็นพระนามอัปมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของ กล่าวคือพระนาม "เจ้าฟ้าอภัย" ที่ใช้ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าของพระนามล้วนแต่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ทุกพระองค์

นอกจากนี้หลักฐานการเปลี่ยนพระนามยังสอดคล้องกับการอ้างถึงพระนามที่เปลี่ยนใหม่ เมื่อทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้ "ทรงกรม" ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๐ หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม ๑ ปี ขณะนั้นทรงใช้พระนามเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์อยู่แล้ว

"โปรดตั้งพระราชนัดดา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์นี้ ครั้งกรุงธนบุรีมีพระนามว่า เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ข้าราชการขานพระนามโดยย่อว่า เจ้าฟ้าอภัย ได้ทรงสดับรับสั่งว่า พ้องกับพระนามเจ้าฟ้าอภัยทัต ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และเจ้าฟ้าอภัยครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น จึงโปรดให้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์" (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, ๒๕๓๑, น. ๑๐๒)

ดังนั้นหากกำหนดระยะเวลาโดยสังเขปเกี่ยวกับพระนามเจ้าฟ้าเหม็น ควรจะได้ดังนี้ เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระนามลำลอง คงใช้ตลอดพระชนมายุ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ใช้แต่แรกเกิดในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๒-๕) เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลา ๒ ปี (พ.ศ. ๒๓๒๕-๖) เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งทรงกรม (พ.ศ. ๒๓๒๖-๕๐) และกรมขุนกษัตรานุชิต ใช้เป็นพระนามสุดท้าย (พ.ศ. ๒๓๕๐-๒)

ระยะเวลาของการใช้พระนามแต่ละพระนามนั้น ชี้ให้เห็นว่า พระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์นั้นถูกยกเลิกโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๒๖ หรือเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ ก่อนที่จะทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทารามในปีพุทธศักราช ๒๓๔๙ เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี นอกจากนี้พระนามอภัยธิเบศร์ ยังได้รับพระราชวิจารณ์ว่า "ไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น" จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะนำพระนามที่เลิกใช้ไปนานแล้วและเป็นอัปมงคลกลับมาใช้ใหม่ โดยนำไปตั้งเป็นชื่อวัด อันควรแก่นามสิริมงคลเท่านั้น

ดังนั้นหากชื่อวัดอไภยทารามไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็นแล้ว ชื่อวัดแห่งนี้ย่อมจะมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่งแอบแฝงไว้หรือไม่ ?


แผนการ "ตา" ปกป้องหลาน

เมื่อเริ่มมีการลงมือปฏิสังขรณ์วัดนั้นตกอยู่ในปีพุทธศักราช ๒๓๔๑ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระชนมพรรษามากแล้วถึง ๖๒ พรรษา แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ชรามากนัก แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้ ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง "วังหน้า" และ "วังหลวง" ยังคงมีแฝงอยู่ตลอดรัชกาล ซึ่งต่อมาอีกเพียง ๑๐ ปีหลังจากการปฏิสังขรณ์วัด ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ด้วยพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา จึงเป็นไปได้ว่าการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นชอบให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อย่างยิ่งใหญ่ เพราะมีพระราชประสงค์มากไปกว่าการสร้างวัดเพื่อการกุศลเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๓๔ เกิดเหตุใหญ่ขึ้นที่เรียกว่า "วิกฤตวังหน้า" ถึงขั้นที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ เหมือนอย่างเคย เหตุจากความหวาดระแวงที่สะสมกันเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อมีพิธีตรุษ วังหลวงได้ลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมเล็งตรงมายังวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าวังหลวงอาจจะมีประสงค์ร้าย ก็มีรับสั่งให้คนไปสืบความ ครั้นได้ความว่า ปืนนั้นเพื่อการพิธีตรุษ ก็ทรงคลายพระพิโรธลง เหตุการณ์ครั้งนี้หมิ่นเหม่ถึงขั้นที่จะเกิดศึกกลางเมือง ตามที่ปรากฏอยู่ในนิพานวังน่า ดังนี้


เพราะพระปิ่นดำรงบวรสถาน

กระหึ่มหาญหุนเหี้ยมกระหยับย่ำ

เหมือนจะวางกลางเมืองเมื่อเคืองคำ

พิโรธร่ำดั่งจะรุดเข้าโรมรัน

ครั้นทรงทราบว่าพระจอมบิตุลา

ให้พลกัมพูชาลากปืนขัน

ประจุป้อมล้อมราชวังจันทร์

จึงมีบันฑูรสั่งให้สืบความ

ตรัสให้มาตุรงค์ตรงรับสั่ง

มิไปฟังราชกิจก็คิดขาม

มาสืบเรื่องพระไม่ปลงจะสงคราม

ก็ประณามทูลบาทไม่พาดพิง

ว่าคำขอมน้อมพจมานสาร

ไม่หาญเสน่หาพระนุชยิ่ง

แต่พิธีตรุศยืนลากปืนจริง

ยังนึกกริ่งกริ้วนั้นพอบันเทา


ยังมีเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งอันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองวัง คือในปีพุทธศักราช ๒๓๓๘ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกนาถ เมื่อวังหน้า "ลักไก่" ซ่อนฝีพายฝีมือจัดไว้ในงานแข่งขันเรือพาย ฝ่ายข้าราชการวังหลวงทราบเข้าก็ถวายรายงานให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสว่า เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ และทรงให้เลิกการแข่งเรือระหว่างสองวังตั้งแต่นั้นมา เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าอีกเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ข้อบาดหมางระหว่างสองวังและความหวาดระแวงยังเกิดขึ้นอีกหลายเรื่อง รวมไปถึงการที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงกราบทูลขอพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่ม สำหรับแจกจ่ายข้าราชการ แต่ก็ทรงถูกปฏิเสธ

แม้ว่าการกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ เช่นนี้ ที่ไม่ถึงขั้นตัดรอนขาดจากกัน ก็เพราะมีสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ทรงเป็น "กาวใจ" ประสานความแตกร้าวนี้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์สุดท้ายที่เป็นหลักฐานว่าพี่น้องสองวังนี้ยังคง "คาใจ" กันอยู่จนวาระสุดท้าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จมาทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของกรมพระราชวังบวรฯ ก็ยังมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งของทหารรักษาพระองค์ทั้ง ๒ วัง จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อมีพระราชปรารภในช่วงปลายพระชนมายุ ที่ทรงห่วงวังหน้าและลูกหลานวังหน้า เกรงว่าจะถูกเบียดเบียนจากวังหลวง

"ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข" (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓, คุรุสภา, ๒๕๐๗, น. ๔๗)

แน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงวังหน้าเคืองวังหลวงเท่านั้น เหตุการณ์ "กบฏวังหน้า" ก็ทำให้วังหลวงเคืองวังหน้าด้วยเช่นกัน ถึงขั้นตัดรอนไม่เผาผีกัน

"รักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว" (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, ๒๕๓๑, น. ๙๕)

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้านี้ ย่อมส่งผลทางตรงต่อสวัสดิภาพของเจ้าฟ้าเหม็นโดยตรง หากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตเสียก่อนกรมพระราชวังบวรฯ เนื่องจากกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้ "กำจัด" เจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวปราบดาภิเษก ทรงเป็นเจ้าของวรรคทองที่ว่า "ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก" นั่นเอง

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังฯ เสด็จลงมาเฝ้า กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสิน จะรับพระราชทานเอาไปใส่เรือล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า" (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, ๒๕๑๖, น. ๔๖๐)

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๑๙ ปี แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครลืมความเป็น "ลูกเจ้าตาก" ของเจ้าฟ้าเหม็นได้ ซึ่งต้องทรงแบก "แอก" นี้ไว้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ย้อนหลังไป ๒ ปี ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงผูกพัทธสีมาที่วัดอไภยทาราม สมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลงในปีเดียวกัน โดยเฉพาะกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ ที่ทรงชุบเลี้ยงเจ้าฟ้าเหม็นแทนพระมารดามาแต่ประสูติ เท่ากับร่มโพธิ์ร่มไทรหรือเกราะป้องกันภัยของเจ้าฟ้าเหม็นได้สิ้นลงไปด้วย เหลือแต่เพียง "คุณตา" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ อีกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

การที่ "พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์" จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกันได้นั้น ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารมักจะเป็น "งานยักษ์" เช่น ในงานพระศพสมเด็จพระพี่นาง (พ.ศ. ๒๓๔๒) หรือในงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ ปีเดียวกับที่เสด็จวัดอไภยทาราม ดังนั้นการที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญพระกุศลพร้อมกันที่ "วัดบ้านนอก" ของ "ลูกเจ้าตาก" จึงไม่ใช่เรื่องปรกติในเวลานั้น


วัดอไภย คือวัดไม่มีภัย

คำว่า อไภย พจนานุกรมฉบับหมอบรัดเลย์เริ่มทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แปลไว้ว่า ไม่มีไภย, เช่นคนอยู่ปราศจากไภย มีราชไภย เปนต้นนั้น. พจนานุกรมฉบับหมอคาสเวลในสมัยรัชกาลที่ ๓ แปลว่า อะไภย นั้นคือขอโทษ เหมือนคำพูดว่าข้าขออไภยโทษเถิด ส่วนพจนานุกรมสมัยใหม่ฉบับมติชนแปลว่า ยกโทษให้ไม่เอาผิด และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า ยกโทษให้, ความไม่มีภัย

จากความหมายของชื่อวัดดังกล่าวนี้ กับการที่กรมพระราชวังบวรฯ ผู้ที่ทรงเคยสั่งฆ่าเจ้าฟ้าเหม็น โดยเสด็จฯ มายังวัดแห่งนี้พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มายัง "วัดอไภย" ซึ่งไม่ใช่ตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็นนี้ ย่อมมีนัยยะแห่งการ "สมานฉันท์" ระหว่างกรมพระราชวังบวรฯ กับเจ้าฟ้าเหม็น ประการหนึ่ง และอาจหมายรวมถึงการ "ยกโทษ" หรือ "ขอโทษ" แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปด้วยในเวลาเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าวัดอไภยทาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์นั้นไม่ใช่แค่การ "สร้างวัดให้หลานเล่น" แน่ แต่เป็นการสร้างขึ้นอย่างจริงจัง มีเสนาสนะครบบริบูรณ์อย่างวัดหลวง มีพระอุโบสถ เจดีย์ใหญ่ ลวดลายจิตรกรรมวิจิตรบรรเจิด มีการเกณฑ์ไพร่มาทำงานนับพันคน นิมนต์พระสงฆ์เกือบ ๒,๐๐๐ รูป มีงานฉลอง การละเล่น ละครของหลวง ๗ วัน ๗ คืน สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้สะท้อนเพียงเพราะองค์ผู้ปฏิสังขรณ์เป็น "เจ้าฟ้า" หรือ "หลานรัก" เท่านั้น แต่สิ่งอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ล้วนแต่เหมาะสมกับการยกโทษหรือขอโทษ สำหรับราชภัยในอดีต

อย่างไรก็ดีเมื่อวัดนี้สร้างเสร็จจนมีงานฉลองในปีพุทธศักราช ๒๓๔๙ นั้น กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทิวงคตไปก่อนหน้าแล้วในปีพุทธศักราช ๒๓๔๖ แผนการสมานฉันท์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป และวัดอไภยทารามก็ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าฟ้าเหม็นได้ตามพระราชประสงค์ ความพยายามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในการปกป้องหลานรัก จบลงเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต

เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เจ้าฟ้าเหม็นก็ถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ในต้นรัชกาลที่ ๒ แห่งพระราชวงศ์จักรี


ปรามินทร์ เครือทอง

ศิลปวัฒนธรรม.
ปีที่ 27 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2549)

ที่มา : Navy Board : วัดอภัยทายาราม อนุสรณ์ ๒๐๐ ปี ฯ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความเปนไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ